แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภอภิลักขิตสมัยวันขึ้นปีใหม่ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้ว ในโอกาสเช่นนี้พุทธบริษัทย่อมถือเป็นโอกาสที่จะบำเพ็ญสิ่งซึ่งควรบำเพ็ญให้ถูกต้องกัน ไม่ว่าจะเป็นวันนี้หรือวันอื่น วันนี้เป็นวันปีใหม่ ถือกันทั่วไปว่าเปลี่ยนใหม่ในระยะปีหนึ่ง พวกที่สนใจในเรื่องสนุกสนานตามแบบฉบับของปีใหม่ก็กระทำไปในลักษณะเช่นนั้น เช่นไปเที่ยว หรือการเลี้ยงดู หรือการแจกของขวัญ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ดูเป็นการกระทำที่กระทำกันจริงๆ จังๆ อยู่ไม่น้อยเลย แต่สำหรับพุทธบริษัทอีกพวกหนึ่งก็นิยมสิ่งที่เรียกว่าบุญ แม้สิ่งที่เรียกว่าบุญนั้นก็ยังมีอยู่หลายแบบ จึงได้ทำบุญเนื่องในวันปีใหม่ต่างๆกัน ทำบุญอายุก็มี เลี้ยงพระก็มี ปล่อยสัตว์ก็มี แจกของก็มี แล้วแต่จะชอบใจอย่างไร รวมความว่า คำว่าปีใหม่มีความหมายสำหรับคนสมัยนี้ หรือจะกล่าวอีกทีหนึ่งก็ว่า มีความหมายสำหรับคน ชนิดที่ไม่มีความหมายสำหรับสัตว์ ที่เป็นดังนี้ก็เพราะเหตุว่าคนรู้จักคิดรู้จักนึก รู้จักสร้างความหมายขึ้นมาตามภาษาคน คนจึงได้มีเรื่องมาก เช่นเรื่องปีใหม่นี้เป็นต้น การมีเรื่องมากนั้นต้องลำบากมากเป็นธรรมดา ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ได้รับผลอะไรคุ้มกันกับความลำบากนั้น ถ้าไม่มีอะไรคุ้มกัน ความหมายของคำว่าปีใหม่ก็คงจะเป็นไปในทำนองว่ามีความโง่มากกว่าปีเก่า นั่นแหละเป็นข้อที่จะต้องระวังให้ดีๆ อย่าให้ปีใหม่กลายเป็นปีสำหรับโง่กว่าปีเก่าเพราะมันมีอะไรมากแล้วไม่ได้ผลคุ้มกัน
ก่อนนี้ปีใหม่ก็ไม่มีอะไรมาก หรือพวกเด็กๆ ก็ไม่ค่อยมีอะไรมาก แต่พอโตขึ้นมา โตขึ้นมาก็มีเรื่องอะไรมาก เช่นต้องใช้จ่ายเกี่ยวกับปีใหม่นี้มากเป็นต้น ถ้าไม่ต้องนึกถึงว่าสิ่งที่กระทำลงไปนี้มีผลคุ้มกันหรือไม่นั่นเอง สำหรับเรื่องทางวัตถุนั้นก็ยิ่งมีปัญหามาก เพราะว่าได้ใช้จ่ายเป็นวัตถุออกไป ส่วนเรื่องทางการกระทำหรือทางจิตทางใจนี้แม้จะไม่ต้องใช้วัตถุสละออกไปก็ยังเสียเวลา แต่ยังมีปัญหาว่าจะทำจิตใจเกี่ยวกับปีใหม่นี้ให้ถูกต้องหรือไม่อีกนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะฉะนั้นเราจะต้องพิจารณาดูความหมายของคำว่าปีใหม่กันให้ละเอียดลออเป็นพิเศษจริงๆ
คำว่าปีใหม่นี้ ใจความสำคัญมันก็อยู่ที่ว่าเวลาล่วงไป ครบที่บัญญัติกันไว้ว่าหนึ่งปี คนที่เข้าใจว่าเวลาล่วงไปๆ นี้ ก็ยังดีกว่าคนที่จะไม่สนใจเอาเสียเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังจะต้องนึกดูให้ดีว่าเวลาล่วงไปๆนี้มันน่ากลัวหรือว่าน่าสนุก ถ้าใครรู้สึกว่าเวลาล่วงไปๆ นี้น่ากลัวก็แปลว่าคนนั้นยังเป็นคนธรรมดาอยู่มาก ถ้าใครมองเห็นไปในแง่ที่น่าสนุกโดยเหตุที่ว่าเราไม่มีอะไรผูกพันกับเวลาหรือว่าสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับเวลานั้นไม่ได้ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวลแล้ว มันก็น่าสนุก เพราะมันก็ล่วงไปๆ ในลักษณะที่น่าหัวเราะ ไม่เห็นน่ากลัวที่ตรงไหน นี่แหละเรื่องเกี่ยวกับเวลามันทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นเป็นความน่ากลัวหรือน่าสนุกอย่างนี้ก็ได้ แล้วจะได้พิจารณากันดูให้ดีๆ
ในข้อแรกนี้จะดูกันถึงคำว่าเวลาสักหน่อย สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้น เข้าใจว่าไม่มีคนรู้จักมันสักกี่คนนัก เพราะว่าไปรู้จักแต่เครื่องกำหนดเวลาเสียมากกว่า ลองตั้งใจคิดดูให้ดีๆ ในข้อนี้ที่ว่าคนไม่ค่อยรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเวลากันนักสักกี่คน แต่ไปรู้จักสิ่งที่มีไว้สำหรับเป็นเครื่องกำหนดเวลานั้นมากกว่า เช่นพูดว่าเวลาหนึ่งปี หนึ่งเดือน หนึ่งวัน อย่างนี้นั่นก็ไม่ใช่ตัวเวลา โดยเนื้อแท้แล้วมันเป็นเครื่องสำหรับกำหนดเวลา พระอาทิตย์โผล่มาให้เห็นทีหนึ่งก็เรียกว่าวันหนึ่ง สามสิบครั้งหรือราวๆนั้นก็เรียกว่าเดือนหนึ่ง สิบสองเดือนก็เรียกว่าปีหนึ่ง วันเดือนปีนั้นไม่ใช่ตัวเวลา แต่เป็นเครื่องกำหนดเวลา หรือว่าจะเอาฝนฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบปีหนึ่งเป็นเครื่องกำหนด มันก็ไม่ใช่ตัวเวลาอยู่นั่นเอง แม้ในการกำหนดที่ปลีกย่อยหรือเฉพาะสิ่งเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ เช่นว่าชั่วกลั้นใจหนึ่งบ้าง ชั่วหุงข้าวสุกหม้อหนึ่งบ้าง อย่างนี้เป็นต้น มันก็เป็นเพียงสิ่งที่ใช้สำหรับกำหนดเวลา ตัวเวลาจริงๆ นั้นมันอยู่ที่ตรงไหน มันเป็นนามธรรมมากเกินไปจนคนไม่รู้จัก นี่แหละลองคิดดูเถอะว่า แม้สิ่งที่เราพูดอยู่ทุกวัน เราพูดอย่างกับว่ารู้จักมันนั้นที่แท้ก็ไม่ได้รู้จักมันเลย สิ่งที่เรียกว่าเวลานี้เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก ยังซ่อนเร้นลึกลับอยู่ แต่เครื่องกำหนดเวลานั่นแหละช่วยให้เรากำหนดอะไรๆ ได้เท่าที่เกี่ยวกับการกระทำหรือการเป็นอยู่ของเรา เช่นมีอายุมาสามสิบฤดูฝนก็ว่าอายุสามสิบปีอย่างนี้ นั้นมันเรื่องของฝนตกที่กำหนดกันเป็นปีๆ ตัวเวลาที่แท้ๆ แล้วมันอยู่ที่ไหน เวลานั้นมีเขตกำหนดหรือไม่
ถ้ารู้จักตัวเวลาที่แท้จริงแล้วจะเห็นว่าไม่มีเขตกำหนด ไม่มีใครสามารถจะไปแบ่งเวลาหรือบังคับเวลาอย่างนั้นอย่างนี้ได้ เราพูดกันได้ก็แต่การสมมติเอาเองตามที่คนจะสมมติ เวลาเท่านั้นเท่านี้โดยเอาเครื่องกำหนดเวลาเป็นหลัก เช่นเวลาล่วงไปเท่ากับฝนตกรอบปีหนึ่ง อย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเวลามันมีเพียงเท่านั้น มันยังมีจนไม่มีขอบเขตอยู่นั่นเอง และการแบ่งนั้นมันแบ่งตามที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ว่าที่แท้แล้วมันไม่ใช่ได้แบ่งเวลาอะไรมากมาย เป็นเพียงการกำหนดหมายสิ่งที่เกี่ยวกับหน้าที่ที่เราจะต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ และเป็นเครื่องบัญญัติให้รู้กันว่าอะไรนานเท่าไร อะไรช้าเท่าไร เร็วเท่าไร อย่างนี้เป็นต้น แต่คนธรรมดาไม่ได้คิดอย่างนี้ รู้สึกไปในทำนองว่าเวลาคือสิ่งที่เป็นเครื่องกำหนดต่างๆตามที่ตนกำหนด ถ้ายังรู้จักเวลากันเพียงเท่านี้ก็ยังจะต้องพ่ายแพ้แก่เวลาอยู่ตลอดไป เรียกว่าเวลามันกินคน หรือทำคนให้ลำบากอยู่ตลอดไป ไม่เป็นความฉลาดเลย ในแง่ที่เกี่ยวกันกับพุทธบริษัทนั้น ต้องการจะดับทุกข์ ต้องการจะไม่มีทุกข์ ถ้าเวลาเป็นเครื่องทำให้เกิดความทุกข์ได้ มันก็ต้องทำตนให้อยู่นอกอำนาจครอบงำของเวลาจึงจะเป็นพุทธบริษัทได้ ดังนั้นพุทธบริษัทจึงมีการสอดส่องมองดูสิ่งที่เรียกว่าเวลาลึกไปกว่าที่คนธรรมดาเขาพิจารณากัน คือพิจารณาเรื่องเวลานี้พร้อมๆ กันไปกับเรื่องความทุกข์ จุดมุ่งหมายอยู่ตรงที่จะกำจัดความทุกข์เสียให้ได้ ถ้าเวลาเป็นเครื่องเกิดความทุกข์อย่างไรแล้วก็ต้องจัดการกับเวลาอย่าให้เกิดความทุกข์เช่นนั้นได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้อง หรือเป็นพุทธบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเป็นพุทธบริษัทของตน มิฉะนั้นแล้วก็ยังจะต้องเป็นคนธรรมดาสามัญ มีความยากลำบาก มีความหวาดเสียวสะดุ้งกลัวเกี่ยวกับเวลาอยู่นั่นแหละ และตลอดชีวิตเสียด้วย
ทีนี้ลองพิจารณาดูถึงข้อที่ว่า ในทัศนะของพุทธบริษัทเรา สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้นมันคืออะไรกันแน่ นี้เรียกว่ามองดูกันในทางที่ลึกกว่าธรรมดาตามวิธีของพุทธบริษัทซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับความดับทุกข์อยู่โดยเฉพาะ สำหรับความทุกข์นั้นเมื่อมองโดยหลักทั่วไปแล้วมันเกิดมาจากความอยาก มีความอยากก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ทีนี้พิจารณาดูให้ละเอียดลงไปว่าสิ่งที่เรียกว่าความอยากนี้มันเกี่ยวกับเวลาอย่างไรบ้าง คนไม่โง่เกินไปก็คงจะสังเกตได้ ว่าถ้าเรายังอยากมาก ยังไม่ได้อะไรตามอยาก เรารู้สึกว่าเวลานี้มันช่างเร็วซะเหลือเกิน แต่ถ้าเราไม่ต้องการอะไร รู้สึกว่าเวลานี้ช้าเหลือเกิน อืดอาดเหลือเกิน ตัวอย่างเช่นเราอยากจะนอนให้มากๆ ก็นอนสบายดีอยู่ เวลาก็บอกว่าหมดเสียแล้วหรือสว่างเสียแล้วหรืออะไรทำนองนี้ คนก็รู้สึกเสียดาย รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับเวลาเพราะว่ามันน้อยไปเสียแล้ว แต่ถึงทีที่จะต้องติดคุกติดตะรางหรือว่าถูกทำทรมานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็รู้สึกไปในทำนองที่ว่าเวลานี้มันช่างเดินช้าเหลือเกิน นี่แหละลองคิดดูเถิดว่าเวลานี้มันเป็นสิ่งที่เดินช้าหรือเดินเร็ว
ตัวเวลาเองไม่ได้เดินช้าหรือเดินเร็ว แต่ความอยากของคนนั่นแหละทำให้รู้สึกว่ามันเดินช้าบ้าง มันเดินเร็วบ้าง มันเดินกลางๆ บ้าง มันขึ้นอยู่กับความอยากของคนว่ามีอยู่มากหรือน้อยหรือกลางๆ ถ้าเราไม่มีความอยากเสียอย่างเดียว เวลาก็ไร้ความหมาย เดี๋ยวนี้เรายังอยากได้เงินได้ทองอยากได้ชื่อเสียงอยากมีนั่นมีนี่ กระทั่งอยากไม่ให้ตายเป็นต้น เวลามันก็มีความหมายไปในทำนองที่รู้สึกว่ามันเร็ว ถ้าเรายังไม่ได้อะไรๆ ตามที่เราต้องการเวลามันก็ล่วงไปเสียแล้วหรือหมดเสียแล้ว อย่างนี้เป็นต้น รู้สึกว่าเวลาเร็ว เวลาผ่านไปเร็วอย่างยิ่ง แต่ถ้าว่าไม่มีสิ่งใดเป็นความอยากความต้องการแล้ว รู้สึกว่าเวลามันอืดอาดหรือไม่ได้เคลื่อนไหวเอาซะทีเดียว เพราะฉะนั้นควรจะย้อนกลับไปคิดถึงคำถามข้อแรกอีกครั้งหนึ่งว่า สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้นมันคืออะไรกันแน่ มันมีขนาดเท่าไรหรือมีอะไรเท่าไร นี้ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าเวลานั้นเรายังไม่รู้ว่าคืออะไร ยังไม่รู้จักมัน แล้วมันก็ขึ้นๆ ลงๆ กลับๆ กลอกๆ ตามความต้องการหรือไม่ต้องการของบุคคลคนหนึ่ง
ที่กล่าวว่าเวลาวันหนึ่ง คืนหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่งหรือในทำนองนี้มันเอาสิ่งที่ไม่มีชีวิตวิญญาณเป็นหลัก เช่นเอาฝนตกรอบปีหนึ่งเป็นหลัก เอาพระอาทิตย์โผล่หน้ามาให้เห็นทีหนึ่งเป็นหลัก หรือเอาพระจันทร์รอบหนึ่งเป็นหลัก เหล่านี้มันเป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่มีชีวิตวิญญาณ มันไม่มีความต้องการอะไร มีแต่ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ จึงใช้เป็นเครื่องกำหนดเวลาได้อย่างหนึ่ง แล้วแต่จะบัญญัติกันอย่างไร แต่มันก็เป็นเพียงเครื่องกำหนดเวลาสำหรับมนุษย์ที่อยากจะมีกำหนดเวลาเท่านั้น มันหาใช่ตัวเวลาเองไม่ แม้ว่าเวลาเดือนหนึ่งปีหนึ่งนั้นมันขึ้นอยู่กับการสมมติหรือบัญญัติไม่ใช่ความจริง ตัวเวลาจริงๆ นั้นยังเป็นสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าอะไรอยู่นั่นเอง คำว่า อจฺเจนติ กาลา เวลาล่วงไปล่วงไป ตรยนฺติ รตฺติโย ราตรีก็ก้าวไปก้าวไป อย่างนี้ฟังดูให้ดีว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่าเวลา เวลาล่วงไปล่วงไปนั้นมันถูกแน่หรือเปล่า ตามความรู้สึกของคนทั่วไป ไปเอาเครื่องกำหนดเวลาเป็นหลัก มันก็รู้สึกว่าเวลาล่วงไป เช่นปีหนึ่งล่วงไป หรือวันคืนล่วงไปอย่างนี้มันก็เรียกว่าเวลาเป็นสิ่งที่ล่วงไป
แต่ถ้าเรามาดูอีกทีหนึ่งว่า เราเกิดมาแล้วก็แก่ชราหัวหงอกฟันหัก ตายเข้าโลงไป อย่างนี้อะไรมันล่วงไป คนหนึ่งจะพูดเวลาล่วงไปล่วงไปก็ได้ คนหนึ่งเรียกว่าสังขารเปลี่ยนแปลงไปก็ได้ อาการที่สังขารเปลี่ยนแปลงไปนั่นแหละมันเป็นตัวปัญหาใหญ่ มันไม่ใช่อยู่ที่เวลา เราเอาสิ่งที่เป็นปัญหานี้มาเป็นต้นเหตุหรือมูลเหตุจำเป็นให้บัญญัติเวลา เพราะว่าเรากลัวเรื่องความแก่ความชราเป็นต้น สังขารเปลี่ยนแปลงไป เครื่องกำหนดเวลาอย่างนั้นอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไร ส่วนเวลานั้นยังไม่รู้แน่ว่าตัวมันอยู่ที่ไหนมันจะเปลี่ยนแปลงหรือจะไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าไปเข้าใจว่าเปลี่ยนแปลงก็เพราะมันไปดูแต่ที่สังขารนั้นบ้าง ดูแต่ที่เครื่องใช้สำหรับกำหนดเวลานั้นบ้าง ยิ่งถ้าไปดูที่นาฬิกาแล้วมันก็จะยิ่งเป็นเรื่องหลอกลวงอย่างยิ่ง นาฬิกาก็ไม่ใช่เวลา เขาทำนาฬิกาขึ้นพอเป็นเครื่องกำหนดระยะหนึ่งๆ ที่จะใช้กับเวลาเกี่ยวกับการงานของคนเป็นส่วนใหญ่ ตามที่ได้เอาพระอาทิตย์พระจันทร์เป็นต้นเป็นหลักเกณฑ์ นี้มันเป็นเพียงอุปกรณ์ เครื่องสำหรับกำหนดเวลาในขอบเขตของมนุษย์ผู้มีความต้องการเท่านั้น มนุษย์สนใจเพียงเท่านี้ก็รู้สึกว่าเวลาล่วงไป เมื่อตัวยังไม่ได้รับอะไรตามที่ตัวต้องการก็มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
ลองดูให้ดีว่าการที่มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลานั้นมันมีความหมายสักเท่าไร เป็นปัญหาสักเท่าไร เมื่อมีปัญหาแล้วก็เรียกว่ามันมีความทุกข์ การที่มีความทุกข์นี้ไม่น่าปรารถนาเลย มนุษย์จึงดิ้นรนต่างๆเพื่อจะแก้ไขความทุกข์อันเกี่ยวกับเวลา แม้การบำเพ็ญบุญเนื่องด้วยปีใหม่นี้ก็ตามมันก็มาจากปัญหาที่ว่ามนุษย์ต้องการจะปลอดภัย ต้องการจะมีความสุขตามความอยากของตนของตน จึงได้สนใจอะไรๆเกี่ยวกับปีใหม่ตามที่เขาบัญญัติหรือนิยมนับถือกันอย่างไร เป็นเหตุให้ต้องมีอะไรทำ นิ่งอยู่ไม่ได้ แล้วมันได้ผลคุ้มกันหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ต้องคิดดูดังที่กล่าวแล้ว ถ้ายิ่งทำยิ่งโง่ ยิ่งทำยิ่งมาก ยิ่งลำบากมากก็ไม่ทำเสียจะดีกว่า ถ้าจะทำก็ต้องทำให้เป็นไปในทางที่ว่ามนุษย์นี้เอาชนะเวลาได้ตามลำดับ หรือตามสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ของตน เป็นมนุษย์ชั้นเลิศอย่างพระพุทธเจ้านั้นเอาชนะเวลาได้ เวลาไม่มีความหมายสำหรับผู้หมดกิเลสแล้วคือพระอรหันต์ทั้งหลาย เวลามีความหมายแต่บุคคลที่ยังมีความอยากความต้องการอยู่
เดี๋ยวนี้เวลาปีใหม่ของเราได้มาถึงเข้าแล้วในรูปใด เราจึงต้องคิดดู มาในรูปที่ทำให้ความทุกข์มากกว่าปีเก่า หรือน้อยกว่าปีเก่า ถ้ามันมาในรูปที่ทำให้ความทุกข์น้อยกว่าปีเก่ามันก็ดีมาก แต่เดี๋ยวนี้ใครรู้ว่ามันจะมาในรูปนั้นเพราะว่าแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าเวลาเราก็ไม่รู้จักมันเสียแล้ว และคำว่าอนาคตมันก็ยังมาไม่ถึง เรายังรู้ไม่ได้ว่าปีนี้มันจะดีกว่าปีเก่าหรือไม่ เราก็ได้แต่ตั้งใจว่าจะต้อนรับมันให้ดีกว่าปีเก่า แต่แล้วเราก็ยังโง่ในข้อที่ว่า ต้อนรับอย่างไรเรียกว่าดีกว่าปีเก่า ถ้าเราต้อนรับเหมือนปีเก่า จะเรียกว่ามันดีกว่าปีเก่าได้ที่ตรงไหน เมื่อเราต้องการจะต้อนรับปีใหม่ให้ดีกว่าปีเก่าจริง เราก็ต้องมาคิดดูว่ามันมีอะไรแปลกหรือใหม่ในทางที่จะชนะเวลาเหมือนพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุเช่นนี้เองเราจึงต้องกล่าวว่าเราจะต้องมีกิเลสตัณหาหรือความอยากให้น้อยกว่าปีเก่าเท่านั้น จึงจะเรียกว่าเราต้อนรับปีใหม่ดีกว่าปีเก่า ถ้าเรามีกิเลสตัณหามากกว่าปีเก่า อาการมันก็เลวร้ายมากขึ้น ความเป็นพุทธบริษัทก็น้อยลง แม้แต่ความเป็นมนุษย์ก็น้อยลง เพราะมันมีความทุกข์มากขึ้น และต้อนรับปีใหม่นี้เลวกว่าปีเก่า ทุกคนจะต้องคิดดูโดยไม่เข้าข้างตัว อย่าเห็นแก่ตัว พอตัวได้ต้อนรับปีใหม่ดีกว่าปีเก่าในทางที่ลดความทุกข์ให้น้อยลงไปหรือหาไม่นี้กันให้ทุกคน
อาตมาขอยืนยันว่าต้อนรับปีใหม่ให้ดีกว่าปีเก่านั้น มันต้องมีกิเลสตัณหาหรือความชั่วน้อยกว่าปีเก่า ถ้ามันเท่ากันมันก็ไม่ดีกว่าปีเก่า ถ้ามันมากขึ้นมันก็เลวกว่าปีเก่า ฉะนั้นการที่จะมีความโลภโมโทสัน การเบียดเบียนกัน เอาเปรียบ อิจฉาริษยากันหรืออะไรทำนองนั้นมันน้อยลงไปกว่าปีเก่าหรือไม่ ยังมีการกระทำอะไรๆที่ขยายออกไปในทางของกิเลสตัณหาแล้ว สิ่งที่เรียกว่าปีใหม่นั้นจะไม่น่าปรารถนาเลย คือจะมีความทุกข์มากกว่าปีเก่าเป็นแน่
นี่แหละเป็นข้อที่เราจะต้องส่ายตามองดูให้ดีว่า ปีใหม่นี้มันมีกันอยู่สักกี่แบบ ไอ้ปีใหม่ ปีใหม่ๆ นี้มันมีกันอยู่สักกี่แบบ อาตมาคิดว่ามันควรจะมีอยู่สักสามแบบ คือปีใหม่ของเด็กๆ อย่างหนึ่ง ปีใหม่ของคนขลาดกลัวนั้นอย่างหนึ่ง ปีใหม่ของคนที่ไม่ขลาดไม่กลัวนี้อย่างหนึ่ง รวมเป็นสามแบบ ลองคิดดูว่ามันจะมองเห็นได้หรือไม่ ในการที่เราจะจัดให้ปีใหม่นี้มีสักสามแบบคือปีใหม่อย่างเด็กๆ ปีใหม่อย่างคนขลาด ปีใหม่อย่างคนไม่กลัว คือคนกล้า
ปีใหม่อย่างเด็กนั้นมันคือปีใหม่ของคนที่ไม่ต้องรับผิดชอบ เด็กๆ เขายังเล็ก เขาไม่รู้สึกความรับผิดชอบ ไม่มีความคิดนึกอย่างผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องความดีหรือความชั่ว ก็ยังไม่ได้รู้สึกมากเหมือนผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กทารกที่นอนอยู่ในเบาะ ปีใหม่ของเด็กทารกนี้จะไม่มีความหมายอะไร ไม่รู้ว่าเวลาล่วงไปกี่เดือนกี่ปีกี่วัน รู้แต่ว่าหิวหรือยัง พอหิวก็ต้องกินนมแม่ อิ่มแล้วก็นอนสบาย หิวก็ต้องกินนมแม่ เครื่องกำหนดเวลาของเด็กทารกนั้นก็คือความหิวนั่นเอง ความหิวนั่นแหละเป็นเครื่องกำหนดเวลาของทารกนั้น ไม่ใช่เดือน ตะวัน นาฬิกา หรืออะไรอย่างที่คนโตๆเขาใช้กัน เวลาของเด็กทารกก็คือความหิว ทีนี้ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อย พอจะวิ่งได้ เล่นได้ มันก็ต้องการแต่เรื่องเล่นเรื่องกิน ได้กินได้เล่น เวลาก็หยุดไปทันที ไม่ได้กินไม่ได้เล่นตามที่ต้องการเวลาก็เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาทันที ดังนั้นมันจึงอยู่ที่เรื่องกินเรื่องเล่น ไม่ใช่อยู่ที่อะไรมากไปกว่านั้น
ปีใหม่ของเด็กๆ มันก็เป็นเรื่องไม่มีความรับผิดชอบอะไร ไม่มีความหมายอะไรสำหรับคำว่าความดีหรือความชั่ว มีแต่เรื่องได้กินให้อิ่ม ได้เล่นให้สนุกก็พอแล้ว ทีนี้เราไปสอนเด็กๆ ให้ถือว่าได้กินได้เล่นตามที่ต้องการนั้นแหละเขาเรียกว่าดี เพราะฉะนั้นให้อุตส่าห์ทำอย่างนั้นอุตส่าห์ทำอย่างนี้แล้วก็จะได้กินได้เล่นตามที่ต้องการนั้นมากขึ้น เด็กๆ ก็รู้จักอยาก รู้จักปรารถนาที่จะทำความดีขึ้นมา จนกลายเป็นผู้ที่รู้เรื่องดีรู้เรื่องชั่ว ตามที่เขาบัญญัติกันไว้อย่างไร เพราะเหตุนี้เราจึงจัดพวกเด็กๆ นี้ไว้พวกหนึ่งต่างหากจากผู้ใหญ่ มีความรู้สึกในทางจิตใจไปตามแบบของเด็กๆ ฉะนั้นปีใหม่ของเด็กๆก็ต้องมีไปตามแบบของเด็กๆ คือปีใหม่ของคนที่ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่มีวิตกกังวล เพราะเขายังไม่รู้เรื่องอะไรที่จะต้องรับผิดชอบ มันก็สบาย ปีใหม่ของเด็กๆมันก็สบาย เพราะมีแต่ว่าจะได้กินอะไรแปลก หรือมากขึ้นไป นี้เรียกว่าปีใหม่แบบเด็กๆ
ทีนี้ปีใหม่แบบที่สองคือคนที่มีความหวาดกลัว ได้แก่ปีใหม่ของคนที่ธุระยังไม่เสร็จ ลองคิดดูให้ดีว่าธุระยังไม่เสร็จนี่มันมีความหมายอย่างไร คนที่รู้สึกว่าธุระของเรายังไม่เสร็จ นี้จะเป็นคนนอนสบายไม่ได้ จะเป็นคนมีจิตใจที่หยุดไม่ได้ มันมีแต่ความวิตกกังวลขวนขวาย ปีใหม่ของคนที่ธุระยังไม่เสร็จและมีความรับผิดชอบจะต้องทำให้เสร็จนี้มันจึงต่างกับปีใหม่ของเด็กๆ ที่ไม่มีความรับผิดชอบ แม้จะไม่มีความรับผิดชอบอะไรมากไปกว่าจะต้องทำตามที่เขานิยมกัน หรือทำให้ได้สิ่งที่ตัวต้องการจะได้ นี้มันก็เป็นความรับผิดชอบแล้ว คนที่โตขึ้นมาจากเด็กๆ ก็คือคนหนุ่มคนสาว และพ่อบ้านแม่เรือน คนหนุ่มคนสาวก็มีอะไรที่เป็นแผนการหรือโครงการที่หวังไว้ อย่างนั้นอย่างนี้ ในการศึกษาก็ดี ในการงานก็ดี คราวนี้ล้วนแต่เรียกว่าธุระด้วยกันทั้งนั้น และเมื่อธุระนี้ยังไม่เสร็จแล้วคนนั้นก็ต้องมีความขลาดความกลัวเพราะธุระยังไม่เสร็จ คนหนุ่มคนสาวก็มีความขลาดความกลัวเพราะธุระยังไม่เสร็จ พ่อบ้านแม่เรือนคนแก่ชราก็มีความหวาดกลัวเพราะธุระยังไม่เสร็จ คนหนุ่มสาวธุระเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ยังไม่เสร็จก็มีความกระวนกระวาย พ่อบ้านแม่เรือนธุระเรื่องเงินทองข้าวของเกียรติยศชื่อเสียงยังไม่เสร็จก็มีความกระวนกระวาย คนแก่คนชรารู้สึกว่าบุญกุศลยังไม่ได้ทำไว้มากพอสำหรับตายไปชาติหน้าก็มีความกระวนกระวาย ถ้าไปดูที่ความกระวนกระวายแล้วก็เหมือนๆกันไปทั้งนั้น มันทรมานใจอย่างเดียวกันทั้งนั้น แต่ว่าต้นเหตุที่ทำให้กระวนกระวายนั้นมันก็ต่างๆกัน คนหนุ่มคนสาวก็มีต้นเหตุที่ทำให้กระวนกระวายไปอย่างหนึ่ง พ่อบ้านแม่เรือนก็อีกอย่างหนึ่ง คนแก่ชราก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ล้วนแต่มีความกระวนกระวายด้วยกันทั้งนั้น นี่ปีใหม่ของคนที่ธุระยังไม่เสร็จมันเป็นอย่างไรลองคิดดู ทำบุญปีใหม่นี้ก็ด้วยหวังว่าจะให้อะไรๆมันดีขึ้นกว่าปีเก่า แม้มองไม่เห็นเพราะคิดไม่เป็นก็เชื่อไปตามที่เขาทำๆ กัน หรือตามที่เขาบัญญัติกันไว้อย่างไร นิยมกันมาอย่างไร เชื่อและสอนกันมาอย่างไร เมื่อตัวไม่มีทางที่จะมองให้ดีไปกว่านั้นได้หรือเห็นอะไรแปลกออกไปได้ก็ต้องทำไปตามที่เขาทำ ทำบุญปีใหม่หรือขึ้นปีใหม่ตามประสาของคนที่ธุระยังไม่เสร็จ ทำทุกอย่างทุกประการที่ตนเชื่อหรือหลงหรือโง่ก็ได้ว่ามันจะมีผลดีแก่การที่ขึ้นปีใหม่ อย่างนี้ต้องมองในลักษณะที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การกระทำนั้นมันช่วยให้ยุ่งยากมากขึ้นหรือเปล่า และมันได้ผลคุ้มค่ากันหรือเปล่า
ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งว่าเดี๋ยวนี้ คนนิยมส่งบัตรความสุขปีใหม่แก่กันและกัน มากขึ้นๆๆ จนกิจการนี้ต้องใช้เงินหมุนเวียนเป็นสิบๆล้าน หรือร้อยล้าน พันล้านไปแล้วก็ได้ เมื่อกล่าวทั่วไปทั้งโลก มนุษย์จะต้องมีทุนหมุนเวียนในการส่งความสุขปีใหม่กันเป็นร้อยล้านพันล้านแล้วก็ได้ เพราะว่าต้องพิมพ์บัตร จะต้องมีบริการไปรษณีย์ มีคนไปรษณีย์สำหรับส่ง เรือรถจะต้องบรรทุกบัตรนี้เป็นตันๆ สำหรับจะไปส่งนี้ก็ล้วนแต่ต้องใช้เงิน ความยากลำบากในข้อนี้ก็มีมาก แต่ว่ารวมความแล้วมันทำให้คนมีความสุขจริงขึ้นหรือเปล่า มีความสุขมากขึ้นกว่าปีที่แล้วมาหรือเปล่า ถ้ามันไม่ให้อะไรในทำนองนั้น นอกจากให้ความยุ่งยากลำบากมากขึ้นแล้ว คนก็โง่ไปกว่าเดิม โง่ไปกว่าปีเก่า ทำตนเองให้ลำบากมากไปกว่าปีเก่า มันก็เป็นคนบ้าที่เอ่ยอ้างว่าเราส่งความสุขปีใหม่ให้แก่กันและกัน นั่นคือการกระทำของคนที่ไม่รู้จักเรื่องอันเกี่ยวกับเวลา ทำอะไรนิยมๆ เพ้อๆ ตามกันไปจนไม่ได้รับผลอะไรนอกจากความยุ่งยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิม ภายในนามที่ไพเราะเพราะพริ้งว่าความสุขปีใหม่ ความสุขปีใหม่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเปลืองสตางค์มากกว่าเดิม ยุ่งยากมากกว่าเดิม ไม่ทำมนุษย์ให้ดีขึ้นเพราะเหตุนั้น กลับทำให้มันยุ่งยากลำบากมากขึ้นเพราะเหตุนั้น เพิ่มความโง่ให้มากขึ้นว่าทำอย่างนั้นมันดี มันโง่ตรงที่เข้าใจผิดไปว่าทำอย่างนั้นมันดี ทั้งที่มันไม่ได้ดีและไม่มีประโยชน์อะไร ลำบากเปล่า เปลืองเปล่าอย่างนี้ จะไม่ให้เรียกว่าโง่กว่าปีเก่าแล้วจะให้เรียกว่าอย่างไรเล่า
นี่แหละปีใหม่ของคนที่ยังไม่เสร็จธุระมันเป็นอย่างนี้ คือคนที่ยังไม่เสร็จธุระนั้นมันกลัว มันกลัวมากๆ มันก็ต้องทำอะไรไปด้วยความหวาดกลัว เช่นคนขี้ขลาดเขาแขวนพระเครื่องพวกใหญ่หนักจนคอนี้จะทนไม่ไหวเสียแล้วก็ยังไม่หายกลัวคิดดูเถิด มันก็ยังไม่หายกลัว บางทีเพิ่มเข้าไปอีกสององค์ ความกลัวมันก็เพิ่มขึ้นอีกสองเท่าก็ได้ ถ้าไม่กลัวมากแล้วจะเพิ่มเข้าไปทำไม ฉะนั้นเมื่อเพิ่มเข้าไปด้วยความกลัวมันก็เท่ากับทำให้กลัวมากขึ้น มากขึ้นๆ มีพระแขวนแขวนคอจนคอจะทนไม่ไหว มันก็คือมีความกลัวมากจนจิตใจแทบจะทนไม่ไหว ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เรื่องเหล่านี้มันคล้ายๆ กันหมดในข้อที่ว่าถ้าทำผิดวิธีแล้วมันย่อมได้ผลในลักษณะที่ตรงกันข้าม แต่เรากลับเข้าใจผิดว่ามันถูกเหลือเกิน มันถูกกว่าเก่า มันดีกว่าเก่า นี้แหละคือตัวความโง่หรือตัวความหลง ซึ่งควรจะเป็นที่น่าละอายสำหรับพุทธบริษัทเพราะว่าคนสมัยก่อนที่เราประณามเขาว่าเป็นคนโง่นั้น เขาไม่ต้องลำบากยุ่งยากเพราะเหตุนี้ สุนัขและแมวก็ไม่ต้องยุ่งยากลำบากเพราะเหตุนี้ แล้วมันก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นความทุกข์ยากลำบากเพิ่มขึ้น ไอ้พวกที่จะทำให้มีความสุขมากขึ้นแล้วกลับมีความทุกข์มากขึ้นนี้จะเรียกว่าอะไรถ้าไม่เรียกว่าคนบ้า แต่มันเป็นบ้าทางจิตทางวิญญาณที่เข้าใจยาก และเมื่อมันบ้าเหมือนๆ กันหมดแล้วก็ไม่มีใครจะมาว่าใครเป็นคนบ้าเพราะมันเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี่วิธีการหรือระเบียบงานระบอบงานเกี่ยวกับการส่งความสุขปีใหม่ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้อยู่ทั่วไปทั้งโลก คือปีใหม่ของคนหวาดกลัวเพราะยังไม่เสร็จธุระที่ตนจะต้องทำ คือปุถุชนนั่นเอง เมื่อโลกนี้เต็มไปด้วยปุถุชนแล้วมันก็มีแต่เรื่องปีใหม่ของคนที่ขี้ขลาดหวาดกลัว ทำไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี หมดเปลืองไปเท่าไรๆ ก็ดูเอาเองก็แล้วกัน เพียงแต่บัตรความสุขอย่างเดียวก็ตั้งเป็นร้อยล้านพันล้าน ถ้าไปนึกถึงสิ่งของอย่างอื่นที่ใช้ในการประดับประดาทำตามพิธีรีตอง ตามทางของศาสนาอย่างนั้นอย่างนี้แล้วมันก็ยิ่งมากไปกว่านี้มาก ถ้าความทุกข์เท่าเดิมมันก็เป็นปีใหม่ที่ไม่ดีกว่าปีเก่าเท่าๆ กับปีเก่า ถ้าเปลืองหรือลำบากมากกว่าก่อนมันก็เป็นปีใหม่ที่เลวกว่าปีเก่า ควรจะนึกกันให้มากในข้อนี้ นี้เรียกว่าปีใหม่ของคนขลาด
ทีนี้ดูต่อไปถึงปีใหม่ของคนที่ไม่กลัวหรือไม่ขลาดคือปีใหม่ของคนที่เสร็จธุระแล้ว ปีใหม่ของคนที่ยังไม่เสร็จธุระหรือธุระยังไม่เสร็จนั้นเต็มไปด้วยความทรมานอย่างนี้ ไม่ได้ดีขึ้นกว่าปีเก่า แต่ปีใหม่ของคนที่เสร็จธุระแล้วนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ท่านทั้งหลายลองคำนวณดูเอาเองก็แล้วกันโดยหลักง่ายๆ ว่า คนที่ทำธุระของตัวเองเสร็จแล้วนั้นมันมีความสบายใจเท่าไร กล้าเยาะเย้ยเวลา กล้าเยาะเย้ยนาฬิกาเพราะว่าธุระของฉันเสร็จแล้ว เมื่อเราทำธุระอะไรเสร็จลงไปจริงๆ แล้วมันสบายเท่าไร มันเบาเท่าไร ท่านตอบได้ไหมว่าเพราะเหตุไร ถ้าไม่โง่เกินไปและเป็นพุทธบริษัทอยู่บ้างแล้วก็ตอบได้ว่าขณะนั้นกิเลสตัณหามันระงับไป ตัวกูของกูมันระงับไปเพราะทำหน้าที่ของตนเสร็จแล้ว มันจึงเบาสบาย เพราะไม่มีกิเลสตัณหาครอบงำ ไม่มีตัวกูของกูลุกขึ้นมาเต้นเร่าๆ มันน่ายินดีไหม น่าปรารถนาไหมสำหรับปีใหม่ของคนที่เสร็จธุระแล้ว มันมีความสดใสแจ่มใสชุ่มชื่นเยือกเย็นขึ้นมาจริงๆ มันจึงตอบอยู่ในตัวแล้วง่ายๆว่า การเสร็จธุระแล้วนั่นเองคือปีใหม่ที่ใหม่ออกมาจริงๆ ทำธุระต่างๆ ให้เสร็จเถิดปีใหม่มันจะเป็นปีใหม่ที่สดใส ที่ชุ่มชื่นเยือกเย็นจริงๆ ไม่ต้องปีใหม่ดอก แม้เดือนใหม่มันก็จะเป็นสุขอย่างยิ่ง วันใหม่ก็จะเป็นสุขอย่างยิ่ง ชั่วโมงใหม่นาทีใหม่ก็ล้วนแต่จะเป็นสุขอย่างยิ่งเพราะว่าฉันเสร็จธุระแล้ว จนถือเอาการเสร็จธุระแล้วนี่แหละเป็นเครื่องวัดว่าปีใหม่ของใครจะชุ่มชื่นเยือกเย็นอย่างไรเพียงไหน ปีใหม่ของคนที่เสร็จธุระแล้วกับของคนที่ธุระยังไม่เสร็จมันต่างกันอย่างตรงกันข้ามอย่างนี้
ทีนี้บางคนอาจจะแย้งหรือค้านว่าเรายังไม่เป็นพระอรหันต์ เราจะเป็นคนเสร็จธุระแล้วได้อย่างไร ข้อนี้ขอตอบว่าเรื่องเสร็จธุระแล้วหรือไม่นี้มันเกี่ยวกับใจ แม้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ถ้ารู้จักทำจิตใจให้เป็นคนเสร็จธุระแล้วก็ยังทำได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่นคนสันโดษ มีความสันโดษพอใจเท่าที่กระทำได้หรือมีอยู่แล้วก็พอใจ นี้ก็เรียกว่าคนเสร็จธุระแล้วโดยปริยายหนึ่งด้วยเหมือนกัน ตัวอย่างเช่นเป็นชาวนา ทำงานหนัก ต้องขุดดินเป็นตัวอย่าง ขุดดินทีหนึ่งให้ถือว่าธุระเสร็จไปแล้วทีหนึ่งแล้วให้สบายใจเพราะมันเสร็จไปแล้วทีหนึ่ง ขุดสองทีก็สบายใจเพราะมันเสร็จไปแล้วสองที เราเป็นคนสันโดษอย่างนี้เถอะ มันจะเป็นคนที่ทำธุระเสร็จแล้วอยู่ทุกๆ นาที ทุกๆ วินาที จึงเป็นคนมีความสุขตามแบบของคนมีธุระเสร็จแล้ว แต่เดี๋ยวนี้คนไม่สันโดษกันอย่างนี้ มีความโลภมากเกินไปอะไรๆ ก็ล้วนแต่ยังไม่เสร็จ แม้จะไถนาเสร็จแล้ว ขุดดินเสร็จหมดทั้งผืนนาแล้วมันก็ยังมีความหวังอย่างอื่นทรมานใจ ไม่มีอะไรที่เสร็จ นี้เพราะเขาไม่รู้จักใช้ธรรมะในพระพุทธศาสนาในข้อที่เรียกว่าสันโดษ ถ้าเขาเข้าใจคำว่าสันโดษของพระพุทธเจ้าดีก็จะสามารถมีความอิ่มอกอิ่มใจหรือปีติปราโมทย์ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว ทุกขณะที่มีการเคลื่อนไหว กระดิกตัวไปนิดเดียวก็มีความสุข เพราะถือว่าธุระได้เสร็จไปแล้วเท่านั้น มันเป็นเคล็ดลับอยู่มากในข้อนี้ ถ้าไม่รู้จักทำจิตใจให้ดีๆ ก็ไม่มีทางจะประสบเลย แล้วคนสมัยนี้ไม่รู้เรื่องนี้ เข้าใจผิดเรื่องนี้ จนถึงกับหาว่าเรื่องสันโดษนั้นเป็นเรื่องของคนขี้เกียจ บางคนกล้าพูดว่าพุทธศาสนาไม่ดี ก็เพราะมีการสอนเรื่องสันโดษอย่างนี้ก็มี เป็นคนใหญ่ๆ โตๆ มีเกียรติยศชื่อเสียงด้วยซ้ำไปที่พูดอย่างนี้เพราะความโง่ของเขาเองที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าที่สอนว่าสันโดษนั้นเป็นอย่างไร สันโดษนั้นให้หยุดความต้องการเสีย หยุดกิเลสตัณหาเสียแล้วทำอะไรไปด้วยสติปัญญาที่สำนึกเพียงในหน้าที่ ว่าหน้าที่มีอย่างไรก็ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำงานเพื่องาน อย่างนี้มันก็เย็นใจ แต่ถ้าทำงานเพื่อเงินขึ้นมามันก็เป็นนรกขึ้นมาทันที ทำงานเพื่อตัวกูของกูขึ้นมาเมื่อไร มันก็เป็นการตกนรกหมกไหม้ขึ้นมาทันที เพราะมันไม่มีสันโดษ มันมีกิเลสตัณหาที่กว้างขวางออกไปอย่างพรวดพราด มันก็มีความเผาลนจิตใจให้เร่าร้อนเหลือประมาณ
ทีนี้ในทำนองที่ตรงกันข้าม รู้จักใช้สติปัญญา ควบคุมจิตใจไม่ให้มีกิเลสตัณหาปรากฏในขณะนั้น ทำงานเพื่องาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่างที่เรียกว่าเป็นอยู่เหมือนตายแล้วนี้จะไม่มีความทุกข์เลย ที่วัดนี้มีอุดมคติเป็นมนต์หรือเป็นเครื่องรางเพื่อจะคุ้มครองตัวเองในข้อนี้จึงได้มีหลักว่า กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว กินข้าวจานแมวนั้นก็บอกความหมายชัดอยู่แล้วว่าไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านั้น กินพอไม่ให้มันตาย มันจึงไม่มีตัวกูของกูที่มีกิเลสตัณหาจะกินอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนที่คนธรรมดาทั่วไปเขาอยากกัน อาบน้ำในคูนี้มีความหมายว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องมีอะไรๆ ให้ลำบากยุ่งยากเกี่ยวกับการเป็นอยู่ ลงไปในคูก็อาบน้ำได้ ทั้งที่อยู่ที่อาศัยอะไรทุกๆอย่างนั้น เอาเท่าที่มันจะเป็นไปได้โดยง่ายตามธรรมชาติเถิด เป็นอยู่เหมือนตายแล้วนี้ก็คือทำงานโดยไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู หัดทำงานโดยไม่ต้องมีความคิดนึกรู้สึกว่าเป็นตัวกูหรือของกู คือไม่ทำงานโดยคิดว่ามันจะเป็นผลแก่ตัวกูหรือของกู ทำมันไปตามที่มันควรจะทำ ตามหน้าที่ที่ควรจะทำ หรือตามธรรมชาติที่ควรจะทำ ไม่คิดว่าเพื่อตัวกูหรือของกู เมื่อไม่มีความคิดว่าตัวกูหรือของกูมันก็เท่ากับตายแล้ว ทีนี้การเป็นอยู่นั้นยังกินอาหารอยู่ ยังทำการงานอยู่ นี้เรียกว่าเป็นอยู่ แต่ว่าเป็นอยู่เหมือนกับตายแล้ว เป็นอยู่เหมือนกับตายแล้วก็ตรงที่ว่าไม่มีตัวกูของกูที่จะเอาอะไรจะเป็นอะไร จะได้อะไร จะเสียอะไร ไม่มีธุระที่ยังค้างคา ทำไปทำไรมันเสร็จเท่านั้น ทำไปวันหนึ่งมันเสร็จวันหนึ่ง ทำไปชั่วโมงหนึ่งมันเสร็จชั่วโมงหนึ่ง มันเป็นคนที่มีธุระเสร็จแล้วอยู่ทุกเวลานาที ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่เป็นทุกข์โดยที่ไม่ต้องเป็นพระอรหันต์ ไม่คำนึงถึงการเป็นพระอรหันต์ ไม่อยากเป็นพระอรหันต์ อยากแต่ว่าเป็นอยู่เหมือนตายแล้วอย่างเดียวเท่านั้น นี่แหละคือทางออกที่คนธรรมดาสามัญจะเป็นอยู่ได้เหมือนกับคนที่เสร็จธุระแล้วคือเหมือนกับพระอรหันต์
ทีนี้อีกพวกหนึ่งก็คือพวกพระอรหันต์ เพราะว่าหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง แม้ว่าท่านกำลังฝึกเพื่อความเป็นพระอรหันต์มันก็ยังมีผลอย่างเดียวกัน และเมื่อหมดกิเลส หมดตัวกูแล้วมันก็ไม่มีปัญหาอะไรเหลือเลย คนสันโดษก็มีความรู้สึกว่าเสร็จธุระแล้ว คนไม่มีตัวกูก็เป็นคนที่มีความรู้สึกว่าเสร็จธุระแล้ว เราไม่ต้องคิดถึงความเป็นพระอรหันต์ก็ได้ ขืนไปคิดมันก็เพิ่มความอยากได้อยากเป็นอะไรขึ้นมาอีก มันก็นำความทุกข์มาอีก เป็นอยู่อย่างตายแล้วเรื่อยไปนั่นแหละมันจะมีความเป็นพระอรหันต์ชั่วคราวหรือถาวรได้ในที่สุดอยู่ในตัวมันเองแล้ว นี้เรียกว่าคนที่ไม่มีตัวกู รวมความว่าคนสองพวก คนสันโดษพวกหนึ่ง คนไม่มีตัวกูพวกหนึ่งนี้เรียกว่าเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ เพราะเป็นคนเสร็จธุระแล้ว ปีใหม่ของคนชนิดนี้เป็นปีใหม่จริง คือมันใหม่อยู่เสมอในข้อที่ไม่มีความทุกข์เลย มีแต่ความสดชื่นแจ่มใสเยือกเย็นมากขึ้นๆ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ ยิ่งเป็นพระอรหันต์แล้วมันก็เสร็จธุระ หมดธุระ หมดหน้าที่อะไรโดยสิ้นเชิง ปีใหม่ก็เป็นปีใหม่ที่เป็นอนันตกาล เป็นปีใหม่นิรันดร เป็นปีใหม่อนันตกาลที่ใหม่จริง คือมีความสุขไม่รู้จักเก่า ได้แก่ความสุขคือนิพพาน เพราะความที่หมดกิเลสนั้น นี้เราเรียกว่าปีใหม่ของคนกล้า ปีใหม่ของคนไม่ขลาดกลัวเป็นอย่างสุดท้าย
ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่าปีใหม่นี้มีสามแบบ ปีใหม่สามแบบก็คือปีใหม่แบบเด็กๆ ปีใหม่แบบคนขี้ขลาด และปีใหม่แบบคนไม่กลัว ปีใหม่แบบเด็กๆ ไม่รับผิดชอบอะไร ไม่มีธุระการงานอะไร มันก็ไม่มีความทุกข์อะไรมากนัก แต่ว่ามันพร้อมที่จะขยายไปในทางที่จะมีความทุกข์เมื่อโตขึ้นมา นี้เรียกว่าปีใหม่แบบเด็กๆ ปีใหม่แบบที่สองคือแบบคนขี้ขลาดเพราะธุระยังไม่เสร็จ ได้แก่ท่านทั้งหลายทั่วไปทุกคนที่รู้สึกว่าธุระของเรายังไม่เสร็จ ปีใหม่แบบที่สามก็ได้แก่ความใหม่ของคนกล้า ได้แก่ท่านทั้งหลายบางคนที่รู้จักตั้งจิตใจของตนให้มีความสันโดษ และกล้ามีความรู้สึกในทำนองที่ไม่มีตัวกูของกู เป็นอยู่เหมือนตายแล้วดังที่ว่ามา ขอย้ำว่าจงกำหนดจดจำปีใหม่สามแบบนี้ไปพิจารณาดูให้ดีโดยวันนี้เป็นวันตั้งต้นว่าปีใหม่ของเราจะใหม่จริงขึ้นมาได้อย่างไรในข้อที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ซ้ำกับปีเก่า แต่จะมีความสงบสุขแปลกออกไปจากปีเก่า โดยคิดดู พิจารณาดูจากปีใหม่สามแบบนี้ แล้วถือเอาสักแบบหนึ่งเถิด ขอแต่ให้มีความทุกข์น้อยก็แล้วกัน เมื่อเป็นดังนี้แล้วเวลามันก็จะละอายไปเอง มันไม่กล้าครอบงำย่ำยีบุคคลที่สามารถทำปีใหม่ให้ถูกต้องคือทำธุระให้เสร็จอยู่เสมอนี้เอง สิ่งที่เรียกว่าเวลาก็เปิดหนี ไม่จ่อหน้าคนผู้มีจิตใจอันตั้งไว้ชอบ ตามแบบของพระพุทธเจ้าคือไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่มีกิเลสตัณหา แม้ว่าจะไม่หมดกิเลสตัณหา ก็ควบคุมอย่าให้กิเลสตัณหาเกิดขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ให้มันอดอาหารอยู่ภายใน ไม่เท่าไรมันก็จะเหือดแห้งสิ้นไปโดยไม่มีเหลืออยู่เลย ก็จะเป็นคนที่ได้ปีใหม่อนันตกาล ปีใหม่นิรันดรสมตามความหมายของความเป็นพุทธบริษัท เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ทุกทิพาราตรีกาล ดังวิสัชนามา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้