แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาเป็นบุพพาปรลำดับตามลักษณะของธรรมเทศนาในโอกาสพิเศษเช่น วันวิสาขบูชาเป็นต้นนี้ ในบัดนี้จะได้กล่าวเนื้อความตามพระพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้ข้างต้นนั้น แต่ความสำคัญนั้นมีอยู่ว่า คำพูดของมนุษย์ในโลกนี้สำคัญอยู่ที่ความหมาย ไม่ได้สำคัญอยู่ที่ตัวหนังสือหรือพยัญชนะ เมื่อไม่รู้ถึงความหมายของถ้อยคำนั้นๆ แล้วย่อมไม่สำเร็จประโยชน์อะไร เดี๋ยวนี้เรามักจะไม่ค่อยสนใจกันถึงความหมาย มักจะถือเอาแต่ตามตัวหนังสือ ก็ทำให้มีความเข้าใจผิดไปได้ และยิ่งภาษาธรรมะนี้ด้วยแล้ว ย่อมมีความหมายผิดแปลกแตกต่างจากภาษาคนพูดตามธรรมดา ดังนั้นนักศึกษาหรือผู้ปฏิบัติก็ตามจะต้องเป็นผู้สนใจในการที่จะถือเอาความหมายของคำนั้นๆ ให้มากเป็นพิเศษในลักษณะที่ถูกต้อง
การที่จะถือเอาแต่ตามตัวหนังสือแล้วมีความหมายไม่ถูกต้องนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ในบางทีก็เป็นอันตราย ดังจะได้ยกตัวอย่างพระพุทธภาษิตบางข้อมาแสดงให้เห็นให้ท่านทั้งหลายเห็นว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยังทรงใช้ถ้อยคำที่ต้องตีความหมาย เพื่อเป็นเครื่องทดสอบคนผู้ฟังด้วยเหมือนกัน บาลีพระพุทธภาษิตนี้มีอยู่ว่า อสฺสทฺโธ อกตญฺญู จ จงเป็นคนไม่ศรัทธา จงเป็นคนอกตัญญู สนฺธิจฺเฉโท จ โย นโร เป็นคนตัดช่องฝา หตาวกาโส วนฺตาโส เป็นคนทำลายโอกาส เป็นคนสิ้นหวัง ส เว อุตฺตมโปริโส นั่นแหละคือบุรุษที่สูงสุด ดังนี้ มีใจความสั้นๆ ก็คือว่า บุรุษสูงสุดนั้นเป็นคนไม่มีศรัทธา เป็นคนอกตัญญู เป็นคนตัดฝาเรือนของผู้อื่น เพื่อการขโมยทรัพย์ เป็นคนทำลายโอกาสของตนเอง แล้วก็เป็นคนสิ้นหวัง ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูว่าคำพูดทั้งหมดนี้ถ้าถือเอาตามตัวหนังสืออย่างตรงๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ผิดพลาดคือเป็นฝ่ายผิด เป็นฝ่ายเสียหาย เป็นฝ่ายที่ปฏิบัติไม่ได้ แต่แล้วทำไมพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสอย่างนี้ และก็ไม่ใช่มีแต่ที่แห่งนี้แห่งเดียวยังมีที่อื่นๆ อีกมาก ทั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นการใช้สำนวนโวหารชนิดที่เป็นการเปรียบเทียบอยู่ในตัว แต่ให้ถือเอาความหมายอีกอย่างหนึ่ง ให้เป็นไปในทางของธรรมะ ให้เป็นผู้รู้ธรรม ให้เห็นความจริงเห็นความหมายของคำพูดนั้นๆ ที่แตกต่างกันอยู่เป็นคู่ๆ กันไป ว่าถ้าเราจะพูดด้วยถ้อยคำๆ นี้ ให้มีลักษณะเป็นคำพูดที่ผิดหรือเป็นฝ่ายของคนพาลก็พูดได้ แต่ถ้าจะพูดให้เป็นฝ่ายของผู้เป็นบัณฑิตก็พูดได้อีกอย่างเดียวกัน ด้วยถ้อยคำคำเดียวกันนั่นเอง
ถ้าผู้ใดพยายามที่จะสังเกตให้เข้าใจข้อเท็จจริงต่างๆ ของเรื่องชนิดนี้แล้วก็จะเป็นผู้ฉลาดในคำพูด และจะไม่เพียงแต่ฉลาดในคำพูดอย่างเดียวจะฉลาดในทางความหมายของธรรมะด้วย ยกตัวอย่างเช่นคำว่า จงเป็นคนไม่มีศรัทธา ตามตัวบาลีว่า อสฺสทฺโธ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ถ้าพูดตามธรรมดาเป็นคนไม่มีศรัทธาก็หมายความว่าใช้ไม่ได้ แต่ในที่นี้กลับเป็นบุรุษสูงสุด เป็นมนุษย์สูงสุด ดังนั้นคำว่าไม่มีศรัทธาก็ต้องมีความหมายเป็นอย่างอื่น คำว่า ไม่มีศรัทธา ในที่นี้ หมายถึงไม่เชื่อใคร เราได้รับคำสั่งสอนกันมาแต่ว่าให้เชื่อพระพุทธเจ้า ให้เชื่อครูบา บิดามารดา ครูบาอาจารย์ แต่ในที่นี้กลับสอนให้ไม่เชื่อใครแล้วจะอธิบายอย่างไรกัน คำว่าไม่เชื่อใครในที่นี้เป็นคำที่มีความหมายลึกเป็นพิเศษ และพระพุทธเจ้าก็ทรงประสงค์อย่างนั้นคืออย่าให้เชื่อใคร แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องเชื่อ หากแต่ให้เชื่อตัวเอง ครั้งหนึ่งมีการสนทนากันในระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระสาลีบุตร ถึงตอนหนึ่งพระสาลีบุตรก็ทรงก็ได้กล่าวยืนยันข้อนี้กับพระพุทธเจ้าว่า ข้าพระองค์ไม่เชื่อแม้แต่คำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็รับว่าดี ใช้ได้ คำอธิบายข้อนี้หมายความว่าเมื่อได้ยินคำพูดหรือคำสอนอะไรก็ตาม ห้ามไม่ให้รับเอาด้วยเหตุสักว่าความเชื่อ จะต้องเอาไปคิดนึกพิจารณาให้เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีประโยชน์หรือประพฤติตามนั้นแล้วประโยชน์จะเกิดขึ้นจริงจึงจะเชื่อ พระพุทธเจ้าท่านทรงเปิดโอกาสให้มากถึงอย่างนี้ ว่าแม้ที่พระองค์ตรัสเองก็ยังไม่ต้องเชื่อ ให้เอาไปคิดดูว่าเป็นอย่างไร ปฏิบัติตามเข้าแล้วจะเป็นอย่างไร ต่อเมื่อเห็นว่าจะเป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์จึงจะเชื่อ
นี่แหละลองคำนวนดูเถิดว่าพวกเราสมัยนี้เป็นอย่างไร อวดอ้างว่ามีการศึกษาเจริญ มีสติปัญญามาก แต่แล้วก็กลายเป็นคนเชื่องมงาย ในหมู่คนที่มีการศึกษาในถิ่นที่ว่ามีการศึกษาเช่นในท่ามกลางเมืองหลวงก็ยังมีคนโง่คนงมงายมากกว่าที่บ้านนอกเสียอีก เพราะว่าคนในเมืองหลวงนั้นไม่ค่อยมีเวลาจะคิดจะนึกอะไร สาละวนอยู่แต่เรื่องกิจการงาน มีความโลภมากเกินไปจนไม่มีเวลาหรือสติที่จะยั้งคิด มีความกลัวมากเกินไปพอได้ยินอะไรก็รับเอาด้วยคิดว่าจะช่วยตัวเองได้ ฉะนั้นความโง่งมงายโดยเฉพาะเรื่องเครื่องรางของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ก็ไปดกหนาอยู่ในเมืองหลวงซึ่งอวดอ้างว่ามีการศึกษาดีมีสติปัญญา นี้ก็คือการที่ไม่พินิจพิจารณาดูให้ดีว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นอย่างไร นี้เป็นคนเชื่อง่ายเป็นคนงมงายด้วยความเชื่อนั้น ในกรณีอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้เป็นคนไม่มีศรัทธา คือไม่เชื่อแล้วก็พิจารณาดูให้ดีด้วยสติปัญญาว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าพิจารณากันสักหน่อยเท่านั้นก็จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีเหตุผล แต่เดี๋ยวนี้ความโลภมันมากเกินไป ความกลัวมันก็มากเกินไป ความฟุ้งซ่านในจิตใจมันก็มากเกินไปจนนอนไม่หลับ เมื่อนอนไม่หลับสติก็ฟั่นเฟือน อย่างนั้นมันจึงได้เชื่อง่าย จะต้องขจัดอาการเหล่านี้ออกไปเสียจึงจะตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ในการที่จะมีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ ว่ามันมีเหตุผลหรือไม่ ควรเชื่อได้หรือไม่
ทีนี้ที่สูงขึ้นไปที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนั้นหมายความว่า แม้บุคคลอย่างพระพุทธเจ้ากล่าวอะไรออกมาก็ยังไม่ต้องเชื่อ เดี๋ยวนี้เราเอาข้างสะดวกหรือว่าเอาข้างเห็นแก่ตัวมากกว่า หรือบางทีก็อาศัยความขี้ขลาดผสมกันทุกอย่างทำให้ไม่กล้าวิพากย์วิจารณ์สิ่งใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธภาษิตหรือคำตรัสของพระพุทธเจ้า โดยคิดว่าถ้าทำอย่างนั้นก็จะกลายเป็นคนไม่มีศรัทธาในพระพุทธในพระธรรมและในพระสงฆ์ จึงอุตส่าห์เชื่อทันทียอมรับทันที อย่างนี้มันขัดกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ในพระพุทธภาษิตนี้ว่าจงเป็นคนไม่มีศรัทธา คือไม่เชื่อง่าย ไม่เชื่อดาย ไม่เชื่ออย่างหลับหูหลับตานั่นเอง โดยเฉพาะการที่จะปฏิบัติธรรมะเพื่อการบรรลุมรรคผลแล้ว เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต้องมีสติสัมปชัญญะมีการพินิจพิจารณาให้เห็นแจ้งโดยปัญญาโดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อเลย การบรรลุมรรคผลนิพพานนี้เมื่อดำเนินมาถึงขั้นนี้แล้วก็ยิ่งต้องอาศัยปัญญา การพินิจพิจารณาอย่างที่เป็นอิสระที่สุดจนแทบจะกล่าวได้ว่าตัดความเชื่อออกไปเสียได้ทีเดียว แต่มันไปมีความเชื่ออยู่อีกลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นผลของปัญญา โดยไม่ต้องเจตนาจะเชื่อ มันก็เชื่ออยู่ในตัว คือมีความเห็นแจ่มแจ้งด้วยปัญญาอย่างไร มีความรู้แล้วในความรู้นั้นก็เป็นความเชื่ออยู่ในตัว ความเชื่อที่แนบสนิทกันอยู่กับปัญญานี้เป็นสิ่งที่ใช้ได้แต่ไม่เรียกว่าศรัทธา คำว่าศรัทธาก็หายหน้าไป คำว่าปัญญาก็ออกมาแทนทั้งที่มีศรัทธารวมอยู่ในนั้น ลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่าคนไม่เชื่อได้เหมือนกัน ตรงตามพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าจงเป็นคนไม่มีศรัทธานี้อย่างหนึ่ง
นี่แหละท่านทั้งหลายพิจารณาดูเถิดว่าความหมายของคำแต่ละคำนั้นมันสำคัญอย่างไร ทำไมจึงได้กล่าวไว้เป็นหลักว่า สาทิโก อรรโถ โน พยัญชนัง(นาทีที่17:30) อรรถะนั้นทำให้สำเร็จประโยชน์ ส่วนตัวพยัญชนะนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ เราจะรู้จักความหมายของคำแต่ละคำซึ่งบางทีก็ไม่ตรงตามตัวพยัญชนะนั้นด้วยซ้ำไป สำหรับคำว่า “ไม่ศรัทธา” อย่างนี้ ถ้าเราถือเอาความหมายตามธรรมดาแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ ก็รู้กันอยู่ว่าต้องเป็นคนมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในพระพุทธเจ้า หรือในทุกๆ อย่าง แม้ที่สุดจะเรียกว่าเชื่อกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว นั้นเป็นเรื่องเบื้องต้น เพียงแต่ว่าให้เอาให้เชื่อ เพียงแต่ว่าเอามาคิดมานึกมาพิจารณาดู แม้เรื่องเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมนี้ก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นจะต้องเชื่ออย่างงมงายไปตามตัวหนังสือหรือสักว่าได้ยินทีแรกแล้วก็เชื่อ จะต้องเอามาพิจารณาดูว่ากรรมดีเป็นอย่างไร กรรมชั่วเป็นอย่างไร ให้รู้จักจริงๆ เสียก่อน หรือยิ่งไปกว่านั้นตนเองนั่นแหละเคยทำกรรมดีกรรมชั่วมาแล้ว แล้วมันให้ผลอย่างไร ก็เอาสิ่งนี้มาเป็นหลักสำหรับที่จะเห็นจริงแล้วจึงเชื่อ และจะต้องระมัดระวังในข้อที่ไม่ทำให้สับสนกัน เช่นว่าทำดียังไม่ได้ดีก็ถือว่าทำดีไม่ได้ดีอย่างนี้เป็นต้น เป็นอันว่าจะต้องระมัดระวังรอบด้านอย่าให้เข้าใจผิด เมื่อเข้าใจถูกแล้วมันก็เป็นความเชื่ออยู่ในตัว โดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถูกต้องแล้วในเรื่องอันเกี่ยวกับความเชื่อ ถ้าพูดตามธรรมดาสามัญก็ว่าเชื่อ เชื่อๆ แต่ถ้าพูดอย่างผู้มีสติปัญญาก็ว่าไม่เชื่อ จะไม่ใช้ความเชื่อเป็นที่พึ่ง แต่จะใช้ความเห็นแจ้งแทงตลอดนั้นเป็นที่พึ่งดังนี้ เป็นอันว่าคำสอนข้อนี้เป็นคำที่มีความหมาย และมีความหมายเป็นพิเศษ เราจะต้องสังเกตไว้ให้ดีๆ จะได้ใช้วิธีนี้ไปตีความหมายให้คำอื่นๆ อีกต่อไป
ทีนี้ก็มาถึงคำที่สองคือคำว่า “จงเป็นคนอกตัญญู” ตามปกติเราก็ได้ยินได้ฟังว่าต้องเป็นคนกตัญญู ใครๆ ก็นิยมนับถือผู้ที่มีความกตัญญู สอนลูกสอนหลานให้มีความกตัญญู แต่ในที่นี้ทำไมมาพูดว่าจงเป็นคนอกตัญญู ข้อนี้มีทางที่จะอธิบายได้เป็นสองอย่างหรือหลายอย่าง ที่อธิบายกันอยู่โดยทั่วๆ ไปนั้น ท่านทั้งหลายอาจจะไม่เข้าใจแต่ก็ควรจะลองฟังดู คือเขาแปลความไปในทำนองที่ว่า เป็นผู้รู้จักสิ่งที่เหตุปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ นั้นเรียกว่าเป็นคนอกตัญญู อกตะแปลว่าสิ่งที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ อัญญูแปลว่ารู้ อกตัญญู เลยแปลว่า ผู้รู้จักสิ่งที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ไม่ได้ก็มีแต่นิพพานอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นผู้รู้นิพพานไป คนอกตัญญูคือคนที่รู้พระนิพพานอย่างนี้ก็มี ทีนี้จะไม่อธิบายอย่างนี้ก็ได้ อธิบายตรงๆ ไปในทำนองเดียวกับคำว่าศรัทธา คือว่าการจะยึดมั่นถือมั่นบุคคลนั้นมันทำให้เกิดการผูกพัน เช่นเป็นหนี้บุญคุณหรือจะต้องทดแทนคุณเป็นต้น แต่ถ้าได้เป็นผู้ปฏิบัติถึงขนาดที่ไม่มีความรู้สึกเป็นบุคคลตัวตนเราเขาแล้ว ความรู้สึกผูกพันในทางบุญคุณก็เป็นอันว่าสูญสิ้นไปจากจิตใจของบุคคลผู้นั้น จะเหลืออยู่ก็สักแต่ว่าทำไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี คือผู้ที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนของตน เรื่องสัตว์ บุคคลแต่ประการใดแล้ว ย่อมถอนความรู้สึกที่ว่าเป็นหนี้บุญคุณหรือเป็นเจ้าหนี้บุญคุณได้ด้วย เลยเพิกถอนความรู้สึกที่ว่าจะต้องกตัญญูหรือจะต้องอะไรอย่างนั้นได้โดยสนิทใจด้วย
แต่แล้วในทางปฏิบัตินั้นยังคงปฏิบัติเหมือนที่คนทั้งหลายเขาปฏิบัติกัน ยกตัวอย่างเช่นพระอรหันต์ท่านไม่มีความรู้สึกเรื่องสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ความรู้สึกที่จะผูกพันให้ลำบากเรื่องการทดแทนคุณ กตัญญู หรืออะไรทำนองนี้ย่อมมิได้มี ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวิตกกังวลเพราะเรื่องนี้ แต่แล้วท่านก็ยังปฏิบัติไปตามที่นิยมกันอยู่อย่างไรในหมู่มนุษย์ เพื่อว่าจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น
ความเป็นคนอกตัญญูในลักษณะนี้มีหลักเกณฑ์อยู่ที่ว่า เป็นผู้ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคลเราเขา เพราะฉะนั้นเมื่อสอนว่าจงเป็นคนอกตัญญูก็หมายความว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้ถึงที่สุดจนละความรู้สึกว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาเสียได้นั่นเอง ท่านลองคิดดูให้ดีๆ อย่าได้เข้าใจผิดเป็นมิจฉาทิฐิว่าการสอนที่สอนให้เป็นคนอกตัญญูนี้ ไม่ได้มีความหมายตามธรรมดาสามัญที่คนธรรมดาสามัญฟังแล้วเข้าใจเอาเองว่าพระพุทธเจ้านี้เป็นอย่างไรไปแล้ว สอนคนให้อกตัญญู แต่ความหมายของท่านนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่งไม่เหมือนกับที่คนธรรมดาสามัญเข้าใจหรือพูดกันอยู่ นี้ก็เป็นเรื่องของความหมายอีกเหมือนกันที่เราจะต้องศึกษาความหมายของคำแต่ละคำไว้ให้ครบถ้วน ให้ถูกต้องตามกรณีนั้นๆ ว่าคำพูดนี้เป็นคำพูดตามธรรมดาหรือเป็นคำพูดพิเศษที่มีความหมายลึกไปกว่าธรรมดา หรือยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือมีความหมายกลับตรงกันข้ามกับที่พูดกันอยู่ตามธรรมดาเอาเสียทีเดียว
คำต่อไปคือ “ สนฺธิจฺเฉโท” ซึ่งแปลว่า จงตัดช่องฝาเรือนอย่างที่คนเป็นขโมย เป็นคนตัดช่องย่องเบาเอาทรัพย์ของผู้อื่นก็ใช้คำนี้เหมือนกัน ว่าเป็นคนตัดช่องฝาเรือน ในทางธรรมะนั้นคำว่า สนฺธิ นั้น เขาแปลว่าที่ต่อ ตรงที่แผ่นกระดานมันต่อกันนั้น เป็นที่ๆ งัดแงะให้เกิดช่องสำหรับเข้าไปในเรือนได้ ตัดที่ต่อแห่งฝาเรือนแล้วก็เข้าไปขโมยของในบ้านได้ คำนี้ก็เหมือนกันมีทางที่จะอธิบายได้เป็นหลายอย่าง ถ้าคำว่า สนฺธิ มีความหมายเป็นเพียงที่ต่อแต่อย่างเดียวแล้วก็หมายถึงกิเลส กิเลสเป็นที่ต่อ ต่อภพนี้กับภพอื่น ต่อชาตินี้กับชาติอื่นก็ได้ หรือว่าเป็นเครื่องต่อในระหว่างกิเลสกับกรรมและผลของกรรม แล้วก็ต่อมายังกิเลสอีกเพื่อให้เกิดวนเวียนเป็นวัฏสงสารโดยอาศัยกิเลสเป็นเครื่องต่อไม่ให้ขาดตอนลงได้ดังนี้ก็ได้เหมือนกัน ในลักษณะเช่นนี้การตัดที่ต่อก็คือการตัดกิเลสนั่นเอง หรือจะพูดกันให้มากไปอีกก็ยังได้ว่า ตัดช่องฝาเรือนเข้าไปขโมยของในบ้านก็อธิบายไปในทำนองที่ว่า บ้านเรือนนี้ก็คือความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าบุคคลตัวตนเราเขาตัวกูของกูนี่เอง ก็พยายามตัดช่องเข้าไปให้ได้เพื่อจะไปขโมยทรัพย์สมบัติของมันให้หมดสิ้น คือทำลายความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูนี้เสียให้หมดสิ้น อย่างนี้ก็ยังได้ มันมีความหมายที่มีประโยชน์เป็นความหมายที่แสดงถึงการตัดกิเลสไปทั้งนั้น ไม่มีอะไรนอกไปจากนั้น สนธิแปลว่าเงื่อนสำหรับต่อกัน นั้นหมายความว่าเพราะมันมีเงื่อนสำหรับต่อกันนี่แหละมันจึงไม่ขาดตอนลงได้ มันทำให้คาบเกี่ยวกันไปเรื่อยจนกระทั่งเป็นวงกลมวนเวียนเป็นวัฏสงสารเหมือนกับห่วงโซ่ที่คล้องกันเป็นห่วงๆ มันต่อกันระหว่างห่วงนั้นก็ต้องทำลายที่ต่อนั้นคือตัดห่วงให้ขาดออกไป ก็กลายเป็นคนตัดช่อง คำเดียวกับคำว่าตัดช่องย่องเบา ถ้าเราภาคภูมิใจที่จะเป็นขโมยตัดช่องย่องเบา เราก็ต้องเป็นให้ถูกตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมาย ตัดช่องย่องเบาเข้าไปขโมยของของตัวกูของกูให้หมดสิ้น อย่าให้มีกิเลสเหลืออยู่เลยนั่นแหละเป็นนักตัดช่องย่องเบาตามที่พระพุทธเจ้าท่านแนะนำ หรือถึงกับเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าในข้อนี้ด้วย แต่แล้วก็ต้องระวังให้ดีๆ ในเรื่องเกี่ยวกับความหมาย ถ้าถือเอาความหมายผิดแล้ว ไปตัดฝาเรือนเขาเข้าจริงๆ แล้วก็จะต้องถูกจับไปใส่ตาราง แต่ถ้าถือเอาความหมายถูกต้องแล้วก็กลายเป็นพระอรหันต์ไปเพราะการตัดช่องย่องเบาขโมยเอาทรัพย์สมบัติของกิเลสไปทำลายเสียจนหมดสิ้น คือหมดตัวกูและหมดของกูดังนี้
คำต่อไปมีว่า “หตาวกาโส” เป็นผู้มีโอกาสอันทำลายเสียแล้ว ข้อนี้ท่านต้องพิจารณาดูถึงคำว่าโอกาส ใครๆ ก็ชอบคำว่าโอกาสเพราะคำว่าโอกาสหมายถึงช่องที่จะได้รับประโยชน์ ช่องทางที่จะได้รับประโยชน์นี้เรียกว่าโอกาส ใครๆ ก็ต้องการโอกาสที่จะได้ดี ได้รับความเจริญหรือมีการได้ไม่มีการเสีย หวังอยู่แต่จะได้โอกาส ส่วนในที่นี้สอนว่าจงทำลายโอกาสเสีย จงเป็นคนหมดโอกาสแล้วมันจะว่าอย่างไรกัน มันก็ต้องว่าตามภาษาของพระพุทธเจ้าอีกนั่นแหละว่าโอกาสนั้นหมายถึงความรู้สึก หมายถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่จะได้จะเอาหรือจะเป็นนั้นเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น อยากจะได้นั่นได้นี่ อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ แล้วก็แสวงหาโอกาส ถ้าปิดโอกาสชนิดนี้เสียมันก็ไม่แสวงหาอะไร ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากเป็นอะไร จิตใจก็จะหมดจดจากกิเลส คนที่หมดโอกาสกลายเป็นคนที่ไม่มีกิเลสและกลายเป็นพระอรหันต์ไป แต่คนทั่วไปไม่ชอบ พอได้ยินว่าหมดโอกาสเท่านั้นก็กลัวเสียแล้ว เพราะมันสิ้นท่ามันไม่มีอะไรดี นี่แหละฟังดูให้ดีๆ เถิดว่าไอ้สิ่งที่เราหลงรักหรือต้องการกันนักพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำลายเสีย แล้วเราก็ไม่กล้าทำลายเพราะเราเป็นคนขลาด เพราะเราหวังที่จะได้อะไรไม่มีที่สิ้นสุด หวังอยู่เสมอว่าเมื่อไรโอกาสจะมีมา ที่จะสวย ที่จะรวย ที่จะดี ที่จะเด่น ที่จะอะไรทุกๆ อย่าง แต่ถ้าทำลายโอกาสชนิดนี้เสียได้ หมายความว่าไม่หวังในโอกาส ไม่ยึดมั่นถือมั่นในโอกาสแล้ว กิเลสก็จะไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่อาศัย มีผลเป็นคนไม่มีกิเลสไป
บทถัดไปคือว่า “วนฺตาโสไ มีความหวังอันคลายออกเสียแล้ว เหมือนกับว่าขากน้ำลายถ่มออกไป เป็นผู้สิ้นหวังและหมดหวัง นี้ก็มีความหมายคล้ายๆ กัน ความหวังก็คือความอยาก หรือความต้องการ ถ้ายังมีความหวังอยู่ก็ต้องมีการกระทำที่เป็นกรรมและเป็นไปตามผลของกรรมนั้น ถ้าไม่มีความหวังก็ไม่มีการกระทำที่เป็นกรรม ไม่ต้องรับผลกรรม ไม่ต้องเป็นไปตามอำนาจแห่งกรรมนั้น แต่แล้วเราก็ไม่ชอบเพราะเรามีความหวัง เพราะเราคิดว่าชีวิตนี้มันอยู่ได้ด้วยความหวัง สิ้นหวังเมื่อไรมันก็เหมือนกับหมดชีวิต หมดค่ามีค่าเท่ากับตายแล้ว นั้นมันเป็นเรื่องความหวัง ตามปกติธรรมดาสามัญของคนปุถุชนหวังอยู่ในสิ่งที่ตนอยากจะได้ แล้วก็ไม่อยากจะสิ้นหวัง ก็มีความหวังต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ความหวังนั้นเองเป็นเครื่องทรมานทำให้เกิดความทุกข์ในทางจิตทางวิญญาณกระทั่งออกมาถึงทางกายด้วย ฉะนั้นอย่างนี้แล้วเราก็ยังไม่อยากจะหมดหวัง เรายังจะหวังเรื่อยไป เรียกว่ามีความอยากมีความต้องการที่สับเปลี่ยนกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าเป็นคนสิ้นหวังเสียเถิด เป็นคนหมดหวังเสียเถิด ตอนนี้แหละจะเป็นคนไม่เชื่อพระพุทธเจ้า แต่มันเป็นคนไม่เชื่อคนละอย่าง เป็นคนไม่เชื่ออย่างอันธพาล ที่สอนว่าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าอย่างผู้รู้นั้นเพื่อจะเอาไปคิดดู ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าหมดหวังเสียเถิดสิ้นหวังเสียเถิดก็ไม่อยากจะเอาไปคิดดู เมื่อรู้สึกว่ามันขัดกับความประสงค์ของเราแล้วก็ไม่ยอมรับฟังอย่างนี้เป็นต้น คนส่วนมากจึงไม่มีโอกาสที่จะหมดกิเลสเพราะเหตุนี้ เพราะยังรักความหวังของตนยิ่งกว่าที่จะทำตามพระพุทธเจ้า รักกิเลสมากกว่ารักพระพุทธเจ้า จึงสงวนเอากิเลสนี้ไว้อยู่เรื่อยไปสำหรับเป็นเครื่องปิดบังไม่ให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำที่พระพุทธองค์ตรัส
ทั้ง ๔ คำนี้ ทั้ง ๕ คำนี้ ทั้ง ๔ คำนี้คือคำว่า เป็นคนไม่มีศรัทธา เป็นคนอกตัญญู เป็นคนตัดช่องย่องเบา เป็นคนทำลายโอกาสของตนเอง และเป็นคนหมดหวังหรือสิ้นหวัง รวมกัน ๕ อย่างเข้าด้วยกันแล้วผู้ฟังก็จะรู้สึกหวั่นไหวอยู่ในจิตใจ ล้วนแต่มีความหมายน่ากลัวทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ใครกำลังรู้สึกอย่างนี้บ้าง ก็ลองพิจารณาดูตัวเองให้ดีๆ ถ้ายังไม่เข้าใจคำพูดชนิดนี้ก็แปลว่ายังไม่รู้ธรรมะ ยังไม่รู้ความหมายของพระพุทธภาษิตประเภทนี้ก็ควรจะได้ไปศึกษากันเสียให้เพียงพอ ให้เป็นผู้ที่เข้าใจความหมายหรืออาจจะเข้าใจความหมายของคำพูดทุกๆ ชนิด คำพูดตรงๆ ก็รู้ความหมายตรงๆ คำพูดอ้อมค้อมก็รู้ความหมายที่อ้อมค้อม คำพูดที่กลับตรงกันข้ามจากที่เคยพูดเคยฟังอย่างคำนี้ก็รู้จักความหมายอย่างที่ตรงกันข้ามทีเดียว ถ้าถือเอาความหมายของคำถูกต้องไปทุกประเภทแล้วก็นับว่าเป็นผู้รู้ธรรม เป็นผู้รู้ธรรมะ รู้ความหมายของถ้อยคำที่แสดงธรรมอันลึกซึ้งและผิดแปลกแตกต่างกันไป
การที่อาตมาเอาเรื่องนี้มาพูดให้ฟังก็เพราะได้สังเกตเห็นว่าเรายังมีความฉลาดน้อยมากในการยึดถือความหมายของคำต่างๆ ที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ หรือที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรงเช่นคำเหล่านี้เป็นต้น บางคนอาจจะคิดไปซีกทางหนึ่งว่าคำเหล่านี้ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าเสียแล้วกระมัง ดูมันอุตริวิตถารเสียเหลือเกิน แต่พิจารณาดูให้ดีแล้วรู้สึกว่าคงจะไม่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าในบางคราวผู้ที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้าก็อยากจะลองพูดอะไรซึ่งเป็นการทดสอบสติปัญญาของผู้ฟังหรือของพระสาวกอยู่บ้างเหมือนกัน อีกทางหนึ่งมันก็เป็นความสนุกสนานด้วยในการที่จะพูดกันด้วยโวหารชนิดนี้ อีกทางหนึ่งมันเป็นการฝึกฝนให้ฉลาดคิดให้รู้จักถือเอาความหมายอันลึกซึ้งด้วย รวมความว่ามันทั้งสนุกด้วยมันมีประโยชน์ด้วยก็ควรจะอยู่ในวิสัยที่พระพุทธเจ้าท่านจะพูดจาและเมื่อพิจารณาดูว่ามันไม่มีแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว มันมีเรื่องอื่นอีกมาก เช่นพระพุทธภาษิตว่า จงฆ่าบิดามารดาเสีย จงเป็นคนอกตัญญูแล้วก็จะถึงฝั่งแห่งนิพพาน คำว่าฆ่าบิดามารดาเสียนั้นฟังแล้วก็ยิ่งน่าสะดุ้ง แต่ท่านอธิบายว่าอวิชชาเป็นบิดา ตัณหาเป็นมารดาในทำนองอย่างนี้ การฆ่าอวิชชา ฆ่าตัณหาเสียมันก็เป็นการถูกต้อง ที่ว่าอวิชชาเป็นบิดา ตัณหาเป็นมารดาหรืออะไรทำนองนี้คงมีความหมายอยู่ตรงที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุให้เกิดตัวกูของกู ซึ่งเป็นความรู้สึกอย่างผิดๆ เป็นความเข้าใจผิด เป็นความยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่นั่นเอง ตัวกูของกูนี้มันเกิดมาจากอวิชชาหรือตัณหา จึงได้เรียกอวิชชาว่าเป็นบิดา เรียกตัณหาว่าเป็นมารดาของตัวกู ถ้าตัวกูฆ่าบิดามารดาในลักษณะอย่างนี้เสียได้ ตัวกูมันก็หลุดพ้นไปจากความเป็นตัวกู จะไม่มีตัวกูเหลืออยู่สำหรับจะเป็นกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ต่อไป ฆ่าบิดามารดาเสียได้มันมีประโยชน์อย่างนี้ แล้วคนที่ฆ่าบิดามารดานั้นก็เรียกว่าเป็นคนอกตัญญูอยู่แล้วแต่มันก็เป็นอกตัญญูอีกแบบหนึ่งต่างหาก คือเป็นอกตัญญูที่ควรกระทำเหมือนที่ได้กล่าวมาแล้วในพระพุทธภาษิตข้อนี้
นี่แหละลองพิจารณาดูเถิดว่าถ้าผู้ใดเป็นผู้มีสติปัญญาจริง มองเห็นความหมายอรรถของถ้อยคำอย่างลึกซึ้งจริงๆ แล้วก็อาจจะพลิกแพลงได้ในการใช้คำพูดให้น่าตกใจ แต่แล้วก็ไม่ใช่ให้ตกใจเปล่า ต้องการให้เอาไปคิดลึกให้มากสมกับที่มันน่าตกใจ คนเราถ้ามีอะไรทำให้ทึ่งให้สนใจมันเอาไปคิดมาก ดังนั้นคำพูดชนิดนี้ก็มีประโยชน์ถ้ารู้จักถือเอาให้ดีๆ อย่างน้อยก็ทำให้ฉลาดในการที่จะตีความของคำต่างๆ และยังเป็นการสนุกดีด้วย มันเป็นการสนุกสนานตามแบบของนักปราชญ์หรือผู้มีปัญญาซึ่งพอใจที่จะสนุกสนานในลักษณะอย่างนี้ ส่วนคนธรรมดาสามัญก็มีความสนุกสนานอย่างอื่น ไม่นึกสนุกในลักษณะอย่างนี้ มันก็ไม่มีวันที่จะมาพบกันได้กับการตีความอย่างนี้ หรือการพูดจาอย่างนี้ จึงกลายเป็นคนโง่ไม่รู้ความหมายของถ้อยคำในทุกแง่ทุกมุม ความโง่ชนิดนี้แหละที่เป็นเหตุให้ไม่เข้าใจธรรมต่างๆ ในพระพุทธศาสนา เช่น คำว่าชาติ ความเกิด ก็ดี คำว่าว่างจากกิเลสจากความทุกข์ก็ดี กระทั่งคำว่าตัวกูของกูอย่างนี้ก็ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องว่าหมายถึงอะไร พอพูดว่าว่างก็ว่างอย่างไม่มีอะไรเหลือเลย พอพูดว่าชาติก็หมายถึงเกิดจากท้องแม่อย่างเดียว เรื่องมันก็ไขว้กันไปหมดเพราะว่าเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนั้นมันมีความหมายลึกหรือไกลไปจากนั้น คำว่าชาติก็คือการเกิดขึ้นแห่งตัวกูของกู จึงเป็นความรู้สึกคิดนึกที่ปรุงแต่งขึ้นมาจากความโง่ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าอวิชชาเป็นพ่อตัณหาเป็นแม่ พ่อแม่นี้ก็ให้เกิดมีชาติเป็นตัวกูของกูขึ้นมา ทุกคราวที่มีอวิชชาและตัณหาคือทุกคราวที่เมื่อตาเห็นรูปหูฟังเสียงจมูกดมกลิ่นเป็นต้นแล้วเผลอสติ เผลอสติแล้วความไม่รู้และอวิชชานี้ก็ครอบงำ ก็เลยทำให้มีตัณหาคือความอยากที่จะเอาความโง่ ความรู้สึกอยากนั่นเองทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน รู้สึกมีตัวผู้อยาก รู้สึกมีสิ่งที่ตัวอยาก มันจึงเกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูขึ้นมา
คำว่า ชาติ แปลว่าความเกิดแต่มันหมายถึงความเกิดของตัวกูของกูชนิดนี้ซึ่งเกิดอยู่วันละหลายๆ หน เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ส่วนการที่เกิดจากท้องแม่นั้นมันหมดเรื่องกันไปแล้วมันไม่มีเกิดอีก มันไม่มีปัญหาอะไรที่เหลืออยู่ แล้วมันก็เป็นเรื่องทางร่างกายแต่อย่างเดียว ส่วนชาติความเกิดในทางจิตทางวิญญาณนี้มีได้ไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดที่ยังมีอวิชชาตัณหาอยู่เพียงไรมันก็มีชาติคือความเกิดแห่งตัวกูหรือของกูอยู่เพียงนั้น เกิดทุกทีก็เป็นทุกข์ทุกที เกิดร่ำไปก็เป็นทุกข์ร่ำไป นั่นแหละขอให้เข้าใจคำว่าชาติตามความหมายของธรรมะที่เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความดับทุกข์นี้ในลักษณะอย่างนี้เป็นต้น และเมื่อพูดถึงคำว่าว่างมันก็คือว่างจากการเกิดชนิดนี้นั่นเอง อย่าให้การเกิดชนิดนี้เกิดขึ้นในใจ ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูแล้วมันก็มีความว่าง คือว่างจากตัวกูของกูนั่นเอง ไม่มีตัวกูของกูในความรู้สึกแล้วก็หมายความว่าไม่ได้มีกิเลส อวิชชาหรือตัณหาไม่มีโอกาสที่จะเกิด ที่จะปรุง มันก็ไม่มีกิเลส มันก็มีความสุขสบายดี ว่างจากการเกิดอยู่อย่างนี้ก็ไม่มีความทุกข์เลย แต่แล้วคนที่ไม่เข้าใจความหมายอันนี้ก็เข้าใจไปตามเรื่องทางวัตถุ ทางเนื้อทางหนังไปหมด คือเมื่อพูดว่าว่างแล้วก็หมายถึงไม่มีอะไรเลย แล้วก็เข้าใจไม่ได้ว่าไม่มีอะไรเลยนั้นมันจะดีอะไรที่ตรงไหน นั่นแหละเป็นเหตุให้ไม่ชอบความว่างเพราะไม่เข้าใจความหมายของคำว่าว่าง ก็เลยกลัวว่าจะไม่ได้อะไร ไม่มีค่าไม่มีรสชาติอะไร จึงไม่ชอบความว่างตามแบบที่พระพุทธเจ้าสอน เพราะตัวมีความว่างตามแบบของตัวเองดังนี้ อย่างนี้ก็คือการที่ไม่รู้จักความหมายแท้จริงของคำพูดสั้นๆ เพียงคำเดียวว่าว่าง ถ้าเป็นผู้สนใจศึกษาสังเกตพินิจพิจารณาอยู่เสมอจนเห็นว่าคำพูดคำหนึ่งมีความหมายหลายๆ อย่าง หลายๆ แง่ หลายๆ มุม เราควรจะรอบรู้ไว้ แล้วท่านพูดกันในแง่ไหนเราก็ถือเอาความหมายในแง่นั้นให้ได้ ก็จะมีประโยชน์อันใหญ่หลวง
ทีนี้อาจจะมีคนถามว่าทำไมจึงชอบใช้คำพูดที่กำกวมชนิดนี้ ข้อนี้ตอบได้ว่าพระพุทธเจ้าหรือบุคคลอย่างพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตั้งใจจะใช้คำพูดที่กำกวม แต่มันเนื่องจากไม่มีคำพูดอะไรที่ดีกว่าคำพูดชนิดนี้ จึงเอาไปใช้อย่างที่เป็นคำพิเศษมีความหมายตามความหมายของท่าน เช่นคำว่าว่างก็ต้องหมายถึงว่างกันจริงๆ คือไม่มีอะไรที่จะไปจับ ไปฉวย ไปยึดมั่นถือมั่นได้จริงๆ แต่ว่ามันเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ ไปยืมเอาคำว่าว่างในทางวัตถุนี้ไปใช้ พิจารณาดูต่อไปก็จะเข้าใจได้ไม่ยากเลย เช่นคำว่า มรรคหรืออริยมรรค คำว่ามรรคนี้แปลว่าทางเดิน ก็หมายถึงถนนที่คนใช้เดินนั่นเอง แต่เมื่อเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณแล้วมันก็มีความหมายเป็นพิเศษเฉพาะคำนั้นไปเสีย ได้แก่การปฏิบัติในทางจิตใจให้จิตใจเจริญขึ้นไปตามลำดับ การปฏิบัตินั้นก็ได้ชื่อว่าหนทางคือมรรค เช่นก็เห็นได้ชัดๆ ว่ายืมเอาคำของชาวบ้านพูดอยู่นั่นแหละไปใช้ ท่านเข้าใจกันได้ดี แต่เราเข้าใจไม่ค่อยจะได้ นี้ดีแต่ว่าได้ยินคำบาลีว่ามรรคหรืออริยมรรค ถ้าเกิดพูดเป็นภาษาไทยขึ้นมาแปลว่าถนนหนทางแล้ว มันก็จะรู้สึกว่าช่างเป็นคำพูดที่สับสนหรือกำกวมเสียเหลือเกินน่ารำคาญ คำที่สำคัญสุดท้ายก็คือคำว่านิพพาน คำว่านิพพานนี้มีความหมายว่าเย็น เย็นของอะไรก็ได้เรียกว่านิพพานทั้งนั้น วัตถุร้อนๆ เย็นลงก็เรียกว่าวัตถุนิพพาน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานหมดพิษหมดฤทธิ์หมดเดชหมดอันตรายแล้วก็เรียกว่ามันนิพพาน เพราะมันเย็นเหมือนกัน มนุษย์นี้ถ้าหมดกิเลสแล้วก็เรียกว่าเย็นเป็นนิพพานเหมือนกัน ฉะนั้นคำว่านิพพานที่เป็นเรื่องของทางธรรมะหรือทางศาสนานั้นมันก็เป็นเรื่องที่ยืมเอามาจากเรื่องทางวัตถุของคนธรรมดาสามัญที่พูดกันอยู่ตามบ้านตามเรือน เด็กๆ ในครัวก็จะพูดว่าข้าวต้มนิพพานแล้วกินได้ ขอเชิญทุกคนมากิน อย่างนี้คนที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็หัวเราะโดยไม่รู้ว่านั้นมันเป็นภาษาพูดที่เขาได้พูดกันอยู่จริงในสมัยนั้นด้วยภาษาบาลีชนิดนี้
นี่แหละพิจารณาดูให้ดีเถิดว่าคำพูดแต่ละคำมันมีความหมายได้หลายอย่างหลายชั้นแล้วแต่ว่าจะเอาคำๆ นั้นไปใช้ในกรณีใด ถ้าใช้พูดกันอยู่ตามปกติธรรมดาสามัญมันก็มีความหมายอย่างนั้น แต่ถ้าเอาคำนั้นไปใช้ในทางศาสนาหรือในเรื่องทางจิตทางวิญญาณแล้วมันก็ต้องเลื่อนสูงขึ้นไปกลายเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณไปทันทีดังนี้ ขอให้ทุกคนสังเกตลักษณะอาการอย่างนี้ให้เป็นที่เข้าใจ จะช่วยได้มากในการที่จะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งได้ใช้คำธรรมดาสามัญที่สุด ท่านไม่ได้เจตนาจะใช้คำกำกวมแต่มันไม่มีคำอื่นที่จะใช้สำหรับพูดให้มนุษย์เข้าใจ ท่านจึงต้องใช้คำเหล่านี้ ขอบอกกล่าวอีกทีหนึ่งว่าเมื่อพระพุทธเจ้าหรือบุคคลเช่นพระพุทธเจ้าไปทำการค้นคว้าทางจิตใจทางวิญญาณอยู่ในที่อันสงบสงัดเป็นเวลาสมควรแล้ว ได้พบข้อเท็จจริงทางจิตทางวิญญาณนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษและเป็นของวิเศษ มีค่าสูงสุดขึ้นมา พอถึงทีที่จะเอาสิ่งนั้นมาบอกเล่าแก่คนทั้งหลายมันก็จนปัญญาที่ไม่รู้ว่าจะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร เพราะว่าถ้าขืนพูดคำที่ชาวบ้านเขาไม่เคยได้ยินได้ฟังก็ไม่มีใครรู้ไม่มีใครฟังออกจึงต้องพูดด้วยคำที่ชาวบ้านเขารู้และฟังออกกันอยู่แล้ว นี่แหละจึงได้พูดว่าเย็นในเมื่อหมายถึงนิพพาน เพราะคำว่าเย็นเป็นคำที่ชาวบ้านรู้ดีอยู่แล้วว่าหมายถึงอะไร พอพระพุทธเจ้าท่านพูดว่าเรามีวิธีการที่จะให้ได้รับความเย็นถึงที่สุด ชาวบ้านก็คงจะสนใจเป็นแน่ แต่ถ้าพระพุทธเจ้าท่านจะบัญญัติคำอื่นขึ้นมาใช้พูดกับชาวบ้านในขณะนั้นในกรณีนั้นแล้ว จะไม่มีใครฟังออกจะไม่มีใครสนใจอย่างนี้เป็นต้น ทีนี้เรื่องที่ตรงกันข้ามคือคำว่ากิเลส คำว่ากิเลสนี้หมายถึงของสกปรก อะไรก็ได้ที่มันเป็นของสกปรกแล้วก็เรียกว่ากิเลส เมื่อพระพุทธเจ้าท่านเอาคำว่ากิเลสไปใช้ท่านก็หมายถึงของสกปรกทางจิตใจ ไม่ได้หมายถึงของสกปรกทางร่างกายซึ่งใช้กันอยู่ก่อน แต่เมื่อพูดว่าเรารู้จักสิ่งที่สกปรกที่สุดที่น่าเกลียดที่สุดผู้ฟังก็จะสนใจที่จะติดตามฟังต่อไปว่ามันหมายถึงอะไร พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นของสกปรกที่สุด ถ้าผู้ฟังฟังไม่ถูกก็จะได้พิจารณาดูต่อไปว่ามันสกปรกอย่างไรกัน
อันนี้ก็เป็นชนวนหรือเป็นหนทางที่จะได้สนใจไปถึงเรื่องทางจิตใจ ว่าจิตใจมันสกปรกด้วยของเหล่านี้เช่นเดียวกับที่ร่างกายนี้มันสกปรกด้วยโคลน ด้วยอุจจาระปัสสาวะ เป็นต้น คำพูดจึงเกิดขึ้นเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายวัตถุอย่างหนึ่ง ฝ่ายนามธรรมอย่างหนึ่ง หรือว่าฝ่ายธรรมดาสามัญนี้อย่างหนึ่งและฝ่ายลึกซึ้งนั้นอีกอย่างหนึ่งเป็นคู่ๆ กันไปดังนี้
นี่แหละขอให้สนใจความหมายของคำพูดที่มีอยู่ในลักษณะอย่างนี้ทุกเรื่องทุกกรณีที่เกี่ยวกับมนุษย์ เพราะว่าพระพุทธเจ้าหรือบุคคลเช่นพระพุทธเจ้านั้นท่านไม่บัญญัติคำใหม่ขึ้นมาใช้ ท่านใช้คำที่มนุษย์รู้กันอยู่แล้วแต่ให้ความหมายไปในทางจิตทางวิญญาณตามที่ท่านต้องการ คนก็เข้าใจได้ไม่ยาก อธิบายกันไม่มากนักก็พอจะเข้าใจได้ว่าสิ่งนั้นมีความหมายอย่างไรและก็เป็นไปแต่ในเรื่องทางจิตทางวิญญาณ เดี๋ยวนี้เราลองพิจารณาดูอะไรกันสักเล็กน้อยว่าในภาษาไทยของเรานี้ พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นใหม่ก็ไปเอาคำสันสกฤตบ้าง คำฝรั่งบ้าง มาพูดถึงเรื่องนั้น เล็งสุดท้ายใช้พูดเล็งถึงสิ่งนั้น(นาทีที่59:45) คนก็งงกันเป็นส่วนมาก พวกชาวไร่ชาวนาฟังคำเหล่านี้ไม่ออก ฟังคำที่เขาพูดกันอยู่ในหมู่นักศึกษาไม่ออกเพราะเต็มไปด้วยคำที่มีมาจากภาษาอังกฤษ ภาษาสันสกฤต หรือภาษาอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่ไม่รู้ว่าอะไร นี่แหละเดี๋ยวนี้กลับใช้วิธีชนิดที่ไม่น่าใช้ ถ้าเราจะใช้วิธีที่พระพุทธเจ้าท่านใช้เราก็ไม่ต้องบัญญัติคำอะไรขึ้นมาใหม่ ใช้คำที่มีอยู่ก่อนแล้วในทางวัตถุนั้นมาเป็นเรื่องทางจิตใจก็ยังได้ หรือพยายามใช้คำที่ชาวบ้านทั่วไปเขารู้กันอยู่แล้วมาประกอบกันเข้าให้ดีๆ ก็ยังสำเร็จประโยชน์ได้ ไม่ต้องใช้คำที่ให้ยากลำบากแก่การฟังเพราะว่าเป็นภาษาต่างประเทศ นี่แหละคือวิธีการที่ต่างกันหรือหลักการที่ต่างกันในการที่จะพูดจาในการที่ใช้ถ้อยคำสำหรับระบายความรู้สึก พระพุทธเจ้าท่านใช้คำเดิมแต่ให้มีความหมายที่ลึกกว่าเหมือนกับคำว่าเป็นคนไม่มีศรัทธา เป็นคนอกตัญญู เป็นคนตัดที่ต่อแห่งเรือน เป็นคนหมดโอกาส เป็นคนสิ้นหวัง เหล่านี้เป็นคำที่ฟังออกทันทีแล้วไม่เข้าใจ แล้วก็คิดนึกอีกนิดหนึ่งว่าถ้าเป็นเรื่องทางจิตใจมันจะมีคำอธิบายว่าอย่างไร ซักไซ้กันไม่กี่คำก็เข้าใจได้แล้วไม่รู้จักลืมเพราะเป็นคำที่สะกิดใจเหลือเกิน สะดุดใจเหลือเกิน ถึงกับที่เรียกว่าทำให้เกิดใจเต้นเพราะความงุนงงในชั้นแรก ต่อเมื่อได้รับคำอธิบายเข้าใจแล้วแม้จะหายงุนงง หายตื่นเต้นแล้วมันก็จำได้ไม่มีวันลืม เราควรจะถือเอาวิธีการอันนี้มาใช้อย่างพระพุทธเจ้าท่านใช้บ้าง อย่าได้อุตริใช้คำที่แปลกประหลาดออกไป ทำให้มันลำบากหลายอย่างเพิ่มความลำบากขึ้นมาอีกหลายอย่างหลายทิศหลายทาง เอาแต่เท่าที่มันมีอยู่แล้วเป็นหลัก ให้ความหมายที่แปลกออกไปเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี มันก็จะต้องเป็นการกระทำที่ดีกว่าง่ายกว่ามีประโยชน์กว่าหรือสะดวกกว่าเป็นแน่นอน
ทั้งหมดนี้เท่าที่นำมาอธิบายนี้ก็เพื่อหวังผลอย่างเดียวดังที่กล่าวมาแล้วว่า ต่อไปนี้จงสนใจในสิ่งที่เรียกว่าความหมายของถ้อยคำนั้นให้มากเป็นพิเศษเถิด ท่านจะเป็นผู้มีสติปัญญาแตกฉานเข้าใจอะไรได้ทันที สิ่งที่เรียกว่าปัญหาหรือปริศนาก็จะหมดไป ไม่มีใครมาเขียนรูปภาพหรือคำพูดชนิดที่ทำให้เรากลายเป็นคนโง่ งง ชะงักไปเหมือนกับไก่ตาบอดอีกต่อไปเป็นแน่ ในตึกหลังนี้ที่เรียกว่าโรงมหรสพทางวิญญาณก็เต็มไปด้วยภาพปริศนา คนโดยมากพูดว่ามันช่างเข้าใจยากเสียจริงๆ นี้ก็เพราะว่าคนเหล่านั้นเป็นคนที่ไม่คุ้นเคยกันกับสิ่งที่เรียกว่าความหมายหรือความหมายที่พิเศษเฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี เฉพาะชั้น ถ้าเป็นคนที่คุ้นเคยกันอยู่กับการตีความหมายหลายๆ แง่ หลายๆ มุมแล้ว สิ่งเหล่านี้จะไม่กลายเป็นของยาก จะไม่เป็นปริศนา จะเป็นของธรรมดาไป แต่ว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่า ดังนั้นถ้าใครอยากจะให้สิ่งที่เป็นปริศนาหมดความเป็นปริศนาต่อไปในอนาคตแล้ว ก็จงพยายามสะสมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและการตีความหมายในทำนองที่กล่าวมาแล้วนี้ให้เพียงพอเถิด จะไม่มีอะไรเป็นปริศนา คือว่าจะเข้าใจได้ทันทีที่ได้เห็น หรือได้ยิน ได้ฟัง มันก็ย่อมเป็นการสนุกดีกว่าที่จะเต็มไปด้วยปัญหาอันมืดมน ทีนี้จะทำอย่างไรจะฝึกฝนอย่างไรมันก็ไม่มีอะไรนอกจากทำกันไปให้ชิน ทำไปจนชิน ขยันไปดูรูปภาพเหล่านั้น อ่านข้อความเหล่านั้น ศึกษาค้นคว้าในเรื่องความหมายของมันอยู่เรื่อยไป ไม่เท่าไรก็จะกลายเป็นของธรรมดา นี้หมายความว่าเราฉลาดขึ้นแล้วมากโขทีเดียว ต่อไปก็จะมองเห็นอะไรได้เองโดยไม่ต้องมีใครมาอธิบาย จงรีบลับคมของปัญญาให้ปัญญามันมีความคมมากขึ้นไปด้วยการตีความหมายหรือที่เรียกว่าคิดปริศนานี้ให้เป็นของเล่นเป็นประจำวันเถิด จะมีผลดีกว่าที่จะไปเล่นของอย่างอื่นซึ่งเป็นของเหลวแหลกเหลวไหลไร้สาระ เป็นของเด็กอมมือ เป็นพระ เป็นเณร เป็นคนแก่คนเฒ่าแล้วก็ยังไปหลงใหลสิ่งที่เป็นของเด็กอมมือ ไปหัวเราะกันได้ทั้งๆ วันด้วยเรื่องที่เล็กๆ น้อยๆ ไม่มีความหมายอันลึกซึ้งอะไร นี้เรียกว่าทำให้เวลาเสียไปไม่สมกับการที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อติโรจติ ปญฺญาย, สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก คำพูดนี้มีความสำคัญมากเพราะมันแปลว่า สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นย่อมรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา เดี๋ยวนี้รุ่งเรืองอยู่ด้วยอะไรลองพิจารณาดูกันทุกๆ คนเถิด บางทีจะรุ่งเรืองอยู่ด้วยความโง่ ความอัดอั้นตันใจ อะไรๆ ก็เป็นปริศนามืดมนไปหมด รุ่งเรืองอยู่แต่ด้วยปริศนา อะไรๆ ก็เป็นปริศนาเป็นปัญหาที่คิดไม่ออกไปหมด อย่างนี้ไม่ใช่สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วันนี้ก็เป็นวันวิสาขบูชา เราประกอบการบูชาอย่างสิ้นสุดความสามารถของเราเพื่อจะบูชาพระพุทธเจ้า คือบูชาบุคคลที่เป็นจอมปัญญา เป็นสาวกของบุคคลผู้ที่เป็นจอมปัญญา ทำทุกอย่างเพื่อจะมีปัญญาอย่างพระศาสดา ดังนั้นจึงควรจะฝึกฝนตนให้เป็นผู้มีความสามารถในการตีความหมายของคำที่ใช้พูดจา และคำที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในลักษณะเป็นการทดสอบ เป็นบทเรียนสำหรับเราจะได้คิดนึกศึกษากันต่อไป เมื่อเป็นดังนี้ก็หมายความว่าการขยันฝึกฝนอบรมตนให้เป็นผู้ฉลาดในการตีความหมายนั้นก็เป็นการบูชาแก่พระพุทธเจ้าอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ทำไปๆ ด้วยความเหนื่อยยากลำบากนั้นก็เป็นการบูชาคุณของพระพุทธเจ้าซึ่งได้ตรัสรู้สิ่งที่ลึกซึ้ง และนำมาแจกจ่ายแก่เรา เรายินดีต้อนรับเอา พยายามจะขบให้แตกด้วยปัญญาอันลึกซึ้งอย่างเดียวกัน ถ้ากระทำในวันนี้ก็จะเป็นการบูชาที่ดี เป็นวิสาขบูชาที่ดีกว่าที่จะกระทำไปตามธรรมดาสามัญเป็นแน่นอน จึงได้เอามาพูดในวันนี้เป็นที่ระลึกแก่วิสาขบูชาว่าสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจงรีบพยายามกระทำตนให้เป็นผู้รุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญาจงทุกๆ คนเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้