แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การพูดที่นี่ของเราก็รู้กันอยู่แล้วว่า ไม่มีเรื่องอะไรเป็นการลงปาฏิโมกข์เรื่องตัวกู ของกูเสมอไป นั้นต้องพยายามที่จะจับฉวยเค้าเงื่อนให้ดีๆ แล้วก็ให้ลึกยิ่งขึ้นไปตามลำดับ อย่าถือเสียว่ามันเป็นเรื่องดียวและมันก็อย่างเดียวเสมอไป เรื่องเดียวพูดได้มากแง่ พูดทุกแง่ก็เพื่อเข้าใจเรื่องนั้นดีขึ้น นั้นจะไม่พูดเรื่องอื่นเลย พูดแต่เรื่องเดียวนี้ ทบไปทบมา ทบไปทบมา จนเข้าใจดีที่สุด ถึงกับว่าปฏิบัติได้เพราะว่ารู้จักดีที่สุด
เดี๋ยวนี้ยิ่งพบความจริงข้อนี้มากขึ้น แม้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไอ้คนไม่เข้าใจเรื่องความว่างก็มีอยู่มาก มีอยู่พวกหนึ่ง ทั้งที่เอาไอ้เรื่องความว่างมาโดยตรงจากพระไตรปิฎก จากพระพุทธภาษิตมาอ่านอะไรอยู่อย่างนี้ก็ไม่เข้าใจ แล้วก็พาลหาเรื่องอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้นไปตามประสาคนที่ไม่เข้าใจ เรื่องสุญญตาในบาลีมีแยะแล้วก็ชัดเจนทั้งนั้น แล้วก็อ่านไม่เข้าใจ เพราะไม่รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัวกูของกู นั่นเอง ก็เลยไม่รู้ว่าว่างจากอะไร เอาจะให้เป็นว่างแบบไม่มีอะไรเสียตะพืด หรือบางทีก็แบบที่ว่า เอาตามใจชอบ ตามกิเลส นั่นเรียกว่า ความว่างหรือจิตว่าง นี่มันมีอยู่ ๒ พวกอย่างนี้ที่ไม่เข้าใจได้ พวกหนึ่งมันว่างไม่มีอะไรเลย เป็นอันว่าไม่มีความรู้สึกคิดนึกอะไรหมด พวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร มีแต่ว่าปฏิบัติไม่ได้ก็เลิกกัน นี้อีกพวกหนึ่ง คำว่า ว่าง นั้นคือ ไม่มีศีลธรรม ไม่มีหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมปล่อยไปตามชอบใจ อยากจะทำอะไรก็ทำอย่างนั้นตามกิเลสต้องการ แล้วบอกว่าไม่ยึดถือ เราไม่ยึดมั่นถือมั่น นั้นก็ไม่มีบุญไม่มีบาปอะไรเหมือนกัน นี่เราเรียกว่า ว่างอันธพาล ว่างของพวกอันธพาล นี่ถือว่ามีอะไรๆ คิดอะไรได้ แต่ว่าเอาตามที่ว่าไม่ต้องรับผิดชอบ
ทีนี้ไอ้ว่างที่ ๓ ตามแบบของพระพุทธเจ้านั้น มันก็มีอะไรได้ทุกอย่างเหมือนกัน เว้นแต่ว่าอย่ามีความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู เพื่อเห็นแก่ตัว ไอ้พวกว่างอันธพาลนั้น มันเห็นแก่ตัวจัด มันจึงหาทางออกเพื่อเป็นข้อแก้ตัว ทำอะไรตามกิเลสตัณหา นี่เรียกว่า ว่างอันธพาล เห็นแก่ตัวจัด นี้ว่างที่ถูกต้องนั้นต้องบรรเทาความเห็นแก่ตัว ไม่มีความเห็นแก่ตัวปรากฎ ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวในที่สุด ที่ว่าว่าง หรือความว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า นั้นคือ ว่างจากความเห็นแก่ตัว ไม่ยึดหรือไม่รู้สึก ไม่สำคัญมั่นหมายว่า อะไรๆ เป็นตัว หรือเป็นของของตัว มีเท่านี้เอง นี่ใจความสำคัญส่วนเกี่ยวกับความว่าง คืออะไร มันมีเท่านี้วิสัพพารมณ์
แล้วก็รู้ไว้เสียเลยว่า คำพูดคำเดียว ความหมายมีหลายอย่างนี้เป็นของธรรมดา เช่นคำว่า ว่าง ว่างไม่มีอะไรก็ได้ ว่างไม่รับผิดชอบเลยก็ได้ แล้วก็ว่างตามแบบที่มีสติปัญญาแท้ไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวหรือเป็นของตัว อย่างน้อยก็มีอยู่ ๓ ชนิด หรือ ๓ อย่าง ความหมายของความว่าง พวกขี้คร้าน ขี้ด่าที่ผมเรียกว่า พวกสุนัขปากร้าย พวกเหล่านี้มันก็รู้ ว่าคำพูดของมนุษย์ในโลกนี้ คำเดียวมีความหมายได้หลายอย่าง มันปรากฎแก่ในที่ทั่วไป ในกรณีทั่วไป นั้นเขาจึงต้องจำกัดความหมายลงไปว่าในทางไหน ในทางแง่ฟิสิกส์ หรือแง่เมตาฟิสิกส์ หรือว่าทางวัตถุ หรือทางที่ไม่ใช่วัตถุ ที่ไม่ใช่วัตถุยังมีว่าในแง่ของจริยธรรม หรือว่าในแง่ของศาสนา หรือในแง่ของปรัชญานี้มันยังมีอีกหลายอย่าง
นั้นในแง่ผิดหรือแง่ถูกก็คือว่า แง่ของอันธพาลหรือว่าแง่ของบัณฑิตนักปราชญ์ เช่น คำว่า บุญหรือบาป นี่ แง่ของอันธพาลก็ไปอย่าง แง่ของนักปราชญ์ผู้บริสุทธิ์ ผู้ยึดความถูกต้องเป็นหลักก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ทั้งที่เรียกว่า บุญและบาปเหมือนกัน หรือแม้แต่คำว่า นิพพานนี่ ก็มีหลายชั้น นิพพานของวัตถุก็มี คือของร้อนๆ เย็นลงไป นิพพานของสัตว์เดรัจฉานก็มี คือสัตว์เดรัจฉานหมดโทษ หมดพิษร้าย หมดพยศ แล้วของคนก็ยังมี มีตั้งหลายระดับ คนพวกหนึ่งเอากามารมณ์สมบูรณ์เป็นนิพพาน พวกหนึ่งเอาสมาธิ สมาบัติเป็นนิพพาน นี่พระพุทธเจ้าท่านเอา ความดับตัวกูของกูได้เย็นสนิทนี่ ว่าเป็นนิพพาน มันยังต่างกันอยู่อย่างนี้ แม้ในหมู่คนด้วยกัน นี่เอาไปเทียบถึงสัตว์ ถึงวัตถุมันก็ไปคนละเรื่อง คนละเรื่องไปเลย นั้นหล่ะขอให้เข้าใจไอ้หลักพื้นฐานอย่างนี้ไว้เสมอไป ก็ต้องพูดทบทวน คำว่า จิตว่าง นี่ เหมือนกับนอนหลับ หรือถูกยาสลบ หรืออะไรมันก็ว่างไปได้เหมือนกันแบบวัตถุ ว่างทางวัตถุนั้น นี้ว่าอยู่ในสมาบัติ ในฌาณ ไม่มีตัวกูนี่ก็ข่มไว้ ชั่วข่มไว้เท่านั้น ก็ว่างเหมือนกัน หรือว่าเราอยู่ตามปกติมันก็ไม่เกิด มันก็ว่างอยู่เหมือนกัน เว้นแต่อะไรมายั่วทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันจึงจะเกิด อันนี้ก็เรียกว่า ว่างตามธรรมชาติ ว่างตามสิ่งแวดล้อมประจวบเหมาะให้มันว่าง เมื่อใดสิ่งแวดล้อมมันมาในทางให้ไม่ว่าง คือวุ่นขึ้นมา ก็วุ่นขึ้นมา ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ หรือแม้แต่คิดนึกเอาตามลำพังความคิดนึกก็ยังได้เหมือนกัน เป็นไม่ว่าง
นั้นไอ้ความว่างแม้ว่าจะต่างกันอย่างไร ถ้ามันเป็นไปในทางที่ปราศจากตัวกูของแล้ว รสชาติมันเหมือนๆ กัน มีผลเหมือนๆ กัน ถ้าเป็นความว่างว่าเอาเองด้วยความมุทะลุดุดัน เต็มไปด้วยตัวกูของกูนั้น มันก็ไม่ใช่ความว่าง แต่แม้จะมีคนบางคนเรียกว่า ความว่าง ด้วยจิตว่างนี้ อย่างคึกฤทธิ์เขามาล้อว่า ฮิปปี้ เป็นพวกมีจิตว่าง นี่มันว่างแบบอันธพาล มันคนละแบบ ก็เรียกว่าว่างเหมือนกัน แต่ว่าไม่เหมือนกัน กับพวกที่ว่างจากตัวกู ของกู ไอ้ว่างจากตัวกูของกูนี้จะเป็นว่างชนิดไหนก็ตาม รสชาติเหมือนๆ กัน เช่น นอนหลับก็สบายดี นั่งอยู่ในที่สงบ สงัด จิตใจโปร่ง ไม่มีตัวกูของกู รบกวนมันก็สบายดีเหมือนๆ กัน แล้วอยู่ในฌาณสมาบัติเสียก็ว่างสบายดี ก็เหมือนๆ กัน แล้วหมดกิเลส ไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดตัวกูของกูก็ว่างสบายดี แล้วก็เหมือนๆ กันทั้งนั้น ใน ๔-๕ อย่างนี้ เพราะมันว่างจากตัวกูด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันบ้างก็เพียงชั่วขณะ ชั่วคราวหรือว่าเป็นระดับต่ำ แต่ความหมายมันสบายเหมือนกันหมด นั้นว่างอย่างไหนที่ว่างจากตัวกูของกูแล้วก็เอาให้ได้ทีก่อนเถอะ
พระพุทธเจ้าท่านยังตรัสว่า ถ้าพูดกันด้วยเรื่องที่ไม่ใช่ธรรมะ แล้วไปนอนเสียดีกว่า ทั้งที่ตามธรรมดาก็ตรัสตำหนิติเตียนไอ้การนอนว่าเป็นของไม่สมควร นี่ไปนอนเสียมันก็ยังมีความว่างได้บ้าง ชนิดหนึ่งก็สบายดี คนก็ชอบนอนกันอยู่ แต่จะเอามาเป็นความว่างหรือสุญญตานี้ไม่ได้ มันคนละแบบ ไอ้ว่างสุญญตานี้ หมายความว่า สติปัญญา มันตัดหรือทำลายตัวกู ของกูลงไปทีเดียวจึงจะเป็นสุญญตาจริง อยู่ในฌาณสมาบัติไม่เกิดตัวกูของกูก็ยังไม่เรียกว่า สุญญตา เขาเรียกอย่างอื่น ถ้าอาศัยสติสัมปชัญญะ และปัญญาเป็นเครื่องมือ ทำจิตให้ว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูอย่างนี้ เรียกว่าความว่างนี้ว่า สุญญตาได้ แล้วจิตชนิดนี้ ที่เห็นความว่างชนิดนี้ มันก็ว่างตามแบบพระพุทธเจ้า ไม่ใช่จิตว่างอย่างอันธพาล
นี่เป็นเรื่องทบทวน คำว่า ความว่าง หลายๆ แบบ แล้วว่างที่แท้จริงนั้นต้อง ..ที่มีประโยชน์ เป็นธรรมะที่ประกอบด้วยธรรมะ นั้นก็คือ ว่างจากตัวกูของกู ทีนี้ก็มีปัญหาเกิดขึ้นมาอีกว่า ไอ้ตัวกูของกูนี้มันอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ และคนที่ไม่รู้เอามากๆ ก็ตัดบทเสียเลยไม่อยากรู้ โดยเขาถือว่าถ้าไม่มีตัวกูของกูแล้ว คนเราจะมีชีวิตได้อย่างไร เขาตัดบทว่าถ้าไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูเป็นของกู แล้วคนเราจะมีชีวิตได้อย่างไร ทีเราก็บอกว่า เราตัดบทบ้างว่า พระอรหันต์ไม่ต้องมี ตัวกูของกูท่านก็ยังไม่ตาย ไอ้คนที่จะถียงก็มีทางเถียงได้ว่า พระอรหันต์นี่จะต้องมีตัวกูของกูแบบใดแบบหนึ่งอยู่ ก็เลยเลิกพูดกันนี้ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อเป็นอันธพาลถึงขนาดให้พระอรหันต์มีกิเลสว่าตัวกูของกู แล้วก็พูดกันไม่รู้เรื่องแน่ ก็เป็นอันว่าแยกทางกันเดิน พวกที่อยากจะเอาประโยชน์จากเรื่องสุญญตานี้ก็ต้องแยกทางกันเดิน มาตามทางที่ว่า ความรู้สึก เอ้อ..ความสำคัญมั่นหมายว่า ตัวกูของกูนี้ เป็นสิ่งที่กำจัดออกไปได้ หรืออย่างน้อยก็ควบคุมได้ ควบคุมอย่าให้มันเกิด หรือให้เกิดน้อยลงที่สุดให้น้อยลง น้อยลงจน จนๆ ยากที่จะเกิด อย่างนี้ทำได้ ถ้าว่าตัดออกไปเสียได้ ก็เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้ก็เรียกว่ามันหมดหน้าที่ ถึงหน้าที่สูงสุด
นี้คนธรรมดาสามัญ ยัง ยังขุดรากเหง้าของไอ้ตัวกูของกูไม่ได้ ก็คอยควบคุมมัน มีสติสัมปชัญญะควบคุม พระพุทธภาษิตที่ว่า ที่สอนพระโมฆราช สุญญโต โลกํ อเวกขัสสุ นี่ก็หมายความว่ากำลังกระทำอยู่ พยายามอยู่ ถึงใช้คำว่า สทา สโต มีสติอยู่ทุกเมื่อ ในการเห็นโลกเป็นของว่าง สุญญโต โลกํ อเวกขัสสุ มีสติเห็นโลกเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อ คำว่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ก็คือยังกำลังฝึกอยู่ก็ได้ มีสติ พยายามมีสติอยู่ทุกเมื่อ อย่าเผลอ อย่าเผลอเห็นโลกเป็นตัวตน ของตนขึ้นมา ให้เห็นโลกเป็นของว่างจากตัวตนอยู่เสมอ แปลว่าสำนวนพูดจานี้มันดิ้นได้อย่างที่เคยพูดให้ฟังหลายหนมาแล้วว่า สำนวนพูดนี่มันดิ้นได้ คืออาจจะพลิกไปเสียว่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ก็หมายความว่า ผู้ที่ตัดกิเลสได้แล้วเท่านั้น มีสติอยู่ทุกเมื่อ อย่างนี้มันก็หมายถึงผู้ที่เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว แต่พุทธเจ้าท่านตรัสเป็นคำกลางๆ ให้หมายความอย่างไรก็ได้ ผู้ที่ยังมีกิเลสก็จงมีสติทุกเมื่อ ในการที่จะเห็นว่าไม่มีตัวตนนี้ ที่ผู้หมดกิเลสแล้วก็เห็นอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องตั้งใจเห็น มันก็เห็นอยู่ รู้สึกอยู่ รวมความในที่สุดว่า จงพยายามที่จะเป็นผู้มีสติอยู่เสมอ อย่าให้เผลอเกิดความรู้สึกเป็นตัวตน ของตน ขึ้นมาได้ ไม่ว่าในกรณีอะไร ในอิริยาบทไหน
เอาหล่ะทีนี้ก็เคยพูดอยู่ซ้ำๆ ซากๆ ว่าไอ้เรื่องปัญหาของเราทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรแล้ว มันเหลืออยู่แต่ที่เรื่องตัวกู ของกูอย่างเดียว เรื่องที่มาบวช มาเรียน มาปฏิบัติ มาอะไรกันอยู่นี้ ปัญหาเหลืออยู่แต่เรื่อง ตัวกูของกู อย่างเดียว นอกนั้นไม่ใช่ปัญหา ให้พยายามควบคุมแล้วก็ตัดรอน ตัดทอนออกไปให้มันสิ้นสุด เมื่อยังตัดรอนไม่ได้ก็ต้องควบคุมมันไปอย่าให้มันอาละวาดขึ้นมา แล้วก็ยังแยกว่า แยกให้เห็นว่า ตัวกูแบบไหนก็ได้ ตัวกูแบบโลภ แบบโกรธ แบบหลง เพราะมันจะวนเวียนกันอยู่ที่นี่ ตัวกูของกูมันอยากจะได้นั่น ได้นี่ขึ้นมา แบบ แบบไอ้ความโลภ เมื่อไม่ได้มันก็เปลี่ยนเป็นตัวกูชนิดที่โกรธ ประทุษร้ายขึ้นมา หรือเมื่อมันยังไม่มีไอ้ ๒ อย่างนี้ มันก็โง่ คลำหาหรือว่าสงสัย หรือว่ารำคาญ หรือว่าอะไรอยู่ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ลองไปคิดดูเอาเองว่า วันหนึ่งๆ มีตัวกูชนิดไหนมาก ก็พอจะมองเห็นได้ เป็นรายๆ บุคคลไปเลย บางบุคคลมันก็มีความโลภ เห็นแก่ได้มากเป็นเจ้าเรือน บางคนก็เป็นเรื่องยกหูชูหาง อยากดิบ อยากดี อยากเด่น มันเป็นเรื่องโง่ นี่ถ้ามีบุคคลที่ ๒ เข้ามาด้วย ก็มักจะเป็นตัวกูเรื่องโกรธ เมื่อทำการทำงานอะไรร่วมกัน ไม่ได้อย่างใจ ไม่ได้พูดกันเลยมันก็ยังโกรธกันได้ ไม่ถูกใจ ไม่สบอารมณ์ก็โกรธกันอยู่ในใจ กระทั่งมันทะเลาะกันด้วยปาก กระทั่งวิวาทกัน นี่เรียกว่าปัญหาอื่นไม่มี เหลืออยู่ปัญหาเดียว คือเรื่องตัวกู ของกู ว่าที่จริงมันก็เป็นคำพูดที่ไม่มีทางผิด เป็นกำปั้นทุบดิน ไม่มีทางผิด ไม่ว่าใครที่ไหน มีปัญหามาจากอันนี้ทั้งนั้น แต่ว่าที่พวกนั้นมันมากเกินไป เราเห็นมันมากเกินไป นี่เอากันว่าละมาบ้างแล้ว ละมามากแล้ว มาบวชเป็นพระ เป็นเณรแล้ว ศึกษาเล่าเรียนแล้ว เรียนนักธรรม เรียนบาลีแล้ว ซึ่งมันควรจะน้อยลงมาก มันก็ยังเหลือไอ้หมอนี่ คือไอ้เรื่องตัวกู ของกูนี้อยู่ อยู่เรื่อยไปเผลอเมื่อไรก็เป็นเมื่อนั้น
ทีนี้ก็มาถึงวิธีที่จะจัดการกับมัน ก็โดยหลักที่ว่า ป้องกันไม่ให้เกิด เกิดขึ้นมาก็รีบละอายหรือกลัว ให้มันหายไป ไอ้ที่ป้องกันไม่ให้เกิดนี่คือมีสติ มีสติรอบด้าน สติหลายชนิด สติมาก มากชนิด เรื่องสตินี้มัน มันมากหลายชนิดต้องพูดกันเป็นพิเศษ แต่รวมความแล้วก็ต้องมีสติที่จะป้องกัน แล้วก็สตินี้มันก็ต้องแยกเป็นทั้งต่อหน้าและลับหลัง ลับหลังเช่นเราเจริญอานาปานสติ พิจารณาอยู่เสมอ มันยังไม่เกิด พิจารณาลับหลังป้องกันไม่ให้มันเกิด เรานั่งเจริญกรรมฐานอย่างอานาปานสติ นี่คือ วิธีทำสติชนิดที่ป้องกันไม่ให้มันเกิด ดูโทษของมัน ดูอะไรของมันอยู่เสมอจนจิตมันเกลียดกลัว การเกิดของตัวกู มันก็เกิดยาก ทีนี้เมื่อจะเข้าไปสู่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจอะไร ก็ตาม เมื่อจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอารมณ์นั้นๆ แล้วก็มีสติเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่นจะไปบิณฑบาตรอย่างนี้ จะรู้ว่าจะต้องพบ วิสภภารมณ์ (นาทีที่ 22.41) เรื่องเพศบ้าง เรื่องอาหารอร่อย ไม่อร่อยอะไรบ้าง มันก็ต้องมีสติล่วงหน้า ป้องกันไว้ เมื่อไปเผชิญกับอารมณ์นั้นแล้วก็อย่าได้เสียท่า เสียที นี่เรียก สติต่อหน้า สติลับหลังก็คือเจริญสติอยู่ลับหลัง เมื่อไม่มีอะไรมาเผชิญ และเมื่อจะต้องเผชิญหรือกำลังเผชิญก็ต้องมีสติอยู่เรื่อยไป ดูปัญหาใหญ่ก็ไม่มีอะไร เรื่องเพศตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าก็ท่านตรัสอย่างนั้นเพราะไม่มีปัญหาอะไรมาก สำหรับเป็นผู้หญิงนอกจากเรื่องผู้ชาย ไม่มีปัญหาอะไรสำหรับผู้ชาย นอกจากเรื่องผู้หญิง ไอ้เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แยกเป็นอย่างๆ ไป ก็ต้องมีสติเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ แล้วแต่ว่ามันเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง อย่างนี้เรียกว่า สติต่อหน้าและสติลับหลังก็อย่าให้ขาด หมั่นพินิจพิจารณาอยู่เสมอให้เห็นโทษ อันเลวทรามของสิ่งเหล่านั้น แล้วเกลียดกลัวอยู่เสมอ อันนี่เรียกว่าป้องกันไม่ให้เกิด
ทีนี้มันเกิดขึ้นแล้ว ก็เอามาเสียใจให้มาก ละอายให้มาก ที่จริงไอ้เรื่องกิเลสนี้มันง่ายอย่างมากอยู่อย่างว่า พอรู้ว่ากิเลสมันก็หายไปทันที แต่ว่าเมื่อมันหายไปแล้ว ก็อย่าอวดดี อย่าเพิ่งอวดดี เอามาเสียใจให้มาก ละอายให้มาก เดี๋ยวนี้พบหลายองค์แล้ว พระ เณรหลายองค์แล้ว เป็นอันธพาล เพราะว่ามันเกิด รู้ว่ามันเกิดแล้วหายไปแล้วก็ไม่นึกถึงแล้ว ถือเป็นตัวดีไปแล้ว และก็ยกเลิกความผิดอันนั้นเสียด้วย ว่าไม่น่าละอาย ไม่น่ากลัวเสียด้วย อย่างนี้ต้องเรียกว่า เป็นอันธพาล แล้วๆ ไป แล้วๆ ไป มันจะไปเข้าจิตว่างแบบอันธพาลเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ไอ้แล้วต้องไม่แล้วไป ต้องเอามาเสียใจให้มาก ต้องละอายให้มาก เป็นเวลานานๆ เขาเรียกว่า สำนึกบาป อย่างปลงอาบัติสำนึกบาป ต้องมาเสียใจให้มาก ละอายให้มากอยู่เรื่อยไป มันจึงจะป้องกันได้ ถ้าตัดบทสั้นๆ เอาแล้วๆ ไป ช่างหัวมันนี่ก็ มันก็ยิ่งส่งเสริมให้มันเป็นอย่างนั้นมากขึ้น นี่อย่าลืมว่ากิเลสนี่มันง่ายนะ พญามารนี่ง่าย พอรู้พญามาร เปิดหายไปทันที แต่แล้วก็อย่าชะล่าใจ อย่าถือว่ามันเสร็จกันเพียงแค่นั้น มันต้องเอามาเสียใจให้มาก ละอายให้มาก อย่าให้มันมาได้อีก นี่แหละเรื่องของตัวกู ของกูที่เกิดเป็นประจำวันมากมายเหลือเกิน เกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งเป็นเรื่องๆ หนึ่งก็เรียกว่า ปฏิจสมุปบาท รอบหนึ่งมีคนมันเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความทุกข์เสร็จไปเรื่องหนึ่งรายหนึ่ง เรียกว่า ปฏิจสมุปบาท รอบหนึ่งทีเดียว วันหนึ่งหลายๆ รอบ ถ้าเผลอเมื่อไร ก็มีเมื่อนั้น ถ้าสติมีมาก็เกิดไม่ได้หรือเกิดได้ครึ่งท่อนมันก็กลับหลังหันได้ เป็นเพียงเวทนาขึ้นมา เป็นผัสสะ เป็นเวทนาขึ้นมา สติมาทันท่วงที รู้เท่าทันเวทนานั้น ไม่ปรุงตัณหาอุปาทานเลย ก็เรียกว่า ปฏิจสมุปบาท ไม่มี ไม่ใช่ครึ่งท่อน เรียกว่าไม่มีดีกว่า เพราะปฏิจสมุปบาทนี้ต้องถือว่ารอบวงเสมอ ต้องถือเอาในกรณีที่เผลอสติแล้วเกิดเป็นทุกข์เสมอ แล้วจึงจะเรียกว่า ปฏิจสมุปบาท ถ้าครึ่งท่อนเพียงเวทนาแล้วรู้สึกตัวเสียได้อย่างนี้ ไม่เรียกว่า ปฏิจสมุปบาท ยังเรียกได้ว่า เป็นผู้มีสติอยู่ หยุดมันเสียได้เพียงแค่เวทนา
แต่โดยมากมันก็ มันหมายความแยกกันตรงที่ว่า ไอ้เป็นปฏิจสมุปบาทสมบูรณ์ นั่นคือ โง่ตลอดสาย ไป รูปกระทบตา กระทบเสียงด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา นี่ยั้งไม่อยู่มันไปตลอดสาย ไอ้ที่จะยั้งอยู่มันจะต้องมีสติ ในเมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง เป็นต้น แล้วก็มีวิชามีความรู้ รั้งตัวไว้ได้เพียงแค่เวทนา พอถึงเวทนารู้อะไรเป็นเวทนาเข้าแล้วหยุดชะงักได้ ไม่ปรุงตัณหาอุปาทาน ไอ้ที่ทำอย่างที่เรียกว่า ตาเห็นรูป สักว่าเห็น หูได้ฟังเสียง สักว่าได้ยิน จมูกได้ดมกลิ่นสักว่าได้ดมนี่ ให้มันอยู่แค่นั้น ไม่เลยไปเป็นตัณหาอุปาทาน มันก็เป็นเรื่องที่ลำบากอยู่ตรงที่มันเร็วมาก ถ้ามันเป็นเรื่องช้าๆ อืดอาดมันคงจะป้องกันหรือแก้ไขกันได้ทุกคน เดี๋ยวนี้มันไวมาก ไวเกินไป เป็นเรื่องของจิต ซึ่งมีความไวมาก แล้วต้องอาศัยความไม่ประมาททั้งข้างหน้าทั้งข้างหลังทั้งต่อหน้าทั้งลับหลัง ข้างหน้าก็ป้องกันโดยวิธีที่ถูกต้องหลายๆ ชั้น หลายๆ แบบ ข้างหลังก็คือสำนึกผิดและเสียใจให้มากอย่างที่กล่าวแล้ว
นี่ถ้าอยู่กันอย่างนี้ มันก็ดี เรียกว่ามันจะเป็นไปเพื่อขูดเกลาไอ้ตัวกู ของกูอยู่ตลอดเวลา แล้วป้องกันอยู่ตลอดเวลา ตลอดเวลามีทั้งการป้องกัน และการขูดเกลา เมื่อเราทำความรู้สึกตัวไว้เรื่อย มันก็ป้องกันได้ และเมื่อมันไม่เกิดนานๆ เข้า นานๆ เข้า มันเป็นการขูดเกลาด้วย มันทำให้สิ่งนั้นขาดปัจจัย ขาดอาหาร นี่ถ้าเราไปทำมันผิดพลาดบ่อยๆ มันเคยชิน มันเหมือนกับบ่มมันให้แรงขึ้น นี่ก็ต้องป้องกันอยู่ตลอดเวลา มันก็เหมือนกับว่าไปทำลายมัน ไปตัดหนทางมัน ไม่บ่มมัน มันก็มีทางที่จะร่อยหรอไป นี่อย่าไปคิดว่ามันเป็นเรื่องอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ มันเป็นเรื่องที่อยู่กับเราตลอดเวลา นาที ชั่วโมงเลย ทุกๆ เวลา ทุกๆ นาที ทุกๆ ชั่วโมง ที่มีการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสแล้วก็คิดนึกอยู่ได้ เพราะว่าวันคืนของเรามันล่วงไปด้วยอย่างนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่ของมัน แล้วถ้าโง่ มันก็ไปในทางเกิดความทุกข์ ถ้าฉลาดมันก็ไม่มีทางที่จะเกิดความทุกข์ แต่นี่มันเป็นมาเสียจนตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่อ้อนแต่ออก ไม่เคยไปรู้สึก ไม่เคยนึกคิด ไม่เคยควบคุม ไม่เคยรู้จักมันด้วยซ้ำไป มันก็ผิดมากถึงขนาดนี้ ขนาดที่แก้ไขยาก เรียกว่า วัฒนธรรมไม่ดีก็ได้ ถ้ามีวัฒนธรรมดีของชนชาติที่มีวัฒนธรรมดี ในสมัยที่มีวัฒนธรรมดี ไอ้สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่มากอย่างนี้ แล้วก็ถูกห้ามปราบสั่งสอนอบรมอะไรกันมาตั้งแต่เล็กๆ มันก็ค่อยยังชั่ว เดี๋ยวนี้ไม่มีไอ้เรื่องทำนองอย่างนั้น มีแต่ส่งเสริม มีแต่ปล่อยไปตามต้องการ ก็มีมาก เดี๋ยวนี้เด็กๆ เป็นไปในทางถูกปล่อยปละละเลยทางวิญญาณมากขึ้น มากขึ้น ก็เป็นภูติผีปีศาจในร่างมนุษย์มากขึ้น ๆ มันก็มีปัญหามากขึ้นเป็นธรรมดา แต่มันอย่ามาอยู่ในร่างของพระ เณร จะดี
นั้น ไอ้คำว่า พระนี่ เป็นภาษาไทยนะ คำว่า พระ เณร นี่ พระนี่เป็นภาษาไทย แปลกันว่า ประเสริฐ ประเสริฐ พระคือ ประเสริฐ มาจาก วร แปลว่าประเสริฐ นี่มันน่าหัวอย่างยิ่ง ประเสริฐที่ตรงไหนคุณไปดูเถอะ ถ้าเป็นพระจริง ก็ประเสริฐจริงเหมือนกัน เป็นพระอรหันต์เสียมากกว่าที่จะเป็นพระ เป็นพระอรหันต์ถึงจะเรียกว่าเป็นพระ ในภาษาบาลี ภาษาสันสฤต ที่เราสอบสวนค้นคว้าดู ไม่ได้ใช้คำนี้ ไม่ได้ใช้คำว่า วร วโร อะไรนี่ ใช้คำว่า ยติ แปลกดีไหม ยติ ย.ยักษ์ ต.เต่า สระอิ คำว่า ยติ แปลว่า ผู้สำรวม ผู้ควบคุมตัวเอง ศัพท์ว่า ยติ แปลว่า ผู้ควบคุมตัวเอง เขาเรียก พระว่า ยติ ทั้งนั้น อย่างในเมืองไทย เรียกว่า พระสมัยนี้ ในอินเดียสมัยโน้น จนกระทั่งสมัยนี้ยังคงเรียกว่า ยติ ๆ อยู่ แต่ก็มีคำที่สะเพร่ามาก คือว่า เรียกนักบวชทุกแขนง ทุกชนิด ทุกนิกาย ว่า สาธุ สาธุ นี่ก็แปลว่า ดีเหมือนกันนะ สาธุ ก็แปลว่า ดี เหมือนกัน นี่มันพูดอย่างไม่รับผิดชอบ คือพูดอย่างขนบธรรมเนียมประเพณี ว่า ถ้าเป็นพระ เป็นนักบวชแล้วก็ต้องดี ต้องดีกว่าธรรมดา เลยเรียกว่า สาธุไปหมด อย่างผมไปนี่เขาก็เรียก สาธุ ไอ้นักบวชไม่นุ่งผ้านั่นก็เรียกว่า สาธุ เป็นคำชาวบ้านเรียกเป็นกลางๆ ว่า สาธุ สาธุ มาแล้ว แล้วบางทีจะเป็นคำนี้ ที่มันมาใช้ในประเทศไทยเรา พอเห็นพระมาให้เด็กว่า สาธุ คือไหว้ ที่จริงสาธุ ไม่ได้แปลว่า ไหว้ คำว่า สาธุไม่ได้แปลว่า ไหว้ หรือว่านมัสการ หรืออะไร มันเป็นคำนาม ที่แปลว่า พระนักบวช คนจะว่า สาธุมาๆ แล้วก็ให้ไหว้ ที่ต่อมามันเข้าใจผิด เปลี่ยนเป็นคำว่า สาธุ นี้คือไหว้ คำว่า สาธุการ ก็ไม่ได้แปลว่า ไหว้ สาธุการแปลว่า แสดงความยินดีรับเอา
นั้นสิ่งที่ควรจะสนใจ คำว่า พระ ในอินเดีย เขาใช้กันอยู่ คำว่า ยติ ยติ หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ผู้ทำการควบคุมจิตใจ ทรมานจิตใจ ฝึกฝนจิตใจอยู่โดยเฉพาะ จึงได้เรียกว่า ยติ ยติ นี่มันก็ไม่พ้นไปควบคุมไอ้ตัวกูของกู มันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องควบคุม ถ้าเป็นเรื่องทางเพศมันก็เป็นตัวกูของกู เรื่องราคะ ถ้าเป็นเรื่องโกรธ ก็เป็นเรื่องตัวกูของกู เรื่องโทสะ ที่โมโหก็มีอยู่มาก นั่นเหล่านั้นก็เป็นเรื่องหลงงมงาย แล้วก็แข็งข้อ ควบคุมสิ่งเหล่านี้ คือว่า กำจัดสิ่งเหล่านี้ ตัดรอนสิ่งเหล่านี้ ก็เรียกว่า ผู้ควบคุมตัวเอง เรียกว่า ยติ ยติ
บันทึกเก่าๆ ที่เกี่ยวกับเมืองไทย คำให้การอะไรของพราหมณ์คนหนึ่ง ที่มาจากอินเดียใต้ มาให้การกับพระเจ้าแผ่นดินเมืองไทย เขาก็ใช้คำว่า ยติมา มียติอย่างนั้นอย่างนี้ ตรงกับในบาลีเดิมๆ ชาวบ้านเรียกพระว่า ยติ ยติ แล้วคงจะมาใช้ในแหลมมลายูเรานี้ด้วย สักยุคหนึ่ง แต่แล้วไม่ทราบมันเป็นอย่างไร มันหายไป มีคำว่า พระขึ้นมาแทน นั้น เราให้ถือความหมายของคำว่า พระนี้ อย่างเดียวกับยติ เป็นผู้ประเสริฐ ประเสริฐที่ตรงไหน มันประเสริฐตรงที่ควบคุมตัวเอง อย่าประเสริฐเฉยๆ สักว่าบวชแล้วเป็นพระแล้วก็ประเสริฐเสียแล้ว แล้วก็ไม่ต้องทำอะไร มันก็เป็นไปไม่ได้ มันต้องตั้งหน้าตั้งตาควบคุมตัวเอง ควบคุมกิเลส อยู่อย่างไม่เห็นแก่หน้าใคร เดี๋ยวนี้มันไม่ควบคุมตัวเอง มันไปบูชากิเลส เอากิเลสเป็นตัวเอง เอากิเลสเป็นพระเจ้า เอากิเลสเป็นพระพุทธเจ้า นั่นความดื้อ ความหัวรั้นที่ไม่ยอมทำตามคำแนะนำ มันก็เป็นอย่างนี้ อยากจะมีกิเลสเป็นพระเจ้าอยู่เรื่อย ยกหูชูหาง มันเป็นเรื่องต้องการดี ต้องการเด่น กิเลสมันไม่อยากจะลดหูลดหาง มันอยากจะยกหูยกหางอยู่เรื่อย ยกหูชูหางอยู่เรื่อยไป ถ้าพูดตามทางธรรมแล้ว มันไม่มี โอกาสที่เราจะอวดดี อวดเด่น หรือยกหูชูหางมันไม่มี เพราะว่าแม้จะดีจริง เขาก็สอน และกำชับไม่ให้ใครรู้ ไม่ให้ใครรู้นะ นี้ถ้าดีไม่จริง ไปอวดเข้าก็ปรับอาบัติ ไม่ใช่คนไปเลย มันถึงขนาดนี้ ถ้าเป็นพระจริงมันทำความดีโดยไม่ให้คนอื่นรู้ว่าทำความดี กลัวเขาจะนับถือ กลัวเขาจะมายกย่องกันใหญ่ มันเป็นอันตรายทันที เดี๋ยวนี้มันอยากให้เขายกย่อง มันก็ยิ่งบ้าเลย เพราะทางที่ถูกนั้นมันไม่ควร เพราะมันเป็นอันตราย มันเป็นอันตรายไปทุกๆ แง่ ทุกๆ มุม มันทำให้ลืมตัว หรือมันทำให้เกิดยึดถือ ขลังศักดิ์สิทธิ์ไปเลย หรือบุคคลกลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ไปเลย อย่างนี้มันมีแต่ทางเสีย และมันทำให้ลำบาก มันให้ยุ่งยากลำบากไปเสียทั้งนั้น
หลักแต่โบราณกาลเขาจึงหาหนทางป้องกันไอ้ตัวกูของกู ที่จะยกหูชูหางนี่ไว้เสร็จแล้ว คืออย่าทำความดี ให้ใครเห็น ถ้ามีความดีก็ไม่อวดใครเลย นี่ถ้าว่าทำความดีในที่ที่คนต้องเห็น ก็อย่าไปแสดงในลักษณะที่มันเป็นเรื่องดีเรื่องเด่นอะไร ทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาๆ นี่ผมก็รู้ว่าใครๆ ก็ไม่ชอบอย่างนี้ พูดไปก็เกือบจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่ว่าหลักธรรมะมันมีอยู่อย่างนี้ แล้วจะให้พูดอย่างไร เดี๋ยวนี้เขาก็ใช้เบ่ง เบ่ง กันนะ คือว่าอยากให้ใครๆ เห็นความดีของตัวมากเกินความเป็นจริงเสียอีก แต่ถ้าเป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์ เขาไม่อยากให้ใครรู้ว่า ตัวมีความดีอะไร เพื่อจะไม่เกิดเรื่องกันทั้งสองฝ่าย ไม่รบกวนแก่ผู้นั้นด้วย และไม่ทำให้คนอื่นเขาคิดผิดไปก็ได้
ที่นี้อาจจะมีคนสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้น จะสอนทำไม จะเอาเป็นตัวอย่างกันได้อย่างไรในทางความดี มันก็ตอบกำปั้นทุบดินว่า ให้ถือเอาเป็นตัวอย่างในการที่จะไม่อวดดีนั่นแหละ ผู้ที่ทำตัวอย่าง ทำตัวอย่างในการไม่อวดดี และคนที่จะทำตามตัวอย่างก็ทำตามในทางที่จะไม่อวดดี มันก็แล้วไปเท่านั้นเอง เป็นคนสันโดษมักน้อย และก็ยอม ยอมได้ เป็นคนยอมได้ ไอ้ยอมนี่ เขาเรียกว่า แพ้ แต่ที่จริงมันไม่ใช่แพ้ เป็นความชนะ ไอ้ที่ไม่ยอม คือแพ้ แพ้อย่างหมดท่า ไอ้ไม่ยอม เถียง ไม่ยอม หรือไม่ยอมอะไรก็ตามที่เรียกว่า ไม่ยอมนั่นคือ แพ้อย่างหมดท่า ส่งเสียงเอ็ดตะโร โบ้งเบ้งๆ เป็นสุนัข เป็นห่าน เป็นอะไรไปเลย นี่คนไม่ยอม มีมานะทิฐิในการที่จะไม่ยอม ถ้าคนยอมก็เงียบไป ให้เรื่องมันเงียบไปก็ทำไปแต่ในทางที่มันถูก ไม่ต้องให้ใครยกย่องสรรเสริญอะไร คนที่ยอมแพ้เสียได้ เป็นคนที่ทำให้เรื่องมันเงียบไป ไม่เกิดเรื่อง นี่เรียกว่า เป็นพระ เป็นพระในหลายแง่ เป็นพระที่ทำให้เรื่องไม่เกิด เป็นพระที่ข่มใจตัวเองได้ เป็นพระที่ละไอ้ความมานะทิฐิอะไรได้ ไอ้คนที่เอาชนะให้ได้เขาเรียกว่า เป็นมาร แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร เขามีความหมายอย่างนี้ ก็ให้ยอมเสียได้นั่นมันก็เป็นพระ ถ้าไม่รู้จักยอมนี่เป็นพญามาร ก็เป็นเรื่องตัวกูของกูโดยตรง ก็เป็นมาร เป็นอะไรขึ้นมา ถ้าเป็นเรื่องของพระก็คือไม่มีตัวกู ของกูเกิดขึ้นในขณะนั้น มันยอมได้ ตัวอย่างที่ดีก็มี อันแรกที่สุดก็อย่างเรื่อง พระอานนท์ พระพุทธเจ้านิพพานลงใหม่ๆ มีคนมาปรับท่านอย่างนั้น ปรับท่านอย่างนี้ ทั้งที่ท่านไม่ได้ทำ และไม่ได้มีเจตนาจะทำ ในที่ประชุมสงฆ์ท่านก็ยอม ยอมๆๆ หมดเลย ลงโทษอย่างไรยอมๆๆ แสดงอาบัติอย่างไรก็ยอมๆๆ หมดเลย นั่นเป็นตัวอย่างที่ดี ในวันที่พระพุทธเจ้านิพพานแล้วใหม่ๆ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครยอมใคร ผิดยังยอม หากตัวเป็นถูกตัวก็ยิ่งไม่ยอมใหญ่ แล้วมันก็เลยผิดใหญ่ เพราการไม่ยอมนั้น กลายเป็นคนผิด คนเลวไป เพราะไม่ยอมนั้น ไอ้เรื่องบุคคลเลยหายไปเสียเปล่าๆ ขาดทุนเปล่าๆ นี่เห็นไหมว่า เรื่องตัวกูของกูมันมีอย่างไร มันมีมากไป ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง เรื่องยอมเรื่องไม่ยอม เรื่องอยากดีอยากเด่น เป็นเหตุให้ไม่ยอมเพราะว่าเข้าใจว่าถ้ายอมแล้วมันไม่ดี ไม่เด่น ที่จริงมันกลับจะดีกว่าหรือว่าเด่นกว่า แต่ว่าไม่มีใครเห็น มันเป็นเรื่องทางวิญญาณ ไปเสีย
เอาแหล่ะ ที่พูดมาตั้งแต่ทีแรก คำแรกจนถึงคำบัดนี้นั้น ให้ถือว่า มันเป็นเรื่องที่ ไม่ใช่ของใครหรือของพวกใดโดยเฉพาะ ให้มองให้ลึก ให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ร่างกายจิตใจ ความรู้สึกคิดนึกที่ประกอบกันขึ้นเป็นมนุษย์นี่ มนุษย์คนไหนในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นแต่เฉพาะพุทธบริษัท หรือว่าพวกศาสนาไหน ไม่ใช่ มันเป็นแก่ทุกคน เรียกว่า เป็นเรื่องของคนโดยกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ นั้นมองให้เห็นว่า ไอ้เรื่องตัวกูของกูนี้ ไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ เรื่องของคนทุกคนในโลกไม่ว่าศาสนาไหน ไอ้ทีนี้ก็ศาสนาไหนก็ตาม ใจความของศาสนานั้น มันอยู่ตรงนี้ ทำลายไอ้นี่ ทำลายตัวกูของกูนี้ ทำลายความเห็นแก่ตัว หรือทำลายความเห็นแก่ตัวของกู ทั้งนั้นเลย พอเราพูดไปอย่างนี้ มีคนเถียงว่า ไม่ได้ ศาสนาพุทธต้องดีกว่าศาสนาอื่น ต้องแปลกจากศาสนาอื่น แล้วเขาก็ไปพยายามหยิบเอาในแง่เลวๆ ของศาสนาอื่น แง่ต่ำๆ แง่ที่ไม่ใช่หัวใจของศาสนานั้นมาพูดว่าเป็นหัวใจของศาสนานั้น เพื่อให้ไกลกันเสียกับพุทธศาสนา อย่าให้มาเหมือนพุทธศาสนา นี่มันเป็นตัวกูของกูจัดถึงขนาดนี้ เอาศาสนาเองเป็นเหตุให้เกิดตัวกูของกูจัดถึงขนาดนี้ อันนี้พูดกันไม่รู้เรื่อง
ศาสนาอื่นเขาก็มีวิธีปฏิบัติของเขาอย่างไรก็ตามเถอะ แต่เขามุ่งหมายจะกำจัดไอ้เจ้านี่เหมือนกัน ไอ้เรื่องตัวกูของกู ส่วนเขาจะใช้วิธีอย่างอื่น วิธีความเชื่อ วิธีอะไรก็ตามมันเรื่องของเขา วิธีของเขา ไอ้เรื่องปลีกย่อยนั้นไม่ใช่เรื่องศาสนา ไม่ใช่หัวใจของศาสนา มันมีแฝงด้วยในทุกๆ ศาสนา ในศาสนาพุทธนี้ก็มี เมื่อให้เข้าใจ ให้มองเห็นว่าเป็นเรื่องของคนทุกคนในโลก ก็ต้องรู้จักสิ่งที่ร้ายกาจที่สุดสิ่งนี้ว่า มันเกิดขึ้นจิตได้อย่างไร เป็นความรู้สึกชนิดไหนเกิดขึ้นมาแล้วเป็นอย่างไร ให้รู้จักไอ้ตัวนี้ ตัวกูของกูโผล่หัวมาเมื่อไรให้รู้จัก เมื่อนั้นจะอ่านหนังสือศาสนารู้เรื่อง อ่านสูตร เรื่องสุญญตารู้เรื่อง ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ไม่รู้เรื่อง มันก็เป็นเพียงอ่านหนังสืออยู่ร่ำไป
จิตที่ว่างจากตัวกูของกูชนิดนี้ เรียกว่า จิตว่าง หรือความว่างจากตัวกูของกูชนิดนี้ เรียกว่า ความว่าง หรือสุญญตาที่ถูกต้อง นั้นอย่าไปเรียนที่อื่นกันเลย เรียนจากเนื้อตัวจิตใจของตัวเองเป็นประจำวัน เกิดยกหูชูหางเมื่อใดให้รู้เมื่อนั้น เกิดเป็นตัวกูของกูสำคัญมั่นหมายไปในทางความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี เมื่อไรให้รู้เมื่อนั้น ให้รู้เมื่อนั้น พอรู้ มันหายไป หายไปแล้วมาเสียใจให้มาก ข้าศึกหนีไปแล้วเรามาเสียใจให้มาก ทำอย่างนี้ทั้งนั้นตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี พอมันจะเกิดผิดปกติขึ้นในจิต แล้วก็ให้สันนิษฐานเรื่องนี้ไว้ก่อน ถ้าจิตมันผิดปกติขึ้นมาแล้ว ให้สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องตัวกูของกูนี้ทันที แล้วก็มองดูว่าในแง่ ของความโลภ หรือความรัก ราคะ หรือโลภะ หรือโทสะหรือโกรธะ หรือโมหะ หรือไอ้มานะ อะไรก็ตาม มันก็พบทันที พบแล้วละอายให้มาก ในฐานะเป็นพระเป็นเณรละอายให้มาก ในฐานะมันเป็นความทุกข์ก็กลัวให้มาก ในฐานะที่ว่าเป็นมนุษย์ก็ไม่ควรจะมีสิ่งนี้ ก็เสียใจให้มาก มีความละอาย มีความกลัว มีความเสียใจ ๓ อย่างนี้ช่วยได้ ถ้าไม่รู้จักอาย ไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักเสียใจแล้วก็ดูมันไม่มีทางแล้ว มันหมดหิริโอตัปปะแล้ว เกินเสียแล้วเกินไป นั้นถ้าผู้ใดยังมีหิริ โอตัปปะอยู่ ต้องรู้จักละอาย รู้จักกลัว รู้จักเสียใจ รู้จักสำนึกบาป รู้จักขอโทษ รู้จักทำคืนใช้คืน ทำคืน
เอาล่ะ ตรงนี้ อยากจะย้ำถึงเรื่องว่า หิริ โอตัปปะไม่ใช่ของเล็กน้อย ให้จำไปด้วย ดูๆ ว่าสังเกตเห็นประมาท ดูหมิ่นเหม่หิริโอตัปปะ เป็นธรรมะเล็กน้อยไปเสีย แล้วมันก็ล้มละลาย เพราะเหตุนี้ คนโดยมากหรือครูที่สอนนักธรรมในโรงเรียนนั้นเอง สอนไปในลักษณะที่ว่า หิริโอตัปปะ สติสัมปชัญญะ ขันติโสรัจจะ นี้เป็นเรื่องเล็กน้อย เบื้องต้น หญ้าปากคอก ที่จริงมันเป็นเรื่องที่ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ เป็นเรื่องสูงสุด มีหิริโอตัปปะอย่างเดียวก็เป็นพระอรหันต์ ละอาย เสียใจ กลัวทุกครั้งที่ทำผิด ทำบาป ทำผิด แล้วมันก็จะทำผิดน้อยลงๆๆ จนไม่มีการทำผิดอีกเลย ที่จะรักษาหิริโอตัปปะไว้ได้ มันต้องอาศัยสติสัมปชัญญะเหมือนกัน หรือมันช่วยกัน ผลัดกันรักษา อันนี้มันก็รักษาอันนี้ อันนี้มันก็รักษาอันนี้ เหมือนสิ่งที่มันประกบยึดโยงกันอยู่ทั่วๆ ไปนี่ มันต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่รักษาซึ่งกันและกัน นี่เราก็มีหิริโอตัปปะ มีสติ สัมปชัญญะ กระทั่งขันติโสรัจจะอะไรก็ตาม เป็นธรรมะหมวด ๒แล้วก็พอที่จะเป็นพระอรหันต์ แล้วเป็นหัวใจเสียด้วย เป็นชั้นหัวใจเสียด้วย ไอ้ธรรมะหมวดต่อๆ ไป มันข้อปลีกย่อยไปเลย
นั่นถึงพูดว่าไปสอนกันเสียใหม่ ไอ้พวกครูสอนนักธรรมไปสอนกันเสียใหม่ ไอ้พวกนักเรียนนักธรรมนี่ก็เหมือนกัน ไปเรียนกันเสียใหม่ ให้ถูกต้องและเพียงพอกับความหมายของธรรมะหมวดเหล่านี้ ที่เรียนมาแล้วนั่นเรียนอย่างประมาท เรียนมาอย่างผิวเผิน อย่างเตลิดเปิดเปิง ไป พอท่องได้ จำได้ ตอบคำถามได้ สอบไล่ได้ ทำไมมันจะสอบไล่ไม่ได้ เพราะเขาถาม ๗ ข้อเท่านั้น คำถามสอบไล่มีเพียง ๗ ข้อ ความรู้ธรรมะแล้วมันต้องมากมายหลายๆ มันก็ต้องผ่านไปได้ เพราะคำถามมันเพียง ๗ ข้อ นี่ยังไม่เคยถามเรื่องหิริโอตัปปะ สติสัมปชัญญะ กันด้วยซ้ำไป นี่ถ้าถามก็ถามเป็นเรื่องตัวหนังสือ จดท่องบ่น เป็นความรู้เด็กๆ ก็ได้มันก็ตอบได้เสร็จไป นี้พอให้ไปเรียนกันเสียใหม่ ไปดูกันเสียใหม่ เหมือนอย่างที่ผมว่านี่ หิริโอตัปปะนี้จะขูดเกลาตัวกูของกูได้อย่างไร สติสัมปชัญญะมันป้องกัน ลดอาหารไอ้ตัวกูของกูได้อย่างไร ไปดูกันเสียใหม่ในแง่นี้ นี่จะเป็นความรู้นักธรรมที่สูงยิ่งกว่าชั้นเอกเสียอีก ไม่ใช่ชั้นตรีเหมือนที่เมื่อเรียน เมื่อความรู้ข้อนี้เมื่อเรียน เรียนนักธรรมชั้นตรี มันก็ผิวเผินอย่างนี้ ที่จริงเป็นความรู้ที่ยิ่งกว่า ชั้นเอกหรือชั้นพิเศษ หรือชั้นอะไรเสียอีก เป็นชั้นพระอรหันต์โน่น นี่จึงว่า ไปดูกันเสียใหม่ ไปเรียนกันเสียใหม่ นวโกวาทนั้นหล่ะ มีความหมายที่ลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ในที่ว่างระหว่างบรรทัดในหน้ากระดาษมากมายเหลือเกิน ตัวหนังสือ ๒-๓ ตัวนั้น เป็นเรื่องของเด็กอมมือสำหรับท่องจำ ใครๆ ก็จำได้ แล้วก็ตอบได้แค่นั้นเอง ช่วยอะไรไม่ได้ ไปดูเสียใหม่ ดูหิริโอตัปปะที่มีอยู่เนื้อในตัวของคน ดูสติสัมปชัญญะที่มีอยู่ในเนื้อในตัวของคน อย่าไปอยู่ในกระดาษอย่างนั้น แล้วก็ดูให้ลึกให้ละเอียดให้เห็นไอ้ชนิดที่มันร้ายกาจ หรือวิเศษจริงๆ นี่จะแก้ตัวกูของกูได้ ป้องกันก็ได้ แก้ไขก็ได้ จะตัดทอนกำลังหรืออาหารของไอ้ตัวกูของกูอยู่เรื่อยไป มันจะผอมลงๆๆ ถึงวันหนึ่งมันก็จะขาดสูญ ความเคยชินที่จะเกิดชนิดนั้นอีก เกิดไม่ได้อีก ก็มีนิสัยสันดานที่สะอาดหมดจดจากตัวกูของกู เป็นขันธ์ เป็นเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ คือว่ามันสิ้นเชื้อสิ้นความเคยชินที่จะเกิดไอ้อย่างนี้ มันไม่เกิดอีกต่อไป มันเลยว่างอยู่ตลอดเวลา ว่างแท้จริงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่างประจวบเหมาะ ไม่ใช่ว่างเพราะข่มไว้หรือไม่ใช่ว่างเพราะนอนหลับ แต่เป็นการว่างที่แท้จริงเพราะมันขาดเชื้อหรือ ขาดความเคยชินที่มันจะเกิดวุ่นขึ้นมา มันก็ไม่เกิดวุ่นอีก พยายามให้มันไปในแนวนี้
นั้นต้องมองดูข้างใน ต้องเรียนจากข้างใน อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านกำชับ ตรัสกำชับไว้ว่ามันอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่ยังมีชีวิตเป็นๆ อยู่ วิวัฏฏ์(นาทีที่ 56.40) ก็ตามวัฏฏสงสารก็ตาม เหตุให้เกิดตามวัฎฎสงสารก็ตาม ทางให้ถึงนิพพานก็ตาม ๔ อย่างนี้อยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่ยังเป็นๆ ยังไม่ตาย ไม่ใช่ซากศพ ก็เป็นอันว่าไอ้เรียนหนังสือ อ่านหนังสือ มันเป็นเพียงศึกษาวิธี สำหรับมาเรียนจากของจริง คือร่างกายนี้ นี้มันถึงเวลาแล้ว เพราะมันเรียนกันมาหลายปีแล้ว จากหนังสือ ก็ถึงเวลาที่จะต้องเรียนจากร่างกายนี้ เดี๋ยวนี้ยังชอบหนังสือ ยังมีหนังสือ ยังอ่านหนังสืออย่างเดียว แล้วชอบมีมากๆ ไว้อวดคน อยากมีหนังสือมากๆ ไว้เบ่งทับคนอื่น อันนี้มันยิ่งไปกันใหญ่ ตัวกูของกูมันยิ่งหนาแน่นขึ้นมาอีก มันก็เลยเป็นหนอนหนังสือที่เกิดและตายอยู่ในหนังสือ เหมือนพวกฝรั่งเขาเรียก หนอนหนังสือ เกิดในหนังสือ ตายในหนังสือ กินหนังสือแล้วตายอยู่ในหนังสือ ไม่มีทางจะรู้ความหมายของหนังสือ หรือที่พวกไทยเราว่า จวักตักข้าวห่อนรู้รสแกง หรือชาวอินเดียว่า กบในสระบัวไม่รู้กลิ่นหอมของดอกบัว นี่เราอยู่ด้วยหนังสือ อยู่ด้วยพระไตรปิฎก หรืออยู่ในธรรมชาติอันสงบนี้ก็ไม่รู้ ไม่รู้ความหมายของสิ่งเหล่านี้ เหมือนจวักไม่รู้รสแกง เหมือนกบไม่รู้กลิ่นหอมของดอกบัว หรือสมัยใหม่ว่า หนอนหนังสือไม่รู้จักหนังสือ มีแต่กินหนังสือให้พรุนไปอย่างเดียว
เอาหล่ะในที่สุดก็อยากจะพูดว่า อย่าประมาท อย่าประมาท เดี๋ยวนี้พูดมาก พูดมากจนเลือนไปแล้ว จนความประมาทได้โอกาสแล้ว วันนี้ก็จะพูดชำระสะสางให้ป้องกันความประมาท ให้เรียกความไม่ประมาทให้มาเต็มที่ตามเดิม กลัวว่าไอ้ความไม่ประมาทนี้มันจะจืดจางไป หลายๆ วัน หลายๆ เดือน หลายๆ ปี ยิ่งจืดจางไป เพราะเราก็ไปทำงานอย่างอื่นมาก เรื่อง มากเรื่องที่จะทำให้เผลอเกิดความประมาท แต่แล้วเราไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ มันเป็นคนโง่และความประมาทมันเกิดเมื่อทำอะไรนั่นเอง
ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่พบกับความประมาท ความประมาทมันเกิดเมื่อเราทำอะไร ทำการทำงาน ทำอะไรนี่มันเกิด ที่เราจะต้องทำการงานเหล่านั้นโดยที่ความประมาทไม่อาจจะเกิด ความประมาทไม่อาจจะเกิดต้องเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เสมอ นั้นหล่ะจึงจะเรียกว่า เป็นผู้มีธรรมะข้อนี้ คือ ความไม่ประมาท ทีนี้ถ้าไม่ทำอะไรไปนอนเสียสิ เอ้า ก็ไปนอนได้ ไปนอน แล้วมันจะเกิดอะไรลองคิดดูจะเกิดความประมาท หรือความไม่ประมาท หลีกการงานที่ว่าจะทำให้เกิดความประมาทเสีย ไปนอนเสีย แล้วมันจะเกิดอะไร จะเกิดความไม่ประมาทได้หรือไม่ ไม่มีทาง มันเกิดความประมาทยิ่งกว่าเดิม เกิดความโง่ เกิดความขี้เกียจ เกิดความประมาทยิ่งกว่าเดิม นั้นต้องทำอะไรชนิดที่จะเป็นเหตุให้เกิดกิเลสนั่นแหละ เป็นทางเกิดของกิเลสนั่นแหละ เป็นตาก็เห็นรูป หูก็ฟัง เสียงก็ได้ยิน ดมกลิ่นอย่างนี้ มันเป็นทางเกิดของกิเลส แต่แล้วก็อย่าให้มันเกิด รู้เท่าทัน ที่ไม่ให้มันเกิด นี่จึงจะเกิดความไม่ประมาทขึ้นมา
เพราะนั้นเราช่วยไม่ได้ที่จะทำให้ตาบอดเสีย ทำหูให้หนวกเสีย ที่จะทำจมูกให้ใช้ไม่ได้เสีย นี้มันทำไม่ได้ มันมีประโยชน์อะไร เว้นจะพูดเป็นสำนวนอีกอย่างหนึ่งว่า ตาดีก็ทำเหมือนตาบอด หูดีก็ทำเหมือนกับหูหนวกนี้ มันก็พูดได้ หมายความว่าอย่าไปรับอารมณ์เอามาปรุงเป็นตัวกูของกู แต่ต้องให้มันได้ยิน ได้เห็น ได้ดมได้อะไรอยู่ตามธรรมดาของมัน แต่อย่าให้มีผลเป็นตัณหาอุปาทานขึ้นมา อย่างนี้พูดได้ มีตาเหมือนตาบอด มีหูเหมือนหูหนวก มีจมูกเหมือนจมูกไม่มี แต่ที่จะไปทำลายมันเสียเอาไฟไปจี้ให้ตาบอดนี้ มันไม่มีประโยชน์อะไร แล้วมันบ้าหรือมันคนโง่ ร้ายไปกว่าเดิมอีกและไม่มีทางที่จะบรรลุนิพพานได้ด้วย ไอ้หูหนวก ตาบอด ไอ้ทางวัตถุนั้นใช้อะไรไม่ได้ ถ้าหูหนวก ตาบอดทางวิญญาณนี่ใช้ได้ เมื่อมีตาเหมือนตาบอด มีหูเหมือนหูหนวก มีจมูกเหมือนไม่มีจมูก อย่าไปปรุงให้เกิดสังขารเป็นตัณหาอุปาทาน นี่ผมเรียกเอาเองว่า หูหนวก ตาบอดทางวิญญาณ ทางวัตถุมันไม่ได้หนวกได้บอด ได้เสียอะไร แต่ทางสติปัญญาทางวิญญาณนี้มันมีค่าเหมือนกับว่ามันไม่ได้ทำงาน ตามกิเลสตัณหาได้ มีค่าเท่ากับตามธรรมดานั้นก็คือ ไม่ปรุงแต่งเป็นความทุกข์ นี่ฟังดูแล้วมันก็กลับไปกลับมา ฟังยาก ไอ้สิ่งเดียวกันนั้น บางทีมันก็เป็นศัตรู บางทีก็เป็นมิตร ถ้าเราใช้ถูกเป็นมิตร ใช้ผิดเป็นศัตรู นั้นใครจะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างมิตรหรืออย่างศัตรูก็เอาตามพอใจ มันจะได้เห็นดำ เห็นแดงกัน
เดี๋ยวนี้ถ้าว่าจะเอากันอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านรักท่านเอ็นดูเราล่ะก้อ ต้องระวังอย่าให้เป็นทางเกิดของตัวกูของกู ตถาคต พระพุทธเจ้าท่านตรัส ตถาคตเกิดขึ้นในโลกเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขและประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดา และมนุษย์ นี้ธรรมะหรือระเบียบปฏิบัติ ธรรมะของตถาคต มีอยู่ในโลกเพียงไรก็เป็นประโยชน์ ความสุข เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์เพียงนั้น แล้วพอถึงทีว่า เอ้า ไป ไปประกาศศาสนา พวกเธอไปประกาศศาสนา เพื่อประโยชน์ ความสุข เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ทั้งเทวดา และมนุษย์ นี่มันหมายถึงความเอ็นดู ความเมตตา ปราณีแก่สัตว์ทั้งหลายในโลก ด้วยธรรมะที่ตรัสรู้และสั่งสอนมีใจความเพียงว่า อย่าเกิดตัวกูของกูขึ้นมาในชีวิตประจำวัน แล้วก็ความเป็นอยู่ ผาสุกสะดวกสบาย ทำประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ได้โดยไม่ต้องหวังอะไรตอบแทน ชีวิตอย่างนี้เรียกว่า ความไม่ประมาท นี่จึงเตือนว่า ต้องอยู่ด้วยความไม่ประมาท และคำว่า ไม่ประมาท คำนี้ ให้ถือเป็นคำพิเศษ ใช้คำอื่นแทนไม่ได้ จะใช้คำอื่นแทนมันก็ไม่สมบูรณ์ ก็มีสติอย่างนี้ก็ ไม่ประมาท อย่างนี้ก็ไม่เต็ม คำว่า ไม่ประมาทนี้มันเต็มไปหมด ไม่มีอะไรขาดเลย เมื่อ เมื่อ เมื่อไม่ประมาทมันก็ต้องทำถูกต้องไปหมด ทำถูกต้องไปหมด เรียกว่า ไม่ประมาท ไม่ใข่ว่าไม่ประมาทอยู่เฉยๆ เพียงแต่นึกๆ คิดๆ ไม่ใช่อย่างนั้น
ไม่ประมาท และเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท และกระทำอยู่ด้วยความไม่ประมาท นี้มันครบหมด คำนี้ แปลเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้เช่นเดียวกับคำว่า ธรรม ธรรม พระธรรมแปลเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่มีคำไหนเหมือน นั้น คำว่า ไม่ประมาทนี่ก็เหมือนกัน แปลเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่มีคำไหนเหมือน ต้องใช้คำบาลีไปตามเดิม ไทยเราใช้คำบาลีไปตามเดิม ก็สะดวกดี ไม่ประมาทตามตัวหนังสือแปลว่า ไม่มัวเมา ไม่มัวเมาเท่านั้นเอง ตัวหนังสือว่าอย่างนั้น แต่ความหมายแยะไปหมด หนังสือบางเล่มแปลว่า ความเลินเล่อ นี่ ยิ่งเหลือนิดเดียว ความประมาทคือ เลินเล่อ ความไม่ประมาทคือ ไม่เลินเล่อ นี่เหลือนิดเดียว ความหมายเหลือนิดเดียว อย่าแปลดีกว่า อัปปมาทะ ก็ความไม่ประมาทไปเลย มาทะก็ความประมาทไปเลย เดี๋ยวนี้มันมาถึงขนาดที่ไม่ต้องแปล รู้ความหมายเต็มที่ ความไม่ประมาทนี่มันมหาศาล ความหมายมันมหาศาลนับตั้งแต่ว่ามีสติ และมีความรู้ก่อนนะ มีความรู้ที่ถูกต้องและมีสติที่จะรักษาความรู้ ความถูกต้องนั้นไว้ได้แล้ว มันมีความขยันขันแข็ง ไม่ขี้เกียจ และก็ไม่ทำผิดพลาด ไม่สะเพร่า ไม่เลินเล่อ อะไรหมดรวมอยู่ในคำไม่ประมาท เป็นคำเดียว เป็นอยู่ในลักษณะนั้นใช้ได้ เรียกว่า ไม่ประมาท มีสตินำหน้าอยู่เสมอ มันระลึกได้ ไม่ให้หลงผิดอยู่เสมอ แล้วขยันขันแข็ง อย่างยิ่งในหน้าที่อันนั้น และก็ไม่สะเพร่า ไม่เลินเล่อ ไม่มัวเมา ไม่อะไรที่เป็นของแทรกแซงเข้ามา เป็นอยู่ด้วยสติปัญญา และการกระทำที่ถูกต้องตลอดเวลา อย่างขยันขันแข็ง นี้เรียกว่า ความไม่ประมาท แปลเป็นภาษาไทยไม่รู้ว่าใช้คำไหน ภาษาอังกฤษก็ไม่รู้ใช้คำไหน นี้ความน่าอัศจรรย์ของธรรมะที่มีอยู่ในรูปภาษาบาลีในประเทศอินเดียสมัยโบราณ เอาล่ะ สรุปความก็คือว่า ไม่ประมาทย้อนต้น ย้อนหลังตามที่เคยพูดกันมาแล้ว นานมาแล้ว