แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้กล่าวธรรมมิกถา เป็นปูรปภาพ (นาทีที่ 00:59) แห่งการกระทำอาสาฬหบูชา เพื่อเป็นการ ชักชวนท่านทั้งหลาย ให้เตรียมตัว เออ, พร้อม เหมาะสมในการที่จะทำอาสาฬหบูชาในวันนี้ โดยที่แท้แล้ว ก็เหมือน ๆ กันทุกปี แต่ว่าบางคนก็ยังไม่เคยมา ดังนั้นจึงต้องกล่าวอย่างที่เรียกว่า ซ้ำกัน ซ้ำกันบ้าง คือว่า ในวันเช่นวันนี้ เรามาทำอาสฬหบูชาที่นี่ ก็เพื่อว่าจะถือเอาประโยชน์เป็นพิเศษมากออกไป ในส่วนที่เกี่ยวกับ ภูมิประเทศ สถานที่เช่นนี้ เพราะว่าจะเป็นการช่วยให้ง่ายขึ้น สิ่งที่เราจะต้องระลึกนึกถึง ไว้เป็นหลักใหญ่ ๆ ทั่ว ๆ ไป ก็คือว่า ถ้าเราจะรู้ อยากจะรู้สึกในความคิดนึก หรือมีความรู้สึกคิดนึก เหมือนกับท่านผู้ใด เราจะต้องพยายามเป็นอยู่ ให้คล้ายกับท่านผู้นั้น
สำหรับพระพทุธเจ้าโดยตรงนั้น ท่านเป็นอยู่อย่างไร เราก็พอจะทราบกันได้อยู่แล้ว เราจึงพยายาม ทุกอย่าง ที่จะให้การเป็นอยู่ของเรา โดยเฉพาะแม้ในวันนี้ ให้คล้าย ๆ กัน กับการเป็นอยู่ของท่านให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ให้เป็นอยู่ในธรรมชาติที่คล้าย ๆ กัน ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ดังนั้นจึงเลือกเอาสถานที่เช่นนี้ เป็นสถานที่ สำหรับอาสาฬหบูชา อย่างน้อยเราก็ต้องทราบว่า พระพุทธเจ้าท่านเป็นอยู่ อย่างที่เรียกว่า เป็นเกลอ กับธรรมชาติ เพราะว่าท่านตรัสรู้ เอ้ย, ท่านประสูติกลางพื้นดิน ท่านตรัสรู้กลางพื้นดิน ท่านแสดงธรรมจักร ในวันอาสาฬหปุณณมี(นาทีที่ 03:28)นี้ ก็กลางพื้นดิน แล้วท่านก็ปรินิพพานกลางพื้นดิน แล้วส่วนมากที่สุด ท่านใช้เวลาไปตามธรรมชาติท่ามกลางพื้นดิน นี้เรียกว่า ผืนแผ่นดินนี้ เป็นที่คุ้นเคยกับบรรพชิตทั่ว ๆ ไป และมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
เดี๋ยวนี้ เรามาระลึกนึกถึง ข้อนี้ จึงได้พยายามที่จะทำให้คล้ายกัน ให้มากเท่าที่จะทำได้ การแสดง ธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั้น พอที่จะกล่าวได้ว่า กระทำกันตามธรรมดา ท่ามกลางพื้นดิน แม้จะมีอะไรรอง ก็เรียกว่า กระทำอยู่กลางพื้นดินนั้นเอง บัดนี้ เราก็ถือเอานิมิตอันนี้ เพื่อทำอาสาฬหบูชา เพื่อว่าตาจะได้เหลือบไป ในทิศทางใด ก็จะประสบเห็นแต่ธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยแวดล้อมจิตใจ ให้กลมกลืนกันไปกับธรรมชาตินั้น ให้สมกับที่ว่าธรรมะนั้น ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ หรือหน้าที่ตามธรรมชาติ หรือผลตามที่ธรรมชาติจะอำนวยให้
เราอยู่ในบ้านในเมือง บนเหย้าบนเรือนมากเกินไปแล้ว ไม่ค่อยจะรู้ว่าตามธรรมชาตินั้น มีรสชาติ เป็นอย่างไร วันนี้จึงต้องมารู้กันเสียที เพื่อว่าจะได้มีอะไร คล้าย ๆ กับที่ แวดล้อมจิตใจของพระพุทธเจ้า มาแวดล้อมจิตใจของเราให้คล้ายกัน และอีกอย่างหนึ่ง ก็มองไปในแง่ที่ว่า การบูชานั้นต้องเป็นการเสียสละ อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องให้เป็นไปในทางที่ว่า การบูชานั้นไม่ใช่การค้ากำไร แต่ต้องเป็นไปเพื่อการเสียสละ จึงจะเป็นการบูชา
ที่นี้ การเสียสละนั้น ก็มีอยู่หลายอย่าง เสียสละวัตถุ สิ่งของเงินทองก็มี เสียสละเรี่ยวแรง ความเหน็ดเหนื่อย ความยาก ความลำบาก อย่างนี้ก็มี กระทั่ง เออ, เสียสละชีวิตเป็นที่สุด ยิ่งมีการเสียสละ มากเท่าไร มันก็ยิ่งเป็นการบูชามากเท่านั้น เป็นการเสียสละที่ลึกซึ้งอย่างไร อ่า, ก็เป็นการบูชาที่ลึกซึ้งอย่างนั้น ดังนั้นถ้าจะต้องลำบากบ้าง เพราะการนั่ง การยืน การเดิน การนอน ในที่อย่างนี้ มันก็ยิ่งเป็นการบูชาที่มากขึ้นไป อย่างว่า จะสวมรองเท้าเดินประทักษิณทำการบูชา ก็คงจะทำได้ แต่จะเป็นการบูชาชนิดไหนก็พูดยาก ถ้าเอาตาม ที่นิยมกันแล้ว ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่เป็นการเคารพ การสวมรองเท้านั้น เป็นการเสียสละที่น้อยกว่าเดินเท้าเปล่า เพราะว่าการเดินเท้าเปล่านั้น มันยาก มันลำบาก มันเจ็บปวด โดยเฉพาะในสถานที่อย่างนี้
แต่ถ้ามาคิดถึงข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่เคยสวมรองเท้าเลย ขอให้ท่านทั้งหลายไปศึกษาดูให้ดี ๆ จากพระคัมภีร์ทั้งหมดทั้งสิ้น จะทราบว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่มีรองเท้า ท่านไม่ได้พูดถึงรองเท้า เช่นเดียวกับที่ ไม่ได้พูดถึงมุ้ง ถึงหมอน ถึงอะไรทำนองนั้น ทำไมท่านจึงอยู่ได้ หรือว่าพระพุทธเจ้าท่าน ไม่ได้มีช้อนส้อมใช้ ทำไมท่านก็ฉันท์อาหารได้ น้ำพริกไม่เผามือท่าน อย่างนี้เป็นต้น ข้อนี้มันรวมความอยู่ที่ว่า เออ, มีความเคยชิน เป็นเกลอกับธรรมชาติมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเข้มแข็งมากเท่านั้น แล้วก็ยิ่งง่ายดายมากเท่านั้น ยิ่งเปลืองน้อย มากเท่านั้น ก็ยิ่งเหมาะสมที่จะรู้จัก หรือเข้าใจธรรมชาติอย่างยิ่งด้วย นั้นแหละ คือ วิถีทางที่จะเข้าใจ หรือรู้ธรรมะ ในพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่มีอะไรแปลกไปจากกฎของธรรมชาติ หากแต่ว่าเป็นเรื่องลึกซึ้งเท่านั้น
ที่นี้ถ้าเราทำเรื่องง่าย ๆ ตื้น ๆ ก็ไม่ได้เสียแล้ว จะไปทำเรื่องลึกซึ้งได้อย่างไร มีแต่จะเป็นคนอ่อนแอ เรื่อย ๆ ไป ในที่สุดก็ยอมแพ้ ทำอะไรก็ทำด้วยปากอย่างเดียว มันจึงไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ ตามที่ควรจะได้รับ เรามาประชุมกันที่นี่ ในวันนี้ จะต้องหาโอกาส หรือ เออ, หาช่องทางที่จะทำการบูชา ด้วยการเสียสละให้มากที่สุด เท่าที่มากได้เท่าไหร่ เราจึงเดินเท้าเปล่า เวียนประทักษิณเป็นต้น ทีนี่มองกันอีกทางหนึ่ง การบูชานั้น นอกจาก จะเป็นการเสียสละแล้ว ยังจะต้องเป็นการเอาอย่าง หรือทำตามความประสงค์ด้วย เรารู้ว่า อ่า, พระพุทธเจ้าท่าน ประสงค์อย่างไร เกี่ยวกับพวกเรา เราก็ต้องทำตามอย่างนั้นให้เต็มที่ด้วย
ถ้ากล่าวสรุปสั้น ๆ ก็หมายความว่า ท่านต้องการให้พวกเรา ทำความพ้นทุกข์ หรือทำความดับทุกข์ ตามอย่างท่าน นั้นเราจะทำได้เท่าไร ก็ต้องพยายามให้สุดความสามารถของเรา เลือกเอาสถานที่ ที่คล้ายกับที่ พระพุทธเจ้าท่านเป็นอยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่า เป็นทำตามอย่าง หรือเอาอย่าง ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ประทับอยู่บน ยอดเขา เช่น เขาคิชฌกูฏ เขาเวสาละ(นาทีที่ 11:26)นี้ เป็นต้น ก็มีอยู่มาก อาตมาก็เคยไปดูมาแล้ว ว่าเขาคิชฌกูฏ เป็นอย่างไร ถ้าพระพุทธเจ้าท่านประทับอยู่บนนั้น แล้วก็ลงมาบิณฑบาตข้างล่างทุกวันจริง ๆ แล้ว เหมือนที่กล่าวในพระคัมภีร์ ก็เป็นอันว่า ท่านเป็นผู้ที่แข็งแรงมาก เพราะว่าเราขึ้นไปเที่ยวเดียว ก็หอบแล้ว ถ้าทำทุกวันคงจะไม่สมัคร แต่เรามานึกถึงข้อที่ว่า อาการอย่างนี้เป็นของเล็กน้อย สำหรับบุคคลอย่างพระพุทธเจ้า หรือผู้ที่บำเพ็ญชีวิต เป็นบรรพชิตอย่างแท้จริง ในประเทศอินเดีย ในสมัยนั้น นั้นการที่เราจะขึ้นมา บนยอดเขา พุดทองนี้(นาทีที่ 12:25)มันง่ายกว่า ที่จะขึ้นเขาคิชฌกูฏสักสิบเท่าเห็นจะได้ คือง่ายกว่าสักสิบเท่า แล้วเราจะนึก อย่างไรกัน นอกจากจะรู้สึกละอาย เพราะเราเป็นคนอ่อนแอ หรือเป็นคนไม่เอาอย่างพระพุทธเจ้า
มีคำพูดอยู่คำหนึ่ง คือ ความกระปรี้กระเปร่า นี่เป็นคุณธรรม เป็นคุณสมบัติประจำพระองค์พระพุทธเจ้า นี่เราก็รู้สึกว่า ยังย่อหย่อนในความกระปรี้กระเปร่า ทั้งทางกาย และทางจิต เราเคยตามใจตัวเอง อยู่เป็นประจำ เลยทำให้เกิดความอุ้ยอ้าย เห็นแต่ความสบาย มันก็ยิ่งไปไกลจากลู่ทาง ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงดำเนินอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าทำไม่ได้ทุกวัน ตลอดเดือน ตลอดปี ก็ควรจะมีการทำบ้าง เป็นบางโอกาส เป็นบางครั้งบางคราว ให้บ่อย ๆ ก็จะเป็นการดีกว่า เพราะว่าอย่างน้อยก็เป็นอนามัย หรือสุขภาพทางร่างกาย
โดยหลักทั่ว ๆ ไป ถ้าอย่างมากนั้น ก็จะเป็นผู้ที่ มีอะไร ๆ เหมือนพระพุทธเจ้าได้มากขึ้น จะเป็นความเข้มแข็ง ความอดทน ความกระปรี้กระเปร่าก็ตาม ก็ถูกจัดไว้ในฐานะ เป็นคุณธรรมหนึ่ง ๆ สำหรับบุคคลผู้ที่มีจิตใจ อันเหมาะสม ที่จะปฎิบัติธรรมะ และรู้ธรรมะ และเป็นการบูชา อืม, ที่ถูก ที่ตรง ต่อพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุดังนี้ เราควรจะรู้สึกกันทุกคนว่า การเสียสละอย่างใดอย่างหนึ่ง ในวันนี้ กี่อย่างก็ตาม เล็กหรือใหญ่ก็ตาม จะต้องประมวลกันเข้ามา เพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชา แก่พระผู้มีประภาคเจ้านั้น และให้ตั้ง อยู่ในฐานะเป็นปฎิบัติบูชา คือ บูชาด้วยการกระทำ การบูชาด้วยสิ่งของหรือวัตถุนั้น มันอย่างหนึ่ง เรียกว่า อามิสบูชา ส่วนการบูชาโดยเรี่ยวแรง ด้วยเหงื่อไคลนี้ เป็นปฎิบัติบูชา เราก็ทำให้พร้อมครบถ้วนทั้ง ๒ อย่าง ทั้งอามิสบูชาและทั้งปฎิบัติบูชา และเมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัส สรรเสริญปฎิบัติบูชา และทรงแสดง ความประสงค์ จะให้สาวกทั้งหลายบูชาพระองค์ ด้วยการบูชาชนิดนั้น เราก็ต้องพยายามให้มาก ในส่วนปฎิบัติบูชา คือ การเสียสละ เออ, ในทางการกระทำ
เดี๋ยวนี้ เราก็มา อ่า, ถึงที่นี่ ซึ่งจะต้องเหน็ดเหนื่อยกว่าธรรมดา แล้วยังจะต้องมาทนนั่ง บนก้อนกรวด ซึ่งไม่สบาย เหมือนที่จะนั่งบนเสื่อ หรือบนทราย แล้วบางทีก็จะยังจะมีการเบียดเบียนของแสงแดด ของสัตว์เลื้อยคลาน ของอะไรบางสิ่ง บางอย่าง บางประการ ซึ่งมีอยู่เป็นปกติ ก็เรียกว่า รวมกันแล้วเป็นเครื่อง สักการะบูชา ด้วยเหมือนกัน อย่าไปเพ่งเล็ง แต่เรื่องธูป เรื่องเทียน เรื่องดอกไม้ นั้นก็เป็นเครื่องสักการะบูชา ในทางฝ่ายวัตถุ ส่วนการเสียสละนั้น เป็นเครื่องบูชาในทางฝ่ายจิตใจ ฝ่ายวิญญาณ หรือฝ่ายนามธรรม เพราะว่า เรา เออ, จะต้องมีความเข้มแข็งในทางจิตใจ มีความเสียสละทางจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นตัว ถ้ามันเกิดการ เจ็บปวดขึ้นมา เช่น ไปเหยียบเอาก้อนกรวดแหลม ๆ เข้า จะรู้สึกอย่างไร นั่นแหละ จะต้องระวังให้ดี มันจะได้ กำไร หรือจะขาดทุน ก็อยู่ที่ตรงนี้ เพราะมันจะทำให้เกิดโทสะ โกธรแค้นขึ้นมาก็ได้ หรือว่ามันอาจจะทำให้รู้สึก ว่าเป็นการบูชาอย่างยิ่ง เป็นความเสียสละของเราอย่างนี้ก็ได้ แล้วแต่ใครจะคิดไปอย่างไร ถ้าคิดเป็น มันก็เป็นไป ในทางประโยชน์ หรือกำไร ถ้าคิดไม่เป็น มันก็เป็นในทางฉิบหายหรือขาดทุน
จึงต้องการพูดได้ว่า มันสำคัญอยู่ที่สติปัญญา หรือความรู้เท่านั้น ที่จะทำอะไรให้เป็นอย่างไร มันไม่อยู่ที่ สิ่งของ หรือวัตถุนั้น ๆ เลย นั้นขอให้เตรียมพร้อม สำหรับการทำอาสาฬหบูชา ให้เป็นการกระทำที่เป็นพิเศษ ในวันเช่นวันนี้ นาน ๆ ต่อจะมีสักครั้งหนึ่ง เราจะต้องมีความอดทน ชนิดที่ว่า มันพอจะเรียกได้ว่า ความอดทน ความเหนื่อยนี้ก็มี ความลำบากก็มี แล้วที่ยอมแพ้กันเสียมาก ก็คือ อดนอน คน เออ, คิดว่า อดนอนไม่ได้ หรือว่าการอดนอนนั้น เป็นโทษแก่อนามัย ต้องนอนอย่างน้อย ๘ ชั่วโมง อย่างนี้เป็นต้น คำพูดอย่างนี้ มันเป็น คนละอย่าง จากที่มีอยู่ในการศึกษาเล่าเรียนของพุทธบริษัท
พระพุทธเจ้า อ่า, ท่านประทับสีหไสยา คืนหนึ่งเพียงยามเดียว คือ ๔ ชั่งโมง ตามที่เราทราบมาเป็นอย่างนี้ คืนหนึ่ง ๔ ชั่วโมงตรงกลาง เออ, คืนหนึ่ง ๔ ชั่วโมง อืม, ค่อนไปข้างรุ่ง คือว่า เออ, อีก ๒ ชั่งโมงจะสว่าง มาจนถึง อืม, เที่ยงคืน ก็เป็นอันว่า นอนเพียง เออ, ๔ ชั่วโมง แล้วก็ เอ, นอนอย่างในท่าสีหไสยา ทรงประทับนอนอย่างที่ อย่างท่าสีหไสยา คือ นอนตะแคงข้างขวา เดี๋ยวนี้ เราก็มี เออ, ความคิดไปในทาง ที่ว่า ๔ ชั่วโมงไม่พอแน่ แล้วก็จะ เป็นเหตุให้เกิด โรคภัยไข้เจ็บ เพราะว่า นอนท่าเดียวตลอด และนอนตะแคงด้วย อย่างนี้ ยิ่งไม่ได้ ยิ่งผิดอนามัย นี่มันเกิดมีปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ ทำให้บางคนกระสับกระส่ายลังเล เอาแน่อะไรไม่ได้ ก็เลยไปกลัว เรื่องการอดนอน หรือการนั่ง การนอนในท่าเดียวตลอดเวลา อย่างนี้เป็นต้น
ไอ้เรื่อง เกี่ยวกับการปฎิบัติกาย ตามวัฒนธรรมอย่างนี้ มันไม่เหมือนกัน จะพูดให้เป็นอย่างเดียวกันไม่ได้ เพราะคนชาติหนึ่ง ประเทศหนึ่งก็ต่างกันแล้ว แล้วคนที่มีชีวิตคนละแบบ เช่น แบบบรรพชิตกับแบบฆราวาสนี้ มันก็ต่างกัน แล้วก็เป็นได้ถึงกับว่า บรรพชิตที่เข้มแข็งกับบรรพชิตที่อ่อนแอ มันก็ยังมีต่างกันมาก ที่ว่านอน ๔ ชั่วโมงเพียงพอนั้น หมายถึง นอนจริง ถ้านอนไม่จริงแล้ว ๑๒ ชั่วโมงก็คงไม่พอ ๑๘ ชั่วโมงก็คงไม่พอ ถ้านอนจริง แล้ว ๔ ชั่วโมงก็พอ ที่ว่านอนจริงนั้นเป็นอย่างไร นอนจริง ก็คือ หลับจริง มันหลับไปจริง ทั้ง หยุดพักไปจริง ทั้งทางกายและทางจิตใจ
คนส่วนมากสมัยนี้ ดูเหมือนว่าจิตใจไม่เคยพักเลย แม้ร่างกายมันจะหลับอยู่ เพราะว่า อืม, ความใฝ่ฝัน ความทะเยอทะยาน ความหิว ความกระหาย มันมีมากเกินไป จิตใจไม่มีเวลาหลับสนิท ยังคงตื่นอยู่ด้วย ความ กระหายอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอย่างนี้แล้ว ไม่เป็นการพักผ่อนที่เพียงพอ แต่ถ้าจิตใจปราศจากความต้องการใด ๆ มันหยุด หรือมันปิดสนิทลงไป เหมือนกับร่างกาย นอนเพียง ๔ ชั่วโมง มันก็มากเต็มที่แล้ว ดังนั้นเราพูดไม่ได้ว่า คนจะต้องนอนกันกี่ชั่วโมง มันแล้วแต่แบบการเป็นอยู่ของคนนั้น ๆ ต่างหาก ที่ว่านอนท่าเดียว คือ สีหไสยา ตลอดเวลานั้น ถ้าเป็นอยู่อย่างพระพุทธเจ้า มันทำได้แน่ เพราะว่ามันนอนเพียง ๔ ชั่วโมง เวลามันก็สั้นอยู่แล้ว เพราะอะไร ๆ มันก็ปกติไปหมดแล้ว มันจึงนอนได้ในท่าเดียว แล้วบางทีจะเป็น เออ, วิทยาศาสตร์อยู่ในตัว เพราะมีระบุชัด ไว้ว่า เออ, นอนตะแคงข้างขวา ซึ่งไม่มีการบีบหัวใจ เพราะว่าหัวใจตามธรรมดา มันต้องอยู่ ข้างซ้าย เมื่อคนเรานอนตะแคงข้างขวา มันก็อยู่ข้างบน แต่ถ้าไปเกิดนอนตะแคงทางซ้ายเข้า มันก็ผิดกันมากมาย ทีเดียว
เพราะฉะนั้น เราจะต้องรับพิจารณาด้วยดีในวัฒนธรรมหรือสติปัญญาของคนแต่โบราณ ว่าท่านได้สังเกต ทดลอง ศึกษาค้นคว้า กันมามากแล้ว จึงได้ยุติลงไปอย่างนั้น และก็แนะนำกันไว้อย่างนั้น การนอนสีหไสยา เพียง คืนละ ๔ ชั่วโมง เรียกว่า ชาคริยานุโยคนี้ เป็นหลักทั่วไป ไม่ใช่ปฎิบัติแต่พระพุทธเจ้า แต่ได้สอนให้สาวกทั้งหลาย ประพฤติกระทำอย่างเดียวกันหมด เรียกว่า ชาคริยานุโยค ถ้านอนมากกว่านั้น มันก็ประพฤติไม่ได้ เพราะว่า ชาคริยานุโยคนั้น หมายถึง หลับเหมือนกับตื่น คือว่า หลับด้วยสติ หลับลงไปด้วยสติ แล้วก็หลับสนิท เหมือนกับ ปิดสวิทซ์ไฟฟ้า ในชั่ว ๔ ชั่วโมง ก็ตื่นออกมาด้วยสติทันควัน ก็แปล ว่าไม่มีเวลาที่เผลอสติเลย ในระยะสั้น ๆ ๔ ชั่วโมงนั้น มันพอที่ปิดให้สนิทได้ โดยไม่มีการกระทำยึดติดใด ๆ ของจิต ในทางความนึก ความคิด สติก็ไม่เสียไป ในส่วน ๔ ชั่วโมงนี้ ส่วนที่เหลือนอกนั้น อีก ๒๐ ชั่วโมง ในรอบวัน ก็เต็มไปด้วยสติสัมปะชัญญะ สติสัมปะชัญญะนี้ เรียกว่า การตื่น หรือชาคริยา ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความตื่นอย่างนี้อยู่เป็นประจำ เรียกว่า ไม่มีการหลับในทางภาษาธรรมแต่ประการใด เรียกว่า ตื่นอยู่เสมอ
การนอน ๔ ชั่วโมง จึงทำได้ ถ้าขืนนอนเกินว่า ๔ ชั่วโมง เป็น ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง แล้ว มันจะต้องมี การเผลอ ในเวลาที่เป็นการนอน ก็มันเกินความต้องการของร่างกาย หรือเหลือขอบเขตของการบังคับควบคุม มันก็จะต้องมีความคิดนึกในการหลับนั้น ที่เรียกว่า เป็นความฝันหรือการละเมอ หรืออะไรต่าง ๆ ได้ ไม่เป็น ชาคริยานุโยคเสียแล้ว เรื่องมันกำกับกันอยู่ในตัว ในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งมีเหมือนกับว่า อ่า, มันมีเทคนิค คือว่า มีความเหมาะสมที่จำกัดอยู่ แก่กันและกัน เกี่ยวข้องกันอยู่ จะต้องทำให้ถูก หรือให้พอดี พร้อม ๆ กันไป ในหลายสิ่งหลายอย่าง ในวันหนึ่ง ๆ นี่แหละ คือ ลักษณะของการเป็นอยู่ อย่างที่เรียกว่า พระอริยเจ้าท่านอยู่กัน
ทีนี้พวกเรารู้สึกอร่อยในการนอน นอนมากเท่าไหร่ ก็รู้สึกสบายใจ เอร็ดอร่อยในการนอนเท่านั้น นั้นมันจึงติด ไปในทางการนอน ความสุขในการนอน มีความอ่อนแอในเรื่องนี้ พอจะต้องทำวิสาขบูชา อาสาฬหบูชาตลอดคืน อย่างนี้ มันก็ทำไม่ค่อยจะได้ หรือกระสับกระส่าย ไม่มีความสุขเลย
ทีนี้เราจะยอมให้มันเป็นไปอย่างนั้น หรืออย่างไร ควรจะนึกกันดูเสียใหม่ ว่าถ้าอย่างไร ก็ลองสู้ กับมัน ดูบ้าง ถ้าทำไม่ได้ตลอดทุกวัน ก็ให้พยายามฝึกฝนทำ แต่เพียงบางวันเท่าที่จะทำได้ นี่แหละ คือ ประโยชน์ หรืออานิสงฆ์ของการทำอาสาฬหบูชา เป็นต้น เป็นพิเศษตลอดวัน ตลอดคืน เพื่อฝึกฝนในสิ่งที่เราเคยอ่อนแอ ให้มากลายเป็นความเข้มแข็ง หรือให้เกิดความรู้เกิดสติปัญญาว่า สิ่งเหล่านี้มันมีรสชาติเป็นอย่างไร แล้วเราจะได้ รู้จักจิตใจของพระพุทธเจ้าได้มากขึ้น
จึงขอชักชวนท่านทั้งหลาย ให้เสียสละทุกอย่าง ทุกประการ ในการทำบูชาในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งรวมทั้งว่า การอดทนในการที่จะไม่นอน ทนได้เท่าไหร่ อ่า, ก็จะเป็นการบูชาเท่านั้น มันยิ่งลำบากมาก สำหรับบุคคลผู้ใด มันก็ยิ่งเป็นการบูชาอย่างยิ่ง สำหรับบุคคลผู้นั้น คืนหนึ่ง วันหนึ่งคงไม่ถึงกับตาย นี้เราก็ยังจะได้กำไรตรงที่ว่า ได้รู้อะไรมาก แม้ว่าเกือบตาย ก็ยังได้รู้อะไรมาก ขอให้พยายามลองดูเถิด จะไม่เสียหลาย
บัดนี้โอกาสแห่งอาสาฬหบูชา เวียนมาถึงอีก เราจงตั้งใจเหมือนหนึ่งว่า เราได้ไปเฝ้าดูความสำเร็จ ของพระพุทธเจ้า ในการประกาศพระศาสนา ประดิษฐานพระพุทธศาสนา ลงไปในหัวใจของคน ครั้งแรก ๕ คน คือ ปัญจวัคคีย์ ตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ แต่ถ้าจะดูภาพหินสลักโบรมโบราณ ในประเทศอินเดีย เรื่องกลาย เป็นว่า ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เทวดา นับด้วยแสน ด้วยโกฏิ ด้วยอสงไขย ไม่เพ่งเล็งถึงปัญจวัคคีย์ เพียง ๕ องค์ เท่านั้นเลย เอาเถิด รวมความ รวม ๆ กันแล้วก็ว่า ได้ประกาศพระธรรมที่สำคัญ ที่เป็นหัวใจของพระศาสนา คือ อริยสัจ ๔ และมรรคมีองค์ ๘ นี้ ให้แก่มนุษย์และเทวดาแล้ว ในวันเช่นวันนี้
ท่านลองฟังดูอีกครั้งหนึ่งว่า ท่านทรงประกาศ สิ่งที่ประเสริฐที่สุด สำหรับมนุษย์ ลงไปสำเร็จแล้ว ในจิตในใจของเทวดา และมนุษย์ในวันเช่นวันนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว มันจะไม่ทำให้เรามีตาสว่าง หายง่วงนอน ไปได้บ้างเชียวหรืออย่างไร ถ้าเป็นคนชอบธรรมะ คงจะพออกพอใจ ยิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่ คนถูกลอตเตอรี่ก็นอน หลับยาก นอนไม่หลับอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ มันน่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่าถูกลอตเตอรี่ เมื่อ ๆ เมื่อสำหรับคนที่ชอบธรรมะ อย่างนี้ มันก็คงจะนอนไม่ลงอย่างเดียวกันอีก คือ หลับไม่ลงอย่างเดียวกันอีก
ดังนั้น การที่จะลืมตาอยู่จนความ สว่างด้วยความแจ่มใส สดชื่น ร่าเริงนั้น คงจะเป็นไปได้ ขอให้พยายาม ทำให้หนัก ทำให้มาก ทำให้จริงให้จัง ใน เออ, พระธรรม ในรสของพระธรรม ในความประเสริฐที่สุด ของพระธรรม เพื่อจะช่วยให้สิ่งต่าง ๆ เออ, หมดปัญหาไป จะลำบากอย่างไร จะอดนอนอย่างไร หรือจะต้อง ทำอะไรบ้าง ก็จะทำได้อย่างสนุกสนาน นี่เรียกว่า มันไม่มีความทุกข์เลย ไม่ยากลำบากเลย ในการที่จะได้รับสิ่งที่ดี ที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้รับ แต่ถ้าไม่เข้าใจ หรือเข้าใจครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้ว มันจะรู้สึกเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ ฝืนธรรมดา ฝืนความรู้สึกไปหมด ทำก็ต้องทำอย่างฝืน ๆ แล้วมันก็ไม่ได้อะไร มันยังจะลำบากเปล่า ๆ จะเหนื่อยเปล่า ๆ เป็นการขาดทุน
เมื่อมีความตั้งใจ ที่จะทำการบูชาตามแบบ ตามประสา ของพุทธบริษัทแล้ว ก็จงทำให้ถูกต้องเถิด คือ ใช้ปฎิบัติบูชา การเสียสละ ด้วยความยากลำบากนั้น มาเป็นเบื้องหน้า อมิสบูชา มีธูปเทียน เป็นต้นนี้ มาเป็นเบื้องหลัง แล้วก็รวมกันเข้าก็เป็นการบูชาที่ สมบูรณ์ทั้งทางภายนอก ทั้งทางภายใน ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางจิตใจ ให้สมบูรณ์กันในวันนี้ การบูชาทางร่างกายในวันนี้ ก็คือ การเดินประทักษิณ การบูชาทางวาจา ก็คือ กล่าวพระคุณของพระองค์ออกมา ประกาศความเลื่อมใสของตนออกมา ประกาศความตั้งใจ ที่จะประพฤติปฎิบัติ ตามพระธรรมคำสอนออกมา นี่เป็นการบูชาด้วยวาจา
ส่วนการบูชาด้วยจิตใจนั้น คือ การอดกลั้นอดทน ในการเสียสละ เป็นต้น ตลอดถึงการสมัครใจ ปักใจ ในการที่จะทำตามพระธรรมคำสอน ทุกอย่าง ทุกประการ ด้วยความเสียสละนั้น นั่นเป็นการบูชาด้วยจิตใจ
วันนี้เราจงบูชากันให้ครบถ้วน ทั้ง ๓ ประการ คือ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ ด้วยกันจง ทุกคนเถิด อย่าให้มีอะไรมาขัดข้อง หรือมารบกวน หรือมาทำให้เสียไป เหมือนคนขี้ขลาด อะไร ๆ มันก็ล้วน แต่เป็นอุปสรรค ไปเสียทั้งนั้น เจ็บปวดสักเล็กน้อย ก็ถือเป็นเรื่องที่จะเลิกกระทำเสียทั้งหมด อย่างนี้มันน่าสงสาร ยิ่งกว่าลูกเด็ก ๆ เพราะว่าลูกเด็ก ๆ บางคน ก็ยังอดนอนได้ตลอดคืน คนเล่นไพ่ก็ยังอดนอนได้ตลอดคืน ผัวไม่สบายหรือเมียไม่สบาย ก็ยังนั่งเฝ้าได้ตลอดคืน ก็ยังมีอะไรอีกมาก ที่ทำได้ตลอดคืน ไปจับปลาก็ยังจับปลาได้ ตลอดคืน ไม่ใช่เป็นเรื่องมากมายใหญ่โตอะไร เดี๋ยวนี้เราเฝ้าดู เออ, ความสำเร็จอันใหญ่หลวง ของผู้ที่เป็นที่พึ่ง ของโลก ในการช่วยมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ ประสบความสำเร็จ ในวันเช่นวันนี้ แล้วเราจะง่วงนอนได้อย่างไร ขอให้ทำทุกอย่าง อ่อ, ด้วยจิตใจ ที่มีวิชาความรู้ที่ถูกต้องควบคุมอยู่ มันจะแก้ไขของมัน ได้ในตัวเอง เป็นไปอย่างสะดวกสบายที่สุด
ขอให้เตรียมพร้อม เพื่อทำอาฬสาหบูชา ในลักษณะเช่นนี้ ด้วยกันจงทุกคนเถิด ให้ครบถ้วนทั้งไตรทวาร คือ กาย วาจาและใจ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ให้สุดความสามารถของเรา จนกล้ากล่าวได้ว่า เราได้บุญเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเราทำสุดความสามารถของเรา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นั่นเอง
และในโอกาสนี้ ก็จะได้ กล่าวคำบูชาเป็นภาษาบาลี สำหรับพระสงฆ์ กล่าวคำบูชาเป็นภาษาไทย อ่า, สำหรับอุบาสก อุบาสิกา แล้วก็จะได้กระทำประทักษิณ ตามแบบที่ เออ, กระทำกันมาเป็นแบบฉบับ มาตั้งแต่ครั้ง พุทธกาล โดยถือว่าการแสดงการเคารพ ความเคารพ ด้วยกายนั้น การเวียนประทักษิณนั้น เป็นสัญญลักษณ์ของ การเคารพที่สูงสุด เราก็จะกระทำในโอกาสนี้ และในใจก็ระลึกนึกถึงพระคุณของพระองค์อยู่ และปากก็จะพร่ำ ถึงพระคุณของพระองค์อยู่ ในการกระทำประทักษิณนั้น
ก็เป็นอันว่า เราได้พยายามกันถึงที่สุดแล้ว ด้วยกันทุก ๆ คน ขอให้สำเร็จประโยชน์ สมตามความมุ่งหมาย ในการที่มาทำอาสาฬหบูชาในปีนี้ ในวันนี้ ด้วยกันจงทุก ๆ คนเทอญ ธรรมเทศนา เป็นปุพพาพรปบุพ เป็นบุพภาพ (นาทีที่ 36.36) ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติลงแต่เพียงนี้ เอวัง ก็มีด้วยประการ ฉะนี้