แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำว่าธรรมปาฏิโมกข์ อาจจะยังไม่เป็นที่เข้าใจสำหรับคนมาใหม่ สองสามคนวันนี้ ก็อยากจะทบทวน ไว้ทุกทีว่า ธรรมปาฏิโมกข์ คือ หัวข้อของธรรมที่เป็นประธาน ของธรรมทั้งหมด พูดง่าย ๆ ก็คือว่า หัวข้อธรรมในชั้นที่เป็นหัวใจของมัน นี่ เราเรียกว่า ธรรมปาฏิโมกข์ ถ้าเราพูดกันทุกวันธรรมสวนะ หรือวันพระวัน 8 ค่ำ เป็นการซักซ้อมไว้เรื่อย เหมือนกับการลงปาฏิโมกข์ อย่างวันนี้ก็ลงปาฏิโมกข์ วินัยเสร็จไปแล้ว พอมาถึงตอนนี้ นี้ก็เป็นปาฏิโมกข์ธรรม แล้วปาฏิโมกข์ธรรมของเราก็มีเพียงหัวข้อเดียว คือ เรื่องตัวกู ของกู เพราะว่าเรื่องที่สำคัญที่สุด หรือเป็นใจความหรือเป็นแกนกลางของเรื่องทั้งหมด ก็คือเรื่องนี้ ก็ได้อธิบายมาให้เห็นแล้วตั้งหลายครั้ง หรือหลายสิบครั้งแล้ว พูดแต่เรื่องนี้
ทีนี้ ก็พูดเฉพาะแง่เฉพาะมุมให้เข้าใจทีละแง่ทีละมุมของเรื่องนี้หลายอย่างด้วยกัน แม้ที่สุดแต่ในทางภาษา ชี้ให้เห็นความยุ่งยาก ที่เกิดมาจากภาษาที่ใช้พูดจา ทำให้เราเข้าใจสิ่งนี้ไม่ได้ เท่าที่สังเกตดู เดี๋ยวนี้ ก็มีปัญหาเกี่ยวกับภาษาที่ใช้พูดกันอยู่นี่มาก เช่น คำว่าจิตว่าง เข้าใจกันคนละอย่าง เพราะมันอาจจะเข้าใจได้หลายอย่าง คำว่าจิตว่าง ก็เลยเข้าใจกันไปคนละอย่างหรือคนละระดับ ก็เข้าใจตรงกันไม่ได้ หรือถึงกับเข้าใจผิดไปก็มี นี่ก็อยากจะชี้ให้เห็นในแง่นี้เรื่อยไป ว่ามันมีทางที่จะทำความเข้าใจได้อย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับคำว่าจิตว่าง ว่างอย่างอันธพาลก็มี ว่างอย่างถูกต้องก็มี ว่างอย่างไม่เกี่ยวกับอะไรเลยก็มี ทีนี้ก็อยากจะพูดถึงคำว่า จับฉวย จับฉวย หรือ ยึดถือ คำว่ายึดถือ ถ้าพูดตามภาษาธรรมดา มันก็อย่างเดียวกับคำว่าจับฉวย จับกุม เรียกว่ายึดถือ ฉะนั้น เราจะเรียกว่ายึดถือก็ได้ จะเรียกว่าจับฉวยก็ได้ ได้ทั้งนั้น แต่ต้องให้รู้ว่ามันมีอยู่หลายระดับ คือหลายอย่างเรื่อยไป
คำว่าจับฉวย อย่างที่ ๑ เป็นเรื่องทางกายล้วน
คำว่าจับฉวยอย่างที่ ๒ เป็นเรื่องทางจิต
คำว่าจับฉวยอย่างที่ ๓ เป็นเรื่องทางวิญญาณ
หลายคนคงจะเคยอ่าน กฎเกณฑ์ที่ผมใช้อธิบายใช้พูดจาอธิบาย เรื่องทางกาย เรื่องทางจิต เรื่องทางวิญญาณ ว่ามันต่างกันอย่างไร อย่าลืมนึกถึงตัวอย่างที่ให้ไว้ ประกันความสับสนเกี่ยวกับเรื่องโรค ถ้าเป็นโรคทางกาย ก็ไปหาหมอผ่าตัด ตามเรื่อง ถ้าเป็นโรคทางจิต ก็ไปหาโรงพยาบาลโรคจิต หมอโรคจิต แต่ถ้าเป็นเรื่องทางวิญญาณ ต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า ไปหาธรรมะจากแหล่งที่มีธรรมะ ที่มีการทำให้เข้าใจธรรมะ ก็จะแก้โรคทางวิญญาณ อันนี้ต้องให้เห็นชัดอยู่เสมอเพื่อไม่ให้มันปนกันยุ่ง เกี่ยวกับภาษาทำยุ่ง เราต้องมีหลักทางภาษาที่ประกันความยุ่ง ทางกาย หมายถึง เนื้อหนังร่างกาย ทางจิต หมายถึง รู้สึกคิดนึกตามระบบทางจิตทางประสาทธรรมดาที่มันเป็นเรื่องตามธรรมชาติของจิตและก็ทางวิญญาณ นี่ก็หมายไปไกลลิบคือทางสติปัญญา ทางลัทธิ ทางความคิดเห็น คนไม่เป็นโรคกาย ไม่เป็นโรคจิต แต่เป็นโรคทางวิญญาณอยู่เป็นประจำทุกคนด้วย คนที่ไม่เป็นโรคทางกาย ไม่เป็นโรคทางจิต ตามปกติ ก็เป็นโรคทางวิญญาณอยู่เป็นประจำ มีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง ทำตนให้เป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น เป็นความโง่เขลา เป็นความบ้าหลังของคนนั้นเอง ก็เรียกว่าโรคทางวิญญาณ แล้วก็ดูให้ดีดี ตัวเองกำลังเป็นอย่างไร กำลังเป็นอยู่อย่างไร เป็นโรคทางวิญญาณ ซึ่งผมกำลังพูดว่าเป็นอยู่ทุกคน ตามมาก ตามน้อย อย่างนั้นอย่างนี้ เรียกว่า โรคทางวิญญาณ หรือปัญหาในทางวิญญาณ แล้วก็แยก แยกออกจากกันให้ชัดเจน ทางกาย ทางจิต แล้วก็ทางวิญญาณ เป็นอย่างไร
ทีนี้เราพูดถึงความจับฉวยต่อไป จับฉวยทางกาย จับฉวยทางจิต จับฉวยทางวิญญาณ จับฉวยทางกายก็หมายถึงมือ นี่ จับ มือจับปั๊บเข้า ก็เรียกว่ามือมันจับ จับทางกาย ทีนี้พอจับทางกายแล้ว จิตที่รู้สึกไปตามวิถีทางของประสาท ที่จะต้องรู้สึก เมื่อไปจับเข้าแล้ว นั่นก็เรียกว่าเราไปรู้สึก ไปสนใจ ไปคิดนึกกับเขา เรียกว่าจับอีกทีหนึ่ง จับทางจิต จับตามระบบทางจิต ทีนี้หลังจากนั้นจะมีอยู่ว่าจะจับทางวิญญาณหรือไม่ ก็หมายความว่าถ้าความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันเดินไป เดินไป ถึงขั้นที่มันเดินไปแวบไป จนถึงขั้นที่เรียกว่า เป็นตัวกูของกู มีความรู้สึกหมายมั่นปั้นมือ เป็นตัวกูของกู หรือในความหมายใดก็ได้ ในความหมายของตัวกู ของกูโดยไม่ต้องใช้คำว่า ตัวกู ของกู ก็เรียกได้ว่า มันเป็นการจับฉวยทางวิญญาณ มันเกี่ยวกับความผิดความถูกของความคิดเห็นหรือความเข้าใจ ถ้าเข้าใจผิดไปมั่นหมายเป็นตัวกูของกู ก็เรียกว่าจับฉวยทางวิญญาณ จับฉวยแต่ด้วยมือล้วน ๆ ยังไม่เป็นไร เหมือนกับเปิบข้าวเข้าปาก นี่มันยังไม่เป็นไร ทีนี้ ทางจิตมันจับฉวยอีกที เช่นว่า รู้สึกอร่อย อย่างนี้ จิตก็เกิดความรู้สึกอร่อย จับฉวยว่าเป็นความอร่อย ก็ยังไม่เท่าไร ยังไม่เป็นไร ยังไม่อันตรายอะไร ทีนี้ ถ้าจิตอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่าวิญญาณในที่นี้มันไปไกลถึงกับว่ามันยึดมั่นถือมั่นในความอร่อย ยึดมั่นถือมั่นในความอร่อย ที่รู้สึกอร่อยนั้น ทีนี้จึงจะเป็นจับฉวยทางวิญญาณแล้วก็เป็นทุกข์ เพราะมันเรื่องตัวกูของกูขึ้นมาแล้ว ฉะนั้นคุณต้องไปปฏิบัติจริงกับมัน คือไปกินเข้าแล้วก็ไปอร่อยเข้า แล้วความคิดมันเกิดขึ้นอย่างไร ความตะกละมันอาจจะมีมาก จนถึงกับคิดไปไกลเลย เกี่ยวกับความอร่อย ซึ่งมันติดแน่นในความอร่อย ไม่เพียงรู้สึกอร่อยเฉย ๆ นะ มันไปติดแน่นใน หมายมั่นในความอร่อย เกิดความหนัก เป็นห่วง หรือความหนักขึ้นมาทันที เรื่องความอร่อยจะสิ้นไป เรื่องจะได้เอามาแต่ไหนอร่อยอีก จะถึงหึงหรือหวงความอร่อย ไม่อยากให้ใครมาแย่งชิงไป หรือมาร่วมอร่อย หรือคิดจะสะสม คิดจะอะไรไป ยืดยาวเลย วิตกกังวลเป็นอนาคตไปได้ไกลเลย ตอนนี้เรียกว่าจับฉวยด้วยวิญญาณ จับฉวยทางวิญญาณ
จับฉวยทางกาย จับด้วยมือ ด้วยมือแท้ ๆ ยังไม่มีความหมายอะไร ก็เกิดการจับฉวยทางจิต คือรู้สึก จิตเปลี่ยนจากจิตปกติธรรมดา เป็นจิตรู้สึกว่าอะไรเป็นอะไรขึ้นมา กระทั่งรู้สึกว่าแหม อร่อย หรือ สวย หรือหอม อะไรก็ตามใจ นั่นมันเป็นจิต เป็นระบบทางที่เรียกว่าจิต ในที่นี้ หลังจากเรื่องทางจิตแล้ว มันก็เกิดเรื่องทางความคิดปรุงแต่ง เป็นสติปัญญาที่ผิดหรือถูก หรืออะไรก็ตามใจ เป็นเรื่องทิฏฐิ หรือเห็นผิด หรือเห็นถูกต่อไป เรื่องจับฉวยทางวิญญาณ ตัวกู ของกู เกิดตอนนี้ ตอนที่เป็นการจับฉวยทางวิญญาณ จับฉวยทางกาย จับฉวยทางจิต ยังไม่บัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นตัวกูของกู ตัวกูของกูยังไม่เกิด ตัวกูของกูเกิดเมื่อมันมีความยึดมั่นถือมั่นทางวิญญาณ ที่เรียกด้วยบาลีว่า อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น อย่าลืมว่า คำพูดนี้ทำยาก ทำให้เรื่องมันยาก ทำให้เรื่องมันสับสน นี่เราก็มีการจับฉวย ยึดมั่นถือมั่นอยู่ทุกวันเป็นประจำวันนานาชนิด ก็ดูให้ดีว่ามัน มันไปจนถึงจับฉวยทางวิญญาณหรือเปล่า เป็นเรื่องเพียงธรรมดา ธรรมชาติ ธรรมดายังไม่ปรุงแต่งเป็นตัวกู ของกู ก็ยังไม่เป็นไร ยังไม่มีความทุกข์ นี่ผมยกตัวอย่างทางลิ้น อยากกินอาหาร เปิบข้าวเข้าไปในปาก นี่เป็นการจับคำข้าวด้วยมือ พอเข้าไปในปาก หรือเคี้ยวลงหรือเคี้ยวอะไรก็ตาม มันก็เกิดการจับฉวยทางจิต คือรู้สึกว่ามันเป็นอะไร เป็นหมู เป็นไก่ เป็นข้าว เป็นผักอะไร หรือเป็นของมีรสอะไรในที่สุด รสเป็นอย่างไร นี่ เรียกว่าจับฉวยทางจิต พอหลังจากนั้นแล้ว จากอร่อยหรือไม่อร่อยแล้ว ความคิดปรุงแต่งต่อไปก็ไปในรูปเกี่ยวกับตัวกู เห็นแก่กู เห็นแก่ตัวกู อร่อยก็ไปตามแบบของอร่อย ไม่อร่อยก็ไปตามแบบของไม่อร่อย เช่น โกรธ ขัดเคือง อะไรนี้ มันจึงจะเป็นจับฉวยทางวิญญาณ ตัวกู ของกู เกิดตอนนี้ เราเกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที หมายถึงเป็นเรื่องนี้ คำตอบนี้
ทีนี้ วันนี้ เราพูดกันเรื่องภาษา สังเกตดูให้ดี ภาษาที่ใช้พูด จับฉวย จับฉวยด้วยมือ-ทางกาย จับฉวยด้วยความรู้สึก-ทางจิต และจับฉวยด้วยความเข้าใจที่ผิดหรือถูกในทางความคิดความเห็น-มันเป็นเรื่องความจับฉวยทางวิญญาณ พวกอื่น คนหมู่อื่น ก็อาจจะใช้ความหมายเป็นอย่างอื่น ไม่เหมือนที่เราบัญญัติ ไอ้นั่นมันไม่สำคัญ นี่เราบัญญัติ เพื่อจะให้เข้าใจกัน เพื่อการปฏิบัติได้เท่านั้น ให้รู้ว่าตัวกูของกูมันเกิดในระยะไหน และเราจะเรียกว่าอะไร เพื่อความสะดวกในการพูดจาต่อ ๆ ไป ตาเห็นอย่างนี้ก็เรียกว่าจับฉวยทางกาย รู้สึกว่าอะไรเป็นความหมายอย่างไรก็เป็นการจับฉวยทางจิต ทีนี้ ถ้าความคิดมันเดินไปถึงไอ้เรื่องมีความหมายเกี่ยวกับตัวกู ของกู อย่างไร เป็นเรื่องทางวิญญาณ เช่น คน ๆ หนึ่งเห็นเพศตรงกันข้าม การเห็นนั้น มันเป็นการจับฉวยทางตา ทางกาย รู้สึกว่าเป็นอะไรขึ้นมา ทางจิตก็เตลิดเปิดเปิงไปถึงกับว่า กูจะทำอะไรต่อไป อย่างนี้ก็เป็นเรื่องทางวิญญาณ หูได้ฟังเสียง มันอาจจะเป็นเพียงทางกายล้วน ๆ เช่น พอไปทะเล ได้ยินเสียงคลื่น แล้วมันก็เลิกกัน ได้ยินอยู่นั่นละ แล้วมันก็เลิกกัน แค่นั้นละ จับฉวยทางกาย จนกว่ามันจะรู้สึกว่ามีผล เป็นมันชอบ หรือไม่ชอบ อะไรขึ้นมา จึงจะเป็นจับฉวยทางจิต แล้วมาคิดได้เตลิดเปิดเปิงได้เป็นเรื่องวิตกกังวลเรื่องเกี่ยวกับเรื่องได้เสียตัวกูของกูเป็นตายอะไรขึ้นมา เกิดความยินดีหรือไม่ยินดีอะไรขึ้นมาจึงจะเป็นเรื่องจับฉวยทางวิญญาณ เรื่องเสียง เสียง ก็กลิ่น กลิ่นหอมมากระทบ เป็นเรื่องทางวัตถุทางกายล้วน ๆ เรารู้สึก เราสนใจ ทีนี้เรื่องทางจิต ถ้ามันไปถึงกับคิด เกี่ยวกับตัวกูของกู จะเอา จะยึดครอง จะหา หรือจะอะไรก็ มันก็เป็นเรื่องทางวิญญาณไป ถึงชั้นที่เป็นทางวิญญาณมันทำให้เกิดความทุกข์ ถ้ามันเฉยเสียตั้งแต่ระยะที่ ๑ ระยะที่ ๒ มันเฉยไปได้มันก็ไม่มีความทุกข์ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามาถึงระยะที่ ๓ นี้แล้วไม่มีทางแก้ตัวแล้ว ไม่มีทางช่วยแล้ว มันต้องเป็นทุกข์แน่ ถ้ามันเกี่ยวกับความหมายเป็นตัวกูของกู มันต้องเป็นทุกข์แน่ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งไม่โดยตรงก็โดยอ้อม รูป เสียง กลิ่น แล้วรส รสก็คือทางลิ้น เหมือนอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ทีนี้สัมผัสผิวหนัง เกิดกระทบกันเข้า ก็รู้สึกว่ากระทบทางกายล้วน ๆ ทีนี้ รู้สึกว่ากระทบของอะไรนี่ กระทบของผู้หญิง ผู้ชาย หรือว่ากระทบของแข็ง ของอ่อน หรือกระทบของร้อน ของเย็น แล้วก็รู้สึกในการกระทบนั้น นี่เป็นเรื่องทางจิต ที่เรียกการกระทบนั้น ให้ความสบาย ให้ความอร่อย ก็ยึดถือ จับฉวยทางวิญญาณ ในฝ่ายเอา ฝ่ายยินดี ทีนี้ ถ้ามันไม่ ไม่ให้เกิดความเอร็ดอร่อยทางผิวหนัง ก็เกิดความโกรธ ความยินร้าย ก็เรียกว่า เรื่องยึดถือทางวิญญาณเกิดขึ้นแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่ง มีความทุกข์
ทีนี้ เรื่องทางจิตแท้ ๆ จิตล้วน ๆ ทางมโน ทางมโนวิญญาณ ความคิดผุดขึ้นในใจ ตามปรกติ เช่น นึกอะไรขึ้นได้มา ถ้าปล่อยให้มันเตลิดเปิดเปิงไปยกเลิกไปไม่เอามาสนใจมันก็เป็นเรื่องทางอายตนะล้วน ๆ ระหว่างใจกับธรรมอายตนะล้วนๆ แต่ถ้าไม่ถือเอาให้ละเอียดนักก็จัดเป็นเรื่องทางจิตไปเลยก็ได้ ที่จริงมันก็ยังมีคู่ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกันเนื่องกันอยู่กับกายวัตถุที่ตั้งของจิตของใจอยู่ เพียงแต่เกิดความรู้สึกขึ้นในจิต ในสมอง หรือใน ไม่เป็นรูปความคิดสมบูรณ์ นี่ เป็นรูปความคิดแล้ว มันก็เป็นเรื่องหยิบจับฉวยทางจิต ทีนี้ เลยไปถึงนั่นนี่หมายมั่นต่อไปจนถึงเป็นเรื่องตัวกู-ของกู มันก็เป็นเรื่องทางวิญญาณอีกทีหนึ่ง ก็วิญญาณนี้ไม่ใช่คำเดียวกันคำว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ นะ ไม่ใช่คำเดียวกัน คำว่าวิญญาณที่ผมพูดนี่มันอีกความหมายหนึ่งทางวิญญาณ จักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา โสตวิญญาณ วิญญาณทางหู ฆานวิญญาณ วิญญาณทางจมูก นั่นมันหมายถึงความรู้สึกตามธรรมชาติ ทางประสาทที่ตรงนั้นเอง ไม่มากไปกว่านั้น แต่คำว่าวิญญาณที่เราพูดถึงนี้ ที่ฝรั่งเขาใช้คำว่า spiritual มันหมายถึง ความคิดเห็น ความเข้าใจ หรือ ทิฏฐิ ทิฏฐิ ความคิดเห็น ผิดหรือถูก เป็นเรื่องทางวิญญาณ มันเนื่องจากไม่มีคำอะไรจะใช้ ใช้คำนี้ไป ก็ไปปนกันยุ่งกับคำว่าวิญญาณคำอื่น ๆ แต่ถ้าเข้าใจความหมายแล้วก็ไม่เป็นไร คงนึกถึงไอ้เรื่องว่าโรคทางกาย โรคทางจิต โรคทางวิญญาณ นั้น เป็นหลัก คู่เปรียบไว้ก็เสมอ
นี่เราก็มีเรื่องจับฉวยทางกาย จับฉวยทางจิต จับฉวยทางวิญญาณ นี่เรื่องตัวกูของกูอยู่ที่ตรงไหน? อยู่ต่อเมื่อมันมีการจับฉวยทางวิญญาณ ถ้าจับฉวยทางกายล้วน ๆ จับฉวยทางจิตล้วน ๆ ยังไม่ใช่ตัวกู-ของกู ยังไม่ใช่ความทุกข์ ยังไม่ใช่ตัณหา ยังไม่ใช่อุปาทานยึดมั่นถือมั่น เมื่อคุณก็เคยพูดจาคำภาษาไทยว่าจับฉวย แล้วดูมันจะไม่รู้ว่าความหมายเป็นอย่างไร ความหมายเป็นอย่างเดียวกันเสียหมดก็ได้
ทีนี้ อยากจะเทียบอีกทีหนึ่ง ไอ้คำว่าความว่าง ความว่างทางวัตถุ ความว่างทางจิต ความว่างทางวิญญาณ ความว่างทางวัตถุ ทางฟิสิกส์ทางกาย ทางฟิสิกส์นี่ คือว่าง คือไม่มีอะไรเลย ว่าง ไม่มีอะไรเลยความว่างทางวัตถุ ว่างไม่มีอะไรเลย ทีนี้ ความว่างทางจิต คือจิตกำลังไม่ได้คิดนึกอะไรเลย แต่ความว่างทางวิญญาณ ก็หมายความว่า คิดนึกอะไร รู้สึกอยู่เต็มที่ แต่ไม่มียึดถือ ว่าตัวกู ว่าของกู นี่เราเรียกว่า ว่างทางวิญญาณ กำลังพูดกำลังทำ กำลังคิดอะไรอยู่ก็ได้ อะไร ๆ ก็มีหมด แต่ความยึดถือไม่มี กำลังไม่มี นี่เรียกว่า ว่างทางวิญญาณ ไม่มีความทุกข์เลย เกิดไม่ว่างทางวิญญาณก็มีความทุกข์ ไม่ว่างทางกาย ไม่ว่างทางจิต ก็ยังไม่ทุกข์ ยังไม่เกี่ยวกับทุกข์ ต้องไม่ว่างทางวิญญาณ หรือจับฉวยทางวิญญาณ ไอ้ภาษาพูดมันก็เนื่อง ๆ กัน เช่นว่า จับ กับ วาง มือของเรานี่ ถ้าไปติดอยู่ที่จับที่อะไร มันก็คือมือไม่ว่าง ถ้ามือของเราไม่ได้จับอะไรเลย ก็เรียกว่ามือมันว่าง จิตนี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไมได้จับอะไรเลยก็จิตว่าง ถ้าจิตไปจับอะไรอยู่มันก็จิตไม่ว่าง
ทีนี้ คำว่าจับ ในนี้มันหมายถึง ไปเข้าใจสำคัญมั่นหมายเอาโดยทิฏฐิว่าตัวกูว่าของกู ก็เรียกว่าจับ ไม่ใช่จับ เพียงไปคิดนึก เห็นอะไรก็รู้สึก นี่เรียกว่าจับ นั่นมันจับทางจิต ทางระบบทางประสาท ทางจิตล้วน ๆ ยังไม่เรียกว่าจับด้วยความยึดมั่นถือมั่นในที่นี้ จิตคิดอะไรอยู่ก็ได้ เรียกว่าจิตว่างได้ทั้งนั้น คือมันไม่เจือกับตัวกู ของกู ก็เรียกว่า จิตกำลังคิดอะไรง่วนอยู่ คิดเลข คิดอะไรก็ได้ โดยไม่มีความหมายเกี่ยวมาทางตัวกูของกู เรียกว่าจิตว่างเหมือนกัน ฉะนั้น จิตว่าง มันกำลังคิดอยู่ก็ได้ คิดอย่างแรงก็ได้ ใคร่ครวญไตร่ตรองอยู่อย่างแรงก็ได้ แต่เมื่อเกิดความหมายตัวกู-ของกู นี่ เรียกว่าไม่ว่างแล้ว นี่ ขอให้รู้ไว้อย่างนี้ ว่าคำว่าว่างที่ผมกำลังพูด หรือที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในรูปของอุปาทานมันหมายความว่าอย่างนี้ ตรัสเรื่องความว่างโดยชี้ให้เห็นว่า ให้ดูโลกเป็นของว่าง ให้ทุกคนดูโลกโดยความเป็นของว่าง ทั้งที่โลกมันมีอะไรอยู่เต็มไปหมดนี้ ให้ดูในแง่ที่มันว่าง ว่าง คือ ว่างจากความหมายแห่งตัวกู-ของกู ไม่มีตรงไหนที่จะควรเรียกว่าตัวกู ว่าของกู
ทีนี้ ถ้าจิตรู้สึกต่อโลกอยู่อย่างนี้ จิตนั้นพลอยเป็นจิตว่างไปด้วยก็ไม่สามารถจะยึดอะไรได้เลย มันไม่อาจจะยึดอะไรเป็นตัวกูของกูได้เลย พลอยเป็นจิตว่างไปด้วย ให้เราอยู่ด้วยจิตที่ไม่ยึดถืออะไรเลยในโลกก็เรียกว่าอยู่ด้วยจิตว่าง แต่ถ้าเรารู้หน้าที่ว่าเราจะต้องทำอะไร กับอะไร ทำอย่างไร ต่อสิ่งใด ก็ทำไปก็แล้วกัน ปฏิบัติต่อร่างกายอย่างไร ต่อสิ่งของอย่างไร ต่ออะไร ก็ปฏิบัติไป ให้ปฏิบัติไป โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู เรียกว่าจิตว่างอยู่ในโลกได้โดยไม่ต้องมีความทุกข์ ทำประโยชน์แก่โลกได้เต็มที่เหมือนกัน นี่คือตัวธรรมปาฏิโมกข์หลักใหญ่ หัวข้อใหญ่ ใจความสำคัญมันอยู่ที่ตรงนี้ อยู่ในโลกในลักษณะที่ไม่มีความทุกข์ ด้วยจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น พูดสั้น ๆ ก็ว่า อยู่ในโลกด้วยจิตว่าง ทำอะไรด้วยจิตว่าง ทำทุกอย่างด้วยจิตว่าง และก็ไม่มีความทุกข์ พอทำอะไรไปจิตวุ่น มันก็มีความทุกข์ ทีนี้ี่ จะต้องทำอะไร มันก็รู้ของมันเอง ถ้าจิตมันฉลาด มันไม่ยึดถือด้วยความโง่มันรู้มันเองว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร ไอ้สิ่งที่ไม่ต้องทำมันก็ไม่ทำ มันก็ไม่บ้าไปทำไอ้สิ่งที่ไม่ควรทำ มันก็ทำแต่สิ่งที่ควรทำ แล้วทำเท่าที่พอเหมาะพอสมพอจำเป็น จิตไม่ยึดถือ มันฉลาด จิตที่ยึดถือมันโง่ จิตที่ยึดถือมันตะกละตะกราม มันมีกิเลสจัดไปทุกอย่าง มันก็เลยทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ต้องทำก็ทำ ที่เป็นทุกข์มันก็ทำ ถ้าจิตไม่ยึดถือมันฉลาด มันก็รู้จักทำแต่เท่าแต่ที่ควรทำมันก็ไม่มีความทุกข์
เราอยู่ในโลกนี้โดยไม่ต้องมีความทุกข์เพราะมีจิตที่อยู่เหนือสิ่งทุกสิ่ง จิตนี้ไม่เป็นทาสในสิ่งใด นี่ อยู่เหนือสิ่งทุกสิ่ง คือไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในทางวิญญาณ ไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู-ของกูเข้าคือเป็นทาสของสิ่งนั้น ไปยึดถือลูกเมียว่าตัวกู ของกูเข้า มันก็เป็นทาสลูก ทาสเมีย เป็นยึดถือทรัพย์สมบัติว่าตัวกู-ของกูเข้า มันก็เป็นทาสของสมบัติ ไปยึดถืออะไรเข้า มันก็เป็นทาสของสิ่งนั้น นี่ เขาเรียกทางวิญญาณ ภาษาทางวิญญาณ เป็นภาษาที่แท้จริง เกี่ยวกับความทุกข์ หรือความดับทุกข์ ส่วนภาษาชาวบ้าน พูดภาษาคนธรรมดาพูด อาจจะตรงกันก็ได้ ไม่ตรงกันก็ได้เขาก็พูดไปตามภาษาที่เขาพูดกัน คำว่า โรค ก็ดี คำว่าความว่างก็ดี คำว่าจับฉวยก็ดี มีอยู่กันเป็น ๓ ชั้น ทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ ปัญหาใหญ่อยู่ที่ทางวิญญาณ เพราะมันเป็นตัวให้เกิดความทุกข์ ที่มันน่ารัก ให้เกิดความทุกข์อย่างน่ารักอย่างดี ที่มันน่าเกลียด มันเกิดความทุกข์อย่างเกลียด อย่างทนไม่ค่อยไหว ฉะนั้นก็จึงยึดมั่นไม่ได้ทั้งความดีและความชั่ว ทั้งบุญทั้งบาป ทั้งสุขทั้งทุกข์ ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ให้ได้ในบท “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นหรือธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” ใช้คำว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” คือสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ คำว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่ มีปัญหามาก เราก็ยึดถือพระธรรม ยึดถือธรรมอยู่ ยึดถืออย่างไร จึงจะไม่เป็นการยึดมั่นถือมั่น ไอ้ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นละ คือตัวธรรม ถ้าคุณจะจำประโยคที่สำคัญ ก็จำว่า ไอ้ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ คือธรรม ทั้ง ๆ ที่พูดว่า ไอ้ธรรมทั้งปวง ยึดมั่นถือมั่น มันเล่นกันตลกกันอย่างไร ประโยคหนึ่งวางไว้เป็นบรรทัดฐานว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น นับตั้งแต่ขี้ฝุ่นเข้าไปจนถึงจิตวิญญาณ นิพพานเลย เรียกว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่ที่นี้ถ้าเราต้องการจะเอาประโยชน์จากธรรม หรือมีธรรมเป็นที่พึ่ง พูดภาษาคน ชาวบ้านละ ก็ให้รู้เถอะว่า ไอ้ที่ไม่ยึดมั่นนั่นละ คือธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้ จะช่วยดับทุกข์ได้ นี่เราพูดภาษาคนธรรมดาละ ไอ้สุภาษิตที่สำคัญ ๆ บางทีมันเป็นภาษาชาวบ้าน ภาษาคน เช่น ภาษิตว่า ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง (นาทีที่ 36:22) ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ก็แสดงว่า ไอ้ธรรมนี้เป็นวิเศษ เป็นอะไรน่าสนใจ น่าเอา น่ามี ถ้าปฏิเสธว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คนจะปรับให้มันเข้ากันได้อย่างไร ถ้าปรับให้เข้ากันไม่ได้ ก็คือไม่รู้ ไม่รู้ธรรม นั่นก็พูดภาษาคน จะเอาประโยชน์จากธรรม ในความหมายหนึ่ง
เอาละ ทีนี้ เราพูดกันด้วยตัวอย่างอันนี้ต่อไปก็ได้ คือประโยคว่า “ธรรมนั่นแหละรักษาผู้ประพฤติธรรม” มันก็หลายชั้นนะ ธรรมจะรักษาผู้ประพฤติธรรมอย่างไร มีหลายชั้น ในทางปฏิบัติ เราจะเห็นคนปฏิบัติกันอยู่เป็นหลาย ๆ ชั้น คนบางพวกก็นั่งอ้อนวอนบูชาพระธรรม พระธรรมช่วยที พระธรรมช่วยคุ้มครองที บูชาอ้อนวอนพระธรรม เหมือนกับบูชาผีสางเทวดา พระเป็นเจ้า นั่งบูชาขอร้องให้พระธรรมช่วยอยู่นั่นละ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องปฏิบัติอะไร นั่นมันชั้นหนึ่งและจะมีอยู่มากด้วย คุณพระพุทธช่วย คุณพระธรรมช่วย คุณพระสงฆ์ช่วย ให้มีแต่อย่างทีนี้ี่ ยกมือร้องอยู่เรื่อย ยกมือท่วมหัวอยู่เรื่อย ปากร้องอยู่เรื่อย ไม่ได้ทำอะไร นี่เขาก็มีของเขาอยู่วิธีหนึ่ง ให้ธรรมช่วยรักษา ทีนี้ อีกชั้นหนึ่งขึ้นมา ชั้นที่ ๒ ระดับที่ ๒ ไม่มัวนั่งขอร้องธรรมะอยู่อย่างนั้น ปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติศีล ให้ศีลช่วยรักษา ปฏิบัติสมาธิ ให้สมาธิช่วยรักษา ปฏิบัติปัญญา ให้ปัญญาช่วยรักษา เราปฏิบัติธรรมเพื่อให้ธรรมช่วยรักษา เราก็พอจะมีหวังกว่าไอ้ทีแรก เพราะมันเป็นการปฏิบัติลงไปจริง ๆ ปฏิบัติศีลศีลก็รักษาไม่ให้เกิดการเดือดร้อนเพราะผิดศีล ปฏิบัติสมาธิใจก็ไม่ถูกนิวรณ์รบกวน ปฏิบัติปัญญาก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรได้ มันก็ไม่เดือดร้อน ฉะนั้นจึงไปยึดถือในศีล ไปยึดถือในสมาธิ ไปยึดถือในปัญญา ไปเป็นไปยึดถือในไตรสิกขา นี่เป็นชั้นที่ ๒ ปฏิบัติธรรมเพื่อให้ธรรมรักษา
ทีนี้ผมไปอีกชั้นหนึ่ง เสริมออกไปอีกชั้นหนึ่งว่า ไอ้ไม่ยึดถืออะไรนั่นละคือธรรม และไอ้เราไม่ยึดถืออะไรนั่นละ มันจะรักษาเรา ไอ้ความที่เราไม่ยึดมั่นในสิ่งใดนั่นละมันจะรักษาเรา ไม่ให้มีความทุกข์ ถ้าผู้ใดมีจิตที่ตั้งไว้ดี สำรวมไว้ดี ระวังไว้ดี ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้าในทางวิญญาณ มันก็ไม่มีความทุกข์เท่านั้นเอง ความทุกข์อะไรเกิดขึ้นไม่ได้ เรียกว่ารักษาอะไรเต็มที่เลย รักษาเหมือนกับศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งหมดรวมกันเลย หรืออะไรรวมกันเลย เป็นมรรคผล นิพพานอยู่ในนั้นเลย ก็พูดว่าไอ้ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเลยนั้นละมันคือธรรม คือธรรมที่แท้จริงที่จะรักษาคุ้มครองไม่ให้เป็นทุกข์ได้ เอาละ เดี๋ยวมันจะเลือน คุณลองฟังดูใหม่ เมื่อต้องการให้ธรรมะช่วยรักษา คนพวกหนึ่งก็ไปบูชาอ้อนวอน อ้อนวอนธรรมะ ช่วยรักษาที คุ้มครองที มีสวัสดี มีมงคลที อะไรที อ้อนวอนธรรมะให้รักษา พวกหนึ่ง นี้พวกที่ ๒ ก็ปฏิบัติธรรมะลงไป ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ลงไป มันก็รักษาให้เหมือนกัน จริงเหมือนกัน ทีนี้ มาเหนือเมฆ อีกชั้นหนึ่ง ชั้นที่ ๓ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเลย มันจะรักษาอย่างยิ่ง รักษาถึงที่สุด คือความทุกข์ไม่มีทางจะเกิด ฉะนั้นอย่าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดในทางวิญญาณ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งปวง สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ นั่นละจะเป็นธรรมที่แท้ที่รักษาบุคคลไม่ให้เป็นทุกข์ขึ้นมา หรือพูดเสียใหม่อีกทีว่าไอ้ไม่ยึดถือนั่นละคือธรรม ความที่ไม่ยึดถือสิ่งใดเป็นตัวกูของกูนั่นแหละคือธรรมในที่นี้ ธรรมที่จะรักษาคนไม่ให้มีความทุกข์ ฉะนั้น ธรรมปาฎิโมกข์ของเราเพื่อไม่ให้มีตัวกูของกูนี่นะมีความสำคัญถึงขนาดนี้ รู้แล้ว ปฏิบัติแล้วมันก็จะรักษาคนไม่ให้มีความทุกข์ได้ ความไม่จับฉวยทางวิญญาณนั้นแหละจะป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ทางใดทางหนึ่งขึ้นมา
จดพร่ำเพรื่อดูไม่ค่อยมีประโยชน์ จดแต่ที่มันเป็นใจความสำคัญและเข้าใจดีด้วย มีประโยชน์กว่า มันเด่นแต่จำ จำให้มันชัดเฉพาะเป็นประโยคที่สำคัญ บางประโยค ว่าความไม่จับฉวยในทางวิญญาณนั้น ป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นมา ฉะนั้นเราอย่ามีการจับฉวยทางวิญญาณ ทางกาย ทางจิตมันก็ต้องจับฉวย มือก็ต้องจับอะไรอยู่ จิตต้องรู้สึกอะไรอยู่ รู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก รู้สึกอยู่ นี่ก็จับฉวยทางจิต แต่ทางวิญญาณที่จะกลายเป็นเรื่องของกูตัวกู ไม่มีไม่ให้จับฉวย ถ้าไม่จับฉวยก็เลยไม่มีความทุกข์ ดังตัวอย่างเรื่องเปิบข้าวเข้าปาก เคี้ยวกินเข้าไป แก้ความหิว แก้ให้รักษาร่างกายนี้ให้อยู่ได้ แต่อย่ามีปัญหาเรื่องกิเลส เรื่องตัวกู เรื่องของกู เรื่องโลภ เรื่องโกรธ เรื่องหลง เพราะการกินอาหาร แปลว่า เราต้องสัมผัสโลก มีการสัมผัสต่อโลกคือต่อทุกสิ่งในโลกนี้อยู่เสมอ นี่ก็สัมผัสทางร่างกายทางวัตถุ และก็สัมผัสทางจิตคือไปรู้สึกกับมัน นี่เรียกว่าจับฉวยเพียงทางกายทางจิต แต่หลังจากนั้นแล้ว อย่าเป็นเรื่องจับฉวยทางวิญญาณ อย่าให้เกิด egoism ความหมายเป็นเกี่ยวกับตัวกู ของกู เราเรียกว่าไอ้ egoistic conceptual thought ความคิดปรุงแต่ง ที่ไปในทางตัวกู-ของกูอย่าให้เกิด ถ้ามันเลยไปถึงนี่แล้ว เกิดแล้ว มันเป็นทุกข์แล้ว ช่วยไม่ได้ ใครก็ช่วยไม่ได้ ฉะนั้นเราควบคุมอยู่ตรงที่ว่าไปจับมันเข้าแล้ว รู้สึกเข้าแล้ว จะทำอย่างไร จะทำอย่างไรต่อไป ให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราวเสียที มันมาให้กลัวก็ไม่กลัว มันมาให้รักก็ไม่รัก มันมาให้เกลียดก็ไม่เกลียด แต่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้มันเสร็จเรื่องเสร็จราวไปเสีย เป็นเรื่องทุกกรณี เกิดการเจ็บปวดขึ้น ก็ไม่ต้องไปเดือดร้อนให้มันเป็นทุกข์ ก็แก้ไข ก็แก้ไข ทำอย่างไรให้มันหายไปเสียที เอากันอย่างง่าย ๆ ที่มันเป็นเรื่องธรรมดา อย่างเช่นว่า ยุงกัด อย่างนี้ จะไล่ยุง จะปัดยุง จะตบยุง จะตียุง อะไรก็ตาม ก็ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องทำด้วยความโกรธ ให้มันเป็นทุกข์ เจ็บก็รู้สึกว่าเจ็บ และก็ปัดไปโดยไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะความเจ็บ ทีนี้ คนธรรมดา โกรธ มีจิตเดือดเป็นโทสะขึ้นมาอย่างแรงเพราะยุงกัดตัวเดียว ทะลึ่งตึงตังขึ้นมาเลย นั้นก็คือโง่ คือบ้า คือ ยึดถือทางวิญญาณมากเกินไป เลวกว่าควายเสียอีก เช่นว่า ยุงมันกัดควายนี่ มันก็กินหญ้าเฉย มันก็เอาหางแกว่งไปแกว่งมายุงก็ไป เหลือบก็ไป ยุงก็ไป โดยไม่ต้องโกรธเหมือนคน คน ยุงกัดหน่อย เหลือบกัดหน่อย โกรธ เป็นวรรคเป็นเวร เป็นยักษ์เป็นมาร เลวกว่าควายเสียอีก ควายมีหางแกว่งไปแกว่งมา ไล่ยุงไปได้ โดยไม่เกิดความยึดถือทางวิญญาณ รู้สึกว่าเจ็บ ก็ยึดถือทางกายทางผิวหนัง จับฉวยทางกาย ทางจิต ก็พอแล้ว มันไม่ต้องทางวิญญาณ มันก็กินหญ้าเฉย ๆ แต่นี่ คนนี่ มันฉลาดมาก มันไวมาก มันรู้สึกมาก มันคิดเก่ง มันเคยชินมาแต่เรื่องตัวกู-ของกูมาแต่อ้อนแต่ออก ฉะนั้นยุงกัดสักตัวหนึ่ง มันก็เป็นยักษ์เป็นมารขึ้นมาได้ มันก็เป็นเวรกรรมของคนนั้นเอง ค่าที่มันมีปัญญามากมันก็ยึดมั่นถือมั่นมาก อะไรมันก็ยึดถือไปหมด เลยสู้ควายก็ไม่ได้ สัตว์เดรัจฉานมันยึดถือน้อย มันก็เป็นทุกข์น้อย หรือมันไม่ยึดถือเลยในบางกรณี สิ่งที่คนยึดถือ สัตว์ไม่ยึดถือ คนบางคนถูกเพื่อนด่า ด่าแม่ ด่าไร มันยิ้มได้ก็มี มันแปลความหมายไปเสียอย่างอื่น มันไม่โกรธก็มี นั่นแหละได้เปรียบ บางคนอะไรนิดหนึ่งก็โกรธ ไปคิดมาก ไปขยายเรื่องให้เกิดให้ใหญ่ ให้ริษยาอาฆาตอยู่ได้ เป็นวรรคเป็นเวร เป็นเดือนเป็นปี ความโง่ความบ้า สู้สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้ สัตว์เดรัจฉานมันไม่รู้จักขยายให้เรื่องเขื่องอย่างนั้น แล้วกันไปหรือมันทำให้แล้วกันไป ไม่ต้องมีเรื่อง แต่มนุษย์แต่ทำให้มีเรื่อง เกิดอาฆาต จองเวร เป็นชั้นลูกชั้นหลานชั้นเหลนก็มี นั่นละค่าที่มันมีสติปัญญามากในทางโลก ไม่มีธรรมะ ไม่มีสติปัญญาในทางธรรม มันก็มีความทุกข์มาก พระพุทธเจ้าท่านเล็งเห็นอย่างนี้ มองเห็นอย่างนี้ ท่านตรัสหลักเกณฑ์อันนี้ มองเห็นอย่างไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่ต้องสำคัญมั่นหมาย ไปในทางที่จะเป็นตัวกู-ของกู
ฉะนั้น เมื่อถามว่า จิตว่างนี้ ว่างจากอะไร คือว่างจาก concept ต่าง ๆ ที่เป็นตัวกู-ของกู ว่างจากความสำคัญมั่นหมาย ที่เป็นตัวกู-ของกู ไม่ใช่ว่างจากความคิดนึกไปเสียทั้งหมด แต่มันกลับเต็มอยู่ด้วยสติปัญญา มันว่างจากความคิดบ้า ๆ เพราะมันเต็มอยู่ด้วยสติปัญญา ว่างจากกิเลสตัณหา แต่เต็มอยู่ด้วยสติปัญญา นั่นละคือจิตว่าง ไม่ถือยึดมั่นถือมั่นทางวิญญาณ เรื่องนี้เราพูดกันเสมอ ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก พูดขยายความให้เข้าใจออกไป ทีละแง่ ๆ โดยละเอียด วันนี้ก็เรื่องเกี่ยวกับภาษา คุณระวังภาษาพูดให้ดี ๆ ถ้าไม่เข้าใจก็กลายเป็นคนโง่ เข้าใจผิดก็ยุ่งหมด ก็เข้าใจไม่ได้ ก็ปฏิบัติไม่ได้ แล้วก็ว่าความจับฉวยมีอยู่ด้วยกัน ๓ อย่าง ๓ ระดับ จับฉวยทางกาย จับฉวยทางจิต จับฉวยทางความคิดเห็นหรือวิญญาณ ตัวกู-ของกูอยู่ในขั้นที่ ๓ เกิดขึ้นในการจับฉวยทางวิญญาณนะ ไม่ใช่ทางกาย ทางจิต
ทางกายทางจิตนี่มันเป็นเบื้องต้นยังไม่มีความหมายอะไร จำตัวอย่างอุทาหรณ์ว่า เปิบข้าวเข้าปากจับฉวยทางกาย รู้สึกว่าอะไรกินเข้าไปนั้นรสชาติอย่างไรนี่เป็นจับฉวยทางจิต แต่ถ้าว่าไปยึดถือในความอร่อยหรือไม่อร่อยแล้วก็ไปจับฉวยทางวิญญาณ ความคิดตัวของกูเกิด ฉะนั้นพรุ่งนี้ก็ปฏิบัติได้ พรุ่งนี้ฉันข้าวอีกก็ปฏิบัติได้ หรือคืนนี้ไปกินอะไรเข้าก็ตามก็ปฏิบัติได้ ก็ลองดู มันจะทบทวนอยู่ได้ในการปฏิบัติ
ทีนี้ไม่ใช่แต่เรื่องกินอย่างเดียว เรื่องทางตา เรื่องทางหู เรื่องทางจมูก เรื่องทางผิวหนัง เรื่องทางจิตล้วน ๆ เรื่องทางใจอยู่ล้วน ๆ ก็มีทุกเรื่อง ๆ ทุก ๆ ทาง ทุก ๆ อายตนะ อย่าได้มีความจับฉวยทางวิญญาณ จับฉวยแต่ทางกาย ทางจิต ตามหน้าที่ที่ต้องทำแล้วทำด้วยสติปัญญา อย่าทำด้วยกิเลสตัณหา มันก็สบายไปจนสิ้นชีวิต จนร่างกายแตกดับ ไม่มีความทุกข์ เป็นนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ อย่าไปมัวโง่เป็นนิพพานต่อตายแล้ว บางคนเขายืนยันหนักหนาว่านิพพานต่อตายแล้ว ผมว่าบ้าที่สุด เป็นการทำลายพุทธศาสนา ใส่ร้ายพุทธศาสนาอย่างยิ่ง พุทธศาสนาต้องการให้ทุกคนนิพพานด้วยความรู้สึกยังเป็น ๆ อยู่นี่ คือเย็นสบายไม่มีทุกข์ นิพพาน เวทนาทั้งหลายจัดเป็นของเย็นนะ นี่ บาลี วลี หนึ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมจำได้ติดหูติดตา เวทนาทั้งหลายของเธอนั้นจัดเป็นของเย็น เวทนาทั้งหลายจักไม่เป็นของร้อน คือนิพพาน ทั้ง สอุปาทิเสสนิพพาน และ อนุปาทิเสสนิพพาน เวทนาทั้งหลายของเธอนั้น จัดเป็นของเย็น เวทนาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางผิวหนัง และทางใจก็ตามจัดเป็นของเย็นเสมอ เพราะว่าผู้นั้นไม่มีความยึดถือจับฉวยทางวิญญาณ ธรรมปาฏิโมกข์ของเราวันนี้ พอกันที