แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ วิริยะ ความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนานี้เป็นบุพพาลำดับ(นาทีที่ 02:00) เนื่องกันกับธรรมเทศนา ที่มีมาแล้วแต่ในตอนกลางวัน คือ เป็นธรรมเทศนา เนื่องด้วยอาสาฬหบูชา ด้วยกันทั้งนั้น ในครั้งที่แล้วมา ได้วิสัชนาให้ท่านทั้งหลาย มองเห็นได้ว่า วันอาสาฬหปุรณมีนี้ เป็นวันพระธรรม คือ เป็นวันที่พระธรรมเกิดขึ้นในโลกนี้ โดยสมบูรณ์ เพราะว่า พระพุทธองค์ทรงประกาศ อนุตตรธรรมจักร และนอกกว่านั้น ยังเป็นวันแห่งชัยชนะของมนุษย์ หมายความว่า มนุษย์ได้พ่ายแพ้แก่ความทุกข์ มานานนักหนาแล้ว ครั้นถึงวันที่พระองค์ ทรงประกาศ ธรรมจักรออกไปนี้ มนุษย์ได้รับชัยชนะต่อความทุกข์ จึงถือว่าเป็นวันแห่งชัยชนะ และเป็นชัยชนะที่แท้จริง ไม่ใช่ชัยชนะอย่างหลอก ๆ เหมือนเรื่องทางวัตถุ ของคนที่ยังไม่ลืมตา
ขอให้สังเกตดู ให้ดี ๆ ว่า มนุษย์ผู้ลืมตา ก็มองเห็นว่า อะไรเป็นชัยชนะที่แท้จริง มนุษย์ที่ยังมี ที่ยัง ที่หลับตาอยู่ แม้จะมีสติปัญญา ก็มีสติปัญญาที่จะหลับตา ให้มิดให้ลึก ยิ่งไปกว่าเดิม จึงไม่รู้ว่าอะไร เป็นชัยชนะที่แท้จริงของมนุษย์นั้น ไปเหมาเอาอย่างนั้น ไปเหมาเอาอย่างนี้ ว่านี่ เป็นชัยชนะของมนุษย์ จนน่าหัวเราะ
วันอาสาฬหบูชานี้ เป็นวันชัยชนะแท้จริงของมนุษย์ ต่อสิ่งที่เป็นศัตรูอันสูงสุด คือ กิเลสและความทุกข์ ทีนี้จะมองกันต่อไป ว่าวันอาสาฬหูบูชานี้ เป็นวันอะไรอีกบ้าง อยากจะกล่าวชนิด ที่ท่านทั้งหลาย ฟังแล้วจะไม่เชื่อ ออกไปก่อนว่า วันอาสาฬหบูชานี้ เป็นวันที่พระศาสดา ได้ทรงประกาศ วิธีกระทำ ให้จิตนี้เป็นจิตประภัสสรตลอดกาล และให้จิตนี้เป็นจิตเดิมแท้ตลอดกาล แล้วให้จิตนี้ เป็นจิตว่าง ตลอดกาล ฟังดูแล้วจะรู้สึกอย่างไร
ข้อนี้จะต้องพูดกัน ถึงเรื่อง จิตประภัสสร หรือจิตเดิมแท้ หรือจิตว่าง นี้กันพอให้เป็นที่เข้าใจ เสียสักชั้นหนึ่งก่อน เพราะว่ายังมีผู้ที่ไม่เข้าใจ ในคำทั้ง ๓ คำนี้อยู่เป็นอันมาก ไม่เข้าใจเสียเลยก็มี เข้าใจครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็มี และเนื่องจากเป็นคำ ที่ไม่ค่อยจะมีใครเอามาพูด จึงเป็นการแปลกหู สำหรับคนส่วนมาก โดยเฉพาะชาวบ้านนอกคอกนาแล้ว จะไม่รู้จักคำ ๓ คำนี้แม้แต่ประการใดเลย เพราะว่าไม่ต้องพูดถึง ชาวบ้านนอกคอกนา พวกที่อยู่ในวัดในวานั้นเอง เป็นมหาเปรียญด้วยซ้ำไป ก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ในเรื่องจิตประภัสสร เป็นต้นนี้ ด้วยเหตุนี้ เราจะพิจารณาสิ่งทั้ง ๓ นี้ พอเป็นเค้าเงื่อนกันเสียก่อน
สำหรับจิตประภัสสรนั้น มีบาลีดังที่ได้ยกขึ้นไว้ เป็นหัวข้อข้างต้นว่า ปะภัสสะรามิทัง ภิกขะเว จิตตัง อาคันตุเกหิ อุปักกิเลเสหิ อุปักกิลิฏฐัง (นาทีที่ 06:47) ซึ่งแปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นประภัสสร แต่ว่าจิตนี้เศร้าหมอง เพราะอุปกิเลสที่จรเข้ามา ดังนี้ ข้อที่พระองค์ตรัสว่า จิตนี้เป็นประภัสสรนั้น ท่านทั้งหลายจะต้องฟังให้ดี ๆ ในการที่พระองค์ทรงใช้คำว่า ประภัสสร ไม่ได้ใช้คำว่า บริสุทธิ์ ไม่ได้ใช้คำว่า หลุดพ้น หรือไม่ได้ใช้คำอะไร ๆ นอกไปจากคำว่า ประภัสสร
ทีนี้คำว่า ประภัสสร ในภาษาบาลี มาเป็นภาษาไทย ก็ยังใช้ทับศัพท์ว่า ประภัสสร อยู่นั่นเอง คงจะเนื่องจาก ไม่สามารถที่จะแปลเป็นภาษาไทยคำใดให้เหมาะสม เราจึงต้องใช้คำว่า ประภัสสร ไปตามเดิม บางคนอาจจะไม่รู้ว่าประภัสสรนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเช่นนั้น ก็จะต้องถือเอาตามตัวหนังสือนั้น ประภัสสร มาจากคำว่า ประภา สะระ (นาทีที่ 08:06) ประภา คือ แสง สะระ เออ, แล่นออก หรือแล่นไป ประภัสสร จึงแปลว่า มีแสงแล่นออกไป เมื่อเราเห็นสิ่งใดมีแสงเป็นรัศมี แล่นออกไปรอบตัว โชติช่วงอยู่ดังนั้น นั่นแหละ คือ อาการที่เป็นประภัสสร หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มีรัศมีซ่านออกไปรอบตัว เป็น เออ, แสงสว่าง อาการอย่างนี้ ตรงตามตัวหนังสือแท้ว่า ประภา สะระ (นาทีที่ 08:58) หรือประภัสสร ที่ว่าจิตนี้เป็นประภัสสรนั้น หมายความว่า มีแสง หรือเรืองแสงอยู่ในตัวมันเองโดยรอบด้าน ก็หมายความว่า มันไม่สกปรก มืดมัว เศร้าหมองแต่อย่างใด
ทีนี้ ก็มีอุปกิเลสเกิดขึ้น มาจากเหตุปัจจัยอย่างใด อย่างหนึ่ง จากภายนอก เป็นเหมือนกับจรเข้ามา จากภายนอก เป็นอาคันตุกะ ทำให้จิตนั้นสูญเสียความเป็นประภัสสร เหมือนอย่างว่า เรามีเพชรเม็ดนึง แวววาว ส่องสว่างอยู่กลางแดด ถ้าเราเอาน้ำโคลนสาดเข้าไป รัศมีของเพชรนั้นมันก็ จะไม่ปรากฏ แต่แล้ว ท่านอย่าเพิ่งคิดไปว่ารัศมีนั้น สูญสิ้นไปเสียแล้ว ไม่ได้มีเหลืออยู่ ความจริงมันก็ต้องมีอยู่เท่าเดิม และตามเดิม หากแต่ว่าโคลนมันปิดบังเสีย ตาตามประสามนุษย์ก็มองไม่เห็น มันต้องมีตาพิเศษ ยิ่งกว่าตามนุษย์ จึงจะมองเห็นแสงเพชร ที่ทะลุโคลนออกมาได้ จิตนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมีอุปกิเลสอย่างใด อย่างหนึ่ง นานาชนิด สรุปรวมเป็น ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นแล้ว มันก็เป็นสิ่งปิดบังจิตนั้น ให้สูญเสียความเป็น ประภัสสร คือ ไม่ปรากฏแก่สายตา
ทีนี้ เราก็จะต้องคิดกันต่อไปว่า ทำอย่างไรจึงจะให้คงมี ความเป็นประภัสสร ปรากฏอยู่เป็นการ ถาวรได้ คำตอบง่าย ๆ ใคร ๆ พอจะมองเห็น ว่าก็กระทำอย่าให้มีกิเลสเกิดขึ้นก็แล้วกัน จิตนั้นก็เป็นประภัสสร อยู่ตลอดกาล เพราะฉะนั้น วิธีใดที่จะทำให้กิเลสไม่เกิดขึ้น แล้ววิธีนั้นแหละ คือ วิธีที่จะทำจิตนี้ ให้เป็น ประภัสสรตลอดกาล วิธีที่จะทำไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นนั้น พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค คือ การกระทำที่ถูกต้องครบถ้วน ๘ ประการ รวมกันเป็นอันเดียวกันเรียกว่า มรรค มีความเห็นชอบ ความใฝ่ฝันชอบ พูดจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ มีสติตั้งไว้ชอบ มีสมาธิตั้งไว้ชอบ เป็นความชอบ หรือความถูกต้องรวมกัน ๘ ประการ เป็นมรรคตั้งอยู่ดังนี้แล้ว เรียกว่า มีการเป็นอยู่ชอบ เมื่อมีการเป็นอยู่ชอบดังนี้แล้ว กิเลสใด ๆ ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ จิตนั้นก็ไม่มีอะไร ที่จะมาหุ้มห่อ ให้สูญเสียความเป็นประภัสสร
ด้วยเหตุที่พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดง อัฏฐังคิกมรรค คือ มรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น ในวันอาสาฬหปุรณมีนี้ ด้วยเหตุเช่นนี้เอง อาตมาจึงกล่าวว่า วันอาสาฬหบูชานี้คือ วันที่พระองค์ทรงประกาศ วิธีทำจิตให้เป็นประภัสสรอยู่ตลอดกาล เป็นสมุจเฉทปหานแก่กิเลสทั้งปวง ถ้าเราสามารถทำจิต เป็นจิตประภัสสรได้ตลอดกาลแล้ว ปัญหามันก็ไม่มีเหลืออยู่เลย จงพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ว่าจิตประภัสสรนั้น มันเป็นส่วนจิต ส่วนกิเลสนั้น มันเป็นแต่เพียงส่ิงที่เกิดขึ้นกับจิต ไม่ใช่ตัวจิต
ส่วนตัวจิตนั้น คงเป็นประภัสสรตามธรรมชาติ ส่วนกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่เกิดกับจิต เขาเรียกว่า เจตสิก เจตสิกเกิดขึ้นอย่างไร ก็ปรุงแต่งจิตไปในลักษณะเช่นนั้น เมื่อสูญเสียความเป็นประภัสสร ก็คือ สูญเสียสภาวะเดิมของมัน ด้วยอำนาจที่เจตสิกอย่างใด อย่างหนึ่ง เข้าไปปรุงแต่ง นี้เจตสิกนี้เกิดขึ้น จากสิ่งแวดล้อม ก็ตั้งต้นจากภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือซึมเข้าไปถึงใจ มันจึงเกิดการปรุงแต่ง เป็นสิ่งที่เรียกว่า เจตสิกได้ในที่สุด คือ กิเลสต่าง ๆ นั่นเอง
การเกิดของเจตสิกนี้ มันก็เกิดที่จิตนั้น แต่มันไม่ใช่จิตแท้ มันไม่ใช่ตัวจิต เหมือนกับว่า เราเอาโคลน สาดเข้าไปที่เพชรพลอย โคลนนั้นมัน ๆ ไม่ใช่เพชรพลอย แต่มันก็ปิดบัง ความเป็นประภัสสร ของเพชรพลอยนั้นได้เหมือนกัน ถ้าเอาโคลนออกเสีย เพชรเม็ดนั้นก็ยังมี ความเป็นประภัสสรอยู่ตามเดิม นี้ฉันใดก็ดี จิตนี้ก็มีเจตสิกนานาชนิด เข้าไปทำให้สูญเสีย ความเป็นประภัสสร จิตที่เป็นกุศลก็ตาม เป็นอกุศลก็ตาม หรือเป็นอะไร ๆ ก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นปรุงแต่งจิตแล้ว จิตก็สูญเสียสภาวะเดิมทั้งนั้น แม้ว่าจะเป็นกุศล มันก็ให้สูญเสียความเป็นประภัสสรชนิดเดิม และที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือว่า ไม่ว่าจิตจะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล มันเป็นการปรุงแต่ง ผลักไสทั้งนั้น
จิตที่เป็นกุศล ก็ปรุงแต่งไปในทางให้ได้ดี เกิดดี เวียนว่ายไปในความดี ไม่ได้หยุด ไม่ได้สงบ ไม่ได้สะอาด ไม่ได้หลุดพ้นเลย จิตประเภทชั่วเป็นอกุศล ก็ปรุงแต่งไปในทางชั่ว ผลักไสไปในทางชั่ว ไม่มีความหยุด ไม่มีความสงบ เพราะ เพราะฉะนั้น จะต้องถือว่าจิตนั้น ต้องไม่ถูกปรุงแต่งอะไร ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเดิม จึงจะมีความเป็นประภัสสร
ทีนี้ ในความเป็นประภัสสรของจิตนั้น มีความหมายถึง ความสว่าง หรือความรู้ รวมอยู่ด้วย เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่า ความรู้นั้นเป็นคุณสมบัติเดิมของจิต ถ้าอวิชชา หรือกิเลส เป็นต้น อยากครอบงำแล้ว จิตก็จะรู้อะไรถูกต้อง ตามเป็นจริงไปตามธรรมชาติแท้ของจิต ถ้าไม่เช่นนั้น มันไม่เรียกว่า จิต หรือมโน หรืออะไรทำนองนั้น มีการบัญญัติความหมายของคำว่า จิต หรื มโน ไว้ในลักษณะที่ว่า มันรู้อะไรได้ ในตัวมันเอง ถ้าเราจะเถียงว่า ทำไมต้องมีการศึกษาเล่าเรียน หรือแม้กระทั่งเรียนธรรมะเล่า เพราะว่านั่น มันไปโง่ ไปอยากจะรู้นั่น ไปอยากจะรู้นี่ ให้มันยุ่งยาก มากเรื่องไป เท่านั้นเอง อย่างอยากรู้หนังสือ นี้มันก็ไปเรียนหนังสือ จิตมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามการเรียนหนังสือ อยากรู้ธรรมะ จิตมันก็เปลี่ยนแปลง ไปตามความอยากรู้ธรรมะ มันก็เป็นจิตใหม่ ด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้วถ้ารู้ธรรมะเรื่อยไป ธรรมเรื่อยไป จนถึงที่สุด คือ ทำกิเลสให้หมดสิ้นไป ไม่ให้ครอบงำจิตแล้ว จิตมันก็มีความเป็นประภัสสรอย่างเดิม
แต่ว่า มันมีอาการที่แปลกกันในข้อที่ว่า มันเป็นการถาวร เพราะว่า ในขอบเขตของจิตนี้ เดี๋ยวนี้ถูกทำลายโอกาส ที่จะทำให้เกิดกิเลสได้เสียแล้ว ในขอบเขตของจิตดวงนี้ กิเลสไม่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป ความเป็นประภัสสร จึงคงอยู่ได้ตามสภาพเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ความประภัส เป็นประภัสสรอย่างเดิม เป็นการถาวร เพราะกิเลสถูกตัดให้เป็นสมุจเฉทปหาน นี่ถ้าเราอยากโง่ ไปอยากอย่างนั้น ไปอยากอย่างนี้เข้า มันก็ไม่ต้องทำอะไร มันก็เป็นประภัสสรไปตามเดิมของมันได้
แต่เดี๋ยวนี้ เรามันจำเป็นจะต้องโง่ ว่าจำเป็นที่จะอยากอย่างนั้น จำเป็นที่จะอยากอย่างนี้ ไปตาม เออ, ธรรมชาติของคนที่ยังโง่ และโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว มันก็คือ อยากดี อยากเด่น อยากมีตัวกู ที่ยกหูชูหาง นี้มันมาจากไหนกันก็ไม่รู้ แต่ว่ามันก็ต้องพูดได้ ว่ามันมาจากอวิชชา ซึ่งเรายังไม่รู้จักว่าเป็นอะไร แต่ก็มีความหมาย ไปทำนองที่ว่า เป็นความโง่ จงมองดูเด็กเล็ก ๆ คลอดมาจากท้องแม่ มันก็ยังไม่ค่อย อยากอะไร เพราะมันไม่รู้จักอะไรนั่นเอง พอมันได้สัมผัสอะไรเข้า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง อะไรก็ตาม มันรู้จักเวทนา ที่เป็นสุขเป็นทุกข์เข้าแล้ว มันก็รู้จักอยากอย่างนั้น อย่างนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไปตามลำดับ และเพิ่มมากขึ้น
นี่จะเห็นได้ว่า เพราะสิ่งแวดล้อมข้างนอก ไปทำให้เด็ก ๆ นั้น รู้จักอยากอย่างนั้น รู้จักอยากอย่างนี้ พอเกิดความอยาก คือ ตัณหาเต็มรูปแล้ว สิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน สำคัญมั่นหมาย ว่าตัวกู ก็ต้องมีขึ้น เป็นธรรมดา มันจึงมีความรู้สึก ว่าฉัน ว่ากูอย่างนั้น อย่างนี้ขึ้นมา ต้องการอย่างนั้น อย่างนี้ขึ้นมา ในที่สุดก็ไป สรุปอยู่ที่ อยากดี อยากเด่น ก็เลย อ่า, ช่วยไม่ได้ มันก็มีความอยาก แม้ว่ามันจะอยากดี อยากเด่น ไปในทาง ธรรมะ ธัมโม มันก็ยังเป็นไอ้ความโง่อยู่นั่นเอง เพราะว่าถ้าไปอยากดี อยากเด่นในทางนั้นขึ้นมาแล้ว มันก็ไม่มีเรื่องอะไร ไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นปัญหา ที่จะลำบากยุ่งยากใจ
นี่แหละ จงดูเถิด ว่าคนเรามันอยู่ไม่สุข มันไม่รู้จักอยู่นิ่ง ๆ มันเที่ยวไปอยากอย่างนั้น อย่างนี้ เรื่อยไป เพราะสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติส่วนนี้ มันเป็นอย่างนี้ ความเป็นประภัสสรก็สูญเสียไป มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น คือ ถี่เข้า ถี่เข้า หรือนานเข้า เราจึงมีจิตใจ ชนิดที่มืดมัว เร่าร้อน เป็นทุกข์
ทีนี้ ก็หาวิธีที่จะคืนสู่สภาพเดิม เป็นการถาวร เพราะทำตามวิธี ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอน เรื่อง อัฏฐังคิกมรรค นั้น ถ้าเราจะดูกันถึงเรื่องอริยสัจ ซึ่งพระองค์ได้ทรงประกาศ ลงไปในวันนี้ ก็เป็นเรื่องเดียวกัน เรื่อง ความทุกข์นั้น ก็คือ ภาวะที่จุด ที่จิตกำลังสูญเสียความเป็นประภัสสร แล้วเป็นทุกข์ทรมาณอยู่ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องสมุทัยนั้น นั่นแหละ คือ ตัวการ ที่จะทำให้จิตสูญเสียความเป็นประภัสสร เรื่องนิโรธ ความดับทุกข์นั้น คือ เรื่องที่ดับกิเลส ที่จะมาทำจิตนั้น ให้สูญเสียความเป็นประภัสสรออกไป โดยเด็ดขาด จิตจึงอยู่ในสภาวะที่ปราศจากทุกข์ เป็นประภัสสรที่เป็นการถาวร ส่วนข้อสุดท้าย คือ มรรคนั้น ได้แก่ การเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ประกอบไปด้วย องค์ ๘ ประการ ซึ่งจะนำมาซึ่งความดับแห่งกิเลส ที่จะมาครอบงำ จิต ให้สูญเสียความเป็นประภัสสร
ถ้าเรารู้เรื่องอริยสัจ ๔ หรืออัฏฐังคิกมรรค กันในทำนองนี้แล้ว เรื่องมันก็จะสั้นเข้า เป็นเรื่องรวบรัด ที่บุคคลจะเข้าใจได้โดยไม่ยาก และไม่มีหน้าที่อะไรมากมาย ที่จะต้องศึกษาเล่าเรียน หรือประพฤติปฎิบัติ กันจนความรู้ท่วมหัว แล้วก็ยังเอาตัวไม่รอด รู้แต่เพียงระวัง จิตอย่าให้สูญเสียความเป็นประภัสสร คือ มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมทางเกิดขึ้นของกิเลส ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เราจะสามารถรักษา ไว้ได้ ซึ่งภาวะเดิมแท้ของจิตนั้น โดยการปฏิบัติในอัฏฐังคิกมรรค เพราะเหตุเช่นนี้แหละ อาตมาจึงกล่าวว่า วันอาสาฬหบูชานี้ คือ วันที่พระพุทธองค์ ทรงประกาศวิธี ที่จะสามารถทำให้จิตเป็นประภัสสรตลอดกาล นี้อย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะเชื่อ หรือไม่เชื่อก็เอาไปคิดดูก่อน
ทีนี้ ที่ว่าวันอาสาฬหบูชานี้ เป็นวันที่พระองค์ทรงประกาศวิธีทำจิต ให้เป็นจิตเดิม หรือเดิมแท้ อย่างตลอดกาล นั้นจึงเข้าใจว่า คำว่า จิตเดิม หรือจิตเดิมแท้นี้ มีอยู่ในพวกพุทธบริษัท ฝ่าย เออ, นิกายญานะ (นาทีที่ 24:04) หรือที่เราเรียกกันว่า นิกายเซน ไม่มีในอย่างฝ่ายเถรวาทเรา แต่ว่าคำ ๆ นี้ มันก็บอกอยู่ในตัวว่า มีความหมายอย่างเดียวกันกับคำว่า ประภัสสร เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จิตนี้เป็นประภัสสร พึ่งเศร้าหมอง เมื่อมีกิเลสเป็นอาคันตุกะเข้ามา พวกนิกายเซนเรียกว่า จิตเดิมแท้ ก็หมายความว่าเดิม หรือก่อนแต่ที่กิเลสจะเกิดขึ้นในจิต
ตัวหนังสือตัวนี้ ในภาษาจีน แปลความหมาย อ่า, กำกวมว่า เดิมก็ได้ ว่าแท้ก็ได้ เราจึงแปลกันเสียว่า จิตเดิมแท้ไปเลย ให้หมดทั้ง ๒ ความหมาย คำว่า พึ่งซิม (นาทีที่ 25:05) ในภาษาจีนนั้น มันกำกวม แต่ว่า ส่วนใหญ่มุ่งไปในทางที่เป็นจิตแท้ คือ จิตแท้ ๆ ไม่มีอะไรปน ที่เนื่องจากความเป็นจิตแท้ ๆ ไม่มีอะไรปนนั้น มันเป็นของเดิม จะเรียกว่า จิตแท้ก็ถูก จะเรียกว่า จิตเดิมก็ถูก เลยเรียกว่า จิตเดิมแท้ มันก็เลยถูก ๒ เท่า ก็นิยม เออ, ใช้แปลอย่างนี้ เป็นคำใหม่ซึ่งไม่มีใครเคยได้ยิน ก่อนแต่ที่จะแปลหนังสือเรื่อง เว่ยหล่าง ออกมา ก็เลยตื่นเต้นกันว่า เป็นของต่างประเทศ เป็นของจิตแปลกปลอมเข้ามา ไม่รู้ว่าอย่างไรกันแน่ พวกที่ไม่เข้าใจ ความหมาย ก็เข้าใจเอาเองตามความรู้ ความคิดของตัว เห็นด้วยก็มี คัดค้านก็มี แต่ก็ยกไว้ว่า ยกไว้ให้ว่าเป็น ของพวกมหายาน นั่นคือ ความโง่ เพราะว่าเรื่อง จิตเดิมแท้ ในสูตรของเว่ยหล่างนั้น มันไม่ใช่มหายาน เพราะว่า นิกายเซนนั้นไม่ใช่มหายาน
นิกายเซนนั้นเกิดขึ้น เพื่อจะล้อพวกมหายาน ที่เอาแต่จะไหว้อมิตาพระ และอวโลกิเตศวร ในลักษณะที่เป็นการอ้อนวอน พึ่งคนอื่นไม่ใช่พึ่งตัวเอง เดี๋ยวนี้ ก็มาพูดกัน เรื่องจิตโดยตรง ทำอะไรก็ จัดการลงไปที่จิต ไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าอมิตาพระ หรืออวโลกิเตศวรเลย ดังนั้นนิกายจิตเดิมแท้ หรือเว่ยหล่างนี้ ไม่ใช่มหายาน ยังมีคนโง่ในประเทศไทย ที่อ้างตัวเป็นนักปราชญ์อยู่เป็นอันมาก ที่เข้าใจว่า นิกายเซนนี้เป็นมหายาน ควรจะเข้าใจให้ถูกต้อง กันเสียแต่บัดนี้ด้วย
ทีนี้ เมื่อรู้ว่า คำว่า จิตเดิมแท้ เป็นสมบัติของพวกนิกายเซน แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ อาจารย์คนที่ ๖ ซึ่งมีชื่อว่า เว่ยหล่าง เท่านั้น ไม่เกี่ยวเนื่องไปถึงคนอื่น อาจารย์อื่นในนิกายเซนเลย แต่โดยเหตุที่เราไปอ่าน หนังสือเรื่อง เว่ยหล่างเข้า เราก็พบคำคำนี้ ก็ควรจะดูให้ดีว่า มันหมายความว่าอย่างไร จิตเดิมแท้นั้น มันก็แสดงชัด อยู่ในตัวแล้วว่า มันเดิม คือ ก่อนแต่ที่กิเลสจะเกิดขึ้น มันแท้เพราะว่า ไม่มีกิเลสเจือปน รวมทั้งเดิม ทั้งแท้ ก็คือ ภาวะที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติเดิมของจิต มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า ประภัสสร ก่อนแต่ที่กิเลสจะเกิดขึ้น นี้ถ้าเราไม่รังเกียจว่า มันเป็นเรื่องของพวกเซน หรือพวกอะไร เราถือเอาแต่ ความหมายชนิดที่ทำไปด้วยความหวังดีแก่ทุกฝ่าย ก็จะพอเข้าใจได้ว่า นิกายเซนนี้ ก็สอนให้พยายามค้นหา ให้พบภาวะอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติเดิมแท้ของจิต คือ ภาวะที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หุ้มห่อ ปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลง ครอบงำ จะเรียกว่า จิตเดิมแท้อย่างนี้ มีความหมายอย่างเดียวกับ ความเป็นประภัสสร ในพระคัมภีร์ทางฝ่ายเถรวาทเรา เพราะงั้นจึงควรที่จะกล่าวได้ว่า วันอาสาฬหบูชานี้ ก็คือ วันที่พระพุทธองค์ ทรงประกาศวิธี ที่คนเราจะสามารถทำจิต ให้เป็นจิตเดิมแท้ คือ อยู่ในภาวะที่ว่าง จากความครอบงำของกิเลส ปลอดจากการครอบงำของกิเลส อยู่ในสภาพที่เดิมแท้ของมัน เมื่อจิตนั้นได้อยู่ในสภาพเดิมแท้ของมัน มันก็มีคุณสมบัติ ที่จะรู้อะไรได้อยู่ในตัวมันแล้ว มันจึงไม่ไปหลง ไปอยาก อย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของ ตัณหา อุปาทาน หรืออวิชชา
เหตุเช่นนั้นแหละ อาจารย์เจ้าของจิตเดิมแท้ คือ เว่ยหล่าง นั้นจึงสอนว่าอยู่นิ่ง ๆ อยู่นิ่ง ๆ อยู่นิ่ง ๆ นี่ฟังถูกไว้ อยู่นิ่ง ๆ อยู่นิ่ง ๆ หมายความว่าอย่างไร พวกคนที่โง่มาก ๆ นักปราชญ์ที่เป็นบรมโง่ ก็จะเข้าใจ อีกว่า ไม่ทำอะไรอยู่นิ่ง ๆ เหมือนท่อนไม้ ไปเสียอีก แต่เว่ยหล่าง มีความมุ่งหมายที่จะพูดว่า อย่ามีการ ปรุงแต่ง อยู่นิ่ง ๆ นี้คือ อย่ามีการปรุงแต่งทางจิตใจ ปล่อยมันไว้ตามสภาพเดิมของมัน อย่ามีการปรุงแต่ง ทางจิตใจ อยู่นิ่ง ๆ อย่าซุกชน จิตก็อยู่ในสภาพจิตเดิมแท้ไปตามเดิม งั้นคำสอนที่ว่าอยู่นิ่ง ๆ เพียง ๒-๓ พยางค์นี้ มีความหมายลึกซึ้งมาก หรือกล่าวได้ว่าน่าสนใจที่สุด ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าพวกเรา มันเป็นคนซุกซน หาเรื่องมาปรุงแต่งจิต ไม่มีสิ้น ไม่มีสุด ไม่มีสร่าง อยู่นิ่ง ๆ อย่างเว่ยหล่าง ว่าเสียแล้ว มันก็หมดเรื่องกัน สภาพจิตเดิมแท้นั้น ก็คงมีอยู่ตลอดกาล เป็นสมุจเฉทปหาน
ทีนี้ อะไรเล่า จะมาทำให้อยู่นิ่ง ๆ ได้ตามความมุ่งหมายอันนั้น มันก็คือ อัฏฐังคิกมรรค มีองค์ ๘ ประการอีกนั่นเอง มีความเห็นชอบ ใฝ่ฝันชอบ พูดจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พากเพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ อยู่ให้ชอบ นั่นแหละคืออยู่นิ่ง ๆ เพราะว่า มันไม่เปิดโอกาสแห่งการปรุงแต่งอย่างใดหมด ไม่ปรุงแต่ง เป็นตัวกู ของกู ยกชูหางขึ้นมาได้ นั่นแหละ คือ อยู่นิ่ง ๆ อัฏฐังคิกมรรค ก็คือ วิธีที่จะทำจิต ให้อยู่ในสภาพ ที่เว่ยหล่าง เรียกว่า อยู่นิ่ง หรือ อยู่ในสภาพเดิมแท้ของมัน นี้ก็มีเหตุผล ที่ทำให้กล่าวได้ว่า วันอาสาฬหบูชา ก็คือ วันที่พระองค์ได้ทรงประกาศวิธี ที่จะทำให้จิตนี้ อยู่ในภาวะเดิมแท้ของมัน คือ ว่างจากกิเลส ว่างจากการปรุงแต่ง โดยประการทั้งปวง
ทีนี้ ก็พูดกันถึงความว่าง หรือจิตว่าง คำนี้มีคนมอบหมาย ให้อาตมาเป็นเจ้าของคำ เพราะว่า เขาไม่ได้เคย ไม่เคยได้ยิน คำว่า จิตว่างมาแต่กาลก่อน โดนเหตุที่อาตมา เป็นคนเอามาพูด มาเป็นคำแปลก ขึ้นมาในครั้งแรก เพราะเหตุที่ว่าคนทั่วไป ไม่เคยสนใจ ในเรื่องความว่างในพุทธศาสนา แม้ที่เป็นอย่างเถรวาท ของตัวเองก็ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจเรื่องความว่าง หรือสุญตา เป็นต้นทุนมาแต่เดิม พอได้ยินคำว่า จิตว่าง ก็เข้าใจเอาเองว่า มันไม่มีอะไร หรือมันไม่ทำอะไร นี้พวกหนึ่ง จนถึงกับมีผู้ที่เป็นนักอภิธรรม มาค้านว่า จิตนี้มันอยู่ว่าง ๆ ไม่ได้ มันต้องมีพฤติ คือ คิดนึกอยู่เสมอ ตามหน้าที่ของมัน นั่นแหละ คือ การที่มาแสดง ให้เห็นว่า ไม่มีความรู้ เรื่องความ เรื่อง ๆ ความว่าง อย่างสำนวนเมืองนี้ พูดว่า พออ้าปากขึ้นมา ก็เห็นลิ้นไก่ อ้าปากให้เขาเห็นลิ้นไก่ ว่ามันมีอะไรบ้าง
ถ้าเป็นคนที่ได้เคยศึกษา เรื่องสุญตา ความว่างของพระพุทธเจ้า มาพอสมควรแล้ว พอพูดว่า จิตว่าง ก็จะเข้าใจได้ทันที ว่าหมายถึงอะไร คือ คำว่า จิตว่าง ไม่ได้หมายถึง จิตที่ไม่คิดไม่นึกอะไร มันยังคงทำหน้าที่ ตามธรรมดาของจิต คือ คิดนึก มีพฤติต่าง ๆ ตามที่จิตมันจะต้องมี แต่ว่าในความคิดนึก หรือพฤติเหล่านั้น มันไม่เจือ อยู่ด้วยอุปาทาน ว่าตัวกู ว่าของกู มันก็เพราะว่างไปจากตัวกู ของกูนั่นแหละ เขาจึงได้เรียกว่า จิตว่าง ไม่ใช่ว่าเป็นจิตที่ไม่คิดไม่นึกอะไร หรือว่าไม่รับผิดชอบอะไร ไม่ทำอะไร ที่แท้แล้ว จิตที่ว่างจากตัวกู ของกูนั่นแหละ มันจะทำอะไรได้ดีกว่า และทำอะไรได้มากกว่า
ควรจะเหลือบตา มองไปยังพระพุทธเจ้ากันเสียบ้าง หรือว่าพระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวง ล้วนแต่มี จิตว่างจากกิเลสทั้งนั้น แต่แล้วทำไมพระพุทธเจ้า ท่านจึงทำงานได้มากได้ดี พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ทำงาน ได้มากได้ดี ไม่ขี้เกียจเหมือนพวกนี้ ที่คอยจะพูดว่า ถ้าจิตว่างเสียแล้ว มันก็ไม่ทำอะไร เพราะตัวเองมีนิสัย สันดานอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น มันก็ไม่ถูกกันกับเรื่องของคำว่า สุญตา ซึ่งเป็นคำสำคัญที่สุด ในพระพุทธศาสนา จนถึงกับพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เป็นเรื่องที่ทุกคน จะต้องเรียน จะต้องรู้ แม้แต่ที่ เป็นฆราวาส ครองบ้านเรือน แออัดอยู่ด้วยบุตร ภรรยา รูปร้าย เครื่องหาบพา (นาทีที่ 35:40) อ่า, มีของหอม เป็นต้น
นี่ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ฆราวาสแท้ ๆ นั่นแหละ ก็ยังจะต้องสนใจเรื่องสุญตา และเป็นเรื่อง และสุญตา ความว่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัส เพราะว่าพระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสเรื่องใด ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุญตา สุญตา ก็คือ ความว่าง ความว่าง คือ ว่างจากกิเลส และความทุกข์ ถ้าจิตว่าง ก็หมายความว่า ว่างจากกิเลส และความทุกข์ ถ้าพูดให้สั้นเข้ามา ก็ว่าว่างจากความรู้สึกคิดนึก ว่าตัวกู ว่าของกู เพราะว่านั่นแหละ คือ ตัวกิเลสและตัวความทุกข์
ทีนี้ จะมาดูกันต่อไป ถึงภาวะของความว่างของจิตนี้ ภาวะที่เป็นความว่างของจิตนี้ มันเป็นภาวะเดิม คือ ทีแรก จนภาวะที่จิตวุ่นนั้น มันเป็นของใหม่ เพิ่งจะเกิดเมื่อมีการปรุงแต่ง เด็กทารก มันมีจิตที่คิดนึกอะไร ได้มาแต่ในท้อง แต่ว่าความคิด เรื่องตัวก ูเรื่องของกูนั้นยังไม่มี จนกว่าเมื่อไร จะได้มีความรู้สึกสัมผัสทางเนื้อ ทางตัว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นต้น จนเกิดอยาก อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตัว เมื่อนั้น มันจึงจะเริ่มเกิดมีตัวกูขึ้นมา เป็นพัก ๆ เป็นคราว ๆ เป็นเรื่อง ๆ ไป เรียกว่า ไม่ว่างขึ้นมาแล้ว เป็นของใหม่ มีการปรุงแต่งแล้ว แม้จะมีว่าง ก็ว่างเป็นชั่วขณะ ๆ เหมือนจิตประภัสสร ที่ได้กล่าวมาแล้ว นั่นเอง คือว่า โอกาสที่กิเลสจะเกิดขึ้น ทำให้ไม่ว่างนั้น มันมีมากขึ้นทุกที แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันยังต้องเหลือโอกาสที่จะว่าง ตามธรรมชาติเดิมอยู่บ้าง คือ เป็นความพักผ่อน เพราะว่าถ้าจะไม่ว่างจากตัวกู ของกูซะเลยแล้ว มันก็เป็นบ้า
เดี๋ยวนี้ ที่เราทุกคนยังไม่เป็นบ้า ก็เพราะว่าจิตมันมีโอกาสที่จะว่าง จากตัวกู ของกูนั้น อยู่พอสมควรกัน ให้พิจารณาดูว่า ในวันหนึ่ง คืนหนึ่ง ๒๒ ชั่วโมงนี้ ความคิดที่ปรุงแต่งขึ้น เป็นตัณหา อุปาทานนั้น มันมีไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่นาทีด้วยซ้ำไป เวลาที่มันว่าง จากความรบกวนของความวุ่นนี้ มันมีมากพอ ที่จะให้จิต ได้รับการพักผ่อน คือ เป็นจิตว่าง มันจะคิดนึกไปอย่างไรก็คิดได้ อ่า, ขอแต่อย่าคิดไปทางตัวกู ของกูก็แล้วกัน พอคิดไปทางตัวกู ของกูเท่าไร มันก็เกิดเป็นไฟเผาตัวมันเมื่อนั้น ถ้ามันคิดไปในทางที่ไม่ใช่ ตัวกู ของกูแล้ว มันก็ไม่มีการแผดเผาอะไร เพราะฉะนั้น เราจึงคิดได้ ทำอะไรก็ได้ ไปตามความรู้สึก ที่เป็นสติปัญญา เป็นสติสัมปชัญญะ อย่าเป็นตัวกู ของกูก็แล้วกัน คนที่มีจิตว่างจากตัวกูของกู จึงทำงาน ได้ดีกว่า ทำงานได้มากกว่า แล้วเป็นสุขสนุกสนาน ในจิตใจมากกว่า ไม่มีความร้อนรน
ทีนี้เรื่องจิตว่างนี้ แม้ว่าจะเป็นคำใหม่ที่ตั้งขึ้น ก็ตั้งขึ้นเพื่อ ช่วยประหยัดเวลา หรือ เออ, ที่จะศึกษา หรือความเข้าใจ แต่เผอิญมันเป็นไปในทำนอง ที่ตรงกันข้าม เพราะว่าคนทั่วไป รู้จักคำว่า ว่างแต่ในทางวัตถุ คือ ความไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร ไม่ทำอะไร ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ในความหมายของคำว่า ว่าง ในภาษาของ พุทธศาสนา เราจะนึกกันไปถึงคำว่า ความว่างก่อนก็ได้ คำว่า สุญตา แปลว่า ความว่าง แต่ว่าความว่าง ในพุทธศาสนา หรือสุญตานี้ มิได้หมายความว่า ไม่มีอะไร แต่หมายความว่า มีทุกสิ่งทุกอย่าง ตามที่เราเห็น ๆ อยู่ เพียงแต่ว่า มันว่างจากความหมาย ที่ควรจะยึดถือเอาว่า เป็นตัวตน หรือของตน
เพราะฉะนั้น ในพระคัมภีร์จึงเขียนไว้ชัด ว่าโลกนี้ว่าง เพราะว่าไม่มีส่วนใด ที่ควรจะยึดถือ เอาว่า เป็นตัวตน หรือเป็นของของตน นี้เป็นหลักพระพุทธศาสนา ที่ว่าโลกนี้ว่าง เพราะไม่มีส่วนใดที่ควรจะยึดถือ เอาว่าเป็นตัวตนหรือของตน แต่มิได้หมายความว่า ไม่มีโลกนี้ หรือไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอะไรอยู่โลกนี้ มันมีโลกนี้ หรือมีอะไรในโลกนี้ เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ของโล ในทางฝ่ายวัตถุ แต่ว่าทั้งหมดนั้น เรียกว่า มันว่าง เพราะว่ามันไม่มีส่วนไหน ที่ควรจะเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน โลกว่าง เพราะว่างจาก ความหมาย แห่งความเป็นตัวตน
ทีนี้ จิตของคน ที่จะว่างตามแบบของพุทธศาสนานั้น ก็เพราะมามองเห็นอยู่ว่า โลกนี้ว่าง จากความหมาย แห่งความเป็นตัวตน จิตนั้นจึงไม่ไปจับฉวย เอาส่วนใดในโลกนี้ว่าเป็นตัวตน จิตนั้นจึงว่าง เพราะจิตนั้น เห็นความว่างของโลกอยู่เสมอ จึงไม่เกิดการปรุงแต่งยึดถือเอาเป็นตัวตน เมื่อไม่มีการปรุงแต่ง ยึดถือเป็นตัวตน มันก็ไม่อาจจะเกิดโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะได้ ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า จิตว่าง เพราะว่าง จากโลภะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ แต่ว่าคำว่า ว่างจากโลภะ โทสะ โมหะนี้ มันไปรวมความ อยู่ที่คำว่า ว่างจากตัวกูของกู ว่างจากความรู้สึกว่าตัวกู ของกู มันจึงได้ว่างจากโลภะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ
เพราะว่าโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม โมหะก็ตาม มันเกิดมาจากความมั่นหมาย ในทางเป็นตัวกู หรือของกูด้วยกันทั้งนั้น ถ้ามันถูกใจมันก็โลภ หรือรัก หรืออยากจะได้ เป็นของตัวกู ถ้ามันไม่ถูกใจแก่ตัวกู มันก็โกรธ มันต้องการจะทำลายเสีย ในฐานะที่เป็นข้าศึกของตัวกู นี่ถ้าว่ามันยังมืดมัว สงสัย ไม่เข้าใจ มันก็ยังเอาความสงสัยนั่นแหละ เป็นเครื่องผูกพันให้หลงใหล อยู่ในสิ่งใด สิ่งหนึ่งต่อไปอีก รวมความว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ เป็นกิริยาอาการของตัวกู ของกูด้วยกันทั้งนั้น ถ้าจิตว่างจากความรู้สึกว่า ตัวกู ของกูเสียแล้ว มันว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ จิตชนิดนี้แหละ คือ จิตว่าง ตามหลักของพุทธศาสนา ไม่ใช่จิตว่างแบบอันธพาล ของนักปราชญ์ในโลกนี้ ซึ่งมีความรู้แต่เพียง เรื่องวัตถุอย่างเดียว ซึ่งคอยแต่จะ คัดค้านว่า จิตว่างนั้นไม่ทำอะไร จิตว่างนั้นไม่รับผิดชอบอะไร จิตว่างนั้นไม่รับรู้ในหน้าที่ของตน กระทั่งมีอันธพาล เลยไปถึงว่า จิตว่างนั้นมันรังแต่จะเอาเปรียบผู้อื่น โดยอาศัยความว่างนี้ เป็นข้อแก้ตัวนั้น มันเป็นจิตว่างอย่างวัตถุ และอันธพาลที่สุด
ขอให้ท่านทั้งหลาย ระวัง เออ, จิตว่างแบบอันธพาลนี้ให้ดี ๆ เพราะมีอยู่มากมายในหน้าหนังสือพิมพ์ ในเมืองไทย ในปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงความว่าง หรือจิตว่างแล้ว เป็นจิตว่างแบบอันธพาล อย่างวัตถุที่โง่เขลา ที่สุดทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องความว่าง หรือจิตว่างตามแบบของพระพุทธเจ้าเลย เราจะต้องรู้จักแยกกัน ให้ต่างกัน ออกไปว่า จิตว่างตามแบบของพระพุทธเจ้านั้น ถ้าว่างจริงแล้ว ทำให้มีความรู้สึกรับผิดชอบอย่างดีที่สุด ทำให้ประกอบการงานดีที่สุด และทำให้ไม่มีความทุกข์เลย อย่างพระพุทธเจ้าท่านทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทำหน้าที่ของพระอรหันต์ ก็ล้วนแต่ทำด้วยจิตว่าง ตามแบบของพุทธศาสนา ไม่มีจิตว่าง แบบอันธพาล ของนักปราชญ์ เออ, อย่างโลก ๆ นั่นเลย เป็นจิตว่างแบบอันธพาล ที่ว่าเอาเองตามนิสัย สันดาน ความเคยชินของตนเอง ที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น คือ ต้องการจะเอาเปรียบไปเสียทุกอย่าง ทุกวิถีทาง หรือทุกกระเบียดนิ้ว งั้นจึงคิดว่าถ้าจิตว่างเสียแล้ว ก็ไม่รับผิดชอบอะไร ไม่ทำหน้าที่การงานอะไร มีแต่จะนอน กอบโกยเอาประโยชน์ โดยวิธีที่เอาเปรียบ บางคนเขียนไปมากถึงกับว่า ถ้าคนไทยมีจิตว่าง เสียแล้ว ก็จะไม่รู้จัก รักชาติ รักประเทศ จะไม่ต่อสู้ จะไม่ป้องกันประเทศ
ท่านฟังให้ดี ๆ เพราะมีผู้พูดว่าถ้าคนไทยมีจิตว่างเสียแล้ว จะไม่รู้จักรักชาติ รักประเทศ จะไม่ทำการ รบราฆ่าฟัน เพื่อป้องกันชาติ หรือประเทศ คำพูดอย่างนี้ หมายถึง จิตว่างแบบอันธพาล ไม่ใช่จิตว่างตามแบบ พุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่อยากจะชี้ให้เห็นอีกว่า การที่มีจิตว่างแบบอันธพาลนั้น มันก็เป็นบาป เป็นอกุศล อ่า, เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมี ถ้าหากว่ามีจิตว่าง ตามแบบของพุทธศาสนาได้จริงแล้ว นั่นแหละจะมีประโยชน์กว่า คือว่า จะรับผิดชอบในหน้าที่อย่างสมบูรณ์ และถูกต้อง แล้วจะรู้จัก รักประเทศชาติ ในลักษณะที่สมบูรณ์ และถูกต้อง จะทำการรบพุ่ง เพื่อป้องกันประเทศชาติ ได้อย่างสมบูรณ์ และถูกต้อง
เพราะว่า ถ้ามีจิตว่างจากตัวกู ของกูแล้ว ก็จะทำอะไรไป เพื่อความถูกต้อง คือ ความเป็นธรรมทั้งนั้น ถ้าจิตมันเดือดพล่านอยู่ด้วยตัวกู ของกูแล้ว มันทำอะไรก็ทำอยู่ด้วย ความรู้สึกเพื่อตัวกู เพื่อของกูทั้งนั้น มันจะรักชาติ หรือป้องกันชาติ มันก็ทำเพื่อตัวกู ของกู ไม่ได้ทำเพื่อความเป็นธรรม ถ้าสมมุติว่า พลเมือง ของประเทศไทย มีจิตว่างตามแบบพุทธศาสนาแล้ว จะรักชาติตามแบบของธรรมะ จะป้องกันชาติ ตามแบบ ของธรรมะ ซึ่งมีหลักอยู่ว่า จะรู้จักหน้าที่ของตน แล้วจะไม่ละเลยหน้าที่นั้น เป็นอันขาด แล้วจะยังไม่มีบาป ไม่มีกรรม โดยเปรียบเทียบให้เห็นได้ว่า คนที่มีจิตว่างแบบอันธพาลนั้น เมื่อมันไปรบ มันก็รบเพื่อตัวกู ของกู หรือประเทศชาติของกู ด้วยความโกรธ ด้วยความแค้น ด้วยโทสะ มันไปยิงเขาตายเข้า มันก็เป็นบาปไปตกนรก
แต่ทว่า เป็นพลเมืองไทย ที่มีพุทธศาสนาพอ และเป็นพุทธบริษัท มันก็ป้องกันชาติ หรือไปรบรา ฆ่าฟันกะใครก็ตาม เพื่อธรรมะไม่ใช่เพื่อตัวกู ของกู จะไปรบสู้กับข้าศึกศัตรูนั้น ทำไปด้วยความรู้สึกว่า เพื่อความเป็นธรรม ของธรรม ไม่ใช่เพื่อตัวกู ไม่ใช่เพื่อประเทศของกู หรือเพื่ออะไร ๆ ที่เป็นของกู แต่ทำไป เพื่อความถูกต้อง หรือความเป็นธรรม เมื่อเราถูกเขาข่มเหงเบียดเบียน การต่อสู้ป้องกันตัว ก็เป็นความถูกต้อง และมีความเป็นธรรม ครั้นเมื่อจะยิงเขาให้ตาย ในเมื่อเขาจะฆ่าเรา เราก็ทำไปด้วยความเป็นธรรม คือ การป้องกันตัวที่เป็นธรรม ไม่ทำด้วยความโกรธ ไม่ทำด้วยความแค้นอาฆาต ว่าเป็นตัวกู ตัวมึง ตัวสู เป็นศัตรูของกู ก็จะฆ่าให้ตาย แต่ทำด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีว่า มันเป็นหน้าที่ที่ทุกคน จะต้องรักษา ความเป็นธรรมเอาไว้ เมื่อการข่มเหงเบียดเบียนมันไม่เป็นธรรม มันก็ต้องทำลายให้หมดสิ้นไป แต่ไม่ใช่ เพื่อการฆ่าคน มีเจตนาเพียงเพื่อจะรักษาไว้ ซึ่งความเป็นธรรมไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้นยิงปืนออกไปก็ไม่บาป ถูกใครตายก็ไม่บาป เพราะไม่มีเจตนาที่จะฆ่าคน เหมือนกับพวกที่มีตัวกูของกูจัด มันมีเจตนาที่จะฆ่าคน เพราะความเห็นแก่ตัวกู
ถ้าว่างจากตัวกู ของกู มีจิตที่ว่างจากตัวกู ของกูที่สกปรกนั้นเสียแล้ว เป็นจิตที่ประกอบอยู่ด้วย ธรรมะที่บริสุทธิ์แล้ว มันไม่มีการคิดฆ่าใคร มีแต่การทำไป เพื่อความถูกต้อง และเป็นธรรม แม้แต่ทำลายชีวิต ของศัตรู ให้มากมายลงไปเท่าไร ก็ไม่มีจิตที่คิดไปในทำนอง อ่า, ฆ่าเขา คงคิดแต่เพียงรักษาความเป็นธรรม อยู่นั่นเอง แล้วลองคิดดูเถิดว่า คนที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยใจคอปกติ ประกอบไปด้วยธรรมเช่นนี้ กับคนที่มีตัวกู ของกูจัด มีกิเลสจัดนั้น ไปฆ่าเขาแล้ว ด้วยฆ่า ก็ฆ่าด้วยความอาฆาตมาดร้ายอย่างนี้ อันไหนมันจะน่าดูกว่ากัน
จะยกตัวอย่าง ให้สั้น และให้ง่าย ให้ใกล้เข้ามาอีกก็ว่า เหมือนว่า อุบาสกคนหนึ่ง มีโรคในร่างกายนี้ เป็นโรคตัวพยาธิ ที่จะต้องถ่ายตัวพยาธินั้นออกไป คือ จะต้องกินยาถ่าย ถ้าอุบาสกคนนั้น คิดว่ามึงเป็นศัตรู ของกู กูจะฆ่ามึงกินยาถ่ายให้ตายโหงให้หมด อุบาสกคนนั้นก็จะต้องตกนรก เพราะการกินยาถ่าย แต่ถ้าอุบาสกคนหนึ่ง คิดว่าเราต้องการความถูกต้อง ความเป็นธรรม คือ การป้องกันตัวเอง กินยาถ่าย ด้วยไม่ ด้วยจิตที่ไม่คิดจะฆ่าใคร คิดแต่จะป้องกันตัวเอง แม้รู้อยู่ว่ามันจะต้องตาย ก็ไม่มีเจตนาที่จะฆ่ามัน กินยาถ่าย เข้าไปก็ไม่ต้องตกนรก นี่เรื่องมันเหมือนกันแท้ ๆ คือ การกินยาถ่าย ฆ่าตัวพยาธิ ถ้าทำด้วยจิตที่วุ่นอยู่ด้วยตัวกู ของกูแล้ว มันก็ต้องตกนรก ถ้าทำด้วยจิตที่ว่าง จากความรู้สึกเป็นตัวกู ของกูแล้ว มันก็ไม่ต้องตกนรก แต่มันเป็นความถูกต้อง แล้วตัวเองก็ปลอดภัย
นี่แหละ ข้อที่ว่า ทำอะไรด้วยความรู้สึก ชนิดที่เป็นจิตวุ่นนั้น มันเป็นบาปตั้งแต่ต้นจนปลาย แต่ถ้าทำอะไร ด้วยจิตที่เป็นจิตว่างอย่างถูกต้อง ตามแบบของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีบาปเลย มีแต่กุศล ความดี ความถูกต้อง ไปตลอดแต่ต้นจนปลายอีกเหมือนกัน นี่แหละ คือ ปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับคำพูด คำพูดคำเดียว มีความหมายในทางภาษาคนอย่างหนึ่ง คือ คนโง่ แต่มีความหมายในทางภาษาธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ คนที่รู้ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างไร อย่าเอาไปปนกันเสีย ว่าว่าง ว่างแล้ว มันก็เหมือนกันหมด
ที่จริงคำว่า ว่าง ว่าง นั้นมีอยู่หลายชนิด อย่างน้อยก็มีอยู่กัน ๒ ฝ่าย คือ ว่าว่างตามแบบวัตถุ ว่างไม่มีอะไรนั้นอย่างหนึ่ง ว่างตามแบบธรรมะ คือ ว่ามีอะไรทุกอย่าง แต่ไม่มีที่เป็นตัวตน หรือของตนนี้ อีกอย่างหนึ่ง แต่แล้วความว่างตามวัตถุก็ตาม ความว่างทางธรรมะนี้ก็ตาม ยังแบ่งแยกออกไปได้เป็นหลายชั้น หลายสาขา หลายระดับ เช่นว่า ว่างเองตามธรรมชาติบ้าง ว่างเพราะเราบังคับ โดยวิธีที่ถูกต้องให้มันว่างบ้าง และว่างโดยวิธีเราทำลายกิเลส หรือรากเง้าของกิเลสเสียแล้วโดยสิ้นเชิงบ้าง มันก็ยังมีความว่าง ตั้งหลายอย่าง อย่างนี้
ทีนี้ ความว่างที่ถูกต้อง ก็คือ ความว่าง เออ, ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้ ให้เป็นผู้มีสติปัญญา มองเห็นโลกนี้ โดยความเป็นของว่าง เหมือนที่ตรัสสอนโมกฆราส ว่า (นาทีที่ 53:47) เธอจงมีสติ มองโลกนี้ เห็นโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด มัจจุราชจะหาตัวเธอไม่พบ อย่างนี้เป็นต้น คำว่า ว่างของพระพุทธเจ้า ท่านหมายถึงว่า ไม่มีส่วนไหนที่ควรยึดถือเอาเป็นตัวตน หรือเป็นของตน เห็นโลกทั้งหมดว่าง จากความหมาย แห่งตัวตน แล้วมันก็ไม่ยึดถือโลกนั้น โดยความเป็นตัวตนของตน นี่แหละ เรียกว่า เห็นโลก โดยความเป็น ของว่างอยู่เสมอ กิเลสก็เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่มีตัวตนของตนแล้ว ความยึดถือเรื่องเกิด เรื่องตายมันก็ไม่มี มันจึงพ้น ไปจากอำนาจของมัจจุราชได้
นี้การที่จะมีสติ เห็นโลกนี้เป็นของว่างอยู่เสมอได้นั้น มันก็หลีกไม่พ้น ในเรื่องที่ต้องเป็นอยู่ ตามหลักของอัฎฐังคิกมรรค ๘ ประการ อย่างที่เรารู้จักกันดีว่า วันอาสาฬหปุรณมีนี้ พระองค์ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เริ่มเรื่องขึ้นมาด้วยเรื่อง มรรคมีองค์ ๘ ประการ ว่าเป็นทางสายกลาง ไม่ข้องแวะ ไปฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค หรือกามสุขัลลิกานุโยค มันเป็นความเป็นอยู่ อย่างถูกต้อง ๘ ประการนี้ ทำให้เกิดมีความว่าง คือ ไม่ไปยึดสิ่งใด โดยความเป็นตัวตนของตนเข้า เรียกว่า เป็นอยู่อย่างอิสระ อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ไปเกี่ยวข้อง ไม่ไปผูกผัน ไม่ไปหลงใหลในสิ่งใดเลย
ดังนั้นอาตมา จึงกล่าวว่า วันอาสาฬหบูชานี้ คือ วันที่พระพุทธองค์ทรงประกาศวิธี ที่เราจะทำ จิตให้ว่างอย่างเด็ดขาดเป็นการถาวร ถ้าเราไม่ได้ความรู้อันนี้จากพระพุทธเจ้า เราไม่สามารถจะทำให้จิตนี้ ว่างเป็นการถาวรได้เลย มันจะว่าง ๆ วุ่น ๆ ไปตามธรรมชาติเท่านั้น พอสักว่าไม่ตาย หรือไม่เป็นบ้าเท่านั้น แต่แล้วมันมีเวลาที่วุ่น เป็นตัวกูของกู เกิดโลภะ โทสะ โมหะแล้ว เป็นทุกข์อยู่ วันหนึ่ง วันหนึ่ง หลาย ๆ นาที หรือหลาย ๆ ชั่วโมงด้วยเหมือนกัน เวลาอย่างนั้นเรียกว่า ตกนรก หรือตกอบาย จิตวุ่นวายด้วยตัวกู ของกู ทำอะไรไปตามอำนาจแห่งกิเลสนั้นแล้ว มันก็เกิดความรู้สึกขึ้นมามากมาย หลายอย่าง ที่เป็นความทุกข์ เกิดความร้อนใจ เออ, เดือดร้อนใจมันก็เป็นการตกนรก เกิดความโง่ขึ้นมา มันก็กลายเป็นสัตว์เดรัจฉาน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ทันที เกิดความหิวทางจิต ทางวิญญาณขึ้นมา มันก็กลายเป็นเปรตที่นี่ และเดี๋ยวนี้ทันที เกิดความขี้ขลาดอย่างไม่มีเหตุผลขึ้นมา มันก็กลายเป็นอสุรกายที่นี่ เดี๋ยวนี้ และทันที
นี่แหละ ดูให้รู้ถึงความที่จิตตั้งไว้ผิด คือ ไม่ว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า แต่ไปว่างตามแบบ ของพวกอันธพาล เป็นจิตว่างแบบอันธพาล มันก็ได้เป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สลับกันอยู่ตลอดเวลา ดังนี้เป็นแน่นอน นี้ตามธรรมชาตินั้น มันจะวุ่นตลอดกาลไม่ได้ เพราะว่ามันยังไม่ต้องการให้ตาย มันจึงมีเวลาพักผ่อน เช่น นอนหลับ มันก็ว่างไปได้ ชั่วขณะนอนหลับ ก็ยังเป็นการดี หรือว่าตื่น ๆ อยู่นี้ มันขี้เกียจวุ่นขึ้นมา มันก็ว่างไปตามธรรมชาติได้บ้างเหมือนกัน
เราอย่าเข้าใครออกใคร อย่าเอาเปรียบใคร อย่าเข้าข้างตัวเอง จงให้ความยุติธรรมแก่ธรรมชาติให้มาก เราจะเห็นได้ว่าธรรมชาติสร้างมาดีแล้ว คือ ให้มีความว่าง หรือระยะที่ว่าง เองตามธรรมชาตินั้น เพียงพอที่จะ ไม่ต้องเป็นบ้าตาย แต่ว่าเพียงเท่านั้นมันไม่พอ มันมีเวลาที่วุ่นหรือเป็นทุกข์ เราจึงหาวิธีที่จะควบคุม ให้มันว่าง ยืดยาวออกไป พระพุทธเจ้าจึงสอนวิธีอันวิเศษนี้ให้ คือ ให้เป็นอยู่อย่างถูกต้อง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ แล้ว มันจะเกิดความว่างตลอดไป กลายเป็นความวุ่นไม่ได้ ความวุ่นเกิดขึ้นครอบงำไม่ได้ มันจึงกลายเป็น ความสุข หรือความสงบเย็น โดยอำนาจของการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น
เพราะฉะนั้น ขอให้ถือว่า วันอาสาฬหบูชานี้ ก็คือ วันที่พระพุทธองค์ ทรงแนะวิธี ที่เราจะทำจิต ให้ว่างยืดยาวออกไป โดยไม่มีความวุ่นเข้าแทรกแซง เป็นความว่างอย่างเด็ดขาด ไม่กลับวุ่น เช่นเดียวกับ จิตประภัสสร แล้วประภัสสรตลอดกาล ไม่กลับมืดมัว หรือว่าเป็นจิตเดิมแท้ แล้วก็เป็นเดิมแท้จริงตลอดกาล ไม่กลับเป็นจิตใหม่ ๆ ปรุงแต่งใหม่ ๆ รวมความว่า วันอาสาฬหบูชานี้ คือ วันที่พระพุทธองค์ทรงประกาศ วิธีที่จะทำให้พวกเรารู้จักทำจิต ให้เป็นประภัสสรตลอดกาล คือ รู้จักทำจิตให้เป็นจิตเดิมแท้ ตามอย่างที่ เว่ยหล่าง เรียกได้ตลอดการ หรือรู้ว่าทำจิตให้ว่างอย่างถูกต้อง ตามแบบของพระพุทธเจ้า และตลอดกาล
ท่านทั้งหลาย ลองคิดดูเถิดว่า จิตว่าง หรือจิตประภัสสร หรือจิตเดิมแท้นี้ มันเป็นอย่างไร มันมีค่าเท่าไหร่ ถ้าพูดถึงค่าหรือคุณค่าของมันแล้ว ก็มากเหลือที่กล่าวได้ อันเป็นชัยชนะที่แท้จริงของมนุษย์ มีเหนือข้าศึกศัตรูที่สุด กล่าวคือ กิเลสและความทุกข์ เพียงแต่ทำจิตให้ว่างได้เท่านั้น ก็ยังประเสริฐกว่า ความสามารถไปได้ถึงดวงจันทร์ ที่กำลังโจษกันอยู่ในเวลานี้ เพราะว่าการไปได้ถึงดวงจันทร์นั้น มันยังไม่มี ความหมายอะไร ในการที่จะดับทุกข์ บางทีมันจะกลายเป็นการเพิ่มให้ยุ่งมากขึ้นก็ได้ และเป็นความทุกข์ มากขึ้น อีกนั่นเอง
ขอสรุปความว่า ท่านจงมีความเข้าใจถูกต้อง ในคำว่า จิตประภัสสรเป็นอย่างไร แล้วเราจะยืด ความเป็นประภัสสรของจิตนั้น ให้เป็นประภัสสรเด็ดขาดสถาวรได้อย่างไร และให้รู้จักเปรียบเทียบกัน ในระหว่างคำพูดของพวกอื่น หรือนิกายอื่น เช่นว่า จิตเดิมแท้นั้นเป็นอย่างไร ถ้าเราจะรักษาสภาพเดิมแท้ ให้ยังคงอยู่ตลอดกาลนั้นเราจะต้องทำอย่างไร หรือว่าการที่จะมีจิตว่าง ให้ว่างมากยืดยาวออกไป กว่าที่มันว่าง อยู่ตามธรรมชาตินั้น เราจะต้องทำอย่างไร
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระศาสดา ตรัสบอกวิธี ที่เราจะยืดความเป็นประภัสสร หรือความเป็นจิต เดิมแท้ หรือความเป็นจิตว่างนั้น ให้มันยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นสมุจเฉทปหาน คือ กำจัดสิ่งที่ ควรจะกำจัดออกไป อย่างไม่มีวันที่จะกลับมา วันอาสาฬหบูชา มีความสำคัญอย่างนี้ คือ มีความสำคัญตรงที่ เป็นวันที่ประกาศธรรมจักร ถ้าท่านเข้าใจความหมายของคำ ๆ นี้ จะรู้สึกขนพองสยองเกล้า เพราะเป็นวันที่ พระพุทธเจ้าท่านประกาศธรรมจักร ธรรมจักรนั้นคืออะไร มีภาพพจน์ที่พอจะสร้างขึ้นได้ ในใจว่า จักรนั้นน่ะ มันคมมาก เพียงแต่ว่า จักรสำหรับเลื่อยไม้ที่โรงเลื่อย ไปดูมันเลื่อยไม้ แล้วยังรู้สึกขนพอง สยองเกล้า
แต่ว่าจักรของพระพุทธเจ้า ดูแล้วยังน่าขนพอง สยองเกล้ายิ่งกว่านั้น เพราะว่ามันมีอำนาจ มีฤทธิ์เดช มากกว่านั้น คือ มันจะสามารถตัดตัวกู ของกู ให้สูญหาย ให้ขาดสูญไป โดยไม่มีส่วนเหลือเลย นี่แหละ ธรรมจักรของพระพุทธเจ้า แล่นไปยังภายในใจของคน คือ ถ้าลุกเข้าไปในคน ในจิตใจของคน แล้วไปตัดตัวกู ของกู หรือเชื้อแห่งตัวกู ของกูให้หมดไป ให้จิตนี้คงเป็นจิตประภัสสรถาวร เป็นจิตเดิมถาวร เป็นจิตว่างถาวร
ขอท่านทั้งหลาย จงถือเอาวันนี้ เป็นวันสำหรับทำความรวบรัด เพื่อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ทั้งหมดทั้งสิ้นให้ได้ ให้สมกับที่เราเรียกวันนี้ว่า เป็นวันพระธรรม คือ ธรรมจักร มีไว้สำหรับทำลายตัวกู ของกู ให้หมดสิ้นไป ให้จิตว่างจากตัวกู ของกู คือ ว่างจากกิเลส เพราะจะได้ชื่อว่า ถือเอาประโยชน์แห่งธรรมจักร และรู้จักถือเอาประโยชน์แห่งวันอาสาฬหบูชา ถ้าไปพูดกันอย่างอื่น มันก็ยืดยาว ยืดยาว ไม่รู้จักสิ้นจักสุด พูดกันแต่เพียงว่า รู้จักทำจิตให้ประภัสสรถาวร ให้มีความเป็นเดิมแท้ถาวร ให้ว่างอย่างถูกต้อง อย่างถาวร เท่านี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปสนใจ เรื่องอะไรให้ยุ่งหัว รู้จักทำเพียงเท่านี้ ก็พอแล้ว ก็หมดแล้ว หมดทั้งสิ้น ในพระพุทธศาสนา ถือเอาคติแห่งวันอาสาฬหบูชาให้ได้อย่างนี้เถิด จะเป็นการประหยัดเวลา ให้โอกาส ให้ความหวัง แก่คนทุกคน ก็จะเข้าถึงหัวใจ หรือเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาได้ โดยไม่มีความยากเลย ขอให้ไปคิดนึก พินิจพิจารณา ในลักษณะอย่างนี้ อยู่เสมอเถิด จะเข้าใจคำว่า ประภัสสร หรือเดิมแท้ หรือว่างได้อย่างถูกต้อง
ปัญหาที่มีผู้ถามมากที่สุด ในเวลานี้ ก็ส่งมาถามสั้น ๆ ว่า จิตประภัสสร จิตเดิมแท้ จิตว่างนั้น มันเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า เท่าที่เขาอ่านมาศึกษามา เรารู้สึกว่ามันเป็นอันเดียวกัน อาตมาก็ไม่เคยตอบ ทิ้งไว้ให้คิดเอาเอง ให้เห็นเอาเอง ว่ามันจะเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ คนเหล่านี้ เป็นคนขี้ถาม อะไรก็เอาแต่ จะถาม อย่างนี้มันไม่ถูก เพราะว่าถ้าเข้าใจสิ่งทั้ง ๓ นี้ดีแล้ว มันก็ตอบได้เอง ว่ามันเหมือนกัน หรือเป็นสิ่ง เดียวกัน รอให้เขาเข้าใจธรรมทั้ง ๓ นี้ แต่ละคำละคำให้ถูกต้องแล้ว ให้ตอบเอาด้วยตนเองจะดีกว่า เห็นเอง รู้เอง เห็นเอง ปฏิบัติเอง นี้เป็นหลักพระพุทธศาสนา คอยแต่จะถามคนอื่น หรือขอร้อง ความช่วยเหลือ ของคนอื่นนั้น ไม่ใช่หลักพระพุทธศาสนา อย่าทำตนเองให้เคยชินไปในทำนองนั้น มันจะห่างไกลจาก พระพุทธศาสนา
จงตั้งหน้าตั้งตาศึกษาจากภายในของตน จนรู้จักความเป็นประภัสสร หรือความเป็นของเดิมแท้ หรือความเป็นของว่างอย่างถูกต้อง แล้วก็พอแล้ว มันอะไร ๆ มันก็จะตอบในของมันได้ในตัวของมันเอง แล้วมันก็ไม่ใช่มีอยู่เพียง ๓ คำเท่านี้ มันอาจจะเรียก เป็นอย่างอื่นได้อีกมากมาย หลาย ๑๐ ชื่อ แล้วก็มี ความหมายอย่างเดียวกัน
รวมความว่า ในวันอาสาฬหบูชานี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ประกาศธรรมจักร ที่จะตัดความโง่เขลา ออกไปให้หมดสิ้น จากจิตใจของคนเรา และรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และที่สำคัญที่สุด ก็คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตน ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มี ด้วยประการ ฉะนี้