แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฎิโมกข์ตามเคย วันนี้อยากจะพูดถึงเรื่องสิ่งที่เป็นเครื่องทดสอบเกี่ยวกับตัวกูของกู สิ่งที่จะเป็นเครื่องทดสอบเกี่ยวกับตัวกูของกู ว่ามันมีมากน้อยอย่างไร มันมีอยู่หลาย ๆ อย่าง ลองพูดดูสักอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกสบายของจิตใจ
สำหรับคำว่าสบายนี้มันก็มีหลายความหมายเหมือนกัน ขออย่าให้ลืมเสียว่าคำพูดแต่ละคำมันก็มีความหมายหลายชนิด หรือหลายอย่าง มันต้องพูดกันให้แน่ลงไปว่าเราจะหมายถึงอย่างไหน โดยเฉพาะคำว่าความสบาย ความรู้สึกสบายในกรณีนี้ที่จะพูดนี้มันต่างกันมาก กับความรู้สึกสบายเหมือนที่คนทั่วไปเขารู้สึก แต่ว่าก็เป็นสิ่งที่อาจจะเข้าใจได้ อยากจะให้หัวข้อสำหรับได้คิดนึกเป็นหลักไว้เสียเลยว่า จิตที่รู้สึกเมื่อจะให้สบายกว่าจิตที่รู้สึกเมื่อจะเอา เมื่อจะให้รู้สึกสบายกว่าเมื่อจะเอา นี่ลองคิดดู พิจารณาดู นึกดูย้อนหลังความรู้สึกของตัวเองว่าความรู้สึกที่เกิดในใจ เมื่อเราจะให้หรือจะเสียสละมันสบายกว่าเมื่อจะเอา จะได้ จริงหรือเปล่า ไอ้สัญชาติคนตะกละนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เมื่อจะให้ มันไม่รู้สึกสบายหรอก ไอ้คนที่มันยังดิบ ยังหนา ยังเป็นปุถุชนอะไรมากเกินไป เมื่อจะให้มันไม่รู้สึกสบาย เมื่อจะเอานั้นมันจึงจะรู้สึกสบาย เมื่อจะเอาจะได้มันจึงจะรู้สึกสบาย
ทีนี้เราเป็นคนชนิดไหนก็ทดสอบดูได้ด้วยหลักเกณฑ์อย่างนี้ ถ้าเรายังรู้สึกสบาย สบายเมื่อจะเอา เป็นสุขสบายเมื่อจะเอา เมื่อจะได้ เราก็เป็นคนตะกละ เป็นคนมีตัวกูของกูจัด ถ้าเรามีความรู้สึกสบาย เมื่อจะให้ยิ่งกว่าเมื่อจะเอา หรือเมื่อจะเอาไม่รู้สึกสบายเลย อย่างนี้จึงจะรู้ จึงจะถือว่าเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นคนอีกชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนกันกับคนทีแรก เมื่อจะให้นี้ก็ต้องรู้ว่ามันมีความหมายที่บริสุทธิ์ คือให้ ให้จริง ๆ เลย ให้ไปเลย ให้โดยไม่มีวี่แววที่จะกลับมาตอบแทนอะไร นั่นจึงจะเรียกว่าให้ ไม่ใช่ให้อย่างลงทุน เพื่อหว่านผล เอานั่นเอานี่กลับมามากกว่าเก่า นั้นมันไม่ใช่ให้ นั่นมันลงทุน ไอ้คนตะกละนั้นมันก็สบายสิ เมื่อลงทุน เพื่อจะได้มามากกว่าเดิม ให้อะไรเขาไปนิด เขาจะให้เรามากกว่าเดิม เป็นนักบวช เป็นพระ เป็นบรรพชิต ก็ยังทำการให้ชนิดที่ว่าจะเอามากกว่าเดิม เป็น อเน สนกรรม เป็นการผิดวินัย เป็นอะไร ให้อย่างนี้มันเรียกว่า มันไม่ใช่ให้ มันเป็นเรื่องลงทุน ลงทุนค้าเอากำไร แต่เขาก็รู้สึกว่าให้ และคนที่ตะกละแบบนั้น มันก็รู้สึกสบายสิ เพราะมันลงทุนไปแล้วจะได้กำไร เมื่อให้แล้วรู้สึกสบาย อย่างนี้ไม่เอา มันคนละเรื่องกัน ต้องเอาให้ที่บริสุทธิ์ ให้ที่ไม่มีหวังตอบแทน คือให้จริง ๆ เหมือนที่สอนกันอยู่ทุกวันว่า เป็นอยู่เหมือนกับตายแล้ว ทำงานด้วยจิตว่าง เป็นอยู่เหมือนกับตายแล้ว คือให้ หรือทำไปโดยไม่หวังอะไรเป็นกลับมา ถ้ามีจิตใจที่ให้ไปอย่างบริสุทธิ์ แล้วรู้สึกสบาย อย่างนี้ก็รู้ได้เลยว่ามันเป็นคนละแบบแล้ว มันเปลี่ยนมากแล้ว มันเปลี่ยนจากเดิม เป็นคนละแบบ คือตรงกันข้าม
มีบทประพันธ์เกี่ยวกับ เวสสันดรชาดก ที่เขามาแต่ง มาเทศน์กันอยู่ พระเวสสันดร เมื่อรู้สึกว่าพรุ่งนี้จะมีคนมาขอ รู้ว่าจะมีชูชกมาขอลูก รู้สึกจะมีคนมาขอลูก ตามที่รู้สึกในความฝันของพระนางมัทรี หรืออะไรก็ตาม เขาเขียนไว้ว่าพระเวสสันดรรู้แต่ล่วงหน้า และรู้สึกสบาย ตอนนั้นเขาพรรณนาดีมาก สบาย แล้วอยากให้มาถึงเร็ว ๆ เหมือนคนอยากกินเหล้า คนขี้เมาอยากกินเหล้า มันกลับตรงกันข้ามนะ ถ้าเปรียบเทียบนะ นี่เราก็ต้องดูว่าพระเวสสันดรมีจิตใจให้ชนิดไหน ให้ชนิดค้ากำไร หรือว่าให้จริง ๆ ถ้าคิดอย่างคนนักการค้า ก็คงจะคิดไปในแง่ที่ว่าพระเวสสันดรก็ค้ากำไรเหมือนกัน ให้ลูกให้เมียไปเพื่อที่จะเอาพระโพธิญาณ อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่ค้ากำไร นั่นไอ้คนที่มีสายตาอย่างนั้นมันมองอย่างนั้น ถ้าตามความเป็นจริง รู้สึกว่าพระเวสสันดร เขาอยากจะให้ทั้งนั้น อยากจะให้ออกไป อยากจะตัดสิ่งที่ผูกพันออกไป รู้สึกสบาย รู้สึกเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด อยากให้มาถึงเร็ว ๆ นี่เรียกว่า การให้นั้นมันมีหลายแบบ
คำว่าสบายมันก็มีหลายแบบอย่างที่กล่าวแล้ว สบายของกิเลส มันก็สบายเมื่อได้เหยื่อของกิเลส ได้เหยื่อแก่กิเลสมันก็สบายอย่างกิเลส นี่ก็สบายอย่างไม่มีกิเลส อย่างสติปัญญา มันก็หมายความว่า เมื่อไม่มีเหยื่อให้กิเลส ไม่ต้องมีเหยื่อมาให้กิเลส การให้ก็หลายความหมาย ความสบายก็หลายความหมาย จะได้จะเอาอะไรมันก็หลายความหมาย จะได้อะไร ได้กำไรหรือว่าได้การเสียสละ มีอย่างนั้น ได้เสียสละมันก็เป็นการได้ชนิดหนึ่งของพระอริยะเจ้า ไอ้ได้กำไรก็เป็นการได้ชนิดหนึ่งของปุถุชน
ทีนี้มันเป็นเครื่องทดสอบตรงไหน ถ้าว่าจะเป็นเครื่องทดสอบในทางที่ถูกต้อง หรือที่ดี มันก็เมื่อให้จริง ๆ เมื่อให้จริง ๆ เมื่อสละจริง ๆ เพียงแต่คิดก็สบายแล้ว เพียงแต่คิดว่าจะให้ หรือว่ามีหวังว่าจะได้ให้แน่ ๆ นี่ก็สบายแล้ว และเมื่อให้อยู่ก็ยิ่งสบาย ที่เราพูดนี้เอาหมายถึง เมื่อตั้งแต่คิด จิตที่รู้สึกเมื่อจะให้สบายกว่าจิตที่รู้สึกเมื่อจะเอา เพียงแต่คิดว่าจะให้ หรือจะได้ให้ไปจริง ๆ ก็สบายเสียแล้ว ถ้ามันยังไม่สบาย มันจะสบายต่อเมื่อเอา ก็รู้ตัวเองเถอะ ว่าเป็นยังไง เมื่อได้ขี้เกียจ เมื่อได้เอาเปรียบคนอื่น เมื่อได้อะไรในทางอย่างนี้ มันสบาย ก็ได้ สำหรับคนบางคน คนบางพวก แต่คนบางคนก็ว่าไม่สบายเลย มันสบายต่อเมื่อได้ทำอะไรมากกว่าคนอื่น ซึ่งอีกพวกหนึ่งก็จะหาว่ามันโง่กว่าคนอื่น เสียเปรียบกว่าคนอื่น มันเหนื่อยกว่าคนอื่นอย่างนี้มันก็มี มันคนละอย่าง อย่างนี้ ดังนั้นอย่าให้กิเลสมันเล่นตลกได้ คุณลองจำไว้เป็นยังไง ว่าอย่าให้กิเลสมันเล่นตลกได้ อย่าให้ถูกลวง ถูกอะไรโดยกิเลสนั้น ให้มันจริงให้มันตรง ให้มันถูก หรืออย่างที่เรียกว่า ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง เราพูดกันบ่อย ๆ ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง ให้มันจริงอย่างนั้นแหละ ก็จะรู้ว่ามันสบายไหม เมื่อความรู้สึกที่จะให้ หรือว่าโอกาสที่จะให้มันเกิดขึ้น มันสบายไหม ถ้าไม่สบายก็ไปแก้ไขเสียใหม่ ทีนี้บทเรียนของเราก็พูดกันมาซ้ำ ๆ ซาก ๆ กันอยู่นี้ เพื่อทดสอบเรื่องตัวกูของกู หรือว่าทำงานนี้ก็เพียงเพื่อจะเอาเหงื่อล้างตัวกูของกู อย่าหวังอะไรมากกว่านั้น ทำงานเหงื่อออกมากก็เพื่อว่าล้างตัวกูของกูให้มันหลุดออกไป นี่มันก็ทดสอบได้เหมือนกัน ใกล้เคียงอย่างเดียวกัน เมื่อได้ทำงานอย่างนั้น คือเมื่อจะได้ทำงานอย่างนั้น หรือว่ามีโอกาสอย่างนั้น มันสบาย มันสนุก มันกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที นี่ก็อยู่ในพวกที่ว่าจะให้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อจะต้องให้ หรือเมื่อจะต้องเสียสละ หรือว่าจะต้องบริจาคอะไร มันรู้สึกเป็นสุข รู้สึกสบาย มันเปรียบเทียบกันได้ กับเรื่องของเด็ก ๆ อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมเคยพูดให้ฟังบ้างแล้ว ไอ้เด็กเล็ก ๆ นี้ เด็กอมมือก็ได้ เด็กคนหนึ่งมันมีดอกกุหลาบ หรือดอกจำปีอะไรสักดอกหนึ่ง ได้มาเป็นของตัว ทีนี้มันได้ดมได้ดม ดมแล้วดมอีก ดมแล้วดมอีก มันก็ได้สบายยินดี ก็ยังแถมภาคภูมิใจโอ้อวดว่าเด็กคนอื่นไม่มี บางทีจะดมอวดเด็กคนอื่นเสียด้วยซ้ำ เด็กคนนี้มันก็สบายใจ สบายใจ ถ้ามีเด็กอีกคนหนึ่งมันไม่คิดอย่างนั้น มันไม่ดมเอง มันให้คนอื่น ให้เพื่อนเสียแล้วมันสบายใจ แล้วมันนั่งดูเพื่อนดมสบายใจ แล้วมันสบายใจกว่า นี่มันจะเป็นสบายใจที่เหมือนกันหรือไม่ ลองคิดดู เด็กคนหนึ่งมันให้เพื่อนไปเลย ให้เพื่อนไปนั่งดมดู แล้วเห็นเพื่อนดม แล้วเพื่อนเป็นสุข เพื่อนสบาย มันก็เลยสบายใจด้วย หรือเพียงแต่ให้ไปทีแรกก็สบายใจ ความสบายใจนี้คนละชนิด ไอ้เด็กขี้เหนียว เด็กเห็นแก่ตัว ดมแล้วดมอีก มันก็สบายใจเหมือนกันตามแบบของการเห็นแก่ตัว อีกคนหนึ่งมันทำตรงกันข้าม คุณจะถือว่าเด็กคนไหนมันมีจิตใจสูง หรือต่ำกว่ากันยังไง ผมเคยพูดแม้แต่เด็ก ๆ ว่าลองคิดดูเถอะ อย่างนี้อันไหนจะดีกว่า หรืออยู่นานกว่า เราเอาไว้ดมเอง เดี๋ยวมันก็ช้ำ รุ่งขึ้นมันก็โรย เหี่ยวร่วงโรยไป ที่เราให้ไป มันไปอยู่ในหัวใจของเพื่อน หัวใจของเรา มันเหมือนกับไม่รู้โรย ไม่รู้เหี่ยวไม่รู้ช้ำ อยู่ไปได้อีกนาน เดือนหนึ่งล่วงไปแล้ว มานึกถึงมันก็ยังรู้สึกภาคภูมิใจอยู่ เพื่อนก็ยังขอบใจอยู่ ไอ้เราก็ยังรู้สึกภาคภูมิใจอยู่ มันกลายเป็นไอ้ดอกไม้ชนิดที่ไม่รู้จักเหี่ยว ไม่รู้จักโรย ไม่รู้จักอะไรไปเลย ถ้าดมเองเดี๋ยวก็ช้ำ รุ่งขึ้นก็เหี่ยวโรยทิ้งขว้างไป ไอ้ความสนุกสนานเอร็ดอร่อยเพราะว่าได้ดม พักเดียวก็หมดไป ส่วนความรู้สึกชนิดที่ ดีใจ ภาคภูมิใจที่ได้ให้นั้นอยู่อีกนานหลายเดือน จนถึงหลายปี หรือบางทีจะจำได้จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่แล้วยังจำได้ ว่าเคยให้ดอกจำปีแก่ไอ้เด็กคนนั้น เพื่อนคนนั้น เมื่อยังเดินต๊อก ๆ นี่มันถาวรเหมือนอย่างนี้
ถ้าเราต้องการจะดูน้ำหนักของความสบายใจ ดูชนิดลักษณะของความสบายใจว่ามันอย่างไร ต่างกันอย่างไร มากน้อยกว่ากันอย่างไร หนักเบากว่ากันอย่างไร นี่ ต้องเข้าใจเรื่องอย่างนี้ก่อน แล้วคำว่าสบาย หมายความว่าได้กี่อย่าง อย่างนี้ ก็จะเข้าใจได้ถึงหัวข้อที่ว่า จิตที่รู้สึกเมื่อจะให้นั้นสบายกว่าจิตที่รู้สึกเมื่อจะเอา
เรามองดูจิตที่รู้สึกเมื่อจะเอากันก่อน ความจริงมันไม่มีอะไรที่น่าจะเอา ถึงถ้ารู้สึกว่าจะเอาหรือน่าเอา ก็หมายความว่าเป็นอุปาทานชนิดหนึ่ง เป็นความโง่ อวิชชาชนิดหนึ่ง เป็นตัณหาชนิดหนึ่ง ในขณะนั้นมันมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน มีการกระทำทางมโนกรรม แล้วความอยากนั้นมันเป็นความร้อน ความยึดมั่นนั้นมันก็เป็นความหนัก อวิชชามันก็เป็นความมืดมน ไอ้ความรู้สึกสบายอย่างร้อน อย่างหนัก อย่างมืดมน มันเป็นได้แต่สำหรับคนตะกละ คนโง่ แล้วคนที่สะอาด ที่จิตใจสะอาด ที่จิตใจกำลังว่างโปร่ง มันสนุก มันสบายไปไม่ได้ มันรู้สึกหวัง รู้สึกอยาก รู้สึกเหมือนกับชะเง้ออยู่อย่างนั้น หิวหรือชะเง้อว่าอยากจะได้ ว่าอยากจะเอา จะต้องรู้จักความหิวทางวิญญาณ ความร้อนทางวิญญาณ ความผูกพันทางวิญญาณ ความหนักอึ้งทางวิญญาณนี่กันเสียก่อน ถ้ามองดูให้ดี ก็จะรู้ได้ว่าโอ๊ย, มันไม่ใช่ความสบาย อย่างน้อยที่สุดนะ มันก็เป็นการกระตุ้น เป็นการกระตุ้นทำให้เกิดความตื่นเต้น เกิดความกระตุ้น ก็ดูกันไป ถ้ามันได้อะไรที่ถูกใจจริง ๆ นะ อย่าว่าแต่ใจ แม้แต่มือมันก็สั่น ยื่นมือไปรับด้วยมือสั่นน่ะ นี่หมายความว่าใจมันสั่นซะเหลือเกินแล้ว เมื่อได้ นี่หมายความว่ามันถูกเชิด ถูกกระตุ้น เนื่องในการได้หรือการเอา รู้สึกว่าเป็นสุขก็ตามใจ มันก็เป็นสุขตามแบบของคนนั้น
ทีนี้ถ้าจะพูดตามแบบของวิถีของจิตวิทยาแท้ ๆ มันก็ไม่ใช่ความสงบไม่ใช่ความเยือกเย็น หรือความกระตุ้น หรือความร้อน ทีนี้ถ้าพูดถึงหลักธรรมะในพุทธศาสนา ตามแบบของพระพุทธเจ้าแล้วมันก็เป็นเรื่องใช้ไม่ได้ จิตที่ถูกเชิด ถูกกระตุ้น ถูกกระทำให้ฟุ้งขณะนั้นมันใช้ไม่ได้ แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า ปิติ ปิติปราโมทย์ ถ้าเป็นอย่างอาศัยโลก อาศัยอามิส อาศัยวัตถุนี้ มันก็เหมือนกัน มันเหมือนกับสิ่งกระทบกระทั่งจิต รบเร้าจิตไม่มีความสงบสุขในเรื่องปีติ แต่คนทั่วไปก็รู้สึกชอบ ได้ปีติจนน้ำตาไหล ก็รู้สึกชอบ ได้ปีติจนเนื้อตัวสั่นก็รู้สึกชอบ ผมเข้าใจว่าเคยผ่านกันมาแล้วไม่มากก็น้อย ไอ้เรื่องปีติ หรือความสุขชนิดนี้ เคยรู้จักมันมาแล้ว ผมก็รู้จัก และมันควรจะรู้จักต่อไปว่ามันไม่ใช่ ไม่ใช่ความสบาย ไม่ใช่ความผาสุก ไม่ใช่ความสงบเย็น ไอ้การเอา การได้ การอะไรอย่างนี้ไม่ใช่ความสงบเย็น การได้ลักษณะอย่างนี้
เมื่อไม่เอา เมื่อไม่ได้ หรือเมื่อเจตนาจะไม่เอา มันไม่มีอาการอย่างนี้ ไม่มีอาการที่ถูกเชิด หรือถูกกระตุ้น หรือถูกกระทุ้ง กระแทกอะไรอย่างนี้ นี่มันเป็นร่องรอยของความสงบ เป็นลักษณะของความสงบ ไม่เอา มันไม่สงบ แล้วให้มันยิ่งกว่านั้นอีก มันเป็นเรื่องสงบยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก แต่คำว่าให้ในที่นี้ไม่ใช่ให้ลงทุนค้าไม่ใช่ให้เพื่อปลอบใจตัวเอง และไม่ใช่ให้เพื่อว่าเราจะได้ภาคภูมิใจว่าเราเป็นคนให้ คำว่าให้ในที่นี้ ตามความหมายก็หมายถึงเสียสละ หรือบริจาค ไม่ยึดมั่นถือมั่น เอาความไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นหลัก จึงเรียกว่าให้ ไม่หวังไม่ต้องการ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีตัณหาไม่มีอุปาทานในสิ่งเหล่านั้น นี่เรียกว่าให้ เพราะจิตมันจะน้อมไปเพื่อสิ่งนี้เท่านั้น เพื่ออาการอย่างนี้เท่านั้น มันก็สบายเสียแล้ว พอมันมีอยู่อย่างนั้นจริง ๆ ก็ยิ่งสบายจริง นี่อันนี้เรียกว่าจิต หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่อจะให้ หรือเมื่อให้ก็ตาม สบายกว่าจิตที่มีความรู้สึกเมื่อจะเอาไอ้เมื่อจะเอานั้นมันเป็นทางการส่งเสริมตัวกูของกู หรือเป็นการกระทำของตัวกูของกู ไอ้จิตเมื่อจะให้นั้นมันเพื่อจะลด ลดเสียซึ่งตัวกูของกู เอากันอย่างเลว ๆ ว่ามันจะให้ จะให้ไปเสียให้สมน้ำหน้า ที่มันยึดถือหวงแหน อย่างนี้ก็ยังดี ยังดีกว่าที่จะไม่ทำอย่างที่ว่าให้ประชดกิเลสซะอย่างนี้ก็ยังดี ยังมีผลในทางฝ่ายที่จะทำลายตัวกูของกู ทว่าให้โดยเรียบร้อย ด้วยสติปัญญาไปตามความรู้สึกที่ว่ามันควรกระทำอย่างยิ่ง ก็ใช้ได้ดี ไอ้ให้เพื่อประชดประชันกิเลส ตัวกูของกูนี่มันยังร้อนอยู่บ้าง แต่มันยังร้อนไปในฝ่ายที่จะเผาผลาญกิเลส ไม่ใช่ให้กิเลสเผาเรา ยังดีกว่า จุดไฟขึ้นเผากิเลส ไอ้คนจุดมันก็ร้อนทั้งนั้น แต่ยังดีกว่าชนิดที่กิเลสมันเผา เผาคน เผาเรา การประชดกิเลสที่ถูกต้องได้ผล ก็เป็นการปฏิบัติธรรมชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน แต่อย่าประชดแบบหุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว อย่างนั้นมันไม่ได้ มันโกหก มันหลอกลวง มันเข้าข้างตัวต่อไปอีก คือมันทำกิเลส ทำความชั่ว ประชดไม่ใช่ทำสิ่งที่ตรงข้ามเพื่อประชด
นี่มันเป็นบทเรียนอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ในการเป็นอยู่อย่างนี้ ที่นี่ หรืออย่างที่เรามีหลักมีเกณฑ์อย่างที่นี่ ถ้าไม่ศึกษาฝึกฝนในบทเรียนอย่างนี้แล้วมันไม่มีอย่างอื่น มันล้มเหลวหมด มันเป็นบทเรียนชนิดที่พุ่งเข้าถึงตัว ปราดเข้าถึงตัว คือว่าเล่นกับกิเลสโดยตรงเลย รบราฆ่าฟันต่อสู้กันกับกิเลสโดยตรงเลย ไม่ใช่เพียงแต่เรียนหนังสือ ท่องจำ หรือว่าพูดได้ คิดเก่ง เหตุผลเก่ง โวหารเก่งนั้นมันไปไม่รอด อันนั้นคือเล่นตลกต่อตัวเอง ประชดกิเลสให้กิเลสยิ่งได้เปรียบ นี่เราไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านั้น ไม่ต้องอ่านหนังสือเลย ที่ผมพูดนี้มันไม่เกี่ยวกับหนังสือ มันไม่ต้องอ่านหนังสือ ไม่ต้องใช้หนังสืออะไรอีก แต่ใช้วิธีการโดยตรง จี้ลงไปโดยตรงที่ความรู้สึกที่เป็นตัวกูเป็นของกู ว่ามันมีอยู่อย่างไร ในวันหนึ่ง ๆ ตรงนี้ ก็ขอให้นึกดูให้ดีว่าในวันหนึ่ง ๆ เรามันมีเรื่องสองอย่างนี้ คือเรื่องได้กับเรื่องเสีย เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องดีใจเสียใจ เรื่องยินดียินร้าย เรื่องได้เรื่องเสีย มีเท่านี้ วันหนึ่ง ๆ ปัญหามันมีเท่านี้ ถ้าได้ก็ระวังให้ดี มันจะเป็นการได้ชนิดที่จะทำให้ขาดทุน นึกถึงคำกลอนอีกบาทหนึ่งว่า ”ถ้าจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์” คำว่าได้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์ มันต้องได้ชนิดที่ตรงกันข้ามกับที่คนเขาได้กัน คนที่เขาได้ ๆ กันตามประสา มันเป็นได้ด้วยกิเลส เพื่อกิเลส ของกิเลส ของคนตะกละนี้เรียกได้ว่าได้ไม่เป็น คือเป็นทุกข์ ถ้าได้ให้เป็นน่ะ มันได้อย่างที่เรียกว่าไม่ได้ ที่คนธรรมดาเขาเรียกว่าไม่ได้ คือไม่เอา ได้อย่างที่ไม่เอา เหมือนที่ไปซื้อของที่ตลาดไม่เอาอะไรมาอย่างนั้นแหละ ได้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์ ได้เมีย ได้ลูกได้ผัวได้เงินได้ของได้อะไรก็ตาม ถ้าได้เป็น ตามวิธีนี้ละก็ไม่มีความทุกข์ แค่นั้นแหละ มันอาจจะมีปัญหาอย่างอื่นไม่ฝ่ายเรา มันก็มีฝ่ายอื่น มันก็เป็นเรื่องรบกวนเหมือนกัน แต่พูดโดยเนื้อแท้ ในฝ่ายบุคคลผู้มีสติปัญญา มีความรู้เท่าทันในสิ่งเหล่านี้ “ได้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์ ยามจะเป็น เป็นให้ถูกตามวิถี ยามจะตาย ตายให้เป็นเห็นสุขดี ถ้าอย่างนี้ไม่มีทุกข์ ทุกวันเอย” มันเรื่องเดียวกันกับอันนี้
ที่พอเรามองดูโดยทั่วไป คนทั่วไปเขาไม่เป็นอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นทุกข์ ดังนั้นเอาข้างไม่ได้ไว้จะดีกว่า ทำง่ายกว่า ข้างที่จะสละหรือจะสลัดออกไปทำง่ายกว่า ที่จะพูดว่าได้ให้เป็น ที่ว่าได้ให้เป็นนั่นน่ะคือรู้จักสลัดออกไปในการได้นั้นนะ เป็นการได้ที่ไม่ได้เอาอะไรมา แต่เขาฟังไม่ถูก ผมก็ถูกหาว่าบ้าบอในคำพูดชนิดนี้อยู่เสมอ เพราะเขาฟังไม่ถูก เขาก็ว่าผมพูดภาษาอะไรก็ไม่รู้ ก็พยายามพูดภาษาธรรมดาที่สุดแล้ว ให้รู้จักสิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งมันซ่อนอยู่ หรือมันแฝงอยู่ในคำเหล่านั้น มันกลายเป็นภาษาคนละชั้น อย่างที่เรียกว่า ภาษาคน ภาษาธรรม แต่มันค่อย ๆ เขยิบมาทีละนิด ๆ ไม่ถึงกับหันหลังให้กันเสียทีเดียว ไปนึกถึงเรื่องเด็กเมื่อตะกี้นี้ พอเอาดอกไม้ไว้ดมเอง กับเอาให้คนอื่นเสียอันไหนสบายกว่า มันก็ไม่ไกลกันนักกับความรู้สึกของคนธรรมดาที่อาจจะรู้สึกได้ โดยไม่ต้องอาศัยธรรมะชั้นลึกซึ้ง ชั้นสูงสุด แต่มันก็เป็นไปในทางฝ่ายของธรรมะชั้นสูงสุด ถ้าเผอิญเด็กคนไหนมันไม่ได้คิดว่าจะให้โดยวิธีอย่างนี้ แต่เผอิญมันได้ให้ไป ไอ้เด็กบางคนมันเผอิญได้ให้ดอกไม้นั้นไปแก่เพื่อน แล้วมันมาเกิดความรู้สึกอย่างนี้อยู่ได้ นี่น่ะมันรู้ธรรมะข้อนี้โดยบังเอิญโดยไม่เจตนา โดยไม่รู้สึกตัว มันก็เป็นเด็กที่เข้าถึงธรรมะพรวดเดียวลึกกว่าเด็กอีกตั้งร้อย ตั้งพัน ตั้งหมื่น ตั้งแสน หรือกว่าคนโต ๆ หัวหงอกแล้วตั้งหมื่น ตั้งพัน ตั้งแสน ซึ่งไม่เคยมีความรู้สึกอย่างนี้ ไอ้เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องอะไรนี้ระวังให้ดี จะได้เป็นพระที่ดี ”ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง” อย่าเป็นพระทำการค้า ไปใช้วาจาพูดประจบประแจงให้เขาให้ หรือว่าทำสิ่งของขึ้นแลกเปลี่ยน เพื่อให้เขาให้ เมื่อความต้องการของเขามีมากกว่า เขาก็ตอบแทนไอ้สิ่งนี้มากกว่าที่เราลงทุน อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องให้ ไม่ใช่เรื่องสละ ไม่ใช่เรื่องทำให้หมดไปซึ่งตัวกูของกู ไม่ควรจะอยู่ที่นี่ ขอเชิญไปอยู่ที่อื่น ถ้าอยากจะอยู่ที่นี่ ก็เหมือนกับที่พูดมาหลายครั้งหลายหน หลายสิบครั้งหลายสิบหน กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว ทำงานไม่เพื่อตัวกูของกูแต่ประการใด ทำงานให้ความว่าง ผมเป็นผู้รับคำด่าเอง ว่าพูดบ้า ๆ บอ ๆ อะไรไม่รู้ ทำงานด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่าง กินอาหารของความว่าง เป็นอยู่เหมือนกับตายแล้ว
นั่นมันเป็นเครื่องทดสอบที่ดี ในประโยคสั้น ๆ ที่ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อจะให้สบายกว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อจะเอา ไปปรับปรุงให้มันเข้ารูปอย่างนี้ มันก็เลยเข้าชุด เข้าเซ็ตกันหมดไปเลย กินข้าวจานแมวนั้นมันสบายกว่ากินสำรับคับค้อน อาบน้ำในคูมันดีกว่าอาบน้ำในห้องน้ำ ที่กำลังคิดจะสร้างจะทำกันอยู่ ด้วยความฟุ้งเฟ้อ นี่อยู่อย่างไม่มีตัวฉันนะ ที่คนอื่นเขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องเหนื่อยเปล่า ๆ ไอ้การคิดแบบนี้ มันดีที่สุด สบายที่สุด อยู่บนโคนไม้สบายกว่าอยู่ในกุฏิ หรือกระท่อม อยู่โคนไม้ตามแบบพระพุทธเจ้าท่านสอน หรือท่านขอร้อง เราก็ตกลงกันในวันบวชอุปสมบท ที่บอกอนุศาสตร์นี้ มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เล็กน้อย อยู่โคนไม้มันสบายกว่าอยู่ในกุฏิเล็ก ๆ แม้อยู่ในกุฏิเล็ก ๆ มันก็สบายกว่าอยู่ในตึกปราสาท หรือวิมานในเมืองเทวดา ถ้าไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็จะสอนในวันบวชว่าพยายามไปอยู่ในวิมาน อยู่ปราสาท จงพยายาม ๆ อยู่ในวิมานปราสาท แทนที่จะว่าอยู่โคนไม้ นั่นโคนไม้ นั่นที่สงัด จงใช้มันให้เป็นประโยชน์ อย่าต้องเป็นผู้เสียใจในภายหลัง ให้พยายามอยู่นอกกุฏิกันบ้าง ผมรู้สึกว่ายังอยู่ในกุฏิกันมากเกินไป ที่เห็น ๆ อยู่นี้ เดี๋ยวจะหาว่าผมเอาเปรียบ หรือโกหก เพราะว่าเดี๋ยวนี้ผมมันแก่ มันเอาแต่อยู่ในกุฏิมากเกินไป ถ้าเอากันว่าอยู่ที่สวนโมกข์ที่พุมเรียงแล้วก็ เอาอย่างนั้นแหละ ผมไม่ได้อยู่ในกุฏิเหมือนกับที่เดี๋ยวนี้ หัวค่ำก็ไม่ได้อยู่ในกุฏิ ไก่ขันก็ไม่ได้อยู่ในกุฏิ มันก็อยู่ตามข้างนอก เพื่อชิมรสข้างนอก เดินไปเดินมาจนทางลึกเหมือนกับเป็นรถไฟมาขูด เพราะมันไม่ได้เดินไปไกล ๆ มันเดินไปเดินมา มันมืด มันเดินไปไกลไม่ได้ มันก็เดินไปเดินมา เพื่อคิด เพื่อนึก เพื่ออะไรไป ในเวลาเดินนั้นดีกว่านอนคิด เลิกเข้าใจผิดสักที ไอ้นอนก่ายหน้าผากคิดนั้นนะ มันออกเหมือนกัน แต่มันออกไปในทางใช้ไม่ได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าไปนั่งตรงโคนไม้ ไปเดินตามที่โล่งที่แจ้ง เดินคิดนะ คิดออกถูกต้องกว่า คิดอะไรก็ตาม คุณจะคิดอะไรก็ตาม คิดเรื่องโลก ๆ ก็ได้ มันถูกต้องกว่า ที่จะไปนอนในที่นอน แล้วนอนคิด โดยเฉพาะนอนคิด เมื่อฝัน เมื่อกำลังจะเคลิ้ม ๆ น่ะ ยิ่งคิดฟุ้งใหญ่ คิดออกวิเศษเลย พอตื่นขึ้นมา พอลุกขึ้นมา อ้าว, ผิดหมด ความคิดนั้นมันผิดหมด ความคิดที่คิดได้เมื่อนอนคิดน่ะผิด มันเป็นเพราะข้อนี้แหละที่พระพุทธเจ้าท่านว่า อยู่โคนไม้ คืออยู่กับธรรมชาติ อยู่กับก้อนหิน ก้อนดิน ต้นไม้ เป็นเกลอกับธรรมชาติ ความคิดมันไปในทางถูก ถ้าอยู่ในกุฏิ กับที่นอนอ่อนนุ่ม หรือว่าห้องหับอันอบอุ่นอะไรนี้ ความคิดมันไปทางอื่น และส่วนมากก็ไหลไปในทางเอาทางได้ ทางเอาจะเอา จะได้ แล้วก็ไหลไปในเรื่องวัตถุ เรื่องกามารมณ์ เรื่องวัตถุ เมื่อยังหนุ่ม ๆ อยู่ ยังแข็งแรงอยู่ ยังสู้อะไรได้นี่ ก็พยายามเข้มแข็งในการที่จะเป็นเกลอกับธรรมชาติ แล้วพยายามทำในจิตเหมือนกับว่าไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่อยู่หรือไม่มีการอยู่ ก็จะดีมาก เพราะฉะนั้นอย่ามีไอ้เครื่องประดับประดา ชนิดที่เป็นเหยื่อของกิเลส เป็นเหยื่อของวัตถุ อย่าให้มันมี ตามกุฏิที่อยู่ แล้วมันจะประจานตัวเองถึงความไม่เป็นพระ ไม่เป็นบรรพชิต ถ้าจะมีอะไรก็ให้มันมีอะไรก็ไปในทางที่แสดงความเป็นพระ เป็นบรรพชิต หรือไม่มีอะไรก็ยิ่งดี โดยเฉพาะที่อยู่ใน ๆ เข้าไป ลึก ๆ เข้าไปนั้นมันเป็นการรับ เป็นการประกาศตัวเองว่าจะอยู่อย่างผู้สงบ แล้วให้มันสงบ แล้วก็จะรู้สึกธรรมะชนิดที่กำลังพูดนี้ด้วย คือไม่มีอะไรสบายกว่ามีอะไร คุณไปคิดดูไม่มีอะไรนั่นแหละสบายกว่ามีอะไร ในเมื่อทำทางจิตไม่ได้ ก็ทำทางกายนี้ไปก่อน คือไม่มีทางกายไปก่อน ต่อสู้บังคับให้ไม่มีทางกายไปก่อน จนกว่ามันจะชนะได้ แล้วก็เป็นไปในทางจิต คือมีเหมือนกับไม่มี แม้จะไปอยู่ปราสาท วิมานอะไร ตอนหลังมันก็เหมือนกับอยู่โคนไม้ เหมือนกับอยู่กลางดินได้เหมือนกัน แต่แรก ๆ นี้อย่าเพิ่ง มันทำมันยาก เพราะตอนแรก ๆ นี้จะต้องศึกษา จะต้องฝึกฝน จะต้องต่อสู้กับไอ้ที่ไม่มีนี้กันเสียก่อน
ไอ้เรื่องวินัยมันช่วยได้ สิกขาบท วินัย มันจึงเป็นเรื่องบุพภาค เป็นเรื่องเบื้องต้น หรือเป็นในขั้นตระเตรียม เพื่อให้เคร่ง เพื่อให้ไม่มี เพื่อที่จะให้ช่วยให้ไม่มีในทางภายนอก ทางวัตถุ ทางระเบียบวินัย ความที่จะไปถึงขั้นธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจ ทางวัตถุจะมีหรือไม่มีก็ไม่ค่อยสำคัญนัก รวมความแล้ว อย่ามีอะไรเป็นของเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา อย่าทำอะไรเพื่อเป็นตัวเรา เพื่อเป็นของเรา อย่าได้อะไรมาเป็นตัวเรา เป็นของเรา นั่นน่ะมันจึงจะมีเหงื่อออกมาล้างตัวกูของกูอยู่เรื่อยไป อย่ามีอะไรเป็นตัวเรา ของเรา อย่าได้อะไรมาเป็นตัวเรา ของเรา อย่าทำอะไรเพื่อตัวเรา ของเรา คุณก็ทำไปเถอะ ไอ้เหงื่อนี้มันจะล้าง ล้างตัวกู ล้างของกูนี้เรื่อยไปเลย ถ้าทำอย่างอื่น มันเพิ่ม มันเพิ่มตัวกูของกู มันจะยุ่งกันใหญ่ ผลสุดท้ายมันจะพ่ายแพ้ มันจะพ่ายแพ้ทางธรรมะ ทีนี้การงานทำไปได้ตามเดิม แต่จิตใจต้องเปลี่ยนรูปไปในทางที่ว่ามันดีขึ้น ให้มันพิสูจน์ในตัวมันเองได้ว่าไม่ใช่ทำเพื่อกู เพื่อของกู อยู่แล้วก็มากขึ้น ๆ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงการงานให้ลำบาก และอีกทีหนึ่งก็ใช้ไม่ได้ คือไม่ทำอะไร ไอ้ที่ไม่ทำอะไรน่ะมันพูดได้ ได้แต่นั่งหลับตาภาวนาอยู่ที่โคนไม้ไหนตลอดเวลานี้มันทำได้ แต่มันพิสูจน์ไม่ได้ มันเป็นเรื่องโง่ชนิดหนึ่งก็ได้ เป็นความเข้าใจผิด คือบางทีไอ้ความขี้เกียจ ความเอาเปรียบนั่นเอง ผลักไป ให้ไปทำอย่างนั้น มันจะเอาเหงื่อไหนมาล้างตัวกูของกู คิดดูสิ ที่จะเอาสติปัญญา อริยมรรคมาล้างนั้นยังไกล ยังอยู่เหนือวิสัยของคนชนิดนี้
ฉะนั้นต้องทำกัน เมื่อเคลื่อนไหวอยู่ทุกอิริยาบถ เมื่อกิน เมื่ออยู่ เมื่อนอน เมื่ออาบ เมื่อถ่าย เมื่ออะไรก็ตามใจ แล้วอะไรที่มันเป็นช่องให้เห็นแก่ตัว อันนั้นแหละเอาเข้าไป เพื่อให้มันรู้ดี เห็นดำเห็นแดงกันว่าทำเพื่อเห็นแก่ตัวหรือเปล่า ความขี้เกียจมันก็เห็นแก่ตัว ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ถ้าไม่เห็นแก่ตัว มันก็มีประโยชน์ไปทุกอย่างแหละไปเคลื่อนไหวก็มีประโยชน์ทุกอย่าง เดี๋ยวนี้เราเลือกสรร และจัดสรรดีเป็นพิเศษอยู่แล้ว ขอให้มองให้เห็นข้อนี้บ้างว่าถ้าจะเสียเหงื่อไปบ้าง แล้วก็ไม่เสียหลาย ไม่เสียเปล่า จะต้องเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ไอ้เหงื่อมันต้องล้างตัวกูของกู ต่อเมื่อเห็นแก่ผู้อื่น ถ้าทำงานเพื่อลูกเพื่อเมีย เพื่ออย่างนี้ เหงื่อนี้มันก็ไม่ล้างตัวกูของกูอะไร ไอ้เหงื่อนั้นมันต้องไม่มีตัวกูไม่มีของกู แล้วมันจึงจะล้างตัวกูของกู แล้วมันจะสบาย จะสนุกในการกระทำนั้นด้วย เมื่อจิตวุ่นด้วยตัวกู การงานมันเป็นทุกข์ เมื่อจิตมันว่างการงานมันก็เป็นสุข หรือสนุก งานอย่างเดียวกัน คุณลองไปสังเกตดู ใครมีหน้าที่อะไรทำอยู่อย่างนั้น พอจิตวุ่นไปทางตัวกูของกู มันก็ต้องเป็นทุกข์ มันน้อยใจ มันเสียใจ มันเศร้ามันอะไรหลายอย่าง พอจิตว่างจากตัวกูไอ้งานนั้นอีกแหละ มันก็สนุก เป็นเรื่องสนุกไปได้ และเป็นสุขไปได้ด้วย เพราะมันได้เคลื่อนไหว ได้ Exercise ทั้งร่างกาย ทั้งมันสมอง ทั้งอะไรต่าง ๆ มันสบาย เหมือนเราเดินเล่นตามสบาย แล้วก็มันภาคภูมิใจในข้อที่ว่า เพื่อผู้อื่น
ดังนั้นภาวนาไว้ถึงข้อเพื่อผู้อื่นก่อน ก็หมดเลย มันจึงจะมีผลอย่างที่ว่านี้ คือว่าจะรู้สึกสบายต่อเมื่อรู้สึกว่าจะไม่เอา หรือจะสละ จิตเมื่อจะให้สบายกว่าจิตเมื่อจะเอา จะรู้จริง จะรู้จักจิตเหล่านี้จริง แล้วก็เข้าใจคำที่ผมพูด แล้วมันก็จะเป็นการทดสอบตัวเองขึ้นมาทันทีว่าไปถึงไหนแล้ว เป็นอิสระแก่ตัวให้มาก ให้ถูกวิธีให้ถูกทาง อย่าไปเป็นทาสของวัตถุ อย่าไปเป็นทาส หรือคล้อยตามบุคคลที่มันโง่ ไอ้เรามันก็มีปัญหาสองอย่างนี้ เดี๋ยวก็หลงไปเป็นทาสของวัตถุ ของสวย ของหอมของเอร็ดอร่อย เดี๋ยวก็ไปเป็นทาสของบุคคล ที่เกลี้ยกล่อม ชักจูง ชักชวน ไอ้ความเป็นทาสนี้มันไม่ดีทั้งนั้นแหละ แต่ว่าถ้าเป็นทาสของพระธรรม พระพุทธ พระสงฆ์ ยังดีกว่า ยังดีกว่าเป็นทาสของกิเลส หรือเป็นทาสของมนุษย์ด้วยกันนี้มันไม่ไหวแน่ ไม่ต้องคิดไม่ต้องสงสัย ที่ในที่สุดมันมีอยู่ที่ตรงนี้ เป็นทาสกิเลส ก็คือเป็นทาสตัวกู เป็นทาสของกู เป็นทาสไอ้ความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู คือว่าเป็นทาสของกิเลส กิเลสมันไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่นี่ กิเลสทั้งหมด จะเรียกโดยชื่อว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนี้ ว่ากี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่างก็ตาม มันมารวมอยู่ที่คำ ๆ เดียวว่าตัวกูของกู ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเกลียด ความกลัว ความอิจฉาริษยา ความอะไรก็ตามมันออกมาจากไอ้ตัวนี้ ออกมาจากตัวกูของกู
คำว่าให้ มันจึงควรสรุปความว่าให้ตัวกูของกูออกไป นี่คนชาวบ้านจะฟังไม่ถูก เพราะคำพูดมันมีอยู่สองคำ ดิ้นได้อยู่เสมอไป ไอ้ให้ตัวเรา ให้ตัวกูนี่มันต่างกัน เหมือนกับที่วันก่อนพูดถึงเรื่องตายอ่ะ ถ้าตายอย่างคนประมาทมันก็ไม่ควรตาย ถ้าตายอย่างสุญญตา ตายอย่างอนัตตานั้นควรตายอย่างยิ่ง ที่ว่าให้ตัวกู ถ้าให้แก่กิเลสนั้น อย่าให้เลย อย่าให้เป็นอันขาด พระพุทธภาษิต หรือธรรมภาษิตอะไรที่ว่าบุรุษไม่ควรให้ซึ่งตนนั้นน่ะ หมายถึงให้แก่กิเลส ที่เราสละตัวตนออกไปเสียนี้ไม่ได้ให้แก่กิเลส อย่างนี้ควรให้ ทำลายตัวตนเสีย ให้ตัวตนออกไปเสีย เพื่อจะได้หมดตัวตน ระวังให้ดี พระพุทธสุภาษิต หรือบาลีอะไรก็ตาม ถ้าเข้าใจผิดแล้ว มันผิดกันใหญ่เลย ซึ่งถ้าพูดว่าให้ตนเสียนี้ ให้ตัวตนของตน ตัวกูของกูหมดไปเสีย อย่างนี้มันถูก แต่ถ้าว่าให้ตัวตน ตัวคนแก่กิเลสไปทำตามอำนาจกิเลส อันนี้มันผิด ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงกันข้าม ดังนั้นคำที่เขาห้ามไว้ว่าอย่าให้ซึ่งตนนั้นนะ เขาหมายถึงให้ตัวตนแก่กิเลส ตามแต่กิเลสจะพาไป มันเป็นทาสของกิเลส ที่ต้องให้ตัวตนให้หมดออกไป สละตัวตนออกไป บริจาคตัวตนออกไป ให้แก่ใครก็ไม่รู้ เพราะถ้าไม่รู้ว่าให้แก่ใคร ก็คือให้แก่ความว่าง ทำให้มันว่างไป บริจาคตัวตนอย่างนี้มันควรบริจาค เพื่อว่ามันจะได้หมดตัวตนกันเสียที ระวังอย่าไปเพิ่มมันเข้า อย่าไปปลูกฝังมันเข้า อย่าไปรดน้ำพรวนดินมันเข้าโดยวิธีที่จะหาความสุขจากการให้ออกไป ไม่หาความสุขจากการเอาเข้ามา ให้สมกับความหมายของคำว่า “โมกข์ ๆ” คำว่าโมกข์นี่มันแปลว่าออกไป ไม่ใช่เข้ามา สวนโมกขพลาราม ป่าไม้เป็นกำลังแก่ความออกไป แก่โมกข-สัก(55.01) คือว่าออกไป นั้นมีความหมายถึงการออกไป หรืออะไรก็ตามที่มันมีอยู่ในสายตา จัดหรือกระทำให้มันส่งเสริมในทางออกไป ๆ กระทั่งว่าอยู่ในกรงก็มันไม่เป็นกรง กระทั่งว่ากินก็เหมือนกับไม่กิน กระทั่งว่าได้ก็เหมือนกับไม่ได้ แม้อยู่ในภาวะที่เขาเรียกกันว่าเอา ก็เหมือนกับไม่ได้เอา หรือไม่เอาจริงๆ
ดังนั้นไอ้วิธีที่ง่ายที่สุด ที่ปลอดภัยที่สุด ดีที่สุดสำหรับคุณที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก คือว่าอย่าเอาเข้ามาเพื่อตัว อย่าทำเพื่อตัว อย่าเพื่อตัวกูของกู เป็นอยู่เหมือนกับตายแล้วนั่นแหละ วิธีที่ปลอดภัยที่สุด คือไม่มีตัวกูเสียแล้ว นิพพานเสียก่อนตาย นิพพานคือตายเสียก่อนตาย หัดตายเสียก่อนตาย ไม่มีตัวฉันเสียแล้ว ถ้ามันไม่ได้ คือมันไม่ได้เด็ดขาด ก็ให้มันมีเวลาที่ไม่มีตัวฉันนั้นน่ะมากขึ้น ๆ ให้เวลาที่มีตัวฉัน ตัวกูนั่นน่ะให้มันน้อยลง ๆ จนแวบเดียวรู้สึก แวบเดียวรู้สึก เกิดตั้งอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตั้งอยู่ไม่ได้ มันว่างจากตัวฉันอยู่เรื่อย ๆ ไป มันก็ไม่มีโอกาสของกิเลส ไม่มีที่ตั้งที่อาศัยของกิเลส ทิฐิ มานะ ความอวดดี ความดื้อรั้น ความอะไรมันก็ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่เกิด
ฉะนั้นเร่เข้าไปหาการงานชนิดที่ทำลายความเห็นแก่ตัว หลีกห่างจากงานชนิดที่ว่าเพิ่มความเห็นแก่ตัว ไม่เท่าไรก็จะเกิดความสูงในทางจิตใจ สูงถึงระดับที่ว่า ความรู้สึกเมื่อจะให้นั้นสบายกว่าความรู้สึกเมื่อจะเอา นี่ก็เป็นเหมือนปรอท หรือเข็มวัด หรืออะไรอันหนึ่ง ที่จะต้องมีไว้ให้ทุกคน จงวัดดู ทดสอบดู อย่าบ๊งเบ๊ง ๆ วันหนึ่ง ๆ ไปด้วยความอวดดี ด้วยความสะเพร่า ด้วยความคิดว่าโอ้, กูถูกหมด ไม่ผิดเลย นั้นแหละคือความฉิบหายอย่างยิ่ง ถ้ามันโลเล แกว่งไปแกว่งมา ๆ แล้วแกว่งไปในทางที่มันไกลออกไปจากจุดหมายปลายทางโดยไม่รู้สึกตัวก็ได้ สำรวมระวัง อย่าไปมัวหัวเราะอยู่ อย่าไปพูดมากอยู่ มีสติสัมปชัญญะให้มากอยู่เรื่อย พอหัวเราะ พอพูดพล่ามนั่นคือไม่มีสติสัมปชัญญะ คุณดูให้ดี ๆ สังเกตให้ดี ๆ เมื่อไหร่มีการพูดพล่าม เมื่อไหร่มีการหัวเราะร่วนเมื่อนั้นหาสติสัมปชัญญะไม่ได้ ให้นิ่งเงียบ เหมือนไดนาโมล้านโวลต์นั้นละ มันเงียบถ้าไปถูกเข้ามันเป็นจุลไปเลย ต้องอบรมจิตในลักษณะอย่างนั้น แล้วจึงจะสู้กันกับกิเลสได้ เป็นอยู่ชนิดที่เราท้าทายกิเลส ไม่ใช่กิเลสท้าทายเรา ถ้าพูดโดยไม่สมมติ พูดอย่างภาษาธรรมะก็ว่า ให้สติปัญญา ให้โพธิมันท้าทายกิเลส อย่าให้กิเลสมันท้าทายโพธิ กิเลสมันก็เป็นความรู้ โพธิก็เป็นความรู้ กิเลสเป็นความรู้ชนิดหนึ่ง เป็นไปทางตัวกูของกู โพธิก็เป็นความรู้ชนิดหนึ่งไม่มีตัวกูไม่มีของกู ให้โพธิมันเย้ยหยันกิเลส อย่าให้กิเลสมันเย้ยหยันโพธิ
ทีนี้มันเผลอเสียเรื่อย กิเลสมันก็เย้ยหยันโพธิเรื่อยไป นี่ก็คือธรรมะปาฏิโมกข์ ทุกวัน ธรรมะสวนะ เจ็ดวันครั้ง แปดวันครั้ง เพื่อซ้อม หรือย้ำไอ้ความรู้สึก หรือความรู้ที่แล้ว ๆ มาอยู่เสมอ แล้วก็เพื่อขยายความบางอย่างออกไปให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่รวมแล้วไม่มีเรื่องอะไร นอกจากเรื่องตัวกูของกูเรื่องเดียว เพื่อว่าจะได้มีความก้าวหน้าในทางจิตใจ ไปสู่ความว่างจากตัวกูของกู คือมีร่างกายมีชีวิตมีจิตใจนึกคิดได้ แต่ไม่เจืออยู่ด้วยความหมายมั่นว่าเป็นตัวกูของกู ก็อยู่ด้วยแสงสว่างของโพธิ ของปัญญา ของสุญญตา ของอนัตตาไม่มีความทุกข์เลย นั้นจะรำคาญหรือไม่รำคาญก็ไปคิดดู พูดเรื่องเดียวซ้ำ ๆ ซาก ๆ พูดแล้วพูดอีก หลาย ๆ แขนง แยกแขนงออกไปในข้อปลีกย่อย แล้วอย่าเผลอลืมไปเสียว่าพูดอย่างเดียว พูดอย่างเดียวทุกตัวอักษร อย่างเปิดจากเสียงฟังอย่างนี้ละ ฟังหลาย ๆ หนก็ยังดีกว่าฟังหนเดียว ไปคิดดู แม้จะเปิดจานเสียงแผ่นเดียวฟัง ขอให้ฟังกันหลายสิบหนได้ยิ่งเป็นการดี เดี๋ยวนี้มันก็ไม่ถึงกับเปิดจากเสียงฟัง มันพูดให้เข้าใจคืบหน้าไปบางส่วน บางแขนงอยู่เรื่อย แต่อย่างนั้น ผมก็ยังยืนยันว่า เปิดเทปฟังหรือเปิดจานเสียงฟังเรื่องเดียวนั้นนะ ฟังหลาย ๆ หนก็ยิ่งดี ดีกว่าฟังเพียงหนสองหน อยู่ที่ความประจวบเหมาะ ความรู้สึก วันหนึ่งคืนหนึ่งมันไม่เหมือนกัน บางวันอ่านหนังสือมีรสมีชาติ บางวันเหลว การฟังก็เหมือนกัน บางวันมีรสมีชาติ บางวันก็เหลว ก็ฟังซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพื่อจะมีโอกาสอันหนึ่งที่มันดื่มด่ำในจิตใจ เข้าใจได้ดี ลึกซึ้งได้ผล นี่คือคำว่าธรรมะปาฏิโมกข์ ยังน่าฟังกว่าไอ้สวดปาฏิโมกข์ ซ้ำกันทุกตัวอักษร ทุก ๆ วันอุโบสถ ก็ยังทนฟังได้ ทนทำได้ รักษาไว้ได้เป็นการดี ฟังปาฏิโมกข์ ทุกวันปาฏิโมกข์ ทีได้ฟังธรรมะปาฏิโมกข์แบบนี้มันก็เหมือนกัน ดังนั้นควรจะฟังได้ เพื่อให้มันเบิกบานออกไป ทีละนิด ทีละหน่อย พอกันที ผมชักจะเพลีย