แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายฟ้าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษปรารภเหตุเนื่องด้วยเรื่องส่วนตัวของอาตมาเอง เนื่องจากเป็นวันที่มีอายุครบรอบปีแต่ละปีละปีก็อยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าจะมีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ในที่สุดก็ได้กระทำมาในลักษณะที่เรียกว่าทำบุญล้ออายุ ที่เรียกว่าทำบุญล้ออายุนี้ บางคนก็เข้าใจแล้วว่าหมายความถึงอะไรแต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจ เพราะได้ยินได้ฟังเป็นครั้งแรกครั้งนี้ ข้อนี้จะต้องอธิบายซ้ำอีกสักเล็กน้อย ว่าทำบุญเนื่องด้วยอายุครบรอบปีนั้น มันมีอยู่สองความหมาย ถ้าคนขี้ขลาดก็ทำบุญต่ออายุเพราะไม่อยากจะตาย ถ้าไม่ขี้ขลาดก็ทำบุญล้ออายุเล่นสนุกๆ เพราะว่าโดยที่แท้แล้วมันเป็นเรื่องที่น่าล้อจริงๆ โดยเหตุที่ไม่มีความหมายอะไร มากไปกว่าความไหลเวียนเปลี่ยนแปลงไป ประกอบไปด้วยความโง่ความหลงจนกว่าจะรู้สึกสำนึกได้ อายุก็ล่วงเข้าไปมากแล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปเสียเงินเสียของหรือมีความยุ่งยากลำบากอะไร เกี่ยวกับการทำบุญอายุ เรื่องที่จะล้ออายุนี้ มันก็ต้องมีเหตุผลว่าจะล้อกันได้อย่างไรหรือวิธีใด ก็แล้วแต่สติปัญญาหรือความรู้ความเข้าใจของบุคคลนั้นๆ แต่ทางที่ดีนั้นควรจะให้มันเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ คือรู้สึกคิดลึกอะไรได้มากกว่าเดิม สำหรับในวันนี้ก็เป็นวันพิเศษสำหรับอาตมา เนื่องด้วยมีอายุครบ ๖๓ ปีเต็มกับ เจ็ดแปดชั่วโมงเข้าไปแล้ว เพราะโยมบอกว่าเกิดมาในเวลาเช้าที่พระกำลังออกโปรดสัตว์คือบิณฑบาต ของวันที่ ๒๗ พฤษภาคม เมื่อ ๖๔ ปีมาแล้ว อายุล่วงมาตั้งหลายสิบปีก็มิได้รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร ก็ทำอะไรไปตามความไม่รู้ เหมือนที่ได้พูดให้ฟังมาแล้วเมื่อตอนเช้าอย่างยืดยาว สรุปแล้วก็มีเหลืออยู่นิดเดียวว่ามันรอดตัวมาได้ ก็เพราะอยากจะทำอะไรให้เก่งๆไว้บ้าง หรือทำอะไรโดยไม่ต้องซ้ำใคร มันจึงได้เป็นมาในลักษณะอย่างนี้ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ดูแล้วมันก็เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ที่ว่าน่าขอบใจมัน หรือว่าไม่น่าขอบใจเอาเสียเลย แต่ถ้ามานึกในแง่ที่ว่าความผิดก็เป็นครูความถูกก็เป็นครู และความผิดเป็นครูมากกว่าความถูกเสียอีก อย่างนี้แล้วก็น่าจะขอบใจ ความถูกนั้นหมายถึงการทำอะไรได้อย่างใจตามที่ต้องการ อย่างนี้มันทำให้คนหลงหรือโง่ไปกว่าเดิม ความผิดนั้นมันลงโทษเอาอย่างเจ็บปวด แล้วมันทำให้คนฉลาด เว้นไว้แต่จะไม่ต้อนรับเอาเท่านั้น ไปมัวนั่งร้องไห้เสียเป็นต้น มันก็ไม่ได้อะไร รวมความว่าคนทั่วไปไม่ได้รับเอาทั้งความผิดและความถูกมันจึงโง่ คือเป็นคนที่ไม่มีครู ความผิดก็ไม่ได้เป็นครูความถูกก็ไม่ได้เป็นครู มันจึงได้เป็นคนโง่เพราะไม่มีครู แต่ถ้าเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วความผิดก็เป็นครูความถูกก็เป็นครูขึ้นมาทันที ความถูกก็ไม่ได้เป็นที่ตั้งของความหลงใหล ความผิดก็ไม่ได้เป็นที่ตั้งของความทุกข์ทรมานใจจนต้องไปนั่งร้องไห้ แต่ว่าเขาจะศึกษาเอาจากความผิดและความถูกทั้งสองอย่าง จนได้รู้อะไรอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงยิ่งขึ้นทุกที ถ้ามันเป็นอย่างนี้ชีวิตนี้มันก็เป็นการศึกษาและเป็นสิ่งที่น่าขอบใจ แต่แล้วเราก็มองเห็นว่าชีวิตของเรามิได้ล่วงมาในลักษณะเช่นนี้เลยเพราะว่าเราเป็นคนโง่ อาตมาก็เป็นคนโง่คนอื่นๆก็ดูจะเป็นคนโง่มาตั้งแต่ต้น จึงไม่ได้รู้จากสิ่งที่เรียกว่าอายุหรือชีวิตนี้ ในทางที่จะทำให้ฉลาดขึ้น จึงต้องโง่มาตั้งหลายสิบปีเพิ่งจะสังเกตเห็นอะไรบ้างก็ในระยะหลังๆนี้ จึงได้เอามาล้อตัวเองเล่น คำว่าล้ออายุนี้มันก็คือล้อตัวเองนั่นเองล้อในส่วนที่เคยโง่เคยหลงมาแล้วอย่างไร มีเรื่องมากมายเหมือนที่ได้พูดให้ฟังแล้วเมื่อตอนเช้า ทีนี้ก็จะได้พูดกันต่อไปถึงข้อที่ว่ามันมีแง่อะไรบ้างโดยละเอียดที่น่าจะเอามานึกมาคิด ที่มาล้อกันอย่างมีประโยชน์เป็นกิจจลักษณะในธรรมเทศนานี้ ธรรมเทศนานี้ได้ยกขึ้นมาโดยหัวข้อแห่งพระพุทธภาษิตที่ว่า “อะสาตัง สาตะรูเปนะ ปิยะรูเปนะ อัปปิยัง ทุกขัง สุขัสสะรูเปนะ ปะมัตตะ มะติวัตตะตีติ” ซึ่งมีใจความว่าสิ่งที่ไม่น่ายินดีมันครอบงำคนโง่โดยรูปแห่งสิ่งที่น่ายินดี สิ่งที่ไม่น่ารักมันครอบงำคนโง่ โดยรูปของสิ่งที่น่ารัก ความทุกข์มันครอบงำคนโง่โดยรูปของความสุขดังนี้ พระพุทธภาษิตนี้มีใจความสั้นๆว่าคนโง่ถูกทำให้หลงใหลโดยสิ่งที่น่ารักน่ายินดีหรือความสุขเพราะว่าคนโง่มันก็ชอบความสุขหรือชอบสิ่งที่น่ารักน่ายินดี มองเห็นเป็นสิ่งที่น่ารักน่ายินดีหรือเป็นความสุข แล้วก็ทะเยอทะยานต่อสิ่งนั้น ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ก็ลองคิดดูว่ามันเป็นอย่างไรกัน สิ่งที่ไม่น่ายินดีครอบงำคนโง่โดยรูปของสิ่งที่น่ายินดี สิ่งที่ไม่น่ารักครอบงำคนโง่โดยรูปของสิ่งที่น่ารัก ๒ บทนี้มันคล้ายกัน รวบความเข้าด้วยกันได้ว่าสิ่งที่น่ารักน่ายินดีตามความรู้สึกของคนโง่นั้นเป็นความหลอกลวงของธรรมชาติที่แท้จริง ซึ่งที่แท้ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารักน่ายินดีแต่ก็สามารถครอบงำจิตใจของคนโง่ได้ ในฐานะเป็นสิ่งที่น่ารักน่ายินดี ทีนี้อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องความสุข หรือความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นั้น มันมาในรูปของความสุข มันจึงครอบงำจิตใจของคนโง่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้คนที่ไม่อยากจะโง่ก็ควรจะดูให้ดีๆว่าเรื่องนี้มันเป็นอย่างไรกัน ความสุขที่ตนกำลังหลงใหลอยู่นั้น มันเป็นความสุขชนิดที่เป็นของตบตาหรือหลอกลวง ดังที่กล่าวแล้วในพระพุทธภาษิตนี้หรือไม่ สิ่งที่น่ารักน่าพอใจก็เหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่ควรจะรักควรจะพอใจอย่างนั้นจริงหรือว่ามันอยู่ในรูปของความหลอกลวงนี้คือประเด็นของเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ โดยมีความสำคัญอยู่ที่ว่าอายุหรือชีวิตตลอดเวลาที่แล้วมานั้น มันถูกครอบงำหรือถูกหลอกลวงในลักษณะเช่นนี้หรือเปล่า ขอให้ลองย้อนไประลึกนึกดูตั้งแต่แรกเกิดมาตามที่จะจำความได้อย่างไรจนกระทั่งบัดนี้ ว่าเราได้หลงใหลอยู่แต่ในสิ่งที่น่ารักน่าพอใจหรือความสุขจริงหรือไม่ และเวลาที่เราเป็นทุกข์ร้องไห้นั้น มันเป็นผลของการที่เราหลงใหลในความสุขหรือสิ่งที่น่ารักน่าพอใจจริงหรือไม่ ถ้าจริงมันก็หมายความว่าไอ้ที่เราร้องไห้นั้นก็เพราะมีความหลงอยู่ในสิ่งที่น่ารักน่าพอใจหรือความสุขนั้นเอง เมื่อเป็นดังนั้นก็เป็นอันกล่าวได้ว่าตลอดเวลาทั้งหมดที่ล่วงมามันไม่มีอะไรมีแต่เรื่องของความหลง ในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความรักหรือความพอใจ หรือที่เรียกกันเดี๋ยวนี้มากที่สุดว่าความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ต่อไปนี้จะได้พิจารณากันเป็นพิเศษถึงคำว่าสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความน่ารักน่าพอใจ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ไม่ต้องเอาตามความคิดเห็นของผู้ใด เอาตามคำที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระมหาปทีณสูตร(นาทีที่ 17:15) ในสูตรนั้นพระพุทธเจ้าท่านตรัสสิ่งซึ่งเป็นปิยรูปสาตรูปไว้เป็นหมวดๆ ถึง ๑๐ หมวดด้วยกัน มีอยู่หมวดละ ๖ อย่างมันจึงเป็น ๖๐อย่าง คือพระองค์ได้ตรัสระบุอายตนะภายในได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นปิยรูปสาตรูป แล้วก็ได้ตรัสอายตนะภายนอกคือรูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ว่าเป็นปิยรูป สาตรูป แล้วก็ได้ทรงระบุวิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ที่เกิดขึ้นในอายตนะนั้นๆ ว่าวิญญาณทั้งหมดนั้นก็เป็นปิยรูป สาตรูป แล้วก็ทรงระบุ ผัสสะที่เกิดมาจากการกระทบระหว่างวิญญาณกับอายตนะนั้น ว่าผัสสะเหล่านั้นก็เป็นปิยรูปสาตรูป แล้วก็ตรัสระบุเวทนาทั้งหลายที่เกิดมาจากผัสสะทั้ง ๖ นั้น เพราะเวทนาทั้งหมดนั้นก็เป็นปิยรูปสาตรูป แล้วก็ตรัสระบุสัญญา ความสำคัญมั่นหมายในเวทนาเหล่านั้น ว่าสัญญาทั้งหมดนั้นก็เป็นปิยรูปและสาตรูป แล้วก็ตรัสระบุสัญเจตนาคือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดมาจากสัญญานั้นว่าสัญเจตนาทั้งหมดนั้นว่าเป็นปิยรูปสาตรูป และก็ทรงระบุตัณหาคือความอยาก ซึ่งกินความไปถึงความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัณหาทั้งหมดนั้นก็เป็นปิยรูป สาตรูป แล้วก็ตรัสระบุวิตกคือความคิดว่าวิตกทั้งหมดนั้นเป็นปิยรูปสาตรูป แต่ในที่สุดท้ายก็ทรงระบุวิจารคือการพิจารณา คือความคิดอย่างพินิจพิจารณาต่อสิ่งนั้น ว่าวิจารทั้งหมดนั้นก็เป็นปิยรูปสาตรูป รวมเป็นปิยรูปสาตรูปถึง ๑๐ หมวดด้วยกันมีหมวดละ ๖ จึงเป็น ๖๐ อย่างดังกล่าวแล้ว แต่การพูดโดยทำนองนี้เป็นเรื่องในวัดแทบจะไม่รู้เรื่องกันเสียเลยในหมู่ชาวบ้าน เพราะฉะนั้นจะต้องพูดภาษาชาวบ้านเสียอีกทีว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสิ่งต่างๆทั้ง ๖๐ อย่างนี้ ว่าเป็นสิ่งที่มีรูปน่ารักน่าพอใจ โดยความหมายว่าอย่างไร ธรรมะทั้ง ๑๐ หมวดนี้ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์โดยตรงแล้วก็เป็นไปในชีวิตประจำวัน ทุกวัน ทุกชั่วโมง หรือจะทุกนาทีก็เป็นได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เล็งถึงจิตใจ ความคิดความนึก ความรู้สึกต่างๆ ตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ ที่เรียกว่าอายตนภายใน คือตาหูจมูกลิ้นกายใจนี้ ก็พอจะรู้จักกันอยู่แล้ว ว่าหมายถึงอะไร มันหมายถึงเครื่องมือข้างใน หรือตัวสื่ออยู่ข้างในที่จะรับอารมณ์ข้างนอก แต่ควรจะรู้เป็นพิเศษไว้อีกอย่างหนึ่งว่าสิ่งที่เรียกว่าอายตน คือตาหู จมูก ลิ้นกาย ใจ นี้ ในทางภาษาธรรมะ มันต่างกันกับภาษาชาวบ้าน ภาษาชาวบ้านก็ถือว่ามีตาหู จมูก ลิ้นกาย ใจ อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตายนั้นมันเป็นเรื่องของชาวบ้าน รู้จักอะไรแต่ในแง่ของวัตถุ จึงได้พูดว่าตาหู จมูก ลิ้นกาย ใจ มีอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ส่วนในภาษาธรรมะหรือภาษาของท่านที่เป็นผู้รู้นั้น ได้พูดว่าอายตนะ คือตา หูจมูกลิ้นกายใจนี้มิได้มีอยู่ตลอดเวลา มันมีอยู่เฉพาะต่อเมื่อมันทำหน้าที่ของมัน เมื่อมันได้โอกาสทำหน้าที่ของมันจึงจะถือว่ามันมีอยู่ คือเมื่อตามาเมื่อรูปมากระทบตา เมื่อเสียงมากระทบหู เมื่อกลิ่นมากระทบจมูก เมื่อรสมากระทบลิ้น เมื่อสัมผัสมากระทบผิวหนัง หรือเมื่อความรู้สึกมากระทบใจ ในขณะนั้นเท่านั้นที่จะเรียกว่าเรามีตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ เวลานอกนั้นถือว่าไม่มี ทั้งที่ชาวบ้านจะต้องเถียงว่ามันมีอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะว่าชาวบ้านไปเล็งเอาแต่ทางวัตถุทางเนื้อทางหนัง ส่วนภาษาธรรมะนั้นเล็งถึงความหมายเล็งถึงจิตใจ ต่อเมื่อมันทำหน้าที่รู้สึกที่มีความหมายจึงจะเรียกว่ามีอยู่ เพราะเหตุฉะนั้นแหละจึงได้พูดว่าตาได้เกิดขึ้น หูได้เกิดขึ้น จมูกได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆทีละเรื่องๆ ต่อเมื่อมีอะไรมากระทบตา หรือ หู เป็นต้น เมื่อเป็นดังนี้ก็ต้องเข้าใจว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ มิได้มีอยู่พร้อมกันทั้ง ๖ อย่างเลย มันผลัดกันมีทีละอย่าง แล้วแต่ว่ากำลังมีอะไรมากระทบอะไร ถ้ามีอะไรมากระทบตาเกิดความรู้สึกขึ้นที่ตาเมื่อนั้นตาก็มี เสร็จแล้วมันก็ดับไป ต่อเมื่อมีเสียงอะไรมากระทบหู หูก็เกิดขึ้น รับอารมณ์ทางหู แล้วไม่เท่าไหร่หูก็ดับไป เรื่องจมูกลิ้นกายใจก็เหมือนกันหมด นั้นจึงเห็นได้ว่ามันผลัดกันเกิดทีละอย่าง เดี๋ยวมีตา เดี๋ยวมีหู เดี๋ยวมีจมูก เดี๋ยวมีลิ้น มีกาย มีใจ ผลัดกันอยู่อย่างนี้ คิดดูเถอะว่าลักษณะอย่างนี้ชาวบ้านเคยรู้หรือเปล่า ชาวบ้านเคยเข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า ถ้ายังไม่เคยรู้อย่างนี้ก็แปลว่ายังไม่รู้ธรรมะที่เป็นตัวธรรมชาติอันแท้จริง ดังนั้นมันจึงเป็นคนโง่ แหละดังนั้นมันจึงถูกลวง ถ้าไม่อยากให้ถูกลวง ก็ต้องรู้ความจริงในทำนองนี้ เป็นลำดับๆไป ว่าแม้แต่อายตนะภายในคือตาหูจมูกลิ้นกายใจก็เพิ่งเกิดขึ้นทีละอย่างๆสลับกันไปในวันหนึ่งๆ แล้วแต่มีอะไรมากระทบอะไร ทีนี้ทำไมจึงว่าปิยรูปสาตรูป ตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นปิยรูปสาตรูปของคนโง่ เพราะว่าคนโง่มันรู้สึกอร่อยในเมื่อมีอะไรมากระทบ ตาหูจมูกลิ้นกายหรือใจก็ตาม อันตาหูจมูกลิ้นกายใจมันจึงเป็นที่รักที่หวงของคนโง่ จึงได้เรียกว่าปิยรูป สาตรูปสำหรับคนโง่ ไม่ใช่สำหรับพระอริยเจ้า
ทีนี้ดูต่อไปถึงหมวดที่ ๒ คืออายตนะภายนอกได้แก่รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รูปคือสิ่งที่มาปรากฎทางตา เสียงคือธรรมชาติที่มาปรากฏทางหู กลิ่นคือธรรมชาติที่มาปรากฏทางจมูก รสคือธรรมชาติที่มาปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะคือธรรมชาติที่มาปรากฏทางผิวหนัง ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นทางผิวหนัง ธรรมารมณ์คือธรรมชาติที่มาปรากฏแก่จิตใจ รูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เหล่านี้ ได้ชื่อว่าเป็นปิยรูปสาตรูป คือสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ ก็สำหรับคนโง่อีกนั่นเอง เพราะว่ารูปเสียงกลิ่นรส สัมผัสเหล่านี้ ให้เกิดความรู้สึกเอร็ดอร่อยแก่คนโง่ จึงได้ถูกจัดเป็นปิยรูป สาตรูป ที่บางคนอาจจะเถียงว่าในบางคราวมันไม่ได้ทำให้เกิดความเอร็ดอร่อย มันทำให้เกิดความเดือดร้อนถึงกับทำให้น้ำตาไหลก็ยังมี ทำไมจะเรียกว่าปิยรูปสาตรูปเล่า ข้อนี้ก็อธิบายอย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อตะกี้ว่าคนมันรักตาหูจมูกลิ้นกายใจ หรือรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่ร้องไห้ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันก็ยังคงรักตาหูจมูกลิ้นกายใจ รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสอยู่นั่นเอง แม้ว่ามันจะมีความโกรธ ความเกลียด ความอึดอัดขัดใจ มันก็มีมูลมาจากความรักสิ่งเหล่านั้น ถ้าไม่มีความรักต่อสิ่งเหล่านั้นแล้ว ความโกรธความอึดอัดขัดใจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย จงมองดูให้ดีๆ ว่าเมื่อกำลังโกรธแค้น อึดอัด ขัดใจ ร้องไห้น้ำตาไหลอยู่ก็ตาม มันก็มีมูลมาจากความรักในตาหูจมูกลิ้นกายใจที่จะอำนวยอะไรให้ หรือรูปเสียง กลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ที่เป็นวัตถุ ที่มาช่วยให้ตาหูจมูกลิ้นกายใจทำอะไรให้แก่คนนี้เป็นปิยรูปสาตรูปอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก
ที่นี้ก็มาถึงหมวดที่ ๓ คือวิญญาณ จักษุวิญญาณ โสตะวิญญาณ ฆานวิญญาณ จนตลอดถึงมโนวิญาณ ได้แก่ความรู้สึกทางตา รู้สึกทางหู รู้สึกทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเอง เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะได้พบกัน เช่นตากระทบรูปด้วยความรู้สึกขึ้นได้ว่ารูปอะไร เป็นรูปคนก็คือคน เป็นรูปดอกไม้ก็เป็นดอกไม้ เป็นรูปสัตว์ก็เป็นรูปสัตว์ วิญญาณทำหน้าที่รู้แจ้งในรูปว่ามีรูปร่างอย่างไรแต่ยังไม่เล็งถึงความหมายก็หมายความว่าอย่างไร เพียงแต่เห็นหรือรู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบว่าเป็นอะไรเท่านั้น นี้เรียกว่าวิญญาณ ก็อาศัยสิ่งที่เรียกว่าความจำได้หมายรู้รวมอยู่ในนั้นด้วย มันจึงได้รู้ว่าเป็นรูป หรือเป็นเสียงหรือเป็นกลิ่นหรือเป็นรสหรือเป็นสัมผัสของอะไร ทีนี้ทำไมจึงถือว่าวิญญาณนี้เป็นสิ่งที่น่ารักน่ายินดี นี่ก็เพราะความรู้สึกของคนโง่อีกนั่นเอง ถ้าไม่มีความรู้สึกอย่างนี้แล้วมันก็รู้สึกรักหรือยินดีไปไม่ได้ ความรู้สึกรักรู้สึกยินดีมีขึ้นมาได้ก็มีความรู้สึกต่ออายตนะนั้นนั้นว่าคืออะไรหรือเป็นอย่างไร เมื่อวิญญาณเกิดขึ้นมาจากการกระทบของอายตนะ ก็พลอยเป็นสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ หรือเป็นปิยรูปสาตรูปตามขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง
ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่ ๔ คือสัมผัส หรือผัสสะนี่เล็งถึงความประจวบพร้อมของสิ่งทั้ง ๓ อายตนะภายในอายตนะภายนอกกระทบกันและมีความรู้สึกอยู่ที่นั่นในฐานะที่เป็นวิญญาณความประจวบพร้อมของสิ่งทั้ง ๓ นี้เรียกว่าผัสสะหรือสัมผัส ข้อนี้ไม่ได้หมายถึงสัมผัสทีแรกคือการกระทบทีแรก แต่หมายถึงการประจวบพร้อม ของสิ่งทั้ง ๓ คืออายตนะภายในอายตนะภายนอกและวิญญาณ คำพูดนี้ทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย ถ้าเราไม่รู้ความหมายของคำแต่ละคำโดยถูกต้อง มันสับสนปนเปยุ่งกันไปหมด มีความหมายต่างกันในระหว่างภาษาบาลีกับภาษาไทย เพราะฉะนั้นจะต้องจำเรื่องราวไว้ให้ดีๆ เป็นทางให้เข้าใจถ้อยคำเหล่านี้ได้โดยถูกต้อง สิ่งที่เรียกว่าสัมผัสคือความประจวบพร้อมของอายตนะภายใน ภายนอกและวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปก็พอจะมองเห็นได้ไม่ยากนัก ก็มีความประจวบพร้อมของสิ่งเหล่านี้ มันจึงจะเกิดความรู้สึกยินดีหรือพอใจขึ้นมาได้ งั้นตัวสัมผัสนั้นก็เลยกลายเป็นที่ตั้งแห่งความน่ารักหรือน่ายินดีขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ที่นี้ก็มาถึงเวทนาคือความรู้สึกที่เกิดมาจากสัมผัสนั้น ความรู้สึกอันนี้มีความหมายไปอีกทางหนึ่งแล้ว ไม่เหมือนกับความหมายของคำว่าวิญญาณทีแรก วิญญาณจึงรู้สึกอะไรเป็นอะไร แต่เวทนานี้รู้สึกในรสชาดของสิ่งเหล่านั้น จนมีความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือยังไม่สุขไม่ทุกข์ ความรู้สึกเป็นสุข หลังจากการสัมผัสทางตาเป็นต้น เป็นเวทนาที่น่ารักน่ายินดีนี้เข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าเป็นเวทนาที่เจ็บปวดคือเป็นทุกข์ แล้วก็จะเป็นปิยรูปสาตรูปที่น่ารักน่ายินดีได้อย่างไรกัน ข้อนี้ก็อธิบายได้โดยหลักที่กล่าวมาแล้วว่าเวทนานั้นเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึก ถ้าไม่มีเวทนาความรู้สึกก็ไม่มี แม้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์มันก็มีมูลมาจากความหลงใหลในเวทนานั้นในฝ่ายที่เป็นความสุข ความทุกข์ต้องเกิดมาจากความไม่สมประสงค์ในความสุขเสมอไป แม้ว่าจะกำลังมีความทุกข์อยู่ก็เพราะมันมีความทุกข์เพราะเวทนา ที่มีความสุข ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความสุขแล้วความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าความทุกข์เกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้รับความสุขคือไม่ได้อย่างอกอย่างใจตามที่ตนต้องการเพราะฉะนั้นเวทนาทั้งหลายย่อมมีความหมายเป็นปิยรูปสาตรูปไปทั้งนั้นแม้ชนิดที่เป็นความทุกข์ แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่ซ้อนกันอยู่ ๒ ชั้น
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสัญญา สัญญาในที่นี้เกิดมาจากเวทนาแต่ไม่ใช่ความจำได้หมายรู้ อย่างที่เขาพูดๆกัน สัญญาในที่นี้เป็นความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอย่างไร แต่ก็อาศัยความจำได้หมายรู้เหมือนกันจึงสำคัญมั่นหมายอย่างนั้นอย่างนี้ได้ เนื้อแท้ของมันอยู่ที่ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกู เช่นความสุขของกูหรือตัวกูมีความสุข สัญญาจึงมีลักษณะเป็นความสำคัญมั่นหมาย เช่นมีเวทนาเกิดขึ้นเป็นเวทนาระหว่างเพศ เพศหญิงเพศชายก็ตาม ความสำคัญมั่นหมายว่าหญิงว่าชายก็เกิดขึ้น ความสำคัญมั่นหมายว่ารูปหรือเสียงหรือกลิ่นหรือรส จากผู้หญิงหรือจากผู้ชายก็เกิดขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่าสัญญาเหมือนกัน แต่ที่เป็นไปอย่างเต็มที่หรือเต็มรูปนั้นมันสำคัญมั่นหมายว่าเวทนานี้เป็นของเรา หรือเรากำลังเสวยเวทนานี้ เป็นอัตตสัญญาขึ้นมา หรือสัญญาว่าตัวเราหรือตัวตนขึ้นมา ความสำคัญมั่นหมายทุกชนิดเรียกว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจมันฟูหรือพองหรืออิ่มเอิบ หรือทึกทักอย่างที่เรียกว่าเป็นตัวเป็นตน เพราฉะนั้นจึงถูกจัดเป็นปิยรูปสาตรูป เป็นวิสัยเป็นที่ตั้งแห่งความรักแห่งความยินดีของสัตว์ เมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้วต่อไปก็เกิดสัญญเจตนาคือความตั้งใจ หรือมีเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญญานั้น มีเจตนาที่จะได้จะเอาจะเป็นหรือมีเจตนาอยากจะทำลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความสำคัญมั่นหมายอันนั้น อย่างนี้เรียกว่าเจตนาหรือสัญญเจตนา พอได้มีเจตนาอย่างนี้แล้ว จิตก็มีความรู้สึกคึกคักเป็นตัวเป็นตนยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม เป็นความพอใจในตัวเองของตัวเอง จึงถูกจัดเป็นปิยรูปสาตรูปคือมีรูปแห่งความรักน่าพอใจยิ่งขึ้นไปอีก
ที่นี้ก็มาถึงตัณหาคือความอยากอย่างสมบูรณ์ เป็นกามตัณหาบ้าง ภาวะตัณหาบ้าง วิภวะตัณหาบ้างเป็นความอยากได้อยากเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้ก็ยิ่งเป็นปิยรูปสาตรูปยิ่งขึ้นไปอีกคือเป็นความรู้สึกที่ทำให้เกิดความรักความพอใจได้อย่างแรงกล้าสืบไป ที่หลังจากความอยากชนิดนี้เกิดขึ้นแล้วก็มีความคิดต่อไปตามความอยากนั้น อยากอย่างไรก็คิดที่จะได้จะเอาจะทำสำเร็จรูปเป็นความคิดขึ้นมา พอหลังจากนั้น ก็ใคร่ครวญพิจารณาอย่างละเอียดว่าทำอย่างไรจึงจะได้สมประสงค์ตามความคิดนั้น ที่วิตกก็ดีวิจารก็ดีเป็นปิยรูปสาตรูปคือเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกมัวเมาหลงใหลเป็นความหวังเป็นการหล่อเลี้ยงความหวัง เป็นที่สบายใจของผู้คิดผู้นึกจึงได้เรียกว่าเป็นปิยรูปสาตรูป ทั้งหมดนี้ขอให้พิจารณาดูให้ดี ว่ามันเป็นสิ่งที่น่ารักน่าพอใจเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตาหูจมูกลิ้นกายใจแท้ๆ ก็กลายเป็นที่น่ารักน่าพอใจ รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ก็เป็นที่น่ารักน่าพอใจ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามลำดับจากการกระทบของสิ่งทั้งสองนั้น เป็นวิญญาณก็ดี เป็นผัสสะก็ดีเป็นเวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สัญเจตนาก็ดี ตัณหาก็ดี วิตก วิจารก็ดี มันเนื่องกันมาตามลำดับ จึงถูกรู้สึกเป็นสิ่งที่น่ารักน่ายินดีไปตามลำดับ ทีนี้ปัญหาก็มีต่อไปว่าความรู้สึกน่ารักน่ายินดีนี้มันเป็นความจริงหรือเปล่า ถ้าดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่ามันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากความหลงของมนุษย์คนนั้นเอง ตัวธรรมชาติแท้ๆที่ไม่เจือด้วยความโง่ความหลงของมนุษย์แล้ว มันไม่เป็นที่น่ารักน่ายินดี หรือเป็นที่น่าเกลียดน่ากลัวแต่ประการใด แต่ถ้ามีความหลงของคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว มันก็มองเห็นเป็นสิ่งที่น่ารักน่ายินดีไปได้ ถึงแม้ว่าในพระบาลีนี้ที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสระบุลงไปตรงๆว่าตาหูจมูกลิ้นกายใจ เป็นปิยรูปสาตรูป รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์เป็นปิยรูปสาตรูป จนกระทั่งวิจารที่เกิดขึ้นทางรูป เสียงกลิ่นรสสัมผัสธรรมารมณ์เหล่านั้น ก็เป็นปิยรูปสาตรูปนี้ที่เป็นเรื่องที่พระองค์ตรัสให้คนโง่ฟังไม่ใช่ตรัสให้คนฉลาดฟังหรือว่าตรัสอย่างเอาความรู้สึกของคนธรรมดาเป็นหลัก คนธรรมดาคือคนที่กำลังหลง ฉะนั้นจึงพูดขึ้นเลยว่าเหล่านี้เป็นปิยรูปสาตรูปเพราะเป็นที่ตั้งแห่งความหลงของคนธรรมดาสามัญอยู่แล้ว เลยอยู่ในลักษณะที่กำลังมีอยู่ในหัวใจจิตใจของคนนั้นจริงๆด้วย ในใจของคนนั้นๆในเวลานั้น กำลังรู้สึกน่ารักรู้สึกรัก รู้สึกยินดีในสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปิยรูปสาตรูปคือมีรูปที่ให้เกิดความรักหรือเกิดความยินดี แล้วก็สำหรับคนโง่คนหลง ส่วนคนที่ไม่โง่ไม่หลงนั้นไม่ได้ตรัสว่าเป็นอะไรเพราะว่าคนที่รู้จริงถึงที่สุดแล้วจะไม่เกิดความรู้สึกรักหรือยินดีในสิ่งใดและก็ไม่ได้รู้สึกเกลียดชังสิ่งใดด้วย ทีนี้เมื่อมาพูดโดยส่วนเดียวว่าเป็นที่รักที่ยินดี มันก็เป็นภาษาคนพูดอย่างภาษาคน สำหรับคนธรรมดาที่กำลังมีความโง่ความหลง นี้เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจกันเสียชั้นหนึ่งก่อนจึงจะเข้าใจเรื่องต่อไปได้ ที่ว่าสิ่งที่ไม่น่ายินดีย่อมครอบงำคนโง่โดยรูปของสิ่งที่น่ายินดี สิ่งที่ไม่น่ายินดีก็หมายถึงธรรมชาติทั่วๆไป ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ายินดีแต่แล้วมันก็มาครอบงำจิตใจของคนโง่ได้ ในรูปของสิ่งที่น่ายินดี คำว่าโดยรูปของสิ่งที่น่ายินดีนี้มันบอกชัดอยู่แล้วว่ามันเป็นรูปที่คนโง่มอง ไม่ใช่รูปของความจริง แต่มันเป็นรูปที่คนโง่มอง จึงได้มองไปในแง่ที่ว่ามันน่ารักน่ายินดี รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ ระหว่างเพศ มีคนโง่ที่จะต้องมองไปในแง่ที่น่ารักน่ายินดีทั้งนั้น แต่ตามธรรมชาตินั้นมันไม่ได้มีความหมายอย่างไร ไม่น่ารักน่ายินดีแล้วก็ไม่น่าเกลียดน่าชังแต่ประการใดด้วยเพราะว่ามันเป็นสักแต่ธรรมชาติ แต่ว่าคนโง่จะไม่มองเห็นโดยเป็นธรรมชาติกลางๆชนิดนั้น จะมองเห็นแต่ในแง่ที่เป็นที่ตั้งแห่งความน่ารักน่ายินดีเสมอไป เพราะมีความหลงสำหรับที่จะหลงในลักษณะเช่นนั้นประจำอยู่ในจิตใจ เมื่อมีความหลงเป็นทุนสำรองอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ มันก็มองไปในทางที่ตรงกันข้ามเสมอ สิ่งที่ไม่มีรูปแห่งความน่ารักน่ายินดีมันก็มองไปในทางที่มีรูปแห่งความน่ารักน่ายินดี นี่แหละคือหนทางที่สิ่งเหล่านี้จะครอบงำจิตใจของคนโง่ สำหรับความสุขนั้นที่จริงมิได้มี มีแต่ความทุกข์กับความไม่ทุกข์เท่านั้น แต่คนโง่ก็จะต้องถือเอาความไม่ทุกข์นั้นเป็นความสุข ถ้าโง่มากกว่านั้นก็ถือเอาความรักความยินดีนั้นว่าเป็นความสุข สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์แก่บุคคลผู้มีความยึดถือ พอเข้าไปยึดถือก็เป็นความทุกข์ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็มีลักษณะที่ชวนให้น่ายึดถืออยู่ในรูปของสิ่งที่น่ารักน่ายินดีอยู่แล้วเพราะความหลงของคนโง่ คนโง่จึงรู้สึกไปในทางเป็นความสุข นี่เรียกว่าความทุกข์ย่อมครอบงำจิตใจของคนโง่ในรูปของความสุขคือมันมาในรูปของความสุขคือมาในรูปของรูปที่คนโง่เข้าใจว่าเป็นความสุข แต่แท้ที่จริงมันเป็นความทุกข์ คือมาสำหรับให้ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นทุกข์ แต่คนโง่ก็เข้าใจว่าเป็นความสุข ดังนั้นความทุกข์จึงครอบงำจิตใจของคนโง่ได้ในรูปของความสุขอย่างนี้เสมอไป พระบาลีบาทสุดท้ายมีว่าย่อมครอบงำจิตใจของคนโง่ หรือครอบงำคนโง่คือคนประมาท คนประมาทนี้ก็คือคนโง่ คำว่าประมาทนี้แปลเป็นไทยลำบากมันหมายถึงทั้งโง่ทั้งขี้เกียจ ทั้งไม่รู้ทั้งไม่ประสีประสาอะไรรวมถึงทั้งหมดนี้เรียกว่าคนประมาท สิ่งเหล่านี้ครอบงำคนประมาทได้ โดยรูปของความหลอกลวง เพราะความหลงของคนโง่นั่นเอง นี้ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยกันต่อไปก็คือว่าทำไมมันจึงครอบงำคนโง่ได้ ข้อนี้มันมีส่วนที่น่าคิดอยู่ว่าใครมันลวงใครใครมันหลอกลวงใคร ถ้าพูดตามตรงตามจริงไม่เข้าใครออกใครแล้ว ก็พูดได้ว่าตัวธรรมชาติแท้ๆตัวธรรมชาติล้วนๆนั้นไม่เป็นปิยรูปสาตรูปมันเป็นตัวของมันเองอย่างนั้น แต่แล้วคนโง่ไปรู้สึกว่าเป็นปิยรูปสาตรูปที่น่ารักน่ายินดี แล้วคนโง่ก็โง่ต่อไปอีกถึงกลับไปโทษว่าธรรมชาติเป็นผู้หลอกลวง ที่แท้ธรรมชาติไม่ได้หลอกลวงเพราะว่าธรรมชาติแท้ๆไม่เป็นปิยรูปสาตรูป มันเป็นต่อเมื่อคนโง่คนหลงเข้าไปคิดเข้าไปรู้สึกเอาเอง ธรรมชาติหลอกได้แต่คนโง่ โดยไม่เจตนาจะหลอกเพราะคนโง่ไปเข้าใจผิดต่อธรรมชาตินั้นๆแล้วไปหาว่าธรรมชาติหลอก คนโง่มันจึงโง่หลายซับหลายซ้อน ทำผิดทำชั่วแก่ตัวเองแล้วยังไปโทษคนอื่น เพราะฉะนั้นควรจะกลัวความโง่กันให้มากๆ เพราะว่ามันเป็นไปได้มากถึงอย่างนี้ ธรรมชาติไม่ได้หลอกลวงเพราะว่าหลอกลวง ส่วนคนที่มีปัญญาไปเห็นธรรมชาติอย่างเดียวกันก็ไม่รู้สึกว่าน่ารักหรือน่ายินดีอย่างนี้ที่เรียกว่าธรรมชาติหลอกลวงหรือความโง่ของตนเองหลอกลวง ตั้งปัญหาขึ้นมาสั้นๆว่าธรรมชาติลวงหรือว่าตนมันลวงตัวเอง ตัวเองมันลวงตัวเอง ถ้าคิดให้เข้าใจแล้วก็จะเข้าใจพระพุทธภาษิตนี้ และรู้จักความที่ตัวเองได้เป็นมาอย่างไรตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ แล้วก็จะได้เกิดความรู้สึกละอายหรือกลัวเป็นลำดับไป และเมื่อพ้นไปจากความโง่ความลวงอันนี้ได้แล้ว ก็พอจะมีช่องทางที่จะล้อตัวเองหรือล้อชีวิตหรือล้ออายุกันได้บ้าง ไม่ตกเป็นคนโง่ไปตลอดกาลเสียทีเดียว นับว่าเป็นปัญหาที่น่าคิดอยู่ เอาล่ะเราจะพิจารณาดูถึงปัญหาที่ตั้งขึ้นมานี้ว่าจะมีคำถามขึ้นมาว่าธรรมชาติลวงคน หรือว่าคนลวงตัวเอง ให้คนตอบคนโง่ตอบ ตามภาษาคน มันก็คงจะชิงตอบว่าธรรมชาติลวงเราธรรมชาติหลอกเรา แต่ถ้าพูดตามภาษาธรรมของคนที่มีความรู้ธรรมแล้วเขาก็ยังตอบว่าตัวเองต่างหากมันหลอกลวงตัวเอง หลักเกณฑ์อันนี้ใช้ได้ทั่วไปกับทุกสิ่งทุกอย่างคือสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ กระทั่งที่มันไม่เกี่ยวกันกับความโง่หรือความฉลาดในทางศาสนา แม้ในเรื่องทางวัตถุธรรมดาแท้ๆที่ปรากฎอยู่แก่สายตาของมนุษย์นี้ก็ยังเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันอยู่มากคือตามธรรมดาของคนธรรมดาสามัญนั้น พูดไปตามความรู้สึกที่เป็นผลของการถูกลวง แล้วมันจึงเกิดภาษาขึ้นมาอีกภาษาหนึ่งคือเป็นภาษาของคนถูกลวง ก็ยังพูดว่าเกลือมันเค็ม น้ำตาลมันหวานหรือเปล่า คนธรรมดาก็พูดว่าเกลือมันเค็มน้ำตาลมันหวาน แต่ว่าคนที่ผิดธรรมดาหรือมีความรู้อะไรมากไปกว่าธรรมดาก็จะมองไปในแง่ที่ว่ามันเค็มหรือมันหวาน อยู่ที่ลิ้นของเราไปรู้สึกแล้วสมมุติว่ามันเค็มหรือหวานต่างหาก มันอาจจะไม่เค็มไม่หวานสำหรับลิ้นชนิดอื่น แม้จะเป็นลิ้นของคนนี่แหละถ้ามันอยู่ในสภาพอย่างอื่นมันวิปริตผิดไปอย่างอื่น เกลือก็ไม่เค็มน้ำตาลก็ไม่หวาน ไม่เค็มหรือหวานไม่ควรจะอยู่ที่น้ำตาลหรือที่เกลือแต่มันอยู่ที่ลิ้นของคน ที่มันไปรู้สึกแล้วสมมุติว่าอย่างไรนั้นต่างหาก อย่างนี้มีอยู่ทั่วไปในทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่เรื่องแดดออกลมพัดอย่างนี้ ถ้าดูให้ดีมันก็เป็นเรื่องที่ใจรู้สึกทั้งนั้น จิตใจของคนเคลื่อนไหวไปตามนั้นหรือว่ารู้สึกร้อนไปตามนั้น มันจึงสำเร็จความหมายเป็นว่าลมพัดหรือแดดร้อนหรือของปลิวไปตามลม ของเหี่ยวไปตามแดดหรืออะไรก็ตาม แล้วเราก็ไปยกให้ลมให้แดดให้เกลือให้น้ำตาลให้อะไรไปเสียหมด ไม่มามองดูที่ความโง่ความหลงของตัวเอง ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจเป็นต้น ต่อเมื่อใดเมื่อมีความรู้ทางธรรมะถูกต้องแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าธรรมชาติมันก็สักแต่ว่าธรรมชาติ คนเราจะไปรู้สึกว่าน่ารักน่าพอใจไม่น่ารักหรือไม่น่าพอใจนั้นมันเป็นเรื่องของคนไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ ธรรมชาติแสดงลักษณะตรงตามลักษณะเฉพาะของมันและอย่างเดียวเท่านั้น แต่ละคนไปรู้สึกเอาเป็นสองอย่างคือน่ารักบ้างไม่น่ารักบ้าง น่าพอใจบ้างไม่น่าพอใจบ้าง ธรรมชาติแสดงออกมาอย่างเดียวเท่านั้น ตามลักษณะเฉพาะของมันไม่ว่าอะไร แต่คนโง่ก็เห็นไปอีกอย่างหนึ่งคนฉลาดก็เห็นไปอีกอย่างหนึ่ง และคนโง่ก็มักจะเห็นเป็นของคู่เสมอคือน่ารักหรือไม่น่ารัก น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ เป็นคู่กันอยู่อย่างนี้ แต่คนฉลาดจะเห็นว่าไม่น่าอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นคนฉลาดจึงไม่มีความทุกข์ เพราะไม่ถูกครอบงำด้วยสิ่งเหล่านี้ ในรูปที่เป็นความหลอกลวง นี่แหละคือความเป็นพระอริยเจ้าที่แตกต่างจากความเป็นคนธรรมดาสามัญ มนุษย์จึงเป็นคนโง่คนเขลาคนหลงอยู่เรื่อยๆไปจนกว่าจะมีความฉลาด เข้าไปในเครือในเขตของพระอริยเจ้าที่พระพุทธเจ้าท่านเป็นจอมของพระอริยเจ้า ท่านอุตส่าห์เอามาบอกว่าสิ่งที่ไม่น่ายินดี ครอบงำคนโง่โดยรูปของสิ่งที่น่ายินดี ที่ไม่น่ารักก็ครอบงำคนโง่โดยรูปของสิ่งที่น่ารัก ที่เป็นทุกข์ก็ครอบงำคนโง่โดยรูปของสิ่งที่เป็นสุข ถ้าเราจะสมัครไปเป็นคนโง่ต่อไปมันก็ไม่มีปัญหาอะไร เราก็จะต้องได้ยินดียินร้ายด้วยอำนาจของความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ ตามความรู้สึกของตนไปเรื่อยๆ แล้วก็ยกหูชูหาง ว่าเราเป็นผู้สมบูรณ์ไปด้วยสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ เราเป็นคนมีโชคดีกว่าใคร เราสามารถที่จะเอาสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ในกำมือของเรา ทั้งที่โดยที่แท้แล้วตัวเองต่างหากเป็นทาสเป็นขี้ข้าและอยู่ในกำมือของสิ่งที่หลอกลวงนั้นโดยสิ้นเชิง ทีนี้เราดูกันต่อไปว่าเราจะโง่กันไปอีกสักกี่ปี เดี๋ยวนี้เราก็มีอายุกันคนละหลายสิบปีแล้ว แล้วจะโง่กันต่อไปอีกสักกี่ปีจึงจะหายโง่คือจะรู้จักเท่าทันธรรมชาติและธรรมชาติก็จะหยุดเล่นตลกกับเรา เราหยุดโง่ธรรมชาติก็หยุดเล่นตลกกับเรา ถ้าเรายังโง่เราก็เล่นตลกกับตัวเองเพราะไม่รู้จักไม่รู้เท่าทันโดยธรรมชาติอยู่เพียงนั้น ที่ถามว่าจะมีอายุต่อไปอีกสักกี่ปีจึงจะหายโง่นี้ มันต้องถูกย้อนถามว่าอายุชนิดไหนกัน เพราะว่าอายุนั้นมันมีสองชนิดอายุทางเนื้อหนังมันก็อย่างหนึ่ง อายุทางวิญญาณคือทางสติปัญญามันก็อีกอย่างหนึ่ง เอาอายุชนิดไหนกันเป็นหลัก อายุทางเนื้อหนังนั้นเป็นอายุของร่างกาย มันก็ล่วงไปเองหรือมากขึ้นเองวันหนึ่งเดือนหนึ่งปีหนึ่ง ไม่ต้องทำอะไรมันก็ล่วงของมันไปเอง มันมีอายุของมันเพิ่มขึ้นมาได้เอง อายุทางเนื้อหนังชนิดนี้มันไม่แน่เอาแน่ไม่ได้ ที่ว่าเอาแน่ไม่ได้เพราะว่าจะมีอายุไปสักกี่ปีอีกกี่สิบปีกี่ร้อยปีกี่หมื่นปีจึงจะหายโง่ มันเอาแน่ไม่ได้แต่ว่าโดยมากนั้นถ้าเป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว พออายุมากเข้าสักหน่อยก็จะเริ่มลืมตาเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่ถูกที่ควรได้บ้างว่าได้ผ่านโลกมามากผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชนหนึ่งอย่างเต็มที่พอแก่เข้าก็พอจะรู้สึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร นี่ก็คนแก่ๆก็พอจะรู้อะไรได้บ้างแต่ก็ไม่เสมอไปแก่เสียเปล่าไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างนี้ก็มีอยู่ แต่ถ้าตามธรรมดาแล้วมันก็ควรจะรู้อะไรบ้างเพราะว่าธรรมชาตินั้นเองมันเป็นอาจารย์มันสอนให้ จะถามคนแก่ๆดูว่าเกิดมาเป็นพ่อเป็นแม่เขานี่มันสนุกไหม คงจะสั่นหัวแล้วก็พูดไม่ออก เพราะรู้สึกอยู่เต็มอกว่ามันไม่น่าสนุกเลย แต่แล้วทำไมถึงได้เป็นพ่อเป็นแม่เขาเล่าเพราะว่าทีแรกนั้นมันไม่รู้เมื่อยังเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้นไม่สำนึกเลยว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ของเขานี้มันไม่ไหว มันจึงได้เป็นและได้เป็นมาจนถึงทุกเวลานี้ เอ้าก็รู้ว่ามันไม่ไหวแล้วก็สั่นหัวอย่างนี้จะไม่เรียกว่าคนแก่นั้นรู้อะไรบ้างได้อย่างไร คนแก่ได้ผ่านอะไรมามากก็ย่อมจะรู้สิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องมีใครสอนนอกจากธรรมชาติ ธรรมชาติมันสอนอย่างนี้ ว่าคนธรรมดาสามัญก็พอจะรู้อะไรได้บ้าง แต่ว่าจะรู้หมดหรือไม่หมดนั้นมันไม่แน่แล้วมันก็ยังไม่แน่บางคนอาจจะไม่รู้เอาเสียเลยเป็นเด็กอมมือเข้าโลงไป เป็นเด็กอมมือเข้าโลงไปนี่ไม่ได้หมายความว่ามันตายตั้งแต่แรกคลอด มันอยู่มาอายุ ๗๐ ปี ๘๐ ปี ๙๐ ปีแล้ว มันก็ยังเป็นเด็กอมมือเข้าโลงไป นี่เด็กอมมือชนิดนี้ก็หมายความว่ามันไม่รู้อะไรมีแต่ค่าเท่ากับเด็กอมมือ เมื่อเป็นเด็กอมมือหลงอย่างไรเดี๋ยวนี้อายุตั้งเจ็ดแปดสิบปีแล้วก็ยังหลงอย่างนั้น จึงให้นามเขาว่าเป็นเด็กอมมือเข้าโลงไป นี่เรียกว่าอายุทางเนื้อหนังมันเป็นอย่างนี้ มันอาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้ แต่ตามปกติมันก็ควรจะมีอายุมากเข้ามีสติปัญญาเพิ่มขึ้นมันก็พอจะรู้อะไรได้บ้างแล้วก็เป็นชนวนให้รู้ต่อไปข้างหน้า ซึ่งเป็นความรู้ในทางสติปัญญาความรู้ที่เกิดขึ้นทางสัญชาติญาณหนักๆเข้ามันก็เป็นความรู้ทางสติปัญญาไปได้เหมือนกัน ถ้าเอาอายุทางเนื้อหนังเป็นเกณฑ์ไม่อาจจะตอบได้ ว่าเมื่อไรจึงจะหายโง่กันสักที แต่ถ้าเอาอายุทางสติปัญญาหรือทางวิญญาณเป็นหลักแล้ว มันคงจะไม่กี่ปีนัก คนที่มีสติปัญญานี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนแก่เสมอไปเป็นคนอายุน้อยๆก็ได้ ในตำนานทางพระพุทธศาสนานี้มีเล่ากันไว้ว่ามีพระอรหันต์อายุ ๑๕ ปี ตั้ง ๗-๘ องค์ คือใครบ้างก็จำไม่ได้ แล้วก็ไม่ค่อยจะได้สนใจ แต่ว่าถ้ามานึกดูคิดดู พิจารณาดูโดยเหตุผลแล้วมันก็อาจเป็นได้ คือว่าถ้าเขาเฉยได้ต่อธรรมชาติทั้งปวง ไม่มีอะไรที่น่ารักน่ายินดีแล้ว แม้อายุ ๑๕ ปีก็เป็นพระอรหันต์ได้ ฉะนั้นจงระวังไอ้เรื่องสิ่งที่น่ารักน่ายินดีนั้นแหละให้มาก จะเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์กันก็ที่ตรงนั้น และสติปัญญาอย่างแท้จริงแหละสูงสุดมันก็อยู่ที่ตรงนั้น ไม่ใช่ไปเรียนมหาวิทยาลัยมาจากเมืองนอกเมืองนา มีปริญญายาวเป็นหางเฟื้อยอย่างนี้จะเรียกว่ามีสติปัญญาอย่างนี้มันคนละเรื่องกัน อย่างนั้นมันเป็นสติปัญญาสำหรับโง่ เป็นความรู้สำหรับให้โง่ให้หลงยึดมั่นถือมั่นได้มากกว่าคนธรรมดา จึงไม่เรียกว่าสติปัญญาตามแบบของพระอริยเจ้า เป็นสติปัญญาตามแบบของคนที่อยากจะโง่ให้มาก เสียเวลาให้มาก เหนื่อยให้มาก เรียนให้มาก แล้วก็เก่งให้มากด้วย แล้วก็จะได้ยกหูชูหางมาก อย่าเอามาปนกันกับสติปัญญาในทางศาสนาของพระอริยเจ้า ผู้ใดมีสติปัญญาอย่างถูกต้องตามทางศาสนาของพระอริยเจ้าแล้วก็เรียกว่าเขามีอายุทางวิญญาณ คือมีวิญญาณคือมีอายุทางวิญญาณ ไม่ใช่อายุทางเนื้อหนังเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สติปัญญานี้ไม่ใช่จิตชนิดที่ มันเป็นทาสของเนื้อหนัง จิตที่ไปลุ่มหลงในความน่ารักน่ายินดีของเนื้อหนังจิตชนิดนั้นไม่ใช่สติปัญญา ถ้าเป็นสติปัญญาก็เป็นสติปัญญาของคนโง่ นี่สติปัญญาแท้จริงไม่ใช่จิตชนิดนั้นแล้วมันก็ไม่ใช่จิตด้วย มันเป็นคุณสมบัติของจิตที่อบรมดีแล้ว จนไม่เป็นจิตธรรมดา มันจึงเป็นสติปัญญาที่รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ใครมีอย่างนี้มากคนนั้นเรียกว่ามีอายุทางวิญญาณมาก จะถามว่ากี่ปี กี่ปีก็ได้เพียง ๑๕ ปีอย่างที่ว่ามาแล้วนั้นก็ได้ เลยกลายเป็นหนุ่มน้อยที่ลอยขึ้นเหนือโลกอย่างนี้ก็ได้ ไม่ใช่เด็กอมมือเข้าโลง แต่เป็นคนหนุ่มน้อยสาวน้อยอะไรก็ได้ที่ลอยขึ้นไปเหนือโลก คือเหนือสิ่งหลอกลวงเหล่านี้ เหนือรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความหลอกลวงเหล่านี้ ทีนี้คนชนิดนี้ไม่มีอะไรครอบงำเขาได้ สิ่งที่ไม่น่ายินดีจะมาครอบงำเขาโดยรูปแห่งสิ่งที่น่ายินดีอย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มีความหมายที่ว่าน่ายินดีหรือน่าเกลียดน่าชังแก่คนเหล่านี้เสียแล้ว ถ้าเอาอายุทางวิญญาณอย่างนี้เป็นหลักแล้ว มันก็มีหลักเกณฑ์ไปเป็นอย่างอื่น แล้วแต่ว่าสติปัญญานั้นมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรหรือเท่าไร ถ้าทำให้ดีก็อาจจะเกิดขึ้นได้ใน ๑๕ ปีในอายุเพียง ๑๕ปี แต่เดี๋ยวนี้มันไปพ้นกันไปหมดแล้ว เห็นไหมว่าเราที่นั่งกันอยู่ที่นี่ล้วนมีอายุกันคนละหลายสิบปี แล้วจะทำอย่างไรกัน มันจะเป็นหนุ่มน้อยลอยขึ้นเหนือโลกนั้นดูไม่มีหวังแล้ว เว้นเสียแต่จะพูดกันอีกอย่างหนึ่งตามภาษาทางวิญญาณ ว่าเราจะเป็นหนุ่มเป็นสาวก็หมายถึงความสดชื่นไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นคนที่อายุตั้ง ๘๐ ปีแล้วที่มีความสดชื่นไม่มีความทุกข์ก็ควรจะเรียกว่าคนหนุ่มคนสาว ทีนี้คนหนุ่มคนสาวจริงๆอายุไม่กี่ปีนี้แต่เป็นคนโง่นั้นก็เรียกว่าเป็นคนแก่คร่ำคร่าได้แล้วเหมือนกัน เป็นคนแก่ชราคร่ำคร่าทรุดโทรมแล้วได้เหมือนกัน ทั้งที่มีอายุ ๑๔-๑๕ ปี ภาษาคนกับภาษาธรรมมันต่างกันอย่างนี้ ภาษาทางเนื้อหนังภาษาทางวิญญาณมันต่างกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคำว่าเด็กอมมือก็ดี คำว่าหนุ่มน้อยก็ดี มันมีความหมายกันอยู่เป็นสองอย่าง อายุอานามนั้นไม่เป็นหลักเกณฑ์อะไรนัก เอาที่คุณสมบัติที่มีอยู่ ถ้ามีคุณธรรมก็พ้นจากความเป็นเด็กอมมือ แม้อายุมากแล้วก็ยังเรียกว่าหนุ่มน้อยที่ไม่รู้จักแก่ เป็นหนุ่มเป็นสาวที่ไม่รู้จักแก่ได้ก็เพราะเหตุนี้ ซึ่งเป็นความหมายของนิพพาน นิพพานคือความเป็นหนุ่มเป็นสาวสดชื่นเบิกบานที่ไม่รู้จักแก่ เดี๋ยวนี้คนเรามันแก่แล้วก็ยอมรับกันว่าแก่แล้วก็พูดกันถึงความแก่ ความแก่ทางเนื้อหนังเป็นส่วนใหญ่ เพราะมันโง่ไปดูแต่ที่ร่างกายหรือเนื้อหนัง เห็นผมหงอกบ้างเห็นฟันหักบ้าง เห็นหนังเหี่ยวย่นบ้างเห็นอะไรๆไปตามลักษณะของคนแก่ แล้วก็เรียกว่าแก่อย่างนี้ก็มี นั้นมันไม่ถูก ที่ถูกต้องเอาคุณธรรมในใจเป็นหลักถ้าแก่ก็ต้องแก่ด้วยคุณธรรม ถ้าแก่แต่เนื้อหนังก็เลิกพูดกันเสียดีกว่า มันไม่มีความหมายอะไรในที่นี้ในคำสอนชนิดนี้ของพระพุทธเจ้า ความแก่ทางเนื้อหนังดูมันก็จะเรียกว่าแก่แดด เพราะว่าถูกแดดมากเข้ามากเข้ามันก็แก่ได้เหมือนกัน หรือว่าแดดมันทำให้แก่เร็วเกินไป อย่างแก่แดดอย่างนี้มันก็หมายความว่าไม่มีคุณสมบัติอะไรดี สมกับความแก่ บางทีก็เรียกว่าแก่แรด คืออายุมากแล้วมันก็ยังโง่เหมือนแรด แก่แดดนั้นแสงแดดมันทำให้แก่มันแก่ไปได้เองตามที่มันถูกแดดมากๆ แต่ว่าแก่แรดนี้มันเป็นคนโง่เป็นคนหัวรั้นเป็นคนหัวดื้อ มันแก่เพราะความโง่แต่อย่างไรก็ตามแก่แดดแก่แรดแล้วมันล้วนแต่ไม่มีความรู้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ความแก่ตามทางวิญญาณ ถ้าดูให้ดีแล้วแม้แก่การศึกษามันก็เป็นเพียงการแก่แดดแก่แรดได้เหมือนกัน คนที่เรียนอะไรได้มาก รู้อะไรได้มาก ท่องอะไรได้มาก พูดอะไรได้เก่ง เทศน์เก่ง อธิบายเก่ง มันก็อาจจะเป็นเพียงแก่แดดแก่แรดก็ได้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้การศึกษามันเจริญทำให้คนเก่งในการศึกษา การพูดจา ไปตามความจำ ความคิดความนึกการใช้เหตุผลตามวิธีที่อบรมมา แต่แล้วก็ไม่มีความรู้ที่แท้จริงอยู่ในนั้น ก็ต้องเรียกว่าแก่แดดแก่แรดอยู่ดี แต่เป็นแก่แดดแก่แรดทางวิญญาณ แก่แดดแก่แรดทางธรรมดาทางเนื้อหนังนั้นก็คือไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไร แล้วก็ไม่มีความรู้นี่แก่แดดแก่แรดในทางวิญญาณนี้ศึกษามากแล้วยิ่งโง่ ยิ่งศึกษายิ่งโง่ยิ่งเรียนพระไตรปิฎกยิ่งไม่รู้พระพุทธศาสนา เพราะไปเรียนพระไตรปิฎกในแง่ของวรรณคดี ของอักษรศาสตร์ ของปรัชญา สำหรับพูดเก่งคิดเก่งไปเสียทั้งนั้น ยิ่งเรียนพระไตรปิฎกก็ยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา เพราะเหตุนี้ เขาไม่เคยเรียนชีวิตจิตใจ รูปธรรมนามธรรมโดยตรง ไม่รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้เรื่องความยึดมั่นถือมั่น เรียนมากจบพระคัมภีร์แล้ว ก็ยังไปหลงรักหลงยินดี ในสิ่งที่มาหลอกให้รักให้ยินดีอยู่นั่นเอง นั้นเรียนพระไตรปิฎกจบแล้วก็ยังเป็นคนแก่แดดแก่แรดอยู่ได้เหมือนกัน นี้มันเอาแน่ไม่ได้ มันเอาแน่ได้อยู่ตรงที่ว่าจิตใจนั้นเป็นอย่างไร นี่แหละถ้าจะมีใครถามขึ้นว่าเราจะมีอายุกันสักกี่ปีจึงจะรู้เท่าทันธรรมชาติ และธรรมชาติจะหยุดลวงเรา อาตมาเห็นว่าเราไม่อาจจะตอบได้ว่ากี่ปี เพียงแต่ขอให้มีความแก่ในทางวิญญาณกันบ้างสักหน่อยหนึ่งเถิด มันก็จะรู้เท่าทันธรรมชาติ และหยุดลวงเราได้ ทีนี้ถ้าเป็นนักคำนวณมันก็มีทางที่จะคำนวณ ว่าถ้ามีสติปัญญามีความสูงทางวิญญาณอยู่บ้างแล้ว เกิดมาอายุเพียง ๑๕ ปีก็จะเท่ากับคนที่มีอายุ ร้อยปี พันปี แสนปีก็ได้ หรือว่าคนที่มีอายุทางเนื้อหนังเจริญไปตามลำดับตามสัดส่วนของความเจริญทางเนื้อหนังต้องมีอายุตั้งพันปี หมื่นปี แสนปีจึงจะมีความรู้เท่ากับเด็กคนนี้ซึ่งมีอายุเพียง ๑๕ ปี เพราะว่าเขามีอายุทางวิญญาณคือทางสติปัญญา เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องที่จะพูดกันปีๆนี้มันก็เอาแน่ไม่ได้อีก อายุหกสิบปีอาจจะมีค่าเท่ากับสองสามปีก็ได้ ถ้ามันรู้อะไรน้อยเกินไป หรือมันอาจจะมีค่าเท่ากับมีอายุแสนปีล้านปีก็ได้ เพราะมันรู้อะไรมากเท่ากับคนที่มีอายุอยู่ตั้งแสนปีล้านปี เขาได้รู้กันนั่นแหละอย่าไปเอาปีที่ฝนตกครั้งหนึ่งปีหนึ่งมาเป็นหลักเลย มันเป็นฤดูฝนตามธรรมชาติอันหนึ่ง สำหรับเป็นเครื่องวัดอะไรๆทางวัตถุเท่านั้น จะมาใช้วัดทางสติปัญญานั้นไม่ไหวไม่ได้ นี่เราจะล้ออายุกันได้เมื่อเรามีอายุได้สักเท่าไรเราตอบไม่ได้ เรารู้จักอายุดีเมื่อไรเราก็ล้ออายุเมื่อนั้นได้ ที่เราเองมีอายุเท่านี้แล้วกำลังแก่แดดหรือกำลังแก่แรดหรือกำลังอะไรก็ควรจะรู้กันบ้าง ถ้ารู้ว่ามันแก่แดดก็ควรจะล้อมันบ้างว่ามันแก่แดดเสียเรื่อย อย่างนี้ก็ยังดีกว่าจะไม่รู้จักล้อเสียเลย มันยังเป็นผู้ไม่ประมาทได้นิดหนึ่งที่รู้จักล้อตัวเองว่าอายุแปดสิบปีแล้วมันยังช่างแก่แดดเสียเรื่อย แล้วก็เยาะมันต่อไปว่ามัวแต่แก่แดดอยู่เรื่อยไป มีพรรษาอายุถึงขนาดนี้แล้ว ที่เรียกว่าพรรษานี้หมายถึงพระเณร ที่เรียกว่าอายุนี้หมายถึงชาวบ้าน มีพรรษาอายุถึงขนาดนี้แล้วมันมัวแก่แดดแก่แรดอยู่เรื่อย จะเห็นเรื่องปากเรื่องท้องอยู่เรื่อย ไปมัวยกหัวชูหางอยู่เรื่อย ควรจะล้อมันอย่างนี้ว่าจะแก่ไปถึงไหนกันโว้ย ยังแก่ไม่พออีกหรือ ยิ่งเรียนยิ่งไม่รู้หรือเปล่า ยิ่งเรียนยิ่งรู้มากยากนานหรือเปล่า ตายกันเสียทีจะดีกว่าละกะมัง นี่ลองคิดทบทวนดูอย่างนี้ในการที่จะล้ออายุที่มันแก่แดดหรือแก่แรด แล้วมันก็จะได้เคลื่อนไหวขยับตัวขมีขมันไปในทางที่จะแก่ในทางสติปัญญาได้บ้าง แรกๆก็ล้อไปอย่างนั้น ในขั้นปลายๆก็ล้อว่าเฮ้ยดูให้ดี ธรรมชาติลวงหรือว่าเรามันลวงตัวเราเอง อยากจะเป็นตัวกูของกูที่ดีวิเศษไปถึงไหนกัน ในโลกนี้ไม่มีที่ที่หมาขี้เรื้อนจะนอนสงบสุขได้ใช่ไหม เลิกเป็นหมาขี้เรื้อนกันเสียทีจะดีไหม ขืนเป็นหมาขี้เรื้อนอยู่เรื่อยมันก็ไม่พบที่ที่จะนอนเป็นสุขได้ นี่แหละอายุมันก็จะได้พิจารณาตัวมันเองกันเสียที แต่ถ้าเป็นอายุทางฝ่ายเนื้อหนังมันก็จะดื้อมันก็จะเถียงว่ากูไม่อยากพูดกับมึงกูไม่อยากเห็นหน้ามึง มึงอย่ามาล้อกูให้เสียเวลาเลย กูอยากจะอยู่คู่โลกไปอย่างนี้ นี้มันก็เป็นเรื่องที่พูดกันไม่รู้เรื่อง การล้ออายุชนิดที่แก่แดดแก่แรดนี้มันคงจะไม่มีผลอะไรนัก เว้นเสียแต่ว่ามันจะหมุนมาในทางสติปัญญามองเห็นขึ้นทีละนิดทีละหน่อยตามที่เป็นจริง ว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้จริง แล้วมันก็จะรู้สึกละอายขึ้นมาบ้าง และพบค้นหาให้พบที่ที่มันพอจะนอนสงบได้บ้างไม่ตายเปล่า เดี๋ยวนี้มีอาการเหมือนกับสุนัขขี้เรื้อนแล้วก็ไปโทษที่นอน คนโดยมากมีอาการเหมือนสุนัขขี้เรื้อนแล้วก็ไปโทษที่นอน เมื่อนอนตรงนี้ไม่สบายลุกขึ้นไปนอนตรงโน้นเถิดแล้วมันก็ไม่สบายอีกก็ลุกขึ้นไปนอนตรงโน้นเถิด วันหนึ่งไม่รู้ว่าเปลี่ยนที่นอนสักกี่หนกี่สิบหนกี่ร้อยหน มันไม่รู้ว่าเพราะมันมีขี้เรื้อนอยู่ที่ตัวมันต่างหาก ที่ทุกหนทุกแห่งมันจึงนอนไม่สงบ นอนไม่เป็นสุข นี้หมาขี้เรื้อนทางวิญญาณในโลกนี้มีอยู่มากในที่นี้ อะไรๆไม่เป็นที่พอใจได้ มีความลังเลหรือวิตกกังวลอยู่เสมอไป ทำบุญอย่างนี้ก็ช่วยไม่ได้ทำบุญอย่างโน้นดูบ้างมันก็ช่วยไม่ได้ ดูอย่างโน้นดูอย่างนี้ดูอีกมันก็ยังช่วยไม่ได้ อาการอย่างนี้ก็ควรจะเรียกว่าเป็นหมาขี้เรื้อนที่หาไม่พบที่นอนที่จะสงบได้ แล้วก็กำลังเป็นกันอยู่อย่างมากๆจนลำบากเรื่องที่อยู่เรื่องแบบของการครองชีวิต หรือการเป็นอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยท่าเดียว ส่วนเดียวมากเกินไปต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ไปเสียเรื่อย ไม่มีอะไรที่ดีที่จะเป็นที่น่าพอใจ ตัวกูของกูมันไม่มีที่สิ้นสุดในการที่จะยกหูชูหาง ไม่รู้ว่าจะยกหูชูหางชนิดไหนจึงจะเป็นที่พอใจจึงจะหยุดกันได้สักที เพราะเหตุนี้มันก็ยกหูชูหางได้เรื่อยไม่มีที่สิ้นสุดจนกระทั่งเป็นเด็กอมมือเข้าโลงไป เป็นเด็กอมมือที่เน่าเข้าโลงไปทั้งที่อายุตั้งหลายสิบปีแล้ว พอมาดูกันในแง่นี้มันก็มีลู่ทางขึ้นมาทันทีที่จะล้อหมาขี้เรื้อนคือตัวเอง ถ้าขยันล้อให้ถูกวิธีขี้เรื้อนมันอาจจะหายไปได้ เพราะว่าไอ้การล้อที่ถูกวิธีมันเป็นยารักษาโรค คำว่าโยนิโสมนสิการทำในใจโดยแยบคายนี้ ก็คืออุบายอันหนึ่งที่เรียกว่าล้อตัวเองในที่นี้ ล้ออายุล้อเนื้อหนังล้ออายุทางเนื้อหนัง เป็นผู้มีโยนิโสมนสิการอย่างดี ตั้งอกตั้งใจทำในใจเป็นอย่างดี พินิจพิจารณาดูให้เป็นอย่างดีนับตั้งแต่เกิดมาในโลกนี้ตั้งแต่อ้อนแต่ออกตั้งแต่จำความได้ว่ามาถึงบัดนี้มันเป็นอย่างไร มันเห็นแต่การยกหูชูหางเรื่อยไปอย่างนั้นหรือเปล่า มันมีส่วนไหนบ้างที่นอนสงบโดยไม่ต้องยกหูชูหาง แล้วมันก็ไม่มีทางที่จะพบได้ว่าไอ้โรคเรื้อนนี้มันก็คือโรคยกหูชูหางไม่มีโรคอะไรที่จะหายยากเท่าโรคนี้คือโรคยกหูชูหาง แล้วก็ถ้าลงมีกันแล้ว มันก็ไม่มีที่ไหนที่จะนอนเป็นสุข ดังนั้นขอให้พิจารณาดูว่าตั้งแต่เกิดมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกนี้เคยมีเวลาไหนบ้างที่มันเป็นชั่วโมงไหนบ้างที่นอนเป็นสุขหรือว่าสงบ มันมีแต่เรื่องอยากดีอยากเด่นอยากเก่งอะไรไปเสียทั้งหมด แล้วก็ไม่เคยพอใจ เพราะว่ามันไม่ได้เก่งจริงหรือมันไม่ดีจริง มันก็ไปหลงนั่นหลงนี่อยู่เรื่อยไปแล้วก็เปลี่ยนไปตามลำดับ เป็นเรื่องที่ว่าแก่แดดแก่แรดไปตามภาษาคน ไม่ใช่แก่ด้วยสติปัญญาไปในทางภาษาธรรม มันมีแต่ความอยากเรื่อย ก็มันมีปัญหาเรื่อย ความแก่นี้ก็เป็นปัญหาเรื่อย เพราะมันมีมูลมาจากความอยากในสิ่งที่น่ารักน่ายินดีนั่นเอง สิ่งที่เรียกว่าปิยรูปสาตรูปจำนวนมากมายถึง ๑๐ ประเภทและ ๖๐ อย่างนั้น มันมีมากเกินไปมันมีให้สับเปลี่ยนกันมากเกินไปจนไม่รู้จักเบื่อ เบื่ออย่างนี้ก็ไปติดอย่างโน้น เบื่ออย่างโน้นก็ไปติดอย่างโน้นต่อไปอีก เรียกว่าปิยรูปสาตรูปไม่เคยสิ้นสุด อย่างนี้มันก็แก่แดดแก่แรดกันเรื่อยไป จะหยุดแก่กันเสียสักทีมันก็ต้องหยุดที่ความอยาก ถ้าเห็นว่าอะไรที่ไม่น่ารักน่ายินดีนั่นแหละมันจะหยุดอยาก ถ้ายังมีอะไรน่ารักน่ายินดีอยู่อีกอยู่เรื่อยไปแล้วมันก็ไม่มีทางที่จะหยุดความอยากเสียได้ มันก็ต้องแก่แดดแก่แรดเรื่อยไป ไม่มีวันที่จะพบกับจุดหมายปลายทาง มีสิ่งที่น่ารักน่าพอใจอยู่เรื่อยมันก็อยากเรื่อยมันก็แก่แดดอยู่เรื่อย เมื่ออย่างนี้วัฏสงสารมันก็ยืดยาว นี่วัฏฏะ วัฏสงสารมันก็ยืดยาวไม่มีที่สิ้นสุด มันเรียกว่าวัฏสงสารนี้ยืดยาว มีที่สุดในเบื้องต้นในเบื้องปลายอะไรไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนมันยืดยาวถึงขนาดนี้ ส่วนความสงบหรือนิพพานนั้นไม่มีที่จะแสดงตัวออกมาเลยหายเงียบไป ฉะนั้นขอให้พิจารณาสิ่งที่น่ารักน่าพอใจนี้แหละให้มาก ว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ มันลวงเราหรือว่าเราลวงตัวเอง เมื่อเกิดความรักความพอใจในสิ่งใดในวัตถุใด ในสัตว์สังขารเหล่าใดขึ้นมาแล้วก็ดูให้มากว่าเรากำลังลวงตัวเราเองหรือเปล่า ในที่สุดก็จะไม่ไปโทษธรรมชาติว่าธรรมชาติลวงเรา ธรรมชาติไม่ได้ลวงใครแต่เรามันลวงตัวเอง โดยเข้าใจผิดต่อธรรมชาตินั้น ก็เลยเห็นว่าไม่มีอะไรน่ารักน่าพอใจก็หยุดอยากเสียได้ เมื่อหยุดความอยากชนิดนี้จนได้ อะไรๆมันก็หยุดหมด หยุดเป็นโรคเรื้อนหยุดยกหูชูหางหยุดอะไรต่างๆได้หมด พอหยุดอย่างนี้ ไอ้ที่เรียกว่าวัฏสงสารมันก็หดตัวเข้ามาเอง ไอ้วัฏสงสารที่แสนยืดยาวมีความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุดนั้นมันก็จะหดตัวเข้ามาเอง หดตัวเข้ามาเท่าไร นิพพานก็จะแสดงตัวออกมามันจะยืดตัวออกไปแทน นิพพานก็จะยืดตัวออกไป วัฏสงสารก็จะหดตัวเข้ามา โอกาสแห่งการที่จะนิพพานจะยืดตัวออกไปมันก็มี มันก็ยืดออกไปจนเป็นนิพพานจริง หรือเป็นนิพพานถาวร การพูดอย่างนี้คนที่เคยเรียนมาอย่างอื่นจะไม่เชื่อ เพราะเขาเอานิพพาน กับวัฏสงสารไปไว้คนละมุม แล้วอยู่กันคนละชาติแล้วก็ห่างกันหลายร้อยชาติหลายพันชาติ เขาพูดว่าจะต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารไม่รู้กี่หลายชาติหลายพันชาติกี่แสนชาติจึงจะถึงนิพพาน อย่างนี้ก็เป็นคำพูดของคนที่ไม่รู้จักอะไรเอาเสียเลย พูดเป็นภาษาเนื้อหนังหรือวัตถุไปหมด มันก็ยิ่งไกลกันไปทุกที คือวัฏสงสารกับนิพพานก็ยิ่งห่างไกลกันไปทุกที แต่ถ้ามองให้ดีโดยสติปัญญาแล้วจะเห็นว่าในวัฏสงสารนั่นแหละมีนิพพาน ในนิพพานนั่นแหละมีวัฏสงสาร มันติดเนื่องกันอยู่ ถ้าวัฏสงสารอยู่นิพพานก็หายหน้าไป แต่วัฏสงสารหายหน้าไปนิพพานก็อยู่ พูดระบุลงไปชัดๆว่าในจิตดวงนี้ของคนที่ยังมีชีวิตเป็นๆอยู่นี้ ถ้าตัวกูของกูเกิดขึ้นมาในจิต วัฏสงสารก็แสดงออกมาเต็มที่นิพพานก็หายหน้าไป ถ้าตัวกูของกูไม่มีอยู่ในจิตนี้ วัฏสงสารก็เงียบไป นิพพานก็แสดงออกมามันอยู่ในที่เดียวกัน เนื่องอยู่ด้วยกันในการรุกเข้ารุกออกกันอยู่อย่างนี้ อันหนึ่งถอยไปอันหนึ่งก็ลุกเข้ามาพออันหนึ่งถอยไปอันหนึ่งก็ลุกเข้ามา แล้วแต่ว่าจิตใจนั้นมันกำลังเป็นอย่างไร นี้ถ้าเราสามารถควบคุมให้ความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูนั้นไม่เกิดมันก็เป็นนิพพานอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามันไม่เกิดจริงเด็ดขาดจริงมันก็เป็นนิพพานจริงเหมือนกัน แต่เป็นนิพพานจริงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวนี้เราควบคุมได้แต่บางครั้งบางคราว ตัวกูไม่เกิดเพียงบางครั้งบางคราว นิพพานนั้นก็เป็นชั่วคราวหรือเป็นนิพพานบางครั้งบางคราวชั่วคราวมันเป็นที่แน่นอนอย่างนี้ ที่เราว่ามีสติปัญญาของพระพุทธเจ้าที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนมามาปฏิบัติเพื่อจะควบคุมไอ้ตัวกูของกูนี่ไว้ให้อยู่ในอำนาจ หรือมันเกิดได้ยากที่สุดให้มันเกิดได้น้อยที่สุด ฉะนั้นความสงบมันก็แสดงออกมาได้มาก คือนิพพานก็จะแสดงออกมาได้มาก แม้จะเป็นนิพพานชั่วคราวมันก็ยังมีความสงบก็ยังนอนหลับได้มาก หมาขี้เรื้อนยังนอนหลับได้มากกว่าเวลาที่นอนไม่หลับ ถ้าว่าปฏิบัติถูกจริงปฏิบัติถูกต้องจริงขึ้นมาแล้ว มันก็ควบคุมตัวกูของกูได้ที่สุดมันหายหน้าไปจริงๆไอ้นิพพานมันก็ปรากฏเต็มที่ได้สมบูรณ์เป็นนิพพานจริง นิพพานชั่วคราวเรียกว่าตทังคนิพพาน หรือวิกขัมภนนิพพาน นิพพานจริงก็เรียกว่าสมุจเฉทนิพพานคือเด็ดขาดลงไป ไอ้นิพพานที่ยืดหดลุกไล่กันอยู่กับวัฏสงสารนั้นเป็นตทังคนิพพาน หรือวิกขัมภนนิพพานคือชั่วคราว เพราะประจวบเหมาะหรือเพราะสามารถบังคับได้ในขณะนั้น แต่แม้ว่าจะเป็นนิพพานชั่วคราวมันก็มีรสชาตอย่างเดียวกันกับนิพพานจริงมันเย็นอย่างเดียวกัน เพียงแต่เอาไว้ไม่อยู่ในอำนาจมันหายไปเสียได้ นี้จะต้องปฏิบัติต่อไป จนให้อยู่ในอำนาจหรือเอาไว้ได้ตลอดเวลา จึงต้องหันไปหาระเบียบหรือวิธีการที่ดีจริงๆ อุบายที่เก่งหรือที่ชมัดจริงๆ วิธีการหรืออุบายชนิดนั้น ก็คือสิ่งที่เรียกว่าอริยมรรคที่เป็นผลของอริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนกับที่เราสวดกันอยู่บ่อยๆ เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นความถูกต้อง ๘ ประการคือความถูกต้องทางความคิดเห็น ความถูกต้องทางความปรารถนา ความถูกต้องทางการพูดจา ความถูกต้องทางการทำงาน ความถูกต้องในการดำรงชีวิตอยู่ ความถูกต้องในความพากเพียร ความถูกต้องในการดำรงจิตหรือว่าการดำรงระลึกของจิตดำรง ความถูกต้องของจิต หรือความถูกต้องในการใช้กำลังจิต เมื่อมีความถูกต้องแปดประการนี้ ก็เรียกว่าตั้งอยู่ในมรรคมีองค์แปด ดำรงอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปดเรื่อยๆไปจนกว่ามันจะเข้ารูป มันเข้ารูปเมื่อใดก็เกิดอริยมรรคขึ้นมา ที่จะทำลายความโง่ความหลงไม่ให้เห็นอะไรเป็นที่น่ารักน่าพอใจอีกต่อไป เมื่อเป็นดังนี้ปัญหาอุปาทานก็ไม่เกิด หมายความว่าตัวกูของกูมันไม่มีทางที่จะเกิด แล้วก็จะไม่มีทางยกหูชูหางต่อไปได้ เพราะมันไม่เกิดเสียแล้ว ดังนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับทุกคนที่จะต้องรู้จัก รู้จักอริยมรรคมีองค์แปดประการเหมือนที่สวดกันอยู่ทุกวันแต่ยังไม่เข้าใจก็ต้องทำให้มันเข้าใจทำให้มันมีอยู่ในเนื้อในตัวจริงๆเป็นความถูกต้องแปดประการแล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้อยู่โดยชอบชนิดที่จะทำโลกนี้ไม่ให้ว่างจากพระอรหันต์ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านจะปรินิพพานกันอยู่หยกๆในสองสามวินาทีนี้แล้วท่านยังตรัสว่าข้าภิกษุเหล่านี้จะเป็นอยู่โดยชอบได้โลกนี้ก็จะไม่ว่างไปจากพระอรหันต์ ท่านไม่ตรัสอะไรมากมาย ตรัสแต่เพียงว่าเป็นอยู่โดยชอบ ถ้าใครไม่เข้าใจ ว่าเป็นอยู่โดยชอบนั้นเป็นอย่างไรแล้วก็จงรู้กันเสียเลยเดี๋ยวนี้ว่าเป็นอยู่โดยความถูกต้องแปดประการที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์แปดประการ ถูกต้องจนถึงกับว่าตัวกูของกูไม่อาจจะเกิดขึ้นมาได้เลย ปิยรูปสาตรูปไม่อาจจะครอบงำบุคคลนั้นได้อีกเลย เป็นอยู่โดยชอบอย่างนี้ไม่ต้องทำอะไร อยู่นิ่งๆอยู่นิ่งๆไม่ต้องทำอะไรแต่อยู่ให้มันถูกต้อง เมื่ออยู่ถูกต้องอย่างนี้แล้ว ไอ้ตัวกูของกูนั้นก็ไม่มีทางเกิดแล้วก็ไม่มีทางได้อาหารมาหล่อเลี้ยงให้มันเจริญอีกต่อไป หมายความว่าความเคยชินในนิสัยสันดานที่จะเกิดตัวกูของกูนั้นมันถูกขูดถูกเกา เพราะมันไม่ได้อาหารมาเลี้ยงมาบำรุงบำเรออีกต่อไป ความเคยชินชนิดนี้มันก็ค่อยกร่อนไปๆ เรียกว่าสังโยชน์หรืออนุสัย นี่มันกร่อนไปๆๆ จนถึงวันหนึ่งคืนหนึ่งมันก็ขาดสูญไปได้ ไม่มีสังโยชน์ไม่มีอนุสัย ไม่มีความเคยชินของกิเลสประเภทที่เกิดขึ้นเป็นตัวกูของกู มันก็เลยถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง เป็นคนแก่ตามความหมายทางวิญญาณหรือจะเรียกว่าเป็นหนุ่มสาวที่ไม่รู้จักแก่อีกต่อไปตามความหมายทางวิญญาณก็ยังคงเป็นอย่างเดียวกันอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นให้ทุกคนมองเห็นว่าเป็นอยู่โดยชอบเป็นอยู่โดยชอบ ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่านั้น นั่นแหละมันจะทำให้วัฏสงสารหดตัวเข้ามาหดตัวเข้ามา แล้วก็ทำให้ตทังคนิพพานยืดตัวออกไปยืดตัวออกไปแทนที่จนเต็มไม่ให้โอกาสวัฏสงสารอีกต่อไป เราก็มีมะพร้าวนาฬิเกกลางทะเลที่พึ่งเป็นเครื่องสะกิดใจหรือเป็นเครื่องตักเตือนใจอยู่แล้วที่นี่ไปดูให้ดีว่ามันไม่ต้องแยกจากกัน ทำให้วัฏสงสารหดได้สำหรับเราทำให้นิพพานยืดออกมาสำหรับเรา โดยการที่ปิดหนทางที่จะไปหลงใหลในสิ่งที่น่ารักน่ายินดีไม่ต้องขวนขวายที่ไหนมากไปกว่านี้ ก็แก้ปัญหาได้ตามที่ต้องการคือว่าไม่มีความทุกข์วัฏสงสารจะเป็นอย่างไร นิพพานจะเป็นอย่างไรโดยแท้จริงนั้นอย่าไปสนใจ เราเอาแต่ว่าวัฏสงสารอย่าเป็นพิษอย่าเป็นความทุกข์ขึ้นมา นั่นแหละนิพพานก็จงแสดงออกมาในรูปของความสงบเย็นมันก็พอแล้ว เรียกว่าชีวิตนี้ได้สิ่งที่ดีที่สุดแล้ว อายุนี้ก็เจริญจนถึงที่สุดแล้วโดยไม่ต้องพูดว่ามันกี่ปี มันจะมีค่าเท่ากับพันแสนล้านปีก็ได้ แต่เพราะความไม่ยืดมั่นถือมั่น ในสมมติเหล่านั้นจึงไม่ถือว่ามันกี่ปี มันมีความสงบเย็นเข้ามาแทนที่ วัฏสงสารมันคือความทุกข์ร้อนแล้วมันก็พอกันทีนี่แหละดูให้ดีเถิดว่าอายุทางเนื้อหนังนั้นมันพึ่งอะไรไม่ได้ มันอาศัยอะไรมันไม่ได้ต้องอาศัยอายุในทางวิญญาณคืออายุของสติปัญญา อายุทางเนื้อหนังเท่านั้นที่ควรจะถูกล้อ ถ้าเราจะล้ออายุกันบ้างก็หมายความว่าการล้ออายุทางเนื้อหนัง ส่วนอายุทางวิญญาณเราไม่มีปัญญาจะไปล้อมัน แล้วมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกล้อ มันเป็นสิ่งที่ล้อไม่ได้ มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกล้อ แล้วเราก็ไม่มีปัญญาที่จะไปล้อมัน คงล้อได้แต่อายุทางเนื้อหนังคือความโง่ของตัวเอง กูมีอย่างนี้กูเป็นอย่างนี้ กูได้อย่างนี้กูอะไรอย่างนี้ จึงเป็นเรื่องตัวกูของกูอยู่เป็นประจำวันไม่มีความสงบสุข มีความหมายเป็นสุนัขขี้เรื้อนก็ควรจะล้อได้อยู่ในวิสัยๆที่ควรล้อใครๆก็จะล้อได้ ในที่สุดเราจะเปรียบเทียบกันดูว่าการที่มีอายุทางเนื้อหนังนั้นมันต่างกันอย่างไร กับมีอายุในทางวิญญาณหรือ ทางสติปัญญา ไอ้เนื้อหนังนี่มันลวงตัวเองอยู่เรื่อย ธรรมชาติไม่ได้ลวงมันมันก็ไปโทษธรรมชาติ ว่าธรรมชาติลวงมันเหมือนสุนัขขี้เรื้อนที่ไปโทษที่นอนไม่สบายไปนอนที่ตรงอื่นไม่สบายก็ไปนอนที่ตรงอื่นนี่ไปโทษที่ที่ไม่สบาย ไม่รู้ว่าความคันอยู่ที่ความโง่ของตัวเอง นี่คนที่ถูกเนื้อหนังหลอกลวงมันก็เป็นอย่างนี้ เลยไม่มีโอกาสที่จะจัดการแก้ไขกับตัวเองภายในคือความโง่ของตัวเอง แล้วกลับไปพอกพูนมันบำรุงบำเรอมันด้วยการให้อาหารมัน คือยินดีบูชาอย่างยิ่งในการยกหูชูหาง คนกำลังบูชาการยกหูชูหางของตัวเองอยู่ด้วยกันทุกคน รักสิ่งนี้มากกว่าสิ่งใด อาจจะเสียสละสิ่งอื่นเพื่อได้สิ่งนี้หรือเพื่อเอาสิ่งนี้ไว้แต่ถ้าท่านอาจจะสละบิดามารดา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรือ สละอะไรที่เป็นสิ่งสูงสุดไปเสีย เพื่อจะเอาของสิ่งเดียวไว้คือการยกหูชูหางของตน นี่มันเป็นสิ่งที่น่าหวาดเสียวเท่าไรก็ลองคิดดูเองก็แล้วกัน ตลอดเวลาที่มันยังลวงตัวเองอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่มีอะไรที่น่าจะชื่นใจที่ตรงไหน ถ้าใครจะเป็นผู้สงสารตัวเองขึ้นมาได้ ในเมื่อตัวเองก็เป็นผู้ที่มีความหลงใหลเสียเอง คนบ้าไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นบ้า คนโง่ก็ไม่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองโง่ คนยกหูชูหางก็ไม่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังยกหูชูหาง เลยไม่มีใครโปรดได้พระเจ้าก็โปรดไม่ได้พระพุทธเจ้าก็โปรดไม่ได้ ในที่สุดพระพุทธเจ้าตรัสว่าตัวเองเป็นที่พึ่งแก่ตัวเอง นี้มันก็ยังเข้าใจยากอยู่ตามความรู้สึกของอาตมาเห็นว่าไอ้การที่ต้องทนอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆไปนั่นแหละ มันจะถึงขีดหรือถึงจุดที่ทำให้สำนึกได้ขึ้นมาสักวันหนึ่ง ว่าเรากำลังทนทรมานอยู่ไม่ใช่เรากำลังสนุกสนานอยู่ แต่มันก็คงจะเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะรู้สึกได้ในเวลาอันสั้น ผู้ที่รู้สึกได้ในเวลาอันสั้นถือว่ามันประมาณไม่ได้เพราะถือว่ามันเป็นกรณีพิเศษ แต่ถ้าคนธรรมดาก็จะต้องถือว่าเพราะอายุยาวนานมาพอสมควรแล้ว คงจะเกิดวี่แววหรือนิมิตหรืออะไรขึ้นมาบ้าง พอที่จะให้สำนึกได้ว่านี่มันเป็นความทุกข์หรือว่านี่มันเป็นความหลง แล้วก็จะได้เปลี่ยนแนวเสียใหม่ ในการที่จะหันมาในทางของพระพุทธเจ้า ก็ลองดูแล้วก็เชื่อเพราะว่ามีผลแสดงให้เห็นตามสมควรแก่การปฏิบัติ และเห็นแจ้งได้ด้วยตนเอง เมื่อเป็นบิดามารดามานานพอแล้วรู้สึกว่าเป็นบิดามารดานี้ไม่น่าสนุก เป็นสามีภรรยานานมาแล้วก็รู้สึกว่าการเป็นสามีภรรยานี้ไม่น่าสนุกหรือเป็นอะไรๆก็ตาม ด้วยความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นล้วนแต่ไม่น่าสนุก ความเบื่อระอามันเกิดขึ้น นี้คือจุดตั้งต้นของรุ่งอรุณที่จะเป็นไปในทางสติปัญญาตามวิธีของพระพุทธเจ้า ถ้าโอกาสอย่างนี้เกิดขึ้นแล้วก็รีบล้อตัวเองเถิด รีบล้อชีวิตชนิดที่เป็นเนื้อหนังเถิด มันจะได้เร็วเข้า มันจะได้มีความละอาย มีความกลัวเพิ่มขึ้นเร็วเข้า เป็นโยนิโสมนสิการที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ที่จะเอามาทำไว้ในใจอย่างแยบคาย ทุกครั้งที่มีการหายใจออกเข้า ขอให้ทุกคนทำอานาปานสติโดยวิธีนี้ ก็ยังเป็นวิธีที่ลัดสั้นได้เร็ว ในที่สุดจะเกิดวิญญาณชนิดที่มีความหมายตามที่เราต้องการแปลว่ารู้แจ้ง วิญญาณคือความรู้แจ้งแทงตลอด ถึงขนาดที่จะรู้สิ่งที่เป็นความรู้แจ้งที่สุด ความรู้แจ้งที่สุดก็คือรู้ว่าโอ้ยธรรมชาติไม่ได้หลอกเรา ความโง่ของเรามันหลอกเรา เรามันหลอกตัวเอง นี่เราอยู่ในสภาพที่น่าสงสาร ความคิดก็เดินไปถูกทาง แล้วก็มองเห็นความหลังที่แล้วมาแต่หนหลังว่าน่าสงสารเท่าไหร่ ใครน่าสงสาร ตัวเองหรือธรรมชาติ ตัวเองเป็นสิ่งที่น่าสงสารโดยนานาประการ เหลือที่จะพูดจะกล่าวได้ มนุษย์ยังไม่เป็นมนุษย์ ตลอดเวลาที่ยังเป็นคนโง่ ก็ยังหลอกลวงตัวเอง แล้ว ก็เป็นคนขี้ตู่อะไรๆมันหลอกลวงเรา รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส มันหลอกลวงเรา นี่ไปตู่เอาไอ้รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสว่ามันเป็นผู้ที่หลอกลวงเรา ไม่เคยสำนึกว่าตัวเองมันหลอกตัวเองฉะนั้นหยุดโง่ หยุดหลง หยุดเป็นคนขี้ตู่ชนิดนี้กันเสียที ได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเร่งๆมันเข้าด้วยการล้ออายุเล่นทุกปีๆ โดยความไม่ประมาท โดยความไม่เผลอให้มันหลอกลวงเราได้อีกให้อายุในทางวิญญาณควบคุมอายุทางเนื้อหนังอยู่เรื่อยไป โดยการควบคุมของความรู้ทางสติปัญญาหรือทางวิญญาณนี้แหละ จะเอาตัวรอดได้ฉะนั้นเราจึงต้องพยายามที่จะมีที่จะบูชาที่จะมีความเคารพหนักแน่นในสิ่งนี้ คือสิ่งที่เราเรียกกันว่าพระธรรมมีความเคารพหนักแน่นในพระธรรมแล้วมันก็จะเนื่องด้วยพระพุทธ พระสงฆ์ได้เอง ก็มีความเคารพหนักแน่นในพระรัตนตรัย ซึ่งรวมกันสั้นๆเพียงคำๆเดียวว่าพระธรรม คือความถูกต้องหรือความจริง ที่จะเป็นที่พึ่งของมนุษย์โดยอำนาจโดยฝีมือของมนุษย์ ที่รับเอาพระธรรมมาสำหรับเป็นหลักปฏิบัติในลักษณะที่เรียกว่าพึ่งตนเอง เอาพระธรรมมาเป็นที่พึ่งให้แก่ตัวเอง ก็จะหมดปัญหาในข้อที่จะต้องถูกหลอกลวงหรือครอบงำโดยสิ่งซึ่งเป็นที่น่ารักน่าพอใจต่อไป แล้วก็อย่าเผลอให้สิ่งเหล่านี้ครอบงำได้ โดยระลึกนึกถึงพระพุทธภาษิตนี้อยู่เสมอว่า “อะสาตัง สาตะรูเปนะ ปิยะรูเปนะ อัปปิยัง ทุกขัง สุขัสสะรูเปนะ ปะมัตตะ มะติวัตตะตีติ” สิ่งที่ไม่น่ายินดีครอบงำคนโง่อยู่ด้วยรูปแห่งความยินดี สิ่งที่ไม่น่ารัก ครอบงำคนโง่อยู่ด้วยรูปแห่งสิ่งที่น่ารัก ความทุกข์ครอบงำคนโง่อยู่ด้วยรูปของความสุขดังนี้โดยนัยยะดังที่ได้วิสัชนามาพอสมควรแก่เวลาธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้