แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมเทศนาเป็นปุพพากาลลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาในตอนเย็น ซึ่งได้กล่าวถึง การเตรียมตัว เพื่อทำ มาฆบูชา คือการชำระจิตใจให้ผ่องใส สมควรแก่การบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นกาล (ไม่แน่ใจค่ะ นาทีที่ 01:02) พระอรหันต์ ท่านทั้งหลายจะต้องทำความรู้สึกในใจ ให้ถึงความหมายอันสำคัญของวันนี้ คือวันที่เรียกกันว่า “มาฆบูชา” เราควรจะถือกันว่าวันนี้เป็น วันพระสงฆ์ ควรจะทำความเข้าใจสืบไปถึง วันพระพุทธ และ วันพระธรรม
วันวิสาขบูชา เพ็ญเดือนวิสาขะ ซึ่งตามปกติมักจะตกลงที่ วันเพ็ญเดือนหกนั้น เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนั้นจึงเป็นการสมควรแล้ว ที่จะเรียกวันนั้นว่า วันพระพุทธ ล่วงมาอีกสองเดือน ถึงวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ คือแสดงปฐมเทศนา บอกให้รู้ถึงหลักพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ มรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งไม่ข้องแวะกับที่สุด ๒ ส่วน คือ ตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป ทรงแสดงอริยสัจในพระสูตรนั้น เป็นการแสดงออกซึ่งพระธรรม ซึ่งเป็นตัวพระศาสนา ดังนั้นเราควรจะเรียก วันอาสาฬหบูชา นั้นว่าเป็น วันพระธรรม
ครั้นล่วงมาถึง วันมาฆบูชา เพ็ญเดือนสาม พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ ในท่ามกลางพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ความสำคัญอยู่ตรงที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และทุกองค์เป็นพระอรหันต์กษีณาศรพ เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยกันทั้งนั้น ในเวลาเที่ยงวันเช่นวันนี้ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปประชุมกัน จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะเรียกวันนี้ว่าเป็น วันพระสงฆ์ คือวันที่คณะพระสงฆ์ดำรงเป็นปึกแผ่น เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาในโลกแล้ว วันนี้จึงควรจะเรียกว่าเป็น วันพระสงฆ์ ผู้อื่นอาจจะเข้าใจเป็นอย่างอื่น เรียกเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่เหตุผลมีอยู่ดังนี้ เมื่อวันนี้เป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันพระอรหันต์ เราก็ควรจะเข้าใจคำว่า พระอรหันต์ กันให้พอสมควร โดยมากมักจะเอ่ยถึง พระอรหันต์ กันแต่ปาก โดยที่ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร หรือบางคนจะอธิบายบ้าง ก็อธิบายเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น จนยากที่จะเข้าใจบุคคลประเภทพระอรหันต์ให้ถูกต้องได้ วันในวันเช่นวันนี้ จึงเป็นเวลาที่สมควรแล้ว ที่พุทธบริษัท จะพึงทำความเข้าใจในความหมายของคำว่า พระอรหันต์ ท่านทั้งหลายจงมีความตั้งใจ เสมือนหนึ่งว่า เราได้มีชีวิตอยู่ในวันนั้น ได้ดู หรือได้แอบดู พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปประชุมกัน มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ในป่าไผ่ ซึ่งเรียกว่า เวฬุวัน ภายใต้สระน้ำที่เรียกว่า กลันทกนิวาป เป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต ภายใต้เมืองราชคฤห์ เราควรจะมีความพออกพอใจ มีความปลื้มใจ ในการที่วันนี้พระอรหันต์ประชุมกัน และความพอใจนั้นพึงจะทำให้เรา หายเหนื่อย หายเบื่อหน่าย หายง่วงนอน ถ้ามีความปีติ ปราโมทย์มากเราก็คงจะนั่งชมทัศนียภาพอันสูงสุดนี้ได้ทั้งวันทั้งคืน
การทำวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชานี้ เราพยายามที่จะกระทำกันให้สมกับที่เป็นวันสำคัญหรือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในพระพุทธศาสนา แต่ว่าคนบางหมู่บางเหล่า ทำกันอย่างกระท่อนกระแท่นเหมือนอย่างทำเล่น เดี๋ยวเดียวก็กลับไปบ้านหมดแล้ว อาตมาอยากจะขอร้องให้นึก ให้คิด ให้พิจารณาให้เป็นพิเศษว่า วันสำคัญเช่นวันนี้ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าโดยตรงเช่นนี้ ไม่มีวันไหนยิ่งไปกว่าแล้ว ก็ควรจะเสียสละกันให้พอสมควรกัน อย่างวันพระพุทธเจ้าประสูติ หรือตรัสรู้ หรือปรินิพพาน ถ้าเรามีความศรัทธา เลื่อมใสจริง คงจะนั่งดูอยู่ได้จนตลอดรุ่ง หรือนั่งพอใจอยู่ได้จนตลอดรุ่งโดยไม่ต้องง่วงนอน เพราะว่าเป็นธรรมดานั่งเล่นไพ่ได้จนสว่างก็มี หรือว่าลูกหลานเจ็บไข้ นั่งพยาบาลจนสว่างคาที่ก็มี เล่นหัวกันอย่างอื่น อย่างสนุกสนาน จนสว่างคาที่ก็มี แต่พอถึงโอกาสอันสำคัญในพระพุทธศาสนา คือวันเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของสมเด็จพระศาสดา กลับมีแต่คนง่วงนอน ทำไมไม่คิดว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าเรื่องลูกหลานเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเล่นไพ่ หรือเล่นหมากรุก หรืออะไรทำนองนั้น มากกว่ากันมากนัก มันก็ควรจะนั่งอยู่ได้ นั่งทำในใจถึงพระพุทธเจ้า หรือเหมือนกับว่า นั่งแอบดูพระพุทธเจ้า มีการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน หรือว่าแสดงธรรมจักร หรือว่าประชุมพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปก็ตาม ได้ตลอดวันตลอดคืนด้วยความพออกพอใจจนลืมตัวเพราะความปีติปราโมทย์ คนที่ประสบโชค เช่น ถูกสลากกินแบ่งรางวัลสูงสุดอย่างนี้ ก็พอใจด้วยความฟุ้งซ่านนอนไม่หลับตลอดวันตลอดคืนก็ยังได้ แต่เดี๋ยวนี้ เราควรจะมีความพอใจมากกว่านั้น พอใจในการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า หรือการเกิดขึ้นของพระธรรม หรือการเกิดขึ้นของพระอรหันต์ ก็ควรจะพอใจถึงขนาดที่ว่านอนไม่หลับ จะอยู่ได้ตลอดวันตลอดคืนด้วยเหมือนกัน นี้คือข้อที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ดี เปรียบเทียบกันให้ดี และทำให้สุดความสามารถของตน ของตน ด้วยกันทุกคนเถิด จึงถือว่าเป็นวันสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา และเป็นวันพระอรหันต์โดยเฉพาะคือวันนี้
สำหรับบุคคลที่เรียกว่า พระอรหันต์นั้น มีความประเสริฐอย่างไร มันก็เหลือที่นำมากล่าวให้หมดสิ้นได้ จะต้องอาศัยการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความทุกข์ และความดับทุกข์เสียก่อน แล้วเป็นผู้ดับทุกข์ได้เสียก่อน จึงจะเข้าใจคำว่า พระอรหันต์ เดี๋ยวนี้ยังเป็นไปด้วยความทุกข์ มีการดับทุกข์ได้น้อยเกินไป จึงไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำว่าพระอรหันต์ ถ้าเราเข้าใจความหมายของคำว่าพระอรหันต์ ก็ต้องรีบพยายามทำความดับทุกข์ ถ้าปราบความดับทุกข์ได้นั่นแหละ อาจจะคำนวณรู้ได้ถึงคุณค่าของความเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้เราก็ได้แต่พรรณนาพระคุณของท่านพอเป็นแนวทาง
คำว่า พระอรหันต์ โดยศัพท์ภาษาบาลีคำนี้ แปลว่า ผู้ควร ผู้สมควรแก่ความเป็นคน คำว่าผู้ควรในที่นี้หมายความว่า มีความสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้หมายความเป็นมนุษย์ธรรมดา หมายความถึง มนุษย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นมนุษย์ หมายถึงเรียกกันง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นคนเป็น ถ้าพูดว่าเป็นคนสมควร ก็หมายความว่า สมควรแก่ความหมายของคำว่ามนุษย์ ควรแก่ความเป็นมนุษย์ ถ้าพูดว่า คนเป็น ก็หมายถึง เป็นแห่งความเป็นมนุษย์ มนุษย์ธรรมดาควรจะเรียกว่ามนุษย์หรือยัง นี่ลองคิดดูเถิดว่า คำว่ามนุษย์นั้นแปลว่าอะไร
ตามภาษาเด็กๆ คำว่ามนุษย์ แปลว่า ลูกหลานของมนู ตามรากศัพท์ภาษาสันสกฤต ลูกหลานของพระมนูที่เป็นนักปราชญ์คนแรกของโลก ตามที่ชาวอินเดียเข้าใจ พระมนูเป็นผู้มีสติปัญญา ลำดับธรรมศาสตร์ต่างๆ นานาครบถ้วนบริสุทธิ์ บริบูรณ์ คำว่ามนุษย์ แปลว่า ลูกหลานของมนู ก็ควรจะมีความฉลาด สามารถอย่างพระมนูนั่นเอง เดี๋ยวนี้มีความฉลาดถึงขนาดนั้นกันหรือเปล่า ถ้ายังไม่ถึงก็ยังไม่ใช่เป็นมนุษย์ ไม่มีความเป็นมนุษย์ ที่ควรกล่าวนามว่าเป็นมนุษย์เลย
อีกทางหนึ่งคำว่า มนุษย์ แปลว่า เป็นผู้มีใจสูง ใจสูง เป็นความชั่วหรือกิเลสครอบงำไม่ได้ มีแต่ความสะอาด สว่าง สงบ ใจสูงอย่างนี้ จึงจะได้เรียกว่ามนุษย์ ถ้าใจยังไม่สูงอย่างนี้ ก็ยังไม่สมควรที่จะเรียกว่ามนุษย์ ยังไม่มีความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ ดังนั้นเมื่อเราพูดว่า คนสมควร หรือคนเป็น ก็ต้องหมายความว่า สมควรแก่ความหมายของคำว่ามนุษย์ และมีความเต็มเปี่ยมในความหมายของคำว่ามนุษย์ คนธรรมดาสามั ไม่มีความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งตัวเองก็จะรู้จักดี มองเห็นได้ดี ไม่ต้องมีใครมาบอก ยิ่งเป็นสมัยนี้ด้วยแล้วยิ่งหาความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์ได้ยาก เพราะมีความรู้สึกคิดนึกย้อนกลับไปในทางต่ำ มีความคิดอย่างสัตว์ อย่างเห็นแก่ตัว อย่างไม่เห็นแก่ธรรม มีธรรมะน้อยลงไปเท่าไร ก็ยิ่งมีความเป็นมนุษย์น้อยลงไปเท่านั้น ต่อเมื่อมีธรรมะเท่านั้น มนุษย์จึงจะต่างจากสัตว์ และมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เราเป็นมนุษย์กันได้ก็เพราะ มนุษยธรรม
แต่คำว่า มนุษยธรรม นี้ เดี๋ยวนี้มีความหมายเป็นอย่างอื่น ไปตามประสาของชาวโลกที่นิยมวัตถุ ถือความเจริญทางวัตถุเป็นหลัก ไม่หมายถึง ความดี ความงาม ความจริง ความถูกต้อง ความยุติธรรม เป็นต้น ในทางจิตใจเหมือนสมัยก่อนเสียแล้ว สมัยนี้ถือว่ามีอำนาจ แล้วก็เป็นการดี มีการได้สิ่งที่ต้องการ แล้วก็เป็นการดี มนุษยธรรมสมัยนี้จึงกระเดียดไปในทางวัตถุ อันเป็นที่ตั้งของกิเลส ถ้าจะมีมนุษยธรรมที่ถูกต้องกันแล้ว ต้องมีใจสูง ต้องมีสติปัญญา สามารถเอาชนะกิเลสได้
สำหรับคำว่า พระอรหันต์ มีความหมายว่า ผู้ควร มีความหมายว่าผู้เป็น ผู้มีความสมควร ผู้มีความเป็น ตามความหมายของคำว่ามนุษย์ และมีมนุษยธรรมที่ถูกต้อง และสมบูรณ์ เราเข้าใจยาก ว่าถูกต้องและสมบูรณ์กันอย่างไร จึงต้องค่อย ที่เป็นมากัน (ฟังไม่ชัดค่ะ นาทีที่ 13:21) พิจารณากันไปเรื่อยๆ แง่ใดแง่หนี่ง มุมใดมุมหนึ่ง จนกว่าจะรู้จักความสมควร และความเป็นของความเป็นมนุษย์นั้น เราไม่อาจจะพูดด้วยภาษาที่ยากๆ ซึ่งไม่อาจจะเข้าใจกันได้ เราจะพูดกันแต่ภาษาง่ายๆ ที่พอจะเข้าใจกันได้ มนุษย์ที่เป็นแห่งความเป็นมนุษย์ คือพระอรหันต์นั้น ย่อมทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เป็นคนที่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ คนสมัยนี้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่เงิน เพื่อประโยชน์แก่ประโยชน์ทางวัตถุ เพื่อกิน เพื่อกาม เพื่อเกียรติ ซึ่งไม่อยู่ในร่องรอยของพระอรหันต์ พระอรหันต์เป็นผู้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เพราะความไม่มีกิเลสนั้น ไม่เป็นเหตุให้ต้องการนั่น ต้องการนี่ อยากได้นั่น อยากได้นี่ เป็นผู้อิ่มแล้วโดยประการทั้งปวง ถึงไม่ได้ต้องการอะไร แต่ยังมีการเคลื่อนไหว ในการกระทำอยู่ จึงกระทำไปเพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ คือท่านรู้ว่ามนุษย์มีหน้าที่จะต้องทำอย่างไรบ้าง มนุษย์ระดับทั่วไป ต้องทำอย่างไรบ้าง มนุษย์ระดับพระพุทธเจ้า จะต้องทำอย่างไรบ้าง ท่านก็ทำหน้าที่อันนั้น ไม่ให้เสียเวลาเปล่า ไม่ให้เสียแรงเปล่า
หน้าที่ของมนุษย์ ถ้ากล่าวโดยส่วนตัว ก็คือทำความดับทุกข์ เดี๋ยวนี้ท่านทำความดับทุกข์ได้แล้ว จึงหมดหน้าที่ส่วนตัว หน้าที่ที่เหลืออยู่ จึงเป็นหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น คือช่วยเหลือผู้อื่น ดังนั้นพระอรหันต์ก็ดี กาล (ไม่แน่ใจค่ะ นาทีที่ 15.16) พระอรหันต์ คือพระพุทธเจ้าก็ดี จึงทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่นทั้งนั้น ไม่มีความรู้สึกที่เป็นไปเพื่อตัว หรือเพื่อของตัว แต่ประการใด นี่แหละมันจึงต่างกันกับคนธรรมดาสามัญ ซึ่งทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของตัว ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่
ทีนี้ก็ดูกันต่อไป แล้วมันก็มองเห็นได้ว่า คนที่ทำประโยชน์ผู้อื่นนั้น หวังอะไรในการตอบแทน ถ้าจะรักใครสักคนหนึ่ง ถ้าเป็นไปเพื่อหวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม แต่พระอรหันต์ หรือบุคคลผู้เป็นนั้น ทำประโยชน์กันทั้งปวง ด้วยความเมตตา ไม่ได้มีความรักชนิดที่จะถือเอาประโยชน์ใดจากบุคคลใด มีความเมตตา บริสุทธิ์ คำว่าความเมตตา นี่ก็เหมือนกัน มีความหมายที่กำกวมอยู่ บางคนเมตตาเพราะมีความยึดมั่น ถือมั่นก็ยังมี ไม่ได้เมตตาแล้วก็เป็นทุกข์ ร้อนใจ กลัวว่าจะไม่ได้บุญ เมตตาอย่างนี้ ยังมีกิเลสอยู่ สำหรับบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเช่นพระอรหันต์นั้น มีเมตตาที่บริสุทธิ์ หรือจะเรียกได้ว่าเป็นร่องรอยที่เหลืออยู่ในจิตใจ สำหรับจะช่วยเหลือผู้อื่น แม้ว่าจะไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเขาเป็นเรา ก็ยังมีเมตตาได้ คนบางคนอาจจะคิดว่าถ้าไม่มีเขาไม่มีเราแล้ว จะมีใครคิดสงสารใคร หรือรักใคร่ใคร ที่จริงนั้นแม้ว่าจะหมดความรู้สึกว่าเป็นเราเป็นเขาแล้ว มันก็ยังมีความรู้สึกในหน้าที่เหลืออยู่ ที่จะต้องช่วยเหลือผู้อื่น เพราะว่าไม่มีอะไรที่น่าทำ หรือควรกระทำยิ่งไปกว่านั้น การที่สงสาร รักใคร่กันนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีมูลมาจากการยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวเราตัวเขา แม้จิตบริสุทธิ์ ว่างจากการยึดมั่นถือมั่นแล้ว สำราญ สมบูรณ์ ก็เหลืออยู่ สำราญ สมบูรณ์นั้นไม่มีความเห็นแก่ตัวเจืออยู่เลย ดังนั้นความรู้สึกคิดนึกนั้น จึงเป็นไปในลักษณะที่ กระทำประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยไม่ต้องหวังอะไรตอบแทน นี่แหละคือความหมายของคำว่าพระอรหันต์ ที่รักผู้อื่น สงสารผู้อื่นประพฤติประโยชน์ผู้อื่นในลักษณะที่ว่าเป็นหน้าที่เท่านั้นเอง เป็นหน้าที่ของปัญญาที่บริสุทธิ์ หรือเป็นหน้าที่ของจิตที่ประกอบไปด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ เป็นหน้าที่ของคนที่ประกอบไปด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรเลยที่น่าทำ หรือควรทำยิ่งไปกว่านี้
ทีนี้เราก็จะเห็นได้สืบต่อกันไปว่า พระอรหันต์เป็นผู้ที่ทำอะไรได้ โดยไม่ต้องมีความรู้สึกว่า ตัวกู หรือของกู คนปุถุชนนั้นจะทำอะไรสักอย่าง ก็ล้วนเจือไปด้วยความรู้สึกว่าตัวกู ของกู เห็นแก่ตัว แล้วจึงทำ อยากจะได้เป็นของตัว แล้วจึงทำ ฉะนั้นคนธรรมดาสามัญ ทำอะไรต้องมีความสำคัญ มั่นหมายเป็นตัวกู เป็นของกูเสมอ แต่พระอรหันต์นั้นทำอะไรได้โดยไม่ต้องมีความรู้สึก หรือความสำคัญ มั่นหมายว่า เป็นตัวกู ของกูดังนี้ มันจึงต่างกันอยู่ดังนี้ ในลักษณะที่ต่างกันอย่างสุดโต่ง คนหนึ่งทำไปตามรู้สึกเป็นตัวกู ของกู คนหนึ่งทำได้โดยไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวกู ของกู คนที่มีตัวกู ของกูก็คือมีกิเลสตัณหาอุปาทาน มีความหวัง มีความอยากจะได้นั่น ได้นี่ จึงได้ทำ ส่วนคนที่ไม่มีกิเลส ไม่มีตัณหาอุปาทานนั้น มันก็เหลืออยู่แต่ปัญญา ที่เป็นเหตุให้กระทำ ดังนั้นจึงทำได้ดีกว่า ถูกต้องกว่า บริสุทธิ์กว่า กว่าบุคคลที่ทำไปด้วยกิเลสตัณหา ถ้าเราจะสรุปอีกทีหนึ่งก็ว่า ท่านเป็นคนสะอาด สว่าง สงบ ส่วนคนธรรมดาสามัญนั้น เป็นคนไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบ
คำว่า สะอาด ในที่นี้หมายถึง ความบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส ไม่มีความชั่ว คำว่า สว่าง หมายถึง ความรู้ รู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์เสียได้ นี้เป็นข้อใหญ่ จนในที่สุดก็รู้ว่าตนได้ดับทุกข์ได้แล้ว จริงๆ เพราะว่าความสงบนั้น คือเป็นความเย็นแห่งจิตใจ เพราะไม่มีกิเลสรบกวน โดยเฉพาะก็หมายถึง นิพพาน ซึ่งเป็นความเย็น นี้เป็นการแสดงให้รู้จักลักษณะของบุคคล ที่เรียกว่าพระอรหันต์ได้เป็นคร่าวๆ หรือเป็นเนา สำหรับการศึกษาสืบไป ว่าพระอรหันต์นั้นคือ คนเป็น พระอรหัต์นั้นคือ คนสมควรแก่การเป็นคน เป็นคนมีความสุข ไม่มีความทุกข์ เป็นคนทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ รักคนอื่นโดยเมตตาที่บริสุทธิ์ ทำอะไรได้โดยไม่ต้องมีความยึดมั่นว่าตัวกู ว่าของกู สรุปแล้ว เป็นคนมีความสะอาด สว่าง สงบ ถึงที่สุด ถ้ายังสะอาด สว่าง สงบ ไม่ถึงที่สุด ก็เป็นพระอริยเจ้าที่รองๆ ลงมา ยังไม่ถึงพระอรหันต์ เป็นเพียงพระโสดาบัน กสิทาคามี หรืออนาคามี เป็นต้น ถ้าไม่มีความสะอาด สว่าง สงบ สงบถึงขนาดนั้นก็ต้องรียกว่าเป็นปุถุชน
คำว่า ปุถุชน แปลว่า คนหนา อะไรหนา ก็คือฝ้าในดวงตาหนา ตาจึงไม่มองเห็นสิ่งที่ควรจะมองเห็น นั่นแหละคือความหมายของกิเลส กิเลสปิดบังจิตใจ คือปิดบังสติปัญญา ทำให้ไม่มองเห็นสิ่งที่ควรจะมองเห็น จึงได้เรียกว่า คนที่มีฝ้าในดวงตาหนา เรียกสั้นๆว่าคนหนา คือปุถุชน เราจะต้องเปรียบเทียบในลักษณะที่ต่างตรงกันข้ามเสมอไป ในระหว่างปุถุชน กับพระอรหันต์ ก็จะเข้าใจกันได้ทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายปุถุชน และฝ่ายพระอรหันต์ แต่ในที่สุดก็จะรู้จักตัวเองได้ว่า ตัวเองอยู่ในสถานะอย่างไร
ทีนี้จงได้พิจารณากันต่อไปว่า ทำไมจึงได้เกิดบุคคลที่เรียกว่า พระอรหันต์ขึ้นในโลกนี้ ให้ลองคิดดูว่า เมื่อก่อนนี้ ในโลกนี้ก็ไม่มีพระอรหันต์ ต่อมาก็เกิดพระพุทธเจ้าขึ้นเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ชี้แจง สั่งสอนบุคคลอื่นให้เป็นอรหันต์ได้ จึงมีพระอรหันต์ขึ้นในโลก เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ นี่ก็เพราะเหตุที่ว่าบุคคลประเภทนี้ ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะหลงใหล หรือโง่เง่าไปตามประสาโลก แต่ว่าเกิดมาเพื่อจะลืมตา เพื่อจะตื่นนอน เพื่อจะรู้ เพื่อจะเบิกบาน ตามความหมายของคำว่า พุทธะ
พุทธะ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทำไมจึงมีอาการชนิดนี้ขึ้นมา เพราะว่าได้เริ่มเห็นความทุกข์ ได้เริ่มเกลียด และกลัวความทุกข์ หรือสติปัญญาชนิดที่ทำให้รู้สึกเกลียด และกลัวความทุกข์ ถ้าไฝฝ้าในดวงตาหนาอย่างปุถุชนแล้ว ก็จะไม่เกลียดความทุกข์ จะไม่กลัวความทุกข์ เพราะไม่รู้จักความทุกข์โดยเป็นความทุกข์ ก็เห็นความทุกข์เป็นของน่าสนุกสนานไปเสีย เหมือนกับปลาที่เห็นว่าเหยื่อนั้นน่ากิน ไม่รู้ว่าเบ็ดนั้นมันมีอยู่ในเหยื่อ เห็นแต่ว่าเหยื่อนั้นมันน่ากิน มันก็กินเหยื่อเข้าไป โดยที่มีเบ็ดติดเข้าไปด้วย ไปรู้ต่อเมื่อสายเสียแล้ว แก้ไขไม่ได้ ถ้าปลาตัวที่ฉลาดนั้น เป็นผู้มีสติปัญญา สังเกต พิจารณา มีความระแวงในเหยื่อนั้น ไม่กินเข้าไปง่ายๆ และพยายามค้นคว้า พิสูจน์ ทดลอง จนรู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร คือรู้ว่าความทุกข์นี้คืออะไร จึงได้เกลียดได้กลัวความทุกข์ หรืออว่าอย่างน้อยที่สุด ก็เป็นผู้ที่รู้จักความทุกข์ ขึ้นมาตามลำดับ แล้วก็อยากจะพ้นจากความทุกข์ ในฐานะเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาเลย
แต่ถ้าคนธรรมดาจะไม่มองเห็นความทุกข์ ว่าเป็นความทุกข์ เพราะว่ามองเห็นเพียงแค่ การได้กิน ได้เล่น ได้กามาารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไปวันหนึ่ง วันหนึ่ง ไม่รู้จักอะไรมากไปกว่านั้น จนถึงวันสุดท้ายคือตายมันก็เลิกกันไป ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น คือเกิดมาเพื่อได้กิน ได้เล่น ตามความปรารถนา แล้วก็ตายไป เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ มา จนกว่าจะเกิดบุคคลประเภทที่จะเป็นพระอรหันต์ มองดูสิ่งเหล่านี้ในลักษณะที่ว่า ไว้ใจไม่ได้ พิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า ไม่มีค่า ไม่มีสาระอะไร เว้นจะมีอะไรที่ดีกว่านั้น จึงได้ตั้งปัญหาขึ้นว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดี คือ เป็นกุศล ดังนั้นการแสวงหาของท่านก็คือ แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นกุศล ผู้ที่ออกแสวงหาด้วยความรู้สึกอย่างนี้เขาเรียกว่า ฤาษี หรือ อิสิ แล้วแต่ว่าจะเป็นภาษาสันสกฤต หรือเป็นภาษาบาลี คำคำนี้แปลว่า ผู้แสวง แสวง ก็แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นกุศล เมื่อแสวงหาในบ้านเรือนไม่พบ ก็หลีกจากบ้านเรือนไป สู่ที่สงบ เช่น ป่า เป็นต้น จนพบว่าอะไรมันเป็นกุศล พระพุทธเจ้าก็เป็นฤาษีองค์หนึ่ง และเป็นมหาฤษีด้วย เพราะว่าแสวงหาสิ่งสูงสุดยิ่งกว่าสิ่งใด ในที่สุด ท่านก็พบสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะมี หรือควรจะได้ ไม่ให้เสียที ที่เกิดมาเป็นมนุษย์เลย คือ ท่านตีราคาของชีวิตนี้ ในทางที่สูงสุด หรือตีราคาความเป็นมนุษย์ ในลักษณะที่สูงสุด ไม่ใช่เพียงเพื่อว่าได้กิน ได้เล่น แล้วก็เป็นพอ ที่จริงความรู้สึกเพียงได้กิน ได้เล่น หรือได้กามาอารมณ์นั้น เป็นเรื่องชั้นเด็กๆ มากกว่า ถ้าหากว่ามันเป็นเด็กๆที่ไม่รู้จักแก่ เป็นเด็กๆ ที่ไม่รู้จักโต มันจึงได้หลงอยู่เพียงเท่านั้น ถ้าเป็นเด็กๆ ที่รู้จักโต หรือรู้จักแก่ ก็จะต้องเรียกหาสิ่งที่สูงขึ้นไป นั่นคือจะมีการแสวงหาสิ่งที่สูงขึ้นไป ในที่สุดก็จะพบ อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ นี่ก็คงจะเคยคิดกันมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล คิดออกอย่างไร ก็เข้าใจกันอย่างนั้น แล้วก็สอนผิดๆ กันมาอย่างนั้น ยกตัวอย่างเห็นได้ง่ายๆ เช่น เรื่องนิพพาน
คำว่า นิพพาน นี้ก็แปลว่า ของที่เย็นที่สุด สบายที่สุด หรือดีที่สุด คนพวกหนึ่งก็เข้าใจว่า การได้กามคุณอย่างเต็มเปี่ยม นั้นเป็นนิพพาน พูดอย่างนี้ ก็มีคนเห็นด้วยเป็นอันมาก และมีคนนับถือลัทธินี้กันอยู่มากในยุคหนึ่งทีเดียว ถือว่าความสมบูรณ์ทางกามคุณนั้นเป็นนิพพาน คือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หรือสูงสุดสำหรับมนุษย์นั่นเอง
ครั้นกาลล่วงมาอีกนานพอสมควร ก็มีคนที่ฉลาด เห็นว่าอย่างนั้นยังไม่ไหว ก็ค้นพบความเย็นอย่างอื่นที่เย็นไปกว่าความสมบูรณ์ที่เรียกว่ากามคุณ คือการที่มีจิตสงบ เป็นสมาธิ และหยุดอยู่ในสมาธินั้นเป็นสมาบัติ ไม่มีกิเลส หรือความชอบอันใดมาบีบบังคับ มากระตุ้น มาเผา มาเผาลน มาผูกมัดรัดรึง เป็นจิตที่เป็นอิสระจากกามคุณโดยสมบูรณ์ และบัญญัตินี้ว่าเป็นนิพพาน หรือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ก็มีคนเห็นด้วยเป็นอันมาก แล้วก็หันมาสนใจกันอย่างนี้ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งสูงไปกว่าพวกแรกที่เห็นว่ากามคุณเป็นนิพพาน
ล่วงมาถึงสมัยพุทธกาล ในสมัยพุทธกาลนั่นเอง ก็ยังมีคนคิดเห็นว่า กามคุณเป็นนิพพานอยู่เป็นอันมาก แต่แล้วก็มีคนที่เห็นว่า สมาบัติ คือการหยุดอยู่ในสมาธินี้เป็นนิพพาน ก็มีอยู่เป็นอันมากเหมือนกัน ครั้นพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านไม่เห็นด้วยเพียงเท่านั้น เพราะว่าการหยุดอยู่ในสมาบัตินั้นเป็นเรื่องชั่วคราว เป็นเรื่องที่ไม่ทำลายตัวกู ไม่ทำลายของกู ยังมีกิเลสตัณหา ยึดมั่นความสุขชนิดนั้นว่า เป็นความสุขของกู ดังนี้มันฏ้เกิดความร้อนอีกชนิดหนึ่ง หรือเป็นความที่เย็นๆ อีกชนิดหนึ่งขึ้นมาในความสุขชนิดนั้น ท่านจึงไม่เห็นด้วยว่าความสุขในสมาบัตินั้นเป็นนิพพาน จึงได้ออกค้นหา แสวงหาของท่านเอง ตามวิธีของท่านเอง จนพบว่าหมดตัณหาอุปาทานนั่นแหละจึงจะเป็นนิพพาน
หมดตัณหาก็คือหมดกิเลส ไม่มีความอยาก ไม่มีความใคร่ ไม่มีความหวังในสิ่งใด หมดอุปาทานก็คือหมดความรู้สึกคิดนึกว่าเป็นตัวเรา หรือของเรา ไม่มีความยึดมั่น หรือหมายมั่นสิ่งใดว่าเป็นตัวกู หรือเป็นของกู หมดทั้งอัสมิมานะ หมดอหังการ หมดมนังการ โดยประการทั้งปวงแล้ว จึงจะเรียกว่านิพพาน
พระองค์ได้บรรลุคุณธรรมอย่างนี้ แล้วก็สอนผู้อื่นในลักษณะอย่างนี้ ก็มีผู้เห็นด้วยมากมายเหมือนกัน มีความประพฤติตามแล้วเกิดเป็นพระอรหันต์ขึ้นอย่างน้อยก็ ๑,๒๕๐ รูปในวันนั้น ซึ่งเราเรียกว่า วันประชุมสงฆ์ แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ คือวันที่คล้ายกับวันนี้ คือวันนั่งทำพิธีกันอยู่ที่นี่ นี้ก็แปลว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ พระพุทธเจ้าได้ค้นพบแล้ว และทำให้บุคคลได้รับสิ่งที่ดีที่สุดนั้น เป็นจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน จนกระทั่งบัดนี้ก็ไม่มีใครสามารถมาพิสูจน์ได้ว่า มีอะไรที่ดีกว่านี้ หรือมีอะไรอื่นไปอีกกว่านี้ ยิ่งไปกว่านี้ ที่ดีกว่านี้
เรามีความนับถือ รับเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า มาศึกษา และมาปฏิบัติ เพราะเห็นด้วยและเชื่อในการตรัสรู้อันนี้ว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ หรือพูดตรงๆ ก็ว่ามีอย่างเดียวเท่านั้นที่จะดับความทุกข์ได้สิ้นเชิง ดับความทุกข์ได้สิ้นเชิง แล้วก็ควรจะถือว่าดีที่สุดแล้ว จะมีอะไรดีไปกว่านี้อีกก็ไม่มี จะมีบ้างก็เป็นเรื่องปลีกย่อย เช่นว่า จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วยก็เป็นการดี แต่ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่สูงสุดไปกว่านี้ มันจึงสูงสุดอยู่ตรงที่ว่าดับทุกข์ได้สิ้นเชิง
ดังนั้นความเป็นพระอรหันต์ได้ปรากฏมีขึ้นมาในโลกนี้ ก็เพราะว่าเกิดมีบุคคลที่ไม่จมปลักอยู่ในความเป็นปุถุชน ได้ตะเกียกตะกาย ได้ขนขวายไต่เต้าขึ้นมา รู้จักเกลียดกลัวความทุกข์ รู้จักความทุกข์โดยความเป็นความทุกข์ ได้รู้จักว่ามนุษย์ที่มีความทุกข์นี้ ยังไม่สมควรแก่ความเป็นมนุษย์ จะต้องพ้นจากความทุกข์ จึงจะสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ หรือเรียกว่าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ
ทีนี้เรามาพิจารณาดูกันถึงปุถุชนคนธรรมดาสามัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบัน เขาเดินไปทางไหนกัน อาจจะเห็นได้ทันทีว่า ไม่มีความรู้ ไม่ประสีประสาต่อเรื่องความทุกข์ หรือความดับทุกข์เลย ประสีประสาแต่เรื่องส่วนด้าน ด้านอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย คือทางผิวหนัง มาเป็นเครื่องบำรุงบำเรอตัวเองให้มากที่สุด อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างไม่มีหวังว่าจะสิ้นสุดไปก็แล้วกัน ดังนั้นจึงจะถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ความคิดเช่นนี้ไม่ใช่ของใหม่ ก่อนพุทธกาลก็มี คือพวกที่ถือว่ากามคุณอันสูงสุดนั้นเป็นนิพพานนั่นเอง ถ้าอย่างนี้แล้วมันมีมาตั้งหลายพันปีแล้วไม่ใช่ของใหม่ เพราะฉะนั้นคนเดี๋ยวนี้จึงไม่ได้ฉลาดไปกว่าคนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว จะผิดแปลกกันบ้างก็ตรงที่ว่ามันฉลาดในการประดิษฐ์ประดอยสิ่งต่างๆ ขึ้นมา สำหรับเป็นอุปกรณ์แก่การบริโภคกามคุณเท่านั้นเอง แต่สมรรถภาพในการที่จะบริโภคกามคุณนั้น มันก็ไม่มีมากไปกว่าคนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว จะได้อะไรมาอีกมันก็เพียงเท่านั้นเอง ดังนั้นจะเรียกว่ามีอะไรที่ดีขึ้น หรือมีอะไรที่ฉลาดขึ้น ให้ลองคิดดูก็แล้วกัน ทีนี้ถ้าหากว่าเป็นไปได้ในทางที่ว่าคนสมัยนี้ จะได้ใช้สติปัญญาของตนมาพิจารณากันให้ถูกต้องและยุติธรรม ว่าอะไรควรจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ได้จริง ก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากนัก โดยอาจจะเดินไปในทางที่ ที่มีความหยุด และมีความพอ หรือมีความสงบได้ แต่โดยเหตุที่ว่า สิ่งกระตุ้นหรือยั่วยวนได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ซ้ำ ไม่ซ้ำๆ ไม่ซ้ำกันเลย มันจึงไม่ให้โอกาสแก่คนที่จะพิจารณารู้ว่า มันๆๆๆ มีเพียงเท่านั้นเอง ดังนั้นคนจึงได้หลงใหลในกามคุณ ไปตามความก้าวหน้าของสิ่งที่บำรุงบำเรอในทางกามคุณ จนกระทั่งถึงเวลาที่เน่าเข้าโลงไป ไม่เคยลืมตา ไม่เคยประสีประสา ไม่เคยตื่นนอน ไม่มีความรู้ ไม่มีความเบิกบาน เพราะปราศจากการบีบคั้นเผาลนของกามคุณนั้น
นี่แหละมันเป็นสิ่งที่น่าเศร้า หรือน่าสังเวชว่า ไม่มีสติปัญญา ก็ยิ่งขุดหลุมฝังตัวเองลึกขึ้นไปกว่าเดิม ไม่ได้มีสติปัญญาที่จะไถ่ถอนตัวเองออกมาจากความทุกข์ กลับเห็นกงจักรเป็นดอกบัว และเป็นกันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีใครพยายามศึกษา พินิจ พิจารณาดูให้ดี ก็พอจะมองเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกับไฟชนิดหนึ่ง ที่มันเป็นของเปียก หรือของเย็น ฟังดูก็น่าหัวเราะที่ว่ามีไฟชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นของเปียก และของเย็น แต่มันเผายิ่งกว่าไฟที่ร้อน หรือแห้ง เพราะว่ามันเผาโดยไม่รู้สึก มันทำอันตรายโดยไม่รู้สึก ไม่เหมือนไฟที่ร้อนหรือแห้ง กิเลสนี้แปรียบเหมือนกับไฟที่เปียก หรือเย็น มันไม่แสดงอาการเผา ดังนั้นมันจึงเผาได้จนถึงวินาทีสุดท้าย คือเน่าเข้าโลงไป ไม่เคยลืมหูลืมตา รู้ว่าธรรมะนั้นเป็นอย่างไร ความทุกข์เป็นอย่างไร ความทุกข์เป็น ความดับทุกข์เป็นอย่างไรดังนี้
วันนี้เป็นวันสำคัญ โดยเป็นวันของพระอรหันต์ เรามานั่งกันอยู่ในที่สงัดเช่นนี้ จึงจะเป็นโอกาสแห่งสติปัญญาได้บ้าง สำหรับจะพิจารณาดูให้เห็นว่า มนุษย์มีอะไรดีเพียงเท่านี้แน่หรือ เรื่องของพระอรหันต์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มากหรือน้อยเพียงไร จงให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย อย่าให้ความยุติธรรมแก่กิเลสของตัวฝ่ายเดียว จงให้ความยุติธรรมแก่สติปัญญาของพระอรหันต์บ้าง อย่าเสียทีที่มาทำมาฆบูชา เพื่อประโยชน์แก่พระอรหันต์เลย มาทำตัวให้เป็นกลาง อย่าเข้าข้างกิเลส แม้แต่ไม่เข้าข้างพระอรหันต์ ทำตัวให้เป็นกลางไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะพบความจริง ก็จะรู้จักเลือกเอาว่า ควรจะเลือกเอาอย่างไร ควรจะเลือกเอาสิ่งที่ไม่เผาลน ไม่เสียดแทง ไม่ผูกมัดรัดรึง ไม่หุ้มห่อ ไม่ครอบงำ เป็นแน่นอน และสิ่งที่เคยผูกมัดรัดรึง หุ้มห่อเสียดแทง เผาลนเรามาโดยไม่รู้สึกตัวนั้น เราก็ได้เริ่มรู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้น เราก็จะค่อยห่างออกมา หาหนทางที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นไป หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป
นี่แหละคือสิ่งที่แสดงว่ามนุษย์เกิดมีความก้าวหน้าในทางจิตใจ ในทางวิญญาณ จนถึงกับเป็นพระอรหันต์นั้น มันมีเรื่องราวมาอย่างนี้ มนุษย์เหล่านี้เป็นผู้ชนะ เป็นผู้มีชัยชนะเหนือกิเลส เหนือซาตาน เหนือพญามาร เหนือภูติผีปีศาจ อะไรทุกอย่าง เรามาทำมาฆบูชาอย่างนี้ เพื่อฉลองชัยชนะของท่าน คือพระอรหันต์เหล่านั้น แต่เราไม่ควรจะฉลองสักว่าฉลอง ควรจะฉลองในลักษณะที่ว่าจะได้รับอานิสงส์ หรือได้รับความรู้ ได้รับคุณค่าในความเป็นพระอรหันต์นั้นด้วย พึงจะยิ่งพินิจพิจารณาให้เข้าใจในความเป็นพระอรหันต์ ให้เข้าใจในสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วจิตใจก็จะน้อมไปเองในทางที่จะมีศรัทธาในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ มีศรัทธาในความเป็นพระอรหันต์ คือความดับทุกข์ได้สิ้นเชิง แล้วก็จะมีความพยายาม มีความพากเพียร มีความก้าวหน้าไปตามทางชนิดนั้นได้ คือเป็นทางออกจากกองทุกข์ ไปสู่ความดับทุกข์ เป็นการปฏิบัติที่เรียกได้ว่า เป็นตัวพุทธศาสนาโดยแท้จริงอย่างนี้
เมื่อเราได้พิจารณาดูจนรู้ว่า พระอรหันต์คือบุคคลชนิดใด และเกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้ด้วยวิธีอย่างไรดังนี้แล้ว ก็ควรจะได้พยายามต่อไป ในการปฏิบัติ เพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง เมื่อเราไม่มีสติปัญญาของเราเอง เราตรัสรู้เองไม่ได้ เราก็ต้องเชื่อในสติปัญญาของพระพุทธเจ้าไปพลางก่อน แทนที่จะเชื่ออย่างงมงาย หมายความว่าเชื่อเพื่อจะไปทดสอบดู คือไปลองปฏิบัติดู ด้วยอำนาจของพระธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เกิดผลประจักษ์แก่บุคคลนั้นๆ แก่ใจของบุคคลนั้นๆ โดยไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดเวลา ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะ ที่พระผู้มีพระภาคได้กล่าวไว้ดีนั้น สันทิฏฐิโก อันบุคคลผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง อกาลิโก ไม่เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับเวลา ไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจของเวลา หมายความว่าไม่เป็นไปตามเวลา จึงจะเรียกว่า เวลาเข้ามาครอบงำย่ำยีไม่ได้ ดังนั้นจึงอยู่เหนือความทุกข์ เหนือความวิตกกังวล ปฏิบัติเมื่อใด ให้ผลเมื่อนั้น นี้ก็เป็นเบื้องต้นแล้ว เป็นเบื้องต้นที่เพียงพอแล้ว สำหรับมนุษย์จะเดินเข้าไปสู่กระแสแห่งพระธรรม เมื่อถึงกระแสแห่งพระธรรมแล้ว ก็จะเลื่อนไหลไปตามกระแสแห่งพระธรรม ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ในที่สุดโดยไม่ยากเลย จะยากลำบากอยู่บ้างก็ตอนแรกๆ นี่แหละ ที่จะเข็นตัวเหมือนกลิ้งครกขึ้นภูเขานี่ ค่อยทำเรื่อยไป ค่อยๆ ทำไป จนกว่าจะถึงกระแสแห่งธรรม เมื่อไปถึงกระแสแห่งธรรมแล้ว มันก็จะล่องลอยไปตามกระแสแห่งธรรมได้โดยไม่ยากนัก ดังนั้นจะต้องใช้ความพยายามในขั้นต้นนี้ให้มากให้เพียงพอ อย่าเป็นผู้ประมาทเสียเลย พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสกำชับไว้เป็นปัจฉิมวาจา คือคำสั่งครั้งสุดท้ายว่า ท่านทั้งหลาย อย่าได้ประมาทเลย เมื่อไม่เป็นผู้ประมาทแล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำให้ดีที่สุดตามที่จะทำได้
สำหรับสติปัญญาของพระพุทธเจ้า หรือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตรัสรู้อย่างไรแล้ว สอนไว้นั้นมีความน่าอัศจรรย์อยู่มากทีเดียว คือท่านไม่ได้สอนอะไรมากเหมือนที่เราพากันคิดนึก หรือหลงใหลกันอยู่ ท่านได้ตรัสไว้ให้ทราบก่อนจะปรินิพพานว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย ลองฟังดูให้ดีๆ ว่าท่านตรัสว่าถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย
คำว่าเป็นอยู่โดยชอบนี้ มันมีความยากง่ายหรือตื้นลึกอย่างไร ลองพิจารณากันดู ทำไมท่านจึงไม่ตรัสว่า จงทำอย่างนั้น จงทำอย่างนี้ จงทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนา ทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ท่านกลับไปตรัสด้วยคำสั้นๆ แต่เพียงว่า เป็นอยู่โดยชอบ ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็ว่า สัมมาวิหาโร คือการเป็นอยู่โดยชอบ เป็นอยู่อย่างถูกต้อง
เป็นอยู่อย่างถูกต้องนี้หมายความว่าอย่างไร ก็ต้องหมายความอย่างที่เรา พอจะมองเห็นกันได้ว่า เป็นอยู่อย่างไม่โง่เขลา เป็นอยู่อย่างไม่สกปรก เป็นอยู่อย่างไม่เร่าร้อน แต่แล้วมันก็ยังมีความหมายที่รัดกุมกว่านั้น สรุปได้สั้นๆ ว่า เป็นอยู่ชนิดที่กิเลสจะไม่เกิดขึ้น ก็ต้องมีความเป็นอยู่ชนิดที่กิเลสไม่อาจจะเกิดขึ้นคือจะมีสติสัมปชัญญะเพียงพอที่จะไม่ให้เผลอไปในเมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น หรืออะไรทำนองนั้น ไม่เผลอไปให้ความคิดในทางที่เป็นตัวกูหรือของกูเกิดขึ้นมา ไม่หลงใหลในอารมณ์เหล่านั้นในลักษณะที่จะให้เกิด กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นต้น รวมความว่าไม่ให้เกิดความอยาก ความหลงและความอยากในสิ่งนั้นๆ แต่เกิดมีสติปัญญาขึ้นมาแทนว่าเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว เราจะทำอย่างไร หรือว่าเราไม่ควรจะไปสนใจกับมันเลย ถ้ามีสติปัญญาอย่างนี้แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะเกิดกิเลสได้ เพราะเหตุฉะนั้นแหละการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง หรือเป็นอยู่โดยชอบนี้หมายความว่าเป็นอยู่ชนิดที่ทำให้กิเลสไม่ได้กินอาหาร ทางตาก็ตาม ทางหูก็ตาม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็ตาม มีการจัด มีการทำไว้เป็นอย่างดี จนกิเลสไม่ได้กินอาหาร ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก เป็นต้น แล้วก็ลองคิดดูเถอะว่ากิเลสมันจะเป็นอย่างไร เหมือนกับว่าเราตัดทางมาแห่งอาหารเสียหมด ไม่ให้มีการลำเลียงอาหารมาส่งบ้านเมืองนี้ได้ บ้านเมืองนี้ก็จะต้องอดอาหารตายกันสักวันหนึ่งเป็นแน่ หรือว่าเราจะล้อมเสือไว้ในป่าแห่งหนึ่ง ไม่มีทางให้อาหารของเสือเข้าไปในบริเวณนั้นได้ ไม่เท่าไรเสือก็จะต้องอดอาหารตาย ไม่ต้องยากลำบากในการที่จะไปสู้รบกับเสือ เช่น กิเลสนี่ก็เหมือนกัน อย่าไปสู้รบกับมันเลย คงสู้มันไม่ได้ แต่ให้ใช้อุบายหรือวิธีที่ฉลาดที่สุด คือเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ชนิดที่กิเลสไม่มีทางที่จะได้กินอาหาร ไม่เท่าไรมันก็จะผอมลงๆ และเหี่ยวแห้งตายในที่สุด เป็นอยู่อย่างถูกต้องนี้ ถ้าจะกระจายความหมายออกไป ก็คือเป็นอยู่อย่างถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค มีอยู่ ๘ อย่างด้วยกัน
อย่างที่หนึ่งคือ มีความเห็นหรือมีความเข้าใจที่ถูกต้อง สองมีความปรารถนาหรือใฝ่ฝันที่ถูกต้อง สามมีการพูดจาที่ถูกต้อง สี่มีการกระทำทางกายที่ถูกต้อง ห้ามีการเลี้ยงชีวิตอย่างถูกต้อง หกมีความพากเพียรที่ถูกต้อง เจ็ดมีสติ คือความรำลึกประจำใจที่ถูกต้อง แปดมีสมาธิคือกำลังใจที่ถูกต้อง
เมื่อมีความถูกต้อง ๘ ประการนี้ แล้วก็เป็นความสมบูรณ์ของความถูกต้อง เป็นอยู่โดยชอบ คือเป็นอยู่อย่างนี้ เมื่อมีความถูกต้องในลักษณะอย่างนี้แล้ว ไม่มีทางที่กิเลสจะเกิดขึ้นได้ คือไม่มีทางที่กิเลสจะได้กินอาหาร หรือตั้งอยู่หรืองอกงาม มันค่อยๆ เหือดแห้งไปจนกระทั่งถึงโอกาสหนึ่งก็สูญสิ้นไป นั่นคือการเป็นพระอรหันต์ คือความหมดกิเลส ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสั้นๆ ว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ขอให้เราผู้มีความสนใจในเรื่องของพระอรหันต์ จงมีความตั้งอกตั้งใจ ในการที่จะทำความเข้าใจในพระพุทธดำรัสอันนี้ แล้วปฏิบัติตามกำลังสติปัญญาของตนจนทุกๆ คน จึงพูดได้ว่า ตนจะเป็นอยู่ให้ชอบ ให้ถูกต้องเท่านั้น ก็จะมีความเป็นพระอรหันต์เกิดขึ้นมาได้
ทีนี้จะพิจารณาดูกันต่อไปว่า ความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกต้องนั้น มันก็ มันสรุปใจความอยู่ที่ไหน มันสรุปใจความอยู่ที่มันไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้าไว้ในลักษณะที่เป็นตัวกู ของกู เมื่อใดเผลอไปเลือกผิด เผลอไป ไปปรุงแต่งความคิดในลักษณะที่สำคัญมั่นหมายสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นตัวกูของกูขึ้นมาดังนี้แล้ว เมื่อนั้นเป็นสูญเสียความถูกต้อง เป็นการสูญเสียความเป็นอยู่โดยชอบ มันเพิ่มความเป็นอยู่ที่ผิด เพิ่มความผิดพลาดขึ้นมาทันที จนกระทั่งเคยชินเป็นนิสัย แล้วก็ละได้ยาก เราจงระวังในการที่จะไม่เผลอ สร้างความคิดนึก รู้สึกที่เป็นไปในทางยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูนี้ให้มันเจริญงอกงามและหนาแน่นขึ้นมา ถ้าสิ่งนี้เจริญงอกงาม หนาแน่นขึ้นมาก็หมายความว่า การเป็นปุถุชนของเราหนายิ่งขึ้นไป หนายิ่งขึ้นไป หนายิ่งขึ้นไป จนไม่รู้ว่าจะเป็นปุถุชนกันอย่างไร มันก็จะต้องกลายเป็นสัตว์นรก คือมีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อน ความหิว ความกระหายกัน อย่างที่เรียกว่าจมอยู่ในอบายนั่นเอง สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปหมดแล้ว ได้กลายเป็นสัตว์ในอบายแล้ว จะต้องพูดถึงความเป็นพระอรหันต์กันทำไม มันไม่ได้มีทางที่จะเป็นไปได้ นี่แหละ อย่าเป็นคนกล้าจนเกินไปปล้นธรรมชาติเลย
สิ่งต่างๆ เป็นของธรรมชาติไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่ากล้าไปเป็นโจรปล้นเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา มันจะตบหน้าเอา แล้วจับตัวส่งลงไปในอบาย จากการสำคัญมั่นหมายว่าตัวเราของเรานั่นแหละ จะทำให้กระทำชั่ว กระทำในทางที่เป็นบาป เป็นอกุศล แล้วก็จมลงในอบาย ที่ร้อนรนเหลือประมาณ ที่เรียกว่านรก หรือว่าถ้าไม่ถึงกับทำบาปทำชั่วอย่างนั้น มันก็ยังทนทรมาน ทำให้ทนทรมานแบกหามเอาไว้ ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าตัวกู ของกู เป็นการทนทุกข์ในมนุษยโลกนี้ เป็นการทนทุกข์ในเทวโลก เป็นการทนทุกข์ในพรหมโลก เพราะมีตัวกู ของกู อยู่ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่การสิ้นสุดแห่งความทุกข์ หรือความเยือกเย็นเป็นนิพพานแต่ประการใด เพราะเหตุเช่นนี้แหละจึงได้ถือว่าแม้สัตว์ในพรหมโลกก็เป็นปุถุชน แม้สัตว์ในสวรรค์ก็เป็นปุถุชน แม้สัตว์ในเมืองมนุษย์ก็เป็นปุถุชน แม้สัตว์ในนรกก็ยิ่งกว่าที่จะเป็นปุถุชน เพราะว่าแต่ละตน ละตน มีกิเลสตัณหาอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกู ไปปล้นเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกู ของกู ธรรมชาตินั่นแหละคือธรรมะ ไปปล้นเอาของธรรมะ หรือของธรรมชาติมาเป็นตัวกูของกูมันก็ถูกตบหน้า คือทำให้กลายเป็นผู้มีความทุกข์ เป็นผู้จมอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ เพราะความเป็นโจรไปปล้นเอาของธรรมชาติ ธรรมดามาเป็นของตัวดังนี้ เราจะต้องพยายามประพฤติปฏิบัติในลักษณะที่อย่าเผลอไปประพฤติ เอาของธรรมชาติมาเป็นของเราหรือเป็นตัวเราแต่ประการใดเลย
ถ้าจะพูดอย่างไม่อุปมา ก็พูดว่า อย่าปล่อยให้จิตเกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู เมื่อใดเผลอไปปล่อยให้จิตเกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูเป็นของกูแล้ว เมื่อนั้นแหละคือการที่พูดอย่างอุปมาว่า เป็นโจรปล้นธรรมชาติ แล้วก็ไม่มีทางที่จะสู้รบปรบมือกับธรรมชาติได้ ธรรมชาติก็จะจับตัวใส่ลงไปในอบาย คือความทุกข์ ห่างไกลจากความเป็นพระอรหันต์มากมายนัก
แต่พร้อมกันนั้นเองในวิธีที่กลับตรงกันข้าม มันก็เป็นการง่ายดายที่จะเป็นพระอรหันต์ ด้วยการระมัดระวังไม่ให้จิตเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูอยู่ตลอดไป ตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี หลายๆ เดือนหลายๆ ปี คือป้องกันไม่ให้กิเลสได้กินอาหาร ในที่สุดกิเลสก็เหือดแห้งและสูญสิ้นไป
มันอยู่แต่ว่าจะกระดิกไปทางไหน กระดิกไปทางหนึ่ง มันก็เกิดตัวกูของกู กระดิกไปในทางตรงกันข้ามมันก็อยู่ได้อย่างสบายโดยไม่ต้องเกิดตัวกูของกู เราจงรู้จักเลือกหนทาง คือการปฏิบัติที่เป็นไปในชีวิตวันหนึ่ง วันหนึ่ง นี้ให้เป็นไปในลักษณะที่ถูกต้อง เป็นอยู่ด้วยความถูกต้อง ไม่เป็นโจรปล้นธรรมชาติ ไม่ปล่อยให้จิตเกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวกูของกูดังนี้
นี่แหละคือการดำรงชีวิตหรือเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ชนิดที่จะทำให้โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำหรับภิกษุ ไม่เป็นเรื่องสำหรับชาวบ้าน หรือฆราวาสเลย ถ้ามีความคิดอย่างนั้นก็เป็นเรื่อง ก็เป็นความคิดที่ยังผิดอยู่ ยังเข้าใจผิดอยู่ เรื่องความทุกข์หรือความดับทุกข์นี้ไม่มีความเป็นภิกษุ หรือความเป็นฆราวาส เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่ากิเลสตัณหานั้น มันเหมือนกันทั้งของภิกษุและของฆราวาส บางทีกิเลสของภิกษุบางคนอาจจะมีมากกว่ากิเลสของฆราวาสบางคนด้วยซ้ำไป มันวัดกันไม่ได้เพราะความเป็นฆราวาส หรือความเป็นภิกษุ แต่วัดกันได้อย่างแน่นอนตรงที่มีกิเลสอย่างไร มีกิเลสมากหรือน้อยอย่างไร ให้ลืมนึกเรื่องกิเลส เรื่องฆราวาส หรือเรื่องบรรพชิตเสียทีจะดีกว่า นึกแต่ว่าถ้าขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องละ
โดยเหตุที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสข้อความนี้กับภิกษุท่านจึงได้เอ่ยว่า ภิกษุ ถ้าภิกษุเหล่านี้ จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ แต่ถ้าสมมุติว่าในเวลานั้น ท่านจะตรัสกับพวกชาวบ้าน พวกฆราวาสบ้าง ท่านก็ต้องตรัสอย่างเดียวกันว่า ถ้าเธอทั้งหลายจักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เหมือนกัน ดังนั้นควรจะถือว่าคำตรัสคำนี้ใช้แก่คนทุกคน ไม่ยกเว้นว่าเป็นบรรพชิต หรือเป็นคฤหัสถ์ ขอให้เป็นอยู่โดยชอบเถิด โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์โดยแน่นอน
กิเลสก็เหมือนกัน ความทุกข์ก็เหมือนกัน กิเลสนั้นไม่มี ไม่มีความเป็นคฤหัสถ์ หรือไม่มีความเป็นบรรพชิต ขึ้นชื่อว่าเป็นกิเลสแล้ว มันก็เป็นกิเลส สำหรับความทุกข์ที่เป็นผลของกิเลสก็เหมือนกัน ไม่มีความทุกข์ชนิดที่เป็นชาวบ้าน หรือไม่มีความทุกข์ชนิดที่เป็นบรรพชิต ขึ้นชื่อว่าความทุกข์แล้ว มันก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่ถูกยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา มันก็เป็นความทุกข์เสมอกันหมด ภิกษุก็ร้องไห้ ชาวบ้านก็ร้องไห้เมื่อไม่ได้อย่างใจ นี้เรียกว่าความทุกข์โศกร่ำไร รำพัน ความปรารถนาแล้วไม่ได้สมหวังเหล่านี้ มันก็เหมือนกันหมด มันอยู่ที่ร่างกายที่เป็นสัญลักษณ์ เครื่องหมายของความเป็นภิกษุหรือชาวบ้าน นั้นมันก็ยังไม่แน่ เพราะว่าจิตใจนั้นมันอยู่ในสภาพอีกอย่างหนึ่ง จิตใจในร่างของคฤหัสถ์ อาจจะสูงกว่าจิตใจในร่างของบรรพชิตก็ได้ ข้อนี้ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจกันอยู่ดี เป็นที่รู้กันอยู่ดี ถ้าเอาเรื่องของพระอรหันต์เป็นหลักแล้ว มันก็ไม่มีขอบเขตอยู่ที่บรรพชิตหรือฆราวาส แต่มันมีขอบเขตอยู่ที่กิเลส หรือความมีกิเลส หรือความสิ้นไปแห่งกิเลส และการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องในลักษณะที่จะไม่เกิดกิเลส คือ อัฏฐังคิกมรรค ได้แก่ ความถูกต้อง ๘ ประการ หรือจะสรุปให้สั้นเข้ามาก็เรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล ก็คือมีการเป็นอยู่ทางเนื้อตัว ทางกาย ทางวาจาที่ไม่ผิดพลาด สมาธิ ก็คือการอบรมจิตใจให้สูงให้ยิ่งขึ้นไป ดังบทบาลีว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค ในโอวาทปาฏิโมกข์นั้น พูดอย่างศัพท์สมัยใหม่ ก็เรียกว่า พัฒนาคือต้องพัฒนาจิตใจให้เป็นจิตใจที่ยิ่งๆๆ ขึ้นไป หรือเป็นจิตใจที่มีความรู้ มีความสว่างแจ่มใส มีความสะอาด มีความสงบ ดังนี้มันก็เป็นเหมือนกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือเป็นชาวบ้าน รวมความว่าสิ่งที่เรียกว่าจิตใจนั้น มันมีความแน่นอนอยู่ที่ลักษณะของมัน จะเอาร่างกายหรือเอาเพศพันธุ์ภายนอกเป็นหลัก เป็นประมาณหาได้ไม่ เราจะต้องมุ่งตรงไปยังที่จิตใจ ว่าอยู่ในสภาพอย่างไร สูงหรือต่ำอย่างไร ผิดหรือถูกอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติไปในลักษณะที่ให้มันดีขึ้นๆๆ ก็เป็นการถูกต้องแล้ว
ถ้าเป็นอยู่ถูกต้องจริง จิตใจมันก็จะดีขี้นๆ คืออสูงขึ้นๆ ไปในทางที่จะพ้นจากกิเลส เรียกว่าสามารถทำลายกิเลส หรือความเคยชินแห่งกิเลสได้ ตามลำดับ ตามลำดับ ดังนี้ ขอให้พิจารณาดูสิ่งที่เรียกว่าจิตใจ หรือกิเลส หรือความทุกข์ หรือความดับทุกข์ ในลักษณะอย่างนี้ให้ละเอียดลออเถิด จะมีความเข้าใจในความเป็นพระอรหันต์ หรือจะมีความเข้าใจในบุคคลที่สมมุติเรียกชื่อว่าพระอรหันต์ คือคนที่อยู่เหนือความทุกข์ เป็นคนเป็น เป็นคนมีความสุข เป็นคนมีความสะอาด สว่าง สงบ นั่นเอง
ถ้าไม่พิจารณากันโดยละเอียดลออในลักษณะเช่นนี้แล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจความเป็นพระอรหันต์ได้เลย แม้ว่าเราจะมานั่งทำมาฆบูชากันสักสิบหน ร้อยหน พันหน มันก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจพระอรหันต์ได้ เว้นเสียแต่ว่า คราใดที่เราจะทำมาฆบูชาแล้ว เราได้สำรวมจิตใจ เราจะกระทำทุกๆ อย่างเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในความหมายของพระอรหันต์ ดังที่เรากำลังพยายามกระทำอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ แล้วกระทำให้มาก กระทำให้ยิ่งขึ้นไป กระทำให้ชำนาญ กระทำให้เป็นนิสัย และอย่าทำแต่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ กลับไปที่บ้านที่เรือนแล้ว มีโอกาสเมื่อไรก็นึกถึงความทุกข์ นึกถึงความดับทุกข์ นึกถึงเหตุให้เกิดความทุกข์ คือความเผลอสติ ปล่อยให้ความรู้สึกชนิดที่เป็นตัวกู ของกูเกิดขึ้นมา และเมื่อไรเกิดขึ้นแล้วมันก็จะต้องรู้สึกทันท่วงที มันก็จะกระโดดหนีไปเอง แต่ถ้าเราเผลอสติไม่มีวันรู้สึก ไม่มีวันรู้จักมันแล้ว มันก็จะยิ่งทับถมหมักหมมมากยิ่งขึ้นจนเคยชินเป็นนิสัย
นี่มันเป็นความไม่ยากลำบากสำหรับเรื่องของกิเลส คือขอให้มีสติก็แล้วกัน ถ้ามีสติรู้ทันควัน มันก็หนีไป กระโดดหนีไป เหมือนกับผี คือถ้าใครรู้จักแล้วมันก็จะหนีไป ถ้าไม่มีใครรู้จักแล้วมันก็หลอกอยู่เรื่อย
จงรู้จักสิ่งที่เรียกว่ากิเลส หรือความทุกข์ในลักษณะเช่นนี้ มันก็จะมีความเคยชินไปในทางที่จะไม่เกิด หรือมีความเคยชินในทางที่จะหมดไปๆๆ หรือน้อยลงไป เราก็จะประจักษ์ชัดแก่ใจของเราเองว่า เดี๋ยวนี้มันดีขึ้นๆๆ ในทางที่จะชนะกิเลส มีกิเลสน้อยลง มีความทุกข์น้อยลงพอเหมาะสมกับเวลา หรืออายุที่ล่วงมาถึงป่านนี้แล้ว อีกไม่กี่ปีก็จะแตกดับไป เราควรจะไปถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ก่อนจะถึงเวลาที่จะดับไปนี้เสียมากกว่า ก็จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดแล้ว ที่จะต้องพูดกันในวันนี้ จะต้องปรึกษาหารือกันในวันนี้ จะต้องบอกกล่าวกันในวันนี้ จะต้องชักชวนชี้แจงซึ่งกันและกันในวันนี้ หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้สนองความประสงค์อันนี้ โดยนำเอาไปคิด ไปนึก ไปพิจารณา ให้มีสติทันท่วงที ไม่ให้เสียท่าเสียทีต่อกิเลส หรือความทุกข์นั่นเลย การทำมาฆบูชาของเราก็จะมีความหมาย สำเร็จได้ด้วยการรู้จักคำว่าพระอรหันต์ หรือความหมายของคำว่าพระอรหันต์ โดยนัยยะดังที่วิสัชนามา พอสมควรแก่เวลา ขอยุติธรรมเทศนาส่วนนี้ไว้เพียงเท่านี้ก่อน ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้.
สาธุ