แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุวิสาขบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ย่อมจะทราบได้เป็นอย่างดีอยู่ด้วยกันทุกคนแล้ว พระธรรมเทศนา เป็นบุพพาปรลำดับสืบต่อจากธรรมเทศนาเมื่อตอนเช้า ซึ่งเป็นการตักเตือนให้ทุกคนตระเตรียมตนให้เหมาะสมสำหรับการทำพิธีวิสาขบูชาให้มีผลยิ่งใหญ่ ให้มีผลเต็มที่ สุดความสามารถที่แต่ละคนจะทำได้
บัดนี้จะได้กล่าวต่อไปถึงข้อที่ท่านทั้งหลายจะต้องกระทำอย่างไรในจิตใจสืบไปอีก เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับวิสาขบูชาอย่างเดียวกัน ผู้ที่จะทำวิสาขบูชา ในส่วนภายใน คือ ส่วนจิตใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ทำจิตใจให้ระลึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้แจ่มแจ้งชัดเจนอยู่ตลอดเวลา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่กระทำประทักษิณ ในขณะที่ทำประทักษิณ คือ เดินเวียนขวาต่อ คุรุฐานียวัตถุ ซึ่งมีอยู่ในที่นี้ ก็คือสัญลักษณ์ของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ปรากฏอยู่ในที่เฉพาะหน้าของท่านทั้งหลายนั่นเอง ในแผ่นหินสลักจำลองนี้ มีเครื่องหมายพระรัตนตรัยอยู่ทั่วๆ ไป ขอให้สังเกตดูให้ดี แล้วก็ทำในใจให้รู้ความหมายของคำว่า พระรัตนตรัย ให้รู้ถึงคุณของพระรัตนตรัย จำแนกเป็น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ละอย่าง ละอย่างก่อน แล้วประมวลเข้าเป็นอันเดียวกันเป็นพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่อย่างเดียวแม้ว่าจะประกอบไปด้วยองค์ ๓ อย่าง
เมื่อกล่าวให้แยกกันเป็น ๓ อย่าง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้ว ก็ควรจะได้พิจาณาโดยหัวข้อ นิเขปบท ที่ได้ยกขึ้นไว้ข้างต้น นั้น โดยนัยยะสำหรับพระพุทธเจ้าว่า
“อะระหังสัมมา สัมพุทโธ” พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้พร้อมด้วยพระองค์เอง
“โลกานัง อนุกัมปโก” เป็นผู้มีความเอ็นดูต่อสัตว์โลกทั้งหลาย
“เวไนยยานัง กโพเทตา” (นาทีที่ 07.25) เป็นผู้ปลุกเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้ตื่นจากหลับ คือ กิเลส
“สันติ มรรคา นุสาสโก” เป็นผู้พร่ำสอนซึ่งหนทางแห่งสันติ คือ พระนิพพาน
ดังนี้เป็นต้น
สำหรับคุณแห่งพระธรรมนั้น มีอยู่โดยนัยว่า
“สวากขาโต อุตโม ธัมโม” พระธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นธรรมสูงสุด
“โลกานัง กมทาลโก” เป็นเครื่องทำลายเสียซึ่งความมืดของสัตว์โลกทั้งหลาย
“นิยยานิโก จะทุก ขตัสมา” (นาทีที่ 08.10) เป็นเครื่องนำสัตว์ทั้งหลายออกมาเสียได้จากกองทุกข์
“ธรรมจารี นุปาลโก” (นาทีที่ 08.18) แล้วก็จะตามรักษาซึ่งบุคคลผู้ประพฤติซึ่งธรรมนั้น
ดังนี้เป็นต้น
ส่วนพระคุณของพระธรรมนั้น มีอยู่โดยนัย เป็นต้นว่า
“สุปฏิปันโน มหาสังโฆ” สงฆ์หมู่ใหญ่ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
“โลกานัง ปุญญมากโร” เป็นบ่อเกิดแห่งบุญของสัตว์โลกทั้งหลาย
“สีล ทิฏฐี หิตัง สุทโท” (นาทีที่ 08.50) เป็นผู้บริสุทธิ์ดีแล้วด้วยศีลและทิฏฐิ
“สันติ มรรคะ นิโยจโก” เป็นผู้ประพฤติอยู่ในหนทางแห่งสันติ คือ นิพพาน
ดังนี้
นี้เป็นพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ละอย่าง ละอย่าง ซึ่งจะต้องทำไว้ในใจอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเวลาเช่นเวลานี้ สำหรับพระพุทธเจ้านั้น พึงมองเห็นอย่างแจ่มแจ้งในข้อที่พระองค์เองเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ตรัสรู้พร้อมด้วยพระองค์เอง หมดจดจากกิเลส ในที่นี้ หมายความว่า ไม่มีความลับ ไม่มีความชั่ว ไม่มีกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ โลตา(นาทีที่ 09.50) และทำลายเสียได้ซึ่งความหมุนเวียนของสังสารวัฏ เพราะความหมดกิเลสนั้น และการเป็นดังนี้ พระองค์กระทำได้ด้วยพระองค์เองโดยมิได้ศึกษาจากผู้ใดโดยเฉพาะในเรื่องนี้ เรียกว่า ตรัสรู้พร้อมด้วยพระองค์เอง คำว่า “พร้อม” คือ ตรัสรู้ครบถ้วนในสิ่งที่ควรจะรู้ และด้วยพระองค์เอง ก็หมายความว่า ไม่มีใครสอนในข้อนี้ ข้อนี้ระบุถึงข้อปฏิบัติ คือ มรรคมีองค์ ๘ ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นทางดับทุกข์ได้นั้น พระองค์ได้ตรัสรู้เอง ตรัสรู้อย่างครบถ้วน จึงได้นามว่า “สัมมา สัมพุทโธ” ทั้งนี้ เป็นพระคุณส่วนพระองค์
ที่นี้ก็มาถึง พระคุณของพระองค์ที่เนื่องไปถึงผู้อื่น มีอยู่โดยบทว่า
“โลกานัง อนุกัมปโก” เป็นผู้มีความเอ็นดูต่อสัตว์โลกทั้งหลาย
คนไม่ค่อยจะมีความสนใจในข้อนี้ จึงไม่มีศรัทธาอันมั่นคงในพระพุทธเจ้า แม้จะพูดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระกรุณาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย ก็มักจะพูดแต่ปาก ในใจไม่มีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ มันจะเป็นเพราะเหตุใดแต่ก็ยากที่จะอธิบายได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็เป็นด้วยความประมาท ความเลินเล่อ มีนิสัยทำอะไรพอให้แล้วๆ ไป สักแต่ปากว่า ในจิตใจนั้น มิได้มีอยู่อย่างแท้จริง นี่แหละคือข้อที่จะต้องทำในใจกันเสียใหม่ในวันนี้ โดยเฉพาะในเวลาที่จะทำวิสาขบูชา ให้ระลึกนึกถึงพระคุณของพระองค์ในข้อที่ว่า นอกจากจะทรงประกอบไปด้วยพระคุณอย่างอื่นแล้ว ยังทรงประกอบอยู่ด้วยพระคุณ คือ ความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย
ข้อนี้อธิบายได้เป็น ๒ ส่วนด้วยกัน คือว่า ในการที่บำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้น ถ้าไม่เห็นแก่ผู้อื่น เห็นแก่ส่วนตัวแล้ว ก็ไม่ต้องบำเพ็ญมากมายอะไร ไม่ต้องนานถึง ๔ อสงไขย แสนกัลป์ ก็จะบรรลุนิพพานได้ เดี๋ยวนี้เหตุเพราะเห็นแก่ผู้อื่น เห็นแก่สัตว์โลกทั้งปวง จึงต้องตั้งมานะ ตั้งอุตสาหะเป็นอันมากถึง ๔ อสงไขย แสนกัลป์ เพื่อให้เกิดบารมี หรือคุณธรรมที่ใหญ่หลวง ที่พอจะช่วยขนสัตว์ทั้งหลายไปด้วยได้
พูดอย่างง่ายๆ ที่ท่านทั้งหลายจะเข้าใจก็คือว่า ถ้าเราจะต้องการข้ามฟากคนเดียว เราอาศัยเรือลำเล็กๆ ทำขึ้น ไม่มากมายใหญ่โตอะไรก็ข้ามไปได้ หรือเราอาจจะหาไม้ลอยน้ำเป็นขอนใหญ่ๆ สักขอนหนึ่ง ก็จะข้ามไปได้ โดยไม่เสียเวลา ไม่เสียเรี่ยวแรงอะไรมากนัก แต่ถ้าหากว่าเราจะพาคนหลายร้อย หลายหมื่น เอ้อ..หลายพัน หลายหมื่น หลายล้านคนไปด้วย เราก็จะต้องเสียเวลา และเสียเรี่ยวแรงในการที่ทำเรือลำใหญ่ๆ หรือแพกว้างขวางสำหรับพาคนไปมากๆ แล้วมันจะเหนื่อยสักเท่าไหร่ มันจะช้าสักเท่าไหร่ ข้อความในพระคัมภีร์กล่าวไว้ชัดอย่างนี้ว่า พระองค์ทรงกรุณาแก่สัตว์โลกทั้งหลายจึงได้ทนลำบากในการบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขย แสนกัลป์ ไม่ตัดลัดสั้นๆ เอาตัวรอดแต่พระองค์เดียว ถ้าท่านรู้จักคำนึง คำนวณถึงความจริงข้อนี้แล้ว ก็จะเห็นพระคุณของพระพุทธเจ้าอย่างมากมาย ก็จะมีศรัทธาอย่างแน่นแฟ้น มีฉันทะ วิริยะ อุตสาหะ หรืออะไรต่างๆ มากกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้
ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ถ้าไม่เห็นแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ก็จะเก็บพระองค์เสวยความสุขอย่างยิ่งอยู่แต่ตามลำพังเงียบๆ ก็ยังเป็นการสบายกว่า แต่ว่าอาศัยความกรุณาแล้วก็เสด็จท่องเที่ยวไปเพื่อโปรดสัตว์ หรือเพื่อสั่งสอนประชาชน ข้อนี้ต้องเหน็ดเหนื่อยต้องลำบากมากมาย ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะคิดนึกกัน ว่าในสมัยพุทธกาลนั้น ไม่มีรถ ไม่มีเรือที่สะดวกเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ จะไปไหนก็ต้องเดินไป พระพุทธเจ้าก็ไม่มีร่มที่จะกาง ไม่มีรองเท้าที่จะสวม ก็แปลว่าเดินเท้าเปล่า มีความลำบากสักเท่าไร บ้านเมืองก็กว้างขวาง มีระยะหนทางไกล ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากมากอย่างนี้ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงฟันฝ่าความยากลำบากนี้ ไปโปรดสัตว์จนได้ ก็ยังจะต้องเผชิญกันกับฝ่ายศัตรูคู่ปรปักษ์ ซึ่งไม่เข้าใจในคำสอนของพระองค์ ตั้งตนเป็นคู่ปรปักษ์ อย่างนี้ก็ยังมีอยู่มาก แล้วยังมีอุปสรรค ความยากลำบากอื่นๆ อีกมาก ซึ่งจะทำให้คนเราท้อถอยในกิจการงานอันตั้งใจไว้ว่าจะกระทำนั้น แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงท้อถอยทรงฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้จนลุล่วงไปด้วยดี โดยประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นได้อย่างมั่นคง นี้..ก็เพราะเห็นแก่สัตว์ทั้งหลายเท่านั้น เพราะว่าธุระหรือความประสงค์ส่วนพระองค์นั้นหมดสิ้นไปแล้ว ขอให้คิดดูในข้อนี้ก่อน แล้วก็จะเกิดความรัก ความเชื่อ ความไว้วางใจในพระพุทธเจ้ามากยิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ จะเอาใจใส่ในพระพุทธเจ้ามากกว่าที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้
ในข้อต่อไปที่ว่า “เวไนยยานัง กโพเทตา” (นาทีที่ 17.10) เป็นผู้ปลุกเวไนยสัตว์ให้ตื่นจากหลับ คือ กิเลส นั้น หมายความว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นหลับอยู่ด้วยอวิชชา ความไม่รู้ คือไม่รู้ว่า อะไรเป็นความทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรืออะไรเป็นความดับสนิทแห่งความทุกข์ และวิธีให้ถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์นั้น ล้วนแต่ไม่รู้ และมิหนำซ้ำยิ่งไปกว่านั้น ก็คือว่า เห็นกลับกันเสีย เอาความทุกข์เป็นความสุข อย่างที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว จึงได้ทนอยู่ในกองทุกข์ไม่รู้จักสร่าง ถูกล่อลวงอยู่ด้วยกิเลส เห็นสิ่งที่ไม่น่ารัก น่ายินดี ว่าเป็นสิ่งที่น่ารัก น่ายินดี เห็นสิ่งที่เป็นความทุกข์ว่าเป็นความสุขอยู่ดังนี้เสมอไป เรียกว่า หลับไม่มีตื่นอยู่ตลอดเวลา จนกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นในโลก จะได้ประกาศพระสัจธรรม เหมือนกับที่ได้กล่าวโดยอุปมาไว้ว่า ตีกลอง ปลุกคนให้ตื่นขึ้นมาทั้งโลก
พระธรรมของพระพุทธเจ้าเหมือนกับเสียงกลองที่ปลุกคนให้ตื่นจากหลับคือกิเลส ผู้ใดเป็นเวไนยสัตว์ก็ย่อมจะตื่นด้วยกันทั้งนั้น ส่วนผู้ที่เป็น อาภัพสัตว์(นาทีที่ 18.47) ปลุกเท่าไหร่ก็ไม่ตื่นนั้นจะต้องยกเว้น แต่ว่าเราทั้งหลายล้วนแต่ประกาศตนว่าเป็นเวไนยสัตว์ และไม่ประสงค์จะเป็นผู้หลับไม่ตื่น ดังนั้น ก็จะต้องมีความพยายามในการที่จะตื่น คือได้ยินเสียงกลอง แล้วก็ตื่น รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์ เป็นต้น มีแสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว ตั้งตนอยู่ในทางแห่งการดับทุกข์ เรียกว่า เป็นผู้ตื่น คุณของพระพุทธเจ้าในข้อนี้เรียกว่า เป็นผู้ปลุก
บทว่า “สันติ มรรคา นุสาสโก” มีใจความคล้ายๆ กัน คือ เป็นผู้พร่ำสอนเรื่องหนทางแห่งพระนิพพาน มันจะต่างกันบ้างก็แต่เพียงว่า ปลุกให้ตื่นขึ้นมาแล้วก็พร่ำสอนๆ พร่ำชี้แจง สั่งสอน สอนแล้วสอนอีก สอนแล้วสอนเล่า จนได้รู้แจ้งในธรรมที่ควรรู้แจ้ง สิ่งที่สอนก็คือหนทางแห่งนิพพาน จะแยกเป็น ๒ ตอนก็ได้ดังนี้ว่า ปลุกขึ้นให้ตื่นแล้ว รับการสั่งสอนต่อไป จนกว่าจะลุถึงจุดหมายปลายทาง
บทแรก หมายถึงพระองค์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
บทที่ ๒ หมายถึง เป็นผู้เอ็นดู กรุณาสัตว์โลกทั้งหลาย
บทที่ ๓ เป็นผู้ปลุก
บทที่ ๔ เป็นผู้พร่ำสอน พร่ำแล้ว พร่ำอีก พร่ำสอนอยู่จนตลอดเวลา
นี้..เรียกว่า คุณของพระพุทธเจ้า
วันนี้เราจะทำการบูชาอย่างสูงสุดด้วยกาย วาจา ใจ การทำทางกาย ทางวาจา นั้นไม่ยาก อย่างที่เราก็ทำกันได้อยู่ทุกคน แต่ทำการบูชาทางจิตใจนั้นออกจะยาก ลำบาก แต่โดยเฉพาะแต่บางคน จึงควรจะทำความรู้สึก ความเข้าใจ โดยนัยดังที่ได้กล่าวมานี้ให้สุดความสามารถของตนๆ จงทุกคนเถิด นึกอยู่ในใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ตรัสรู้ชอบพร้อมด้วยพระองค์เอง นี้คือเป็นบุคคลสูงสุด ประเสริฐที่สุดแล้ว แล้วก็เอ็นดูเรา แล้วก็ปลุกเรา แล้วก็พร่ำสอนเรา อยู่อย่างนี้ แม้ว่าโดยร่างกายพระองค์จะได้ปรินิพพานไปแล้วตั้ง ๒ พันกว่าปี แต่ยังทรงอยู่โดยพระคุณ ที่คอยพร่ำสอนแล้ว พร่ำสอนอีกแก่เราทั้งหลาย
พิจารณาต่อไปถึงคุณของพระธรรม “สวากขาโต อุตโม ธัมโม” นี้ก็มีใจความว่า ธรรมะเป็นสิ่งสูงสุด ไม่มีอะไรจะเป็นสิ่งสูงสุดยิ่งไปกว่าธรรมะแล้ว “โลกานัง สมทารโก” (นาทีที่ 22.12) เป็นเครื่องทำลายเสียซึ่งความมืดของสัตว์ทั้งหลาย มันก็อย่างเดียวกันกับที่กล่าวแล้วในพระคุณของพระพุทธเจ้า สัตว์โลกอยู่ในความมืด คือความไม่รู้ ถ้ามีธรรมะเข้ามาก็จะทำลายความมืดนั้น ถ้ายังไม่มีการทำลายความมืดนั้นก็ไม่มีธรรมะ แม้ว่าเราจะเล่าเรียน จะท่องจำ หรือจะทำอย่างใดๆ อีกมากมาย แต่ถ้าความมืดนี้ยังไม่หายไปแล้วก็ยังไม่ชื่อว่ามีธรรมะ ให้ทุกคนถือเอาหลักอันนี้เป็นหลักที่ตายตัว ว่าต้องทำลายความมืดให้ได้มันจึงจะเป็นธรรมะแท้จริงขึ้นมาได้
ถ้ายังรู้สึกว่าไม่รู้ทิศเหนือ ทิศใต้ คือไม่รู้ว่าจะไปกันทางไหนดี แม้แต่เกิดมาทำไมก็ไม่รู้ ดังนี้แล้ว มันก็ยังเป็นคนมืดอยู่นั่นเอง ยังไม่ธรรมะ อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องศึกษาให้รู้ว่าเกิดมาทำไม ถ้าเข้าใจข้อนี้จริงย่อมจะรู้ข้อที่เหลืออีกมากมาย เช่น รู้ว่าเกิดมาทำไมอย่างนี้แล้ว ก็จะต้องรู้ต่อไปว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อผลอย่างไร โดยวิธีใดต่อไปอีก เพราะในบทว่า “นิยยานิโก จะทุก ขัสมา” (นาทีที่ 23.52) นั้น หมายความว่า แสงสว่างนั้นจะนำสัตว์ออกไปเสียจากกองทุกข์ ทำลายความมืดได้ เกิดแสงสว่างขึ้นแล้ว แสงสว่างนั้นจะนำออกไปจากกองทุกข์ ขยายความออกไปว่า ) “ธรรมจารี นุปาลโก” (นาทีที่ 24.12) จะตามรักษาซึ่งบุคคลผู้ประพฤติธรรมนั้น การนำออกไปเสียจากกองทุกข์นั้น ไม่ใช่มีชั่วขณะเดียวแล้วก็เลิกกันไป แต่มีอยู่เรื่อยไปเหมือนกับการตามคุ้มครองรักษา ตลอดเวลาที่มีการประพฤติธรรม จะหมดกิเลสหรือไม่หมดกิเลสก็ตาม ย่อมประพฤติธรรมได้ และธรรมนั้นย่อมตามรักษาคุ้มครองนั้นอยู่ตลอดเวลา ดังนี้ สรุปใจความสั้นๆ ว่า พระธรรมนั้นเป็นของสูงสุด ทำลายความมืดบอดของสัตว์ทั้งหลายเพื่อจะนำออกไปเสียได้จากกองทุกข์ แล้วก็ตามรักษาคุ้มครองสัตว์นั้นอยู่ตลอดเวลา ดังนี้
สำหรับคุณของพระสงฆ์นั้น บทว่า “สุปฏิปันโน มหาสังโฆ” มีใจความว่า สงฆ์หมู่ใหญ่ปฏิบัติดีแล้ว คำว่า สงฆ์หมู่ใหญ่นี้ ไม่ได้หมายถึง ใหญ่โดยจำนวน แต่ว่าใหญ่ไปด้วยความสูงไปด้วยคุณธรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า สาวกของตถาคตมีเป็นจำนวนร้อย ที่บรรลุคุณธรรมชั้นสูงสุดมีเป็นจำนวนร้อย ไม่เหมือนสาวกของพระพุทธเจ้าเมตตรัย ซึ่งจะมีเป็นจำนวนพันอย่างนี้เป็นต้น นี้ก็ย่อมเป็นการแสดงว่า สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่ใช่ใหญ่โดยจำนวน แต่ว่าใหญ่โดยคุณธรรมที่สูงสุด เพ่งเล็งถึงข้อนี้มากกว่า คือว่าเพ่งเล็งถึงคุณภาพยิ่งกว่าที่จะเพ่งเล็งถึงปริมาณ จึงได้เรียกว่า มหาสังโฆ สงฆ์หมู่ใหญ่ คือมีความใหญ่ แล้วก็ใหญ่ด้วยคุณธรรม เพราะว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว หรือว่าปฏิบัติดีแล้วจึงเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งใหญ่ด้วยคุณธรรม ปฏิบัติดีก็หมายความว่า ปฏิบัติออกจากทุกข์ ดังที่กล่าวไว้แล้วในคุณบทของพระธรรมนั่นเอง เพราะการปฏิบัตินั้น คือการปฏิบัติธรรม จึงได้ผลได้อานิสงส์ของธรรม และปฏิบัติธรรมชนิดนั้นได้ชื่อว่าปฏิบัติดี คือไม่เป็นหมัน ไม่เปล่าประโยชน์ เป็นไปเพื่อความถูกต้อง ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้
บทว่า “โลกานัง ปุญญมากโร” เป็นบ่อให้เกิดบุญของสัตว์โลกทั้งหลายนั้น นี้เพ่งเล็งถึงประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งยังต้องการบุญเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ให้เกิดความอุ่นใจ ให้เกิดความสุขใจ เขาก็พากันประกอบบุญหลายอย่าง หลายชนิด ตามความคิด หรือตามความรู้ที่ได้รับมา แต่ถ้าเมื่อพิจารณากันดูให้ดีแล้ว การจะทำให้เกิดบุญนั้น ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ ดังที่ท่านกล่าวว่า เป็น ทักขินัยบุคคล หรือว่า เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ ดังนี้ ข้อนี้ก็หมายความว่า เป็นความง่าย เป็นความสะดวกดาย ที่บุคคลจะไปเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการบวช ด้วยการเรียน ด้วยการปฏิบัติ และด้วยการสั่งสอน พระสงฆ์มีหน้าที่บวช เรียน รู้ ปฏิบัติ และสั่งสอน บวชจริง แล้วก็เรียนจริง แล้วก็ได้ปฏิบัติจริง แล้วก็ได้ผลจริงๆ แล้วก็สอนสืบๆ กันไปจริงๆ อย่างนี้คือหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
ฉะนั้น การเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ในลักษณะเช่นนั้น จึงเป็นเหตุให้เกิดบุญเป็นอันมาก คือว่าบุคคลผู้นั้นก็จะได้รับประโยชน์ส่วนตน รู้จักปฏิบัติกับทุกข์ของตน แล้วก็ยังเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการทำสิ่งนี้ให้มีอยู่ในโลก เมื่อสิ่งนี้มีอยู่ในโลกก็คุ้มครองโลก ทำให้โลกพลอยได้รับความสงบสุข เพราะการที่พระสงฆ์สืบอายุของพระศาสนาไว้ให้ยังคงมีอยู่ต่อไป พระสงฆ์ปฏิบัติดีเพื่อประโยชน์ส่วนตนด้วย ปฏิบัติดีเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยการสืบอายุของศาสนาไว้ให้แก่สัตว์เหล่านั้นด้วย จึงเรียกว่าเป็นที่เกิดแห่งบุญ
ข้อว่า “สีล ทิฏฐี หิตัง สุทโท” (นาทีที่ 29.25) นี้แสดงลักษณะเฉพาะของพระสงฆ์นั้น เพราะพระสงฆ์จะต้องบริสุทธิ์ด้วยศีลและทิฏฐิ ศีลคือการปฏิบัติอยู่ที่เนื้อที่ตัว ทางกาย ทางวาจาอย่างถูกต้อง เรียกว่า ศีลบริสุทธิ์ สำหรับทิฏฐินั้น คือ ความคิด ความเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อ ความปรารถนา หรืออะไรก็ได้ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ นั้นก็ล้วนแต่ถูกต้อง เรียกว่ามีทิฏฐิบริสุทธิ์ เมื่อมีความบริสุทธิ์ทั้งส่วนศีลและส่วนทิฏฐิ ทั้ง ๒ อย่างแล้วก็เป็นอันว่า ไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่ เป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์อย่างครบถ้วน ไม่มีทางที่จะผิดพลาดได้ไม่ว่าในส่วนใด จึงเป็นผู้ที่ควรเคารพ ควรสักการะ
สำหรับบทว่า “สันติ มรรคะ นิโย จ โก” เป็นผู้ประพฤติอยู่ในหนทางแห่งนิพพานนั้น มันคล้ายกับสายบรรทัดที่แสดงอยู่ตลอดเวลาให้สัตว์ทั้งหลายเห็น ว่าการปฏิบัติอย่างนี้ตรงดิ่งไปสู่นิพพาน พระสงฆ์ผู้หมดกิเลสแล้วก็ดี ยังไม่หมดกิเลสก็ดี ล้วนแต่ปฏิบัติตนในลักษณะนี้ คือลักษณะที่แสดงอยู่ซึ่งเส้นบรรทัด หรือแนวอันเที่ยงตรงแน่นอนว่าหนทางที่ไปสู่พระนิพพานนั้นเป็นอย่างนี้ๆ ดังที่ท่านประกอบอยู่ที่เนื้อที่ตัว พอที่จะเป็นตัวอย่างแก่บุคคลทั้งหลายได้ นั่นแหละคือข้อที่พระสงฆ์มีคุณแก่สัตว์โลกทั้งหลาย
ข้อ ๑ ว่า ปฏิบัติดี
ข้อที่ ๒ ว่า เป็นบ่อบุญของสัตว์
ข้อที่ ๓ ว่า สะอาดแล้วทั้งศีลและทิฏฐิ
ข้อที่ ๔ ว่า ประกอบอยู่ในทางแห่งพระนิพพานอยู่ตลอดเวลา
ให้พิจารณาในลักษณะอย่างนี้ เพื่อรู้จักคุณของพระสงฆ์ ทีนี้ดูๆ มันก็มาก ยกตัวอย่างมาเพียง ๔ อย่าง ใน ๑ อย่าง หรือของพระพุทธเจ้าก็มี ๔ ของพระธรรมก็มี ๔ ของพระสงฆ์ก็มี ๔ ก็เป็นถึง ๑๒ อย่างขึ้นมา ถ้าผู้ใดสามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนอยู่ในใจทั้ง ๑๒ อย่างนี้ ก็เป็นการดี แต่ถ้าไม่สามารถจะทำได้ก็ยังมีทางที่จะประมวลเข้าด้วยกัน ว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ปลุก สาวกทั้งหลายก็เป็นผู้ตื่นตามการปลุกนั้น พระธรรมก็คือกิริยาอาการที่เป็นการปลุก เป็นเครื่องปลุก พวกเราก็ต้องนับเนื่องอยู่ในผู้ที่ถูกปลุก ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการปลุกของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยพระธรรมเป็นเครื่องมือ การปลุกคนให้ตื่นตามธรรมดาก็เช่นไปเขย่าตัวเขาบ้าง ถ้าเขายังไม่ตื่นอีกก็อาจจะถึงเอาเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งมาทุบมาตีเข้าจนตื่นขึ้นมา เอาน้ำรด เอาไฟจี้มันจึงจะตื่นขึ้นมา ถ้าขี้เซากว่านั้นก็ต้องถึงกับถลกหนังหัวเสียสักเท่าฝ่ามือหนึ่งจึงจะตื่นขึ้นมา อย่างนี้มันก็ยังดีกว่าที่จะไม่รู้จักตื่นเสียเลย
ธรรมะนี้ก็มีมาก มีอยู่หลายระดับ ที่จะใช้เป็นเครื่องปลุกเวไนยสัตว์ให้ตื่นจากหลับคือกิเลส แล้วแต่ว่าเขาหลับมากหรือหลับน้อย แต่พระธรรมก็สามารถที่จะปลุกเวไนยสัตว์ให้ตื่น โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ใช้เครื่องมือนั้น เวไนยสัตว์ก็คือสงฆ์สาวกทั้งหลายทั้งปวง นับเนื่องมาถึงพวกเราที่นี่ด้วย เราก็ได้ความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า เรามาประชุมกันที่นี่ในฐานะที่เป็นเวไนยสัตว์สำหรับพระพุทธเจ้าจะได้ทรงปลุกอยู่ตลอดกาล เราควรจะทำตนให้เป็นผู้ที่รู้จักตื่นกันเสียบ้าง
การทำวิสาขบูชานี้ก็ต้องนับเนื่องในการปลุก เพราะว่าเราสมัครให้ถูกปลุก แล้วก็พยายามที่ให้เกิดการปลุกด้วยการพยายามให้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม โดยทำให้จิตใจของเราประกอบไปด้วยคุณธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นพระพุทธเจ้าก็คือตัวพระธรรมนั่นเอง ถ้าเราจะทำวิสาขบูชาให้จริง ให้ถูกต้องและสมบูรณ์จริงๆ แล้ว ก็ต้องทำอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าทำจิตใจให้ประกอบไปด้วยคุณธรรมเหมือนกับจิตใจของพระพุทธเจ้าเสียก่อนแม้ชั่วขณะหนึ่งสัก ๕ นาที ๑๐ นาที ชั่วเวลาเวียนเทียนนี้ก็ยังเป็นการดี อย่างน้อยมันก็ตื่นแล้ว ชั่วระยะนั้น ชั่วขณะนั้น ถ้าใครต้องการจะตื่นยาวกว่านั้น ก็รักษาให้ความเป็นอย่างนั้นไว้ให้ยืดยาวออกไปก็ยังทำได้ ดีกว่าที่จะไม่รู้จักตื่นเสียเลย
ไหนๆ บัดนี้เราก็จะทำวิสาขบูชากันอยู่แล้ว รีบชำระสะสางปัญหาข้อนี้กันเป็นพิเศษเถิดให้เป็นผู้ตื่นให้ได้ อย่างน้อยก็เวลานี้ เป็นผู้มีความกระตือรือร้นที่จะบูชาคุณของพระพุทธเจ้าด้วยการกระทำอย่างนี้ ไม่ต้องการทำอย่างอื่น และไม่ต้องการเพียงการกระทำเพียงสักว่าเป็นพิธีรีตองอย่างที่ลูกเด็กๆ เล็กๆ เขาก็ทำกัน เป็นผู้ใหญ่แล้วก็รู้จักเป็นผู้ใหญ่กันเสียบ้าง คือทำอะไรอย่างผู้ใหญ่นั่นเอง รู้จักทำจิตใจให้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เป็นพระองค์จริง อย่าให้ถูกปิด ถูกบัง ถูกหุ้มห่อด้วยเครื่องหุ้มห่อนาๆ ชนิดเหล่านั้น เวลานี้เป็นผู้ที่มีปีติ ปราโมทย์ในการได้ที่ดี คือได้เป็นพุทธบริษัท ได้เป็นมนุษย์เกิดมาแล้วไม่เสียทีที่ได้พบพระพุทธศาสนา นี่..โดยกำเนิดก็เรียกว่า เป็นผู้มีโชคดีอยู่แล้วเป็นเบื้องต้น ทีนี้ก็จะต้องใช้ประโยชน์ในการที่มีโชคดีนั้นให้ก้าวหน้าสืบต่อไป ว่ามันจะได้อะไรที่ดียิ่งขึ้นไปตามลำดับๆ
ในที่สุดๆ ก็ไม่มีอะไรนอกไปจากการเดินไปตามทางที่พระพุทธเจ้าท่านได้แสดงไว้แล้ว ไปสู่ความสะอาด ความสว่าง และความสงบในฐานะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่านี้แล้ว ถ้าในจิตใจมีความรู้สึกอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่ามีความเหมาะสมแล้วโดยประการทั้งปวง
ในการที่จะทำวิสาขบูชา อะไรๆ ก็พร้อมแล้ว เหมาะสมแล้วที่จะทำวิสาขบูชา นั่นแหละขอให้ท่านทุกคนเตรียมตนให้เหมาะสมโดยทุกอย่าง ทุกประการเถิด นับตั้งแต่ภายนอกคือทางกายนี้ก็ได้ตระเตรียมดีแล้ว แม้ที่สุดแต่สถานที่นี้ก็เหมาะสมแล้ว เราเลือกเอาสถานที่อย่างนี้มันก็คล้ายกันที่สุดแล้วกับสถานที่ที่พระพุทธเจ้าท่านเกี่ยวข้องด้วย ในการประสูติก็ประสูติใต้ต้นไม้ กลางพื้นดิน ในการตรัสรู้ก็ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ กลางพื้นดิน ในการปรินิพพานก็ปรินิพพานใต้ต้นไม้ กลางพื้นดิน และตลอดเวลาในพระชนม์มายุ ๔๕ พรรษานั้น ส่วนมากก็อยู่ใต้ต้นไม้ กลางพื้นดิน เดี๋ยวนี้เราก็มานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ กลางพื้นดิน มันก็ควรจะเป็นสิ่งสะกิดใจ หรือกระตุ้นเตือนใจที่มากพอแล้วว่า เราได้มีความพยายามที่จะทำให้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าที่สุดแล้วในส่วนภายนอกคือทางกาย ทางสถานที่ ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่ว่า จะต้องพินิจพิจารณาดูให้ดี ให้เกิดความเข้าใจแล้ว มีปีติ ปราโมทย์ในการที่จะได้ทำเช่นนี้
ในการที่เราจะเวียนเทียนนี้ มีความหมายหลายอย่างซึ่งบางคนอาจจะยังไม่รู้ เช่นว่า ทำไมจะต้องให้เดินเวียน เพียงข้อนี้เพียงข้อเดียวก็ยังมีคำตอบเป็นหลายอย่าง การเดินเวียนเอามือขวาไว้ข้างผู้ที่เราเคารพบูชานั้นเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดตามแบบของพุทธบริษัท ทีนี้ถ้าจะดูกันให้ละเอียดลึกซึ้งอีกต่อไปมันยังมีอะไรมากกว่านั้น ทำไมไม่นั่งบูชา ไม่นอนบูชา ทำไมจะต้องเดินบูชา ก็เพราะว่าความรู้สึกของจิตใจในขณะที่เดินนั้นคมกล้ายิ่งกว่าในเวลาอื่น ยกตัวอย่างเช่น สมาธิที่เกิดขึ้นในขณะแห่งการเดินนั้นเป็นสมาธิที่มั่นคง ถาวรกว่าสมาธิที่เกิดในอิริยาบถอื่น หรือพูดกลับกันเสียก็ว่า ถ้าสามารถมีสมาธิในอิริยาบถเดินแล้ว มันก็ง่ายเหลือเกินที่จะมีสมาธิในอิริยาบถอื่น ถ้าใครทำได้ในอิริยาบถเดิน อิริยาบถอื่นก็เป็นของที่ไม่มีปัญหาอะไร จึงถือว่าในอิริยาบถเดินนั้นจิตใจคมกล้า ขอให้ทำเป็นสมาธิในอิริยาบถเดินเถิด ความเป็นสมาธิที่ลึกซึ้งนั้น จะมีมากกว่าอิริยาบถอื่น ด้วยเหตุฉะนี้แหละ เมื่อเดินเวียนประทักษิณนั้นต้องมีจิตใจที่เป็นสมาธิ เราจะระลึกนึกถึงอยู่แต่พระคุณของพระองค์ในจิตใจ ส่วนเท้านั้นให้มันเดินไปตามความรู้สึกที่เคยชิน มันก็จะต้องเดินไปได้
ทีนี้การเดินในที่อย่างนี้มันยังต้องมีสติสัมปชัญญะ การมีสติสัมปชัญญะนั้นก็เป็นของสำคัญด้วยอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือเป็นธรรมะข้อหนึ่งซึ่งช่วยคนให้รอดพ้นได้ ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะเสียแล้ว ไม่มีทางที่ใครจะรอดพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้าเดินได้โดยสติสัมปชัญญะ ก็แปลว่ามีคุณธรรมมาก มากพอที่จะบูชาสิ่งสูงสุด เช่น พระพุทธเจ้าในโอกาสนี้ นี่แหละจึงต้องเดิน
ทีนี้ยังมีเรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ อย่างอื่นอีกมากมาย ซึ่งควรจะนำมาคิด มานึกด้วยเหมือนกัน อย่างที่เคยบอกแล้วว่า ถ้าเดินเท้าเปล่า จะต้องได้บุญมากกว่าสวมรองเท้า อย่างนี้เป็นต้น จึงขอให้ตั้งอก ตั้งใจกระทำไปด้วยความเสียสละอย่างยิ่ง ด้วยจิตแน่วแน่อย่างยิ่ง มีสมาธิอย่างยิ่ง มีสติสัมปชัญญะอย่างยิ่งทุกๆ ประการเถิด การทำวิสาขบูชาของเราก็จะเป็นไปถึงที่สุด ประกอบไปด้วยคุณ ด้วยประโยชน์ ด้วยอานิสงค์ถึงที่สุดโดยแน่นอน ไม่เสียทีที่เราได้ใช้ความพยายาม ความลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยเลย
ทั้งหมดนี้คือการอธิบายในลักษณะที่เป็นการตระเตรียมอย่างเดียวกันอีก เตรียมเนื้อ เตรียมตัว เตรียมกาย เตรียมใจ สำหรับจะทำวิสาขบูชาให้สำเร็จประโยชน์เป็นพิเศษสมกับที่อุตส่าห์ฟันฝ่ามากระทำในพื้นที่ที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าเคยเกี่ยวข้อง คือทรงพระชนม์ชีพอยู่ตลอดอายุของพระองค์ในป่ามีร่มเงาของต้นไม้ กลางพื้นดิน ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง ถึงความใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างยิ่ง ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่า เราได้พยายามเป็นอยู่ให้คล้ายพระพุทธเจ้าที่สุดแล้ว ดังนั้น จิตใจของเราก็จะคล้ายจิตใจของพระพุทธเจ้าได้โดยแน่นอน ขอให้ท่านทั้งหลายเตรียมเนื้อ เตรียมตัว สำหรับกระทำวิสาขบูชา ในลักษณะเช่นนี้เถิด และให้ละเอียดลออให้ประณีต สุขุมยิ่งขึ้นไปทุกๆ ปี ก็จะไม่เสียทีที่เรามีความมั่นหมายในการที่จะก้าวหน้าตามทำนองคลองธรรมในพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอยู่ด้วยกันทุกคน
ธรรมเทศนาเป็นการชี้ชวน และตระเตรียมเพื่อการทำวิสาขบูชา ก็นับว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติธรรมเทศนาไว้แต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการ ฉะนี้