แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเรา ขาดตอนไปนานหลายสัปดาห์ เพราะฉะนั้นการมาพูดถึงอีก ก็จะต้องสรุปความที่เป็นใจความสำคัญ ๆ มาเพื่อสัมพันธ์กัน ไม่อย่างนั้นมันก็ฟังยาก ข้อแรกก็คือ เรามีความมุ่งหมายว่าการพูดที่นี่ทุกครั้ง เรื่องธรรมปาติโมกข์นี้ ก็มีพูดแต่เรื่องเกี่ยวกับคัวกูของกูอย่างเดียวเท่านั้น เพราะว่าเรื่องในพุทธศาสนาทั้งหมด ไม่มีเรื่องอื่น เรื่องเกิดขึ้นแห่งตัวกูก็เป็นทุกข์ เรื่องดับไปแห่งตัวกูก็ไม่มีทุกข์ ก็ดับทุกข์ เรื่องพุทธศาสนาก็ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนั้นว่าแต่ก่อนก็ดี ปัจจุบันนี้ก็ดี เราบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับความทุกข์ และความดับทุกข์เท่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้ถือเอาใจความสำคัญสั้น ๆ ไว้เสมอไปว่า เมื่อใดตัวกูเกิดขึ้น เมื่อนั้นก็มีความทุกข์ เมื่อใดตัวกูไม่เกิด หรือดับไป เมื่อนั้นก็ดับทุกข์ หรือไม่มีทุกข์
ที่นี้ปัญหามันเกิดขึ้นตรงที่คนโดยมากไม่เข้าใจคำว่า ตัวกู คืออะไร และเกิดเมื่อไร คนทั่วไปถือเอาความหมายว่า ตัวกูมันก็เกิดทีเดียวจากท้องแม่ แล้วเกิดมาจนบัดนี้ กว่าจะเข้าโลงไป คือเกิดทีเดียวเท่านั้น พูดอย่างนั้นมันก็ถูกแต่เพียงฝ่ายหนึ่ง คือฝ่ายร่างกาย ตัวกูฝ่ายร่างกาย ซึ่งไม่ใช่ความมุ่งหมายในที่นี้ ร่างกายเกิดนั่นเกิดทีเดียวแล้วก็เลิกกัน นั่นไม่เกี่ยวกับความทุกข์ และไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ ไอ้ตัวกูที่เกี่ยวกับความทุกข์ หรือความดับทุกข์นั้นมันเป็นตัวกูที่ไม่ใช่ร่างกาย แต่ที่อาศัยร่างกาย พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นหลักในบาลี พระพุทธภาษิตว่า เมื่อใดมานพนั้นมีเวทนา เมื่อนั้นก็มีตัณหาเกิดขึ้น ตัณหาเกิดขึ้นก็มีอุปาทานเกิดขึ้น อุปาทานเกิดขึ้นก็มีภพเกิดขึ้น ภพเกิดขึ้นก็มีชาติเกิดขึ้น ชาติเกิดขึ้น ก็มีชรา มรณะ โสกะปริเทวทุกขะเกิดขึ้น เมื่อใดเวทนาเกิดขึ้นก็หมายความว่า เมื่อนั้นตัวกูจะเกิดขึ้น คำว่าชาติ คือ ความเกิดในที่นี้ หมายถึงความเกิดอย่างนี้ ไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ แต่เป็นเกิดแห่งความรู้สึกว่าตัวเรา ทุกคราวที่มีเวทนาเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงพูดได้ว่าไอ้เวทนานั่นแหล่ะ เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องรู้ว่ามันเกี่ยวเนื่องกับการเกิดแห่งตัวกู ทุกคราวที่มีเวทนาเกิดขึ้นสำหรับคนธรรมดาสามัญนี้ จะมีการเกิดขึ้นแห่งตัวกู นี่ก็ต้องเข้าใจเป็นหลักที่สำคัญที่สุดที่จะศึกษาเรื่องนี้
ดังนั้นวันนี้ เราก็จะพูดกันถึงเรื่องการเกิดแห่งตัวกู ให้ชัดเจน มีหัวข้อย่อ ๆ ว่า หัวข้อที่เป็นคำพูดที่สั้น สั้นที่สุดว่า เมื่อใดเกิดเวทนา เมื่อนั้นเกิดตัวกู นี่ผู้ที่จะศึกษาเล่าเรียนทางปริยัติ เราถึงไปสอนนักเรียนทางปริยัติ ก็ต้องสนใจเรื่องนี้ ซึ่งในโรงเรียนปริยัติที่แล้วมา เท่าที่ผมเห็น หรือสังเกตเห็น ไม่เคยพูดเรื่องนี้ ไม่เคยสอนเรื่องนี้ จึงทำให้อธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาทไม่เข้าใจ พูดกันไปเท่าไรมันก็ไม่เข้าใจจนได้ ทีนี้ผู้ที่จะปฏิบัติโดยตรง คือไม่ใช่เรียนปริยัติน่ะ ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมโดยตรงนี้ ปฏิบัติกรรมฐานวิปัสสนาโดยตรงยิ่งต้องเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจนที่สุด ไม่อย่างนั้นแล้วมันก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติลงที่ตรงไหน จะกำหนดอะไรกันที่ตรงไหน ขอให้ทุกคนตั้งใจฟัง และพยายามเข้าใจให้ได้ เพราะว่าบัดนี้มันก็ถึงเวลาที่สมควรแล้วที่เราจะเริ่มลงมือปฏิบัติกันบ้างเป็นพิเศษ ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกวันไม่ได้มีการปฏิบัติ เอาว่าต้องมีทุกวัน แต่ทีนี้เราจะทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างรัดกุมขึ้น เป็นพิเศษต่อไปตามสมควร ก็ต้องมีความรู้เรื่องนี้ โดยเฉพาะ เรื่องการเกิดแห่งตัวกู โดยเฉพาะนี่ให้ชัดเจนทีเดียว คือให้ใช้เป็นบทเรียน เป็นวัตถุสำหรับศึกษาพิจารณาได้ เหมือนอย่างเราจะทำอานาปานสตินี้ มันก็มุ่งหมายจะตัด ไอ้ตัวกูของกูนี้เหมือนกัน จะทำให้มันเกิดวิราคะ นิโรธะ ลงไปได้อย่างไร มันสำคัญที่ตรงนี้ ตั้งแต่วิราคานุปสฺสี นิโรธานุปสฺสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี อันดับสุดท้ายสามขั้นนี้มันเนื่องด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมไว้ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าการเกิดแห่งตัวกูนี้ ให้จริง ๆ เลย ไม่ใช่เป็นเรื่องพูดแล้ว แล้วทีนี้เราจะพูดกันโดยเฉพาะถึงเรื่องการเกิดแห่งตัวกูทุกครั้งที่มีเวทนาเกิด ไอ้คำพูดที่เราได้ยินได้ฟังมากที่สุดในเรื่องสติปัฏฐานนั้นน่ะมันถูกที่สุด แต่เราก็ฟังไม่ออกที่สุดเหมือนกัน เช่นว่า เมื่อเวทนาเกิดขึ้นก็พิจารณาเวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา คำอธิบาย คำสอนมันก้องอยู่ในหูอย่างนี้ เวทนานี้สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไอ้ผู้ฟัง หรือผู้ปฏิบัติก็ได้แต่ท่อง ๆ ท่องว่าอย่างนี้ แล้วมันก็เป็นตัวตนเราเขาอยู่เรื่อย ไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้นไอ้เรื่องสอนกันเพียงเท่านี้เป็นเรื่องที่น่าหัว และน่าสงสารเป็นอย่างยิ่ง กายนี้สักว่ากาย ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เวทนานี้สักว่าเวทนา ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จิตนี้สักว่าจิต ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ธรรมะนี้สักว่าธรรม ธรรมทั้งหลายสักว่าธรรม ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มันก็ท่องอยู่นั่นแหล่ะ ไอ้ที่ว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มันได้แต่ท่อง มันจะกำจัดลงไปให้ กว่ามันไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอย่างไร ทำไม่ถูก(12.04) ก็ไม่รู้ เรื่องสติปัฏฐานสี่ อย่างที่มีอยู่ในหลักสูตรนักธรรมนี่มันก็เลยกลายเป็นหมันในทางปฏิบัติ มีผลเพียงท่องจำอย่างนกแก้วนกขุนทองร้อง จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ ไม่มีความหมายเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานั่นแหล่ะถูกแล้ว คือการปฏิบัติ หรือหัวใจของการปฏิบัติอย่างยิ่ง
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้โดยเฉพาะ ระบุเวทนา พระพุทธภาษิตเท่าที่เราสังเกตเห็น หรือค้นพบนี่มันมีแต่เรื่องเวทนา เรื่องเวทนาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องกว้างขวางที่สุด ไอ้เวทนาที่เราได้รับนี่มันทำให้เกิดตัวตนเราเขาได้อย่างไรนั่นน่ะ เป็นปัญหาที่ต้องศึกษา ต้องเข้าใจ ต้องเห็นแจ้ง มันจึงจะปฏิบัติชนิดที่กำจัดตัวตนเราเขาเสียได้ เมื่อมานพนั้นได้เห็นรูปทางตา แล้วก็ตรัสถึงเรื่องทางเสียงทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ได้ลิ้มรสทางลิ้น ได้สัมผัสทางผิวหนัง แล้วก็เกิดเวทนา เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เป็นลำดับไป แล้วก็มีความทุกข์เกิดขึ้น
คำว่า “เวทนา” เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นหลังจากที่อายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกกระทบกันแล้ว เป็นสุขเวทนาบ้าง เป็นทุกขเวทนาบ้าง เป็นอทุกขมสุขเวทนาบ้าง ก็ต้องนึกถึงเมื่อเราได้กระทบอารมณ์ทางตา ทางหู เป็นต้นนั้นจริง ๆ แล้วมีเวทนาขึ้นมาจริง ๆ จะกระทบทางตา ทางหู ทางไหน ก็ตามมันเกิดความรู้สึกทางจิตใจทั้งนั้น เป็นเวทนา คือเป็นความรู้สึก ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่เป็นวัตถุ หรือว่าเป็นเนื้อหนังเป็นอะไร หมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ รู้สึกชอบ ก็เรียกว่าสุขเวทนา รู้สึกไม่ชอบ ก็เรียกว่าทุกขเวทนา รู้สึกชนิดที่ไม่เกี่ยวกับชอบ หรือไม่ชอบ จะสนใจ หรือสงสัย หรือทึ่งอยู่ อย่างนี้มันก็เรียกว่าเป็น อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ยังไม่เป็นทุกข์ หรือเป็นสุข มันจึงให้เกิดผลเป็นตัณหาได้ทั้งนั้น สุขเวทนา มันก็อยาก เป็นตัณหาประเภทอยาก อยากเอา ถ้าเป็นกาม ก็อยากได้เป็นกาม ถ้าเป็นภพ ก็อยากจะได้เป็นนั่นเป็นนี่ ทีนี้ถ้าเป็นทุกขเวทนา มันก็อยากจะไม่เอา อยากจะไม่เป็น หรืออยากจะทำลายเสีย อยากจะทำลายสิ่งนั้นเสีย ก็เป็นความอยากชนิดหนึ่งเหมือนกัน จนเป็นวิภวตัณหา กระทั่งอยากฆ่าตัวเองตายเสียก็ยังมี เพราะมันแก้ไขในเรื่องทุกขเวทนานั้นไม่ได้
ที่นี้เวทนาอันที่สาม คือ เวทนาที่เป็นปัญหา ที่อธิบายกันต่าง ๆ นา ๆ เขาจะอธิบายกันยังไงก็ตามใจ ผมไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่เอามาพูด เท่าที่ผมรู้สึก อทุกขมสุขเวทนานี้ก็ยังเป็นเวทนาอยู่ แต่ไม่แสดงอาการสุข หรือทุกข์ หรือชอบใจ หรือไม่ชอบใจ แต่มันสงสัย มีจิตที่สนใจอยู่นั่นน่ะ เอาออกไม่ได้ ว่ามันจะเป็นอะไร มันจะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ คือมันจะเป็นของดี หรือของชั่ว มีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ เดี๋ยวนี้ยังไม่รู้ ยังไม่รู้สึก นี่อทุกขมสุขเวทนาชนิดนี้ จะมีปัญหา เป็นตัวปัญหา คือทำให้เกิดความอยากประเภทใดประเภทหนึ่งได้ คืออยากรู้ให้แน่ลงไป อยากรู้ว่ามันมีประโยชน์อะไรบ้าง คือมันรบกวนความสนใจ ความอยากอยู่ตามเคย ดังนั้นเอาเป็นว่า เวทนาชนิดไหนก็ตาม เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ยังไม่เป็นสุขเป็นทุกข์โดยตรงก็ตามนี่มันเป็นสิ่งให้เกิดความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่าตัณหา หลาย ๆ ชื่อ ตัณหา คือความอยาก พอมันอยากไปแล้ว คิดดูให้ดีสิ เช่น กินข้าวคำนี้อร่อย แกงกับเฉพาะ มันอร่อย แล้วตัวก็หิว แล้วสติสัมปชัญญะก็มิได้มีในขณะนั้น มันอร่อยอยู่ในปาก ในที่ลิ้น มันก็เกิดความอยาก ความอร่อยนั้นทำให้เกิดความอยาก อยากจะมีรสอร่อยอันนั้นอยู่ ความคิดมันปรุงขึ้นมาเป็นความรู้สึกว่ากูอร่อยอย่างนี้ เราอร่อย ก่อนแต่ไม่มีความอร่อย มารู้สึกขึ้นที่จิตนี่ ความรู้สึกว่าเราอร่อยนี่ไม่มี มันยังไม่คิดนึกอะไรหมด หมายถึงเรื่องนี้นะ หมายถึงกรณีนี้ ส่วนที่มันจะคิดนึกเรื่องอื่นอยู่ก่อนแล้วนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่เอามาปนกัน เพราะเรื่องนี้ ตัวอย่างว่า พอมันอร่อยเข้า มันก็จะมีความรู้สึกว่าเราอร่อย นี่มันจึงมีความพอใจ พอใจในรสอร่อย มีจิตที่จับฝังแน่นอยู่ในความอร่อย กูอร่อย เราอร่อย เรียกว่า “อุปาทาน”
อุปาทาน มีความหมายเป็นเราอร่อย ทีนี้อุปาทานมีแล้วมันก็ปรุงความคิดที่ถัดไป คือความรู้สึกที่เป็นการกระทำว่าเป็นตัวกูนี่ การกระทำความรู้สึกว่าเป็นตัวกู ตัวเราที่อร่อยน่ะ มันชัดขึ้นมากว่าเดิม มันคล้ายกันมาก และมันเนื่องกันมาก มันขยับไปนิดเดียวเท่านั้น อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นว่าเราอร่อยนี่ มันก็สร้างให้เกิดความรู้สึกที่เป็นเรามากขึ้นไปอีก ที่จะเป็น ที่เรียกว่าภพ ความมีความเป็นแห่งตัวเราในขณะนั้นจะเข้มข้นอีก จากอุปาทานนั้น เรียกว่าภพ ทีนี้ความคิดมันไม่หยุดอยู่แค่นั้น มันก็มีการปรุงความคิดเขยิบไปอีกชนิดหนึ่ง คือตัวเราที่เต็มที่ ตัวเราคือสมบูรณ์เต็มที่ มีตัณหาของเรา มีอะไรของเราที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความอร่อยนั้น ทำให้มีความรู้สึกต่าง ๆ นา ๆ เกี่ยวกับความอร่อยนั้นแล้วมันจะสูญหายไปเสีย หรือว่าจะได้มาเพิ่มเติมอย่างไร หรือจะให้มีอย่างนี้อยู่เรื่อยไปอย่างไร นี่ความคิดก็สมบูรณ์เต็มที่ นี้เพราะมีตัวเราอย่างนี้ เป็นตัวเราสมบูรณ์ในทางความรู้สึกคิดนึกอย่างนี้ ว่าตัวเราเกิด โดยสมบูรณ์ มีเราเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ระยะกาลตั้งแต่กระทบอารมณ์ เกิดเวทนานี่ จนมาถึงไอ้ชาติโดยสมบูรณ์อย่างนี้ มันเร็วมาก มันเร็วมากถึงขนาดที่เราไม่อาจจะมารู้สึกว่าอ้าว, เป็นตัณหาแล้วโว้ย เป็นอุปาทานแล้วโว้ย เป็นภพแล้วโว้ย เป็นชาติแล้วโว้ย อย่างนี้ไป ไม่อาจจะรู้สึกได้ คือว่ามันแวบเดียวไป เร็วยิ่งกว่าปืนกล สามสี่ระยะนี่ติดกันไปพรวดเดียว ไปเป็นตัวฉัน ตัวเราหราอยู่แล้ว
ทีนี้ถ้าไม่แยกละเอียดถึงว่าตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ตัณหาให้เกิดทุกข์เลย มีตัณหาก็เกิดทุกข์เลย ไม่ไปมัวแยกอุปาทาน ภพ ชาติอะไรอยู่อีก หรือบางทีก็ตรัสว่าอุปาทานเป็นตัวทุกข์ไปเสียเลย มีเวทนา แล้วมีตัณหา แล้วมีอุปาทาน เอาตัวตรงอุปาทานนั่นน่ะเป็นตัวทุกข์เลย เพราะว่าไอ้ตัวนี้ มันก็คือตัวแน่นอนที่สุดน่ะ เกิดความรู้สึกว่า เรา เราอร่อย เราเป็นสุข จึงว่าอุปาทานน่ะคือ ตัวทุกข์ กล่าวโดยย่อ ปัญจุปาทานขันธ์เป็นตัวทุกข์ เพราะเดี๋ยวนี้ขันธ์มันสมบูรณ์ ปัญจุปาทานขันธ์ขณะนั้นสมบูรณ์ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่สมบูรณ์ แล้วเป็นอยู่ด้วยอุปาทาน ร่างกายนี้น่ะมันเป็นเปลือก เป็นที่ตั้งของจิตใจ จิตใจมันมีความรู้สึก เป็นเวทนาขันธ์ขึ้นมา แล้วเป็นสัญญา มองอีกแนวหนึ่งเป็นสัญญา คือรู้ว่านี้อะไร อร่อยนี้คืออะไร คือแกงอะไร อาหารอะไร รสอันนี้คือรสอะไร ก็รู้ได้ในแว่บเดียวนั้นว่ารสอร่อย ลิ้นมันรู้สึกว่ารสอร่อย รสอย่างนี้มันคือรสอร่อย คือของอย่างนี้เป็นของอร่อย ไอ้สังขาร ไอ้วิญญาณมันก็กำลังครบถ้วนอยู่ที่นั่น ความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น ความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนั้น ความรู้แจ้งทางอายตนะเกี่ยวกับเรื่องนั้น เป็นวิญญาณอะไรครบอยู่ที่นั่น ในขณะนั้น ที่เราเรียกว่าอุปาทานนี่ ในปฏิจจสมุปบาทนี่ ตัวเราเกิดพร้อมหมด เบญจขันธ์กำลังครบ คือมันสัมพันธ์กันครบ แล้วก็มีสิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน อุปาทานนี้ก็อยู่ในพวกสังขาร เรียกโดยศัพท์ทั่วไป มันเป็นพวกสังขาร ในสังขารนั้นเป็นอุปาทานอยู่ จึงพูดได้ว่าเวลานั้นเบญจขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เต็มอยู่ด้วยอุปาทาน ก็เป็นตัวทุกข์ เราสวดกันทุกเช้าทุกเย็น สังขิเตนะ ปัญญจุปาทานะ ขันธาทุกขา มันน่าเลื่อมใส แล้วก็น่าสงสาร น่าเลื่อมใสที่ขยันสวด น่าสงสารที่ไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน มันคืออะไร อยู่ที่ไหน ก็สวด จึงรู้ว่ามันอยู่ที่นั่น คืออยู่ที่เวทนาเกิดขึ้นแล้วมันก็มีตัณหาอุปาทานทันควัน นี่ตัวเราก็เกิดอยู่ที่อุปาทานนั้น และอุปาทานนั้นจึงเป็นตัวทุกข์ไปซะเลย แทนที่จะพูดว่าให้เกิดทุกข์ พูดว่าเป็นตัวทุกข์ไปซะเลยได้ จะพูดว่าให้เกิดทุกข์น่ะ มันช้าไป มันเกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ จะพูดว่าตัวทุกข์ คือรวมหมด ตัวอุปาทานนั่นน่ะเป็นตัวการของความทุกข์น่ะ ตัณหาให้เกิดทุกข์ นี่ก็พูดอย่างภาษาธรรมดาได้ ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ให้เกิดภพ เกิดชาติ แล้วเกิดทุกข์ ตัณหาให้เกิดทุกข์ พอถึงทีอุปาทาน ก็พูดได้เหมือนกันว่า เพราะยึดมั่นจึงเป็นทุกข์ แต่เราไม่ถือเอาความหมายทำนองนั้น ถือความหมายว่าตัวอุปาทานนั่นน่ะเป็นตัวทุกข์ซะเลย เพราะมันจะได้มีพร้อมทั้ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอะไร รวมกลุ่มกันอยู่แล้วเป็นทุกข์ คือเป็นปัญหาขึ้นมา ทรมานจิตใจขึ้นมา ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างเกี่ยวกับความสุขนะ สุขเวทนาเป็นอร่อย กูอร่อย อุปาทานว่ากูอร่อย ถ้ามันเกิดไม่อร่อย เกิดอารมณ์เสีย เกิดอารมณ์หงุดหงิด มันไม่อร่อย มันก็กูไม่อร่อย เป็นทุกขเวทนา เป็นอุปาทานของกู แล้วกูไม่อร่อย กูงุ่นง่านเดือดพล่านอยู่ ถ้ามันจะอร่อยก็ไม่เชิง ไม่อร่อยก็ไม่เชิง มันก็ระงับไอ้ความอยากความข้องใจไม่ได้ มันก็งุ่นง่านอยู่ด้วยความที่ไม่รู้จะเอายังไง รำคาญจริง จะเติมเกลือดี จะเติมน้ำตาลดี มันก็ไม่ทั้งนั้น มันก็เป็นความรำคาญ แต่จะเรียกว่าเป็นความไม่อร่อยก็ได้ แต่นี่เขาหมายถึงว่ามันยังไม่แน่ลงไปได้ว่าอร่อย หรือไม่อร่อย
ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าเวทนา ในฐานะเป็นจุดตั้งต้นของตัวกู ถ้าเทียบกับปฏิจจสมุปบาท มันก็เรียกว่ายังครึ่ง ครึ่งของปฏิจจสมุปบาทเท่านั้น ถ้าจะพูดเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ต้องพูดมาตั้งแต่ต้น คืออวิชชาแล้วสังขาร ให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ อายตนะให้เกิดผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหาไปตลอดสายอย่างที่ว่าเมื่อตะกี้ ที่เราตัดออกไป ไม่พูดถึง เพราะว่าพระพุทธภาษิตนี้ก็ไม่ได้พูดถึง อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูปอายตนะ ผัสสะ พูดถึงว่าเวทนาอย่างเดียว แต่ได้ตรัสว่าเมื่อกุมารนั้น ได้เห็นรูปทางตาเป็นต้น แล้วก็เกิดเวทนานี้ ไอ้คำว่าเห็นรูปทางตา เป็นต้นน่ะมันรวมกลุ่มไว้หมด ตั้งแต่ไอ้อวิชชา สังขาร วิญญาณ มาจนถึงที่นี่ เพราะมันตั้งต้นตรงที่เวทนานั่นเอง มันมีความรู้สึกเวทนา แล้วไอ้สิ่งที่เรียกว่าอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ มันลุกพรึบขึ้นมาในความหมายตามตัวหนังสือนั้น ๆ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ไม่มีความหมายหรอกเช่น ร่างกายนี้ เมื่อไม่ทำหน้าที่อะไรสักอย่างหนึ่งก็ยังไม่เป็นร่างกาย จิตใจก็เหมือนกัน ไอ้นามนี่ ถ้ามันไม่ทำหน้าที่ของจิตใจสักอย่างหนึ่ง มันก็เหมือนกับไม่มี อย่างเวลาที่ตาของเราไม่กระทบรูป หูของเราไม่กระทบเสียง หรือจิตของเราไม่คิดนึกอะไรนี่ มันก็เหมือนกับไม่มีกาย ไม่มีจิต ไม่มีอะไรอยู่ แล้วสิ่งที่เรียกว่าอวิชชา หรือ ความโง่นั้นมันไม่ได้เกิดอยู่ก่อน มันก็เพิ่งเกิด พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า มันเพิ่งเกิด ทีนี้เพิ่งเกิดเมื่อไร ก็เพิ่งเกิดเมื่อกระทบกับเวทนา แล้วเผลอสติ เมื่อมีการกระทบทางตา ทางหู เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเวลานั้นเป็นเวลาที่เผลอสติ ไม่มีความรู้ คือไม่มีความรู้ เมื่อนั้นแหล่ะ อวิชชาก็แว้บออกมาทำหน้าที่ของมัน ฉะนั้นจึงเรียกว่ามีอวิชชา ถ้าความโง่ อวิชชาไม่ได้ทำหน้าที่ เพราะมันยังไม่ได้เกิดขึ้น ยังไม่ได้ทำหน้าที่ ก็เรียกว่าไม่มี จะถือว่าอวิชชามีอยู่ตลอดกาลอย่างนี้มันมีไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ มันจะเป็นของเที่ยง เป็น สัสสต อย่างนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันมีเหตุ มีปัจจัย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าอวิชชา ก็เป็นสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัย แล้วมันต้องเกิดต่อเมื่อมีเหตุมีปัจจัย เดี๋ยวนี้ก็มีเหตุ มีปัจจัย เมื่อตาเห็นรูป แล้วเกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อเวลาเรากินอะไรอร่อย แล้วเกิดเวทนาอย่างนี้ พอเผลอสติ คือไม่มีความรู้ทางปัญญา ทางธรรมะมาช่วย มันเผลอสติไปตามธรรมดาคนสามัญอย่างนี้ มันก็มีอวิชชา ที่ทำหน้าที่โดยให้สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะนี่ลุกทำหน้าที่พร้อมกัน มีการทำหน้าที่ของแต่ละอย่าง ๆ ทุกอย่าง
เวทนานั่นแหล่ะมันเป็นจุดตั้งต้น หรือเป็นรากฐานให้เกิดทุกอย่างขึ้นตลอดสายของปฏิจจสมุปบาท ฟังดูเหมือนกับย้อนหลัง แต่มันไม่ได้ย้อนหลัง ทางซีกนี้ ทางซีกมาทางอวิชชานี้น่ะ ฟังดูเหมือนกับย้อนหลัง เนื่องด้วยว่าจิตนี้มันเป็นของที่ไวมาก ไวเกินกว่าที่จะกำหนดว่ามันเร็วเท่าไร ที่ผมว่าเร็วกว่าปืนกล เสียงปืนกล เราก็ฟังไม่ได้ว่ามันกี่ครั้ง มัน..เสียงติดกันไปหมด ไอ้จิตนี่มันจะเร็วกว่านั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเป็นพิเศษ เพราะเมื่อตาเห็นรูป พอใจ เห็นรูปแล้วพอใจ แล้วรักขึ้นมาอย่างนี้ อวิชชาเกิดขึ้น เพราะไม่มีสติกั้น ป้องกัน ก็ทำให้ทุกอย่างนี่ เป็นฝ่ายอวิชชาหมด จิตนี่จะปรุงไปให้เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติไปหมด นี่ถ้าพูดเต็มสายเป็นปฏิจจสมุปบาทถึงสิบเอ็ดตอน สิบสองตอนของความทุกข์อย่างนี้มันก็ได้ แต่มันละเอียดเกินไป มันเป็นธรรมะที่ละเอียด ที่ยิ่งเกินไป ก็ไม่พูด มาพูดเอาแค่เวทนา และตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ ในสูตรนี้ มันเห็นง่ายขึ้น แต่ว่าไอ้เวทนาที่จะปรุงตัณหา ภพ ชาตินี้ต้องมีอวิชชาเข้ามาด้วย คือเผลอสติ ถ้าไม่อย่างนั้น ไอ้เวทนานี้จะไม่ปรุงตัณหาอุปาทาน เวทนานี้จะกลายเป็นปรุงวิชา ความรู้ หรือปัญญาไปเสียอีก เช่นท่านผู้ที่มีสติสมบูรณ์ หรือกำลังมีสติอยู่ พอกระทบเวทนา มันรู้ทัน มันก็ตัดออกไปได้ว่า เวทนาสักว่าเวทนา ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ยกตัวอย่างเช่น พระอรหันต์ พอมีอะไร เวทนามากระทบ พระอรหันต์ มันก็เลยรู้ด้วยสติที่สมบูรณ์นั้นว่าอ้าว,เวทนาเท่านั้นนะ เวทนาเท่านั้นเอง นี่เรียกว่าท่านมีสติสมบูรณ์ สตินั้นเป็นเครื่องกั้น กั้นนั้น ก็คือกั้นอวิชชาไม่ให้ทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นไอ้สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะมันไม่ทำหน้าที่อย่างที่จะเป็นปฏิจจสมุปบาทสำหรับความทุกข์ มันชะงักเสียแค่เวทนานั้น ไม่ปรุงอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ ตัณหา อุปาทาน อย่างที่ว่า ทีนี้ ถึงแม้ไม่เป็นพระอรหันต์ ยังเป็นเสขบุคคลอยู่นี่ แต่ถ้าได้พยายามฝึกฝนเรื่องสติให้มาก ฝึกฝนเรื่องสติให้มาก คุณช่วยจำไว้ด้วย เดี๋ยวนี้พวกคุณไม่มีการฝึกฝนสติที่มากเพียงพอ ต้องใช้คำว่าฝึกฝนสติให้มาก กว่าจะมีสติมาทันท่วงที และป้องกันการเกิดแห่งอวิชชาได้ ครั้งหนึ่งก็ยังดี ครั้งหนึ่งก็ยังดี ในบางครั้งเราก็ชนะได้เหมือนกันทั้งที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์นี่ ในบางครั้งเรารู้ทันได้เหมือนกัน มันก็หยุดไอ้กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ แล้วก็ให้ความรู้แก่เราว่า เวทนานี้ก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาได้เหมือนกัน การปฏิบัติสติปัฏฐานมันก็สำเร็จได้ เพราะฉะนั้นต้องหัดกันอย่างดีมาก ที่ว่าฝึกสติน่ะ ฝึกสติ คือว่าฝึกไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางจิตใจ โดยไม่มีความรู้สึกควบคุมอยู่ จะไม่เปิดโอกาสให้ความคิดมันปรุงไปโดยไม่มีสติ เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดอย่างที่เรียกว่าอะไรอ่ะ ฉลาดที่สุด คือแก้ลำ หรือว่าป้องกันให้อย่างฉลาดที่สุดนี่ คือว่าพออะไรกระทบ จะสำรวมจิต หรือหยุดจิตใจไว้ก่อนเสมอไป ก่อนที่จะไปรักไปชอบไปโกรธไปเกลียด หรือไปโทสะอะไรออกมานี่ จะหยุดเสียก่อนขณะหนึ่ง
ทีนี้จะพูดถึงไอ้นิทาน เรื่องนับสิบก่อนของฝรั่งสักนิด ที่พ่อเขาสอนลูกว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดเรื่อง ว่าให้นับสิบเสียก่อน ก่อนแต่จะพูดอะไรออกไป ทีนี้ไอ้ลูกสองคนนั้น วันหนึ่งพี่ชายมันทำอะไรพลาด ทำกระป๋องหก หรืออะไรนี่ ไอ้น้องมันกำลังปฏิบัติ ไอ้นับหนึ่งถึงสิบก่อน นี่มันนิ่งอึ้งอยู่พักหนึ่ง มันยังไม่พูด พี่ชายเขาสงสัย อ้าว,นั่นมันเป็นยังไง ถามขึ้น จึงได้ความว่า อ้าว,มันหยุดนับสิบ นับหนึ่งถึงสิบอยู่ก่อน กว่าจะนับหนึ่งถึงสิบนี่ความโกรธมันหายไปแล้ว มันเลยไม่ได้พูดไปด้วยความโกรธ นี่นิทานเรื่องนับสิบเสียก่อนนี้ดี ดี มันเป็นหลักพุทธศาสนาเรื่องมีสตินั่นเอง มีสติก่อนจะพูด หรือจะทำอะไรลงไป ต้องหยุดไว้ทีก่อน นับหนึ่งถึงสิบเพื่อให้สติมันตั้งตัวทัน ให้สติมันมาทัน แล้วจึงจะพูด หรือจะทำลงไป แล้วมันไม่ผิด
ทีนี้หัดเป็นโมโหเจ๊ก แวบมาก็แวบไปอย่างนี้มันก็มีแต่เรื่อง เรื่องร้าย เรื่องเสียหาย เรื่องร้าย ผมก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี เรียกโมโหเจ๊ก คือไม่ยับยั้งชั่งใจ อดกลั้นความโกรธอะไร พูดออกไปทันที มันก็พูดไปด้วยความโกรธ มันก็ด่าเขา มันก็ทำอะไรเขา หรือพูดไปด้วยความโกรธที่มันไม่น่าฟัง อย่างนี้มันเสียหายมาก ทีนี้พออะไรกระทบ พอรู้สึกจิตใจขุ่น หรือเปลี่ยนไปแล้ว จิตใจผิดสภาพปกติแล้วก็หยุด ปิดสวิทช์ เหมือนปิดสวิทช์ก่อน ให้นับหนึ่งถึงสิบ หรือว่าให้ไปท่อง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือจะไปท่องอะไรก็ตามใจ สักสิบข้อ สิบบทอะไรเสียก่อน อย่างน้อยก็ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อ้าว,ไอ้ความโกรธมันเลยไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีช่องจะเกิดได้ จึงไม่ด่าตอบ ไม่ตีตอบ ไม่อะไรตอบ กลับพูดไปในทางที่ถูก ที่ควร ที่มีประโยชน์ แล้วเรื่องมันก็ไม่เกิด แม้แต่ภายนอกเกิดทะเลาะวิวาทกัน หรือว่าบุคคลนั้น มันก็ไม่มีความทุกข์ นี่เคล็ดที่จะหัด ที่จะหัดมีสติทันท่วงทีไม่ให้อวิชชาเกิดนี่ มันมีลักษณะอย่างนี้
ทีนี้เราก็มีวิธีเฉพาะอีก ก่อนแต่จะทำอะไรต้องมีสติ พวกอิริยาบถทั้งหลายนั่นน่ะ สติปัฏฐาน ๔ มหาสติปัฏฐานก็มีเรื่องอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน กิน อาบ ถ่าย อะไรก็ตาม ไปฝึกเฉพาะที่ว่าก่อนที่มันจะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงอะไรทางอิริยาบถนี่ให้มีสติอยู่เสมอ เหมือนที่เขาฝึกอย่างหนอ ๆ ยกหนอ ๆ ย่างหนอ เหยียบหนอ นี้มันคือขยายออกไปให้มากออกไป ขยายให้ยาวออกไป เพื่อจะได้ฝึกง่าย ถ้าเราจะว่าเดินหนอนี่มันเร็วไป เดินหนึ่งก้าวนี่ เราแยกกันเป็นสักสามส่วนอย่างน้อย ยกหนอ ยกเท้าขึ้นหนอ แล้วย่างหนอ แล้วก็เหยียบหนอ เราขยายเหมือนทำแว่นขยายให้มันใหญ่ออกไป มันเห็นชัด เมื่อยกก็มีสติอยู่ ไม่ขาดสติ เมื่อย่างไปก็มีสติอยู่ เมื่อวางลงก็มีสติอยู่ มันก็เลย สติมันก็เลยไม่ขาดในการก้าว ก้าวหนึ่ง ทีนี้เมื่อทำอย่างยาว อย่างขยาย ยืดยาวนี้ได้ มันก็ทำอย่างสั้นได้อีก ฉะนั้นจึงว่าเมื่อเดินก็รู้ว่าเดิน เมื่อนั่งก็รู้ว่านั่ง เมื่อนอนก็รู้ว่านอน คือมีสติอยู่ตลอดเวลาที่อิริยาบถมันเปลี่ยน ว่าสักแต่ว่านั่นเท่านั้นแหละ สักแต่ว่าเท่านั้นแหละ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา สักแต่ว่าขันธ์ ธาตุ อายตนะ อิริยาบถ หรืออะไรก็ตาม สักแต่ว่าธรรม หรือธรรมชาติเท่านั้น เท่านั้นแหล่ะ ไม่มีตัวตนเราเขาอะไร แต่ทีแรกจะหัดเอาคลุม ๆ อย่างนั้นมันก็ไม่ได้ เลยหัดให้ขยายส่วน แล้วฝึกแต่ละส่วน ๆ ให้มันเห็นเป็น ไม่มีบุคคลตัวตนเราเขา นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เขาเรียกว่าความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ แต่มันยังไม่เกี่ยวกับปัญญา มันยังไม่เกี่ยวกับปัญญา มันเพียงแต่ประวิงเวลา จะไม่ทำอะไรโดยไม่มีความรู้สึกที่เป็นสติ นี่ถือได้ว่าเป็นเบื้องต้น มันเป็นขั้นต้นที่สุด โดยหัวข้อว่าจะไม่เคลื่อนไหวอะไรโดยที่ปราศจากสติ เพราะฉะนั้น คนที่ฝึกอย่างนี้มาก ๆ หนักไปมาก ก็เลยดูเป็นคนช้า ๆ ทำอะไรช้า ๆ เปิบข้าวช้า ๆ ยกมือช้า ๆ อะไรช้า ๆ ถ้ามากไปมันก็อาจจะช้าจนเกินควรก็ได้ แต่ความมุ่งหมายเขาไม่ได้ต้องการให้ช้าอย่างนั้น เขาต้องการให้สามารถที่มีสติทุกขณะ ทุกขณะของความเปลี่ยนแปลงของอิริยาบถ ที่ไปขยายให้ช้า มันฝึกง่าย พอฝึกได้แล้วมันก็เร็วไปตามเดิมก็ได้ หรือว่าถ้าว่าช้ามันไม่เสียหายอะไรก็ให้ช้า ๆ ไปก่อน มันปลอดภัยกว่า เพราะฉะนั้นคุณทำอะไรช้า ๆ ดูสิ มันปลอดภัยกว่า ทีนี้ไอ้เด็ก ๆ เณร ๆ ของเรามันลอกแลก ๆ ๆ มันทำอะไรมันพรวดพราด มันก็เลยมีแต่ผิดมาก ลืมก็เก่ง ทีนี้คนโต ๆ นี้ เดี๋ยวก็ลืมกุญแจไว้อยู่ในห้อง งับประตูกุญแจแล้ว เพราะว่าเมื่อก่อนที่จะงับกุญแจ มันไม่ได้คิดก่อนว่ามีสติอะไร ๆ หรือเมื่อทำอะไรตกแตก หรืออะไรทุก ๆ อย่างหลาย ๆ อย่างมันล้วนแต่ไม่มีสติทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้ามันทำอะไรพลาดอย่างนี้ ก็ควรจะเขกหัวตัวเองให้มาก ๆ ลืมกุญแจไว้ในห้องสักทีหนึ่งต้องงัดประตูต้องอะไรกันอย่างนี้ก็ต้องเขกหัวตัวเอง ไม่ได้ฝึกอย่างว่ามีสติก่อนเสมอไป มันมีประโยชน์กระทั่งเมื่อแก่เฒ่าโน่น มันจะมีสติดี ไม่ฟั่นเฟือน แล้วเวลานี้มันก็เป็นคนที่ไม่ต้องเดือดร้อน เช่น ลืมนั่นลืมนี่
พวกเณรหยิบเครื่องฉายสไลด์ในตู้เหล็ก มันมีม้าไม้วางอยู่นี่ มันก็เปิด เอาม้าออกมาทางนี้มันก็เปิด เปิดหยิบเอาของไปมันก็ปิดตู้ ไอ้ม้านี้มันก็ไม่ผลักออก ผมเดินสะดุด มืด ๆ เกือบจะล้มหกลงไปทุกที นี่จะว่าใคร มันลืม มันลืมปิดประตู มันลืมเก็บของตามเดิม มันลืม แล้วไอ้เราก็เดินอย่างที่เรียกว่ามืด ไม่เห็นก็สะดุด หรือว่าแม้ไม่สู้มืด มันก็ไม่เคยจะดู มันก็ต้องสะดุด เพราะฉะนั้นการที่เราไปทำอะไร ไปหยิบอะไร ไปประจำวันนี้ ถ้ามันมีการลืมทำให้เรียบร้อย ก็เรียกว่ามันไม่มีสติเหมือนกัน เรียกว่าเรื่องนี้สำคัญมากในชีวิตประจำวัน ย่างต่ำ อย่างเลว อย่างง่ายนะ มันเผลอ มันใจลอย ถ้ามันมากถึงขนาดนี้แล้วมันทำไม่ได้หรอก ที่จะปฏิบัติกรรมฐานภาวนา มันทำไม่ได้ มันควรจะมีความเป็นระเบียบของสติหยาบ ๆ เลว ๆ อย่างนี้อยู่เป็นพื้นฐานแล้ว มันจึงจะไม่เผลอในเรื่องละเอียด ๆ ยิ่งขึ้นไปอีก ฉะนั้นคุณไปฝึกในข้อนี้กันก่อนสิ แล้วค่อยไปฝึกข้อละเอียดทีหลัง เช่น ลืมอะไรไว้ข้างนอก ฝนตกเปียกหมด ลืมเก็บจีวรไว้ในอารักขา ในหัตถบาตร เป็นนิคสักขียปาติตี หรืออะไรทำนองนี้ ไอ้อย่างนี้อย่ามีกันก่อนสิ ซึ่งมันเป็นสติชั้นหยาบ ชั้นเลว มากมายหลายร้อย หลายสิบหลายร้อยเรื่องในชีวิตประจำวัน พอฝึกอย่างนี้ได้แล้วมันก็ค่อยฝึกอย่างละเอียดขึ้นไปได้ แล้วก็ฝึกอย่างไว อย่างเร็วได้ จนกระทั่งว่าจิตจะไม่ปรุงอะไรขึ้นมาก่อนแต่ที่จะมีสติเสียก่อน จิตจะไม่คิดอะไร ปากจะไม่พูดอะไร กายจะไม่เคลื่อนไหวอะไรโดยไม่มีสติเสียก่อน เพราะฉะนั้น เราฝึกได้ในการทำงาน หรือเป็นอยู่ประจำวัน เรื่องกิน เรื่องอาบ เรื่องถ่าย เรื่องการเรื่องงานเรื่องสังคม เรื่อง...(ช่วงนาทีที่ 52.19-52.53 ท่านถามเรื่องอื่นกับลูกศิษย์วัดที่เดินเข้ามาในห้องบรรยาย จึงขอไม่ถอดเทปช่วงนี้)
นี่คำว่า ”สติ” มีความหมายตั้งแต่หยาบ หรือต่ำที่สุดไปจนถึงละเอียดประณีต หรือสูงสุด ชื่อว่ามีสติสมบูรณ์เป็นพระอรหันต์น่ะ มันอย่างสูงสุด สติอย่างสูงสุด อย่างสูง อย่างดี อย่างไวเลย ทีนี้ไอ้เราน่ะมันไม่มีเสียเลย อย่างหยาบ อย่างเลว อย่างช้า มันก็ยังไม่มีเสียอีก ฉะนั้นไปหัดเตรียมสำหรับอย่างเลว อย่างช้า อย่างต่ำนี่กันเป็นพื้นฐานเสียก่อน จะไม่โกรธ ก่อนแต่จะนับหนึ่งถึงสิบเสียก่อน หรือจะไม่พูดอะไรออกไป ก่อนจะนับหนึ่งถึงสิบเสียก่อน ถ้าโกรธนะ จะไม่พูดอะไรออกไปจนกว่าจะนับหนึ่งถึงสิบเสียก่อน แล้วก็หัดให้มันโกรธช้า หัดให้พฤติของจิตนี้เปลี่ยนไปไปช้า ๆ พอมีสติทัน อย่าชอบทำอะไรวุบวับ ๆ ๆ ๆ เหมือนกับเด็กโง่ ๆ ที่มันอวดเก่งว่ามันทำเร็ว ทำอย่างโมโหโทโส แล้วมันกลับว่าเก่ง ทำด้วยไม่มีสติสัมปชัญญะ มันกลับว่าเก่ง เราจะเห็นเด็กบางคน เณรบางคน แม้แต่พระบางองค์ ทะลึ่งตึงตังพรวดพราด ๆ โดยไม่มีสติสัมปชัญญะ แล้วมันคิดว่ามันเก่ง แล้วมันวิ่งโดนนั่นโดนนี่บ้าง ขับรถชนนั่นชนนี่บ้าง หลาย ๆ อย่าง ซึ่งมันเป็นเรื่องไม่เก่ง แต่มันคิดว่าเก่ง เราจะมีสติสัมปชัญญะทุกกระเบียดนิ้วของจิต ทุกขณะของจิต ทุกกระเบียดนิ้วของจิต ทีนี้เราก็สามารถจัดการกับเวทนา พอเวทนาเกิดขึ้นจะไม่เผลอสติ เมื่อไม่เผลอสติแล้วอวิชชาจะไม่เข้า เข้าสวมรอย เพราะฉะนั้นเวทนานั้นก็ไม่ปรุงตัณหา ไม่ปรุงอุปาทาน ไม่ปรุงภพ ไม่ปรุงชาติ ทุกข์ก็ไม่เกิด เดี๋ยวนี้เราก็มีเวทนาแล้วมันก็ไม่มีสติ อวิชชาก็เข้าประกอบ เข้าปรุง ทีนี้ไอ้เนื้อหนังทั้งตัว ทั้งร่างทั้งหมดทั้งสิ้นมันก็ไปในทางที่เอ้อ,เป็นวิสัยของอวิชชา เพราะฉะนั้นเวทนานั้น จึงปรุงตัณหา ปรุงอุปาทาน ปรุงภพ ปรุงชาติ ปรุงความทุกข์ เป็นปฏิจจสมุปบาทตลอดสาย เรียกสั้น ๆ ว่า ตัณหาให้เกิดทุกข์ ไม่ได้พูดว่าเวทนาเกิดทุกข์ พูดว่าตัณหาให้เกิดทุกข์
แต่เวทนานี้น่ะ มันให้เกิดตัณหาก็ได้ ไม่ให้เกิดตัณหาก็ได้ ถ้าสติมาทันเวทนาไม่เกิดตัณหา เกิดวิชชาไปเลย เกิดความรู้ไปเลย ถ้าสติมาไม่ทัน อวิชชาครอบงำแล้ว เวทนานั้นก็ให้เกิดตัณหาได้ พอเกิดตัณหาแล้ว ไม่มีทางแล้ว ไม่มีช่องแก้ตัวแล้ว มันก็ไปอุปาทาน ภพ ชาติอะไรในแวบเดียว มีตัวกูแล้ว พอตัวกูก็มีทุกข์ทันที ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ทุกข์ในแง่ของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความอะไรก็ได้ทั้งนั้น ความที่ไม่ได้สมหวังนั่นแหล่ะ มันอร่อยแล้วมันก็อยากมาก แล้วกลัววิตกจะไม่ได้ ไม่ได้ตามอยาก หรือมันหึง หรือมันหวง หรือมันอิจฉาริษยา มันคิดนึกป้องกัน เอ้อ,คุ้มครองอะไรล่วงหน้าไปได้ทั้งนั้น แปลว่า ถ้ามันเป็นตัณหาแล้วมันต้องมีความทุกข์ ต้องไปจนถึงความทุกข์ ไม่หยุดแล้ว กระแสนี้ไม่หยุดแล้ว มันจะหยุดก็ต้องเวทนานี้ ถ้าสติมาทันเวทนาไม่ปรุงตัณหา ถ้ามาไม่ทันเวทนาปรุงตัณหา ทีนี้ถ้าว่าใครเก่งมากจนถึงหยุดได้ในขณะแห่งผัสสะก็ยิ่งเก่ง พอกระทบแล้วเขาจะทำเป็นคนบ้าใบ้เสีย ไม่รู้สึกเวทนา ถ้าพอตาทอดปั๊บไปเห็นรูปนี้ทำเป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ เสียสักสิบวินาที นับหนึ่งถึงสิบก่อนแต่ที่จะว่ามันเป็นอะไรโว้ย มันจะเล่นงานกูอย่างไรโว้ยนี่สติมันมีมาทัน ยกตัวอย่างเช่นว่า พอตาเหลือบเห็นผู้หญิงเท่านั้น เห็นภาพที่มีโครงร่างเป็นผู้หญิงแค่นั้นแหล่ะ หยุดความคิด กระแสความคิดไว้แค่ผัสสะทันทีก่อน อย่าให้ไปถึงเวทนาว่าสวยไม่สวย น่ารักหรือไม่น่ารักอะไรอย่างนี้ เป็นเค้า เค้าโครงมาอย่างนั้นก็ว่ามันเคยชิน พอว่าเป็นรูปผู้หญิงก็หยุดความคิดไว้เสียก่อน หลับตาเสียได้ก็ดี สำรวมสติที่ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ความหมายนี้ให้มา แล้วจึงลืมตาดูผู้หญิง มันก็ไม่ไปในลักษณะที่ว่า ไม่ครอบงำจิตใจของเรา
ในหนังสือวิสุทธิมรรค นี่ก็อย่างนิทานเล่าไว้เรื่องหนึ่ง ว่าผู้หญิงสวยคนหนึ่ง มันเดินสวนทางไป มันหนีผู้ชาย หรือหนีสามี หรือหนีชายชู้อะไรผมก็จำไม่ค่อยได้ ไอ้เนื้อเรื่องน่ะ แต่ว่าใจความน่ะจำได้ เดินสวนทางไปกับพระเถระ ทีนี้พอไอ้พวกผู้ชายมาทันก็ถามพระเถระว่าเห็นผู้หญิงคนหนึ่งมาทางนี้หรือเปล่า พระเถระก็บอกว่าเห็นโครง ๆ หนึ่งผ่าน ไปทางนี้ คำว่า”โครงนี้”หมายความว่ามันเป็นเพียงโครงสร้างอันหนึ่ง ไม่รู้ว่าหญิง หรือชาย แกไม่ได้สนใจว่าหญิง หรือชาย เห็นแต่โครงอันหนึ่งผ่านไป นี่ตัวอย่างว่าผัสสะสักว่าผัสสะ ที่คนมักจะเถียงว่าปฏิบัติไม่ได้นี่ พระเถระองค์นั้นก็ไม่แน่ว่าเป็นพระอรหันต์ หรือยังไม่เป็นพระอรหันต์ แต่แกตอบว่าไอ้โครงอันหนึ่งผ่านไปนี่ คือเห็นเป็นโครงรูปร่างอย่างคนนั้นมันผ่านไป ไม่รู้ว่าหญิงหรือชาย อย่างนี้เรียกว่าแกปิดลึกมาก ปิดเสียลึกมากขนาดที่ไม่สนใจว่าหญิง หรือชาย เรียกว่า โครงอันหนึ่งผ่านไป อย่าโดนเราก็แล้วกัน เดินหลีกทางกันไป ในใจจะต้องนึกอยู่ถึงอะไรอย่างหนึ่ง ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็จะต้องนึกถึงไอ้นี่ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา หรืออะไรหนอ ๆ อะไรก็ตามใจ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็หมายความว่าท่านไม่สนใจอะไร อยู่ด้วยความว่าง อยู่ด้วยจิตที่เป็นความว่าง ก็ไม่ได้สนใจว่ามันเป็นอะไร ก็เป็นอันว่าทำได้ในข้อที่ว่าผัสสะสักว่าผัสสะ เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน ได้ดมสักว่าได้ดม ผมเข้าใจว่าอย่างนี้ ในพระพุทธภาษิตที่ตรัสว่า ดูก่อนภาหิยะ เมื่อไรเธอเห็นรูป สักว่าเห็น ฟังเสียง สักว่าได้ยิน ได้ยินเสียง หรือว่าได้กลิ่น สักว่าได้กลิ่นนี่ เมื่อนั้นก็ ตัวเธอจักไม่มี เมื่อนั้นตัวเธอจักไม่มีหมายความว่าไม่เกิดเป็นตัวเราอะไรขึ้นมาเลย นั่นน่ะที่สุดแห่งความทุกข์แล้ว อย่างนี้ผมเข้าใจว่ามีหลักที่พูดได้ว่าผัสสะหยุดแค่ผัสสะ ไม่ปรุงเวทนา เหมือนกับพระเถระองค์นั้นน่ะ เห็นโครงอันหนึ่งเดินสวนทางไปไม่รู้ว่าผู้หญิง หรือผู้ชาย แล้วจะเกิดเวทนาว่าเป็นผู้หญิงสวย หรือไม่สวยอะไรได้ล่ะ มันป้องกันมากถึงขนาดนั้น ตัดบทเสียตั้งแต่ผัสสะ ไม่เป็นเวทนา ทีนี้มันก็ไม่มีเรื่องตัณหา อุปาทานอะไร นี่เราพูดเลยเถิดมามากแล้วในข้อที่ว่าเวทนานี่ให้เกิดตัวกูของกู หรือว่าตัวกูของกูเกิดจาก ตั้งต้นมาจากเวทนา ตั้งต้นไปจากเวทนา ฉะนั้นสำหรับปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่มีสติสมบูรณ์นั้นน่ะ ก็เวทนานั่นแหละให้เกิดตัวกูของกู แต่ถ้ามีสติสมบูรณ์ เวทนานี้ไม่แน่ ให้เกิดวิชชา ปัญญาก็ได้ ให้เกิดตัณหา อุปาทาน ตัวกูของกูก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องหัดแยกทางกันเดินที่ตรงนี้ เมื่อกระทบเวทนาแล้ว สติมาให้ทัน ก็ได้ความรู้ ได้สติสัมปชัญญะ ได้อะไรเหมือนที่ไม่มีทุกข์เลย ถ้าสติมาไม่ทัน ก็ได้ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ที่นั่นเดี๋ยวนั้นเวลานั้น เป็นปฏิจจสมุปบาทขึ้นมา
นี่..ใครจะไปเป็นครูสอนนักธรรม ก็ลองทำไปให้มันแน่ แล้วไปคิดดู มันจะสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่มีประโยชน์ คือปฏิบัติได้ ปฏิบัติ สกัดกั้นความทุกข์เสียได้ หรือถ้าใครจะไปปฏิบัติเอง ไม่ไปสอนใครที่ไหน ก็ต้องรู้ว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้ ไอ้ระบบของจิตมันเป็นอยู่อย่างนี้ ทีนี้มันก็จะง่าย ที่เราจะปฏิบัติกรรมฐานอะไรกัน ลองดูบ้าง โดยเฉพาะเรื่องอานาปานสตินี่ อาจจะปฏิบัติไปได้ถึงขั้น วิราคานุปสฺสี นิโรธานุปสฺสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี เพราะไอ้ความรู้อย่างนี้เป็นพื้นฐาน เอาละ, พอกันที ไม่มีนาฬิกาวันนี้