แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้จะได้กล่าวถึงธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือ คืออิทธิบาทข้อที่ ๒ เป็นลำดับไป ในวันที่แล้วมาได้พูดถึงอิทธิบาทข้อแรกที่มีชื่อว่าฉันทะ ซึ่งแปลว่าความพอใจ เป็นเหตุให้เกิดความสำเร็จอย่างยิ่ง จนถึงกับกล่าวว่า ถ้ามีความพอใจมันก็เท่ากับมีความสำเร็จตั้งครึ่งหนึ่งแล้วเป็นอย่างน้อย สมเป็นกำลังอะไรอันหนึ่งอย่างที่บอกไม่ถูก แล้วก็อยากจะให้สังเกตดู ตัวจริงของธรรมะข้อนี้ที่เรียกว่า ฉันทะ หรือความพอใจ เพราะว่าไอ้คำพูดคำหนึ่ง ๆ ที่เป็นชื่อของธรรมะนี้ ในบางกรณีมีความหมายกว้างมาก คนที่สะเพร่าหรือว่าอวดดีย่อมไม่เข้าใจความหมายทั้งหมดนั้น ไอ้คำว่าฉันทะ ฉันทะ ก็คือความพอใจ ถ้าสอนก็มักจะสอนกันเพียงเท่านี้เอง ก็คือว่าให้ดูที่ตัวจริงของมันก็คือ อย่าฟังแต่ชื่อหรือตัวหนังสือ แม้ว่ามันจะเป็นความรู้ทางจิตวิทยาไปบ้าง มันก็ยังเป็นเรื่องของธรรมะอยู่นั่นเอง คือให้ดูถึงตัวจริงของมัน เพราะการที่จะมีฉันทะความพอใจได้ มันก็ต้องมีความรู้ รู้จัก และก็มีความเชื่อ และก็จะต้องมีความแน่ใจ อย่างนี้เป็นต้นด้วย
เมื่อพูดถึงฉันทะว่าพอใจ มันก็ต้องมีความรู้จักสิ่งนั้นดีมันจึงจะพอใจ มันก็มีความไว้ใจในสิ่งนั้นว่ามันจะช่วยได้ มันจึงจะเกิดเป็นความเชื่อหรือศรัทธาหรือความแน่ใจ อธิษฐานจิต สัจจะอะไรขึ้นมา ทีนี้คนสะเพร่าหรือคนอวดดี มองแต่ว่าพอใจ พอใจ เราก็พอใจ มันก็พอใจแต่ปาก ทีนี้กำลังของความพอใจมันก็ไม่พอ มันเป็นของเด็กเล่น ทีนี้ธรรมะข้อถัดไป อิทธิบาทข้อถัดไปมันก็เลยล้มละลายไปตาม ๆ กัน นี่คือข้อที่เราทำอะไรไม่สำเร็จ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการปฏิบัติธรรม ขอให้เข้าใจให้ดีว่า คำพูดคำหนึ่งที่มาใช้เป็นชื่อของธรรมะอย่างหนึ่งนั้น โดยพฤตินัยมันย่อมกินความหรือรวบรวมเอาไอ้คุณสมบัติของธรรมของธรรมะที่อื่น ๆ เข้าไว้มาก ถ้าคนเป็นนักค้าน มันก็ควรจะค้าน และมันก็อาจจะรู้ว่าการค้านว่าเอาศรัทธาไปไว้ที่ไหน เราเคยได้ยินว่าศรัทธาก็เป็นธรรมะสำคัญ เดี๋ยวนี้มันก็อยู่ในคำว่าฉันทะนั่นเอง สัจจะอธิษฐาน มันก็รวมอยู่ในคำว่าฉันทะนั่นเอง แต่มันอาจจะกระจายไปอยู่ในที่อื่น เช่นคำว่าปัญญา มันก็ต้องมีก่อน และมันก็ต้องมีมากในส่วนที่เรียกว่าวิมังสา ข้อที่ ๔ ความปักใจมั่นมันก็ไปมีในข้อที่ ๒ ที่ชื่อว่าจิตตะ การกระทำลงไปจริง ๆ มันก็เป็นข้อที่ ๒ คือวิริยะ วันนี้ราก็จะพูดถึงข้อที่ ๒ คือ วิริยะ
สำหรับคำว่า วิริยะ ควรจะได้พิจารณากันในแง่ของคำ หรือคำพูดนี้กันสักหน่อยด้วยเหมือนกัน เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าวิริยะ คือความเพียร แต่เราก็ไม่ควรจะแปลเป็นภาษาไทย มันก็แปลกประหลาดที่ว่าไอ้คำว่าเกี่ยวกับความเพียรนี้มันเป็นคำที่ใช้เป็นภาษาบาลีอยู่ตามเดิมเช่นคำว่า เช่นเดียวกับคำว่าธรรมะเราไม่แปล ใช้คำว่าธรรมะไปตามเดิม ไอ้คำว่าวิริยะนี้ก็เหมือนกัน เราใช้คำว่าวิริยะไปตามเดิม ที่แปลว่าความเพียรนั้นมันไม่ได้แปล มันเพียงแต่เอารูปไปเปลี่ยนเป็นภาษาที่ถนัดสำหรับคนไทย คำว่าเพียร ก็คือคำว่าวิริยะนั่นเอง อย่าเข้าใจว่าไอ้คำไทยนั้นมันเป็นความเพียร คือคำว่าวิริยะอุตสาหะ หรือพยายาม คำว่าพยายามคือภาษาบาลีตรงตัว ตัวอุตสาหะก็เหมือนกัน นี่มันเป็นการแสดงวัฒนธรรมไทยทางภาษา มันเป็นเมืองขึ้นแก่อินเดีย เป็น Colony ทางวิญญาณทางภาษาแก่อินเดีย ใช้ภาษาอินเดีย ที่เป็นภาษาไทยแท้ ๆ ก็เช่นคำว่าบากบั่น ถึงจะเป็นไทยแท้ ๆ ความขยัน ความบากบั่น แต่ก็ไม่ค่อยได้ใช้โดยตรง ใช้คำว่าวิริยะ พยายาม อุตสาหะ ใช้คำบาลี ถ้าเราดูตามคำ ตามศัพท์ อย่างนี้เราก็ได้ความหมายของคำว่าวิริยะหลายแขนง อาจจะครบทุกแขนง มันมีไปถึงคำว่าปัคคาหะ (นาทีที่ 11:25) ก็แปลว่าเป็นอันเดียวกับความเพียร แล้วก็ปารัคมรรค (นาทีที่ 11.33) ก็ความเพียร อรรถทิฐิ (นาทีที่ 11.36) ก็ความเพียร คำว่าความเพียรก็มีชื่อไวพจน์นี้มากมาย แสดงความหมายอยู่ในตัว
สำหรับคำว่าวิริยะซึ่งเป็นคำหลักนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ มีความหมายลึกดี ถ้าจะเอาความหมายตามตัวหนังสือและความหมายทั่วไป คำว่า วิริยะ หมายถึงการใช้กำลังให้หมดไป คุณควรจะสังเกตข้อเท็จจริงข้อนี้ไว้เป็นความรู้แม้ในทางภาษา คำว่าวิริยะที่เราแปลว่าความเพียรหรืออะไรก็ตามนี้ มันหมายถึงการใช้กำลังให้หมดไป เป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงของกำลังให้หมดไป มันก็รวมถึงการเผากำลังนั้นด้วย เมื่อเราเผาเชื้อเพลงให้เกิดกำลัง เชื้อเพลงก็หมดไป กำลังก็หมดไป พร้อม ๆ กันไป คำว่าวิริยะ มันแปลว่าการเผากำลังให้มันหมด ๆ ไป คือการใช้มันนั่นเอง ก็ควรจะนึกถึงไอ้คำ ๆ นี้ซึ่งมีความหมายบัญญัติเฉพาะทางจิตวิทยาของพวกโยคีที่เคยพูดให้ฟังแล้วอย่างหนึ่งว่า วิริยะ หมายถึง การใช้กำลังของชีวิตไปอย่างสุรุ่ยสุร่าย คือการใช้กำลังไปในทางกิเลส ในความกำหนัด ในความรู้สึกทางกามารมณ์ จนกระทั่งเกิดความร้อนในร่างกาย รู้สึกร้อนในร่างกาย คือมันเผาสิ่งซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของกำลัง พวกโยคีเขาว่า เยื่อกระดูกเป็นที่สะสมกำลังของชีวิตเหมือนกับเชื้อเพลิง ก็เกิดความรู้สึกกำหนัดทางเพศ มันถูกเผาไม่ละลายเป็นน้ำ ไปสะสมในต่อมฟอสเฟต อาการที่ถูกเผาอย่างนี้เขาเรียกว่า วิริยะ เมื่อไม่ถูกเผา เก็บไว้สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย หล่อเลี้ยงมันสมอง เขาจึงจะเรียกว่าโภชะ โภชะของชีวิตของร่างกาย ถ้ามันถูกใช้ไปด้วยเป็นเชื้อเพลิง ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงของราคะ ก็เรียกว่าวิริยะ มันก็เป็นการเผา นี่เขามีความหมายอย่างนี้ ดังนั้นคำว่าวิริยะ ในแง่อย่างนี้ก็ดี ในแง่ทั่ว ๆ ไปก็ดี หมายถึงการเผาไหม้ Combustion ที่ทำให้เกิดกำลัง และกำลังนั้นก็ถูกเผาไปด้วย เชื้อเพลิงก็ถูกเผา กำลังที่เกิดขึ้นก็ถูกเผาหมดพร้อมกันไป ทีนี้ความหมายของคำว่า วิริยะ ในส่วนภาษา ในส่วนจิตวิทยา เราก็ไม่รู้จัก หรือไม่ต้องรู้จักกันมากถึงอย่างนี้ รู้แต่ว่าความเพียรคือการลงมือทำ การใช้กำลังให้หมดไป เพื่อผลงานอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้น
ทีนี้ก็รู้ต่อไป การใช้กำลังมันก็มีหลายแง่ กำลังทางกาย กำลังทางจิต กำลังทางวิญญาณ นี่ผมพูดตามวิธีพูดของผมแยกเป็น ๓ อย่างอย่างนี้เสมอ เรื่องกาย เรื่องจิต เรื่องวิญญาณ เมื่อทำให้กำลังอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนี้หมดไป มันก็เรียกว่าวิริยะ แต่เดี๋ยวนี้เราเล็งกัน เล็งถึงกันแต่ในทาง ๆ กายเป็นส่วนใหญ่ การใช้กำลังกายเรียกว่าวิริยะ แต่มันก็ไม่พ้นการใช้กำลังทางจิตหรือทางวิญญาณไปได้ มันเนื่องกันหรือมันรวมกันอยู่ในตัว เมื่อเราใช้กำลังทางกายทำอะไรลงไป เราต้องมีกำลังจิต หรือสมาธิที่จะทำ และก็ต้องมีกำลังของปัญญาที่เรียกว่า วิญญาณ ทางวิญญาณ กำลังของปัญญา เป็นสัมปชัญญะ รู้ตัว อยู่ด้วยความรู้ ความรอบรู้ ในขณะที่เราใช้กำลัง ไม่งั้นมันใช้ไม่สำเร็จ มันใช้ผิดเสีย นี่เราจะต้องใช้กำลังที่สัมพันธ์กันอยู่เป็นอย่างนี้ คนธรรมดาก็ดูจะไม่ได้คิด ไม่ได้นึก ไม่ได้ระวังมากถึงอย่างนี้แล้วก็ออกแรงไป อย่างผ่าฟืน ก็เหงื่อไหล่ ก็สูญกำลังแคลอรี่ไปทางร่างกาย ก็ไม่เคยนึกถึงว่ามันมีกำลังจิต หรือสมาธิอะไรรวมอยู่ด้วย แล้วมันก็ต้องมีความฉลาด กำลังของปัญญารวมอยู่ด้วย มันจึงจะผ่าฟืนได้ดี วิริยะในการผ่าฟืนมันก็ยังต้องการถึงอย่างนี้ แล้วทำไมไอ้วิริยะในทางธรรมะมันจะไม่ต้องการมากกว่านี้หรือดีกว่านี้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ยากกว่าหรือดีกว่า จึงอยากจะขอร้องว่าอย่าประมาท มันจึงจะเป็นวิริยะ ถ้าเกิดความประมาทแล้วมันไม่ใช่วิริยะนะ มันเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ อย่างหนึ่ง
นึกได้ว่าพวกฝรั่งแปลคำว่าไม่ประมาทนี้เป็น diligent ซึ่งตามธรรมดาก็คือความขยันขันแข็ง มันไม่รู้จะแปลความไม่ประมาทนี้ว่าอะไร ทีแรกแปล diligent ไปอย่างนั้น เพราะมันมีผลเหมือนกัน ไอ้ความขยันขันแข็งเพราะความไม่อวดดี ไม่ประมาท มีความไม่ประมาทมันก็ขยันขันแข็ง เมื่อเราพูดถึงวิริยะ วิริยะมันก็ต้องรวมถึงความไม่ประมาทด้วย เพราะถ้าคนเราประมาทซะแล้วมันก็ขี้เกียจ เหลวไหล เหลาะแหละ ไม่จริง มันก็มีวิริยะไม่ได้ วิริยะอย่างบ้าบิ่นมันก็ยิ่งไม่ใช่วิริยะ เราก็ได้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ บางคนมีเอาจริงเอาจัง บากบั่น แข่งขัน แต่มันบ้าบิ่น ความพากเพียร ความเอาจริงเอาจังที่มันบ้าบิ่นนั้นมันไม่ใช่วิริยะที่เป็นอิทธิบาท กลับจะเป็นเรื่องขาดทุน เสียหายอะไรมากกว่า เขาลงทุนลงแรงกระทั่งกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังทรัพย์ ผลาญเงินเผาเงินไปในทางที่จะสร้างประโยชน์ มันก็เหลวหมด เพราะทำผิด
นี่พูดละเอียดไปหน่อย ก็เพราะเวลามันมีพอที่อยากจะพูดให้เข้าใจกันไว้ เพราะว่าถึงอย่างไร ๆ มนุษย์เราก็ต้องมีวิริยะ ต้องใช้วิริยะจึงจะตลอดรอดฝั่งไปได้ กระทั่งพระพุทธภาษิตมันก็มีว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ดูสิ ระบุความเพียรหรือวิริยะ ว่าล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร นี่เป็นหลักทั่วไป ทีนี้เมื่อเราแต่งกระทู้ เหมือนแรกเรียนธรรมะ แต่งกระทู้ไอ้เรื่องล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียรนี้ อาตมานึกดูเดี๋ยวนี้แล้วน่าหัวเราะ น่าสงสารตัวเอง ที่พูดอยู่ไปแต่เรื่องไอ้ความเพียรทางร่างกาย ทางอะไร ไม่ได้รู้เลยว่าไอ้คำว่าความเพียรนั้นหมายถึงปัญญา หมายถึงไอ้ความเชื่อ หมายถึงความไม่ประมาทรวมอยู่ในนั้นเสร็จ ตอนแรกเรียนธรรมะอย่างนักธรรมชั้นตรีนี้มันก็รู้ หรือไม่รู้ คือมันพูดไปตามตัวหนังสือโดยไม่ต้องรู้ โดยไม่รู้ พอมาเรียนธรรมะหลายอย่างหลายชื่อเข้าพร้อม ๆ กัน มันจึงค่อยรู้ ๆ ๆ ๆ แล้วก็จึงมารู้ความที่มันสัมพันธ์กันเนื่องกัน แทบจะแยกกันไม่ออก เช่นพูดถึงความเพียรก็เนื่องถึงความไม่ประมาทอย่างนี้เป็นต้น นี้มันไปไกลมาก การใช้กำลังด้วยความประมาทมันก็ไม่ใช่ความเพียร หรือด้วยความโง่มันก็ไม่ใช่ความเพียร ด้วยความบ้าบิ่นนี้มันก็ไม่ใช่ความเพียร มีแรงกระตุ้นที่ไม่ประกอบไปด้วยธรรม ก็ไม่เรียกว่าวิริยะในที่นี้ ไม่ใช่วิริยะในทางธรรม มีแรงกระตุ้นที่เขากันเรียกว่ากำลังใจหรืออะไรก็ตาม ถ้ามันไม่ประกอบไปด้วยธรรม มันก็ไม่ใช่วิริยะ ที่ในที่นี้เป็นการอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันก็มีได้เหมือนกัน ไม่ใช่มีไม่ได้ เช่นอยากจะอวดเพศตรงกันข้าม มันก็ขยันขันแข็งอะไรทำนองนี้ มันก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้ประกอบอยู่ด้วยปัญญา กำลังปัญญามันประกอบอยู่ด้วยกำลังกายและกำลังจิต หลงไปด้วยความรักความอะไรมันก็มีความเพียร มันก็มีได้ ทีนี้มันปราศจากความประมาท ปราศจากปัญญาที่ถูกต้อง มันสัมพันธ์กันยุ่ง คำว่าวิริยะ
เท่าที่พูดมานี้ก็พอให้เห็นได้ว่า คำพูดคำหนึ่งมันสัมพันธ์กันกับความหมายของคำพูดคำอื่น สิ่งใดมันมีความหมายออกหน้า เขาก็เอาไอ้เอาไอ้ส่วนใดที่มีความหมายออกหน้า ก็เอาส่วนนั้นมาเป็นเจ้าของชื่อ เดี๋ยวนี้เราเรียกว่า วิริยะ มันก็แปลว่าการเผากำลังให้สิ้นไป หมายถึงการเคลื่อนไหวกำลังงานที่ทำให้เคลื่อนไหว ก็พิจารณา ทีนี้ก็พิจารณาส่วนที่มันเนื่องมาจากฉันทะ ข้อที่ ๑. คือ ฉันทะ ข้อที่ ๒. คือ วิริยะ มันก็เห็นได้อยู่ในตัวว่า เมื่อมีฉันทะจริง มันก็มีการเคลื่อน มีการเคลื่อนไหว มันนิ่งอยู่ไม่ได้ เพราะในภายในมันได้เคลื่อนไหวแล้ว ทีนี้ภายนอกมันก็เคลื่อนไหวตาม การใช้กำลังมันก็เกิดขึ้น มีการเคลื่อนไหว มันก็ใช้กำลังหรือเป็นการใช้กำลัง ทีนี้ปัญญามันก็ยังคงอยู่ ปัญญาที่ทำให้พอใจมันมีแล้ว ทำหน้าที่ของมัน มันก็ยังคงอยู่ในการที่จะใช้กำลังต่อไป มันเป็นปัญญาควบคุมอยู่ตลอดเวลาที่เรียกว่า สัมปชัญญะ สติหรือสัมปชัญญะมันก็รวมอยู่ในนี้ แม้ว่าจะไม่ได้พูดถึงสติสัมปชัญญะ มันก็มีอยู่เต็มตัวเลยในอิทธิบาท คือฉันทะ หรือวิริยะ มันอัตโนมัติไปหมด ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่ใช่อิทธิบาท ที่จะให้สำเร็จประโยชน์ในทางธรรมะ ที่จะให้เข้าใจคำว่าวิริยะมันก็ดูจากไอ้คำพูดที่เป็นชื่อของไอ้ความเพียรมีอยู่หลาย ๆ อย่าง คำว่า ปารัคมรรค (นาทีที่ 30.50) ในภาษาสันสกฤตนี้มันก็ คำนี้มันแปลว่า ก้าวไปข้างหน้า ก้าวไปข้างหน้า ปารัคมรรค (31.08) คำว่า อรรถทิฐิ(นาทีที่ 31:20) ก็แปลว่าไม่หยุด เป็นเรื่องความเพียร คำว่า วายามะ วายามะ ภาษาบาลี หรือเป็นยามะที่เป็นภาษาสันสกฤต มาเป็นพยายาม ก็แปลว่าไป ไป ไปข้างหน้า ไปไม่หยุด คำว่า ปัคคาหะ ตัวหนังสือปัคคาหะนี้ก็แปลว่าประคับประคอง ตัวหนังสือมันแปลว่า ถือเอาได้ ถือเอาได้สำเร็จ มันก็เป็นชื่อของความเพียร
เมื่อเราดูจากไอ้คำต่าง ๆ ที่เป็นไวพจน์ของความเพียร มองเห็นความหมายของความเพียรชัดไหม ไม่หยุด ก้าวไปข้างหน้า แล้วก็รักษาไว้ รักษาไอ้ความไปข้างหน้านี้เอาไว้ เหมือนกับว่าเมื่อรถมันวิ่ง รถม้าก็ได้ ไม่ต้องรถยนต์หรอก เมื่อรถม้ามันวิ่งไป ดูดี ๆ มันมีความไม่หยุด มันมีความก้าวไปข้างหน้า แล้วมันมีความประคับประคองไอ้การเคลื่อนไปข้างหน้านั้นไว้อย่างสม่ำเสมอ รวมหมดนั้นจึงจะเป็นวิริยะ แล้วมันยังมีไอ้ความหมายปลีกย่อยเบ็ดเตล็ดอย่างอื่น ๆ อีก เพราะว่าการที่จะประคับประคองมันไว้ได้มันต้องมีปัญญา ไอ้สารถีถือเชือกเฉย ๆ นั้นหมายความว่าสิ่งต่าง ๆ มันลงรูปแล้ว มันจึงถือเชือกอยู่เฉย ๆ ม้าพารถวิ่งไปได้ ถนนมันก็ดี ไอ้ม้ามันก็ดี ไอ้รถมันก็ดี เหตุการณ์ต่าง ๆ มันก็ดี ไอ้คนขับรถมันก็ถือเชือกเฉย ๆ ม้ามันก็วิ่งไปได้ นั้นแหละคือตัววิริยะ ถ้ามันยังตึงตัง ๆ ๆ จะลงคูอยู่เรื่อย ๆ อย่างนี้มันก็ไม่ใช่ ยังไม่ใช่ ทีนี้การไม่หยุด การไปข้างหน้า และการประคับประคองไว้ได้ตลอดไป รวมกันเรียกว่าวิริยะ มันก็ถึง มันรวมความหมายของคำว่าอุเบกขาในคำโพชฌงค์เข้าไว้ด้วย เมื่อสิ่งต่าง ๆ เข้ารูปดีแล้ว เรานั่งอยู่นิ่ง ๆ มันก็ไป เหมือนกับสารถีถือเชือกอยู่เฉย ๆ รถมันก็ไป รถยนต์หรืออะไรก็เหมือนกัน เมื่อทุกอย่างมันได้ที่แล้ว ถ้ามันจะอยู่นิ่ง ๆ มันก็ไป ทำไมเราไม่จัดให้ชีวิตของเราเป็นอย่างนี้ ทำไมยังมีปัญหาปวดหัวอยู่เป็นประจำวัน มันน่าสงสาร ถ้าใครยังมีปัญหาที่ปวดหัวอยู่เป็นประจำวันก็ควรจะสงสารตัวเอง มันใช้ไม่ได้หมดทั้งม้าทั้งรถทั้งคน แล้วก็เที่ยวไปโทษคนนั้นคนนี้ โทษนั่นโทษนี่ โทษผีโทษสาง โทษเทวดา โทษโชคโทษลาง โทษเคราะห์โทษอะไร มันก็ยิ่งโง่ใหญ่ ห่างไกลจากคำว่าวิริยะออกไปทุกที ๆ มันก็ต้องจัดเสียใหม่ให้ถูกว่าเรากำลังไม่มีวิริยะ ชีวิตนี้กำลังไม่มีวิริยะ มีแต่วิริยะบ้า ๆ บอ ๆ ที่ไม่ใช่วิริยะ ชีวิตไม่ก้าวหน้าไปตามหนทางที่ถูกต้อง ถึงจะบากบั่นกันสักเท่าไรมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ เราเรียกว่ามันเดินผิดทาง แล้วมันมันก็เสียเปล่า เราก็มองดูในแง่ที่ว่าชีวิต จิตใจ ร่างกาย ไอ้ชีวิตรวม ๆ เรียกกันว่าชีวิตนี้มันเป็นการเดินทาง ชีวิตคือการเดินทาง ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางวิญญาณรวมกัน มันเป็นการเดินทางกว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าเราไม่รู้ มันก็จับไม่ถูก มันก็ไม่มีการเดินทาง มันก็เป็นการหยุด มันเป็นการถอยหลังบ้าง เป็นการกระจัดกระจายไปบ้าง นี่มันขาดคุณสมบัติที่เรียกว่าวิริยะอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว
เดี๋ยวนี้เราวันหนึ่ง ๆ ทำให้รถลงคูไปตั้งหลาย ๆ ครั้ง รถวิ่งลงคูไปตั้งหลาย ๆ ครั้งเพราะความประมาท ประมาทเรียกภาษาธรรมดา ๆ ว่าอวดดี มันเป็นโรคอวดดีกันเป็นส่วนใหญ่เยอะมาก นี่รถลงคู ในทางจิตทางใจนี้อวดดี อวดดีนิ่ง ๆ ไม่มีใครรู้ก็ได้ มันก็ลงคูอยู่นิ่ง ๆ อยู่ภายในโดยไม่มีใครรู้ ไอ้รถคนนั้นมันลงคูอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีใครรู้ มันเป็นเรื่องทางจิตใจ ทางภายใน หยุดลงคู ก็คือหยุดอวดดีเสีย วิ่งเหมือนกันแต่วิ่งลงคู ยิ่งจมลึกลงไปในหล่มในเลน นี่ไม่เป็นการก้าวหน้า ไม่เป็นปารัคโม (นาทีที่ 40.15) และก็ไม่ใช่วิริโย น่าสงสารเราเองที่ว่าวันหนึ่ง ๆ มันไม่เป็นวิริโย มันไม่เป็นการก้าวหน้า มัวแต่ชะงักงันหรือว่าลงคู กว่าจะรื้อถอนขึ้นมาได้อีก จะวิ่งต่อไปได้อีก มันก็ทุลักทุเลไปหลาย ๆ ครั้งเข้ามันก็เบื่อ มันก็ชินไปในทางเหลวไหล ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จทันแก่เวลามันก็เพราะเหตุนี้
นี่เรากำลังทำอะไรกันอยู่ สวด สวดมนต์ปัจจเวค (นาทีที่ 41.12) ที่ควรจะสวดอยู่ทุกวัน ๆ (นาทีที่ 41.22) วันคืนล่วงไปเรากำลังเป็นอย่างไร มันก็เป็นการเตือนที่ดีที่เกี่ยวกับวิริยะ ผู้ที่บวช ๓ เดือนรู้ว่าเดี๋ยวนี้พรรษาก็ล่วงมาถึงครึ่งพรรษาแล้วนะ คุณไม่ได้นับมันดูล่ะ ทีนี้มันมาถึงวันที่ ๔๕ ของพรรษา มันคือครึ่งพรรษา แป๊บเดียวมันมาตั้งครึ่งพรรษาแล้ว อีกครึ่งหนึ่งก็จะครบกำหนดสึก ลาสิกขาสำหรับคนบวช ๓ เดือน ดูสิว่าอะไรมันเป็นอย่างไร เวลาในชีวิตมันเป็นอย่างไร มันวิ่งไปอย่างไร มันเหลวไหลอย่างไร หรือว่ามันถูกต้องสมบูรณ์อย่างไร ทั้งหมดมันเป็นเรื่องวิริยะ คือการใช้กำลัง การเผาเชื้อเพลิงของกำลังให้หมดสิ้นไป ได้ผลคุ้มกันหรือเปล่า
ไอ้เรื่องที่เกี่ยวกับรายละเอียดของวิริยะและของความเพียรนี้เราก็จะพูดกันเมื่อถึงสัมมัปธาน ๔ ยังมีเรื่องสัมมัปธาน ๔ ซึ่งเป็นเรื่องของความเพียรอย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง อันนี้เป็นเพียงเรื่องวิริยะ เป็นองค์ประกอบอันหนึ่งของอิทธิบาท ๔ เพื่อจะดูในแง่ที่ความเพียรนี้มาสัมพันธ์กันอยู่กับธรรมะที่อื่นมาประกอบกันเป็นอิทธิบาท ๔ ทีนี้เมื่อตะกี้ก็ได้บอกแล้วว่าไอ้วิริยะ อิทธิบาทนี้ เราเพ่งถึงการใช้กำลังกายเป็นส่วนใหญ่ คือเรี่ยวแรงทางกายเป็นส่วนใหญ่ แต่มันก็ไม่พ้นที่จะใช้กำลังทางจิตหรือกำลังทางปัญญา ที่ไปใช้กำลังทางจิตอย่างรุนแรงกันในอิทธิบาทข้อที่ ๓ คือจิตตะ ใช้กำลังทางปัญญากันอย่างรุนแรงในข้อที่ ๔ คือวิมังสา ใช้กำลังของความพอใจ ของความหวัง ของความประสงค์ ความกว้างในข้อที่ ๑ คือฉันทะ กำลังของความพอใจก็เป็นเหตุให้ใช้กำลังกายหรือวิริยะ แล้วต้องใช้กำลังจิต คือจิตตะ ก็ใช้กำลังปัญญาคือวิมังสา
ผมเชื่อว่าธรรมะหมวดนี้เป็นผลแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าโดยตรง ไม่เหมือนกับไอ้หลักธรรมหรือบางหมวดบางหมู่อย่างอื่นซึ่งเขามีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ารับมายอมรับก็เลยเข้ามาในพระพุทธศาสนา แล้วก็ว่าไปตามนั้นตามเดิมได้ ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่หมวดธรรมเช่นอิทธิบาท ๔ นี้ เข้าใจว่าเป็นผลแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าล้วน ๆ แล้วก็ตรัสออกมาเช่นเรื่องอริยสัจ ๔ เป็นผลแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าล้วน ๆ ซึ่งอิทธิบาทก็เหมือนกัน เพราะว่าอิทธิบาทนี้เป็นเครื่องเป็นความมุ่งหมายที่จะให้บรรลุอริยสัจ ๔ มีชื่อเต็มไปในทางที่จะบรรลุอริยสัจ ๔ ก็ควรจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษสำหรับทุกคนที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จึงได้เอามาพิจารณากันอย่างละเอียดลออ แม้ว่าจะเกินไปบ้าง คือพระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสในแง่ของภาษา ไม่อธิบายในแง่ของภาษาหรืออักษรศาสตร์หรือจิตวิทยาที่ไกลออกไป ท่านจะตรัสหรือระบุถึงแต่ไอ้ส่วนที่มันเป็น practical ในขณะนั้นโดยตรงว่ามันเนื่องกันอยู่อย่างไร ทำพร้อม ๆ กันอยู่อย่างไรกับธรรมะเหล่าอื่น อย่างนี้มันก็เป็นความรู้ทางจิตวิทยาเหมือนกัน แต่เท่าที่จำเป็นจะต้องรู้เพื่อว่าทำมันให้ได้ ทำมันให้มีให้ครบถ้วน แต่เราก็ (นาทีที่ 48:00) ที่หนักในทางอักษรศาสตร์หรือจิตวิทยานี่ ชี้ให้เห็นกว้างออกไป ๆ ในรูปปรัชญา รูปจิตวิทยา รูปอักษรศาสตร์ ความรู้ที่เรียกว่าอภิธรรมก็เกิดขึ้นมาเพราะเหตุนี้ เป็นอภิธรรมเฟ้อ เฟ้อทางอักษรศาสตร์ ทางจิตวิทยา
ถ้าอภิธรรมจริงมันก็หมายถึงที่ทำประโยชน์ ทำให้สำเร็จประโยชน์ ทำได้สำเร็จประโยชน์ รู้จักปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมัน นั่นเป็นอภิธรรมสูงสุด อภิธรรมจริง อภิธรรมแท้ คนที่จะขยายความออกไปทางภาษา ทางอักษรศาสตร์ ทางจิตวิทยา ไกลออกไป ๆ นี่เป็นอภิธรรมเฟ้อ แต่สมัยนี้เขาก็ชอบอภิธรรมเฟ้อ มันสนุกดี มันลึกซึ้ง มันเป็นอาหารของมันสมองดี ถ้ามีเวลาก็พอจะเรียนได้ ถ้ายังหนุ่มอยู่ก็พอจะเรียนได้ แต่ถ้าอายุมากแล้วมันก็ไม่ทันกัน หรือถ้ายังมีความทุกข์อยู่มันก็เสียเวลา มันไม่ดับทุกข์ ต้องเรียนในส่วนที่ดับทุกข์กันเสียก่อน แล้วจึงจะไปดูในแง่ของพิเศษ เช่น ทางอักษรศาสตร์ ทางจิตวิทยาทีหลัง แต่ว่าตามข้อเท็จจริงมันก็ไม่อยากดูเสียอีก เมื่อมันหมดปัญหาแล้ว ความดับทุกข์แล้ว ก็ไม่อยากรู้อะไรมันเฟ้อไป นี่มันไขว้กันอยู่อย่างนี้ คนสมัยนี้มันตั้งต้นด้วยการเฟ้อ ชอบเฟ้อ เอ้า, มันก็ไม่รู้ธรรมะจริง มันก็ต้องปรับปรุงกันเสียบ้าง ลดราวาศอกอย่างนั้นเสียบ้าง มาหมุนมาให้ถูกไอ้ตัวจริงมัน นี่ก็เป็นอาการอันหนึ่งที่ทำให้วิริยะมันก้าวไปได้ ที่เราไปสร้างอุปสรรคขวางทางของวิริยะ ไปหลงในส่วนเฟ้อ วิชาส่วนเฟ้อ มันคือสร้างไอ้เครื่องกีดขวางหนทางของรถ ของรถ ของม้าที่จะวิ่ง เพื่อสำเร็จประโยชน์เราก็ต้องมองออกไปถึงทางที่จะรื้อสิ่งกีดขวางถนนหนทาง
ทีนี้เราผิดพลาดมากไป ไม่เพียงแต่ว่าไม่เดินไปตามถนนหนทางที่มีอยู่แล้ว มันกลับไปสร้างหรือเพิ่มสิ่งกีดขวางหนทางขึ้นมาเสียเอง มากขึ้นอีกคือความเนิ่นช้า ภาษาบาลีเขาเรียกว่า ปปัญจา ปปัญจะ สิ่งกีดขวางที่ทำให้เนิ่นช้า เรามักจะไปหลง หลงไม่รู้ตัว ไปสร้างไอ้เครื่องกีดขวางที่ทำให้เนิ่นช้า เป็นอุปสรรคขวางทางขึ้นมาโดยไม่รู้สึกตัว มันก็ยิ่งน่าหัวน่าสงสาร ขอให้ระวังให้ดีทุก ๆ คน อย่าเผลอไปสนใจหรือไปบูชาไอ้สิ่งซึ่งมันจะเป็นกีดขวาง เพิ่มขึ้นมาใหม่ ก่อนนี้มันไม่เคยมี ทีนี้เราไปหลงไอ้วิชาเฟ้อ วิชาเฟ้อทั้งหมดก็เป็นไอ้เครื่องกีดขวางหนทางขึ้นมา ทำให้เนิ่นช้า แต่บางทีก็แก้ตัวว่า ทำให้มันเดินได้ดีขึ้น เดินได้สวยสดงดงามขึ้น มันก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน ถ้ามันช้านัก มันก็ไม่ไหว ถ้ามันเดินได้สวยสดงดงามขึ้นบ้างมันก็ดีเหมือนกัน แต่อย่าให้มันมากจนช้าจนไม่ทันแก่เวลา มันจะตายเสียก่อน นั้นก็พูดถึงวิริยะ เครื่องมือแห่งความสำเร็จของชีวิต แล้วมันก็กินความกว้างไปถึงไอ้แผนการของชีวิตที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีแผนการชีวิตที่ถูกต้อง ไอ้วิริยะมันก็ต้องเป็นหมัน เป็นหมัน เกินกว่าที่จะเป็นหมัน คุณจะทำอะไร เท่าไร อย่างไรในชีวิต ในตัวชีวิต ตลอดชีวิต มันควรจะรู้ ที่เรียกว่ามีแผนการมีหลักการ ถ้าอย่างนั้นวิริยะมันจะเป็นหมัน หรือว่ามันไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่อาจจะวิ่งไปได้
สำหรับคนที่จะสึก ก็เรียนธรรมะเพื่อแก้ปัญหาข้อนี้ คือจะไปใช้ชีวิตในอนาคตให้มันถึงจุดประสงค์ได้ สำหรับคนที่อยู่ต่อไป มันก็มีหลักการอย่างเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่ว่าทำไปในทางที่เป็นเรื่องของบรรพชิต ซึ่งมันเบากว่าสบายกว่า ไปได้ ไปพระนิพพานได้เร็วกว่า สบายกว่า ฆราวาสก็ต้องไปเหมือนกัน ไปด้วยการหาบคอนที่หนัก แบกอะไรไปอย่างหนัก ก็ไปเหมือนกัน มันก็ยิ่งมีความจำเป็นที่ต้องมีแผนการที่ดีกว่า ถึงจะไปอย่างหนัก อย่างพะรุงพะรัง ส่วนบรรพชิตไปอย่างเบาสบายเหมือนนก มีแต่ปีกเป็นภาระ จะพะรุงพะรังก็มีแต่ปีกเท่านั้น ปีกนั้นเป็นเครื่องช่วยให้บินไปได้ ส่วนฆราวาสนั้นมีอะไรบ้างก็รู้กันดีอยู่แล้ว เห็นกันดีอยู่แล้ว มันมีอะไรมากแล้วก็แทบจะไม่มีปีกด้วยซ้ำ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าวิริยะมันมีอยู่อย่างนี้ จะไปไหวหรือไม่ไหวมันก็ขึ้นอยู่ที่นี่ เมื่อมีฉันทะแล้ว มันก็ต้องปรับปรุงสะสางเรื่องอันเกี่ยวกับวิริยะ ให้มันสมคล้ายกันกับฉันทะ ให้ฉันทะมันทำหน้าที่มันต่อไปได้ เราต้องเพิกถอนสิ่งเป็นอุปสรรคกีดขวางหรือของพะรุงพะรังออกไปเสียเท่าที่จะทำได้ เป็นเบื้องต้น แล้วก็พยายามสร้างกำลังให้มากพอที่จะหอบหิ้วสิ่งเหล่านี้ไปให้บรรลุจุดประสงค์มุ่งหมาย มันเป็นเรื่องโดยอ้อมแต่มันก็ไปเหมือนกัน ถึงเหมือนกัน ฆราวาสจะต้องมีทรัพย์สมบัติ จะต้องมีเกียรติยศชื่อเสียง จะต้องมีการสังคมตามแบบของฆราวาส แต่บรรพชิตไม่ต้องการทางนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีอย่างนั้น ข้อที่มันต่างกัน ฆราวาสจะต้องใช้วิริยะมากเท่าไร มากกว่ากันเท่าไหร่ ก็รู้ตัวไว้ จะได้ต่อสู้ให้มันเหมาะสมเพียงพอกัน ถ้าอย่างนั้นก็เป็นคนหลับตาตลอดเวลา มันก็กวัดแกว่ง เดี๋ยวก็จะมาโทษธรรมะหรือโทษศาสนาว่าช่วยอะไรไม่ได้เข้าเท่านั้นเอง
นี่ผมพูดถึงวิริยะในแง่ที่กว้างหรือลึกหรือกว้าง แล้วมันเกี่ยวกันอยู่กันตัวชีวิตจิตใจอย่างไร แล้วเป็นประจำวันในหน้าที่การงานทุกอย่างอย่างไร ถ้าจัดถูกต้องมันก็จะต้องประสบความสำเร็จ มันมีความสำคัญในการที่เราจะต้องจัดมันถูกต้อง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เราจะต้อง (นาทีที่ 59:20) นี่ก็อยู่ในหนังสือนวโกวาท หญ้าปากคอกสำหรับการเรียนนักธรรม แต่แล้วมันก็เป็นหมัน ไม่ถูกนำมาใช้ หรือแม้แต่ไม่มีการศึกษาที่เข้าใจได้ถูกต้องเพียงพอ เป็นเรื่องท่องไปหมด ฉันจึงหวังว่าไอ้ที่บวชเข้ามานี้ก็อย่าให้มันเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างมันเป็นการสอนธรรมะอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว การกิน การนอน การเดิน การยืน การทุกอย่างที่เราเป็นอยู่เวลานี้ มันสอนธรรมะทุกกระเบียดนิ้ว ให้มองเห็นว่าเป็นการเดินของชีวิต วิญญาณซึ่งเป็นตัวตน ที่สมมติว่าเป็นตัวตนของเรานั้นให้มันเป็นการเดิน ปีหนึ่ง ๆ ให้มันเป็นการเดิน
อย่างเข้ามาบวชชั่วคราวนี้ก็เป็นการศึกษาวิชาสำหรับเดินโดยเฉพาะ เพื่อทดลองแล้วพิสูจน์ทุกแง่ทุกมุม มาบวชก็สละอะไรมา สละไอ้เรื่องเกี่ยวกับบ้าน ๆ ๆ และฆราวาส แล้วก็มาอยู่อย่างไม่มีตัวกูของกู หัดอยู่อย่างไม่มีตัวกูของกู อยู่อย่างไม่มีตัวกูของกู แม้ว่าจะยังไม่หมดกิเลส หมดตัวกู ก็ต้องหัดอยู่อย่างไม่มีตัวกูของกู กินข้าวจานแมว อาบในคู นี่มันก็เพื่อจะทำลายตัวกูของกู ทุกวัน ๆ ๆ ฝึกฝนความไม่มีตัวกูของกู ด้วยการทำอะไรชนิดที่ไม่หวังผลกลับมาเพื่อตัวกูของกู ถ้าทำถูกวิธีมันเป็นวิริยะอย่างยิ่ง มันเหมือนกับวิ่งทีเดียว เหมือนรถที่วิ่งอย่างเร็วและถูกต้อง แล้วดี แล้วเรียบร้อย ถ้าสึกไปแล้วยังทำได้ก็ขอให้ทำ บทเรียนอันนี้ เมื่ออยู่เป็นบรรพชิตต้องทำแน่ ๆ ต้องทำอย่างเต็มที่ ทำอะไรด้วยกำลังชีวิตจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ เพื่อไม่ใช่ เพื่อไม่ใช่ตัวกูของกู คือเพื่อผู้อื่นหรือเพื่อสิ่งอื่น ไม่เพื่อตัวกูของกู นี่คือวิริยะอย่างยิ่ง วิริยะทางวิญญาณ เป็นทางก้าวหน้า เป็นปารัคมรรค (ชั่วโมงที่ 1.03.17) อย่างยิ่งในทางวิญญาณ ใกล้ต่อที่สุดที่จบของชีวิตที่จะถึงจุดหมายปลายทาง นี่จึงต้องเต็มไปด้วยความอดกลั้นอดทน เหมือนที่ได้พูดมาแล้วในหมวดที่ ๑ ว่า สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ อย่าลืมเสีย เวลาทุกวัน ๆ นี้ต้องใช้ไปทางขยี้ บดขยี้ให้แหลก ไอ้ตัวกูของกู มันจึงจะเป็นวิริยะ ถ้าไม่มีการบดขยี้ตัวกูของกูแล้ว ไม่เป็นวิริยะ เพราะมันไม่ได้ใช้กำลังไปในทางที่ถูกต้อง มันเผากำลังสูญเปล่า เสียเปล่า นี่เรามันประมาท นี่มันก็ต้องไม่ประมาท จุดหมายปลายทางอยู่ที่หมดความเห็นแก่ตัว ไอ้วิริยะมันก็คือบากบั่น วิ่งชี้ไปด้วยการทำลายความเห็นแก่ตัว
ส่วนปัญหาที่ว่าคนเขาไม่ชอบ เขาอยากจะเห็นแก่ตัวอยู่ตามใจเขา ผมไม่มีหน้าที่พูดส่วนนั้น ผมมีหน้าที่พูดหรืออธิบายแต่ส่วนที่จะทำลายความเห็นแก่ตัว เพื่อบุคคลกลุ่มที่ต้องการทำลายความเห็นแก่ตัว นี่คือวิริยะที่แท้จริง พยายามดิ้นรนไปทุกกระเบียดนิ้วตลอดทุกวัน ๆ เพื่อบดขยี้ตัวกูของกู คือความเห็นแก่ตัว เป็นยอดสุดของวิริยะ จำไว้ว่ามันเป็นยอดสุดของวิริยะและเป็นตัววิริยะชั้นที่มีค่าที่สุด คือความไม่ประมาท ความขี้เกียจมันก็กำลังฆ่าวิริยะ ความเหลวไหล สรวลเสเฮฮา เหลาะแหละหัวเราะเรื่อยก็ตรงกันข้ามกับวิริยะ นี่คืออุปสรรคเครื่องกีดขวางซึ่งคุณช่วยกันสร้างขึ้นมาเรื่อย แล้ววันหนึ่ง ๆ มันก็ล่วงไป ๆ ๆ เดือนหนึ่งมันก็ล่วงไป ๓ เดือนมันก็ล่วงไป แม้กระทั่งปี ๆ มันก็ล่วงไป หนทางของวิริยะมันไม่ราบรื่น
เราพูดถึงคำว่าวิริยะกันโดยความหมาย โดยเจตนารมณ์ของคำ ๆ นี้มันเป็นอย่างนี้ หวังว่าทุกคนจะเอาไปเช็คตัวเอง เอาไปเทสตัวเองดูว่ามีกี่มากน้อย เหลวไหลกี่มากน้อย ชีวิตเป็นวิริยะกี่มากน้อย เป็นความเหลวไหลเป็นความเนิ่นช้ากี่มากน้อย นั่นแหละวิเศษที่สุดแหละ เรียกว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท วันคืนล่วงไปด้วยความไม่ประมาท สมบูรณ์อยู่ด้วยอิทธิบาทข้อที่ ๒ วิริยา ธิปัตตะยัง (ชั่วโมงที่1.08.17) ที่เขาสวดอภิธรรมเมื่อมีศพ อยู่บนเรือน กลางคืนไปสวดอภิธรรม แล้วเขาสวดเต็มรูป เขาจะต้องสวดไอ้นี่ด้วยในฐานะที่เป็นธรรมฝ่ายกุศล จำไว้หน่อย อาจจะไปได้ยิน ฉันทา ธิปัตตะยัง วิริยา ธิปัตตะยัง จิตตา ธิปัตตะยัง วิมังสา ธิปัตตะยัง (ชั่วโมงที่1.08.57) สวดซ้ำ ๆ อยู่ตั้ง ๔ เที่ยว คืออิทธิบาท แต่ไปเรียกว่าอธิปไตย ฉันทาธิปไตย วิริยาธิปไตย จิตตาธิปไตย ธรรมาธิปไตย วิมังสาธิปไตย มันเป็นอธิปไตยทางธรรม เป็นอธิปไตยเพื่อความสำเร็จของชีวิต นี่เราเรียกว่าธรรมาธิปไตย ไม่ใช่อธิปไตยทางการเมือง แต่เป็นอธิปไตยทางธรรม ต้องมีฉันทาธิปไตย วิริยาธิปไตย ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ เมื่อทำได้สำเร็จตามนี้ก็เป็นผู้ที่มีฉันทาธิปไตย วิริยาธิปไตย เพราะสำเร็จได้ด้วยวิริยาธิปไตยนี้ ของที่เป็นใหญ่ เป็นของยิ่ง เป็นของ คือวิริยะ ลองมีวิริยาธิปไตยก็ประสบความสำเร็จแน่ ในฐานะที่เป็นอิทธิบาทก็ได้ ในฐานะที่เป็นอธิปไตยก็ได้ มันเรื่องเดียวกัน ให้ประสบความสำเร็จทั้งนั้น ที่เป็นอธิปไตยก็เพื่อความสำเร็จ ที่เป็นอิทธิบาทก็เพื่อความสำเร็จ ขอให้ทุกคนรู้จักวิริยะไว้ในลักษณะที่กล่าวมานี้ เวลาของเราก็หมด