แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้อยากจะกล่าวในหัวข้อว่า ความหมายอันสับสนระหว่างคำว่า “ความตาย” กับคำว่า “ความอยู่” ตามที่สังเกตมาเห็นว่า คนธรรมดาสามัญเข้าใจธรรมะได้ยาก สืบเนื่องมาจากความหมายอันสับสนของคำแต่ละคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นคำสำคัญในเรื่องนี้ ความสับสนอันนี้เนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ระหว่างความไม่เหมือนกันของภาษาคนกับภาษาธรรม ความไม่เหมือนกันระหว่างภาษาคนกับภาษาธรรม คือภาษาชาวบ้าน กับภาษาผู้รู้ธรรม หมายความว่าชาวบ้านรู้อะไรไปในรูปของชาวบ้าน ก็พูดกันภาษาชาวบ้าน ส่วนผู้ที่ทิ้งบ้านไปอยู่ในสภาพที่เรียกว่าบรรพชิต ไม่มีบ้าน ไม่มีเรือน เป็นอนาคา จะคิด จะนึก จะมองเห็นอะไรอีกอย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามจากที่ชาวบ้านรู้หรือพูดกันอยู่ในความรู้เรื่องธรรมหรือภาษาสำหรับใช้พูดเกี่ยวกับธรรม
ถ้าอย่างไรก็ขอให้นึกถึงความแตกต่างระหว่าง ๒ สิ่งนี้ไว้เสมอ ๆ ว่า ภาษาคนกับภาษาธรรม หรือภาษาของชาวบ้านกับภาษาของผู้รู้ ในเมื่อคนพูดกัน ๒ คน คนหนึ่งมีความรู้สึกอย่างชาวบ้าน คนหนึ่งมีความรู้สึกอย่างผู้รู้ เมื่อความสับสนในทางความหมายของคำที่พูดกันอยู่ในเวลานั้นมันก็ย่อมจะมี ที่ยิ่งไปกว่านั้นคน ๆ หนึ่งเริ่มเรียนธรรมะ เริ่มเข้ามาศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือไม่ถึงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ด้วยซ้ำไป มันก็เข้าใจคำนั้นบ้าง คำนี้บ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ความสับสนมันก็เกิดขึ้นในความคิดนึกของบุคคลแม้คนเดียว นี่เรียกว่าความสับสนของความหมายที่มีอยู่ในคำพูด คือพูดกันระหว่างบุคคลไม่รู้เรื่องหรือคิดไปแต่ได้ระหว่างคน ๆ เดียวหรือคิดไปแต่ได้ของคน ๆ เดียว เข้าใจอะไรไม่ได้ มันเกี่ยวกับความหมายของคำ ขอให้มองดูในแง่นี้แล้วมองเห็นว่า มนุษย์เราเป็นทาสทางความหมายของภาษา เราตกอยู่ใต้อำนาจของความหมายภาษาที่ใช้กันอยู่เป็นภาพ คือ ติดในคำพูด ไปตามคำพูด แล้วก็ถูกมันทำให้เข้าใจหรือกระทำไปตามความข้าใจ เปะ ๆ ปะ ๆ สับสนวุ่นวายไปหมด
คำมีความสำคัญที่จะพูดถึงในวันนี้ ก็คือคำว่า ความตาย กับความอยู่ ที่จริงความตายกับความอยู่นี้มันเป็นเรื่องเดียวกัน โดยพฤตินัยมีความสำคัญอยู่ที่เป็นเรื่องเดียวกัน คือ ความอยู่ เพราะว่าความตายนี่มันเป็นคำตรงกันข้ามหรือความหมายของความไม่ได้อยู่ ถ้าได้อยู่ก็คืออยู่ ถ้าไม่ได้อยู่ก็เรียกว่าตาย ความรู้สึก ๒ อย่างนี้เป็นต้นตอของความรู้สึกต่าง ๆ ที่เป็นคู่ ๆ ในทาง positive และ negative เรื่อยมา มนุษย์มีปัญญา มีความรู้บัญญัติคำขึ้นใช้มันก็มีคำเกิดขึ้น แต่สำหรับสัตว์มันไม่มีภาษาพูด ไม่ได้บัญญัติคำ มันก็มีแต่ความรู้สึก เพราะความรู้สึกมันเหมือนกับเป็น positive เป็น negative ได้กับไม่ได้ ได้คือความอยู่ ไม่ได้คือความตาย กับรู้สึกความอยู่หรือความตายได้เหมือนกัน เพราะมันคือตัวตาย ก็มีสัญชาตญาณดั้งเดิมอันสำคัญก็คือความอยากอยู่ มันอยากจะยังคงอยู่ ความยังคงมีตัวเราอยู่จึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งหมดของสัญชาตญาณ
อย่างที่ได้พูดวันก่อนแล้ว ขอย้ำอยู่เสมอว่าให้นึกถึงข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของปัญหาทั้งหมด เราไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะผมมันที่คิดมันไกลหรือใครจะพูดว่า เรื่องกามารมณ์เป็นเรื่องใหญ่กว่าทั้งหมด เป็นที่มาของทุกเรื่อง พูดกับชาวบ้าน ไม่ได้เป็นนักจิตวิทยาเป็นไปในแนวภาษาคน คนธรรมดา ภาษาคน ที่มันลึกกว่ากามารมณ์ คือความมีตัวฉันอยู่ ความอยากมีตัวฉันอยู่ ในกามารมณ์เป็นเรื่องแฝง เรื่องอะไรที่แฝงอยู่กับความมีตัวฉันอยู่ ปัญหาเรื่องฉันอยู่นี่จึงเป็นปัญหายิ่งกว่าเรื่องกามารมณ์ ที่มีกำลังยิ่งกว่ากามารมณ์ เหมือนที่พูดว่าพวกคุณยิ่งกลัวตาย มันยิ่งอยากอยู่ยิ่งกว่าคนอื่น มันพบกับความสุขสบายชนิดที่ดีที่สุดยิ่งกว่าผู้อื่น มันก็อยากอยู่
ลองเปรียบเทียบกันดูอย่างนี้ก็ได้ว่า ความรู้สึกทางกามารมณ์ที่รุนแรง มันยังสู้ไอ้ความรู้สึกที่เกี่ยวกับตัวกูไม่ได้ เช่นว่า พอเรื่องตัวกูมันถูกกระทบกระเทือน ไอ้ตัวกู ๆ ถูกกระทบกระเทือนกามารมณ์ก็หายไป เช่น ความละอายมันเกิดในขณะนั้น ความรู้สึกกามารมณ์ก็หายไป การประกอบกิจกรรมทางเพศทำไม่ได้ในเมื่อมีคนมองดูอยู่และผู้นั้นมันรู้สึกละอาย อย่างสัตว์เดรัจฉานมันไม่รู้สึกละอายมันก็ทำไปได้ แต่มนุษย์มีความรู้ มีความคิด มีอะไรบัญญัติกันขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้จนสิ่งที่น่าละอาย เมื่อความละอายมีขึ้นความรู้สึกทางกามารมณ์ก็หายไป นี่ความรู้สึกทางตัวกูมันแรงกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเกี่ยวกับกามารมณ์ของผู้หญิงผู้ชายก็ตาม ฝ่ายหนึ่งถูกสบประมาทโดยเฉพาะสบประมาททางพ่อแม่พี่น้อง ความรักหรือกามารมณ์มันก็หายไป อย่างคู่รักที่เป็นยอดสุดชีวิตจิตใจอะไรก็ตามที่จะเรียกกัน พอเขาเกิดดูถูกเราทางพ่อแม่เข้าขึ้นมา ความรู้สึกรักคือกามารมณ์นั้นจะหายไป เรียกว่าตบหน้าคนรักอย่างสุดสวาทขาดใจได้ทันที ความรู้สึกทางอัฐวิมานะ (นาทีที่ 14.01) หรือทางตัวกูมันแรงกว่าความรู้สึกทางกามารมณ์ มันจึงมีเรื่องอย่างนี้ หรือพอเกิดกลัวตายขึ้นมา ความรู้สึกทางกามารมณ์ก็หนีกระเจิดกระเจิงไปไหนก็ไม่รู้
นิทานจำพวกเกร็ดปกิณกะเล่ากันอยู่ในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าอโศก น้องชายหรือหลานชายอะไรของพระเจ้าอโศกชื่ออะไรก็อย่าเอามาเป็นสิ่งสำคัญ จะชื่ออโศกหรืออะไรก็สุดมันไม่สำคัญแต่ชื่อ แต่คนนั้นก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่าไอ้พวกพระที่มีชีวิตอยู่อย่างพระ มันจะละไอ้ความรู้สึกทางเพศได้อย่างไร เพราะว่าเขาเพียงแต่เห็นเนื้อ เห็นสัตว์ประเภทเนื้อกวางเนื้อทราย กวางหรือทรายนี่กระทำกิจกรรมระหว่างเพศกันอยู่ในป่าเพราะยังมีความกำหนัด พระนี่จะรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความกำหนัด ที่พูดว่าจะหมดความกำหนัดนั้นไม่อยากจะเชื่อ นี้พระเจ้าอโศกผู้มีอำนาจท่านก็ส่งคน ๆ นี้ให้ไปอยู่ในคุกทรมาน คือสมัยโน้นก็มีคุกทรมานเสมือนกับนรกในภาพเขียนตามผนังโบสถ์ทุกชนิด ที่นรกตามฝาผนังโบสถ์ (นาทีที่ 16:45) สิ่งนี้ คล้าย ๆ กับว่าจะเอาตัวไปลงโทษในคุกทรมานระยะหนึ่ง ระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ไปเอาตัวกลับมาถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง เมื่ออยู่ในคุกทรมานหรือกำลังแก่ ต้องรับความทรมานเช่นนั้น ความรู้สึกทางกามารมณ์เป็นยังไง ไอ้น้องชายคนนั้นก็เลยนึกได้ นึกได้หมด ความรู้สึกทางกามารมณ์เกิดไม่ไหว แม้ว่าจะมีการเปลือยกาย มีอะไรในคุกทรมาน จะทำอย่างทารุณก็ไม่รู้สึก เพราะความตายมันมาชะเง้อมองอยู่ พระเจ้าอโศกก็บอกว่านั่นละเหมือนกับภิกษุผู้ปฏิบัติในศาสนานี้ กระทั่งมองเห็นความตายอย่างชัดแจ้ง มองเห็นความหมายของความตาย หรือโทษของความตายอย่างชัดแจ้งเหมือนกับมันมาชะเง้อมองอยู่ กามารมณ์จะครอบงำภิกษุเหล่านั้นได้อย่างไร
นี่คือคำตอบว่าทำไมภิกษุจึงไม่รู้สึกกำหนัด แม้เมื่อเห็นเนื้อทรายประกอบกรรมระหว่างเพศอยู่ในตามป่า ตามที่ที่ภิกษุอยู่ ๆ ตรงนี้ก็จะนึกถึงวิธีสอนธรรมะของคนฉลาด เขาไม่พูดกันต่อปาก เขาส่งไปประสบเข้ากับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วให้มันรู้ขึ้นมาเอง ไอ้เราแต่มัวสอนกันแต่ปาก ในเมื่อความตายคุกคาม ความรู้สึกทางกามารมณ์ก็หนีกระเจิดกระเจิง กระจัดกระจายไปไหนหมดก็ไม่รู้ นี่คือความหมายของความตาย คือเมื่อรู้สึกเกิดรู้สึกเป็นของโสโครกขึ้นมา ความรู้สึกในทางเพศก็หายไป รู้สึกเป็นมีเชื้อโรคขึ้นมา ความรู้สึกทางเพศมันก็หายไป นี่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เห็น ๆ กันอยู่ก็พลอยรู้สึกได้ ความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวกูมันมากกว่าเห็นแก่กามารมณ์ รู้สึกว่าโสโครกหรือมีเชื้อโรคขึ้นมาเท่านั้นมันก็หายไปได้ ความกลัวนั้นมันก็คือความหมายของความไม่อยากตาย เมื่อความตายมีอำนาจ มีกำลัง มีปัญหายิ่งกว่ากามารมณ์ วิธีอยากจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าความตายมันมากกว่าใคร ถ้าเราอยู่ได้เพราะอำนาจของความอยากอยู่หรือไม่อยากตาย ไม่ใช่อำนาจของความหวังในกามารมณ์มันเป็นเรื่องเล็ก
เมื่อมองดูในแง่ของความตายมีอยู่อย่างนี้ลักษณะเป็น negative ความอยู่มันก็ตรงกันข้ามมันเป็น positive ตลอดที่มันเป็น negative positive อยู่ปัญหายังมีอยู่เรื่อย จิตใจต้องสูง อยู่เหนือความหมายของคำว่าเกิดกับตาย มันจึงจะเรียกว่าที่สิ้นสุดของความทุกข์ ฉะนั้นยังไม่ใช่ความดับทุกข์ที่สิ้นสุด มันเพียงแต่กลับไปกลับมา มนุษย์มีความรู้สึกมากขึ้น ๆ ในเรื่อง negative positive แรงขึ้นจนรู้จักพูด รู้จักบัญญัติ เรียกว่า ความหมายของคำ ๒ คำนี้ ส่วนสัตว์ไม่มีความรู้สึก ปัญหามันก็ไม่มีมาก มันไม่ได้เป็นนักศึกษาเหมือนมนุษย์ กลายเป็นเรื่องตาม ธรรมชาติธรรมดาสามัญผ่านไป ๆ ได้ตามธรรมชาติ ส่วนมนุษย์นี่ไม่ได้อย่างนั้น เพราะมีสติปัญญามากก็เลยคิดมาก คิดมากจนเกินจำเป็นกลายเป็นนักคิด แต่ความคิดมันไปไม่ถูกทาง มันก็เพ้อเจ้อ คิดจนตายแล้วตายอีก ตายแล้วตายอีก มันก็ไม่พบจุดจบของความทุกข์ ระวังให้ดี ผู้ที่ชอบคิดหรือเป็นนักคิด ระวังให้ดี อย่าให้มันเดินหรือไหลไปในลักษณะที่ไม่รู้จักจบ ในทิศทางที่ไม่รู้จักจบ ต้องรู้จักไอ้สิ่งที่จะเอามาคิด วัตถุสำหรับคิด คือสิ่งที่มาคิด แล้วก็ต้องรู้จักวิธีที่จะคิดมัน มันจึงจะไปสู่จุดจบของปัญหา คือความทุกข์
เดี๋ยวนี้เราไปเอาอะไรก็ไม่รู้มาคิด แล้วก็ตกอยู่ในอำนาจกามารมณ์ เป็นเรื่องกามารมณ์ไปหมด แล้วเอามาคิดไม่ถูกวิธีจึงไม่นำไปสู่จุดจบของไอ้ความทุกข์ เราคิดแต่ในทางที่จะเอาแต่ได้แต่เป็น เพื่อจะเป็นทาสของมันให้มากขึ้น อย่าเอาเรื่องกามารมณ์มาคิด มันตกอยู่ใต้อำนาจกามารมณ์แล้วมันก็เอาเรื่องกามารมณ์มาคิด มันคิดแต่เป็นทาสกามารมณ์โดยไม่รู้สึกตัว โดยไม่รู้สึกตัวอย่างยิ่ง ๆ มากขึ้นเท่านั้น แล้วมันจะจบได้อย่างไร จนเป็นทาสของกามารมณ์ จนเป็นทาสของความคิด คำว่า ทาส เป็นทาสของความคิดอาจจะไม่มีในภาษาพูดธรรมดา พวกนักศึกษาสมัยปัจจุบันในทางภาษาธรรมะ ทางภาษาศาสนานี่มีมากก็รู้จักกันดีแล้วก็กลัวมัน กลัวที่ตกเป็นทาสของความคิด มันทำให้เสียเวลาหรือตายเปล่าก็ได้ เราต้องหยิบเรื่องที่จะมาคิดให้ถูกต้องและคิดให้ถูกวิธี คือความถูกต้องในการเอาเรื่องมาคิด และคิดให้ถูกต้องในความถูกต้องในความคิดด้วย สำหรับผู้ที่ไม่เคยฟังก็อยากจะรู้ก็เลยมาดูว่ามันคืออะไร นี่มันคืออะไร แล้วมันมาจากอะไร รสอร่อยหรือความเป็นเหยื่อล่อของมัน ความเป็นเหยื่อล่อมนุษย์ รสอร่อยของมันเป็นอย่างไร แล้วพิษร้ายอันตรายของมันคืออะไรจากอันเดียวกัน แล้ววิธีที่เราจะชนะมันคืออย่างไร วิธีที่เราจะพ้นจากอันตรายของสิ่งนี้ วิธีที่จะเอาชนะมันคืออะไร ทบทวนอีกทีหนึ่งว่ามันคืออะไร มันมาจากอะไร รสอร่อยของมันคืออะไร และอันตรายของมันคืออะไร วิธีที่เราจะเอาชนะมันคืออะไร เป็น ๕ เรื่องด้วยกัน
มันคืออะไร ข้อแรกก็แทบจะไม่รู้แล้ว เพียงตอบปัญหานี้ไม่ได้ไม่ถูก เพราะมันมองแต่ในแง่ที่ไม่ถูกวิธี แล้วมันไปมองเตลิดลึกเข้าไปในทางที่ไม่พบคำตอบ หรือคำตอบนั้นพบเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์ ทีนี้พอมาถึงปัญหาที่ ๒ ว่ามันมาจากอะไร มันมาจากอะไรอีกทีหนึ่งแล้วมันยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งลึกลับเข้าไปในดงของความมืด มันคิดไม่ถูกวิธีอย่างวิธีปรัชญาสมัยนี้ มันจะไปรู้ว่าอันนั้นมันมาจากอะไรแล้วมีเหตุผลอะไร มันก็ไปกันใหญ่ไปกันไม่รู้จุดจบ เพียงข้อ ๒ มันก็ไม่รู้จุดจบแล้ว ไม่คิดก็ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง เมื่อคิดจนตายก็ไม่รู้ ฉะนั้น นักคิด นักค้นคว้า นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาแห่งยุคปัจจุบันมันก็มาติดอยู่ที่นี่ มันจะพบว่าคืออะไรหรือจากอะไร มันก็ไปพบในแง่ที่จะเอาไปเป็นเรื่องอร่อย เป็นเรื่องที่ ๓ หลงอยู่แต่อร่อย ๆ ๆ ๆ เรื่อยไปไม่มีจุดจบอีกเหมือนกัน ไอ้ตัวที่เป็นอันตรายของมันเลยต้องไม่พบกัน มันเป็นเรื่องทางวิญญาณมากไป ทีนี้ไปพบอันที่ ๕ วิธีที่จะเอาชนะมันก็เลยไม่พบใหญ่ ก็ไปจมอยู่แค่ว่ารสอร่อยของมัน พบแต่ในแง่ที่เป็นรสอร่อยของความอร่อย (นาทีที่ 30.13) นี่คือการค้นคว้าทางวัตถุ มันเดินไปในแนวนี้แล้วมันไปจบ มันไปตีบตันอยู่ที่นี่ มันไม่จบ มันไปตีบตันอยู่ที่นี่คล้าย ๆ กับว่าจบ มันตีบตันอยู่ที่ความอร่อย เรียกว่าการค้นคว้าอย่างวัตถุอย่างโลกปัจจุบันรวมกันอยู่เป็นเรื่องวัตถุนี่ มันเป็นอย่างนี้ มันจึงไม่ไปพบที่จุดที่จบของเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับชีวิตหรือความทุกข์
ทีนี้ก็มาถึงพวกเราที่อยากจะรู้ธรรมะ ที่บวชนี้อยากจะรู้ธรรมะ อยากจะศึกษาธรรมะ อยากจะปฏิบัติธรรม แล้วได้ผลสุดยอดของธรรมะ มันเป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้แล้ว มันก็ต้องมีวิธีการเฉพาะของเรา วัตถุที่จะต้องคิดต่างกัน ปัญหาที่จะต้องเอามาคิด ผมเห็นว่าในเรื่องความตาย ในเรื่องความอยู่นี่เป็นเรื่องที่ควรคิด เป็นเรื่องที่จะเอามาเป็นวัตถุ เป็นตัว material อันแรกที่ต้องจะคิดว่ามันคืออะไร มีปัญหาเกี่ยวข้องกันอย่างไร แต่แล้วก็อย่างเดียวกันอีกแหละ ที่จะต้องคิดหรือมีวิธีคิดที่ถูกวิธี ถ้าไม่ให้มันเตลิดเปิดเปิงไปเป็นเรื่องไม่รู้จักจบ เป็นเรื่องไม่รู้จักจบนี่มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร การที่จะคิดหรือว่าจะพิจารณาหรือว่าจะมองอะไรก็ตามตามวิธีของการศึกษาธรรมะนี่ มันก็ต้องมีหลักเกณฑ์ที่มีความถูกต้อง อย่าให้มันเลยไป ทีนี้มันจะไม่ให้เลยไปมันก็ต้องรู้ความหมายที่จำกัดอยู่หรือที่มีเฉพาะหรือถูกต้องสำหรับคำ ๆ นี้ ทีนี้เรารู้ไม่ได้ เรารู้ไม่ได้ เพราะเราเป็นคนธรรมดา เป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นชาวบ้านธรรมดา ก็รู้ความหมายทั้งหมดไม่ได้ ก็รู้แต่ในแง่ของชาวบ้านธรรมดา มันจึงเกิดการสับสนขึ้นมาตั้งแต่แรกคิด อยู่ ๆ เราจะมาเริ่มคิดนี่มันคงมีปัญหามาก เพราะว่ามันเริ่มจากสิ่งที่เราไม่เคยรู้และไม่เคยคิด นี่เราไปรับเอาความคิดของผู้ที่คิดได้แล้วมาคิดนี่ มันอยู่กันคนละระดับ เราเป็นคนดิบไม่รู้อะไรเลย และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพระอรหันต์นี่ท่านมองเห็นในสิ่งทั้งปวงครบถ้วนถูกต้องและท่านพูดไว้ในภาษาธรรม คือภาษาของผู้ที่รู้และเห็น ผู้ที่มีความรู้ความเห็นอย่างถูกต้องพูดไว้ในภาษาธรรม ไอ้เราคนดิบ ๆ เป็นชาวบ้านเป็นปุถุชนไปรับเอามาคิด มันผิดฝาผิดตัวกันอยู่ในระหว่างนี้ปัจจุบัน และเราก็ไม่ได้ตั้งต้นคิดจากจุดแรกที่สุด มาคิดในปมที่เป็นในขั้นกลาง ๆ หรือว่าปมสุดท้ายของผู้ที่คิดออกแล้วมันเลยสับสน เพราะความหมายไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมจึงมองเห็นว่าเป็นความสำคัญอยู่ไม่น้อยที่เราจะต้องรู้ความสับสนของความหมายของคำ ๆ หนึ่ง และโดยเฉพาะความสับสนระหว่างคำที่มันเกี่ยวเป็นคู่กันหรือเป็น positive, negative ต่อกัน ที่มันเป็นนี่มีความยากลำบากมากขึ้น เช่น คำว่าความตายกับความอยู่
ทีนี้ขอให้ทุกคนมองให้ดีเป็นพิเศษว่าวิธีของธรรมะ คือวิธีคิด คิดพิจารณาธรรมะในทางศาสนานั่นนะ มันไม่เหมือนกับวิธีคิดของคนอย่างชาวบ้านตามอย่างโลก ๆ การคิดค้นอย่างวิธีของชาวบ้านอย่างโลก ๆ ที่เจริญที่สุด แม้เจริญที่สุดในสมัยนี้ มันเป็นเรื่องคิดอย่างที่เรียกว่าคำนึงคำนวณตามเหตุผล speculation อย่างวิธีของตรรกหรือ logic แล้วก็ไปเอาเรื่องวัตถุ เอาตัววัตถุข้างนอกเป็นหลักเสียมากกว่า หรือว่าอย่างดีที่สุดก็เอาสมมติฐาน hypothesis ที่สมมติขึ้นมาว่ามันจะมีปัญหาอย่างไร ที่จะเรียกกันว่าสมมติฐานหรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะเรียก แต่จะให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องสมมติขึ้นมาว่าปัญหาเป็นอย่างไร มันก็จะคิดเรื่องความตายหรือความอยู่ มันก็ไม่รู้จักตัวความตายหรือความอยู่ ก็ต้องสร้างสมมติฐานนี้ขึ้นมาก็คิดลงบนนั้นด้วยวิธีของการคำนวณตามเหตุผล นี่เป็นวิธีวิทยาศาสตร์หรือปรัชญาสมัยปัจจุบัน ส่วนทางศาสนา ทางธรรมะ ทางภาษาวิญญาณนี่ไม่ใช้สมมติฐาน เป็นวัตถุสำหรับคิดจะต้องเอาความรู้สึกจริง ๆ ในจิตใจเป็นตัววัตถุสำหรับคิด ถ้าจะเรียกว่าสมมติฐานมันก็เรียกได้ แต่มันไม่ใช่หรือมันก็ไม่ถูก มันไม่ใช่สมมติฐานที่ตั้งขึ้นด้วยเหตุผลแต่เป็นเรื่องที่รู้สึกอยู่จริง รู้สึกอยู่แล้ว รู้สึกมานมนานแล้ว ที่เรียกว่า experience ทางฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายจิตใจ รู้สึกจริงทางจิตใจ มันคนละอันกันกับ hypothesis ที่สมมติขึ้นตามเหตุผล
ฉะนั้นการที่จะลงมือคิดมันจึงตั้งต้นผิดกัน ตั้งจุดลงไปผิดกัน การพิจารณาทางธรรมต้องเอาไอ้ experience ทางจิตใจโดยเฉพาะมาเป็นเบื้องต้นวัตถุสำหรับคิด มันจึงสะดวกหรือทำได้ดีแต่ผู้ที่ผ่านชีวิตมามากแล้ว ไอ้การบวชของเดิมของเขาจึงมีแต่เฉพาะผู้ที่ผ่านโลกมาจนเอือมระอาแล้วเท่านั้น แล้วก็ไปบวช แล้วก็ไปคิด แม้จะคิดเรื่องความตายหรือความอยู่ มันก็คิดออกมาจากความเจนจัด ความรู้สึกมีจริงในจิตใจที่ผ่านมาแล้วแต่หนหลังตั้งแต่เกินจนแก่จนบัดนี้ มันจึงคิดลงไปบนตัวของของจริง คือความรู้สึกจริง ๆ ถ้าเราจะให้นักเรียนในมหาวิทยาลัยสมัยนี้คิดเรื่องนี้ มันก็ต้องตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่าความเกิดคืออะไร ความตายคืออะไร ความอยู่คืออะไร ตามวิธีคิดของเขามันคนละวิธี คนละเรื่อง มันจริงด้วยกันแต่มันจริงไปคนละทาง ถ้าเอา ๒ อันนี้มาประสานกันมันก็เกิดปัญหาขึ้นในครั้งแรก คือความความขัดแย้งหรือความสับสนปนกันยุ่ง ในคำพูดคำเดียวกันในความหมายมันต่างกัน นี่ภาษาชาวบ้านกับภาษาธรรมะของผู้รู้มันมีอยู่อย่างนี้ ทีนี้ปัญหามันก็เกิดขึ้นอีกว่า ผู้รู้ ผู้รู้ธรรมะแล้วยังมาพูดภาษาชาวบ้าน พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายผู้รู้แล้วผู้หลุดพ้นแล้วเวลาจะพูดไม่มีภาษาของตัวพูด แต่มีความหมายของตัวโดยเฉพาะไปพูดภาษาชาวบ้าน ฉะนั้นภาษาชาวบ้านที่พระอรหันต์พูดจึงมีความหมายอีกแบบหนึ่งตามแบบของศาสนา เหมือนที่เราเคยอธิบายกันมาแล้ว เรื่องภาษาคน ภาษาธรรม ไปอ่านดูใหม่ก็ได้ เรื่องภาษาคน ภาษาธรรม ผู้รู้ธรรมกับผู้บรรลุธรรมก็ต้องพูดภาษาคนแต่ความมุ่งหมายที่พูดมันต่างกัน
ทีนี้เราก็มาถึงคำ ๒ คำ ๒ คำที่จะพูดคือ ความตายหรือความอยู่นี่ โดยจับหลักใหญ่ ๆ ที่เป็นความสับสนทำให้เข้าใจยาก ไอ้เราคนธรรมดาสามัญมันก็เกิดขึ้นมา เจริญขึ้นมาตามลำดับนี้ มีวิวัฒนาการมาตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติล้วน ๆ ที่เป็นสัญชาตญาณ แม้กระทั่งเกิดความรู้สึกเป็นตายหรือว่าเป็นอยู่ขึ้นมาเป็น negative คือตาย เป็น positive คืออยู่ขึ้นมา แล้วก็มีความหมายตามแนวนี้โดยเฉพาะ ไอ้เขาพูดว่าตาย หรือไม่ได้อยู่ หรือว่างไปเสียจากอยู่ ก็หวาดเสียวหรือสะดุ้ง เราก็กลัวตาย ปัญหาคือความกลัวตายอย่างที่พูดมาแล้วโดยละเอียดครั้งที่แล้ว ๆ มา ๒ - ๓ ครั้ง ปัญหาคือความกลัวตายเป็นอย่างไร ความตายในความหมายของคนธรรมดาเป็นอย่างไร ความอยู่ก็คือความไม่ตาย นี่คู่แรกมันคล้าย ๆ กันกับของสัตว์เดรัจฉาน ความตาย ความอยู่ คู่แรกของมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉาน ที่ต้องเอามนุษย์เขยิบขึ้นมา เป็นว่าไอ้ความไม่มี ไม่มีธรรมะ ไม่มีศีลธรรม นั่นน่ะคือความตายทั้งที่มีชีวิตอยู่ ร่างกายยังไม่ตาย แต่ไม่มีศีลธรรมก็เท่ากับตายแล้ว นั่นละ เอาความตายมาใช้ เอาคำว่าความตายมาใช้ในความหมายอื่นเสียแล้ว
อย่างพระพุทธเจ้าตรัสว่า ความประมาทคือความตาย คนที่ประมาทแล้วนั่นคือคนตายแล้ว มันเกิดอาการอะไรขึ้นมา ลองคิดดู อย่างนี้มันใช้แต่คนพวกเดียว ไม่ใช้แต่สัตว์ เพราะสัตว์มันไม่ฟังอะไรกูในความหมายที่ลึกอย่างนี้แต่อาจจะลดลงไปว่า ถ้าประมาทเมื่อไรก็มีหวังจะตายเมื่อนั้น เพราะสัตว์เดรัจฉานมันประมาทเลินเล่อเมื่อไรก็มีหวังจะตายเมื่อนั้น มันก็มีค่าเท่ากับความตายเหมือนกัน แต่สำหรับมนุษย์มันเล็งถึงข้อที่ว่า พอมันประมาทเท่านั้นมันก็มีค่ามันตายเสร็จแล้ว ตายไปแล้ว ใช้คำว่าตายแล้ว คนประมาทคือคนตายแล้ว นี่มันคนละระดับภาษา คนละภาษาไปเลย ที่มาถึงคำพูดที่เกิดพูดสรุปขึ้นมาว่าตายเสียก่อนตาย คือว่าอยู่เหมือนกับตายแล้ว ตายเสียก่อนตาย หรือตายเสร็จสิ้นภายในตัวแต่ (นาทีที่ 46.42) มันยิ่งหมายลึกขึ้นไปอีกว่า ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ซึ่งเป็นภาวะของพระอรหันต์ ของความเป็นพระอรหันต์ เป็นภาวะของการเป็นพระอรหันต์ คืออยู่โดยไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวกูของกู
ไอ้ตายอย่างนี้มันเป็นภาษาพิเศษยิ่งขึ้นไปอีก คือว่างจากตัวกู ไม่มีตัวกู ว่างจากตัวกู เมื่อไม่มีภาษาเฉพาะของตัวจะพูดก็ต้องพูดภาษาชาวบ้านว่า ตาย ตายแห่งตัวกู หรือพูดให้ดีหน่อยให้ไม่ลึกลับนักก็พูดว่า ว่าง ว่างจากตัวกู ไม่มีตัวกู พอพูดว่าไม่มีตัวกู ชาวบ้านก็ต้องเรียกว่าตายเสมอ นี่มันพูดกันยาก ระหว่างผู้รู้กับผู้ไม่รู้ เพราะความสับสนแห่งภาษาอย่างนี้ ทำให้ชาวบ้านเกิดความสับสนถึงกับว่า เมื่อตะกี้บอกว่า ตายไม่เอา เอาอยู่ เดี๋ยวนี่ก็มาบอกว่า เอาตายอีกแล้ว ไม่เอาอยู่ ไอ้อยู่ของตัวกูนี่ไม่ไหว เป็นนรกทั้งเป็น เอาตายจากตัวกู ไม่มีตัวกูดีกว่า ไม่มีความสับสน เพราะความจริงมันมีอยู่ว่า ไอ้ดับ ดับเสียนิพพาน นิพพานเสีย นิพพานตัวกูเสีย ทำตัวกูให้นิพพานเสีย นั่นนะมันคืออยู่แล้ว กลายเป็นว่าไอ้ตายเสียหมดแล้ว คืออยู่ แต่ไม่ใช่ตัวกูอยู่ เป็นธรรมะอยู่ มันเป็นความอยู่ของสิ่งที่อาจจะอยู่ได้ตลอดอนันตกาล คือความดับเสียซึ่งตัวกู ไม่มีตัวกู ว่างจากตัวกู จึงจะเป็นการอยู่ นี่ภาษาธรรมะที่สูงสุด ชาวบ้านนั้นฟังด้วยความรู้ รู้สึกตามเดิมมันก็ฟังไม่ถูก แล้วก็หวาดเสียวต่อนิพพานหรือความว่างที่ไม่มีตัวกู พวกจึงสะดุ้งเมื่อพูดคำว่าดับเสียซึ่งตัวกู นี่ถ้าใครอยากจะรู้ธรรมะ เข้าใจธรรมะ ก็ต้องสนใจความสับสนของถ้อยคำเหล่านี้ ถ้าไม่งั้นก็ไม่มีทางจะเข้าใจ ถ้าบวชนี่เพื่อจะเข้าใจธรรมะ แล้วก็ต้องเอาเรื่องนี้ไปคิดและคิดให้ถูกวิธี ลำพังคิดอย่างนั้นมันไม่พอ มันต้องพิจารณา พิจารณาจนไม่ต้องใช้เหตุผล คือ มองเห็นตัวความเกิด ความตาย ความอะไรจริง ๆ และก็มองเห็นมันทุกแบบทุกชนิดที่เขาใช้พูดกันอยู่ด้วยภาษานี้
ทีนี้มันก็ยังมีส่วนที่เรียกว่าเบ็ดเตล็ด ปลีกย่อยออกไปตามแขนงของศาสนาบางศาสนา ศาสนาพุทธมีเรื่องที่ทำลายตัวกูให้หมดไป อย่าให้มีเหลืออยู่เลยในความคิดนึก ไม่มี concept ในเรื่องตัวกูอีกต่อไป หมดเกลี้ยงเลย แต่ว่าบางศาสนาไม่เป็นอย่างนั้น บางศาสนาเขาสอนให้หาตัวกูที่แท้จริงให้พบ ถ้ามีตัวกูอยู่ตลอดกาลในแง่ positive ขึ้นมา เช่น ศาสนาฮินดู ก็มีตัวกูที่แท้จริง คือ อาตมัน ที่ต้องหาให้พบ เราไปฟังเข้ามันก็ยิ่งงงกันใหญ่ เดี๋ยวนี้มีคนเขียนปนกัน เอาศาสนาที่มีอาตมันมาปนกับพุทธศาสนา นี่ก็ตามความคิดของเขาถูกต้อง ไอ้พวกที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ไปอ่านเข้าก็เข้าใจผิด เป็นความเข้าใจพุทธศาสนาผิดหรือปนกันยุ่ง แต่ศาสนา positive ได้เปรียบเพราะมันตรงกับความรู้สึกสัญชาตญาณของคนที่เราต้องมีอยู่เสมอ อธิบายให้มีตัวกูของกูอยู่นั่นน่ะ อธิบายมันจะได้เปรียบคนรับเอาได้โดยง่าย จะสอนเรื่องไม่มีตายเหมือนกัน ตัวกูไม่รู้จักตาย ความตายเหมือนกับการเปลี่ยนเสื้อผ้า อาตมันไม่รู้จักตาย เมื่อร่างกายมันตายลง เอาไปเผา เอาไปฝัง ตายลง อาตมันนั้นไม่ได้ตาย ตัวกูไม่ได้ตาย ตัวกูไปหาร่างกายใหม่ในชาติอื่น ในภพอื่น ในโลกอื่น ไปหาเสื้อผ้าใหม่หาบ้านเรือนใหม่ พูดอย่างงั้นฟังง่ายกว่า ตัวกูไม่ได้ตาย ไปหาบ้านเรือนอยู่ใหม่ เพราะบ้านเรือนนี้ชำรุดทรุดโทรมต้องพังทลายไป นี่ก็มีลักษณะเป็น positive อยู่เรื่อย มีได้อยู่เรื่อย มีอยู่ ๆ อยู่เรื่อย ตัวกูมีอยู่เรื่อยก็สบอารมณ์คนทั่วไป ตามสัญชาตญาณที่ไม่อยากตาย อยากมีอยู่ พูดถึงสัญชาตญาณมีอยู่ อยากมีอยู่ ก็ดูตัวเอง อย่าไปดูคนอื่น ไอ้เราไม่อยากตายดิ้นรนขวนขวายทุกอย่างเพื่อจะอยู่ ทำมาหากิน หาเงิน หาเกียรติยศชื่อเสียงเพื่อจะอยู่ เพื่อจะอยู่ให้ดีขึ้นไป แล้วอย่างขั้นต่ำก็เพื่อกามารมณ์ สามัญสัตว์ทั่วไปเพื่อกามารมณ์ ไม่ใช่เพื่อตัวกูอันบริสุทธิ์เหมือนของพวกฮินดูก็ด้วยซ้ำไป
นี่ก็ดูความสับสนของสติปัญญาของมนุษย์ เรียกว่า พุทธศาสนาสอนไปสู่จุดหมายปลายทาง คือสิ้นสุดแห่งตัวกู ศาสนาเวลันตะ (นาทีที่ 54.31) หรือฮินดู เขาก็สอนไปมีตัวกูที่แท้จริงที่บริสุทธิ์อยู่เป็นอนันตกาลตลอดกาล ทั้งยังสอนอันเกิดในประเทศอินเดียด้วยกัน สอนอยู่ในพร้อมสมัยกันในประเทศอินเดีย มันก็ยังแยกกันต่างกันอย่างนี้ ไอ้เราพุทธศาสนาสอนให้ไม่มีตัวกูนี่ก็ถูกจัด ถูกเขาจัดเป็น negative ไป เขาใช้คำพูด negative อยู่ตลอดเวลา ส่วนทางฝ่ายโน้นมันก็พูดด้วยสำนวน positive อยู่ตลอดเวลา เพราะถูกจัดเป็นในพวก positivism ไป นี่เราก็เสียเปรียบ ที่เราพูดกับคนธรรมดายาก คนธรรมดามีหัวเป็น positive เสมอ อยากมีอยู่ อยากได้ อยากเอา อยากดี อยากรวย อยากสวย อยาก เป็น positive หมด ในพุทธศาสนาที่แท้ไม่เป็น negative แต่เป็นศาสนาที่บอกให้หายโง่ ให้หายหลงใน positive แต่ถูกจัดถูกสมมติให้เป็น negative โดยพวกที่เป็น positive นั่นเอง ก็เป็นธรรมดาสามัญสัตว์มีหัวเป็น positivism มีตัวฉัน มีของฉัน มีอะไรอยู่เรื่อย พอได้ยินคำว่าไม่เอา ๆ ๆ เท่านั้นมันก็จัดให้พวกนี้เป็น negative ไปหมดตรงกันข้ามกับกูแล้วโว้ย นี้ยังไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมสำหรับพุทธศาสนา พุทธศาสนาเราต้องการจะอยู่เหนือ positive และเหนือ negative ต้องใช้คำว่าว่าง ว่างจากทั้งสอง แต่ที่เราว่างพวก positive ต้องจัดว่างให้เป็น negative เสมอ นี่ผู้ที่จะค้านพุทธศาสนาก็ตั้งแง่ร้ายให้พุทธศาสนาในฐานะเป็น negative มาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล แม้ว่าเขาไม่ได้ใช้คำนี้ในคำภาษาปัจจุบันอย่างนี้ แล้วก็พูดไปในรูปนี้ ไปในรูปไม่มี ในรูปนัตถิ ไม่มีอย่างนี้
ทีนี้พวกฝรั่งที่มาสนใจในพุทธศาสนาอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ อย่างงู ๆ ปลา ๆ ก็จัดพุทธศาสนาเป็น negative จัดนิพพานเป็นยอดสุดของ negativism มันผิด ผิดเหลือที่จะผิดเลย ไม่รู้พุทธศาสนาในข้อเท็จจริง พุทธศาสนาต้องการจะอยู่เหนือความเป็น positive หรือ negative ถ้าคุณกลัวจะลืม ก็นึกถึงรูปกลม ๆ ที่เขียนเพดานหน้ามุก ติดมหรสพทางวิญญาณ อันหนึ่งดำอันหนึ่งขาวสัมพันธ์กันอยู่ กำลังเวียนว่ายไป นั่นละเป็น positive เป็น negative อีกวงหนึ่งว่างไม่มีสี ไม่มีรูปร่าง ไม่มีอะไรนั่นน่ะ ว่างจาก positive เป็น negative ที่จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนาที่ต้องการจะไปจนพ้นเหนือการมีตัวกูของกู ไม่มี concept ว่าอะไรว่าตัวกูของกูหรือ positive หรือ negative มีตัวกูที่เป็น negative ก็ไม่เอา เป็น positive ก็ไม่เอา ถ้าจับหลักอย่างนี้ได้ไอ้ความสับสนก็จะมีน้อยลง จะเข้าใจพุทธศาสนาได้ ไอ้ความตายหรือความอยู่ในที่สุดไม่ไหวทั้งนั้นแหละ มันเป็นของคู่ ของหลอก เป็นอาการที่หลอกลวงที่อยู่ที่ตัวกูของกู ตัวกูอยู่ตัวกูตาย ตัวกูอยู่ตัวกูตาย มันเป็นอาการหลอก ๆ อันหนึ่งที่ทราบอยู่กับไอ้ความรู้สึก สำคัญมั่นหมายว่าตัวกูของกู นี่ถ้าใครไม่อยู่หรือไม่ตายทั้ง ๒ อย่าง มันก็ต้องดับเสียซึ่งตัวกูเท่านั้นน่ะ จะไปให้มีตัวกูบริสุทธิ์ ตัวกูอยู่อย่างบริสุทธิ์เป็นอนันตกาล เป็นพระพรหมไปเลยนั้น เหมือนชาวฮินดูนั้นเรายอมรับไม่ได้
และนี่คือข้อแตกต่างที่แตกต่างกันระหว่าง เวทัลตะ (นาทีที่ 59:44) กับพุทธศาสนา เวทัลตะคือยอดสุดของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์นั้นมันกว้างเกินไปมีหลายแขนง แขนงที่ดีที่สุดของเขาที่เรียกว่า เวทัลตะ (นาทีที่ 59:58) ก็ไปจบที่มีตัวกูที่บริสุทธิ์ที่ถาวรเป็นอันเดียวกันกับพระเจ้าไปเลย ตัวกูธรรมดาของคน ๆ หนึ่งที่เรียกว่า อาตมัน ตัวกูของ universal ทั้งหมดก็เรียกว่า ปรมาตมัน มนุษย์นี่มีอาตมันของตัวหนึ่ง ๆ individuality ที่อยู่ที่อาตมัน ทำให้มันสะอาดบริสุทธิ์ที่ไปรวมอยู่กับปรมาตมัน มันก็จบ มีตัวกูถาวรอย่างบริสุทธิ์ พุทธศาสนานั้นอยากจะตัดไอ้ concept ตัวกูนี้ออกไปไม่มีส่วนเหลือเลย เหนือเกิด เหนือตาย เหนืออยู่ เหนือตาย เหนือความตาย เหนือความอยู่ แต่ถ้าพูดกลับมาอีกทีหนึ่งมันเป็นความอยู่ชนิดหนึ่งซึ่งไม่รู้จักสิ้นสุดเหมือนกัน เป็นอนันตกาลเหมือนกัน ความว่างจากตัวกูอ้างเป็นความอยู่ตลอดอนันตกาล ส่วนความมีอยู่ของตัวกูเป็นเรื่องประเดี๋ยวประด๋าว จนฝ่ายอื่น ศาสนาอื่นฝ่ายอื่นที่ตรงกันข้ามก็มีตัวกูที่บริสุทธิ์ที่อยู่ตลอดอนันตกาล เป็นตัวกูตลอดอนันตกาล ส่วนฝ่ายของเราคือว่างจากตัวกูตลอดอนันตกาล ดังนั้นถ้านิพพานในความหมายถึงสิ่งหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นที่ดับแห่งตัวกู นิพพานนี้เป็นอนันตกาล จะเรียกว่าความอยู่ก็ไม่ถูก จะเรียกว่าความตายก็ไม่ถูก แต่มันก็ต้องเรียกว่าความอยู่หรือความตายอย่างใดอย่างหนึ่งตรงกัน เพราะว่ามนุษย์มันอยากอยู่ ที่จริงมันไม่ได้อยู่หรือว่าตาย แต่ว่าสิ่งนี้มันก็มีอยู่ สิ่งที่เราอาจจะรู้จักได้มันมีอยู่ คือ นิพพาน มันมีอยู่ในฐานะเป็นนิพพาน ไม่ใช่เป็นตัวกูที่จะเกิดหรือตาย เกิดหรือตาย ๆ ถ้าเราจะเถียงว่าพุทธศาสนาเป็น positive ก็ได้ เป็น positive อย่างยิ่ง คือมีอยู่อย่างยิ่งตลอดอนันตกาลและจริงกว่าเสียด้วย คือไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ทำความทรมานให้แก่ใคร ถ้ามีตัวกูทรมานจิตใจทันที แต่ถ้าไม่เป็นตัวกูมันก็ไม่ทรมานใคร ความหมายของ positive มันควรจะไม่ทรมานใคร ไม่เคยทำความยุ่งยากลำบากให้แก่ใคร
ดังนั้นเมื่อพุทธศาสนาเรา พุทธบุตรเราพูดว่าความมีอยู่เป็นอนันตกาล เป็นชีวิตนิรันดรในทำนองนี้ ขอให้เล็งถึงสิ่งนี้ อย่าไปเป็นมีตัวกูเข้ามา มันผิด ๆ ๆ เหลือจะผิด มีอยู่แห่งธรรมอันบริสุทธิ์เป็นที่ดับแห่งตัวกูของกู คือนิพพานมีอยู่เป็นอนันตกาล ถ้าพูดภาษาชาวบ้านว่านี่คือชีวิตจริง ชีวิตนิรันดร ชีวิตจริงอยู่ที่นี่ เอาชีวิตภาษาชาวบ้าน ๆ มาใช้กับไอ้สิ่งสูงสุดนี้ มันเหนือโลก เหนือชีวิต ถ้ามันมีอยู่ตลอดอนันตกาลเรามีสิทธิที่จะใช้คำ ๆ นี้เพราะว่าประวัติชีวิตมันแปลว่ามีอยู่ มันเลยมีอยู่ทาง spiritual ทางเลยเถิดนั่นขึ้นมาอีก มันก็มีอยู่จริง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มีอยู่ สิ่งนี้มีอยู่ อัตถิ วิตะเว ตะทายะตะนัง ภาษาบาลียืดยาว สิ่งนี้มันมีอยู่ แต่สิ่งนี้มันไม่ใช่นั่น ๆ ๆ ๆ ไม่ใช่ทุกสิ่งที่มนุษย์รู้จักตามวิธีปฏิเสธในภาษาอินเดียในสมัยนั้นก็ต้องปฏิเสธ อย่างที่พระพุทธเจ้าใช้ศัพท์นี้ว่า มันไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลมโว้ย มันไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ วิญญาณนัญจายตนะ อากิญตนัญจายตนะ เนวสัญญานัญจายตนะ (ชั่วโมงที่ 01:05:00) โว้ย มันไม่ใช่การอยู่ มันไม่ใช่การไป มันไม่ใช่การมาโว้ย ปฏิเสธหมดเลย ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่โลกไหนโว้ย ปฏิเสธทุกอย่างบรรดาที่มนุษย์รู้จัก ปฏิเสธไม่รู้ negative ทั้งหมด ไม่ใช่ ๆ ๆ อย่างนั้น แต่สิ่งนี้ก็มีอยู่ในลักษณะที่เป็นของมันเอง เป็นตัวมันเอง มีลักษณะของมันเองซึ่งพระพุทธเจ้าท่านเล็งสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า นิพพาน มันเป็นที่ดับของความทุกข์ทั้งปวง แต่ตรัสเป็นภาษาธรรมดาว่า นี่แหละคือที่สิ้นสุดของความทุกข์แล้ว มีความสับสนระหว่างคำว่า เกิดกับตาย หรือคำว่าตายกับคำว่าอยู่ คำว่า positive เป็น negative ไม่รู้เป็นภาษาไทยเรียกว่าอะไร มันก็มีอยู่อย่างนี้ ทางที่จะสับสนหรือทางสับสนมันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่อย่างนี้
สรุปความว่า ชาวบ้านพูดว่าตาย กับพูดว่าอยู่ ภาษาชาวบ้านมันเป็นของตัวกูของกูทั้งนั้น ภาษาธรรมะ ไม่มีตายไม่มีอยู่ แต่ว่าเป็นภาวะ เป็นสภาพ เป็นสภาวะอันหนึ่งที่มีอยู่ เลยยุให้คำว่าอยู่ให้ชาวบ้านไปใช้กันอยู่ก็ได้ ถ้าได้ยินคำว่าตาย จะใช้ว่าตายก็ได้ มันตายจากตัวกูของกู ตายเสร็จสิ้นแล้วแต่หัว (นาทีที่ 66:59) ตายเสียก่อนตาย คือนิพพาน มันอยู่กับคำว่าตาย ใช้สภาพอันนั้นก็ได้ ถ้าใครไม่ชอบความตาย เอาคำว่าอยู่ไปใช้ มีชีวิตอยู่นิรันดรสภาพอันนั้นก็ได้ ฉะนั้นมีเผื่อให้เลือกตั้ง ๒ อย่าง แล้วแต่คนมันมีหัวเป็น negative จะใช้คำว่าตาย ตายหมด ตายจากตัวกูของกู ดับลงไปจนว่าง แต่สำหรับคนมีหัวเป็น positive อ้าว, อยู่รึ อยู่ ๆ ๆ ตลอดอนันตกาลเลย นี่มันเป็นหนทางที่จะชนะความรู้สึกทั้งหมด ใครอยากเป็น positive ก็มีให้ ใครอยากเป็น negative ก็มีให้ แต่ว่าเรื่องจริงของจริงนั้นอยู่เหนือความเป็น positive หรือ negative ด้วยประการทั้งปวง ฉะนั้น พุทธศาสนาเราจึงไม่ถูกกลืน ไม่ถูกกลืนโดยฮินดูที่เขามีตัวตนมีอาตมันบริสุทธิ์
คนสมัยนี้ คนในโลกสมัยนี้ ศึกษาให้ถูกต้อง เข้าใจให้ถูกต้อง อย่าได้ไปหลงเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสับสนของภาษาที่ใช้พูดและอย่าได้ไปหลงหนังสือใหม่ ๆ ที่จะต้องพูดว่าพวกฝรั่งที่เริ่มเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาของเอเชียนี้ เข้าใจครึ่ง ๆ กลาง ๆ งู ๆ ปลา ๆ เอาไปปนกันยุ่งหมด ถ้าคุณไปอ่านหนังสือชนิดนั้นเข้าแล้วก็ระวังให้ดี จะเข้าใจอะไรไม่ได้จะปวดหัวในที่สุด นี่พูดไปเดี๋ยวจะเป็นเรื่องด่าฝรั่งอีก ฝรั่งเป็นคนที่ชาวเอเชียกำลังยกย่องบูชาอยู่ แต่ผมในฐานะที่เป็นชาวเอเชียที่กำลังมองในแง่ที่ว่า เมื่อมันมาเกี่ยวข้องกับศาสนาของเอเชียนี้แล้วมันทำสับสนปนเปยุ่งไปหมด หนังสือที่ชื่อ Buddhism ที่พวกฝรั่งแปล ไปพูดถึงบทเรื่องการเกิดใหม่หรือเรื่องกรรม ผิดทั้งนั้น ปนกันระหว่างฮินดูกับพุทธยุ่งไปหมด ไปอ่านเข้าระวังให้ดี แต่ถ้าคุณมีหลักตามที่ผมอธิบายให้ฟังนี้อยู่อย่างไม่สับสนแล้ว คุณจะไม่ถูกหลอกหรือจะไม่หลงเผลอไปเข้าใจผิดได้ เวลาของเราก็หมด