แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมเทศนาเป็นปุพพากาลลำดับติดต่อจากธรรมเทศนาเมื่อตอนเย็นและตอนหัวค่ำ ธรรมเทศนาเนื่องในมาฆบูชาเป็นลำดับมา แสดงให้เห็นว่าโอวาทปาฏิโมกข์คือหัวใจของพระพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงแก่พระสาวกซึ่งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ข้อนี้เป็นการยืนยันกันอยู่ในตัวหลายอย่างหลายประการด้วยกัน เช่นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงวางหลักแห่งพระพุทธศาสนาไว้อย่างนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายรับปฏิบัติและปฏิบัติได้สำเร็จ และสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาด้วยพระพุทธโอวาทนี้ แล้วทำคำสอนในพระพุทธศาสนาสรุปลงได้เป็นหลักอย่างนี้
เราทั้งหลายในวันนี้นำมาซึ่งพระพุทธโอวาทนั้นกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย เป็นผู้ชำระชะล้างตัวเองให้บริสุทธิ์สะอาดเท่าที่สามารถจะกระทำได้ เป็นการสนองพระพุทธประสงค์ แล้วเราทำการบูชาด้วยการเวียนประทักษิณให้สมกับที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์ เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ในพระพุทธศาสนา ในที่สุดได้น้อมเอาปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ขึ้นมาพิจารณา ทำให้เห็นความสำคัญข้อหนึ่งว่า การที่มนุษย์เราโง่เขลาจนไม่รู้ว่าโอวาทปาฏิโมกข์นั้นเป็นสิ่งที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ทั้งหลายได้ ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่
เมื่อเป็นดังนี้สิ่งที่จะต้องพิจารณากันต่อไปก็คือใจความอันละเอียดของโอวาทปาฏิโมกข์นั้น โอวาทปาฏิโมกข์คือสิ่งที่ทรงแสดงในวันมาฆปุณณมี แบ่งออกเป็น ๒ ตอน ตอนต้นเป็นใจความย่อว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่กระทำซึ่งบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การกระทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ สามอย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ตอนหนึ่ง จะได้ทรงแสดงในตอนต่อไปในฐานะเป็นข้อปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์โดยง่ายตามที่กล่าวนั้น ได้แยกลักษณะของข้อปฏิบัตินั้นออกไปเป็นลำดับดังนี้ อนูปวาโท การไม่กล่าวร้าย อนูปฆาโต การไม่ทำร้าย ปาติโมกฺเข จ สํวโร การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ที่นอนที่นั่งอันสงัด อธิจิตฺเต จ อาโยโค การประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ หกอย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ความเนื่องกันแห่งพระพุทธภาษิตเหล่านี้มีอยู่อย่างไรจะได้พิจารณากันต่อไป ข้อที่ว่าไม่ทำความชั่ว ทำความดี และทำจิตให้บริสุทธิ์นี้เป็นใจความย่อ เริ่มขึ้นด้วยการไม่ทำความชั่ว เว้นจากการทำความชั่วแล้วก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้นเป็นการทำความดีให้เป็นด้วย แล้วก็ยังไม่พอเพราะว่าอาจจะไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความชั่วความดีจะมีปัญหาอันละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปอีก จึงต้องมีคำสอนให้รู้จักทำจิตให้หมดจดปราศจากความยึดมั่นถือมั่นผูกพันใดๆ ความที่มีความดีและยึดมั่นความดีในฐานะเป็นของกูหรือเป็นตัวกูที่ดีอย่างนี้ ก็คือกิเลสหรือตัณหาชนิดหนึ่งที่ละเอียดประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดจนไปยึดถือในความดี จึงต้องกล่าวถึงสิ่งที่สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งคือการทำจิตให้หมดจดจากความยึดมั่นถือมั่นนั้น นี้เป็นหัวข้อที่กล่าวโดยย่อ จะพิจารณากันโดยละเอียดก็ได้เหมือนกัน แต่แล้วก็ไม่สะดวกเท่าที่จะถือเอาพระพุทธภาษิตในตอนหลังมาเป็นคำอธิบาย ข้อที่ว่าไม่พูดร้ายไม่ทำร้าย สำรวมในปาฏิโมกข์ รู้ประมาณในการบริโภคนั้น ก็รวมความได้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นการไม่กระทำชั่ว หรือไม่กระทำบาปโดยประการทั้งปวง
อนูปวาโท ไม่กล่าวร้าย คำว่าร้ายนี้ถือเอาตามตัวหนังสือว่าอุปวาทะ ก็คือการกล่าวคำที่เข้าไปกระทบกระทั่งผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่นทำร้ายผู้อื่นด้วยคำพูดนั้น คนเราเมื่อเกิดขึ้นมาก็ใช้การพูดจาเป็นอาวุธสำหรับประหัตประหารก่อนสิ่งใดหมด แม้ไม่มีบุคคลที่สองเป็นแต่เรื่องวัตถุสิ่งของก็ยังกล่าวร้ายออกมาได้ต่อวัตถุสิ่งของนั้น แม้ไม่มีวัตถุสิ่งของนั้นก็กล่าวร้ายให้แก่ตัวเองแช่งด่าตัวเอง เมื่อเป็นดังนี้ก็พอจะสรุปใจความได้ว่า กล่าวร้ายต่อตัวเองก็ดี กล่าวร้ายต่อวัตถุสิ่งของ สัตว์สังขารเหล่าอื่นก็ดี กล่าวร้ายต่อบุคคลที่สอง ที่สาม ที่สี่ เป็นลำดับไปก็ดี ล้วนแต่เรียกว่าเป็นการกล่าวร้ายทั้งนั้น การกล่าวร้ายเป็นการกระทำที่ชั่ว เกิดขึ้นเพราะจิตที่ชั่ว เรียกว่ากระทำไปด้วยจิตที่เป็นบาป ด้วยวาจาที่เป็นบาป
ทีนี้ข้อถัดไปที่ว่า อนูปฆาโต การไม่ทำร้ายนั้นคือไม่เข้าไปกระทบกระทั่งด้วยกาย กระทบกระทั่งผู้อื่นก็ได้กระทบกระทบสิ่งของก็ได้ หรือแม้ที่สุดกระทบกระทั่งตัวเองก็ได้ ทำไปโดยตรงก็มี ทำไปโดยอ้อมในลักษณะที่เรียกว่า ตีคราดกระทบวัวก็มี จะทำอย่างไรๆ ในลักษณะเหล่านี้แล้วมันก็เป็นการกระทำร้ายทั้งนั้น จะทำไปด้วยจิตอันเป็นบาปเป็นอกุศล เมื่อบุคคลไม่บังคับตัวเองแล้วย่อมมีการกล่าวร้ายและทำร้ายในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสมอไป เพื่อป้องกันข้อนี้พระองค์จึงได้ตรัสไว้เป็นข้อที่สามว่า ปาติโมกฺเข จ สํวโร ความเป็นผู้สำรวมในบทบัญญัติที่ตั้งขึ้นไว้เป็นอย่างดี ข้อนี้ได้แก่ระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ระบุเป็นส่วนสำคัญในข้อที่เป็นบทบัญญัติที่ยกขึ้นไว้เป็นหัวข้อสำหรับบุคคลเป็นประเภทๆ ไป ฆราวาสก็มีระเบียบสำหรับปฏิบัติอย่างหนึ่งบรรพชิตก็มีอย่างหนึ่ง ในหมู่ฆราวาสนั้นก็ยังมีสำหรับเด็กอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง หรือจะซอยให้ละเอียดลงไปว่าเป็นเด็กอย่างหนึ่ง เป็นคนหนุ่มสาวอย่างหนึ่ง เป็นคนผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง เป็นคนแก่คนเฒ่าอย่างหนึ่ง ระเบียบวินัยอันใดวางไว้โดยเฉพาะเจาะจงก็เรียกว่าเป็นปาฏิโมกข์สำหรับบุคคลประเภทนั้นๆ วัยนั้นๆ ด้วยกันทั้งนั้น สำหรับภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะแล้วก็เรียกกันในบัดนี้ว่าปาฏิโมกข์ และเมื่อคำตรัสนี้ตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ไม่มีฆราวาสเจือปนอยู่ คำว่าปาฏิโมกข์ในทีนี้ก็หมายถึงปาฏิโมกข์สำหรับภิกษุสงฆ์ แต่โดยเหตุที่พระพุทธภาษิตนี้ใช้ได้กับคนทุกคนแม้ที่เป็นฆราวาส คำว่าปาฏิโมกข์จึงหมายความได้ถึงระเบียบทั่วไปที่มีสำหรับฆราวาส ความสำรวมในระเบียบในวินัยนี่แหละจะเป็นสิ่งป้องกันเสียซึ่งการกล่าวร้ายและการกระทำร้าย ถ้าเรายังเป็นผู้เคร่งครัดในระเบียบวินัยก็เคร่งครัดในทางที่จะไม่กล่าวร้ายไม่ทำร้ายนั่นเอง ไม่ทำร้ายตัวเองไม่ทำร้ายผู้อื่น ก็เป็นอันว่าเป็นผู้ปฏิบัติได้สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นระเบียบวินัย
ทีนี้ข้อถัดไปมีอยู่ว่า มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าคนจะต้องบริโภคสิ่งนั้นสิ่งนี้เท่านั้นเท่านี้ แต่หมายความว่าคนๆ หนึ่งมีความเหมาะสมที่จะบริโภคสิ่งไร เพียงไร อย่างไรก็กระทำไปให้ถูกต้อง ถ้าจะพูดกันอย่างบัดนี้ก็น่าจะพูดเป็นคำพูดสั้นๆ รัดกุมว่า ให้กินอยู่พอดี คำว่าบริโภคนั้นไม่ใช่หมายถึงแต่กินอาหารอย่างเดียว หมายถึงการใช้สอยวัตถุสิ่งของเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันทุกอย่างทุกประการ คำว่ากินอยู่หรือเป็นอยู่ก็มีความหมายที่กว้างขวางพอ จึงพูดว่ากินอยู่พอดีเป็นที่เข้าใจกันง่ายๆ สำหรับข้อนี้มักจะมีความเข้าใจผิดบางอย่างหรือบางส่วนเอาไปปนกันเสีย กับคำว่ากินดีอยู่ดี
คราวหนึ่งในการแสดงธรรม มีบันทึกไว้ชัดเจนว่า อาตมาได้กล่าวว่า กินอยู่พอดีก็มีคนไปลอกคัดเสียใหม่ว่า กินดีอยู่ดี เผลอไผลออกไปได้ถึงอย่างนี้ ดูจะเป็นเพราะเหตุว่า สมัยนี้นิยมการกินดีอยู่ดีกันมากเกินไป จนได้ยินอะไรก็เป็นเรื่องกินดีอยู่ดีไปหมด ไม่เฉลียวถึงคำว่า กินอยู่พอดี ซึ่งเป็นหลักสำคัญในพระโอวาทนี้ คำว่ากินอยู่พอดีนั้นหมายความว่า ควบคุมกิเลสไม่ให้กินอยู่เกินพอดี ส่วนกินดีอยู่ดีนั้นมีความหมายที่ยังไม่จำกัด ก็อาจจะขยายความหมายคำว่ากินดีอยู่ดีออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด จนเกินความพอดีไปก็ได้ เพราะว่าคนเราก็มีความต้องการที่ไม่มีขอบเขตไม่มีประมาณเป็นต้นทุนอยู่แล้ว จึงขยายคำว่ากินดีอยู่ ขยายความคำว่ากินดีอยู่ดีออกไปได้ตามกิเลสตัณหาของตน จนทุกๆ คนก็อยากจะกินดีอยู่ดีไม่มีที่สิ้นสุด คนขอทานก็อยากจะกินอยู่อย่างเศรษฐี เป็นมนุษย์ก็อยากจะกินอยู่อย่างเทวดา เพราะว่าไม่รู้ว่าจะวัดกันได้ด้วยอะไรที่ตรงไหนว่าเท่าไรจึงจะเป็นการกินดีอยู่ดี อันนี้เองเป็นเหตุให้มนุษย์เรา กินอยู่เกินพอดี แสวงหาเกินพอดี มีไว้มากเกินพอดี การที่มีไว้หรือแสวงหาเกินพอดีนี้เป็นบาปโดยไม่รู้สึกตัว เพราะว่าทำไปด้วยกิเลสตัณหาที่ไม่มีประมาณ และการแสวงหาชนิดนั้นมันรวบรัดเอามาไว้มากเกินไปจนผู้อื่นเขาขาดแคลน หรือถ้ามากไปกว่านั้นความคิดชนิดนั้นจะละโมบโลภลาภมากเกินไป จนเป็นการลักล้วงเอาของผู้อื่นมาโดยวิธีที่ถือกันว่าไม่เป็นความผิด เช่นคนมีสติปัญญามากและเป็นพวกนายทุนด้วยแล้ว ก็จะสามารถกวาดเอาประโยชน์ในโลกนี้เข้ามาไว้เป็นของตนได้มากกว่าคนพวกอื่นซึ่งเป็นคนโง่เขลา ไม่มีกำลังทรัพย์ ไม่มีอำนาจในทางต้นทุน เพราะฉะนั้นพวกนายทุนจึงกวาดเอามาไว้มากเกินกว่าพอดี ทำให้เกิดการขาดแคลนแก่พวกชนกรรมาชีพ มันจึงได้เกิดสงครามถาวรรบกันไม่มีที่สิ้นสุดระหว่างกรรมกรกับพวกนายทุนในโลกนี้
นี่แหละคิดดูเถิดว่าเรื่องกินอยู่พอดีกับเรื่องกินดีอยู่ดีนี้มันมีความหมายมาก ทำผิดนิดเดียวก็กลายเป็นต้นเหตุแห่งวิกฤตการณ์ถาวรของโลก ในสมัยโบราณ ดึกดำบรรพ์โน้นไม่มีการกระทำชนิดที่เป็นการกระทำแก่กันและกันในระหว่างพวกนายทุนและกรรมกรสมัยนี้ ในสมัยโน้นคนยังไม่รู้จักโลภมาก ยังไม่มีสติปัญญาสำหรับจะละโมบโลภลาภมากเหมือนคนที่เจริญด้วยการศึกษาสมัยนี้ ยิ่งกว่านั้นยังมีธรรมะอยู่ในใจ คือมีเมตตากรุณาอยู่ในใจ สงสารผู้อื่นจึงคิดไปในทางที่จะช่วยเหลือผู้อื่น การเป็นอยู่ระหว่างเศรษฐีกับข้าทาสกรรมกรจึงมีลักษณะเหมือนกับว่าบิดามารดากับบุตร พวกเศรษฐีเหล่านั้นเลี้ยงดูกรรมกรของตนเหมือนกับบิดามารดาเลี้ยงบุตร จนกระทั่งทาสกรรมกรเหล่านั้นไม่อยากจะจากไป มีความรักใคร่นับถือเหมือนกับว่าเป็นบิดามารดา เพราะว่าธรรมะยังมีอยู่ในโลกนี้มาก
ครั้นตกมาถึงสมัยที่คนทั้งปวงนิยมวัตถุจัด นิยมความสุขทางเนื้อหนังมากขึ้นๆ หาความก้าวหน้าของการศึกษาซึ่งล้วนแต่มุ่งหมายความสุขทางเนื้อทางหนัง ความรักในลักษณะที่เป็นบิดามารดาต่อบุตรก็เปลี่ยนไปเป็นการเอาเปรียบ ผู้ที่เป็นเศรษฐีนั่นแหละจะเป็นผู้กินแรงกรรมกรคนใช้ของตน มีความเห็นเป็นเราเป็นเขาแก่กันและกัน นายจ้างก็ตึงเครียดต่อกรรมกร กรรมกรก็ตึงเครียดต่อนายจ้าง จนเกิดปัญหายุ่งยากไปหมด จะออกกฎหมายเกี่ยวกับนายจ้างและกรรมกร ออกมาสักกี่ฉบับ กี่ฉบับก็ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ยังคงเป็นปัญหาที่รบกวนความสงบสุขของประเทศชาติหรือของโลกอยู่เรื่อยไปจนกระทั่งทุกวันนี้
นี่แหละลองคิดดูเถิดว่าคำว่า กินอยู่พอดี กับคำว่ากินดีอยู่ดี นี้มันต่างกันอย่างไร ถ้าทุกคนจะมีการยึดมั่นถือมั่นในหลักว่า กินอยู่แต่พอดีแล้ว มันก็จะมีอะไรๆ เหลือมาจุนเจือซึ่งกันและกันทั้งโลกได้ทีเดียว แต่ถ้าต่างคนต่างตั้งหน้าจะกินดีอยู่ดีแล้ว ก็จะกอบโกยเอาไว้อย่างไม่มีขอบเขต พวกที่มีสติปัญญาน้อยมีกำลังน้อยก็จะเดือดร้อน แล้วก็จะคิดต่อสู้ตามประสาของบุคคลที่มีสติปัญญาน้อย และใช้กำลังแก่กันและกันในที่สุด การต่อสู้โดยลัทธิระหว่างนายทุนกับกรรมกรก็จะยิ่งเป็นไปรุนแรงหนักขึ้นเพราะเหตุที่ไม่ถือธรรมะข้อนี้เพียงข้อเดียว ดังนั้นการที่จะกล่าวว่าพระพุทธภาษิตในโอวาทปาฏิโมกข์นี้ เป็นสิ่งที่สามารถจะแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ในโลกนี้ได้ แต่มนุษย์เป็นคนโง่เสียเองไม่รู้ความจริงข้อนี้ เช่นนี้ๆ จะเป็นคำกล่าวที่ถูกหรือผิดหรืออย่างไรท่านทั้งหลายนำไปพิจารณาดูก็แล้วกัน
ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสถึงข้อต่อไปว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ การนอนการนั่งในที่อันสงัด นี้ก็มีความหมายมาก การนอนการนั่งในที่อันสงัดมีความหมายอย่างไรบ้างลองคิดดู เด็กๆ สมัยนี้ ถ้าจะจับมานั่งมานอนในที่อันสงัด มันจะเป็นบ้า มันว่าจะเป็นบ้าตายแล้วเพราะความเหงาบ้าง เพราะอะไรๆ ต่างๆ นานา เพราะว่ามันถูกอบรมให้กลายเป็นบุคคลที่บูชาการเล่นหัว บูชาการสนุกสนานรื่นเริง สรุปได้ในคำว่ามันจะต้องการหัวเราะเรื่อย มันไม่ต้องการความเงียบสงัด มาในป่านี้แล้วมันก็ยังหัวเราะหนวกหูให้ลั่นไปทั้งป่า ลองสังเกตดูเถิดว่ามันไม่ต้องการที่นอนที่นั่งอันสงัดแล้วผลมันจะเป็นอย่างไร คนที่หัวเราะเย้, นั้นก็คือคนโลเล คือคนที่บังคับตัวเองไม่ได้ ถ้าว่าพอใจในที่นั่งนอนอันสงัดหรือความสงัดแล้ว มันก็หมายความว่าเป็นคนมีใจหนักแน่น มีความทรหดอดทนและยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เป็นผู้ที่มีความสุขจากความสงัดนั่นเอง จิตใจจึงดีกว่ากัน เป็นผู้ที่สามารถแสวงหาความสุขอันแท้จริงได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรสักสตางค์เดียว ได้นั่งนอนในที่อันสงัดแล้วก็พอใจเย็นใจ ไม่ต้องกินอะไร ไม่ต้องขวนขวายอะไร ก็ยังมีความสุขหรือมีความพอใจอยู่ได้ แต่การที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เช่นนี้มีความหมายว่า ความสงัดนั้นจะช่วยให้เกิดความคิดนึกที่ถูกต้อง คือจะทำจิตใจให้เป็นสมาธิตามธรรมชาติ ด้วยจิตใจที่เป็นสมาธินั้นจะเข้าใจสิ่งทั้งปวงได้ดี จะมองสิ่งทั้งปวงได้ลึกซึ้ง สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ด้วยจิตใจชนิดนั้น เดี๋ยวนี้คนไม่ชอบความสงัด ก็หมายความว่ามีจิตใจที่หยาบ มีจิตใจที่โลเล มีจิตใจที่เลื่อนลอย ไม่มีความหนักแน่น ไม่มีความทรหดอดทน บวชเป็นพระเป็นเณรแล้วก็ยังหัวเราะเรื่อย ไม่ชอบนั่งคนเดียว ไม่ชอบนอนคนเดียว จับกลุ่มกันเป็นฝูงๆ เล่นหัวอย่างฆราวาสก็ยังมี อย่างนี้ลองคิดดูเถิดว่ามันเป็นคนดื้อด้านสักเท่าไรต่อพุทธโอวาทนี้
หวังว่าจะได้นำไปคิดพิจารณากันดูเสียใหม่ให้รักความสงบสงัด ให้พอใจในความสงบสงัด มีความสุขที่สุดในเมื่อนั่งอยู่คนเดียว คิดอะไรอยู่คนเดียว มีความเย็นอกเย็นใจอยู่คนเดียว มันเป็นทั้งการปฏิบัติ มันเป็นทั้งผลของการปฏิบัติ มันเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อมีจิตใจที่เหมาะสมที่จะเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา คำว่านั่งนอนในที่สงัดนี้อย่าเข้าใจไปตามตัวหนังสือนัก หมายความว่าเป็นอยู่ในที่สงัดจะยืนก็ได้จะเดินก็ได้ ความเป็นอยู่ในที่สงัดนั้น เป็นไปด้วยความคิดนึกที่ละเอียดลออ คำว่าที่สงัดนั้นมีความหมายได้หลายอย่าง คือสถานที่นี้สงัดก็ได้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือว่ารู้จักทำจิตใจให้สงบสงัด เมื่อรู้จักทำจิตใจให้สงบได้แล้วสถานที่ทุกอย่างมันก็เป็นความสงบสงัดไปได้เหมือนกัน แม้จะไปอยู่ในท่ามกลางความอึกทึกครึกโครม ไปอยู่ในโรงหนัง โรงละคร ถ้าเก่งจริงแล้วก็สามารถทำใจให้สงบสงัดได้โดยไม่รับเอาอารมณ์เหล่านั้นมาปรุงแต่งจิตใจ ใจก็ยังคงสงบสงัดอยู่ได้ แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะทำยาก การทำสมาธิในโรงหนัง โรงละครนั้นมันทำยากกว่าในป่า จึงสอนให้ตั้งต้นกันในป่า ให้มุ่งหมายที่จะกระทำกันในป่าซึ่งมีความสงบสงัดอยู่ตามธรรมชาติแล้ว เมื่อเป็นผู้ฝึกตนสำเร็จแล้ว มีจิตใจชนิดที่สงบสงัดอยู่ในตัวจิตใจนั้นเองแล้ว จะไปอยู่ที่ไหนมันก็เป็นความสงบสงัดไปทั้งนั้น จะถูกจับเผาไฟมันก็ยังเป็นความเย็นอยู่นั่นเอง นี่เป็นผลของการที่อบรมจิตใจให้เป็นไปในลักษณะที่มีความสงบสงัด
ความสงบสงัดในทางกาย ก็หมายความว่า เราอยู่ในที่เงียบสงัดเช่นที่นี่ในเวลานี้ ความสงบในทางจิตก็คือกิเลสไม่รบกวน ไม่มีนิวรณ์เข้ามากลุ้มรุมจิต ทีนี้ความสงบสงัดที่สูงยิ่งขึ้นไปอีกในทางวิญญาณหรือทางอุปธินั้น หมายความว่า หมดกิเลสตัณหาแล้วโดยสิ้นเชิง การที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่แต่ไม่เกิดขึ้นรบกวนนั้นก็ถือว่าเป็นความสงบสงัดชนิดหนึ่งอยู่เหมือนกันเป็นความสงบทางจิต แต่ถ้าหมดกิเลสแล้วก็เป็นความสงบสงัดถึงที่สุดเรียกว่าเป็นความสงัดจากอุปธิ เสนาสนะอันสงัดเป็นของบุคคลผู้มีจิตอันสงบสงัด หรือเป็นของบุคคลผู้หมดกิเลสแล้ว ดังนั้นพระอรหันต์อยู่ในที่ใดที่นั้นก็กลายเป็นที่สงบสงัดไป แม้จะจับไปใส่ลงในโรงหนังโรงละคร ที่นั่นก็เป็นที่สงบสงัดไป ในลักษณะเดียวกัน เพราะว่าบุคคลผู้ไม่มีกิเลสนั้นย่อมไม่มีอะไรรบกวนได้ การนั่งนอนในที่สงัดจึงหมายถึงความสงบสุขในอันดับต่างๆ กันอย่างนี้ สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส ยังมีกิเลสกลุ้มรุมอยู่เสมอนั้น จงพยายามหาอุบายที่จะอยู่ในที่สงบสงัดไปตั้งแต่ต้น อยู่ในสถานที่อันสงบสงัด อย่าคบหาสมาคมกับบุคคลที่ฟุ้งซ่าน คบหาสมาคมกันแต่บุคคลที่จะพูดจากันแต่ในเรื่องของความสงบสงัดแล้วก็ประพฤติเพื่อความสงบสงัดเรื่อยๆ ไป ก็จะได้ความรู้ความเข้าใจและความประพฤติในลักษณะที่กระทำจิตใจให้สงบสงัดไปตามลำดับ แต่ว่าความสงบสงัดของสถานที่นั้นยังไม่พอหรือว่าเราจะมุ่งหมายว่าเราจะมีความสงบสงัดนี้ยังไม่พอ มันจึงสำคัญอยู่ที่การฝึกฝนการกระทำอย่างไม่หยุดหย่อน
ด้วยเหตุเช่นนี้เองพระพุทธองค์จึงได้ตรัสข้อปฏิบัติในคำรบหกไว้ว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค การประกอบความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง ให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าตลอดเวลาเราจะพยายามกระทำจิตนี้ให้ยิ่ง การฝึกฝนอบรมโดยวิธีต่างๆ เพื่อทำจิตนี้ให้ยิ่ง ให้เป็นจิตที่สูงยิ่ง จิตตามธรรมดาไม่ยิ่ง คือไม่สูง เป็นจิตที่ต่ำ เป็นไปตามธรรมชาติของจิตที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนและอบรม จิตธรรมดาอย่างนี้ไม่เรียกว่าจิตที่ยิ่ง จึงต้องมีการศึกษาอบรม การศึกษาอบรมทางจิตนั้นไม่ใช่การเรียนหนังสือ การเรียนหนังสือเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก การศึกษาหรือการอบรมจิตนั้นเป็นการกระทำที่กระทำแก่จิตโดยตรง นับตั้งแต่บังคับควบคุมหรือการชักจูง การชี้ชวน การปลอบโยน จนกระทั่งมีความเหมาะสมที่จะรู้อะไรยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อมีความรู้แล้วก็มีความสะอาด สว่างไสว สงบเย็น นี่คือจิตที่ยิ่งจิตที่เข้าถึงความเป็นจิตยิ่ง คำว่า อาโยโค ในที่นี้หมายถึงการพยายามอย่างทั่วถึง คำว่า โยคะ นี้แปลว่าการประกอบ อุปสรรคว่า อา คำนี้หมายความว่าทั่วถึง อาโย อาโยค หรืออาโยคะ หรืออาโยคนี้ คือการประกอบอย่างทั่วถึง คำว่าประกอบในที่นี้ ความหมายแต่เดิมทีเดียวนั้น หมายถึงการผูกจิต การประกอบจิตเข้าไว้กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ชนิดที่จะช่วยให้จิตสงบ
ความคิดที่จะใช้คำนี้ในการกระทำทางจิตนั้น มีมูลมาจากเรื่องธรรมดาสามัญที่สุด คือเรื่องที่ชาวบ้านเขากระทำกันอยู่ทั่วๆ ไป เช่น เอาวัวเอาควายมาผูกเข้ากับหลัก หรือเอาวัวเอาควายมาผูกเข้ากับแอกสำหรับไถ เป็นต้น เอาวัวเอาควายมาผูกเข้ากับหลักนี้ก็หมายความว่าทำให้มันหยุด ทำให้มันสงบ ให้มันรู้ประสีประสา ให้มันอยู่ในอำนาจของเรา เอาวัวเอาควายไปผูกเข้ากับแอกนั้นจะไปใช้มันให้ทำประโยชน์ต่อไปตามที่เราต้องการ เรื่องเกี่ยวกับจิตนี้ก็เหมือนกันจะต้องฝึกให้มันอยู่ในอำนาจของเราเสียก่อน เหมือนกับเอามาผูกไว้ที่หลัก ครั้นอยู่ในอำนาจของเราแล้วจึงใช้มันให้ไปทำงานในหน้าที่ทางจิต เช่น การพิจารณาเพื่อทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป เป็นต้น คำว่า โยคะ แปลว่าการผูก เหมือนกับผูกวัวผูกควายไว้กับหลักหรือผูกไว้กับแอก เอาคำนี้มาใช้กับเรื่องทางจิตใจก็เพราะว่าเป็นคำที่คนทั้งหลายเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ชาวไร่ ชาวนา ชาวบ้าน คนธรรมดาสามัญรู้จักคำว่าโยคะ คือการผูกสิ่งใดเข้าไว้กับสิ่งอีกสิ่งหนึ่งนี้เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว พอมนุษย์ที่มีสติปัญญาค้นคว้าทางจิตทางใจ ค้นคว้าเรื่องนั้นได้ก็เอาคำธรรมดาคำนี้ไปใช้เพื่อให้คนทั้งหลายเข้าใจได้โดยง่าย คำว่า โยคะ ที่แปลว่าการผูกนั้นจึงมากลายเป็นชื่อของการฝึกฝนจิต แต่อีกทางหนึ่งคำว่าโยคะ ที่แปลว่าการผูกนี้เป็นชื่อของกิเลสก็มี เป็นกามคุณก็เป็นเครื่องผูก ความโง่ความเขลาก็เป็นเครื่องผูก ความยึดมั่นถือมั่นในความมีความเป็นก็เป็นเครื่องผูก นี้ก็เรียกว่า โยคะ ด้วยเหมือนกัน แต่มันผูกกันคนละอย่าง กิเลสที่เป็นโยคะนั้นผูกจิตของสัตว์ให้ติดกันไว้กับความทุกข์ ส่วนโยคะที่เป็นชื่อของการฝึกฝนจิตนั้นเป็นการผูกจิตไว้กับอารมณ์ของสมาธิหรือผูกจิตไว้กับความดับทุกข์ มันตรงกันข้ามอย่างนี้ การทำโยคะที่ถูกต้องนั้นคือการผูกจิตไว้กับอารมณ์ที่จะใช้ฝึกฝนจิตให้เป็นจิตที่สงบและฉลาดยิ่งๆ ขึ้นไป คนใดมีโยคะคนนั้นเรียกว่า โยคี โยคีก็คือคนมีโยคะ โยคะก็คือการผูกจิตไว้กับอารมณ์ที่เป็นประโยชน์ สำหรับจิตนั้นจะเป็นสมาธิและมีวิปัสสนาคือความเห็นแจ้ง คำว่า อาโยคะ ในที่นี้มีความหมายเป็นรูปหมายความว่ากระทำอย่างทั่วถึง ในการทำจิตให้ยิ่งให้เป็นสมาธิก่อนแล้ว ให้เป็นวิปัสสนาคือความเห็นแจ้ง ผลเกิดมาจากความเห็นแจ้งในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง จงอย่ายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้โดยความเป็นตัวเราหรือความเป็นของเรา
คนที่มีความยึดมั่นถือมั่นมากก็ต้องพยายามมาก คนที่ไม่ค่อยจะยึดมั่นถือมั่นเป็นนิสัยอยู่แล้ว แม้จะทำไม่มากก็ยังได้รับผล นี้เรียกว่าเกี่ยวกับอุปนิสัย เกี่ยวกับสันดาน ซึ่งต่างๆ กันไป แต่ถึงอย่างไรทุกคนก็ต้องกระทำตามมาก ตามน้อย ตามสมควรแก่ธรรมชาติแห่งจิตของตน ก็จะนึกให้กว้างไปถึงว่าเกิดมาเป็นคนนั้น ที่ถูกก็คือเกิดมาเพื่อการทำจิตของตนให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้นเอง ถ้าเกิดมาเป็นคนแล้วไม่ทำจิตของตนให้ยิ่งๆ ขึ้นไปแล้วมันก็จะต้องเป็นสัตว์โดยแน่นอน ลองคิดดูเถิดว่า เด็กๆ เกิดออกมาจากท้องของมารดามันไม่รู้อะไร นี้จิตใจไม่แตกต่างกับสัตว์เท่าใดนัก แต่ว่าพอเกิดออกมาแล้วมันมีการอบรมโดยรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็ตาม ที่ทำให้ฉลาดขึ้น ฉลาดขึ้นหมายความว่า จิตนั้นมันยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ตามการศึกษาและการอบรม จนกระทั่งมันได้รับการอบรมตามหลักของศาสนาจึงเป็นจิตที่ยิ่ง และเป็นจิตที่ถึงความยิ่งในระดับที่สูงสุดได้ ดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าตั้งแต่เกิดมานั้นมีการทำจิตให้ยิ่งอยู่เสมอไปไม่ขาดสาย โดยรู้สึกตัวบ้าง โดยไม่รู้สึกตัวบ้าง
ดังนั้นอย่าได้ประมาทคำสอนข้อนี้ คือข้อที่ว่า จงทำจิตให้ยิ่งถ้าไม่มีการทำจิตให้ยิ่งแล้ว มนุษย์ก็จะไม่มีอยู่ในโลกจะมีแต่สัตว์มีแต่คนที่เหมือนสัตว์ ไม่มีมนุษย์ คือ ผู้ที่มีใจสูง มีสติปัญญาถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นเหล่ากอของพระมนูไปได้เลย แต่เมื่อมีการทำจิตให้ยิ่งแล้วความเป็นคนนั้นก็จะกลายเป็นมนุษย์ที่ดี มนุษย์ที่ดีนั้นก็จะกลายเป็นพระอริยเจ้าและเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด การทำจิตให้ยิ่งจึงมีความสูงสุดอยู่ที่ความเป็นพระอรหันต์ รวมความว่าคนเราเกิดมาก็เพื่อการอบรมจิตให้ยิ่งสืบไปเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงอันดับสุดท้ายคือความเป็นพระอรหันต์นั่นเอง สำหรับการทำจิตให้ยิ่งนี้ จะถือว่าเป็นหัวข้อสำคัญเพียงข้อเดียว หากแต่ว่าเรายังไม่สามารถกระทำได้โดยทันทีจะต้องมีการปรับปรุงในเบื้องต้น ถ้ามีการปรับปรุงในเบื้องต้นดี การทำจิตให้ยิ่งก็จะทำได้โดยง่าย เพราะเหตุฉะนั้น การทำจิตให้ยิ่งจึงมีความหมายซึ่งกินความต่ำลงไปถึงการประพฤติปฏิบัติอย่างอื่นๆ ซึ่งจะต้องมีก่อนหน้านั้น กล่าวคือการชำระชะล้างความผิดหรือความชั่วในขั้นที่หยาบๆ เป็นลำดับมา เป็นลำดับมา นับตั้งแต่ไม่พูดร้าย ไม่ทำร้าย จนกระทั่งสำรวมในระเบียบวินัยกินอยู่พอดี และอยู่ในที่สงบสงัด ถ้าทำอย่างนี้เป็นลำดับมาแล้ว การทำจิตให้ยิ่งก็เป็นของง่าย ถ้าเราจะถือเอาแต่เพียงข้อเดียวคือข้อสุดท้ายก็ต้องหมายความว่า มีข้ออื่นๆ ที่ต่ำกว่าข้างต้นนั้นรวมอยู่ด้วยเสมอไป คำว่าทำจิตให้ยิ่งในลำดับสุดท้าย หมายถึง การทำให้มีปัญญา มองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แต่เราก็ต้องการความเป็นสมาธิหรือความมีศีลในเบื้องต้นด้วย เราจึงพูดกันถึงเรื่องศีลก่อน ก็จะมาถึงสมาธิแล้วก็มาถึงปัญญาในอันดับสุดท้าย แต่ถ้าเราจะพูดถึงปัญญาเราก็ต้องหมายความว่ามีศีล และสมาธิรวมอยู่ด้วยเสมอไป ไม่มีศีลไม่มีสมาธิแล้วปัญญาก็เป็นไปไม่ได้ ขณะใดที่มีปัญญาขณะนั้นต้องมีมีสมาธิและศีลอยู่ด้วย ปัญญาคือความรู้ ความรู้นั้นรู้ได้ด้วยกำลังใจที่มากพอ กำลังใจนั้นก็เป็นสมาธิอยู่แล้ว ในขณะนั้นไม่มีการล่วงละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง เพราะว่าปัญญามันยังอยู่ เมื่อปัญญามีอยู่แล้วจะไปล่วงศีลได้อย่างไร เพราะสิ่งที่เรียกว่าปัญญาต้องรู้ ต้องเป็นสิ่งที่รู้จักดีรู้จักชั่ว รู้จักสิ่งที่ควรกระทำ ในพระพุทธภาษิตบางแห่งพูดถึงแต่ปัญญาเพียงอย่างเดียวไม่พูดถึงศีลสมาธิก็มี ข้อนี้เป็นเหตุให้คนเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องปัญญาอย่างเดียวไม่ได้พูดถึงศีล สมาธิเลย ที่จริงตามหลักพระพุทธศาสนาหรือพระพุทธภาษิตนั้น ไม่ได้แยกปัญญาออกไปต่างหากโดยเด็ดขาดจากศีลหรือสมาธิเลย ในที่บางแห่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ปัญญาไม่มีแต่ผู้ที่ไม่เคร่งหมายความว่า ปัญญาไม่มีแต่ผู้ที่ไม่มีสมาธิ ผู้ที่จะเพ่งหรือมีสมาธินั้นก็ต้องมีความสงบสงัดอยู่ที่เนื้อที่ตัวมันก็คือมีศีล ความมีศีลหรือมีสมาธิก็ไม่มีแก่คนที่ไม่มีปัญญา ปัญญาก็ไม่มีแก่คนที่ไม่มีศีลหรือสมาธิ มันเป็นสิ่งที่ต้องเนื่องกันอยู่อย่างนี้ ถ้ามีปัญญาถูกต้องแล้วก็มีศีลมีสมาธิ ถ้ามีศีลมีสมาธิถูกต้องแล้วก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องมีปัญญา การกระทำจิตให้ยิ่งจึงกินความรวบไปถึงศีลถึงสมาธิด้วย ในฐานะที่มีศีล มีสมาธิ เป็นพื้นฐาน เป็นบาทฐาน เป็นรากฐาน พุทธศาสนามีการปฏิบัติในการทำจิตให้ยิ่งในลักษณะอย่างนี้ แล้วก็มีผลในการปฏิบัติคือดับทุกข์ได้ตามลำดับไป จนกระทั่งดับทุกข์ได้สิ้นเชิง คือเป็นพระอรหันต์
พระพุทธภาษิตคำสุดท้ายคือว่า เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นี้หมายความว่า จะสอนเพียงสามข้อว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ นี้ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือจะแยกเป็น ๖ หัวข้อว่า อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโยโค นี้ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คำว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หมายถึง ผู้รู้ทั้งหมดทั้งสิ้น รู้ขนาดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ รู้ขนาดเป็นปัจเจกพุทธะก็ได้ รู้ขนาดผู้รู้ทั่วๆ ไปไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ คือจะสอนเหมือนกันหมด เพราะไม่มีเรื่องอะไรที่ดีไปกว่านี้ ไม่มีเหตุผลอย่างอื่นที่จะปฏิบัติอย่างอื่นเลย จึงเรียกได้ว่าเป็นคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายทั้งที่เป็นพระพุทธเจ้าและไม่เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าผู้ใดสอนเป็นอย่างอื่นแล้วผู้นั้นไม่ใช่เป็นผู้รู้ คือเป็นผู้รู้ผิด เรียกว่าเป็นผู้ไม่รู้
ทีนี้ก็ดูกันต่อไปถึงข้อที่ว่าคนทุกคนจะต้องอาศัยคำสอนเหล่านี้จริงหรือไม่ จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นเด็กก็ตามเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม เป็นหญิงก็ตามเป็นชายก็ตาม ล้วนแต่จะต้องอาศัยข้อปฏิบัติเหล่านี้ด้วยกันทั้งนั้น ถ้ามองเห็นความเป็นอย่างนี้แล้ว จิตก็จะเห็นได้ทันทีว่า เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจริง ใช้ได้แก่คนทุกคนจึงสามารถ จึงสมควรแก่การที่จะเรียกว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่เสียทีที่ได้สอนไว้มีความเหมาะสมที่จะใช้แก้ปัญหาได้ทั่วไป ควรจะถือเป็นหลักได้ด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจะมีเพศวัยอย่างไร หน้าที่การงานอย่างไร มีปัญหาอย่างไร มีอาชีพอย่างไร ล้วนแต่จะใช้โอวาทปาฏิโมกข์นี้เป็นหลักสำหรับดำเนินชีวิตจิตใจได้ด้วยกันทั้งนั้น การกล่าวเช่นนี้มีความมุ่งหมายที่จะให้คิดให้นึกกันในข้อที่ว่า พระพุทธศาสนานั้นไม่ยุ่งยาก ไม่ลำบาก ไม่มากมาย ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องจำอะไรกันมากมายจนฟั่นเฝือ เรียนจนตายก็ไม่รู้จักจบ เหมือนคนที่ยิ่งเรียนพุทธศาสนาแล้วยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา นั่นก็เพราะว่าไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างถูกต้องถึงตัวจริง ถ้ารู้อย่างถูกต้องถึงตัวจริงแล้วคำพูดเพียงสองสามคำก็พอแล้วเป็นพุทธศาสนาได้อย่างสมบูรณ์
ดังโอวาทปาฏิโมกข์นี้ ก็มีอยู่เพียงไม่กี่คำ ลองพิจารณาดูเถิดว่าพระพุทธเจ้าตรัสคำเพียงไม่กี่คำ ก็เป็นใจความของพุทธศาสนาทั้งหมด เป็นทั้งหัวใจ เป็นทั้งเนื้อตัว เป็นทั้งเปลือกนอก เป็นอะไรได้หมดในถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ คือเป็นการเพียงพอแล้วที่จะทรงอยู่ในรูปของพระธรรมหรือของพระศาสนาที่เป็นประโยชน์แก่คนทุกคนได้ ทีนี้ถ้ามัว ไปมัวแต่ใส่เปลือกใส่ฝอยให้มากไปไม่มีที่สิ้นสุดมันก็คว้าหัวใจของพุทธศาสนาไม่ครบหรือไม่ได้ เราจะไม่ไปมัวเสียเวลาให้มากถึงขนาดนั้น เราจะสนใจในสิ่งที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์ คือถ้อยคำที่เป็นประธานหรือเป็นหัวข้อแห่งคำสอนทั้งหลายของพระพุทธเจ้านั้นให้ถูกต้อง คือคำเพียงไม่กี่คำนี้เอง อาตมายืนยันได้ว่าไม่ต้องรู้อะไรมากไปกว่าคำสอนเพียง ๓ ข้อหรือ ๖ ข้อนี้ ถ้า ๓ ข้อมันย่อเกินไป ก็ถือเอา ๖ ข้อนี้ก็พอแล้ว อย่าเป็นคนพูดร้าย อย่าเป็นคนทำร้าย เป็นคนเคร่งครัดในระเบียบวินัย กินอยู่พอดี เสพคบเสนาสนะอันสงบสงัด แล้วพากเพียรทำจิตให้สูงยิ่งขึ้นไปเสมอเท่านี้ก็พอแล้ว มีคำอธิบายเพียงพออยู่ในตัวเองในถ้อยคำเหล่านั้น ในธรรมะ ๖ ข้อนั้น ไม่มีปัญหาอะไรเพราะว่าธรรมชาติย่อมจะสอนให้เองได้ ทำผิดลงไปมันก็ทำให้ฉลาดขึ้นมา เพราะว่ามันเกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว คนเราก็รู้ว่านี้คือความผิด ให้ความทุกข์สอนอย่างนี้มันดีกว่าให้ความสุขสอน ความสุขมีแต่จะทำให้ลืมตัวให้หลงระเริง ให้ความทุกข์มันสอน มันก็สอนตรงๆ ไม่ทำให้ลืมตัว ไม่ทำให้หลงใหลเลอะเลือนไปได้ ให้ความทุกข์สอนดีกว่าให้ครูบาอาจารย์ที่เป็นคนๆ นี้สอน ครูบาอาจารย์ที่เป็นคนๆ สอนไม่ได้มาก สอนไม่ได้ลึก สอนไม่ได้จริงเหมือนกับความทุกข์สอน
ดังนั้นทุกคนจงถือเอาความทุกข์เป็นครูบาอาจารย์ที่แท้จริงยิ่งกว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นคนๆซึ่งบางทีก็พูดไม่จริง บางทีก็ไม่รู้อะไรอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และจะรู้อะไรก็พูดให้เกิดความรู้สึกในทางจิตทางใจจริงๆ ไม่ได้ เป็นแต่คำพูดที่เป็นลมๆ อยู่นั่นเอง เมื่อคนฟังไม่สามารถจะทำให้เกิดขึ้นในตนได้แล้ว ก็ไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้นเลย ให้ความทุกข์สอนดีกว่า มันทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นในใจจริงๆ มีปัญหาในใจขึ้นมาจริงๆ คนก็จะดิ้นรนที่จะพ้นจากความทุกข์นั้น นี่แหละมันสอนให้รู้ข้อแรกว่า ความทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่าให้เกิดมีขึ้นมาได้ ไม่เท่าไรก็จะเป็นคนฉลาด เราดูให้ดีก็แล้วกันเราจะเห็นได้ว่าทีแรกเราก็ทำอะไรไม่เป็น เราก็ต้องทำอะไรผิดๆ ไปก่อน ความผิดนั้นมันสอนให้ทุกที จนเราทำอะไรเป็น ทำอะไรดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ที่ครูสอนนั้นน้อยมาก ที่การงานมันสอนนั่นแหละมีมาก และที่ความผิดพลาดสอนมันยิ่งมีมากไปกว่านั้น
เพราะฉะนั้นเราควรจะพูดว่าเราเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้นมาเป็นสมบัตินี้นั้นเป็นขึ้นมาได้จากความผิดพลาดทั้งนั้น เด็กเล็กๆ เดินหกล้มแล้วมันเป็นอย่างไร มันก็มีความฉลาดขึ้นมาว่าหกล้มนี้ไม่ไหวสู้ไม่หกล้มไม่ได้ มันก็พยายามที่จะไม่หกล้มอีก ไม่เท่าไรมันก็เดินไม่หกล้ม ดูแต่เด็กเล็กๆ เด็กอมมือนี้เถิด ความทุกข์มันยังเที่ยวสอนให้ได้ดี นี้เป็นเรื่องของธรรมดา เป็นเรื่องของธรรมชาติที่สุดแล้ว และเป็นเรื่องจริงอย่างยิ่งด้วย วันคืนล่วงไปเท่าไรความทุกข์หรือความผิดพลาดมันก็สอนให้ กระทั่งการกิน กินตะกละตะกราม ก้างปลามันติดคอมันก็ไม่อยากจะทำเช่นนั้นอีกมันไม่กล้าทำเช่นนั้นอีก เพราะมันมีความละอายที่จะทำเช่นนั้น มันก็เว้นได้เด็ดขาดยิ่งกว่าที่คนจะไปพูดไปห้ามด้วยคำพูด มันไม่สำเร็จประโยชน์อะไรมันไม่เข้าใจ และเมื่อมันไม่เคย ไม่มีความทุกข์แล้วมันก็ไม่เชื่อมันก็หัวเราะเยาะเอาด้วยซ้ำไป แต่ความจริงนั้นมันฟังไม่ถูก แต่ถ้ามันมีความทุกข์ความผิดพลาดเกิดขึ้นจนมีความทุกข์แล้วมันสอนกันอย่างเด็ดขาดทีเดียว เหมือนกับเด็กๆ เอามือไปจับเข้าที่ไฟเป็นครั้งแรก ไม่ต้องมีคนอื่นสอนมันก็รู้ว่าไฟร้อน แล้วก็ไม่อยากจะจับอีก นี้เรียกว่าเนื้อแท้ของคนเรานั้นเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้เพราะความผิดพลาดสอนทุกวัน ทุกคืน ทุกเดือน ทุกปีจนกระทั่งบัดนี้ เรารู้จักความผิดพลาดหรือความทุกข์ในลักษณะที่ละเอียดลออประณีตสุขุมยิ่งๆ ขึ้นไป เราจึงสามารถแก้ไขปัญหาชนิดที่ละเอียดลออสุขุมลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป จนมีความใกล้ต่อความเป็นพระอรหันต์มากขึ้นไปตามลำดับ เรียกว่าใกล้ต่อพระนิพพานยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับเพราะความทุกข์มันสอน
ควรจะขอบใจความทุกข์กันบ้างและต้อนรับให้ดีๆ มันจะสอนให้ดีๆ หรือสอนให้เลวๆ เดี๋ยวนี้เป็นคนโง่ เป็นคนเขลา เป็นคนหลง มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็เอาแต่จะร้องไห้แล้วหันหน้าไปพึ่งผีสางเทวดาว่ามาช่วยดับความทุกข์ให้ที นี้จะเป็นคนโง่สักเท่าไรก็คิดเองดูเถิด มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำเช่นนั้น จะต้องรู้จักต้อนรับความทุกข์ในฐานะเป็นครูบาอาจารย์ และมาแก้ไขปัญหากันเฉพาะหน้า หรือแก้ไขความทุกข์นั้นด้วยสติปัญญา ด้วยการเข้าใจความทุกข์นั้นว่ามันเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด มีการหลบหลีก มีการแก้ไข มีการป้องกันให้ถูกวิธีตามธรรมชาตินั้นๆ ไม่ต้องพึ่งผีสางเทวดาซึ่งเป็นของหลอกอีกชั้นหนึ่ง คนสมัยนี้ต้อนรับความทุกข์ไม่เป็น มัวแต่ร้องไห้บ้าง มัวแต่ฆ่าตัวตายบ้าง ความหลงใหลในวัตถุนิยม ความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังนั้นทำให้โง่ มีความโง่มากขึ้นในทางวัตถุนิยมก็วิ่งไปหาผีสางเทวดา ไปรดน้ำมนต์บ้าง ไปบวงสรวงเทวดาบ้าง ไม่สมกับที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ฉลาดในยุคดาวเทียมหรือยุคปรมาณูนี้เลย คนในยุคก่อนเขาไม่หวังพึ่งน้ำมนต์หรือผีสางเทวดามากเหมือนคนในยุคนี้ ไม่ดูหมอ ไม่ดูโชคชะตาราศีเหมือนคนสมัยนี้ ไม่ผูกเครื่องรางไว้ที่คอมากเหมือนคนสมัยนี้ นั่นแหละเพราะว่าเขายังอยู่ในร่มเงาของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์ มีสติปัญญาตามแบบของพระพุทธเจ้า และไม่เป็นทาสของวัตถุนิยมเกินไป เดี๋ยวนี้คนโตๆ ก็ดีเด็กๆ ก็ดีหลงใหลในเรื่องวัตถุนิยมมาก จนไม่มีสติปัญญาเหลืออยู่สำหรับจะไปศึกษาเรื่องความทุกข์และแก้ปัญหาเรื่องความทุกข์นั้นให้ถูกต้องตามธรรมชาติ เป็นคนสุกเอาเผากินเดือดร้อนขึ้นมาก็ไปหาวิธีง่ายๆ เช่น รดน้ำมนต์ เป็นต้น คิดดูเถิดว่ายิ่งห่างไกลจากหัวใจของพระพุทธศาสนามากออกไปเท่าไร วันนี้เรากำลังพูดกันถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์ ก็ควรจะมีความเข้าใจกันบ้าง ว่าความทุกข์นั้นมันก็ดับไปเพราะการกระทำที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของความทุกข์นั้น ไม่เกี่ยวกับผีสางเทวดาที่ไหน เพราะว่าความทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากผีสางเทวดาแต่เกิดมาจากกิเลสของตน เกิดมาจากการกระทำที่ผิดพลาดไม่ถูกตรงตามกฎเกณฑ์ของพระธรรมหรือธรรมชาตินั้นเลย ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของคนสมัยนี้มีไม่พอ ยังเป็นโง่คนหลงทั้งที่เรียกตัวเองว่านักวิทยาศาสตร์ พวกที่เรียกตัวเองว่านักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนี้ ในยุคนี้ ก็ยังไปรดน้ำมนต์ ก็ยังไปดูหมอชนิดที่คนที่ไม่เรียกตัวเองว่านักวิทยาศาสตร์ในสมัยก่อนนั้นไม่เคยจะรดน้ำมนต์ ไม่เคยไปดูหมอ ดูให้ดีเถิดว่าเป็นคนโง่เท่าไรที่ไม่รู้จักถือเอาโอวาทปาฏิโมกข์มาเป็นเครื่องแก้ไขปัญหาของตน ของตน แต่ละคน แต่ละคนในปัจจุบันนี้ ทั้งๆ ที่ธรรมะนี้สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้จริง เรามาทำมาฆบูชากันทุกปี มันก็ควรจะแก้ไขปัญหาเรื่องความทุกข์นี้ได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปทุกปี ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วเราก็คือคนโง่ ยิ่งทำยิ่งโง่ ยิ่งทำไม่ได้รับประโยชน์อะไร เสียทีที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ยิ่งทำยิ่งโง่
สิ่งที่เรียกว่าความโง่นั้นไม่ใช่สมบัติของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่มรดกที่พระพุทธเจ้าจะมอบให้เรา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทเถิด คำว่าเป็นธรรมทายาทนี้หมายถึงเป็นผู้รับมรดกธรรม รับเอาพระธรรมเป็นมรดก สิ่งที่เรียกว่าพระธรรม คือพระพุทธเจ้าที่ทรงมอบให้เป็นมรดกนั้นก็คือโอวาทปาฏิโมกข์นี้เอง พระพุทธองค์ทรงประกาศลงไปในท่ามกลางคณะสงฆ์ว่าธรรมะเป็นอย่างนี้ แล้วก็รับเป็นมรดกตกทอดกันสืบๆ มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เราควรจะยินดีกับมรดกอันสูงสุดนี้แล้วทำตนให้เป็นคนที่ได้รับมรดกนั้น อย่าเป็นคนพูดร้าย อย่าเป็นคนทำร้าย เป็นคนสำรวมในระเบียบวินัย กินอยู่พอดี เสพคบเสนาสนะอันสงัด อบรมจิตให้เป็นจิตที่ยิ่งอยู่เสมอ เป็นผู้รวยด้วยมรดกของพระพุทธเจ้าแล้ว จะได้รับประโยชน์จากการทำมาฆบูชาเป็นแน่นอน ยิ่งทำมาฆบูชาขึ้นทุกปีก็ยิ่งใกล้ความเป็นพระอรหันต์ หรือใกล้พระนิพพานยิ่งขึ้นไปทุกที ที่แท้นั้นเราต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวันทุกวัน แต่ว่าเราถือเอาวันมาฆปุณณมีเป็นต้นนี้ เป็นวันทดสอบเป็นพิเศษ เป็นวันที่คิดบัญชีกันเป็นพิเศษ เป็นวันที่เพิ่มความตั้งอกตั้งใจ ความพากเพียรพยายามกันเป็นพิเศษ สมมติว่าเราจะอดนอนกันคืนนี้สักคืนหนึ่ง ก็ไม่ใช่เป็นการอดนอนของคนอวดดีว่า อดนอนได้ แต่เป็นการอดนอนเพื่อที่จะวัดดูว่า มีความเสียสละอย่างไร มีความเข้มแข็งอย่างไร กระทำในใจถึงพระพุทธภาษิตนั้นได้อย่างเข้มแข็งอดทนเพียงไร ถ้าง่วงนอนเสียแล้วมันก็ทำไม่ได้ ถ้าทำได้มันก็ต้องไม่ง่วงนอน ถ้าไม่ง่วงนอนมันก็หมายความว่ายังมีจิตใจที่แจ่มใสอยู่ในข้อธรรมะนั้นๆ ยังสามารถที่จะมีธรรมะนั้นๆ ได้ทั้งที่มีความอ่อนเพลียหรือควรจะง่วงนอน มีธรรมะที่มีกำลังกว่าความง่วงนอนจึงครอบงำความง่วงนอนได้ เพราะฉะนั้นควรจะถือว่าการที่ทัดเทียมกันให้อยู่ตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดรุ่งในวันวิสาขบูชาก็ดี อาสาฬหบูชาก็ดี มาฆบูชานี้ก็ดี ไม่ใช่เป็นการกระทำที่บ้าบิ่น ไม่ใช่เป็นการกระทำที่กระทำไปอย่างละเมอเพ้อฝันตามๆ กันไปเท่านั้น
ข้อแรกมันเป็นการทดสอบว่ามีศรัทธามีความเสียสละในพระพุทธเจ้าเพียงพอหรือไม่ ข้อสองก็เป็นการทดสอบดูว่าจิตใจมีกำลังมากพอหรือไม่ มีความเป็นสมาธิเข้มแข็งอดทนมากพอหรือไม่ ข้อสามก็มีการทดสอบดูว่าความรู้หรือสติปัญญาที่ได้รับมาแต่หนหลังนั้น มันมีอำนาจพอที่จะระงับความอ่อนเพลียหรือความง่วงนอนได้หรือไม่ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันสักหน่อย ถ้าไม่คิดแล้วก็ไม่เห็น ถ้าจะมีคนมาบอกว่า ถ้าแกจะคอยอยู่จนรุ่งสว่างฉันจะให้ทองคำก้อนใหญ่ทีเดียว คนที่ได้ยินดังนั้นก็จะมีตาสว่างหลับไม่ลง คอยรับทองคำก้อนนั้นในเวลารุ่งสว่างในเวลารุ่งเช้าได้ นี่ก็คิดดูเถิดว่าแม้แต่เพียงเรื่องวัตถุอย่างนี้ซึ่งไม่มีค่ามากมายสักเท่าไร เขาก็ยังอดทนได้ ไม่ต้องหลับ ไม่ต้องนอน เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกใจเขา ส่วนเรื่องธรรมะนั้นเขาไม่เข้าใจ มันไม่ถูกใจเขา เขาก็ง่วงนอนแต่หัวค่ำ ชวนมาทำมาฆบูชาก็จะกลับบ้านแต่หัวค่ำ แล้วก็ไปนอนเหมือนกับวันอื่นๆ หรือบางทีก็ไปดูหนังดูละครแก้ง่วงนอน แทนที่จะทำมาฆบูชา เป็นต้น นี่ก็หมายความว่า เขาบูชาหนัง บูชาละครยิ่งกว่าบูชาพระพุทธเจ้า มีคนมาให้เงินไม่กี่บาทเขาก็สามารถจะสลัดพระพุทธเจ้า สลัดพระธรรม สลัดพระสงฆ์ออกไปเสียได้ คนอย่างนี้ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทเลย ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาเลย เพราะไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักพระธรรม ไม่รู้จักพระสงฆ์ สลัดพระพุทธเจ้าออกไปเสียได้ด้วยการเห็นแก่ประโยชน์ทางวัตถุเพียงไม่กี่มากน้อย
นั่นแหละคิดดูเถิดว่า การเข้าถึงธรรมะหรือการเข้าถึงพระศาสนาของพุทธบริษัทเรานั้นตกอยู่ในสภาพเช่นไร อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยแล้วหรือยัง ถ้าเห็นว่ายังต่ำเกินไปยังเด็กเกินไปยังไม่ประสีประสาเกินไปก็จงละอายให้มาก จงกลัวให้มาก ไม่เท่าไรมันคงจะดีขึ้นบ้าง แต่ถ้าไม่รู้จักละอายไม่รู้จักกลัว มีแต่ความดื้อดึงความดื้อด้านแล้ว มันก็ไม่มีวันที่จะดีขึ้นได้ ถ้าเราไม่มีความรู้สึกในพระพุทธคุณมากพอแล้ว มันก็ต้องง่วงนอน ถ้าง่วงนอนแล้วก็ควรจะละอายให้มาก ควรจะกลัวให้มากว่า ความรู้ความเข้าใจหรือความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ของเรายังไม่พอที่จะระงับแม้แต่การง่วงนอนแต่ถ้าเขาจะให้เงินเราสัก ๑,๐๐๐ บาทเราคงจะตาสว่างไปตลอดรุ่ง อย่างนี้ก็มีอยู่มาก พิจารณาดูอย่างนี้บ่อยๆ แล้วก็คงจะดีขึ้นบ้าง เพราะความกลัวและความละอายนั้น จึงนับได้ว่าการทดสอบอย่างนี้คงจะมีประโยชน์บ้างไม่ใช่ว่ามาอดนอนเสียเปล่าๆ คงจะมีประโยชน์บ้างในการจะทำให้ละอายในการที่ทำให้เกิดความกลัวต่อความตกต่ำของตน แล้วจะได้ไปประกอบกระทำให้เกิดจิตที่ยิ่งในบทว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค การหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง คือทำจิตให้ดี ให้สูงให้ยิ่งขึ้นไปนั่นเอง การกระทำมาฆบูชาของเราก็จะไม่เป็นหมันเปล่า คงจะได้รับประโยชน์สมกับการเสียสละนี้เป็นแน่แท้
นี่พูดไปก็เพื่อว่าจะได้ปรับปรุงการกระทำการบูชานี้ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ให้เป็นจริงเป็นจังยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ปีหนึ่งมีเพียงวันเดียว สองวัน สามวัน ทำไม่ได้แล้วมันจะทำได้อย่างไรกัน ความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก็มีแต่ปากเท่านั้น การพูดด้วยปากนั้นมันพูดง่ายจะพูดว่าอะไรสักเท่าไรก็ยังได้ แต่เมื่อจิตใจไม่เป็นไปตามนั้นแล้วมันก็เป็นเรื่องที่น่าเวทนาน่าสงสาร และผู้ที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นควรจะรู้สึกกลัวและรู้สึกละอายให้มาก
ในที่สุดนี้ก็ให้ถือว่าเป็นการตักเตือนที่ซ้ำๆ ซากๆ อย่าได้มีความเบื่อหน่ายในความซ้ำๆ ซากๆ แม้ว่าจะต้องประกอบพิธีซ้ำๆ ซากๆ กันทุกปีก็ไม่ควรจะเบื่อหน่าย สิ่งที่เรียกว่าพิธีนี้ถ้าทำถูกต้องแล้วก็มีประโยชน์ สิ่งที่เรียกว่าพิธีนี้มันจำเป็นสำหรับคนที่ยังห่างไกล หรือคนที่เริ่มตั้งต้นเพราะว่าการปฏิบัติธรรมะนั้น ปฏิบัติครั้งแรกครั้งเดียวย่อมไม่ได้ต้องทำซ้ำๆ ถ้าไม่มีพิธี ที่มีไว้สำหรับให้ทำซ้ำๆ แล้วมันจะทำซ้ำๆ กันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นแหละผู้มีปัญญาในกาลก่อนจึงได้วางระเบียบพิธีอะไรไว้ สำหรับให้คนชั้นหลังได้มีโอกาสทำซ้ำๆ แต่ว่าการกระทำซ้ำๆ นั้นต้องกระทำอย่างลืมหูลืมตา ไม่ใช่กระทำอย่างละเมอเพ้อฝันหรือกระทำอย่างง่วงนอน ถ้ากระทำด้วยความงมงายชนิดนั้นแล้วพิธีก็เสียหมด กลายเป็นพิธีรีตองที่ทำอย่างงมงายอย่างละเมอเพ้อฝัน พิธีรีตองนี้ใช้ไม่ได้ เอาแต่พิธีเฉยๆ ก็พอแล้ว คำว่าพิธีนั้นมาจากคำว่า วิธี คำว่า วิธี ก็คือคำว่าเทคนิคที่เขาเรียกกันในสมัยนี้ เทคนิคคือความรู้ในการกระทำเทคนิคคือวิธีที่จะต้องกระทำ สิ่งที่เรียกว่าพิธีก็มีความจำเป็นอยู่อย่างนี้ แต่คนที่เป็นคนหัวใหม่มีการศึกษาที่อ้างตัวเองว่าเป็นนักปราชญ์นั้นเขาว่าเขาไม่ชอบพิธี พอมีพิธีรับศีลก็อึดอัดขัดใจ จะมีพิธีถวายพานก็อึดอัดขัดใจ รับศีลก็รับอ้อมๆ หรือบางคนก็ไม่รับเอาเสียเลยเพราะเขาเกลียดพิธี นี้เป็นคนโง่หรือเป็นคนฉลาดลองคิดดู ว่าตัวเองก็นิยมสิ่งที่เรียกว่าเทคนิคหรือ technique สิ่งที่เรียกว่าวิธีก็คือเทคนิคนั่นเอง เมื่อกระทำซ้ำๆ ซากๆ เราก็เรียกว่าพิธี มันเป็นเทคนิคของการกระทำที่ถูกต้องและซ้ำๆ ซากๆ จนกว่ามันจะเกิดผลขึ้นมา เราไม่ควรจะรังเกียจสิ่งที่เรียกว่าพิธี ขอแต่เพียงว่าจงกระทำด้วยจิตใจอย่ากระทำด้วยความละเมอเพ้อฝันหรือความเบื่อหน่ายความรำคาญ ถ้าอย่างนั้นแล้วมันก็เป็นพิธีรีตอง เหมือนกับจับคนสมัยใหม่นี้ให้มารับศีล มันก็ไม่กระทำด้วยจิตใจ การกระทำนั้นก็เป็นพิธีรีตองที่ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเอามาทำความรู้ความเข้าใจว่าเราจะต้องคิดซ้ำๆ เราจะต้องพิจารณาซ้ำๆ เราจะต้องนึกถึงซ้ำๆ เราจะต้องตักเตือนตัวเองซ้ำๆ ซ้ำๆ กันอยู่นั่นแหละ จนกว่ามันจะมีผลเกิดขึ้นมา อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นพิธีที่ดี เป็นพิธีที่มีประโยชน์ซึ่งผู้มีสติปัญญาเขาจะใช้กันแม้แต่พระอริยเจ้าก็ใช้สิ่งที่เรียกว่าพิธีนี้เป็นเครื่องชักจูงบุคคลให้ดำเนินไปในทางของธรรมะจนถึงที่สุดได้
โดยการกล่าวไว้เป็นหลักว่า ภาวิตตฺตา พหุลีกตตฺตา จงทำให้เจริญ จงทำให้มาก จงทำให้ชำนาญ การพร่ำสอน พร่ำตักเตือน จู้จี้ พิรี้พิไรนี้ มันก็เป็นพิธีอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เตือนครั้งหนึ่งไม่พอ ก็เตือนสองครั้ง สามครั้ง สิบครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้งก็ยังเตือนกันอยู่ได้ ความพยายามนั้นก็พยายามกันเรื่อยไป ร้อยครั้ง พันครั้งก็ต้องพยายามอยู่ได้ มันจึงจะสำเร็จประโยชน์ เพราะฉะนั้นไม่ควรจะรังเกียจพิธี เช่น พิธีมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา หรือพิธีอย่างอื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยเหตุผล จะมีเหตุผลที่จะต้องทำซ้ำๆ จนกว่าผลอันแท้จริงจะเกิดขึ้นมาอย่างนี้ แล้วก็ระวังอย่าให้เลยเถิดไปเป็นพิธีรีตองของบุคคลผู้โง่เง่าและสิ่งต่างๆ ก็จะสำเร็จประโยชน์ การที่จะทำให้คน มนุษย์ปุถุชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนี้มามีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมนั้นมันเหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขา แต่เมื่อไม่ยอมแพ้ พยายามกลิ้งอยู่เสมอแล้วนั่นแหละคือการประกอบพิธี การกระทำซ้ำๆ ซากๆ ด้วยความพยายาม ไม่รู้จักเบื่อหน่ายจนมันกลิ้งขึ้นไปได้มันก็สำเร็จเพราะพิธีนั่นเอง
พระภิกษุสงฆ์ก็มีพิธีอยู่เต็มไปหมด นับตั้งแต่ว่าจะต้องมีพิธีทำปาฏิโมกข์ทุกๆ วันอุโบสถ จะต้องมีพิธีที่จะไหว้พระสวดมนต์ จะต้องแสดงอาบัติ จะต้องกวาดวัด จะต้องประพฤติปฏิบัติทุกอย่าง ทุกประการอย่างซ้ำๆ ซากๆ วันแล้ววันเล่าเหมือนกัน ไม่รู้จักเบื่อหน่าย นั่นแหละคือประโยชน์ของพิธี เดี๋ยวนี้พอจะต้องทำอะไรซ้ำๆ เข้าสักหน่อยแล้วก็ขัดใจเสียแล้ว ก็ละทิ้งหน้าที่เสียแล้ว คนสมัยนี้จึงเสื่อมลง เลวลง ในทางจิตทางใจ ไม่เหมือนคนสมัยก่อนซึ่งอดทนได้ ทำอะไรซ้ำๆ ซากๆ ได้เพราะมีการบังคับตัวเองดี คนสมัยนี้มีการตามใจตัวเองคือตามใจกิเลสมากเกินไปทำอะไรซ้ำๆ ซากๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะภิกษุหนุ่มสามเณร ยิ่งเป็นคนหลุกหลิกเหลาะแหละบังคับตัวเองไม่ได้ ทำอะไรให้จริงๆ จังๆ ซ้ำๆ กันหลายวัน หลายเดือน หลายปีไม่ได้ มัวแต่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในที่สุดมันก็เหลวหมดไม่มีอะไรได้สักกอย่างเดียว นั่นแหละคือโทษของการที่ไม่เคารพบูชาสิ่งที่เรียกว่าพิธี คือสิ่งที่จะต้องกระทำด้วยความทรหดอดทนด้วยจิตใจที่หนักแน่นซ้ำๆ ซากๆ นับได้ร้อยครั้งพันครั้ง
ถ้าพิจารณาดูกันอีกนิดหนึ่งก็จะเห็นว่า การทำมาฆบูชาเช่นนี้อย่างน้อยที่สุดมันก็ได้อานิสงส์ตรงที่ว่าจะช่วยแก้ไขนิสัยสันดานให้เกิดความทรหดอดทน สามารถประกอบพิธีอะไรได้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาอานิสงค์เพียงแค่นี้มันก็คุ้มกันแล้ว ขอให้ยินดีรับเอาไปเถิด พิจารณาดูให้ดีแล้วรับเอาประโยชน์อานิสงส์เพียงเท่านี้มันก็ได้มากอยู่แล้ว จะเป็นชนวน จะเป็นต้นเงื่อนสำหรับที่จะเจริญงอกงามต่อไปในวันหน้า หวังว่าทุกคนจะได้มีความคิดนึกในทำนองนี้ เพื่อจะเปิดโอกาสให้สิ่งที่เรียกว่าพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเกิดมีประโยชน์มีอานิสงส์ ช่วยดับทุกข์ของตนได้ แล้วจะเป็นผู้ไม่กล่าวร้ายอย่างซ้ำๆ ซากๆ จะไม่ทำร้ายอย่างซ้ำๆ ซากๆ จะสำรวมในระเบียบวินัยอย่างซ้ำๆ ซากๆ จะกินดีอยู่ดีอย่างซ้ำๆ ซากๆ จะพอใจในเสนาสนะอันสงัดอย่างซ้ำๆ ซากๆ จะมีความพากเพียร จะทำจิตให้ยิ่งอย่างซ้ำๆ ซากๆ พูดถึงความซ้ำๆ ซากๆ เช่นนี้ ก็คงจะทำความรำคาญให้แก่คนหลายคนทีเดียว แต่ถ้าเขาพิจารณาดูด้วยจิตใจที่ซื่อตรงต่อตัวเองบ้างก็คงจะพอใจในการที่จะทำอะไรซ้ำๆ ซากๆ ด้วยสติปัญญา ทำซ้ำๆ ซากๆ นี้ ทำด้วยสติปัญญามันจึงจะเป็นพิธีที่ถูกต้องอยู่ได้ ขืนทำด้วยความโง่ ความเขลา ความอิดหนาระอาใจแล้วมันก็สูญเสียพิธีหมด กลายเป็นรีตองที่ใช้อะไรไม่ได้เลย ขอให้ความคิดนึกของเราเป็นไปในทางที่จะมีสติปัญญา มีความถูกต้อง แล้วก็ย้ำความถูกต้องนั้นอยู่เสมอ อย่าลืมว่าเราจะต้องย้ำความถูกต้องนั้นอยู่เสมอ ย้ำแล้วย้ำอีกในความถูกต้องนั้นอยู่เสมอ และนั่นแหละคือตัวพิธีที่จะมีประโยชน์ และเราก็ได้รับประโยชน์คือความก้าวหน้าไปตามทางของพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายและเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ ความเลื่อมใส ความเสียสละทุกอย่างทุกประการ สมดังที่ได้เสียสละมากระทำมาฆบูชาในวันนี้ ให้เป็นการกระทำที่ดี ให้เป็นการได้ที่ดี มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางของพระศาสนานั้นจงทุกประการเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
สาธุ.