แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรื่องจะพูดที่นี่ก็เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูทั้งนั้น จนเราเรียกมันว่า ธรรมปาฏิโมข์ แล้ววันนี้ก็จะพูดเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่แง่ใดแง่หนึ่งตามเคย สำหรับหัวข้อในวันนี้อยากจะเรียกว่า “สันทิฏฐิโกเกี่ยวกับตัวกู”
สำหรับคำว่า “สันทิฏฐิโก” ต้องถือว่าเป็นหลักสำคัญที่สุดในพุทธศาสนา ถ้าพวกคุณไม่สะเพร่าเกินไปแล้วก็เอาใจใส่หลักที่มันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็จะรู้อะไรได้ดี เดี๋ยวนี้ก็สวดกันแต่ปากว่า สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก อย่างนกแก้วนกขุนทอง แล้วตามปกติก็เป็นอยู่ด้วยความประมาท ไม่ค่อยจะหนักแน่นในธรรม ก็เลยมันมองข้ามหรือมันพ้นๆ ไปเสียหมด ไอ้หลักสำคัญที่อยู่ในรูปของหญ้าปากคอกหรืออะไรทำนองนี้ เพราะนั้นจึงต้องเอามาพูดกันใหม่ แล้วโดยเฉพาะผู้บวชใหม่ก็หลายองค์ คือเราจะต้องถือเป็นหลักว่าพุทธศาสนานี้ วางหลักลงไปว่าไอ้สิ่งที่จะเชื่อได้นั้นต้องเป็นสนฺทิฏฺฐิโก คือเห็นเอง รู้สึกอยู่ด้วยใจเอง มีเหตุผลของตัวเอง อย่างเรื่องกาลามสูตร ถ้ายังไม่เคยอ่านก็ต้องไปหาอ่าน แล้วขวนขวายแล้วก็จำไว้ เป็นหลักจนตลอดชีวิต
ไอ้กาลามสูตรทั้งหมดนั่นแหละ คือเรื่อง สนฺทิฏฺฐิโก นับตั้งแต่อย่าเชื่อเพราะว่ามันได้ยินเขาว่า หรือว่าบอกเล่าต่อๆ กันมา กระทั่งว่ามันมีอยู่ในพระคัมภีร์ มีอยู่ในปิฏกอยู่ในพระไตรปิฏก กระทั่งว่ามันเป็นคำของครูบาอาจารย์ของเรา หรือผู้พูดอยู่ในฐานะที่ควรจะเชื่อได้ทำนองนี้ตั้งหลายข้อด้วยกัน แม้ที่สุดแต่ว่าคาดคะเนเอา มา ตกฺกเหตุ มา นยเหตุ นี่คือ logic ก็พูดได้ว่า แม้ว่าเรื่องนี้มันไม่ขัดกับ logic ก็ต้องเชื่อ อย่างนี้ก็ไม่ได้ก็ยกเลิกกันหมด ยอมให้แต่เป็น สนฺทิฏฺฐิโก อย่างเดียว เช่น พูดว่า ราคะ โทสะ โมหะ เป็นกิเลสเป็นความทุกข์ เป็นไปเพื่อความทุกข์ มันต้องรู้จักโลภะ โทสะ โมหะ ที่เคยมี แล้วก็เคยเป็นทุกข์มาแล้วจริงๆ คืออย่างน้อยก็มองเห็นชัดว่าเป็นทุกข์ พอพูดขึ้นว่ามันเป็นความทุกข์นี้ ก็ไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่อเหตุผล เพราะมันเคยเห็นมาแล้ว เคยเห็นจริงมาแล้ว เคยประจักษ์ด้วยตัวเองมาแล้ว แล้วก็เห็น เห็นคนอื่นอยู่ทั่วๆ ไป ที่กำลังมี โลภะ โทสะ โมหะอยู่มีความทุกข์อย่างไร อย่างนี้ก็เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก แปลว่าเห็นเอง หรือพูดให้ชัดลงไปอีกก็คือ รู้สึกอยู่ในใจเอง ตัวหนังสือว่าเห็น แต่มันไม่ได้เห็นด้วยตา หมายถึงเห็นด้วยปัญญาด้วยทิฏฐิ ก็ด้วยความรู้สึกที่รู้สึกอยู่ในใจ นั้นไอ้ธรรมะโดยมากมันไม่เป็นธรรมะ คือยังไม่เป็นธรรมะเพราะมันไม่เป็นสนฺทิฏฺฐิโก ที่คุณเรียนๆ กัน ท่องกัน พูดกัน อะไรกัน พูดจ้อไปหมดเรื่องเซน อย่างนั้น เรื่องเซนอย่างนี้ อะไรก็ตามนั่น ไม่ใช่ธรรมะหรือก็ไม่ใช่เซน เป็นเรื่องพูด คือยังไม่มี สนฺทิฏฺฐิโก พูดจ้อเรื่องเซน แต่ว่าด่าคนเก่ง โกรธคนเก่ง อะไรหงุดหงิดเก่งนี้ หรือพูดคำที่ไม่ควรพูดแม้แต่คนธรรมดา นี่ก็พูดธรรมะสูงสุด แต่ไม่ใช่ธรรมะ ไอ้สิ่งที่พูดนั่นไม่ใช่ธรรมะ เพราะว่ายังไม่ใช่ สนฺทิฏฺฐิโก ไม่ใช่ออกมาจาก สนฺทิฏฺฐิโก
ถ้ามันเป็นเรื่องเห็นจริงแล้วพูดออกมาหรือว่าเห็นจริงแล้วก็ตามมันก็เป็นเรื่องธรรมะ แล้วพูดออกมาก็เป็นพูดธรรมะ ไอ้ที่พูดๆ สอนๆ กันอยู่รวมทั้งที่ผมกำลังพูดนี่ก็เหมือนกัน มันก็ยังไม่ใช่ตัวธรรมะ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเห็น เห็นจริง มันอาจจะเป็นธรรมะสำหรับผม แต่ไม่เป็นธรรมะสำหรับคุณเลยก็ได้ เว้นไว้ว่าคุณจะเห็นมันจริงๆ เพราะไอ้ธรรมะนี่ต้องเป็นสนฺทิฏฺฐิโก เสมอ ถ้ายังไม่สนฺทิฏฺฐิโกก็ยังไม่ใช่ธรรมะ นี่แม้จะไม่ต้องพูด ไม่เกี่ยวกับพูด ไม่เกี่ยวกับฟัง ถ้ามันเห็นอยู่ในใจมันก็เป็นธรรมะเหมือนกัน นั้นอย่าเอาแต่พูด อย่ามัวขวนขวายแต่เรื่องอ่านๆๆๆ แล้วก็พูดๆๆๆ แล้วก็มีหนังสือมาก มันจะเข้าบทที่เขาว่าไอ้พระคัมภีร์บังพระธรรม ใบลานบังพระธรรม ก็คือพระคัมภีร์นั่นหล่ะบังพระธรรม หรือพระไตรปิฏกที่อ่านที่พูดกันอยู่นี่บังพระธรรม ไม่ให้มี ไม่ให้เป็นพระธรรมขึ้นมาได้ นั้นอย่าเพ่อนอนใจว่าแหมเราก็มีหนังสือมาก แล้วก็อ่านมาก แล้วก็พูดได้มาก พูดได้เก่งด้วย นี่ตลอดเวลาที่ยังไม่มีความเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ก็ยังไม่ใช่ธรรมะ ยังเป็นกระดาษ ยังเป็นคำพูด ยังเป็นเสียง ยังเป็นเรื่องที่คิดไปตามเหตุผล พูดไปตามเหตุผล จะถือเอาไม่ได้ จะเชื่อตามนั้นไม่ได้ นั้นต้องมองให้เห็นว่าที่เอามาพูดนี่ก็เพื่อให้มองเห็นความแตกต่างระหว่าง ไอ้สนฺทิฏฺฐิโก กับ ไม่สนฺทิฏฺฐิโก หรือ สนฺทิฏฺฐิโกกับ อสันทิฏฐิโกแล้วแต่จะเรียก ๒ อย่างนี้มันต่างกันมาก ไอ้เรียนนักธรรมเรียนบาลีได้เยอะแยะนี้มันก็ยังเป็นไม่สันทิฏฐิโก จนกว่าจะได้ปฏิบัติแล้วก็ประจักษ์ในผลของการปฏิบัติด้วยจิตใจจึงจะเป็นสันทิฏฐิโก เอาละสรุปกันสักทีหนึ่งก่อนว่า พุทธศาสนาต้องมีหลัก สนฺทิฏฺฐิโก เป็นหลักที่สำคัญ
ที่นี้ก็มาถึงปัญหาที่ผมตั้งใจจะพูด คือ เรื่อง สนฺทิฏฺฐิโกของตัวกู ซึ่งมันทำให้เราเสียเวลากันมาเป็นปีๆ หลายปี หรือจะถึงสิบกว่าปีเต็มที สนฺทิฏฺฐิโกของตัวกูนี่มันแรงกว่า ไอ้สนฺทิฏฺฐิโกของธรรมะมันไม่มี มันไม่พอกัน นี่เราจะพูดเรื่องสนฺทิฏฺฐิโกของตัวกูกันก่อน ไอ้ตัวกู คำนี้ก็เหมือนกับที่เคยพูดมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง เป็นความสำคัญมั่นหมาย เป็นเรื่องพฤติของจิตไม่ใช่มีตัวจริงอะไร แต่มันก็จริงที่สุดสำหรับคนที่ไม่มีธรรมะ เพราะมันเป็น สัณทิฎฐิโก นั้นคุณต้องมองให้ลึกให้จริงสักหน่อยว่าไอ้ตัวกู ตัวกูๆ นี้มันมีอยู่ในจิตใจตลอดเวลาจริงๆ ทุกคนจะรู้สึกว่ามันมีตัวกูนี่จะว่าไม่ให้ มีตัวกูอย่างไร ปัญหาที่ถูกถามก็มีแต่อย่างนี้ เพราะมันรู้สึกอยู่ว่ามี ตัวฉัน มีของฉัน แล้วจะไม่ให้รู้สึกว่าไม่มีตัวฉันได้อย่างไร เราก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะเขามองเห็นแต่ตัวฉัน เห็นอยู่จริงๆ ทุกที เห็นมีตัวฉัน มีของฉันอยู่ทุกทีเลย เป็นสนฺทิฏฺฐิโกจริงๆ ด้วย ไม่ใช่เขาแกล้งว่า แต่มันจะเป็นสนฺทิฏฺฐิโกเท็จ หรือสนฺทิฏฺฐิโกจริง นี่มันอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก แต่ต้องเรียกเป็น สนฺทิฏฺฐิโกของตัวกู ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลหรือก่อนพุทธกาลก็มีส่วนถือว่ามันมีตัวกู มีของกู
พวกฝรั่งพวกปรัชญาของพวกฝรั่งก็มีอยู่แขนงหนึ่งคือว่าพวกหนึ่งที่ถือเรื่องมีตัวกู ที่ว่าฉันคิดแล้วก็ฉันมีอยู่ สูตรของเขาว่าอย่างนั้น เซอร์กีโต้ ออโต้ ซุม (นาทีที่ 13.58) ภาษาละตินออกเสียงอย่างไรก็ไม่รู้ อ่านตรงๆ อย่างภาษาอังกฤษ เขียนว่า cogito ergo sum (นาทีที่ 14.07) นั่นแหละ คือฉันคิด ฉันอยู่ เพราะฉันคิดได้ฉันจึงมีอยู่ นี่เขาก็พูดดีที่สุดแล้วว่า ก็เราคิดนึกได้ เรารู้สึกคิดนึกอยู่ตลอดเวลา ไอ้การที่คิดนึกได้มันต้องมีเหตุผล หรือมีอะไรพอที่จะเป็นตัวฉัน ก็ฉันคิด แล้วฉันมีอยู่ มีเท่านี้ มันมีสั้นๆ เท่านี้ เขาเรียกว่าปรัชญาของ เดสการ์(นาทีที่ 15.00) แล้วมันก็ไม่ใช่ของเดสการ์ มันของคนทั้งโลก กระทั่งในเมืองไทย กระทั่งพุทธบริษัทในประเทศไทย ก็มีหลักอย่างนี้ ฉันคิดได้ ฉันรู้สึกอยู่ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นตัวฉัน มีตัวฉัน มันช่วยไม่ได้ คนที่มีปัญญา มีอำนาจ มีเสรีภาพ จะต้องคิดอย่างนี้ทั้งนี้ จะต้องถามอย่างนี้ทั้งนั้น และผมก็เคยประสบมามาก คนใหญ่คนโต เขาไม่อาจจะอ่านบทความของเราเข้าใจได้ ที่ว่าไม่มีตัวตนนั่น เพราะมันรู้สึกว่าแต่ว่ามีตัวตนอยู่ทุกทีไป ตลอดเวลาด้วย
นี่มันเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ไอ้ สนฺทิฏฺฐิโก ของแต่ละคนล้วนแต่เป็นตัวกูทั้งนั้น ถึงคนที่กำลังพูดเรื่องอนัตตาเรื่องอะไรอยู่ มันก็มีสนฺทิฏฺฐิโกเป็นตัวกูทั้งนั้น แล้วปากมันก็พูดเรื่องไม่ใช่ตัวกูหรือไม่มีตัวกู จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากที่สุดกว่าเรื่องใดหมด ในบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับอนัตตา ไม่มีตน หรือว่าหลักของพุทธศาสนา ก็แปลว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องนี้มันประสบปัญหาหนัก เพราะทุกคนรู้สึกเป็นตัวตนอยู่เรื่อย เป็น สนฺทิฏฺฐิโกของตัวตนอยู่เรื่อยไปไม่ว่าที่ไหน นี้จะมาสอนกันอย่างไรให้เกิดความรู้สึกกลับตรงกันข้ามว่าไม่ใช่ตัวตน มันต้องเป็นเรื่องเฉพาะคนเฉพาะกรณีมากกว่า จะพูดทีเดียวสำหรับทุกคนนี้เข้าใจว่ามันเป็นไปไม่ได้ ไอ้เราจะเทศน์ทีเดียวฟังกันทั้งหมดทั้งหมู่ทั้งประเทศนี้มันจะไม่มี มันแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันเรื่องเฉพาะคน คนหนึ่ง หนึ่ง เคยมีประสบการณ์อะไรมาแล้ว เคยคิดอะไรมาแล้ว ค้นอะไรมามากแล้ว ก็มาพูดกันให้เหมาะแก่เรื่องของบุคคลคนนั้นก็พอจะเห็น
แต่ที่นี้มันมี มีเทคนิคหรือมีอุบายของธรรมชาติอยู่อันหนึ่งซึ่งจะเป็นหนทางออก อย่าลืมผมเคยบอกคุณที่เพิ่งบวชใหม่นี้ว่า ไอ้ธรรมะทุกระบบเป็นอุบายทั้งนั้นเลย อย่าไปพูดว่าจริงเจิง หรือไม่จริง ไม่อะไร อย่าไปพูด รู้จักมันแต่ว่ามันเป็นอุบายก็แล้วกัน ถ้ามันมีประโยชน์ก็ใช้ได้ แล้ว แต่ละอุบาย ก็เป็นเทคนิคของธรรมชาติ ไม่ใช่มนุษย์บัญญัติ ว่าต้องเป็นอย่างนั้นลงไปก่อน ผลมันจึงจะเกิดขึ้นมาอย่างนี้ เรียกว่าเทคนิคของธรรมชาติดีกว่า ที่มนุษย์ก็ไม่รู้อะไรมากไปกว่าแต่เพียงว่า เอ้อ..อันนี้มันอาจจะเอามาใช้เป็นอุบายแก้ปัญหานี้ได้ นี้อุบายหรือธรรมะที่เป็นอุบายที่จะมาแก้สนฺทิฏฺฐิโกของตัวกูนี่ มันก็มีอยู่ไม่ใช่ไม่มี คุณฟังดูให้ดี ว่าทุกคนมันรู้สึก รู้สึกอยู่ในใจเองแจ่มแจ้งว่ามีตัวกู มีของกู จะไปเปลี่ยนของเขาไม่ได้ จะไปจับเปลี่ยนอย่างไรได้ จะไปพูด อย่างอธิบายว่าโอ้ย..บังคับไม่ได้ เหมือนกับความฝันหรืออะไรต่างๆ นี่ มันก็พูดกันมาแล้ว แม้ในสูตรในพระบาลีที่เป็นสูตรก็พูดทำนองนี้ ว่าถ้าเป็นตัวตน ตัวกูมันก็ต้องบังคับได้ตามต้องการสิ เดี๋ยวนี้มันบังคับไม่ได้ถ้าจะบังคับรูป รูปจงเป็นอย่างนี้ เวทนาจงเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้อย่าเป็นอย่างอื่น นี่มันก็บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าไม่ใช่ตัวกู แล้วมันก็เคยทำให้มีผู้บรรลุมรรคผลมาแล้วเพราะคำพูดเพียงเท่านี้ แต่อย่าลืมว่านั่นมันเฉพาะหมู่นั้น กรณีนั้น กรณีอื่นมันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม
ที่นี้มันมีอุบายอะไรที่มันจะใช้ได้แก่ทุกคน ที่จะไปแก้ไอ้สิ่งที่เหนียวแน่นที่สุด คือ สนฺทิฏฺฐิโกแห่งตัวกู มันก็จะต้องอุบายที่ทำนองว่า เผชิญกันจริงๆ ให้มันเป็นสนฺทิฏฺฐิโกเข้าไปอีกอย่างหนึ่งอีกเรื่องหนึ่ง คือว่า มีความรู้สึกเป็นตัวกูทีไรก็มีความทุกข์ทุกที เราไม่พูดกันแล้วเหตุไรจึงถือว่าเป็นอนัตตาจะไม่พูด แต่ให้มาตั้งข้อสังเกต หรือว่าเผชิญกันเข้าไปจริงๆ กับความรู้สึก ถ้าความรู้สึกว่าตัวกูนี่เกิดขึ้นมาทีไรแล้วเป็นทุกข์ทุกที เอ้า, ใครกล้าดีลองดู ลองปล่อยให้ความคิดที่เป็นตัวกู ของกูเกิดสิ มันเป็นทุกข์ทุกที แล้วนี่คืออุบาย ลองสร้างความคิดที่เป็นตัวกู ของกูขึ้นมาหรือปล่อยให้ความคิดเป็นตัวกูของกูเกิดขึ้นมา มันเป็นความทุกข์ทุกทีมันเผาลนทุกที เมื่อทำอยู่อย่างนี้มันเข็ด มันรู้จักเข็ด หรือมันเริ่มเข็ด เริ่มเอือม เริ่มระอา นั่นแหละจึงจะรู้สึกว่าโอ๊ย ไม่เอาแล้วโว้ย ไอ้เรื่องตัวกูของกูนี่ไม่ไหว เป็นเรื่องไม่ไหวขึ้นมา นี่เราเอาสนฺทิฏฺฐิโกจริงๆ ไปแก้สนฺทิฏฺฐิโกเท็จๆ เอาสนฺทิฏฺฐิโกจริงๆ ไปแก้สนฺทิฏฺฐิโกหลอกลวง
สนฺทิฏฺฐิโกแห่งตัวกูแล้วมันจริงสำหรับคนโง่ที่ยังโง่อยู่ ยังไม่มีความเป็นพระอริยะแต่นิดเดียว เรียกว่ามันสนฺทิฏฺฐิโกว่าตัวกูๆ เรื่อย ทีนี้มันแก้ไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีอะไรที่มันมีน้ำหนักเท่ากัน มีกำลังเท่ากัน มันแก้ไม่ได้ นี้จะไปบิดกลับเหมือนกับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือก็ทำไม่ได้ ไม่มีใครทำได้โดยวิธีพูดหรือโดยวิธี นั้นต้องสร้างสนฺทิฏฺฐิโกเกี่ยวกับความทุกข์ขึ้นมา สนฺทิฏฺฐิโกในความทุกข์ ให้มันรู้รสของความทุกข์จริงๆแล้วก็ทุกครั้งที่มีตัวกู ของกูเกิดขึ้นในใจ โดยอาศัยหลักที่ว่าการเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ทุกที การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ทุกที การเกิดนี้หมายถึงเกิดขึ้นแห่งตัวกู ทำให้มีตัวกูมันมีถือเป็นการเกิด ไม่ว่าตัวกูชนิดไหนก็ตาม ถ้ามีขึ้นมาก็เรียกว่าเป็นการเกิด เกิดแห่งตัวเรา นี่ก็รู้ผลรู้สึกในผลของการเกิดนี้ เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ตัวกูใหญ่ก็ทุกข์มาก ตัวกูเล็กก็ทุกข์เล็กน้อย ตัวกูยาวก็ทุกข์ยาวอย่างนี้เป็นต้น
นั้นไอ้วิธีปฏิบัติมันจึงได้แก่ การทำความซึมซาบ realize อยู่กับไอ้เรื่องความทุกข์ที่เกิดกับตัวกูอยู่ตลอดเวลา ที่เราเรียกว่าทำวิปัสสนา หรือทำอะไร พอมาถึงตอนนี้คุณก็ย้อนไปดูอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ที่เราพูดกันมาอย่างชัดเจนแล้วเมื่อวานนี้เป็นวันสุดท้าย ว่าตลอด ๑๖ ขั้นนั้นมันเป็นอะไร มันก็เป็นอุบายเป็นวิธีการที่เป็นเคล็ด เป็นความลับอะไรนี่ ที่จะทำด้วยวิธีที่ความทุกข์ที่เกิดมาจากตัวกูนี่ ปรากฏแก่จิตใจอย่างชัดเจนที่สุด เมื่อทำอานาปานสติจนถึงประสบความสำเร็จในหมวดสุดท้าย เรื่องอนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ตอนนี้เป็นสัณทิฎฐิโกเกี่ยวกับตัวกู เกี่ยวกับความดับแห่งตัวกู สัณทิฎฐิโกเกี่ยวกับตัวกูนะก่อน แล้วก็สัณทิฎฐิโกเกี่ยวกับความทุกข์ที่ออกมาจากตัวกู นี้ก็สัณทิฎฐิโกเกี่ยวกับความดับไปแห่งความทุกข์ ชนิดนั้น อานาปานสติที่เป็นหัวใจของเรื่องก็คืออย่างนี้ คือหมวดสุดท้าย มีความรู้รสแห่งความทุกข์ แห่งความทุกข์ที่เกิดมาจากตัวกูของกูอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า นี่มันก็พอแล้ว ทุกครั้งที่หายใจออกเข้าเป็นวันๆ เดือนๆ ซึมซาบอยู่ในรสของความทุกข์เกิดมาจากตัวกู นับตั้งแต่เห็นความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยง ความยากลำบากแก่การที่จะมีอะไรตามใจ ตามที่เราต้องการ นี่ความไม่เที่ยง มันเป็นความทุกข์อยู่เรื่อย ไอ้คนก็ยังบ้าที่จะให้มีอะไรตามต้องการอยู่เรื่อย แล้วธรรมชาติมันก็ไม่อำนวยเลย แต่คนก็ยังขืนบ้ามากไปกว่านั้นอีก จะเอาอย่างนี้ให้ได้ จะเอาอย่างนั้นให้ได้ มันก็ไม่ได้อยู่นั่นแหละ แล้วมันก็เป็นเรื่องตายเปล่าล่ะไม่มีทางที่จะได้ในวิธีนั้น ในที่สุดมันก็ต้องวกกลับมาหาเรื่องไม่เอา ไม่เอาเพราะไม่มีใครที่จะเอาหรือไม่มีสิ่งใดที่จะเอา คือเรื่องที่ไม่มีตัวกู มันมีสนฺทิฏฺฐิโกเกิดขึ้นมาว่า อ้าว..พอไม่มีตัวกูก็ไม่มีความทุกข์โว้ย พอมีตัวกูก็ความทุกข์ทันทีและทุกที พอไม่มีตัวกูก็ไม่มีความทุกข์ ทุกทีทันทีเหมือนกัน
นี้สนฺทิฏฺฐิโกเกิดขึ้นเป็นคู่ต่อสู้กันอย่างนี้ สัณทิฎฐิโกฝ่ายตัวกู เป็นสัณทิฎฐิโกมายาหรือเป็นของเท็จ แล้วสัณทิฎฐิโกฝ่ายที่ไม่มีตัวกูนี่เป็นธรรมะขึ้นมา เป็นฝ่ายจริง เป็นธรรมะจริงๆ เราต้องมามีความรู้สึกซึมซาบธรรมะจริง เป็นทุกข์ทุกทีที่มีตัวกู และก็ไม่ทุกข์ทุกทีที่ไม่มีตัวกู สนฺทิฏฺฐิโกส่วนนี้เกิดขึ้นต่อสู้ มันก็เป็นการปฏิบัติที่เป็นตัวการปฏิบัติหรือว่าเป็นตัวธรรมะที่เป็นธรรมะนะ ไม่ใช่ธรรมะพูดหรือว่าธรรมะหนังสือ นี่เรียกว่าทำสัมมาทิฏฐิให้มันเกิดขึ้นมา แล้วก็มีอยู่อย่างหนักแน่นด้วยวิธีซึมซาบอยู่ในความถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้อง แล้วก็เห็นจริงอย่างถูกต้อง ในข้อที่ว่าตัวกูมีเมื่อไหร่เป็นทุกข์ทุกที จนมันมีวิราคะ คือความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด วิราคะคลายกำหนด มาจากนิพพิทา คือความเบื่อ เบื่อตัวกูก็คลายความรักในตัวกู ก็คือคลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ก็คือคลายความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู นี่ สนฺทิฏฺฐิโกแห่งตัวกู มันก็เริ่มสลายลง เริ่มจางลงไปเริ่มสลายไป ที่เรียกว่า วิราคะ นี่สนฺทิฏฺฐิโกฝ่ายอนัตตา ฝ่ายไม่มีตัวกูก็เริ่มตั้งมั่นขึ้นมา มั่นคงขึ้นมาๆๆ จนถึงระดับที่มันเพียงพอ ตัวกูก็หายไป หายหน้าไป ไม่โผล่มาอีก จะด้วยอำนาจของความที่ไม่มีใคร..ที่เราไม่ต้องการหรือว่าจะด้วยอำนาจของความรู้ว่า อ้าว มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นมายาก็ตาม มันมีผลเท่ากัน แต่จู่ๆ จะให้เราไปพลิกกลับว่าตัวกูไม่ใช่ตัวกูนี่มันทำไม่ได้ นั้นต้องมีอุบายที่อยู่กับตัวกูนั่นแหละด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวเรื่อยไป ๆๆ จนมันไม่ไหว สู้ไม่ไหว ขี้เกียจหรือเบื่อ ที่จะอยู่ด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างนี้ ก็เท่ากับว่าให้ไอ้ตัวกูนี่มันค่อยๆ หายหน้าไป หายหน้าไป เลือนลับไป มันก็ว่างจากตัวกูเองโดยอัตโนมัติ
นี่มาดูกันใหม่ตอนนี้อ้าว ไม่มี ไม่มี ไม่กล้ามีด้วย ทีแรกก็ไม่กล้ามี ไม่กล้ามีจนไม่มี ไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวกูแล้วก็เป็นสนฺทิฏฺฐิโกด้วยเหมือนกัน เห็นชัดอยู่ในใจว่าจิตนี้ว่างจากอะไร ก็ ว่างจากตัวกูนั่นแหล่ะ ดูตามวิธีอานาปานาสติหมวดที่ ๓ ก็เจริญอานาปานสติหมวดที่ ๓ ซ้ำๆ ซากๆ กันเป็นการใหญ่ดูจิตที่ปราศจากตัวกู ดูจิตที่มีตัวกู ปราศจากตัวกู เปรียบเทียบกันอยู่เรื่อย นั่นแหละมันก็เกิดสันทิฏฐิโกฝ่ายไม่มีตัวกูขึ้นมาเต็มที่แล้วก็แทน ของ ๒ อย่างนี้อยู่พร้อมกันไม่ได้ อยู่ด้วยกันไม่ได้ มีตัวกูกับไม่มีตัวกูนี่ มันจะอยู่พร้อมกันไม่ได้ มันต้องผลัดกันอยู่คนละที เดี๋ยวนี้การกระทำมันถูกต้อง แล้วก็มันมั่นคงเข้มแข็งเพียงพอ ที่จะอยู่ด้วยความรู้สึกที่ไม่มีตัวกู นี่เราเรียกว่าอุบาย ธรรมะทุกๆ ระบบเป็นอุบาย อันหนึ่ง หนึ่งๆ หนึ่งๆ
ที่ให้เรียกว่าอุบายนี่ก็มันมีความลับอีกเหมือนกัน ถ้าไม่เรียกว่า อุบาย เดี๋ยวก็ไปยึดถือเป็นของจริงของจังสำคัญมั่นหมายในตัวธรรมะนั้นเข้า แต่ว่าธรรมะเป็นเพียงอุบาย แล้วมันก็เป็นของอาศัยชั่วคราวยืมมาใช้ชั่วคราวเหมือนกับเครื่องมือ เสร็จเรื่องแล้วก็ไม่สนใจต่อไป ขอให้ดูเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เราเอามาใช้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในที่สุดจะไปมัวรักเครื่องมืออยู่ไม่ได้ เหมือนกับพระพุทธสุภาษิต โอลุมปิกะสูตร (นาทีที่ 34.50) มัชฌิมนิกายนี่ เป็นคำพูดโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้ถือว่าธรรมะนี้เหมือนแพข้ามฟาก บุรุษมาถึงริมแม่น้ำใหญ่ข้ามไปไม่ได้ แต่เขาเป็นคนมีปัญญา ก็รวบรวมไอ้ของลอยน้ำทุกชนิดที่มีอยู่แถวนั้นแหละ จะเป็นไม้ไผ่หรือเป็นอะไรก็ตามมันอาจจะหาไม้ไผ่ไม่ได้ก็ได้ แต่ว่าอะไรก็ตามที่มันลอยน้ำได้ ประมวลมาให้หมด แล้วมามัดผูกกันเข้าเป็นแพ แล้วก็นั่งแพใช้อุบายคุ้ยเขี่ยอะไร ข้ามไปฝั่งโน้นได้ขึ้นบกไปได้ นั้นแพซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือชั่วขณะนี่จะถูกยึดถือไม่ได้ ถ้าถูกยึดถือล่ะก้อ มันก็ต้องไม่ขึ้นบกกัน ก็จะนอนอยู่ในแพนั่นแหละ จะไม่ยอมขึ้นบก ก็ไม่ไปไหนได้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร นี่ความหมายของข้อที่ว่าให้ถือว่าธรรมะนั้นเป็นเพียงอุบายที่จะใช้ให้สำเร็จประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เอาประโยชน์นั้นเป็นหลัก อุบายของเราก็คือว่าดู ๆ ความไอ้ทุกข์ที่มันเกิดขึ้นเพราะตัวกูเรื่อยๆ ไป จนกระทั่งมันไม่อาจจะเกิด เพราะมันเข็ด มันเอือม มันระอา มันเบื่อหน่ายคลายกำหนัด แล้วมันมีความตัดสินใจที่เด็ดขาดลงไปที่เรียกว่า สมุจเฉทปหานอะไรอย่างนี้ ความคิด ความเห็นความรู้สึก คิดอะไรทุกอย่าง มันเด็ดขาดลงไปไม่ลังเลอีกต่อไป ในการที่จะมีไอ้ความรู้สึกว่าตัวกู มันเบื่อหน่าย มันคลายกำหนัด มันถึงที่สุด มันไม่อาจจะกลับมาอีกได้ นั้นอุบายมันสำเร็จประโยชน์อย่างเพียงเท่านี้ แล้วก็อย่าไป อย่าย้อนไปยึดถือไอ้ตัวธรรมะที่เป็นอุบายนั่นเข้าอีก มันจะติดอยู่ที่นั่น แล้วมันก็จะเป็นตัวกูอันอื่นขึ้นมาอีก เป็นของกูอันอื่นขึ้นมาอีก หรือว่ามันขึ้นไปไม่ได้ มันไม่พ้นจากตัวกูโดยสิ้นเชิง
นั้นพุทธภาษิตจึงได้ตัดบทเสียเลยว่า ธรรมทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นเราหรือเป็นของเรา คำว่า ธรรมทั้งปวง ในที่นี้มันรวมนิพพานอยู่ด้วย หมายความว่า แม้แต่นิพพานก็จะไม่ถือว่านิพพานของเรา ก็นิพพานของนิพพานไปก็แล้วกัน ก็มันมีนิพพานเป็นของเรา มีเราเป็นของนิพพาน มีนิพพานเป็นเรา อะไรอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มี ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นได้ นั้นธรรมะทั้งหมดที่เป็นความรู้ก็ดี เป็นการปฏิบัติก็ดี เป็นผลการปฏิบัติก็ดี มันล้วนแต่เป็นธรรมทั้งปวงอันใครๆ ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ คืออย่าไปเกิดความคิดว่าเรา หรือว่าของเราขึ้นมา นั้นเดี๋ยวนี้จิตมันก็มีความรู้ที่ตรงกันข้าม คือเห็นอนัตตามาได้โดยทางอุบาย นั้นที่พร่ำสอนกันเรื่องอนัตตา อธิบายกันเรื่อง อนัตตานี่ มันควรจะถูกด่าเหมือนกับคนที่ว่าตักน้ำรดสากอะไรนี้ มันก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันต้องไปชิมเข้ากับความทุกข์ ไปดื่มกินไอ้ความทุกข์ที่มันเกิดมาจากตัวกู ดูว่ามันมีรสอย่างไร ก็อยู่เรื่อยไปตลอดเวลาของวิปัสสนา ไม่ต้องมีใครมาสอนไม่ต้องมีใครมาพูด มันสอนได้ในตัวมันเองมันเจ็บปวดอย่างไร ไอ้ตัวกูของกูมันกัดเอาอย่างไร มันก็รู้ได้ด้วยตัวเอง มันนั่งทำวิปัสสนาอย่างดี อย่างถูกต้องที่สุดก็คืออย่างนี้ คือนั่งชิมรสของความทุกข์ที่เกิดมาจากตัวกูอยู่เสมอในอดีตที่แล้วมาก็ตาม เดี๋ยวนี้มีอยู่ก็ตาม หรือมันจะมาข้างหน้าก็ต้องอย่างนี้อีกเหมือนกัน ต้องชิมรสของความทุกข์ที่เกิดมาจากตัวกู มี สนฺทิฏฺฐิโก ในความทุกข์ที่เกิดจากตัวกูจนเบื่อระอา จนเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ที่นี้ก็ ไอ้ความว่างจากตัวกูมันก็มีขึ้นมา ก็เลยเป็นไม่ใช่ตัวกูว่างจากตัวกูคือไม่ใช่ตัวกู คือเป็นอนัตตาขึ้นมาให้เห็น ก็เลยเห็นแจ้งแทงตลอดในเรื่องอนัตตา ก็มีสนฺทิฏฺฐิโกฝ่ายอนัตตาขึ้นมาก็มีเท่านั้น เรื่องมันก็หมดเท่านั้น โดยอาศัยอุบาย
เดี๋ยวนี้ไม่ชอบความทุกข์ คนโง่ที่สุด เป็นคนโง่บรมโง่ที่สุดที่ไม่ชอบความทุกข์ เพราะว่าความทุกข์นี่เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี เป็นไข้นิดหน่อยจะไปโรงพยาบาลแล้ว นี่คือโง่ที่สุด ทำไม่ไม่ลองเป็นไข้ดูสักวัน ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ว่ามันเป็นทุกข์อย่างไร ความทุกข์เป็นอย่างไร ทำไมมันจึงต้องเป็นทุกข์ มันกลัวตาย มันกลัวตายเป็นเหตุอะไร เพราะว่า มันว่าของกู ชีวิตของกู อะไรของกู นี่โอกาสที่ดีที่สุดก็คือโอกาสที่กำลังมีความทุกข์มาเป็นบทเรียนสำหรับศึกษา นับตั้งแต่ปวดหัวปวดฟันปวดอะไรก็สุดแท้ ก็ชิมรสของความปวดนั้นดูบ้าง มันจะได้รู้ความจริงโดยทั่วๆ ไป เกี่ยวกับธรรมชาติธรรมดาของสังขารมันเสียก่อน แล้วมารู้โดยเฉพาะว่า โอ้ย..ที่มันทุกข์เพราะเรา มันไม่อยากตาย เรามันกลัวตาย เรามันไม่อยากเจ็บ อยากไข้ เรามันไม่อยากจะเป็นชนิดที่เราไม่อยากจะเป็น มันจึงมีความทุกข์ขึ้นมา แล้วเราก็พยายามต่อไปที่ว่าความทุกข์นี้มันต้องมาจากตัวกู เราเห็นว่าตัวกูเสมอ ถ้าความเจ็บไข้อย่าเป็นของตัวกูมันก็ไม่มีความทุกข์อะไร จิตใจก็ไม่มีความทุกข์ร้อนอะไร ไอ้เจ็บปวดที่เนื้อหนังนี่มันก็เป็นเรื่องธรรมดา มันก็แก้ไขไป หายได้ แต่อย่าเพิ่งแก้ไขกันเร็วนัก เอาไว้ชิมดูเล่นสักพักหนึ่งก่อน มีรสชาติอย่างไร นี่มันจึงจะฉลาด เดี๋ยวนี้มันไม่ทำอย่างนั้น พอเจ็บปวดขึ้นมาก็โวยวายๆ ร้องไห้ไปเลยก็มี ดิ้นรนอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีสติ สตังค์เอาเสียเลย อย่างนี้ก็ไม่มีประโยชน์จริงเหมือนกัน ไอ้ความทุกข์นั่นก็ไม่สอน ไม่สอนอะไรให้ ไม่ได้เป็นครูสอนอะไรให้
แต่ถ้าทำอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมี อธิวาสนขันติ อดกลั้น อดทน พิจารณาทุกขเวทนานี้โดยเป็นเวทนา สักว่าเวทนา ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา นั่นคือชิมรสของทุกขเวทนาด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง ด้วยความเข้มแข็ง ด้วย อธิวาสนขันติอย่างยิ่ง ด้วยสมาธิอย่างยิ่ง อะไรอย่างยิ่ง ไม่เท่าไหร่มันก็รู้หล่ะ ก็รู้ธรรมะ มีสนฺทิฏฺฐิโกในธรรมะ เดี๋ยวนี้มันเป็นขี้ขลาดยิ่งกว่าอะไร แล้วโง่ยิ่งกว่าอะไร ที่คอยแต่จะเอะอะโวยวายหนีเตลิดเปิดเปิงเรื่อย ทั้งที่เป็นพระเป็นเณรอย่างนี้ก็ยังร้องไห้ หรือว่ามีความเอะอะโวยวายเกี่ยวกับเรื่องอย่างนี้ยิ่งกว่าชาวบ้านเสียอีก ไม่รู้จักละอายชาวบ้านเสียบ้างเลย ทั้งที่เป็นพระเป็นเณรแล้วก็ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ากว่าอะไรทำนองนี้ ก็ยังสู้ชาวบ้านไม่ได้ นี้ผมไม่ได้ว่าทุกองค์ทุกคนหรอก บางคนหรือส่วนมากนี่เป็นอย่างนี้ บางทีจะเป็นเพราะว่าได้มาอยู่เป็นพระเป็นเณรนี่มันสบายจนอ่อนแอ ไม่ต้องทำไร่ทำนา ไม่ต้องอะไรได้รับความสบายจนอ่อนแอ พระส่วนมากไม่ใช่ที่นี่ มีความสบายจนอ่อนแอ ถึงที่นี่ก็เหมือนกัน ก็ยังเรียกว่าสบายกว่าคนหลายประเภท ก็สบายจนอ่อนแอ ก็เลยขี้ขลาดต่อความเจ็บ ความตาย ความอะไรต่างๆ ไม่รับเอาเป็นบทเรียน ไม่เจริญสติปัฎฐานด้วยของจริง เจริญสติปัฏฐานแต่ในกระดาษ ในหนังสือ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร นั่นแนะคือการที่ว่า ไม่มีสนฺทิฏฺฐิโกอันแท้จริงในตัวธรรมะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวอนัตตา แล้วมันยังไกลมาก แม้แต่ความทุกข์ก็ไม่รู้จัก แล้วจะไปรู้ไอ้อนัตตาได้อย่างไร เป็นผู้ไม่ต้อนรับเอาธรรมชาติเหล่านี้มาเป็นบทเรียน ก็ไม่มีทางที่จะมีสนฺทิฏฺฐิโกได้เลย
นั้นถ้าคุณเห็นว่าสนฺทิฏฺฐิโกมันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นหัวใจของทั้งหมดล่ะก็ ก็ต้องยินดีรับไอ้สิ่งที่จะมาทำให้เรามีสนฺทิฏฺฐิโกโดยเฉพาะก็คือความทุกข์ ความทุกข์ทุกคราวต้องต้อนรับเอามาดูว่า อ้าว, มันมาจากตัวกูอีกแล้ว เกิดตัวกูทุกทีก็เป็นทุกข์ทุกที ความทุกข์มีมาให้ ก็มาไว้สำหรับให้ดูว่ามันมาจากตัวกูอย่างไร ทุกทีอย่างไร และความทุกข์เกิดขึ้นก็หัดรับเอามาดูว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู แล้วก็พยายามที่จะไม่ใช่ของตัวกู ไม่ใช่ของกูดูบ้าง อย่าเพิ่งยอมแพ้เสียแต่ทีแรก มันน่าละอาย มันจะยิ่งกว่าที่เขาเปรียบว่าเหมือนกับกา ไอ้กามันเห็นธนูมันจึงจะบินหนี นี่มันเลวกว่ากา ไม่ทันเห็นธนูมันก็บินหนี
ถ้าเราอยากจะถึงพระพุทธ ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ จริงๆ แล้วก็ต้องทำอย่างที่ว่า คือสร้างสนฺทิฏฺฐิโกในธรรมะ ในความจริง ในของจริงขึ้นมาให้ได้ คือในเรื่องอนัตตา สนใจเรื่องนี้อยู่เสมอตลอดเวลา อย่าเผลอ อย่าประมาท ที่แล้วมามันอยู่ด้วยความประมาท มีความประมาท ถ้าผมพูดตรงๆ ผมจะพูดอย่างไม่กลัวใครโกรธว่า ทุกคนยังหายใจอยู่ด้วยความอยากจะอวดดี มีชีวิตอยู่ตลอดวันตลอดคืน มีลมหายใจอยู่ด้วยความอยากจะอวดดี แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะอวดดีก็ต้องพูดจา ไม่มีฝีมือลายมืออะไรนี้ มันอาจจะมีฝีไม้ลายมือสำหรับจะอวด แต่ว่าส่วนใหญ่มันอวดด้วยคำพูด มันจึงมีแต่เรื่องพูดแล้วก็เป็นไปในลักษณะอวด แล้วก็อวดโดยไม่รู้สึกตัว คือว่าอวดจนเคยชิน ชินเป็นนิสัยจนไม่ต้องรู้สึกตัวก็อวดได้ อะไรนิดหนึ่งก็ต้องอวด นับตั้งแต่อวดวัตถุ อวดสิ่งของ อวดความสามารถอวดอะไรเรื่อย เอาอะไรมาแขวนไว้เต็มกุฏิ ซึ่งไม่ควรจะแขวนนั่นก็เป็นเรื่องอยากอวด รูปภาพบ้าง อะไรบ้างไม่เกี่ยวกับพระเลยก็เอามาแขวนอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องอยากอวด บางกุฏิไม่มีอะไรแขวนก็ดีไป ก็คือไม่อยากอวดในเรื่องนี้ แต่ก็อยากอวดอย่างอื่นอีกละ นี้ก็หมายถึงกุฏิที่เป็นที่อยู่เฉพาะองค์ เฉพาะองค์นะ นั้นมันก็แสดง แสดงยี่ห้อ ปิดป้ายยี่ห้ออยู่แล้วว่าเป็นคนอยากอวด แต่นี้ไม่สำคัญหรอก เพียงเท่านี้ไม่สำคัญ ถ้าลองไอ้วันหนึ่งไอ้การพูดจาการกระทำ การอะไรนี่ที่เคยเรียกว่า ยกหูชูหาง นี่แหละเป็นการอวดโดยตรง เป็นเด็กเป็นเณรท่าทางอะไร เขาเรียกว่าอะไรนะท่าทางก้องแก้ง เมืองนี้เรียกว่าท่าทางก้องแก้ง ก็แสดงแววแห่งความอวดอยู่ตลอดเวลา นี่พูดจาก็แสดงการอวดอยู่ตลอดเวลาอย่างที่เรียกว่า เบ่ง หรือว่า ข่มขี่ผู้อื่น นี่จะให้ทำงานอะไรบ้างมันก็มุ่งแต่จะอวดๆ หรือจะมาเหนือผู้อื่น นี่จะให้อธิบายอะไรบ้างมันก็อธิบายไปในรูปเบ่ง หรือรูปยกตนข่มท่าน หรือแสดงธรรมก็แสดงธรรมในลักษณะยกตนข่มท่าน นี่คือความอวดหรือโดยความประมาท มีความประมาท มันเสียหายหมดทั้งเรื่องโลก เรื่องธรรม เรื่องโลกก็ไม่มีใครชอบ มีคนเกลียดน้ำหน้า เรื่องธรรมก็ตัวเองมีกิเลสหนาขึ้น หนาขึ้นๆ เรื่องโลกก็ไม่มีใครชอบมีแต่คนเกลียดน้ำหน้า เรื่องธรรมก็มีกิเลสหนาขึ้น หนาขึ้น แล้วมันมีอะไรดีที่ตรงไหน
นั้นไอ้เรื่องยกหูชูหางไม่ว่าในระดับไหนหมดมันก็เป็นเรื่องของตัวกู ของกูทั้งนั้น ยิ่งมีอะไรดี ยิ่งมีอะไรที่เขาเรียกว่าดีมากขึ้น มันก็ยิ่งยกหูชูหางมาก ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็ยิ่งเรียกว่าเสื่อมลงหรือเลวลง ไม่ควรจะเรียกว่าดี ถ้าเรียกว่าดี มันก็ต้องไม่ยกหูชูหาง คือมันยกหูชูหางน้อยลง น้อยละๆ มันจึงจะเรียกว่าดี นั้นเราจงสมัครดีชนิดที่ไม่มียกอะไรเรื่องตัวกู ของกู นี่มันรู้ได้ง่ายเป็นสนฺทิฏฺฐิโกยิ่งกว่าสิ่งใดนะ เมื่อเราพูดอะไรออกไป ทำอะไรออกไป คิดอะไรอยู่ นี่มันรู้ได้ดีทีเดียวว่า มันมีการยกหูชูหางอยู่ในจิตในวิญญาณนั้นอย่างไรหรือไม่ รู้ได้ดีไม่ต้องมีใครบอก แต่แล้วก็ประมาท ไม่อยากรู้ ไม่อยากมองหรือว่าบางทีก็รู้แล้วก็อยากมองข้ามไปเสีย ก็คือนิสัยอันธพาลมันมีมาก มันก็อยากจะเบ่งอยู่ตามเดิม ทั้งที่รู้ว่าเบ่งนี้มันไม่ดี ก็ไม่มีหิริโอตัปปะ ไม่มีความละอาย นี่มันก็เอากันใหญ่เลย แล้วก็ไปโทษผี โทษเทวดาที่ไหนไม่รู้ ไปโทษโชคชะตาบ้างว่า โอ้ย, เราไม่มีนิสัย ไม่มีบุญบารมี ปฏิบัติธรรมะไม่สำเร็จแล้ว ไปโทษของข้างนอก ไม่โทษตัวเอง บางทีก็ไปโทษธรรมะว่าธรรมะนี้ไม่จริง ธรรมะนี้ช่วยไม่ได้จริง ยากเกินไป โทษธรรมะว่ายากเกินไป ธรรมะนี้เหลือวิสัย เอาบาปเอาความผิดไปให้แก่ธรรมะอย่างนี้ มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งเป็นอันธพาลมากขึ้น นั้นอย่าทำอย่างนี้ต้องยอมแพ้ ต้องยอมลดความเป็นอันธพาลลง อย่ามีหล่ะดี จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท มันจึงจะมีผลกระเทือนลงไปบนศีรษะหรือบนสันหลังของไอ้ตัวกู ของกูนั่น มันจะค่อยๆ เบาบางไป ค่อยๆ ซาไป
นั้นไอ้ความถ่อมตัวเป็นคุณธรรมที่สำคัญมาก แต่เขาถือว่าไม่สำคัญเป็นคุณธรรมเล็กๆ น้อยๆ เป็นเพียงศีลธรรมขั้นเด็กๆ ไอ้เรื่องถ่อมตัวนี่ ความจริงมันเป็นเรื่องใหญ่ในฐานะเป็นชนวน ไอ้เรื่องชนวนนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าจุดตั้งต้นมันไม่ดีแล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ นั้นถ่อมตัวไว้ก่อนล่ะดี ยอมแพ้ไว้ก่อนล่ะดี อย่าดื้อกระด้างเอาไว้ก่อนนะดี เพราะไอ้ดื้อกระด้างมันคือยกหูชูหางเสียแล้ว มันเป็นไอ้เมฆหนามาปกคลุมเสียแล้ว มันไม่จำเป็นที่ต้องมีมันแก้ง่ายๆ ด้วยการถ่อมตัว ทำให้เกิดโอกาสที่จะรับฟัง หรือจะพิจารณาหรือจะไม่ประมาท แล้วก็จะได้ปฏิบัติต่อไปอย่างเยือกเย็น อย่างสุขุม อย่างเรียบร้อย อย่างหนักแน่น อย่างที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เอะอะโวยวาย นี่สนฺทิฏฺฐิโกมันจะเกิดง่ายเพราะเหตุนี้ เพราะสนฺทิฏฺฐิโกมันต้องการความละเอียดสุขุม ความละเอียดสุขุมอย่างยิ่งเป็นพื้นฐาน นั้นเราต้องอยู่ด้วยความสงบเสงี่ยมเจียมตัว เป็นพื้นฐาน ให้โอกาสแก่สนฺทิฏฺฐิโกที่จะมาเกิด ในฝ่ายที่เป็นของตรงกันข้าม คือฝ่ายที่ไม่มีตัวกู ไอ้ฝ่ายเอะอะโวยวาย พุ่งพล่าน ยกหูชูหางมันเป็นสนฺทิฏฺฐิโกฝ่ายตัวกู ฝ่ายข้าศึก ฝ่ายมาร ฝ่ายกิเลส ฝ่ายอวิชชา ล้วนแต่เป็นมารเป็นมายา นี้ต้องไม่ให้โอกาส ต้องเป็นอยู่อย่างไม่ให้โอกาส ก็ต้องคอยกีดกัน คอยหลบหลีก คอยอะไรไม่ให้โอกาส ก็มาให้โอกาสไอ้ฝ่ายที่เป็นความสงบ ต้องการรากฐานที่เป็นความสงบแล้วก็มีสนฺทิฏฺฐิโกจริง รู้สึกอยู่จริงว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไรๆ เท่านี้ มันก็ไปสู่จุดหมายที่ถูกต้องก็เดินไปได้อย่างถูกต้อง ไอ้ความเป็นสนฺทิฏฺฐิโกก็เจริญงอกงามก้าวหน้าไปตามลำดับ ที่ว่าเมื่อตะกี้ คือ สนฺทิฏฺฐิโกว่ามีตัวกูของกูนี่ ขยันดูเถอะมันเต็มปรี่อยู่เรื่อย สนฺทิฏฺฐิโก ว่ามีตัวกูของกูนี่ ข้อที่ ๑ แล้วก็สนฺทิฏฺฐิโกในความทุกข์ที่เกิดมาจากตัวกูของกู ความทุกข์เกิดทุกครั้งที่มีตัวกูของกูนี่ สนฺทิฏฺฐิโกอันที่ ๒ นี่จะมีประโยชน์เริ่มตั้งต้นที่จะเดินถูกทาง แล้วสนฺทิฏฺฐิโกอันที่ ๓ ก็ดูความไม่มีทุกข์ ไม่มีทุกข์เมื่อไม่มีตัวกู เมื่อไม่มีตัวกูก็ไม่มีทุกข์ สร้างสนฺทิฏฺฐิโกข้อที่ ๓ นี้ขึ้นมาให้ได้ แล้วก็ควบคุมไว้ให้ดี จนกระทั่งมี สนฺทิฏฺฐิโกในความเกลียด เบื่อระอาไอ้ตัวกู เกลียด หรือเบื่อระอาต่อตัวกูของกู นั่นเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ที่ ๔ ไปก็แล้วกัน ให้มันมีแต่ความเกลียด ความเบื่อความระอาไอ้ตัวกูของกูนั่นแรงขึ้น แรงขึ้นๆๆๆ ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกก็จะได้สนฺทิฏฺฐิโกอันสุดท้าย สนฺทิฏฺฐิโกในสันติ ในนิพพาน ในความดับทุกข์ ในนิโรธ ดับทุกข์สิ้นเชิง มันก็จะเป็นสนฺทิฏฺฐิโกอันที่ ๕ ลำดับที่ ๕ ที่จริงอาจจะพูดเป็นอย่างอื่นให้มีมากกว่านี้ก็ได้ ให้น้อยกว่านี้ก็ได้
แต่นี้เห็นว่าพอ พอจะศึกษาได้ ไปนั่ง สนฺทิฏฺฐิโกในตัวกูของกู ที่ได้ทำไปแล้วในตอนกลางวันนั่น ที่นี้จะค่ำลงแล้วก็นั่งพิจารณาดูไอ้ตัวกูของกูที่มันฟุ้งไปในตอนกลางวันอย่างไรบ้าง กับใครบ้าง ที่ไหนบ้าง ไปพูดร้ายกับใครที่ไหนเขาบ้าง ไปทำร้ายใครที่ไหนเขาบ้าง ไปยกหูชูหางที่ไหนบ้าง แล้วก็ดูไปถึงความทุกข์ ดูไปถึงความไอ้ว่างจากทุกข์ เพราะว่างจากตัวกู แล้วก็ดูไปว่ามันเกลียดหรือยัง มันเบื่อหรือยังต่อไอ้ตัวกูนี้ ถ้ามันไม่เกลียด ไม่เบื่อ ไม่ระอาต่อตัวกูนี้ มันยังเป็นอันธพาลอยู่ตามเดิม ถ้ามันมีความยุติธรรมอยู่บ้างมันคงจะเขกหัวตัวเองเข้าไปหลายๆ ฉาด แต่ถ้ามันมีความลำเอียงเข้าข้างตัวเรื่อยมันก็ยิ่งชอบใจล่ะโว้ย นี่ดูต่อไปว่าเบื่อหรือยัง มันระอาหรือยัง นี่มันระอาก็ดูความระอานี้ให้มันมั่นคงให้มันหนักแน่นมั่นคง มันก็จะน้อมไปในทางดับทุกข์ น้อมไปทางนิพพาน น้อมไปทางสันติ ให้มันชิม มีสนฺทิฏฺฐิโกในการชิมรสของสันติ แล้วแต่ว่ากำลังปฏิบัติอยู่ในระดับไหนข้อไหน ดูตามหลักอานาปานสติหมวดสุดท้าย ๔ ขั้นที่ผมพยายามอธิบายให้ละเอียดที่สุดแล้ว จะต้องรักษามันอย่างนั้น จะต้องเขยิบมันไปอย่างนั้น อย่างนั้น ทุกวันๆๆๆ เป็นเดือนๆ ปีๆ ก็ทนทำอยู่ได้ๆ ก็สำเร็จ นี่รวมความแล้วจงรัก รักๆๆ ธรรมะ รักพระธรรม รักพระพุทธเจ้า รักอะไรโดยวิธีนี้ อย่ามีอะไร อะไรชนิดที่ตรงกันข้าม เหมือนที่ได้กล่าวมาแล้ว ที่เนื้อที่ตัวมันก็มีอะไรแสดง ที่กุฏิ ประตูกุฏิก็มีอะไรแสดง อะไรก็ล้วนแต่มีแสดง ไปในทางตรงกันข้ามนี่ไม่ไหว ให้ทุกอย่างมันมีลักษณะของไอ้ความว่างหรือความสงบมากๆ เข้าไว้ เพื่อจะได้เป็นเครื่องชักจูงหน่วงเหนี่ยวจิตใจให้หันไปทางนั้น มาอยู่ในป่าทั้งทีก็เพื่อประโยชน์อันนี้ ว่าในป่ามันนี้มีภาพแห่งความว่าง แห่งความสงบ แห่งความเยือกเย็นอะไรที่หาดูได้ง่าย เหลือบตาไปทางไหนมันก็ส่อไอ้ภาพที่มีความหมายอย่างนั้น นี้เรียกว่ามาอยู่ป่าทั้งทีเพื่อผลอย่างนี้ทั้งทีมันยังไม่ได้อะไร มันก็แย่ป่วยการเปล่าๆ ยิ่งมีจิตใจอยากจะกลับไปสู่ไอ้สิ่งที่มันวุ่นวาย มาอยู่ในป่าจิตใจอยากจะกลับไปสู่ที่วุ่นวาย สู่ความวุ่นวายก็เป็นเรื่องที่บอกไม่ถูก คือมันเป็นเรื่องที่มากเกินไป คือว่าไม่มีความซื่อตรงต่อตัวเองเสียเลยนี้มันมากเกินไป
เอาล่ะแล้วในที่สุดมันก็สรุปความได้อย่างนี้ ว่า เดี๋ยวนี้เราพูดกันถึงธรรมปาติโมกข์โดยหัวข้อว่า สนฺทิฏฺฐิโกแห่งตัวกู ปรากฏชัดเจนในจิตใจของคนทุกคนอย่างเหนียวแน่น อย่างเหนียวแน่นจนถอนไม่ไหวยากที่จะถอน แล้วสู้กับมันซึ่งหน้าไม่ได้ อย่าอวดดีเลยไปสู้กับมันซึ่งหน้านี่สู้กับมันไม่ได้ต้องใช้อุบาย ใช้เคล็ดลับไม้ลับที่เป็นอุบาย โดยการไปดูความทุกข์ที่เกิดขึ้นทุกทีที่มีตัวกู แล้วไม่เท่าไหร่แล้วจะเกลียดน้ำหน้ามันไม่อยากจะคบค้ากับมัน มันก็ค่อยๆ ดีไป มันก็เท่านั้นเอง กลายเป็น สนฺทิฏฺฐิโกฝ่ายพระธรรมขึ้นมา สวาขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก มีความหมายขึ้นมาทันที เดี๋ยวนี้สวดอย่างนกแก้ว นกขุนทองหรือนกโง่ๆ กว่านั้นก็พอจะสอนให้ร้องได้ ไอ้บทสวดต่างๆ นี้มันยังเป็นหมันอยู่มากให้สงสารมันบ้าง อย่าให้เป็นหมันนักเลย ไม่เท่าไหร่ก็จะสวดบทเหล่านี้กันอีก วิสาขบูชา ก็สวดทุกที อิติปิโส ภะคะวา เรื่อยไปไม่รู้กี่จบ เพราะมันกลายเป็นสนฺทิฏฺฐิโกจริงขึ้นมา แล้วเรื่องก็หมดปัญหามีเท่านี้ สำหรับที่จะพูดวันนี้ สนฺทิฏฺฐิโกแห่งตัวกู แล้วสนฺทิฏฺฐิโกแห่งไม่มีตัวกู