แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๑ กันยายน เป็นวันที่ ๓๕ ของระยะกาลเข้าพรรษา พระพุทธศักราช ๒๕๑๒ ในวันนี้จะได้พูดกันถึงโดยหัวข้อว่าโวหารพูดเกี่ยวกับความตายที่สำคัญที่สุด ขอให้สังเกตจากข้อความที่แล้ว ๆ มาว่าเราได้พูดกันถึงเรื่องเกี่ยวกับความตายในหลายแง่หลายมุม ใจความที่สำคัญที่สุดก็มีอยู่ในข้อที่ว่า ความรู้สึกที่อยากจะอยู่ ไม่อยากจะตายเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหลาย ก็เป็นต้นตอของปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ และเป็นต้นตอของความรู้สึกทุกชนิดของมนุษย์ เรามีการพูดเป็นคำสรุปความว่า ความรู้สึกเพื่อจะอยู่รอดนี้เป็นต้นตอของความคิดนึกรู้สึกการกระทำหรืออะไรทุกอย่างของมนุษย์ เราไม่ได้พูดอย่างนักจิตวิทยา เช่น Sigmund Freud พูดไว้ในรูปปรัชญาว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับกามารมณ์หรืออะไรทำนองนี้ เพราะเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว ไม่ใช่เรื่องทั้งหมดเหมือนกับที่เขาคิดหรือตั้งใจจะพูด นี่เป็นใจความสำคัญที่ต้องเอาไปคิดนึกเสมอให้เข้าใจธรรมะด้วย และรู้จักความคิดนึกของคนที่เป็นนักคิดในสมัยปัจจุบันที่โลกเขานับถือความรู้ความคิดเห็นของเขาด้วยรวมทั้งพวกเราที่จะไปยึดถือความคิดของพวกฝรั่งเหล่านั้นด้วย
เดี๋ยวนี้เราพูดกันตามหลักของพุทธศาสนาอย่างถูกพุทธบริษัทจากหลักเกณฑ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ เราไม่ได้ค้นคว้าเฉพาะทางวัตถุหรือที่เกี่ยวกับวัตถุอย่าง Sigmund Freud ไม่ได้ค้นคว้าในทางวิทยา ในทางจิตวิทยา ก็ค้นคว้าเฉพาะส่วนที่มันเกี่ยวกับร่างกายหรือวัตถุ แล้วก็เท่าที่ปรากฏแก่เขาหรือเท่าที่ปรากฏแก่ชาวโลกในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งเปรียบเทียบกันไม่ได้กับยุคทองของเรื่องทางวิญญาณในประเทศอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว นี่เราจะใช้ศัพท์แสงชนิดที่เขาใช้กันอยู่ในเวลานี้มากไปหน่อย ก็ไม่รู้ว่าจะพูดว่าอะไรให้มันสั้น ๆ ประหยัดเวลา เช่น คำว่ายุคทองของอันนั้นอันนี้ ยุคทองของเรื่องทางจิตวิทยาที่เป็นไปในทางจิตทางวิญญาณถึงที่สุดนั้น ก็คือประเทศอินเดีย ในยุคอุปนิสัต ในยุคพุทธกาลนั่นเอง เขาคิดค้นกันแต่เรื่องนี้ทั่วไปทั้งชมพูทวีป เมื่อพูดถึงชมพูทวีปก็หมายถึงประเทศอินเดียทั้งหมด เป็นศูนย์กลางซึ่งมันกว้างขวางมาก เขาว่ามันเป็นยุคทองของสติปัญญาทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ โดยที่คนเขาระดมทุ่มเทกำลังหรือเวลาศึกษาค้นคว้ากัน แต่เรื่องที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะได้รับนี่ เมื่อศึกษาดูในแง่ของภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ในยุคพุทธกาลนั้นเป็นยุคที่ชาวอินเดียเป็นอยู่อย่างผาสุก แปลว่า กำลังมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยเรื่องอาหารการกินดินฟ้าอากาศ ศึกษาได้จากพระคัมภีร์ฝ่ายพุทธศาสนาและอื่น ๆ ผิดกันมากกับยุคปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง เพราะป่าถูกทำลายมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ครั้งครั้งกระโน้นหลังจากครั้งพุทธกาล ก็อ่านเรื่องแม่น้ำเนรัญชราในพระคัมภีร์ ก็ไปดูแม่น้ำเนรัญชราตัวจริงในเวลานี้แล้วใจหาย มันผิดกันอย่างที่เทียบกันไม่ได้
ที่พูดอย่างนี้ก็หมายความว่า ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าอย่าให้คุณเข้าใจผิดไปว่าประเทศอินเดียในยุคพุทธกาลมีความแร้นแค้นเรื่องการครองชีพ แล้วคุณก็จะคิดอย่างโง่ ๆ เหมือนพวกฝรั่งคิดว่า ปรัชญาในอินเดียนั้นสร้างขึ้นบนรากฐานแห่งความแร้นแค้นของชาวอินเดียในสมัยนั้น เป็นปรัชญาที่เหมาะสำหรับคนยากจนแร้นแค้นในประเทศอินเดียเองในสมัยนั้น นี่พวกฝรั่งมันคิดกันอย่างนี้ ขอให้เข้าใจให้ถูกเสียว่ามันเป็นยุคที่มีความสุขสบายทางร่างกาย ทางจิต ทางการเป็นอยู่ทางร่างกายแล้วมันก็ยังเหลืออยู่แต่เรื่องทางจิต เพราะฉะนั้นจึงมีการคิดนึกค้นคว้าในเรื่องทางจิตเป็นของสามัญเป็นของธรรมดาไปเลย จึงได้เรียกมันว่ายุคอุปนิสัต เป็นยุคที่ทุกคนมีการคิดค้นทางจิต พระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้นในยุคนี้ แล้วเราก็ให้ความเป็นธรรมทั่วไปแก่ศาสนาอื่นด้วย อันมีลัทธิอื่นศาสนาอื่นเกิดขึ้นมากมายในเวลาเดียวกันนั้น แล้วก็ไปไกลไปลึก แม้ที่เป็นมิจฉาทิฐิก็ไปไกลไปลึก ลึกจนมีความเป็นปรัชญาเป็นอะไรของมันมากมายเหมือนกัน จึงมีคนนับถือลัทธิต่าง ๆ นานา มีศาสนาหลาย ๆ ศาสนาในยุคพุทธกาล เรียกว่ามันเป็นยุคที่เต็มไปด้วยสติปัญญา เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยสติปัญญา เป็นการค้นคว้าทางจิตทางวิญญาณของผู้มีสติปัญญาในยุคนั้น
ดังนั้นมันจึงเกิดความรู้ที่เป็นผลของความค้นคว้าขึ้นมาก ขึ้นมามาก และด้วยเหตุนั้นเองไอ้วิธีพูดหรือคำพูดมันจึงเกิดขึ้นใหม่ ๆ แปลก ๆ ในรูปของภาษาธรรม คือภาษาที่มิใช่ภาษาธรรมดา เกิดขึ้นมากมายเป็นคำพูดทางธรรม ทางภาษาธรรมซึ่งมันเป็นสำนวนโวหารอันลึกซึ้งทางฝ่ายภาษาธรรม ผมจึงเห็นว่าควรจะรู้เรื่องนี้กันเสียบ้างตามควร จึงได้ให้หัวข้อเรื่องที่พูดว่าสำนวนโวหาร มันลึกซึ้งในทางฝ่ายภาษาธรรม พร้อม ๆ กันไปกับการพูดถึงความเป็นปึกแผ่นในการศึกษาค้นคว้าในทางธรรมทั่วชมพูทวีป ก็เลยมีเรื่องที่จะต้องเอามาเล่า เกี่ยวกับที่มาของเรื่องสุญตาหรือความว่างอยู่เรื่องหนึ่งพอเป็นเพื่อเป็นตัวอย่าง มีมากเรื่อง เล่าไม่ไหว ก็ต้องเล่าแต่บางเรื่องเพื่อเป็นตัวอย่างว่า คนที่อยู่ไกลแสนไกลที่ใต้สุด ทางใต้ของอินเดีย เดินทางด้วยเท้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงภาคเหนือของประเทศอินเดียเพื่อทูลถามปัญหาบางเรื่อง ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือเรื่องโสฬสปัญหา ในพระไตรปิฎกของเรา ก็มีเรื่องเขียนไว้ชัดว่าผู้ที่ไปทูลถามทำให้เกิดเรื่องโสฬสปัญหาขึ้นในพระคัมภีร์นี้ก็ไปจากตอนใต้ของประเทศอินเดีย อยู่ที่แถวแม่น้ำโพธาวารี มันก็เปิดดูแผนที่ประเทศอินเดียเสียบ้างว่าแม่น้ำโพธาวารีอยู่ที่ตรงไหน แล้วเดินด้วยเท้าเปล่า ไม่มีรถ ไม่มีรถไฟ ไม่มีอะไรนี่ ขึ้นไปจนถึงประเทศโกศล ทางทิศเหนือของประเทศอินเดียเพื่อถามปัญหานี้ มันไกลมาก อย่างน้อยก็ขนาดสงขลาไปเชียงใหม่ประมาณพันกว่าไมล์ หรือไกลกว่าสงขลาไปเชียงใหม่ จนอาจารย์ที่มีอายุมากเดินไปไม่ไหว เรียนปัญหาให้ลูกศิษย์ที่ฉลาด ๆ ไปแทน ไปถามพระพุทธเจ้า ไปทูลถามพระพุทธเจ้าถึง ๑๖ คน แต่ละคนก็ไปทูลถามจึงเกิดเป็นเรื่องโสฬสปัญหา คือปัญหา ๑๒ เรื่องขึ้นมา เอ้อ, ๑๖ คน แล้วเกิดปัญหา ๑๖ เรื่องขึ้นมา เรียกว่า โสฬสปัญหา
แล้วปัญหาที่มีชื่อเสียงที่สุด เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือปัญหาของลูกศิษย์คนที่ชื่อว่า โมคราชะ เราเรียกกันสั้น ๆ ว่าโมคราช เป็นศิษย์ที่ฉลาดที่สุดใน ๑๖ คนนั้น พระพุทธเจ้าเห็นท่าทางไอ้คนนี้มันฉลาด ก็ทรงแกล้งกักตัว แกล้งถ่วงเวลา ไม่ให้ไม่ตอบคำถามของคนที่ฉลาดที่สุดคนนี้ ถามก่อนก็ไม่ตอบ จนกระทั่งไปถึงวาระสุดท้าย คนสุดท้ายจึงทรงตอบ ไอ้ตรงนี้อยากจะขอบอกอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ว่าธรรมเนียม เหมือนยากที่จะตามพิธีที่เขาใช้กันอยู่อย่างเคร่งครัดในพุทธกาลนั้น จะถามอะไรกับใครก็ต้องขอโอกาสก่อน ขออนุญาตว่าจะถามก่อนเมื่อได้อนุญาตแล้วจึงจะถาม แล้วมันจึงมีมีโอกาสเองที่พระพุทธเจ้าจะทรงกักตัวใครไว้ไม่ให้ไม่ให้ถาม ยังไม่ให้ถาม นั่นมันมรรยาทที่ดีของสุภาพบุรุษที่เขาจะต้องขอโอกาสถามเสียก่อน ได้อนุญาตแล้วจึงจะถาม เดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยมีมรรยาทชนิดนี้กันเสียแล้ว มันไม่ใช่เพียงแต่มรรยาทดี มันเป็นวิธีการที่ดีคือทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะนี่มันทำให้เลือกเฟ้น เลือกเฟ้นเรื่องที่จะถาม ทบทวนใคร่ครวญเป็นอย่างดีที่สุดก่อนแล้วจึงถาม ไม่เหมือนคนสมัยนี้พูดพล่ามบ้าน้ำลายด้วยคำถาม ถามไปเรื่อย ถามเสียตะพึด ถามจนเคยชินเป็นนิสัย ฉันอยากจะถาม ฉันไม่ได้อยากจะฟัง อะไรนิดหนึ่งก็ถาม ไม่เคยยั้งคิดเป็นอย่างยิ่งเสียก่อนแล้วจึงถาม ลักษณะอาการเช่นนี้มันก็ยังเป็นอยู่มากมายในวัดเรานี้ เพลานี้ ให้คุณไปคิดดู เทียบกันดูว่าไอ้ที่เขาจะถามหรืออะไรของมันต้องคิดมาก แล้วก็ต้องมีระเบียบควบคุมนี่มันยาก ยิ่งมีผลดีกว่าการที่อะไรก็จะถามเหมือนเด็กตัวเล็ก ๆ นี่ถามเรื่อย ถามจนตอบไม่ทัน คนโต ๆ แล้วจะนับธรรมะด้วยแล้วจะทำอย่างนั้นไม่ได้
ทีนี้เรื่องมานพ ๑๖ คนที่ไปทูลถามพระพุทธเจ้าเพื่อขอโอกาส พระพุทธเจ้าก็ทรงปล่อยให้ ทรงเปิดโอกาสให้ถามไปตามลำดับบุคคลที่เห็นสมควร แล้วก็ทรงกักตัวไอ้บัณฑิตหนุ่มคนนี้ไว้ จนเกือบถึงคนสุดท้ายจึงได้ถาม แล้วคำถามที่ว่าสำคัญที่สุด มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ คำถามที่อยู่ในรูปของคาถาคือคำกลอนนั้นว่า สุญญโต โลกัง นเวทขัสสุ โมคราชปทาสโต (นาทีที่ 22.00) หนึ่งในคำตอบของพระพุทธเจ้า เราเรียกคำนี้ว่าคาถาโมคราช ที่เขาได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เราจะทำอย่างไรความตายจึงจะไม่พบกับเรา คำถามมันเป็นอย่างนั้นว่าเราจะทำอย่างไรความตายจึงจะไม่พบกับเรา พระพุทธเจ้าตรัสตอบเป็นคำพูดที่ร้อยกรองกันไว้ว่า สุญญโต โลกัง นเวทขัสสุ โมคราชปทาสโต (นาทีที่ 22.50) ว่าดูก่อนโมคราช เธอจงเป็นผู้มีสติ เห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด อัตตาโนทิฐิง อูหัจจะ เทวัง มัจจุตโลกียา (นาทีที่ 23.15) ถอนทิฐิว่าตัวตนออกเสียให้หมดแล้วก็จะเป็นผู้อยู่เหนือมัจจุราช เอวัง โลกัง นเวททันตัง มัจุราชานปสติ (นาทีที่ 23.40) เมื่อเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชย่อมไม่เห็นเธอ เมื่อเธอเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชย่อมไม่เห็นเธอ หรือจะพูดเป็นกรรตุวาจก ก็ว่า มัจจุราชจะไม่มองเห็นเธอผู้เห็นโลกอยู่อย่างนี้
เมื่อลองสรุปใจความดูให้ดีว่ามันมีใจความว่าอย่างไร แล้วมันมีโวหารอันลึกซึ้งอยู่ที่ตรงไหน เราไม่สนใจเรื่องอย่างนี้ เราจึงไม่เข้าใจกว้างขวางแตกฉานจนจะพูดให้เป็นสำนวนโวหารที่ลึกซึ้งอะไรได้ ถ้ามาถามปัญหาว่าทำอย่างไรเราจึงจะไม่พบกันกับความตาย คุณคิดดูมันเป็นโวหารอะไร มันเป็นโวหารที่ลึกที่ผิดธรรมดาอะไร ทำอย่างไรเราจึงจะไม่พบกันกับความตาย มันเป็นโวหารแจ่มยิ่งแล้วก็เป็นโวหารที่ไพเราะ นี่คือเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าโวหาร
ทีนี้เราก็ดูไอ้ต้นตอที่มาของคำถาม ทำไมยังถามปัญหาในรูปที่ว่าจะไม่พบกับความตายได้อย่างไร ก็เพราะว่าเขาไม่ต้องการความตาย ความตายเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวง เป็นปัญหาทั้งหมดของชีวิต อย่างที่เราได้พูดกันมาแล้วในวันก่อน ๆ คนธรรมดาสามัญรู้จักความตายในแง่โลก แง่ธรรมดาสามัญ และเต็มไปด้วยความกลัว แม้ไม่กลัวมันก็มีปัญหายุ่งยากในจิตใจ เป็นความกลัวอีกชนิดหนึ่ง คือรู้สึกว่าไอ้ความตายนี่รบกวนทั้งที่เราไม่กลัว คือต้องการจะมีจิตใจชนิดใดชนิดหนึ่งที่มันไม่มีปัญหาชนิดนี้ ไม่มีการรบกวนชนิดนี้ จึงค้นไอ้เรื่องที่จะชนะความตาย ก็เป็นอันว่าค้นกันแต่เหนือจรดใต้ ผู้คนอยู่ทางใต้ของอินเดียขึ้นไปทูลถามพระพุทธเจ้าที่กำลังเสด็จอยู่ทางเหนือ เหนือสุดของอินเดียที่แคว้นโกศล เมื่อแปลว่าคนมีปัญญาในยุคนั้นค้น ค้นคำตอบ ค้นหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องความตายกันแต่เหนือจรดใต้ อย่างประเทศไทยก็ตั้งแต่สุไหงโกลกจรดเชียงรายอย่างนั้น ค้นกันแต่ทำอย่างไรจึงจะอยู่เหนือความตาย จึงได้เกิดเรื่องชนิดนี้ขึ้นมา เรียกว่า การค้นหาอมตธรรม นี่คนออกบวชส่วนใหญ่ก็ออกค้นหาอมตธรรม คือสิ่งสูงสุด หมายถึงความไม่ตาย หรือสิ่งที่ไม่ตาย หรือวิธีที่จะให้ไม่ตาย เขาเรียกว่าอมตธรรม ได้แล้วมีแล้วก็ไม่ต้องตาย จนพูดว่าบ้าที่จะไม่ตายกันเป็นการใหญ่ ดิ้นรนขวนขวายทุกอย่างทุกทาง ไอ้ที่มันเลว ๆ ต่ำ ๆ ก็ทำอย่างคนโง่ คือบูชายัญ หรือทำบุญทำทานทำนองนั้น เพื่อตัวจะไม่ต้องตาย ทำมากจนถึงกับฆ่าสัตว์ตัดชีวิตกันเป็นการใหญ่ กระทั่งใช้คนบูชายัญ ใช้สัตว์วัวควายช้างม้าไปเป็นร้อย ๆ แล้วก็ใช้ที่มีอำนาจมากก็ถึงกับใช้คนอีกหนึ่งร้อยเข้าไปอีกสำหรับฆ่าบูชายัญ มีปรากฏอยู่ในเรื่องราวนั้น ๆ มาก มันก็เป็นความประสงค์ที่ตัวจะไม่ตายเหมือนกัน ที่ตัวเองจะไม่ตาย เมื่อทำได้แต่ที่เป็นพระราชามหากษัตริย์ที่มีอำนาจมากจริง ๆ ที่เรียกคนมาฆ่าบูชายัญได้ ตามคำแนะนำของเจ้าลัทธิหรืออาจารย์ลัทธินั้น ๆ นี่มันก็เรื่องเกี่ยวกับไม่อยากตาย คิดแต่เรื่องของพระศาสดาที่เป็นนักคิดมีสติปัญญาอย่างพระพุทธเจ้าหรืออย่างสำนักไอ้ที่ว่านี้เขาไม่ได้ฆ่าสัตว์บูชายัญนะ ใช้เรื่องทางธรรมอย่างที่เรียกกันว่าทางปรัชญา ทางอะไรโก้ ๆ นี้ รวมความแล้วก็เป็นเรื่องทางจิตใจเพื่อจะให้อยู่เหนือความตาย ก็เป็นชั้นสูงเป็นระดับสูง นี้ก็ยังมีลัทธิสอนขึ้นมาเรื่องตัวตนที่บริสุทธิ์ ตัวตนที่ถาวรไปอยู่เป็นอนันตกาล พวกหนึ่งสอนอย่างนั้น ก็ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าทำลายความรู้สึกว่าตัวตนเสีย ก็จะอยู่เหนือความตาย มันเดินกันคนละทางอย่างนี้ ด้วยความหวังอย่างเดียวกันเลย เพื่อจะไม่ตาย
ทีนี้ก็สังเกตดูไอ้สำนวนโวหารของผู้ถาม ทำอย่างไรจะไม่พบกับความตาย แล้วก็ดูสำนวนโวหารของผู้ตอบว่าเล็งเห็นโลกเป็นของว่าง บรรทัดแรกก็เห็นโลกเป็นของว่าง บรรทัดถัดมาก็ว่าถอนอัตตา ลดทิฐิ คือความสำคัญว่าตัวตนนี้ออกเสียให้หมด มีเท่านี้ นี่มันเป็นเรื่องเดียวกัน เห็นโลกเป็นของว่างก็ถอนความคิดว่าตัวตนออกไปเสีย นี้มันเรื่องเดียวกัน ถ้าความคิดว่าตัวตนมีอยู่คือตัวตนมีอยู่ ไอ้โลกนี้ก็ไม่ว่างคือมันมีตัวตนอยู่ ถ้าจะมองโลกในแง่ที่เป็นของว่างก็คือมองให้เห็นชัดว่ามันไม่มีตัวตน ด้วยเหตุนี้อรรถกถาต่าง ๆ จึงบัญญัติคำไว้ชัด แม้จะเป็นบาลีที่ไม่ใช่อรรถกถาที่เป็นบาลี เช่น ปะริสัมติทามะ (นาทีที่ 32:31) ซึ่งเป็นบาลีอยู่ในตัวพระไตรปิฎกเองก็อธิบายคำว่า ว่าง นี้ไว้ชัดว่า โลกนี้ว่างเพราะว่างจากตัวตน โลกมันว่างเพราะว่างจากสิ่งที่เป็นตัวตน นี่เป็นคำบัญญัติ เป็นสูตรที่บัญญัติลงไป โลกที่ว่าว่างเพราะว่างจากตัวตน ที่ไอ้คำที่พบพระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ที่เขาสรุปกันไว้ว่าดูโลกเป็นของว่าง เพราะถอนอัตตา ลดทิฐิ คือความเห็นว่าตัวตนออกเสีย ทำพร้อมกันไปก็มีสติอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา มีคำกำชับว่าตลอดเวลาด้วย เห็นโลกด้วยความเป็นของว่างอยู่ตลอดเวลา นั่นน่ะคือถอนอัตตา ลดทิฐิเสียได้ เราก็เป็นผู้อยู่เหนือโลกและเหนือความตาย มัจจุตโร อยู่เหนือมัจจุ เหนือความตาย อุตระ อุตระ คือ อุดร ภาษาไทยว่าอุดร ภาษาบาลีว่าอุตระ อันแปลว่ายิ่งหรือเหนือ บุคคลมัจจุตโร เหนือความตาย นี่ก็เป็นสำนวนโวหาร
ดังนั้นอยากจะขอร้องว่าอย่าไปดูถูกสำนวนโวหาร ด้วยการใช้สำนวนโวหารว่ามันเสียเวลาหรือมันเป็นเรื่องของคนพูดเพ้อเจ้อยืดยาว มันไม่ใช่อย่างนั้น ก็ต้องการให้โวหารนี้เป็นเครื่องประทับใจและรักษาไอ้ความรู้รักษาอะไรไว้ และที่มันดีกว่านั้นก็คือมันต้องคิด ไอ้สิ่งที่เรียกว่าโวหารมันคือปริศนาอยู่ในตัวมันเอง มันต้องคิด ถ้าไม่ตีโวหารนั้นให้แตก คนนั้นก็ไม่รู้ว่าอะไร นี่ต้องตีปริศนาหรือโวหารนั้นให้แตกออกไปจึงจะรู้ว่ามันว่าอะไร ว่าจะอยู่เหนือความตายได้อย่างไร เหนือความตาย ความตายตามหาเราไม่พบ ไม่มองเห็นเรา ความตายไม่เห็นเรา มัจจุราชไม่เห็นเรานี่ โวหารมันออกมา ๆ จนเป็นเรื่องทางบุคลาธิษฐาน คือเรียกความตายว่าพญามัจจุราช เหมือนกับเป็นบุคคลเหมือนกับเรา แล้วเที่ยวตามหาเรา เพราะเราก็มีวิชาอันหนึ่งที่ทำให้มัจจุราชตามหาเราไม่พบ นี่โวหารจนมันออกมาจนเป็นเรื่องทาง ๆ ๆ วัตถุหรือทางกายหรือทางบุคคล แต่เนื้อแท้ของมันเป็นเรื่องทางจิตใจ
เราจะมีความรู้อย่างไรจึงจะไม่มีปัญหาเรื่องความตาย ไม่มีความยุ่งยากลำบากเกี่ยวกับความตายอีกต่อไป เดี๋ยวนี้ไอ้ความตายมันเป็นปัญหามากมายหลายอย่างหลายด้านรบกวนจิตใจของเรา เราจะทำอย่างไรมันจึงจะไม่รบกวนจิตใจของเรา นี่มันคือยอดสุด สุดยอดของไอ้ปัญหาทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตที่มันต้องการไอ้ (นาทีที่ 36.45) ไว้ว่าอยู่ความอยู่ ปัญหาของมนุษย์ว่าทำไมจึงจะอยู่ คือไม่ตาย นี่คำตอบมันมีว่าอย่างนี้ ต้องมีจิตใจอย่างนี้จึงจะมีความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมว่าอยู่ ไม่ตาย จะอยู่ของอะไร จะอยู่ของธรรมะหรืออยู่ของอะไรอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อยู่ของตัวกูของกูในความรู้สึกที่เป็นตัวตน ตามความรู้สึกนั้น ๆ มันเป็นความโง่ของความเข้าใจผิดโดยไม่รู้สึกตัวและไม่อาจจะรู้สึกของมนุษย์ธรรมดาสามัญ เขาจึงเรียกมันว่าอวิชชา คือความไม่รู้ที่เราไม่รู้อีกทีหนึ่ง ความโง่ที่เราไม่รู้จักคืออวิชชา ทำให้เราคิดว่ามีตัวเรามีตัวกูอยู่เพื่อกามารมณ์ ที่อยู่เพื่อของรักของชอบใจทุกชนิด นั่นแหละความตายมันเกิดเป็นปัญหาขึ้นมารบกวนจิตใจ นี่ถ้าถอนอัตตา ลดทิฐิชนิดนี้เสียได้ ถอนความสำคัญรู้สึกคิดนึกว่าตัวกูเสียได้ มันก็เรียกว่าถอนรากฐานของความตาย ความตายไม่มีที่ตั้งที่อาศัย คือไม่มาสู่ห้วงนึกห้วงคิดที่จะรบกวนอีกต่อไป มันได้หมดปัญหาเรื่องความตาย หมดความยุ่งยากเกี่ยวกับความรู้สึกเรื่องความตาย แล้วก็สบายไปจนวินาทีสุดท้าย
ที่เปลือกนี้มันจะแตกดับไป เปลือกนี้คือร่างกาย มันต้องแตกดับไปเป็นธรรมดา ไม่เรียกว่าความตาย คนที่มีอวิชชาความไม่รู้ก็ไปเอาความตายที่ร่างกาย การแตกสลายของร่างกายว่าความตาย นั่นมันมีปัญหามาก แล้วก็ล่วงหน้า นี่เรามองเห็นตัวเราไม่มีเสียก่อน ความตายมันก็ไม่มี คือถ้าจะพูดว่าตายโดยต้องโดยโวหารอีกอย่างหนึ่งก็ตายแห่งตัวกูเสียแต่บัดนี้ ทำลาย หรือฆ่า หรือว่าไอ้ทำลายอัตตา ลดทิฐิ ความรู้สึกว่าตัวกูเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ให้ตัวกูมันถูกฆ่าตายเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ นี่ก็เป็นสำนวนโวหารที่เตลิดเปิดเปิงไปอีกทางหนึ่ง เมื่อตัวกูไอ้อวิชชานั้นมันถูกฆ่า ถูกสังหาร ทำให้ตายเสียเดี๋ยวนี้ มันก็ไม่มีอะไรตายอีกต่อไป มันก็มีชีวิตอยู่อย่างบริสุทธิ์ มีเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ อยู่เป็นสุขจนกว่าเปลือกมันจะเน่า มันก็เลิกกัน ตัวกูมันหมดแล้วตั้งแต่ที่หมดกิเลสนั่น เหลือแต่เปลือกที่บริสุทธิ์ คือร่างกายและจิตใจที่บริสุทธิ์ที่เป็นอยู่อย่างมีความรู้สึก ไม่มีความทุกข์นี่ สดชื่นอยู่เสมอนี่ จนถึงวาระที่มันจะต้องเน่า เขาจึงไม่มีปัญหาเรื่องความตาย หัวเราะเยาะความตาย แล้วก็ตายอย่างปิดสวิตช์ไฟฟ้าเหมือนที่ฉันเล่าให้ฟังเมื่อวันก่อนนั้น คนที่ตายอย่างนั้นได้ก็เพราะมันมันไม่กลัวความตาย ชนะความตาย จะเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์ มันก็ต้องพยายามที่จะตายอย่างนั้น นี่ก็ตายของเปลือกนี่ คือจัดให้ไอ้เปลือกที่ร่างกายหรือจิตใจที่ยังเหลืออยู่นี่มันดับไปด้วยวิธีง่าย ๆ เหมือนปิดสวิตซ์ไฟ
แล้วก็ไปลองคิดดูว่ามันเป็นเรื่องสูงสุดของมนุษย์หรือไม่ และเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์หรือไม่ น่าสนใจหรือไม่ ลองไปคิดดู สำหรับผมนี่ยอมบูชาว่าเป็นเรื่องสูงสุดของมนุษย์ที่น่าสนใจที่สุด มีความรู้ความคิดชนิดที่จิตใจมันทุกข์ไม่ได้ มันทุกข์ไม่เป็น มีความทุกข์ไม่เป็น ไม่รู้จักความทุกข์ นี้ต่อจากนั้นเหลือจากนั้นเราจึงจะไปสร้างสันติภาพสันติสุขแก่เพื่อนมนุษย์ในโลกได้โดยง่าย ก็ถ้าทุกคนมันมีความต้องการอย่างนี้ ในโลกมีสันติภาพทันทีในตัวมันเอง เดี๋ยวนี้โลกยิ่งไม่มีสันติภาพ ยิ่งไม่มีสันติภาพยิ่งเข้าไปทุกทีก็เพราะว่าคนในโลกไม่สนใจเรื่องนี้ก็ไม่ต้องการอย่างนี้ ต้องการแต่จะเป็นทาสของกามารมณ์ให้หนักขึ้นไป หนักขึ้นไป ให้มีตัวกูมากขึ้นไป ๆ ๆ และก็ทำไปแต่ความกลัวตาย อย่างที่สรุปให้ฟังว่าพวกกรรมกรก็กลัวตาย พวกนายทุนก็กลัวตาย ทั้งกรรมกรกับนายทุนจะต้องรบกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อตัวจะไม่ต้องตาย เพื่อจะชนะ แต่เราก็มามองความตายกันเสียในรูปใหม่รูปอื่นโดยสำนวนโวหารที่ถูกต้องนี้มันจะหยุดทันที จะหยุดบ้าคลั่งในการที่จะทำลายล้างกันทันที หรือว่าเมื่อพูดกันไม่รู้เรื่องตัวเองก็อาจจะปลีกตัวออกมาหาความสงบได้เป็นรายบุคคลไปเลย
ทีนี้ก็คิดไปในทำนองที่ว่าจะกวาดต้อนเอาไอ้ของน่ารักน่าพอใจในโลกทั้งหมดมาเป็นของเราหรือมาเป็นพวกเรา หรือว่าเราจะครองโลกเพื่อจะได้สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดนี่ ความมุ่งหมายมันไปอย่างนี้ อย่างนี้ไอ้ความตายมันก็ยิ่งเป็นตัวใหญ่ขึ้นมา ความตายจะเป็นตัวใหญ่เต็มโลกเป็นไอ้ปัญหาออกไปอีก มันขยายออกไปได้ตามความต้องการของมนุษย์ มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูใหญ่ออกไปเท่าไร ความตายมันก็ใหญ่ออกไปเท่านั้น ยิ่งมีปัญหาชนิดที่เป็นมหึมากัน เป็นปริมาณที่มากมายจนไม่รู้จะใช้คำว่าอย่างไร โลกจึงไม่ประสบสันติภาพ อาตมาศึกษาเรื่องไอ้ความตายชนิดนี้ชนิดในภาษาธรรมนี้ แล้วก็เอาชนะความตายให้ได้ตามวิธีนี้ เห็นโลกโดยความเป็นของว่างจากสิ่งที่น่ารักน่าเอาน่าเป็น แล้วก็ทำไปเท่าที่มนุษย์จะเป็นอยู่ได้ในทางร่างกาย แล้วก็มีจิตใจที่เป็นความสงบสุขเยือกเย็นถึงที่สุดได้ดีกว่า นี่ไปละโมบในเรื่องทางกายซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวกู มันก็ขยายปัญหาของความตายออกไปเท่ากัน มันก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าบานปลายออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาของความทุกข์นี้จะบานปลายออกไปไม่มีที่สิ้นสุด มารู้วิธีอยู่เหนือโลก เหนือความตาย ตามแบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสกันเสียบ้าง มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง ถอนความเห็นว่าตัวตนออกเสียเท่านี้ ก็ไปตามธรรมชาติ พอเหมาะกับธรรมชาติ เป็นเรื่องของธรรมชาติ จิตใจก็สบาย จิตใจสบาย ร่างกายก็ต้องสบาย ความตายก็ไม่มีความหมาย ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีปัญหา นี่โดยเค้าใหญ่ ๆ มันเป็นอย่างนี้
หัวใจของพุทธศาสนาถูกกล่าวไว้ในรูปของสำนวนโวหารอย่างนี้ ไอ้คำกล่าวนี้มันก็มีความสำคัญอยู่คำว่าว่าง คำว่า สุญโต โดยความเป็นของว่าง คำว่าว่างคือสำคัญที่สุด เป็นหัวใจพุทธศาสนา ไม่ว่าอย่างเถรวาทหรืออย่างมหายาน ที่เรากำลังเอา ๆ มาพูดอยู่นี้มันก็อย่างเถรวาท คือฝ่ายนิกายฝ่ายเรา ในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท ไม่ใช่ฝ่ายมหายาน ประโยคนี้หรือเรื่องโสฬสปัญหานี้จะมีในฝ่ายมหายานไม่ได้ก็ได้ ผมกล้าพูด บางทีไม่ได้ไปสำรวจพระไตรปิฎกทั้งหมดของฝ่ายมหายาน เรื่องโสฬสปัญหานี้เป็นของฝ่ายเถรวาทแท้ แต่ว่ามหายานนั้นเขามีอะไร มีหลักการที่จะเอาพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทนี่เลียนภาษาบาลีนี่ ไปแปลเป็นภาษาจีนโดยเฉพาะ แล้วเข้าไปสมทบรวมอยู่ในตู้พระไตรปิฎกของมหายาน ไม่ว่าคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทเราส่วนมากก็แค่ทั้งหมดนี่มีอยู่เป็นภาษาจีนแล้วก็รวมอยู่ในตู้พระไตรปิฎกฝ่ายมหายานนี้ เรื่องโสฬสปัญหามันจะพลัดเข้าไป มันก็พลัดเข้าไปในลักษณะอย่างนี้ ที่เป็นฝ่ายมหายานแท้ ๆ ที่เขาแต่งร้อยกรองกันขึ้นในสมัยเกิดมหายานนั้นไม่มีเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้มันเกิดแต่ครั้งพุทธกาล คัมภีร์มหายานร้อยกรองขึ้นในพ.ศ.ตั้งเกือบพันหรือพัน นี่พุทธศาสนาอย่างเถรวาทที่ถือกันว่าเดิมแท้ก็มีจุดสำคัญอยู่ที่เรื่องความว่าง ไอ้ความว่างนี่ก็เพื่อความไม่ตาย ความไม่ตายนั่นคือนิพพานในความหมายที่ว่าเป็นที่ คือตั้งอยู่ มีอยู่ ตั้งอยู่เป็นที่ดับแห่งสังขารหรือความทุกข์หรือโลก อะไรที่มันวุ่นวายเขาเรียกว่าสังขารหรือโลก พอไปถึงนิพพานมันก็เป็นจุดจบของมัน
ดังนั้นนิพพานก็มีไว้ ธรรมชาติมีไว้สำหรับเป็นที่ดับ ที่หยุด ที่จบของสังขาร คือของปรุงแต่ง การปรุงแต่งต้องปรุงแต่งด้วยความโง่ ปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนั้นอย่างนี้หลายซับหลายซ้อนจนได้มีความทุกข์เรื่อย ๆ ไปแล้วก็จะไปพบจุดจบที่นิพพาน ที่ความรู้เรื่องความว่าง ว่างจากตัวตน พอจิตเดินไปถึงเรื่อง เดินไปถึงความรู้เรื่องความว่างจากตัวตน ไอ้เรื่องต่าง ๆ ของจิตมันก็จบ ไม่ปรุงแต่งเป็นตัวกูของกู เป็นโลภะ โทสะ โมหะ กิเลสนานาชนิดขึ้นมาได้เลย เรื่องความว่างมันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ว่าเราจะได้พูดกันต่อไปเรื่อย ๆ ตามความเหมาะสม แต่เดี๋ยวนี้ให้รู้เสียทีว่ามันเป็นโวหารพูดที่ลึกซึ้ง สำหรับพูดเรื่องที่มันลึกซึ้ง ของดีวิเศษที่สุดมันก็ต้องใส่ภาชนะที่สมควรกัน อย่างวัตถุเช่นเพชรมีค่ามากที่สุด มันก็ต้องมีภาชนะที่เป็นทองเป็นเงินอะไรรองรับมันให้มันเหมาะสมกัน
ทีนี้ไอ้เรื่องหัวใจพุทธศาสนาคือเรื่องความว่าง วางใส่ไว้ในภาชนะคือโวหารพูดที่ลึกซึ้งที่สุด เช่นว่าคนเราที่อยู่เหนือความตาย ที่ความตายจะหาเราไม่พบ เพราะว่าเรามันไม่มี เพราะว่าเรามันได้ทำตัวเราให้กลาย เป็นความว่างไป ไม่มีตัวเรา ทีนี้ยังมีโวหารที่จะต้องรู้ไว้ จะต้องไม่ลืมเสียด้วย อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คำว่าโลก จงดูโลกโดยความเป็นของว่าง คำว่าดูโลกนี้ คนทั่วไปในสมัยนี้ก็จะเข้าใจเอาทันทีว่าเมื่อดูโลกนี้ โลก ก้อนโลกนี้ โดยโลกนี้ โลกนี้ หรือว่าโลกอื่น คือโลกพระจันทร์ โลกพระอาทิตย์ โลกพระอังคารอะไรก็ตาม ดูโลกนี้โดยความเป็นของว่าง เขาคงจนปัญญาที่จะดูให้มันว่าง เขาก็เลยไม่สนใจเห็นว่าเป็นเรื่องครึคระบ้าบอของคนสองพันกว่าปีมาแล้ว เขาไม่สนใจก็ได้
ไอ้คำว่าโลกนี้มันหมายอย่างนั้นด้วยก็ได้ จะหมายไอ้ตัวโลกแผ่นดิน ไอ้คอนกรีตของแข็ง ๆ หมดนี้ก็ได้ แต่ยังหมายถึงไอ้ผลหรือปฏิกิริยาอะไรของมันที่เป็นเรื่องทางนามธรรมทางจิตใจเลยก็ได้ นั่นคือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดอยู่ในโลก โลกที่มีมนุษย์นี่และก็มีปัญหาต่าง ๆ ของมนุษย์ ปัญหาทั้งหมดนั้นก็เรียกว่าโลกก็ได้ นับ ปัญหาทั้งหมดของมนุษย์นั้นไปรวมอยู่ที่คำพูดพยางค์เดียวว่าทุกข์ ทุกขัง คือความทุกข์ จริง ๆ นี่พระพุทธภาษิตว่า โลกคือสิ่งเดียวกับความทุกข์ ในบางคราวตรัสว่าความทุกข์ ในบางคราวตรัสว่าโลก เป็นไวพจน์ เป็น synonym กันโดยตรง บางคราวตรัสเรื่องอริยสัจว่าโลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ทางดับ การดับสนิทของโลกก็ดี ทางถึงความดับสนิทของโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายนี้ที่ยาววาหนึ่งซึ่งยังเป็น ๆ มีชีวิตอยู่ นี่คุณคิดดูพวกฝรั่งจะเข้าใจว่ายังไง มันคงจะเข้าใจว่าพูด nonsense พูดบ้า ๆ บอ ๆ ว่าโลกทั้งหมด แล้วก็เหตุให้เกิดโลกนั้นด้วย และความดับสนิทของโลกด้วย ทางให้ถึงความเห็นด้วยอยู่ในร่างกายที่ยาวเพียงวาเดียวนี่ ถ้าเทียบกับโลกที่มันยาวกี่กี่พันล้านกี่ล้านวา ไอ้ที่เรื่องหมายถึงปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมดของโลก มันสรุปอยู่ในคนซึ่งยาวเพียงวาเดียว เรียกเสียใหม่อีกอย่างหนึ่งว่าความทุกข์ ทุกข์ นี่ถ้าจะดูโลกเป็นของว่างก็ต้องดูทั้งหมด ตัวโลกแผ่นดินนี่ก็ว่าง ตัวโลกมนุษย์คน ๆ สัตว์นั้นก็เป็นคนเป็นสัตว์นั้นก็ว่าง และปัญหาทั้งหมดของชีวิตของทั้งหมดก็ว่าง แล้วยอดสุดของปัญหาคือความทุกข์มันก็ต้องเป็นของว่าง แม้แต่ตัวความทุกข์เองมันก็เป็นของว่าง อย่างที่เราพูดกันที่วันก่อนตรงโน้นว่า (นาทีที่ 55:55) วิธีลัดสั้นที่สุดก็ดูกิเลสกับความทุกข์นั้นให้เป็นของว่างเสีย ปัญหาก็หมดลงทันที ถ้าความทุกข์เป็นของว่างลงไปได้ ปัญหาก็หมดโดยทันที ได้วิธีที่ดีที่สุดของการต่อสู้คือมวย ทำความทุกข์ให้เป็นความว่างเสีย ทำกิเลสให้เป็นความว่างเสีย ไม่ต้องตั้งพิธีรีตองที่จะดับทุกข์ หรือละกิเลสให้มันมากมายยืดเยื้อเหมือนกับไม่รู้กี่ร้อยชาติพันชาติหมื่นชาติ ตั้งอธิษฐานไว้ว่าจะคอยดับทุกข์ มันเป็นเรื่องของความโง่กี่มากน้อยก็ไปคิดดูเอาเอง ให้สรุปลงไปได้ในคำว่าทุกข์ หรือทุกขังบนภาษาบาลี หรือภาษาไทยว่าความทุกข์ หรือทุกข์เพียงพยางค์เดียวเท่านั้น คำพูดคำเดียวนี้คือทั้งหมดที่เป็นปัญหาของมนุษย์รวมทั้งตัวมนุษย์ด้วย นี่พระพุทธเจ้าท่านมีหลักมีวิธีพูด มีโวหารพูดอย่างนี้
ทีนี้มีเรื่องน่าหัวเล็ก ๆ น้อย ๆ จะเล่าให้ฟังเรื่องไอ้นิทานของฝ่ายจีน ฉันเคยเล่ามาแล้วแต่บางคนยังไม่เคยฟังว่า พระจักรพรรดิที่มีอำนาจองค์หนึ่ง ให้ประชุมบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งประเทศมาสู่ราชสำนัก ให้เขียนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด นักปราชญ์หลายร้อยคนมาประชุมกันแล้วมาประชุมกันอีกเป็นปี ๆ ๆ ๆ พระจักรพรรดิถามว่าเสร็จหรือยัง ยังไม่เสร็จ ผลัดเพี้ยนต่อไปอีก เสร็จหรือยัง ยังไม่เสร็จเป็นปี ๆ กี่ปีก็ไม่รู้ แล้วถึงวาระสุดท้ายที่มันทำงานเสร็จก็มาเสนอ เป็นข้อความ ๖ คำพูดว่า คนเกิด คนทุกข์ และคนตาย คนเกิด คนทุกข์ คนตาย ๖ พยางค์ ประวัติศาสตร์มนุษย์ตลอด ตลอดกาลนั้น นี่พอจะเรียกว่านักปราชญ์จริง ไม่ไปเก็บเรื่องขี้หมูขี้หมาสารพัดอย่างมาเขียนไม่รู้กี่พันกี่หมื่นกี่แสนหน้ากระดาษอย่างที่เราเรียนประวัติศาสตร์กันอยู่เดี๋ยวนี้ คุณอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เป็นหอบเป็นตู้แล้วคุณก็จับความใจความไม่ได้ว่า อ้าว, มันมีแต่เรื่องคนเกิดมาในโลก แล้วเป็นทุกข์ทรมานอยู่กว่าจะตายลงไป มันมีเท่านี้ จะไปอ่านประวัติศาสตร์ชนิดไหน ตั้งแต่ยุคหินมาจนถึงยุคปัจจุ กลางยุคปัจจุบันนี้มันก็มีอยู่เท่านี้ นี่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในทางใฝ่วิญญาณมันเป็นอย่างนี้ ถ้ารู้ประวัติศาสตร์อย่างนี้แล้ว มันจะช่วยโลกมีสันติภาพเร็วที่สุด ถ้าไปเรียนประวัติศาสตร์อย่างที่เรียนกันเดี๋ยวนี้เรื่องความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ไม่มีประโยชน์อะไรเลยนี้ มันไม่มีโอกาสที่จะทำโลกนี้ให้มีสันติภาพ ในวิชาประวัติศาสตร์ที่สอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วโลกเวลานี้มันก็นำไปสู่ความไม่เป็นสุดของความทุกข์ ไม่นำมาซึ่งสันติภาพ แล้วเขาก็พูดอย่างโง่ ๆ ว่าวิชาปรัชญา วิชาประวัติศาสตร์เรียนแล้วเป็นดุษฎีบัณฑิตเพื่อมีส่วนทำโลกให้เป็นสัน มีสันติภาพนี่ ฉันว่านั่นเป็นคำพูดที่บ้าบอที่สุดนะ ก็ไม่รู้ว่าปรัชญาหรือประวัติศาสตร์ในโลกนี้ มันก็ต่อความยาวสาวความยืดออกไปนอกลู่นอกทางจนไม่พบกับสันติภาพหรอก ฉันกล้าท้าไว้อย่างนี้ คอยดูสิ ไปเรียนประวัติศาสตร์ของนักปราชญ์จีนชุดนั้นที่เขียนไว้เพียง ๖ พยางค์นั่น แล้วก็ไปสรุปอยู่เป็นคำพูดคำเดียวของพระพุทธเจ้าว่า โลกคือทุกข์ ทุกข์คือโลกนี้ มันก็หมด หมดเรื่อง จบเรื่อง ทำโลกนี้ให้มีสันติภาพได้ นี่โวหารหรือคำพูดเป็นอย่างไร และโดยเฉพาะคำพูดในทางพุทธศาสนาที่จะให้พูดแต่เรื่องที่เป็นหัวใจพุทธศาสนาว่ามีสำนวนโวหารอย่างไร วันนี้เราเสียเวลากันทั้งชั่วโมงเพื่อพูดถึงความหมายของคำพูดว่าสำนวนโวหารแค่คำเดียวนี่ เวลาของเราก็หมดลง