แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาติโมกข์ของเราวันนี้ก็เผอิญตรงกับวันสิ้นปีพอดี ก็เลยถือเอาโอกาสที่มันเป็นอย่างนี้พูดกันในลักษณะที่มันเป็นเรื่องสรุปในวันสิ้นสุดของปี โดยหลักทั่วไปก็ต้องไม่ลืมว่าเราพูดเรื่องนี้ย้ำแล้วย้ำอีกๆ จนเรียกว่าปาฏิโมกข์ แต่ละครั้งๆมันก็ได้พูดในแง่ใดแง่หนึ่ง มุมใดมุมหนึ่งโดยละเอียด ทีนี้วันนี้เราลองถือเอาเป็นโอกาสสรุป ดังนั้นก็ให้ถือว่าไม่มีเรื่องอะไรแปลกออกไปกว่าที่เคยพูดมาแล้ว แต่เป็นเรื่องสรุปให้เห็น ฉะนั้นก็ตั้งใจสังเกตดูให้ดีๆ ไม่เกี่ยวกับความจำหรือต้องจำหรอก แต่ต้องสังเกตเพื่อความเข้าใจว่ามันเป็นเหมือนอย่างที่ว่านั้นอย่างไร
ทีนี้เรามาดูกันถึงไอ้ความหมายของคำว่าสรุป หรือกิริยาอาการลักษณะอะไรก็ตามของคำว่าสรุป คำว่าสรุปก็หมายความว่ามันรวบรัดไอ้ของที่มันมากให้มันเหลือน้อย ข้อความ หรือคำพูด หรืออะไรที่มันมากๆนั้นรวบรัดเข้ามาให้มันเหลือน้อยแต่หัวข้อจริงๆ ตรงกันข้ามกับว่าถ้าขยาย ขยายความมันก็คือทำไอ้สรุปให้คุม ให้มากออกไป ถ้าสรุปก็ทำไอ้มากนั้นให้มันน้อยเข้า นี่มันอยู่อย่างนี้
ฉะนั้นเรื่องใดก็ตาม ถ้าผู้ใดสามารถทำการสรุปก็ได้ ทำการขยายก็ได้ ทั้งสองอย่างแล้ว ก็ย่อมหมายความว่าผู้นั้นเข้าใจเรื่องนั้น และไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความจำ เดี๋ยวนี้ที่เราสอนเรื่องสรุปหัวข้อธรรมกันในโรงเรียนนักธรรมนั้นมันเป็นเรื่องความจำเสียโดยมาก หรือแทบทั้งหมดก็ว่าได้ ครูสรุปให้จำ ไม่ได้แนะให้สังเกตแล้วสรุปเอาเอง เพราะว่าครูจะเห็นว่ามันช้า หรือว่านักเรียนก็ไม่อยากจะทำอย่างนั้น อยากให้มันแล้วๆไปวันหนึ่งๆ ก็เลยสรุปให้จำ มันก็เลยกลายเป็นท่องจำ ไม่โดยไม่มีความเข้าใจในการสรุป ที่เราต้องไม่เอาวิธีนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้อื่นพูดให้ฟังก็ต้องเป็นเรื่องที่เข้าใจ แล้วไม่อาศัยความจำ อาศัยความเข้าใจ สรุปได้ นี่ก็คือไอ้สิ่งที่เรียกว่าสรุป พูดไอ้มากให้น้อยลงมา ตรงกันข้ามก็พูดไอ้น้อยให้มากออกไป เดี๋ยวนี้เขานิยมไอ้เรื่องพูด ฟังมากให้มันน้อยลงมา เขาไม่ชอบไอ้แยกส่วนละเอียดปลีกย่อย ต้องการจะเอาแต่ใจความ
เอาแล้ว ทีนี้ไอ้ๆเรื่องที่ว่าจะสรุปกันอย่างไรนั้น มันก็ต้องทราบกันเสียก่อนว่าเราจะสรุปเรื่องของตัวกูของกูทั้งหมดนี้ลงไปในหัวข้ออะไร เพราะว่าหัวข้อธรรมมันก็มีอยู่มาก หมวดธรรมหรือหัวข้อธรรมมีอยู่มาก ไอ้เรื่องตัวกูของกูโดยละเอียดนั่นมันสามารถจะสรุปลงไปในหมวดธรรมทุกหมวดหรือทุกหัวข้อที่ถือว่าเป็นหัวข้อสำคัญ
เอาแล้วผมจะเอาไปตามลำดับที่ๆรับรองกันอยู่โดยมาก หรือที่ชอบกันโดยมาก เพราะไอ้สิ่งแรกที่เขาจะนึกถึงในศาสนานี้จะไม่มี จะไม่มีใครนึกถึงอริยสัจ ๔ หรือมรรคมีองค์ ๘ ก่อนเรื่องพระรัตนตรัย ฉะนั้นเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็มาก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด เหมือนกับเราจะทำพิธีอะไรก็ต้องรับศีล รับสรณคมน์ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ก่อนอื่นนี้
นี้เราพูดถึงพระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรื่องนี้มันเกี่ยวกับเรื่องตัวกูของกูอย่างไร ก็ลองคิดดูเองสิ จะต้องใช้ความจำทำไม จนกระทั่งเห็นว่า อ้าว, มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน ว่าพระพุทธเจ้าก็คือผู้ที่หมดตัวกูของกู ทำลายไอ้ตัวกูของกูได้หมดและด้วยพระองค์เองนี้ เป็นสติปัญญาของพระองค์เอง ถ้าไม่หมดตัวกูของกูก็ไม่เป็นพระพุทธเจ้า
ทีนี้พระธรรม ถ้าว่าโดยปริยัติ พระธรรมก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับทำลายตัวกูของกูทั้งนั้นแหละ เพราะศีล สมาธิ ปัญญา หรืออะไรก็ตามมันเรื่องทำลายตัวกูของกูทั้งนั้น เดี๋ยวจะพูดกันให้ละเอียด ถ้าว่าโดยปริยัติ มันก็เรื่องตัวกูของกู ถ้าว่าโดยปฏิบัติ พระธรรมก็คือการปฏิบัติทำลายตัวกูของกู ถ้าว่าด้วยผลของการปฏิบัติ พระธรรมก็คือความที่จิตใจนั้นมันหมดความรู้สึกว่าตัวกูของกูด้วยพระธรรมนี้เอง
ทีนี้มาดูกันถึงพระสงฆ์ ถ้าพูดอย่างชาวบ้านพูดกันว่าสมมติสงฆ์ ก็คือผู้ที่กำลังพยายามปฏิบัติอยู่เพื่อละตัวกูของกู แม้ว่ายังละไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ ทีนี้พระอริยสงฆ์ก็คือพวกที่ละตัวกูของกูได้ตามสัดส่วนของการบัญญัติ และกระทั่งละได้หมดจดสิ้นเชิง นี่คือพระอริยสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละตัวกูของกูอยู่ก็มี ละตัวกูของกูได้โดยเด็ดขาดก็มี ต่างจากพระพุทธเจ้าตรงที่ว่า พระสงฆ์นี้หมายถึงว่าไม่สามารถจะค้นพบวิธีการอันนี้ด้วยตนเอง ก็ฟังจากพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า
ทีนี้ถ้าว่าเราจะรวมกันทั้งพระพุทธ ทั้งพระธรรม ทั้งพระสงฆ์ สามอย่างเข้าด้วยกันเสีย เป็นอันเดียวกันเสีย มันก็เป็นกลายเป็นเรื่องเรียนรู้และปฏิบัติเพื่อละตัวกูของกูเท่านั้นเอง หมด อ่า, หมดความทุกข์ หมดกิเลสก็เพราะหมดไอ้ความยึดมั่นว่าตัวกูของกู
เพราะฉะนั้นเราสรุปได้ว่า ในพระศาสนาทั้งหมด รวมทั้งพระรัตนตรัยนี้ มันคือเรื่องละตัวกูของกู ซึ่งเรียกเป็นภาษาบาลีว่า ละอหังการ มมังการ หรือมานานุสัย เรียกอีกอย่างหนึ่งเรียก มานานุสัย คือมานะ-อนุสัย นี่เรียกว่ามานานุสัย มานานุสัยมันคือว่ามานะที่เคยชินเป็นนิสสัยอยู่ในสันดานนั้นเรียกว่า มานานุสัย แล้วก็มานะนี้ก็คือตัวกูของกูนะ เรียกว่าอหังการก็คือตัวกู เรียกว่ามมังการก็คือของกู ละอหังการ มมังการเสีย ทั้งโดยที่เป็นกิริยาอาการในปัจจุบันและทั้งโดยที่มันเป็นความเคยชินในสันดาน
ถ้าเราโกรธอะไรขึ้นมา เป็นตัวกูของกูนี้ ก็ต้องใช้สติอีกนั่นเองมาเป็นเครื่องกั้นกระแสของมันเสีย อย่าให้มันไหลไปได้อีก ให้มันหยุดชะงัก เรียกว่าละตัวกูของกูเสียได้ด้วยสติ นี่ปัจจุบันต่อหน้ากิเลสชื่อนี้มันก็ต้องละด้วยสติอย่างนี้ ทีนี้ถ้าว่ามันไม่ได้มีกิเลสอย่างนี้เกิดอยู่ เราทำความเพียรอยู่เป็นปรกตินี้ มันก็พิจารณาละเสียได้โดยปัญญานี้ คือพิจารณาไปในทางที่ให้เห็นน่าสลดสังเวช จนเบื่อในเรื่องนี้ นี่เรียกว่าละด้วยปัญญา แต่แล้ววิธีการมันก็ยังเนื่องด้วยสติที่ว่า เราเอาปัญญานี้ไว้เรื่อย รักษาปัญญานี้ไว้เรื่อย เราก็เรียกว่าสติได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการทำสติหรือสติปัฏฐานอยู่ลับหลังกิเลส ไม่มีกิเลสกวนนี้มันก็เป็นเรื่องอย่างนี้ คือพิจารณาปัญญาอยู่เป็นประจำ ทีนี้ถ้าว่ากิเลสเกิดขึ้น ก็มีสติสกัดกั้นไอ้มันที่มันจะเกิดต่อไป
อยากจะเปรียบเทียบสักนิดหนึ่งว่า ไอ้คำพูดนี่มันหลอกลวงหรือตลับตะแลง เช่นพูดว่าดับไฟอย่างนี้ คุณก็เคยเห็นว่าเอาน้ำดับไฟหรือเอาอะไรดับไฟ คล้ายๆกับว่าเรามันดับไฟที่กำลังลุกขึ้นมาลงไปนี่ รู้สึกอย่างนั้น แต่ที่แท้นั่นมันเป็นการกั้นไม่ให้ไฟเกิดใหม่ ไอ้ไฟที่ลุกโพลงขึ้นเป็นเปลวไฟแล้วมันต้องดับของมันเอง พอมันได้เชื้อได้ปัจจัยอะไรมันก็โพลงขึ้นมาเป็นไฟแล้วมันต้องสิ้นสุดและดับของมันเอง ทีนี้เรากั้นไว้ไอ้ที่มันจะโพลงมาใหม่น่ะเราไม่ให้เกิด มันก็เลยไฟนั้นก็ดับลงไปทันที แต่ถ้าเราดูลวกๆ ดูอย่างสะเพร่าๆ เราคล้ายๆกับว่าเราดับไฟนี้ ที่จริงมันไม่มีให้ดับหรอก เพราะว่าไฟมันก็ดับของมันเองเสียก่อนแล้ว แต่เรากั้นการที่มันจะเกิดลุกเป็นไฟขึ้นมาอีกเอาไว้เสียด้วยน้ำหรือด้วยอะไรก็ตาม ไฟที่จะเกิดโพลงขึ้นมาใหม่นี้เกิดไม่ได้ ที่จริงการกันไม่ให้ไฟเกิดขึ้นมาอีก ทยอยขึ้นมาอีกนั้นแหละคือการที่เราไปเรียกว่าดับไฟ
ทีนี้ถ้าพูดอย่างละเอียดในแง่ของจิตใจมันก็เป็นอย่างนี้ พูดลวกๆภาษาชาวบ้านเขาก็ว่า ดับไฟๆๆ ดับไฟที่เกิดแล้วนะ มันไม่ถูก มันเป็นคำพูดที่โง่เขลา ที่แท้มันกันไม่ให้ไฟที่ยังไม่เกิดนั่นเกิดขึ้น เมื่อไฟที่จะต้องเกิด อ่า, เมื่อไฟที่จะเกิดถูกกันไว้ไม่ให้เกิด มันก็หยุด ดับไปเลย ไฟทั้งหมดก็ดับไปเลย ไอ้ไฟที่โพลงขึ้นแล้วใครจะมีปะ ปัญญาดับ มันก็สิ้นสุดไปโดยๆในตัวมันเอง ตามกฎที่ว่ามันเกิดดับๆตามปัจจัยนี้
กิเลสก็เหมือนกัน ที่มันเกิดอยู่นั่นมันเป็นปัจจุบันที่ล่วงไปเป็นอดีตเร็วจนจับตัวไม่ทัน ทีนี้เราก็ไปสกัดกั้นตรงที่มันจะเกิดเป็นปัจจุบันขึ้นมานี้ไม่ให้มันเกิดขึ้นมาได้ ฉะนั้นกิเลสมันก็หยุด หยุดเกิด เราจึงเรียกว่าหมด อ่า, ดับกิเลสไป ที่จริงมันกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นมา สำหรับกิเลสที่เกิดเฉพาะหน้านี้ ให้ดูละเอียดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นให้รู้เสียเลยว่าไอ้เรื่องดับกิเลสที่เป็นตัวกูของกูนั้นมันก็คือกั้นกิเลสนี้ไว้ด้วยสติแค่นั้น ไม่ให้มันเกิดขึ้นมาอีก หรือว่าถ้าจะดับกันลับหลัง ไปนั่งทำความเพียรอยู่ที่โคนไม้โดยไม่มีกิเลส นี้ก็คือการใช้ปัญญาพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายในการเกิดของกิเลส และทำให้กิเลสมันเกิดยาก แล้วมันค่อยทำลายไอ้ความเคยชินในการที่จะเกิดนั้นยิ่งขึ้น อย่างนี้เขาเรียกว่า ละอนุสัย คือความเคยชินในการที่จะเกิด
สิ่งที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนั้นคือความเคยชิน ไม่ใช่ตัวกิเลสอย่างที่เคยพูดมาแล้ว ตัวกิเลสจะต้องเกิดดับๆๆ จะนอนเนื่องอยู่ในสันดานไม่ได้ มันจะเป็นสัสสตทิฏฐิไป แต่ว่าความเคยชินของกิเลสที่พร้อมที่จะเกิดนี่มันมี เพราะว่ามันทำไปแต่ในๆทางนั้นจนเป็นความเคยชิน เรียกว่าเป็นนิสสัย คนนี้ขี้โกรธ คนนี้ขี้กลัว คนนี้ขี้อะไรก็ตาม มันมีความเคยชินอย่างนั้น ก็ต้องละไอ้อนุสัยชนิดนั้นอยู่เสมอด้วยการพิจารณาให้เห็นว่า แหม มัน มันเป็นของเลว เป็นของน่ารังเกียจ เป็นของน่าสังเวช น่าเศร้า น่าอะไรตามๆใจ
ให้มันอ่อนกำลังลงไป
นี่เรารวมความแล้วก็คือว่า ปฏิบัติศาสนา ปฏิบัติในพระศาสนานี้ไม่มีอะไรนอกจากการทำไม่ให้ตัวกูของกูเกิดขึ้นมาได้ โดยชั่วคราวหรือโดยเด็ดขาดก็ตามใจ นี่มันสรุปมากเท่าไรคุณลองคิดดู ถ้าการประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนานี้ทั้งหมดไม่มีอะไรนอกจากการทำให้ดีที่สุดในการที่จะไม่ให้ตัวกูของกูเกิดขึ้นมา นี่คือสรุปแล้ว
พระพุทธเจ้าก็คือผู้ที่ทำไม่ให้ตัวกูของกูเกิดขึ้นมาได้โดยฝีไม้ลายมือของพระองค์เอง ไม่ต้องมีใครมาสอน พระธรรมก็คือเรื่องนี้ การปฏิบัติเรื่องนี้ ผลของการปฏิบัติเรื่องนี้ นี่คือพระธรรม เรื่องไม่มีตัวกูของกูนี้ พระสงฆ์นั้นก็ละตัวกูของกูตามๆอย่างพระพุทธเจ้า นี่คือสรุปล่ะ คุณดูให้ดี
ทีนี้เราจะมองไปยังคำอื่นอีกตามลำดับ เช่นว่าพระธรรมแยกออกเป็นศีล สมาธิ ปัญญา หรือเป็นมรรคมีองค์ ๘ ประการก็ตาม มันเหมือนกัน นั่นแหละคือวิธีโดยตรงเลยที่มันจะละตัวกูของกู คำว่าศีลหมายถึงเป็นอยู่ทางๆๆร่างกาย ทางวาจา ทางร่างกายนี้ เป็นอยู่ให้ถูกต้องในลักษณะที่ว่ามันเกิดตัวกูของกูยาก หรือเกิดขึ้นมามันต้อง มันละอยู่ในตัว นี่ศีลมันเป็นอย่างนี้ ทำกายวาจาให้อยู่ในสภาพที่ตัวกูของกูเกิดไม่ได้
ทีนี้สมาธินั้นน่ะมันคือระดมกำลังจิตโดยเฉพาะ กำลังใจโดยเฉพาะ ไว้ไปอยู่ในสภาพที่ตัวกูของกูเกิดไม่ได้ยิ่งขึ้นไปอีก คือจิตที่เป็นสมาธินั้นน่ะมันๆข่มไอ้การเกิดของตัวกูของกูนี้อย่างไม่หือ อย่างหือขึ้นมาไม่ได้ จนกว่ามันจะๆไม่มีสมาธินี้
ทีนี้ปัญญามันคือเหมือนกับมีดหรือของมีคม ตัดรากตัดเหง้าของกิเลส คือความเคยชินของกิเลสอยู่เสมอนี่ โดยอุปมาที่เขาใช้พูดกันนี่เห็นได้ชัด ว่าศีลนี่เหมือนกับว่าเราเอาไม้ไปตีหญ้าตีป่าให้มันราบเรียบไปเสียทีหนึ่งก่อน สมาธิเหมือนกับเอาหินหรือกระดานไปทับหญ้าทับนั่นไว้ไม่ให้มันหือขึ้นมาได้ แต่ยกกระดานหรือหินออกมันขึ้นมาอีก ทีนี้สับ สำหรับปัญญานั้นคือขุดรากทิ้งเผาไฟเลย มันๆเป็นลำดับอยู่อย่างนี้ แต่ว่าใจความของมันก็มันไม่มากไปกว่าการทำลายหญ้า ทำลายหญ้าให้หมดไป
ทีนี้เรื่องศีล สมาธิ ปัญญาก็เหมือนกัน มันมีความมุ่งหมายสำคัญรวมอยู่ที่ว่าทำลายตัวกูของกูให้หมดไปโดยวิธีหยาบๆ หรือวิธีอย่างกลาง หรือวิธีอย่างละเอียดคือศีล สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้นอย่าได้เห็นศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องอื่นไปทางไหนๆ มันจะไม่มีที่สิ้นสุด มันจะเสียเวลาเปล่า ให้เห็นไอ้สิ่งที่เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญามาในทางนี้ มาในทางที่ป้องกัน หรือปราบปราม หรือสกัดกั้นอะไรก็ได้ ตัวกูของกูไม่ให้เกิด
ทีนี้ก็ถือโอกาสพูดไปถึงไอ้หัวใจพุทธศาสนาตามที่เขาเรียกกันเสียเลย ที่ว่า
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
นี่ใครๆก็ยอมรับว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนา เป็นที่สรุปแห่งคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ แล้วมันก็ไม่ไปไหน มันก็มาเรื่องนี้อีก สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ไม่ทำความชั่วทุกอย่าง มีความหมายของศีลอยู่เต็มตัว นี้ก็คือไม่ให้ตัวกูได้มีโอกาสแสดงฝีไม้ลายมืออะไรออกมา เพราะเหตุที่เราไม่ทำอะไรไปตามที่ตัวกูของกูมันต้องการ เรียกว่าไม่ทำบาป ไม่ทำบาปทั้งปวง
ทีนี้ กุสะลัสสูปะสัมปะทา นี่ ทำความดีหรือกุศลให้ถึงพร้อมนี่ ไอ้ความดีหรือกุศลนี่มันเป็นเรื่องที่เป็นข้าศึกกันกับตัวกูของกู เป็นเครื่องขูดเกลาตัวกูของกูอยู่โดยธรรมชาติ ฉะนั้นเมื่อเราไปมัวแต่ทำความดีอยู่นี้ มันก็เป็นการปิดโอกาสไม่ให้ตัวกูของกูเกิด หรือว่าถูกกักขังไว้เหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นกักไว้ไม่ให้ได้กินอาหารเลย
ทีนี้พอมาถึง สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ทำจิตให้ขาวรอบ ให้บริสุทธิ์นี้ นี่คือบริสุทธิ์ เกลี้ยงไปจากตัวกูของกูเลย ที่เรียกว่าจิตบริสุทธิ์ผ่องใสหรือประภัสสรอะไรก็ตามหมายความว่าเวลานั้นมันไม่มีตัวกูของกู ถ้าทำได้อย่างสมุทเฉทประหารมันก็ไม่กลับมาอีก ทำได้อย่างไม่ถึงสมุทเฉทประหารมันก็หมดไปแต่บางส่วนหรือมันบางอย่างมันกลับมาอีก
นั่นแหละดูให้ดีว่าหัวใจของพุทธศาสนา โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ข้อนี้ไม่มีเรื่องอะไร เป็นเรื่องกำจัด ทำลาย สกัดกั้นไอ้ตัวกูของกูหรือว่าความเคยชินแห่งการเกิดตัวกูของกู ทีนี้ถ้าจะมองดูให้กว้างไปถึง มรรคมีองค์ ๘
อันนี้ชอบๆ ๘ อย่าง ก็หมายความว่ามันตั้งไว้ถูกต้องทุกหลักทุกๆอย่างทั้ง ๘ อย่างนี่ ดำรงไอ้จิตไว้ถูกต้องในลักษณะ ๘ อย่างนี้ ดำรงตนไว้ถูกต้องในลักษณะ ๘ อย่างนี้ มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดตัวกูของกูได้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า เป็นอยู่ชอบ ชนิดที่โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ไอ้ ๘ หัวข้อนี้มันไปสรุปเป็นหัวข้อเพียงข้อเดียวว่า เป็นอยู่ชอบ เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
อิเมเจ ภิกขะเว ภิกขู สัมมา วิหะเรยยุง ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้
อะสุญโญ โลโก อะระหันเตหิ อัสสะ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์
ฉะนั้นไปดูไอ้คำพูดเพียงคำเดียวว่า เป็นอยู่โดยชอบ เป็นอยู่โดยชอบขยายออกไปเป็น ๘ มรรคมีองค์ ๘ และทุกข้อทั้ง ๘ ข้อรวมกันแล้วก็คือการเป็นอยู่ชอบชนิดที่ตัวกูของกูไม่อาจจะเกิด มันก็เลยพูดได้เต็มปากว่าไอ้คำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเมื่อจะปรินิพพานอยู่หยกๆน่ะ มันก็เล็งถึงเรื่องนี้ เรื่องการเป็นอยู่ในลักษณะที่ตัวกูของกูเกิดไม่ได้ เป็นอยู่ชอบในลักษณะที่ตัวกูของกูเกิดไม่ได้ คุณจำไว้สิ สัมมา วิหะเรยยุง พึงอยู่โดยชอบไซร้
และต้องถือว่าข้อนี้สำคัญมาก คำพูดนี้สำคัญมากเพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสในวาระที่จะปรินิพพาน ถ้าเรียกอย่างภาษาชาวบ้านก็คือการสั่งเสียครั้งสุดท้าย คนแก่สั่งลูกสั่งหลานเป็นการสั่งเสียครั้งสุดท้ายแล้วก็ตายไปดับไปนี้มันมีความสำคัญ นี่พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน เมื่อท่านจะปรินิพพานไปก็ท่านก็สั่งข้อนี้ ว่าให้เป็นอยู่โดยชอบแล้วโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ เป็นอยู่โดยชอบคือเป็นอยู่ชนิดที่ตัวกูของกูเกิดไม่ได้ แล้วก็แจกออกเป็นฝอยรายละเอียดได้ ๘ อย่าง เรียกว่าชอบๆๆๆนี่ ๘ อย่างด้วยกัน นี่คุณดูว่าแม้แต่เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ มันก็ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องนี้ ทั้งหมดนี้มันล้วนแต่เป็นเรื่องปฏิบัติ เท่าที่ยกตัวอย่างมาสรุปให้ดู เรื่องศีลสมาธิปัญญา เรื่องหัวใจศาสนา เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ เรื่องการเป็นอยู่ชอบ
ทีนี้เรามองดูแม้ในเรื่องที่ว่าเป็นหลักวิชาหรือทฤษฎีทั่วๆไป คือเรื่องอริยสัจ ๔ คนโดยมากก็ต้องพูดว่าพุทธศาสนาก็ๆคือเรื่องอริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ตรัสรู้อริยสัจ ๔ พุทธศาสนามีหลักอย่างไร มันก็คือมีหลักเรื่องอริยสัจ ๔ แต่นี้มันกินความทั้งเรื่องวิชาและการปฏิบัติ คือบอกให้รู้ส่วนที่ควรบอกให้รู้ แล้วก็ชี้ให้ปฏิบัติในส่วนที่ต้องปฏิบัติ มันจึงรวมกันอยู่ทั้งเรื่องทฤษฎีและเรื่องปฏิบัติในเรื่องอริยสัจ ๔ นั้น แต่แล้วทั้งทฤษฎีและทั้งปฏิบัตินั้นก็ไม่พ้นไปจากเรื่องละตัวกูของกู เพียงแต่มันขยายออกไปให้เห็นโทษ เห็นความทุกข์ของตัวกูของกู แล้วก็ให้เห็นวิธีที่จะละมันเสียได้ก่อน แล้วทีนี้จึงลงมือละ
เพราะฉะนั้นเรื่องอริยสัจข้อที่ ๑ เรื่องความทุกข์นี่คือผล ผลของการที่มีตัวกูของกู แม้ว่าจะจำแนกเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความอะไรต่างๆหลายๆๆอย่างเป็นทุกข์นั้นน่ะ ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันเป็นทุกข์เพราะว่าเราไปโง่ไปยึดถือว่าของเรา ยึดถือว่าความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความตายของเรา โสกะปริเทวะ ทุกขะ ทุกข์อะไรมิอะไร ของเราทั้งนั้น มันจึงเป็นทุกข์ขึ้นมา
ถ้าอย่าไปยึดว่าของเรา อย่าไปสำคัญเข้าโดยเข้าใจผิดว่าของเรา มันก็ไม่เป็นทุกข์อะไร ฉะนั้นความทุกข์มันเกิดขึ้นจากตัวกูของกูแท้ๆ จึงมีบทบัญญัติว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ ที่ว่าประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นก็คือประกอบอยู่ด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูว่าของกู ฉะนั้นเป็นอันว่าเบญจขันธ์ใด คือร่างกายจิตใจใดกำลังประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นว่าตัวกูของกูแล้ว เบญจขันธ์นั้น นามรูปนั้นกำลังเป็นทุกข์ เป็นตัวทุกข์
ทีนี้อริยสัจข้อที่ ๒ ว่าทุกข์เกิดมาจากอะไร ระบุตัณหา ทุกข์กับสมุทัยคือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้ก็ดูปฏิจจสมุปบาทสิ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ชัดอยู่แล้ว ตัวกูของกูนี้มันคืออุปาทาน อุปาทานนี้เกิดมาจากตัณหา คำว่าอุปาทานหรือตัวทุกข์ เอาไปไว้เสียในเรื่องอริยสัจข้อที่ ๑ คือเรื่องทุกข์ แล้วอุปาทานนี้มันมาจากตัณหา เพราะฉะนั้นอริยสัจข้อที่ ๒ จึงระบุตัณหาว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะถ้ามีตัณหาแล้วก็มีอุปาทาน พอมีอุปาทานก็กลายเป็นแบกของหนักคือตัวกูของกูแล้วก็เป็นทุกข์ อันนี้มันเป็นทฤษฎี ยังไม่ได้บอกวิธีปฏิบัติ บอกให้รู้ว่าตัวความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร แต่ว่าเป็นทฤษฎีฝ่ายทุกข์ ฝ่ายมีตัวกูของกู
ทีนี้ทฤษฎีฝ่ายดับทุกข์ ก็มาถึงอริยสัจข้อที่ ๓ ที่เรียกว่านิโรธ ก็คือดับไอ้ตัณหานั่นเสีย ดับตัณหานั้นเสียอุปาทานก็ดับ ทุกข์ก็คือ อ่า, ก็คือทุกข์ดับ นี่เป็นทฤษฎีฝ่ายที่เป็นความดับทุกข์ ทีนี้บอกว่าจะดับมันอย่างไร ก็มาถึงอริยสัจข้อที่ ๔ คือมรรคมีองค์ ๘ ถ้าเป็นแต่เพียงความรู้นะ ไอ้มรรคมีองค์ ๘ นี้ก็เป็นทฤษฎี แต่ถ้าจับมาใส่ลงไปในการปฏิบัติไอ้มรรคมีองค์ ๘ นี้ก็เป็นการปฏิบัติ แล้วก็พึงรู้ว่าไอ้มรรคมีองค์ ๘ นี่มันเป็นได้ทั้งทฤษฎีและทั้งปฏิบัติ ถ้าเพียงแต่นึกๆศึกษาคิดคำนึงคำนวณอยู่มันก็เป็นทฤษฎีไปนั้นแหละ ก็เลยเป็นทฤษฎีไปทั้ง ๔ อริยสัจ แต่ถ้าเมื่อใดมาปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เพื่อละตัณหาเสีย เมื่อนั้นก็กลายเป็นปฏิบัติขึ้นมาทันที
ฉะนั้นพวกที่เรียนนักธรรม สอนนักธรรมเขาควรจะรู้ว่า ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั้นพระพุทธเจ้าแยกตรัสเป็น ๒ เรื่อง คือเรื่องแรกตรัสถึงมัชฌิมาปฏิปทาก่อนนะ อย่างนี้เป็นเรื่องปฏิบัติ ตอนต้นของๆ อ่าๆ, ธัมมจักกัปปวัตนสูตรจะตรัสถึงมรรคมีองค์ ๘ ก่อน แล้วจึงไปตรัสถึงอริยสัจ ๔ ต่อภายหลัง แต่แล้วในอริยสัจ ๔ นั้นข้อสุดท้ายมันก็มีมรรคมีองค์ ๘ อีกน่ะ เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณสวด ธัมมจักกัปปวัตนสูตรทำไมไม่นึกสงสัยฉงนบ้าง ทำไมเราพูดถึง อ่า, เราสวดถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ตั้ง ๒ หนเล่า เพราะฉะนั้นควรจะมุ่งหมายกันคนละที บอกในฐานะเป็นทฤษฎีก็คือเรื่องอริยสัจ มรรคมีองค์ ๘ ที่พ่วงมากับอริยสัจนี้ ทีนี้บอกอีกทีหนึ่งก็เป็นเรื่องปฏิบัติลงไปตรงๆเลย ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เรามีแต่มรรคมีองค์ ๘ ชนิดที่เป็นทฤษฎี คือเรียนสอนกันไป สอบไล่กันไป อะไรกันไป ไม่มีมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นตัวปฏิบัติ
แต่เอาเถอะ จะเป็นเรื่องทฤษฎีหรือเป็นเรื่องปฏิบัติก็ตาม มันมุ่งหมายเพื่อจะละตัวกูของกูทั้งนั้นแหละ ทีนี้ถ้าเราปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ มันก็ดับตัณหา ดับตัณหาเสียได้อุปาทานก็ดับ คือตัวกูของกูดับ คือความทุกข์ไม่มี เพราะฉะนั้นเรื่องอริยสัจ ๔ ก็ไม่ใช่เรื่องอะไรอื่นนอกจากเรื่องดับตัวกูของกูอีกเหมือนกัน และเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ทั้ง ๘ ข้อ ๘ องค์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องอะไรอื่นนอกจากดับตัวกูของกูอีกเหมือนกัน นั่นขอให้มองด้วยความเข้าใจ เห็น อ่า, เห็นแจ้งหรือเข้าใจ อย่าเพียงแต่จำๆ
ทีนี้ไอ้ที่มันจะละเอียดออกไปจากเรื่องอริยสัจก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท เอาละ, จะขอบอกให้ๆๆๆรู้เสียเลยว่า เรามันพูดกันแต่เรื่องปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาท โดยไม่รู้ว่าที่แท้นั้นมันคือเรื่องอริยสัจที่ขยายออกไปให้ละเอียด เพราะฉะนั้นครูผู้สอนไปบางทีก็ยังไม่รู้ว่าไอ้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นคือเรื่องอริยสัจที่ขยายออกไปให้ละเอียด เราอาจจะเรียกว่าเรื่องอริยสัจพิสดารก็ได้ อริยสัจโดยย่อก็เหมือนกับที่รู้กันอยู่แล้วอันนั้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์คือความทุกข์ สมุทัยคือตัณหา นิโรธดับตัณหา มรรคคือว่าปฏิบัติองค์ ๘ นี้
แต่ทีนี้ในกรณีที่พระพุทธองค์ตรัสอย่างพิสดารนั้น เมื่อตรัสถึงอริยสัจข้อที่ ๒ คือสมุทัย ท่านตรัสปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวารเลย ทุกข์กับสมุทัยเป็นอย่างไรก็ตรัสว่า อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปเกิดอายตนะ อายตนะเกิดผัสสะ ผัสสะเกิดเวทนา เวทนาเกิดตัณหา ตัณหาเกิดอุปาทาน อุปาทานเกิดภพ ภพเกิดชาติ ชาติเกิดทุกข์ ถึง ๑๒ ครั้ง อธิบายสมุทยสัจจ์นี่ตรัสถึง ๑๒ อย่าง ๑๒ ครั้งโดยปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร
ทีนี้พอตรัสถึงอริ อ่า, อริยสัจข้อ ๓ คือนิโรธ ก็ตรัสไอ้ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร อวิชชาดับสังขารดับ สังขารดับวิญญาณดับ วิญญาณดับนามรูปดับ นามรูปดับอายตนะก็ดับ อายตนะดับผัสสะดับ ผัสสะดับเวทนาดับ เวทนาดับตัณหาดับ ตัณหาดับอุปาทานก็ดับ อุปาทานดับภพดับ ภพดับชาติดับ ชาติดับทุกข์ก็ดับ นี่อริยสัจที่ ๓ ท่านตรัสอย่างนี้
พอถึงอริยสัจที่ ๔ ที่จะดับ อ่า, ดับทุกข์ได้อย่างไร ก็ตรัสมรรคมีองค์ ๘ อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอริย อริยสัจอย่างพิสดารมันก็คือขยายข้อความแห่งอริยสัจที่ ๒ กับอริยสัจที่ ๓ ออกไปเป็นปฏิจจสมุปบาท ทั้งฝ่ายสมุทยวารและนิโรธวาร ส่วนข้อ ๑ กับข้อ ๔ นั้นตามเดิม
ในเมื่อคุณเข้าใจว่าอริยสัจ ๔ มันคือเรื่องดับตัวกูของกู มันก็เข้าใจได้ว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่บอกวิธีเกิดและวิธีดับแห่งตัวกูของกู ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวารก็บอกวิธีเกิดแห่งตัวกู ฝ่าย อ่า, สัม นิโรธวารก็คือวิธีดับแห่งตัวกู เพราะฉะนั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็คือเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูโดยตรง นี่เราสรุปปฏิจจสมุปบาททั้งหมดลงในคำว่าดับตัวกูของกูก็ได้ หรือจะสรุปไอ้คำอธิบายอันยืดยาวเกี่ยวกับการดับตัวกูของกูอย่างไรลงไปในเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่เราจะเอาอันไหนเป็นไอ้หัวข้อ นี่เท่านี้ก็คิดดูสิ มันไม่มีเรื่องอื่น มีแต่เรื่องดับตัวกูของกูไปทั้งหมดพระพุทธศาสนานี้ ทีนี้มันไปขยายให้เล็ก ให้ๆปลีกย่อยออกไปๆๆ จนเราไปฟังแล้วสนใจไปทางอื่น ไม่สนใจมาในทางที่จะดับตัวกูของกู
ทีนี้จะยกตัวอย่างให้ฟัง เช่นเปิดนวโกวาท ธรรมวิภาค สติสัมปชัญญะ ถ้ามีอุปการะมากมันก็เรื่องดับตัวกูของกูด้วยสติและสัมปชัญญะอย่างที่ว่ามาแล้ว แม้ที่สุดแต่เรื่องขันติ โสรัจจะ นั่นน่ะก็คือเรื่องบังคับ ควบคุม บีบคั้นอะไรก็ตามซึ่งตัวกูและของกูด้วยความอดกลั้น ด้วยความยิ้มแย้ม ไม่ให้ตัวกูของกูมันเป็นยักษ์เป็นมารขึ้นมา
เอาแล้วไกลออกไปอีก ไอ้เรื่องกตัญญูกตเวทีบุพการีอะไรนี้ อ้าว, มันก็เรื่องเดียวกันในข้อที่ว่าไอ้คนที่ตัวกูของกูจัดน่ะมันคนเนรคุณ ไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีบุญคุณแล้วไม่ตอบแทน ตัวกูของกูมันยกหูชูหางจัด ฉะนั้นถ้าว่ามันไม่เป็นอย่างนั้นมันก็กลายเป็นผู้รู้คุณและตอบแทนคุณอะไรขึ้นมาทันที ที่เราไม่ทำคุณแก่คนอื่นก่อนน่ะเพราะตัวกูของกูมันจัด เห็นแก่ตัวจัด และที่เราไม่แทนคุณใครก็เพราะว่าตัวกูของกูมันจัด มันเห็นแก่ตัวจัด แล้วก็ไม่แทนบุญคุณใคร เป็นคนอกตัญญูไป
ทีนี้คุณก็ไปเทียบเอาดูเองเถอะ ธรรมะมีกี่หมวดในนวโกวาทหรือในอะไรที่มากเข้าไปกว่านั้นมันจะพูดเรื่องตัวกูของกูในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอไป ธรรมะมากมายหลายสิบหมวดในธรรมวิภาค ปริเฉท ๒ น่ะ ถ้าคุณรู้ เข้าใจ และเรียนมาไม่ ไม่ได้เปล่าเข้าใจ คุณจะตอบได้เองว่าหมวดไหนมันเกี่ยวข้องกับการละตัวกูของกูอย่างไร
ถ้าว่ามันไปพูดถึงอบายถึงนรก นั่นก็คือผลของการที่มันมีตัวกูของกูที่มันไม่รู้จักควบคุมเสียเลย มันก็ลงไปนอนอยู่ในนรก เปรต เดรัจฉาน อสุรกายอย่างนี้มันก็รับผลแห่งการมีตัวกูของกูที่เลวมากเกินไป เอาแล้วถ้าสมมติว่ามันไปเกิดในสวรรค์ จาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตาอะไรก็ตามน่ะ นี่มันๆหล่อเลี้ยงตัวกูไปในทางดี แต่อย่าหวังว่าจะดับทุกข์ได้เพราะเหตุนี้ แม้จะเป็นสวรรค์มันก็ มันก็มีตัวกูของกูชนิดที่หวานที่หอมที่สวยที่งามอะไรอยู่พักหนึ่งเท่านั้นน่ะ ในที่สุดมันก็ต้องสิ้นสุดลงมามีความทุกข์แล้วตั้งต้นกันใหม่เพื่อจะพ้นไปจากสวรรค์ เหนือไปจากสวรรค์ เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระไปนี่ ฉะนั้นไอ้เรื่องโลกียะก็คือว่าเกลือกกลั้วอยู่ด้วยตัวกูของกู เรื่องโลกุตตระก็คือพ้นไปเหนืออำนาจแห่งตัวกูของกู
ถ้าเราจะสรุปตามที่เขาพูดๆกันว่าโลกียะกับโลกุตตระเป็นของคู่กันอย่างนี้ก็ง่ายนิดเดียว มันเป็นเรื่องเกลือกกลั้วอยู่กับตัวกูของกูในนรกก็ได้ บนสวรรค์ก็ได้ เป็นเรื่องโลกียะทั้งนั้น ในพรหมโลกก็ได้ นับตั้งแต่อยู่ในนรกมันก็เกลือกกลั้วอยู่ด้วยตัวกูของกูอย่างเผ็ดร้อน อบายนี่ แล้วขึ้นมาเป็นมนุษย์ เป็นสวรรค์ในเทวโลก เป็นพรหมโลก มันก็เกลือกกลั้วอยู่ด้วยตัวกูของกูในปริยายใดปริยายหนึ่ง หรือที่ดีที่งามที่สวยอะไรก็ว่ากันไปว่ามันเป็นเรื่องดี แต่มันยังไม่ดับทุกข์สิ้นเชิงได้ จนกว่าเมื่อไรจะขึ้นพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้มันจึงเป็นโลกุตตระ มันก็เลยอยู่เหนือ เหนือไอ้ความบีบคั้นของตัวกูของกู เหนือความสกปรกของไอ้ตัวกูของกู เหนือความผูกพันของตัวกูของกู ก็เรียกว่าโลกุตระ
ที่เราได้ยินหัวข้อเรื่องโลกียะ โลกุตตระ สองอย่างนี้เรานึกไปถึงเรื่องอื่นนู้น ไม่ให้ ไม่นึกไปจนถึงไอ้เรื่องว่ามันก็คือเรื่องตัวกูของกูในรูปที่มันลึกซึ้งสุด ไปนึกถึงแต่ไอ้ที่มันจะได้ จะเอา จะเป็นที่เป็นเหยื่อของตัวกูของกูเสีย ไม่เข้าใจว่าอันนี้คือไอ้ตัวกูของกูที่มันจะเล่นงานเรา อยู่ในพรหมโลกนั่นเขาถือว่ามีตัวกูของกูจัดที่สุด อัสมิมานะหรือสักกายทิฏฐิจัดที่สุดในพรหมโลก เพราะเขาหยิ่งเขาทะนงว่าเขามันไปถึงขีดสุดของความดี ไม่ๆๆใช่นรก ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่สวรรค์กามาวจร เป็นชั้นรูปาวจร เพราะฉะนั้นกูดีกว่าใครๆทั้งหมดนี่ พวกพรหมก็จะคิดอย่างนี้ ท้าวมหาพรหมก็ยิ่งคิดอย่างนี้ เพราะมันยิ่งมีตัวกูของกูแรงจัด เขาเรียกว่าชั้นพรหมโลกนั้นยิ่งยอดสุดของไอ้ตัวกูของกูชนิดที่ดูแล้วฉงน ดูแล้วหลงใหลได้
ทีนี้ไอ้ข้อปฏิบัติอย่างอื่นๆอีกคุณก็ไปนึกดูเอาเอง ถ้าจะพูดกันในแง่ว่าศีล สมาธิ ปัญญา ก็อย่างที่แล้วมา ถ้าจะพูดในแง่ว่าบุญกิริยาวัตถุคือทาน ศีล ภาวนา มันก็อย่างเดียวกันอีก ถ้าทำทานกันจริงๆมันละตัวกูของกู ถ้าทำทานขี้โกงโกหกมดเท็จมันก็ลงทุนซื้อสวรรค์ค้ากำไรเกินควรนี่ ลงทุนบาทหนึ่งเอาวิมานหลังหนึ่งอย่างนี้ไม่ใช่ทำทาน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ละตัวกูของกู ไม่กำจัดตัวกูของกู
ถ้าทำทานจริงๆก็คือสละไป บริจาคไปให้หมดความยึดมั่นถือมั่นด้วยตัวกูของกูเป็นจำนวนเท่านั้น เช่นสละเงินไปบาทหนึ่งนี้ไม่ใช่ซื้อสวรรค์วิมานหลังหนึ่ง สละเงินไปบาทหนึ่งทำบุญก็เพื่อว่าไอ้ความเห็นแก่ตัวกูของกู ยึดมั่นว่าตัวกูว่าของกูนี้มันจะได้หมดไปบาทหนึ่ง ฉะนั้นการทำทานที่ถูกต้องนั้น ที่เป็นทานจริงๆนั้นมันทำลายอำนาจอิทธิพลของตัวกูของกู
ถ้าเราทำทานผิดวิธี ไอ้ทานนั้นน่ะมันไปเพิ่มอำนาจหรือกำลังให้แก่ตัวกูของกู ฉะนั้นระวังให้ดี อย่าพูดว่าทาน ทาน แล้วมันจะเหมือนกันไปหมด มันมีทานจริงหรือว่าทานไม่จริง ทานเทียม ถ้าทานจริง ให้ทานจริงๆ เป็นทานจริงๆ มันจะบีบคั้นไอ้ตัวกูของกู คือความเห็นแก่ตัว ถ้าทานเทียมมันเพิ่ม ลงทุนบาทหนึ่งได้สวรรค์วิมานอะไร วิมานหลังหนึ่งมันจะไม่รวยอย่างไร มันก็เป็นตัวกูของกูที่ใหญ่ออกไปกว่าเดิม แต่ถ้าไม่มีธี ไม่มีวิธีอื่นที่จะให้คนเหล่านี้ทำทานได้ก็สอนอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน มันอ้อมไปหาอันโน้นได้ เพราะไม่เช่นนั้น ถ้าๆไม่อย่างนั้นมันจะไม่ทำเสียเลย เพราะฉะนั้นให้มันทำไปก่อนเถอะ หลอกให้มันทำไปก่อน ในที่สุดให้ไปสู่ไอ้ๆๆๆการทำทานที่ว่าจะทำลายตัวกูของกูได้เหมือนกัน
ทีนี้ศีลมันก็อย่างเดียวกับที่พูดมาแล้วในเรื่องไตรสิกขา ทีนี้ภาวนามันก็เรื่องสมาธิกับปัญญารวมกัน มันก็พูดมาแล้วในเรื่องไตรสิกขา ทีนี้เราจะไปดูบุญกิริยาวัตถุอย่างอื่น เช่นว่าเวยยาวัจจมัยช่วยเหลือในสิ่งที่ควรช่วยเหลือ นี้มันก็ทำลายความเห็นแก่ตัว ให้ส่วนบุญเขาก็ทลายความเห็นแก่ตัว ไอ้รับส่วนบุญเขาก็คือทำลายความจองหองถือดี เพราะฉะนั้นบุญญา บุญกิริยาวัตถุข้อไหนก็ตามมันจะต้องทำลายตัวกูของกูทั้งนั้น
ฉะนั้นไปดูกันเสียใหม่ นวโกวาท หญ้าปากคอก แต่ว่าต้องไปดูกันใหม่ในลักษณะที่เป็นใจๆความสำคัญ เป็นวิญญาณของมัน ว่าทุกอันมันจะต้องทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู อย่าไปเรียนอย่างเพ้อเจ้อ พูดได้ สอบไล่ได้เป็นหลายร้อยเรื่องหลายพันเรื่องตีกันยุ่งไปหมด อย่างนี้ไม่ไหว มันก็จะกลายเป็นกองขยะมูลฝอยที่กองสุมๆๆๆกันอยู่โดยไม่รู้จะใช้ประโยชน์อะไร นี่ถ้าคุณทำอย่างนี้ก็แปลว่าทำลายธรรมะอย่างยิ่งเลย ทำให้ธรรมะกลายเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ กองสุมๆกันอยู่เหมือนขยะมูลฝอยในการเล่าเรียนนั้น
ทีนี้ถ้าเราเข้าใจถูกต้องมันใช้ได้หมดเลย ทุกชิ้นไม่มี ไม่มีขยะมูลฝอย ฉะนั้นมันกลายเป็นเรื่องเดียวกันหมดไม่ว่าไอ้ธรรมขันธ์ข้อไหน กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นธรรมขันธ์ มันมาเป็นอาวุธสำหรับทำลายตัวกูของกูหมด นี่คุณดูเองเถอะว่ามันสรุปหรือไม่สรุป ตัวคำบรรยายเรื่องตัวกูของกูนี่มันสรุปอยู่ในหัวข้อหนึ่งๆๆๆๆๆ ซึ่งมันใช้แทนกันได้ จนเราสรุปได้ว่าพุทธศาสนาไม่มีอะไรนอกจากเรื่องทำลายตัวกูของกูในจิตใจให้หมดไป นั่นน่ะคือพุทธศาสนา
หรือว่าพรหมจรรย์ การประพฤติพรหมจรรย์บรรพชิตนี้ไม่มีอะไรนอกจากทำลายตัวกูของกูให้หมดไป ไม่มีอะไรนอกจากเรื่องนี้ พูดเป็นไทยก็ว่าทำลายตัวกูของกู พูดเป็นบาลีก็ว่าทำลายอหังการ มมังการ หรือนา อ่า, มานานุสัยนี่ มันก็เรื่องเท่านี้เอง
นี่วันนี้มันวันสิ้นปี แล้วมันก็ดีกับเรื่องธรรมปาติโมกข์ครั้งสุดท้ายของเราประจำปีนี้ ก็เลยถือโอกาสว่าไม่ต้องพูดอะไรให้แปลกออกไป เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่ามันสรุปลงไปได้ในหัวข้อต่างๆอย่างไร เราพูด เราพรรณนา บรรยายชี้แจงอะไรเรื่องธรรมปาติโมกข์ตัวกูของกูนี้มาเป็นเวลาสองสามปีแล้ว เป็นคำพูดหลายสิบครั้งหรือร้อยครั้งอะไรแล้ว เป็นตัวหนังสือหลายแสนหลายล้านไอ้คำพูดแล้ว แต่ว่าทั้งหมดนี้มันสรุปได้ด้วยประโยคสั้นๆที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาว่า เป็นอยู่โดยชอบเถิด โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์อย่างนี้ก็มี หรือว่ามันเป็นเรื่องดับอหังการ มมังการและ อ่า, หรือนามานุสัย อ่า, มานานุสัย อย่างนี้ก็มี หรืออย่างเป็นต้นว่า ทั้งหมดนี้มันก็คือเรื่องศีลสมาธิปัญญา เรื่องทานศีลภาวนา เรื่องอริยสัจ เรื่องมรรคมีองค์ ๘ เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องอะไรก็ตามแต่ทุกเรื่องไปเลย
ถ้าใครจะไปยึดเรื่องธุดงค์ทั้ง ๑๓ เป็นหลัก ก็อย่าได้คิดให้มากฟุ้งซ่านไปในทางที่จะอวดเคร่ง อวดดี อวดเด่นอะไรนี้ ไอ้ธุดงค์ทุกข้อน่ะมันล้วนแต่ขยี้หรือทำลายความเห็นแก่ตัว ตัวกูของกู ความเห็นแก่ตัวมันๆหาความสบายบ้าง หาไอ้เรื่องเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนังบ้างอะไรบ้าง ล้วนแต่เป็นเรื่องตัวกูของกูทั้งนั้น ไอ้ธุดงค์เหล่านี้มันกำจัดสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นธุดงค์ทุกข้อตั้งแต่สันโดษในจีวร สันโดษในอาหาร ในที่อยู่ที่อาศัย หรือว่าอยู่โคนไม้ อยู่ป่าช้าอะไรก็ตามใจ ล้วนแต่จะขยี้บีบคั้นไอ้ตัวกูของกูให้มันอ่อนกำลังไปทั้งนั้น บีบคั้นนิสสัยหรือความเคยชินที่จะเกิดตัวกูของกูให้มันจางไป ให้มันเกิดยาก
นี่ถ้าคุณเข้าใจแล้ว คุณจะเข้าใจต่อไปว่าเหตุไรครั้งพุทธกาลเขาจึงไม่ได้เรียนกันมาก เหตุไรเขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าไม่กี่นาทีเป็นพระอรหันต์ ก็เพราะว่าเขาพูดกันถึงแต่หัวใจของการทำลายกิเลสชื่อนี้ ไม่ได้ไปท่องเรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ เรื่องอริยสัจ เรื่องมรรคมีองค์ ๘ เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องธุดงค์อะไรไม่ได้ ไม่ได้พูดถึง ไม่ได้ท่อง หรือว่ามันอาจจะปฏิบัติอยู่แล้วก็ตามใจ แต่ไม่ได้พูดถึง พูดถึงแต่เรื่องทำลายความยึดถือว่าตัวกูของกูในปริยายใดปริยายหนึ่ง คือแง่ใดแง่หนึ่ง โดยนัยยะอันใดนัยยะอันหนึ่ง ตรงกันเข้ากับนิสัยของคนนั้น ก็เลยเป็นแสงสว่างที่แรงมาก ทำลายความมืดของเขาได้ในขณะนั้น ก็เลยเป็นพระอรหันต์ได้ในเวลาไม่กี่นาทีที่ไปทูลถามหรือว่าฟังพระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างไร
ทีนี้ถ้าว่าอยากจะรู้ละเอียด มันคิดมาก มันกินเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวันก็มี เป็นผู้มีปัญญามากอย่างพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะอะไรมันกินเวลาตั้งหลายวันจึงกว่าจะเป็นพระอรหันต์ นั้นไม่กี่องค์นะ ไอ้พวกที่เป็นพระอรหันต์ที่นั่นทีเดียวกันมากๆกลับมีมากเสียอีก เพราะว่าจับใจความเฉพาะเรื่องนี้ ไม่ไปเป็นห่วงวิตกกังวลเรื่องอื่นซึ่งมันละเอียดพิสดารออกไป แม้ว่ามันเกี่ยวข้องเรื่องตัวกูของกูแต่มันละเอียดพิสดารออกไป ถ้าเราไปสนใจเรื่องนั้นมากการตรัสรู้จะต้องช้า แต่ถ้าเราสนใจเฉพาะเรื่องเฉพาะจุดที่จะทำลายอันนี้การตรัสรู้มันก็จะมีเร็ว
ใครอยากจะเข้าใจเรื่องนี้โดยละเอียดน่ะ คือเรื่องที่ว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเดี๋ยวเดียวบรรลุพระอรหันต์นี่ก็ไปหาอ่านจากพระไตรปิฎกเอง หรือว่าจาก ที่อ่านง่ายที่สุดคือจากธรรมบท คัมภีร์ธรรมบทที่เขาใช้เป็นหลักสูตรเปรียญ ๓ อะไร อ่านดูเถอะ จะพบแต่เรื่องอย่างนี้มากที่สุด
เอาแล้ว สรุปความว่าเราจะพูดกันอีกสักกี่ปีมันก็ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องทำลายอหังการ มมังการ ปีหน้าเราก็พูดกันอีกเรื่องธรรมปาติโมกข์ ก็ไม่พ้นจากเรื่องนี้ แต่ทีนี้มันจะสิ้นสุดปีลงวันนี้แล้วสรุปกันเสียที จึงเรียกว่าวันนี้เราได้พูดกันถึงเรื่องบทสรุปแห่งการละเสียซึ่งตัวกูและของกู ในโอกาสแห่งการสิ้นปี พอกันที.