แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๒๒ กันยายน เป็นวันอันดับที่ ๕๖ แห่งระยะการเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๑๒
ในวันนี้จะได้กล่าวถึงธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือต่อไปอีก โดยหัวข้อคือ โพชฌงค์ และมรรคมีองค์ ๘ ธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือมีมาตามลำดับหลายหมวดด้วยกัน มันก็หลายชื่อ หลายสิบชื่อขึ้นมาแล้ว ผู้ที่ไม่เข้าใจก็ต้องเริ่มฟั่นเฟือนหรือเวียนหัวในที่สุด คือดูเหมือนมาก แล้วมันก็เมื่อไม่เข้าใจมันก็สับสน ดูสับสน แต่ถ้าเข้าใจมันก็ไม่มีอะไรมาก ไม่สับสน ฉะนั้นจึงต้องพูดในลักษณะที่ป้องกันความสับสนกันในตอนสุดท้ายนี้เป็นพิเศษ
ธรรมะสารพัดนึก สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ธรรมะให้สำเร็จคืออิทธิบาท ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ธรรมะที่เป็นความเพียร ที่เป็นเครื่องมือล่วงความทุกข์โดยตรงเรียกความเพียร เพียรระวัง เพียรละ เพียรสร้าง เพียรรักษา แล้วธรรมที่เป็นออกหน้า มองดูกันในลักษณะที่เป็นการออกหน้าออกตาหรือมีกำลังสำคัญก็คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
ทีนี้ก็มาถึงโพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมดนี้เว้นหมวดแรกคือที่เรียกว่าธรรมะสารพัดนึกเสียแล้ว ก็จะมีจำนวนถึง ๓๗ ชื่อหรือรายการ ๓๗ นี้รวมเรียกว่า โพธิปัขขิยธรรม โพธิปัขขิยธรรม ธรรมเป็นฝักฝ่ายของโพธิ แม้ว่าจะมีจำนวนมากมายอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน มีใจความสำคัญอย่างเดียวกัน นี้เป็นธรรมะตัวเดียวกัน แต่มองกันในมุมต่าง ๆ ในแง่มุมต่าง ๆ สรุปแล้วมันก็เหลือเป็นเพียงศีล สมาธิ ปัญญา ๓ อย่าง ศีล สมาธิ ปัญญา ก็อาจจะมองกันในเพียงแง่ว่า มันเป็นการทำลายความยึดมั่นถือมั่นอย่างเดียวเท่านั้น เหลืออย่างเดียวเท่านั้น ทีนี้เรามองกันหลายมุม เพราะมันมีต้น มีปลาย มีตรงกลาง มีแยกเป็นอย่าง ๆ ว่ามีการสัมพันธ์กัน เราจึงได้ธรรมะหลายหมวดหรือหลายสิบชื่อ ตั้ง ๓๗ หัวข้อหรือชื่อธรรมะ
ในวันนี้ก็หมวดสุดท้าย ๒ หมวด คือ โพชฌงค์ ๗ กับมรรคมีองค์ ๘ นี้ จะต้องพูดถึงพร้อมกันไปเลย เพื่อให้เห็นชัดในข้อที่ว่ามันสัมพันธ์กันหรือว่ามันเป็นอันเดียวกันอย่างไร โพชฌงค์ก็แปลว่า องค์ของการตรัสรู้ โพชฌะในที่นี้คือโพธินั่นเอง รูปปรับเปลี่ยนได้ แต่เนื้อความหรือใจความอันเดียวกันคงเดิม โพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ สังเกตคำว่าองค์ให้ดี ๆ และมรรคมีองค์ ๘ อัฏฐังคิกมรรค มรรคที่ประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ ทั้ง ๒ หมวดนี้หมายถึงองค์ คำว่าองค์ในที่นี้ ที่เป็นภาษาบาลีอย่างนี้หมายถึงส่วนประกอบ คือไม่ใช่ทั้งหมด ตรงกับคำว่า factor หรือ portion อะไรทำนองนี้ อันหนึ่งมันมีองค์ ๗ อีกอันหนึ่งมันมีองค์ ๘ อันนี้ก็องค์อย่างต่างกัน อันหนึ่งมันเป็นองค์ประกอบของมรรค อันหนึ่งมันเป็นองค์ประกอบของการเดินทาง ว่าด้วยหนทาง หรือการเดินทาง หรือผู้เดินทาง หรือการไป หรือการถึงนี้ ว่ามันไม่ใช่อย่างเดียวกัน ที่ว่าจะจำได้ง่าย ๆ ด้วยการเปรียบเทียบ ด้วยอุทาหรณ์ อย่างว่าเราจะต้องมีในการเดินทาง เรื่องของคำว่าทางหรือการเดินทาง มันจะต้องมีอะไรที่จะต้องรู้จัก รู้จักให้ดีอยู่หลาย ๆ อย่างหรือหลาย ๆ ตอน จะต้องมีถนน แล้วก็มีรถ แล้วก็มีคนขับรถ แล้วก็มีการแล่นไปได้ แล้วก็มีการถึง อย่างน้อยก็ต้องดูกันใน ๕ แง่หรือ ๕ มุม มีถนน มีรถ มีคนขับรถ มีการไป และมีการถึงในที่สุด ๕ อย่างนี้ไม่ใช่สิ่ง ๆ เดียวกัน ถ้าเรามองกันเป็นแง่ ๆ มุม ๆ ไป แต่ถ้าเราพูดสั้น ๆ ว่าการเดินทาง คำเดียวพอ มันกินความถึงทั้ง ๕ อย่างนั้น
ทีนี้ในคำว่าการเดินทางนั้น เราดูได้ที่ถนน เรื่องของถนนมันก็มาก ถ้าสมมติว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็นถนน เป็นถนนที่ประกอบอยู่ด้วยองค์ประกอบทั้ง ๘ อย่างเป็นตัวถนน แล้วยังต้องมีรถ เครื่องไป มียานหรือยนต์ นี้ก็เครื่องไป ถ้าเราไม่มีรถ เดินด้วยเท้า ส่วนที่เป็นเท้ามันก็คือยนต์หรือยาน ถ้ามีรถ ก็รถนั้นเป็นยนต์หรือเป็นยาน ทีนี้มันก็เลยจะต้องมีเครื่องมืออะไรขึ้นมา ที่จะเดินไปบนถนน ก็มีคนขับรถ ต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้ขามันก้าวเดินไป หรือว่าที่จะขับรถให้รถมันแล่นไป มันก็กลายเป็นธรรมะอีกพวกหนึ่ง ธรรมะอีกพวกหนึ่งที่มันไป ๆ ๆ อยู่เรื่อย นี้อาจจะเป็นตัวการเดินทางที่เป็นความหมายสำคัญ แล้วส่วนสุดท้ายของมันก็คือการถึง เพราะเหตุนี้หรือในลักษณะอย่างนี้ มันจึงแบ่งธรรมะออกเป็นพวก ๆ หมวด ๆ เป็นโพชฌงค์ เป็นมรรค มรรคก็แปลว่าหนทาง ทีนี้มันไม่ได้หมายความแต่เพียงหนทางเฉย ๆ หมายถึงหนทางที่มีการเดินทางอยู่ด้วย คือว่าเราดูกันในแง่ที่ว่า เครื่องมือที่อยู่เฉย ๆ ควรจะเรียกว่าเครื่องมือ เครื่องมือที่กำลังใช้งานได้ ใช้งานอยู่นี่ควรจะเรียกว่าเครื่องมือไหม
ทีนี้เรามีเครื่องมือแยะ ซื้อมาไว้เต็มบ้าน ซื้อเครื่องมือไว้เต็มบ้านแล้วก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ก็เห็นกันอยู่โดยมาก คนมีหนังสือตั้งหลาย ๆ ตู้กลายเป็นคนโง่ที่สุด เพราะไม่รู้ว่าจะอ่านหนังสืออะไร และเข้าใจอะไรได้ มีแต่ตังค์ซื้อมาได้เป็นตู้ ๆ เราก็ต้องใช้มันได้หรือกำลังใช้มันอยู่ มันก็สำเร็จประโยชน์ในการใช้จึงจะเรียกว่ามีเครื่องมือ นี่เราดูให้ดีว่า เครื่องมือมันก็เป็นเครื่องมือ เครื่องมือล้วน ๆ อยู่นิ่ง ๆ เขาก็เรียกว่าเครื่องมือ ถ้ามีการใช้มัน คือเครื่องมือไม่ได้อยู่นิ่ง และในการใช้ก็ดูให้ดี ยังมีอะไรอีกอย่างหนึ่งที่เป็นแง่หรือเป็นเคล็ดลับอยู่ มีการสัมพันธ์ระหว่างเครื่องมือหรือหน้าที่ของเครื่องมือ มีลักษณะเป็น teamwork มันทำอันเดียวคนเดียวไม่ได้ เครื่องมือทุกชิ้นจะต้องสัมพันธ์กันอยู่ในหน้าที่ตามหน้าที่เมื่อขณะที่ใช้อยู่ ไปดูช่างไม้สักคนหนึ่งก็ต้องทำงานช่างไม้อยู่ มีเครื่องมือหลาย ๆ อย่าง และเครื่องมือเหล่านั้นมันสัมพันธ์ มันต้องใช้อันนี้มันจึงจะใช้อันนั้นได้ ต้องใช้อันนั้นได้มันจึงจะใช้อันโน้นได้ มันสัมพันธ์กันอยู่ ถ้าไม่ให้มันสัมพันธ์กันอย่างนี้มันก็เลยตายด้านกันหมด
ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน มันก็มีเป็นหัวข้อ ๆ เป็นเรื่อง ๆ ข้อ ๆ ไป ถ้าไม่ได้เอาใช้ บางทีรู้กันโดยมาก รู้กันมากมาย รู้พระไตรปิฎกด้วย ถูกเรียกว่าเป็นโมฆะบุรุษ หรือว่าคนมือเปล่า ไม่มีอะไร ทั้งที่ว่ารู้พระไตรปิฎก แตกฉานพระไตรปิฎก นี่เพราะเหตุที่ไม่ได้ใช้ ไม่ได้เป็นธรรมะที่ใช้ ที่ใช้ก็มักจะใช้ไม่ถูกวิธี คือไม่สัมพันธ์กัน หรือใช้อย่างพิธีรีตอง โง่หรืองมงาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโพชฌงค์นี่น่าหัวมาก นิมนต์พระมาสวดโพชฌงค์ให้คนเจ็บฟังจะได้หาย นี่มันกลายเป็นเรื่องงมงายไป ทั้งที่ที่แท้มันเป็นเรื่องที่จริงอย่างนั้น ในบาลีในพระไตรปิฎกก็มีพูดถึง เมื่อพระพุทธเจ้าประชวรก็ให้พระองค์ใดองค์หนึ่งสาธยาย คือบรรยายออกชื่อโพชฌงค์ สาธยายโพชฌงค์ ทำให้หายประชวร เมื่อพระองค์ใดองค์หนึ่งไม่สบายเจ็บไข้ พระพุทธเจ้าใช้ให้องค์ใดองค์หนึ่งสาธยายโพชฌงค์ องค์นั้นก็หายเจ็บไข้ ที่เราได้ยินเรื่องนี้กันก็รู้ ดูกันในทางที่เป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ เอาโพชฌงค์มาสวดให้คนเจ็บฟัง คือตายเลย มันคนละอย่างคนละเรื่อง อยู่ตรงที่ว่างมงายหรือไม่งมงาย ที่พระพุทธเจ้าท่านได้หายประชวร หรือพระอรหันต์บางองค์ได้หายเจ็บไข้เพราะได้ยินการสาธยายโพชฌงค์นั้น มันเป็นเรื่องของผู้รู้ รู้จักสิ่งนั้นดีเพราะผ่านมาแล้วอย่างทั่วถึงสำเร็จ ผ่านมาทางนี้แล้วอย่างทั่วถึง พอได้ยินถึงสิ่งนี้มันเข้าใจ มันยิ่งกว่าเข้าใจ เข้าใจมันใช้ไม่ได้ มันต้อง realize ก็คือว่ารู้อยู่เต็มใจทีเดียว มันจึงมีกำลังพอที่จะให้กลบเกลื่อนความเจ็บไข้ เพราะโพชฌงค์เป็นของวิเศษประเสริฐที่สุดในการที่จะย่ำยีกิเลส สำเร็จเป็นโพธิ เป็นการตรัสรู้ขึ้นมา ท่านจึงทราบอยู่แก่ใจ ส่วนพวกเราสมัยนี้แม้เข้าใจก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้จักโพชฌงค์ตัวจริง รู้จักแต่ชื่อ ก็เอามาท่องอย่างงมงายเพื่อจะให้คนหายไข้ แล้วคนไข้นั้นก็เป็นคนที่ไม่รู้ว่าโพชฌงค์นั้นคืออะไร ไม่ใช่คนที่ได้เล่าได้เรียน ถ้าเป็นคนที่ได้เล่าได้เรียนมาจนเข้าใจเรื่องโพชฌงค์ ก็มีหวังจะมีผล มีผลบ้างไม่มากก็น้อย คือรู้ความประเสริฐวิเศษของโพชฌงค์ ปีติปราโมทย์อิ่มใจขึ้นมาครอบงำความเจ็บไข้ได้บ้าง ทีนี้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ว่าอะไรโพชฌงค์นี้ แล้วพระที่มาสวดนั้นก็ไม่รู้ว่าโพชฌงค์คืออะไร สวดอย่างนกแก้วนกขุนทอง คนที่ฟังอยู่ทั้งหมดก็ไม่รู้ว่าโพชฌงค์คืออะไร ก็บางคนที่นั่งฟังสวดเองก็ได้ ไม่ต้องนิมนต์พระมาสวด แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่รู้อะไรอยู่ทั้งหมด ก็เลยเป็นเรื่องงมงาย เรื่องเกี่ยวกับโพชฌงค์มีมากอย่างนี้ ถึงกับกลายมาเป็นพิธีหรือของขลังของอะไรศักดิ์สิทธิ์ไป น่าหัวก็น่าหัว น่าเศร้าก็น่าเศร้า
แม้กระทั่งที่สอนอยู่ในโรงเรียนนักธรรม ก็สอนไปอย่างนั้นแหละ ออกชื่อมาบรรยายลักษณะให้ฟังตามความจำ นักเรียนก็จำ ครูก็สอนตามความจำ นักเรียนก็จำ มันก็อยู่กันไปอย่างนี้ ไม่เป็นเครื่องมือ ไม่มีลักษณะเป็นเครื่องมือโดยตรงขึ้นมาได้เลย เป็นเพียงการพูดหรือการท่อง หรือการพร่ำพูดกันถึงเรื่องเครื่องมือ ไม่เป็นเครื่องมือขึ้นมาได้เลย นั่นเลยไม่สำเร็จประโยชน์ในฐานะที่ว่าเป็นโพชฌงค์หรือเป็นมรรค เราพูดถึงเครื่องมือ ก็เป็นเครื่องมือที่ลม ๆ เป็นลมพูด เป็นลมปากที่พูด ไม่ใช่ตัวเครื่องมือจริง มีตัวเครื่องมือจริงก็ยังไม่พอ ต้องมีการใช้ ถ้าใช้อย่างไม่ถูกไม่สัมพันธ์กัน มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ มันมีอยู่อย่างนี้ ไม่ว่าเรื่องอะไรมันมีลักษณะอยู่อย่างนี้ เกี่ยวกับความสำเร็จมันมีลักษณะอย่างนี้ เราจะพูดกันถึงโพชฌงค์กันอีกที ทั้งที่ได้พูดไปแล้วเมื่อครั้งที่แล้ว ๆ มาไม่นานนี้ แล้วก็เคยพูดอยู่เสมอ แต่มันเป็นเรื่องที่พูดได้ ควรจะพูดอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพื่อให้เข้าใจเครื่องมืออันนี้จนได้ แล้วก็จะได้ทำให้มันมีขึ้นมา
ถึงจะพูดอีกทีหนึ่ง มันก็ต้องพูดอย่างที่แล้วมา ป้ายโพชฌงค์ไม่ได้มีชื่อเรียกเหมือนกับในธรรมะหมวดอื่น แต่ก็เล็งถึงความสัมพันธ์ของธรรมะในระหว่างธรรมะด้วยกันมากกว่า เมื่อพูดถึงโพชฌงค์มันก็ต้องพูดถึงสติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา มันก็ต้องพูดถึงชื่อธรรมะเหล่านี้ซึ่งมันเหมือนกับในหมวดอื่น เช่นคำว่า สติ เราพูดถึงสติ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้พูดถึงสติเฉย ๆ พูดถึงสติเมื่อกำลังเป็นโพชฌงค์ มันกำลังทำหน้าที่ของมันอย่างเป็นโพชฌงค์ คือสัมพันธ์กับธรรมะอื่น ๆ อย่างไร พูดถึงธัมมวิจยะก็คือพูดถึงปัญญานั่นเอง พูดถึงสิ่งที่เรียกว่าปัญญา แต่มาเรียกชื่อใหม่ว่าธัมมวิจยะ ธรรมวิจัย คือ ปัญญาที่กำลังสอดส่องธรรม เลือกเฟ้นธรรม พิจารณาธรรม กำลังทำหน้าที่อยู่อย่างนี้ และสัมพันธ์กับสติอย่างไร สัมพันธ์กับสิ่งถัดไปคือวิริยะอย่างไร
ทีนี้เมื่อเราพูดถึงวิริยะ สติ ธัมมวิจยะ แล้วก็วิริยะ ก็คือวิริยะชื่อเดียวกับในหมวดธรรมอื่น ๆ แต่เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงแง่ที่มันสัมพันธ์กับธัมมวิจยะอย่างไร และสัมพันธ์กับปีติต่อไปข้างหน้าอย่างไร พอพูดถึงปีติมันก็เป็นองค์ฌาน โดยทั่วไปเป็นองค์ฌานหรือความอิ่มใจ แต่ในที่นี้ไม่ใช่องค์ฌาน มันเป็นในเรื่องความอิ่มใจที่เอามาใช้งานอยู่เกี่ยวกับวิริยะคือความพากเพียร ในฐานะที่เป็นกำลังสนับสนุนของความพากเพียร ซึ่งก็เป็นกำลังอยู่แล้ว มันก็จะสัมพันธ์ต่อไปกับปัสสัทธิ คือความเข้ารูปเข้ารอยของธรรมะ นี่พูดถึงปัสสัทธิ และสมาธิ มันก็มีชื่ออย่างเดียวกับสมาธิในที่อื่น แต่นี้เราพูดหน้าที่ที่กำลังทำหน้าที่ เมื่อกำลังสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่าอุเบกขา สมาธินี้ก็หมายถึงสมาธิที่กำลังทำงานอยู่อย่างตัวเป็นเกลียว ไม่ใช่สมาธินิ่ง ๆ หรือว่าสมาธิสงบ เป็นสมาธิที่มันกำลังทำหน้าที่เต็มที่ ตรงเป็นที่เต็มที่ของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ แล้วมันสัมพันธ์กันอยู่กับปัสสัทธิและอุเบกขา คำว่า อุเบกขาเรามีหลายความหมาย อุเบกขาเฉย ๆ อุเบกขาเวทนา อุเบกขาองค์ฌาน อุเบกขาอะไรอื่น ๆ อีก แต่อุเบกขาในที่นี้เป็นอุเบกขาโพชฌงค์ มันเป็นอุเบกขาของความถูกต้อง ที่มีความถูกต้องมาดีแล้วมันก็ปล่อยให้มันไป เฉยไป เป็นความถูกต้องที่กำลังไปอย่างแน่วแน่ เรียกว่าอุเบกขา
พูดถึงรถอีกทีหนึ่งก็ได้ ถ้าถนนดี รถดี คนขับดี อะไรดีหมด สารถีก็ถือเชือกเฉย ๆ ถือบังเหียนม้าเฉย ๆ ม้าก็พาไปได้ รถพาไปได้อย่างดี คนอยู่คนไม่ต้องพยายามอะไร ไม่ต้องกระดุกกระดิกอะไร รถก็ไปได้ดี รถม้ายังดีกว่ารถยนต์เสียอีก ถนนดี ม้าดี รถดี อะไรดี ม้าพาคนไปถึงบ้านได้แม้คนขับจะหลับไป ถ้ารถยนต์มันคงจะลงคูตายหมด นี่อุเบกขาอย่างนี้ที่มันมีความถูกต้องของถนนดี ม้าดี รถดี คนขับดี มันก็ปล่อยเฉย ๆ มันก็เลยมีความหมายพิเศษ คำว่าอุเบกขานี้ มันเป็นความเฉยของความถูกต้อง ความถูกต้องมันก็เป็นไปได้ด้วยตัวมันเอง นี่เราจะจัดจะทำกันอย่างไรจนให้กาย วาจา ใจมันมีลักษณะอย่างนี้ ชีวิตมันมีลักษณะอย่างนี้ นั่นแหละคือความหมายของคำว่าโพชฌงค์ เครื่องมือทุกอย่างมีพร้อม เครื่องมือทุกอย่างกำลังถูกใช้ เครื่องมือแต่ละอันที่กำลังใช้อยู่นั้นสัมพันธ์กันดี เป็น Teamwork ที่หาที่ติไม่ได้ ความสำเร็จมันก็เกิด โพชฌงค์มันมีความหมายอย่างนี้ มันมุ่งหมายจะชี้ถึงในข้อนี้
ทีนี้เอาไปเทียบกับหมวดอื่นดู หมวดอิทธิบาท หมวดความเพียร หมวดอินทรีย์ พละ มันก็มุ่งหมายที่จะชี้ในส่วนอื่น ชี้ความหมายไปในส่วนอื่น ทั้งที่คำพูดนั้นมันคำเดียวกัน เช่นคำว่า วิริยะ มันก็มีในอิทธิบาท มีในสัมมัปธาน มีในอินทรีย์ มีในพละ มีในโพชฌงค์อีก แล้วก็มีในมรรคมีองค์ ๘ อีก วิริยะ คำพูดคำเดียวกันแต่กำลังมีความหมายในการทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน มันทำหน้าที่ตรงตามชื่อของมันแต่มีความสัมพันธ์ต่างกันตรงนี้ หรือว่ามีการทำหน้าที่ตรงตามชื่อของมันแต่ในระดับต่าง ๆ กันในเวลาต่าง ๆ กันก็มี ความถูกต้องเกี่ยวกับเวลา เกี่ยวกับหน้าที่มันมีอยู่ ถ้าทำไม่ถูกต้องในเรื่องเหล่านี้ มันก็ไม่เป็นโพชฌงค์ขึ้นมาได้ มันเป็นเครื่องมือที่วางอยู่เฉย ๆ บางทีเราพูดถึงกันแต่ปาก เป็นเครื่องมือที่วางอยู่เฉย ๆ บางทีก็ยังไม่ใช่ตัวเครื่องมือแท้ ๆ เป็นแต่เพียงการพูดถึงเครื่องมือ มันไกลจากความสำเร็จถึงขนาดนี้ เรามองดู ฉะนั้นอย่าได้นอนใจถือว่าบวชแล้ว เรียนแล้ว นักธรรมเอกแล้ว เปรียญเอกแล้ว อะไรก็แล้ว แล้วทั้งนั้น แต่แล้วก็ยังไม่มีเครื่องมือที่กำลังใช้อยู่อย่างถูกต้อง ผมก็ยอมรับว่าปริยัติหรือการเล่าเรียนนี้ก็เป็นเครื่องมือเหมือนกัน เป็นนักธรรมเรียนบาลีนี้ก็เป็นเครื่องมือเหมือนกัน แต่มันเป็นเครื่องมือที่เบื้องต้นเกินไป ยังห่างไกลจากตัวเครื่องมือจริงเกินไป เราเรียนให้รู้เรื่องของมัน แล้วจะได้ไปปฏิบัติให้มันเกิดขึ้นมา แล้วก็เรียน ๆ ๆ อยู่นั่น ไม่เคยปฏิบัติให้มันเกิดขึ้นมา มันก็เป็นเครื่องมือที่ไกลไปอีก แล้วไปนอนเป็นหมันอยู่ในฐานะที่เรียกว่าเป็นเครื่องมือแห่งการตรัสรู้ ทีนี้ทางที่จะเขวก็คือมันกลายเป็นเครื่องมือสำหรับหาลาภ ยศ ชื่อเสียง เอามาทำตัวเองให้โง่มากขึ้นไปอีกกว่าเดิม มันก็เลยลำบากมากขึ้นไปอีก เพราะว่าถ้าไปหลงในกิเลสในเหยื่อของกิเลสมากไปกว่าเดิม มันก็ยิ่งร้ายไปกว่าเดิม ฉะนั้นจึงมีคำพูดว่า อลคัททูปริยัติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปริยัติที่กลายเป็นงูพิษไป การเล่าเรียนศึกษาของผู้ที่เล่าเรียนทางปริยัติมันกลายเป็นงูพิษไป กัดคนนั้นตายไปเลยจากพรหมจรรย์นี้ เช่นพอเห็นว่าช่องทางมันจะสึกออกไปได้ หาเงินหาอะไรได้ มันก็สึกออกไปเลย เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมืออะไร มันก็เป็นเครื่องมือเชือดคอเจ้าของ
ทีนี้เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงเครื่องมือจริง ๆ ที่จะเป็นไปเพื่อโพธิจริง ๆ แล้วเป็นเครื่องมือที่สมกับความหมายของมันคือกำลังใช้มันอยู่ ถ้าไม่ใช้มัน มันก็ไม่มีค่า ไม่มีความหมาย เราใช้มันอยู่อย่างถูกต้อง หมวดธรรมที่ระบุการใช้มันอยู่อย่างถูกต้องหรือสัมพันธ์กันอยู่ก็คือโพชฌงค์ ทีนี้เราได้ยินคำว่าสติ คำว่าวิริยะ คำว่าสมาธิ อะไรในเรื่องของโพชฌงค์ เรารู้ว่าเขาชี้ในแง่ที่สิ่งเหล่านี้มันสัมพันธ์กันอยู่กับสิ่งอื่นอย่างไร ไม่ได้ชี้ในแง่ที่มันอยู่เฉย ๆ หรือมันทำหน้าที่อย่างอื่น เมื่อดูออกกันในแง่นี้ ก็จะเข้าใจคำว่าโพชฌงค์ ซึ่งแปลว่าองค์แห่งโพธิ คือองค์แห่งการตรัสรู้ พอเราเรียนมาจนเข้าใจถึงขนาดนี้ เราไม่สบาย มีใครมาสวดให้ฟัง ก็จะมีปีติอิ่มใจ พอจะรู้สึกสบายขึ้นมาได้บ้างหรือมากทีเดียว คือเขาเอาสิ่งที่ดีเลิศประเสริฐมาพูดให้ได้ยิน มันก็สบายใจนะคนเรา ทำนองเดียวกับว่าคนมันรักผัวรักเมีย พอไปไกลนาน พอมีคนบอกข่าวว่ามาแล้วเว้ย มาถึงแค่นั้นแค่นี้แล้วเว้ย ผัวหรือเมียที่นอนเจ็บอยู่มันก็สบายขึ้นมามาก มันอาจจะหายป่วยก็ได้ถ้าโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ กำลังใจชนิดนี้เป็นกำลังใจอย่างเดียวกับที่ว่าเอาโพชฌงค์มาสวดให้คนเจ็บรู้สึกหายบรรเทาจากความเจ็บ เพราะมันพอใจมากขนาดไม่มีอะไรเปรียบ เหมือนคนที่เรื่องผัวเมียที่ว่า
เดี๋ยวนี้ก็เข้าใจธรรมะกันถึงขนาดนี้หรือยัง โดยเฉพาะโพชฌงค์ ผมจึงคิดว่าการที่พูดถึงเรื่องโพชฌงค์ซ้ำ ๆ ซาก ๆ กันบ้างก็คงจะไม่เสียหลาย ก็คงจะไม่พูดสำเร็จได้ในเวลา ๑ ชั่วโมง มันต้องพูดกันเรื่อย ๆ ไปว่าโพชฌงค์นั้นมันคือเรื่องที่พูดถึงความสำเร็จที่อยู่ในกำมือ อยู่ในเงื้อมมือที่จะคว้าถึงได้แน่นอน ฉะนั้นถ้าพูดถึงเครื่องมือ มันก็ต้องเป็นเครื่องมือที่กล้าให้ความสำเร็จ หรือเครื่องมือที่มีหวังในความสำเร็จ เป็นเครื่องมือขั้นที่ทำความสำเร็จ จึงได้พูดไว้ในอันดับสุดท้าย ตอนปลาย ๆ อย่างอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ที่คุณสวดกันอยู่ทุกวัน คุณก็ไม่ไปนึกดูบ้างว่า อานาปานสตินี้เจริญทำให้มากดีแล้ว สติปัฏฐาน ๔ ก็สมบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์แล้ว โพชฌงค์ก็สมบูรณ์ โพชฌงค์สมบูรณ์แล้ว วิชชาและวิมุตติก็สมบูรณ์ วิชชาและวิมุตติ คือ ความดับทุกข์ที่เป็นความมุ่งหมาย ดังนั้นเรามีหน้าที่โดยตรงที่จะรู้จักมันและทำให้มันมีขึ้นมา และทำให้มันเดินเครื่องไป คือให้มันเป็นการปฏิบัติไปอย่าให้มันอยู่มีเฉย ๆ และมันก็ก้าวหน้าไป มันก็ถึง โพชฌงค์ก็หมายถึงตอนนี้ ตอนที่เครื่องมือถูกใช้ ก้าวหน้าไปจนสำเร็จ ถ้าเป็นการเดินทาง มันก็เป็นการเดินทางที่แน่นอนแล้ว คนขับหลับ ม้าก็พาวิ่งไปถึงบ้านได้ อันสุดท้ายคืออุเบกขา นั่งอยู่เฉย ๆ ก็นั่งหลับ ม้าก็พาวิ่งไปถึงบ้านได้ เพราะม้ามันดี รถมันดี ถนนมันดี อะไรมันดี ครบหมดทั้ง ๗ อย่าง
ทีนี้มองกันอีกด้านหนึ่ง คนพวกหนึ่งก็ยกมือขึ้นท่วมหัว โพชฌงค์อยู่ในฐานะสูงสุด ไม่เกี่ยวข้องกับเราเลย พอผมพูดว่าโพชฌงค์เป็นธรรมะสูงสุดเพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน เอาหลักการนี้มาใช้ในการทำไร่ทำนาค้าขายอะไรก็ได้ เขาไม่เชื่อ เขาค้าน เขาด่าเลยว่าผมไปพูดทำลายธรรมะของพระพุทธเจ้าให้เสียเกียรติ ให้ต่ำเกียรติไป จริง ๆ มันเป็นความโง่อย่างลืมตาของนักปราชญ์และผู้พูดคนนั้นเอง พยายามจะพูดให้คุณทุกองค์เข้าใจว่า ธรรมะที่เรียกว่าโพชฌงค์นั้นมันเป็นองค์แห่งความสำเร็จเหมือนกัน สำเร็จสุดท้ายก็คือบรรลุโพธิ สำเร็จทั่วไปก็ได้ทั้งนั้น มันเป็นหลักการอันเดียวที่มาใช้ได้ทุกแขนงของความสำเร็จ
ทีนี้เราจะดูกันว่าในอะไร ๆ มันก็มีโพชฌงค์ ในการปฏิบัติชุดไหนก็ตามมันมีโพชฌงค์ เพราะมันเป็นความสำเร็จ การปฏิบัติทั้งหมดสรุปให้เหลือ ๓ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา นอนตายดิกอยู่เป็นอย่าง ๆ มันก็ไม่มีประโยชน์ มันเป็นเรื่องพูดเรื่องท่องจำอยู่อีกเหมือนกัน แต่ถ้าศีล สมาธิ ปัญญากำลังเป็นไป กำลังทำหน้าที่อยู่อย่างตัวเป็นเกลียว หรือเป็นไปตามหน้าที่ของมันแล้ว มันก็มีโพชฌงค์อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ในการจะมีศีลจริง สมาธิจริง ปัญญาจริง ต้องมีองค์ของโพชฌงค์ครบ หรือองค์ของโพชฌงค์ทั้ง ๗ องค์ เราจะมองดูมันในแง่ของศีล สมาธิ และปัญญาก็ได้ ทีนี้ก็ได้บอกให้รู้แล้วว่า ในขณะที่การทำสมาธิ ปัญญาอยู่นั้น ศีลมันซ่อนอยู่ใต้นั้น เพราะว่าศีลคือความตั้งใจที่สำรวมระวังอะไรอยู่ นั่นคือเป็นส่วนศีลหรือว่าส่วนบังคับตัวเอง ฉะนั้นทำสมาธิ หรือทำปัญญา วิปัสสนาก็ตาม มันต้องมีการสำรวมจิตให้ทัน การสำรวมจิตนั่นน่ะคือศีล หรือว่าเราอยู่อย่างผู้บำเพ็ญสมาธิและปัญญา มันไม่มีทางจะขาดศีล มันมีศีลสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรักษาศีลก็ยิ่งมีศีลถึงที่สุดก็เพราะอันนี้ ไม่เจตนารักษาศีล เจตนาทำสมาธิวิปัสสนาแต่มันกลับมีศีล ในความสัมพันธ์กันอย่างนี้เป็นลักษณะของโพชฌงค์
ทีนี้เราจะมองดูว่าเมื่อเราจะมีศีล ตั้งเจตนาที่จะรักษาศีล มันก็มีสมาธิ ปัญญา ประคับประคองอยู่ คนจะรักษาศีลก็ต้องมีสติสัมโพชฌงค์ คือมีสติรู้สึกตัวทั่วถึงเกี่ยวกับเรื่องศีล เกี่ยวกับความทุกข์ ความชั่วที่จะต้องละเสียให้ได้ด้วยศีล มันก็มีสติอย่างนี้ แล้วคนรักษาศีลก็มีธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ คือการเลือกเฟ้นที่ดีแล้วด้วยปัญญาเกี่ยวกับศีล เขาจึงรักษาศีลได้ดี คนรักษาศีลก็มีธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ แล้วคนรักษาศีลก็ต้องบากบั่นพากเพียรที่จะต่อสู้อดกลั้นอดทนต่าง ๆ นานา เพื่อให้ศีลมันมีอยู่ อย่างนี้ก็เรียกว่าวิริยะสัมโพชฌงค์ ทีนี้คนรักษาศีลนั้นอาจจะหมดกำลังใจเสียได้ง่าย ๆ ก็ต้องมีปีติสัมโพชฌงค์หล่อเลี้ยงไว้ คือยินดีพอใจในการที่ตัวมีศีล มีความอิ่มใจในการที่ตัวมีศีลหล่อเลี้ยงไว้ อิ่มใจในความสำเร็จของการรักษาศีล เรียกว่าปีติสัมโพชฌงค์ ทีนี้ก็ไปถึงปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือรักษาศีลจนเข้ารูปเข้ารอย มีศีลอยู่ได้จริง ไม่ต้องลำบากมากมายเหมือนตอนแรก ๆ กิเลสหยาบ ๆ มันระงับลงไป เป็นปัสสัทธิ ก็เข้ารูปเข้ารอยที่จะทำให้ศีลปรากฏออกมา แสดงตัวออกมา ทีนี้คนรักษาศีลก็มีความปักใจมั่น เป็นสมาธิในการรักษาศีล แล้วก็รักษาศีลด้วยกำลังใจ แม้ศีลเป็นเรื่องที่บังคับกายและวาจาก็จริง แต่การรักษาศีลต้องทำด้วยกำลังใจ มันก็เป็นสมาธิ ทีนี้พอศีลของเราเข้ารูปเข้ารอยดีแล้ว เราก็ปล่อยมันได้ มันไม่มีทางขาดศีล คนที่มีศีลเป็นนิสัย หรือว่ามีสมบัติผู้ดีเป็นนิสัยอย่างนี้มันก็ไม่มีทางขาดศีล นี่เป็นอุเบกขา ปล่อยมันไปเฉย ๆ มันก็ไม่มีทางขาดศีล เมื่อศีลมันเข้ารูปเข้ารอยดีแล้ว เราจะเห็นได้ว่าการรักษาศีลอย่างเดียว มันก็ต้องอาศัยองค์ประกอบของสัมโพชฌงค์ ๗ อย่างนี้ด้วยเหมือนกัน และอาการอย่างนี้มันจะเป็นเรื่อย ๆ ขึ้นไป สูงขึ้นไป ๆ ๆ จนถึงเรื่องตัดกิเลส เรื่องปัญญา เรื่องวิปัสสนา เรื่องตัดกิเลส เรื่องบรรลุมรรคผลโดยตรง เรื่องศีลเป็นอย่างไร เรื่องศีลจะต้องประกอบไปด้วยอาการของสัมโพชฌงค์อย่างไร อาการของโพชฌงค์ ๗ อย่างมีอย่างไร เรื่องสมาธิก็อย่างนั้น เรื่องปัญญาก็อย่างนั้น มันสูงขึ้นไป ๆ อย่างนั้นเอง
ทีนี้เราจะมองกันไปอีกด้านหนึ่ง คือมองไปที่ความเพียร การบำเพ็ญความเพียร การบำเพ็ญสัมมัปธาน ๔ อยู่ เพียรระวัง เพียรละ เพียรสร้าง เพียรรักษา ในเรื่องธรรมะมีอยู่ มันก็อาศัยหลักเกณฑ์ ๗ อย่างนี้ มันจึงจะเพียรไปได้ดีที่สุด เร็วที่สุด มีสติในการที่จะพากเพียร มีธัมมวิจยะในการที่จะพากเพียร มีวิริยะในการที่จะพากเพียร มีปีติในการที่จะพากเพียร มีปัสสัทธิในการที่จะพากเพียร มีสมาธิ มีอุเบกขาในการพากเพียร สัมมัปธาน ๔ มันก็สมบูรณ์ขึ้นมาอีก ก็อาศัยวิธีการของโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ก็กี่ชั่วโมงก็ไม่หมด จึงยกมาพอเป็นตัวอย่างให้คุณไปหาวิธียกตัวอย่างกันได้เอง คือเข้าใจแล้วมันก็เข้าใจไปเอง นี่เรียกว่าโพชฌงค์ องค์แห่งโพธิ โพธินี้หมายถึงโพธิสุดท้ายคือบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ หรือโพธิในขั้นต้น ๆ โพธิในขั้นแรก ๆ เริ่มแรกเป็นหน่ออ่อนของโพธิ มันก็ยังได้อยู่แหละ มันก็โพชฌงค์คือองค์แห่งโพธิอยู่นั่นเอง
ทีนี้ลดลงมาถึงเรื่องสติปัญญาอย่างโลก ๆ โพธิอย่างโลก ๆ คือทำมาหากิน ทำไร่ทำนาค้าขาย ลองเอาไปใช้ดูใน ๗ อย่างนี้ หรือทำงานฝีมือศิลปะ เป็นศิลปิน เป็นหมอ เป็นทนายความ เป็นอะไรก็ตาม ก็ลองใช้ ๗ อย่างนี้ดู มันจะประสบความสำเร็จ โพชฌงค์มันกินความกว้างขวางอย่างนี้ คือเกี่ยวกับโพธิ เกี่ยวกับปัญญา แล้วมันก็ต้องอาศัยหลักการอันนี้ โพธิโลก ๆ โพธิธรรมะชั้นสูง โพธิอะไรก็ต้องใช้หลักการอันนี้ ฉะนั้นคงจะเบาใจบ้าง หรือบางทีพอใจบ้าง แต่ว่าทุกคนเริ่มรู้จักโพชฌงค์กันในลักษณะอย่างนี้ ก่อนนี้มันมืดตื้ออีกอย่างหนึ่ง ก่อนนี้มันยกไว้สูงจนไม่มาเกี่ยวกับเราเลย เอาไว้แต่สำหรับจะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียว ไม่มาเกี่ยวกับเราเลย อันนี้ก็จะเรียนไปทำไม จะเรียนธรรมะ จะศึกษาธรรมะเหล่านี้ไปทำไม เพราะไม่มีประโยชน์อะไร มันต้องมาอยู่กับเรา เกี่ยวข้องกับเราทุกระยะ ทุกตอน ทุกกระเบียดนิ้ว
นี่เรียกว่าโพชฌงค์นั้นมันก็อยู่ที่เนื้อที่ตัวของผู้ที่มีสติปัญญาจริงไม่ว่าในระดับไหน ที่เนื้อที่ตัว ที่กาย วาจา ที่จิตใจ ถ้าพูดสั้น ๆ สมัยใหม่หน่อยก็อยู่ที่ชีวิต ใช้คำว่าชีวิต โพชฌงค์ต้องมีอยู่ในตัวชีวิต ทีนี้มันอาจจะน่าหัวอย่างยิ่ง คือแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าชีวิตก็ไม่รู้จัก ทั้งที่ตัวเองก็มีชีวิต มันเหมือนกับสุนัขและแมว มันก็มีชีวิต แล้วมันก็ไม่รู้จักว่าชีวิตนั้นคืออะไร คนโดยมากก็เหมือนกับสุนัขและแมว มีชีวิตก็ไม่รู้จักว่าชีวิตนั้นคืออะไร อย่างดีก็รู้จักว่า กินเข้าไป ๆ มันจะได้มีชีวิตอยู่ รู้จักชีวิตแต่ในลักษณะอย่างนี้ หรือจะหาความเพลิดเพลินจากการที่มีชีวิตอยู่ โดยไม่เห็นถึงค่าของมัน ฉะนั้นเรามองดูชีวิตในแง่ที่มันสูงสุดกันบ้าง ชีวิตในทางกายคือยังไม่ตาย ร่างกายยังดี ๆ อยู่ ยังไม่ตาย นี่ชีวิตในทางกาย ต้นไม้ก็มีชีวิต สุนัขและแมวก็มีชีวิต คนก็มีชีวิต มันก็ชีวิตทางร่างกาย ทางฟิสิกส์ เมื่อเซลล์เหล่านั้นมันยังไม่ตาย มันยังเจริญอยู่ มันก็เรียกว่ามีชีวิต ทีนี้ชีวิตทางจิตใจ ทางจิต ก็คือรู้สึกคิดนึกได้ มันก็เป็นชีวิตที่สูงขึ้นมาหน่อยหนึ่ง รู้สึกคิดนึกได้ นี่ชีวิต ถ้าชีวิตทางวิญญาณ หมายถึงทางสติปัญญา คือมีความเข้าใจถูกต้อง และกำลังประสบผลที่เป็นที่มุ่งหมายของการที่มีชีวิตทำไมกัน ก็หมายความว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ แล้วกำลังได้สิ่งนั้นอยู่ นั่นแหละคือชีวิต ควรจะมองกันโดยลึกถึงด้านวิญญาณอย่างนี้บ้าง อย่ามองแต่ในด้านวัตถุหรือด้านจิตที่เกี่ยวอยู่กับวัตถุ ถ้ามองถึงในด้านอะไรก็ไม่รู้ที่ผมเรียกว่าด้านวิญญาณ คือเป็นเรื่องของสติปัญญาโดยตรง กำลังอิ่มเอิบสดชื่นอยู่ด้วยสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ กระทั่งรู้อมตธรรมคือความไม่ตายของผู้มีสติปัญญานั้น และอมตธรรมนั้นแหละคือชีวิต อย่างนี้ผมเรียกว่าชีวิตในความหมายสูงสุด ในทางวิญญาณ ไม่ใช่ทางร่างกายหรือทางจิตใจล้วน ๆ แต่ในทางวิญญาณ
ทีนี้ถ้าเราเป็นคนธรรมดาสามัญอย่างนี้ เราควรจะมองชีวิตในด้านสูงสุดนั้นหรือไม่ ผมว่าควรมองอย่างยิ่ง และเอามาให้มันสัมพันธ์กันได้กับในความเป็นอยู่ประจำวัน นี่มองกันในแง่ลึก แง่สติปัญญา แง่วิญญาณเรื่อย มันก็จะพบคำว่าชีวิตในความหมายที่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งที่สุด แล้วก็ประเสริฐที่สุด สูงสุดที่สุด ชีวิตคือการเดินทาง เดินทางคือเดินไปตามมรรคมีองค์ ๘ โดยอาการของโพชฌงค์ ๗ ชีวิตคือการเดินทาง แน่นอนที่สุดเลย การที่มีชีวิตอยู่คือกำลังเดินทางไป ๆ โดยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ตามหลักการของโพชฌงค์ ๗ ประการ ชีวิตคือการเดินทาง
ทีนี้ถ้ามองดูอีกมุมหนึ่ง ในขณะนั้น ในเรื่องเดียวกันนั้น ชีวิตคือการรบพุ่งหรือการทำสงคราม เพราะว่าตลอดเวลาที่มันเป็นอยู่อย่างนั้นมันรบกับกิเลส รบกับข้าศึกอันร้ายกาจคือกิเลสตลอดเวลาที่เราเดินตามมรรคมีองค์ ๘ หรือมีโพชฌงค์ ๗ ประการอยู่ มันรบราฆ่าฟันกันกับกิเลสเรื่อยไป มองดูในแง่นี้ชีวิตก็คือการทำสงครามอยู่ตลอดเวลา ทุกลมหายใจเข้าออกของการปฏิบัติธรรม เรียกว่า ชีวิตคือการทำสงครามกับกิเลส ในแง่ Negative อย่างนี้มันน่าเศร้า
ลองดูในแง่ positive ชีวิตก็คือการทำนา ได้ผลมา ได้ข้าวเปลือกมาเป็นอมตะ เป็นอมตธรรม อมตผลา มีอมตะเป็นผล การทำนาของเรามีอมตะเป็นผล พระพุทธเจ้าท่านเปรียบการปฏิบัติธรรมเหมือนการทำนา สัทธา พีชัง ตโป วุตถิง อันนี้ยืดยาวเลยท่านอวดพราหมณ์คนหนึ่งว่าฉันก็ทำนา มีศรัทธาเป็นข้าวเปลือก เอาข้าวพืชของเราเพาะปลูก มีความเพียรเป็นน้ำฝน มีหิริเป็นงอนไถ มีจิตเป็นเชือกคัดไถ ว่าไปตามเรื่องของท่าน เมื่อเดินอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ ตามหลักการของโพชฌงค์ ชีวิตคือการทำนาที่มีอมตะเป็นผล ข้าวเปลือก ทีนี้ดูกันอย่างคนละโมบโลภลาภสมัยนี้ ชีวิตก็คือการค้าขายทางวิญญาณ ชีวิตที่เดินไปตามทางมีองค์ ๘ ประการ มีโพชฌงค์เป็นหลักการ คือการค้าขายทางวิญญาณ ได้กำไรสุดยอดคือพระนิพพาน เราลงทุนด้วยการปฏิบัติเหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อย เหนื่อยในการปฏิบัติธรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจเหมือนกับลงทุนค้าขาย ในที่สุดได้กำไรมาเป็นมรรค ผล นิพพาน จะถือชีวิตเป็นการค้าขายก็ได้ ถ้ามันมีหัวค้าขาย ถ้ามีหัวทำนา ก็ดูชีวิตในฐานะเป็นการทำนา ถ้าเป็นพวกชอบรบราฆ่าฟัน ก็ดูชีวิตในการทำสงคราม เราดูกันได้ทุกแง่ทุกมุม แต่ไม่พ้นจากการที่จะต้องใช้มรรคมีองค์ ๘ โดยหลักการของโพชฌงค์ ขอให้เข้าใจอย่างนี้เป็นราย ๆ อย่างไป มีความสัมพันธ์กันโดยวิธีการของโพชฌงค์ นี่เราพูดกันโดยคร่าว ๆ อย่างนี้ เป็นวงกว้าง ๆ อย่างนี้ก่อน เวลาของเราก็หมด