แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๒๐ กันยายน เป็นวันอันดับที่ ๕๔ แห่งระยะการเข้าพรรษา พระพุทธศักราช ๒๕๑๒ ในวันนี้จะได้พูดกันถึงโดยหัวข้อว่า ธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมืออีกตามเคย ส่วนเรื่องที่จะพูดนั้นคือ สติปัฏฐาน ๔
ธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือหรือเป็นฝักฝ่ายแห่งโพธินี้ พูดกันมาตามลำดับ ตั้งแต่ฆราวาสธรรม ๔ อิทธิบาท ๔ สัมมัปธาน ๔ วันนี้ก็มาถึงสติปัฏฐาน ๔ ดูกันในฐานะเป็นเครื่องมือ แม้ว่ามันมีชื่อต่างกัน มันก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ต่างกัน เหมือนเครื่องมือที่เรามี ๆ กันอยู่ในบ้านในเรือน เมื่อเรียกชื่อต่างกัน ตามปกติก็ใช้ในความมุ่งหมายที่ต่างกัน
ทบทวนดูบ้างก็ได้ว่า สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ใช้กันอย่างไร ที่ใช้เป็นสารพัดนึก ในพื้นฐานในขั้นพื้นฐานทั่ว ๆ ไป เหมือนเช่นมีดอย่างเดียว ใช้มาก ใช้เป็นอาวุธก็ยังได้ ใช้เป็นเครื่องมือธรรมดาสามัญก็ได้ แม้เป็นเครื่องมือธรรมดาสามัญ มันก็ยังใช้ได้หลายอย่าง ตัดนั่นตัดนี่ กระทั่งตัดไม้ทำเรือนก็ได้ หั่นผักแกงก็ได้ เรียกว่ามันพื้นฐานทั่วไปหรือสารพัดนึก
อิทธิบาท ๔ มันก็สูงขึ้นไปโดยเฉพาะมุ่งความสำเร็จ หากสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตั้งใจจะทำ ก็คือกะให้รัดกุมเข้ามานั่นเองเฉพาะสิ่งที่ตั้งใจจะทำ แล้วก็วางไว้กว้าง ๆ ว่าเลือกไปใช้สิ่งใดก็ยังได้ อธิบายให้มันละเอียดออกไปตรงที่ว่าจะต้องทำอย่างไร ทั้งความพอใจ ทั้งการใช้กำลังกาย ทั้งใช้กำลังจิต ใช้กำลังปัญญา ตรองให้ดี คำว่าใช้กำลังกาย ใช้กำลังจิต ใช้กำลังปัญญา เราจะพูดถึงใช้กำลังจิต หรือกำลังสติปัญญาโดยเฉพาะกันเป็นพิเศษในคราวนี้ ส่วนความเพียร ๔ คือสัมมัปธาน ๔ นั้นก็มุ่งหมายจะระบุไปยังลักษณะของความพยายามเป็นส่วนใหญ่
มาถึงสติปัฏฐาน ๔ ที่กำลังจะพูด สำหรับคนที่ยังไม่ทราบเรื่องเสียเลยหรือทราบแต่น้อย ก็ยังไม่ได้สนใจว่า คำว่าสติปัฏฐานนี้แปลว่าอะไร ว่ากันตามตัวหนังสือแท้ ๆ ก็แปลว่าการตั้งสติไว้เฉพาะหรืออย่างทั่วถึง สติก็แปลว่าสติ ปัฏฐานะก็แปลว่าเฉพาะก็ได้ ทั่วถึงก็ได้ ภาษาบาลีมันก็เหมือนกับภาษาอื่น ๆ จะแปลคำอะไรลงไปหรือแปลเป็นอุปสรรคคำใดคำหนึ่งออกไป มันก็แล้วแต่ว่า ข้อความแวดล้อมมันเป็นอย่างไร ปะ นี่ธรรมดาแปลว่าทั่ว แต่ในบางกรณีถือว่าเป็นปัฏฏิ คือ เฉพาะ สำหรับคำว่าสติปัฏฐาน จึงแปลได้ ๒ อย่างว่าตั้งสติไว้เฉพาะ เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตั้งสติไว้พร้อมก็หมายความว่าในเรื่องนั้นมันครบถ้วน ทั่วถึง ทีนี้ก็เลยบวกเอาทั้ง ๒ อย่างเลยดีกว่า ว่าตั้งสติไว้พร้อม เฉพาะ ทั้งพร้อมทั้งเฉพาะ สติปัฏฐาน แปลว่า การตั้งสติไว้พร้อม เฉพาะ พร้อมคือครบถ้วน เฉพาะคือเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นที่ได้จำแนกไว้เป็น ๔ อย่าง คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ๔ อย่าง ตั้งเข้า คืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ตั้งไว้อย่างพร้อม คือครบถ้วน ทั่วถึง
ทีนี้เราจะพูดถึงคำว่า สติ โดยเฉพาะอีกทีหนึ่งว่า ทำไมจึงพูดว่าตั้งสติ ใช้คำว่าสติ และทำไมบางครั้งจึงพูดว่าตั้งจิต นี่คือความที่ภาษามันยืดหยุ่นหรือกำกวมได้ เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมนี่ ตั้งจิตก็ได้ ตั้งสติก็ได้ มันเหมือนกัน เพราะคำว่าจิตมันกว้าง ไอ้ที่อย่างนี้ ก็คือตั้งสติหรือตั้งจิตก็เหมือนกัน เช่นว่าผูกจิตไว้กับอารมณ์ เช่น ลมหายใจ เป็นต้น ผูกจิตไว้กับอารมณ์ มันก็เหมือนกับผูกสติ ตั้งสติไว้กับอารมณ์นั่นเอง ในกรณีอย่างนี้คำว่าจิตนั้นมันหมายความกว้างไปหมด ไม่ได้หมายเฉพาะตัวจิตเอง หมายถึงทุกเรื่องที่มันเกี่ยวกับจิต ถ้าแยกออกไปให้ละเอียดอีก เป็นเทคนิคของภาษา มันก็กลายเป็นว่าตั้งจิตหรือผูกจิตด้วยสติ จะใช้เป็นความรัดกุมทางภาษา ก็จะพูดอย่างรัดกุมทางภาษาก็ใช้ว่า ผูกจิตหรือตั้งจิตกับอารมณ์โดยอาศัยสติเป็นเครื่องมือ แต่ที่แท้ทั้งไอ้สติทั้งจิตนั่นแหละคือสติ จะรู้เรื่องนี้ละเอียดต้องไปศึกษาเกี่ยวกับภาษาโดยเฉพาะ
แยกให้ละเอียดออกไป สติมันเป็นพวกเจตสิก คือคุณสมบัติของจิต นี้จิตหมายถึงตัวจิต แต่จิตเกิดตามลำพังไม่ได้ ถ้าไม่มีเจตสิกรวมอยู่ด้วย เวลาเราไปกำหนดเข้าที่ในจิต ในนั้นจะมีจิตที่ประกอบด้วยเจตสิก คือสติ มันจึงกำหนดอะไรได้ หรือแม้แต่คิดนึกอะไรได้ จิตล้วน ๆ มันทำอะไรไม่ได้ มันต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งของมันมาด้วย ด้วยกันเกิดขึ้นพร้อมกัน ดับพร้อมกัน คุณสมบัติอันนั้น เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าสติ สติ คือ จิตประกอบอยู่ด้วยคุณสมบัติที่สติ แล้วก็ไปกำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วแต่ต้องการ สติปัฏฐานก็คือใช้จิตที่ประกอบอยู่ด้วยสติ เรียกสั้น ๆ ว่าสติ กำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เราตั้งสติเอาไว้พร้อมหรือเฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกว่า สติปัฏฐาน ในบางถิ่นในสมัยโบราณ เขาเรียกว่าทำสติ การปฏิบัติของภิกษุนี่เขาเรียกว่าทำสติ ไปทำสติคือไปทำกรรมฐาน โดยทำวิปัสสนาเรียกว่าไปทำสติ อย่างนี้ก็มี เราใช้คำเต็มรูปของภาษา เรียกว่า สติปัฏฐาน กำหนดตั้งไว้พร้อมเฉพาะซึ่งสติ
ทีนี้ก็จะพูดถึงการตั้งสติหรือกำหนดสติต่อไป ในสติปัฏฐาน ๔ ก็ยกเอากาย เวทนา จิต ธรรม มาเป็นหัวข้อ การตั้งสติก็เลยตั้งที่กายอย่างหนึ่ง ตั้งที่เวทนาอย่างหนึ่ง ตั้งที่จิต ตัวจิตเองอย่างหนึ่ง แล้วก็ตั้งที่ธรรมอย่างหนึ่ง เป็น ๔ อย่าง จึงได้เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ โดยจำแนกไปตามสิ่งที่จิตเอามาใช้กำหนดนั่นเอง ทีนี้เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ เพราะมันแยกกัน ให้เป็น ๔ ระบบนี้เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ เพราะแยกกันเป็น ๔ แต่ถ้าเอามาปฏิบัติให้เนื่องเป็นสายเดียวกัน โดยไม่แยก ก็คือระบบที่เรียกว่า อานาปานสติ ๑๖ ขั้น ซึ่งมีสติปัฏฐาน ๔ ซ่อนอยู่ในนั้นครบถ้วน การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ มันจึงปฏิบัติทีละอย่าง ไม่ได้แยกเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร ก็ล้วนแต่ว่าแยกกันจึงเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ แต่ถ้ามาปฏิบัติโดยระบบวิธีที่วางไว้เฉพาะอย่างยิ่ง ที่พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญว่าเหมาะสมสะดวกที่สุด ก็กลายเป็นอานาปานสติ ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น เป็น๑๖ ขั้น เหมือนที่เราพูดถึงกันอยู่บ่อย ๆ ซึ่งจะได้พูดโดยละเอียดเฉพาะเรื่องนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่า อานาปานสติ ภาวนา ถ้าเป็นอานาปานสติเฉพาะแบบนี้ จะบอกเฉพาะแบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้
ทีนี้เราก็จะดูว่า ตั้งสติหรือกำหนดสตินี่ ตั้งอย่างไร การกำหนดสติ ตั้งสติโดยส่วนใหญ่ โดยหลักใหญ่ก็มีอยู่ ๒ เรียกเป็นภาษาธรรมะว่า ตั้งสติอย่างสมถะอย่างหนึ่ง ให้สงบ ตั้งสติอย่างปัญญา วิปัสสนานั่นอย่างหนึ่ง ตั้งเพื่อให้รู้ ถ้าเราตั้งสติในทางให้สงบ มันก็เพื่อจะแก้ความฟุ้งซ่าน ตั้งสติไปในทางสมถะ ทำให้สงบ เพื่อแก้ความฟุ้งซ่าน นี่ถ้าตั้งสติไปในทางปัญญา วิปัสสนานั้น มันแก้โง่ ปัญหาทางจิตก็มีอยู่ ๒ ข้อ คือมันฟุ้งซ่าน เดือดร้อน รำคาญ ไม่เป็นผาสุกทางจิตนี้อย่างหนึ่ง เราตั้งอย่างสมถะเพื่อแก้ส่วนนี้ คิดจะตั้งถ้าปัญหามันมีว่ามันโง่ ไปหลงรักนั่นรักนี่ ยึดนั่นยึดนี่ อย่างนี้มันก็ต้องตั้งอย่างปัญญา เพื่อแก้โง่หรือทำให้หายโง่ ตั้งอย่างสมถะ เราแก้โรคทางจิตโดยเฉพาะ ตั้งทางวิปัสสนาหรือปัญญา ก็แก้โรคทางวิญญาณ จึงได้ขอร้องไว้หลายครั้งหลายหนเมื่อก่อนนี้ว่าให้จำไว้ ๓ อย่างว่า โรคทางกาย โรคทางจิต โรคทางวิญญาณ โรคทางกายไปหาหมอที่โรงพยาบาล โรคทางจิตทางวิญญาณต้องมาหาธรรมะในพุทธศาสนา นี่ตั้งจิตหรือปฏิบัติจิต อย่างสติปัฏฐานนี้เอง ถ้าตั้งอย่างสมถะทำให้สงบ เพื่อแก้โรคทางจิต แก้ปัญหาทางจิต ถ้าตั้งอย่างวิปัสสนาหรือปัญญา มันก็แก้โง่ หายโรคหรือหมดปัญหาในทางวิญญาณอย่างนี้
ดังนั้น สติปัฏฐานจึงมีวิธีเจริญ ๒ แบบหรือ ๒ ขั้น ๒ ระดับ คือระดับสมถะอย่างหนึ่ง ระดับปัญญาอย่างหนึ่ง นี้ถ้าพูดอย่างระบบอานาปานสติ ๑๖ ขั้น มันไปพร้อมกันไปเลยไปตามลำดับ ตั้งแต่สมถะไปจนถึงปัญญา ไปจนถึงมรรคผลนิพพานนู่น อานาปานสติ ๑๖ ขั้นมันกว้างอย่างนั้น ถ้าจะพูดอย่างสติปัฏฐาน ๔ ที่พูดกันอยู่ทั่ว ๆ ไป มันก็พูดถึงไอ้ตั้งจิต ๒ ระบบนี้ ระบบสมถะทำอย่างหนึ่ง ระบบปัญญาทำอย่างหนึ่ง แล้วก็ไม่ค่อยพูดถึงมรรคผลนิพพาน พูดแต่การตั้งจิต
เอ้า, ทีนี้เราดูกันให้เห็นชัด ในสติปัฏฐาน ๔ นั้นทีละอย่าง โดยหัวข้อหรือโดยหลักใหญ่ ๆ ได้พูดแล้วว่า สติปัฏฐาน ๔ นั้นคือ กาย เวทนา จิต ธรรม ๔ อย่าง
อย่างแรกคือ กาย เอากายมาเป็นอารมณ์ เป็นวัตถุสำหรับตั้งสติ ในที่นี้เราจะเอาไอ้กายตามความหมายธรรมดา คือ เนื้อหนังร่างกายนี่ เอาเนื้อหนังร่างกายมาพิจารณา มากำหนด ไม่ใช่มาพิจารณา มาตั้งสติลงไปที่กาย กำหนดความเป็นอย่างไรของกาย ความไม่สวยไม่งามไม่อะไรต่าง ๆ เพื่อให้จิตหยุด สงบ แต่ยังไม่พิจารณาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่กาย อย่างนี้ก็เป็นสมถะ ดูรูปร่างของร่างกาย เอาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเป็นวัตถุเป็นนิมิต ดูแต่เพียงให้มันหยุดฟุ้งซ่าน หยุดกำหนัดอย่างหยาบ ๆ มันก็เป็นเรื่องของสมถะ เป็นกายคตาสติส่วนสมถะ
คำว่ากายยังหมายถึงลมหายใจด้วย เพราะว่าลมหายใจนั้นเนื่องอยู่กับกาย และปรุงแต่งกายหรือเป็นตัวชีวิตนั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่า กายเป็นชื่อ ชื่อหนึ่งของลมหายใจ ลมหายใจนี้มันปรุงแต่งกาย กายขาดเครื่องปรุงแต่งเมื่อไรก็สลายเมื่อนั้น ดังนั้น ลมหายใจจึงถูกเรียกว่ากายด้วย เอากายคือลมหายใจมากำหนด เหมือนกำหนดอานาปานสติขั้นแรก ๆ หายใจยาวรู้หายใจยาว หายใจสั้นรู้หายใจสั้น กำหนดกายเพียงเท่านี้ แต่นี้มันเป็นสมถะ มีผลทำให้หยุดความฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย แม้จะทำไปได้มากจนถึงเป็นฌาน เป็นสมาบัติ สูงสุด มันก็อยู่แค่สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่เป็นทุกข์ แต่ยังไม่หายโง่ นี่กำหนดที่ร่างกายนี้ก็ดี กำหนดที่ลมหายใจก็ดี เพียงประโยชน์แต่ความสงบ หยุดฟุ้งซ่านอย่างหนึ่ง เรียกว่าว่าตั้งสติไว้อย่างสมถะ ตั้งสติไว้อย่างสมถะ
ทีนี้อันที่ ๒ ตั้งสติอย่างวิปัสสนาหรือปัญญา ตอนนี้เมื่อใจคอปกติดีแล้วก็พิจารณากายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กายเนื้อนี่ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ลมหายใจนั้นก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ชาวบ้านเขาเรียกว่า ยกพระไตรลักษณ์เข้ามาจับ หรือว่ายกอารมณ์ขึ้นไปสู่พระไตรลักษณ์ก็ได้เหมือนกัน ยกพระไตรลักษณ์มาหามาใส่ หรือว่ายกอารมณ์นี้ไปหาพระไตรลักษณ์มันก็เหมือนกัน ให้มันพบกันกับพระไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็แล้วกัน ก็เพ่งอย่างนี้ เพ่งกายนั่นแหละ แต่เพ่งอย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นตั้งสติอย่างปัญญาหรืออย่างวิปัสสนา
เรื่องความเพ่งนี่ก็ได้พูดให้ฟังกันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว คำว่าเพ่ง คือ ฌาน แปลว่าเพ่ง ฌ.เฌอ สระอา นอหนู ฌานะ นี่แปลว่าเพ่ง ก็เพ่งอย่างกำหนดลักษณ์ กำหนดอารมณ์ มันก็เป็นสมถะ ถ้าเพ่งลักษณะให้รู้ความจริงมันก็เป็นปัญญาหรือวิปัสสนา มันมีอยู่ ๒ เพ่ง ใช้สับสนปนเปกันไปหมดจนลำบาก พวกที่แปลเป็นภาษาฝรั่งก็ใช้กันผิด ๆ จนฝรั่งอ่านไม่รู้เรื่องหรือไม่ได้เรื่องที่แท้จริง มันปนกันหมดระหว่างคำว่า Meditate concentrate speculate ปนกันยุ่งไปหมด ถ้าจะเอาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ไอ้ meditate นี่มันเพ่งเฉย ๆ เพ่งอย่างไรก็ได้ ถ้า meditate ลงไปที่วัตถุนั้น ก็เป็น concentrate คือรวบรวมจิตกระแสจิตทั้งหมดมาจดจ่ออยู่ที่สิ่งนี้สิ่งเดียวเป็น concentrate นี่ถ้าเพ่งหารายละเอียดข้อเท็จจริงอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็กลายเป็น speculate เพื่อรู้ข้อเท็จจริงอันละเอียดลึกซึ้งออกไป เดี๋ยวนี้มันเอาคำว่า concentrate meditate มาปนกันยุ่ง ในหนังสือหนังหาที่เขียนเป็นภาษาต่างประเทศ มันก็ลำบาก แม้ในภาษาไทยนี้ก็ยังลำบาก มันต้องไปหาหลักที่มันถูกต้องและแน่นอนว่าคำว่า ฌานะ นี่แปลว่าเพ่ง ถ้าเพ่งอารมณ์ ก็เพ่งให้จิตหยุดอยู่ที่นั่น แล้วเป็นสมถะ ถ้าเพ่งหาความจริงอย่างลึกซึ้ง มันก็เป็นปัญญาหรือเป็นวิปัสสนา
ทีนี้คำว่าสติปัฏฐานคำเดียว กินความหมาย ๒ อย่าง แยกไปทางสมถะก็ได้ แยกไปทางวิปัสสนาก็ได้ เหมือนที่ได้พูดแล้วสำหรับกายว่าทำอย่างไร เพ่งให้จิตหยุดอยู่ที่นั่น หรือเพ่งกายให้จิตหยุดอยู่ที่นั่น ก็เป็นสมถะ เพ่งกายให้รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นปัญญา
เรื่องที่ ๒ เวทนา เอาเวทนามาเพ่ง เป็นอารมณ์ ก็เพ่งเพียงว่ามันรู้สึกว่าเป็นอย่างไร เวทนาเป็นอย่างไร ก็ลองมีเวทนาอะไรทีนี้ ก็มันเป็นสมถะ สองก็ไปเพ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของเวทนามันจึงจะเป็นปัญญา อย่างที่เรียกกันว่า เจ็บหนอ เจ็บหนอนี้ มันเพ่งแต่ว่าเจ็บนะ ก็เป็นสมถะ เพ่งจนหายเจ็บ นี่อยากจะขอแทรกพิเศษหน่อยตรงนี้ว่า ถ้ามันเกิดเจ็บขึ้นมา เจ็บปวดที่เนื้อที่หนังหรือแม้แต่ที่ใจ คือเหนื่อย เช่น ความเหนื่อย ไม่สบายนี่ก็เพ่งมันเข้าไปที่นั่นที่เจ็บน่ะ เดี๋ยวมันจะหายเจ็บ เพ่งเข้าไปที่เหนื่อยเดี๋ยวมันจะหายเหนื่อย ทีนี้ไปเอะอะโวยวายเสีย มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเจ็บขึ้นมาแล้วลองเพ่งว่าเจ็บหนอ ๆ ลึกเข้าไปที่เจ็บนี่ เดี๋ยวมันจะหายเจ็บ หรือเราเหนื่อย เดินทางมาเหนื่อยอยากจะหายเหนื่อยเร็ว ๆ ก็อย่าไปเพ่งที่อื่น ต้องรวมสติให้ดี ให้นิ่งให้ดีแล้วก็เพ่งที่ความเหนื่อย เดี๋ยวความเหนื่อยก็จะละลายสูญหายไปสิ้น เร็วกว่าอย่างอื่น แล้วหายสนิทกว่าอย่างอื่น
เอาเวทนาเป็นอารมณ์ กำหนดจิตหยุดอยู่ที่นั่น อย่างนี้ก็เรียกว่าเพ่งสมถะ ก็ยังไม่หายโง่ ยังไม่หายฟุ้งซ่าน รำคาญ อยากจะหายโง่ก็ต้องเพ่งเวทนานี้ มันเป็นอะไรบ้าง ที่จริงมันก็คือตัวการอันร้ายกาจที่สุดที่ทำเรื่องราวเกิดขึ้นแก่มนุษย์ ปัญหาต่าง ๆ เกิดมาจากเวทนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสุขเวทนา ที่เป็นที่ตั้งความยึดมั่นถือมั่น ไม่เป็นสุขส่วนตัวก็เพราะว่าหลงในเวทนา ทะเลาะวิวาทกับคนอื่นเพราะมีเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นต้นเหตุ คือสุขเวทนา อยากมีบ้านเรือนที่ดินอะไรต่าง ๆ ก็เพื่อความสุขเวทนานี้ สุขเวทนานี้ แล้วเมื่อไม่ได้อย่างใจ มันก็ทะเลาะวิวาทกัน เป็นความกัน อะไรกัน นี่เรื่องโลก ๆ โลก ๆ เห็นอย่างง่าย ๆ มันเป็นอย่างนี้
ในทางธรรมะมันก็เหมือนกัน ไอ้สุขเวทนา ไอ้ตัวเวทนานี้ทำให้รักหรือทำให้โกรธ ยินดีก็เพราะเวทนา ยินร้ายก็เพราะเวทนา ในส่วนบุคคล ในส่วนลึก ส่วนธรรมะ มันก็มีเวทนาแหละเป็นปัญหา ส่วนชาวบ้านไอ้เรื่องโลก มันรบกันทั่วโลกเวลานี้ก็เพราะมีมูลอยู่ที่เวทนา ที่มันต้องการคือสุขเวทนา นายทุนก็ต้องการสุขเวทนา กรรมกรก็ต้องการสุขเวทนา มันก็รบกันได้อย่างสลับซับซ้อน เป็นมหาสงครามในโลกนี้ ทั้งที่อุตริไปโลกพระจันทร์ ก็มันโดยหวังว่าในที่สุดจะแสวงหาสุขเวทนาปริยายใดปริยายหนึ่งมาได้ อุตส่าห์ไปถึงโลกพระจันทร์ มันไม่รู้ว่าอะไร ๆ มันอยู่ในร่างกายนี้ทั้งหมด จะต้องแสวงหากันที่ร่างกายนี้ภายในนี้ ทางธรรมะเราจึงมีระบบสติปัฏฐาน ให้ตั้งจิตหรือสติให้ถูกต้อง ก็จะพบทางออกทางหลุดรอดออกไปจากความทุกข์ รู้จักเวทนา แล้วก็รู้จักทำตนให้เป็นนาย เหนือเวทนา ดังนั้นเอาเวทนามาเพ่งดูว่ามันเป็นอย่างไร เวทนานี้เป็นอย่างไร นี้เป็นสมถะ นี้ก็มาดูไอ้ข้อเท็จจริงของมันว่า ไอ้นี่เองเป็นตัวการหลอกมนุษย์ จึงจะต้องทำลายมันด้วยอาวุธ คือปัญญา ไม่ให้มันมาปรุงแต่ง หลอกลวงเราได้อีก คือ เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาใส่เข้าไปที่เวทนา เหมือนกับที่เอาไปใส่เข้าที่กาย พิจารณากายอันดับสุดท้าย ด้วยปัญญาเห็นว่ากายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอมาถึงเวทนา อันดับสุดท้ายก็เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใส่เข้าไปในเวทนา ให้มันหมดฤทธิ์หมดอำนาจ
ทีนี้มาถึงเรื่องที่ ๓ คือจิต กำหนดลักษณะจิตเป็นอย่างไร กำลังเป็นอยู่อย่างไร กำลังโกรธ หรือกำลังรัก หรือกำลังอะไรก็ตาม อย่างนี้มันเป็นสมถะ เอาจิตเป็นอารมณ์ พอรู้พอกำหนดจิต อีกอันหนึ่งคือสติ ก็ไปที่นั่น ก็เป็นสมถะ ทีนี้ก็ดูต่อไปคือดูจิต เพ่งต่อไปว่า ไอ้จิตนี่เป็นสังขารธาตุ วิญญาณธาตุ ประกอบอยู่ด้วยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอาจิต เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาใส่เข้าไปที่จิต ไม่ให้เป็นตัวตน ไม่ให้เป็นตัวกูของกู ไม่ให้เป็นตัวตนของตน อย่างนี้มันก็เป็นปัญญา เป็นวิปัสสนา พิจารณาจิตก็มี ๒ อย่างอย่างนี้ จึงรู้ว่าจิตเป็นอย่างไร กำหนดเท่านี้ก็เป็นสมถะ กำหนดเพียงภาวะว่าจิตของของเราว่ากำลังเป็นอย่างไร เป็นสมถะ ถ้าว่ากำหนดว่าข้อเท็จจริงของมันอย่างไร คือมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างไร เป็นปัญญา เป็นวิปัสสนา
เอ้า, ทีนี้ข้ามไปถึงหมวดที่ ๔ เลยไปถึงหมวดที่ ๔ ว่า พิจารณาธรรม ไอ้ธรรมนี่ก็แปลว่าสิ่งทั้งปวง หรือข้อเท็จจริงของสิ่งทั้งปวงที่ว่า รูปธรรม นามธรรม ทีนี้ไอ้เรื่องรูปกับกายเอาไปไว้ที่กายนะ ไอ้ส่วนที่เรียกว่าธรรม ทีนี้ก็เหลือแต่พวกนามธรรม ให้พิจารณานามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม มากมายหลายอย่างนับตั้งแต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนกระทั่งไอ้ธรรมะที่เป็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการปฏิบัติ เป็นไอ้มรรค เป็นผลของการปฏิบัติ นี่เรียกว่าธรรมทั้งนั้น เอาไอ้นามธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมากำหนดพิจารณาอยู่ แล้วก็เรียกว่า พิจารณาธรรม คือ ธรรมานุปัสนาสติปัฏฐาน ที่เป็นสมถะ เช่น เอาคุณของพระพุทธเจ้ามากำหนดอยู่ในใจ เอาคุณของพระธรรมมากำหนดอยู่ในใจ เอาคุณของพระสงฆ์มากำหนดอยู่ในใจอย่างนี้ เอาคุณของทาน ของศีล ของอะไรมากำหนดอยู่ในใจ กระทั่งเอาเรื่องธรรมที่ทำเท ทำคนให้เป็นเทวดามากำหนดอยู่ในใจ เรียกว่า เทวตานุสติ เหล่านี้มันเป็นสมถะไปหมด คือจิตหยุดอยู่ที่นั่นแล้วก็สบายดี พิจารณาพุทธคุณว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ อะไรอยู่อย่างนี้ แล้วก็ธรรมคุณ สวากขาโต สันทิฏฐิโก อะไรอยู่อย่างนี้ สังฆคุณ สุปะฏิปันโน ญายะปฎิปันโน อะไรอยู่อย่างนี้ มันเป็นสมถะ เรียกว่าเห็นธรรม เรียกว่าเอาธรรม เอานามธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมา ถึงแม้ว่าเราจะเอาไอ้ธรรมะจริง ๆ เป็นศีล สมาธิ ปัญญา มากำหนดพิจารณาอยู่ ก็เพียงแต่กำหนดว่ามันเป็นอย่างไร มันเป็นอย่างไร ตัวกำลังรู้สึกอยู่อย่างไร ให้พิจารณาในแง่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าสมถะ ต่อไปนี้ก็พิจารณาไอ้นั้นน่ะทุกอย่างก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้แต่มรรคผลนิพพานก็เป็นอนัตตา ธรรมะทั้งปวงเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา หรือ สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ มองดูสิ่งทั้งปวง ไม่ยกเว้นอะไรเลย ในฐานะเป็นอนัตตา ก็เรียกว่าพิจารณาธรรมในส่วนปัญญา ในชั้นปัญญา
เอาล่ะ ทีนี้คุณก็พอจะสังเกตเห็นได้เองและจับหลักได้เองว่า ไอ้สมถะนั่นจะพิจารณากาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรมก็ตาม เพื่อจิตหยุดสงบอยู่ที่นั่นในสิ่งนั้น แล้วก็หยุดความกระวนกระวายได้ ส่วนการกำหนดสติ ในชั้นปัญญาหรือวิปัสสนานั้น มันรูดกราวเดียวหมดไปเลย ด้วยเรื่องอนัตตา พิจารณากาย ตัวกายนี่สักว่ากาย แต่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา บทท่องของเรามีอยู่อย่างนี้ บทสูตรสำหรับท่องมีอยู่อย่างนี้ เพราะกายนี่สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เวทนานี้สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จิตนี้ก็สักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ธรรมทั้งปวงนี้ก็สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ให้ดูการพิจารณาทั้ง ๔ อย่างนี้ มันใช้สูตรเหมือนกันหมด ถ้าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ทั้งสติปัฏฐานนี้มันก็กลายเป็นปัญญาขึ้นมาเต็มรูปอย่างนี้ เราเคยเรียนทีแรกในเบื้องต้นว่า สตินั้นเป็นพวกสมาธิ นั่นมันในเบื้องต้น ส่วนสัมมาสติจัดไว้ในสมาธิขันธ์ นั้นมันเป็นเบื้องต้น คือพิจารณาอย่างที่ทีแรกที่ว่าพิจารณาสมถะเป็นสมาธิ ก็เป็นสมาธิไป แต่สมัยก่อนนี้ไอ้สติมันกลายเป็นปัญญาขันธ์ไป เมื่อพิจารณาในฐานะไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เพราะโดยเฉพาะอย่างยิ่งอานาปานสติหมวดที่ ๔ คือ อนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี นั้นมันเป็นปัญญา มันก็เป็นหน้าที่การงานของปัญญา ตัดกิเลสเป็นมรรคผลนิพพานไปเลย รวมมรรคผลนิพพานไปไว้ในหมวดนี้ด้วย ถ้าดูตามสติปัฏฐาน ๔ จะแยกกำหนดเป็นอย่าง ๆ อย่าง ๆ จิต เอ้อ, กายจิต เอ้อ, กาย จิต เอ้อ, กาย เวทนา จิต แล้วก็ธรรม แล้วก็จบอยู่ที่รู้ อนัตตา นั้นจะเป็นปัญญาจริง เป็นปัญญา ถึงที่สุดจริง มันก็ไปสุดอยู่ที่อนัตตาหรือสุญตา ความหมายเดียวกัน คือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แล้วก็ว่างจากตัวจากตน เป็นสักว่า ธาตุตามธรรมชาติ กายนี้ก็ประกอบอยู่ด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ไอ้เวทนา จิต เรื่องเหล่านี้มันก็เป็นวิญญาณธาตุ เป็นธาตุฝ่ายวิญญาณธาตุ ธรรมทั้งปวง ถ้าไม่แยกเราก็เรียกว่า ธรรมธาตุไปหมด ธาตุตามธรรมชาติไปหมด ถ้าไปแยกเข้ามันก็เป็นกาย เป็นจิต เป็นเวทนาไปอีก แต่แล้วก็รวมความได้อย่างเดียวกันว่า ทั้งหมดนี่สักว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุวิญญาณ ธาตุอากาศ เรียกว่าธาตุ ๖ ธาตุทั้ง ๖ ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่ไหน สติปัฏฐานตั้งต้นด้วยสมถะ แล้วไปจบด้วยวิปัสสนาหรือปัญญาในลักษณะอย่างนี้ แล้วก็ไปไอ้ปัญญาก็ไปสรุปอยู่ที่อนัตตาหรือสุญตา ไม่มีอะไรนอกจากนั้น จะดับทุกข์สิ้นเชิงได้ก็ต้องเอาอนัตตา สุญตาเข้ามา ถ้าไม่อย่างนั้นดับทุกข์ชั่วคราวเท่านั้น
มันมีทางเปรียบปริศนาธรรม ยินในสมุดข่อยที่น่าสนใจ เขียนไว้ในรูปอุปมาว่าจะฆ่ายักษ์ให้ตาย ฆ่าพญามาร จอมมารให้ตาย ต้องไปเอาอาวุธวิเศษมา คือ คันศรที่ทำขึ้นด้วยเขากระต่าย แล้วสายศรที่ทำขึ้นด้วยหนวดเต่า แล้วก็ลูกศรที่ทำขึ้นด้วยนอของกบ เขากบ นอกบ อันเดียวเขาเรียกว่านอ ๒ อันเขาเรียกว่าเขา จะต้องไปเอาเขากระต่ายมาทำคันศร เอามา ๒ เขามาต่อกันเข้าตรงกลางก็โค้งเป็นคันศร ที่ไปเอาหนวดของเต่ามาควั่นเป็นสายศร แล้วก็ไปเอาไอ้นอกบมาทำเป็นลูกศร ไปยิงไปที่ยอดปราสาทของเมืองยักษ์ ประตูเมืองก็เปิดเอง เข้าไปได้ ยักษ์ตายด้วย อุปมานี้มันก็เล็งถึงคุณค่าของอนัตตา สุญตา คือ มันไม่ได้มีตัวตน รู้ความไม่มีตัวตนเมื่อไหร่ ก็เป็นอันว่าถึงที่สุด ฉลาดถึงที่สุด กำจัดความโง่ได้ทั้งหมด ความโง่ทั้งหมดมันยังโง่อยู่ที่ว่ามีตัวมีตน มีของตน ที่เราเรียกกันภาษาธรรมดาสามัญว่าตัวกูของกู ตัวกูของกูนี้ต้องหายไป ไม่มีเหลือ ด้วยความรู้เรื่องสุญตา เรื่องอนัตตา สติปัฏฐานก็มาจบอยู่ที่นี่ สุดยอดอยู่ที่นี่ โดยสูตรว่า สักว่าถ้าตามธรรมชาติไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จำสูตรอันนี้ให้ดีว่านี่คือลูกศร ลูกศรที่จะเสียบแทงตลอด ทะลุไปไม่มีอะไรรอหน้าอยู่ได้ มันก็เป็นเรื่องอันดับสุดท้ายของสิ่งที่เรียกว่า สติปัฏฐาน หายโรคทางวิญญาณ คือหายโง่
ดังนั้น เราสรุปสติปัฏฐาน โดยวิธีปฏิบัติว่า ส่วนแรกเป็นสมถะหรือสมาธิ ส่วนที่ ๒ ก็เป็นปัญญาหรือวิปัสสนา ถ้าจะไปเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานนี่ได้ทั้งนั้นเลย ไม่ยกเว้นอะไร แม้จะไปเอาความชั่ว ความเลว เอากามารมณ์มาเป็นอารมณ์ก็ยังได้ แต่ว่าไม่แนะนำถ้ามันเป็นไม่เหมาะสมหรือมันเป็นอันตรายหรือเสียเวลามากไปก็ไม่แนะนำ ก็แนะนำแต่ส่วนที่มันเหมาะสมเป็นไปรวดเร็ว ฉันจึงไปแนะนำที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม
ทีนี้คำว่าเวทนานั้นมันก็รวมไปหมด สุขเวทนาแม้ที่กามารมณ์จะเอามามองดูเล่นก็ได้ แต่ให้มองไปในทางถูกต้องจนเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไปเอาลูกศรสุญตาที่ยิงเข้าไปให้มันแหลกละเอียดกลายเป็นความว่างไป นั้นจึงพูดได้เลยว่าอะไรก็ได้เอามาเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ทีนี้เราไม่ต้องไปเสียเวลาค้นคว้าหรือว่าทดลองให้มันมากเกินจำเป็น ก็เอาไอ้ ๔ อย่างหรือ ๔ กลุ่ม ที่ท่านวางไว้ดีแล้ว สอนไว้ดีแล้ว คือกาย คือเวทนา คือจิต คือธรรมารมณ์ มาเป็นวัตถุสำหรับพิจารณา เริ่มแรกด้วยการพิจารณาให้จิตสงบก่อน ไม่ต้องใช้หลายเรื่องหลายราว ใช้กายนั่นเอง ใช้จิตอย่างเดียว กายอย่างเดียวก็เป็นอารมณ์ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ดูความเป็นปฏิกูล เพียงให้จิตหยุดความหลงใหลในกาย มันก็เป็นสมาธิหรือสมถะขึ้นมา หรือเอากายคือลมหายใจมา กำหนดพิจารณาเพียงให้จิตจิตอยู่ที่นั่น มันก็เป็นสมถะหรือสมาธิขึ้นมา ผลของมันก็คือมีสมาธิ คำว่าสมาธินี่มันมีความหมายกว้าง อย่างที่พูดให้ฟังอยู่บ่อย ๆ ว่า ความบริสุทธิ์ของจิตในขณะนั้น ความตั้งมั่นของจิตในขณะนั้น ความว่องไวในหน้าที่ของมันในขณะนั้น เรียกว่า ปริสุทโธ บริสุทธิ์ สมาธิโต ตั้งมั่น กัมมานิโย ว่องไวในหน้าที่การงาน นี่ผลของสมถะ เป็นเพียงตัวนี้
นี่ถ้าว่าพิจารณาต่อไปทางปัญญา วิปัสสนา ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สรุปเหลือเพียงอนัตตาคำเดียวพอ ผลของมันก็คือบรรลุมรรคผลนิพพานขึ้นมา เห็นอนิจจัง อนัตตา สุญตาเต็มที่แล้ว มันก็มีราคะ คือหน่ายจางออกไปจากความยึดมั่นถือมั่น แล้วมันก็ดับลงไปแห่งความยึดมั่นถือมั่น แล้วมันก็มีมรรคผลนิพพานขึ้นมา นี่ถ้าเขาถามสติปัฏฐานจะมีผลอย่างไร ไอ้นักเรียนในโรงเรียนมันก็จะพูดแต่เพียงว่าเป็นสมาธิ สัมมาสติ เป็นสมาธิขันธ์ เพียงเท่านี้มันถูกไม่หมด ต้องพูดไว้ให้หมดทั้ง ๒ อย่าง เรียกว่าเป็นสมาธิมีผลอย่างนั้น เป็นสมถะ สมาธิเป็นผลอย่างนั้น แล้วก็เป็นวิปัสสนาหรือปัญญามีผลอย่างนี้ มันก็เลยหมดเลย สติปัฏฐานยังเป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนปลายได้
เอาล่ะ ทีนี้จะชี้ให้เห็นต่อไป จะเรียกว่าเป็นส่วนพิเศษก็ไม่ใช่ แต่ถ้าเราจะมองกันในแง่ส่วนพิเศษ คือข้อที่ว่า คือข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าเราตั้งสติเป็นสติปัฏฐานอยู่ เป็นทั้งสมถะเป็นทั้งปัญญาอย่างนี้ ก็ไม่ค่อยจะเห็นกันเสียแล้ว มักจะเห็นว่าเป็นเพียงสมถะหรือสมาธิ สอนกันมาเพียงเท่านั้น ทีนี้ผมอยากจะพูดเลยไปว่า เมื่อมีสติปัฏฐานหรือทำสติปัฏฐานอยู่ มันมีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ขอร้องว่าจงไปทำสติปัฏฐานเถิด จะมีครบอยู่ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ไอ้เรื่องนี้เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า พรหมจรรย์ในพระศาสนาทั้งหมดนั้นต้องครบศีล สมาธิ ปัญญา ไม่งั้นมันไม่ครบ ถ้ามันไม่ครบศีล สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ อย่าง พูดตัดบทได้เลยว่า ไม่ถูกต้องและไม่สมบูรณ์ และไม่ดับทุกข์ได้ และเดี๋ยวนี้ทำไมจึงมาพูดกันแต่สมาธิและปัญญา ซึ่งเจริญสติปัฏฐานตามที่คนอื่นพูดหรือครูบาอาจารย์สอนในโรงเรียนว่าเป็นสมาธิ เป็นสมาธิขันธ์ ผมเลยบอกให้ว่า ไม่ถูก เป็นทั้งสมาธิและปัญญา เดี๋ยวนี้ผมยังบอกต่ออีกว่าเป็นทั้งศีลด้วย ทั้งที่ในคำพูดเหล่านั้นไม่เอ่ยถึงศีลเลย
ในหมวดแรกที่สุด สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ก็ไม่ได้พูด ถึงคำว่าศีล คำว่าศีลไม่ถูกเอามาเอ่ย หมายความว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คำว่าศีลก็ไม่ได้เอามาเอ่ยถึงเลย คำว่าสัมมัปธาน เพียรระวัง เพียรละ เพียรสร้าง เพียรรักษา ก็ล้วนแต่คำว่า ปธาน ๆ ๆ ไม่พูดถึงศีลเลย แล้วศีลมันหายไปไหนเสีย นี่ถ้าไม่เข้าใจก็จะเข้าใจผิดทีเดียวว่า ไม่ได้พูดถึงศีลเลย ที่จริงมันก็พูดถึงศีลอยู่ตลอดเวลา แต่โดยชื่ออื่นมันแฝงอยู่อย่างเร้นลับ ไม่ได้ชื่อได้เสียงกับเขา ที่จริงก็มีอยู่อย่างสมบูรณ์ ทีนี้มองดูกันที่สติปัฏฐานนี่ใหม่ว่าคนที่จะเจริญสติปัฏฐานนั้น ต้องตั้งความพยายามในการที่จะสำรวมระวังจิต อย่าให้จิตหนีไปจากอารมณ์ คืออย่าให้เสียสติ อย่าให้สติขาดตอน อย่าให้จิตหนีไปเสียจากอารมณ์ ต้องมีการเอาความตั้งอกตั้งใจ เมื่อมีการสำรวมอย่างยิ่ง การสำรวมจิตนั้นมีอย่างยิ่ง คุณมองให้เห็นว่าต้องมีการสำรวมจิต สำรวมสตินี่อย่างยิ่ง ตั้งสตินั่นคือการสำรวมจิตอย่างยิ่ง ต้องรวมสติสัมปชัญญะอะไรกันหมดเลย
ทีนี้ก็แยกเอามาแต่การสำรวม คำว่าสำรวม ระวัง คำว่าสำรวมหรือระวังนี้นะคือศีล ศีลมันซ่อนอยู่ในสิ่งเป็นความสำรวมระวังทุกชนิด แม้แต่ระวังจิต เราต้องคุมสติ ต้องสำรวมระวัง ให้สติมันอยู่ที่ลมหายใจเข้า หายใจออก หายใจยาว หายใจสั้นนี่ หายใจเข้า หายใจออก ตลอดเวลานี่มีการสำรวม บังคับตัวเองให้สำรวม เท่ากับธรรมะในการบังคับตัวเองมันก็คือศีล คำว่าวิริยะ บังคับตัวเอง สำรวมอยู่ในวิริยะ ความสำรวมพากเพียรอยู่นี้มันก็เป็นศีล ส่วนที่มันละความชั่ว ความไม่ดี เพียรละความชั่ว เพียรละความชั่ว ๆ ๆ นี้มันก็เป็นศีล ศีลมันอยู่ในชื่ออื่น รวมอยู่ ๆ เป็นที่แต่ว่าอยู่ในชื่ออื่น เรียกชื่ออย่างอื่น ให้รู้จักศีลชนิดนี้กันเสียบ้างว่านี่คือศีลจริงและมีจริง ส่วนศีลที่รับด้วยปาก ปาณาติปาตานั้นเป็นศีลลม ๆ แล้ง ๆ เมื่อมันไม่ได้มีการสำรวมจริง เป็นศีลชนิดที่ ว่าแต่ปาก ก็ยังไม่จริง ยังเป็นการตั้งต้นเกินไป ยังไม่มีศีล แต่พอไปสำรวมจิตหรือสำรวมสติสัมปชัญญะ ให้ทำจริงอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปในการเจริญสติปัฏฐานเป็นต้นนี้ การสำรวมนั้นเป็นของจริง มีจริง มีอย่างยิ่งในการสำรวม ดังนั้น ศีลมีอยู่จริง สมบูรณ์และเป็นอัตโนมัติ ไม่ได้เป็นอัตโนมัติมันก็เป็นศีลจริง ไม่ใช่ศีลนกแก้วนกขุนทองว่า ปาณาติปาตา เวรมณี แล้วก็มีศีล การที่จะมีศีลปาณาติปาตามันก็ต้องสำรวม สำรวมระวังเต็มที่ที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตในร่างกายผู้อื่น ก็ต้องสำรวมอย่างยิ่งที่จะไม่ถือโอกาส ถือเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตัว สำรวมอย่างยิ่งไม่ล่วงเกินของรักของใคร่ของผู้อื่น สำรวมอย่างยิ่งที่จะไม่พูดหรือไม่ใช้สื่ออันใด ๆ ให้เขาเข้าใจผิด ให้เขาเชื่อผิด เข้าใจผิด เสียประโยชน์ให้แก่เรา สำรวมที่จะไม่กิน ดื่มของเมา มันจึงจะเป็นศีล ดังนั้นมันอยู่ที่การสำรวม มีสำรวมที่ไหนมีศีลที่นั่น นอกนั้นเป็นศีลที่ลม ๆ แล้ง ๆ คือไม่ใช่ศีล เหมือนที่สมาทานศีลจนตายก็ไม่รู้จักมีศีลสักทีเพราะมันเป็นไอ้นกแก้วนกขุนทองอยู่เรื่อย
ทีนี้คนบางคนไม่เคยรู้เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้รับคำสั่งสอนเรื่องสุญตา เรื่อง อนัตตา มีจิตแจ่มแจ้งแทงตลอด เข้าใจในเรื่องนี้ ปฏิบัติอยู่แม้ในขณะนั้น มันก็กลายเป็นว่ามีศีล มีสมาธิ มีปัญญาครบถ้วน ทั้งที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเรื่องศีล เพราะเขาเป็นคนที่มีการสำรวมระวังอยู่เป็นพื้นฐาน แล้วสำรวมระวังชั้นดี มันสำรวมระวังด้วยสติปัญญา ไม่ใช่สำรวมด้วยกำลังบังคับของจิตหรือของกำลังกาย สติปัญญา เรื่องอนัตตา มันจะเป็นหมดทุกอย่าง เมื่อสำรวมระวังอยู่อย่างนี้ สำรวมระวังกำหนดลมหายใจอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม หรือล่วงศีลข้อไหนได้เลย มันจึงเป็นศีลอยู่เพราะเหตุนี้ แล้วเมื่อรู้ว่าทุกอย่างโดยเฉพาะเวทนานี่ เป็นสักว่าทาสตามธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ น่ายึดมั่นถือมั่น ถ้าปัญญาอย่างนี้มันมีอยู่ มันตัดหนทางที่จะไปฆ่าเขา ลักขโมยเขา ล่วงเกินของรักเขาสิ้นเชิง มันไม่มีทางที่จะไปฆ่าใคร ลักใคร ประพฤติผิดในกามแก่ใคร พูดเท็จ ดื่มน้ำเมาอะไรที่ไหนได้ ส่วนมากของปัญญาที่เห็นอนัตตาหรือสุญตานั้นมันจึงมีศีลอย่างลึกซึ้ง อย่างถูกต้อง อย่างสมบูรณ์ อย่างอยู่ในความรู้เรื่องอนัตตานั่นเอง คนจึงบรรลุพระอรหันต์ที่ตรงหน้าพระพุทธเจ้าได้ โดยที่ไม่ได้พูดถึงศีล สมาธิ ปัญญาอะไร แต่มันมีศีล สมาธิ ปัญญาครบหมด สมบูรณ์หมดอยู่ในนั้น แล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพานที่ตรงนั้นเอง ที่พูดกันเพียงไม่กี่นาทีกี่ชั่วโมง
จงรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าศีล ศีลที่แท้จริง มันแฝงอยู่กับสมาธิและปัญญา เมื่อตั้งความสำรวมระวังเพื่อเป็นสมาธิ มันก็มีศีลอยู่ที่นั่น เมื่อพิจารณาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็มีศีลซ่อนอยู่ในนั้น มันเหมือนกับพื้นฐานที่มีอยู่ทั่วไป แต่ว่าเราไม่มองมัน เราไม่ค่อยมองอะไรถึงพื้นฐานทั่วไป เรามักจะมองอะไรที่มันกำลังทำอะไรอยู่หรือแสดงผลอยู่ เหมือนเราเห็นรถยนต์วิ่ง เราเห็นรถยนต์มันวิ่ง และประโยชน์ที่เรานั่งรถยนต์ไปมากกว่าที่จะไปเห็นว่าในรถยนต์มีอะไร เครื่องจักรในรถยนต์มันมีอะไร ตัวเครื่องจักรหรือตัวกำลังของเครื่องจักร เราไม่ได้สนใจ เราสนใจที่รถยนต์มันวิ่งไปและเราไปถึงได้สบายตามที่เราต้องการ นี่เรามักจะสนใจกันอย่างนี้ สนใจที่ตัวรถยนต์วิ่งไปและการถึงของเรา ไม่ได้สนใจไอ้เรื่องพื้นฐานของเครื่องจักรหรืออะไรต่าง ๆ นี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่มนุษย์จะมองอะไรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ ในกรณีอย่างที่ว่านี้ สิ่งที่เรียกว่าศีลนั้นเป็นพื้นฐานไม่ถูกมอง เว้นแต่จะเป็นผู้มีปัญญา ศึกษามาอย่างเพียงพอ จึงจะเห็นว่ามันมีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ครบกันอยู่เรียกว่า อริยมรรค ทาทิตมรรค (ชั่วโมงที่ 01:00:30) คำเดียวพอ มีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา
วันนี้เรากำลังพูดกันถึงสติปัฏฐาน ๔ แล้วก็เลยพูดไปเรื่องสติ เรื่องอะไรไปเรื่องสมถะและปัญญา หมด ไม่มองกันหน่อย ลึกลงไปนั้นมันมีศีลเป็นพื้นฐานรองรับอยู่ มีการควบคุมสติ ตั้งสติให้อยู่ในร่องในรอยที่ไหนก็มีศีลที่นั่น แล้วมันก็มีสมาธิที่นั่น ถ้าไปพิจารณาเข้ามันก็เป็นปัญญาด้วย เลยมันก็ไปด้วยกัน ฉะนั้นในขณะที่เราพิจารณาอยู่ว่า นี้สักว่าถ้าตามธรรมชาติไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มันก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ครบอยู่อยู่ในจุด ๆ นั้น นี่เพ่งพิจารณาด้วยกำลังจิตทั้งหมดให้เห็นว่า นี้สักว่าถ้าตามธรรมชาติไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา นี่คือสติปัฏฐานสมบูรณ์ แล้วมันก็มีศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์อยู่ในสติปัฏฐานนั้น
วันนี้เราพูดกันแต่เพียงหลักคร่าว ๆ ทั่วไปเกี่ยวกับสติปัฏฐาน จะพูดโดยรายละเอียดในวันเดียวนี้มันไม่ได้ เอาไว้พูดวันอื่น แล้วจะพูดสติปัฏฐานในรูปของอานาปานสติภาวนาเหมาะกว่า สรุปความในวันนี้แต่เพียงว่า สติปัฏฐาน ๔ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ในฐานะเป็นเครื่องมือให้บรรลุมรรคผลนิพพาน จัดเป็นโพธิปัขขิยธรรมด้วย จัดเป็นธรรมะที่ฝักฝ่ายของโพธิที่เป็นเครื่องมือให้บรรลุมรรคผลนิพพาน เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ เรียกสั้น ๆ ว่ามีสติหรือทำสติ จะทำสติแล้วเราก็มีสติ ถ้ามีสติชนิดนี้ ก็คือมีศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์แล้วผลของมันคือมรรคผลนิพพานก็ต้องตามมาโดยไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องตั้งปรารถนา แต่ทำให้ถูกต้องอยู่ มันก็มา ไม่ต้องอธิษฐานขอให้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ให้ทำถูกต้องอยู่ด้วยสติปัฏฐานนี่ มันก็มา เรียกว่าเชื้อเชิญ อ้อนวอน อธิษฐานกันให้เป็นพิธีรีตองมากไปมันเป็นเรื่องน่าสงสาร แล้วเวลาของเราก็หมด