แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๒๑ กันยายน เป็นวันอันดับที่ ๕๕ แห่งระยะการเข้าพรรษา วันนี้จะได้พูดกันถึงเรื่องธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือต่อไปอีก ถึงหมวดที่ว่าด้วยอินทรีย์ ๕ อย่าง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพละ ๕ อย่าง แล้วก็ธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือเหมือนกับที่เคยพูดมาแล้ว เพื่อความเข้าใจดีก็ต้องทบทวนมาตั้งแต่ทีแรกว่าหมวดแรกที่สุดเราได้พูดถึงสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ในฐานะเป็นเครื่องมือสารพัดนึก พูดถึงอิทธิบาท ๔ เครื่องมือให้ทำความสำเร็จ พูดถึงสัมมัปธาน ความเพียร ที่จำแนกออกไปเป็น ๔ อย่าง พูดถึงสติปัฏฐาน
ทีนี้ก็มาถึงหมวดธรรมที่ชื่อว่า อินทรีย์ และพละ มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ขอให้สังเกตดูว่าสิ่งที่เรียกว่าศรัทธา เพิ่งพูดถึงกันวันนี้ เพิ่งเอ่ยถึงวันนี้ ก่อนหน้านี้เราไม่ได้พูดกันถึงสิ่งนี้ และเท่าที่เอามาพูดแล้วนี้ก็เป็นเครื่องเทียบสัดส่วนว่าพูดถึงอะไรมาก พูดถึงธรรมะข้อไหนมากที่สุด ศรัทธาก็เพิ่งจะมีมาครั้งเดียวครั้งนี้ ส่วนวิริยะ สมาธิ สติ หรือปัญญานี่พูดถึงเรื่อย ในวันนี้ก็มีศรัทธาเป็นของเพิ่งจะพูด ส่วนวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานั้นพูดถึงอยู่ทุกวัน อยู่ในหมวดอื่น ๆ ฉะนั้นเราก็ไม่ต้องพูดถึง วิริยะ สติ สมาธิ หรือปัญญาอะไรกันให้มากมายนัก เพราะมันเหมือนที่แล้ว ๆ มา เราพูดถึงศรัทธานี่มากเป็นพิเศษให้เข้าใจ
แต่ว่าเราจะพูดถึงความหมายของชื่อธรรมะหมวดนี้กันเสียก่อน คือคำว่าอินทรีย์ เมื่อเป็นอินทรีย์แล้วก็มีคำว่าอินทรีย์ต่อท้ายหมด ศรัทธาอินทรีย์ เรียกว่าศรัทธินทรีย์ วิริยะอินทรีย์ ก็เรียกว่า วิริยินทรีย์ สติอินทรีย์ก็เรียกสตินทรีย์ สมาธิอินทรีย์ก็เรียกสมาธินทรีย์ ปัญญาอินทรีย์ก็เรียกว่าปัญญินทรีย์ มีอินทรีย์ต่อท้าย นี่สำหรับคำว่าอินทรีย์ อินทรียะ มันแปลว่าเป็นใหญ่ หรือสำคัญ หรือออกหน้า เราต้องรู้กันว่าคำ ๆ นี้มันแปลว่าเป็นใหญ่ หรือสำคัญ หรือออกหน้า น่าจะเป็นชื่อนก เขาเรียกว่า นกอินทรี หมายความถึงข้อที่มันใหญ่ หรือมันสำคัญ หรือมันเด่น อะไรทำนองนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นชื่อธรรมะ เหมือนธรรมะที่เด่นที่ออกหน้า แต่ด้วยเหตุที่ธรรมะหมวดนี้ ๕ อย่างนี้ นอกจากจะเรียกอินทรีย์ แล้วยังเรียกว่าพละด้วย พละกำลัง คำว่า พล หรือพละ นี้แปลว่า กำลัง ซึ่งมีความหมายไปทางรากฐานหรือพื้นฐาน ธรรมะ ๕ อย่างนี้เป็นทั้งอินทรีย์ เป็นทั้งพละ มันก็คล้ายกับว่ามันเป็นทั้งหัวและเป็นทั้งตีน หรือว่ามันจะเป็นทั้งหงอนและมันเป็นทั้งตีนสำหรับสัตว์ ไอ้หงอนหรืออะไรที่มีลักษณะคล้ายหงอนนั้นเป็นเครื่องเชิดชู ออกหน้าออกตา แต่แล้วพร้อมกันนั้นมันก็เป็นตีนด้วย คือเป็นกำลังที่เป็นพื้นฐานเป็นรากฐานด้วย นี่ถ้าเป็นสัตว์ก็ดูจะคล้ายอย่างนี้ ถ้าเป็นคนก็เป็นทั้งหัวและเป็นทั้งตีน หัวก็คือหัวสมองหรือศีรษะที่เป็นเครื่องเชิดชูเด่นของคน และพร้อมกันนั้นมันก็เป็นตีน สำหรับเดินหรือสำหรับทำอะไรได้ด้วย เป็นมือเป็นเท้าอะไรได้ด้วย นี่เดี๋ยวเราก็ดูแล้วกันว่ามันเป็นได้อย่างไร คือเป็นทั้งอินทรีย์และเป็นทั้งพละ
ทีนี้ก็จะได้ดูกันทีละอย่าง เป็นอย่าง ๆ ไป สำหรับคำว่าศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ แต่ว่าภาษามันกำกวม หรือมันกว้าง เชื่อผิดศรัทธาผิด เชื่อถูกก็ศรัทธาถูก เราต้องมีศรัทธาที่ถูกจึงจะเรียกว่าศรัทธาในที่นี้ ถ้าเชื่อผิดก็มีชื่อเรียกอย่างอื่น ไม่เรียกว่าศรัทธา หรือเรียกว่าศรัทธา ก็ต้องใส่ไปว่าศรัทธาผิด เป็นมิจฉาศรัทธาจึงจะได้ ถ้าพูดว่าศรัทธาเฉย ๆ ให้ถูก ศรัทธาเฉย ๆ พอแล้วก็ต้องหมายความว่ามันถูก ทีนี้ศรัทธาถูก ศรัทธาผิดมันก็ยังตีกันยุ่งไปหมด ในลัทธิอื่นในศาสนาอื่นก็มีศรัทธาของเขาอย่างนั้น ซึ่งไม่ตรงกับในพุทธศาสนา เขาก็ต้องเรียกว่าศรัทธาของเขาถูก ศรัทธาในพุทธศาสนายังไม่ถูกก็ได้ จะมีลัทธิ ถ้าหากว่าจะมีลัทธิหรือศาสนาก็ตาม ลัทธิใดลัทธิหนึ่งซึ่งเขาให้เชื่ออย่างหลับหูหลับตา มันเป็นศรัทธาที่ถูกต้องในลัทธินั้น ๆ ก็ไม่เป็นศรัทธาในพุทธศาสนา เพราะว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนาระบุไปยังความเชื่อที่ถูกต้องเสมอ เพราะว่ามีพระพุทธภาษิตโดยเฉพาะคือกาลามสูตร ระบุไว้ชัดในเรื่องนี้ อย่าได้เชื่อ เพราะเหตุที่ได้ยินได้ฟังตาม ๆ กันมา อย่าได้เชื่อเพราะเหตุที่เราได้ยินเขาว่ากันทั้งเมืองทั้งบ้าน ทั้งบ้านทั้งเมือง และก็อย่าได้เชื่อเพราะเหตุแม้แต่เพียงว่าเขาทำกันอยู่ ปฏิบัติกันอยู่ สืบ ๆ กันมาทั้งบ้านทั้งเมือง นี่ก็อย่าได้เชื่อ แล้วก็อย่าได้เชื่อด้วยเหตุที่ว่าคำนึงคำนวณเอาด้วยเหตุผลตามความตรึก คือที่เดียวนี้เรียกว่า logic นั่น ตรรกะคือสิ่งที่เดี๋ยวนี้เรียกว่า logic แม้ถูกต้องเหตุผลตาม logic ก็ยังไม่เชื่อ ฝากไว้ทีก่อน มันมีอยู่ ๒ แขนง ตรรกะอย่างหนึ่ง นัยยะอย่างหนึ่ง ก็เป็น logic ด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็อย่าได้เชื่อแม้ว่าคำพูดที่พูดนี้มันมีอยู่ในพระไตรปิฎก อยู่ในปิฎก อยู่ในตำรา แล้วก็อย่าได้เชื่อด้วยเหตุที่ว่าผู้พูดนั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา
เหล่านี้คุณลองคำนวณดูเองว่าพระพุทธเจ้าท่าน ท่านทรงวางหลักแห่งความเชื่อไว้อย่างไร รวมทั้งอย่าเชื่อว่าไอ้พวกนี้มันน่าเชื่อ ทีนี้ก็มีปัญหาว่าจะไปเชื่อเมื่อไหร่กันล่ะ จะไปเชื่อต่อเมื่อไหร่ คำตอบมันสรุปรวบยอดว่าเชื่อเมื่อต่อเมื่อมองเห็นด้วยตนเอง รู้สึกด้วยตนเองว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง คือให้เอาความรู้สึกในใจของตัวที่ได้ผ่านมาแล้วจริง ๆ เป็นหลัก ว่าเชื่อได้แล้วเว้ย ถ้าไม่อย่างนั้นก็ฟังหูไว้ก่อน ฝากไว้ก่อน จะเชื่อก็เชื่อเพียงว่าเอามาทดลองดู ยังไม่เชื่อทั้งหมด เมื่อสิ่งนี้มันมีอยู่ในพระไตรปิฎก ครูบาอาจารย์พูด คนทั้งหลายเขาก็เชื่อและทำกันอยู่ ก็ลองเอามาลองนั่นดู โดยจับกันเข้าหรือเปรียบกันเข้ากับสิ่งที่เรารู้สึกอยู่แล้ว เช่นพูดว่า โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ดี เป็นกิเลส เราก็ยังไม่จำเป็นจะต้องเชื่อ จนกว่าจะได้ดูที่ โลภะ โทสะ โมหะของเราเองก่อน ว่าโลภะ โทสะ โมหะของเราเอง เกิดขึ้นอยู่ในใจมันเป็นอย่างไร กำลังเป็นอย่างไร เห็นชัดว่ามันเป็นไฟเผาลนบ้าง มันเป็นความทุกข์ให้เกิดความทุกข์โดยตรงแล้วจึงเชื่อว่าที่เขาพูดนั้นจริง ในที่เขียนไว้พระไตรปิฎกนั้นจริง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริง แล้วถึงเชื่อ
ดังนั้นมันเป็นจึงเรื่องของความจริงที่รู้สึกอยู่จริง ซึ่งอยู่เหนือเหตุผล คืออยู่สูงกว่าเหตุผลหรือเหนือไปกว่าเหตุผล นี่มันก็คงจะเกิดปัญหายุ่งยากลำบากขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังหรือไม่เคยรู้สึกอันนี้มาก่อน ดังนั้นเราจึงเลิกพูดชนิดที่เพียงแต่สักว่าชื่อ ต้องเอาเรื่องจริงมาพูดกันให้เข้าใจ จนมันจับกันได้กับเรื่องจริง ๆ ที่ผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราอาจจะพูดได้ว่า ไอ้ความเชื่อในพุทธศาสนาจะต้องตั้งรากฐานอยู่บนสิ่งที่ได้ผ่านมาแล้ว คือ Experience ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วจริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง experience ทางวิญญาณ spiritual experience ในทางความรู้สึกคิดนึกสติปัญญา ของอะไรที่ผ่านมาแล้ว โดนมาแล้ว นั่นแหละเป็นรากฐานของความเชื่อ อย่าได้เอาเหตุผลคำนึงคำนวณไปตามวิธีคิด วิธีนึก หรือว่าตามเหตุ ตามหลักฐานพยานอย่างอื่น เช่นที่คนเขาปฏิบัติกันมาก ๆ นั่น ก็ไม่เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นรากฐานของความเชื่อ เอาสิ่งที่ประจักษ์อยู่แล้วในใจแล้วจริง ๆ แล้วมาเข้าจับกับสิ่งนี้ดู แล้วจึงเชื่อ
สมมติว่าเป็นยาที่เขาเอามาให้กิน มันก็ยังไม่เชื่อหลังจากที่ได้ลองกินดูก่อนแล้ว แล้วการที่จะไปลองกินก็เหมือนกัน มันก็ต้องมีอะไรชนิดที่พอที่จะเชื่อได้ว่าน่าลอง แต่แล้วความเชื่อจริง ๆ มันจะเชื่อต่อเมื่อหลังจากได้ปรากฏผลแล้ว นี่มันก็เหมือนกับธรรมะ ไอ้ยานี่ก็เหมือนกับธรรมะ ในฐานะเป็นเครื่องบำบัดทุกข์ด้วยกัน นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างนี้ แต่พวกเราก็ไม่ปฏิบัติตามท่านในข้อนี้ คือเราปฏิบัติไปในทางที่ว่าต้องเชื่อกันก่อนแล้วจึงจะฟัง แล้วจึงจะทำตาม นี้มันดูมัน มันดื้อดึงหรือว่ามันทำผิดที่พระพุทธเจ้าท่านสอน จนบางครั้งพระพุทธเจ้าท่านต้องตรัสว่า แม้ตถาคตพูดก็อย่าเพิ่งเชื่อ พระสารีบุตรเป็นคนกล้าหาญที่กล้าพูดว่า ข้าพระองค์ก็มิได้เชื่อ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสออกมา ข้าพระองค์ก็มิได้เชื่อ จนกว่าจะได้รู้สึกด้วยจิตใจโดยอาศัยเหตุผลที่เป็น experience คือเป็นความรู้สึกโดยตรงอย่างที่ว่ามาแล้ว ไม่ใช่เหตุผลคำนึงคำนวณไปตามเหตุผลข้างนอก เป็นเหตุผลที่ตั้งอยู่บนความรู้สึกที่ได้ผ่านไปแล้ว คือเชื่อ ๆ ตัวเอง พูดง่าย ๆ ก็ว่าเชื่อตัวเอง แล้วจึงเชื่อคำที่เขาพูดไว้เป็นหลัก เรียกว่ารับเอามาเชื่อ ยอมรับเชื่อ พระพุทธเจ้าท่านเปิดโอกาสไว้เต็มที่เพื่อให้อิสรภาพในการเชื่อ เสรีภาพในการเชื่ออย่างเต็มที่ แต่พวกเราก็ไม่ได้ทำตามนั้น สมัครที่จะเชื่อ พอใครเชื่อเราก็เชื่อ อย่างเราเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะคนอื่นเขาเชื่อกัน เพราะปู่ยาตายายเขาเชื่อกัน เขาสอนให้เชื่อ เรื่องมันไขว้กันอยู่อย่างนี้ แล้วมันเลยเกิดเหตุผลขึ้นคนละอย่าง คือความสับสน หรือว่าความที่มันจะตกไปในทางที่งมงาย และติดตังอยู่ที่ความงมงายนั้นนานมาก แค่อยากกระโดดเข้าไปสู่ความงมงายตั้งแต่ที่แรก มันก็คงจะไม่ติดตังมากเหมือนทุกวันนี้ เหมือนเดี๋ยวนี้ นี่คือข้อที่ว่าทำอะไรตาม ๆ กันไป หรือที่ได้ยินได้ฟังมา เป็นอย่างนี้
ความเชื่อในพุทธศาสนาต้องเป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านทรงกำชับไว้ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ๆ ว่าสุดท้ายก็ทรงปฏิเสธพระองค์เอง ว่าอย่าเชื่อด้วยเหตุที่ว่าผู้พูดนี่ สมณะนี่เป็นครูของเรา ท่านปฏิเสธพระองค์เองอย่างนี่ เมื่อท่านปฏิเสธพระไตรปิฎกมากิจฉะกะสัมปะทาเนนะ (นาทีที่ 20:29) อย่าเชื่อเพราะมันมีอยู่ในพระไตรปิฎกอย่างนี้เป็นต้น แล้วคุณก็ลองคำนวณดูเองว่าความเชื่อในพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร มันเหมือนกับในลัทธิอื่น ศาสนาอื่นหรือไม่ ศาสนาบางศาสนาบอกให้เชื่อคำเดียว ไม่เชื่อก็เลิกกัน ไม่เชื่อก็ไปเถอะ อย่ามายุ่ง ต่างกันอย่างนี้ ที่แท้มันอาจเป็นคำพูดทำพิษมากกว่า เราเอาคำพูดมาปนกันยุ่ง มันมีคำว่า ภักติ หรือภักดีอีกคำหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของความเชื่ออย่างงมงาย ความรัก ความภักดี ถ้ามันมีเสียแล้ว มันก็เชื่อประพฤติอย่างงมงาย เราเอาคำว่าภักดี คำว่าศรัทธา มาปนกันยุ่ง จนไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจคำว่า ศรัทธา กันเสียให้ดี ๆ ให้เป็นไปตามหลักของพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร โดยเฉพาะที่เรียกว่ากาลามสูตรอย่างที่กล่าวแล้ว
ปัญหาก็คงจะเกิดขึ้นเหมือนกันคือว่า ไอ้คนโง่ ๆ จะเชื่อได้อย่างไร คนเรียนน้อยจะรู้จักเลือกรู้จักเชื่อได้อย่างไร ที่พูดอย่างนั้นมันก็ยังโง่อยู่มากเหมือนกัน คือไม่เข้าใจ คือพระพุทธเจ้าต้องการให้เชื่อต่อเมื่อมันประจักษ์ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่นไฟร้อน เขาบอกว่าไฟร้อนก็ยังไม่เชื่อ แม้ว่าจะเห็นไฟเผาไหม้อะไรอยู่หรือว่าเห็นไฟมันไปถูกเข้าแล้ว มันก็พอง แล้วก็ยังไม่เชื่อ จนกว่าเราไปถูกไฟเข้าเอง ถึงจะเชื่อว่าไฟมันร้อน ร้อนแล้วเป็นอย่างไร แต่เรื่องไฟนี้ยังเห็นง่ายกว่าเรื่องกิเลสข้างใน ไฟธรรมดาก็เห็น ๆ กันอยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเด็ก ๆ เล็ก ๆ มันคงไม่รู้จักไฟได้ดีจนกว่ามันจะไปถูกไฟได้จริง มันมี Experience ในไฟ แล้วมันก็รู้ว่าไฟเป็นอย่างไร ร้อน แล้วมันก็เชื่อ เพียงแต่แม่บอกว่าร้อนนะ อย่าไปจับ มันก็เชื่อนิดเดียว หรือไม่เชื่อก็ได้ หรือไฟมันไหม้อะไรอยู่ มันก็น่าจะร้อนแน่นอนแล้วโว้ย มันก็เชื่อบ้าง ถ้ามันเชื่อจริงก็เมื่อไปถูกเข้าเอง ฉะนั้นก็เอาเรื่องที่ไปถูกเข้าเองนี่เรียกว่าประจักษ์ เป็นหลักในความเชื่อ
ทีนี้เรื่องของเราก็คือเรื่องความมีกิเลสหรือมีทุกข์ เรื่องกิเลสหรือทุกข์นี่มันเผาแสนจะเผา เผายิ่งกว่าไฟอยู่ตลอดเวลา แต่คนไม่สนใจมองว่ากิเลสเป็นอย่างไร และเผาอยู่อย่างไร เดี๋ยวนี่ก็มาตั้งต้นมองกิเลสหรือไฟที่กำลังเผาอยู่นี่ให้ถูกต้องเสียก่อน ให้เห็นว่ามันร้อน ร้อนเกินจะร้อนจริง ๆ อย่างไร แล้วถึงจะเชื่อตามพระพุทธเจ้าว่าราคะเป็นของร้อน โทสะเป็นของร้อน โมหะเป็นของร้อน มันก็เชื่อได้เต็มที่ และถ้าเรายังโง่มากถึงขนาดที่ไม่เห็นว่า ความโลภ ความกำหนัดเป็นของร้อน โทสะ ความโกรธเป็นของร้อน มันก็ยังไม่ มันก็ยังป่วยการ ความเชื่อนั่นยังไม่มีรากฐาน ยังไม่เป็นความเชื่อขึ้นมาได้ ก็ยังปฏิบัติธรรมะไม่ได้อยู่นั้นแหละ เพราะมันไม่มีทั้งหัว ไม่มีทั้งตีน จงมาดูให้รู้จากข้างในโดยตรงเสียก่อนว่า กิเลสเป็นอย่างไร โดยไม่ต้องคิดคาดคะเน คำนึงคำนวณ เพราะมันปรากฏอยู่ในใจ มันเผาอยู่ในใจอยู่แล้ว แต่เราก็ยังไม่รู้จัก เดี๋ยวนี้ก็มารู้จักเสีย
ทีนี้ความทุกข์เป็นอย่างไร นี่อย่ามองกันเผิน ๆ นะ คนที่เป็นทุกข์อยู่ทุกวันทุกคืนไม่รู้จักความทุกข์ก็ได้ พูดแล้วก็ฟังยาก พูดอย่างนี้ก็ฟังยาก ว่าเป็นทุกข์อยู่แท้ ๆ ยังไม่รู้จักความทุกข์ มันร้องไห้อยู่แท้ ๆ มันก็ไม่รู้จักตัวความทุกข์ มันรู้จักในแง่อื่น ไม่รู้จักในแง่ที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้รู้จัก ไปรู้จักในแง่ที่จะต้องร้องไห้ ซึ่งไม่ได้ทำให้ฉลาดขึ้นเลย มันต้องรู้จักในแง่ที่มันจะต้องทำให้ฉลาดขึ้นมา จะไปมัวนั่งร้องไห้อยู่ทำไม เพื่อจะได้แก้ไขมัน รู้ในลักษณะที่จะได้แก้ไขมัน หรือหัวเราะเยาะมันก็ยังดี ไม่ใช่มานั่งร้องไห้อยู่ เพราะฉะนั้นจึงตั้งต้นด้วยการดูกิเลส ดูความทุกข์ ให้รู้จักกันเสียก่อน ถ้ามันรู้จักดีอยู่แล้ว ก็นับว่าดีมาก มีโชคดี แต่ถ้าใครยังไม่รู้จักแม้แต่กิเลสคือความทุกข์ ก็ดูมันเสียก่อนให้รู้จัก แล้วก็จะได้เชื่อคำสั่งสอนอันนี้ ที่ว่าเป็นไปเพื่อดับกิเลสเพื่อดับทุกข์ หรือว่าทุกข์และกิเลสเป็นสิ่งที่ควรดับ
ความเชื่อที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นความเชื่อก็คือปัญญาแขนงหนี่งนั่นเอง การที่เอาความเชื่อกับปัญญาไปแยกกันไว้นั้นมันเป็นไปไม่ได้ มันผิดหมด แต่คนก็ยังพูดแยกกันอยู่ ความเชื่อกับปัญญา ถ้าเกิดแยกกันเมื่อไรก็ไปเป็นความเชื่ออย่างงมงายในลัทธิอื่น ไม่ใช่พุทธศาสนา ในความเชื่อในพุทธศาสนาต้องเคียงคู่อยู่กับปัญญา ที่แท้ก็คือปัญญาแขนงหนึ่ง ปัญญาในขั้นริเริ่ม แต่นั่นเราก็แยกกันเหมือนกัน โดยที่เราพูดว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เอาปัญญาไปอยู่สุดท้ายอันที่ ๕ แล้วศรัทธาอยู่อันที่ ๑ ศรัทธาคือปัญญาในรูปอื่นในรูปหนึ่ง ซึ่งจะต้องมาก่อน เขาเรียกว่าหัวก็ปัญญา ท้ายก็ปัญญา อย่างนี้ก็ปลอดภัย ถ้าหัวคือความงมงาย แล้วมันก็หมด ล้มละลายหมด ท้ายจะเป็นปัญญา เป็นไปไม่ได้ ถ้าหัวเป็นความงมงาย ศรัทธาต้องเป็นความถูกต้องด้วย เป็นศรัทธาที่ถูกต้องด้วย จึงจะเรียกว่าศรัทธาในพุทธศาสนา ถ้าถูกต้องมันก็เรียกว่ามีปัญญา แต่ปัญญาในขั้นริเริ่มหรือขั้น ๑
ทีนี้เราก็มองดูตัวพุทธศาสนาที่กล่าวไว้ในรูปอื่น คืออริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโปสัมมาวาจา เรื่อยไปจนครบ ๘ ซึ่งเราก็จะพูดกันวันหลัง วันนี้ขอชี้ให้ดูว่าทั้ง ๘ นี่มันก็มีสัมมาทิฐิอยู่ข้างต้น ทิฐิคือความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ หรือความเชื่อนั่นเอง สัมมาทิฐิมีความคิดเห็นถูกต้องก็คือความเชื่อที่ถูกต้อง มรรคมีองค์ ๘ ก็เอาศรัทธามารวมไว้ในสัมมาทิฏฐิองค์ที่ ๑ คือเป็นปัญญาทั้งหมด เป็นปัญญาครอบคลุมทั้งหมด รวมทั้งขั้นริเริ่ม รวมทั้งขั้นตลอดไปและถึงสุดท้าย ก็มรรค ๘ มรรคมีองค์ ๘ นี่ก็ต้องทำให้ครบองค์ ๘ ไปเรื่อย ขาดสักองค์หนึ่งก็ไม่ได้ ก็เป็นตลอดกาล ถูกต้องเรื่อย
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาที่เป็นปัญหาจริงที่ว่า เรามีหลักให้มีศรัทธาในพระพุทธ ศรัทธาในพระธรรม ศรัทธาในพระสงฆ์ ก็เริ่มชักชวนกันมาวัด ก็ให้มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันก็มีลักษณะงมงายก่อนเป็นธรรมดา ก็เลยเรียกว่าเป็นศรัทธาดึงเข้ามาทั้งนั้น ถูกหรือผิดยังไม่รู้กัน ยังไม่แน่ แต่อาศัยว่าคนมาก ๆ เขาเอากันละ เราก็เอาด้วย อย่างนี้จะเรียกว่าศรัทธาอย่างงมงายก็ได้ ยังไม่ถึงขั้น จนกว่าจะมารู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันเสียก่อนจริง ๆ แล้วจึงจะมีศรัทธาลงไปจริง ๆ ถูกต้องและเต็มที่ นี่มันคนละศรัทธากับศรัทธาทีแรก นี้มันเป็นโชคดีที่ว่า เขาทำกันอยู่ดี ทำกันอยู่ถูกต้อง เราเข้ามาก็พลอยถูกต้องกับเขาด้วย เป็นศรัทธาทีแรก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคำกำกับว่าศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว ศรัทธาที่ยังหวั่นไหวได้ ยังใช้ไม่ได้ ยังไม่ใช่ศรัทธา ไอ้ที่แรกเข้ามาวัดตามศรัทธานี้ ศรัทธายังหวั่นไหวได้ ต่อเมื่อเข้าใจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มากพอ ถึงขนาดจริง ๆ คือมีคุณธรรมอย่างเดียวกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาอยู่ในใจเรา จนเรารู้จักความสะอาด สว่าง สงบชนิดนั้นได้ด้วยตนเอง ศรัทธาจึงจะไม่หวั่นไหว เรียกว่าอาจละศรัทธา อาจละ แปลว่า ไม่หวั่นไหว นี้ถ้าศรัทธาไม่หวั่นไหวถึงขนาดนี้แล้ว มันก็เข้าร่องของพุทธศาสนาอย่างแน่นอน อย่างไม่ถอยกลับ อย่างไม่เปลี่ยนเป็นอื่น คนที่มีศรัทธาชนิดนี้ คือศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวนี้ กลายเป็นพระโสดาบันไป บัญญัติพระโสดาบันไว้เพียงว่ามีศรัทธาแบบไม่หวั่นไหวในพระพุทธ มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระธรรม มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ แล้วก็มีศีล เป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า นี่ก็เป็นพระโสดาบัน มีศรัทธาไม่หวั่นไหว พูดถึงแต่ศรัทธากับศีลเท่านั้น แต่ความหมายไกลกว่านั้นมาก
ทีนี้คนแรกเข้าวัด มันก็มีศรัทธา แต่มันยังเป็นศรัทธาที่หวั่นไหวได้ ทั้งที่เขาไม่หวั่นไหว มันเป็นกำลังของอะไรอันหนึ่ง ถึงแม้จะรุนแรงหนักแน่นอย่างไรในเวลานี้ แต่ก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ อ่อนไหวได้ มีศรัทธาจนขายที่นา ขายที่ดิน บ้านเรือน เอามาให้วัดให้หมด จนไม่มีอะไรเป็นของสมบัติสักชิ้นหนึ่ง เรียกว่าสิ้นเนื้อประดาตัว นี่คนก็จะคิดว่านี่คือศรัทธาจริงโว้ย ศรัทธาไม่หวั่นไหวแล้วโว้ย นี้มันผิดแค่นั้น ศรัทธาอย่างนี้ยังเปลี่ยนแปลงได้ เพราะยังไม่เห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างเพียงพอที่จะไม่ให้หวั่นไหว
เอาเถอะ เรื่องมันจะเป็นอย่างไรก็ตาม ความหมายสำคัญอยู่ที่ว่า ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แน่นแฟ้นอย่างไม่หวั่นไหวแล้วจึงจะเป็นศรัทธาจริง ทีนี้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จะถึงได้ก็แต่ด้วยจิตใจเป็นไปเอง เป็นไปอย่างนั้น ไม่ถึงได้ด้วยการเพียงแต่ได้ยินได้ฟัง ได้เห็นตัว คนในอินเดียเมื่อครั้งพุทธกาลมีโอกาสเห็นองค์พระพุทธเจ้าด้วยตาตัวเองมากมายก่ายกอง เขาก็มีคนเป็นอันมากไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า แล้วก็มีคนไม่น้อยที่ทำตนเป็นศัตรู ทำลายล้าง หรือคิดฆ่าพระพุทธเจ้าในสมัยนั้น ก็มีอยู่ในเรื่องราวนั้น ๆ ยังมีคู่แข่งขัน ฝ่ายค้าน ฝ่ายทำลายเต็มไปหมดเหมือนกัน นี่มันไม่มีศรัทธาได้ สักแต่เห็นตัวพระพุทธเจ้า เห็นองค์พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เหมือนกัน จะมีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่อเมื่อมันมีความเข้าใจ และยิ่งกว่าเข้าใจก็คือ รู้สึกในคุณธรรมของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เราได้พยายามทำขึ้นให้มีในใจของเรา เป็นปฏิบัติธรรม รู้แจ้ง ใจมันสะอาด สว่าง สงบขึ้นมาอย่างแปลกประหลาด อย่างไม่เคยพบมาก่อน เรียกว่าเดี๋ยวนี้ก็มีหัวใจ เหมือนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้ขณะหนึ่งก็ยังดี ไม่เด็ดขาดตายตัวลงไปหรอก แต่ว่าขณะหนึ่งก็ยังดี มันเข้าใจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เต็มที่ เข้าไปได้ถึงแค่นั้นแล้วไม่ถอยกลับอีก แม้ว่ายังไม่ทั้งหมด แต่มันจะไม่มีการถอยกลับ นี่เขาเรียกว่าศรัทธาไม่หวั่นไหว เป็นอาจละศรัทธาแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง ๆ ไม่ใช่ตัวคน ไม่ใช่สิ่งของอะไรทำนองนั้น แต่เป็นคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลที่เราเรียกว่า พระพุทธ พระสงฆ์ หรือว่าในพระธรรมเท่านั้น เรียกว่าศรัทธาในพุทธศาสนามันตั้งต้นมาได้ด้วยความงมงายตามเขาว่า ชนิดที่พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ได้รับรอง แล้วมันก็ดีขึ้น ๆ ๆ จนเป็นศรัทธาที่แท้จริง ทำอย่างไรก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้วทีนี้ พอถึงตอนนี้ มันจึงเข้าเขตของความเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบันขึ้นมา ถ้าศรัทธามีถึงขนาดนี้ ถ้าศรัทธาจริงถึงขนาดนี้ อื่น ๆ มันก็มีตามสัดตามส่วน เช่น ศีล ก็มีจะศีลบริสุทธิ์ อยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ จนว่าเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า เพราะศีลตามธรรมดาที่เราถือ ๆ กันอยู่นี่ แม้ตัวเองก็พอใจไม่ได้ จะถือศีลแต่ปาก ถือศีลแต่ต่อหน้าคน ถือศีลแต่เมื่อจะได้ประโยชน์ มันเป็นศีลที่ไม่ใช่ศีล ตัวเองก็ยังไม่พอใจในศีลของตน พระอริยเจ้าก็ไม่พอใจในศีลของคนชนิดนี้ และถ้าคนมีศรัทธาจริงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างที่ว่าแล้ว ศีลของผู้นั้นก็จะอยู่ในสภาพที่เป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า ฉะนั้นจะเอามากล่าวไว้รวมไว้ด้วยในฐานะเป็นเครื่องวัดกำกับกันไป ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่หวั่นไหว แล้วก็มีศีลเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน คือขั้นเริ่มแรกแห่งกระแสของนิพพาน และก็ไปต่อไปโดยลำพังโดยอัตโนมัติของมันได้ เพราะมันแน่นอนแล้วไม่มีถอยหลังแล้ว นี่เราเรียกว่าศรัทธา
ทีนี้ก็มาจำแนกศรัทธาออกไปตามธรรมะ ตามข้อเท็จจริงที่จะต้องเชื่อ ศรัทธาอันแรก ก็ยกเอาศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขึ้นมาก่อน ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นแสงสว่าง เป็นผู้นำ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องรวมบิดามารดา ครูบาอาจารย์อะไรเข้าไปไว้ในนั้นด้วย ที่เราจะต้องเชื่อให้ถูก หรือให้มีการเชื่อที่ถูก จะโดยรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็ตาม นับตั้งแต่ว่าเชื่อพ่อแม่ แล้วก็เชื่อครูที่โรงเรียน แล้วก็เชื่อใครที่ควรเชื่อ รวมถึงเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันเป็นเรื่องเชื่อข้างนอก ต่อวัตถุข้างนอกไปก่อน จนกว่ามันจะมาเชื่อข้างใน บิดามารดาพูดเรายังไม่เชื่อ พอไปถูกเข้าจริง สมน้ำหน้าที่ไม่เชื่อ มันก็เลยเชื่อ ก็มาในรูปนี้กันทั้งนั้น จะเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้จริงก็เป็นเชื่ออย่างหนึ่ง ถ้าจะรวบรัดให้สั้นเข้ามา ก็เรียกว่าเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คือเชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อพระธรรม เชื่อพระสงฆ์ เราเชื่อพระพุทธเจ้าเพราะท่านตรัสรู้ เราเชื่อพระพุทธเจ้า และเราเชื่อพระธรรมในฐานะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และเราเชื่อพระสงฆ์ในฐานะที่เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ไอ้เชื่อทั้ง ๓ อย่างนี้ ก็รวมเหลืออย่างเดียวว่าเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นี่ก็ไปเช็คตัวเองดูว่าเรามันถึงขนาดนั้นหรือยัง
เอาละ มันก็เรียกว่าเป็นความเชื่อได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่มันเป็นความเชื่อชนิดไหน หรือในระดับไหน ไอ้ที่อุตส่าห์มาบวชทั้งทีนี้ก็เพราะความเชื่อ เป็นความเชื่อในระดับไหน ในชั้นไหน นี่ประเภทนี้เรียกว่าเชื่อข้างนอก ทีนี้ก็มาถึงเชื่อข้างใน หลังจากนี้มันจะเชื่อแน่นแฟ้น มันจะเชื่อข้างใน เชื่อกรรม เชื่อกรรมนี้พูดสั้น ๆ คำเดียวว่าเชื่อกรรม แต่มันก็มีความหมายเป็นแขนง ๆ ไป เชื่อว่ากรรมเป็นของจริง เป็นของเด็ดขาด ถ้ามองเห็นแล้วก็จะเห็นว่าในฐานะที่เป็นธรรมชาติ เป็นตัวธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ มันก็เชื่อว่าไอ้คนผู้ทำกรรมนั่นแหละ จะต้องได้รับผลของกรรม ไม่ใช่ใครอื่น เชื่อว่าทุกคนมีกรรมของเป็นตัว รวมทั้งตัวเราเองด้วย ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว มันก็เป็นเรื่องเชื่อกรรมทั้งนั้น อันนี้มันเป็นเหตุให้แน่นแฟ้นมั่นคงในการที่จะปฏิบัติพระศาสนา เชื่อว่าเรามีกรรมเป็นของตัว ทำกรรมใดไว้จะเป็นไปตามกรรมนั้น แล้วกรรมนี้เป็นของแน่นอนเด็ดขาด พระพุทธเจ้าก็ไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขมันไม่ได้
ทีนี้มันกลายเป็นเรื่องกรรมที่ยืดยาวออกไป เราพูดกันวันอื่นว่า ไอ้เราทำกรรมผิด ๆ ชั่ว ๆ ไว้ มันต้องได้รับผลของกรรม แต่เราก็มีทางที่จะทำกรรมที่ดีให้มันท่วมท้นในกรรมที่ชั่วนั้นก็ได้ หรือจนกระทั่งว่าเราจะทำกรรมชั้นวิเศษสูงสุดของพระพุทธเจ้าที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ จนเพิกถอนตัวกูของกู ตัวตนของตนออกไปเสีย ให้พ้นจากรรมทั้งดีและทั้งชั่วอย่างนี้ก็ได้ มันอยู่ในเรื่องกรรม และเชื่อกรรมทั้งนั้น นี่ไม่ใช่เชื่อคนแล้ว ไม่ใช่เชื่อบุคคล แต่มันไปเชื่อกฎเกณฑ์อะไรอันหนึ่งที่เรียกว่า กรรม ถ้าจะสงเคราะห์ ก็สงเคราะห์ลงในคำว่า พระธรรม กฎความจริงเรื่องกรรมนี่อาจจะสงเคราะห์ลงได้ในคำว่าพระธรรม แต่ว่าเราแยกออกมาได้ว่าเป็นเชื่อกรรม
ทีนี้มันก็มาถึงความเชื่อที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ เชื่อตัวเอง ในที่สุดเราเชื่อความสามารถของตัวเอง มีศรัทธาในตัวเอง นั่นแหละคือตอนที่จะสำเร็จประโยชน์ มันเชื่อข้างนอก จะเชื่อไปอย่างไร ๆ ถ้ามันไม่เชื่อตัวเอง ไม่ทำเอง ไม่อะไรเอง มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร นี่เราจะมีความแน่ใจในตัวเอง ในความรู้ของตัวเอง ในสิ่งที่ตัวเองจะต้องประพฤติกระทำ เรียกว่าเชื่อตัวเองมาถึงขั้นสมบูรณ์ของศรัทธาแล้ว ฉะนั้นจึงเต็มไปด้วยกำลัง กำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญา มีความแน่ใจถึงที่สุด มีความพอใจในสิ่งที่จะทำนั้นถึงที่สุด ที่เรียกว่าฉันทะคือความพอใจ เหมือนที่เราได้พูดถึงมาแล้วก็ได้เหมือนกัน ถ้ามันเชื่อแน่แล้วมันก็พอใจ มันรักที่จะทำ และถ้าพอลงเชื่ออย่างนี้แล้ว ความเพียร ความพยายาม ไม่รู้มาจากไหนมาเต็มไปหมดเลย สมัครที่จะทำ พยายามที่จะทำ มันก็เลยเป็นอันว่ามีความเชื่อที่ถูกต้อง ทุกระดับ แม้ว่ามันจะตั้งต้นขึ้นมาด้วยความเชื่องมงาย แต่มันเป็นโชคดี เผอิญว่าเป็นความงมงายที่ถูกต้อง เช่นตาม ๆ เขามาวัดอย่างนี้ มันก็เป็นการเชื่อที่ถูกต้องในขั้นแรก อย่างขั้นเด็กอมมือ แล้วก็มาทำให้ถูกต้องต่อไปอีก มาวัดนั่นคืออะไร เพื่ออะไร อะไรให้มันถูกต้องไปอีก เดี๋ยวมันก็ถูกไปตามลำดับ ๆ จนถึงที่ถูกที่จริงได้ คุณก็บวชเข้ามาอย่างงมงาย ผมก็บวชเข้ามาอย่างงมงาย เพราะเมื่อบวชไม่รู้อะไรในเรื่องเหล่านี้ บวชอย่างงมงาย แม้ว่าจะบวชเพราะบิดามารดาต้องการให้บวช อย่างนี้ก็ต้องเรียกว่าบวชเข้ามาอย่างงมงายเหมือนกัน พวกเราก็อยู่ในสภาพอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น ผมเองด้วย ก็เรียกว่าเป็นความเชื่อขั้น ก. ข. ก. กาของเด็กอมมือ เข้ามาอย่างงมงาย แต่พอเข้ามาแล้วมันก็ค่อย ๆ มีโชคดีเดินมาถูกทางจนมาเป็นอย่างนี้ ก็เลยมีความเชื่อจริงและสมบูรณ์ ถูกต้องและสมบูรณ์ ก็หมดปัญหาไปทีในเรื่องศรัทธา
ในธรรมะหมวดนี้ คือหมวดอินทรีย์ ยกศรัทธา หรือศรัทธินทรีย์ เข้ามาไว้ขึ้นมาไว้เป็นข้อที่ ๑ เมื่อปัญหานี้หมดไปแล้วมันก็มาถึง วิริยะ คือ ความพากเพียร ไปตามศรัทธานั้น และเมื่อศรัทธาถูกต้องแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร มันเรียกความเพียรมาเอง ไปสังเกตดูในแง่ของจิตวิทยา ลองเรารักพอใจเชื่อแล้วมันก็สมัครทำแล้วโดยไม่ทันรู้ตัว สมัครจะทำสิ่งนั้นแล้วโดยไม่รู้ตัว นี่เขาแยกออกไปเป็นความพยายามกระทำไปกว่ามันจะสำเร็จในสิ่งที่มีศรัทธา นี่เรื่องวิริยะนี่ก็พูดกันตั้งแต่เรื่องตั้งแต่วันแรก ๆ เรื่องอิทธิบาท ๔ วิริยะในอิทธิบาท แล้วก็พูดวันถัดมาเรื่องสัมมัปธาน ๔ ก็คือวิริยะนี่ทั้งนั้น ถ้าคุณยังจำได้อันนั้น นี่เราก็ไม่พูดถึงวิริยะอะไรให้มากมาย ก็ถึงเมื่อมีศรัทธาแล้วมันก็มีวิริยะ ใน ๒ ความหมาย วิริยะ คือ ความพากเพียรพยายาม วิริยะ คือ ความกล้าหาญ วิริยะคือความเสียสละอะไรมันก็รวมอยู่ในความหมายเดียวกันหมด การที่จะทำอะไรลงไป มันก็ต้องกล้าหาญ ต้องเสียสละ ต้องเหน็ดเหนื่อย
นี่พอแยกออกมาในฐานะเป็นอีกอันหนึ่งซึ่งมีความสำคัญเท่ากัน ศรัทธามีความสำคัญอย่างไร วิริยะก็มีความสำคัญอย่างนั้น ที่ถัดจากวิริยะก็มีสติ สตินทรีย์ นี่มันเนื่องกันในข้อที่ว่าสำหรับผู้ที่มีศรัทธายังไม่จริง ยังไม่ถึงขั้นที่รับประกันได้ มีความพากเพียรมากนี่ สติก็ยังจำเป็นอยู่มาก เพื่อจะควบคุมศรัทธา ควบคุมความเพียร เพราะถ้าปราศจากสติแล้วมันเฉไปไหนหมด ถึงแม้ว่าจะถูกแล้วแต่ทีแรก ตั้งต้นถูก ถ้าปราศจากการควบคุมที่ดีของสติแล้ว มันก็เฉไปไหนก็ได้ ฉะนั้นสติก็คือผู้คุม เป็น Director หรือเป็นอะไร เป็นผู้คุมศรัทธา คุมความเพียรที่ยังไม่ถึงที่สุด ก็เลยถูกยกขึ้นมาในฐานะเป็นสิ่งสำคัญ คือเป็นอินทรีย์ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง เป็นอันที่ ๓
นี่เรื่องสติเราก็พูดกันมากแล้วในวันที่อธิบายเรื่องสติปัฏฐาน แต่ใจความของสติก็คือว่าความรู้ที่มาทันท่วงที หมดนิยามอย่างนี้พอ เพียงพอ ความรู้ที่มาทันท่วงทีในกรณีนั้น ๆ ไม่มาสาย ไม่มาช้า นอกเวลา คนเราความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะมันขาดสติ มันมาไม่ทันท่วงที มันไม่มาเสียด้วยซ้ำไป มันเป็นปัญญาอยู่ในสมุด หรือเป็นปัญญาอยู่ในพูดคุยโว ไม่เป็นปัญญาจริงมาช่วยทันท่วงทีได้ ดังสติก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากปัญญาหรือความรู้เท่าที่จำเป็นแก่กรณีนั้น ๆ และมันมาทันท่วงที ก็เลยควบคุมให้สิ่งต่าง ๆ ไม่ผิด ไม่ผิดได้ ปัญญาจะมีความรู้ก็ต่อเมื่อมีสติ ถ้าอย่างนั้นปัญญาไปนอนอยู่ที่ไหนเป็นมากมายก่ายกองก็ไม่มีประโยชน์อะไร นี่ถ้าพอมันวิ่งมาทันท่วงทีมันก็กลายเป็นสติ เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีสติ ทั้ง ๆ ที่มีความรู้ สติของเด็ก ๆ ก็คือความระลึกได้ ความนึกได้ หรือความจำ เรียกว่า สติ ที่เด็ก ๆ เรียนหนังสือ พอถึงคราวสอบไล่ มันระลึกได้ ตอบถูก เรียกว่ามีความจำ มีสติ เอาปัญญาที่มีอยู่นั้นมาใช้ได้ เอาความรู้ที่มีอยู่มาใช้ได้ แต่ในทางธรรมะมันก็ไปมากกว่านั้น ไกลกว่านั้น คือสติที่มาทันควันแก่การที่กิเลสจะเกิดขึ้น มันไม่ใช่เล็กน้อย เมื่อตาเห็นรูปเท่านั้นแหละ มันแทบจะทำไม่ทันละ มันจะเป็นกิเลสเป็นความทุกข์แล้ว สติก็ต้องไวมากที่จะมาให้ทัน อย่าให้เกิดความคิดโง่ ๆ เขลา ๆ ไปในทางกิเลส ให้เกิดสติปัญญาที่จะควบคุมสิ่งเหล่านั้น สิ่งนั้น เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อกายได้สัมผัสทางผิวหนัง สติต้องมาทัน ไม่งั้นผิด คือจะไปตามด้านของกิเลสหมด เมื่อสติมาทันก็ดึงไปในทางของปัญญา ทางของโพธิ ทางของความถูกต้อง ของความไม่มีทุกข์ สติก็เลยเป็นตัวการสำคัญขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง ไม่ใช่ของเล่น ๆ
ที่มีสติเป็นอินทรีย์ที่ ๓ ก็ยังต้องมีสมาธิ คือกำลังใจทั้งหมด กำลังจิตทั้งหมด เราเคยพูดเรื่องสมาธิเป็นอย่างไรกันมามากมาย นี่ก็เพื่อให้กำลังมันหนัก ให้กำลังมันเต็มที่ กำลังมันสมบูรณ์ ให้สมกับศรัทธา วิริยะ สติ มันมาขนาดหนัก มันเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีสมาธิที่เป็นกำลังจิตมากพอ มันเอาไว้ไม่ได้ ไม่พอ ก็เลยต้องมีสมาธิ คือจิตที่ประกอบไปด้วยกำลังเต็มที่ กำลังจิตทั้งหมดถูกรวบรวมกันเข้าเป็นจุดเดียว เป็นสมาธิ ถ้ามีจิตบริสุทธิ์ มีจิตตั้งมั่น มีจิตควรแก่การงานที่จะต้องทำ นี่ก็เรียกว่าสมาธิ
ที่อันรั้งท้ายเขาก็ปัญญาตามเคย ปัญญินทรีย์มาเป็นอันที่ ๕ นี่เป็นความรู้ที่ถูกต้องตลอดกาลแล้วขึ้นสุดยอด ถูกทำให้เจริญขึ้นไป แล้วมันเจริญขึ้นไปเท่าไหร่ มันก็หล่อเลี้ยงหรือว่าดึงธรรมะต้น ๆ นั้นตามขึ้นไปด้วย มันเลยเจริญในทางปัญญาจนถึงกับว่า ดับกิเลส ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ดับกิเลสได้สิ้นเชิง คือบริสุทธิ์ได้เพราะปัญญาทั้งนั้น
ให้มองดูธรรมะ ๕ อย่างนี้ในฐานะเป็นอินทรีย์ มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีความเด่นอย่างยิ่ง เราเรียกกันว่าอินทรีย์ สำหรับธรรมะ ๕ ข้อนี้ ทีนี้ธรรมะ ๕ ข้อนี้ มักไปมองกันในแง่อื่นว่าทั้งหมดนี้เป็นกำลัง ศรัทธาก็เป็นกำลัง วิริยะก็เป็นกำลัง สติก็เป็นกำลัง สมาธิก็เป็นกำลัง ปัญญาก็เป็นกำลัง เลยเรียกว่ากำลัง ๕ อย่างไปเสียก็มี แทนที่จะเรียกว่าอินทรีย์ ๕ อย่าง ต้องมองดูกันในอีกมุมหนึ่ง แต่โดยทั่วไปแล้วมองกันในแง่ที่เป็นอินทรีย์ คือเป็นตัวการ เป็นตัวการสำคัญ สำคัญในแง่ที่เป็นกำลังก็ได้ สำคัญในแง่ที่ว่าขาดไม่ได้ก็ได้ สำคัญในแง่ที่ว่าเด่น งดงามก็ได้ แต่รวมความแล้ว คำว่า อินทรีย์ แปลว่า ตัวการสำคัญ จำมันไว้ ตัวการสำคัญในทางที่ให้สำเร็จประโยชน์
ทีนี้มันยังมีตัวการสำคัญในทางที่ทำให้ฉิบหาย อย่างนี้เราไม่พูดถึง แต่ก็เรียกว่าอินทรีย์เหมือนกัน คือจากขุนทรีย์ ยังคารอินทรีย์ ยังมนินทรีย์ (นาทีที่ 57:25) หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ก็เรียกว่าอินทรีย์เหมือนกัน แต่อินทรีย์ในทางที่ทำให้เกิดเรื่อง อินทรีย์ในทางที่ทำให้เกิดกิเลส เป็นอินทรีย์ที่ต้องฆ่าเสียให้ตาย ก็เปรียบเหมือนนกอินทรีย์ที่ร้ายกาจ ที่มันจะจิก เจาะ จะกินมนุษย์ อย่างนี้ก็ต้องฆ่าเสียให้ตาย คือว่าปราบให้อยู่ในอำนาจ คุมให้อยู่ในอำนาจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นอินทรีย์ที่จะต้องคุมให้อยู่ในอำนาจ มิฉะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละจะกัดเอา จะกินเอา คือทำให้เกิดความทุกข์ อินทรีย์แบบนี้เป็นตัวการสำคัญฝ่ายที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ก็ต้องฆ่ามันเท่านั้นเอง ส่วนอินทรีย์อย่างที่ว่านี้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานี้ เป็นตัวการสำคัญฝ่ายที่จะดับทุกข์ คือนิพพาน ถ้ามันเป็นอินทรีย์ฝ่ายที่จะฆ่าอินทรีย์ อินทรีย์ฝ่ายนี้จะฆ่าอินทรีย์ฝ่ายโน้น คือจะฆ่าความเป็นอันธพาลของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะก่อให้เกิดกิเลสตัณหา อย่าให้เป็นของร้อนขึ้นมา ให้ตาเป็นของเย็น ให้หูเป็นของเย็น ให้จมูกเป็นของเย็น ให้ลิ้นเป็นของเย็น ให้กายเป็นของเย็น ให้ใจเป็นของเย็น มันก็นิพพานอยู่ที่นั่น คือฆ่าความร้อน ดับความร้อนได้ ก็เลยพูดเป็นอุปมาว่าเป็นอินทรีย์ที่จะต้องฆ่าเสียให้ตาย นิทานหรืออุทาหรณ์ที่เป็นนิทาน เป็นภาพนกอินทรี ๕ ตัว ๖ ตัว ที่จะต้องเอาศร เอาลูกศรยิงมันเสียให้ตาย ก็คืออินทรีย์ฝ่ายที่เรากำลังพูด ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แล้วเอาไปยิงนกอินทรี คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มันหมดโอกาส หมดหนทางที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา
พอตาเห็นรูป สติก็วิ่งมาทันที่จะควบคุมไม่ให้ความคิดปรุงไปในทาง เกิดตัวกูของกู เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง ถ้าสติมาแล้ว ไม่ต้องสงสัยแล้ว อะไรมันก็มา ศรัทธา วิริยะ สมาธิ ปัญญา มันก็มา มันรวมอยู่ในนั้น หรือว่าเมื่อเราปฏิบัติใน ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อยู่เป็นประจำ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็หือไม่ขึ้น มันหือไปในทางที่จะเป็นกิเลสไม่ได้ เรียกว่ามันฆ่าหรือมันปราบกันอยู่ในตัว นี่เอาอินทรีย์ปราบอินทรีย์ แต่มันคนละอย่าง เราก็สนใจศึกษาอย่างที่มันจะเป็นที่พึ่งกับเราได้ ในที่สุดมันก็เป็นเรื่องในภายในทั้งนั้น ในภายในตัวคน ๆ หนึ่ง มีทั้ง ๒ อินทรีย์ ถ้าคนนั้นมันมีโชคดี มีแต่อินทรีย์ฝ่ายที่จะช่วยได้ ก็ปลอดภัย นี่อะไร ๆ มันก็รวมอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนั้น ความทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดทุกข์ก็ดี ความดับทุกข์ก็ดี ทางที่จะดับทุกข์ได้ก็ดี ท่านบัญญัติว่าอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ นี่ก็เป็นอันว่าอินทรีย์ทั้ง ๒ ฝูงมันก็อยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ แล้วฝูงที่เป็นที่พึ่งได้ก็คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ในฐานะเป็นธรรมะที่เป็นเครื่องมือ ธรรมะในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ธรรมะในฐานะที่เป็นเครื่องมือหมวดนี้เรียกว่า อินทรีย์ ๕ หรือพละ ๕ ก็ได้ เวลาของเราก็หมด