แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส: ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไร เวลาก็มีน้อย จะได้พูดเรื่องที่ตรงกับความประสงค์
โยม: คือปกติที่อยู่ที่โน่นก็ฟังคำบรรยายของท่านจากเทปอยู่เสมอ ผมใคร่อยากจะขอโอกาสขอโอวาทท่านในโอกาสนี้
ท่านพุทธทาส: ฟังเทปอยู่เสมอ ชุดไหน
โยม: เอ่อ ชุดที่อบรมนิสิต กับของปีนี้บ้าง หลาย ๆ ท่านก็ได้อ่านหนังสือของท่านมาอยู่มาก...(ไม่ได้ยิน นาทีที่ 1.24)
ท่านพุทธทาส: พูดเรื่อง สรุปความ พูดเรื่องที่เป็นการสรุปความ และเรื่องมาสวนโมกข์นี่ ต้องการอะไรบ้าง ที่เกี่ยวกับสวนโมกข์มีอะไรบ้าง
โยม: มหรสพทางวิญญาณ
ท่านพุทธทาส: มหรสพทางวิญญาณ จะดูมหรสพทางวิญญาณ
โยม: เกี่ยวกับการปฏิบัติที่น่าสนใจ อานาปานสติ
ท่านพุทนธทาส: ถ้าหลายเรื่องนัก ก็คงไม่ทัน เวลาไม่พอ พูดรวมเป็นเรื่องเดียวกันเสียแล้วกัน กี่เรื่อง ๆ เอาล่ะ
โยม: นมัสการครับ ผมจะขอรบกวนเล็กน้อย การให้พระที่นี่ทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ท่านพุทธทาส: มีอะไรอีก อย่างนั้นก็พอจะสรุปได้ว่าจะพูดโดยหัวข้อเดียวเกี่ยวกับธรรมะหลาย ๆ แง่ หลาย ๆ แขนง โดยให้หัวข้อเรื่องว่า ธรรมะนี่ “ธรรมะทำไมกัน” นี่ ธรรมะทำไมกัน เป็นหัวข้อที่เราจะพูด เนื่องจากได้พูดเรื่องธรรมะมามากมาย หลายครั้งหลายหน หลายแห่ง จนเรียกว่า เอือมระอากันไปหมด ในการที่จะอ่าน ที่จะฟัง ทีนี้อยากจะสรุปหัวข้อ ที่ว่า ธรรมะทำไมกัน ให้กินความไปหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่บวชชั่วคราว ที่ลาบวชชั่วคราว ก็ควรจะรู้ ใจความสำคัญข้อนี้ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่า มีคนบวชชั่วคราวเป็นอันมาก ซึ่งหลายสิบเปอร์เซนต์ ไม่ได้สนใจธรรมะจริง ๆ บวชตามธรรมเนียม ตามประเพณี ในจิตใจยังไม่เข้าถึงธรรมะ ไม่ได้ชอบธรรมะ ชอบเพียงว่าให้ได้บวช นี่ก็มีอยู่มากตามที่สังเกตเห็น ฉะนั้นเราพูดกันเรื่องนี้ให้เป็นที่เข้าใจ จนกระทั่งแม้คนที่ไม่สนใจเหล่านั้น ก็จะเกิดความสนใจได้
เมื่อให้หัวข้อใหญ่ว่า ธรรมะทำไมกัน แล้วเราก็มีหัวข้อย่อย ๆ เช่นว่า เราจะรู้จักแต่ทำมาหากินให้สำเร็จได้อย่างเดียวนั้นมันไม่พอ เราจะต้องรู้จักทำไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะการทำมาหากินนั้น นี่ข้อแรก
พวกหนุ่ม ๆ สมัยนี้ ที่ไปเรียนเมืองนอกเมืองนามาแล้วก็อวดดี รู้จักทำมาหากิน มีวิชา มาจากเมืองนอก ได้งานดี ๆ หรูหรา มีเกียรติ มีเงิน แล้วมันก็พอ จะต้องธรรมะธรรมแมะะอะไรกันอีก นี่คือคนที่ยังไม่รู้จักธรรมะ แล้วก็อวดดี
นี่เราจึงมีหัวข้อว่า รู้จักแต่ทำมาหากินนั้นไม่พอ ต้องรู้จักวิธีที่จะไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะการทำมาหากินนั้น ก็นับตั้งแต่ชาวไร่ ชาวนา คนยาก คนจนไปทีเดียว จนกระทั่งถึงพวกที่มีสติปัญญาหากินด้วยมันสมอง มันก็เหมือนกันหมด มีการทำมาหากิน แล้วก็มีความทุกข์เกิดขึ้นจากการทำมาหากินนั้น ไม่เชื่อก็ขอให้ไปพิจารณาดู
เพราะว่าในการทำมาหากินมันก็ยังมีอุปสรรค มีสิ่งซึ่งทำให้เหน็ดเหนื่อย ทำให้อารมณ์เสีย ทำให้ปวดหัว ทำให้วิตกกังวล นี่ทำให้มีจิตใจที่ฟุ้งซ่านในที่สุด แล้วมันเพิ่ม ก็มีความเห็นแก่ตัว แล้วก็เพิ่มความเห็นแก่ตัวอยู่เสมอ
ฉะนั้นวิชาความรู้เท่าที่เรียนมาจากเมืองนอกนั้นมันช่วยทำมาหากินชั้นพิเศษ ได้ดีเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้เรียนในวิชาความรู้เพื่อไม่ต้องปวดหัว เพื่อไม่ต้องฟุ้งซ่านกระวนกระวาย หรือไม่เพิ่มความเห็นแก่ตัวจนนอนไม่หลับ เพราะฉะนั้นไอ้คนที่ไปเรียนสำเร็จมาจากเมืองนอกก็เป็นโรคประสาทก็มี วิกลจริตก็มี ฆ่าตัวตายก็มี อะไรก็มีเหมือนกัน เพราะไปเรียนมาแต่เรื่องทำมาหากิน ส่วนที่จะทำให้ จะป้องกันหรือว่าระงับความทุกข์ที่เกิดจากการทำมาหากินนั้นมันไม่ได้เรียนมา เพราะมันเป็นเรื่องทางจิตใจอีกส่วนหนึ่งต่างหาก มันเรียนมาแต่เรื่องวัตถุ เกี่ยวกับวัตถุ เกี่ยวกับบุคคล เกี่ยวกับการงาน ทีนี้เขาก็สอนแต่เพียงทำได้ แต่ทางจิตใจไม่ได้สอน ทางศีลธรรม ทางจริยธรรมไม่ได้สอน มันก็เป็นบ้าได้ ทั้งที่มีปริญญายาวเป็นหาง ฉะนั้นเราจะต้องมีความรู้ที่จะทำให้ไม่เป็นทุกข์เนื่องมาจากการทำมาหากิน
ทีนี้ชาวนาก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีวิธีที่จะระงับความรู้สึกที่ฟุ้งซ่านกระวนกระวายอย่างนี้แล้วก็จะต้องเป็นโรคประสาท ปวดหัว เป็นบ้า ฆ่าตัวตายได้เหมือนกัน
แต่เดี๋ยวนี้อย่าลืมว่า ในชาวนานี่ ประชาชนที่เรียกกันว่า ชั้นต่ำ ชาวไร่ ชาวนา ชาวบ้านนี่ มันมีเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์อยู่ในเนื้อในตัว คือ ธรรมะนั่นเอง แต่ไม่รู้สึกตัว มันอยู่ในรูปของขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ ฉะนั้นชาวบ้านทั่วไปเขามีความเป็นธรรมอยู่ในจิตใจโดยไม่รู้สึกตัวอย่างเต็มที่ ไม่เหมือนกับเด็กสมัยใหม่ที่ไปเรียนเมืองนอกเมืองนามา มีความรู้สึกคนละอย่าง พูดจากันคนละอย่าง
เราจะเห็นได้ง่ายว่า ชาวไร่ชาวนานี่เขาเชื่อกรรม ถ้าอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้ร้อนใจ เช่น ถูกขโมยอย่างนี้ เขาก็ปัดออกไปได้เลย ถือว่ามันเป็นกรรม ก็ไม่ปวดหัว บางคนดีกว่านั้น คิดไปถึงว่า ชาติก่อนเราเคยขโมยของเขาก็ได้ ชาตินี้เราถูกขโมย ไม่เป็นไร กลับยินดีเสียอีกว่ามันหลุดหนี้หลุดสินกันไปเสียที มันก็เลยนอนหลับสบาย ไม่ผูกเจ็บ อาฆาตโกรธแค้น เหมือนไอ้คนที่ไปเรียนมาอย่างใหม่ ๆ เก่งกล้าสามารถ มันรู้จักโกรธ มันรู้จักผูกอาฆาต มันรู้จักแก้แค้น มันก็นอนไม่หลับ
ทีนี้เมื่อความเจ็บไข้มาถึง วัฒนธรรมของไทยเราแต่โบราณ ซึ่งมันอบรมกันมากกับธรรมะนี่ มันก็ไม่กลัวเลย ถ้าปฏิบัติตามวัฒนธรรมไทยโบราณแท้ ๆ ไม่มีความกลัว เพราะเชื่อกรรมนั่นเอง หยูกยาจะมีกินก็ได้ ไม่มีกินก็ได้ ถ้ามีก็กิน มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องเดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่มีสตางค์ จะต้องไปกู้ไปยืมเขาอย่างนี้แล้วจะต้องรักษากันอย่างที่จะต้องหามไปเมืองนอก ขึ้นเรือบินไปอะไรอย่างนี้ มันไม่มีเรื่องยุ่ง ไม่มีเรื่องปวดหัวอย่างนี้ เพราะเขาถือว่ามันถึงคราวที่จะต้องเป็นไปตามกรรม ยินดีรับกรรม ไม่มีเรื่องปวดหัว
หรือว่าเรื่องอย่างอื่นที่เป็นเหตุให้โกรธมาก เสียใจมาก อะไรมากนี่ เขาก็ยอมรับว่ามันเป็นไปตามกรรม เพราะสอนมาอย่างนั้น สอนกันมาอย่างนั้นตั้งแต่ลืมตาออกมา ที่ยังเหลืออยู่แต่ตามบ้านนอกที่เป็นพื้นฐานชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ไอ้เด็กรุ่นหลังถูกเก็บตัวไปสอนเสียอย่างอื่น ไม่เคยรับการสอนอย่างนี้ แล้วไปเรียนมากเข้า ๆ ก็เห็นแก่ตัวจัด ก็ไม่รู้จักยอม ไม่รู้จักปลง ไม่รู้จักวาง แล้วก็มีความอาฆาตพยาบาทอย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถจะระงับว่าไปตามกรรมนี้ได้
เพราะฉะนั้นเรามองเห็นได้ว่า ไอ้การเรียน การศึกษา การทำมาหากิน อย่างไปเรียนกันมาใหม่ ๆ นั้น มันเป็นเรื่องทำมาหากินล้วน ๆ ไม่ประกอบอยู่ด้วยวิชาสำหรับป้องกันไม่ให้จิตใจเป็นทุกข์ ส่วนวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา มันมีอยู่ในตัวเสร็จ แล้วก็โดยไม่รู้สึกตัว
เขาไม่เห็นว่ามันแปลกอะไร ไอ้เรื่องความเจ็บ ความไข้ ความตาย ไม่ใช่น่ากลัวอย่างที่เรียกว่าจะต้องมีเงินเป็นแสนเป็นหมื่นหามไปเมืองนอกไปรักษา ถึงพระพุทธเจ้าเอง พระอรหันต์ทั้งหลายเองก็อย่างนั้น เห็นความเจ็บไข้เป็นของธรรมดา เมื่อถึงคราวที่ควรจะตาย มันก็ควรจะตาย
สำหรับภิกษุจะมีวินัยหลายอย่างที่แสดงให้เห็นชัดว่า ไม่ต้องการจะขวนขวายอะไรมากมายนัก เช่น ห้ามการผ่าตัด มีวินัยนี่ของพระอย่างนี้ ห้ามรับการผ่าตัด เป็นอาบัติทุกกฎ มันก็แปลว่า ไม่ไปป้องกันให้มันมากเกินกว่าเหตุ แต่ว่าเดี๋ยวนี้เราก็ไม่ได้ถือวินัยขอนั้นกัน ยอมรับการผ่าตัด
เอามาพูดเพื่อเปรียบเทียบให้ฟังว่า ไอ้หลักธรรมะหรือวัฒนธรรมพุทธศาสนาโบราณนั้นมันไม่ได้กลัวเจ็บ กลัวไข้ กลัวตายมากเหมือนคนเดี๋ยวนี้ ไอ้คนเดี๋ยวนี้กลัวเจ็บ กลัวไข้ กลัวตายมากจนโง่ ไปรักษา แก้ไขป้องกันสิ่งที่ไม่ควรจะแก้ไขป้องกันอีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่น เปลี่ยนหัวใจใหม่หรืออะไรทำนองนี้ หรือว่าคนมันจะตายแน่อยู่แล้ว ก็ยังจะไปกระตุ้นไว้ด้วยอะไรบางอย่างให้มันตายไม่ลง จนมันเป็นสิ่งที่มีชีวิต แต่ไม่มีความรู้สึก แล้วก็ตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อย่างนี้ทางวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาถือว่าตายอย่างโง่ ๆ คือไม่มีสติเลย แล้วก็ตายไป มันก็ยังต้องตายอยู่ดี
ถ้าเป็นแบบพุทธบริษัทแท้ ๆ เมื่อเห็นว่ามันควรจะตายแล้วก็ปฏิเสธการรบกวนทุกอย่าง นับตั้งแต่ไม่กินอาหาร ซึ่งเป็นการรบกวน กินแต่น้ำ เป็นต้น พอหนักเข้าไปอีกก็ปฏิเสธยา ไม่ต้องกินยา ต้องการจะอยู่นิ่ง นิ่ง ๆ สงบ เพื่อจะตายไปเหมือนกับปิดสวิตช์ไฟฟ้า ก็ต้องการอย่างนั้น ไม่ต้องให้เอายา เอาอาหาร เอาอะไรมาฉีดมาทาให้มันอยู่โดยไม่มีความรู้สึก แล้วตายเมื่อไหร่ไม่รู้ เรียกว่า ตายอย่างโง่ ถ้าตายอย่างมีสติสัมปชัญญะมันปิดสวิตช์ไฟอย่างนี้ เรียกว่า ตายอย่างมีสติ ตายอย่างฉลาด วัฒนธรรมมันต่างกันอย่างนี้
ฉะนั้นการที่ไปเห่อไอ้ของใหม่ ๆ เปลี่ยนหัวใจได้ อะไรได้นั้นนับวันยิ่งโง่มากเข้าไปอีก มันจึงมีความทุกข์มากขึ้นไปอีก เนื่องในการที่จะมีชีวิตอยู่
ฉะนั้นเรารู้จักทำมาหากินด้วย แล้วก็รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาจากการทำมาหากินนั้นด้วย นั่นล่ะ “ธรรมะทำไมกัน” ธรรมะเพื่อไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นมาจากการทำมาหากิน รู้เรื่องชีวิต
เอ้า, ทีนี้ ข้อต่อไปก็ว่า แม้จะมีกินมีใช้แล้ว มันก็ยังไม่พอ มันต้องรู้จักทำให้ไม่มีความทุกข์เพราะการมีกินมีใช้นั้นด้วย นี่คุณอาจจะฟังไม่ถูก มีกินมีใช้อย่างที่คุณประสบความสำเร็จในอาชีพแล้วนั่นแหละก็ยังไม่พอ ยังจะต้องรู้จักทำไม่ให้ความทุกข์มันเกิดขึ้นมาเพราะการมีกินมีใช้นั้นอีก
เอ้า, ไปดูสิ ไอ้คนที่มันมีกินมีใช้ มีอำนาจวาสนา มีอะไรแล้วนั่นน่ะ บางทีก็แทบจะไม่เป็นคน มีจิตใจอย่างกับไม่ใช่คน ยังต้องมีความทุกข์อย่างอื่น มันไม่เกี่ยวกับกินหรือใช้แล้วทีนี้ มันมีความทุกข์อย่างอื่น กิเลสอย่างอื่น ความโลภ ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความระแวง ความไม่รู้จักอิ่มจักพออะไรต่าง ๆ นี่ ยิ่งมีกินมีใช้มันก็ยิ่งกลายเป็นมีความทุกข์มากขึ้น มีความหวง มีความขี้เหนียว มีความอะไรมากขึ้น รวมความว่ามันเพิ่มความเห็นแก่ตัวเหมือนกัน ยิ่งมีกินมีใช้ก็ยิ่งเพิ่มความเห็นแก่ตัว จึงต้องมีธรรมะเข้ามาอีก เพื่อจะแก้ปัญหาข้อนี้ ให้คนมีกินมีใช้ไม่ต้องมีความทุกข์
อย่างสมัยโบราณของเรา อย่างบ้านนอกอย่างนี้ สมัยผมเด็ก ๆ ได้ยินบ่อยที่สุด ปีหนึ่งไม่รู้จะกี่ครั้ง คำพูดเช่นว่า นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทานอย่างนี้ นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน เดี๋ยวนี้ไม่รู้หายไปไหนหมดคำพูดอย่างนี้ ก็หมายความว่า การสร้างสรรค์อะไรเหล่านี้ขึ้นมานี่ให้นกกินเป็นบุญ เพื่อนมนุษย์กันเอาไปกินเป็นทาน ไม่ใช่เพื่อของกู กูกินคนเดียว มึงเข้ามา กูเอาปืนยิง เหมือนกับคนสมัยนี้มันสร้างเรือกสร้างสวน สร้างทรัพย์สินกันไว้เป็นร้อยไร่พันไร่หมื่นไร่ ลองเข้าไปเอาสิ เอาปืนยิง แต่สมัยก่อนพอเขาปลูกอะไรลงไปในเรือกในสวนนี่มันภาวนาคาถา “นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน” ก็เปรียบเทียบกับใจมันดูสิ ต่างกันอย่างไร ฉะนั้นใครจะมาเอาก็ได้ มันมีอยู่แต่บ้านนอกเท่านั้นแหละที่เพื่อนจะมาเก็บของในสวนเอากินได้บ้างโดยไม่ต้องโกรธ
ที่ประเทศอินเดียเมื่อผมไปเมื่อ พ.ศ. ๙๘ ผมเห็นชาวนาเกี่ยวข้าวอย่างตัวเป็นเกลียวนี่ แล้วลิงก็กินอยู่ตรงนี้ เป็นฝูง ๆ เลย ๒๐ ตัว ๓๐ ตัว กินแข่งกับเจ้าของนาเกี่ยวข้าว ที่เมืองไทยหาดูได้เหรอ ไม่ใช่ลิงเลี้ยง ลิงตามธรรมชาติ นี่ เมื่อปี ๙๘ ที่อินเดีย ที่ตรงปากทางที่จะเข้าไปในเชตวันนั้นน่ะ ผมไปยืนตะลึงอยู่สักพักหนึ่งน่ะ ทำไมทำกันอย่างนี้ นี่คือความหมายของ “นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน” ไอ้ปลูกข้าวนี้เผื่อลิงด้วย แล้วเอาส่วนหนึ่ง สัตว์เหล่านั้นเอาไปส่วนหนึ่ง ใครจะมากจะน้อยก็ตามใจ จิตใจมันอย่างนั้น ถ้าอย่างคนสมัยนี้ก็ พรื่นใส่ลิงตัวนี้ นั้นมันก็บ้านนอกเหมือนกัน ที่ว่านี้บ้านนอก เชตวันน่ะ เขตเมืองสาวัตถีเก่า บ้านนอก ในเมืองหลวงก็คงจะไม่แน่ แต่มันก็ยั้วเยี้ยไปหมด ทำความเสียหายอยู่ทั่วไปลิงนี่ ไม่มีใครตีใครฆ่ามัน
นี่จิตใจของผู้มีธรรมะนั้นมันกว้างขวาง แล้วมันนอนหลับสนิท ทีนี้มีกินมีใช้แล้วมันก็ไม่เพิ่มความเห็นแก่ตัว เพราะมันคิดแต่ทีแรกว่ามันคนกินเป็นทาน นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทานอยู่เรื่อย เดี๋ยวมันไม่มีในจิตใจของคนสมัยนี้ เพิ่มความเห็นแก่ตัวจัด ถึงแม้จะมีกินมีใช้อย่างไรแล้วมันก็ยังนอนไม่หลับ เพราะกิเลสมันมาก มันไม่รู้จักปลง ไม่รู้จักวาง มีแต่หวาดระแวงอยู่เรื่อย แล้วก็ไม่รู้จักพอด้วย เพราะฉะนั้นวันที่เรียกว่ามีกินมีใช้อิ่มสบายนั้นไม่มี เพราะพอได้มาเท่านี้มันอยากเท่าโน้น พอได้มาเท่าโน้นมันอยากเท่าโน้น เพราะฉะนั้นไม่มีวันที่รู้สึกว่า “เราไม่กินมีใช้แล้วโว้ย” อย่างนี้ไม่มี มันอยากเรื่อย มันบ้าเรื่อย มันก็คือหิวเรื่อย มันก็คือเป็นเปรต ความหิวทางวิญญาณอย่างนี้เขาเรียกว่าเปรต มันหิวเรื่อย
ไอ้เรื่องเปรต เรื่องไอ้นี่ไม่ใช่หมายความว่าต่อตายแล้ว ที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้ามีความหิวทางฝ่ายวิญญาณจิตใจอยู่เรื่อยก็คือเป็นเปรต ฉะนั้นไอ้การมีกินมีใช้ชนิดที่เป็นเปรตอยู่นั้นมันไม่ไหว มันต้องมีธรรมะชนิดที่ทำให้เย็นสนิท อิ่มสบายด้วยวิญญาณไม่กระวนกระวาย ไม่กระหาย ไม่มีความเป็นเปรตเหลืออยู่ นี่ผมจึงว่า “ธรรมะทำไมกัน” สำหรับคนที่มีกินมีใช้แล้วนี่ยังต้องมีธรรมะ เพื่อไม่ต้องเป็นเปรต และเพื่อนอนหลับสนิท เพื่อกินหรือใช้ด้วยใจคอที่มันเยือกเย็น
เอ้า, ทีนี้ข้อต่อไปอีก แม้ว่ามีกินมีใช้สบาย สมมุติว่ามีกินมีใช้สบาย ไม่ต้องเป็นทุกข์ มันก็ยังไม่พอ มันต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้มันยังมีอันอื่น มันมากไปกว่าที่เพียงแต่มีกินมีใช้
ฉะนั้นขอให้คุณทุกองค์จำคำว่า “สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้” นี่ไว้ด้วย จะได้ไปศึกษาค้นคว้าโดยกว้างขวางว่ามันคืออะไรกันแน่
เราเกิดมา ประสบความสำเร็จในการศึกษา ในการงานการอาชีพ มีสวัสดิการสังคม มีอะไรดีมาก จนกระทั่งเกษียณอายุ เป็นข้าราชการบำนาญก็มีทรัพย์สมบัติมาก มีอะไรมาก โรคภัยไข้เจ็บก็ยังไม่มารบกวน ปัญหาเรื่องความตายก็ยังไม่มี แต่แล้วก็ยังพูดว่ามันยังไม่พอ มันยังต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้อีกทีหนึ่ง อันนี้มันคืออะไร
ข้อนี้จะเข้าใจได้ง่ายโดยรู้จักแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายวัตถุอย่างหนึ่ง ฝ่ายวิญญาณอย่างหนึ่ง ไอ้ที่ได้สบายอย่างที่ว่านั้นมันก็เป็นเรื่องฝ่ายวัตถุล้วน ๆ ฝ่ายวิญญาณยังไม่แน่ ยังไม่เต็มก็ได้
เกี่ยวกับคำพูดนี่มันมีความหมายซับซ้อนกันอยู่ เช่นผมพูดว่า “จะอยู่ไปได้สบายไปจนตาย” มันก็ยังไม่พอ ยังต้องได้ไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้อีกต่อหนึ่งนั่น คำว่า “อยู่สบายไปจนตาย” นี่มันหมายอย่างโลก ๆ อย่างชาวบ้าน ภาษาโลก ๆ ภาษาคนพูด เหมือนยกตัวอย่างนี่ ร่างกายสบาย เป็นข้าราชการบำนาญ เฉพาะเบี้ยบำนาญเดือนละหมื่นอย่างนี้ ที่ดินเรือกสวนไร่นาก็มีมาก อะไรก็มีมากอย่างนี้ จะเรียกว่า ดีที่สุด หรือสบายที่สุดไปจนตายได้หรือยัง
ความจริงจะรู้สึกสบายไปจนตายไม่ได้หรอกถ้ามันไม่มีธรรมะช่วย ถ้าปราศจากธรรมะแล้วมันเป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีความเป็นเปรตอยู่นั่นเอง อย่างคนที่ว่าคนคนนี้จะยังมีความเป็นเปรตเหลืออยู่ ถ้ามันหยุดได้ สงบได้จริง มันมีธรรมะเข้าไปโดยไม่รู้สึกตัว
เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นี่ หมายถึงคุณธรรมทางจิตใจชั้นสูงที่เราเรียกกันว่า “มรรคผลนิพพาน” คือความสะอาด สว่าง สงบของจิตใจโดยแท้จริง ซึ่งคนธรรมดามีได้ยาก แม้บุคคลในตัวอย่างคนนั้นที่ว่ามีอะไรกินสบายไปจนตาย มันก็ยังมีไม่ได้ ความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิตใจมันยังมีไม่ได้ เพราะมันยังโง่ด้วยอวิชชาบางอย่างบางประการ มันยังมืดมนในอนาคตว่าไม่รู้จะไปไหน ตายแล้วจะไปเป็นอะไรหรือไปไหน หรือว่ามันหมดกันเท่านี้ หรือว่ายังมีอะไรอีก มันมีปัญหารบกวนเรื่อย คือมันยังมีตัวกู ตัวกู ตัวกู ที่อยากอะไรอยู่โดยไม่รู้สึก แล้วก็จะมีความกลัวชนิดหนึ่ง คือความกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นตัว จะรบกวนจิตใจอยู่เสมอ ฉะนั้นคนเราจะสบายไปจนตายไม่ได้แม้จะมีอะไรครบถ้วนถ้าปราศจากธรรมะ ฉะนั้นต้องเอาธรรมะชั้นสูงแหละเข้ามาอีก เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ คือธรรมะชั้นสูงสุด
ถ้าคุณเคยฟังบรรยายเทปที่ผมพูด ๆ แล้วก็คงจะได้ยินตัวอย่างที่ได้ยกมาอ้างบ่อย ๆ เกี่ยวกับจริยธรรมสากล ที่นักจริยธรรมสากลบัญญัติไอ้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ไว้ ๔ อย่าง คือ ความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์ แล้วก็ความสุขที่แท้จริง แล้วก็ทำงานเพื่องาน ทำก็ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ แล้วก็ความรักสากล
สี่อย่างนี้เป็น Summum Bonum แปลว่า ความดีสูงสุด ทีนี้ข้อแรกนั้นอาจจะจนปัญญา Perfection ความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์ คืออะไร คนนั้นมีหรือยัง บุคคลในตัวอย่างที่ว่า มันมีความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์หรือยัง ถ้ามันยังมีความกลัว มีความมืดอยู่ข้างหน้า มีความอะไรที่ไม่รู้แล้วมันก็จะเรียกว่าเต็มไม่ได้ ยังอยาก หรือยังกลัวอะไรอยู่ก็ยังเต็มไม่ได้
จิตใจที่เต็มต้องปราศจากความทุกข์ทุกประการที่รบกวน เขาจึงเรียกว่า จิตใจเต็มจนหยุดอยากได้ ไม่มีปัญหาอะไรอีกต่อไป เป็นเศรษฐีแล้วก็ยังจะอยากอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากไปเป็นเทวดาก็ได้ อยากมาเกิดเป็นเศรษฐีอีกก็ได้ หรืออยากจะลองทำอะไรดูอีกก็ได้ มันไม่เต็ม มันพร่องอยู่เสมอเพราะความอยาก มันต้องหยุดอยากได้ หยุดความกลัวได้ หยุดไอ้สิ่งรบกวนจิตใจต่าง ๆ ได้ ไม่มีปัญหา ไม่มีความต้องการ พูดคำเดียวก็คือ “ไม่มีความต้องการ” ต้องการจะอยู่ หรือต้องการจะตาย หรือต้องการจะเป็นอย่างไรก็ตามมันไม่มี
ทีนี้คนที่ร่ำรวยขนาดที่ว่านั้น เดี๋ยวมันก็กลัวตายขึ้นมา เดี๋ยวก็ห่วงลูกหลานข้างหลังขึ้นมาหรืออะไร ซึ่งมันเป็นความพร่อง ไม่มีความเต็มได้ มันก็ต้องมีธรรมะตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นต้น ที่มาช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ แล้วก็จัดจิตใจเสียใหม่ ไม่มีความหวัง ไม่มีความอยาก ไม่ให้มีความกลัว อะไรจะต้องทำก็ทำตามหน้าที่ นี่คนที่ “เต็ม” มันเป็นอย่างนี้
ฉะนั้นถ้าขาดธรรมะแล้วคนมันเต็มไม่ได้ แม้มันเป็นคนที่สบายได้จนตายอย่างที่ภาษาชาวบ้านพูด มีบำนาญเดือนหนึ่งตั้งหมื่นหรือหลายหมื่นนี้ สมบัติมากมาย มีลูกหลานดี ๆ มากมาย อะไรมากมาย มันก็ยังเต็มไม่ได้ถ้าวิญญาณมันพร่อง นี่ไอ้ของดีที่สุดสำหรับมนุษย์ข้อที่หนึ่งคือ ความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์
ทีนี้ข้อที่สองที่ว่า Hapiness ความสุขนี่ก็หมายถึงความสุขจริงๆ ไม่ใช่ความสุกร้อน คือสุข ข. สะกดจริง ๆ ไอ้คนเราที่พูดกันว่าความสุข ๆ แล้วเขียนตัว ข. สะกดนั้นมันโกหกทั้งนั้น มันสุก ก. สะกด คือ สุกร้อนทั้งนั้น มีเงินมีชื่อเสียง มีอะไรต่าง ๆ มันก็ยังร้อนเป็นไฟอยู่นั่นล่ะ มันสุก ก. สะกด สุกออกไป เผาให้สุก ไฟคือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เผาอยู่เสมอ
เมื่อบริโภคกามารมณ์ รู้สึกเป็นของอร่อย ถึงขีดสูงสุดอยู่นั่นล่ะ คือสุก ก. สะกดที่สุด ยิ่งเผาที่สุด แต่ชาวบ้านเขาพูดว่า สุขที่สุด สวรรค์ชั้นวิมานอะไรของเขาก็ไม่รู้ ฉะนั้นไปแยกกันดูให้ดี ๆ สุก ก. สะกดหรือสุข ข. สะกด ถ้าสุข ข. สะกดมันต้องเย็น ถ้ามันร้อน มันต้องเปลี่ยนเป็น ก. สะกด
เพราะฉะนั้นที่เราเขียนกันว่า ความสุข ข. สะกด แล้วมีกันเยอะแยะนั้น สุก ก. สะกดทั้งนั้น นี่พูดให้จำง่าย เป็น ข. สะกด หรือเป็น ก. สะกด
ฉะนั้นโอกาสนี้จะพูดถึงคำว่า “นิพพาน” สักหน่อย เพราะคำว่า นิพพาน แปลว่า “เย็น” ถ้ายังไม่รู้ก็รู้เสียเดี๋ยวนี้ที นิพพาน นี่ แปลว่า เย็น “นิพพานะ” แปลว่า ออกไปหมดแห่งความร้อน ออกไปหมดแห่งความร้อนหรือความทุกข์ นี่พูดอีกทีก็คือ เย็น นิพพาน แปลว่า ไปหมดดับหมดแห่งความร้อนคือกิเลส มันเย็น
ทีนี้คำว่า “นิพพาน” นี่พูดกันมาแล้ว พูดเป็นแล้ว ตั้งแต่ก่อนมีพุทธศาสนาโน่น ก่อนมีพุทธศาสนาเมื่อมนุษย์รู้จักพูด ยังไม่มีศาสนาอะไรเป็นล่ำเป็นสัน มันรู้จักพูดคำว่า นิพพาน แล้ว คือมันหมายถึง “เย็น” อย่างที่เราพูดนี่ ไม่เกี่ยวกับธรรมะหรอก เช่น หนาว ร้อน เย็น นี่ ไอ้เย็นนี่มันหมายถึงดับเย็นมาแล้ว เป็นภาษาพูดอยู่ตามชาวบ้านพูด นิพพานะ “ปรินิพพุตะ” เป็น กริยา “นิพพานะ” เป็น กริยา “นิพพานะ” เป็น นามโดยตรงก็ได้ แปลว่า เย็น
ก็เลยเย็นชนิดไหน ก็เรียกว่านิพพานหมด แม้แต่เย็นของวัตถุ เย็นของวัตถุ เย็นของถ่านไฟ แบ่ง ๆเย็น หรือกับข้าว ข้าวสุกเย็น นี่คือมันนิพพาน
ก็มีอยู่ในบรรยายปาฐกถาเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั่น คงเคยฟังมาแล้ว นี่เอามายกตัวอย่างให้ฟังดูอีกทีว่า ไอ้นิพพานนี่มันแปลว่าเย็น พูดเป็นภาษาคนธรรมดา พูดอยู่ในครัว ในนา ในไร่อะไรก็ตาม เช่น เด็ก ๆ จะพูดว่า “เอ้า ข้าวนิพพานแล้ว มากินได้โว้ย” นี่ไม่ใช่พูดเล่นตลก พูดล้อ มันพูดอย่างนั้น มีคำอย่างนั้น ปรินิพพุตะแล้ว กินได้แล้ว
ทีนี้ต่อมามันถึงสัตว์เดรัจฉานที่หมดพิษหมดสง ก็ใช้คำคำนี้ว่า นิพพาน สัตว์เดรัจฉานฝึกฝนดีแล้ว ไม่มีอันตรายจากสัตว์ตัวนี้อีกต่อไป ใช้ได้อย่างใจหมด ก็เรียกว่าสัตว์ตัวนี้นิพพานแล้ว คือเย็นแล้ว ขนมันราบลงไปแล้ว ไม่มีตั้งขนชันอีกต่อไปแล้ว เรียกว่าสัตว์เดรัจฉานนิพพาน
ทีนี้พอมาถึงคน มันก็มีหลายระดับ ก่อนพุทธศาสนาเขาเอาไอ้ เคยเอากามารมณ์เป็นนิพพานกันก็มี เพราะว่ากามารมณ์มันดับความ เมื่อได้ความต้องการทางกามารมณ์แล้ว มันดับความใคร่ที่ร้อนระอุอยู่ได้ชนิดหนึ่งหรือขณะหนึ่ง คือเข้าใจว่านี่เป็นนิพพาน คือเย็น คือของเย็นที่มนุษย์ควรปรารถนากันมาพักหนึ่ง
ต่อมาก็รู้กันขึ้นมาเองในหมู่มนุษย์นั่นล่ะ หลัง ๆ ต่อมาว่า ไม่ใช่ ดีไปกว่านั้นน่ะก็คือเรื่องสมาธิ จิตใจคอสงบ เป็นสมาธิ นี่เป็นนิพพาน เป็นอยู่อย่างนี้พักหนึ่ง ในครั้งพุทธกาลก็ยังมีเหลืออยู่ ที่พระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้น ท่านว่า ไอ้เย็นอย่างที่ว่านั้นไม่ไหวโว้ย ต้องเย็นอย่างที่ว่าหมดตัณหาอุปาทาน คือนิพพานที่แท้จริง ที่สมบูรณ์ขึ้นมา นี่คือเย็น แล้วนี่คือความสุข ไอ้เย็นจริงอย่างนี้คือความสุขจริง เพราะฉะนั้นที่เราพูดว่า Happiness ความสุข ก็หมายถึงความสุขจริงทำนองนี้ จึงจะพอถือได้ว่า เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ข้อที่สองคือความสุข
ทีนี้ข้อที่สาม ทำงานเพื่องาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ คุณไปดู ใครบ้างที่ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ มันทำงานเพื่อเงิน เพื่อตัวกูทั้งนั้นแหละ ทำงานเพื่อได้เงินและเงินเพื่อตัวกูทั้งนั้นเลย รวมทั้งคุณทั้งหมดทุกองค์นี้ด้วย จริงหรือไม่จริงไปทดสอบตัวเองดู ไม่มีใครที่มีจิตใจบริสุทธิ์ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ แล้วผลงานเป็นของพลอยได้ คลานเข้ามาบูชาเรา หล่อเลี้ยงชีวิตเรา เราเสียอีกเป็นทาสมัน เป็นทาสงาน เป็นทาสความต้องการของเรา เป็นทาสเงินที่เราหามาได้ อย่างนี้มันไม่ใช่ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่
ถ้าพูดกันแล้ว “พระอรหันต์” เท่านั้นแหละ ที่ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่โดยสมบูรณ์ ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์มันยังทำไม่ได้ แต่เขาสอนให้ทำ ให้พยายามทำ
ทำงานเพื่องาน เหมือนกับว่ามีสมาธิอยู่แต่ทำงานให้ดีเท่านั้นแหละ ไอ้เงินไอ้ได้ไอ้เสียไม่นึกถึง มีสมาธิอยู่แต่จะทำงานให้ดีเท่านั้นแหละ นี่เรียกว่าทำงานเพื่องาน
ทีนี้ทำงานด้วยความกระหายเงิน กระหายผลของงาน นี่เรียกว่าทำงานเพื่อเงิน เพื่อตัวกู แล้วมันเกิดเรื่องใช่มั้ย ทุกหัวระแหง มันเกิดเรื่อง เพราะมันทำงานเพื่อเงิน ทำงานเพื่อตัวกู ที่ไปเรียนจากเมืองนอกเมืองนามาก็ทำงานเพื่อเงิน ทำงานเพื่อตัวกูทั้งนั้น ไม่ไปเรียนจริยธรรมสากลมา ไม่ไปเรียนหลักพระพุทธศาสนาที่ไหนมา มันก็ทำงานเพื่อเงิน ทำงานเพื่อตัวกู
ทีนี้เขาสอนให้รู้ว่า ถ้าอย่างนั้นน่ะมันเป็น สุก ก. สะกดขึ้นมาทันที คือถูกเผาด้วยความอยาก ด้วยความหวัง ด้วยความโลภ ด้วยความระแวง ด้วยความสงสัยอะไรอยู่ตลอดเวลาที่ทำงาน
ที่เรารู้ เกิดมา ก็มีปัญญาพอจะรู้ว่าเราจะต้องทำอะไร ปลงใจแน่นอนแล้วว่าจะต้องทำอะไร แล้วเราก็ทำ ทำด้วยจิตที่ว่าทำงานเพื่องานเท่านั้น มีสมาธิในงาน ทำงานเพื่องาน มันก็ถูก ทำถูกต้อง ทำรวดเร็ว ทำดีที่สุด ไอ้ผลงานนั้นมันไม่ไปไหนเสียหรอก แต่เราต้องไว้ใต้ฝ่าเท้า อย่าให้มาอยู่บนศีรษะเรา ได้เงินมา ได้เกียรติมา ได้อะไรมาก็ตาม ให้ไว้ใต้ฝ่าเท้าของเรา เพราะมันเป็นของขี้ฝุ่น เราต้องการทำงานเพื่องาน ไม่ใช่เพื่อสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราทำงานเพื่อสิ่งเหล่านี้ มันมาอยู่บนหัวเราตั้งแต่ทีแรก ตั้งแต่ก่อนทำ แล้วมันหนัก แล้วมันร้อน แล้วมันอะไรหลาย ๆ อย่าง
นี่ถ้าจะเป็นมนุษย์ที่ได้สิ่งที่ดีที่สุดแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ด้วยจิตชนิดนี้ ทำงานเพื่องาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เหมือนพระพุทธเจ้าท่านทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ท่านทำงานมากกว่าพวกเรา นอนน้อยกว่าพวกเรา ดังนั้นทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างนั้น คือบุคคลที่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ แล้วก็ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำงานเพื่องาน ทีนี้พระอรหันต์ทุกองค์ก็ทำงานกันอย่างนั้นหมด เพื่อไม่มีความเห็นแก่ตัว
เอ้า ถึงตรงนี้อยากจะแทรกเสียเลย เมื่อตะกี้ถามว่าทำไมให้พระทำงาน นี่ไม่ใช่พระทุกองค์จะทำงานหนัก เหนื่อยอย่างนี้ไปทั้งหมด ก็บางองค์ แต่ก็ส่วนมาก และก็ขอร้องว่าถ้าทำได้ทำทุกองค์ เพื่อเอาเหงื่อมาล้างตัวกูของกู เพื่อเอาเหงื่อมาล้างความเห็นแก่ตัว ที่พูดแต่ปากว่าเราไม่เห็นแก่ตัว เสียสละเพื่อประเทศชาติเมื่อไร เท่าไร อย่างไหนก็ได้นั้นโกหกทั้งนั้น พูดแต่ปากทั้งนั้น มันต้องลองทำดูจริง ๆ เมื่อเหงื่อมันออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าว่าเหงื่อมันล้างความเห็นแก่ตัว ล้างตัวกูของกูออกไปนั่นแหละคือจริง ฉะนั้นการทำงานคือการปฏิบัติธรรม
นั่งอยู่คนเดียวไม่มีเรื่องจะทะเลาะกับใคร พอมาเข้าหมู่สองคนทำงานนี่ต้องมีเรื่อง เดี๋ยวเขม่นกันบ้าง อะไรกันบ้าง มันจะได้สอบไล่ดูว่า มันมีหรือไม่ มันฮื่อมันแฮ่กันหรือไม่ ตัวกูกับตัวกู ที่หนึ่งที่สองอะไรนี่ แต่ว่าความมุ่งหมายใหญ่ก็คือว่าพิสูจน์ดูทีว่า มีความเห็นแก่ตัวมากน้อยเท่าไร ยิ่งเหงื่อออกมากเท่าไร มันก็ยิ่งล้างไอ้ความเห็นแก่ตัวออกไปเท่านั้น นี่ก็เพื่อฝึกฝนบทที่ว่า ทำงานเพื่องานนี้
ฉะนั้นเวลาที่จะต้องออกกำลังบริหารร่างกาย ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือว่าเมื่อไม่ต้องการอะไรแล้ว ก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ เรี่ยวแรง เวลานี่ ใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือว่า เมื่อคุณยังไม่ได้บวช คุณทำเพื่อตัวเองทั้งนั้นแหละ เมื่อคุณไม่ได้บวชน่ะ คุณทำอะไรสักนิดหนึ่ง ก็เพื่อตัวคุณ เพื่อตัวเองทั้งนั้นแหละ
เดี๋ยวนี้พอบวชเข้ามา ให้ทดสอบทำงานเพื่อผู้อื่น หรือเพื่อความว่าง ผมไม่ขอบใจ ไม่ให้รางวัล ไม่ไปดูด้วยซ้ำไป และไม่ขอบใจพระเณรที่ทำงานเหล่านั้นเลย มันต้องทำงานเพื่อความว่าง ทำงานเพื่อผู้อื่น ซึ่งไม่เคยทำเลยก่อนบวช ฉะนั้นจึงให้ทำ ให้ลองดูระหว่างบวช ว่าใจคอมันจะเป็นอย่างไร ที่ทำงานเพื่อผู้อื่นแท้ ๆ ไม่มีส่วนที่จะได้แก่ตัวเองเลย แล้วอาจารย์ก็ไม่เคยขอบใจแม้แต่สักคำเดียวนี้ มันจะทนทำไปได้ไหม นี่ก็เพื่อทดสอบดูว่า มันจะเกิดกลัดกลุ้ม ขัดเคืองอะไรขึ้นมาบ้างในการที่เหน็ดเหนื่อยขึ้นมานั้น ถ้ามันเหน็ดเหนื่อยขึ้นมา เกิดกลัดกลุ้มอะไรขึ้นมา ก็ถือว่าทำผิดละ ให้มันไปขนทราย ให้มันไปขนทรายขึ้นไปบนภูเขา ลงโทษตัวเอง
ฉะนั้นไอ้การทำงานนี่มันเป็นการสอบไล่หลายอย่างหลายประการ และการฝึกหัดเพื่อทำงานให้ความว่าง ไม่ใช่ทำงานเพื่อตัวกู ทีนี้พอสึกออกไปก็ทำงานเพื่อตัวกูอีก แต่ว่าถ้าเคยฝึกชนิดทำงานเพื่อความว่างกันเสียบ้างนี่มันคงจะเพื่อตัวกูน้อยลง สึกออกไปคราวนี้ก็จะทำงานเพื่อตัวกูมันจะน้อยลง น้อยลงกว่าเมื่อก่อนบวช
เนื่องจากเวลามันเหลืออยู่วันหนึ่ง ๔ – ๕ ชั่วโมงก็มี ฉะนั้นมาทำบทเรียนอันนี้ดีกว่า ดีกว่านอนคิด นอนฝัน นอนคาดคะเนว่าเราก็เสียสละได้ เสียสละแต่ปาก เสียสละในความคิดคาดคะเนว่าเราก็เสียสละได้ ดูกันจริง ๆว่ าเสียสละได้จริงหรือไม่ แล้วมาทดสอบทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่องาน ด้วยจิตว่างนี้ได้หรือไม่
นี่มีหลายองค์ที่ทำได้ คือทำงานที่น่าเบื่อ ซ้ำซากที่สุด น่าเบื่อที่สุด เช่น ไอ้แกะภาพดินเหนียวนั่นน่ะมาตั้ง ๕ – ๖ ปีแล้วก็มี มันต้องทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ แล้วไม่มีหวังอะไร ไม่มีใครขอบใจ ไม่มีใครให้อะไรเลย แล้วทำมาได้ตั้ง ๕ – ๖ ปี
นี่คือทำงานด้วยจิตว่าง ทำงานเพื่องาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เหมือนเครื่องจักรที่ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เครื่องจักร ใครจะไปขอบใจมัน ใครจะให้รางวัลอะไรมัน นี่หัดทำงานแบบนี้ เรียกว่า หน้าที่เพื่อหน้าที่ เป็น Summum Bonum ข้อที่สาม
ทีนี้ข้อที่สี่ มันก็คือไอ้ Universal Love ความรักสากล ตัวเองไม่มี ไม่มีรักตัวเอง มีแต่ความรักสากล มันเป็นผลจากการกระทำมาแต่ต้น ข้างต้นนั้นแหละ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ หรือความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ก็ตาม มันจะมีผลให้เกิดความรักสากลได้ ตัวเราไม่ต้องพูดถึงกัน รักทั้งหมด รักชีวิตทั้งหมด เป็นหน่วยเดียวกันหมด เป็นชีวิตเดียวกันหมด ไม่มีกู ไม่มีสู ไม่มีเขา ไม่มีเรา นี่เรียกว่าความรักสากล
ทีนี้คนนั้นมีหรือยัง ไอ้คนในตัวอย่างที่ว่า สบายที่สุด สบายจนตาย มันมีความรักสากลหรือยัง มันยังเหลวทั้งนั้นแหละ เรียกว่า มันต้องมีไอ้สี่อย่างนี้นะ ตามหลักจริยธรรมสากล จึงจะถือว่า เขาได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
ฉะนั้นคนที่ว่าสบายที่สุดแล้ว มีบำนาญหลายหมื่น มีบ้านช่องมาก มีลูกหลานดี มีอะไร มันก็ยังไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้สักที
นี่ ธรรมะทำไมกัน ธรรมะเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ควรจะได้ แม้ไอ้คนที่สามารถจะอยู่สบายไปจนตายก็ต้องได้สิ่งนี้ นี่ ธรรมะทำไมกัน ข้อนี้หมายความอย่างนี้ เพื่อได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
ทีนี้ปัญหาที่พูดเมื่อตะกี้นี้ มันเป็นคำพูดที่ว่า “แม้คนที่สบายไปจนตาย” ชาวบ้านก็หมายความอย่างหนึ่ง ภาษาโลก ๆ หมายความอย่างหนึ่ง ภาษาธรรมะหมายความอย่างหนึ่ง ชาวบ้านที่เมื่อเขาพูดบอก หืม, คนนี้สบายไปจนตาย มันมีเงิน มีเกียรติ มีทรัพย์ มีบริวาร มีอะไรตามภาษาโลกนั่นล่ะ สบายจนตาย ภาษาชาวบ้าน แล้วมันก็ยังเป็นผู้มีความสุก ก. สะกดอยู่นั่นแหละ
ต่อเมื่อคนชนิดนี้มันมีธรรมะอย่างที่ว่านั้นด้วยแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้แล้ว มันก็จึงจะเรียกว่า สบายจริง สบายไปจนตายจริง เพราะคนที่ไม่มีธรรมะนั้น มันไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักนึก ไม่รู้จักวางจิตใจไว้ในสภาพที่จะเป็นทุกข์ไม่ได้ มันต้องเป็นทุกข์ได้รอบด้านทั้งนั้นแหละ
เอ้า, พอความเจ็บ ความเจ็บไข้ หรือความแก่ หรือความตายจะมาถึง ไอ้หมอนั่นมันก็แย่แล้ว ถ้ามันปราศจากธรรมะ เงินก็ช่วยไม่ได้ อำนาจวาสนาก็ช่วยไม่ได้ ลูกเมียก็ช่วยไม่ได้ ใคร ๆ ก็ช่วยไม่ได้ มันก็กระสับกระส่าย มีความกลัวเป็นอสุรกาย มีความหิว เป็นเปรตอยู่ ตายไป นี่แหละปัญหาที่มันแก้ไม่ได้ด้วยเงิน ด้วยไอ้สิ่งเหล่านั้น คือปัญหาที่มาจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย
แล้วมันยังมีปัญหาที่ว่าอะไร ๆ โดยรอบด้าน สิ่งแวดล้อมมันไม่เป็นไปตามต้องการอีก แม้ไอ้ลูกเมียที่รักใคร่กันอย่างยิ่งนี่ มันไม่ใช่ตรงต่อความต้องการเสมอไป แม้บางทีเขาทำดี แต่จิตของคนนั้นมันบ้าเอง ไอ้การทำดีของลูกของเมียก็เลยไม่ทำให้เขาสบายใจได้ เพราะเขามันบ้าเอง นี่เรียกว่า ไอ้สิ่งแวดล้อมรอบด้าน มันไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ไม่ตรงตามที่ต้องการ
ทีนี้ที่ใหญ่ที่สุด ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า การที่ต้องเป็นไปตามผลกรรม คุณไม่เข้าใจก็ฟังให้ดี ๆ แล้วเข้าใจเสียว่า ทุกคนมันจะต้องไปตามกรรม หรือตามผลกรรม แม้มันอยู่ในสภาพอย่างนั้นแล้ว มันก็ยังต้องเป็นไปตามกรรม นั่นแหละคือเมื่อผลกรรมมันมาถึงอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าแล้วมันก็ดิ้นรน เป็นทุกข์เดือดร้อน เหมือนกับว่าเอาน้ำเดือดราดรดอย่างนั้น
ทีนี้ถ้ามีธรรมะเพียงพอ มันก็สามารถจะปัดเป่ากรรมออกไปได้ แม้ชั่วขณะ อย่างพวกชาวไร่ชาวนา เขาปัดเป่าผลกรรมออกไปได้ว่า ชาติก่อนเราเคยสร้างกรรมไว้ เอ้า, มาถึงแล้ว พอกันที ดีกันที ใช้หนี้หายไป แต่นั่นมันยังไม่ใช่ว่าอยู่เหนือกรรมโดยสมบูรณ์ จะอยู่เหนือกรรมโดยสมบูรณ์ได้ก็ต้องมีธรรมะถึงที่สุดกันเสียก่อน
ฉะนั้นคุณต้องไปศึกษาเรื่องกรรม ๓ ประเภท กรรมชั่วกรรมเลวนี้อย่างหนึ่ง แล้วกรรมดีนี้อย่างหนึ่ง แล้วกรรมที่เหนือชั่วเหนือดีอีกอย่างหนึ่ง เป็น ๓ อย่างด้วยกัน
พุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมที่จะทำให้อยู่เหนือชั่วเหนือดี ให้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ให้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั่นแหละ คือ กรรมชนิดที่ทำเพื่ออยู่เหนือกรรมดีกรรมชั่ว ถ้าใครไปบัญญัติอัฏฐังคิกมรรคว่าเป็นกรรมดี คนนั้นไม่รู้พุทธศาสนา ช่วยจำไปด้วย ช่วยไปตะโกนบอกมันด้วย ว่าถ้ามันขืนเข้าใจว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ คือกรรมดีหละก็ไปบอกมันด้วย เพราะมันยังไม่เข้าใจพุทธศาสนา เพื่อนฝูงคนไหนก็ตาม
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี่เขาต้องการจะทำเพื่อให้จิตใจไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งดีและชั่ว มีชีวิตประจำวันอยู่ชนิดที่ไม่ยึดมั่นดีชั่วตลอดวันตลอดคืน สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป วาจา กัมมันโต อาชีโว วายาโม สติ สมาธิ ๘ อย่างนี้ มีครบแล้วจิตใจจะไม่หวั่นไหว มันอยู่เหนืออำนาจของความชั่วและความดี
ถ้าเด็ดขาด เป็นพระอรหันต์เลย เพราะฉะนั้นพระอรหันต์อยู่เหนือกรรมทั้งปวง สิ้นกรรมทั้งปวง อาศัยอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้สิ้นกรรมทั้งปวง เหนือกรรมทั้งปวง นี่คนชาวบ้าน ปุถุชนธรรมดา ให้เป็นเศรษฐี ให้เป็นเทวดา ให้เป็นพรหมในพรหมโลก มันก็ยังถูกบีบคั้นด้วยผลกรรม กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้แต่หนหลัง มันมีทางรอดทางเดียวคือต้องมาตามทางของพระอริยเจ้าเท่านั้น พระอริยเจ้า ธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนี่ พระโสดาฯ สกิทาคาฯ อนาคาฯ อรหันต์ อะไรก็ตามเหล่านี้มันมาสายหนึ่ง กระแสหนึ่งเพื่อจะอยู่เหนือกรรมโดยประการทั้งปวง ฉะนั้นปัญหาเรื่องการบีบคั้นแห่งกรรมมันไม่มีแก่ท่าน ฉะนั้นท่านจึงสบาย
ทีนี้ไอ้คนร่ำรวย คนวิเศษคนนั้นน่ะ ที่ชาวบ้านสมมติว่ามันสบายไปจนตาย มันไม่อาจจะอยู่เหนือกรรมได้ มันจะต้องเป็นไปตามกรรม แล้วมันก็มีความเดือดร้อนเพราะความที่ต้องเป็นไปตามกรรม นี่ ธรรมะทำไมกัน ธรรมะเพื่อจะอยู่เหนือการบีบคั้นของกรรมโดยประการทั้งปวง จะเป็นกรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม
ที่เราใช้คำว่า “บีบคั้น” นี่หมายความว่า ถ้ากรรมชั่วนี่มันบีบคั้นอย่างไฟ ของร้อน ถ้ากรรมดีมันบีบคั้นอย่างของหวาน หรือน้ำตาล ฟังถูกมั้ย จะต้องกินของหวาน น้ำตาลเรื่อยไปมันก็ ก็ตายเหมือนกัน มันบีบคั้นคนละชนิด ไอ้ผลกรรมดีหรือความสุขนี้อันตรายมาก คนเราแย่เพราะไอ้ผลของความดีความสุขนี่ มันทำให้หลง มันทำให้ลืมตัว
นรกไม่อันตรายเท่าสวรรค์ สวรรค์ทำให้คนโง่ ทำให้คนลืมตัว ไอ้นรกนี่มันเจ็บปวด มันจะไปเผลออย่างไรได้ มันเจ็บปวด มันรู้สึกตัว มันกลัว มันขยาด ไอ้สวรรค์นั่นแหละน่ากลัวกว่านรก ไอ้ความได้สนุกสนานสรวลเสเฮฮาไปหมดนั่นแหละน่ากลัวกว่าความไม่ได้สรวลเสเฮฮา
ฉะนั้นอุปสรรคต่าง ๆ มีประโยชน์กว่าไอ้ความสะดวกสบาย แต่คนก็หลงความสะดวกสบาย แล้วเกลียดอุปสรรค จริง ๆ อุปสรรคนี่ทำให้ฉลาด สิ่งต่าง ๆ วิวัฒนาการเพราะอุปสรรคเกิดขึ้น
ฉะนั้นเราจะต้องรู้ไอ้สิ่งเหล่านี้ให้ดีว่า ไอ้ชั่วนี่มันก็ไม่ไหวละ ไอ้ดีนี่มันก็ไม่ไหวละ มันคนละแง่ มันต้องเหนือดีเหนือชั่ว คือ “เหนือกรรม” โดยประการทั้งปวง มีจิตใจอยู่เหนือดีเหนือชั่วนั่นแหละจึงจะสบาย รู้ดี รู้ชั่ว เพื่อยึดมั่นถือมั่นนั้นหละคือตัวทุกข์ล่ะ
ในคัมภีร์คริสเตียนก็มีเขียนชัดอย่างนี้ล่ะ พอกินผลไม้ต้นนั้นเข้าไป ก็รู้จักดีรู้จักชั่วก็มีความทุกข์ทันที เขาก็หมายความว่า รู้จักดี รู้จักชั่ว เพื่อยึดมั่นถือมั่น จนกว่าจะได้กินผลของต้นไม้อีกต้นหนึ่งโน่น จึงจะเลิกเป็นทุกข์ แล้วก็ไม่ได้กิน ยังไม่มีโอกาสจะได้กิน นี่คือเรื่องโลกุตตระ เรื่องที่รู้จักทำตนให้อยู่เหนือกรรมดีกรรมชั่ว
ฉะนั้นธรรมะทำไมกัน ธรรมะเพื่อจะให้เราอยู่เหนือดีเหนือชั่วในที่สุด ในชั้นสุดท้าย ในขั้นสูงสุด ความดีความชั่วบีบคั้นเราไม่ได้อีกต่อไป ว่างอย่างยิ่งชนิดนั้นแหละคือ นิพพาน นี่ธรรมะทำไมกันเป็นอย่างนี้
เราควรจะเห็นกันได้ทีว่า ธรรมะนี่มันมีประโยชน์อย่างนี้ เราจะเรียกธรรมะว่า ตามตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้นะ เราจะเรียกธรรมะว่า “เครื่องราง” เครื่องรางที่แท้จริงและสูงสุด ขอให้ทุกคนมีเครื่องราง อย่าสลัดทิ้งเครื่องราง แต่ให้มีเครื่องรางที่แท้จริงและสูงสุด คือธรรมะ ไม่ใช่อะไรที่มาแขวนคอเป็นพวง ๆ หรือแขวนอยู่รอบสะเอว หรือที่นั่นที่นี่ เครื่องรางอย่างนั้นมันไม่จริง มันสำหรับคนโง่ คนขี้ขลาด ถ้าคนฉลาดแล้ว คนกล้าหาญแล้วมันต้อง เครื่องรางที่แท้จริงคือธรรมะ
ก็ดูสิ มันทำลายให้สูญสิ้นไปได้แม้กระทั่งกรรมหรือผลกรรม ธรรมะนี่มันทำให้กรรมหมดอำนาจ หมดฤทธิ์หมดเดชไปเลย แล้วจะไม่เรียกว่าเครื่องรางอย่างไรได้ แล้วขจัดความทุกข์สารพัดเลย ไม่ว่าความทุกข์ชนิดไหน ฉะนั้นธรรมะคือเครื่องรางสูงสุด เมื่อเราตั้งปัญหาว่า ธรรมะทำไมกัน ธรรมะทำไมกัน ธรรมะเพื่อเป็นเครื่องรางสูงสุด คุ้มครองและทำลายอันตรายทุกข์ภัยทุกชนิดได้ นี่ธรรมะทำไมกัน
ฉะนั้นเมื่อเรามีธรรมะแล้ว มันก็มีเครื่องคุ้มครอง คือมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่กับเรา เพราะเรามีธรรมะ เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่กับเรา มีอะไรทุกอย่างอยู่กับเรา มีความสะอาด สว่าง สงบอยู่ในใจนั่นแหละคือมีธรรมะ แล้วนั่นแหละคือมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงอยู่ในใจกับเราด้วย
ฉะนั้นต่อไปนี้เราก็มีชีวิตชนิดที่อะไรๆ มาแตะต้องให้เราเป็นทุกข์ไม่ได้ ไม่มีอะไรมาทำให้เราสกปรกได้ ไม่มีอะไรมาทำให้เราเป็นทุกข์ได้ หรือไม่มีอะไรมาทำให้เราโง่ได้ มันไม่มีทางที่จะโง่อีกต่อไปแล้ว นี่ธรรมะทำไมกันมันก็เพราะเหตุนี้ เพื่อมีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง ธรรมะนี้ เพื่อมีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง พอปราศจากธรรมะแล้ว จิตใจมันเข้าไปอยู่ใต้สิ่งทั้งปวง โดยเฉพาะสิ่งที่ตัวรักตัวหลง มันจะมุดหัวเข้าไปอยู่ใต้สิ่งนั้นเลย ฉะนั้นจะมีกินมีใช้หรือกินอยู่อะไรก็ตามมันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ เพราะการบีบคั้นของกิเลส พอมีธรรมะแล้ว ก็คือไม่มีไอ้สิ่งที่เรียกว่ากิเลส มันอยู่พร้อมกันไม่ได้ ธรรมะกับกิเลสนี้ ทีนี้จิตใจก็อยู่เหนือ อยู่สูงเหนือสิ่งทั้งปวง
เราจะมีอะไรก็ได้ จะมีเงินสักเท่าไรก็ได้ มันไม่ทำให้เป็นทุกข์ หรือจะหาเงินก็ได้ มันก็ไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้ จะเก็บเงินไว้ก็ได้ หรือจะใช้เงินก็ได้ มันไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้ แต่ทีนี้ว่าถ้ามันไม่จำเป็นแล้วจะไปเหน็ดเหนื่อยกับมันทำไม ฉะนั้นก็แสวงหา มีไว้ใช้จ่ายบริโภคแต่เท่าที่มันเหมาะสมเท่านั้นแหละ มันไม่จำเป็น
คุณลองคิดดูเอา ถ้าเขาเอาเงินมาให้เต็มวัดนี้ แล้วผมจะทำอย่างไร จะเดินตรงไหน แล้วไม่มัวรื้อ ยก ขนย้ายกันอยู่เรื่อยเหรอ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ฉะนั้นเท่าที่มันจำเป็นจะใช้ จะอะไรที่ควรจะทำด้วยซ้ำไป เท่าที่มันควรจะทำ หรือควรจะมี ควรจะกิน ควรจะใช้ มันก็พอแล้ว
แต่สมมติว่าแม้ว่าจะมีมากมาย มาสักเท่าไรก็ตาม ธรรมะมันช่วยคุ้มครองให้ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น คือไม่ไป โดยจิตใจไม่ไปแตะต้อง ไม่ไปยึดถือ ไม่ไปหวงแหน ไม่ไปอะไรต่าง ๆ ธรรมะคุ้มครองไม่ให้เรามีความทุกข์ในการที่จะแสวงหา ในการที่จะได้มา ในการที่จะมีไว้ ในการที่จะบริโภคมัน เพราะว่าธรรมะนี้ ถ้าถึงที่สุดแล้ว มันทำให้จิตใจไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด จำไว้ด้วย ถ้ามีธรรมะจริงแล้ว จิตใจไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดว่าตัวกู ว่าของกู
เมื่อมีคนคนหนึ่งไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดสรุปให้สั้นประโยคเดียวจะว่าอย่างไร ได้ไหม จะว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ว่านี้ “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” สรุปอย่างนี้ สิ่งทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู เรียนธรรมะก็เรียนให้รู้ข้อนี้ ปฏิบัติธรรมะก็ปฏิบัติเพื่อให้ได้ข้อนี้ คือไม่ยึดมั่นถือมั่น ได้ผลของธรรมะมาก็เป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่น สบาย นี่เรียกว่า ธรรมะทำให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ฉะนั้นไม่มีอะไรมาสุมทับจิตใจของเราให้เป็นทุกข์ได้ ฉะนั้นในฐานะที่คุณเป็นพุทธบริษัทและได้บวชอย่างนี้ด้วยละก็ต้องระวังนะ อย่าทำห้าแต้ม อย่าทำขายหน้า คือต้องรู้จักหัวใจของพุทธศาสนาว่าอย่างนี้ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็พยายามที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา มรรคมีองค์ ๘ หรืออะไรก็ตามนี้ ปฏิบัติเพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น ก็ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วมันไม่ขาดศีล มันไม่เสียสมาธิ มันไม่โง่ ฉะนั้นเมื่อเขาเป็นพระอรหันต์แล้ว มันก็ไม่ต้องปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาอะไรอีก เพราะพระอรหันต์ไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาอยู่ในความไม่ยึดมั่นถือมั่น
ทีนี้เรายังยึดมั่นถือมั่น ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ยึดมั่นถือมั่นนั้นก็ไม่มีอะไรหรอกนอกจากว่าตัวกู ว่าของกู ไม่ใช่ยึดด้วยมือ แต่ยึดด้วยความโง่ ด้วยจิตที่โง่ ยึดว่าตัวกู ยึดว่าของกู
ฉะนั้นเราต้องเป็นอยู่ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น พยายามเป็นอยู่ด้วยจิตที่ว่าง คือไม่ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้า แล้วเต็มอยู่ด้วยปัญญา พอไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้า มันเต็มอยู่ด้วยความโง่ พอไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร มันเต็มอยู่ด้วยปัญญา ฉะนั้นเราจงทำงาน จงรับผลงาน จงกินอาหาร จงอะไรก็ตาม ด้วยจิตที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ที่เรียกว่าทำงานด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่าง กินอาหารของความว่าง ตัวเราไม่มีมาแล้วตั้งแต่หัวที ตั้งแต่ทีแรก เพราะมันไม่ถืออะไรว่าเป็นตัวกูของกู
เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามจัดไอ้สวนโมกข์นี่ให้อยู่ในลักษณะที่ส่งเสริมความไม่ยึดมั่นถือมั่น กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว คือไม่มีตัวเราที่จะเอาผลงาน นี่ ให้มาชิมกันดูบ้าง แม้มาอยู่ที่นี่ ๒ – ๓ วันก็เถอะ ควรพยายามเข้าให้ถึง Spirit ของสวนโมกข์ คือกินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว ทำงานไม่ต้องมีใครขอบใจนี่ เพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น เป็นพุทธบริษัทได้ก็เพราะมีข้อนี้แหละ ถ้าไม่มีข้อนี้ก็หมดความเป็นพุทธบริษัท ขายหน้าพวกคริสเตียน
ในเทปที่ฟังครั้งหนึ่งคงจะได้ยินได้ฟังถึงไอ้ที่ผมอ้างตัวอย่างในไบเบิลของพวกคริสเตียนมาเปรียบเทียบ ที่เขาประมวลคำสอนของพระเยซู สอนชาวบ้านหมู่หนึ่งที่เรียกว่า ชาวบ้าน Corinthians ว่า มีภรรยาก็จงมีหัวใจเหมือนกับไม่มีภรรยา หรือมีสามีก็เหมือนกัน จงมีหัวใจเหมือนกับไม่มีสามี แต่เขาไม่ได้เขียน เขาคงจะพูดกับผู้ชายล้วนๆ ประโยคนั้น มีทรัพย์สมบัติก็จงมีหัวใจเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ มีความสุขก็จงมีหัวใจเหมือนกับไม่มีความสุข มีความทุกข์ก็มีหัวใจเหมือนกับไม่มีความทุกข์ ไปซื้อของที่ตลาด ไม่เอาอะไรมา ตามตัวหนังสือมันว่าอย่างนี้
นั่นล่ะมันคือลักษณะของความเป็นพระอรหันต์นะ ที่พูดอย่างนั้นน่ะมันคือสภาพของความเป็นพระอรหันต์ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ แต่เขารู้เรื่องนี้ แล้วก็พยายามสอนกันอย่างนี้ มีอะไรก็มีไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีธรรมดาธรรมชาติที่ต้องมี มีบ้าน มีเรือน มีลูก มีหลาน มีเงิน มีของ ก็มี กินใช้ไปตามธรรมชาติ แต่หัวใจอย่าสำคัญมั่นหมายว่า ของกู
นี่ มีก็เหมือนกับไม่มีอย่างนี้ ความทุกข์เกิดขึ้นก็ให้เหมือนกับไม่ได้มีความทุกข์เกิดขึ้น เพราะไม่มีตัวกู ความสุขเกิดขึ้นก็เหมือนกับไม่ได้เกิดขึ้น เพราะไม่มีตัวกู ไปซื้อของที่ตลาด หิ้วของมาบ้าน กินเข้าไป ก็ว่าไม่ได้เอาอะไรมา เพราะตลอดเวลาไม่เคยนึกว่าของนี้ของกู ของที่หิ้วมาแล้วกินเข้าไปนั่นไม่เคยนึกว่าของกู แล้วพวกคริสเตียนเขาเก่งที่เขาสอนกันจนจิตใจมันถือว่าทุกอย่างนั้นของพระเจ้าหมด ไม่มีของกู แม้แต่ชีวิตก็ของพระเจ้า สตางค์ก็ของพระเจ้า ของที่ซื้อมาก็ของพระเจ้า กินเข้าไปก็ไม่ใช่กูกิน เพราะว่าตัวกูไม่ได้มี นี่จึงพูดว่าซื้อของที่ตลาด ก็มิได้เอาอะไรมา นี่คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น
นี่ถ้าพวกคริสเตียนทำได้อย่างนั้น แล้วชาวพุทธมัวแต่โง่ ตัวกูของกูอยู่เสมอแล้วก็แย่เลย มันขายหน้าพวกคริสเตียนที่มีคำสอนชนิดที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องมีความรู้ที่ถูกต้องในหัวใจของพุทธศาสนาเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วพยายามที่จะมีจิตชนิดนั้นอยู่เสมอไป
นั่งทำงานอยู่ที่ออฟฟิศอย่างนี้ ต้องทำงานเพื่องาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไอ้ความรู้สึกที่เป็นเรื่องตัวกูอย่าได้มี มันไม่มีประโยชน์ที่จะไปกลัวว่าจะทำผิด แล้วกระสับกระส่ายอยู่ มันไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นสำรวมสมาธิ ทำงานให้ดีที่สุด ทำงานให้มันดีที่สุด รู้แต่ว่าทำงานให้ดีที่สุดเท่านั้นหละ ไม่มีคำนึงถึงได้ถึงเสีย ถึงตัวกูของกู นายจะว่า นายจะสรรเสริญ ไม่มีนึกถึงหมด
ยกตัวอย่างให้ฟังอีกหลาย ๆ อย่าง คุณก็เคยฟังจากเทปแล้ว ว่าเมื่อสอบไล่นี่ เมื่อมันจะต้องสอบไล่แล้วก็ ก็รู้กันแล้วว่ามันจะต้องสอบไล่ แล้วก็ลืมหมดเรื่องได้เรื่องตก ลืมหมด เหลือแต่ทำหน้าที่ในเวลานั้นเพื่อหน้าที่ให้ดี่สุดเท่านั้น ทีนี้ใจคอมันก็สบายก็ทำได้ดี ถ้าไปมัวห่วงตัวกูอยู่ ใจมันกระสับกระส่าย กลัวตก หรือว่าลิงโลดว่าจะได้ มันก็มีทางที่จะเลวลง แล้วก็เสียหาย
ฉะนั้นไม่ว่าเราจะยิงปืนออกไปให้ถูกเป้าหมาย อย่าไปนึกถึงตัวกูของกูว่าจะยิงผิดยิงถูก เขาจะสรรเสริญเมื่อยิงถูก เขาจะหัวเราะเมื่อยิ่งผิด ไม่รู้ไม่ชี้ ๆ ตัวเองก็ลืมเสีย เหลือแต่จิตใจที่เป็นสมาธิที่จะเล็งให้มันถูกเป้าเท่านั้นเอง แล้วมันก็ถูก
แม้ที่สุดแต่ว่าจะเล่นหมากรุกกันเดี๋ยวนี้ ก็เล่นกันด้วยจิตที่ปราศจากตัวกูของกูเสมอ มันจึงจะฉลาดร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่อย่างนั้นมันกระสับกระส่าย เช่น กลัวแพ้ อยากชนะ กลัวแพ้ ทีนี้คนที่เล่นหมากรุกบางคนถ้ามีใครมายืนดูอยู่ข้าง ๆ ด้วย ฉิบหายเลย คนนั้นเล่นไม่เป็นก็มี เล่นไม่ดีเลย เพราะเขาประหม่าว่ามีคนมายืนอยู่ข้าง ๆ คอยดูอยู่ นั่นแหละคือตัวกูของกูหละ เขารู้สึกว่าไอ้นี่มันจะหัวเราะเยาะกู หรือมันจะอะไรกูเนี่ย มันมีตัวกูอยู่เรื่อย
เอาล่ะ บางทีพวกคุณเหล่านี้จะเขียนหนังสือ เขียนภาพ เขียนอะไรให้ดีนี่ ถ้ามีใครมายืนดูอยู่ด้วย ทำไม่ได้ดี นี่เพราะผลของตัวกูของกู แต่ถ้าเราปัดมันทิ้งออกไปเสียได้ มันเหลือแต่หน้าที่เพื่อหน้าที่ งานเพื่องาน ไม่คำนึงว่าใครมายืนดู แล้วมันก็ทำได้ ทำได้ดีเหมือนกัน
นี่ตัวอย่างเยอะแยะไปหมดเลยที่ว่าต้องทำด้วยจิตที่ปราศจากตัวกูของกู งานนั้นจึงจะดี นี่คือหัวใจของพุทธศาสนา คือธรรมะที่มีประโยชน์นับตั้งแต่จะทำอะไรสักนิดหนึ่ง จนถึงทำใหญ่หลวง
คือเรื่องทำมาหากิน ชาวนาจะต้องทำนาด้วยจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อรู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ตามหน้าที่แล้วก็พอใจ ไม่กระสับกระส่ายเรื่องเหน็ดเหนื่อย เรื่องแดด เรื่องลม เรื่องอะไรต่าง ๆ ฉะนั้นขุดดินสบายใจไปเลย พอตัวกูของกูเข้ามามันก็แย่แล้ว เป็นทุกข์ทรมาน เป็นนรกที่ตรงนั้น มันรู้สึกว่าเราจน เราไม่มีบุญ ไม่มีวาสนา ต้องมาขุดดินอยู่ มันจะได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ บางทีก็ไม่ได้ มันเสียหายหมดเลยนี่ มันเป็นทุกข์ทรมาน เป็นนรกอยู่ที่นั่น ฉะนั้นถ้ามันไม่ยึดถือ มันว่างจากตัวกูของกู มันรู้สึกสนุกเมื่อทำงานตามหน้าที่ นี่คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนา
ว่าเอาธรรมะทำไมกันโว้ย เพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นและเป็นสุขที่สุด เพราะ อัสมิมานัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง โอวาทปาติโมกข์ หัวใจของคำสอนในพุทธศาสนาว่า ให้นำอัสมิมานะ คือตัวกูของกูนี่ออกเสียได้ เป็นสุขอย่างยิ่งโว้ย ท้าทายอย่างนี้เลย พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยประการต่าง ๆ โดยนัยยะต่าง ๆ หลาย ๆ ๆ ปริยาย ครบทุกปริยาย สำหรับมนุษย์จะฟังและจะปฏิบัติ เป็นระดับ ๆ ไป เป็นพวก ๆ ไป ให้ทุกคนปฏิบัติได้
เมื่อมีฆราวาสไปทูลถามว่า ธรรมะไหนมีประโยชน์แก่ฆราวาส จงแสดง พระพุทธเจ้าก็ว่า “สุญญตา” หรือเรื่องที่เนื่องด้วยสุญญตา คือว่างจากตัวกู เขาว่าไม่ไหว ยากนัก ถ้าอย่างนั้นก็ปฏิบัติ มั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในศีล เขาก็ปฏิบัติอยู่แล้ว มันก็เลยไม่มีอะไรที่จะช่วยได้นอกจากเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่างจากตัวกูของกู เพราะว่าถ้าเขามั่นคงในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ จริงนั่นเขาลืมตัวกูนะ คุณต้องนึกให้ดีนะ ถ้าคนนี้มันมีศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันจะลืมตัวกูอยู่ตลอดเวลา มันไปเห็นแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ตลอดเวลา มันลืมตัวกูได้
ถ้าเขามีศีลบริสุทธิ์จริง เขาก็มีความไม่เห็นแก่ตัวมากพอที่จะทำให้ศีลบริสุทธิ์ได้ ฆ่าเขาก็เห็นแก่ตัว ลักเขา เห็นแก่ตัว ล่วงละเมิดของรักเขา เห็นแก่ตัว โกหกก็เห็นแก่ตัว ดื่มน้ำเมา เห็นแก่ตัว ถ้ามันเผอิญมันไม่ทำสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว หรือถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัว มันก็ทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงดักคอไว้ว่า เอ้า, มีศรัทธาแน่นแฟ้นแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็มีศีลชั้นดี มันก็คือเรื่องเดียวกัน แต่เป็นการลดลงมาดักอยู่ข้างหน้า อย่าให้เกิดความเห็นแก่ตัวได้
ทีนี้ไอ้ความไม่เห็นแก่ตัวนี่คือยอดสุดของธรรมะ ทุกศาสนาก็สอน แต่สอนอยู่ในรูปต่าง ๆ ฉะนั้นจึงขอร้องคุณทุกองค์ว่าอย่าไปดูถูกศาสนาอื่น แม้แต่ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เพราะหัวใจของศาสนาทุกศาสนาสอนเรื่องทำลายความเห็นแก่ตัวทั้งนั้นแหละ แม้สมมุติว่าบางทีเขาจะถือดาบมาบังคับให้คนถือศาสนานี่ ก็เพื่อให้เขาปฏิบัติเพื่อความไม่เห็นแก่ตัว ไอ้นั่นมันเรื่องข้างนอก เรื่องเปลือก แต่เรื่องข้างในคือว่า ต้องไม่เห็นแก่ตัว ทุกศาสนา ไปดู ไปศึกษาดู จะพบวิธีที่จะทำให้ฉลาดจนไม่เห็นแก่ตัว
ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนา ไม่ต้องไปตำหนิศาสนาอื่น ไม่ต้องไปยกหูชูหางตัวเอง ทุกศาสนามันสอนความไม่เห็นแก่ตัวทั้งนั้น นั่นแหละคือยอดสุดของธรรมะ เพราะว่ามันไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัวนี่ มันไม่เบียดเบียนเราเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วย พอเห็นแก่ตัว มันเบียดเบียนตัวเองให้ร้อนเป็นนรก แล้วก็พลอยเบียดเบียนผู้อื่นให้ร้อนเป็นนรกไปด้วย
ฉะนั้นความเห็นแก่ตัวนี่ คุณต้องแยกไว้ ๒ แขนง เห็นแก่ตัวจนตัวเองเดือดร้อน เป็นนรกอยู่คนเดียว นี่อย่างหนึ่ง และเห็นแก่ตัวไปทำผู้อื่นพลอยเดือดร้อนด้วย นี่อีกเรื่องหนึ่ง พอไม่เห็นแก่ตัว ไอ้ของสองอย่างนี้ไม่มี ฉะนั้นธรรมะนี้คือความเยือกเย็นเป็นสุข และสวยงามที่สุด เอร็ดอร่อยที่สุด สะอาดที่สุด คือธรรมะนี้
ทีนี้ผมถือว่าไอ้ธรรมะนี้คือตัวมหรสพทางวิญญาณ ธรรมะที่แท้นั้นคือมหรสพทางวิญญาณ ไอ้สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดนี้คือ โรงมหรสพ เพราะฉะนั้นไอ้ตึกหลังนี้มันเป็นเพียงโรงมหรสพกระผีกเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด ทางวัด ทางโลกนี่ จากธรรมชาติที่มันจะช่วยสอนให้รู้ธรรมะนี่ คือโรงมหรสพ
เราพยายามจัดสถานที่ทั้งสวนโมกข์นี่ให้มันช่วยแวดล้อมจิตใจคน ว่าพอเข้ามาสู่บริเวณนี้แล้วจะลืมความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นถ้าคุณเข้ามาในนี้แล้วรู้สึกสบายนั้น คุณศึกษาดูให้ดี ๆ ความสบายนั้นเกิดขึ้นเพราะว่าความลืมตัวเอง ลืมว่ามีตัวอยู่ และลืมเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นสบาย
ฉะนั้นทุกคน ผู้หญิงผู้ชาย เด็ก ๆ ขณะที่วิ่งเข้ามาในเขตนี้ ถ้ามันรู้สึกสบายก็หมายความว่าตอนนั้นมันลืมตัวเอง ลืมตัวกู ลืมของกู ลืมชีวิต ลืมความเป็นห่วงในชีวิต มันเลยสบายหมด จะไปที่ทะเล ที่ภูเขา ที่อื่นที่ไหนก็เหมือนกันถ้าไอ้สภาพนั้นมันช่วยแวดล้อมให้ลืมตัวเอง ลืมตัวกู ลืมของกู แล้วมันรู้สึกสบาย แต่ถ้ามันไปสร้างเรื่องตัวกูของกูอะไรขึ้น แม้ที่บางแสน หรือแม้ที่ชายทะเลไหนก็ตาม มันก็เป็นนรกที่นั่นขึ้นมาทันทีเหมือนกัน แม้ที่นี่ลองเอาเรื่องตัวกูของกูเข้ามาใส่ในจิตใจ มันก็เป็นนรกทันทีเหมือนกัน หรือร้อนทันทีเหมือนกัน แต่เราพยายามจัดสิ่งไอ้ต่าง ๆ นี้ให้มันส่งเสริมไปแต่ในทางที่จะไม่เกิดตัวกูของกู เพื่อคนเข้ามาโดยไม่รู้สึกตัวมันก็เย็น รู้สึกสบาย
ทีนี้ถ้าเขาไม่โง่ เขาก็ศึกษาต่อไปว่าทำไมจึงสบาย เดี๋ยวก็พบว่า อ้าว, ก็ที่นี่ไม่มีอะไรเป็นของเรา เราไม่รู้สึกว่าอะไรเป็นตัวเรา เราลืมไป เราไม่รู้สึกอะไรเป็นของเรา เป็นของธรรมชาติ หรือเป็นของอะไรไป เราจึงรู้สึกสบาย ฉะนั้นให้ถือเป็นสูตรสำคัญที่สุดสั้น ๆ ว่า “คนเราจะเป็นสุขที่สุดเฉพาะเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไร หรือเป็นอะไร” ผมท้าให้คุณเอาไปคิด ไปพิสูจน์ว่าคนเราจะมีความรู้สึกเป็นสุขที่สุด เฉพาะเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรหรือเป็นอะไรที่เป็นตัวกูของกู
ความสุขที่สุดเกิดขึ้นต่อเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรหรือเป็นอะไร เราลืมชีวิต ลืมอะไรหมดเลย ตอนนั้นจิตเป็นสุขที่สุดและฉลาดที่สุดด้วย คิดนึกอะไรในเวลานั้นฉลาดที่สุด ถูกต้องที่สุด ว่องไวที่สุด คือจิตมันโปร่ง จิตมันว่าง
ที่นี่ ผมบอกเขาว่า ก้อนหินก็พูดได้ ต้นไม้ก็พูดได้ ตั้งใจฟังให้ดี ๆ ก้อนหินก็พูดได้ ต้นไม้ก็พูดได้ เพราะว่าเราพยายามจัดก้อนหิน จัดต้นไม้ต่าง ๆ ไว้ในสภาพที่จะแวดล้อมให้คนหยุดมีตัวกูของกู เช่นว่าวิวนี้เย็นตาเย็นใจ จับตาจับใจนี่มันทำให้ลืมตัวเอง ลืมชีวิต ลืมตัวกู ลืมของกู มันเลยค่อยเย็น ค่อยสบายไปตามก้อนหิน ตามต้นไม้ นี่เราถือว่าต้นไม้พูดได้ ก้อนหินพูดได้ เพราะว่าถ้าเราไม่เข้ามาในบริเวณนี้ ความรู้สึกอันนี้ไม่เกิด ความรู้สึกอันนี้เกิดเฉพาะเมื่อเข้ามาในบริเวณนี้ ซึ่งมีก้อนหิน มีต้นไม้อะไรทำนองนี้ มีธรรมชาติอย่างนี้ เมื่อจะพูดเป็นเชิงล้อ หรือเป็นคำสอน หรือเป็นปริศนา หรือเป็นอะไรต่าง ๆ ว่า ต้นไม้พูดได้ ก้อนหินพูดได้ นี่คือความมุ่งหมายของสวนโมกข์ ที่จะจัดมันให้เป็นโรงมหรสพทางวิญญาณ
ส่วนตัวมหรสพเองนั้นคือตัวธรรมะ ตัวธรรมะที่จะปรากฏเพราะการนั่งนอนที่นี่ หรือทำอย่างไรก็ตาม ตัวธรรมะแท้ ๆ เป็นตัวมหรสพ นอกนั้นเป็นโรง โรงคือเครื่องมือ เราอาศัยธรรมชาติอันสงบสงัดของต้นไม้ ของก้อนหิน ของภูเขา ของอะไรก็ตามนี้ เป็นเครื่องมือดึงดูดจิตใจให้ลืมตัวกูของกู ลืมความยึดมั่นถือมั่นไปครู่หนึ่งยามหนึ่งก็ยังดี เพราะว่าอาจจะถือว่าเป็นโรงมหรสพได้ ให้ความสุขใจได้ ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นมหรสพทางวิญญาณ คือธรรมะ
ถ้ามหรสพทางเนื้อหนังก็ต้องไปเอาที่ตลาด ที่กรุงเทพฯ จึงเยอะแยะไปหมด เดี๋ยวนี้จะเต็มไปทั้งกรุงเทพฯ แล้ว มหรสพทางเนื้อหนังจะล้นกรุงเทพฯ อยู่แล้ว นี่เรียกว่ามหรสพทางเนื้อหนัง ทีนี้มหรสพทางวิญญาณ เราต้องช่วยกัน ช่วยกันจัด ช่วยกันทำ ช่วยกันทำให้มันสะดวก ให้มันพอมีบ้าง เพราะฉะนั้นจัดสถานที่ชนิดนี้ขึ้นที่ไหน ก็เหมือนกับจัดโรงมหรสพทางวิญญาณขึ้นที่นั่น เป็นแขนงเพื่อความสงบเย็น
ทีนี้ไอ้แขนงที่เป็นไปเพื่อวิชาความรู้ เช่น ในตึกนั้น มันก็ประมวลเอารูปภาพ หรืออะไรต่าง ๆ ที่มีความหมายอย่างนี้เข้าไปใส่ไว้ ไปดูให้เข้าใจสิ ก็จะเกิดความรู้ ความสว่าง แล้วในที่สุดก็มีความสงบเย็นอีกเหมือนกัน
แต่ทีนี้เราจะเอาความสงบเย็นก่อน เอาอย่างนี้กันก่อน พอเดินเข้ามานั่งที่นี่ก็เย็น เป็นมหรสพในแง่ที่เป็นความสงบเย็น มีจิตใจสะอาดด้วย ถ้าเป็นความรู้ เป็นความสว่าง มันก็ไปหาไอ้พวกที่มันให้ความรู้ความสว่าง แต่ที่จริงถ้ามันสงบเย็นอยู่แล้วก็ถือว่าเป็นความสว่างได้แล้ว เพราะว่าถ้ามันสงบเย็นอยู่แล้วจะเอาอะไรกันอีก มันพอแล้ว ความสว่างก็ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว มันมีเพื่อความสงบเย็นเท่านั้น
นี่เราเรียกว่า มหรสพทางวิญญาณ ฉะนั้นคุณก็มาในโรงมหรสพทางวิญญาณ และคุณจะถือว่าได้กี่มากน้อยนั้นก็ตามใจ ผมไม่รับรอง มีหน้าที่แต่เพียงจัดไว้ให้สะดวกสะอาดแก่ผู้ที่จะเข้าถึงธรรมชาติ ฟังก้อนหินพูด ฟังต้นไม้พูด เกิดความว่างจากตัวกูของกูไปสักขณะหนึ่ง แล้วก็มีจิตใจเยือกเย็นเป็นมหรสพทางวิญญาณ
บางคนก็ได้ น้อยคนจะได้ เพราะเขามาอย่างทัศนาจร ธรรมดาเสียเป็นส่วนมาก แล้วบางคนก็ไม่ได้อะไรเลย มาเห็นเข้าก็ “โอ้ นี่บ้า ๆ บอ ๆ อะไรกัน ไม่เห็นมีอะไร” มาดู ๕ นาทีกลับเลยก็มี บางคน แต่ว่าก็มีเหมือนกัน ส่วนมากก็ชอบไอ้ความเยือกเย็นแบบนี้ มาแล้วมาอีก แต่ก็ไม่ได้สติปัญญาอะไรมากนัก เพราะเขาไม่มานั่งฟังก้อนหินพูด ไม่มาฟังต้นไม้พูด มดแมลงพูด หรือเขาไม่เข้าไปดูไอ้ภาพในตึกนั้นด้วยความสนใจ เพราะมันดูยาก ภาพแต่ละภาพนั้นมันต้อง ต้องไปนั่งดูจนรู้ว่าภาพอะไร บางทีดูไม่ออก เส้นยุ่ง ๆ ไม่รู้ว่าภาพอะไร ดูให้รู้ว่าภาพอะไร ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ ดูให้รู้มันมีความหมายอย่างไร และข้อที่ ๓ ดูให้ออกว่ามันกำลังด่าผู้ดูอย่างไร นี่ คุณรู้สึกอย่างนี้รึเปล่า ถ้าที่คุณเข้าไปดูแล้วไม่รู้สึกว่ามันด่าแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่เป็นมหรสพทางวิญญาณขึ้นมาเลย
มันต้องดูว่าภาพอะไรก่อน มีความหมายอย่างไร แล้วมันด่ากูอย่างไร แล้วสะดุ้ง แล้วหวาดเสียว แล้วละอาย แล้วเบื่อหน่าย แล้วคลายกำหนัด ฉะนั้นต้องเอาเก้าอี้ตัวหนึ่ง แล้วไปนั่งที่ภาพใดภาพหนึ่ง แล้วดูอยู่ตั้งชั่วโมง จึงจะได้ผลอย่างนี้ อย่างน้อยก็ต้องอ่านคำอธิบายใต้ภาพ ถ้าเป็นภาพชั้นลึก ชั้นสำคัญ เราเขียนคำกลอนอธิบายไว้ใต้ภาพทั้งนั้นแหละ ด้านทิศยาว ตะวันตกนั่นแหละ ใต้ภาพมีคำกลอนอยู่กลุ่มหนึ่ง กว่าจะเข้าใจคำกลอนนั้น รู้ความหมายของภาพ แล้วจึงย้อนมาดู อ้าว, มันก็คือเราเองล่ะโว้ย อย่างนี้เรียกว่าไอ้ภาพนั้นมันด่า ด่าผู้ดู ล้อผู้ดู สอนผู้ดูอะไรไปเสร็จในที นี่คือมหรสพทางวิญญาณ
มันขลุกขลักสักหน่อย แต่ว่ามันมีผลดีมาก เพื่อความสะอาด เพื่อความสว่าง เพื่อความสงบแห่งจิตใจ เราเรียกว่า โรงมหรสพทางวิญญาณ หรือว่า กิจกรรมมหรสพทางวิญญาณ แต่ตัวมหรสพแท้ ๆ คือ พระธรรม พระธรรมจะอยู่ทั่วไปในสากลจักรวาล ไอ้นี่มันกิจการมหรสพทางวิญญาณ ช่วยให้ความสะดวกในการที่จะมีมหรสพทางวิญญาณ คือพระธรรม
ฉะนั้นการที่จะมาดูมันเพียงวันสองวันนี้ก็คงจะยากเหมือนกันหละที่จะเห็น แต่ก็ดูพอเป็นนิสัยปัจจัยก็ได้ อันนี้คือธรรมะทำไมกัน
ถ้าธรรมะเรื่องเรียน ก็เรียนเพื่อให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าธรรมะเรื่องปฏิบัติ ก็ปฏิบัติเพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น ธรรมะที่เป็นผลของการปฏิบัติก็คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่เป็นปกติแล้ว ธรรมะนั้น อย่างนั้นล่ะคือความสุขที่สุด ประเสริฐที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ คือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
ทีนี้สวนโมกข์ก็คือป่าไม้ที่เป็นอุปกรณ์หรือเป็นกำลังเพื่อกิจการนี้ โมกขะ แปลว่า รอดพ้นออกไปได้ พละ แปลว่า กำลัง อาราม แปลว่า ป่าไม้ ป่าไม้ที่เป็นกำลังเพื่อความรอดพ้น ทีนี้ทั้งหมดนี้มันรวมทั้งป่าไม้ รวมทั้งไอ้สระน้ำ มันรวมทั้งตึก รวมทั้งอะไรทุก ๆ อย่าง แม้แต่สระที่ตรงนั้นน่ะมันก็คือสัญลักษณ์แห่งนิพพาน อุตส่าห์จัดให้มันมีขึ้นในบริเวณนี้ เป็นอุปกรณ์อันหนึ่งของมหรสพทางวิญญาณ สอนให้รู้ว่า นิพพานมีอยู่ในท่ามกลางสังสารวัฏ ความทุกข์มีที่ไหน ก็ต้องมีความดับทุกข์ที่นั่น เพราะมันต้องดับทุกข์ ที่ความทุกข์ ไปดับที่อื่นไม่มี ฉะนั้นความเย็นต้องมีที่ความร้อน คือดับความร้อนเสีย แล้วมันก็เย็นที่ตรงนั้น
นี่เป็นบทกล่อมเด็กให้นอนของชาวบ้าน ซึ่งเข้าใจว่าพันกว่าปีมาแล้ว คือในสมัยที่ดินแดนแถบนี้เป็นอาณาจักรศรีวิชัย รุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา จนผู้มีปัญญาครูบาอาจารย์แต่งบทกล่อมลูกให้นอน มีใจความว่า “มะพร้าวนาฬิเก ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ”
ที่นั่นจะถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ เหมือนที่เราพูดเมื่อตะกี้มันต้องเหนือบุญเหนือบาปด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้ามัวบุญ มัวบาป มัวดี มัวชั่วอยู่เป็นทะเลขี้ผึ้งอยู่เรื่อย ทะเลขี้ผึ้ง อุณหภูมิอย่างหนึ่งเป็นของเหลว อุณหภูมิอย่างหนึ่งเป็นของแข็ง นี่เรียกว่าขี้ผึ้ง
ชีวิตคนเรานี่ ในแง่นี้เป็นบุญ ในแง่นี้เป็นบาป แล้วแต่มันจะกระทำอย่างไรลงไป กระทำลงไปอย่างนี้มันก็เป็นบาปขึ้นมา กระทำอย่างนี้มันก็ไปเป็นบุญขึ้นมา หรือชีวิตนั่นเอง เหมือนกับขี้ผึ้ง แล้วแต่อุณหภูมิ อุณหภูมินี้เป็นของเหลว อุณหภูมินี้เป็นของแข็ง มันก็ไม่ต่างกัน ไอ้ของเหลวหรือของแข็ง หรือบุญหรือบาปนี้มันก็ไม่ไหวทั้งนั้น ต้องเหนือบุญเหนือบาป ฉะนั้นจึงว่า “ให้ออกไปให้พ้นบุญ”
ฉะนั้นถ้าคุณดูเป็น คุณไปนั่งที่ริมสระ ทำไอ้ความคำนึงคำนวณตามแนวนี้แล้วก็จะรู้ความหมายของนิพพาน นี่ที่พูดนี้ก็เพียงจะเพื่อเป็นตัวอย่างว่า อะไร ๆ ที่เราจะประดิดประดอย สร้างสรรค์ขึ้นมาในเขตนี้ เพื่อสอนธรรมะทั้งนั้น เพื่อเป็นอุปกรณ์แก่มหรสพทางวิญญาณทั้งนั้น แม้แต่สระอันนั้น
นี่รู้จักสวนโมกข์ในลักษณะอย่างนี้ คือรู้จักว่ามันเป็นอุปกรณ์แห่งมหรสพทางวิญญาณอย่างนี้ ก็พยายามถือเอาให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตามที่มีเวลาวันหนึ่ง สองวัน สามวัน ก็แล้วแต่ นี่ผมพูด “นำเที่ยวสวนโมกข์” ก็คือ นำเที่ยวในพระธรรม ซึ่งเป็นมหรสพทางวิญญาณ
เหนื่อยแล้ว หยุดที