แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาติโมกข์ในวันนี้ ก็จะได้พูดกันถึงเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูไปตามเดิม ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษาพูดที่อาจจะยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับพุทธภาษิตนั่นเอง ในวันอื่นคราวอื่นเราก็ได้พูดถึงหลัก หรือข้อเท็จจริง หรืออะไรก็ตามอย่างใดอย่างหนึ่งมาจนเป็นที่เข้าใจกันโดยกว้าง ๆ ว่าสิ่งที่เราจะต้องละ ต้องระวัง ต้องละ ต้องตัด หรือต้องทำลายนี้ก็ไม่มีอะไร นอกไปจากสิ่งที่เราสมมุติเรียกกันว่าตัวกูของกู และถ้าหมดตัวกูของกู หมายถึงเป็นพระอรหันต์
ปัญหาเกี่ยวกับคำพูดนี่มันมีมาก มีหลายชั้น แล้วยิ่งกว่านั้นอีกมีพุทธภาษิตที่ใช้เป็นหลักอยู่ คือพุทธภาษิตที่ว่า ถ้าภิกษุเหล่านี้จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี่มันแสดงความหมายว่าอย่างไร ลองคิดดู มันแสดงความหมายไปในทางที่ว่าไม่ได้ทำอะไร หรือไม่ต้องทำอะไร นอกจากเป็นอยู่โดยชอบ ถ้าโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ก็คือมีพระอรหันต์ คำว่าเป็นอยู่โดยชอบนั้นจะมีความหมายลึกลับ หรือลึกซึ้งอย่างไร ถึงกับทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ได้ ที่บอกว่าเป็นอยู่โดยชอบ นี่มันเป็นการละกิเลส เป็นการตัดกิเลสหรือเปล่า คือเพียงแต่ว่าเราเป็นอยู่โดยชอบแล้วกิเลสมันก็หายหน้าไปเอง ไม่ได้เผชิญกันกับกิเลสเลย เหมือนเราเลี้ยงแมวไว้หนูมันก็หายไปเองโดยที่เราไม่ได้ไปทำอะไรกับหนูเลย นี่มันเป็นความหมายของภาษาที่เรายังไม่ค่อยจะรู้กันว่าอะไรเป็นอะไร ที่ละเอียดลงไปก็คือว่าเราก็ชอบพูดกันอยู่ หรือพูดกันอยู่ทีเดียวว่าละกิเลส หรือบางทีพูดมากกว่านั้นก็ว่าประหัตประหารกิเลสเลย คุณลองฟังดูให้ดีเถอะ มันอาจจะเป็นเรื่องที่สลัวกันไปหมดก็ได้ คือไม่ได้เข้าใจอะไรเลย บวชมาแล้วพูดมาแล้วตั้งยี่สิบปี สามสิบปี เป็นครูสอนนักธรรม สอนบาลี สอนอะไรกันแล้ว แล้วมันก็ไม่เข้าใจในความหมายของพระธรรมที่มันลึกลับหรือฟังดูแล้วมันเข้าใจไม่ได้ แม้แต่ว่ากิเลสนี่ต้องละ หรือไม่ต้องละ หรือจะละกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร ผมเชื่อว่าไม่เข้าใจทั้งนั้นแหละ แม้ที่เป็นครูสอนอยู่ทุกวันนั้นน่ะ กิเลสมันเกิดขึ้นในใจ ประสบอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก แล้วเกิดขึ้นในใจอย่างนี้
ถ้าในปัจจุบันนั้นมันมีกิเลสอยู่แล้ว มันก็ไม่รู้ว่าอริยมรรคที่ไหนจะมาละกิเลสชนิดนั้น แล้วกิเลสชนิดที่มันรู้สึกอยู่ในใจ เป็นปัจจุบันรู้สึกอยู่ในใจนั้นมันก็ไม่ใช่อนุสัย มันเป็นกิเลสที่ออกมาในทางจิต ออกมาเป็นสู่ทวารแล้ว ฉะนั้นเพียงแต่ละกิเลสชนิดนั้นมันก็ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก เพราะว่าเชื้อของกิเลสมันก็ไม่ได้ถูกละ การพูดว่าละกิเลส ๆ มันเป็นเพียงแต่ละกิเลสข้างนอก ทางกาย ทางวาจา กิเลสหยาบ ทางจิต กิเลสขนาดกลาง เขาว่ากันอย่างนั้น ส่วนกิเลสที่เป็น ที่เรียกว่าอนุสัยนั้นก็ไม่มีตัวไม่มีตนออกมาให้เห็น แล้วจะละมันได้อย่างไร ถ้ากิเลสจะฆ่า ไปตี ไปด่า ไปว่านี่อ้าว,มันก็อาจจะละได้ นึกขึ้นมาได้ แล้วก็ละได้ หรือกิเลสประเภทนิวรณ์กำลังกำหนัด กำลังขัดเคือง กำลังโง่อะไรอยู่ มันก็อาจจะละไปได้ แต่นี่มันละเพียงขุยของกิเลสที่เขาเรียกกันว่ากิเลสชั้นหยาบ กิเลสชั้นกลาง ส่วนกิเลสชั้นละเอียดคือ อนุสัยนั้นไม่รู้อยู่ที่ไหน มันก็ไม่ได้ละ แล้วในขณะที่กำลังมีกิเลสอยู่อย่างนั้นน่ะ ใครมันทำอริยมรรคให้เกิดขึ้นได้ มันก็ไม่มี ฉะนั้นอริยมรรคก็ไม่มีโอกาสจะพบกันกับกิเลส การที่พูดว่าอริยมรรคเป็นเครื่องประหารกิเลสนั้นมันหมายถึงเมื่อไหร่กัน นี่คือความเข้าใจยาก ผมเคยเตือนมาหลายหนแล้วว่าอย่าเอาเรื่องในหนังสือ หรือคำพูดที่ท่องไว้เป็นหลัก อันนั้นมันเป็นหลักไม่ได้ มันต้องเอาความรู้สึกในใจจริง ๆ หัวใจจริง ๆ นั่นน่ะเป็นหลัก อะไรมีอยู่อย่างไร เมื่อกำลังมีกิเลสอยู่ เดือดพล่านเป็นไฟอยู่ในใจนี่ อริยมรรคไหนจะมาละกิเลสนั้นได้ มันก็เหลว ทีนี้กิเลสที่เป็นอดีต กิเลสที่เป็นอนาคตนั้นไม่ต้องพูดถึง มันไม่มีตัวตนที่จะมาให้ละ ทีนี้กิเลสปัจจุบัน ถ้ารู้สึกอยู่มันก็ไม่มีอริยมรรคอันไหนที่จะมาละมันได้ มันก็ยังเหลือแต่กิเลสประเภทที่เรียกว่านอนเนื่องอยู่ในสันดานนั่นน่ะ แม้แต่อย่างนี้มันก็ยิ่งเป็นปัญหาลึกลับ คือกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน หรือกิเลสชั้นละเอียดที่เขาเรียกกัน มันก็ไม่มีอะไรเข้าไปเผชิญหน้ากันได้ และมันก็ยังไม่ได้เกิดกิเลสที่เรียกว่าละเอียดนอนเนื่องอยู่ในสันดานนั่นแหละ มันก็ยังไม่ได้เกิด มันยังไม่มีเหตุจะเกิด พอมันมีปัจจัยจะเกิดมันก็เรียกว่าเป็นกิเลสกลาง กิเลสหยาบทุกทีไป
ทีนี้ใครพูดว่ากิเลสชั้นละเอียดนอนเนื่องอยู่ในสันดาน มันก็ไม่ได้เกิดไม่ได้ดับ ผมว่าเป็นคนบ้า ดังนั้นไม่มีอะไรที่จะเป็น สัสสต หรือเที่ยงแท้อย่างนั้นได้ มีแต่นิพพานอย่างเดียวที่ว่า จะพูดว่าเป็นของเที่ยงหรือ สัสสต คือมันไม่ต้องเกิดกับต้องดับ แต่สิ่งที่ต้องเกิดก็ต้องดับอย่างนี้ จะนอนเนื่องอยู่ในสันดานเป็นของเกิดอยู่ตลอดเวลา นอนเนื่องอยู่ในสันดาน เป็นของเที่ยงอยู่อย่างนี้มันมีไม่ได้ ก็มีพุทธภาษิตชัดอยู่ว่า แม้แต่อวิชชามันก็เพิ่งเกิด ไอ้คนพูดว่านอนเนื่องอยู่ในสันดานนั่นน่ะคือคนพูดปาว ๆ ไปตามที่ไม่รู้ หรือตามที่เขาพูด ๆ กันไป
ทีนี้อะไรที่ว่ามันจะพอเรียกว่านอนเนื่องอยู่ในสันดานได้ ผมจึงแนะว่า ไอ้ที่เรียกกันว่าอนุสัย หรือสังโยชน์นั้นอย่าไปเรียกมันว่ากิเลส หรือกิเลสชั้นละเอียดเลย ให้เรียกซะว่าความเคยชินแห่งกิเลส ความเคยชินแห่งการเกิดของกิเลส นั่นน่ะคืออนุสัย ความเคยชินนี้ก็ไม่ได้เกิดอยู่ แต่มันพร้อมที่จะเกิด พร้อมที่จะให้เกิด พอมีอะไรมาให้รัก ก็รัก ทนไม่ได้ พอมีอะไรมาให้เกลียด มันก็เกลียด ทนไม่ได้ บังคับใจไม่ได้ นั่นน่ะเพราะว่าความเคยชินที่จะรักในสิ่งที่น่ารัก หรือชินที่จะเกลียดในสิ่งที่น่าเกลียด มันมามาก มาแล้วแต่หนหลัง มามาก เรียกว่าเป็นอาเสวนปัจจัย ฝ่ายกิเลสไปเลย เป็นความเคยชินที่สุดจนเราไม่ต้องนึกต้องคิด อะไรมาถ้าน่ารักก็รัก อะไรมันน่าเกลียดก็โกรธ หรือเกลียด นี่ล่ะความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น ที่จะเป็นอย่างนี้ ในสิบอย่างของสังโยชน์ หรืออนุสัย แล้วแต่ที่จะพูด สิบอย่างหรือเจ็ดอย่างก็ตามใจ ความเคยชินในแต่ละอย่าง ๆ นี่มันเป็นความเคยชินที่พร้อมที่จะลุกออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเราทำลายความเคยชินนี้เสียได้ มันก็คือทำลายต้นตอของกิเลสทั้งหลายได้ กิเลสที่จะออกมาทางกาย ทางวาจา หรือทางจิตเป็นนิวรณ์นี้มันก็ไม่มี กิเลสกลางออกมาเป็นนิวรณ์ มันก็เมื่อเห็นอะไรเข้าน่ารักน่าชังน่าหลงใหลอะไร มันก็เกิดขึ้นมา หรือกิเลสหยาบไปตี ไปด่า ไปฆ่าอะไรเขามันก็เพราะกิเลส เพราะความเคยชินแห่งกิเลสชนิดนั้นมันมีมาก และรุนแรงถึงขนาดนั้น
ทีนี้ไอ้ส่วนความเคยชินของกิเลสแท้ ๆ ที่เราเรียกได้โดยโวหารสมมุติว่า นอนเนื่องอยู่ในสันดาน นอนรออยู่ในสันดาน มันไม่ใช่ตัวกิเลสที่เกิดอยู่ในสันดาน มันเป็นเพียงความเคยชินเป็นนิสัยที่จะเป็นอย่างนั้น ๆ จนกว่ามันจะได้รับอารมณ์ ประสบอารมณ์ กระทบอารมณ์เข้า ไอ้ความเคยชินนั้นมันจะทำหน้าที่ของมันทันที แล้วมันก็มีมาก ความเคยชินในการที่จะโลภ ความเคยชินในการที่จะโกรธ ความเคยชินในการที่จะหลงนี่ แล้วก็แยกออกไปความโกรธ ความโลภ ความโกรธความหลง แยกออกไปอีกได้มาก แล้วแต่ชื่อ เราจะแจกเป็นอุปกิเลส ๑๖ ก็ตาม นิวรณ์ ๕ ก็ตาม หรือแม้แต่จะแจกตามชื่อสังโยชน์ ๑๐ สักกายทิฏฐิ เป็นต้นก็ตาม มันก็รวมอยู่ในโลภ โกรธ หลง จัดได้เป็นหมวด ๆ สามหมวดนี้ ทีนี้มันก็เคยชินในการที่จะโลภ โกรธ หลง ถ้าตัดอำนาจอันนี้เสียได้ อำนาจที่มันเป็นความเคยชิน อำนาจที่จะเป็นไปตามความเคยชินนี้ถูกตัดเสียได้ กิเลสก็ไม่มีทางเกิด แล้วเราก็พูดว่าหมดกิเลสได้ พูดว่าหมดกิเลสได้จริง เพราะถูกทำลายนิสัย หรือความเคยชินในการที่จะเกิดกิเลสนั้นเสีย อย่างนี้เท่ากับพุทธภาษิตที่ว่าเป็นอยู่โดยชอบไซร้โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ หมายความว่ามันไม่ให้โอกาสที่ความเคยชินของกิเลสจะทำหน้าที่ของมัน จนกระทั่งมันร่อยหรอ กร่อน ร่อยหรอไปถึงขนาดที่เรียกว่าหมดอำนาจ หมดอำนาจความเคยชิน คือมันเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนความเคยชิน เปลี่ยนนิสัยไปเลย ไม่เป็นปุถุชนต่อไปอีก เป็นพระอริยเจ้าขั้นใดขั้นหนึ่งกระทั่งเป็นพระอรหันต์ คุณระวังให้ดีว่า ไอ้ตัวกูของกูนั่นแหละ คือความเคยชินที่สุด และก็ออกมาเป็นกิเลสกลาง กิเลสหยาบแล้วแต่เรื่อง
ไอ้ตัวกูของกูคำเดียวนี้เป็นชื่อของกิเลสหยาบก็ได้ เป็นชื่อของกิเลสกลางก็ได้ ถ้าเป็นชื่อของกิเลสที่เขาเรียกว่าละเอียด แต่ผมไม่เรียก ก่อนผมก็เคยเรียก แต่เดี๋ยวนี้จะไปเรียกมันว่าความเคยชินของกิเลสก็ได้ ถ้าเรียกว่าอนุสัย เรียกว่าสังโยชน์ก็แปลว่ามันเป็นความเคยชินของกิเลสที่ผูกพันจิตใจเรา หรือนอนเนื่องอยู่ในสันดานของเรา เรามีความเคยชินอันนี้ คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสตามชื่อเหล่านี้ ไอ้ความเคยชินที่จะเกิดมากที่สุด ก็คือความเคยชินที่จะเกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวกูของกู แล้วก็ทำอะไรลงไปตามความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู ทางจิตก็ได้ ทางกายวาจาก็ได้ ออกมาถึงกาย วาจาก็ได้ คือมันออกมาเพียงแค่จิตสำนึกก็ได้ ถ้ามันออกเลยมา ออกทะลุเลยมาถึงกายวาจาจนเป็นการกระทำทางกายทางวาจาก็ได้ นั่นแหละความเคยชินของกิเลส คือตัวกูของกู
ดังนั้นมันจึงยากมากที่จะควบคุมทัน ก่อนแต่ที่จะไปรัก หรือไปโกรธมันเข้า ปากก็พูดแล้วว่าตั้งใจว่าจะไม่โกรธ แต่พอมีอะไรมากระพริบ วิบเดียว เร็วกว่าสวิตซ์ไฟฟ้าที่มันไปโกรธเสียแล้ว ไปตีกันหัวแตกแล้ว หรือว่ามันไปฆ่าพ่อฆ่าแม่เขาแล้ว นี่มันเร็วขนาดนี้ ในส่วนความรัก หรือความโลภก็เหมือนกัน จิตใจมันไปถึงขนาดที่เรียกว่ากำหนัดรักใคร่ หลงใหลไปแล้ว ดังนั้นมันจึงต้องสำรวมศีล สำรวมวินัย ปาติโมกข์อะไรไม่ได้ ในเมื่อเป็นผู้ที่ไม่เป็นอยู่โดยชอบ คือไม่มีสติอยู่ตลอดเวลา เขาไม่เป็นผู้มีสติอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าไม่เป็นอยู่โดยชอบ พออารมณ์มากระทบมันก็ไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัวอะไรเสร็จแล้ว กว่าสติจะมา ที่ไหนได้มันไปฆ่าเขาแล้ว นี่อริยมรรคไหนจะเกิดขึ้นแล้วฆ่ากิเลสชนิดนั้น กิเลสชนิดหยาบ ๆ หรือเป็นเพียงปฏิกิริยาของความเคยชินในการเกิดกิเลสได้ มันก็ไม่มี ที่มานั่งภาวนาว่าละกิเลส ๆอะไรนี่มันก็เป็นเรื่องน่าหัว แล้วก็น่าสงสาร
ฉะนั้นจะต้องระลึกนึกไปถึงพระพุทธสุภาษิตที่ว่า เป็นอยู่โดยชอบไซร้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์กันให้มาก แล้วก็พยายามเป็นอยู่โดยชอบอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก มันมีการเป็นอยู่โดยชอบ ที่เราเรียกกันว่าทำอานาปานสติ คือมีสติอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก นี่มันไม่มีช่องให้ความเคยชินของกิเลสจะแสดงบทบาทอะไรออกไป ทีนี้มันก็เป็นการขยายความไม่มีกิเลส ความไม่มีกิเลส ความว่างจากกิเลสที่เป็นชั้นธรรมดาสามัญนี่ ยาวออกไป ยาวออกไป ยาวออกไป ตอนนี้ก็อย่าลืมถึงเรื่องที่เคยพูดมาแล้ว เกี่ยวกับนิพพานโดยกว้าง ๆ มีอยู่กันสามอย่าง ตทังคนิพพาน ความประจวบเหมาะกิเลสไม่เกิดนี่เป็น ตทังคนิพพาน วิกขัมภวนิพพาน มันก็มีเจตนาที่จะกำหนด หรือทำอะไรเอาไว้ ไม่ใช่ความประจวบเหมาะ หรือเป็นไปเอง เช่นอยู่ในฌานในสมาธิอย่างนี้ เขาเรียกว่ากิเลสไม่เกิด ว่างจากกิเลส เพราะอำนาจของ วิกขัมภว อันนั้น แล้วก็อันแท้จริง ที่สามก็คือ สมุทเฉทนิพพาน ซึ่งเขาจะพูดกันว่าความสิ้นไปแห่งกิเลส ความดับไปแห่งกิเลส ชั้นละเอียด อนุสัยอะไรก็ตาม ผมพูดว่าความสิ้นไปของความเคยชินของกิเลส ความสิ้นไปแห่งความเคยชิน แห่งการเกิดของกิเลสในระดับหนึ่ง ระดับหนึ่ง เพราะว่าความสิ้นไปของกิเลส มันพูดคลุม ๆ ให้ฟังง่าย มันต้องขยายความว่าความสิ้นไปแห่งความเคยชินที่จะเกิดกิเลสชนิดนั้น นี่พูดให้เป็นภาษาจิตวิทยา หรือภาษาวิทยาการทางจิตให้มันเห็นชัดออกไป และก็ไม่ขัดกันกับข้อที่ว่า ทำลายอนุสัย หรือสังโยชน์ได้ ถ้าเราไม่ได้เรียนอะไรมาก มันก็ไม่มีปัญหามาก เรายิ่งไปเรียนมาก ก็ยิ่งมีปัญหามาก ที่เรากำลังพูดกันนี่ก็เป็นเรื่องของการเอามาพูด มาเป็นภาษาพูดทางวิชานั้น ๆ
พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่เคยพูดทำนองนี้ พูดเพียงสั้น ๆ ว่าเป็นอยู่ให้ถูกต้อง เป็นอยู่โดยชอบไซร้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ ท่านพูดอย่างนี้ และไม่ได้อธิบายอะไรมากมาย แล้วก็ระบุว่าเป็นอยู่โดยชอบนั้นคืออริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่ให้เป็นอยู่ด้วยความถูกต้อง ๘ ประการนี้เรียกว่าอริยมรรคถ้าเป็นอยู่อย่างนี้โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เพราะว่าเมื่อเป็นอยู่อย่างนี้นั้นมันขยาย ตทังคนิพพาน นี่ออกไปเรื่อย ไม่ให้มันเปลี่ยน ไม่ให้มันขาดตอน จะเรียกว่าเมื่อเราเริ่มเป็นอยู่โดยชอบ คือเริ่มมีการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ในอันดับแรกเท่านั้น คือสักว่าปฏิบัติเท่านั้น มันก็เป็น ตทังคนิพพาน ได้ คือนิพพาน เพราะความประจวบเหมาะของสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วกิเลสเกิดไม่ได้ แต่แล้ว ตทังคนิพพาน นี้มันหมายความว่ามันเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ คือเดี๋ยวมันหายไปเสียได้ แล้วมันชั่วเหตุการณ์ ชั่วความประจวบเหมาะ
ทีนี้เราอย่าไปจับที่ ตทังคนิพพาน เรามาจับที่ต้นเหตุ คืออริยมรรคนี่ ก็เป็นอยู่ให้ถูกต้อง โดยองค์ ๘ ประการไว้เรื่อยไปสิ ทีนี้ ตทังคนิพพาน มันก็ไม่มีโอกาสจะเปลี่ยนแปลง มันมีอยู่เรื่อย ๆ ๆ ดังนั้นความเคยชินที่จะเกิดกิเลส มันก็ถูกปิดโอกาสไม่ให้แสดงบทบาทอะไรได้ จนกระทั่งมันหมดฤทธิ์หมดเดชไป พูดอย่างนี้ดีกว่า จนกระทั่งมันเหี่ยวแห้งไป เพราะมันไม่มีโอกาสที่จะได้กินอาหาร ได้การหล่อเลี้ยง หรือมีความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น มันถูกทำให้เป็นความเคยชินเสียอย่างอื่น ก่อนนี้มันเคยชินที่จะรัก จะโกรธ จะเกลียด จะกลัวตามกิเลส เดี๋ยวนี้มันถูกทำให้เกิดความเคยชินในการที่จะเป็น สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป ที่มีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีพูดจาชอบ การานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พากเพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ นี่มันเปลี่ยนความเคยชินมาเป็นส่วน ๘ ชอบนี้อยู่เรื่อยไป ๆ ๆ ทีนี้ไอ้เคยชินที่จะรักจะโกรธจะเกลียดคือกิเลสนั่นมันไม่มีโอกาส นี่เรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบไซร้ ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้จริงโลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์จริง ความเคยชินในการที่จะเกิดกิเลส เปลี่ยนมาเป็นความเคยชินในการที่จะไม่เกิดกิเลส นี่เรียกว่าความเป็นอยู่โดยชอบ ก็แปลว่ามันไม่มีโอกาสที่จะพบปะกัน แล้วรบราฆ่าฟันกัน หรืออะไรกันเหมือนกับเรานึกโดยอุปมา หรือคำพูดชนิดที่มันเป็นภาษาพูด อย่างวัตถุ อย่างภาพพจน์ เป็นมีดตัดกิเลส เป็นไฟเผากิเลส เป็นอะไรอย่างนั้นมันเป็นภาษาวัตถุ เป็นภาพพจน์ทางวัตถุ
ที่แท้เป็นอยู่โดยชอบนั่นน่ะ มันจะตัดกิเลส เผากิเลส จะอะไรกิเลสอยู่ในตัว คือมันเผาความเคยชินแห่งการเกิดกิเลสอยู่ในตัว นี่เราพูดกันนี้ก็เพื่อให้เกิดความหวัง ความหวัง หรือกำลังใจต่อไปอีก คุณอาจจะมีฉันทะ มีจิตตะ วิริยะอะไรอยู่แล้ว แต่มันไปตายด้าน เกิดความพร้อม หรือกำลังที่จะปฏิบัติ คือความพร้อมนี่มันมีอยู่แล้ว แต่มันตายด้าน เพราะไม่เข้าใจไอ้คำเหล่านี้ แล้วมันก็ไม่มีการเป็นอยู่โดยชอบทุกลมหายใจเข้าออก ตัวเราจะต้องพูด อธิบายเรื่องอาปานาสติ แล้วทำอานาปานสติกันจริง ๆ เลย ต่อไปข้างหน้า แต่นี่พูดให้รู้ว่าโอกาสของอานาปานสติ หน้าที่ โอกาสของอานาปานสติมันจะทำอย่างไรกับกิเลสนั้น ถ้าทำอานาปานสติอยู่อย่างถูกต้อง ก็หมายความว่าเป็นอยู่โดยชอบตลอดเวลา กิเลสไม่มีทางที่ ไม่มีโอกาส ไม่มีทางไม่มีพื้นที่ ไม่มีเนื้อที่อะไรที่จะแสดงบทบาท หรือเกิดออกมาเป็นกิเลส ความเคยชินของกิเลสไม่มีโอกาสไม่มีเนื้อที่ ไม่มีอะไรต่าง ๆ ที่จะทำกิเลสให้เกิดขึ้น นี่เรียกว่าคุณอยู่อย่างเป็นอยู่โดยชอบไซร้ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส แล้วโลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
ถ้าพูดอย่างนี้มันเป็นเรื่องทางจิตวิทยาสมบูรณ์แบบ อะไรมากไป บางคนก็จะฟังไม่ไหว เข้าใจไม่ได้ แต่ครั้งพุทธกาลก็ไม่ได้พูดกัน ก็ให้เป็นอยู่ ให้ระวัง อย่าให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูของกู เหมือนกับที่เราพูดกันอยู่เป็นประจำ แล้วก็ให้ทดสอบการอยู่ของตัวกูของกูกันเป็นประจำอีก วิธีไหน อาการอย่างไหน มันจะเกิดตัวกูของกูขึ้นมา ก็ลองดู เกิดหรือไม่เกิด ถ้าเกิดก็จะได้ลงโทษตัวเอง จะได้รู้สึกละอาย กลัว แล้วก็แก้ไข ลงโทษตัวเอง ดังนั้นจึงว่าระวังตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เมื่อมีอารมณ์มากระทบแล้ว อย่าให้ปรุงเป็นตัวกูของกูขึ้นมา นี่สร้างความเคยชินอันใหม่ สร้างนิสัยอันใหม่ เปลี่ยนนิสัยเก่าที่ว่าเกิดกิเลสทุกทีไปที่มีอารมณ์มาให้เกิด ทีนี้เราจะไม่เกิดกิเลสทุกทีไปที่มีอารมณ์ที่จะให้เกิดกิเลสเข้ามา ก็หัดอยู่อย่างนี้ ฝึกอยู่อย่างนี้ คือไม่เกิดตัวกูในแง่ของความโลภ ไม่เกิดตัวกูในแง่ของความโกรธ ไม่เกิดตัวกูในแง่ของความหลง อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ มันจะปิดกั้นหนทางที่กิเลสจะได้อาหาร อาหารของมัน คือมันได้เกิดตามชอบใจ ได้เกิดโลภ โกรธ หลง ตามชอบใจน่ะเรียกว่ามันได้กินอาหาร ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางอะไรก็ตาม อาหารมันเข้ามาทางนั้น มันได้กินแล้วมันได้เกิดเป็นกิเลสขึ้นมา แต่นี่เราตัดหนทางเสีย ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เอาสติไปอุดไปอัดไว้เสีย มันกินไม่ได้ กิเลสมันจะกินอาหารในฐานะที่เป็นเหยื่อของกิเลสนี้ไม่ได้ พอตาเห็นรูป สติก็มาทันว่าอะไรเป็นอะไร ควรจัดการอย่างไร ไม่ไปรักไปโกรธไปเกลียดไปกลัวอะไรกับมัน มันเข้ามาทางหูก็เหมือนกัน รู้ว่าเสียงอะไร เพื่ออะไร จะต้องทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เพื่อไม่ต้องเกิดความโลภ หรือความโกรธจากเสียงนั้น ๆ นี่คือเป็นอยู่โดยชอบ ปิดกั้นการเกิดแห่งกิเลสอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นการบีบคั้นให้อนุสัย หรือสังโยชน์นั้นน่ะมันร่อยหรอ ๆๆๆ อยู่ อาการอย่างนี้เรียกว่าเราขยาย ตทังคนิพพานให้มันมีอยู่เรื่อย มีอยู่เรื่อย ไม่ขาดตอน อย่างน้อยมันก็มี ตทังคนิพพาน อยู่เรื่อย ถ้า ตทังคนิพพาน ชนิดนี้มีอยู่ ความเคยชินแห่งกิเลสมันก็ร่อยหรอ ๆๆ เหมือนคนไม่ได้กินอาหาร
ดังนั้นโอกาสหนึ่งมันก็สลายตัวไป เรียกว่าสิ้นกิเลส ถึงจะพูดว่าสิ้นกิเลสมันก็เป็นคำพูดสมมุติ เหมือนวัตถุสิ้นไปอย่างนี้ เขาเรียกว่าคำพูดสมมุติ แท้ที่จริงก็มันคือการเปลี่ยนนิสัยได้เด็ดขาด เปลี่ยนความเคยชินได้เด็ดขาด เป็นความเคยชินฝ่ายอริยมรรคหมด ไม่เป็นความเคยชินฝ่ายกิเลสเลย ไม่มีเหลืออยู่เลย เราไปเรียกมันว่าสิ้นกิเลส ความสิ้นแห่งกิเลส เราเรียกกันสั้น ๆ ลุ่น ๆ ว่าความสิ้นไปแห่งกิเลส ที่แท้เป็นความสิ้นไปแห่งความเคยชินในการที่จะเกิดกิเลส ดังนั้นอุตส่าห์ฝึกฝน อบรมเป็นอย่างดีในข้อนี้ เป็นอยู่ให้ชอบ สัมมา...โดยชอบ ๘ ประการนั้น เขาเรียกว่าความเป็นอยู่โดยชอบ สร้างความเคยชินใหม่ในทางที่จะไม่เกิดกิเลสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็สูญสิ้นความเคยชินในการที่จะเกิดกิเลส เมื่ออารมณ์มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรื่องมันมีอยู่เท่านี้ นี่คือความสิ้นไปแห่งกิเลสด้วยอำนาจของอริยมรรค
ประโยคอย่างนี้ถ้าคุณจำไว้ได้ทุกตัวอักษรนี้มันช่วยได้มาก ความสิ้นไปแห่งกิเลสที่แท้ ความสิ้นไปแห่งความเคยชินของการที่จะเกิดกิเลส แล้วก็ด้วยอำนาจแห่งอริยมรรค แต่เรามาพูดสั้น ๆ ว่าสิ้นกิเลส เพราะอริยมรรค คนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง ไม่รู้ความจริง มันก็เข้าใจผิด แล้วมันก็เข้าใจผิดอยู่จนตาย มันก็ไปค้นนั่นค้นนี่อยู่เรื่อย ไม่มีทางที่ปฏิบัติได้ เว้นเสียแต่ว่าบังเอิญไปปฏิบัติถูกต้องอยู่โดยไม่รู้สึกตัวคือ เอาแต่ว่ามีอานาปานสติที่ถูกต้องไม่ปล่อยให้เกิดความรู้สึกที่เป็นกิเลส ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางกาย และทางใจก็มีเท่านั้นเอง ที่เราได้ยินได้ฟังอุปมาว่าเหมือนกับมีดตัดกิเลสเหมือนกับไฟไปเผากิเลส ไปย่างกิเลส ความคิดมันก็เลยเป็นในทางวัตถุหมด มันก็ได้แต่หวังอยู่เท่านั้นเอง กลายเป็นความฝัน ความหวังอะไรอยู่ ยังไม่ใช่ความจริง ก็เลยปฏิบัติไม่ได้ ที่ว่าจะเป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ และจะพาลไม่เชื่อเสียด้วย คนเช่นนั้นจะพาลไม่เชื่อคำพระพุทธสุภาษิตนี้เอาเสียด้วย เฮ้ย,ทำไมมันง่ายนักเล่า ให้ไปอยู่ชอบ ๆ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ไอ้เราปฏิบัติเกือบตายจะมีศีลอย่างนั้น จะมีศีลอย่างนี้ จะมีสมาธิอย่างนั้น จะมีสมาธิอย่างนี้เกือบตาย อยู่ทุกวันก็ไม่เห็นจะสิ้นกิเลส นี่มันเป็นคนหลับตาปฏิบัติ เป็นคนหลับตาปฏิบัติ แล้วก็คิดว่ารู้ หรือว่าลืมตา ฉะนั้นเราทำความเข้าใจกันให้ดีเป็นพิเศษก็ในส่วนที่ว่า มีความเห็นชอบเป็นอย่างไร ดำริชอบเป็นอย่างไร วาจาชอบเป็นอย่างไร การงานชอบเป็นอย่างไร เลี้ยงชีวิตชอบเป็นอย่างไร พากเพียรชอบเป็นอย่างไร สติระลึกชอบเป็นอย่างไร สมาธิอันตั้งจิตมั่นชอบเป็นอย่างไร เท่านั้นแหละ อุตส่าห์ดู แล้วปรับปรุงอันนี้ให้มันจริงยิ่งขึ้น แม้เราจะไม่รู้เรื่องอะไร ไม่รู้อะไรอื่นที่เขาพูดกันอย่างยืดยาวมากมาย พิสดารไม่รู้ก็ได้ รู้แต่เพียงเท่านี้พอ เพื่อที่จะเป็นอยู่โดยชอบ พอ พอที่จะเป็นพระอรหันต์
ฉะนั้นสนใจที่จะมีไอ้ชอบ ๆๆ ไอ้ ๘ ประการนี้ให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เช่น สัมมาทิฐิเห็นชอบนี่ก็คือรู้จักไอ้ตัวกูของกูที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์มากขึ้น รู้จักไอ้ความที่ไม่มีตัวกูของกูแล้วไม่มีทุกข์นี่ให้มันมากขึ้น ๆ นี่เป็นสัมมาทิฐิโดยตรง โดยเฉพาะเรื่อง เจาะจงยังเรื่องนี้ไม่พร่า ไม่อะไร นี้ก็ไม่ต้องศึกษาจากหนังสือ ศึกษาจากจิตใจและภายในล้วน ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง มีสัญญาและใจนี้ ทุกคราวที่มันมีความคิดเป็นตัวกูของกูแล้วมันต้องร้อนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ไม่ร้อนด้วยราคะ โลภะ ก็ต้องร้อนด้วยโทสะ โกรธะ หรือว่าร้อนด้วยโมหะ คือร้อนชนิดที่ไม่รู้สึกตัวนี้ ก็ไม่ต้องเรียนจากหนังสือ เรียนจากชีวิตประจำวัน มันโง่กี่ครั้งในวันหนึ่งเกิดตัวกูของกูกี่ครั้งในวันหนึ่ง มันมีเกิดโลภะกี่ครั้ง โทสะกี่ครั้ง โมหะกี่ครั้งไม่ต้องเรียนจากหนังสือ ขืนเรียนจากหนังสือก็ยิ่งไม่รู้ธรรมะ ยิ่งไม่รู้ธรรมะที่แท้จริง นั่งดูความเลว ความผิดพลาด ความประมาทอะไรของตัวนี่ว่ามันเกิดทุกข์ขึ้นมาอย่างไร แล้วก็อย่ามีมัน แล้วมันก็ไม่เกิด แล้วมันก็รู้ได้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เกิดมาจากอะไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร เกิดมาจากอะไร เรียกว่ารู้อริยสัจที่แท้จริงไม่ใช่ตัวหนังสือ มีสัมมาทิฐิที่แท้จริงได้อย่างนี้ ถ้าสัมมาทิฐิมันเป็นไปได้จริงอย่างนี้แล้ว สัมมาสังกัปโป คือความปรารถนานั้นมันก็เดินถูกทางของมันเอง มันอยากพ้นทุกข์เอง ขอให้รู้จักความทุกข์จริง ๆ เถอะมันอยากพ้นทุกข์ของมันเอง เดี๋ยวนี้มันไปบังคับให้ปรารถนาทั้งที่มันแสนจะโง่ ไอ้คนบรมโง่นี่มันปรารถนานิพพาน ทั้งที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพื่ออะไร จากอะไร แล้วก็หมายมั่นปั้นมือที่จะบรรลุนิพพาน อธิษฐานอย่างนั้นอย่างนี้ สัมมาสังกัปโปตาบอดแบบนี้มันก็ไปไม่รอด มันต้องมาจากตาสว่าง คือสัมมาทิฐิ แล้วก็ไม่ใช่นิพพานที่อื่น นิพพานต่อกี่ร้อยชาติแสนชาติก็ไม่ใช่ นิพพานในชีวิตประจำวันนี้เอง
แม้แต่ ตทังคนิพพาน นี้ พอมันว่างจากตัวกูแล้ว ว่างจากของกูอย่างนี้แล้วมันก็เย็นสบายอย่างนี้ ก็รู้ก็แล้วกัน พอตัวกูของกูเผลอเกิดขึ้นมาได้ อ้าว,มันก็ร้อนอย่างนี้ เท่านี้เองเราก็จะรู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้อะไรตามหลักของอริยสัจ ๔ มากขึ้น ๆๆ ในชีวิตประจำวัน ทีนี้ สังกัปโป คือความดำริ หรือความปรารถนามันก็เดินถูกทาง คือจะไม่เป็นอย่างนี้! กูจะไม่เป็นอย่างนี้อีกต่อไป! ทีนี้เมื่อว่ามันมุ่งหมายจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอำนาจของสัมมาทิฐิแล้ว ปากมันก็จะพูดแต่ที่ถูกที่ควร คุณจะมองเห็นว่าถ้าไอ้ความรู้อย่างนั้นมีอยู่ ความปรารถนาอย่างนั้นมีอยู่แล้ว ปากมันจะพูดแต่ที่ถูกที่ควร ไม่หอน ไม่เห่า ไม่บ้ง ไม่เบ้งไม่ล้งไม่เล้งเหมือนที่เป็น ๆ กันอยู่ ดังลั่นเอ็ดตะโร พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไม่ควรพูด ด้วยเรื่องที่ไม่ควรพูด ด้วยอาการที่ไม่ควรพูด เพราะมันไม่รู้ธรรมะ ตัวกูของกูมันยกหูชูหาง มันก็เห่าหอน ร้องลั่นไปวันหนึ่ง ๆ บ้งเบ้ง ๆ ที่นั่นที่นี่ด้วยความประมาท นี่ไม่มีสัมมาวาจา ก็ระวังทุกลมหายใจเข้าออก ที่ให้ความรู้เรื่องตัวกูของกูแจ่มแจ้งอยู่เป็นสัมมาทิฐิ แล้วมันคล้าย/ใกล้(47.28)ที่จะไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นตัวกูของกู แล้วปากมันพูดถูกเอง มันจะหุบลงไป มันไม่มีอะไรจะพูด ที่มันพูดมากนี่มันพูดเพราะความเงี่ยน ความกระหาย ความอะไรของตัวกูของตัวกูที่มันกำลังเกิดอยู่ข้างใน เดี๋ยวนี้สัมมาทิฐิทำให้เราว่างจากตัวกูของกูอยู่ชั่วขณะ ๆๆ เรื่อยไป ปากมันก็ไม่พูด ไม่มีอะไรจะพูด มันจะพูดก็ต่อเมื่อมันมีเรื่องจะพูดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และมันก็พูดถูกหมดเพราะมันไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็พูดถูกหมดไม่มีขาดศีลเพราะปาก ไม่มีเสียธรรมะเพราะปาก
ทีนี้อันถัดไปคือ สัมมากัมมันโต คือการงานชอบ ก็เหมือนกันอีกแหละ ถ้าใจมันถูกแล้วการกระทำมันก็ถูก มันก็เป็น สัมมากัมมันโตไม่ฆ่าไม่ลักไม่ขโมย ไม่อะไรอย่างที่เขาเรียกกันว่ามีกุศลกรรมบถ มีการกระทำชอบ ทีนี้มันไม่รากฐานมาจากสัมมาทิฐิ มันจะบีบบังคับลงไปให้ไม่ทำอย่างนี้ มันก็สู้กิเลสไม่ไหว มันจึงมีเบียดเบียนผู้อื่น มีการอะไรที่เรียกได้ว่าขาดศีล ขาดศีลพื้นฐานอยู่เสมอ ๆ ทั้งที่เป็นพระเป็นเณร มีฆ่า มีขโมย มีล่วงเกินของรักของผู้อื่นทั้งที่เป็นพระเป็นเณร ตรงนี้ขอแทรกนิดหน่อยว่า สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา สัมมากัมมันโตที่เป็นส่วนศีลนี่ ให้ถือความหมายของมันให้กว้าง ๆ อย่าถือแคบ ๆ ตามตัวหนังสือ แล้วตามหนังสือชั้นหลังที่ไปแจกองค์ศีลอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ มันจำกัดแคบจนขัดกันในตัว ยุ่งไปหมด ถือให้มันกว้าง ๆ โดยบริสุทธิ์ใจเลย ว่ามันจะไม่ทำโดยเด็ดขาด โดยประการทั้งปวง ไม่ต้องไปเป็นหมอความกับศีล ว่าต้องครบองค์อย่างนั้นอย่างนี้ จึงจะขาดศีลเท่านั้นเท่านี้ อย่างนั่นมันเป็นเรื่องหมอความ เป็นทนายความที่จะแก้ตัว เราปฏิเสธเด็ดขาดจะไม่เอากับมันเลย ไอ้ที่ว่าความหมายกว้าง ๆ นั่นหมายความว่าไม่ต้องไปรู้รายละเอียด ถือความหมายกว้าง ๆ เช่นศีลข้อที่หนึ่ง ปาณาติปาตา เวระมะณี นี้จะไม่ประทุษร่างกาย และชีวิตของผู้อื่นไม่ประทุษร่างกาย และชีวิตของผู้อื่นโดยวงกว้างไม่จำกัดเลย ไม่ต้องแจกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันมีช่องสำหรับจะแก้ตัว มันจึงไปแจกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วข้อที่สอง อทินนาทานาเวระมะณี ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น มีเท่านี้แหละ โดยวิธีใด โดยปริยายใด โดยอันดับโดยปริมาณใดไม่ทั้งนั้นเลย ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น แล้วข้อสาม กาเมสุมิจฉาจารา นี่ไม่ไปประทุษร้ายของรักของผู้อื่น ไปทำให้มันหม่นหมอง ให้มันชอกช้ำน้ำใจ ถือว่าเป็นของรักของผู้อื่นแล้วไม่ ๆๆ ไม่ต้องพูดถึงชู้สาวผัวเมียอะไรกันหรอก ของรักทุกชนิดน่ะอย่าไปแตะต้องของเขา ทีนี้ไอ้ มุสา นี่ก็เหมือนกัน จะไม่ใช้วาจาเป็นเครื่องแสวงหาประโยชน์ เอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตัวด้วยวาจา ใช้วาจาเป็นเครื่องมือ คำว่าวาจานี่จะหมายถึงตัวหนังสือก็ได้ หรือกิริยาท่าทางก็ได้ เขาเรียกว่าวาจาหมด ที่อันสุดท้ายศีลไม่ดื่มน้ำเมานี่ คืออย่าโง่ดีกว่า หรืออย่าเป็นคนโง่ดีกว่า ไอ้ดื่มน้ำเมา ไอ้กัญชายาฝิ่นอะไรแจกไปเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่สิ้นสุด รวมความแล้วมันทำให้เผลอสติ ถ้าเผลอสติมันก็โง่ ดังนั้นถือศีลข้อห้า สุรานั้นน่ะอย่าโง่ อย่าเผลอสติหรืออย่าโง่ทุกประการ ทุกอย่างทุกประการ ถ้าถือศีลอย่างนี้เป็นศีลจริง แล้วจะมั่นคงมากขึ้น ไปมัวแจกองค์ศีลเพื่อเป็นทนายแก้คดี แก้กิเลสอย่างนี้มันก็ไปไม่รอด แล้วศีลห้านี่มันเป็นต้นตอของศีลทั้งหมด ศีลปาติโมกข์ หรือศีลอะไรก็ตาม มันจะแตกแขนงไปจากห้าอย่างนี้ ไปประทุษร้ายร่างกาย และทรัพย์สมบัติของเขา มันมากมาย อย่างศีลปาติโมกข์ ...(53.18ฟังไม่ได้ความ) จะไปเงื้อมือตีเขาก็ไม่ได้ มันก็ออกมาจากข้อนี้ ประทุษร้ายร่างกาย และชีวิตของเขา แปลว่าถ้าถือศีลห้าได้แล้วก็เป็นอันหมดทุกศีล ได้เหมือนกัน ถ้ามันขยายออกไปได้จากศีลห้า
ทีนี้มันมีแต่ระดับที่ต่างกัน มากน้อยต่างกัน ถ้าเป็นชาวบ้านก็ถือหลวม ๆ หลวมกว่า เป็นพระมันถือละเอียดลออถี่ยิบกว่า ก็มีเท่านั้นเอง แต่เจตนาอันแท้จริงมันเหมือนกัน อย่าประทุษร้ายร่างกาย และชีวิตเขา อย่าประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของเขา อย่าประทุษร้ายของรักของเขา อย่าใช้วาจาเป็นเครื่องหาประโยชน์อันไม่ชอบธรรม หรือทำผิดทางวาจานี่ อย่าโง่ คืออย่าไปกินของที่ทำให้โง่ อย่าดื่ม อย่ากิน อย่าเสพ อย่าคบของที่ทำให้โง่ ดังนั้นการที่มีเพื่อนเลว ๆ ไปสุมหัวคุยกันแต่เรื่องเลว ๆ ในกุฏินั้นน่ะ มันก็ผิดศีลข้อ ๕ นี้ ข้อสุราเมระยะ มัชชะ ประมาทัฏฐานา นี้ คือมันเผลอสติแล้วมันโง่ มันไปดื่มไปกินทางจิตใจในสิ่งที่ทำให้เผลอสติ แล้วโง่ คบเพื่อนเลว ๆ อันธพาล สุมหัวกัน พูดกันแต่เรื่องไม่มีประโยชน์นี่คือการดื่มน้ำเมาทางวิญญาณชนิดหนึ่ง ก็เรียกว่าเผลอสติแล้วโง่ อย่าเผลอสติแล้วโง่ ก็ถือศีลข้อ ๕ นี้ได้ นี่ผมพูดถึง สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต มากเรื่องเข้าไป แทรกเป็นพิเศษ ต้องการจะพูดว่าถ้ามี สัมมาทิฐิ แล้ว สัมมาสังกัปโป ก็จะมีเอง เป็นไปเอง ดีเอง สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต ก็จะมีเอง ดีเอง เป็นไปเอง ให้ยึด สัมมาทิฐิ ไว้ ให้มันเป็นผู้นำอยู่เรื่อย เป็นผู้นำหน้าอยู่เรื่อย ทีนี้ สัมมาอาชีโว ก็ไม่ต้องไปพูดถึง มันก็เลี้ยงชีวิตถูกต้องเอง สติมันก็ถูกต้องเพราะว่าการที่มี สัมมาทิฐิ อยู่ทุกลมหายใจเข้าออกนั้นคือสติ สัมมาทิฐิ เป็นหลักที่ถูกต้องอย่างนั้นมีอยู่ แล้วเรามีมันอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกนี่ก็เรียกว่า สัมมาสติ แล้ว มีการระลึกชอบในความถูกต้องของ สัมมาทิฐิ นั้นอยู่เรื่อยไป ทีนี้ สัมมาสมาธิ หมายความว่าไอ้เรื่องนี้ต้องมั่นคงลงไปเป็นเหมือนกับว่าลงหลักมั่นคงไม่หวั่นไหว นี่ก็เป็น สัมมาสมาธิ ก็ครบ ๘ องค์ ครบ ๘ องค์มันก็เป็นอริยมรรค ก็เรามีชีวิตอยู่ด้วยอริยมรรค มีลมหายใจเข้าออกอยู่ด้วยอริยมรรค คือการตัดความเคยชินของกิเลส ตัดโอกาสของกิเลสที่จะเกิดมาจากความเคยชินเสียหมดสิ้น ไม่มีช่องมีรูที่จะกิเลสเกิดตามอำนาจความเคยชินเลย แล้วก็เปลี่ยนกลับตรงกันข้ามมาเคยชินในการที่จะไม่เกิดกิเลส คือเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ที่พูดอย่างภาษาของเราที่นี่ก็ว่า เปลี่ยนความเคยชินที่จะเกิดตัวกูของกูนั้นเสีย มาเป็นความเคยชินที่จะไม่เกิดตัวกูของกูเสีย โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
อริยมรรคไม่ได้ไปตัดกิเลสเหมือนมีดตัดหญ้า หรือไม่ไปเผากิเลสเหมือนไฟเผาอะไร แต่อริยมรรคนี่เปลี่ยนความเคยชินของการเกิดกิเลส มาเป็นความเคยชินในการที่จะไม่เกิดกิเลส ทีนี้เราขยาย ตทังคนิพพาน ออกไป ๆ อยู่เรื่อยเป็นประจำ โอกาสหนึ่ง ความเคยชินเปลี่ยน เปลี่ยนกลับไปเลย เปลี่ยนกลับจากที่ชินที่จะเกิดกิเลส มาเป็นชินที่จะไม่เกิดกิเลส ตอนนี้เรียกว่าเป็น สมุจเฉท คือไม่เป็น ตทังคนิพพาน แล้ว จะเป็นนิพพานจริงมาแล้ว เป็น สมุจเฉทนิพพาน อะไรขึ้นมา ทีนี้มันก็หมดปัญหาเรื่องตัวกูของกู
นี่วันนี้ผมตั้งใจจะพูดเพื่อจะอธิบายคำพูดนะ ที่มันสับสนที่สุด เช่นพูดว่าอริยมรรคตัดกิเลสอย่างนี้มันก็เป็นภาษาภาพพจน์ทางวัตถุ เข้าใจผิดเป็นอย่างอื่นเลย แล้วไปยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นวัตถุไปเลยก็ได้ ให้รู้เสียว่าอริยมรรคนี้มันไม่ให้โอกาสแก่กิเลสที่จะเกิดตามความเคยชินของมัน นานเข้า ๆๆ มันก็เปลี่ยนนิสัย หรือเปลี่ยนความเคยชินเด็ดขาดลงไปเท่านี้เอง ก็ไม่มีกิเลสที่จะเกิดต่อไป
ทีนี้เราจะแบ่งระดับเป็นชั้นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ก็ได้ ถ้าเป็นโสดาก็เอาเพียงไม่เกิด ๓ อย่างนะ ชั้น สกิทาคา ก็เพิ่มอีกนิดหน่อย อนาคาก็ไม่เกิดเป็น ๕ อย่างนะ พระอรหันต์ก็คือไม่เกิดหมด เป็นอันว่ามีลู่ทาง มีช่องทางที่คนเราทุกคนนี่ จะปฏิบัติธรรมะได้สำเร็จ ขอให้เป็นอยู่โดยชอบเท่านั้น มันก็จะเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนความเคยชินในการที่จะเกิดกิเลส แล้วในที่สุดก็จะเป็นพระอรหันต์ ที่ว่าโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี่เรียกว่าคำพูดที่เข้าใจยาก เกี่ยวกับเรื่องตัวกูของกู
การบรรยายในวันนี้ เรียกว่าอธิบายคำพูดที่เข้าใจยากเกี่ยวกับตัวกูของกู หรือการละกิเลส การละตัวกูของกู คุณจะเห็นได้ว่ามันมีความซับซ้อนของความหมายของคำพูดอยู่หลายชั้น ถ้าเราต้องการศึกษา อยากศึกษาก็ศึกษา ถ้าไม่ต้องการศึกษาก็ไม่ต้องศึกษา ลงมือปฏิบัติแต่ระวังอย่างที่พูดก็แล้วกัน เอาละพอกันที