แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้จะได้กล่าวถึงธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือต่อ ในวันที่แล้วมาเราได้พูดกันถึงเรื่องธรรมะที่เป็นเครื่องมือพื้นฐานทั่วไปอย่างยิ่ง คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ จะเรียกว่าเครื่องมืออะไรก็ยาก จนต้องเรียกว่าเครื่องมือทั่วไป และเป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่สุดจนถึงกับเรียกว่า ฆราวาสธรรม ทีนี้ก็จะได้ชี้ให้เห็นความทั่วไป ความเป็นเครื่องมือทั่วไป หรือความเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สุด เกี่ยวกับข้อนี้จะต้องมองให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอยู่เสมอว่า เครื่องมือมีหลายชั้น เครื่องมือสร้างเครื่องมือ เครื่องมือสร้างเครื่องมือเรื่อยไปได้หลาย ๆ ชั้น จนกว่าจะเป็นเครื่องมือชิ้นสุดท้าย ที่จะให้ผล ที่จะทำให้เกิดผล แต่ก็ไม่วายที่จะเป็นเครื่องมือในความหมายสุดท้ายอีกทีนึง ที่ทำให้เกิดความพอใจแก่บุคคล เครื่องมืออันสุดท้ายของเรามาทำให้คนผู้ปฏิบัติให้ได้รับความพอใจ หรือแม้แต่ความพอใจนั้นมันก็ยังเป็นเครื่องมือให้คนหลงใหล ให้คนยึดมั่นถือมั่น และให้คนให้ไปอีกก็ได้ ในเรื่องทั่ว ๆ ไป คือให้แสวงหาต่อไปอย่างไม่รู้จักจบก็ได้ ต้องระวังให้ดี อย่าให้มันเดินไปในทางที่ไม่รู้จักจบ ถ้าเป็นเรื่องโลก ๆ มันก็เป็นอย่างนั้นที่มันจะเดินไปอย่างไม่รู้จักจบ คือเป็นเรื่องเข้าใจผิด เป็นเรื่องอวิชชา ไอ้ความเป็นเครื่องมือมันก็เลยให้ผลไปในทางที่ไม่รู้จักจบ แต่เดี๋ยวนี้ในทางธรรมะนี่เราหมายถึง เครื่องมือที่จะทำให้รู้จักจบ ให้รู้จัก ให้ถึงความสิ้นสุดของการกระทำ ที่เรียกว่าการเวียนว่ายตายเกิด ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า ให้สิ้นกรรม หมดกรรม สิ้นกรรม ความหมายมันเลยกำกวม คือสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นเครื่องมือกลาง ๆ ใช้ไปในทางโลก เพื่อผลเป็นวัตถุ เป็นเหยื่อของกิเลสตามความปรารถนาก็ยังได้ อย่างนี้ไม่รู้จักจบ แม้แต่พวกโจรจะเอาไปใช้เพื่อทำหน้าที่ของโจรให้สำเร็จนั้นก็ได้ ถ้าเขาเป็นโจรที่มีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ตามวิธีของพวกโจร นี่เรียกว่าเอาเครื่องมือไปใช้ในทางตรงกันข้าม กับอีกอย่างหนึ่งคือจะเอาเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ในทางที่จะสิ้นสุดของความอยาก
เดี๋ยวนี้เราก็ลองพูดถึงการเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง มองกันมาตั้งแต่ต้นจนตลอดแล้วจนปลายแล้วเห็นว่าเราต้องการจะมีความเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง คำว่าจิตว่างมันเป็นความสิ้นสุดของความทุกข์ แม้แต่ยังไม่ว่างจริง ว่างกลับไปกลับมา มันก็เป็นความสิ้นสุดของความทุกข์ชนิดที่กลับไปกลับมาได้เหมือนกัน เมื่อไหร่ว่างเมื่อนั้นก็สิ้นสุดของความทุกข์ นี่เราจะมองดูกันในแง่นี้ โดยเฉพาะที่จะเอาไปใช้สร้างความไม่สิ้นสุด สร้างวัฏสงสารนั้นมันเป็นเรื่องที่ไม่แนะนำหรือไม่ต้องพูดกัน ในที่นี้เราจะพูดกันในเรื่องหยุดวัฏสงสาร หรือที่เรียกว่าทำลายวัฏสงสาร วัฏสงสารมันก็เรื่องหนึ่ง วนเวียนของความอยาก แล้วก็กระทำตามความอยากและก็ได้ผลมา ตรงตามความอยากบ้าง ไม่ตรงตามความอยากบ้าง ถ้าตรงตามความอยาก มันก็อยากอย่างอื่นงอกงามออกไปอีก แล้วก็ทำอีก แล้วเกิดผลต่อไปอีก นี่ถ้าไม่ตรงตามความอยาก มันก็ยังมีอยากอย่างอื่นอีก อย่างน้อยก็อยากที่จะทำให้มันได้ตามความอยาก ก็ดิ้นรนที่จะได้ตามความอยาก ได้มาตามความอยากมันก็ไม่รู้จักหยุด มันอยากต่อไปอีก อาการเหล่านี้ทุกขั้นทุกตอนล้วนแต่เป็นเรื่องความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเราเรียกว่า มีตัวกูมีของกู ยึดมั่นตัวกูผู้กระทำหรือผู้อยาก ยึดมั่นของกู คือผลที่ได้มาเป็นของกู แล้วมันวุ่นเท่าไร ลองคำนวณดูก็แล้วกัน ไม่มีอะไรจะวุ่นมากไปกว่าวัฏสงสาร อยากแล้วทำ ได้ผลแล้วก็อยากอีก แล้วก็ทำอีก แล้วก็ได้ผล แล้วก็อยากอีกก็ทำอีกอยู่แต่อย่างนี้ ในวันหนึ่ง ๆ ถ้ามันทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งมันมีมูลมาจากอวิชชาแล้วมันก็เป็นความทุกข์แน่นอน
ทีนี้คนเราอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องอยากหรือต้องทำ ก็มีปัญหาแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจึงจะอยาก หรือว่าทำได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ถึงว่าต้องทำไปด้วยจิตว่าง ต้องอยู่ด้วยจิตว่าง ถ้าอยากก็อยากโดยไม่ต้องมีตัวกูของกูอยาก ให้เป็นเรื่องของสติปัญญาต้องการ เรื่องนี้เคยพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นใจความสำคัญสรุปได้อย่างนี้ อย่าอย่าลืมเสีย ถ้าลืมแล้วมันก็ยุ่ง เรื่องความรู้ เรื่องความเข้าใจ ไอ้ความอยากเป็นกิเลสตัณหา อุปาทานนั้นมันเป็นเรื่องทุกข์ ความต้องการด้วยสติปัญญา สัมปชัญญะนั้นมันเป็นเรื่องที่จะดับทุกข์ นี่พอต้องการด้วยสติปัญญา มันก็ต้องทำไปตามสติปัญญา ด้วยสติปัญญา อย่าเป็นความยึดมั่นถือมั่น ที่มันก็ได้ผลมาเหมือน ได้ผลมาตรงตามความพอใจ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องยึดมั่นถือมั่น มองเห็นเป็นของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ธรรมดาของธรรมชาติอยู่เสมอ ได้ผลมามันก็จะไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น มันเกี่ยวข้องกันอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น มันไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่ต้องไปสนใจกับมัน
ทีนี้เหตุผลที่มันได้มานี่ มันก็กินใช้บริโภคอะไรได้โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น แล้วมันจะต้องการต่อไปอีกหรือไม่ มันก็แล้วแต่กรณี ถ้ามันมีเรื่องมีเหตุผล มีอะไรที่จะต้องการต่อไปอีก ก็ต้องการต่อไปอีก โดยสติปัญญาต่อไปอีก อย่าโดยความโง่ ความหลง ความยึดมั่นถือมั่นในผลที่ได้มา แม้จะมีการวนเวียนอย่างนี้ เขาก็ไม่เรียกว่าวัฏสงสาร เพราะมันไม่เกี่ยวกับกิเลส แต่มันเกี่ยวกับสติปัญญา คำมันคู่กันอยู่ โพธิหรือปัญญานั้นอย่างหนึ่ง กิเลสหรืออวิชชานั้นมันอีกอย่างหนึ่ง เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า โพธิหมายถึงฝ่ายปัญญา เรียกว่ากิเลสก็ต้องฝ่ายความโง่ ถ้าเป็นเรื่องความโง่หมุนไปตามความโง่ก็เป็นเรื่องวัฏสงสาร ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาของโพธิก็เป็นไปเพื่อนิพพาน ถ้าเราใช้เครื่องมือที่วิเศษนี้ให้เป็นไปเพื่อนิพพาน ให้เป็นโพธิก็เป็นไปเพื่อนิพพาน ดังนั้นเขาจึงมีคำพูดขึ้นมาอีกคำหนึ่งเป็นชื่อรวม ๆ ของธรรมะเหล่านี้ คือคำว่า โพธิปัขขิยธรรม โพธิปัขขิยะ แล้วก็ธรรม คนรุ่นก่อน รุ่นปู่ย่าตายายฟังเทศน์มาก คำเทศน์อย่างสมัยก่อนเขาจะมีคำชนิดนี้มาก คำว่า โพธิปัขขิยธรรม ชินหู คุ้นกับหูคนรุ่นก่อน ๆ จนเดี๋ยวนี้เราก็ไม่ค่อยจะได้ยิน เพราะมันเทศน์กันโดยที่ไม่ใช้ชื่อ ๆ นี้ บางทีถึงกับว่า ไอ้โพธินี้มันไกลเกินไป มันสูงเกินไป ก็ไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยเอามาพูด ที่จริงมันก็เป็นคำที่สำคัญมาก คือเป็นที่รวบรวมไอ้ความหมายทั้งหมดนี้ไว้
ทีนี้สำหรับคำ ๆ นี้ อย่าไปคิดเลยว่าจะเป็นพระพุทธภาษิต หรือไม่ใช่พุทธภาษิต ใครจะพูดขึ้นมาก็ได้ มันมีความหมายดี ถึงพระพุทธเจ้าก็จะไม่ทรงปฏิเสธ แม้หนังสือบางเล่มก็ว่าเป็นคำศัพท์ของพระพุทธเจ้าที่ตรัสถึงชื่อ ๆ นี้ แต่พิจารณาดูก็เห็นว่ามันเป็นคำที่พระพุทธเจ้าจะไม่ได้ตรัส ไม่ได้เรียกก็ได้ แต่ผู้กล่าวหรือผู้เรียกนั้นเรียกถูกต้องอย่างยิ่ง จนพระพุทธเจ้าก็ต้องทรงรับรอง เอาเป็นว่าเป็นคำที่ดีที่เราควรจะสนใจ เหมือนกับคำอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไปที่แม้จะใช้พูดใช้เรียกกันในยุคหลัง ๆ โพธิ ก็แปลว่า ความรู้ การตรัสรู้ อย่างที่รู้กันอยู่แล้ว ปัขขิยะ เป็นฝักฝ่าย ธรรมก็แปลว่าธรรม อย่าแปลอย่างอื่น โพธิปัขขิยธรรม ก็ต้องแปลว่า ธรรมที่เป็นฝักฝ่ายของโพธิ มันก็เลยเป็นการแยกขาดออกจากธรรมที่เป็นฝักฝ่ายของกิเลส มันเลยแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเหมือนกัน ธรรมะนี้มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเหมือนกัน โดยคนที่รู้ธรรมะหรือจะสอนธรรมะ นี่ก็เลยช่วย ๆ แบ่งพรรคให้ธรรมะว่าเป็นฝักฝ่ายของโพธิ ว่าเป็นฝักฝ่ายของกิเลส มีอยู่ ๒ อย่าง นี่เราต้องการโพธิ แล้วก็สนใจแต่โพธิปัขขิยธรรม
ทีนี้ธรรมะที่เป็นโพธิปัขขิยธรรมนี้ ก็คือธรรมะเครื่องมือ เหมือนที่ได้ออกชื่อมาแล้ว เริ่มด้วยอิทธิบาท ๔ สติปัฏฐาน ๔ สมุปทาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ อย่างที่เราพูดกันมาคร่าว ๆ แล้ววันหนึ่ง ก็พูดให้สรุปว่าไอ้ธรรมะเครื่องมือนี้ มันมีพื้นฐานอยู่ที่ธรรมะ ขั้นต้นที่สุด คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นเครื่องมือสารพัดนึกที่จะให้ได้ อะไรก็ได้ ในที่นี้เราต้องการจะให้ได้ ซึ่งธรรมะเครื่องมือชั้นที่สูงขึ้นไปที่อาศัย สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ และก็จะหาอิทธิบาท สติปัฏฐาน สมุปทาน อะไรต่อขึ้นไป เราหาเครื่องมือ มาสร้างเครื่องมือ เครื่องมือนั้นก็สร้างเครื่องมืออื่น เครื่องมืออื่นก็สร้างเครื่องมือต่อไป มันก็มีข้อคาบเกี่ยวกันระหว่างเครื่องมือ มีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ สมมติว่าเราจะสร้างอิทธิบาท มันก็เห็นได้ชัดว่ายิ่งเป็นการง่าย เพราะมันคล้าย ๆ กันนั่นเอง ถ้ามีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะอยู่ ก็มันมีอิทธิบาทอยู่ในตัว เราก็มองดูในแง่ที่จะให้เห็นเป็นรูปร่างของอิทธิบาทขึ้นมา มีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ก็มีความสำเร็จ เหมือนสิ่งเราต้องการ ไม่ปล่อย ละก็ได้ ไม่ปล่อย สร้างก็ได้ มันก็สำเร็จ สำเร็จก็คือเป็นอิทธิบาท แต่ที่เอามาเรียกไม่เหมือนกัน คือเป็นกลายเป็น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เห็นได้ว่าเริ่มมีพูดถึง วิมังสา คือปัญญา ก็มันเป็นฝ่ายโพธิ มันก็ต้องมีปัญญา มีความรู้ ไอ้สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เรายังไม่พูดถึงปัญญาเลย พูดถึงเครื่องมือที่เป็นกำลัง เป็นตัวกำลัง พอมาถึงอิทธิบาท มันก็มีกำลังและมีปัญญาเข้ามา นี่มันเป็นการบอกอยู่ในตัวว่า ไอ้กำลังนี่ต้องใช้ให้ถูก คือต้องใช้ด้วยปัญญา นี่ถ้าไม่มีปัญญามันก็เอากำลังนั้นไปใช้ผิด เหมือนพวกโจร เขาก็เอาไอ้สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นี่ไปใช้ได้ โดยไม่มีปัญญาที่ถูกต้อง มันเป็นปัญญาเฉโก เป็นปัญญาทุจริต นี้ต้องมีปัญญา ที่กล้าอาจ ที่ซื่อตรง ที่ถูกต้อง ส่วนไอ้ฉันทะ วิริยะ จิตตะ นี่ก็เป็นพวกกำลัง มันก็เหมือน ๆ กับสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ มันก็มีชื่อตรงกันอยู่แล้ว เช่น ฉันทะ นี่ก็มีความพอใจ ก็มีความจริงใจในสิ่งนั้น ๆ วิริยะ ก็ความพากเพียร มันก็อยู่ที่ว่า มันจะต้องอดกลั้น อดทนอะไรไป ในความพากเพียร พอมาถึงวิมังสา ก็เรื่องปัญญาที่จะต้องพิจารณา จะต้องสอดส่อง เราก็ดูเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่มีเนื้อใน เนื้อหาสาระเหมือน ๆ กัน รูปร่างข้างนอกหรือชื่อที่เรียกนั้นมันไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ที่ของจริงหรือเนื้อใน
ทีนี้เราก็ดูกันในรูปของอิทธิบาท ที่ให้เกิดความสำเร็จไปในทางของฝ่ายโพธิโดยตรง อิทธิบาทนี่ก็เพื่อความสำเร็จ ก็สำเร็จไปในทางฝ่ายโพธิ ฝ่ายนิพพาน สังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าคำว่า อิทธิ หรือ ฤทธิ ภาษาบาลีก็เป็นอิทธิ ภาษาไทยที่มาจากสันสกฤตก็เป็นฤทธิ คือที่เราเรียกกันว่าฤทธิ์ ฤทธิ์ ก็แปลว่า ความสำเร็จ หรือเครื่องให้เกิดความสำเร็จ แต่เราไม่ค่อยมองกันในแง่นี้ มองกันในแง่ที่เป็นของประหลาด อัศจรรย์ วิเศษ ปาฏิหาริย์ ในทำนองนู้น คล้าย ๆ ต้องมองกลับลงมายังที่ความสำเร็จ หรือเครื่องให้เกิดความสำเร็จเสียก่อน มันจึงจะมีเป็นประหลาด คืออัศจรรย์ หรือปาฏิหาริย์ขึ้นมา ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นปาฏิหาริย์อะไร ฉะนั้น ปาฏิหาริย์หรือฤทธิ์ มันอยู่ที่ความสำเร็จ น่าอัศจรรย์ก็อยู่ที่ความสำเร็จ ทีนี้คนมุ่งกันแต่เรื่องทางฝ่ายวัตถุ หรือความโลดโผน มันก็ไปมองฤทธิ์ในแง่ของไอ้เรื่องทางวัตถุ ทางโลดโผน เช่น เหาะได้ หรือเช่นทำอะไรได้ ลักษณะอย่างนั้นว่าเป็นฤทธิ์ เป็นปาฏิหาริย์ มันก็มองไปตามประสาโง่ หรืออวิชชา ไปอยู่ที่ความแปลกประหลาด น่าอัศจรรย์ ไม่มองที่ความสำเร็จ มันต้องมองว่า ไอ้ที่มันเหาะได้หรือมันทำอะไรได้นั้น มันก็เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะต้องการที่เป็นความสำเร็จ หรือนี่ไปมองที่ความประหลาด น่าอัศจรรย์ เป็นปาฏิหาริย์อย่างนี้ มันจึงมองไม่ค่อยเห็นว่า ไอ้ฤทธิ์ที่แท้จริง ปาฏิหาริย์ที่แท้จริงนั้นมันคืออะไร คือความสำเร็จ สำเร็จของอะไร สำเร็จของประโยชน์ที่ถูกต้อง จะเหาะได้หรือไม่เหาะได้ มันก็ยังไม่ใช่เรื่องที่แน่นอน อย่างเดี๋ยวนี้ไปโลกพระจันทร์ได้ มันก็เป็นเรื่องเหมือนกับเหาะได้ แต่มันอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรก็ได้ ไอ้ฤทธิ์ ปาฏิหาริย์นั้นมันต้องมีประโยชน์ เพราะฉะนั้นไอ้ที่มีประโยชน์ที่สุดก็คือละกิเลสได้ ฉะนั้นที่ตรงไหนละกิเลสได้ ตรงนั้นเป็นปาฏิหาริย์ที่สุด เป็นฤทธิ์ เป็นปาฏิหาริย์ที่สุด
ในทางพุทธศาสนาเราระบุปาฏิหาริย์ คือการกลับคนเลวให้เป็นคนดี กลับความทุกข์ให้เป็นความสุข ตัวปาฏิหาริย์ คือยอดสุดของปาฏิหาริย์ด้วย อาจไม่ต้องเหาะได้ ไม่ต้องอะไรก็ได้ เหาะได้ มันก็จะกลับคนให้ชั่วให้เป็นคนดีได้ มันก็ไม่รู้ มันไม่แน่ หรือมันไม่อาจจะกลับเลยก็ได้ แต่การที่พระพุทธเจ้าพูด ตรัสกับใครเพียง ๒ - ๓ คำ ไอ้คนนั้นมันกลับตัวจากคนเลวเป็นคนดี จากปุถุชนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา อย่างนี้คือปาฏิหาริย์จริง ๆ เครื่องมือหรือฤทธิ์มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเครื่องมืออย่างนี้ พูดตรง ๆ ก็เป็นเครื่องมือฆ่ากิเลส ฆ่าความทุกข์ เพราะการฆ่ากิเลส ฆ่าความทุกข์ นั้นเป็นปาฏิหาริย์อย่างยิ่ง เป็นอิทธิอย่างยิ่ง แต่คนก็ไม่ชอบ ก็เอาฤทธิ์ เอาปาฏิหาริย์ไปใช้กับเรื่องเหาะได้ ดำดินได้ เนรมิตอะไรได้ ล้วนแต่เป็นเรื่องโกหกทั้งนั้น ที่มันไม่จริงตามนั้น เนรมิตข้าวสุกขึ้นมาก็กินไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่มันก็เนรมิตขึ้นมาให้เห็นได้ เนรมิตปราสาทขึ้นมาให้เห็นได้ แต่มันก็อยู่ไม่ได้ มันก็ต้องตัดไม้มาทำกุฏิ ทำกระท่อมอยู่ ทำบ้านเรือนอยู่ มันเป็นเรื่องปาฏิหาริย์หลอกลวง ในที่สุดก็ต้องมาสร้างบุญสร้างกุศล เพื่อจะมีวิมานอยู่ มันจะบันดาลด้วยฤทธิ์ของอวิชชาอย่างนั้นไม่ได้ เดี๋ยวนี้ปาฏิหาริย์ของเราก็อยู่ที่ฆ่ากิเลสให้ราบเรียบไปเลย อย่างพระพุทธเจ้าทรมาน คนมิจฉาทิฐิหรือคนเข้าใจผิดอย่างพระองคุลีมาล หรือมิจฉาทิฐิที่หนาแน่นกว่านั้นก็ได้ ทำได้ นี่คือปาฏิหาริย์ นี่มันเป็นเครื่องมือ เพื่อทำอย่างนี้ต่างหาก ที่เรียกว่าอิทธิ หรือฤทธิ หรือแม้แต่ปาฏิหาริย์ เดี๋ยวนี้ในอรรถกถาก็เลยเขียนไว้ชัดว่า อิทธิ ปาฏิหาริย์ ก็คือว่าแสดงฤทธิ์เดชทางภาษาชาวโลก อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ก็คือสอน ใช้คำพูดที่น่าอัศจรรย์ที่สุด เขาเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ แล้วก็มีการกลับใจคน ทรมานคน เปลี่ยนแปลงคน ที่น่าอัศจรรย์ที่สุด แล้วก็เทศนาปาฏิหาริย์ แยกกันไปเลย แยกกันไปจากชนิดที่มันเป็นเรื่องหลอกลวงโกหก มันเป็นฤทธิ์ที่แท้จริงคือ ใช้ประโยชน์ได้ถึงที่สุด ทำปุถุชนให้เป็นพระอรหันต์ หมายความว่าทำคนที่มีความทุกข์ ให้กลายเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ได้ คำว่า ฤทธิ์ มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเครื่องมือกี่มากน้อยก็ลองคิดดูเองก็แล้วกัน มันเป็นเครื่องมือที่วิเศษอย่างไรก็คิดดูเองก็แล้วกัน
ทีนี้มาพูดถึงอิทธิบาท ก็หมายถึงไอ้รากฐาน สิ่งที่เป็นรากฐาน หรือเป็นเครื่องมือชั้นรากฐานที่จะให้เกิดฤทธิ์คราวนี้ ถ้าพระพุทธเจ้าได้ทรงประสงค์มีอายุยืนยาวอยู่สักกัปหนึ่ง ก็ใช้อิทธิบาทนี้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ แต่มันเป็นเรื่องเกินความเหมาะสม เพราะไม่ได้ขวนขวาย และมันก็ไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับการเปลี่ยนคน การจะมีอายุยืนสักกัลป์หนึ่ง ก็ไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับการเปลี่ยนคนสักคนหนึ่ง จากความเป็นปุถุชนให้เป็นพระอรหันต์ ก็คือฤทธิ์ที่แท้จริงมันอยู่ที่นี่ นี่เราก็อยู่ในชุดนี้ อยู่ในกลุ่มนี้ คือเป็นผู้มีความทุกข์ แล้วก็อยากหรือต้องการที่จะไม่มีความทุกข์ มีความทุกข์ก็รู้จักกันดี ทุกข์อย่างที่ต้องน้ำตาไหล ก็รู้จักกันดีอยู่ไม่ต้องพูด หรือต้องการจะขจัดความทุกข์เหล่านี้ออกไป มันก็ต้องมีฤทธิ์ ต้องเป็นคนมีฤทธิ์ ไอ้สิ่งที่เคยร้องไห้ น้ำตานองไปนั้น มันจะต้องมีฤทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งมาแก้ไขมัน จะมีวิธีอะไรมาแก้ไขมัน แก้ไขได้จริงก็เห็นจะมีแต่ธรรมะ
ธรรมะมันก็ขยายตัวออกไปเป็นข้อ ๆ พวก ๆ ไป อย่างที่ว่ามาแล้ว ถ้าบังคับจิตใจได้ มันก็หยุดร้องไห้ได้ ทีนี้แต่ว่าต้นเหตุที่ทำให้ร้องไห้ มันไม่มีที่สิ้นสุด คือมันมีความผิดพลาดอย่างอื่น มันก็ต้องแก้ไขความผิดพลาดเหล่านั้นให้หมดไป หากความผิดพลาดคือการทำชั่ว หรืออยากทำชั่ว หรือบังคับตัวไม่ได้ มันก็ต้องแก้ไขด้วยการบังคับตัวให้ได้ นับตั้งแต่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ขึ้นมา ไอ้ความทุกข์มันต้องมาจากการทำผิดหรือทำชั่วเสมอ การทำผิดทำชั่วมาจากการบังคับตัวไม่ได้เสมอ ที่ว่าจะไม่รู้นั้นดูไม่มี มีแต่เรื่องรู้แล้วทำไม่ได้ หรือไม่ทำ หรือบังคับตัวไม่ได้ มันก็อยู่ที่การบังคับตัวให้ได้ ทีนี้ก็เริ่มมีโครงการ มีแผนการ ที่จะบังคับตัวกันให้ได้จริง ๆ แล้วก็ในระยะยาว อิทธิบาทมันก็มีหน้าที่เกิดขึ้น เราต้องเห็นว่า ไอ้ร้องไห้นี่ไม่ไหว แล้วก็ต้องอยากหรือประสงค์ที่จะไม่ร้องไห้ หวังที่จะไม่เป็นผู้ร้องไห้อีกต่อไป ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ฉันทะ มันก็เกิดขึ้นในความไม่ต้องร้องไห้ เรียกว่า ฉันทะ นี่เรื่องความทุกข์ ก็ต้องมีฉันทะในการที่จะไม่เป็นทุกข์ หรือถ้าเราเรียกว่า เป็นอยู่ด้วยจิตว่างไม่เป็นทุกข์ มันก็ต้องมีฉันทะในการที่จะเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง เอาไปคิดดูให้ดี มันจะได้มีฉันทะขึ้นมา คิดเป็นมันก็มีง่าย มีลึก มีแรง มีได้แรง มีฉันทะ อย่างลึก อย่างแรง อย่างจริงจังขึ้นมา มันก็สำเร็จไปตั้ง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ คนเราถ้าลองพอใจหรือแน่ใจอะไรแล้ว มันก็มีความสำเร็จอย่างน้อย ๕๐ เปอร์เซ็นต์หรือเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นกำลังผลักดันให้ทำต่อไป โดยง่าย โดยสะดวก โดยสนุก
ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าทรงยกเอาไอ้ฉันทะขึ้นมาเป็นข้อแรกนั้น มันเป็นเทคนิค เป็นเทคนิคทางวิญญาณ ทางจิต ทางวิญญาณ อย่างใหญ่หลวง เดี๋ยวนี้มันโง่มาก จนไม่อยาก ไม่พอใจในสิ่งที่ควรจะอยาก ควรพอใจ มันไปนั่งพอใจที่จะร้องไห้อยู่นั่น กลายเป็นร้องไห้นี่ยิ่งสนุก สบาย ยิ่งอร่อย ก็เลยร้องไห้กันไปตลอดชีวิต คือสมัครที่จะเป็นทุกข์อยู่ตลอดชีวิต สนุกไปเลย ขึ้น ๆ ลง ๆ เปียก ๆ แห้ง ๆ ไปอยู่อย่างนี้ เรื่อยไปจนตลอดชีวิต ไม่เคยมีฉันทะในพระนิพพาน ฉะนั้นไปดูกันเสียใหม่ ในจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุด คือฉันทะในพระนิพพาน คือในความดับทุกข์ ในความสะอาด สว่าง สงบ ในความแห้งสนิท มันก็ต้องอุตส่าห์ดู ขยันดูไอ้ความทุกข์ แล้วก็ดูให้เป็น ตอนร้องไห้ก็ดูให้เป็น ไม่ร้องไห้นั้นคืออะไร พูดอะไร อยากอะไร ไม่เท่าไหร่ก็จะพบหนทางที่จะแก้ไข แต่นี่มันดูไม่เป็น ดูแต่จะร้องไห้ ดูแต่จะร้องไห้ให้ดีกว่ากว่าเดิม มันเป็นเรื่องกลบเกลื่อนความทุกข์ โดยความทุกข์ ไม่รู้จักสิ้นสุด
เราเห็นได้อยู่แล้วว่า ไอ้ที่เข้ามาในวัดในวานี่ เข้ามาด้วยอะไร คือเดินละเมอเข้ามา หลับตาเดินละเมอเข้ามา ตาม ๆ กันมา ตามขนบธรรมเนียมประเพณีว่าเข้าวัดเว้ย ดีกว่า อย่างนี้เสียแหละมาก ไม่ได้เห็นว่าไอ้นอกวัดนั่นมันเป็นทุกข์ เหมือนกับไฟไหม้ แล้วเราจะไปหาที่ดับไฟ ไม่ได้คิดกันอย่างนั้น ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น คิดอาจจะคิด แต่คิด ไปตามเหตุผล ไม่ได้รู้สึกจริง ๆ ว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องคิดตามเหตุผล ที่ต่ำกว่านั้นมันก็ละเมอตาม ๆ เขามา ไม่ได้คิดตามเหตุผลด้วยซ้ำ ถ้าเหตุผลว่าเป็นเหตุผลของเด็ก ๆ ว่าเขาเฮกันไปทางไหน ก็เฮไปทางนั้นด้วย มันคงจะดีแน่ เพราะเค้าเฮกันไปมาก ๆ ๆ มากคน เหตุผลของเด็ก ๆ มันเป็นอย่างนี้ บางคนก็อาจจะไปไกลกว่านั้น คาดคะเนเห็นว่ามันคงจะดี เพราะเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ก็มี อย่างคิดตามเหตุผล ไม่รู้สึก ไม่ได้รู้สึกความทุกข์จริง ๆ เขาว่าจะดับทุกข์ มันจะดับกันได้โดยวิธีที่ตรงกันข้าม ฉะนั้นในวัดมันก็เกิดขึ้นเป็นสถาบัน เพราะความหลงของคนก็ได้ เพราะความจริง ความถูกต้องของผู้มีสติปัญญาก็ได้ แต่ถ้ามาถึงยุคนี้แล้วดูมันเป็นเรื่องสถาบันของความหลง ความสมมติเอาความเห่อตาม ๆ กันไปเสียมากกว่า บางทีที่วัดนั้นเองก็ไม่ได้มีระบบการดับทุกข์ หรือว่าไอ้ทำความดับทุกข์อะไรก็มี แต่มันมีชื่อเสียงเลิศลอยแล้วว่า วัดแล้วก็ต้องวิเศษ แล้วต้องดับทุกข์ เป็นสถาบันของความสมมติเท่านั้นเอง ดูให้ดีว่า ไอ้ฉันทะ ที่ประกอบด้วยธรรม เพื่อจะดับทุกข์เนี่ยมันยังไม่มี มันยังไม่พอ มันมีมากแต่ไอ้ฉันทะในทางกามารมณ์ ที่เรียกว่ากามฉันทะเป็นนิวรณ์นั้นน่ะ กลุ้มอยู่ทั่ว ๆ ไป คือฉันทะในเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นเนี่ย เป็นฉันทะที่แรงมาก แรงจนข่มขี่กันไม่ไหว มันเป็นฉันทะไปทางฝ่ายนู้น ไม่ใช่ฉันทะมาทางฝ่ายโพธิปัขขิยะ หรือนิพพาน ไม่ใช่ฉันทะในอิทธิบาทของโพธิปัขขิยธรรม
นี่คือจุดตั้งต้นจุดแรก จุดตั้งต้นที่จะต้องสะสาง ถ้ามันเดินมาถูกแล้วก็ดี ก็เป็นที่น่าอนุโมทนา ที่มีฉันทะอันถูกต้อง จึงมาวัด มาบวช มาปฏิบัติ ก็น่าอนุโมทนา แต่ว่าอย่าเพิ่งคิด หรือเหมาเอาว่าถูกต้องง่าย ๆ นัก ไปเช็คไปตรวจดูให้ดีเสียก่อนว่ามันถูกต้องจริงหรือเปล่า เผื่อมันจะมีส่วนที่ไม่ถูกต้อง เพราะความไม่รู้เท่า เพราะความไม่รู้นี้มันก็มี จะต้องมีแทรกอยู่ คือความเห่อ ไอ้บวชตามเห่อ ๆ กัน มันก็ไม่ใช่ฉันทะในอิทธิบาทนี้ เข้าวัดก็เห่อ ๆ ตาม ๆ กันมานี้ ก็ไม่ใช่ฉันทะในอิทธิบาทนี้ ถึงว่าไอ้รากฐานนี้มันไม่ถูกหรือมันไม่มีแล้ว มันก็ทำไม่ได้หรอก ต่อไปมันทำไม่ได้ มันจะทำต่อไปไม่ได้ มันย้อนไปสำรวจดูที่รากที่เหง้า ที่จุดตั้งต้นอันแรกนี้กันเสียทุกคน ว่าฉันทะของเราถูกต้องหรือเปล่า บริสุทธิ์หรือเปล่า มีมากพอหรือเปล่า ถ้ามันไม่ถูกต้อง มันไม่มากพอ ขยับขยายไอ้ฉันทะนี้ให้มันถูกต้อง ให้มันมากพอ แล้วต่อไปมันจะง่าย มันจะลื่นไปเอง ด้วยอำนาจของฉันทะ เดี๋ยวนี้ฉันทะมันกำกวม มันไขว้เขว มันเลือนลาง หรือมันอาจเป็นละเมอ ๆ มันก็ไปไม่รอด ฉะนั้นจึงหวังว่าทุกคนจะได้ไปสำรวจดู ไอ้ความประสงค์ ความต้องการของสติปัญญา ที่จะมีความพอใจในฝักฝ่ายของโพธินี้ มีแล้วถูกต้องสมบูรณ์หรือเปล่า ทีนี้กลายเป็นว่าผมจับตัวไปเรียน ก ข ก กา กันใหม่ หรือว่าไปตั้งแถวกันใหม่ ตั้งสอนเดินกันใหม่ ตั้งไข่กันใหม่ อย่างน้อยก็ให้ไปหัดสอนเดินกันมาใหม่โดยวิธีที่ถูกต้อง เรามีความพอใจในอะไร จึงมาบวชหรือมาวัด ที่แล้ว ๆ มา แม้แต่ผมเองก็แย่ ไม่ได้มาบวชเพราะว่ามีฉันทะอันบริสุทธิ์ของปฏิจจสมุปบาท บวชเพราะธรรมเนียม บวชเพราะโยมประสงค์อย่างยิ่ง แล้วผมก็เป็นผู้ที่ว่า ทั้งหมดสำเร็จหรือขึ้นอยู่กับโยม ชีวิตของเราไม่มีความหมาย ฉะนั้นต้องความประสงค์ของโยมเป็นใหญ่ ก็ดูดิ มันก็ไม่ได้บวชเมื่อเข้าวัดก็มีฉันทะ อิทธิบาทอะไรเลยที่เป็นของตัว ถึงพวกคุณก็น่าจะมีอย่างนี้
ทีนี้ไอ้ส่วนใหญ่ออกไปอีก มันอาจจะเลยเถิดไปกว่านั้น บวชแก้บนก็มี บวชเพราะกลัวอันตรายอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง หนีอะไรมาก็มี หนีคดีมาก็มี หรือความกลุ้มใจทำอะไรไม่ถูก มาลองบวชดูอันนี้ก็มี มีความร้อนอกร้อนใจ กลุ้มใจอะไร มาบวชลองดูเผื่อมันจะหายก็มี หรือว่าบวชเพื่อพักผ่อนก็มี บวชเอาเปรียบสังคม ไม่อยากทำงาน แล้วก็มาบวชอาศัยผ้าเหลืองเลี้ยงชีวิตอย่างนี้ก็มี มันกระไรกันสุดโต่งคนละโลกไปเลยก็มี จะเป็นฉันทะธรรม แบบอิทธิบาทที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้มี ทีนี้ก็ให้ทุกคน ทั้งพระ ทั้งเณร ทั้งอุบาสก อุบาสิกา ลองสำรวจ ไอ้จุดตั้งต้นจุดแรก ก็คือฉันทะนี่ ดูด้วยกันทุกคน ถ้าอันนี้ไม่ถูกแล้วอย่าหวังไปเลยว่าอันอื่นมันจะถูก เพราะถ้าอันนี้มีกำลังไม่มากพอ แล้วอย่าไปหวังเลยว่ามันจะเป็นไปได้ต่อไปข้างหน้า ฉะนั้นไปดูว่า ไอ้ธรรมฉันทะ ธรรมนันทิ นี้มันมีพอหรือไม่ สำหรับคำพูดมันน่าตกใจ มันใช้คำว่าฉันทะ เหมือนกับกามฉันทะ มันใช้คำว่านันทิ เหมือนกับที่เป็นชื่อของตัณหา นันทิราคสหคตา (นาทีที่ 51:35) นี้ ไอ้นันทินั้นน่ะ คำเดียวกันน่ะ แต่นู่นมันมีตัณหา มีนันทิทางไอ้กามารมณ์ คือทางกิเลส
เดี๋ยวนี้มันมีฉันทะหรือนันทิมาในทางของธรรมะหรือนิพพาน ธรรมที่เป็นพระพุทธภาษิตก็มีเรียกว่า ธรรมนันทิ ที่มันมีนันทิในธรรม นี่คือนันทิที่จะมาฝ่ายนี้ ฝ่ายนิพพาน ก็เป็นฉันทะอิทธิบาทอย่างยิ่ง เราจะต้องมีไอ้ธรรมนันทิ หรือธรรมฉันทะอะไรก็ตาม เป็นจุดตั้งต้นให้บริสุทธิ์ผุดผ่องให้มากพอก่อน มาจัดให้มันเป็นสังคมอันหนึ่ง ที่มีสิ่งนี้เป็นรากฐาน เป็นมูลฐาน แล้วก็จะไปรอด หรือถ้าเราจะทำกันอย่างเห่อ ๆ หรือตั้งพุทธสมาคมขึ้นมาด้วยความเห่อนี้ มันไปไม่รอด เพราะมันขาดไอ้ตัวนี้ ขาดฉันทะหรือนันทิในธรรมะที่แท้จริง มันเป็นไอ้นันทิหรือฉันทะของกิเลส ตั้งพุทธสมาคมเอาหน้าเอาเกียรติ คือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรืออะไรอื่นต่อไปนี้ ดังนั้นแล้วมันก็เดินคนละทางแน่ แยกกันเดินคนละทางแน่ บางทีนี่มันจะเป็นคำตอบของปัญหาที่ว่า พุทธสมาคมเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมืองหรือจะทั่วโลกอยู่แล้ว มันก็ยังแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นพุทธสมาคมเก๊ ไม่มีธรรมฉันทะ ไม่มีธรรมนันทิ อย่างถูกต้องหรือเพียงพอนั่นเอง ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดพุทธสมาคม ทีนี้วัดก็เป็นสมาคม สำนักชีก็เป็นสมาคม หรืออะไรก็เป็นสมาคม เป็นพุทธสมาคม เป็นไอ้สมาคมของชาวพุทธ แล้วไปตรวจดูฉันทะ ไปสำรวจดูฉันทะ อาจจะส่ายหน้าก็ได้ สั่นหัวก็ได้ มันไม่ตรงตามร่องรอยของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นจะไปหวังอิทธิบาทได้ยังไงกัน ไปคิดดูกันใหม่
ของแต่ละคน ๆ ในลักษณะที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน เป็นของเฉพาะตนนี้ ต่างคนต่างแก้ไขตน จะช่วยกันได้ก็น้อยเต็มที คือช่วยชี้แจงให้ไปแก้ไขของตน จะไปช่วยแก้ไขกันมันคงทำไม่ได้ แต่ว่าช่วยกันชี้แจงให้ไปแก้ไขของตน ๆ กันเอง ให้มันถูก เพราะมันอยู่ในส่วนลึกของจิตใจของแต่ละคนเฉพาะคน อย่าทำอะไรด้วยความเห่อและละเมอ เดี๋ยวนี้คนทำความดีด้วยความเห่อ ด้วยการละเมอ ไม่ใช่ผมพูดด้วยความเสียดสี ตั้งใจจะกระทบกระทั่ง เสียดสี ไม่ใช่ตั้งใจจะด่าใคร ตั้งใจจะชี้ข้อเท็จจริงของอุปสรรคที่มีอยู่เท่านั้น ก็พูดไปตรง ๆ มันก็เป็นเรื่องเหมือนกับด่า เหมือนกับเสียดสีอย่างนี้ ทีนี้ก็อย่าไปคิดในรูปนี้ หรือถ้าคิดว่าเป็นเรื่องด่าเรื่องเสียดสี ก็ให้คิดว่าเป็นเรื่องหวังดี ให้มองเห็นความเหลวไหลมาแต่จุดตั้งต้น ความผิดพลาดโดยไม่รู้สึกตัวมาตั้งแต่จุดตั้งต้นของการที่ไม่มีฉันทะที่บริสุทธิ์ ในการที่เข้ามาสู่พระพุทธศาสนา นี้คุณดูว่ามันเปลืองมากนะ ที่บวชนี่มันก็เปลืองมาก ที่จะมาบำเพ็ญชีวิตอยู่อย่างนักบวชอย่างนี้มันก็เปลืองมาก คือมันเสียสละมาก มันลงทุนมาก แล้วมันได้อะไร มันต้องได้อะไรที่คุ้มกัน แล้วมันไม่ได้เพราะเหตุอะไร เพราะเหตุที่อันนี้มันไม่พอ ฉันทะหรือสัจจะนั้นมันไม่พอ มันขาดเครื่องมือพื้นฐานเบื้องต้นแล้ว ไม่มีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ที่ถูกต้องหรือเพียงพอแล้ว ไม่มีอิทธิบาทข้อแรกที่สุดที่เพียงพอแล้ว นี่เป็นการสำรวจครั้งใหญ่อย่างตรงไปตรงมา ลองไปทำดู เผื่อมันผิดพลาดมาเรื่อย ๆ มานานแล้ว ก็จะได้ชำระสะสาง ให้รื้อขึ้นมาชะล้างเสียให้มันถูกต้องมาแต่ต้น มาแต่จุดตั้งต้นของนิสัยของสันดาน นี่คือธรรมะที่ชื่อว่าอิทธิบาท
แล้วข้อที่ ๑ เรียกว่า ฉันทิทธิบาท ปรารภความดับทุกข์ ปรารภโพธิ เรามาใช้ในทางเป็นโพธิ เพื่อโพธิ แทนที่จะไปใช้อย่างเรื่องหลับตาหลงไปในโลกหรือว่า เอาไปใช้เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ส่วนตัว อย่างคนพาลเขาเอาไปใช้อิทธิบาท มันเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเราไม่ชอบไม่ต้องการจะเป็นคนพาล หรือเป็นไอ้เล่นตลก ทุจริตในรูปนั้น ทีนี้ด้วยความอยาก หวังที่จะดี จะดับทุกข์ มันก็ยังมีเงื่อนงำที่เรายังเข้าใจไม่ได้ หรือเข้าใจผิดอยู่บางส่วนบางอย่าง ไขว้กันอยู่ จึงขอร้องให้ไปตั้งต้นลงโลงกันใหม่ เพื่อให้มันรู้แน่เสียทีว่ามันถูก มันดีแล้วตั้งแต่ต้น หรือมันยังผิดอยู่ที่ส่วนไหน แก้ไขปัจจัยสำคัญต้นเหตุรากเหง้าอันนี้ คือสิ่งที่เรียกว่า นันทิหรือฉันทะในทางธรรม พออันนี้ถูกต้องบริสุทธิ์แล้วทีนี้มันจะวิ่งไปทีเดียว จะวิ่งไปอย่างถูกต้อง อย่างรวดเร็ว และง่ายดาย
แล้วเราพูดกันวันนี้ เฉพาะเรื่องฉันทะข้อเดียวก็หมดเวลาแล้ว หวังว่าจะได้เอาไปคิดไปนึกอย่างมาก อย่างเป็นพิเศษ สมกับที่มันเป็นเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ตั้งต้นถูกต้อง มันก็เป็นอันหวังความสำเร็จได้ ตั้งต้นผิดแล้วก็อย่าไปหวังเลยในความสำเร็จ นี่มันก็เลยเป็นเรื่องที่น่าหัวที่เข้าวัดมาเป็นสิบ ๆ ปี คือบวชกันมาเป็นหลาย ๆ ปี หลายสิบปีแล้ว มาขอร้องให้ย้อนหลังไปดูในลักษณะที่ตั้งต้นกันใหม่ แล้วก็ปรับปรุงไอ้รากฐานนั้นให้มันถูกต้องเสียที หรือถูกต้องยิ่งขึ้น แล้วแต่กรณีของบุคคลเป็นคน ๆ ไป คงคิดว่าอุปสรรคมันติดอยู่ที่นี่ ที่จะจริงหรือไม่ก็ลองไปทบทวน ไปคิดดู ไปสังเกตดู หรือไปรื้อขึ้นมาดู มาเช็คดู ว่าจุดตั้งต้นของเราเป็นอย่างไร เดินมาอย่างไร เดี๋ยวนี้กำลังมีนันทิหรือฉันทะในอะไร กำลังละเมออยู่หรือเปล่า บางทีเราจะกระโดด ก้าวข้ามไปไกลเลยก็ได้ ไปหวังในอะไรที่เป็น เหยียบเป็นบุญกุศล เป็นอะไรไปเสียเตลิดเปิดเปิงไป ฉะนั้นจึงขอร้องให้เป็นอยู่อย่างต่ำที่สุด กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคูไปเรื่อย ๆ ตามอุดมคติอันนี้ มันจะเป็นเครื่องประกันฉันทะไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางหรือเตลิดเปิดเปิง ให้เป็นอยู่อย่างต่ำ อย่างต่ำที่สุดนี้ มันประกันไอ้ความเตลิดเปิดเปิง ฉันทะจะยังคงบริสุทธิ์อยู่ มีความพอใจที่จะฆ่ากิเลสนี้ แทนที่จะไปเป็นทาสของกิเลสโดยไม่รู้สึกตัว แล้วเวลาของเราก็หมดแล้ว