แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้จะได้พูดกันถึงธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือต่อไป ว่าด้วยสัมมัปธาน ความเพียร ๔ อย่าง ในครั้งที่แล้วมาขอให้ทบทวนดูว่า ธรรมะเหล่านั้นทั้งหมดมันคืออะไร หรือเพื่ออะไร และในที่สุดจะออกมาเป็นรูปของสัมมัปธานได้อย่างไร และยิ่งกว่านั้นอีกก็คือสังเกตให้เห็นพร้อมกันมาในตัวว่า ธรรมะเหล่านี้ทั้งหมดใช้สำหรับฆราวาสได้โดยเท่ากันกับบรรพชิตอย่างไร เรื่องธรรมะทั้งหมดใช้ได้ตั้งแต่ฆราวาสและบรรพชิตนี้ ก็ยังกำลังเป็นปัญหาสำคัญ มันไม่ได้เป็นเพียงปัญหา มันเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไม่มีธรรมะ หรือมีธรรมะไม่พอ
ความเข้าใจผิดแบ่งธรรมะบางพวกสำหรับฆราวาส ธรรมะบางพวกสำหรับบรรพชิต ไปเสียอย่างนี้มีอยู่ทั่วไป นี่เป็นตัวอุปสรรค จะต้องมองให้เห็นว่า ไอ้ตัวธรรมะเอง มันไม่เป็นฆราวาสหรือไม่เป็นบรรพชิต ในธรรมะนี้ไม่เป็นของชาติไหน ภาษาไหน และยังไม่ใช่เป็นตัวผู้หรือตัวเมีย มันจึงใช้ได้ทั่วไป แล้วก็ในฐานะเป็นเครื่องมือ เช่นที่เรียกว่าฆราวาสธรรม ๔ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นั้นก็ลองคิดดูว่า ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับฆราวาสทำมาหากินก็ได้ ใช้เป็นเครื่องมือประพฤติพรหมจรรย์เพื่อบรรลุนิพพานก็ได้ เมื่อมาถึงอิทธิบาท ๔ ก็เห็นชัดอยู่ว่า มีความพอใจ และใช้กำลังกาย ใช้กำลังจิต ใช้กำลังปัญญาลงไป นี่มันก็ใช้ได้ แม้แต่ฆราวาสที่ทำมาหากินหรือแม้แต่จะขอทานมันก็ใช้ได้ และมันก็ใช้ได้สำหรับบรรพชิตที่จะประพฤติพรหมจรรย์ไปบรรลุนิพพาน นี้แม้ที่สุดเกิดผลสุดท้ายคือนิพพาน มันก็ต้องมีได้หรือใช้ได้แม้แต่ฆราวาส ชีวิตฆราวาสเป็นประจำวันที่บ้านที่เรือนก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่านิพพาน หล่อเลี้ยงอยู่เสมอในระดับใดระดับหนึ่ง มิฉะนั้นก็เป็นโรคเส้นประสาท เป็นบ้าตาย นิพพานที่แปลว่าความเย็น มีอยู่หลาย ๆ ระดับ ที่เคยพูดกันมาแล้วและจะต้องพูดกันต่อไปอีก เมื่อดูให้ดีว่าแม้แต่ผลสุดท้ายที่เรียกว่านิพพานนี้ ก็ยังจะมองดูในฐานะเป็นเครื่องมือได้อีก คือเครื่องมือให้เกิดความเย็นแม้ในชีวิตฆราวาส เป็นเครื่องมือให้เกิดความสุข สบาย ทั่วไปทั้งฆราวาสทั้งบรรพชิต ผู้ที่บรรลุนิพพานแท้จริง นิพพานสมุจเฉทประหารเด็ดขาดลงไป ก็ได้รับความสุขสมบูรณ์และเด็ดขาดลงไป ผู้ที่ได้รับจิตนิพพานเพียงชั่วคราว หรือสันทิฏฐิกนิพพาน หรือตทังคนิพพาน เป็นต้น ก็ได้รับความสุขตามสมควรแก่ฐานะและโอกาส นี่นิพพานเป็นเหตุให้ได้รับความสุข เพราะว่ามันเป็นผลสุดท้ายที่ให้เกิดความสุข และผลชนิดนี้เราจะเรียกว่าเหตุหรือเครื่องมือก็ได้เหมือนกัน หากแต่ว่ามันเป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องใช้ ไม่ต้องทำ ไม่ต้องหยิบมาใช้มาทำ มันก็ให้เกิดความสุขได้โดยอัตโนมัติในตัวมันเอง เราจึงไม่ค่อยมองในฐานะเป็นเครื่องมือ
ความสับสนเกี่ยวกับคำพูดชนิดนี้มีตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ๆ เช่น เงิน มองแง่หนึ่งมันก็เป็นผล ที่แสวงหาได้มาเป็นผลสุดท้าย ถ้ามองกันแค่นั้นมันก็เป็นผล ถ้ามองต่อไปมันต้องเอาเงินไปใช้อีกทีหนึ่ง มันจึงจะได้อะไรมา แล้วเงินก็กลายเป็นเครื่องมือ มีเครื่องมือเยอะแยะที่เราใช้ในการเงิน ได้เงินมาเป็นผล และเงินก็ต้องถูกใช้อีกทีหนึ่งในฐานะเป็นเครื่องมือหรือเป็นอำนาจ ซื้ออำนาจอะไรต่าง ๆ ที่จะได้สิ่งที่ต้องการมา และมันก็ต้องใช้เงินนี่ไปในการซื้ออาหาร ซื้อเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้โรค ที่เป็นปัจจัยสำคัญ ปัจจัยสำคัญมันก็เป็นเครื่องมืออีกเพื่อให้ได้มาซึ่งความสะดวกสบาย ผลสุดท้ายมันก็จะไปมีอยู่ที่ความสบายหรือความพอใจ นี่ก็พูดอย่างเล่นตลกอีกครั้งหนึ่งว่า ไอ้ความสบายหรือความพอใจแหละเป็นเหตุให้หาเงิน มันก็เลยกลายเป็นเครื่องมือได้อีก วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ แล้วใครจะเรียกอะไร ส่วนไหน ว่าเป็นเครื่องมือ ว่าเป็นผลของเครื่องมือก็ระวังให้ดี เพราะโดยที่แท้แล้วมันเป็นได้ทั้ง ๒ อย่างเสมอไป แม้เราจะพูดว่านิพพานนี่แหละเป็นเหตุให้เรามาบวชในพุทธศาสนา ก็กลายเป็นเครื่องมือให้เรามาบวชในพุทธศาสนา
การที่พูดว่าอะไรเป็นเหตุหรืออะไรเป็นผลลงไปชัด ๆ นั้น เป็นคำพูดที่ไม่ถูก ความเป็นเหตุหรือความเป็นผลมันจำกัดอยู่ชั่วระยะกาลระยะเวลา หรือชั่วที่มันทำหน้าที่อะไร มันจึงเป็นได้ทั้งเหตุและทั้งผลเรื่อยไป ๆ ๆ วนเวียนกันอยู่ในสังสารวัฎ ในการปรุงแต่ง ได้เงินมาเป็นผล แล้วก็ใช้เงินนั้นให้เป็นเหตุสำหรับหาอะไรต่อไปอีก ได้อะไรมาก็ใช้อันนั้นให้เป็นเหตุ สำหรับหาอะไรต่อไปอีกมีอยู่ ทั้งธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือ มันก็เป็นเหตุและเป็นผล แล้วก็เป็นเหตุ แล้วก็เป็นผลเรื่อย ๆ มาตามลำดับ จนกว่าจะใช้ จะกว่าได้รับความพอใจอันสุดท้าย เครื่องมืออันหนึ่งก็เป็นเหตุให้สร้างเครื่องมืออีกอันหนึ่งขึ้นมา เครื่องมืออันนั้นก็สร้างเครื่องมืออันอื่นขึ้นมา เราจะเห็นได้ว่าเครื่องมือที่ประณีตนั้น มันต้องประกอบอยู่ด้วยอะไร เครื่องมือหยาบ ๆ หลาย ๆ อย่างสร้างมันขึ้นมา เพราะฉะนั้นจงดูให้เห็นความเป็นเหตุ และเป็นผลของกันและกันอันไม่รู้จักสิ้นสุด ข้อนี้ก็สำคัญมาก เพราะเป็นเหตุให้มองเห็นความเป็นอนัตตาหรือสุญตาได้โดยง่าย ถ้าเรามองเห็นว่าไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่เป็นเหตุและเป็นผล ปรุงแต่งกันไปเรื่อย ไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไป ก็มองเห็นอนัตตาหรือสุญตาได้ง่าย จึงไม่เสียทีที่จะมองทุกสิ่งในฐานะเป็นเหตุและเป็นผล และเป็นเครื่องมือนำมาซึ่งผล และก็กลายเป็นเครื่องมือนำมาซึ่งผลอื่นต่อไปอีก และถ้าเข้าใจอันนี้ดี ก็จะเข้าใจธรรมะที่จะกล่าวต่อไปได้ง่าย
เพราะว่าเราจะมองกลับไปดูถึงในธรรมะสารพัดนึก เราเรียกกันว่า ฆราวาสธรรม ๔ แต่ผมเรียกว่า ธรรมะสารพัดนึก นี่เป็นแก้วสารพัดนึก สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นี่เป็นแก้วสารพัดนึก ธรรมะสารพัดนึก ใช้ได้ตั้งแต่ฆราวาสจนถึงเรื่องไปนิพพาน ให้มีสัจจะ มีทมะ มีขันติ มีจาคะ กระทำพร้อมกันอยู่ ๔ อย่างอย่างนี้ เราไปเรียกมันเป็นชื่อ ๆ มันก็เป็นชื่อ ๆ แต่สิ่งไป แต่ดูที่มันทำงานร่วมกันแล้ว มันก็คือความพยายามอยู่อย่างตัวเป็นเกลียว มีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ให้ครบถ้วน ก็มีความเพียร มีความพยายามอยู่อย่างตัวเป็นเกลียว แต่เราไม่ได้ออกชื่อความเพียรเลย สัจจะก็ไม่ใช่ความเพียร ทมะก็ไม่ใช่ความเพียร ขันติก็ไม่ใช่ความเพียร จาคะก็ไม่ใช่ความเพียร โดยชื่อมันไม่ใช่ความเพียร แต่เมื่อไปทำเข้าครบถ้วนตามนั้น มันกลายเป็นความเพียร ความเพียรอย่างยิ่ง ความเพียรอย่างสูงสุด ตัวเป็นเกลียวอยู่ตลอดวันตลอดคืน มันกลายเป็นความเพียรไปได้ ทั้งที่ชื่อเรียกมันไม่ใช่ความเพียร นี่เราจะมองดูกันในแง่ของความเพียร มีให้มองมาก คือใช้สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ไปในอะไร ไปในการกระทำอะไร ก็ในการทำความเพียรนั่นเอง
ทีนี้มามองดูที่อิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ๔ อย่างนี้ มันมีชื่อว่าความเพียรอยู่คำหนึ่งคือ วิริยะ มีการใช้กำลังกาย แต่ว่าทั้งหมดนั้นมันก็คือความเพียร ทั้ง ๔ อย่างนั้นน่ะทำอยู่ให้ครบถ้วนให้สมบูรณ์ มีฉันทะ พอใจที่จะทำ แล้วก็ใช้กำลังกาย ใช้กำลังจิต ใช้กำลังปัญญาอยู่ รวมกันหมดนี้มันก็คือความเพียรสั้น ๆ คำเดียวเท่านั้น ดูอะไรที่มันแฝงอยู่ในการพูดจา ในการเรียกร้องพูดจา มันแฝงอยู่อย่างนั้น ลองไปปฏิบัติธรรมะสารพัดนึก ๔ อย่างเข้าก็ตาม ปฏิบัติอิทธิบาท ๔ อย่างเข้าก็ตาม มันก็กลายเป็นการทำความเพียร งั้นชาวบ้านเขามีคำพูดมาแต่เดิมนานแล้ว เมื่อผมจำความได้มาก็ได้ยินเขาใช้คำนี้ คือทำความเพียร ภิกษุออกไปอยู่ป่า ปฏิบัติกรรมฐานภาวนาอยู่อย่างเต็มที่ นี่เขาเรียกว่าทำความเพียร ไปไหน ไปทำความเพียร เรียกการปฏิบัติธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นน่ะว่า ทำความเพียร ทำความเพียรอยู่ในป่า มีคำว่าความเพียรมีก็มีความหมายมันกว้าง แต่คนเดี๋ยวนี้ถือเป็นเรื่องสั้น ๆ แคบ ๆ เล็ก ๆ อะไรเรื่องหนึ่ง ที่จริงมันเป็นทั้งหมดของตัวพรหมจรรย์ เพราะว่าพรหมจรรย์นี่มันก็ต้องพยายามกระทำอยู่อย่างไม่ขาดสาย มันกลายเป็นความเพียรไปด้วยเหตุนี้
และวันนี้เราจะได้พูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่าความเพียร โดยชื่อในภาษาบาลีที่มีอยู่ว่า สัมมัปธาน ๔ สิ่งที่เรียกความเพียรมีมากชื่อ เคยได้พูดมาแล้ว เรารู้จักกันในชื่อว่าวิริยะ ความเพียรกันมากกว่าที่จะรู้จักในฐานะในชื่อว่าปธาน แม้ว่าในมรรคมีองค์ ๘ จะได้เรียกว่า วายามะ สัมมาวายาโม มันก็อันเดียวกัน ในมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่า สัมมาวายาโม นั้นคือความเพียร วายาโม คือความพยายาม ฉะนั้นเป็นอันว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ได้ ตามความหมายเฉพาะนี้ วายามะ คือพยายามไม่หยุด วิริยะ คือการใช้กำลังอย่างกล้าหาญ ทีนี้เรียกว่าปธาน แปลว่า ตั้งมั่น คือว่ามีกำลังใจที่ตั้งมั่นลงไป เรียกว่าปธาน สัมมัปธานหรือสัมมัปธาน มันก็คืออย่างสม่ำเสมอ ความเพียรอย่างสม่ำเสมอตลอดกาลไม่ขาดสาย เรียกว่า สัมมัปธาน เรียกว่าสม่ำเสมอตลอดกาลไม่ขาดสายมันก็ยังแบ่งออกได้เป็นส่วน ๆ มองได้เป็นแง่ ๆ มุม ๆ ๆ ไปเลย สิ่งที่เรียกว่า ปธาน หรือสัมมัปธานถูกแบ่งแยกออกไปเป็นแง่ ๆ มุม ๆ ตามหน้าที่ที่กำลังกระทำหรือกำลังใช้ความเพียรอยู่
อันแรกจึงมาเป็นสังวรปธาน คือเพียรระวัง อันที่ ๒ ก็เป็นปหานปทาน เพียรละ อันที่ ๓ ก็เป็นภาวนาปทาน เพียรสร้าง อันที่ ๔ ก็อนุรักขนาปทาน เพียรรักษา จำไว้ให้สั้น ๆ ว่า เพียรระวัง เพียรละ เพียรสร้าง เพียรรักษา มองเห็นจริงแล้วจะสะดุ้ง คือเรากำลังเหลวไหลใช้ไม่ได้ มันจึงมีเรื่องต่าง ๆ เกิดขึ้น เป็นความเสียหาย ไม่รู้ว่าจะใช้สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ อย่างไร เดี๋ยวนี้ก็มารู้เสียว่า จะใช้ไปในการระวัง การละ การสร้าง และการรักษา มิฉะนั้นความรู้จะท่วมหัวแล้วเอาตัวไม่รอด ได้อะไรมาเป็นของปลอมทั้งนั้น มีเกียรติยศชื่อเสียงก็เป็นของปลอม ใช้คุ้มตัวไม่ได้ มีความผิด มีความชั่ว มีความเสียหายไปทั้งที่มีความรู้มาก อยู่ในฐานะเป็นผู้มีเกียรติ เป็นหัวหน้า เป็นผู้บังคับบัญชา เพราะไม่มีความเพียร ๔ อย่างนี้ มีแต่ความรู้ชนิดที่ไม่มีประโยชน์อะไร คือไม่ได้เอามาใช้ด้วยความเพียร นั่นก็รู้ไว้แล้วไปบอกเพื่อนฝูงกัน ว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังขาดที่เรียกว่าความเพียรนี่ ทั้ง ๆ ที่เรารู้สึกว่า เรามีความเพียรอยู่แทบสายตัวขาดอยู่แล้ว มันเป็นความเพียรคนละเรื่อง เป็นความเพียรที่จะเป็นทาสของกิเลสไปเสียเป็นส่วนใหญ่ ความเพียรมีแทบสายตัวขาดอยู่เป็นประจำวันทุกวันนั่นน่ะ เพียรเพื่อจะเป็นทาสของกิเลส ไม่ใช่เพียรเพื่อจะเป็นคนของธรรมะหรือผู้ปฏิบัติธรรม เขาเลยพาลพาโลหาว่าความเพียรในพุทธศาสนานี่มันพึ่งอะไรไม่ได้ ทั้งที่มีความพากเพียรอยู่ มันก็ยังเดือดร้อน มันเป็นเรื่องพาลพาโล ในเมื่อมีความเพียรไม่ถูกต้อง คือไม่มีความเพียรตามแบบที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ให้ครบ เพียรระวัง เพียรละ เพียรสร้าง เพียรรักษา
นี่เราดูกันทีละอย่าง เพียรระวัง เอามาไว้เป็นข้อแรกเลยมันน่าสนใจนะ เอาเพียรระวังมาไว้เป็นข้อแรกเลย หมายความว่ามีความรู้ยังต้องระวัง มีความรู้เฉย ๆ ไม่มีประโยชน์อะไร ต้องรู้อะไรเป็นภัย เป็นอันตราย ต้องระวังไว้อย่าให้มันมาใกล้ อย่าให้เข้ามาเกี่ยวข้อง นี่ถ้าพูดอย่างต่ำที่สุด อย่างของพวกชาวบ้าน พวกฆราวาสทั่วไป มันโง่มากในการที่เดินเข้าไปในเขตหรือในถิ่นที่เป็นอันตราย เรื่องอบายมุขทั้งหลายก็รู้อยู่ มันก็ยังเข้าไปหา ก็แปลว่าเปิดให้อันตรายเข้ามาหา หรือเดินเข้าไปหาอันตราย เช่น ไปกินเหล้าเข้าก่อน กินเหล้าแล้วมันทำอะไรได้อีกบ้าง มันทำหมด ไม่พยายามที่จะระวังใน ๆ ชั้นแรก มีความรู้พึงระวังที่จะไม่ไปใกล้กรายในสิ่งเหล่านั้น อย่าเข้าไป อย่าไปเกี่ยวข้องด้วยในชั้นแรก
ทีนี้กลับมาข้อที่ ๒ ก็ละไอ้ที่มันเกี่ยวข้องอยู่แล้ว ที่มันโง่ไปเกี่ยวข้องเข้าแล้วก็ละไปสิ เช่น ไปกินเหล้าเข้าแล้ว หรือกินอยู่เป็นประจำ มันก็ต้องละเท่านั้นเอง ถ้าไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้อง มันก็ป้องกันได้ดีมาแล้วในข้อ ๑ ทีนี้มันเผลอไปแล้ว ล้วนถึงขนาดที่ทำอยู่เป็นประจำมันก็ต้องละ นี่เรียกว่าฝ่ายชั่ว ฝ่ายไม่ดี ต้องระวังอย่างหนึ่ง และต้องละอย่างหนึ่ง
ทีนี้ก็มาถึงฝ่ายดี ก็ต้องสร้างความเพียรอันที่ ๓ คือสร้างมันมา ความเพียรอันที่ ๔ คือรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป นี่ความดีที่ยังไม่มีก็ไม่สร้าง คือไม่ก้าวหน้านั่นเอง ถ้าเราชอบก้าวหน้า ก็หมายความว่าชอบสร้างความดี คือสิ่งดีที่มีประโยชน์ขึ้นมาใหม่ ๆ เรื่อย เป็นเรื่องสร้าง ทีนี้สิ่งที่สร้างขึ้นมานั้น มันมีความจำเป็นที่จะต้องรักษา เพราะว่าธรรมชาติของสังขารมันเป็นอย่างนั้นเอง มันอาศัยปัจจัยอยู่เรื่อยไป ปัจจัยสร้างขึ้นมา ปัจจัยที่ต้องรักษาเอาไว้ ให้เรารักษา ให้มีสัจจะ ในการจะทำอะไรที่ดี และก็ต้องอาศัยธรรมะอื่น ๆ เพื่อให้รักษาสัจจะนั้นเอาไว้ให้ทำไปได้ตลอดไป นี่ก็เห็นได้ง่าย ๆ ว่า ไม่จริง อ่านหนังสือไม่จบเล่ม หรืออ่านแล้วก็ไม่อ่านอีก ไหว้พระสวดมนต์นี่ก็ทำได้อยู่ ๒ - ๓ วันแล้วก็ขี้เกียจเลิกไป เลิกราไป นั่นคือไม่รักษา มันลงมือทำก็แล้วไม่ทำต่อ ไม่รักษา ในระยะกาลที่ยาวนานพอสมควรกัน อย่าลืมสิว่า เตือนแล้วเตือนอีก เตือนแล้วเตือนอีกว่ามันต้องใช้เวลา
คนโบราณเขาพูดไว้มากเรื่องนี้ว่าต้องใช้เวลา ให้รอได้ ให้ทำไปเถอะ ๆ ใช้อยู่อย่างนี้ เตือนแต่อย่างนี้ ให้ทำไปก่อนเถอะ ๆ ให้ทำไป อย่าหยุด ยิ่งคนเดี๋ยวนี้มันพอลงมือทำแล้วก็จะเอาผล เอาผลทันตาทันใจ ยิ่งเด็ก ๆ สมัยนี้ด้วยแล้วยิ่งเป็นอย่างนี้มาก แล้วมันจึงปวดหัว แล้วมันจึงเป็นโรคเส้นประสาทหรือเป็นบ้ามาก คนโบราณน่ะเฉย ให้ฟังธรรมไปเรื่อย ๆ รอได้ คอยได้ ทำไปอย่างสบาย ยิ้มกริ่มอยู่ตั้งแต่แรกทำ มันไม่ปวดหัว ไม่เป็นเส้นประสาท ไม่เป็นอะไรเหมือนที่เด็ก ๆ สมัยนี้เป็นกัน นี่เห็นได้มันผิดไปหมดทั้ง ๔ อย่าง สิ่งที่เรียกว่า ปทาน สัมมัปธาน นี่มันผิดไปหมดทั้ง ๔ อย่าง มีสิ่งที่น่าหัว น่าหัวมาก ๆ อย่างที่เขาเรียกว่าน่าหัวให้ฟันหัก หัวจนฟันหัก คือพวกคนที่มาเที่ยวที่นี่ มาดูไอ้ภาพปั้น ที่โรงปั้นภาพ ดูการทำภาพ ออกปากกันทุกคนว่าเก่ง ว่าวิเศษ ว่าไม่มีที่ไหนทำนองนี้ ผมก็นึกขันอยู่ในใจ ว่าทำไมจึงมีเก่งแต่ที่นี่ ๒ - ๓ คน ถ้าเป็นกันเองมากพอบอกให้เลยว่า มันขี้เกียจ มันมีจิตใจเร่าร้อน ไม่มีความอดทน พวกที่เรียนศิลปากร เรียนอะไรมา ทำได้ทุกคนน่ะ ถ้าอยากจะทำ ถ้ามีความเพียรพอ ทีนี้ใจมันร้อน มันทำไม่ได้ที่จะทนทำ ทนฝึกนาน ๆ มันทำไม่ได้ ยิ่งทำช้า ๆ อย่างเราทำด้วย ยิ่งทำไม่ได้ใหญ่ เพราะจิตใจมันไม่ได้เป็นผู้ทำ จิตใจมันเป็นผู้ที่จะบริโภค ทำเพื่อจะเอาเงินไปสนุกสนาน เอร็ดอร่อย มันก็รอไม่ได้ ก็ทำลวก ๆ มันก็ไม่ดี ไม่เหมือนกับที่ทนทำเป็นปี ๆ ไม่เคยเรียนที่ศิลปากรเลย แต่บางคนทำเป็นปี ๆ ทำเป็น ๕ - ๖ ปีนี่มันทำได้ คุณลองแยกไอ้ส่วนที่เป็นความเพียรออกมาดูว่ามันมีอย่างไร มันมีมากน้อยเท่าไร ที่ผมว่าน่าหัวให้ฟันหัก ก็คือคนโง่และขี้เกียจ มันมีเท่านั้นเอง เลิกโง่ว่าทำไม่ได้เสียที ไอ้ความโง่ว่าทำไม่ได้น่ะเลิกเสียที แล้วก็มีความเพียรก็ทำไป นี่แสดงว่าทำได้ และมันก็ไม่ใช่เป็นของแปลก ถ้าดูให้ลึกก็คือนิสัยธรรมดา ๆ ที่เราทำภาพปั้นอย่างนี้ได้ และมีคนออกปากว่าที่อื่นทำไม่ได้ หรือเขาทำไม่ได้ เพราะว่าโง่หรือขี้เกียจ ทนไม่ได้ รอไม่ได้ คือทนทำไปไม่ได้ มันจะเอาเดี๋ยวนี้ แล้วมันจึงมีปัญหายุ่งยากเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้มากมาย
ดังนั้นคำว่าความเพียร มันก็เป็นเครื่องมือ เป็นธรรมะ เป็นธรรมะเครื่องมืออย่างยิ่ง จนมีพระพุทธภาษิตว่า วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ คนนั้น คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ไม่ได้พูดว่ามีความสุขว่าล่วงทุกข์ ก้าวล่วงความทุกข์ไปได้ ด้วยอำนาจของวิริยะคือความเพียร แต่ละคนเดี๋ยวนี้ก็ล่วงทุกข์ไม่ได้ เพราะว่ามีความเพียรผีสิง ความเพียรผีสิงคือความเพียรที่ทนไม่ได้ รอไม่ได้ พอลงมือทำก็ปวดหัว อีกหน่อยก็เป็นเดี๋ยวก็เป็นโรคประสาท ความเพียรผีสิงนี่มันให้ผลนะ ในจิตใจมันกลัดกลุ้ม รอไม่ได้ คอยไม่ได้ แต่มันต้องทนทำ ฝืนทำเพราะว่าความจำเป็นมันบังคับ แล้วก็ทำด้วยจิตใจที่กระสับกระส่ายเหมือนผีสิง จะทำได้มันก็หยาบกว่าเสมอไป ควรจะรู้จักความเพียรตามแบบของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้องให้สมบูรณ์ แยกออกเป็น เพียรระวัง เพียรละ เพียรสร้าง เพียรรักษา เป็นความหมายที่กลางที่สุด ใช้ในรูปไหนก็ได้ ระวังก็ระวังอย่าโง่ ระวังอย่าขี้เกียจ ละก็ละความโง่ ละความขี้เกียจ สร้างก็สร้างความขยัน ความฉลาด รักษาความขยัน ความฉลาด ความเพียรอยู่อย่างนี้ ทุกคนจะทำอะไรได้เท่ากันหมด ผิดกันเพียงจะช้าจะเร็วตามสติปัญญามีมากมีน้อย มีปฏิภาณไหวพริบมากมันก็ทำได้เร็ว เรียนได้เร็ว ทำได้เร็ว ถ้ามีความเพียร มันก็ทำไปให้ทำช้า ๆ ก็ทำได้ มันฉลาดขึ้นมาเอง ที่เคยโง่ก็ฉลาดขึ้นมาเอง มันก็เป็นไปได้
ทีนี้ปัญหามันเลยไปมีอยู่ตอนท้ายที่ว่า ใช้ความเพียรในอะไร ใช้ความเพียรในการเป็นทาสของกิเลส หรือว่าใช้ความเพียรในการที่จะชนะกิเลส ความพากเพียรพยายามค้นคว้าคิดสูตรทดลองศึกษาของวิทยาศาสตร์สมัยนี้ เพื่อเป็นทาสกิเลสทั้งนั้น รวมทั้งอนุสัย ไปดวงจันทร์นี้ด้วย ก็อยู่ในความเพียรเพื่อเป็นทาสของกิเลส คือมันอยากอะไรในประเภทกิเลส อยากอวดบ้าง อยากข่มหมูผู้อื่นบ้าง อะไรบ้าง อย่างนี้เป็นความเพียรเพื่อเป็นทาสของกิเลส แม้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสติปัญญา หากค้นคว้ามาก ค้นคว้าไปเพื่อจะเป็นทาสของตัณหา ความอยาก อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น อะไรทำนองนี้ทั้งนั้น แล้วมันจึงไม่สร้างสันติภาพ ลงทุนมหาศาลแต่ไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างสันติภาพ หรือสันติภาพก็สันติภาพในความฝันที่ไม่รู้จบ ไม่มีจุดที่จะพบกันกับความสำเร็จ คือสันติภาพ สันติภาพปากว่าเรื่อยไป อย่างนี้ก็รวมไว้ในพวกความเพียรเพื่อเป็นทาสของกิเลสทั้งนั้น
ทีนี้ในพุทธศาสนาเราระบุความเพียรไว้เพื่อฆ่ากิเลส เพื่อชนะกิเลส ปฏิบัติธรรมะ ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยความพากเพียร เอาชีวิตเป็นเดิมพัน มันก็เพื่อจะฆ่ากิเลสตัวเดียว เพราะว่ากิเลสมันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ต้นเหตุของความไม่มีสันติภาพโดยส่วนตัวหรือส่วนรวม ความยุ่งยากลำบาก ทนทรมานอยู่ในโลกทั่วทั้งโลกเวลานี้ก็มาจากกิเลสของมนุษย์ในโลก นี้ส่วนบุคคลแต่ละคน ๆ ก็นอนไม่หลับนี้กิเลสส่วนตัวบุคคล ความเพียรต้องถูกใช้ไปในทางที่จะฆ่ากิเลส
ทีนี้ก็มาถึงการปฏิบัติเป็นรายข้อเรียงข้อไปตามลำดับ ผมเชื่อว่าคุณเข้าใจได้เอง เพราะหัวข้อนี้มันชัดมากและประสบการณ์ในชีวิตแต่หนหลังมันก็เป็นพยานอยู่ มันอาจจะเข้าใจได้ดีในคำว่าระวัง แล้วก็ละ สร้างมันขึ้นมาและก็รักษามันไว้ ไปดูที่บ้าน ที่เรือน ที่ออฟฟิศของตัว และไปจำแนกดูว่าเราบกพร่องอะไรบ้าง การงานที่ทำอยู่ทุกวัน อย่างเป็นฆราวาส ที่บ้าน ที่เรือน ที่ออฟฟิศ อย่างบรรพชิตนี้ก็ที่นี่ ที่อยู่ที่กุฏิอาศัยที่วัด ที่การงานที่ทำอยู่ เราบกพร่องอะไรกี่มากน้อย ในการที่จะระวัง หรือจะละ หรือจะสร้าง หรือจะรักษา ในที่สุดก็เพราะเป้าหมายมันยังมีอีกมากที่ไม่ได้ทำ ไม่ได้สร้าง ไม่ได้รักษา แล้วก็ไม่ได้ละในส่วนที่ควรละ และเปิดช่องโหว่ไว้เสมอ สำหรับอะไรใหม่ ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคนี่ ที่จะเป็นปาราชิกนี่ เข้ามาให้มันเข้ามา
ไอ้คำว่าระวัง คือป้องกันอย่าให้เกิดขึ้น ไอ้คำว่าละนี่มันคือแก้ไข รักษา นี่ก็เป็นหลักยึดถืออยู่ทั่วไป คำว่าป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมา ถ้ามันเกิดขึ้นมาหรือเกิดแล้วก็ละหรือทำลายมัน ก็พูดกันอยู่อย่างนี้ แล้วมันพูดแต่ปาก นี่เรื่องสร้างนี่มันก็ขี้เกียจ มองเห็นอยู่มันก็ยังไม่ได้จะสร้างได้ มันก็ไม่ได้สร้างเพราะขี้เกียจ นี่พอมาถึงเรื่องรักษา มันก็น่าเบื่อที่สุด เป็นสิ่งที่น่าเบื่อที่สุด ที่ได้รักษาสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ ซาก ๆ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ มันน่าเบื่อที่สุด นี่มันจึงล้มละลาย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มันล้มละลายไปหมด เพราะไอ้ความน่าเบื่ออย่างนี้ นี่ถ้ามัน มันมีกำลังมาก มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มากมันก็ไม่เบื่อ ไอ้ฉันทะมันทำให้ไม่เบื่อ ไปปลูกฉันทะกันใหม่ วิริยะ จิตตะ วิมังสา กันใหม่ ในการที่จะรักษา คือทนรักษา ทำสิ่งที่มันซ้ำ ๆ ซาก ๆ มันน่าเบื่อ อย่างลาน ลานวัดนี่ที่มันสะอาด เรียบร้อยอยู่นี่ ก็เพราะกวาดอยู่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนไม่รู้ว่ามันซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างไร มันคือรักษา มันจึงอยู่ในสภาพอย่างนี้ได้ มันก็เป็นงานที่น่าเบื่อที่สุดกว่าข้อไหนหมด
คุณไปดูเองดีกว่า ไม่พูดหรือว่าพูดอะไรได้ไม่มากไปกว่าที่จะไปดูได้เอง ที่เรามันเหลวไหลในเรื่องความเพียร ๔ อย่างนี้ ถ้าใครมีความเพียรได้ก็ประสบความสำเร็จกันไปทั้งนั้น แม้เรื่องเป็นพระอรหันต์ ทำความเพียรเพื่อฆ่ากิเลสเป็นพระอรหันต์กัน ในเรื่องสนุกสนานเอร็ดอร่อยแท้ ๆ มันก็ยังหลอกตัวเอง ยังขี้เกียจ ทีนี้ไอ้เรื่องที่มันไม่ยั่วยวนมากอย่างนั้น เรื่องปฏิบัติความเพียรเพื่อบรรลุพระโสดาบัน มันไม่สนุก มันก็ยิ่งเหลวไหล ยังขี้เกียจ จะเอาอย่างไร ใครจะอยู่ต่อไป ปฏิบัติธรรมะต่อไป มันก็ต้องความเพียรนี้ ไปสึกออกเป็นฆราวาสมันก็ต้องความเพียรนี้ ทีนี้เลิกลืมเรื่องเป็นฆราวาสหรือ เป็นบรรพชิตกันเสียทีก็ได้ รู้สึกแต่ว่ามีชีวิตเป็นมนุษย์อยู่ มันก็ต้องมีความพากเพียรไป ฉะนั้นก็จึงฝากความเพียรไว้ว่าเป็นคนก็ต้องพากเพียรไปจนกว่าประโยชน์จะสำเร็จ แต่เดี๋ยวจะไปหลงบาลีคำนี้เข้าว่า เฉพาะผู้ชาย นี่ความโง่ทางภาษามันมีได้ เพราะพระพุทธภาษิตหรือธรรมภาษิตเหล่านั้นมันระบุคำว่า วายะเมเถวะ ปุริโส ยาวะ อัตถัสสะ นิปะทา
ปุริโส แปลว่า บุรุษ บุรุษพึงพยายามไปจนกว่าประโยชน์จะสำเร็จ แต่ถ้าแปลว่าบุรุษ แปลปุริโสว่าบุรุษ นี่มันผิด มันโง่ในทางภาษา คำอย่างนี้ก็แปลว่าคนทั้งนั้นแหละ หญิงก็ได้ ชายก็ได้ เหมือนคำว่า man ในกรณีภาษาอังกฤษคำว่า man นี่ในบางกรณีมันหมายถึงคนทั้งนั้นแหละ หญิงก็ได้ ชายก็ได้ ภาษาบาลีก็เหมือนกัน คำว่าบุรุษ ปุริโส มันแปลว่าคน หญิงก็ได้ ชายก็ได้ เมื่อเป็นคนนี่ก็เป็นฆราวาสก็ได้ เป็นบรรพชิตก็ได้ ไม่ต้องไปอย่างนั้นอย่างนี้ให้มันลำบากนัก มีจุดหมายว่าจะได้อะไร จะเอาอะไร เรียกว่าประโยชน์ และพากเพียรไปจนกว่าประโยชน์จะสำเร็จ ประโยชน์บางอย่างมันเหมือนกัน
ถ้ามองดูแล้วมันเหมือนกันระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์นี่ คือประโยชน์ที่จะอยู่ด้วยความผาสุก สบายใจ ประโยชน์ที่มันเหมือนกัน ถ้าเข้าใจข้อนี้ได้ก็จะดีหน่อย อย่าได้ไปแยกฆราวาสกับบรรพชิต ให้มันเป็นคนละ เป็นศัพท์คนละชนิดไปเสีย มันจะร่วมกันใช้ธรรมะในพุทธศาสนาไม่ได้ เป็นคนที่มีชีวิตก็ต้องการความอยู่อย่างเยือกเย็นเป็นนิพพาน เอ้า, มันก็ต้องทำเหมือน ๆ กัน ใช้ธรรมะอย่างเดียวกันตามความเหมาะสม ตามลำดับ มันมีความเพียรมันก็เลยใช้ได้หมด นี่สังเกตดูว่าไอ้ความเพียรนี่มันกล่าวไว้เพียงกลาง ๆ ไม่ได้ระบุออกไปเป็นการระวัง การละ การสร้าง การรักษา มันก็ยังเป็นกลางอยู่นั่นแหละ คือระวังอะไร ละอะไร สร้างอะไร รักษาอะไร ก็ต้องดูมันต่อไป ดูประโยชน์ และก็ดูประโยชน์ให้มันถูกต้อง มุ่งหมายให้ถูกต้อง ฉันทะถูกต้อง แล้วก็ระดมทุ่มเทกำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญาลงไปให้เต็มที่ นี่คือความเพียร จะเห็นได้ทันทีว่า แหม มันประสมกลมกลืนกันไปหมด ไม่ว่าธรรมะหมวดไหน ชื่ออะไร ข้อไหน มันจะต่อเนื่องกันไปหมด รวบรวมอยู่ในที่เดียวทั้งหมด นี่จะยิ่งเข้าใจ จะยิ่งเห็นต่อไปข้างหน้าว่าธรรมะทั้งหมด กี่สิบชื่อ กี่ร้อยชื่อมันจะสัมพันธ์กัน รวมกันอยู่ในที่เดียวกัน เหมือนที่เราพูดมาเพียงเท่านี้ มันก็มองเห็นได้ว่า มันรวมอยู่ รวมตัวอยู่ในที่เดียวกัน คือมีความเพียร บารมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือบารมี สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ อยู่ในคำว่าความเพียร มันแล้วแต่เราจะมองในแง่ไหน ในการกระทำที่กำลังกระทำอยู่นี่ ประพฤติปฏิบัติอยู่ มองในแง่นี้ มันก็เป็นความจริงใจ มองในแง่นี้ก็บังคับตัวเองให้ทำ มองในแง่นี้มันก็กำลังอดทนอยู่อย่างเต็มที่ อดทน ๆ ๆ อยู่ตลอดเวลา และอีกอันหนึ่งก็คือ สละ สละอยู่เรื่อย ส่วนที่มันไม่ควรจะมีอยู่หรือเก็บไว้มันต้องสละออกไป ที่เรียกว่าจาคะ หรือที่เรียกว่าเพียรเพื่อละในที่นี้ ปหานปทาน จาคะกับปหานปทาน มันก็เรื่องเดียวกัน หัดดู เริ่ม ๆ ๆ เข้าใจ แล้วก็เริ่มหัดดูกันได้แล้ว เหมือนกับดูต้นไม้ต้นหนึ่งให้เข้าใจในความสัมพันธ์ของมันระหว่างไอ้ราก ไอ้เปลือก ไอ้กระพี้ ไอ้แก่น ไอ้ใบ ไอ้ดอก และอะไรต่าง ๆ มีเยอะแยะในต้นไม้ต้นนั้น และธรรมะในพุทธศาสนาทั้งหมดก็เหมือนกับต้นไม้ อยู่ในฐานะเป็นราก เป็นเปลือก เป็นกระพี้ เป็นแก่น ใบ และใบนั้นก็จะมีดอกออกมาเป็นผลไม้ในที่สุด มรรคผลนิพพานมันอยู่ที่ใบ ที่ดอก ที่ผลนั้น ส่วนข้อปฏิบัติเหล่าอื่น มันก็เป็นเปลือก เป็นกระพี้ เป็นลำต้น เป็นราก เป็นอะไร เป็นแก่นไป
ทีนี้เราก็มาพูดถึงส่วนที่เป็นความเพียร มันก็คือลำต้นหรือราก ธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือซึ่งจะนำมาซึ่งผล มีดอกและลูกในที่สุด ถ้าคุณเข้าใจเรื่องนี้ คุณก็ไปเขียนรูปภาพต้นไม้ต้นหนึ่งได้ แล้วก็บรรจุชื่อธรรมะต่าง ๆ ที่ได้เล่าเรียน ได้ยิน ได้ฟังมานี่ ลงไปในรูปภาพนั้น ธรรมะชื่อไร บรรจุลงไปที่ราก และรากก็ยังมีรากแก้วหยั่งลึกลงไป และก็ยังมีรากข้าง ๆ มีรากขนาดใหญ่ มีรากขนาดเล็กหลาย ๆ ชนิด ก็จะทดสอบตัวเองดูว่าเข้าใจธรรมะพอสมควรหรือยัง ก็ไปทำอย่างนี้ดู ตลอดเวลาที่บวชมานี่ วันนี้เป็นวันที่ ๕๐ แล้วนะ ของ ๙๐ วันที่จะบวชอยู่ได้ เขียนรูปภาพนี้ได้หรือยัง ทดสอบดู ถ้าเขียนได้ก็ใช้ได้หรือควรจะพอใจ
นี่ผมก็พยายามจะชี้ให้เห็นถึงธรรมะที่มันสัมพันธ์กันอย่างนี้ แล้วก็เริ่มมาเรื่อย ๆ ด้วยธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือ จากธรรมะสารพัดนึกมาถึงอิทธิบาท ๔ แล้วก็มาถึงความเพียร ๔ และก็จะพูดต่อไปถึงสติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ เรื่อยไป เท่าที่จำเป็นที่มันอยู่ในกลุ่มนี้ ถ้าฟังไม่เข้าใจจะรู้สึกว่ามากมายน่าเวียนหัว ถ้าฟังเข้าใจจะรู้ว่ามีเพียงข้อเดียว สิ่งเดียว อันเดียว คือธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือ สร้างอะไรมามันก็เป็นธรรมะอยู่เรื่อย ธรรมะเพื่อธรรมะ ธรรมะเพื่อธรรมะ และเราจะหลุดได้อยู่ที่ว่าทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความรู้สึกว่าตัวกูของกูอย่างเดียวเท่านั้น อะไรมันจะมีมาหมดเลย ธรรมะทุกชื่อมันจะถูกเรียกมา ถูกประมวลมา ด้วยการกระทำเพียงอย่างเดียวคือทำลายความเห็นแก่ตัว นี่เราก็มีอะไรนะ มีธรรมะสารพัดนึกเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว มีอิทธิบาทเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว มีความเพียร ๔ อย่างนี้ก็เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว และยังมีสติปัฏฐานต่อไป ก็นั่นน่ะคือตัวที่ทำลายความเห็นแก่ตัวโดยตรง
สำหรับความเพียรในวันนี้ก็มีว่า ระวัง ๆ กันออกไป ป้องกันออกไป ในสิ่งที่มันจะทำให้มีความเห็นแก่ตัว อะไรมันจะยั่ว หรือมันจะเปิดโอกาสของความเห็นแก่ตัว เอ้า, กันไว้ ๆ ๆ ระวัง กันไว้ อย่าเกิดความเห็นแก่ตัว แล้วก็ละ ๆ ๆ ความเห็นแก่ตัวที่เกิดอยู่แล้ว แล้วก็สร้าง สร้างทุกอย่างที่มันไม่เป็นความเห็นแก่ตัว จึงเป็นการทำลายความเห็นแก่ตัว บริจาคความเห็นแก่ตัว สร้างขึ้นแล้วก็รักษาการกระทำอันดีที่สุดนี้ไว้ นี่เป็นการสรุปย่อในการใช้เครื่องมือ ใช้เครื่องมือเพื่อเครื่องมือ ใช้เครื่องมือเพื่อเครื่องมือ จนถึงเครื่องมือคือทำลายความเห็นแก่ตัว แล้วมันก็จะออกดอก ออกผล เป็นมรรคผลนิพพานขึ้นมา แม้ในเพศฆราวาสหรือบรรพชิต ได้เมื่อไรก็ได้ ธรรมะไม่มีฆราวาส ไม่มีบรรพชิต คนมาว่าเอาเองทีหลัง การปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม โดยสมควรแก่ธรรม อย่าเพื่อตัวกูของกู เป็นฆราวาส เป็นบรรพชิตไปแล้ว มันก็จะย้อนถอยหลังหาความโง่ ให้มันรุดหน้าไปหาความจริง ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม มีภาวะหรือกรณีที่เรากำลังเป็นอยู่ เราเป็นอยู่อย่างไรที่ไหน ทำให้มันถูกเหมาะสมแก่ภาวะอย่างนั้น พูดภาษาชาวบ้านก็ว่าให้มันถูกแก่เรื่อง เรามีชีวิตอยู่กันอย่างไร มีเรื่องอย่างไรให้มันถูกแก่เรื่อง ไม่ต้องไปกันออกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยการระมัดระวังมากเกินไป แล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย มัวแต่พูด พึงดูแต่กิเลส ดูแต่กิเลส แล้วก็พยายามจะฆ่ากิเลส ลืมบรรพชิต ลืมฆราวาส ลืมเสีย ตัวกิเลสมันอยู่ที่ตรงไหน เราก็พยายามที่จะฆ่ามันที่ตรงนั้น แล้วก็ป้องกันกิเลส ละกิเลส สร้างไอ้สิ่งที่มันตรงข้ามกับกิเลส คือโพธิ และรักษาโพธิไว้เรื่อยไป เรื่องของความเพียรมันก็มีเท่านี้ และเวลาของเราก็หมด