แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเราในวันนี้ จะย้อนกล่าวไป เอ่อ..จะย้อนไปกล่าวถึงหลักพื้นฐานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่พระที่มาใหม่นี่ด้วย และเพื่อเป็นการย้ำสำหรับผู้ที่เคยฟังมาแล้วให้มั่นคงขึ้นด้วย
ที่ว่าหลักพื้นฐานของเรื่องตัวกูนี้มันมีความสำคัญมากในหลายแง่หลายมุม เพราะถ้าหลักพื้นฐานมันผิดมันก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจกันได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งมันอาจจะเข้าใจไม่ตรงกันแม้ในประเทศไทยเรานี่ และยิ่งเราผูกคำขึ้นมาใช้ใหม่ เช่น คำว่า “ตัวกู ของกู” นี้ เขาไม่เคยใช้กันมาแต่กาลก่อน ทั้งที่คำนี้มันก็เป็นคำที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ในบาลี แต่ก็ไม่เคยใช้คำแปลอย่างนี้ มันก็ยิ่งเป็นของที่ขัดแย้งหรือว่าดูคล้ายๆ กับว่า เป็นของว่าเอาเองทำนองนั้น บางคนนั่น จะหาว่าผมตั้งลัทธิขึ้นใหม่ ไอ้เรื่องเกี่ยวกับตัวกู ของกูนี้ ที่จริงมันก็เป็นคำเดิมๆ ในพระบาลี คือคำว่า “อหังการ มมังการ” แต่มันคู่กันกับคำว่า “อัตตา อัตตนียา” อัตตา แปลว่าตัวตน อัตตนียา แปลว่าของตน แต่พอที “อหังการ มมังการ” นี้ ไอ้คำนี้มันแสดงความหมายรุนแรง จะหมวดตนหรือของตนอยู่ไม่ไหวแล้ว มันจึงเป็น กูหรือของกู ขึ้นมา อหัง ว่าเรา แปลว่าเรา แต่ภาษาบาลีมันไม่มีคำหลายคำ มันใช้คำเดียวเท่านั้น แต่ถ้าในกรณีที่โกรธขึ้นมาก็คือกู อหังก็คือกู ถ้าเวลาปกติอหังก็อันว่าเรา ถ้าพูดกับพระพุทธเจ้า อหังก็ข้าพระพุทธเจ้าไปเลย ภาษาบาลีเป็นอย่างนี้ เหมือนกับภาษาอังกฤษเหมือนกัน นี้ มมังการ ก็เหมือนกัน ความรู้สึกที่เดือดจัดมันถึงกับต้องแปลว่า ของกู
นี้เรื่อง อหังการ มมังการไม่ใช่ของใหม่ มีอยู่แล้วในบาลี และก็ในพวกอื่นก็มีใช้ ในอินเดียใช้คำนี้อย่างแพร่หลาย เป็นเรื่องที่รู้กันดี คำว่า อหังการ มมังการ หมายความว่าอย่างไร เอาไปใช้ได้กระทั่งละเอียดอย่างกิเลสประเภทละเอียด คือความเคยชินของกิเลสนี้ด้วย นั้นคำว่า “ตัวกู ของกู” นี้ไม่ใช่ของแปลกหรือตั้งเอาใหม่อะไรทำนองนี้ มีอยู่แล้วในพระคัมภีร์ ในพระบาลีในหลักพุทธศาสนา เขาเคยพูดกันแต่ว่าเรา ว่าของเรา ที่เรามาแปลเป็นกู ของกูนี้ เพื่อให้น้ำหนักมันเต็มที่ เต็มเปี่ยมของคำว่า “อหังการ มมังการ” นี่มันเกี่ยวกับวิธีแปลด้วย ที่จริงคำว่า “กู” นี่ ภาษาไทยเดิมไม่ใช่คำหยาบ กูคือคำธรรมดา เช่นในหลักศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ใช้คำว่า “กู” นี่ ในความหมายปกติธรรมดา ไม่ใช่หยาบคาย พ่อกูชื่อบานเมือง แม่กูชื่อนางเสือง ไอ้คำพูดของพระเจ้ารามคำแหงเอง แล้วก็มีคำว่า “กู” ใช้อย่างอื่นธรรมดาสามัญ สมัยนี้ถือเป็นคำหยาบ เมื่อผมเด็กๆ ผมยังจำได้ว่า ไอ้เด็กเล็กๆ พูดกับพ่อแม่ก็พูดว่ากู นี่ยังนึกสงสัยอยู่นะ ตอนผมเป็นเด็กนี่ เด็กๆ พูดกับพ่อกับแม่ก็พูดว่ากูนี่ เข้าใจว่าจะเป็นคำเดิมติดมาแต่โบราณกาล ซึ่งไม่ได้หมายความถึงคำหยาบ ก็เป็นได้ หรือว่าการสั่งสอนอบรมไม่ดี เด็กก็พูดกูก็ได้ ยังสงสัยอยู่ข้อนี้ แต่เป็นที่แน่นอนว่าแต่โบราณมานั้น คำว่า “กู” มันไม่ได้เป็นคำหยาบ
แต่สำหรับของเราในกรณีของเรา คำว่า “กู” นี้ ให้หมายถึงว่า ความยึดมั่นถือมั่นมันเต็มที่ และความยึดมั่นถือมั่นที่เต็มที่แล้ว มันจึงใช้คำว่ากู ว่าของกู ดังนั้นคำว่า "กู ของกู" ในที่นี้เราหมายถึง ความคิดที่ปรุงแต่งขึ้นมาในรูปของกิเลส ไม่ใช่คำพูดธรรมดา ไม่ใช่คำแทนชื่อธรรมดา ถ้ามันไม่เกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่นของกิเลส ก็ไม่ ไม่ ไม่เรียกว่า ตัวกูหรือของกูในที่นี้ คือในกรณีที่เรากำลังพูดกันอยู่นี่ ที่ผมพูดอยู่เป็นหลักนี้ ถ้าเมื่อใดพูดว่าตัวกู ของกู ล่ะก็ขอให้เข้าใจว่ามีความยึดมั่นเต็มที่ จนเป็นความโลภ หรือเป็นความโกรธ หรือเป็นความโง่อะไร เดือดอยู่ เดือด เดือด เดือดพล่านอยู่ เช่น ถ้าถูกใจ ไอ้ตัวกูมันก็รักอยากจะได้ ก็เป็นราคะ เป็นโลภะขึ้นมา แล้วมันไม่ชอบใจ ไอ้ตัวกูมันก็โกรธ มันก็คิดร้าย มันก็อยากจะฆ่าเสียให้ตายนี้ นี่ตัวกูที่มันโกรธ นี่ถ้ามันหลง คือมันไม่รู้อะไรแน่ แต่มันยังสงสัย มันยังต้องการ มันยังหวัง มันยังอะไรอยู่ มันก็เป็นไอ้ตัวกูที่โง่ ที่กำลังเดือดอยู่ด้วยความโง่ ความหลง ความไม่รู้ ทั้งหมดนี้มันเป็นความยึดมั่นถือมั่นนะ จึงได้โลภ จึงได้โกรธ จึงได้หลง
ถ้าพูดว่าตัวกู ของกูเพียงเท่านี้ก็ให้รู้เถิดว่ามันมีความยึดมั่นถือมั่น เป็นกิเลสเดือดจัดอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นี่ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู นี้ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นหลักพื้นฐานนะ พูดอย่างนี้คือหลักพื้นฐานที่ต้องจำไว้ ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกูก็ตามไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา อุปาทานนี้ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา มันพึ่งมีต่อเมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น หมายความว่ามีอะไรมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายหรือจิตคิดในใจเองก็ตามอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มันจึงจะเกิดเพราะเผลอสติ ถ้าไม่เผลอสติก็ไม่เกิดเหมือนกัน แต่ว่าส่วนมากนั้นคนมันเผลอสติ นั้นมันก็เกิด นั้นจึงว่าตัวกู ของกูนี้เพิ่งเกิด แล้วเกิดเป็นครั้งคราว เป็นคราวๆ เป็นเรื่องๆ ไป นี้ไอ้ตัวกู ของกูเกิดนี้หมายความว่า มันก็เป็นกิเลสซึ่งมีอวิชชาเป็นต้นเงื่อน คือแม้มันไม่มีสติ ก็คือมีความหลง มีความหลงคือมีอวิชชา สมมติว่าเมื่อตากระทบรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง และมันไม่มีสติว่ารูปสักว่ารูป หรือว่าตาสักว่าตานี่ มันไม่มีความรู้อย่างนี้ มันไม่มีสติอย่างนี้ ก็เรียกว่าขาดสติ เมื่อขาดสติก็ขาดความรู้ ขาดความรู้ก็คือขาดวิชชา นั้นจึงเป็นอวิชชา ดังนั้นอวิชชาจึงเพิ่งเกิด อวิชชาก็เพิ่งเกิดเมื่อนั้น เมื่อขาดสตินี่
นี้เป็นหลักพระพุทธภาษิตที่ว่าแม้แต่อวิชชาก็เพิ่งเกิด ทีนี้คนอีกจำนวนมาก ครูบาอาจารย์อีกจำนวนมากก็ถือว่าอวิชชานี้เกิดอยู่ตลอดเวลาไม่เคยดับ เกิดอยู่เป็นพื้นฐาน เกิดอยู่ตลอดเวลา ก็หมายความว่า อุปาทานหรือกิเลสตัณหาอะไรก็ตาม มันจะเกิดอยู่ตลอดเวลา จนเขาพูดว่านอนเฝ้าอยู่ในสันดาน เกิดอยู่แล้วตลอดเวลานี้ นี้ผมเห็นว่าไม่ถูกและผิดอย่างยิ่งที่จะให้อวิชชาหรือกิเลสเกิดอยู่ตลอดเวลาในใจของคนนั้นน่ะ มันเป็นเรื่องผิดอย่างยิ่ง และผิดต่อหลักพุทธภาษิตที่ว่า แม้แต่อวิชชาก็เพิ่งเกิดนี้ คุณคิดดูให้ดีๆ แม้แต่ความโง่ความหลงนี้ก็เพิ่งเกิด เกิดเมื่อมีเรื่องแล้วเผลอสติ มีเรื่องคือ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่าเรื่อง เรียกว่าเกิดเรื่อง พอเกิดเรื่องนั้นแล้วเผลอสติ โง่ไปนี้เพราะการเผลอสติในการที่กระทบกับอารมณ์นี่เรียกว่าอวิชชา อวิชชาก็เพิ่งเกิด นี่ก็หมายความว่าจิตไม่ได้เกิดอวิชชาอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามีความเคยชินที่จะเกิดอวิชชาอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ยอมรับ มีความเคยชินเป็นนิสัย หรือความเคยชินที่จะเกิดอวิชชาหรือกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนกันแหละ ได้ตลอดเวลา แต่มันเกิดจริง มันเพิ่งเกิด นั้นการจะตัดกิเลสกับตัดความเคยชินของกิเลส นั้นมันคนละเรื่อง จะตัดความเคยชินของกิเลสได้ก็เป็นพระอรหันต์และเป็นพระอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่ง แต่ว่าการตัดกิเลส ข่มกิเลสอะไรนี่มันเป็นเรื่องคนธรรมดาก็ทำได้ และอีกอย่างหนึ่ง บางทีมันก็ไม่มีการตัด การข่มอะไรหรอก เมื่อมันหมดเหตุหมดปัจจัยกิเลสมันก็ดับไปเอง คราวหนึ่งๆ เป็นคราวๆ ไปเหมือนกัน นั้นโดยหลักพื้นฐานต้องเรียกว่าจิตนี้ไม่มีกิเลส จิตพื้นฐานถือว่าไม่มีกิเลส อย่างที่พระบาลีว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ จิตนี้เป็นประภัสสร อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเส หิ อุปกฺกิลิฏฺฐํ แปลว่า เศร้าหมอง เพราะกิเลสที่เป็นอาคันตุกะเข้ามา กิเลสนี้หมายถึง อวิชชาหรือกิเลสชื่อใดก็ตาม ที่มันจะเกิดขึ้นเมื่อเผลอสติ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เป็นต้น นี้ขอให้ถือว่าจิตตามธรรมดานี้ไม่ได้มีกิเลสเกิดอยู่ ต่อเมื่อมันมีเรื่องกระทบทางใดทางหนึ่งแล้วโง่ แล้วเผลอสติมันจึงจะเกิด เผลอสติคือเกิดอวิชชา พอเกิดอวิชชาก็เกิดตัณหาอุปาทานอะไรได้ตามลำดับ นั้นเราไม่ได้เกิดตัณหาหรือไม่ได้เกิดอุปาทาน ว่าตัวกู ว่าของกูอยู่ตลอดเวลาดูให้ดีสิ คุณคิดดูให้ดี สังเกตดูให้ดี พิจารณาจิตใจของตัวเองดูให้ดี อุปาทานว่าตัวกู ว่าของกูนี้ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา มันเกิดเป็นคราวๆ แต่เนื่องจากมันเกิดเป็นคราวๆ บ่อยนัก มันจึงมีความเคยชินที่จะเกิดอย่างไม่ทันรู้ทีเดียว ความเคยชินนี้มีมากจนเกิดได้เร็วไม่ทันรู้
ดังนั้น เราจึงเผลอหรือเข้าใจผิดไปว่ามันเกิดอยู่แล้ว ที่จริงมันเกิดเร็วมากและเป็นอัตโนมัติที่เร็วมาก จนเราคิดว่ามันเกิดอยู่แล้ว เรามีความเคยชินที่จะเกิดความคิดเป็นตัวกู ของกู มาตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่อ้อนแต่ออกตัวนั้น เด็กคลอดออกมาพอเริ่มรู้อะไรบ้างก็ มันก็ถูกสอนให้เป็นตัวกู ของกู ตั้งแต่นอนอยู่ในเบาะนี้ ยังลุกนั่งไม่ได้นี้ มันก็มีความเคยชินที่จะเกิดตัวกู ของกู เพราะถูกอบรมมาอย่างนั้น ให้เป็นอะไร เป็นตัวกู แล้วก็เป็นของกู เช่นพ่อแม่ของกู แล้วตัวกู ตัวกูจะกิน ตัวกูไม่ได้กินก็โกรธ ตัวกูได้กินก็ดีใจอย่างนี้ มันค่อยๆ สร้างไอ้รูปของตัวกู ของกูนี้ขึ้นมาเรื่อยๆ จนมั่นคงและเคยชิน นี้เรามีอายุตั้ง ๓๐ ปี ๔๐ ปี ราวๆ นี้ มันก็มีความเคยชินมาก วันหนึ่งมันสร้างความเคยชินในเรื่องนี้หลายร้อยครั้งนะ คุณคิดดูให้ดี ถ้าจำนวนครั้งที่เกิดตัวกูได้วันหนึ่งๆ จะมีหลายครั้งหรือบางคนจะหลายสิบครั้ง บางคนจะหลายร้อยครั้งก็ได้ คือความคิดที่มันสำเร็จรูปเป็นกิเลสทีหนึ่งแล้วก็ต้องเรียกว่าเป็นตัวกู ของกูทีหนึ่งแหละ ครั้งหนึ่งแหละ แต่แล้วมันจะสร้างความเคยชินเท่าไร เอาหละ สมมติว่าในวันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงนี้ เกิดได้สัก ๕๐ ครั้ง ชั่วโมงละสองครั้งประมาณอย่างนั้น นี้เป็นอย่างน้อยที่สุดแล้วนะ แล้วเดือนหนึ่งเท่าไร ปีหนึ่งเท่าไร แล้วสิบปีเท่าไร มันชินมากขนาดนี้ ตัวกู ของกูจึงเลยเป็นเรื่องที่ชินเป็นนิสัย จนเป็นไอ้คุณสมบัติของมันเอง เป็นอย่างนั้น นี่เป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นหลักพื้นฐานที่จะต้องรู้ก่อน ว่ากิเลสนี้ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเกิดเป็นคราวๆ ก็เกิดบ่อยจนชิน จนชินเป็นเหมือนกับว่ามันมีอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น นี้ถ้าเราพบข้อเท็จจริงอันนี้แล้วเราก็จะต้องสรุปให้ได้ว่า เวลาที่กิเลสไม่เกิดมันก็มี เวลาที่จิตว่างจากกิเลสอยู่เองนั้นก็มี เวลาที่จิตเกิดกิเลสมีกิเลสนั้นก็มี มันมีอยู่เป็น ๒ อย่าง ต้องไปศึกษาข้อนี้ให้เข้าใจเสียก่อน ไปนั่งพินิจพิจารณาดูเถิด เวลาไหนจิตมีความรู้สึกเป็นตัวกู ของกูอย่างไร เวลาไหนไม่มี ไอ้เวลานอนหลับไม่ฝันนั้นไม่มีแน่ คุณ คุณ คุณเข้าใจได้ทันทีใช่ไหม พอผมพูดว่าเวลาที่นอนหลับไม่ฝัน หลับสนิทนี้ ตัวกู ของกูไม่เกิดแน่ หลับ๕ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง มันก็ไม่มี นี้ถ้าว่ามันฝัน มันก็มีตัวกู ของกูในจิตใต้สำนึก เป็นความฝันเป็นอะไรมันก็มีเหมือนกัน เวลาหลับมันก็มีได้ แต่มันไม่เต็มรูปที่จะเรียกว่ากิเลส หรือเป็นมโนกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บางคนอาจจะเต็มรูปก็ได้ แม้ในความฝัน แต่เราเอาว่าเราไม่นับว่าเป็นกิเลสโดยสมบูรณ์ นี้เอาเวลาตื่นๆ อยู่นี้ เวลาที่เรามีอารมณ์ดี มันก็ไม่มีกิเลสอันใดอันหนึ่งรบกวนจิตใจ หรือเวลาที่เข้าสมาธิ เข้าฌาน เข้าสมาบัติ หรือเข้าสมาธิเสียนี้ มันก็ไม่มี เวลานั้นมันก็ไม่มีตัวกู ของกู เวลาที่เราปล่อยให้จิตมันอยู่ในสภาพที่พักผ่อน มันเหนื่อยนัก มันพักผ่อน มันก็ไม่มีตัวกู ของกู มันอยากจะหยุด จะอยู่นิ่งๆ มันก็ไม่มีกิเลส หรือว่าประจวบเหมาะเราตั้งจิตไว้ดี เวลามันประจวบเหมาะดี อารมณ์แวดล้อมดี เช่นอยู่กับก้อนหิน ต้นไม้ ที่ช่วยมัน ให้จิตมันหยุดอย่างนี้มันก็ไม่มีกิเลส นี่เรียกว่าป่ามันช่วยให้หยุดหรือว่างได้ง่าย เวลานี้มันก็ไม่มีกิเลส
นั้นจึงมีบทสำหรับให้พิจารณาในอานาปานสติอยู่บทหนึ่งที่ว่า เราทำในบทศึกษา มองตาม ตามมองจิตอยู่ว่า จิตมีกิเลสหรือไม่มีกิเลส จิตกำลังมีกิเลสหรือกำลังไม่มีกิเลส นี่ปุถุชนคนธรรมดานี่เขามีบทเรียนอย่างนี้ จิตมีราคะหรือจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะหรือปราศจากโทสะ จิตมีกิเลสชื่อใดชื่อหนึ่ง หรือไม่มีกิเลสชื่อใดชื่อหนึ่ง นั้นควรจะทดสอบดูจนรู้จักจิตใจ หรือธรรมชาติแห่งจิตใจของตนเองดีว่า มันกำลังมีกิเลสหรือกำลังไม่มีกิเลส แล้วให้รู้ภาวะที่มันไม่มีกิเลส กำลังว่างจากกิเลสมันเป็นอย่างไร พอกิเลสเกิดขึ้นเป็นตัวกู ของกู มันเป็นอย่างไร กิเลสเกิดขึ้นนี้มันเป็นตัวกู ของกูมันหลายแบบ อย่างที่พูดแล้ว ว่าเป็นโลภะก็มี โทสะก็มี โมหะก็มี อย่างมากจนร้อนฉี่ก็มี อย่างกลางจนร้อนน้อยๆ หรืออย่างเบาๆ จนไม่ค่อยรู้สึกร้อนก็มี แต่ว่ามันก็ต้องมีความกระวนกระวาย นั้นที่เราไม่มีไอ้สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเวลาที่เรียกว่า ประภัสสร นี่จิตมีความเป็นประภัสสรอยู่ตามลำพังตัวมันเองนะ มันก็เป็นจิตที่กำลังว่างจากกิเลส สังเกตดูให้ดีๆ ตอนไหนมีบ้างวันหนึ่ง วันหนึ่ง จิตที่โปร่งดี แจ่มใสดี ไม่ขุ่น ไม่ขุ่น เรียกว่าไม่ขุ่นมัว ไม่ขุ่นด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง มันก็มีเหมือนกัน แต่มันอาจจะมีน้อยหรือน้อยที่สุดสำหรับคนปุถุชน ซึ่งเคยชินแต่เรื่องตัวกู ของกู แล้วรักแล้วหลงในเรื่องที่จะมีตัวกู ของกู คำพูดนี้คุณเข้าใจหรือเปล่า ว่าคนธรรมดานี้มันรักที่จะมีตัวกู ของกู มันรักตัวกู ของกูนั่นแหละ มากเกินไปกว่าที่จะรักพระพุทธเจ้า แม้เป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสก อุบาสิกาอะไรก็ตามใจ มันรักกิเลสตัวกู ของกูนี่ยิ่งกว่ารักพระพุทธเจ้า ผมพูดอะไรมักจะมีผู้มองไปในแง่ที่ว่าเป็นการด่าเสมอ อย่างนี้ก็เป็นของจำเป็นที่จะต้องพูดในรูปนี้เพื่อประหยัดเวลา เพราะว่ามันมีกิเลสอีกแขนงหนึ่ง คือกิเลสประเภททิฐิมานะ ทิฐิมานะ กระด้าง กิเลสประเภทนี้มันมีอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมันชอบให้ยืนยันไปตามสภาพเดิม บางทีเห็นว่าไม่น่าทำ ก็ยังจะทำอยู่นั่น หรือว่าใครห้ามก็ยิ่งไม่ฟัง ยิ่งห้ามยิ่งไม่ฟัง ทั้งที่รู้ว่าคำห้าม คำแนะนำนั้นมันถูกต้อง แต่ก็ยิ่งไม่ฟัง ยิ่งจะทำ เขายิ่งห้ามเท่าไร มันก็ยิ่งเบ่งรับขึ้นมาเท่านั้น ยิ่งชี้แจงอะไรก็ยิ่งหาข้อแก้ตัวมากขึ้นเท่านั้น นี่ขอให้ดูให้ดีๆ วันหนึ่งๆ มันมีไอ้เรื่องอย่างนี้
ถ้าเชื่อหรือรักพระพุทธเจ้า มันก็พยายามที่จะยอมแพ้ คือยอม ยอมตามที่เขาแนะนำ หรือตามที่ตัวเองนึกขึ้นมาได้ หรือตามที่ตัวเองอยากจะดี ฟังดูก็ไม่น่าเชื่อว่า เรานี้เป็นสองตัวเกิดขึ้นมาทะเลาะกัน ในคนๆ หนึ่งมีตัวอยู่สองตัว ตัวดีกับตัวชั่ว แล้วภาษาไอ้จิตวิทยาใหม่ๆ นี่เขาเรียกว่า ธรรมชาติฝ่ายต่ำกับธรรมชาติฝ่ายสูง มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทั้งคู่ นี่ไอ้ตัวนี่มันทะเลาะกัน มันฟัดเหวี่ยงกันเรื่อย ขณะใดธรรมชาติฝ่ายต่ำมันชนะนี่ มันก็มีทิฐิมานะ เย่อหยิ่ง แม้แต่ดื้อต่อตัวเอง ดื้อต่อตัวเอง คือคนเดียวนี้มันดื้อ อยู่ได้ข้างในแล้วก็โดยธรรมชาติฝ่ายต่ำมันชนะ แต่ธรรมชาติฝ่ายสูงคือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมันชนะ ไอ้ธรรมชาติฝ่ายต่ำมันก็ยอมไป แล้วมันก็เป็นตัวกูอยู่นั่นแหละ เป็นตัวกูทั้งสองตัวนะ ตัวกูฝ่ายชั่ว ตัวกูฝ่ายดี นี้มันก็เป็นตัวกูทั้งสองตัว ตัวกูฝ่ายดีบางทีก็ยิ่งร้ายไปกว่าตัวกูฝ่ายชั่วก็มี พอมันได้ดี มันก็จองหองอวดดี มันยิ่งเอาความดีมาโอ้อวด มาอะไร มันก็กลายเป็นเรื่องตัวกูด้วยเหมือนกัน จนกว่าจะหมดตัวกู หมดตัวกูทั้งสองตัวนะ มันจึงจะเรียกว่า ว่าง
ที่หินสลักที่เอามาจากอจันตาแผ่นหนึ่ง รูปวัวสองตัวงัดกัน ตัวหนึ่งดำ ตัวหนึ่งขาว ผมเห็นเข้าที เขาจะมีความหมายทีแรกอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้เขียนคำอธิบายไว้ แต่ผมถือเอาตามความรู้ของผมว่า คือวัวตัวดำตัวหนึ่ง วัวตัวขาวตัวหนึ่ง ฟัดกันอยู่เรื่อยในจิตใจของเรานี้ จนกว่ามันจะตายไปทั้งสองตัว แล้วมันก็ไปตรงกับเรื่องของพวกเซ็น นิทานของพวกเซ็น เหมือนกันเลย ว่านิทานนั้นเล่าว่า ภิกษุรูปหนึ่งพยายามปฏิบัติเซ็นอยู่เรื่อย ปฏิบัติอยู่เรื่อยอย่างจริงจังนะ อาจารย์มาถาม มาถามสอบสวนบ้างบางเวลาว่าเป็นอย่างไร เป็นอย่างไรแล้ว การปฏิบัตินั้น แบบว่าควายดินสองตัวชนกันเรื่อย ตัวหนึ่งดำ ตัวหนึ่งขาว ควายดิน ควายที่เป็นดิน นี่อาจารย์รู้ทันทีว่านี่หมายความว่าอย่างไร เพราะมันมีความรู้เหนือกว่า ไอ้ศิษย์นั้นมันก็ไม่ใช่เลว ไอ้ศิษย์คนนั้น ไอ้ควายดินสองตัวชนกันอยู่ อาจารย์ก็ไป หลายๆ วันก็ถามอีกว่าเป็นอย่างไร ก็ว่าไอ้ควายสองตัวยังชนกันอยู่ นี้พอเวลานานเข้าพอสมควร อาจารย์ถามว่าเป็นอย่างไร บอกว่ามันตกน้ำละลายไปหมดแล้วทั้งสองตัว ควายดินนี่ ชนกันพลัดตกลงไปในน้ำ ละลายไปหมดเป็นน้ำหมดแล้วทั้งสองตัว อาจารย์ไม่พูดอะไร กลับไปเลย หมายความว่ามันหมดเรื่อง หมดเรื่องการทะเลาะกันระหว่างธรรมชาติสองฝ่าย คือฝ่ายดีฝ่ายชั่วนี้ ดังนั้น ภาพวัวภาพนั้น สนใจกันบ้าง จนขาดหมด วัวหรือควายสองตัวงัดกันนี่ ในหินสลักจากอจันตา ที่ถ้ำอจันตาดูสิมีภาพกวาง ๔ ตัวหัวเดียว มีไอ้ควายชนกัน มีปลาหัวมีดอกบัวนี้ ล้วนแต่มีความหมายแน่นอน แต่เขาไม่ได้เขียนคำอธิบายไว้เลย นี้เป็นว่าเราจะต้องรู้ว่า ไอ้ตัวกูนี้มี ๒ ตัว ในนี้ ในใจนี้มี ๒ ตัว ตัวหนึ่งดี ตัวหนึ่งชั่วผลัดกันขึ้นมา โผล่ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการนี้ ผู้ครอบครองจักรวาลนี้ ครอบครองร่างกายนี้ แล้วมันไม่ไหวทั้งนั้นแหละ ไอ้ยึดมั่นถือมั่นเรื่องดีไม่ไหว ยึดมั่นถือมั่นเรื่องชั่วก็ไม่ไหว ตัวกูดีก็ไม่ไหว ตัวกูชั่วก็ไม่ไหว ดีก็มีความทุกข์ไปตามแบบดี ชั่วก็มีความทุกข์ไปตามแบบชั่ว นั้นคนหนึ่งแบกกระบุง ก้อนหินหรือว่าไอ้ของโสโครกอะไรแล้ว มันก็หนักเหมือนกัน ไอ้คนหนึ่งแบกกระบุงที่ใส่เพชรใส่พลอย ใส่แก้วแหวนเงินทองอะไรมันก็หนักเหมือนกัน คนหนึ่งหาบถังอุจจาระมันก็หนัก ไอ้คนหนึ่งหาบถังใส่เพชรพลอยมันก็หนัก นั้นเราจะต้องรู้ว่าไอ้ตัวกูมันแล้วใช้ไม่ได้ทั้งนั้น ไอ้ตัวกู ของกูที่ยึดมั่นทางดีก็ใช้ไม่ได้ ยึดมั่นถือมั่นทางชั่วก็ใช้ไม่ได้ ที่มันไปด่าเขาไอ ตัวกูฝ่ายดีนะ เข้าใจไหม ที่มันไปด่าเขา ไอ้ตัวกูฝ่ายดี มันยึดมั่นฝ่ายดี กูดีแล้วมันไปด่าเขา แล้วก็ไปทะเลาะกันได้ เป็นพระแท้ๆ นี่ไปทะเลาะฆราวาสได้ ไปด่าฆราวาสได้ นี่มันเลวสักเท่าไร ไอ้ตัวกูฝ่ายดีนี่ อย่า อย่า อย่าไประวังแต่ตัวกูฝ่ายชั่ว ตัวกูฝ่ายชั่วยิ่งจะมีอันตรายน้อย ตัวกูฝ่ายดีนั่นแหละ มันจะไปกัดใครต่อใครเขาไม่ หยุดหย่อน เพราะมันถือว่าดีกว่า มันจะชนะเรื่อย
นั้นรวมความว่าต้องว่างจากตัวกูทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ดังนั้น เมื่อผมพูดเพียงสั้นๆ ว่าว่างจากตัวกูนี้ ผมไม่มัวพูดว่าว่างจากตัวกู ๒ ตัว ฝ่ายดีฝ่ายชั่ว มันเสียเวลา พูดแต่ว่าว่างจากตัวกูพอแล้ว ว่างจากตัวกูทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว จิตบางเวลาว่างจากตัวกู ตัวจิตโดยส่วนมาก มันมีเต็มอยู่ด้วยตัวกู มันแล้วแต่วาสนาด้วย บางคนมีนิสัยสันดานหรืออันธพาลมากเกินไป มันก็มีตัวกู ของกูมาก เกิดมาก บางคนมีสันดานอันธพาลน้อย ความคิดชนิดนี้ก็เกิดน้อย เพราะฉะนั้นได้เปรียบ คือสบายกว่า ขอให้คุณพิจารณาดูคนบางคน มันโกรธยาก มันยินดียินร้ายยาก ไปดูให้เห็น เขาไม่ได้เล่าเรียนอะไร ไม่ได้เคยบวชเคยอะไรด้วยซ้ำไป แต่นิสัยสันดานมันโกรธยาก รับยาก หวั่นไหวยาก ยิ้มแฉ่งอยู่เรื่อยนี่ก็มี อย่างนี้ดีกว่าพระเณรเสียอีก ที่เรียนรู้อะไรมากแต่ว่าโกรธเก่ง รักเก่ง อะไรเก่ง นั้นเราจะต้องไปดูกันใหม่ ให้ลึกถึงจิตใจว่า ใครมีเวลาที่ว่างจากตัวกูมาก ใครมีเวลาที่ว่างจากตัวกูน้อย ใครแทบจะไม่ว่างเลย
เอาละ ทีนี้มันสรุปความกันเสียทีว่า เวลาที่ว่างจากตัวกูนั้นมีอยู่ ดังนั้น ในขณะที่ว่างจากตัวกูนั้นแหละ ผมถือเป็นขณะแห่งนิพพาน เวลาใดจิตว่างจากตัวกู นิพพานก็มีอยู่ ณ จิตนั้น พูดกันอย่างนี้เลย เป็นคำกลอนเลย ว่า เวลาใดจิตว่างจากตัวกู นิพพานก็มีอยู่ ณ จิตนั้น เวลาใดตัวกูจู่มาพลัน สังสารวัฏก็พลันเกิดขึ้นแทน เวลาใดตัวกูจู่มา พลัน กะทันหัน เพราะมันมาเร็ว สังสารวัฏก็พลันเกิดขึ้นแทน คำว่า “สังสารวัฏ” ก็คือตรงกันข้ามกับนิพพาน ที่ฝาผนังนี่สังสารวัฏเขียนสัญลักษณ์เป็นไฟ เป็นไฟลุกขึ้นมา นิพพานจะเป็นแก้ว ๓ ดวง เพราะว่าในสมัยที่เขียนภาพฝาผนังนี้ เขายึดหลักนิพพาน ๓ สุญญตนิพพาน อนิมิตตนิพพาน อ้า..อะไร สุญญต อย่างหนึ่ง อนิมิตต อย่างหนึ่ง อัปปณิหิต อย่างหนึ่ง ๓ อย่างนี้ อนิมิตตนิพพาน อัปปณิหิตนิพพาน สุญญตนิพพาน เพราะนิพพานอาจจะมาได้ ๓ ทาง อาจจะถึงได้ ๓ ทางโดยวิธีนี้ นี่เขาเขียนนิพพานเป็นรูปดวงแก้ว ๓ ดวง เป็นสัญลักษณ์ของนิพพาน ฝ่ายสังสารวัฏเขียนเป็นไฟลุก เมื่อใดจิตว่างจากตัวกู นิพพานก็มีอยู่ในจิตนั้น เมื่อใดตัวกูจู่มาพลัน สังสารวัฏก็พลันเกิดขึ้นแทน หมายความว่า พอสังสารวัฏกลับมาก็ลุกเป็นไฟเลย ไฟราคะก็มี ไฟโทสะก็มี ไฟโมหะก็มี มันต้องร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งแหละ ไฟราคะก็เปียก ร้อนเปียกๆ ไฟโทสะก็ร้อนโพลงๆ ไฟโมหะก็ร้อนมืดๆ แต่รวมความแล้วมันร้อน
เมื่อจิตว่างจากตัวกู เราถือเป็นนิพพาน นี้คนโดยมาก ครูบาอาจารย์โดยมาก ไม่ยอม ไม่ยอมเชื่อ ไม่ยอมฟัง ไม่ยอมเห็นด้วย เพราะมันเข้าใจคำว่า “นิพพาน” แคบ ในบาลีอังคุตตรนิกายมีแจกนิพพานไว้ เป็นตทังคนิพพาน วิกขัมภนนิพพาน แล้วก็นิพพานจริงๆ สมบูรณ์ ตทังคนิพพาน แปลว่า นิพพานที่มาจากการประจวบเหมาะ เป็น coincident ของสิ่งแวดล้อม ประจวบเหมาะเกิดความว่างจากตัวกูได้บางขณะนี่ เช่นว่าเราไปนั่งที่บนภูเขา นั่งกับก้อนหิน นั่งกับต้นไม้ มีลมพัดมีอะไร ช่วยกันประจวบเหมาะจิตว่างจากตัวกู ไม่เกิดกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งได้นี้ อาการอย่างนี้เรียกว่า ประจวบเหมาะ แห่งองค์ประกอบ เขาเรียกว่า ตทังค ประจวบเหมาะจากองค์นั้นๆ หลายๆ องค์นี่ ได้ที่ ทำให้ว่างไปเองได้ นี่เป็นตทังคนิพพาน เขาเรียกว่า นิพพานทั้งนั้น ถ้าเราไปทำวิปัสสนา ทำสมาธิสำเร็จ อยู่ในฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ว่างจากตัวกูเหมือนกัน เขาเรียกว่า วิกขัมภนนิพพาน นี้ถ้าว่าตัดกิเลสได้จริงอย่างเป็นสมุจเฉทปหานอย่างนี้ มันก็เป็นนิพพานแท้
ดังนั้น คำว่า “นิพพาน” มีอยู่ตั้ง ๓ ระดับ เป็นอย่างน้อย ๓ ชนิดเป็นอย่างน้อย ชนิดหนึ่งประจวบเหมาะเป็นการชั่วคราว ชนิดหนึ่งข่มด้วยอำนาจฌานก็เป็นการชั่วคราว และชนิดที่สามนั้นถาวร ถ้าว่าตัดกิเลส สิ้นเชื้อรากไปจริง แต่มันก็เรียกว่า นิพพาน ด้วยกัน เพราะมันเย็นเหมือนกัน ถ้าเรียกว่านิพพานแล้วหมายความว่าเย็นเหมือนกัน ที่เราประจวบเหมาะเกิดความว่างจากตัวกูขึ้นมาเอง เพราะไปนั่งบนภูเขาอย่างนี้ มันก็เหมือนกัน มันเย็นอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะนิพพานจริงมันก็เย็นอย่างนั้น ยิ่งเป็นนิพพานชั่วคราวที่จะชิมได้ในชาตินี้ก็ ทิฏฐธรรม ทิฏฐธรรมนิพพานก็เรียก ไอ้ชนิดนี้เรียกว่า ทิฏฐธรรมนิพพาน ก็เรียก เราชิมรสพระนิพพานจากการประจวบเหมาะก็ดี ชิมรสพระนิพพานจากจิตอยู่ในฌานในสมาธิก็ดี เรียกว่า ทิฏฐธรรมนิพพาน นิพพานในชาติในขณะปัจจุบันนี้ นิพพานในภพอันตนเห็นแล้วนี่ หมายความว่า สดๆ ร้อนๆ ที่นี่เดี๋ยวนี้ นั้นจึงว่า เมื่อใดจิตว่างจากตัวกู นิพพานก็มีอยู่ในจิตนั้น นี้เป็นที่แน่นอน เพราะว่าไอ้นิพพานคือว่างจากตัวกูนั่นเอง เพราะว่าเมื่อว่างจากตัวกูก็คือไม่มีสังสารวัฏ ตอนนั้นสังสารวัฏระงับไป นิพพานปรากฏ แต่มันก็จะกลับไปมีสังสารวัฏอีก เพราะความเคยชินของกิเลสอย่างที่ว่า นั้นเราไปนั่งสบายบนภูเขา สบายไปจากโลกด้วยความว่าง ความเย็นอะไรบอกไม่ถูกนี้ แต่แล้วในที่สุดเราก็นั่งอยู่อย่างนั้นไม่ได้ เราก็ต้องลุกไปตามที่ต่างๆ ตามหน้าที่การงาน มันก็ติดไปเหมือนกัน แต่แล้วมันเลือนไป เลือนไป จางลงๆ ประเดี๋ยวก็ไปเข้ารูปอย่างอื่น ให้เกิดตัวกู ตัวกู ของกูขึ้นมาอีก นั้นก็ต้องระวังกันมาก ทีนี้ก็ต้องอาศัยวิธีที่ ๒ คือการข่ม ข่มบังคับ ให้มีสติทางตา ทางหู ทางจมูกอะไรนี้ คอยระวังไว้ คอยข่มไว้ จะให้มันฟลุ๊คเองอย่างนั้นเรื่อยไปมันไม่ได้ ประจวบเหมาะนี่คือก็คล้ายกับฟลุ๊คเอง จะมีเรื่อยไปมันก็ไม่ได้ มันมีไม่ไหว นี่ก็ต้องใช้วิธีควบคุมหรือบังคับโดยสตินี่ จึงว่ามีสติสังวรณ์ อินทรีย์สังวรณ์ สำรวมด้วยสติ เพื่อให้มันไม่เกิดตัวกูนะ อย่าเผลอให้ตัวกูเกิดขึ้นมา อาจารย์ของผมองค์หนึ่ง อาจารย์สวด สวดกรรมวาจาแกใช้คำว่า “เต่า” ใช้คำว่า เต่า ก็ข้างๆ กุฏินั้นมีสระ มีสระใหญ่อยู่ แล้วมันก็มีเต่า แล้วแกก็พูดสั้นๆ ว่าเต่ามาอีกแล้ว เต่าขึ้นมาอีกแล้ว ในใจของแกนี่เกิดขุ่นอีกแล้ว แล้วมันก็คลานกลุกกลักๆ กลับลงไปในสระอีก ผมไปพบบ่อยๆ เลย นี้แกเดือดขึ้นมาว่า เต่า ขึ้นมาอีกแล้ว บางทีก็พูดกับเราว่าเต่าขึ้นมาอีกแล้ว เดี๋ยวมันคลานกลุกกลักๆ กลับลงไปในสระอีก นี่แสดงว่ากันได้มีการต่อสู้อย่างเต็มที่ วันหนึ่งๆ มีการต่อสู้อย่างเต็มที่ นี่คนโบราณเขามีความรู้แค่นี้ ไม่ได้เรียนนักธรรม ไม่ได้เรียนบาลีเป็นมหาเปรียญหรอกนะ แต่ก็รู้จักเต่านะ ไอ้พระเณรเดี๋ยวนี้ยิ่งโง่ ยิ่งไม่รู้จักเต่า จนเต่ามันครองอยู่ในสันดานเลย ดังนั้น โอกาสที่จะมีจิตว่างจากตัวกู นี้มันมี มีน้อย นี้ขอให้พยายามเรื่อยๆ ไปทั้งสองวิธีนี้ ไปหาที่ๆ มันจะทำให้จิตหยุดว่างได้ง่ายๆ อย่าให้มันแวดล้อมด้วยสิ่งของหรือบุคคลหรืออะไรก็ตามที่มันช่วยให้เกิดตัวกู ของกู
นั้นผม ก็คือเมื่อวานนี้พูดว่า ฟังวิทยุ ข่าวในประเทศนอกประเทศอะไรนี่ ก็ยังเป็นโลกจัดเต็มที่ ยังเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจนะ เพราะคุณไปฟังสิ มันจะมีความคิดโน้มเอียงไป สนับสนุนฝ่ายโน้น เกลียดชังฝ่ายนี้ ไปฟังข่าวเขารบกัน สงครามนั้นน่ะ ถ้าจิตมันโน้มเอียงไปเพื่อสนับสนุนฝ่ายนี้ เกลียดชังฝ่ายโน้น นั้นน่ะตัวกู ของกู เกิดฟรี เกิดไม่มีโดยไม่จำเป็นขึ้นมา เพราะการฟังวิทยุนั้น แม้ว่าจะฟังข่าวฟุตบอล ข่าวมวย ข่าวอะไรต่างๆ มันก็อย่างเดียวกันน่ะ ข่าวมวยชาติชายอย่างนี้มันก็ต้อง ตัวกู ของกูเกิดในลักษณะสนับสนุนฝ่ายโน้น ขัดแย้งฝ่ายนี้ ดังนั้น ไม่ฟังเสียดีกว่า นี่เรียกว่าหลีกเลี่ยงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอะไรก็ตาม ที่มันชวนให้เกิดตัวกู ของกูให้มาก เว้นไว้แต่จะเป็นการทดสอบ ได้ฟังวิทยุสักทีหนึ่งว่า วันนี้มันจะเกิด เกิดตัวกู ของกูเข้าทางฝ่ายไหนไหม นี่จะทดสอบสักทีก็ได้ หรือจะฟังเพียงว่าเดี๋ยวนี้โลกมันไปถึงไหนกันแล้ว อย่างนี้ก็ได้แต่มันยากเหลือเกิน ที่จะฟังในลักษณะอย่างนั้น มันจะต้องเกิดความลำเอียงอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ก็เป็นตัวกู ของกู มันไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ฟังวิทยุนี่ได้เปรียบนะ ได้เปรียบที่จะเป็นอยู่ด้วยจิตว่างจากตัวกู นั้นเขามักจะพูดกันว่าไม่อ่านวิทยุ ไม่ฟังวิทยุ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์นี้ จะทำให้ไม่รู้ โง่ไม่ทันสมัย มันไม่จริงหรอก มันเป็นเรื่องแก้ตัว ถ้าอ่านต้องอ่านด้วยสติสัมปชัญญะ ถ้าฟังก็ต้องฟังด้วยสติสัมปชัญญะ นั้นอย่าอ่านอย่าฟังดีกว่า เราระวังไอ้การเป็นอยู่ของเรา เป็นประจำวันนี้ ไม่ถูก ไม่ถูกเชิด ไม่ถูกกระตุ้น ไม่ถูกเชิดด้วยสิ่งแวดล้อมให้มันเกิดตัวกู ของกูขึ้นมา นี่เรียกว่าเป็นอยู่ถูกต้องที่จะทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ เป็นอยู่อย่างนั้นล่ะ เป็นอยู่ถูกต้อง อะไรเชิดไม่ขึ้น อารมณ์ทางตา ทางหู ทางอะไรเชิดไม่ขึ้น เชิดเราไม่ขึ้น คือเชิดจิตไม่ขึ้น ให้เป็นตัวกู ของกู มันเชิดไม่ขึ้น แล้วมันก็เป็นอยู่ถูกต้อง เรียกกันง่ายๆ อย่างสามัญที่สุดเลย เป็นอยู่อย่างถูกต้อง เป็นอยู่ชนิดที่จิตจะถูกเชิดไม่ได้ เชิดไม่ขึ้นหรือว่าไม่มาเชิด ไม่มีการเชิดเสียเลย มันก็ว่างจากตัวกู ของกู สบาย เท่านี้มันก็พอแล้ว เป็นทั้งหมดแล้ว ทีนี้ไอ้คนที่มันบ้าเอง มันว่าอย่างนี้ไม่มีอะไร อย่างนี้มันโง่ อย่างนี้ไม่ทันสมัย อย่างนี้มันไม่เจริญทางวัตถุ ก็ลองคิดดู เจริญทางวัตถุ มันเจริญไปทำไมกัน ถ้าเจริญให้ร้อนเป็นไฟ เจริญไปทำไมกัน
ทีนี้มันมีปัญหาที่น่านึกอยู่อย่างหนึ่งว่า ไอ้ที่จิตมันว่างจากตัวกูนี้มัน มันเพียงแต่ไม่มีความทุกข์เท่านั้นเอง มันเป็นจิตที่โง่ที่ไม่รู้หรือเปล่า นี่เข้าใจได้ยาก ฟังก็ยาก เข้าใจก็ยาก ในจิตที่ว่างไม่มีตัวกูหยุดอยู่ในนิพพาน ในชั่วขณะก็ตาม นิพพานที่ไหนก็ตาม มันเป็นความฉลาดหรือเปล่า คนทั่วไปเขาถือว่าไม่ฉลาด เพราะไม่ได้คิดนึกอะไร ไม่ได้ศึกษาอะไร คนไม่ได้ศึกษาอะไรก็ทำได้ ฉลาดหรือเปล่า เขาว่าไม่ฉลาด ที่จริงอันนี้คือยอดสุดของความฉลาดโดยอัตโนมัติ เพราะว่าความรู้ทั้งหมดหรือความฉลาดทั้งหมดมันมุ่งตรงไปที่ความไม่มีทุกข์ ถ้ามันรู้ความไม่มีทุกข์เสียแล้ว ก็ต้องเรียกว่ายอดของความฉลาด ทั้งที่ไม่ได้คิดนึกอะไร ไม่ได้แจกแจงอะไร ไม่ได้พูดอะไรสักคำเดียวเลย แต่ตามที่แท้จริงตามทางธรรมะต้องพูดได้ว่าเป็นคนฉลาดที่สุด ฉลาดกว่านักปราชญ์ทั้งหมดในโลกสมัยนี้รวมกัน นี่ยกตัวอย่างเปรียบเทียบอีกทีหนึ่งว่า คนไม่รู้หนังสือคนหนึ่ง ไม่เคยเรียนหนังสือ ไม่รู้หนังสือคนหนึ่งในประเทศอินเดียหลายพันปีมาแล้ว แต่มีความคิดนึก มีความรู้สังเกต รู้อะไรในสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต จนกระทั่งเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า คุณต้องจำให้ดีนะ ปัจเจกพระพุทธเจ้า ไม่ได้พูดว่าสัมมาสัมพุทธเจ้าทีนะ แต่ว่าบุคคลนี้เป็นปัจเจกพระพุทธเจ้า พูดอะไรก็ไม่ได้ พูดอธิบายอะไรก็ไม่รู้จักพูด ไม่รู้คำพูด ไม่รู้วิธีพูด จะพูดสิ่งที่รู้อยู่ในใจของตัวให้ใครฟังก็ไม่ได้ เหมือนคนใบ้ บรรยายอะไรในใจให้คนอื่นฟังไม่ได้ แล้วก็เป็นคนไม่รู้หนังสือด้วย แล้วไปพูดอะไรเป็น ถามว่าคนนี้ฉลาดหรือโง่ มันก็ต้องตอบว่าฉลาดที่สุดในโลกอยู่แล้ว เพราะมันรู้ไอ้สิ่งสูงสุดของความฉลาดทั้งหมดรวมกัน และต้องการนี่ นี่คุณจะต้องตีความหมายของคำว่า “ฉลาด” ให้ถูกต้องอย่างนี้ เพราะสติปัญญาทั้งหมดในโลกชนิดไหนก็ตาม กี่แขนงก็ตามถ้ามันไปถูกต้องแล้ว มันจะต้องรวมจุดไปสู่ความหยุดเสียได้ ซึ่งความทุกข์ที่เรียกว่า สันติ หรือสันติภาพหรืออะไรก็ตามใจ สันติสุข สันติภาพอะไรที่เราเรียกว่า นิพพานนี้ แต่เมื่อมันได้สิ่งนั้นเสียแล้ว แล้วมันรู้อยู่แก่ใจนี้ มันก็ต้องว่าฉลาดที่สุด ทั้งที่เขาพูดไม่ได้
เดี๋ยวนี้มันฉลาดแต่เรื่องพูด เรียน จำ คิดแล้วก็ฉลาด แล้วก็พูด พูดๆ ไม่มีจบ พูดจนตายก็ไม่จบ แล้วเราก็ถือว่าเขาฉลาด เขาเก่ง เขามีปัญญานี้ มันก็ถูกแล้ว มันก็มีปัญญาอย่างตามภาษาชาวบ้าน ชาวโลกๆ นี้ ไม่ใช่มีปัญญาที่สุดหรือฉลาดที่สุด นั้นต้องถือว่าในขณะที่เรามีจิตว่าง ไม่มีตัวกู ของกู รบกวนขณะนั้นน่ะเราเป็นคนฉลาดที่สุด คุณฟังดูให้ดีๆ ที่เราเป็นอาจารย์ปรัชญาสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มันก็ยังไม่ใช่ฉลาด มันจะเป็นไอ้เครื่องจักรชนิดหนึ่งมากกว่า สู้ขณะที่เรามีจิตว่าง ไม่มีตัวกู ของกูสัก๑๐นาทีนี้ไม่ได้ เวลานี้เป็นเวลาที่ฉลาดที่สุด ฉลาดจริงๆ ด้วย และฉลาดที่สุด คือรู้ความที่ไม่เอาอะไร ไม่เป็นอะไร ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร รู้ข้อนี้ที่มีอยู่ในเราด้วย มันก็ฉลาดที่สุด ส่วนทางอื่นๆ อีกหลายๆ ทาง เป็นฝอย เป็นเปลือกนอก เป็นกระพี้หรือเป็นเปลือกนอกออกไป นอกออกไปของความฉลาด ซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด ระบุได้เลยว่าไอ้ความรู้ทางปรัชญา philosophy อะไรทำนองนี้มันเป็นกระพี้ออกไป เปลือกออกไป พูดจนตายกี่ชาติ กี่ชาติมันก็ไม่จบ ที่พวกนั้นถือว่าเป็นความฉลาด เราถือเป็นความโง่ที่สุด หรือความบ้าที่สุด เพราะทำให้เสียเวลามาก แล้วก็ไม่ดับทุกข์ได้ด้วย นี่เหมือนอย่างเราจะเรียนพระพุทธศาสนาในแง่ของปรัชญาแล้วไม่มีทางจะดับทุกข์ได้ แต่เขาก็ว่าฉลาดเหลือเกิน ผมว่าบ้าที่สุด สู้มาอยู่ว่างๆ เงียบๆ สัก ๕ นาทีไม่ได้ นี่ฉลาดที่สุด
ดังนั้น คุณไปคิดเอาเองว่านี่มันเกี่ยวกับคำพูด หรือวิธีพูด หรือภาษาพูดหรือคำที่ใช้ก็ได้ แต่ว่าความหมายมันก็อย่างนั้น มองให้เห็นจริงแล้วกันว่า อันไหนมันมีค่าที่สุด มีราคาที่สุด อันนั้นก็เรียกว่า ฉลาดที่สุด เดี๋ยวนี้วันหนึ่งคืนหนึ่ง เราไปเสียเวลากับเรื่องที่ไม่ฉลาด เรื่องโง่ๆ มากยิ่งขึ้นทุกที ฟังวิทยุมากขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น สั่งหนังสือมาอ่านจนอ่านไม่ทันมาหลอกตัวเอง นี่มันก็คือโง่มากขึ้น เพราะการอ่านหนังสือมากขึ้น ฟังวิทยุมากขึ้น อ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้น มันสู้ไอ้ความว่างจากตัวกู ของกู ๕ นาทีก็ไม่ได้
นี่ผมพูดเมื่อตะกี้นี้ว่าพูดว่าเป็นหลักพื้นฐาน สำหรับคุณมาใหม่ ๔-๕ องค์นี้ ว่าหลักพื้นฐานเรื่องตัวกู ของกูมันมีอยู่อย่างนี้ ว่าเมื่อใดจิตว่างจากตัวกู นิพพานก็มีอยู่ในจิตนั้น เมื่อใดตัวกูจู่มาพลัน สังสารวัฏก็พลันเกิดขึ้นแทน คุณท่องคาถานี้ไปก็ได้ จะเอาไปคิดหาคำอธิบายออกไปเอง ออกไปเองๆ เวลาใดนาทีเดียวก็ตามใจ เวลานาทีเดียวก็ตามใจ มันว่างจากตัวกู นิพพานก็มีอยู่ที่นั่น ในจิตนั้น ในสภาพจิตอย่างนั้น เดี๋ยวเปลี่ยนกลับมามีตัวกู มันก็เป็นสังสารวัฏ สังสารวัฏนี้ก็เป็นชื่อของความทุกข์ ในรูปของอบายเป็นสัตว์นรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกายนั้นน่ะ รวมอยู่ในคำว่า “สังสารวัฏ” และคำว่า “มนุษย์” และคำว่า “เทวดา” ไอ้ฝ่ายเลว เลว ก็อบาย เปรต นรก เดรัจฉาน เปรตอสูรกายนี้ก็ส่วนหนึ่งของสังสารวัฏ และเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ เหงื่อไหลไคลย้อย นี้ก็สังสารวัฏ และเป็นเทวดาบ้าอยู่ด้วยเรื่องกามารมณ์ มันก็เป็นเรื่องของสังสารวัฏ หรือเป็นพรหมชั้นดีไม่มีกามารมณ์ มีตัวกู ของกู จัดพอใจในตัวกู ของกูนี้ก็สังสารวัฏ เรื่องนี้ไว้พูดคราวอื่นดีกว่า มันยาว ความหมายของอบาย นรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย คือความร้อนใจ ความโง่ ความกลัว ความขี้ขลาด นี้ความหมายของคำว่า “มนุษย์” ก็คือเหงื่อไหลไคลย้อยตลอดเวลา ความหมายของคำว่า “เทวดา” นี้ก็คือ สนุกสนาน เอร็ดอร่อย เนื้อหนัง นี้ความหมายของพรหมก็เหนือขึ้นไปอีก ไม่ยุ่งด้วยเนื้อหนังแต่มีตัวกู ของกู ตามแบบของไอ้ความยึดมั่น ถือมั่น มีเกียรติสูง เป็นตัวกูสูง เป็นอาตมันใหญ่ นี้เป็นเรื่องของสังสารวัฏอย่างพรหม นับตั้งแต่พรหมขึ้นมา ลงมาถึงเทวดา กามาวจร ฝ่ายโน้นก็เรียก รูปาวจร อรูปาวจร พวกพรหมไม่มีกามารมณ์แต่มีตัวกูเดือด เหนียวแน่นเลย แล้วก็มีเทวดาพวกกามาวจร อิ่มอยู่ด้วยกามารมณ์ แล้วก็มีพวกมนุษย์ เอาเหงื่อแลกกามารมณ์ แล้วก็มีพวกอบาย ยิ่งเดือดร้อน นรกก็คือร้อนใจ เดรัจฉานก็คือโง่ เปรตก็คือหิว อสูรกายก็คือขลาด ๔ กลุ่มนี้เรียกว่าอบาย แล้วมันทนทุกข์มากไป นี่รวมเรียกกันว่า สังสารวัฏ พอเมื่อใดตัวกูจู่มาพลัน สังสารวัฏก็พลันเกิดขึ้นแทน หมายความว่าสังสารวัฏในแง่ใดแง่หนึ่ง ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง จะเกิดขึ้นแทน แทนนิพพาน คือความว่าง นั้นนิพพานและสังสารวัฏสลับกันอยู่ในชีวิตของเรา อย่างหน้ามือหลังมือ เวลาที่จิตว่างเป็นนิพพาน เวลาที่จิตวุ่นเป็นสังสารวัฏ
ดังนั้น สังสารวัฏอย่าไปดูที่อื่น ต่อเมื่อตายแล้วหรือที่เขาสอนกันตามศาลาวัด ต่อตายแล้วจึงจะไปท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ผมบอกว่าที่นี่ เดี๋ยวนี้ วันหนึ่งก็ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏอย่างหน้ามือหลังมือ หน้ามือหลังมือ เรื่อยไป เดี๋ยวเป็นนิพพาน เดี๋ยวเป็นสังสารวัฏ แล้วส่วนมากเป็นสังสารวัฏ จะหาเวลาที่จิตว่างจากตัวกูสัก ๑๐ นาทีก็ยาก แต่มันก็ยังมีความจริง หรือมีข้อเท็จจริงอยู่อย่างนั้น เมื่อใดจิตว่างจากตัวกู นิพพานก็มีอยู่ ณ จิตนั้น ที่จิตนั้น เมื่อใดตัวกูจู่มาพลัน จู่ขึ้นมาในจิตนั้น เมื่อนั้นสังสารวัฏก็พลันเกิดขึ้นแทน บางทีก็จะเป็นอบาย บางทีก็เป็นมนุษย์ บางทีก็เป็นเทวดา บางทีก็จะเป็นพรหม ขอให้ดูบางเวลาจิตเราไม่ได้อยากกามารมณ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกามารมณ์ แต่ว่ามันอัดอยู่ด้วยตัวกู ของกู ด้วยทิฏฐิมานะ ด้วยเกียรติยศ ด้วยอะไรอย่างนี้ มันเหมือนกับพรหม มีความหมายเหมือนกับพรหม ก็มีอยู่โดยมาก แต่ว่าถ้ามันมีตัวกู ของกู ตามธรรมดาปุถุชนแล้ว มันนรกนะนั่น คือร้อนเป็นไฟเผาอยู่ในใจ หรือว่าหิวทะเยอทะยานเป็นเปรตนั้น อย่างคุณอยากเรียน สอบไล่ได้เร็วๆ หวังแต่วิมานในอากาศ อย่างนี้ก็เป็นเปรตอยู่ตลอดเวลา นิสิตมหาวิทยาลัยหรืออะไรก็ตามใจ หรือชาวบ้านทำไร่ทำนาก็เหมือนกัน ถ้าคิดไม่เป็นมันหิวต่อผล ผลงานอยู่ตลอดเวลา มันก็คือเป็นเปรตอยู่ตลอดเวลา นั้นเด็กก็ได้ ผู้ใหญ่ก็ได้ หญิงก็ได้ ชายก็ได้ มีโอกาสที่จะเป็นเปรตวันหนึ่งหลายๆ หน และความหิว ความทะเยอทะยานทางจิตทางวิญญาณมันครอบงำเมื่อนั้น ต้องเป็นเปรต ถ้ามันร้อน ถึงขนาดร้อนอย่างนี้มันก็คือนรก ถ้ามันโง่เป็นเดรัจฉาน ถ้าขี้ขลาดก็เป็นอสูรกาย วันหนึ่งเป็นได้ทั้ง ๔ อย่าง นี่สังสารวัฏเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ผลุบผลับๆ อยู่ในจิตในลักษณะอย่างนี้ ในลักษณะของสังสารวัฏเองก็มี เพราะสังสารวัฏมีหลายชนิดแตกต่างกัน หรือในขณะระหว่างสังสารวัฏและนิพพานก็มี เวลาใดจิตว่างเป็นนิพพาน เวลาใดจิตวุ่นเป็นสังสารวัฏ เหมือนกับเราพลิกมือได้ชั่วเวลาอย่างนี้นะ
นี้คือเรื่องที่ผมเรียกว่า หลักพื้นฐานของเรื่องตัวกู ของกู ไอ้หลักพื้นฐานของเรื่องตัวกู ของกูมีอย่างนี้ เมื่อใดตัวกูมาก็เป็นสังสารวัฏ เมื่อใดตัวกูเงียบไปก็เป็นนิพพานมีเท่านี้เอง แล้วก็ต้องตั้งจิตให้ดีๆ ระวังให้ดีๆ ให้มันเป็นว่างหรือเป็นนิพพานอยู่เสมอ เป็นนิพพานชั่วขณะอยู่เสมอ จนกว่าจะเป็นนิพพานถาวร อย่าให้โอกาสแก่สังสารวัฏเข้ามา เดี๋ยวนี้เป็นพระอยู่แท้ๆ ก็มีความคิดอย่างฆราวาส นี้มันก็หมด ล้มละลายหมดเลย เรียกว่า พังครืนเลย ไม่มีอะไรเหลือ มันก็ยากที่จะกู้ขึ้นมาหาความว่าง แม้แต่สักวินาทีเดียว แล้วก็อย่าลืมว่าไอ้ควายดินสองตัวดำขาว ควายดินขวิดกันอยู่เรื่อย คือในจิตของเรามีการต่อสู้ จนกว่ามันจะตกน้ำละลายไป ไม่มีเหลืออยู่ทั้งตัวดำและตัวขาว เมื่อนั้นตัวกูไม่มีเกิดแล้ว ก็เป็นที่สุดของความฉลาด ที่สุดของความบริสุทธิ์สะอาด ที่สุดของความสงบเย็น ความสะอาด ความสว่าง ความสงบมันไปสิ้นสุดที่ตรงนั้น ที่ควายดำสองตัวละลายน้ำหมดไป นี้มันยังมี Conflict ระหว่างดีกับชั่ว ระหว่างต่ำกับสูง ระหว่างอะไรกันอยู่เรื่อย แล้วไอ้สูงมันออกมาเขาเก้งก้างเลย มันจะขวิดคนนั้น ขวิดคนนี้ ไอ้ดีระวังให้มาก มันเป็นเหตุให้ยกตนข่มท่านเสมอ
สรุปความว่าไอ้ตัวกูมีอยู่ ๒ ตัวคือ ตัวดี ตัวชั่ว เมื่อใดตัวไหนมาก็ตาม เมื่อนั้นชีวิตจิตใจนี้เป็นสังสารวัฏ ถ้าดีก็เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นมนุษย์ เป็นอะไร ถ้าชั่วก็เป็นอบาย เป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกายไป แต่ควายสองตัวนี้จะผลัดกันขวิดกัน ผลัดกันครองเวทีอยู่เสมอ ทำให้มันว่างไป แม้ว่าแต่เรากำลังจะศึกษาเล่าเรียน จะทำการงาน จะทำให้ดี จะทำความดีก็เถอะ มันก็ต้องหมายความว่า พยายามทำจิตให้มันไม่ยึดถือเสียก่อน มันจึงจะทำความดีนั้นได้ถนัด ถ้าอยากจะไปนิพพานอย่างนี้ มันก็ต้องพยายามที่จะทำจิตไม่ให้ยึดถืออยู่เรื่อยไป ทีนี้คุณจะเรียนหนังสือสอบเอาปริญญาอย่างนี้ คุณต้องลืมตัวกู ของกูเสียก่อนในขณะเรียน ให้มันเป็นสมาธิอย่างเดียว เรียนหรือสอบไล่ก็ตาม ระวังว่าเมื่อเรียนหรือเมื่อสอบไล่นี้ อย่าให้ตัวกู ของกูเกิดนะ มือจะสั่น ใจจะสั่น ไอ้ความรู้ที่อยู่ในหัวมันจะไม่ออกมา มันจำ มันอื้อไปหมด ในขณะสอบไล่ ระวังนะเถิด มันจะอื้อไปหมด เพราะเรื่องตัวกู ของกูเท่านี้ นี่สลัดทิ้งไปเหลือแต่สมาธิในการทำข้อสอบนะ ทำได้สบายอย่างเหมือนกับทำเล่น แล้วก็ถูกดี นี่เป็นเคล็ดเกี่ยวกับเรื่องจิตว่าง จิตวุ่น ให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างไว้เสมอไป เอาหล่ะ พอกันทีสำหรับไอ้หลักพื้นฐานเรื่องตัวกู ของกูวันนี้