แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๑๒ เป็นวันที่ ๓๖ ของระยะการเข้าพรรษา การบรรยายในวันนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า การเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ซึ่งเป็นการรวบยอดของการบรรยายครั้งที่แล้ว ๆ มาหลายครั้งด้วยกัน ก็ได้พูดกันถึงการทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง การยกผลงานให้ความว่างทุกอย่าง การกินอาหารจากพลังของความว่าง การรู้จักตายให้เกิดเสียในตัวแต่หัวปี และได้พูดมากที่สุดถึงเรื่องความตาย เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความไม่ตาย แล้วก็ความปนกันยุ่งโดยโวหารที่ใช้พูดจาอยู่ในโลกนี้ หรือโดยเฉพาะในวงของพุทธบริษัท ซึ่งบางคราวหรือบางพวกก็พูดอย่างโวหารชาวบ้านในภาษาคน บางคราวก็พูดโวหารพระอริยเจ้าหรือผู้รู้โดยภาษาธรรม มันจึงเกิดการสับสนแก่ผู้ที่ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน แล้วก็มาฟังคราวเดียวพร้อม ๆ กัน หรือว่าผู้พูดพูดด้วยภาษาธรรม ผู้ฟังฟังด้วยภาษาคน บางทีก็พูดด้วยภาษาทั้งสองนั้น แม้แต่ในพระพุทธภาษิตเอง บางคราวพระพุทธเจ้าก็ตรัสด้วยภาษาธรรมดาสามัญ บางคราวก็ตรัสด้วยภาษาสำนวนโวหารตามวิธีพูดซึ่งอยากจะพูดชนิดนั้น ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง เช่น เพื่อสะดุดใจ เพื่อเร้าความสนใจ เพื่อจำง่ายก็ดี แม้ที่สุดก็เพื่อตอบคำถามที่เขาถามมาด้วยโวหารชนิดนั้นก็มีอยู่มาก เหมือนเรื่องเมื่อวานนี้ที่ว่าด้วยการอยู่เหนืออำนาจของความตาย เป็นปัญหาที่มีผู้มาถาม
ทีนี้เดี๋ยวนี้เราอยากจะตัดบท หรือว่าอยากจะรวบเอาใจความทั้งหมดมาพูดเป็นคำ ๆ เดียวหรือเป็นเรื่องเดียว คำว่าเป็นอยู่ด้วยจิตว่างนี้ก็เป็นโวหาร เป็นสำนวนโวหาร แล้วก็เป็นสำนวนโวหารประเภท negative คือมันไม่มีอะไร หรือไม่เอาอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เป็นอะไร ตรงกับบรรทัดสุดท้ายของคำกลอน ๔ บรรทัดนั้นว่า ตายเสียก่อนตาย ถ้าเข้าใจดีเรื่องตายเสียก่อนตาย ก็เข้าใจได้ทันทีเรื่องเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง แต่มันเนื่องจากเป็นคำพูดของชาวบ้านพูดกันสืบ ๆ กันมา สอน ๆ สืบ ๆ กันมา เรียกว่าเป็นสมบัติของชาวบ้านนอกด้วยเหมือนกัน คือคนแก่แต่โบราณแถวนี้ถิ่นภาคนี้รู้จักพูดประโยคนี้ ซึ่งก็นับว่าสนใจ นับว่าน่าสนใจที่สุด หรือถ้าพูดอย่างชาตินิยมก็รู้สึกว่ามันเป็นเกียรติยศสูงสุดของมนุษย์บ้านนอกแถบนี้ถิ่นนี้ ที่รู้จักพูดว่า งาม ความงามอยู่ที่ซากผี ความดีอยู่ที่การเสียสละ ความเป็นพระอยู่ที่ความจริง นิพพานอยู่ที่ความตายเสียก่อนตาย ไอ้บรรทัดสุดท้ายที่ว่า นิพพาน คือ ตายเสียก่อนตาย เป็นคำที่สำคัญที่สุดเพราะว่าเป็นของคนบ้านนอก ภาคใต้ ถ้าใช้คำว่าภาคใต้น่าจะดีกว่า พูดด้วยสรุปข้อความทั้งหมดในพระพุทธศาสนาออกมาได้อย่างนี้ เมื่อฟังดูถึงคำที่พูดก็ดูคล้ายกับว่าอุตริพูด พูดอย่างอุตริ พูดอย่างเล่นลิ้น ยิ่งคนสมัยนี้ยิ่งฟังยิ่งมีความรู้สึกว่าพูดอย่างเล่นลิ้น พูดอย่างอวดดี อวดรู้ ทำนองนั้น แต่ถ้าเป็นอย่างสมัยโบราณแล้วก็จะเป็นการพูดที่ดี ที่สุภาพ ที่ธรรมดาสามัญ ไม่ใช่เล่นลิ้น เพราะคนมันผิดกัน คนมันผิดกันระหว่างคนสมัยนี้คนเดี๋ยวนี้ที่มีการศึกษาอย่างนี้ กับคนสมัยโน้นที่มีการศึกษาอย่างโน้น เป็นอยู่อย่างโน้น
ไหนจะพูดแล้วก็ขอพูดอีกหน่อยให้ตลอดว่า การที่พูดว่า ความงามอยู่ที่ซากผี มันไม่ใช่เล่นลิ้นหรือประชดใครคนหนึ่ง มันเป็นการสรุปคำแนะนำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าชนิดที่ให้ดูอะไรให้ลึก มีความหมายลึก ไอ้งามอยู่ที่ซากผีมันก็ตรงกันข้ามกับงามอยู่ที่ไอ้เขียว ๆ แดง ๆ สวย ๆ อย่างที่เขางาม ๆ กัน ก็จะท้าวว่า นี่มันงามกว่า ที่ซากผีนี่มันงามกว่า มันจริง มันมีประโยชน์ หรือมันน่าดูกว่า ไม่หลอกลวงในความงามที่มนุษย์กำลังหลงบูชากันด้วยการประดับ ตกแต่ง ฉาบย้อม หรือที่พูดว่าดีอยู่ที่เสียสละ อยู่ที่สละนี่มันเป็นคำพูดที่ถูกที่สุด แต่มันไม่ตรงกับที่คนเดี๋ยวนี้เขาถือว่าดีหรืออยากจะดี คือเอาหรือได้ คนเดี๋ยวนี้ถือว่าได้คือดี คนพวกโน้นพูดว่า ดีอยู่ที่ไม่เอา ไม่รับเข้ามา หรือเสียสละออกไป นี่พระอยู่ที่จริง ก็หมายความว่า อย่าเอาพระที่ห่มเหลือง ๆ นุ่งห่มเหลือง ๆ โกนหัวอยู่ตามวัด ให้เอาพระอยู่ที่จริง คือพูดจริงทำจริง อะไรก็จริงไปหมด พระอยู่ที่จริง แล้วก็มาถึงนิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย เมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ หรือใครก็ได้ ก็สามารถที่จะตายเสียก่อนตาย หรือว่าเป็นปัญหา หรือว่าเป็นคำตอบพร้อมกันอยู่ในตัวในคำพูดนั้น แล้วจะทำยังไงได้ก็ทำสิ ทำให้มันเหมือนกับว่าตายแล้วตั้งแต่ก่อนเข้าโลง ก่อนถูกจับใส่โลง แล้วก็เดี๋ยวนี้ ที่นี่ เวลานี้ ตายแล้ว มันก็เป็นภาษาที่ประหลาดที่สุด ลึกซึ้งที่สุด หรือว่าน่าสนใจที่สุด เพราะเขายืนยันอยู่ว่า ตายเสียก่อนตายนี่ หมายความว่ามีชีวิตอยู่ คือต้องอยู่เพื่อประโยชน์แก่กัน เสวยความสุขของนิพพาน ก็อาจจะมีคนบางคนที่โง่เกินไปเลยคิดว่าให้ฆ่าตัวตายเสีย ก่อนแต่จะถึงเวลาตายจริง แต่แล้วก็ไม่มีใครกล้าทำ เมื่อเขาไม่เข้าใจอย่างถูกต้อง มันก็เกิดความคิดว่า ไอ้คนนี้สอนอย่างนี้ มันก็ประณามไอ้คนนี้ว่าเป็นคนบ้า ก็ไม่สนใจคำพูดของคนบ้า มันก็ไม่ต้องถึงกับไปฆ่าตัวตาย แม้ว่าจะมีคนหัวอ่อน เชื่อง่าย ศรัทธาจริง ๆ ฟังผิดความหมายแล้วคิดจะฆ่าตัวตาย ก็คงหายาก มันก็นอกจากคนบ้าอีกเหมือนกัน หรือต้องคิดตีปริศนา เรียกว่าตีปริศนา ไขปริศนา แก้ปริศนา เหมือนกับคิดลายแทง ว่าตายเสียก่อนตายนี่มันทำยังไงกันหว่า ก็คิดอยู่เรื่อยไป ในที่สุดก็พอจะเข้าใจได้ ขอให้มองเห็นไปอย่างหนึ่งว่า มนุษย์เราถิ่นหนึ่ง ๆ มันก็มีอะไรของตัวเป็นแบบฉบับของตัวในการคิด การพูด การทำ หรือการสอน สำหรับภาคนี้ก็มีอยู่อย่างนี้ที่คนโบราณพูดมา ภาคอื่นก็มีอยู่อย่างอื่น แม้ภาคอีสานก็มีอย่างสูงสุดที่ทัน ๆ คำพูดชนิดนี้ ในเรื่องประจำถิ่นของเขาซึ่งเคยเอามาพูดกัน อธิบายกันอยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน เขาเรียกว่าชุดเสือสวาท คือคนพูดจาซักถามกัน
ก็ทีนี้เราอยากจะพูดถึงเรื่องตายเสียก่อนตาย ซึ่งเป็นสมบัติของมนุษย์ภาคใต้ สร้างขึ้น ประดิษฐ์ขึ้น เป็นที่สรุปรวมของพระพุทธศาสนาทั้งหมดว่า สอนให้ตายเสียก่อนตาย ให้รู้จักตายเสียก่อนตายเท่านั้นเอง ไม่ต้องอธิบายอะไรกันอีก ถ้าทำได้มันก็ให้ผล ก็รู้จักประโยชน์ของมันทันที เพราะคนที่เป็นอยู่อย่างตายแล้วนี่ มันเป็นอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร ทีนี้มันเป็นสำนวนโวหารที่ขอให้จับหลักให้ได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าพูดเป็นสำนวนโวหารแบบนี้แล้วก็จะอยู่ในรูป negative เสมอเพราะว่าพูดอย่าง positive มันเป็นเรื่องตรงไปตรงมา มันก็ไม่เป็นปริศนา ไม่เป็นสำนวนโวหาร ถ้าจะพูดอะไรให้เป็นปริศนา ให้เป็นสำนวนโวหารลึก มันก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่พูดในรูป negative คือกลับตรงกันข้ามกันอยู่กับความรู้สึกตามธรรมดา เป็นเรื่องปฏิเสธสิ่งที่คนธรรมดาสามัญต้องการหรือพูดถึง ฉะนั้นการจะตีความปริศนาอะไรลึก ๆ ของคนโบราณ ก็ต้องรู้เอาไว้ก่อนเสียว่า เขาพูดอยู่ในรูป negative ต้องกลับเป็น positive แล้วเล็งหาความหมายของมันได้ง่าย
เขาว่าตายเสียก่อนตายเป็นโวหาร negative หรือโวหารที่พระพุทธเจ้าทรงใช้อยู่มากที่สุด ที่เกี่ยวกับนิพพาน เช่น พุทธภาษิตที่มีชื่อมากชื่อ อัฏฐิภิกขเว ตถายตนัง เป็นพุทธภาษิตยืดยาว แล้วก็ล้วนแต่คำว่าไม่ ไม่ ไม่ ไม่หมดเลย ในบรรดาที่มนุษย์รู้จักกันอยู่แล้ว ก็ปฏิเสธหมด ไม่ ๆ ๆ แล้วก็ทิ้งไว้ให้หาเอาเองว่าคืออะไร เมื่อไม่ ๆ ๆ หมด ทุกอย่างตามที่มนุษย์รู้จัก ทำกันอยู่ ถ้าปฏิเสธออกไปได้หมดจริง ๆ มันก็จะเหลืออยู่แต่สิ่งที่ต้องการจะพูด ที่พระองค์ต้องการจะพูด แล้วให้พบสิ่งนั้นด้วยวิธีที่ปัดทุกสิ่งออกไปเสียก่อน นี่เป็นวิธี เป็นหลักการหรือเป็นวิธีการที่พูดเรื่องนิพพาน คำว่านิพพานมันจึงอยู่ในรูปของ negative เป็นประจำ พูดว่าที่สุดแห่งความทุกข์ พูดว่าดับสนิท ไม่มีอะไรเหลือ พูดว่าไปหมดจากโลกหรือเหนือโลก ไม่เกี่ยวกับโลก ไม่ใช่ตัวตน ว่างเปล่า มันเป็นรูป negative หมดอย่างนี้ นี่ผู้ฟังก็มาหาเอาเองว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วได้อะไร มันก็มี ผลมี ไม่ใช่ว่างไปเฉย ๆ หลังจากการเข้าถึงสิ่งนี้แล้วมันก็มีผลกับจิตใจอย่างไร ไอ้ผลนี่เป็น positive เพราะเป็นเรื่องได้ เป็นเรื่องกลับมา เป็นเรื่องเอาได้ เป็นผลได้
ที่ว่าตายเสียก่อนตาย ตายให้เสร็จเสียก่อนตายนี้ คือการเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง เอ้า, คุณลองตายเสียก่อนตายตลอดเวลา ตายอยู่ตลอดเวลาสิ นั่นคือการเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ตายคือไม่มีตัวกูของกู เรียกว่า จิตไม่ได้ยึดถืออะไรอยู่ เรียกว่าจิตว่าง มาขอย้ำขอเตือนกันเสมอว่าอย่าเอาไปปนกับว่างอันธพาลของพวกอันธพาล ซึ่งมีอยู่หลายแขนง ต้องว่างตามแบบของพระพุทธเจ้าหรือตามแบบของพุทธศาสนาที่มีหลักว่า เธอจงมีสติมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด เห็นโลกทั้งหมดโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด จิตไม่ไปมั่นหมายอะไร มันก็ว่างจากความมั่นหมาย จากความมี ความได้ ความเป็น ด้วยความมั่นหมาย อย่างนี้เรียกว่า เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง เพราะว่าเป็นอยู่นั่นคือมีชีวิต พูดอีกทีว่ามีชีวิตด้วยจิตว่าง ให้ทุกคนมีชีวิตด้วยจิตว่าง นี่เป็นคำพูดที่คนอันธพาล พวกอันธพาลฟังไม่ถูก ก็เลยมี concept ของตัวเองขึ้นมาใหม่เป็นเรื่องจิตว่างอย่างอันธพาล ทีนี้เห็นว่ามันขัดกัน ที่เขาพูดอยู่ก่อนก็เลยถือเอาเป็นเรื่องที่ต้องคัดค้าน ต้องแย้ง หรือต้องล้อเลียน เพื่อประโยชน์ของตัว ดังนั้นคอยสังเกตดูให้ดีว่า จะพูดว่าตายเสียก่อนตายก็ได้ จะพูดว่ามีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างก็ได้ ผลมันเท่ากัน มันเป็นการทำให้ negative กับ positive เป็นอันเดียวกัน พูดว่าตายเสียก่อนตายเป็น negative พูดว่ามีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างมันก็เป็น positive ได้ เพราะว่ายังมีชีวิตอยู่แบบหนึ่งอันเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง แต่แล้วก็อย่าลืมว่าพุทธศาสนา เป็นหลักของพุทธศาสนา หรือปรัชญาของพุทธศาสนาอะไรก็ตาม อยู่เหนือความเป็น positive หรือ negative ดังนั้นในบางคราวจึงพูดอย่างวิธี negative ในบางคราวจึงพูดอย่าง positive แล้วก็อยากจะพูดกับใคร ที่ไหน เวลาใด ด้วยเรื่องอะไร ที่เหมาะสมแก่ผู้พูด การเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง จะแปลเป็น negative ก็ได้ จะแปลเป็น positive ก็ได้ แต่ถ้าว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ความตายแล้ว คนก็บัญญัติกันว่าเป็น positive
ทีนี้ผมจะพูดในรูปของ positive คือเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง บ้าง เสียบ้าง ซึ่งมีวิธีพูด หรือมีคำที่จะใช้พูดมากอยู่เหมือนกัน เช่น การที่จะพูดว่าเป็นอยู่ด้วยจิตว่างหรือเป็นอยู่เหมือนตายแล้วนี่ เราพูดได้ใหม่ว่า เป็นอยู่ด้วยสติ ด้วยความรู้สึกตัว เป็นอยู่ด้วยสติ นี่ก็พูดได้ แต่มันสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าสตินั้นเหมือนกัน คนธรรมดาพูดกันสติ คือว่าไม่เผลอ ไม่ลืม ก็มีเท่านั้นเอง แต่คำว่า สติในพุทธศาสนา หมายถึง รู้ รู้ตลอด แล้วก็มีความรู้นั้นอยู่กับตัว เช่นพูดว่า มีสติ มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อ นี่คือมีสติที่แท้จริง มันก็ว่าสติในพระพุทธศาสนานั้นมันไปไกล มีความหมายกว้าง รู้สึกตัวในความถูกต้องของทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เสมอ เช่นรู้ว่าไม่มีอะไรควรยึดมั่นถือมั่น ถ้ารู้นี้อยู่เสมอ รู้สึกตัวอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นอยู่ด้วยสติ ถ้าขืนเป็นอยู่แบบนี้มันก็คือ เป็นอยู่ด้วยจิตว่างอยู่นั่นเอง เพราะสติที่รู้ ที่ถูกต้อง ที่สมบูรณ์อยู่เสมอนั้น มันรู้ในข้อที่ไม่มีอะไรที่ควรไปยึดมั่นถือมั่น แล้วมันก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้า มันก็จะมีจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่น จากตัวกูของกูนั่นเอง ถ้าจะพูดว่ามีชีวิตอยู่ด้วยสติ หรือว่าเป็นอยู่ด้วยสตินั้นก็ถูกต้องที่สุด เป็นพุทธศาสนาที่สุด ขอให้ใช้คำว่าสติให้ถูกต้อง จะใช้รวมกันว่า สติสัมปชัญญะก็ได้ จะใช้คำว่าสติคำเดียวก็ได้เหมือนกัน ถ้าพูดเต็มที่ก็ใช้คำว่า สติสัมปชัญญะ
สัมปชัญญะเล็งไปถึงความรู้ สัมปชัญญะ คือ อัญญะ ไอ้ชัญญะ นี่มันรู้ แล้วปะนั้น แปลว่า ทั่ว ไอ้สัมมันแปลว่า พร้อม ดูคำพูดที่มันมีความหมาย สัมปชัญญะ สัม หรือสัง แปลว่า พร้อม ไอ้ปะ มันแปลว่าทั่ว ชัญญะ แปลว่า รู้ สัมปชัญญะ แปลว่า รู้สึกตัวทั่วพร้อม แล้วก็ต้องถึงที่สุดด้วย ความรู้ถึงที่สุดก็คือรู้ว่าไม่มีอะไรควรยึดมั่นถือมั่น นี่สัมปชัญญะ รู้อย่างนี้ แล้วสตินี่ คุมความรู้อันนี้ไว้ได้ คือว่าระลึกถึงความรู้อันนี้ไว้ได้ทันที ทุกเหตุการณ์ นี่อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะ อย่างนี้เรียกว่า มีสติ ที่เป็นอยู่ด้วยสติอย่างนี้ มีชีวิตด้วยสติ อย่างนี้ใช้ได้เหมือนกัน มันก็มีผลอย่างเดียวกัน คือว่างจากการยึดมั่นถือมั่นอะไร แล้วเราก็เลยพูดได้ว่า เป็นอยู่ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น พูดเป็นสำนวนธรรมดาสามัญ แทนที่จะพูดว่า เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ก็พูดว่า เป็นอยู่ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น พอเป็นอยู่ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น จิตมันก็ว่าง ว่างจากความไปยึดมั่นถือมั่น หรือไปมี ไปเอา ไปเป็นอะไรเข้า ทีนี้ถ้าพูดว่าเป็นอยู่ด้วยจิตที่สะอาด สว่าง สงบ ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันก็ได้เหมือนกัน หรือยิ่งได้ไปอีก เพราะมันกว้าง เป็นอยู่ด้วยจิตที่สะอาด สว่าง สงบ ซึ่งเป็นใจความ หรือเป็นสัญลักษณ์ หรืออะไรทั้งหมดของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอยู่ด้วยจิตสะอาด คือจิตบริสุทธิ์ เมื่อสะอาดก็ต้องปราศจากกิเลส คือไม่ไปโง่ ไปหลงยึดมั่นถือมั่นอะไร หรือถ้าพูดว่า เป็นอยู่ด้วยจิตสว่าง ก็ต้องเป็นสว่างจริง ๆ คุณคึกฤทธิ์เขาชอบคำนี้ ไปพูดกันกับผมที่คุรุสภา ผมพูดว่า จิตว่างทุกคำ แต่คุณคึกฤทธิ์เขาเอาไปเขียนเป็นจิตสว่างทุกคำเหมือนกัน เอาไปออกรายการ (นาทีที่ 30:20) เพราะเขาชอบคำนี้มาก อยากให้ผมเปลี่ยนคำว่าจิตว่างเป็นจิตสว่าง ผมก็ไม่เปลี่ยน เพราะว่ามันไม่เป็น หรือไม่ตรงตามที่ผมต้องการ
ทีนี้ความสงบ เป็นอยู่ด้วยความสงบ มันก็ได้อีกเหมือนกัน อยู่ด้วยจิตที่สงบ ไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน ไม่กระเสือกกระสนไปที่ไหน มันสงบ แต่มันก็ต้องมีความหมายที่ถูกต้องอีกเหมือนกัน ไม่ใช่สงบกาย สงบ ไม่มีอะไรคิดลึก แม้แต่คำว่าสงบ พวกคุณฟังดูให้ดี มันมีความหมายที่พลิกแพลงได้ กลายเป็นเรื่องเล็ก ๆ เรื่องตื้น ๆ ไปก็ได้ เหมือนนอนสงบอยู่ในโลง คนสมัยนี้ที่ว่าฉลาดนั้นมักจะหมายความว่า ไอ้ความสงบก็คือไปนอนอยู่ในโลง เนื่องจากแปลไอ้คำที่พระสวดเวลามีศพผิด เตสังวู ปุสสะโมสุโข มันก็ล้อเป็น อุปปะสะโมสุโข นอนอยู่ในโลง ก็มักจะพูดมันเมื่อมีโลงศพวางอยู่ตรงหน้า แล้วก็สวดคาถานี้ นิจจาวัตตะสังขารา อุจจาธัมมิโน อุปชิตะวานุชันติ เตสังวู ปุสสะโมสุโข เลยเอาไปเป็นคำล้อ อุปัสสะโมสุโข หมายถึงนอนอยู่ในโลง แต่คำนี้ก็หมายถึง นิพพาน อุปัสสมะ หมายถึงนิพพาน หรือเป็นสุขอย่างยิ่ง เอาไปล้อว่า นอนในโลง เป็นสุขอย่างยิ่ง ทำเหมือนกับว่าสงบ มันก็ดิ้นได้มากอย่างนี้ มันไม่ได้เปรียบเสียเปรียบอะไรกัน จะพูดว่าสะอาด สว่าง สงบ หรือพูดว่าว่าง มันก็ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบอะไรกัน นอกจากว่าไอ้คำว่า ว่าง นั้นมันน่ากลัว มันอยู่ในรูป Negative ส่วนคำว่า สะอาด สว่าง สงบ นี่มันน่ารัก หรือว่าพอจะเล่นด้วยได้ เพราะมันอยู่ในรูป positive
นี่ตัวอย่างที่จะพูดได้มันมีหลายอย่างอย่างนี้ คือว่าเป็นอยู่ด้วยสติก็ได้ เป็นอยู่ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ เป็นอยู่ด้วยจิตที่สะอาด สว่าง สงบก็ได้ คืออาจจะสรุปขึ้นมาได้อีกสักคำหนึ่งก็ได้ว่า เป็นอยู่ด้วยปัญญา มีพระพุทธภาษิตอยู่มากเหมือนกัน ที่ยกย่องปัญญา สรุปอะไรลงไปในปัญญา ให้ปัญญาเป็นยอดของทั้งหมด ไอ้อื่น ๆ ก็จะลากจะถูกลากมาเอง ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ก็ขอให้เป็นปัญญาชนิดแท้จริง อย่าเป็นปัญญาเฉโก ตามที่ว่า ถ้ามันเป็นปัญญาที่แท้จริง มันก็เป็นปัญญาที่เห็นอันนี้อีก รู้อันนี้อีก คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่น จึงจะเป็นปัญญาที่แท้จริง มันก็เป็นอันเดียวกันกับความไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือความสะอาด สว่าง สงบ ถ้าใครชอบคำว่า ปัญญา ก็จงเป็นอยู่ด้วยปัญญา ก็ขอให้เป็นปัญญาจริง อย่าเป็นปัญญาของความหลอกลวง คือความไม่รู้เท่าแล้วคิดว่าปัญญา คือเป็นปัญญาที่เป็นทาสของกิเลส ฉลาดที่สุดในการที่จะทำไปตามความต้องของกิเลสเหมือนคนสมัยนี้ ปัญญาอย่างนั้นใช้ไม่ได้
เมื่อได้พูดว่า อะไรสักคำหนึ่งให้สั้นที่สุด ให้กะทัดรัดที่สุด ให้ลึกซึ้งที่สุด ก็อยากจะพูดว่า เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ใช้คำว่าจิตว่าง จึงได้พูดคำนี้ขึ้นมา นี้ไม่ใช่ว่าพูดเอาตามความพอใจหรือสะดวกใจของตัวเอง พูดจากบทสรุปทั้งหมดของพระพุทธศาสนาเรื่องสุญตา คือเรื่องความว่าง แม้จะมีคำสอนที่ชัดอยู่ว่า พุทธศาสนาสอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็มีการสรุปอยู่ในคำว่าสุญตา คือความว่าง ไอ้ว่างนี่ คือปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ก็ยังปราศจากอะไรทุกอย่างอีก โดยเฉพาะปราศจากผู้ยึดมั่นถือมั่น ปราศจากตัวสัตว์ตัวบุคคลผู้ยึดมั่นถือมั่นและที่จะถูกยึดมั่นถือมั่น มันเป็นคำคำเดียว พยางค์เดียวว่า ว่าง มันก็ดูขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ดี เป็นพยางค์เดียว
ทีนี้อยากจะแนะถึงคำว่าพยางค์เดียว คนโบราณในอินเดียวเขาชอบอะไร ๆ พยางค์เดียวนี่ เพราะว่าเขามีวิธีการอย่างนั้น โดยเหตุที่มันง่ายแก่การจำ การคิด การพูด การกระทำ แม้กระทั่งพิธีรีตอง หรือแม้แต่จะตวาดตัวเอง หรือจะตวาดภูตผีปีศาจมารร้ายที่ไหนก็ได้ ด้วยคำพูดเพียงพยางค์เดียว แต่ที่แพร่หลายที่สุด ที่รู้จักกันมากที่สุด ก็คือคำพูดว่า โอม เมื่อเค้าพูดว่า โอม นี่ ให้ร้องมาอย่างว่าช้างร้อง คือฟ้าผ่า คือแผดเสียงว่าโอม ก็ตะเพิดเสนียด จัญไรทุกอย่าง ภูตผีปีศาจทุกอย่าง กระทั่งตะเพิดตัวเองที่มันจะบ้า จะโง่ จะหลงอะไรขึ้นมา เขาใช้คำว่า โอม นี้ เป็นคำพูดพยางค์เดียว สำหรับเริ่มต้นพิธีรีตอง เริ่มอะไรทุกอย่างด้วย คำว่า โอม มันหมายความต่าง ๆ กันตามลัทธิศาสนานั้น ๆ แต่มันเป็นของฝ่ายพราหมณ์ ฝ่ายฮินดู รวมพระเจ้าทั้งหมดไว้ในคำว่า โอม พระพรหมผู้สร้าง พระอิศวร พระนารายณ์ผู้รักษา พระอิศวรผู้ทำลายล้างอะไรก็ตามนี้ รวมพระเจ้าทั้งหมดนี้ไว้ในคำว่า โอม จากการเปล่งเสียงที่สำคัญที่สุดคือสระ สระอะ สระอุ แล้วก็ อัง หรือ มะ มันจึงเป็นโอมออกมา ทีนี้พุทธศาสนา พุทธบริษัทเดินตามก้นพวกนี้ ใช้คำหยาบ ๆ กับตัวเอง เอาคำว่า โอม ในฝ่ายศาสนาพราหมณ์มาใช้เหมือนกัน โอม คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขึ้นมา บทสวดที่แต่งขึ้นใหม่ เรียกนะโม ๘ บท อะ อุ มะ อะ คือพระพุทธเจ้า อะระหัง อุ คือ พระธรรม อุตะโม มะ หมายถึง มหาพระสงฆ์ สังโฆ คือแจ้งว่า เพื่อให้มีโอมขึ้นมาในฝ่ายพระพุทธศาสนา มันใกล้ย้อนหลังเข้าคลอง ไปหาศาสนาฮินดู ด้วยเหตุที่อยากจะมีพยางค์ศักดิ์สิทธิ์สักพยางค์หนึ่ง ในพุทธศาสนาสำหรับใช้ทำพิธีรีตอง ตวาดเสนียดจัญไร ตวาดภูตผีปีศาจ ตวาดกิเลส ว่าโอมขึ้นมาบ้าง
พูดว่าคำ โอม เสียยืดยาว เพราะมนุษย์จะต้องมีอาวุธ เหมือนสายฟ้าฟาดสำหรับฟาดภูตผีปีศาจ มีคำว่าโอมขึ้นมา ทีนี้เมื่อเขาใช้คำว่าโอมแทนคำอะไรก็ตาม ก็ใช้คำว่า ว่าง สำหรับเป็นสายฟ้าฟาดทำลายภูตผีปีศาจ ทำลายกิเลสของตัว ตวาดตัวกูของกูให้มันหายหัวไป แล้วก็ไม่ใช่เป็นเหตุผลอะไรของผมหรอก เป็นของพระพุทธเจ้า คือคำว่าสุญตา หรือสุญโญ ว่างเปล่าจากตัวตน เลือกเอาคำนี้ขึ้นมาใช้ในลักษณะที่เขาใช้คำว่าโอมกัน นี่เพื่อให้เห็นว่าคำพูดพยางค์เดียวนั้นมันสำคัญอย่างนี้ มนุษย์ต้องการอย่างนี้ แล้วเราก็จะมีกับเขาบ้าง ก็จงใช้คำว่า ว่าง เถอะ สำหรับการปราบปรามข้าศึกศัตรู คือกิเลส หรือแม้แต่เริ่มต้นพิธีรีตองอะไรของพุทธศาสนา เขาใช้คำว่า โอม กัน เราใช้คำว่า ว่าง ฉะนั้นไอ้คำว่า จิตว่าง นี่มันจึงมีรากฐาน มีที่มา มีเหตุผล ที่จะพูดว่าจิตว่าง สำหรับเราซึ่งเป็นพุทธบริษัท การเป็นอยู่ด้วยความถูกต้องชนิดไหน ตาม ๔๐ ชนิดก็ตาม ขอสรุปไว้ในคำว่าเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง เป็นอยู่ด้วยจิตที่กำลังว่างจากความเดือดพล่านของตัวกูของกู ความคิดปรุงแต่งที่เรียก Concept ที่เป็นตัวกูของกูไม่มี นี่คือจิตว่าง
ทีนี้ก็อยากจะพูดต่อไปตามความตั้งใจที่จะพูดโดยหัวข้อว่า การเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง เพื่อให้เข้าใจดีออกไปอีก นี่ก็อยากจะตั้งหัวข้อตามวิธีของพวกเราพุทธบริษัท ตามวิธีในพุทธศาสนาที่เรียกว่ามีศัพท์ มี logic อะไรกับเขาด้วยเหมือนกัน เมื่อจะตั้งหัวข้อขึ้นศึกษาอะไร ปฏิบัติอะไร ก็ใช้หัวข้อที่มี logic ตามรูปของอริยสัจ ๔ ประการ คือหัวข้อว่าคืออะไร แล้วก็เพราะเหตุใด แล้วก็เพื่ออะไร แล้วก็โดยวิธีใด สำเร็จได้โดยวิธีใด ลองจำเอาไปใช้คงจะง่ายหรือไม่เสียหลาย หรือก็ไม่แพ้รัชดิก (นาทีที่ 44:24) รูปอื่น หรืออาจจะดีกว่า logic รูปอื่น คือมันไม่เฟ้อ มันไม่มากเกินไป ถ้าเรารู้ว่าคืออะไร แล้วก็เพราะเหตุใด แล้วก็เพื่ออะไร โดยวิธีใด แล้วก็เรียกว่าพอดี ไม่มากไม่น้อย คืออะไรก็ดูลักษณะ ดูอะไรของมัน พร้อมทั้งอะไรที่มันมีรวมอยู่ในนั้นว่ามันคืออะไร และเพราะเหตุใดนี่ว่ามันมาจากอะไร มันมาจากอะไร ถ้าเพราะเหตุใด เพราะเหตุใดจึงต้องทำ มันจะไปพ้องกับข้อที่ ๓ ที่ว่าเพื่ออะไร นี่มันไม่พ้องกัน คืออะไร แล้วก็มาจากอะไร แล้วก็เพื่อประโยชน์อะไรต่อไป แล้วก็สำเร็จตามนั้นได้โดยวิธีใด และถ้าจะถือไว้เป็นคำสั้น ๆ จำง่ายก็ว่าคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด
ไอ้เรื่องจิตว่างของเรานี้ มันก็มีหัวข้อที่ตั้งขึ้นสำหรับทำความเข้าใจกันได้ด้วยวิธีนี้ ถ้าถามว่าจิตว่างคืออะไร คุณก็อาจจะสรุปเอาได้เองจากที่พูด ๆ มาแล้ว ไอ้จิตว่างนี้คือจิตที่เป็นอิสระที่สุด ก็มีสมรรถภาพที่สุด และแคล่วคล่องว่องไวต่อหน้าที่การงานที่สุด ก็เอาอย่างนี้ หรือจะใช้หลักของสมาธิทั่ว ๆ ไป ไอ้หลักของคำว่าสมาธิทั่วไปคือว่า จิตสะอาด และจิตมั่นคง และก็จิตว่องไวในการงานหรือในหน้าที่ จิตสะอาดก็ชัดอยู่แล้วว่ามันไม่มีไอ้สกปรก เศร้าหมองอะไรรบกวน อย่างนี้เรียกว่า จิตสะอาด แล้วจิตมั่นคง คือมีอะไรมาเปลี่ยนรูปของมันยาก คือจะมีอะไรมากระทบกระแทกให้เปลี่ยนรูปมันยาก มันมั่นคง มันคงเป็นจิตแน่วแน่บึกบึนในนั้นอยู่ แล้วก็ว่องไวในหน้าที่ รวดเร็ว ว่องไวในการทำหน้าที่ของมัน ๓ อย่างนี้ เป็นความหมายของคำที่ว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็ทุกคนก็ต้องการลักษณะอย่างนี้ในชีวิตประจำวัน จะเอาลักษณะอย่างนี้มาใช้ก็ได้ กระผมอยากจะพูดว่าเป็นจิตที่เป็นอิสระก่อน แล้วก็เป็นจิตที่มีสมรรถนะ คือมีกำลังมาก แล้วก็มั่นคงด้วย แล้วก็เป็นจิตที่ไวที่สุดในหน้าที่การงานของมัน พร้อมเสมอ เหมาะสมเสมอ ในหน้าที่การงานของมัน นี่คือจิตว่าง มีอิสระ มีสมรรถนะ มีความไวในหน้าที่ ถ้าไปทำได้อย่างนี้ เรียกว่า มีจิตว่างอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ถามว่าจิตว่างคืออะไร ก็จำกัดความลงไปว่า จิตที่มีความเป็นอิสระ มีสมรรถนะ และมีความไวในหน้าที่การงานของมัน แล้วมันจึงไกลกันลิบ ห่างกันลิบ จากจิตว่างอันธพาล ไม่คิดไม่นึกอะไร หรือว่าคิดนึกอะไรในทางที่เป็นความต้องการของกิเลส ตามความพอใจของตัว ไม่มองหน้าใคร ไม่รับผิดชอบอะไร อย่างนี้มันเป็นอันธพาล หรือว่าว่าง ไปในชนิดที่เรียกว่า ไม่มีความหมายอะไรเลย เพื่อหาทางออก เพื่ออะไรง่าย ๆ รุ่น ๆ ไปตามลักษณะของผู้เอาเปรียบ
ทีนี้จิตจะเป็นอิสระอย่างไร ได้อย่างไร จะมีสมรรถนะหรือมีความไวได้อย่างไร เราก็พูดกันมามากแล้ว เราก็จะไปพูดในหัวข้อที่ ๔ ว่า ทำโดยวิธีใด มันจะเกิดอย่างนี้ขึ้นมา ในระยะแรกนี้เราจะระบุแต่เพียงลักษณะหรือภาวะของมันเท่านั้นว่าเป็นอย่างไร ทีนี้มันเนื่องจากอะไร ก็ตอบได้หลายอย่าง มันไม่ว่าง เพราะว่ามันมีความยึดมั่นถือมั่น มันว่างเพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น นี่หากก็แต่ว่าเนื่องจาก หรือเพราะเหตุที่อะไร ๆ อะไร ๆ ทุก ๆ สิ่งมันขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียว คือสิ่งที่เรียกว่าจิต นี่ก็เป็นหลักหรือเป็นหัวข้อพระพุทธศาสนาอันหนึ่งซึ่งคุณจะต้องจำไว้ หรือควรจะจำไว้ คือคำพูดที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าอะไรหมดมันขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิต พูดให้กะทัดรัดว่า ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับจิตเพียงสิ่งเดียว เราต้องเอาคำว่าจิตนี่มาเป็นหลักก่อน แล้วจึงระบุไปถึงคุณสมบัติที่เราต้องการสำหรับจิตนั้น
ดังนั้นเราจึงใช้คำว่าจิตว่าง ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิตนี้ก็ต้องอธิบายกันมาก หรือยืดยาวเหมือนกัน เราก็เคยอธิบายแล้ว อาจจะหาอ่านได้จากคำอธิบายที่พิมพ์ ๆ ไปแล้วก็มี แต่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าให้มองเห็นให้ชัดลงไปว่า อะไร ๆ มันสำเร็จอยู่ที่จิต จริง ๆ ขึ้นอยู่ที่จิตจริง ถ้าปราศจากไอ้จิตสิ่งเดียวแล้วก็ทั้งหมดมันก็เท่ากับไม่มี เพราะไอ้ที่สำคัญที่สุดมันก็คือความรู้สึกของจิตชนิดที่เป็นที่ตั้งแห่งความต้องการ ซึ่งว่าโลกนี้ทั้งโลกมันมีความหมายขึ้นมาก็เพราะว่ามันมีความรู้สึกแก่จิต ในทางดีก็ตามทางร้ายก็ตาม มันมีความรู้สึกแก่สิ่ง ๆ เดียวคือจิต มันจึงมีความหมายของคำว่าโลกขึ้นมา แล้วที่จิตมันต้องการก็คือไอ้การบำรุงบำเรอแก่จิตนั่นเอง ล้วนจึงต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ ทุกอย่างจึงไปสรุปอยู่แค่สุขเวทนาหรือเวทนาอันเป็นสุข เรื่องทำมาหากิน เรื่องอุปภรรยา สามี ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อะไรก็ตามทุกเรื่องกี่เรื่อง เรื่องมันเป็นสำเร็จตรงคำ ๆ เดียวว่า เวทนาอันเป็นสุข แล้วมันก็ไปขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิต ถ้าจิตมันรู้สึกมันก็มีความหมายขึ้นมาทันที ถ้าไม่มีจิตก็ไม่รู้สึก ก็ไม่มีความหมาย จิตมันจึงเป็นตัวการใหญ่ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า สุขเวทนา มันจะเหมือนกันสำหรับทุกคนนะ มันอาจจะต่างหรือตรงกันข้ามก็ได้ คนพวกนี้หรือว่าชนิดนี้มันต้องการสุขเวทนาไปอย่างหนึ่ง คนพวกอื่นต้องการสุขเวทนาไปอีกอย่างหนึ่ง หรือตรงกันข้ามก็ได้ แต่แล้วมันเหมือนกันตรงที่มันพอใจอยู่ในใจ ในจิตอันเป็นสุขสำหรับผู้นั้น แต่แล้วก็คำว่าจิตก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปรู้จักหรือไปค้นหาตามวิธีอันไม่รู้จักจบของจิตวิทยาหรือปรัชญา มันจะตายเสียก่อน จิตเป็นสิ่งที่ลึกลับ ลึกลับซับซ้อน ลึกลับจนไปค้นให้รู้จักมันโดยสมบูรณ์นั้นไม่ได้ ไม่ไหวแน่ ฉะนั้นไปรู้จักแต่ในแง่ที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับเราก็แล้วกัน อย่าไปตั้งปัญหาทางจิตวิทยาที่ค้นไป ๆ เท่าไหร่ ตายแล้วกี่ชาติก็ไม่รู้จักจบ ก็ไปค้นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้นิยมค้นกันเสียอย่างนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชาแล้วก็หมายอย่างนั้น มุ่งหมายอย่างนั้น อย่างนี้มันไม่ได้ ไม่ถูก ไม่ต้องเอามาใช้กับเรื่องนี้ เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตเพียงเท่าที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับปัญหา คือความทุกข์ก็พอ นอกจากนั้นมันจะเป็นอะไรก็ช่างหัวมัน เรื่องนี้ก็เคยบอกเคยเตือนอยู่เสมอว่าอย่าไปทำให้เกินขอบเขต มันจะเป็นบ้า แล้วก็ตายเปล่า ๆ เดี๋ยวนี้มนุษย์เราก็มีหลักการอย่างนี้ วิธีการอย่างนี้ จึงสำเร็จประโยชน์อยู่
ยกตัวอย่างเรื่องไฟฟ้าที่เรากำลังใช้อยู่เวลานี้ เราไม่ได้รู้หมดว่ามันคืออะไร แต่เรารู้เท่าที่เราจะต้องรู้ว่า เอามันมาใช้ได้อย่างไร นี่ เรารู้จนเอามันมาใช้ได้เป็นแสงสว่าง เป็นพลังงาน เป็นอะไรต่าง ๆ เป็นความสะดวกสบาย โดยที่เราไม่ได้รู้ว่าตัวจริง แท้จริงของมันนะคืออะไรจนถึงที่สุด ขืนไปค้นส่วนนี้มันก็เป็นบ้าตายก่อน มันก็รู้เท่าที่จำเป็นจะต้องรู้ แล้วก็จำกัดความลงไปอย่างนั้น ๆ ๆ มีคำจำกัดความที่ไพเราะลงมาอย่างนั้น แต่แล้วมันไม่หมด มาไขว่คว้านั้นคืออะไร นี่เรื่องจิตก็เหมือนกัน ไม่ต้องรู้หมดว่าจิตนั้นคืออะไรในทำนองนั้น แต่รู้ว่าจิตคืออะไรในวงจำกัดเท่าที่เราจะแก้ปัญหาเรื่องความทุกข์ได้ หรือเท่าที่ทำให้มันว่างได้ แล้วก็มีความวิเศษอยู่ตรงที่ว่า มันคอยจะว่างเองอยู่ตามธรรมชาติแล้ว ก็ค่อยผสมโรงกับมันให้ดี ๆ มันจะวุ่นต่อเมื่อไอ้รูป เสียง กลิ่น รส เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก เป็นต้น พอเผลอไม่มีสตินิดเดียวมันก็วุ่น จนตัวกูของกูขึ้นมา เรารู้เท่าที่เราจะป้องกัน จะแก้ไขทำนองนี้เท่านั้น เหมือนถ้าเรารู้ทำไดนาโมขึ้นมาปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าใช้อยู่อย่างนี้ รู้เท่านี้มันก็สำเร็จประโยชน์ส่วนนี้ ไม่ต้องรู้ไอ้ตัวไฟฟ้าจริง ๆ อยู่ที่ไหน คืออะไร อะไรขึ้นมา มันรู้ไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติที่ยังลึกลับอยู่
ไอ้จิตนี้ก็มีความเป็นอย่างนี้ ไอ้ส่วนที่ลึกลับเกินไปก็อย่าไปยุ่งกับมัน เอาแต่ที่ว่าจะทำให้มันไม่มีความทุกข์ได้อย่างไร สบาย เป็นที่พอใจได้อย่างไร รู้จักสิ่ง ๆ เดียวคือจิตเพียงเท่านี้ก็พอ ก็เรียกว่าเป็นพุทธศาสนา เป็นวิธีการในพุทธศาสนา เป็นจิตในพุทธศาสนา ไม่ใช่จิตวิทยาเพ้อเจ้อ ไม่รู้จักจบ นี่ว่าเนื่องจากอะไร จิตว่างนี่ เรื่องจิตว่างนี่ มันมีเนื่องจากอะไร ก็เนื่องมาจากว่า ไอ้ทุกสิ่งมันขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิต นี่ถ้าถามว่าเพื่ออะไรต่อไป เป็นปัญหาข้อที่ ๓ ก็ตอบได้มากมาย แล้วก็สรุปได้เพียง ๒ ความหมาย ประโยชน์จากสิ่งนี้ จากวิชาความรู้อันนี้ จากการปฏิบัติอันนี้เพื่อประโยชน์เพียง ๒ อย่างพอ คือเพื่อไม่รู้จักทุกข์ คือเป็นทุกข์กับเขาไม่เป็น คือไม่รู้จักความทุกข์ แล้วก็เพื่อหน้าที่การงานอันสมบูรณ์ ผมว่าเท่านี้พอแล้ว คุณจะเอายังไงอีก ก็ลองว่ามา มันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ขืนต้องการมากกว่านี้ผมถือว่าบ้า เมื่อเป็นอยู่อย่างมีความทุกข์ ใคร ๆ ไม่เป็น และก็เพื่อหน้าที่การงานที่จะต้องทำสมบูรณ์ก็แล้วกัน นี่ความหมายของชีวิตมันมีอยู่เท่านี้ ในชีวิตนั้นคือการงาน การงานคือชีวิต อย่าลืม นี่มันต้องการความสมบูรณ์ ชีวิตสมบูรณ์ การงานสมบูรณ์ เป็นสิ่งเดียวกัน
ระบบเรื่องจิตว่างนี้ก็เพื่อประโยชน์อันนี้ แล้วไอ้ที่จำเป็นก่อน ด่วนจี๋ที่สุดก็คือว่าไม่รู้จักทุกข์ ต้องไม่ทุกข์กันเสียก่อน แล้วหลังจากนั้นเมื่อไม่ทุกข์แล้วทำอะไร ก็คือทำการงาน เพื่อการงานนั้นสมบูรณ์ ต้องทำด้วยจิตว่าง คือจิตที่เป็นอิสระ คือจิตที่มีสมรรถนะ คือจิตที่ว่องไวในการงาน จิตว่างก็ช่วยให้การงานสมบูรณ์เป็นอันดับที่ ๒ อันดับที่ ๑ คือทุกข์ไม่เป็น ไม่รู้จักกับความทุกข์เลย อย่างที่เรียกว่าตัดบทออกไป ตายเสียก่อนตาย ตายแล้วในตัวแต่หัวปี นั่นคือตัดบทความทุกข์ออกไปหมดเลย นั้นเหลือชีวิตอยู่นี่ เป็นพลังงานที่เหลืออยู่ของร่างกายและจิตใจอันบริสุทธิ์ นี้ก็คือการงานที่จะต้องทำ แล้วแต่ว่าใครควรจะทำอะไร พระพุทธเจ้าท่านก็ทำการงานคือช่วยเหลือสัตว์โลก ไอ้เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าก็มีหน้าที่การงานที่จะต้องทำเพื่อทุกอย่าง เพื่อเรา และเพื่อเพื่อนมนุษย์ของเรามีความสุขสมบูรณ์อย่างเดียวกันอีก ไป ๆ มา ๆ ก็เพื่อช่วยให้เพื่อนมนุษย์มีจิตว่าง เรามีจิตว่าง เสร็จเรื่องของเราแล้ว ก็มีหน้าที่การงานคือทำให้ทุกคนมีความสุข เมื่อสรุปแล้วก็คือว่าทำให้มีจิตว่างอย่างเราเสียก่อน แล้วก็สามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการโดยมีความสุขด้วย เพราะฉะนั้นหน้าที่ของมนุษย์ที่เหลืออยู่ก็คือว่าช่วยกันสร้างสันติภาพอันแท้จริงขึ้นในโลก อย่าเห็นแก่ตัว แก่ตัวกูของกู ครอบครัวของตัว อะไรของตัวเพียงเท่านั้น ให้รู้ว่ามันมีหน้าที่ที่จะช่วยกันสร้างสันติภาพอันแท้จริงและถาวรขึ้นมาในโลก นี่คือการงาน เราไม่เป็นทุกข์ด้วย เราจะสร้างสันติภาพขึ้นมาในโลกได้ด้วย นั่นคือผล ผลที่หวัง เรียกว่า Goal หรือวางอะไรอยู่ข้างหน้านู่น นี่คือคำตอบของคำถามที่ว่าจิตว่างนี้เพื่ออะไร ทีนี้ส่วนที่ว่ามันจะสำเร็จได้โดยวิธีใดนี้ต้องการเวลามาก พูดวันนี้ไม่พอ ไว้พูดในคราวต่อไป
นั่นคือการปฏิบัติเพื่อจิตว่าง ตามหลักของพระพุทธศาสนา ก็คือเป็นอยู่อย่างถูกต้องนั่นเอง เราก็ไว้พูดกันในเวลาที่เพียงพอคราวหลัง ในวันนี้พูดว่า พูดแต่เพียง ๓ หัวข้อแรกว่า จิตว่างคืออะไร คือจิตที่เป็นอิสระ มีสมรรถนะ ว่องไวต่อการงาน ทำไมต้องไปยุ่งกับเรื่องนี้ ก็เพราะว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิต แล้วผลของการไปยุ่งกับไอ้เรื่องจิตว่างนี้คืออะไร ก็คือมีความไม่ทุกข์ แล้วก็ความสมบูรณ์ของการงานในหน้าที่ แล้วเวลาของเราก็หมดลงพอดี