แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ธรรมปาติโมกข์ของเราก็เรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูอีกตามเคย ไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่ว่าเราจะได้พิจารณากันให้มันละเอียดในแง่มุมต่างๆเหมือนที่แล้วมา สำหรับวันนี้ก็อยากจะพูดปัญหาสำคัญหรือปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับภาษาที่เราพูดกันอยู่ มันไม่ค่อยจะถูกหรือตรงกับเรื่อง แล้วมันก็ชวนให้เข้าใจผิดอยู่เรื่อย หรือว่าตั้งต้นมันผิดเพราะเข้าใจผิด โดยเฉพาะการปฏิบัติที่เกี่ยวกับตัวกูของกูนี่มักจะเข้าใจกันว่ามีหลักสำคัญไปในทางที่ว่าให้ปล่อย ให้ปล่อยวาง ให้ปล่อยวาง นี่พูดกันเรื่อย ให้ปล่อยวาง จนไอ้คำว่าปล่อยวางนี้มันก้องอยู่ในหูเรื่อย
ส่วนคำที่ถูก ที่สำคัญกว่าและถูกกว่า ที่ถูกต้องนั้นมันคือคำว่า อย่าจับเอา อย่าไปจับมันเข้า อย่าๆไปจับเข้า แต่เราไม่ค่อยจะพูดกันเรื่องว่าอย่าไปจับเข้า เราจะพูดกันแต่ว่าปล่อยวางๆ คอยเตือนกันอยู่แต่ว่าปล่อยวาง ก็คือว่าไอ้หลักปฏิบัตินี้ก็คือการปล่อยวาง เมื่อเกิดอาการที่น่าหัวขึ้นมาก็คือจนกระทั่งว่าไม่รู้ว่าจะปล่อยวางอะไร เมื่อคุณอยู่เฉยๆนี้แล้วพยายามจะปล่อยวางนี่ เอ้า, ลองดูสิ มันก็คล้ายกับคนบ้าชนิดหนึ่งใช่ไหม ตัวเราไม่ได้ อ่า, กำลังจะ ไม่ได้ถืออะไรไว้แล้วจะพูดว่าปล่อยวาง เอาแล้วไปๆสู่ที่สงัด เจริญกรรมฐาน เจริญวิปัสสนา แล้วก็ทำการปล่อยวางๆๆนี้ มันปล่อยวางอะไร มันก็ไม่มีเรื่องที่จะปล่อยวาง มันจะปล่อยวางได้ก็ต่อเมื่อมันจับฉวยอะไรอยู่นั่น จึงจะปล่อยวางได้
ทีนี้ก็ให้คิดถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า ตามธรรมดาจิตเป็นประภัสสร มันยังไม่ได้จับฉวยอะไร คือกิเลสยังไม่ได้เกิดขึ้นทำให้เศร้าหมอง ตามปกติจิตเป็นประภัสสร ไม่ได้จับอะไร ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น นี่เราก็กำลังเป็นอย่างนั้นอยู่ แล้วก็ไปคิดว่ากูจะปล่อยวาง กูจะปล่อยวางนี้ มันก็เป็นเรื่องน่าหัว มันก็ต้องไปสมมติว่าจับฉวยอะไรขึ้นมาหรือไปพิจารณา ก็ เอ้า, ถ้าจับฉวยแล้วก็จะปล่อยวาง ทีนี้มันไม่มีการจับฉวยจริงๆ ไอ้ที่จับฉวยอยู่จริงๆเช่น กำลังโกรธ กำลังกำหนัด ขัด ขัดเคืองอะไรอยู่นี้ นี้กำลังจับฉวยอยู่จริงๆนี่กลับไม่มีสติที่จะปล่อยวาง
ทีนี้ขอให้เข้าใจว่าไอ้เรื่องที่จะไปโกรธใครหรือกำหนัดในอะไรนั้น มันมีเป็นครั้งๆคราวๆประเดี๋ยวประด๋าว ไอ้ส่วนตลอดเวลานั้นน่ะมันคือไม่ได้กำหนัดขัดเคืองอยู่เป็นส่วนมาก คือไม่ได้จับอะไรอยู่เป็นส่วนมาก ที่ไปจับฉวยเข้านั้นมันมีเป็นส่วนน้อย นี่ขอให้มองข้อเท็จจริงอย่างนี้ให้เห็นชัดเสียก่อน
ทีนี้เราเล่าเรียนกันมาหรือถูกสอนกันมาในลักษณะที่ว่ามันยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา ครูบาอาจารย์ก็สอนว่ามีอวิชชาอยู่ตลอดเวลา มีอุปาทานตรึงแน่นอยู่ในสันดานตลอดเวลา ก็พยายามจะปล่อยวางอุปาทานหรือ หรืออวิชชาเหล่านั้น นี่เคยพูดกันมาทีหนึ่งแล้วว่าไอ้เรื่องนี้มันผิด เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า แม้อวิชชามันก็พึ่งเกิด พึ่งเกิดเมื่อเผลอสติ เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น อวิชชาจึงเกิด ส่วนอุปาทานนั้นก็เหมือนกัน เมื่ออวิชชามันเกิดนั่นมันจึงจะมีอุปาทาน ยึดถือในรูปเสียงกลิ่นรสนั้นๆในโอกาสที่มันเผลอสติ ฉะนั้นอะ อุปาทานมันก็พึ่งเกิดมาตามอวิชชา
เพราะฉะนั้นตามธรรมดามันก็ไม่ได้มีอุปาทานหรืออวิชชา คือมันว่างจากอุปาทานหรืออวิชชาก็ตามนี่อยู่ตามธรรมชาติ จนกว่ามันจะมีเหตุมา มีอารมณ์มากระทบ แล้วมันโง่ แล้วมันเผลอสติ แล้วมันก็เกิดอวิชชา เกิดอุปาทาน ฉะนั้นการที่เราจะปล่อยวางนั้น มันยังไม่มีอะไรจะปล่อยวาง แต่เรามีหน้าที่ที่จะปฏิบัติว่าอย่าไปจับมันเข้านี่อยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่มีจิตว่างเป็นประภัสสรตามธรรมชาติ ไม่ได้จับฉวยอะไร สบายดีอยู่นี้ ก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องระวังว่าอย่าไปเผลอ ไปจับฉวยอะไรเข้าว่าตัวกูว่าของกู
นี้ก็เข้าใจกันแล้วว่าไอ้ตัวกูของกูน่ะเกิดเมื่อไรนั่นคือการจับฉวยอันใดเข้าแล้ว รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรืออะไรก็ตาม ถ้ามีการจับฉวยเข้าแล้วมันก็เกิดตัวกูของกู เพราะอุปาทานนั่นเองที่เรียกว่าตัวกูหรือของกู หรือว่าถัดมาอีกนิดเดียวก็คือภพ มันเป็นตัวๆกูของกู เป็นชาติเต็มๆที่ขึ้นมา เป็นตัวกูของกูอย่างเต็มที่ขึ้นมา เรื่องนี้ได้เคยพูดให้ฟังแล้วว่า การกระทบคือผัสสะนั้นน่ะเป็นเหตุให้เกิดเวทนา ตรงเวทนานี้เป็นทางสองแพร่ง ถ้าขาดสติมันก็เกิดตัณหาอุปาทาน ถ้าไม่ขาดสติ มันก็มีสติมีปัญญา เดี๋ยวนี้มันขาดสติ ไอ้เวทนามันก็ก่อให้เกิดตัณหา คืออยาก อยากอย่างใดอย่างหนึ่งในเวทนานั้น เมื่อเกิดตัณหานี่ก็เรียกว่ามันเป็นจุดตั้งต้น ตั้งปฏิสนธิ ตั้งต้นปฏิสนธิของสิ่งที่เรียกว่าตัวกูของกู
ปฏิสนธินี้ เกิด ไม่เป็นหมันขึ้นมา หรือเจริญต่อไปเป็นอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ แปลว่าไอ้ทารกในครรภ์มันตั้งปฏิสนธิเป็นจุดเล็กๆขึ้นมาแล้ว เมื่อมีตัณหาแล้วมันก็โตขึ้นมา เมื่อมีอุปาทา อ่า, โตขึ้นมามันก็เป็นอุปาทาน โตขึ้นมามันก็เป็นภพ โตขึ้นมามันก็เป็นชาติ ภายในวินาทีเดียวมันก็โตเต็มที่เป็นชาติ เป็นตัวกูของกูอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นทุกข์ ดิ้นรนเป็นทุกข์เร่าๆ อยู่ทีเดียวนี้ นี้เรียกว่าไอ้ตัวกูของกูเกิดนั่น มันก็คือเกิดเมื่อมีอุปาทานไปจับฉวยอะไรเข้าในเวทนาเหล่านั้น คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทีนี้เราก็มองดูให้ดีว่าหน้าที่ของเรานั้นคืออย่างไร หน้าที่ของเราคืออย่าไปจับฉวยเข้า หรือว่าปล่อยๆๆมือ มันยังไม่เกิดอะไร มันก็มีหน้าที่ที่จะไม่ไปจับฉวยเข้า แล้วเมื่อมันไม่ไปจับฉวยเข้ามันก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องปล่อย คือเราอย่าไปจับอะไรเข้าสิ มันก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องปล่อยสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นไอ้การที่ไม่จับฉวยนั่นแหละ นั่นแหละคือปล่อยแหละ เราไปเรียกการไม่จับน่ะว่าๆการปล่อย นี่คือภาษาที่ไม่ถูก มันภาษาคนแล้วพูดอะไรผิดๆเสมอ ภาษาคน ภาษาชาวบ้าน ภาษาธรรมดานี่เรียกว่าภาษาคน พูดอะไรผิดๆเสมอ
ถ้าพูดเป็นภาษาธรรมแท้ๆมันถูก เป็นภาษาความจริง มันก็ไม่จับ ไม่ยึดไม่จับ มีสติอยู่เสมอแล้วมันก็ไม่ไปยึดไม่ไปจับ มันก็พอกันเท่านั้นเอง เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ฟังเสียงอะไรก็ตาม ในอา อายตนะ ๖ นั้น มีสติทันท่วงที มีสัมปชัญญะทันท่วงทีแล้วมันก็ไม่ไปจับฉวยเข้า คือเห็นว่าเวทนานี้ก็สักว่าเวทนาตามธรรมชาติ เป็นของไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอะไรอยู่ตามที่เราฝึกฝนจิตให้มันมองเห็นไอ้เวทนานี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่เสมอ พอเวทนามาก็ พอเวทนาเกิดขึ้นจริง สติมันก็มาทันจริงเหมือนกัน เพราะไอ้นั่นน่ะคือไอ้ที่เราพิจารณาอยู่เสมอว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นธรรมชาติตามธรรมดาของโลก ไม่ใช่ตัวตนที่จะจับฉวยเอาได้ ทีนี้มันก็ไม่อยาก คือไม่เกิดตัณหา ก็ไม่มีอุปาทาน ไม่มีภพ ไม่มีชาติในขณะนั้น ฉะนั้นเรื่องมันก็ มันก็สิ้นสุดลง คือไม่ได้ไปจับเข้า มันก็เฉยไปในส่วนๆนั้น ในส่วนที่จะเกิดตัวกูของกูน่ะไม่เกิด
ทีนี้ส่วนหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างไรต่อไปนั้นมันเป็นส่วนของสติสัมปชัญญะและปัญญา เช่นว่ายุงกัดเจ็บ ก็ไม่ต้องเกิดโกรธว่าเจ็บ เกิดตัวกูของกูว่าเจ็บแล้วโกรธยุง ตบยุง ตียุงอะไรเหล่านี้ไม่ต้องเกิด แต่เกิดสติสัมปชัญญะปัญญาต่อไปในทางที่ว่าจะต้องทำอย่างไรล่ะยุงกัดนี้ ก็ทำตามนั้น คือจะปัดยุงไป หรือว่าจะ อ่า, ถ้ายุงมีพิษจะต้องทายาอะไรก็ทาไป โดยไม่ต้องโกรธยุง โดยไม่ต้องกลัวตาย โดยไม่ต้องอะไรหมด นี่สติสัมปชัญญะปัญญาก็ทำหน้าที่ตามหน้าที่ไปได้ ส่วนกิเลสไม่ต้องเกิด อุปาทานไม่ต้องเกิด คือไม่ไปจับฉวยเอาเวทนานี้มาเป็นตัวกูของกูสำหรับโกรธยุง หรือกลัวตาย หรืออะไรอย่างนั้น นี่ตัวอย่างที่เล็กๆที่สุด ที่ง่ายที่สุด ที่จะมีเป็นประจำวันที่สุด
ทีนี้ไอ้เรื่องใหญ่ขึ้นไป เช่นเรื่องอร่อยไม่อร่อยทางลิ้นเมื่อฉันอาหารอย่างนี้ ก็เคยพูดแล้วว่าจะต้องทำอย่างไรโดยหลักใหญ่ๆทั่วๆไป อย่างเดี๋ยวนี้ก็ทำไปในลักษณะที่ว่าจะป้องกันไม่ให้ไปจับฉวยเอาเวทนานั้นเข้า เช่นว่ามันอร่อย เกิดกำหนัดเกิดอะไรในรส มีตัวกูของกูที่อยากจะมีอย่างนี้เรื่อยไป ไม่ได้อย่างนี้ก็น้อยใจหรือคิดต่อไปอีกเตลิดเปิดเปิงไปอย่างอื่นอย่างนี้ ในเวทนาที่อร่อยก็ไปจับฉวยเข้าอย่างนี้ แล้วเกิดตัวกูของกูขึ้นมา เป็นตัณหา เป็นทุกข์
ทีนี้ในเวทนาที่ไม่อร่อย เช่นอาหารไม่อร่อย อะไรก็ไม่อร่อย วันนี้ไม่ๆรู้เป็นอย่างไรใจคอก็ไม่ค่อยสบาย อาหารก็ไม่อร่อย ถ้ามันเผลอไปมันก็จับฉวยเอาเวทนานั้นมาเป็นตัวกูของกู มันก็โกรธ มันก็ขัดใจ มันก็ด่าว่า มันก็เลยเป็นตัณหา เป็นตัวกูของกู เป็นความทุกข์ขึ้นมา
ทีนี้เมื่อไม่จับฉวยทั้งอร่อยและไม่อร่อย ไม่จับฉวยเอาทั้งสองอย่างมันก็ไม่มีเรื่อง จะต้องทำอย่างไรก็ทำต่อไป อร่อย เอ้า, ก็รู้ว่า โอ้, มันก็ธรรมดาอย่างนี้เอง เมื่อถูกกับลิ้นมันก็อร่อย ไม่อร่อยธรรมดามันก็อย่างนี้เอง มีทางคิดไปในทางที่ว่ามันเป็นอย่างนี้เอง อาหารนี้มันเป็นอย่างนี้เอง หรือว่าลิ้นของเราไม่สบาย เป็นโรค มันกำลังไข้เจ็บไม่อร่อยนี้ คิดไปตามเรื่องที่ว่าควรทำอย่างไรก็ควรก็ทำ ไม่ต้องทำอะไรก็ไม่ต้องทำ อย่าให้มันเกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นมาได้ นี่เรียกว่าไม่จับฉวยเอาเวทนานั้นมาเป็นตัวกูของกู อย่างนี้เราเรียกว่าอย่าจับเอามา ไม่ใช่ว่าให้ปล่อย มันไม่ มันไม่ๆๆมีลักษณะของการปล่อย มันมีลักษณะของการไม่จับเอามา แต่เราก็พูดว่าปล่อยนี้ ปล่อยๆๆ จนปล่อยไม่รู้ว่าปล่อยอะไร
ทีนี้ตัวอย่างที่มันๆๆๆเร็ว หรือมันรุนแรง หรือมันเป็นไอ้เรื่องทางจิตวิทยาอยู่มาก ก็เช่นที่พูดให้ฟังมาบ้างแล้วว่า ความหิว ความกระหายอะไรเหล่านี้ ที่แท้มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องตัวกู แต่คนโง่ คนพาล คนปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังธรรมของพระอริยเจ้านี้ ภาษาพระพุทธ ภาษาพระไตรปิฎกเขาใช้คำว่าอย่างนี้ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธจะ อ่า, พระอริยเจ้านี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่า อ้าว, นี้ตามธรรมชาตินะ เพราะไม่มีอาหารลงไปในท้อง ท้องมันก็กระวนกระวาย น้ำย่อยอาหารมันย่อยเอาพื้นท้อง รู้สึกแสบท้องคือรู้สึกหิวข้าวนั้น มันก็เท่านั้นเอง หาอะไรไปใส่ให้มัน มันก็หายหิว แต่ว่าไอ้คนมันก็ไม่คิดอย่างนั้น มันโกรธว่ากูหิวเสีย พอกูหิวแล้วโกรธ เท่ากับกูหิวแล้วก็เป็นอันว่าโกรธ กระสับกระส่าย ไม่มีใครเอาใจใส่เอามาให้กูกิน ไม่ อ่า, ไม่มีโชคดีไม่มีอะไรไปทางโน้น เปิดเปิงไปทางนู้น มันกลายเป็นกูหิว ไม่ใช่ธรรมชาติในกระเพาะอาหารมันทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามธรรมชาติ
แม้แต่กระหายน้ำก็ว่ากูกระหายน้ำ ไม่ใช่ว่าน้ำในร่างกายมันลดไปมากกว่าปกติมันก็รู้สึกอย่างนั้น ร่างกายมันรู้สึกอย่างนั้น แต่ทางจิตทางใจมันรู้สึกไปว่ากูหิว นี้มันเผลอจนจับฉวยเอามาเป็นปรกตินิสัยจนไม่รู้สึกว่าจับฉวย มันจับฉวยจนเคยชินจนไม่รู้สึกว่าจับฉวย จับฉวยเอาเวทนานั้นมาเป็นกู กูหิว กูกระหาย กูอะไรก็ตาม ถ้าได้รับการฝึกฝนมาดี มันก็รู้ว่าหิวคืออย่างนั้น กระหายคืออย่างนั้น ไม่ต้องมีกูหิว ไม่ต้องมีกูกระหาย ด่าคนใช้ตัดเงินเดือนอะไรนี้ ทำไม่ทันบ้าง ทำไม่อร่อยบ้างอะไรบ้าง คนอื่นพลอยเดือดร้อน พลอยถูกไล่ ถูก ขนาดไล่ออกตัดเงินเดือนอะไรยุ่งกันไปหมด
อยากจะให้เข้าใจคำสองคำนี้ให้มากเป็นพิเศษ ว่าที่ถูกนั้นคืออย่าจับเอา แต่เรามาพูดกันว่าจงปล่อยๆๆ แทนที่จะพูดว่าอย่า จงอย่าจับเอานี่คือจงปล่อย แล้วก็พูดกันเสียเกร่อไปหมดทั่วไปหมดว่าให้ปล่อยๆๆ แม้จนไม่รู้ว่าปล่อยอะไร นั่นภาษาคน ทีนี้ภาษาธรรม ภาษาความจริง คือเรื่องจริงของมันก็คือไม่จับ ไม่จับนี่ คุณลองท่องไอ้คำว่าไม่จับ ไม่จับนี่แทนคำว่าปล่อยๆ ดูบ้างจะถูกต้องตามความจริงมากกว่า
ตัวกูมันเกิดขึ้นยกหูชูหางอย่างนั้นอย่างนี้นั้นคือเรื่องจับเต็มที่ มันจับอย่างเต็มที่ ที่เราให้ทดสอบกันด้วยการทำการงาน สังคม การสังคม การทำการงานคือการสังคม ไม่นั่งอยู่คนเดียว มานั่งมาทำมาร่วมอะไรกันหลายๆคน ทีนี้มันก็มีช่องทางที่จะเกิดไอ้ตัวกูของกูนี้มากหรือง่ายกว่าที่จะนั่งอยู่คนเดียว ทีนี้พอได้ยินได้ฟังไอ้ที่เขาอีกคนหนึ่งพูดอย่างนี้ หรือแสดงอาการก็ตาม แสดงสีหน้าก็ตาม เพราะฉะนั้นน่ะอย่าจับฉวย มันไม่ มันไม่ใช่ว่าปล่อยๆอะไรไม่ใช่ ฉะนั้นอย่าไปจับฉวยคืออย่าไปรับไอ้อารมณ์นั้นมาเป็นไอ้ความหมายของตัวกูของกู มันค้อนกู มันดูถูกกู มันเสียดสีกู มันอะไรกู ถ้าๆเป็นเสียงพูดมา ก็มันก็เสียงๆ นั้นตามธรรมชาติเปล่งออกมา มีต้นเหตุในจิตใจของบุคคลนั้นกำลัง กำลังเต็มอยู่ด้วยความโง่ กำลังเต็มอยู่ด้วยความเป็นตัวกูของกูที่มันยึดมั่นถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วมันพูดออกมา แยกธาตุดูคล้ายกับเครื่องจักร ก็เลยเห็นว่ามันก็เสียงนี้ ก็ตามธรรมชาติธรรมดาที่เป็นเสียงนี้ แล้วออกมาจากจิตใจตามธรรมชาติธรรมดาที่มันโง่ มันก็พูดอย่างนั้นในลักษณะที่เป็นความกระทบกระแทกแดกดันบ้าง ด่าบ้าง หลายๆอย่างหลายๆแบบ
ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นอย่างนี้รู้สึกอย่างนี้ ไอ้การจับฉวยเอาน่ะมันไม่มี การจับฉวยเอาไม่มีแล้วจะปล่อยอะไร มันก็ไม่ต้องปล่อยอะไร ที่ให้ทำอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ทำอย่างนี้เรื่อยไป คือว่าไม่จับฉวยเอาอยู่เรื่อยไป ไม่จับฉวยเอาอยู่เรื่อยไป มันก็เรียกว่าเป็นอยู่อย่างถูกต้อง เป็นอยู่ชอบ เป็นอยู่อย่างถูกต้อง ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าภิกษุเหล่านี้จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านจะปรินิพพานอยู่หยกๆแล้วในคืนวันนั้น ท่านยังตรัสประโยคนี้ฝากไว้เป็นพินัยกรรมแก่พวกเรา ตะเจเม ภิกขะเว ภิกขู สัมมา วิหะเรยยุง อสัญโญ โลโก อสุญโญ โลโก อรหันเตหิ อัสสะ ก็ท่องกันได้ ใครก็ฟังได้ยิน เรียนพุทธประวัติก็ได้อ่านข้อนี้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์เพราะภิกษุเป็นอยู่โดยชอบ พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น ที่เราเป็นอยู่โดยชอบน่ะคืออย่างนี้ เป็นอยู่ชนิดที่ไม่จับฉวยอะไร ตัวกูของกูไม่อาจจะเกิดอยู่เรื่อยไป เรียกว่าเป็นอยู่ชอบ พอเป็นอยู่ชอบอย่างนี้ ความเคยชินที่จะจับฉวยที่จะเกิดอุปาทานมันก็อ่อน อ่อนกำลังลงๆ ที่เราใช้คำว่ากิเลสไม่ได้อาหาร เป็นอยู่ถูกต้องกิเลสไม่ได้อาหาร กิเลสก็อ่อนกำลังลงๆ
กิเลสชั้นอนุสัย ชั้นสังโยชน์นี้คือความเคยชินทั้งนั้นน่ะ ไม่ใช่ตัวกิเลสกิเลิสอะไรอย่างชั้นละเอียดชั้นวิเศษอะไรมาจากไหนอีก มันก็กิเลสธรรมดาๆทั่วๆไปนั้น แต่ว่าความเคยชินของมันที่จะเกิดนั่นน่ะมันถูกทำลาย สังโยชน์ อนุสัยคือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสชื่อนั้นๆ ทีนี้เราทำลายความเคยชินมันก็เท่ากับทำลายกิเลส มันเคยชินแต่จะเกิดตัวกูของกู แว้บเดียวเกิดแล้ว พอแสบท้องกูหิวแล้วนี่ มันความ เกิดความเคยชิน มันมีความเคยชินมากถึงอย่างนี้ กูกระหายแล้วโกรธแล้ว ทีนี้เราหัดเป็นอยู่โดยชอบอย่างนี้ ไม่ให้มันเกิดว่ากูหิวกูกระหายนี่ ไอ้ความเคยชินที่จะรู้สึกว่ากูหิวกูกระหายมันก็จางลงๆ อ่อนกำลังลงจนมันไม่เกิด เรียกว่าเป็นอยู่ชนิดที่ไม่จับฉวยอะไรอยู่เสมอไปนั้นเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ที่ทำโลกไม่ให้ว่างจากพระอรหันต์
ในคราวก่อนๆคราวอื่นผมพูดว่า เป็นอยู่โดยอริยมรรคมีองค์ ๘ น่ะ ถูกต้อง ๘ ประการนั้นเรียกว่าเป็นอยู่ชอบ ทำโลกไม่ให้ว่างจากพระอรหันต์ ทีนี้วันนี้มาพูดอย่างนี้ บางคนก็จะคิดว่า อ้าว, พูดผิดกันเสียแล้ว ถ้าคนเข้าใจธรรมะดีก็จะเห็นได้ว่ามันเรื่องเดียวกันโว้ย ไอ้เป็นอยู่ชอบ มีความเห็นถูกต้อง มีความใฝ่ฝันถูกต้อง พูดจาถูกต้อง การงานถูกต้อง เลี้ยงชีพถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง สติถูกต้อง สมาธิถูกต้อง นี่คือทั้งหมดนั้นรวมกันแล้วคือไม่จับอะไรว่าเป็นตัวกูของกู ถ้าเป็นอยู่ด้วยมรรคมีองค์ ๘ อย่างนั้น จิตไม่มีทางที่จะไปจับอะไรเข้าว่าเป็นตัวกูว่าเป็นของกู ไอ้นั่นมันแยกออกไปตั้งเป็น ๘ อย่างตามองค์ ๘ แห่งมรรค นี้กลับพูดอย่างเดียว ว่าเป็นอยู่วันคืนล่วงไปโดยที่ไม่เผลอไปจับเอาอะไรเข้าว่าเป็นตัวกูของกู
ในกรณีที่ตากระทบรูปก็ตาม หูกระทบเสียงก็ตาม จมูกกระทบกลิ่นก็ตาม ลิ้นกระทบรสก็ตาม กายจะกระทบสัมผัสทางผิวหนังก็ตาม จิตกระทบอารมณ์ความคิดนึกอะไรก็ตาม ทั้ง ๖ ทางนี้ไม่มีเผลอให้มันเกิดการจับฉวยนั่นนี่เป็นตัวกูของกูขึ้นมา นั่นก็คือการเป็นอยู่ชอบ ทำได้อย่างนั้นชื่อว่ามีมรรค มีๆอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการครบถ้วนอยู่ในตัวมันเอง เพราะว่าเมื่อไม่มีไปจับฉวยอะไรเป็นตัวกูของกูแล้วมันถูกไปหมดแหละ ทั้ง ๘ อย่างนั้นมันจะเป็นสัมมาไปหมดเลย อยู่ในตัวมันเองโดยอัตโนมัติด้วย มันสบายอย่างนี้
ฉะนั้นคุณจะจำไว้อีกคำหนึ่งก็ได้ว่า เป็นอยู่โดยชอบที่จะให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์นั้นก็คือ เป็นอยู่อย่างที่ไม่จับอะไร ไม่เผลอไปจับอะไรเอามาเป็นตัวกูของกู นี่คือๆๆข้อที่เท็จ ที่ๆแท้จริง ที่เป็นอยู่จริง แต่เราพูดโดยสำนวนโวหารอีกอย่างหนึ่งว่าปล่อยอยู่เสมอๆๆ ยังไม่ทันจับอะไรก็พูดว่าปล่อยแล้ว ปล่อยอยู่เสมอ มันน่าหัวเราะ
นี่วันนี้จะชี้ให้เห็นกันแต่เฉพาะในส่วนที่ว่าภาษามันเล่นตลก ที่เราใช้พูดกันอยู่โดยนักปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่เป็นนักวิปัสสนาอะไรก็ตามเถอะ เขาพูดภาษาตลก เล่นตลกกันอยู่อย่างนี้ สอนแต่เรื่องให้ปล่อย ไม่ได้สอนเรื่องอย่าจับฉวย เพราะว่าถ้าจับ ถ้าไม่จับฉวยแล้วมันก็ไม่มีการปล่อย ไม่ต้องมีการปล่อย เพราะฉะนั้นสอนว่าอย่าจับฉวยนั่นน่ะคือมันปล่อยอยู่ตลอดเวลา มือมันว่างอยู่ไม่จับอะไรอยู่ตลอดเวลา ถ้าสอนว่าปล่อยหมายเฉพาะมือไปจับอะไรแล้ววางออก ปล่อยออกนี้ มันก็เป็นเรื่องนิดเดียว
ที่จริงแม้เราจะไม่ปล่อยมันก็ปล่อยของมันเอง เมื่อจิตไปหมายมั่นจับฉวยอะไรเป็นตัวกูของกูเข้าอย่างหนึ่งแล้วนะ มันดื่ม มันกิน มันบ้า มันหลง มันอะไรไปๆ ประเดี๋ยวเดียวมันก็สุดกระแสของมัน มันก็ต้องปล่อยอยู่ดี มันจะอร่อยอยู่ตั้ง ๒๔ ชั่วโมงได้อย่างไร มันจะเป็นตัวกูอร่อย หรือตัวกูหิวอยู่ได้ตั้ง ๒๔ ชั่วโมงมันไม่ได้ เดี๋ยวมันก็สิ้นกระแสของมัน มันก็ดับไปเองตามธรรมชาติ แม้เราไม่ปล่อยมันก็ต้องๆ ปล่อยโดยๆๆธรรมชาติที่สุดกระแสของมัน ทีนี้เราอย่าไปจับสิ อย่าไปจับใหม่สิ มันก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องปล่อยอะไรอีก
อย่าให้ตัวกูของกูเกิดนั่นน่ะมันพอแล้ว ทีนี้ถ้ามันเกิดแล้วก็มีสติทัน พอมีสติทันแล้วมันสลายตัวเอง ไม่ต้องถอย นั่นน่ะคือการปล่อยชนิดหนึ่ง พอสติสัมปชัญญะมา เรียกว่า ผิดแล้ว แย่แล้ว อย่างนี้มันก็ปล่อย ถึงแม้เราจะไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นทันท่วงที เดี๋ยวเดียวมันก็ต้อง กระแสต้องดับเพื่อจะเปลี่ยนไปสู่อย่างอื่นอีก มันก็ปล่อยเหมือนกัน ทีนี้สติมา ทีนี้อย่าจับอีก อย่าไปจับอะไรเข้าเป็นเรื่องที่สองที่สาม นี่คือเป็นเรื่องไม่จับอยู่ตลอดเวลา ปฏิบัติเพื่อไม่ให้จับฉวยเอาอะไรเป็นตัวตนของตนอยู่ตลอดเวลา นี่คือคำพูดที่ถูกต้อง จะต้องพูดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกๆคนเอาไปสังเกตดู คือสังเกตจิตใจของตัวเองดูว่ามันมีลักษณะอย่างไร มีธรรมดาธรรมชาติอย่างไร แล้วเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร คือเราก็จะมีหลัก คือว่าเราจะมีหลักในการที่จะไม่จับ ไม่จับอะไร หรือว่าจะมีหลักๆว่าปล่อยหรืออะไร อันไหนจะน่าฟังกว่าหรือว่ามันจริงกว่า อันไหนน่าหัวเราะที่สุด
เมื่อเดือนก่อนหรือเดือนก่อนนู้นเราเคยพูดกันมาทีหนึ่งแล้วว่า กิเลสนั้นไม่ต้องละ เราไม่มีปัญญาจะไปละกิเลสหรอก เพราะมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปผลุบผลับๆ เราก็ระวังเป็นอยู่โดยชอบจนกิเลสไม่เกิด นั่นน่ะคือละกิเลส กระทั่งละความเคยชินของกิเลส เป็นอยู่ด้วยมรรคมีองค์ ๘ จนละความเคยชินของกิเลส คือ รกรากของกิเลสถูกตัด ไอ้ที่เราไป จะไปจับตัวกิเลสมาละโดยกะ มาฆ่ามาอะไรนี้เป็นคำพูดโวหารเปรียบเทียบ เขาเรียกว่า อะไร ภาพพจน์ Picture of the Piece คือพูดของที่ไม่มีตัวตนเป็นนามธรรมให้เป็นเหมือนกับนามธรรม อ่า, เหมือนกับรูปธรรมขึ้นมา นี้มันเป็นคำพูดเหมือนกับว่ากิเลสนี้เป็นตัวจับมาเชือดคอได้อะไรอย่างนั้น ฆ่ากิเลส ละกิเลส พูด เผากิเลส พูดกันไปทำนองนั้น
เพราะฉะนั้นกิเลสนั้นเป็นนามธรรมที่มีกระแสที่ไหลเร็วมากทุกขณะจิต ไม่มีอันไหนเป็นปัจจุบันที่จะไปจับตัวมาละได้ เพียงแต่เราคิดเท่านั้นมันก็เปลี่ยนเป็นอันอื่นไปแล้ว เพราะว่ามันกระแสจิตมันก็ไหลไปอย่างนี้อยู่เรื่อย เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางจะ ไม่มีปัญญาหรือไม่มีไอ้หลักเกณฑ์อะไรที่ว่าไปจับกิเลสมาเชือดคอได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไหลไปด้วยการเกิดดับๆๆชนิดที่ตะครุบตัวไม่ทัน
ทีนี้เราเป็นอยู่ชอบ คือมีปัญญาเฉียบแหลมคมกริบ คือมีสติสัมปชัญญะที่จะใช้ปัญญานั้นทันท่วงทีอยู่เสมอ นี่คือฆ่ากิเลส กิเลสไม่มีทางเกิด หรือว่าพอรู้ว่านี่เป็นกิเลส ไอ้นี้ก็หายหน้าไปเท่านั้น พอรู้ว่านี่เป็นกิเลส คือสติ สติมา รู้ว่านี่คือกิเลส มันก็หายไปเท่านั้น มันเป็นธรรมเนียมของพญามารหรือของมาร พอรู้ว่ามาร มันก็หายวับไป แต่เพียงเท่านั้นมันไม่ๆๆฆ่ากิเลสให้ตายได้ เราต้องเป็นอยู่โดยชอบทุกเวลานาที มารไม่มีโอกาสจะโผล่หน้ามา นานเข้ามันสลายตัวไปเลย เหมือนกับไม่ได้กินอาหารนี้ มันก็ค่อยผอม ค่อยๆผอม ค่อยๆผอมแล้วก็ตายไปในที่สุด
เป็นอยู่ให้ชอบ เป็นอยู่ให้ถูกต้อง ให้กิเลสไม่ได้มีอาหารเพิ่มเติมหล่อเลี้ยง ก็คือความเคยชินของกิเลสนั่นแหละ อย่าให้มันมี ให้มันๆมีตรงกันข้าม ทีนี้ความเคยชินของกิเลสนั้นก็ไม่ มันก็ร่อยหรอไปๆ จนกิเลสไม่เกิด ทีนี้นาทีสุดท้ายก็เรียกว่าเป็นสมุทเฉทประหาร ไม่มีความเคยชินของกิเลสเหลืออยู่แม้แต่น้อย เกิดไม่ได้
ทีนี้ก็เพื่อจะให้เป็นอยู่ชอบนะ เพื่อให้กิเลสไม่ได้อาหารก็จะขอร้องให้ทุกๆคนประพฤติปฏิบัติประจำวัน เดือน อ่า, ประจำคืนอยู่ในลักษณะที่กิเลสไม่ได้กินอาหาร ก็มาขอสรุปความแนะนำให้ว่าเป็นอยู่ๆๆทุกลมหายใจเข้าออกนี้โดยการที่ไม่ไปจับฉวยอะไรเข้า ไม่ไปยึดมั่นจับฉวยอะไรว่าเป็นตัวตนของตน นี่คือสติและสติปัฏฐานที่ดีที่สุด ที่แท้จริงที่สุดมันก็อยู่ที่นี่ พูดเพียงคำเดียวว่ามีสติไม่จับฉวยอะไรมาเป็นตัวตนของตนนี่คือสติปัฏฐานทั้งหมด แต่จะๆจำแนกแจกแจงรายละเอียดเป็นสี่อย่าง แปดอย่าง สิบอย่าง ร้อยอย่าง พันอย่างก็ได้ทั้งนั้น ผลสุดท้ายมันก็มารวมอยู่ที่นี่ เป็นผู้มองเห็นอยู่เสมอว่าไม่เที่ยง มันก็เลยไม่มีทางที่จะเกิด
เอาแล้ว มันยุติกันในตอนนี้ทีหนึ่งว่าการปฏิบัติ หัวใจของการปฏิบัตินั้น มันสรุปความว่า ไม่จับฉวยเอา แทนที่จะพูดว่าปล่อยไปๆ พูดว่าไม่จับฉวยเอาดีกว่า คำว่าปล่อยไปๆนั้นมันๆเป็นคำพูดที่เล่นตลกกันอยู่ มันยากแก่การที่จะเข้าใจ ยากแก่การที่จะปฏิบัติ เมื่อจิตเป็นปกติอยู่มันก็ไม่รู้จะปล่อยอะไร ก็ไปนั่งทำความเพียรคิดนึกขึ้นมาเรื่องความยึดมั่นถือมั่น เห็นโทษของมันเพื่อให้เกิดความหน่าย เบื่อหน่ายเกลียดความยึดมั่นถือมั่น มันก็ได้ๆ แต่สมมติเป็นเรื่องละครตลกอยู่นั่น
ทีนี้เราไปนั่งระวังจิตไม่ให้จับฉวย หรือเห็นความทุกข์ที่เกิดมาจากการจับฉวยนี้ ไปนั่งทำวิปัสสนาเพื่อจะเห็นในข้อนี้อยู่ เห็นการที่ไม่จับฉวยและเห็นทุกข์ของการจับฉวยนี้มันก็พอ มันก็ถอยหลังออกมาจากการจับฉวย นี่มันฟังง่าย คือฟังกันถูกง่าย แล้วก็ง่ายแก่การที่จะปฏิบัติ แล้วมันก็ปฏิบัติได้ด้วย ถ้าพูดแต่ว่าปล่อยๆๆในขณะที่จิตมันไม่ยึดถืออะไรมันก็ไม่รู้จะปล่อยอะไร
ทีนี้เราก็รักษาไอ้จิตที่เป็นประภัสสรตามธรรมชาตินั้นให้มันประภัสสรอยู่ได้เรื่อยด้วยการไม่ไปจับฉวยอะไร ไอ้ความเป็นประภัสสรมันก็ยืด ยืดกว้างออกไปๆๆ จนเต็มวัน ประภัสสรเต็มวัน ประภัสสรเต็มคืน ประภัสสรเต็มเดือน ประภัสสรเต็มปี จนถึงวันหนึ่งคืนหนึ่งมันเด็ดขาดลงไปว่าจะไม่มีอะไรกลับมาจับฉวยได้อีก มันก็เป็นประ อ่า, ประภัสสรชนิดสมุทเฉทประหาร ไม่ต้องเพิ่มเรื่องนั้นไม่ต้องเพิ่มเรื่องนี้ให้มันหลายเรื่อง โดยถือหลักว่าจิตตามธรรมชาติที่เป็นประภัสสรนั้นไม่ได้จับฉวยอะไรมาเป็นตัวกูของกูอยู่แล้ว ทีนี้ก็รักษาสภาพอันนี้ไว้ให้ดี ประคับประคองไว้ให้ดี มีสติสัมปชัญญะให้พอ มีปัญญาช่วยสติสัมปชัญญะไว้เสมอ ก็สามารถจะรักษาความเป็นประภัสสรไว้ได้เรื่อยๆๆๆๆ จนนิสัยแห่งความเคยชินของกิเลสที่จะเกิดขึ้นนั้นมันก็ร่อยหรอไปๆ และขาดสูญไปในที่สุด
ตรงนี้จะขอเตือนไว้เสมอ ให้สังเกตไว้เสมอว่ากิเลสตัวกูของกูนี้มันเพิ่งพอกพูนๆมากเข้าหลังจากที่เกิดจากท้องแม่มาแล้ว เราเกิดมาจากท้องแม่ มันก็ สิ่งแวดล้อมทั้งหมดน่ะถูกสอนให้จับเอาๆๆ พอเด็กอร่อยในสิ่งใดมันก็จับเอาสิ่งนั้นเป็นของกู เป็นของอร่อยของกู เด็กก็ถูกสอนแต่ว่าแม่ของกู พ่อของกู พี่ของกู บ้านของกู เรือนของกูนั่น แล้วก็สอนละเอียดเป็นว่าเกียรติยศของกู อะไรของกูนี่ นี้ก็เรียกว่าพอกพูนความเคยชินของการยึดถือตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องแม่จนอายุเดี๋ยวนี้ ๓๐ ปี ๔๐ ปีอะไร มันพอกหนาเหลือที่จะหนา
ความเคยชินในการที่จะยึดถือนั่นแหละคือ สังโยชน์หรืออนุสัยน่ะ ที่เรียกว่าอนุสัยหรือสังโยชน์ เติมเข้าไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็ไม่ได้มากมายอย่างนี้ แต่ว่าเพิ่มเข้าไปเรื่อย วันหนึ่งๆมันเพิ่มไม่รู้กี่สิบครั้งกี่ร้อยครั้งนะวันหนึ่งๆนี่ ตั้งแต่อ้อนแต่ออกมาจนบัดนี้มันก็หนาปึกเลย เป็นความเคยชินแห่งการที่จะเกิดความยึดมั่นถือมั่น สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามราคะ, ปฏิฆะ, รูปราคะ, อรูปราคะ มันเริ่มด้วยเรื่องตัวกูของกูทั้งนั้นนะ ทั้ง ๑๐ สังโยชน์นั้นน่ะมันเรื่องๆตัวกูของกู เขาเรียกไอ้ความเคยชินของกิเลสนี้ว่า อนุสัยหรือสังโยชน์ แต่บางคนไปเรียกว่านี้คือกิเลสละเอียด ผมไม่เห็นด้วย แล้วก็จะไม่เรียกอย่างนั้น ทั้งที่เมื่อเรียนนักธรรมครูก็สอนผมอย่างนั้น ผมก็เคยเข้าใจอย่างนั้น แล้วก็สอนผู้อื่นอย่างนั้น ว่ากิเลสชั้นละเอียดเขาเรียกว่าอนุสัย สังโยชน์ นอนเนื่องอยู่ในสันดานตลอดกาลนี้ บ้าเลย คือเป็นสัสสตทิฏฐิไปเลย ถ้าไปสอนอะไรนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ไม่มีเกิดดับอย่างนี้มันบ้าเลย มันเป็นสัสสตทิฏฐิ ทีนี้ไอ้ความเคยชินของกิเลสมันทำให้เกิดได้ทุกที เกิดได้เร็ว เกิดได้ทุกที เราทำลายความเคยชินนี้เสียก็คือตัดสังโยชน์ ตัดอนุสัยเสีย เพราะฉะนั้นเราเป็นอยู่ให้ถูกต้องตามการขอร้องของพระพุทธเจ้า ภิกษุเหล่านี้จักอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เป็นอยู่ชนิดที่ไม่เผลอไปจับฉวย
เอาแล้ว คุณสรุปความเอาเองกันได้ว่า ไอ้ตัวกูของกูเกิดน่ะ เกิดเพราะมันไปจับฉวยอะไรเข้า ถ้าเช่นนั้นไม่มี ไม่มีตัวกูของกู จับฉวยทางเสียง ทาง เอ่อ, ทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรสอะไรก็ตามที่มันเกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นมา เกิดตัวกูของกูมันก็เกิด คือๆการจับฉวยอะไรเข้า ทีนี้เราป้องกันไม่ให้เผลอไม่ให้เกิดอยู่ตลอดเวลาก็เป็นพูดได้ว่ามันก็เป็นอยู่ชอบ ดำรงตัวอยู่ชอบ การทำเพียงอย่างนี้มันป้องกันไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ทำความดีให้เกิดขึ้น รักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วนะ ด้วยการทำอยู่อย่างนี้นะ เพียงระวังอย่างเดียวไม่ให้ตัวกูเกิดนี่ มันจะเป็นไอ้ความเพียรครบทั้ง ๔ อย่าง มันประคับประกับกันอยู่ในตัวเลย
เราจะไม่จับฉวยอะไรนี่มาเป็นตัวกูของกูนี่ นั่นแหละคือเป็นไอ้สังวรปธาน ปหานปธาน ภาวนาปธาน อนุรักขนาปธาน อะไรอยู่ๆตลอดเวลา หรือจะไปยกหมวดธรรมข้อไหนมาก็ตามใจ มันสรุปได้อยู่ที่ว่าถ้าฝ่ายถูก ฝ่ายละกิเลส ฝ่ายจะทำลายกิเลสแล้วมันก็อยู่ที่ตรงนี้ มีสติไม่ให้เกิดตัวกูของกู ทีนี้ถ้าฝ่ายผิด ฝ่ายที่จะมีทุกข์ ก็เผลอสติเกิดตัวกูของกู ฉะนั้นก็เพื่อจะประหยัดเวลาของทุกๆคนน่ะจึงสอนให้สนใจเรื่องนี้ ไม่ต้องไปเรียนพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ มันจะบ้าตายเสียก่อน คนโง่ๆ ไปเรียนพระไตรปิฎกให้ตลอดแปดพันสี่ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้นมันเป็นบ้าตายเสียก่อนน่ะ ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ แต่ว่าถ้าเอาหัวใจของพระไตรปิฎกหัวเดียวนี่มาปฏิบัติคืออย่างนี้ มันก็ได้ทุกคน ได้ทุกคน แม้คนที่โง่ไม่รู้หนังสืออ่านหนังสือไม่ออกมันก็ปฏิบัติได้ เรื่องหัวใจของพระไตรปิฎกก็เอามาพูดให้ฟังแล้ว พระพุทธเจ้าท่านสรุปไว้เองว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเรา นี้หัวใจพระไตรปิฎก เดี๋ยวนี้เราก็กำลังปฏิบัติตามหัวใจของพระไตรปิฎก เป็นอยู่โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเลยว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา ก็แปลว่าคนไม่รู้หนังสือ ไม่เคยเห็นตู้พระไตรปิฎกเลยกลับมีพระไตรปิฎก กลับมีพระไตรปิฎกที่แท้จริงปฏิบัติอยู่ในของเขา ทีนี้เปรียญ ๙ ประโยคที่เรียนอะไรเยอะแยะแล้วลูบคลำพระไตรปิฎกอยู่ทุกวัน กลับไม่มีพระไตรปิฎกอยู่ในตัวเขา ที่เรียกว่าโมฆะบุรุษ กำมือเปล่าอะไรอย่างนี้
เพราะฉะนั้นพระธรรมนั้นมันไม่ใช่พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกไม่ใช่พระธรรม พระธรรมคือไอ้จิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าเป็นตัวกูของกูนี่ ทีนี้ก็ไปดูไอ้ภาพรูปเต่ามีหนังสือบนหลังที่ฝาผนังนี้อีกทีหนึ่ง ไอ้สมุดเล่มนั้นมันไม่ใช่พระธรรม ไอ้ตัวเต่าที่ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเหมือนกับหูหนวก ตาบอด เป็นใบ้นั้นแหละ นั่นน่ะคือตัวพระธรรม ก็เลยมันอยู่ในวิสัยที่คนๆปรกติธรรมดาจะศึกษาได้ ปฏิบัติได้ และได้รับผล คือพระธรรมนี่อยู่ในวิสัยที่คนธรรมดาทุกคนจะปฏิบัติได้และได้รับผล
ส่วนอภัพบุคคล เป็นบ้า เป็นใบ้ หูหนวก ไอ้ เป็นบ้าใบ้หรือคนอยู่ตรงนั้นมันก็เป็นอภัพบุคคล มันก็ไม่ได้แน่ ปฏิบัติไม่ได้แน่ แต่ถ้าเป็นคนปรกติธรรมดาแล้ว แม้จะเรียกว่าคนทึบ คนโง่ คนอะไรก็ต้องปฏิบัติได้ไม่ช้าก็เร็ว ศึกษาแต่เรื่องนี้แหละ เรื่องว่าพอไปมีตัวกูของกูเข้า ไปมีความทุกข์ รู้จักเข็ดขยาด ไม่ไปจับไม่ไปฉวยเอามาเป็นความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ และให้ปฏิบัติไปในทางที่ตรง จริงตามธรรมชาติว่าอย่าไปกำเข้า อย่าไปจับเข้าเท่านั้นเอง
ทีนี้ก็อยากจะพูดให้เลยไปถึงคำที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ที่มันเนื่องกันและอาจจะเข้าใจผิดได้ เช่นคำว่า วิราคะ วิราคะแปลว่าคลายกำหนัด ปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมะได้ที่ถึงสัจจานุโลมิกญาณ ได้เกิดวิราคะ เบื่อหน่ายคลายกำหนัดอย่างนี้ นี่หรือจะเข้าใจว่าคลายมือที่กำว่าตัวกูของกู วิราคะ เบื่อหน่ายคลายกำหนัดนั่นมันก็คลายไอ้ที่ว่านี้ นิสัย สันดาน ความเคยชินแห่งการจับฉวยนี่คลายออก มันคลายออกอย่างๆๆแท้จริงทีนี้ เช่นปฏิบัติอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ไปถึงหมวดสุดท้ายคือ วิราคา อ่า, อนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี นี่คือมีสิ่งที่เรียกว่าวิราคะ เห็นความคลาย คลายออกอยู่เป็นประจำ นี่นิสสัยหรือสังโยชน์ อ่า, อะ อนุสัย นิส นิสสัย หรือความเคยชินที่จะจับฉวยนั้นมันคลายออก ก่อนนี้มันยังไม่ได้มีอาการที่เรียกว่าคลายออกอย่างแน่นอน จางออกอย่างแน่นอน มันยังย้อมแน่นอยู่ ติดแน่นอยู่ มันไม่ได้ ไม่ได้ใช่ว่าวางมือของการจับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นรายๆที่นี่ไม่ใช่ มันคลายออกแห่งนิสสัยส่วนลึก นิส สันดานส่วนลึก ความเคยชินส่วนลึกที่จะไปจับฉวยเอารูป เสียง กลิ่น รสอะไรว่าเป็นตัวกูของกูนั้นน่ะออก
ฉะนั้นคำว่าวิราคะก็แปลว่าความคลายออก จางออกของความเคยชินในการที่จะจับฉวยเอาเป็นตัวกูของกู ในขณะนั้นท่านใช้คำว่า จิตหลุดพ้น ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน พระบาลีต้องมีอย่างนี้เสมอทุกสูตร จิตหลุดพ้น ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ตอนนี้เรามักจะพูดคล้ายๆว่า ปล่อยวางแล้วโว้ยๆ พูดเป็นภาษาชาวบ้านภาษาคนธรรมดานี่ว่าปล่อยวางแล้วๆโว้ย ที่จริงว่าจิตหลุดพ้นจากความ จากอุปาทานน่ะ หลุดพ้นเราก็ไม่ยึดมั่นในอุปาทานอีกต่อไปนี่ ถามว่าหลุดพ้นจากอะไร จิตหลุดพ้นจากอะไร ก็หลุดพ้นจากบ่วง จากห่วง จากเครื่องผูกมัด อะไรคือความผูกมัดหรือบ่วง ก็คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสนั่น ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสทั้งหมดนั้นแหละ นั่นน่ะคือบ่วงคือห่วง
จิตหลุดพ้นมาจากสังสารวัฏ ก็คือการที่จะวนเวียนอยู่ในการเกิดกิเลสนี้ หลุดพ้นออกมาได้จากสังสารวัฏ จากห่วงของกิเลส จาก อ่า, คือจากความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ไม่ได้ติดมั่นในสิ่งใดอยู่ด้วย อุปาทานเลย กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน อุปาทานอันไหนก็ตาม ไม่ได้ยึดมั่นสิ่งใดด้วยอุปาทานเลยและอีกต่อไป นี่คือความหลุดพ้น
ใครจะไปๆปล่อยจิตได้หรือว่าจิตจะปล่อยอะไรได้ แต่ว่าการปฏิบัตินี้มันอบรมบ่มจิตมาถึงขนาดที่เดี๋ยวนี้มันถูกทำลายไอ้ความเคยชินที่ยึดมั่นถือมั่น จิตที่ได้รับการอบรมเจริญมากถึงขนาดนี้แล้ว ถึงจุดๆหนึ่ง ถึงอันดับหนึ่งจุดหนึ่งมันเกิดคลาย เกิดคลายตัวออกมาจากการที่เคยชินกับการยึดมั่นถือมั่น ทีนี้เมื่อคลายออกมันก็คือหยุดหรือดับหรือสลายไปในที่สุด เขาจึงมีว่า นิโรธานุปัสสี ดับกิเลสดับทุกข์ ปฏินิสสัคคานุปัสสี สลัดคืนสิ่งทั้งปวงที่เคยยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็คือสลัดตัวกูของกูออกไปโดยสิ้นเชิง ทางที่จะเกิดตัวกูของกูไม่มีอีกต่อไป ก็เรียกว่าปฏินิสสัคคานุปัสสี สลัดไอ้สิ่งที่เคยยึดเป็นตัวกูของกูออกไป ถ้าพูดให้ถูกกว่านั้นก็คือสลัดความเคยชินที่จะยึดอันใดว่าเป็นตัวกูของกูนี้ออกไป ไม่มี ไม่อาจจะมีการยึดถือเป็นตัวกูของกูได้อีก มันก็จบเรื่อง นั่นน่ะเรื่องมันจบลงที่หมดความเคยชินหรือความผูกพันอยู่ในความเคยชินที่จะจับฉวยเอาสิ่งใดมาเป็นตัวกูของกู นี่เขาเรียกว่ามันหลุดพ้น จิตมันหลุดพ้น พูดสั้นๆ จิตหลุดพ้น
ถ้าพูดถึงเหตุว่าหลุดพ้นจากกิเลส ถ้าพูดถึงผลก็หลุดพ้นจากความทุกข์ ถ้าพูดว่าพ้นจากกิเลสก็หมายความว่าหลุดพ้นจากไอ้สิ่งผูกมัดของความเคยชินที่จะเกิดกิเลส มันก็เกิดกิเลสไม่ได้ เมื่อกิเลสไม่เกิดได้ ความทุกข์ก็ไม่เกิดได้ ฉะนั้นจึงพ้นจากกิเลสและความทุกข์เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานอีกต่อไป
นี่ก็พูดมาตั้งยืดยาวนี้ก็เพื่อจะอธิบายคำพูดเพียงคำเดียวว่า อย่าไปจับ เพราะฉะนั้นขอให้ถือว่าไอ้พรหมจรรย์ การปฏิบัติพรหมจรรย์ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคมีองค์ ๘ อะไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นน่ะมันมีใจความสำคัญ มีหลักเป็นหัวใจอยู่ก็คือว่าจะอยู่เฉยๆไม่ไปจับ อยู่เฉยๆนี้มันอยู่ด้วยสติปัญญา มันจึงจะอยู่เฉยได้ ถ้าไม่มีสติปัญญามันอยู่เฉยไม่ได้ มันไปจับ ไอ้อยู่เฉยนี้หมายความว่ามันอยู่ได้ด้วยสติและปัญญา
ปัญญาคือความรู้ สติคือการดึงเอาความรู้มาใช้ทันควัน อยู่ด้วยสติปัญญานั่นน่ะคืออยู่เฉยๆ อยู่ในมรรคมีองค์ ๘ นั่นน่ะคืออยู่เฉยๆ หรือว่าอยู่อย่างไม่จับอะไรมาเป็นตัวกูของตัวนี่คืออยู่เฉยๆ ถ้าเราอยู่เฉยๆอย่างนี้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ เพราะว่าผู้ที่อยู่เฉยๆอย่างนั้นกิเลสไม่ได้กินอาหาร ไม่ได้กินอาหารเป็นวันเป็นคืนเป็นเดือนเป็นปี ผอมลงๆ คือสูญเสียไอ้ความเคยชินที่จะ จะเกิดตัวกูของกูไปทีละนิดๆๆ
ฉะนั้นขอให้คุณจำไอ้คำบรรยายวันนี้ว่า เราพูดกันเสียใหม่ให้ถูกต้องว่าอย่าจับ แทนที่จะพูดว่าจงปล่อยนะ จะพูดว่าอย่าจับ คืออยู่อย่างไม่จับ ทีนี้หัวข้อชื่อเรื่องคำบรรยายวันนี้ก็ชื่อว่า “อย่าจับ ก็ไม่ต้องปล่อย” อย่าไปจับ มันก็ไม่ต้องปล่อย ก็ขอฝากให้ทุกคนเอาไปสังเกตพินิจพิจารณาดูว่าข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่จริงเกี่ยวกับกล กลไกในจิตในใจนี้มันเป็นอย่างไร แล้วมันควรจะพูดว่าอย่างไร บางทีจะได้ไปช่วยกันพูดจาให้เพื่อนฝูงมากมายเข้าใจไอ้คำพูดเหล่านี้เสียให้ถูกต้อง อย่าให้คำพูดมันเล่นตลกหลอกลวงจนเวียนหัวจนไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร หรือปฏิบัติไม่ได้
เอาแล้ว สรุปความว่าอยู่โดยไม่ๆๆๆจับ มือนี้อย่าไปจับอะไรเข้า แล้วก็ไม่ต้องปล่อย มันปล่อยอยู่ในตัวตลอดเวลา ไม่จับนั่นน่ะคือปล่อยอยู่ตลอดเวลา สามารถรักษาความเป็นประภัสสรของจิตไว้จนถึงขั้นที่มันเด็ดขาดลงไป กิเลสครอบงำไม่ได้อีก นั่นแหละพอกันที.