แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้จะได้พูดกันถึงธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือต่อไปถึงอิทธิบาทข้อที่ ๓, ๔ ในฐานะที่มันเนื่องกันหรือว่าสะดวกที่จะพูดคราวเดียวกัน ในคราวที่แล้วมาได้พูดถึงอิทธิบาทข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ คือฉันทะ กับวิริยะ นี่ยังเหลืออยู่แต่ข้อที่ ๓ ที่ ๔ คือ จิตตะ และวิมังสา
เรื่องอิทธิบาทนี้ ตามตัวหนังสือที่แปลออกมาหรือสอนกันอยู่นั้นมันกำกวม ให้ความกระจ่างไม่ค่อยชัด ฉะนั้น อยากจะแนะถึงความหมายที่ชัดเจน ไม่กำกวม ที่นักเรียนท่องกันอยู่ทั่วไป ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ วิมังสา ความสอดส่อง ที่ว่ากำกวมนั้น มันเกือบจะแทนกันได้ คือเป็นเรื่องทางจิต เป็นสมาธิ เป็นจำพวกสมาธิด้วยกันเป็นส่วนมาก เป็นความเพียร ความเอาใจใส่ หรือแม้แต่ความพอใจ ถ้าจัดก็ต้องจัดเป็นพวกสมาธิ วิมังสาเป็นพวกปัญญา หรือถ้าว่ามีความเพียร มันก็มีความเอาใจใส่อยู่แล้ว มองกันในแง่นี้ ถ้าใครมีความเอาใจใส่ มันก็คือมีความเพียร มันเป็นความกำกวม ทีนี้เพื่อไม่ให้กำกวม ก็ระบุลงไปให้ชัดว่า ฉันทะนั้นคือความพอใจ รักที่จะทำ วิริยะคือใช้กำลังทางกาย จิตตะ ใช้กำลังจิต วิมังสา ใช้กำลังปัญญา เมื่อเรามีความพอใจจะทำสิ่งใด เราก็ใช้กำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญา นี่มันจึงมาด้วยกัน พอใจ ทำ แล้วก็ทำด้วยกำลังกาย ทำด้วยกำลังจิต ทำด้วยกำลังปัญญา อย่างนี้ก็ไม่กำกวม
ทีนี้ข้อแรกที่จะพูดให้รู้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ธรรมะนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่พูดง่ายจนเด็ก ๆ ก็จะพูดได้ แล้วก็เกิดความไม่สนใจ ไม่เอาจริงเอาจัง เมื่อพูดขึ้นว่า เอ้า, ก็อยากทำ ก็ใช้กำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญา คนสมัยนี้อาจจะเห็นว่า เอ้า, มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ๆ ไม่วิเศษวิโสอะไรที่ไหน นี่คือข้อที่เขาลืมไปว่า มันยากอยู่ที่ทำ มันง่ายนิดเดียวที่จะพูด เกี่ยวกับข้อนี้ก็อยากจะให้นึกถึงอุปมา หรือว่าจะเป็นเรื่องจริงก็ตามใจ ที่เป็นภาพล้อ ที่เขียนไว้ในตึกนั้นอีกภาพหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพนิทานของพวกเซนเล่าถึงเรื่องพระองค์หนึ่ง มีชื่อเสียงมากในทางสติปัญญาความรู้ การปฏิบัติ เล่าลือกระฉ่อนไปทั้งบ้านทั้งเมืองหรือทั้งประเทศ ทีนี้เทศาหรือข้าหลวงประจำมณฑลก็อยากจะนิมนต์ไปที่บ้าน พระองค์นี้ก็ไม่รับนิมนต์หรือนิมนต์แล้วก็ไม่ไป จนต้องมาหาเอง พระองค์นี้นั่งอยู่บนต้นไม้ บนกิ่งไม้ ที่จากแต่ก่อนนั่งได้ นั่งทำสมาธิ นั่งคิด นั่งนึกอะไรอยู่บนยอดไม้ ไม่ใช่ยอดสุด คือว่า ไม่ใช่กิ่งที่มันสูง ๆ ที่พอนั่งได้สบาย พอเทศามาถึง เห็นอย่างนี้เข้าก็แสดงภูมิ ทักท้วงว่าท่านทำอย่างนั้นมันไม่ถูก เป็นอันตราย คือมันจะตกลงมาตาย ท่านอาจารย์องค์นี้ก็บอกว่าการเป็นเทศานั่นแหละอันตราย และอันตรายกว่า อย่างน้อยก็อันตรายกว่า ทีนี้เทศาก็ฉุน ก็ชะงัก นิ่งอึ้งไป ก็เป็นคนฉลาด พอพูดเท่านี้ก็เข้าใจได้ว่าหมายความถึงอะไร เทศาก็เลยถือโอกาส ถามว่าถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงดี จะปฏิบัติยังไงดีจึงจะพ้นจากความเป็นอันตราย ท่านองค์นั้นก็ตอบว่า ก็อย่าทำความชั่ว ทำแต่ความที่ดีก็แล้วกัน ทีนี้เทศาที่ฉลาดมันก็กลายเป็นคนโง่ถนัดใจเข้าไปทีเดียว ก็พูดว่า เฮ้อ, พูดอย่างนี้ เด็กอายุ ๓ - ๔ ขวบก็พูดได้ อย่าทำชั่ว ทำดี ท่านองค์นั้นก็ตอบว่า เด็ก ๓ ขวบพูดได้ แต่หัวหงอกอายุ ๘๐ ก็ปฏิบัติไม่ได้ เทศาก็เข้าใจอีกครั้งหนึ่ง มันมีแง่คิดหรือแง่ที่ต้องมองให้เห็นว่า เทศานี่เป็นคนฉลาดมาก จึงได้เป็นเทศา และก็พูดคำเดียวว่าเป็นเทศานั่นเป็นอันตราย ไม่ใช่นั่งบนยอดไม้ที่จะเป็นอันตราย ทีนี้แกก็ฉลาดมากที่จะเข้าใจว่า เป็นเทศาอันตรายจริง คือภายนอกก็มีคนคิดทำลาย ภายในก็มีเรื่องยุ่งใจมาก มีจิตใจที่เป็นกิเลสมาก เป็นอันตรายจริง แต่พอบอกว่าให้เว้นทำชั่ว ทำแต่ดีนี่ ก็กลายเป็นคนโง่ขึ้นมา ถึงกับพูดว่า ไอ้เด็ก ๆ มันก็พูดได้อย่างนี้
นี่ขอให้ทุกคน ๆ ระวัง เพราะว่าได้ยินไอ้คำพูด หรือคำสอน คำเตือนอะไรที่ออกมาง่าย ๆ อย่างนี้ ไอ้ความประมาทมันก็เกิดขึ้นทันที ปิดบังไอ้ประโยชน์ที่จะได้จากคำพูดที่ตัวเข้าใจว่ามันง่าย ๆ หรือบางทีอาจจะเข้าใจคำพูดโง่ ๆ ไปเสียเลย เช่นเรื่องอิทธิบาท ๔ นี้ ต้องคิดดูว่าพระพุทธเจ้าตรัส ทีนี้มันก็มีแต่เพียงว่า พอใจ ก็ใช้กำลังกาย ใช้กำลังจิต ใช้กำลังปัญญา ไอ้คนที่เจริญสมัยนี้ แม้พวกฝรั่งเช่นนี้ก็พูดง่าย ๆ โง่ ๆ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะฟัง คล้าย ๆ กับว่าเด็ก ๆ มันก็พูดได้ ที่จะพูดว่าพอใจ ก็ใช้กำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญา เป็นคำพูด มันต้องกลายเป็นคำพูดที่ง่าย พูดง่าย ด้วยคำพูดของคนโง่ กำปั้นทุบดินไม่มีผิดเลยเห็นไหม ทีนี้กลัวว่า คำสอนอื่น ๆ ก็เหมือนกัน พอได้ยินก็เกิดความรู้สึกชนิดที่เห็นว่าเป็นคำพูดที่ง่าย ที่โง่ มันก็ไม่ได้เอาใจใส่ ไม่ได้สนใจ ไม่ได้เอาใจใส่อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทนั่นเองเอาใจใส่ในคำตรัส คำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างผิวเผินไปเสียทั้งนั้น มันคงจะเนื่องมาตั้งแต่เป็นเด็ก ๆ ไม่เอาใจใส่ในคำสอน คำเตือนของบิดามารดา ครูบาอาจารย์มาอย่างแท้จริง เอาใจใส่อย่างผิวเผินเพราะเป็นเด็ก มีความรู้สึกประสาเด็ก ฟังอะไรออกเท่าไรก็คิดว่าหมดเท่านั้น ความหมายความลึกซึ้งมันหมดเท่านั้นเอง ถ้ามันแถมมีสิ่งอื่นที่สนุกสนานยั่วยวนเข้ามาแทรกแซงด้วย มันก็ฟังไม่ดี ฟังคำตักเตือนสั่งสอนนั้นไม่ดี ไม่จริง ไม่ลึก ฟังอย่างผิวเผินแล้วมันก็ว่าเท่านั้นเองแหละโว้ย นี่เด็ก ๆ มันจะเป็นเสียอย่างนี้โดยมากจนโต จนชินเป็นนิสัย ที่ฟังอะไรด้วยความทะนงใจ เชื่อตัวเอง เท่านั้นแหละ ๆ ความหมายเท่านั้นแหละ นี่มันก็มาจนถึงเดี๋ยวนี้ มาบวชเป็นพระเป็นเณร ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่มีผู้นำมาสอน ก็เห็นเป็นเรื่องเด็กก็พูดได้ อย่างในนิทานตัวอย่าง ถึงน่าจะเอาใจใส่บ้าง รู้สึกเป็นของแปลกบ้าง มันก็คิดนิดเดียว ยังไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำไป เพราะไม่เข้าใจความหมายอันแท้จริงของคำสั่งสอนเหล่านั้นอย่างเพียงพอ ไม่ถึงครึ่ง
ฉะนั้นความสนใจมันก็น้อย ไอ้ที่เรียกว่าฉันทะมันก็มีน้อย ทีนี้อื่น ๆ มันก็น้อยไปหมด ไอ้จิตตะ ไอ้วิริยะ จิตตะ วิมังสาก็พลอยน้อยไปหมด อิทธิบาทมันก็ไม่มีโดยไม่รู้สึกตัว วันคืน ๆ ล่วงไปโดยมีอิทธิบาทน้อย ไม่พอใช้ ก็โดยไม่รู้สึกตัว ขอให้ไปคิดไปนึกกันเสียใหม่ ตั้งต้นคิดนึกกันเสียใหม่ ทบทวนมาตั้งแต่เป็นเด็ก ที่มันมีความสนใจหรือฟังหรืออะไรเพียงผิวเผิน ความประมาทมันเป็นของกิเลส มันเป็นอุปสรรคหรือเป็นศัตรู มันเป็นคนละฝ่ายกันกับโพธิหรือปัญญา ทีนี้คน ๆ หนึ่งนี่มันมักจะเป็นฝักใฝ่ของกิเลสเสียมากกว่า ก็เรื่อย ๆ มาจนเป็นนิสัย ทีนี้ส่วนที่เป็นฝ่ายโพธิหรือความไม่ประมาทตอนนี้มันก็น้อยมาก มีน้อยมาก แล้วมันก็อวดดี เป็นเจ้าเรือน งั้นคนที่ฉลาดก็มักจะโง่มากเพราะข้อนี้ เพราะคนฉลาดมันอวดดีมาก ก็โง่มาก เพราะว่าคนฉลาดนี้พูดอะไรมันก็มีแง่ที่คนอื่นเขาจะนับถือว่าเป็นคนฉลาด ตัวเองก็ภาคภูมิใจในการที่จะพูด มันก็มัวพูด บ้าน้ำลายเสีย นี่ความโง่ของคนฉลาดอยู่ที่นี่ ไอ้ความฉลาดก็กลายเป็นความโง่ไปทันที
นี่ความหมายสำคัญในเรื่องนี้นั้นก็คือจะขอร้องให้ทุกคนหยุด หยุดความเป็นอย่างนั้น หยุดชะงัก แล้วก็มาคิดดู มามองดู ว่าเรากำลังเป็นลูกน้องของเทศาคนที่ว่าอยู่เรื่อย เป็นคนฉลาด ไม่ใช่คนโง่ โดยพื้นฐานเป็นคนฉลาดอย่างยิ่ง แต่แล้วมันก็กลายเป็นคนโง่อย่างยิ่งเท่ากับความมากของความฉลาด ฉะนั้นคนฉลาดก็โง่ได้มากกว่าคนโง่ ถึงให้ระวังความฉลาดของตัวให้ดี ๆ ความทะนง ความเห่ออะไรนั้นให้ระวังให้ดี ๆ พูดภาษาธรรมดาคือความอวดดี ยิ่งอวดดีเท่าไร มันก็ยิ่งหมดดี เพราะมันเอาไปอวดเสียหมด มันก็เลยหมดดี ทีนี้คำว่าอวดดีนี่มันต้องตัดออกไปเลย ให้หย่าขาดกันเลย อย่าให้มี ที่แท้มันก็ทำยากที่สุดที่จะไม่อวดดี เพราะมันชินเป็นนิสัย มันรบกับความอวดดีนี่ชนะ ไอ้เรื่องต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นมาจริง ๆ ไอ้อวดดีมันคือโง่ทั้งนั้นเลย อวดดีนั้นคืออวดความโง่ ของดีมันก็ไม่จำเป็นต้องอวด เพราะไปอวดในท่ามกลางความโง่
การพูดนี้เป็นการพูดให้เห็นว่า การที่จะมีอิทธิบาทได้มันต้องหมดในความประมาท ความสะเพร่า ความอวดดี ความมองอะไรอย่างผิวเผิน ฟังอะไรอย่างผิวเผินนั้นเอง เพราะว่าจะต้องใช้ทั้งกำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญา อย่างถูกต้องและก็อย่างเพียงพอ ไอ้ถูกต้องนิดเดียวมันก็ใช้ไม่ได้ ต้องมากพอด้วย ในความถูกต้องต้องมากพอด้วย ฉะนั้นคนอวดดีจะเอามาแต่ไหน ลองคิดดู การกระทำที่มันถูกต้องและเพียงพอนั้นมันจะเอามาแต่ไหน เดี๋ยวนี้มันจะทำอะไร ได้ไม่ถึงครึ่งของที่ควรจะทำได้อยู่นั้นแหละ ครั้นนั้นก็คิดว่าทำได้หมด ทำได้ดี ทำได้มาก ทำได้เกินคนอื่น ทีนี้สิ่งที่เรียกว่าอิทธิบาทก็เกิดขึ้นมาได้ มันก็ล้มเหลวอยู่ในตัวมันเอง ในความคิดนึกของผู้ที่มีความคิดนึกรู้สึกอย่างนี้ นี่คือเรื่องที่อยากจะพูดแทรกแซงเข้ามาตรงนี้ ที่เราฟังอะไรผิวเผินและกำกวม แล้วก็สอนกันไปได้ทั้งที่มันเป็นคำพูดที่กำกวม
ทีนี้ก็เลยท่องกันไว้อย่างนกแก้วนกขุนทองในคำพูดที่กำกวม มันไม่ชัดลงไปได้ ว่าฉันทะคืออะไร วิริยะคืออะไร จิตตะคืออะไร วิมังสาคืออะไร และถ้ามีจิตตะเอาใจใส่ มันก็คือสอดส่องอยู่แล้ว นั้นก็คือวิริยะ ความพากเพียรอยู่แล้ว ก็เข้าใจอย่างนี้ ทีนี้เพื่อไม่ให้มันกำกวมพัวพันกันจนเลือนไปหมดนี่ก็อยากจะให้แยกออกไปให้ชัดเลยว่า ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ใช้กำลังกาย จิตตะ ใช้กำลังจิต วิมังสา ใช้กำลังปัญญา เหมาะที่จะไปเขียนติดไว้ข้างฝา ให้เตือนใจอยู่เสมอ แล้วก็ให้ระวังให้ดี เพื่อให้ทำให้ได้ เดี๋ยวมันก็จะกลายเป็นคำพูดง่าย ๆ ของคนโง่ ๆ ไปเสียอีก พูดกำปั้นทุบดินไม่มีผิด ฉันทะความพอใจก็รู้สึกว่าจะมีกันอยู่ทุกคน ตัวเองก็รู้สึกว่าตัวเองมีฉันทะ พอใจที่จะทำ แต่ไม่รู้ว่า เอ้า, มันมีอย่างผิวเผิน อย่างประเดี๋ยวประด๋าว อย่างผิวเผินอยู่เรื่อยไป หรือมันมีหลายฉันทะนัก นั่นก็จะเอา นี่ก็จะเอา โน่นก็จะเอา ให้มีเรื่องเพลิดเพลินหลายเรื่องนัก ไอ้ฉันทะมันก็เลยผิวเผิน ไม่รู้ว่าตัวจะต้องทำอะไร
คนที่ไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นอะไร ก็ไม่รู้จักว่าจะต้องทำอะไร มันก็ปล่อยไปตามอารมณ์ เมื่อพูดว่าฉันทะมันก็ต้องมี ปัญหาว่าจะฉันทะในอะไรกันแน่ เพราะธรรมะเหล่านี้มันเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่รู้จะเอาไปใช้อะไรกันแน่ มันก็ต้องมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนว่าจะทำอะไรกันแน่ แล้วจึงจะใช้เครื่องมือนั้นได้ แล้วก็มีเครื่องมือนั้นให้พอ ถ้ามันมีเรื่องจำเป็นหลายเรื่อง มันก็ต้องยกเอาเรื่องสำคัญขึ้นมาพูด แล้วถ้ามันหลายเรื่องพัวพันกัน มันก็ต้องรู้จักที่จะค้นหาให้พบต้นเหตุว่าข้อบกพร่องเหล่านี้ หลายเรื่อง หลายราว หลายฝ่าย หลายแขนงนี้ มันจะไปรวมอยู่ที่อะไรได้บ้าง แล้วก็จัดการกับเรื่องนั้นหรือที่ตรงนั้น มันก็จะแก้ปัญหาหลาย ๆ เรื่องพร้อมกันไปได้ ระวังให้ดีว่า คนมันเวียนหัว หรือเป็นโรคเส้นประสาทที่เป็นบ้าตาย ก็เพราะไม่ฉลาดในข้อนี้ มันมันโง่ ออกไปทำเรื่องให้มากเรื่อง แล้วถ้าโง่ลงโง่ขนาดนี้แล้ว ไอ้เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องมันก็เป็นเรื่องขึ้นมา เรื่องที่เล็กนิดเดียวมันก็เป็นเรื่องใหญ่โตได้ เป็นปัญหาขึ้นมาทันที ที่จริงไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่ปัญหา มันเล็กเกินไปเกินกว่าที่จะเป็นเรื่องเป็นปัญหา มันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ขนาดรบกวนจิตใจ รบกวนเส้นประสาท นี่ก็คือความโง่อย่างลึกซึ้ง อย่างเข้าใจยาก อย่างถอนได้ยาก
ก็ขอให้ไปสำรวจดูด้วย ว่าเราโง่ถึงขนาดที่มีความรู้สึกหวั่นไหวมาก ในเรื่องที่เรียกว่าเรื่องขี้ประติ๋วจริง ๆ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ก็ให้ถือว่าเป็นโชคร้าย อาการหนักมาก เหมือนกับว่าเป็นฆราวาสมีเรื่องมาก เขาก็เรียกฆราวาสมีเรื่องมาก รู้สึกกันทั่วไป หรือว่าทางศาสนาก็ยอมรับว่าฆราวาสมีเรื่องมาก นั่นน่ะมันฟังดูดี ๆ มันจะเป็นความโง่หรือความฉลาด รู้จักทำเรื่องมาก ๆ ให้มันเป็นเรื่องน้อย หรือกลายเป็นเรื่องเดี่ยว แล้วก็แก้ปัญหาให้มันได้ นี่คือการปฏิบัติธรรม นี่มันไปแยกเป็นเรื่องการงานที่ออฟฟิศบ้าง การสังคมบ้าง การครอบครัวบ้าง การเศรษฐกิจบ้าง ไอ้เรื่องส่วนตัว จิปาถะ ไอ้ความบังคับตัวไม่ได้ จะเอาแต่สนุกสนานอะไรตลอดบ้าง มันก็มากเรื่องจริงเหมือนกัน แต่ว่าไอ้ความยุ่งยากทั้งหมดนั้นอาจจะมาจากต้นเหตุเพียงอย่างเดียวก็ได้ ทีนี้เราอาจจะขมวดเข้าด้วยกันให้มันเป็นเรื่องที่จะแก้ไขให้ไปได้ในคราวเดียวกัน พูดภาษาผมที่ถูกด่าอยู่เสมอก็จะต้องพูดว่า มันต้องแก้ได้ด้วยจิตว่างอย่างเดียว ถ้ารู้จักทำให้จิตว่างได้อย่างเดียว ก็จะแก้ปัญหาเหล่านั้นกี่ร้อยกี่พันเรื่องได้หมด เพราะคำว่าจิตว่าง เราหมายถึงจิตที่เป็นอิสระ ไม่ก้มหัวลงไปเป็นทาสของสิ่งใด ทีนี้คนมันมีจิตที่ไม่ว่าง มันก็จะก้มหัวลงไปเป็นทาสของหลาย ๆ สิ่งหรือของทุก ๆ สิ่ง ทีนี้ถ้ามีจิตว่างถูกต้องตามความหมายของคำ ๆ นี้แล้วมันก็คือมีอิทธิบาทนั่นเอง สามารถที่จะใช้กำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญา ในทุกปัญหาทุกกรณีที่จำเป็น จิตที่เป็นอิสระนี้มันก็รู้จักเลือกที่จะพอใจอะไรที่ควรจะพอใจ ไม่พอใจพร่ำเพรื่อ หรือตีกันยุ่งไปหมด
นี่ธรรมะทั้งหมด มันก็สรุปได้ในคำ ๆ เดียวว่า ความไม่เห็นแก่ตัว ทีนี้การประพฤติธรรมทั้งหมดกี่อย่างกี่ร้อยอย่าง มันก็สรุปอยู่ในคำ ๆ เดียวว่าความไม่เห็นแก่ตัว ความชั่ว ความเลว อุปสรรคต่าง ๆ มันก็สรุปอยู่ในคำ ๆ เดียว ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวทำให้เกิดอะไรขึ้นมาร้อยอย่างพันอย่าง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเกลียด ความอิจฉาริษยา ความหม่นหมอง แม้แต่กระทั่งความสะเพร่า ความอวดดี มันก็ล้วนแต่มาจากความเห็นแก่ตัว ทีนี้ไอ้คำพูดว่าเห็นแก่ตัวนี้ มันก็ลึกมากจนคนทั่วไปไม่เข้าใจอีก ก็เข้าใจแต่เพียงว่า ความขี้เหนียว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เป็นความเห็นแก่ตัวเพียงเท่านี้ ที่จริงมันมากกว่านั้นหลายสิบเท่า คนเราหัวเสียก็เพราะความเห็นแก่ตัว มันไม่ได้ตามที่ตัวต้องการมันก็หัวเสีย ลูกน้องไม่ทำตามคำสั่งมันก็หัวเสีย แล้วก็ไปคิดดูว่ามันมาจากความที่เราเห็นแก่ตัวอย่างลึกซึ้ง แล้วมันก็แก้ไม่ได้ มันจะแก้ข้างนอกอยู่เรื่อย มันไม่แก้ข้างใน ทีนี้ก็เลยไม่เป็นการแก้ ไม่มีการแก้ที่ถูกต้อง ทำจิตให้เป็นอิสระจากความเห็นแก่ตัวซะก่อน ให้มากเข้าไป ลึกเข้าไป ทางจิตนี้มันจะได้ฉลาดจริง ว่องไวในหน้าที่ของมันจริง ๆ เดี๋ยวนี้มันได้เป็นทาสของสิ่งที่ตัวรักหรือพอใจ หรือเห็นแก่ตัว จิตนี้มันโง่ จิตนี้ไม่เป็นอิสระ ไม่ว่องไว ไม่แจ่มใส ไม่โปร่ง ไม่อะไรหมด แล้วจะเอากำลังจิตที่ไหนมาใช้ ที่เรียกว่าจิตตะ ในที่นี้หมายถึงกำลังจิต มันก็ไม่มี มันก็ท่องก็ท่องได้ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มันก็ท่องได้ และแล้วมันก็ไม่มีไอ้ของจริงที่ท่องนั้นเลย ฉันทะก็ไม่มี มีอย่างผิวเผิน วิริยะก็บ้าบิ่นไปเลย ใช้กำลังกายอย่างบ้าบิ่นไปเลย ทีนี้จิตตะนี้มันก็มีไม่ได้หรอก เพราะว่าจิตมันกำลังเป็นทาสของอะไรสักอย่างแล้ว มันก็ใช้อย่างบ้าบิ่นได้อีก ทีนี้กำลังปัญญามันก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน ยิ่งไม่มี เพราะมันเป็นความโง่เสียแล้ว เราจงมองให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องพูดได้ง่าย แล้วก็ทำได้ง่าย เด็ก ๆ ก็จะพูดได้แต่แล้วเด็ก ๆ มันก็ทำไม่ได้ คนแก่หัวหงอกก็ทำไม่ได้ ในการที่จะมีกำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญาอย่างถูกต้องนี่ เด็ก ๆ ก็พูดได้ คนแก่หัวหงอกแล้วก็ยังทำไม่ได้ ทีนี้คนหนุ่ม ๆ อย่างคุณก็ดูจะยิ่งยังทำไม่ได้ ในเมื่อคนแก่หัวหงอกแล้วก็ยังไม่ทำได้ ยังไม่เคยทำได้
ทีนี้เราจะมาถึงเรื่องอิทธิบาทโดยตรงกันสักทีว่า ฉันทะข้อที่ ๑ ก็พูดมาแล้ว วิริยะข้อที่ ๒ ก็พูดมาแล้ว ทีนี้ก็มาถึงจิตตะข้อที่ ๓ วิมังสาข้อที่ ๔ ซึ่งเราจะต้องพูดพร้อม ๆ กันไป สะดวกกว่า ไอ้เรื่องจิตตะหรือกำลังจิตนี่ คือกำลังของสมาธิ วิมังสา นี่มันเป็นเรื่องกำลังของปัญญา กำลังของจิตกับกำลังของปัญญา มันไม่ใช่อันเดียวกันเลย ไอ้คนที่ไม่เคยเรียนเรื่องทางศาสนามันก็เหมาเอาดื้อ ๆ ว่าเป็นเรื่องทางจิตทั้งนั้น ถ้าทางปัญญามันต้องคิดด้วยจิต ก็เลยเป็นเรื่องทางจิตไปหมด
ไอ้คำว่าจิตมันเป็นคำที่ทำความสับสนให้เกิดขึ้น แต่ว่าคำว่าจิตในภาษาบาลีนี้มันก็ยุ่ง มันเป็นเรื่องของภาษา ฟั่นเฝือไปในทางของภาษา รู้ไว้บ้างก็ดีว่า คำว่าจิตนี้ในภาษาบาลี ความหมายที่ ๑ เอามาจากทางต่ำก่อนดีกว่า ความหมายที่ ๑ มันแปลว่า วิจิตร หรือแปลว่างาม ที่เราพูดกันว่าวิจิตร วิจิตร สวยงาม ในภาษาบาลีมันมีแต่คำว่าจิตรตัวนั้น มันก็แปลว่า สวยงาม ทีนี้ภาษาสันสกฤต มันก็มีแต่คำว่าจิตรอย่างเดียว จิตรนี่ก็แปลว่าสวยงาม ซึ่งเราใช้คำเป็นภาษาไทยว่าจิตรกรรม นี่ก็ความหมายถึงศิลปะที่สวยงาม จิตตะหรือจิตรนี่แปลว่างาม บางทีก็เติมเข้ามาว่า วิจิตร หมายความว่ามันงามยิ่งขึ้นไป นี่ความหมายที่ ๑ มันแปลว่างาม ความหมายถัดขึ้นมา มันก็แปลมาว่าคิด คำว่าจิตรนี่แปลว่าคิด ทีนี้จิตทำงานมันก็คือคิด มันก็เรียกว่าจิต คือการคิด จิตแปลว่าตัวจิตก็ได้ แปลว่าการคิดของจิตก็ได้ มันสับสนกันอยู่อย่างนี้ และจิตอีกความหมายหนึ่งแปลว่าก่อสร้าง เหมือนกับปลวก มันก่อจอมปลวกนี่ที่มันก่อขึ้นมานี้ทีละนิด ๆ ในการก่อขึ้นมาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เรียกว่าจิตเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องทางวัตถุ ถ้าเป็นเรื่องทางจิต ก็คือว่าก่อ ก่ออะไรขึ้นมา สร้างสรรค์อะไรขึ้นมา ก่อสร้าง มันไม่มี ทำให้มันมี สร้างขึ้นมา ใช้คำว่าจิตรนี้เหมือนกัน นั่นน่ะมันมากพอที่จะยุ่ง อาจปนกันยุ่ง แปลว่างามก็ได้ แปลว่าตัวจิตนั่นเองก็ได้ เราว่าความคิดของจิตก็ได้ ถ้าเราก่อ ก่อหวอด ก่ออะไรขึ้นมาก็ได้ เจอนักเลงภาษา ก็เล่นไปตามวิธีของภาษา ก็พยายามอธิบายให้มันเป็นอันเดียวกันก็ได้ เพราะว่าจิตมันก็คือตัวคู่คิด ในตัวคู่คิด ถ้ายังไม่มีความคิด มันจะเป็นคู่คิดได้อย่างไร ในขณะที่เป็นคู่คิด มันก็หมายความว่ามันมีความคิดอยู่แล้วในคู่คิดนั้น ถ้ามันเกี่ยวกับความคิดแล้วมันก็ต้องก่อเสมอ คือก่ออะไรขึ้นใหม่ ๆ เสมอ มันก็คือก่อขึ้นมา และทั้งหมดนั้นแหละมันคืองาม อย่างน้อยที่สุดมันงามก็เพราะว่าก่ออะไรขึ้นมาใหม่ ๆ แปลก ๆ จากเดิม มันจึงงาม นี่แหละมันตีกันยุ่ง หรือมันพัวพันกันยุ่งอย่างนี้ คำว่าจิต
ทีนี้มาถึงคำว่าจิตในเรื่องของเราคืออิทธิบาทนี้ หมายถึงกำลังจิต กำลังสมาธิ หรือคุณภาพของจิต คุณภาพส่วนที่พึงปรารถนาของจิต เรียกว่า กำลังจิต กำลังสมาธิ มันเลยเพ่งเล็งไปในส่วนที่อบรมดีแล้ว คือจิตที่อบรมดีแล้ว เดินมาถูกทางแล้ว จึงจะมีคุณสมบัติอันนี้ ก็มีกำลังมหาศาลของมัน นี่คุณมองให้ดี มันไม่ใช่เรื่องของปัญญา ซึ่งก็เป็นจิตด้วยเหมือนกัน เรื่องของวิมังสาและปัญญามันจะมาอีกทีหนึ่งทีหลัง
ทีนี้เราพูดกันแต่เรื่องของฝ่ายจิตล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับปัญญา ต้องการคุณสมบัติของจิตที่อบรมดีแล้วอย่างเต็มที่ cultivate และ develop ดีแล้วอย่างทุกวิถีทาง เป็นจิตที่มีสมรรถภาพเต็มที่ อันนี้เราเรียกว่ากำลังจิต ทีนี้กำลังจิตมี เอาละมี ทีนี้ก็มีปัญหาว่าใช้ยังไง มีกำลังเยอะ ๆ ไม่ใช้มันจะมีประโยชน์อะไร เอาละใช้ละ ทีนี้ใช้ละ มันยังมีปัญหาว่าใช้ถูกหรือใช้ผิดแหละ ถ้ามันใช้มุทะลุดุดันไปตามกำลังของฉันทะบ้า ๆ บอ ๆ มันก็ผิดกันหมด ดังนั้นมันก็ต้องมีไอ้เรื่องของปัญญาของอะไรนำหน้ามาก่อนแล้วทั้งนั้น มันจึงจะใช้กำลังจิตถูกต้อง เดี๋ยวนี้เราจะต้องมีจิตที่อบรมดีแล้ว มีกำลังมากพอ มาใช้เป็นเครื่องมือข้อที่ ๓ ที่เรียกว่าจิตตะ อิทธิบาทนี้ ทีนี้จะอบรมจิตให้มีกำลังอย่างไร นี่เราจะไว้พูดกันในเรื่องการอบรบจิตโดยเฉพาะ คืออาณาปานสติภาวนาโดยเฉพาะ เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันแต่ในฐานะจิตที่เป็นอิทธิบาท คือเอามาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับให้สำเร็จประโยชน์ ก็เลยพูดถึงจิตที่อบรมแล้ว จะเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการมีกำลังทางจิต คือว่าจิตที่เป็นสมาธิแล้ว จิต คำว่าจิตในที่นี้ หมายถึงจิตที่เป็นสมาธิแล้ว ให้ถูกใช้อยู่เรียกว่าจิตตะ ในที่นี้คือข้อที่ ๓ ของอิทธิบาทนี้ ที่เป็นนักเรียน นักธรรม ก็คือวาจาคำสอนของนักธรรม คงจะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า คำว่าสมาธิกับคำว่าจิตนี้ใช้แทนกันได้ในกรณีอย่างนี้ เช่น สิกขา ๓ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา ไอ้สมาธิสิกขานั่นเราไม่เคยพูดกัน จะใช้คำว่าจิตสิกขา ใครเคยเป็นนักเรียน นักธรรม เคยสอนนักธรรมก็ให้ไปดู เคยพูดมาเองแล้วทั้งนั้น ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ไม่ได้พูดว่าศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา เพราะว่ามันไม่มีใครพูด แต่ที่แท้มันก็คืออันเดียวกัน สมาธิสิกขากับจิตสิกขาน่ะเป็นอันเดียวกันสิ่งเดียวกัน ดังนั้น จิตในที่นี้หมายถึงสมาธิ หมายถึงกำลังสมาธิ ถ้าคำแปลในแบบเรียน ก็แปลว่า ความเอาใจใส่ ความเอาใจใส่ผมเห็นว่ามันยังน้อยไป จึงให้คำจำกัดความเสียใหม่ว่า การใช้กำลังจิต วิริยะ ใช้กำลังกาย จิตตะ ใช้กำลังจิต วิมังสา ใช้กำลังปัญญา
ทีนี้จิตที่จะเอามาใช้ในกรณีนี้ ต้องเป็นจิตที่เป็นสมาธิ ทีนี้ความหมายของคำว่าสมาธินี้ ก็พูดให้ฟังหลายหนแล้ว หลายครั้งแล้ว ย้ำคือระบุออกไปอีกเพราะว่า ได้แก่จิตที่บริสุทธิ์ หรือไม่เจืออยู่ด้วยกิเลส แล้วก็ได้แก่จิตที่มั่นคง แล้วก็ได้แก่จิตที่ไวต่อหน้าที่ของมัน ๓ อย่างนี้ เรียกว่า ฝึกจิตเป็นสมาธิ บาลีก็ว่า ปริสุทโธ บริสุทธิ์ สมาหิโต มั่นคง กัมมนีโย เหมาะสมแก่การงานหน้าที่ ถ้าเราครบคุณสมบัติอย่างนี้ แล้วก็อย่าเรียกว่ามีสมาธิเลย ไม่ครบคุณสมบัติ ๓ อย่างนี้แล้วก็อย่าเรียกว่ามีจิตตะในที่นี้เลย ในกรณีของอิทธิบาทนี้ คำว่า จิตตะ ในกรณีของอิทธิบาทนี้ จะต้องเป็นจิตที่เป็นสมาธิมีกำลังแรง ประกอบอยู่ด้วยคุณสมบัติ ๓ อย่างดังที่กล่าวแล้ว เด็กอมมือพูดได้ เด็ก ๓ ขวบพูดได้แต่หัวหงอกปฏิบัติไม่ได้ มันก็ปรากฏออกมาให้เห็น มันพูดว่าใช้กำลังจิต มันก็พูดได้ แต่ใช้มันได้หรือไม่นี่ เอามาแต่ไหนใช้ มันก็มีปัญหา เป็นการล้มเหลวกันที่ตรงนี้ ทีนี้ไปฝึกจิตให้สามารถที่จะเอามาใช้ได้ ให้มีกำลัง เอามาใช้ได้ จึงจะชื่อว่ามีจิตตะ มีจิตตะในที่นี้ ไม่เพียงแต่เอาใจใส่ในความหมายธรรมดา เอาใจใส่ในความหมายธรรมดา มันก็เป็นความสนใจเอาใจใส่ ถ้ามีฉันทะมันต้องเอาใจใส่เป็นอัตโนมัติ เหมือนกับรักอะไรมันก็เอาใจใส่ในสิ่งนั้น นี่เป็นสัญชาตญาณ ดังนั้นคำว่าจิตตะในที่นี้ จะเป็นแต่เพียงเอาใจใส่ตามธรรมดานั้น เป็นไปไม่ได้ มันต้องมากถึงขนาดที่ใช้กำลังจิตทั้งหมด นี่พูดถึงแต่หัวข้อว่า จิตที่เป็นสมาธิ มีกำลังเต็มที่ ทีนี้จะมีได้อย่างไร มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องการปฏิบัติในสมถภาวนา มีรายละเอียดของมันต่างหาก ยืดยาว
ทีนี้ก็เลยพูดถึงข้อที่ ๔ คือวิมังสา นี่เป็นเรื่องของปัญญาแท้ วิมังสาก็คือการพิจารณา ค้นคว้า พิสูจน์ ทดลอง เป็นภาษาวิทยาศาสตร์สมัยนี้ก็เพื่อให้ค้นคว้า พิสูจน์ ทดลองนั่นแหละ ที่เรียกว่าวิจัยหรืออะไรพรรณนี้ มันก็หมายถึงวิมังสาในที่นี้ ค้นมา แล้วก็พิสูจน์ แล้วก็พบ แล้วก็ทดลอง นี่เรื่องทางฝ่ายวัตถุ ปัญญาทางฝ่ายวัตถุ เหมือนที่ใช้อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน นี่ถ้าเป็นเรื่องของพุทธศาสนา มันก็ใช้หลักอันนั้นแหละ ค้นคว้า เอามา แล้วก็พิสูจน์ แล้วก็ทดลอง แต่ว่าวัตถุที่ถูกกระทำนั้นมันไม่ใช่วัตถุ มันเป็นเรื่องทางนามธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิเลส เกี่ยวกับโพธิ เป็นเรื่องนามธรรม ไม่ใช่วัตถุที่จะสร้างจรวด จะสร้างปรมาณูอะไรกัน นี่เป็นเรื่องทางนามธรรม และยังเป็นเรื่องทางสติปัญญา ไม่ใช่เรื่องสมาธิ สมาธิเป็นเพียงกำลัง กำลังงาน ไม่เกี่ยวกับความรู้ แต่วิมังสามันเป็นเรื่องของความรู้ แล้วมันก็เลยเป็นกำลังขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งที่เป็นกำลังปัญญา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณจำคำไว้อีก ๓ คำชุดหนึ่ง ๓ คำว่า กาย จิต แล้วก็ทิฐิ เป็นหลักที่ใช้พูดทั่วไปในพุทธศาสนา คำว่ากาย แล้วคำว่าจิต แล้วคำว่าทิฐิ เราทำผิดทำถูกกันอยู่ใน ๓ อย่างนี้ เท่านั้นน่ะ ไม่มีมากกว่านี้ ไอ้เรื่องกาย มันก็กายหรือวัตถุนี้แหละ ไอ้เรื่องจิตมันก็จิตล้วน ๆ อย่างที่ว่า ไอ้เรื่องทิฐินั้นมันก็ความคิดเห็น มันไม่ใช่ตัวจิตหรือตัวสมาธิ มันเป็นความคิดเห็นของจิต เราต้องมีกำลังกายที่ถูกต้อง เราต้องมีกำลังจิตที่ถูกต้อง แล้วก็มีกำลังใจ กำลังแรงของใจที่ถูกต้อง แล้วก็มีกำลังทิฐิ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง เราทำผิด เราก็ทำผิดทางกาย แล้วก็ไม่มีกำลังจิต แล้วก็มีความคิดเห็นผิด นี่ความป่วยมันเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ หรือหลักที่เราพูดกันบ่อย ๆ เมื่อก่อนนี้ว่า ทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ Physical Mental Spiritual ๓ อันนี้ก็คือ ทางกาย ทางจิต ทางทิฐิ เรามีกายดี มีสุขภาพจิตดี แต่เรายังโง่ เรียกว่าเราเสียไปในส่วนทิฐิ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมีร่างกายสบายดี มีจิตใจเข้มแข็งปกติดี แต่เราเสียไปในทางทิฐิ คือความคิดเห็น คือสติปัญญา
ทีนี้ส่วนวิมังสานี้ มันก็เป็นเรื่องทิฐิที่ถูกต้อง คือเป็นสติปัญญา เป็นปัญญา ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะเรียกว่าวิมังสาของอิทธิบาทหรือ แม้เราจะพิจารณาจะสอดส่องอยู่อย่างไร แต่ถ้ามันผิด แล้วมันใช้ไม่ได้ มันยังไม่เป็นวิมังสาขึ้นมา วิมังสา แปลว่า ความสอดส่อง จริง แต่มันเป็นการสอดส่องที่ถูกต้อง จึงจะเรียกว่าวิมังสา ถ้ากำลังโง่ กำลังผิดอยู่ด้วยความคิดความเห็นแล้วมันก็ไม่ใช่วิมังสา มันเรียกว่าวิมังสาไม่ได้ มันก็จะเรียกว่ามิจฉาวิมังสาไปเลย เพราะมันเป็นไปไม่ได้ เพราะคำว่าวิมังสานี้เขาสงวนไว้ใช้แต่ในทางถูกต้อง ฉะนั้นมันเป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาจริงมันผิดไม่ได้ ถ้างั้นเราจึงไม่มีคำพูดว่ามิจฉาปัญญา แต่เรามีคำพูดว่ามิจฉาทิฐิ มีความเห็นผิด แต่ว่ามีปัญญาแล้วมันผิดไม่ได้ ถ้างั้นไม่ต้องพูดถึงว่ามีปัญญาผิด วิมังสานี่ก็เหมือนกัน ความถูกต้องทางทิฐิและปัญญา เรียกว่าวิมังสา ทีนี้ถ้าจะได้มาอย่างไร มันก็ต้องมาด้วยความพยายาม ทำการสอดส่องพิจารณาด้วยปัญญาอยู่เสมอ ฉะนั้นวิมังสาจึงหมายถึงการพิจารณาสอดส่องอยู่เสมอ นั่นแหละคือการใช้กำลังปัญญา จะเอาอะไรมาสอดส่องปัญญา มันก็ต้องเอาปัญญา มันก็ต้องมีปัญญาที่จะใช้ เป็นกำลังปัญญา ถ้าเรามีการใช้กำลังปัญญาอยู่อย่างถูกต้องเสมอ มันก็เป็นอันดับสุดท้ายของความสำเร็จของอิทธิบาท ดังนั้นมันก็มีชื่อเล่นว่า จิตตะหรือว่าวิมังสาอะไรก็ตาม เราก็เอาความหมายที่ชัดลงไปว่ากำลังจิต และกำลังปัญญา
เอาล่ะ ทีนี้ก็อยากจะแนะนิดเดียวก็คือว่า ชีวิตประจำวันของแต่ละคนนี่มันไม่กระจ่าง ไม่อยู่ในรูปที่กระจ่างหรือชัดเจนอย่างนี้ ว่าฉันทะเป็นอย่างไร วิริยะเป็นอย่างไร จิตตะเป็นอย่างไร วิมังสาเป็นอย่างไร มันแปลไปตามความคิดนึกชั่วขณะ สามัญสำนึกชั่วขณะ มันไม่มีการทำให้ดี ให้ถูกเฉพาะเรื่องทุก ๆ เรื่องไป เพราะเราไม่ได้รับการสั่งสอน ไม่ได้รับการอบรมในเรื่องนี้ เราคิดนึกอะไรด้วยสามัญสำนึก แล้วก็ชั่วขณะที่ผ่าน ๆ ไป ตามอารมณ์ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ในวันหนึ่ง ๆ อิทธิบาทไม่มีเลย ไม่ถึงขั้น ไม่ถึงความหมายของคำว่าอิทธิบาทเลย มันเป็นอิทธิบาทเด็กที่อยู่ในครรภ์แล้วก็ตายอยู่ในครรภ์แล้ว ๆ เร่า ๆ ให้คลอดออกมาเป็นคนเป็นผู้ใหญ่ ไอ้ที่บางคนประสบสำเร็จในการงาน ในเงิน ในเกียรติ ในชื่อเสียง มันก็ดูเป็นเรื่องทุกข์ ความเหมาะสมของคน ๆ นั้นในประเภทนั้นมากกว่า เพราะไม่ได้เคยรับการสั่งสอนที่ชัดเจนอย่างนี้ หรือว่ามันลุกเข้าไปผูกเข้าโดยบังเอิญ แล้วมันมาก ๆ คนมันก็ต้องมีทุกข์ มีถูกโดยบังเอิญ หรือว่าไอ้เรื่องที่ประสบความสำเร็จ เรื่องเงิน เรื่องเกียรติ เรื่องอะไรนี้ อย่าเอามาเป็นประมาณ เพราะว่าเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายอันธพาล ฝ่ายบาปมันก็มีได้ เราเลยไม่พูดถึงอิทธิบาทอย่างนี้
ทีนี้ถ้าเราได้บวชได้เรียนในพุทธศาสนาแล้ว ก็ลองเอาไปใช้ให้ถูกต้อง ในการที่มีฉันทะ พอใจ ใช้กำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญา ให้ถูกต้อง ให้ประสบความสำเร็จ อย่างที่เรียกว่าเราจัด เราทำ เป็น System ที่ดี เป็นการพัฒนาขึ้นมาโดยแท้จริง ลืมตาเห็นอยู่อย่างไร นี่จึงจะเรียกว่ามีอิทธิบาท ซึ่งวันนี้เราก็พูดกันได้แต่เพียงคราวหนึ่งของอิทธิบาท ๒ ข้อสุดท้ายตามนี้ เวลาของเราก็หมด