แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรื่องของปาฏิโมกข์มาถึงอีกแล้ว ไอ้คําๆ นี้ไม่เคยมี ในประวัติของพุทธบริษัทเรา คําว่าธรรมปาฏิโมกข์ไม่มีใครเคยใช้ แต่ที่จริงมันก็มี ไอ้ตัวจริงมันก็มี คือการพูดถึงธรรมะที่จําเป็น ที่สําคัญ ซํ้าอยู่เป็นประจําอย่างแน่นอน ลักษณะอย่างนี้ก็เหมือนกับทำปาฏิโมกข์ ถ้าเรื่องนั้นมันเป็นเรื่องธรรมะ มันก็เป็นเรื่อง ธรรมปาฏิโมกข์ นี่เขาทํากันแต่วินัย บัญญัติไว้แต่ วินัยปาฏิโมกข์ ทีนี้เราเห็นว่า วินัยก็มีอยู่แล้ว ส่วนธรรมะที่ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่องกันนี่ยังมีอีกมาก นั้นจึงจัดในรูปนี้ขึ้นมา บางคนแรกได้ฟังก็นึกว่าเป็นเรื่อง อวดดิบอวดดี ไปตามเคย ชอบทําอะไรแปลกๆ แผลงๆ ไปตามเคย นําความโง่ของเขาบวกกับไอ้ความเรียกชื่อ บ้าๆ บอๆ ของเรา เกิดไอ้เรื่องอย่างนี้ขึ้น ก็เขาไม่ได้ดูให้ดีว่า อะไรมันมีอยู่ยังไง นั้นคําว่า ธรรมปาฏิโมกข์ หรือคําว่าโรงหนัง หรือคําว่าโรงมหรสพ ทางวิญญาณนี่ ก็เป็นเรื่องที่เกิดความ ทําให้เกิดความคึกโครม แต่ก็ดีเหมือนกัน คนเขาได้สนใจบ้าง ไอ้สําหรับคําว่า ธรรมปาฏิโมกข์ นี่เหมือนกันกับที่บอกแล้วทุกที่ว่า เรายํ้าซํ้าเรื่องเดียวกัน ตลอดกาลไปเลย ก็ดูปาฏิโมกข์สิ ๒๒๗ สิกขาบท เอามาสวดอยู่ทุกวันที่ ๑๕ ของเดือน ก็ซํ้าอยู่นั่น ซํ้าทุกตัวอักษร แล้วไม่มีอธิบายอะไรเลย ก็ทํา ก็ต้องทําหรือว่าควรทํา
เดี๋ยวนี้ไอ้ ธรรมปาฏิโมกข์ นี่ มีเรื่องที่จําเป็นไม่น้อยไปกว่านั้น และเป็นเรื่องที่เข้าใจยากกว่าเพราะมันไม่ใช่เรื่องระเบียบ บังคับ เป็นข้อๆๆ แล้วปฏิบัติกันอย่างนั้น นั่นมันง่ายและมันตรง ส่วนนี้มันเกี่ยวกับความคิดนึก สติปัญญา ความเข้าใจ นั้นมันจึงอยู่ในประเภทที่ลึกซึ้ง ยังลึกซึ้ง ยังลี้ลับอยู่ มันจึงต้องพูดบ่อย แต่ก็ไม่พูดในลักษณะตามตัวหนังสือ ตรงๆ ท่องตามตัวหนังสือ พูดในลักษณะที่เข้าใจกันทีละแง่ ทีละมุม ในหัวข้อ ข้อเดียว ซึ่งเป็นสรุปใจความของพุทธศาสนา เรื่อง ยึดมั่นถือมั่น กับ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เราเลยให้ชื่อเรื่องของเรา แปลกอีกเหมือนกัน แปลกจนคนเขานึกโกรธนึกหมั่นไส้นึกหรือคิดไปอย่างอื่นว่า เรื่องตัวกูของกู คํานี้เป็นชื่อหนังสือเล่มใหญ่ พิมพ์ขึ้นจากคําบรรยายประจําวันเมื่อหลายปีมาแล้ว เขาอยากจะให้ชื่ออย่างอื่น หนังสือเรื่องนี้ เราบอกว่าไม่ชอบ ชอบชื่อว่า ตัวกูของกู ไปตามความจริง หรือตามความตั้งใจมาแต่เดิม นั้นไอ้คําว่า ตัวกูของกู นี้มันก็มีอายุมาหลายปีแล้ว ที่ใช้ชื่ออย่างนี้ก็เพราะว่าให้มันจําง่าย สะดุดใจและจําง่าย และเป็นไปตามความรู้สึกได้ ตาม สัญชาตญาณ ภาษาธรรมดา
นี่ทบทวน คําๆ นี้กันอีกทีหนี่ง ว่า มันเป็นคําธรรมดา เข้าใจได้ตามความรู้สึก ตามธรรมดา ว่า ตัวกูของกู พูดเพียงเท่านี้ก็ประหยัดคําอธิบายได้มาก เพราะคนเคยมีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูกันอยู่ทุกคน ไม่ยกเว้นใคร นั้นมันจึงเป็นคําที่พูดออกไป ก็เข้าใจหรือรู้เรื่องทันทีได้ ถ้าเราจะไปใช้ อัตตา อัตนียา อหังการ มมังการนี่คงจะต้องถามกันอีกหลายทีกว่าจะรู้เรื่อง รู้เรื่องแล้วมันก็ลืม เป็นภาษาที่แปลกประหลาด นี่ใช้คําว่า ตัวกูของกู ทีเดียว สะดุ้งโหยง แล้วก็ไม่มีลืม นั้นเราจึงใช้ชื่อนี้ ใช้คําอย่างนี้ เรื่อยๆ มา เพื่อประหยัดเวลา เพื่อเข้าใจลึกซึ้ง เพื่อทําให้เรื่องมันง่าย
ที่เราก็จะได้พูดกันวันนี้ เรื่องตัวกูของกู อีกตามเคย จะเรียกว่า พูดในแง่หนึ่งมุมหนึ่ง ก็ได้เหมือนกัน ที่จริงมันก็ยังเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ได้หลายแง่ หลายมุม ที่เป็นแง่หนึ่งมุมหนึ่งก็โดยคําพูดเป็นหลัก หรือว่าแกล้งพูดให้เรื่องมันเด่นไปในแนวหนึ่งแนวหนึ่ง โดยความมุ่งหมายต้องการจะให้ เกลียด กลัว ตัวกูของกูนี่มากขึ้นๆ ทุกคราวที่พูด นี่เรื่องว่ามันเรื่องเดียวกันแท้ตลอดเวลา สําหรับคนทั่วไป สําหรับชาวบ้าน สําหรับอะไรอย่างนี้ มันต้องใช้คําธรรมดาอย่างนี้ ซึ่งบางทีก็ผิด ผิดทาง logic ของภาษา แต่เราก็ต้องพูดอย่างนี้ เช่น วันนี้จะมีหัวข้อว่า ธรรมะเข้ามา ตัวกูก็ออกไป ตัวกูเข้ามา ธรรมะออกไป ให้ใจเหมือนกับเวทีชนิดหนึ่ง พอธรรมะเข้ามา ตัวกูก็ออกไป ตัวกูเข้ามาธรรมะก็ออกไป เวทีเดียวกันนี้คือใจ
พูดอย่างนี้ฟังง่ายที่สุด ชาวบ้าน คือเขาเข้าใจเอาเองอยู่แล้วว่า ธรรมะนี้มันเป็นฝ่ายดี ตัวกูเป็นฝ่ายไม่ดี เป็นฝ่ายกิเลส แล้วเป็นคําพูดที่ใช้ได้ และมีประโยชน์ และปฏิบัติได้ และใช้ได้ประโยชน์ไปเลย แต่ทาง logic ของภาษานั่นมันอาจจะใช้ไม่ได้ เพราะว่า คําว่าธรรมะนั้นมันกว้างเกินไป เป็นใช้กับอะไรก็ได้ แม้แต่สิ่งที่ว่าตัวกูนั่นก็เหมือนกัน มันเป็นธรรมะประเภทหนึ่ง แต่เป็นธรรมะประเภทที่ทําอันตราย ทําอันตราย ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เราเกลียดนํ้าหน้ามัน ก็ไม่ให้ชื่อว่า ธรรมะ ให้ชื่อเป็นอย่างอื่น เป็นกิเลส เป็นพญามาร เป็นซาตาน เป็นอะไรไป ที่จริงก็คือธรรมะประเภทหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามกับธรรมะอีกประเภทหนึ่ง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมมะ ที่ไม่อาจเรียกได้ด้วยคำว่า ธรรมะ มันธรรมะทั้งนั้น เพราะธรรมะก็หมายถึง ธรรมชาติ ความเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ ขบวนการของกฏธรรมชาติ การประพฤติปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติ อันนี้เป็นธรรมะทั้งนั้น ขบวนการของธรรมชาติไอ้ส่วนที่มันทําอันตรายคนนี่ไม่ใช่มันมีเจตนาจะทําอันตรายใคร แต่มันเป็นอย่างนั้นเอง ไปเอามาใส่เข้า มันก็มีความทุกข์ เดือดร้อนขึ้นมาทันที ธรรมะส่วนที่เกื้อกูลคน มันก็เป็นที่ถูกอกถูกใจ แล้วเราก็เรียกว่าธรรมะต่อไป ส่วนที่มันทําอันตรายคน เราไม่เรียกว่า ธรรมะ ภาษาพูดเราเรียกว่า กิเลส เรียกว่า พญามาร เรียกอะไรไปเลย แต่ถ้าทางภาษาบาลี คงเรียกว่า ธรรม อยู่ตามเดิม อกุศลธรรม ลามกธรรม บาปธรรม อะไรก็ว่าไป เรียกว่าธรรม อยู่ตามเดิม ไอ้พวกนั้น คือพวกที่มาเรียกเสียใหม่ ว่าตัวกู ว่าของกู คือธรรมะส่วนที่ทําอันตรายคน นั้นคนมันก็ธรรมะ ใจมันก็ธรรมะ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ เหมือนอธิบายไว้ในหนังสือบางเล่ม ปาฐกถาบางเรื่องโดยละเอียดแล้ว นั่นเป็นหลักทางภาษา เดี๋ยวนี้เรามาพูดว่า ธรรมะเข้ามา ตัวกูออกไป ตัวกูเข้ามา ธรรมะออกไปนี่ มันผิด logic ทางภาษา แต่รู้เรื่องได้โดยไม่ต้องพูดถึง ก็ได้ เพราะว่าเราไม่ได้เรียนภาษา เราเรียนเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ โดยตรง นั้นจึงคงพูดได้ต่อว่า ธรรมะเข้ามา ตัวกูออกไป ตัวกูเข้ามา ธรรมะออกไป แล้วก็ให้รู้ตามหลักของภาษาว่าอย่างนั้น เราเอาไอ้ส่วนหนึ่งมาเรียกว่าตัวกูเสีย ส่วนหนึ่งเรียกว่า ธรรมะอยู่ตามเดิม ธรรมชาติฝ่ายหนึ่งเขาเรียกว่า พระเจ้า ธรรมชาติฝ่ายหนึ่งเขาเรียกว่า ซาตาน ที่แท้ก็อันเดียวกัน เป็นธรรมชาติด้วยกัน ว่าธรรมชาตินั้นมันไม่ได้เป็นอะไรกับใคร ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ได้เจตนาทําอะไรแก่ใครโดยเฉพาะ มันมีหลักเกณฑ์ของมันอย่างนั้น มันมีคุณสมบัติของมันอย่างนั้น ไปเอามันเข้า มันก็เป็นอย่างนั้น มันก็แน่นอน นั้นพวกที่รู้ดี เขาก็รู้จนถึงกับว่า ซาตานกับพระเจ้านั่นสิ่งเดียวกัน หรือ นิพพานกับสังสารวัฏ เป็นสิ่งเดียวกัน เพราะเล็งถึงส่วนลึก คือเป็นธรรมชาติเท่านั้น เป็นธรรมชาติด้วยกันเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ธรรมชาตินั้นมันมีหลายแขนง หลายสาขา แล้วโดยสรุปแล้ว แขนงหนึ่งมันทําอันตรายมนุษย์ แขนงหนึ่งมันเกื้อกูลมนุษย์ ตามความต้องการ ของมนุษย์ ไม่ใช่ความต้องการของธรรมชาตินั้น ที่เราเกิดคำสมมุติ เรียกเอาเอง ตามความชอบใจ ตามความพอใจของเรา ว่าฝ่ายนี้คือธรรมะ ฝ่ายโน้นคือพญามารขึ้นมา เพราะเราต้องการประโยชน์ คําพูดที่พูดไปตาม การอาศัยประโยชน์เป็นหลักนี่คือภาษาคนไม่ใช่ภาษาธรรมะ นี้ภาษาพูด ภาษาคนนี้ ใช้ๆ กันอยู่ประจํา อยู่ในขอบเขตการใช้ อยู่ในการใช้เป็นประจําวัน ภาษาธรรมะนั้นต้องสอนต้องเรียนเป็นพิเศษโดยเฉพาะไปเลย นั้นเราที่อุตสาห์พูดกันนี้ เพราะต้องการให้รู้ภาษาธรรมะมากขึ้น พร้อมกับรู้จักตีความหมายของภาษาคนนี้เป็นภาษาธรรมะ
หัวข้อที่ว่า ธรรมะเข้ามา ตัวกูออกไป ตัวกูเข้ามา ธรรมะออกไป มันเพื่อการปฏิบัติ โดยตรง ก็ระวังอย่าให้ธรรมะชนิดหนึ่งเกิดขึ้นในใจ ให้คงอยู่มีแต่ธรรมะชนิดหนึ่ง ตรงกันข้าม ตัวกูนี่มันเป็นชื่อของ อุปาทานธรรมะประเภทที่เป็นความยึดมั่นถือมั่น แล้วบทสรุปของความทุกข์ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา สรุปสิ่งที่ถืออยู่ด้วยอุปาทานว่าเป็นทุกข์ จะเป็นความคิดนึกก็ได้ เป็นวัตถุสิ่งของได้ เป็นความรู้สึกในใจอะไรก็ได้ ถือเข้าแล้วก็เป็นความทุกข์ เดี๋ยวนี้เราถือตัวถือตน ด้วย อัตตวาทุปาทาน มีตัวกู มีของกู สร้างความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก ลมๆ แล้งๆ ขึ้นมาใหม่ สําหรับเป็นทุกข์ ไปชั่วขณะนั้น นั้นต้องระวังให้ดี
ด้วยข้อปฏิบัติ เพียงคำเดียว คือ สติ คํานี้ก็อาภัพเหลือแสน ที่คนไม่ค่อยจะให้ความสนใจหรือความยกย่องให้ ให้มากพอ คําพูดว่า สติ คําเดียวมันพอสําหรับบรรลุนิพพาน หรืออะไรทุกอย่าง แต่คนก็ไม่ได้ให้ความสําคัญมันมากถึงเท่านั้น ก็เลยไม่ค่อยได้ใช้กัน ก็ขาดสติอยู่เรื่อย พอขาดสติ ก็ตัวกูเข้ามา ธรรมะก็กระเด็นไป พอขาดสติทุกที ก็เป็นอย่างนั้นทุกที พอเผลอสติ ก็หมายความว่า ธรรมะฝ่ายที่จะทําอันตรายมนุษย์ ก็มีโอกาส เพราะฝ่ายนั้นมันเป็นไปตามสัญชาตญาณที่เคยชิน และโดยง่ายกว่า เหมือนกับลื่นไหลไปในทางตํ่า มันง่ายกว่า ส่วนที่มี สติ หรือว่ามีธรรมะนี้ มันเป็นฝ่ายสูง มันกลิ้งขึ้นไม่ค่อยจะไหว นั้นมันจึงมีโอกาสน้อยกว่า นั้นสิ่งที่จะแก้มันได้ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า สติ คือมีความรู้ถูกต้อง ทันเวลา อยู่เสมอ อย่าพูด อย่างที่เขาพูดกันโดยมากว่า สติ ความระลึกได้ อย่างนี้ มันไม่สมบูรณ์ คําว่า สติ ต้องเป็นความไม่ประมาท เป็น อัปประมาทหมายถึงมีความรู้ที่ถูกต้องอยู่อย่างสมํ่าเสมอ ไม่ขาดระยะ ถ้าไปพูดว่า ความระลึกได้ มันก็เป็นเรื่องนิดๆ หน่อยๆ ประเดี๋ยวประด๋าวไปเลย
คําว่า สติ เป็นคําแทนชื่อของคำว่า อัปปมาทะ คือความไม่ประมาท ทีนี้ไม่ประมาทไม่ใช่เพียงแต่ไม่อวดดี นั่นมันภาษาไทยต่างหาก ประมาทคืออวดดี มทะ คําเดียวกันหล่ะ มัวเมา ลืมตัว นั้นต้องไม่มัวเมา ต้องไม่ลืมตัว จึงเรียกว่า อัปปมาท มัวเมาคือ ก็ไม่รู้ ถ้ารู้ก็มัวเมาไม่ได้ นั้นความจริงเป็นอย่างไร ความถูกต้องเป็นอย่างไร ต้องรู้ แล้วความรู้นั้นอยู่กับเนื้อกับตัวอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่ารู้เฉย อยู่ในหนังสือ อยู่ในความที่ต้องคิดต้องนึก นั้นต้องรู้สึกพร้อมทันท่วงทีอยู่เสมอ เราไม่ได้ท่องไอ้ข้อความเหล่านี้ไว้ แต่มันก็ประหลาด ที่ว่ามันชัดเจนแจ่มแจ้ง พร้อมเสมอที่จะแสดงออกมา นั้นเราจะต้องศึกษาให้มันรู้ว่า อะไรเป็นอะไร เช่นว่า ตัวกูเป็นอะไร ธรรมะเป็นอะไร จนมีความรู้จริงๆ ไอ้ความรู้นี้อยู่เสมอ ก็เรียกว่า มีสติ
ถ้าให้ละเอียดออกไปเขาแยกเป็น สองตอน คือมีคําว่า สัมปชัญญะ พ่วงท้าย สติ กับ สัมปชัญญะ สติก็เป็นหน้าที่ ระลึก และ ควบคุม ให้มันระลึกขึ้นให้ได้ และ สัมปชัญญะ รักษาไว้ให้อยู่ แต่ว่าคําสองคํานี้ผนวกกันเป็นคําเดียวเรียกว่า สติ อยู่ในที่ทั่วๆ ไป ในพระบาลีในอะไรต่างๆ ใช้คําว่า สติ เพียงคําเดียว ก็พอแล้ว สัมปชัญญะ นั้นก็จะไว้พูดเป็นบางครั้งบางคราวก็ได้ เพราะมันรวมอยู่ในสติแล้ว เรามีสติไม่ขาดสาย ก็คือมี สัมปชัญญะ อยู่แล้ว
จะพูดกันทางภาษา logic ทางภาษาสมบูรณ์ จึงจะพูดว่า สติ และสัมปชัญญะ แต่ถ้าเราพูดตามธรรมดาชาวบ้านพูด ว่าสติคําเดียวก็พอ พอเผลอสติแล้วก็คือ มีตัวกูเข้ามา ในลักษณะที่เป็นอันตราย เสมอไป มันมาในรูปที่ทําให้ ละโมบโลภลาภ เป็นโลภะก็มี ทําให้โกรธ ก็มี ให้มัวเมาหลงไหล ก็มี ไอ้คําว่า มัวเมา หลงไหล นี้มันความหมายมันกว้าง ไม่ใช่ เมาเหล้าหรือว่าเมาอะไรทํานองนั้นโดยตรง ถ้าว่า จิตใจมันไม่สว่างไสวอยู่แล้ว ก็เรียกว่า มัวเมา เรียกว่า โมหะ ทั้งนั้น ถ้าจิตใจมันสว่างไสว สดชื่น เบิกบาน กระปรี้ กระเปร่าอยู่แล้ว ก็เรียกว่า ไม่มี โมหะ นั้นคําว่า โมหะ มันจะกว้าง ไอ้โลภนี้มันจะเอา มันจะรวบรัดเอา ไอ้โกรธนี้มันไม่เอา มันจะเตะให้กระเด็นไป ไอ้ส่วนโมหะนี่มันไม่เกี่ยวกับสองอย่างนั้นน่ะ มันมัว มันไม่ได้แน่ไปหมด มันลังเล หรือว่ามันมีอาการ ไปทางที่เรียกว่า ไม่แจ่มใส การปล่อยให้ใจคอละเหี่ย อ่อนเพลีย นี้ก็ เป็น โมหะ เหมือนกัน เป็นอาการตัวกูของกูที่เต็มเปี่ยมในแขนงของมัน หมายถึงโมหะ(นาทีที่ 23:24) นั้นเราก็มีทุกข์ เพราะว่าความไม่แน่ใจ ไม่สดชื่น รื่นเริงในจิตใจ ไม่กระปรี้กระเปร่า พอแล้ว นั่นเรียกว่า เสียไปในส่วนนี้ ตัวกูของกูเกิดขึ้น ยํ่ายี ทําให้เกิดความไม่เป็นผาสุข ท้อแท้ รําคาญอยู่ มันเป็นอันตรายอันดับที่ ๒ คือว่าถ้าคนเรามีความ ท้อแท้ อ่อนเพลีย ซึมเซา ไม่เบิกบาน น้อยเนื้อ ตํ่าใจ รําคาญอะไรอยู่นี้ มันมีเรื่องอื่นเกิดขึ้นได้ ไม่เคยตกร่อง มันก็ตกร่องได้ ไม่เคยหกล้ม มันก็หกล้มได้ ก็ไม่ควรจะเข้าใจไปว่า มันคนละเรื่อง มันเรื่องเดียวกัน มันมีมูลมาจาก ตัวกูของกู ที่แสดงอาการประเภท โมหะ มันจึงทําให้ตกร่อง ทําให้หกล้ม ทําให้มีดบาดมือ ทําให้อะไรต่างๆ ได้ จนแม่ครัวอาการถูกมีดบาดมือ นี่ต้องถือว่าเป็นเวลาที่มีตัวกูของกู แต่ถ้าเด็กเล็กๆ ถูกมีดบาดมือ นี้ไม่ใช่ เป็น accident ตามธรรมดาได้ เพราะเขาไม่มีความรู้เรื่องนี้ แต่ถ้าแม่ครัว ผู้เชี่ยวชาญถูกมีดบาดมือ ก็คือความโง่ ประเภท โมหะ ครอบงําเข้าแล้ว มีใจคอไม่ปกติ ใจลอย หรือว่าใจอะไรก็ตามใจ มันก็มีดบาดมือได้ ถ้านั้นถ้าเมื่อมีอาการ ประเภท โมหะ นี่แล้ว อันตรายมีอยู่รอบด้าน เราอาจจะลุกขึ้นเซหกล้มก็ได้ ไม่ต้องมีอะไร นั้นมันจะต้องเข้าใจกันให้ถูกต้อง ว่าอะไรมันเป็นเรื่อง ของการขาดสติ สัมปชัญญะ อะไรมันเป็นเรื่อง accident ไม่อยู่ในขอบเขต ที่เราจะควบคุมมันได้ มีคนทะเลาะกันเรื่อย ที่คนหนึ่งหาว่าเป็นเรื่อง ล่วงเกิน คนหนึ่งหาว่าเป็นเรื่องปกติ ธรรมดาเป็น accident ทํานองนั้น
ทีนี้ถ้าว่าเป็นนักธรรมะ ผู้มีธรรมะแล้วมันก็ต้องยอมรับ ในการที่มันสลับซับซ้อนกันอยู่หลายๆ ชั้น เช่นว่า ทําไมผ่าไปขึ้นรถคันนั้น ที่คนขับมันบ้าๆ บอๆ ขี้เมาแล้วมันไปตกถนนตายกันหมดนี่ ถ้าเป็นว่าคนนั้นไม่สังเกตไม่ดูไม่แล ไม่อะไร มันก็เป็นความโง่ของคนนั้น เป็นผลจากการขาดธรรมะ ถ้าเขาดูแลดีหรือทำอะไรดีเป็นที่สุดแล้ว มันยังมีมาอีก ก็จะจัดเป็น accident หรือว่าเป็นผลของกรรม เป็นอะไรก็สุดแท้แต่ แต่ถ้าเป็นผลของกรรม มันก็ไปจบลงที่ ตัวกูของกูอีกเหมือนกัน กรรมนี่มันต้องทําขึ้นด้วยความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู มาแต่หนหลังแต่ชาติก่อน หรือแต่เมื่อไรก็ตามใจ มันไม่หนีไม่พ้นการขาดธรรมะ การที่จะ accident โดยไม่เกี่ยวกับการขาดธรรมะนี่นับว่ามีน้อยมาก เพราะเหตุว่าผู้บัญญัติ ธรรมะ เขาเอาเปรียบ เขาให้ความหมายของคําๆ นี้มันกว้างเกินไป จนแทบจะหลีกไม่พ้น แล้วยังแถมว่ามี กรรมเก่า ชาติก่อน ด้วยแล้วก็ยิ่ง ไม่มีขอบเขตที่กว้างขวาง จนเราไปรถไฟกันขบวนหนึ่งตกรางตายกันหมดทั้งขบวน ถ้าสมมุติว่า เป็นอย่างนั้น เมื่อไม่มีทางอธิบายอย่างอื่น มันก็เป็นเรื่องของกรรมเก่า หรือจะถ้าว่ามันเป็นเรื่องไม่มีธรรมะของคนขับรถไฟ ขบวนนั้น เราไปพอดีกันเข้า มีส่วน เพราะมีกรรมเก่า หรือมีอะไรก็สุดแท้ แต่ถ้ามันไม่มีอะไรเลยแล้ว มันจึงยกให้เป็นเรื่อง accident มันกลายเป็นเรื่องของธรรมะที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรา อย่างนี้เขาเรียกว่า กรรมของวัฏฏะ กรรม กรรมนี้ กรรมอย่างที่ว่านี้ กรรม การกระทําของวัฏฏะ คือวัฏฏสงสาร ไม่ใช่ของบุคคลใด บุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ หมายถึง สัตว์เป็นส่วนรวมที่มีความโง่อยู่กันรวมๆ กันในโลกนี้ นั้นก็เป็นเรื่องขาดธรรมะอยู่นั่นเอง นั้นอย่าไปพูดถึงดีกว่า พูดไอ้เรื่องที่ว่า มีทางป้องกันอย่างไร คือมี สติ
เดี๋ยวนี้คนขาดธรรมะมากถึงขนาดที่เรียกว่า ไม่รู้จัก ไอ้สิ่งที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล คือไม่รู้จักธรรมะนั่นเอง ดูถูกดูหมิ่นธรรมะไปเสีย นั้นอาจจะมีได้แก่พระ แก่เณรที่กําลังเรียน ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะอยู่นี่ คือขาดสติ เมื่อไร ก็เรียกว่า ไม่มีธรรมะเมื่อนั้น ดูหมิ่นธรรมะเมื่อนั้น แล้วมันน่าสงสารก็น่าสงสาร น่าหัวก็น่าหัว ที่ว่า ไอ้ธรรมะข้อนี้เผอิญ มันอยู่บรรทัดแรกของหนังสือตําราเรียนของเรา ธรรมมีอุปการะมาก สองอย่าง คือ สติสัมปชัญญะ บรรทัดแรกของธรรมะใน นวโกวาท เลยถูกเหมาว่าเป็นเรื่องเด็กๆ เป็นเรื่องขั้นต้นเกินไป เป็นเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ให้ความสนใจน้อย ไปสนใจเรื่องที่เข้าใจยาก หรือว่าลึกลับเสียหมด นี่เป็นความโง่เขลาข้อแรก ไม่สนใจ ไอ้ที่สําคัญที่สุด แล้วเผอิญอยู่ที่บรรทัดแรก
ไอ้ธรรมะหญ้าปากคอก นั่นแหล่ะ ระวังที เรียกว่าธรรมะ หญ้าปากคอก ก็หมายความว่า มันอยู่ข้าง ข้าง ข้างตรงที่เราเดินข้ามไปข้ามมา มันอยู่ตรงที่เราเดินข้ามไปข้ามมา ไม่สนใจ หมวดที่ว่า ธรรมมีอุปการะมาก คือ สติสัมปชัญญะ แล้วก็ธรรมเป็นโลกบาล คุ้มครองโลก คือ หิริและโอตัปปะนี้ไม่สนใจเท่าไรหรอก ทั้งที่คํามันก็วิเศษเหลือเกินน่าสนใจอย่างยิ่ง แล้วตามข้อเท็จจริงในที่สุดก็คือ เพราะขาดไอ้ ๒-๓ สิ่งนี้ ไม่ได้ขาดอย่างอื่นเลย ขาด ๒-๓ สิ่งนี้ จึงมีตัวกูของกูมาเป็นฝูงๆไปเลย หลายอย่างหลายชนิด แล้วแก้ไม่ได้ เพราะมันขาด หิริและ โอตัปปะ มันไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จัก กลัว ขาดหิริโอตัปปะ คือมันไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัว ในการที่ว่ามี ตัวกูของกูเข้ามา ที่เกิดขึ้น ก็แปลว่า แม้ว่าจะได้รับผลร้าย จากตัวกูของกูอยู่เสมอๆ ก็ไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัว แล้วมันก็เผลอเรื่อย ขาดสติเรื่อย ถ้ามันรู้จักละอายรู้จักกลัวเสียบ้าง ไอ้ความเผลอสติ มันก็จะน้อยลง เพราะมันกลัว ถ้ามันละอาย เดี๋ยวนี้พอเกิดเรื่องขึ้น ไม่ละอาย กลับโกรธมากขึ้น กลับคิดแก้แค้นมากขึ้น กลับคิดไปในทาง ที่ไปเพิ่มกําลังให้กับฝ่ายตัวกูของกู นั้นธรรมะ ๒-๓ ข้อเพียงในบรรทัดแรก ๒-๓ บรรทัดของหนังสือเรียน คือนวโกวาท และชั้นตรี พอแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั้นขอให้มีความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมะ ๒-๓ ข้อนี้ก็พอ มีสติสัมปชัญญะ เพื่อป้องกัน แล้วก็มีหิริและโอตัปปะ ช่วยให้มันกลัว ขู่อย่าให้เกิดซํ้าอีก
นี่มันเป็นหลักที่คนไม่สนใจ ทั้งฆราวาส ทั้งบรรพชิต เราถือเป็นเรื่อง หญ้าปากคอก ยังมาพูดกันอีก นี่เอามาพูดกันเสียใหม่ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเดี๋ยวนี้ที่ตั้งตัวเองอยู่ในระดับสูง เป็นผู้รู้ธรรมะ บวชนาน หรืออะไรนานนี่ ที่แท้มันก็ยังขาดไอ้ธรรมะ ข ก กา พื้นฐาน ขาดหิริโอตัปปะ ขาดสติสัมปชัญญะ
ทั้งรักษาเล่าเรียนไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องนี้ สอนกันไม่สมบูรณ์ เอามาใช้ไม่ได้ แม้แต่ในกรณีเดียว ไม่ต้องพูดถึงว่าในทุกๆ กรณี หรือว่าทุกๆ ระดับ คือผมหมายความว่าไอ้ธรรมะหญ้าปากคอกที่เขาเรียกกันหญ้าปากคอกนี่ คือใช้ได้ทุกระดับ ตั้งแต่ขั้นต้นๆ ตํ่าๆ นี้จนกระทั่งขั้นสูงขึ้นไป จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพานโดยสมบูรณ์ มันทุกระดับอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เอามาใช้ไม่ได้แม้แต่ในระดับเดียว ระดับแรก เพราะว่าไม่รู้ ไม่รู้จักมัน นี่มันเป็นเรื่องจริง หรือให้มันเป็นเรื่องจริงมากขึ้นก็คือว่า ถ้าดูเรื่องนี้ พอธรรมะมี คือสติมี ตัวกูก็หายไป พอเผลอสติ ตัวกูมี ธรรมะก็หายไป นั่นแหล่ะคือการที่ไม่มี สติสัมปชัญญะ และไม่มีหิริโอตัปปะ มันเป็นสิ่งที่น่าละอายอย่างยิ่ง สําหรับความเป็นมนุษย์ ก็ไม่ละอาย ถ้ามันน่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งใดๆ หมด มันก็ไม่กลัว
กลับไปทําในลักษณะที่มันส่งเสริมให้ หลงไหล ให้เผลอสติ ไม่มีสติ มากขึ้น มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความเอร็ดอร่อย นี่มันเป็นคําโสก กะ โดก (นาทีที่ 39:27) ไม่น่าฟัง แต่มันก็พอๆ กันล่ะกับคําว่า ตัวกูของกู นํามาใช้กันได้ ความเอร็ดอร่อยไปในทางกาม นั่นก็ไม่ต้องพูดถึง มันก็ครอบงําใจมาก แต่ว่าความเอร็ดอร่อยไปในทาง ภพ ที่เขาเรียกว่า ภพ ภะ-วะ นี่ ยิ่งร้ายไปกว่า ยิ่งลึกไปกว่า ถ้าใครยังไม่เข้าใจก็ฟังดูให้ดีๆ ว่าความอร็ดอร่อยในทางกาม กามารมณ์ หรือ กามคุณ นั่นน่ะ ก็ไม่ใช่เล่น ที่ดึงดูดใจหรือครอบงําใจ แต่ความเอร็ดอร่อย ในทาง ภพ ภ สําเภา พ พาน นั่น ยิ่งไปกว่าอีก ร้ายกาจยิ่งไปกว่าอีก แล้วถ้าจะจัดกันแล้ว ก็ต้องจัดว่า อันตรายกว่า หรือน่าติเตียนกว่า ไอ้ได้บริโภคอะไรอร่อยๆ ทางปากทางท้อง อะไรอยู่นี่ หรือว่าทางเนื้อหนังก็ตาม กระทั่งความโมโห ทางตัวกูของกูเกิดขึ้นแล้วล่ะก็ หมด หมดไปเลย หมดไปเลย จะไม่รู้สึกรัก จะไม่รู้สึกอร่อย อํานาจของตัวกูของกู ที่ไปหลงความเอร็ดอร่อยในทางภพนี่ ความเป็นนั่นเป็นนี่ มันยิ่งไปกว่าที่จะ ไปเอร็ดอร่อยในทางกาม คือเอานั่นเอานี่ นั้นกิเลส ที่หยาบที่เลวที่สุด ไม่ใช่ เรื่องกามารมณ์ ไม่ใช่เรื่องราคะทางกามารมณ์ แต่ได้แก่ กิเลสทางโมหะ เป็นตัวกูเป็นของกู นั่นแหล่ะกิเลสที่เลวร้ายที่สุด ที่ต้นแรก อันดับแรก หรือ เบื้องต้นที่สุด แต่เดี๋ยวนี้คนโดยมากเข้าว่า ไอ้เรื่องราคะ เรื่องกามารมณ์นี่ ร้ายกาจอยู่ก่อนนัมเบอร์หนึ่งก่อน ต้องอะไรกันนี่ ต้องติเตียนกันก่อนนี่ แต่ตามหลัก ตามธรรมะนี่ ไม่ใช่อย่างนั้น กิเลสเกี่ยวกับ ภพ นี่ เลว ร้ายหรืออันตรายก่อนยิ่งกว่ากิเลสเกี่ยวกับกาม นั้นการที่ไปมุ่งมั่นที่จะละกิเลสที่เกี่ยวกับกามก่อนเป็นเรื่องแรก ดูจะเป็นความโง่ที่สุด คือมัน
ข้อนี้เห็นได้ง่าย จากหลักธรรมะที่บุคคลละแล้ว จะเป็นอริยบุคคล เป็นปุถุชนอยู่อย่างนี้ จะเริ่มละกิเลสอะไร จึงจะเป็นอริยเจ้า เป็นอริยบุคคลขึ้นมา มันก็ดูสิเช่นอย่าง สังโยชน์ ๑๐ ประการ มีอยู่ ๑๐ อย่าง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ไอ้ ๓ อย่างแรกคือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นั้นเรื่องตัวกูของกูที่โง่เง่าทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับราคะ เลย พระโสดาบันไม่ละกิเลสเกี่ยวกับ ราคะ สิ้นเชิงได้ หรือก่อน ละก่อน กลับไปละเรื่อง สักกายะทิฐิคือตัวกูของกูที่หยาบ ที่เลวที่สุดเป็นนัมเบอร์ ๑ แล้วจึงละ วิจิกิจฉา คือตัวกูที่เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ เป็นนัมเบอร์ ๒ แล้วจึงละ สีลัพพตปรามาส คือตัวกูที่ดันทุรังติดตังอยู่ในไอ้ความงมงาย เป็นอันที่ ๓ ละได้ ๓ อย่างนี้ก็เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคล โดยสมบูรณ์ในขั้นหนึ่งแล้ว ต่อไปจากนั้นจึงจะละ ราคะ ปฏิฆะไอ้เรื่อง ราคะในทางกามารมณ์มาเป็นอันดับที่ ๔ สําหรับพระอริยบุคคลถัดขึ้นไป ประเภทที่ ๒ เอ้ย คือประเภทที่ ๓ คือ พระอนาคามี โน่น พระสกิทาคามี ก็ยังเล่นงานมันไม่ได้ ไปเล่นงานราคะ ปฏิฆะในชั้นพระอนาคามี พระอริยบุคคลอันดับ ๓ แล้วราคะที่ตัวกูของกูที่ละเอียดไปยิ่งกว่านั้น ไม่เกี่ยวกับกาม คือ รูปราคะ อรูปราคะนั้น พระอรหันต์พวกเดียวเท่านั้นที่จะละต่อไป ละ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุททัจจะ อวิชชา ถ้าว่า กามราคะ เป็นเรื่องต้นตอ เบื้องต้น ร้ายกาจ จนต้องละเป็นนัมเบอร์ ๑ แล้วมันก็ต้องมาเรียงอยู่นัมเบอร์ ๑ ไม่ไปเรียงอยู่นัมเบอร์ ๔ สําหรับ พระอนาคามี จะพึงละโดยตรง ไอ้มาเรียงนัมเบอร์ ๑ คือ สักกายทิฏฐิ คือตัวกูของกู ที่ยกหูชูหาง ท่วมฟ้าท่วมดิน ไปเลย นั้นจะต้องสนใจว่า ไอ้เรื่องตัวกูของกูนั้น เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องปัญหาใหญ่ เป็นประเด็นใหญ่ สักกายะ แปลว่า กายของกู ตัวกูนี่ สะ แปลว่า ของกู ของตน กายะ ก็แปลว่า กาย สะกายะ หรือ สักกายะ นี่แปลว่า กายของกู กิเลสหยาบชนิดตัวกูหยาบๆ นี่ต้อง ขูดเกลากันก่อน แล้วมีความแน่ใจที่จะละ จะฆ่ามัน ก็เลิกความงมงายที่เคยดันทุรังเอาไว้ ด้วยความงมงาย เสียด้วย นี่มันเป็นเรื่องละตัวกูทั้ง ๓ ข้อเลย จึงจะเป็นพระโสดาบัน ขึ้นมาได้ ส่วนเรื่องกามราคะนั้นมันยังยาก ไม่ใช่ว่ามีกันเต็มที่ มันก็มีอย่างพอสวมควร พระโสดาบันจะมี กามราคะ อย่างนี้มันก็มีพอสมควร แต่ก็ไม่ถือกับว่าละได้ แต่ สักกายะ คือตัวกู หยาบๆ เลวๆ นี้ต้องละก่อน นั้นถ้าใครไปหลงคิดอยู่ว่า เรื่องราคะเป็นเรื่องต้องจัดการก่อนแล้วก็จะทําไม่ได้ เหมือนกับจับปูใส่กระด้ง มันควบคุมไว้ไม่ได้ มันควรจะหันไปสนใจไอ้ในเรื่อง ตัวกู ของกูก่อน แล้วก็ทําให้มันถอยกําลัง ทุพลลภาพลงไป ไอ้กามราคะมันก็ซาไปด้วยกัน อย่างนี้เรียกว่าเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันก็เป็นเรื่องที่ทําได้ หรือ ปฏิบัติได้ เป็นสิ่งที่มนุษย์จะพึงทําได้ ถ้ามันผิดกับเรื่องกฏของธรรมชาติแล้วมันก็ยาก
เรามักจะพูดไปอย่างหนึ่ง ปฏิบัติมันอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับที่เขาแยกเป็นเรื่องฝ่ายทางหลักวิชาและฝ่ายปฏิบัติ เช่นพูดว่า โลภะ โทสะ โมหะ ๓ อย่างนี้ พูดจนชินเลย โลภะ โทสะ โมหะ นี่ ๓ อย่างนี่พูด อย่างนี้มันคล้ายๆ กับว่า ไอ้โลภะนั่นมันเป็นสิ่งต้องเล่นงานก่อน เป็นสิ่งที่เราต้องเล่นงานมันก่อน แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ มันกลายเป็นว่า มันต้องเล่นงานโมหะนั่นหล่ะก่อน เหมือนที่พูดเรื่อง สังโยชน์ มันต้องเล่นงานตัวกูของกูประเภทโมหะ ในรูปของโมหะ นั่นก่อน คือมันต้องฉลาดพอสมควรก่อนมันจึงจะไปเล่นงานไอ้โลภะ หรือ โทสะ ได้ หรือตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง เช่นเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราพูด เราพูด ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่อย ไม่มีใครพูดอย่างอื่น แต่ในทางปฏิบัติมันกลับกันอยู่ว่า เป็นปัญญา แล้ว ศีล แล้ว สมาธิ ไปดูที่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ๒ อย่างนี้เป็นปัญญา มาก่อนเพื่อน แล้วจึงถึง สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นี่ ๓ อย่างนี่เป็น ศีล แล้วก็มา วายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ๓ อย่างนี่เป็น สมาธิ โดยทางปฏิบัติ ไอ้ปัญญาดันมาก่อน มาข้างหน้า แล้วจึงศีล จึงสมาธิ แต่ถ้าพูดแล้วพูด ศีล สมาธิ ปัญญานั่น เพราะว่าไอ้การพูดมันพูดตาม logic ของภาษามากกว่า แนวของการปฏิบัติ แต่เมื่อการปฏิบัติเข้าจริงๆ มันเอาตามนั้นไม่ได้ มันเอาตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติที่แท้จริง มันจึงต้องมีความฉลาดมาก่อนสิ่งใดหมด ศีลจึงจะมีมาได้ สมาธิ มันจึงจะมีมาได้ แล้วมันส่งเสริมกันทีหลังเรื่อยไป เรื่อยไป เป็นวงกลมไปได้ การละสังโยชน์ก็ต้องเอาปัญญามาก่อน เพื่อจะละ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
นั่นขอให้ถือว่าที่พูดนี่ ที่เอามาพูดนี้ก็เพื่อให้ชําระสะสาง ไอ้สิ่งที่ยังเข้าใจผิดอยู่ หรือ ว่ามันยังไขว้เขว กันอยู่นี้ ให้ถูกต้องเสียที มันต้องเล่นงานไอ้ตัวกูของกูประเภท โมหะ นั่นแหล่ะก่อน มันจึงจะสว่างไสว แจ่มแจ้ง เบิกบาน สดชื่น เข้มแข็ง ว่องไวขึ้นมา มีกําลังสําหรับจะนั่นกันต่อไป และควรจะนึกถึงหลักที่มันมีอยู่แล้ว ว่ารกรากของทุกๆ สิ่งนั้นคือ อวิชชา อวิชชาคือความที่ไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง นั้นต้องเล่นงานไอ้ข้อนี้ก่อนเพื่อให้มีความรู้ที่ถูกต้องเริ่มขึ้นมา มันถึงจะมีอะไรๆ ขึ้นมาได้อย่างแท้จริง ถ้าไม่งั้นแล้วมันจะมีอย่างงมงาย มีศีลก็มีอย่างงมงาย มีสมาธิก็มีอย่างงมงาย มันใช้อะไรไม่ได้ แล้วมันจะเป็นถึงขนาดที่เรียกว่า ลําบากมากเกินไป ทํานองเรื่องมันง่ายๆ กว่านั้น มันก็ไปทําให้ลําบาก เป็นเรื่องมาก เปลืองมาก เหนื่อยมาก ยุ่งยากมาก เพราะเป็นความโง่อยู่เอง เราควรจะมีวิธีที่ถูกต้อง ที่ไม่ยากลําบากมาก นี่เรียกว่า ให้ระวังให้ดี ไอ้ที่เรียน ที่ท่อง ที่เรียน ที่ท่องกันติดปากนั่นน่ะ มันเป็นเรื่องพูด เรื่องวิชชา มากเกินไป ต้องเล็งพิจารณาดูให้ลึกซึ้งถึงไอ้ตัวเรื่องการ ความจริงหรือข้อเท็จจริงของธรรมชาติ จะต้องจัดการกับมันอย่างไร นั้นเมื่อผมพูดถึง คำว่า ตัวกูของกูนี่ ก็ขอให้เข้าใจว่ามันเล็งไปในแง่ของโมหะ เสมอไป แล้วโมหะนี่มันคลอดออกมาเป็นโลภะ เป็นราคะ เป็นโทสะเมื่อไหร่ก็ได้ มันเป็นคําพูดที่ไม่รู้จักผิด ที่จะพูดว่าอะไรมาจากโมหะ ความไม่รู้ ภาษาไทยโบราณ ไอ้โทสะนี่เขาไม่เรียกหรอก เขาเรียกโมหะ เช่นใครโกรธขึ้นมาคนหนึ่ง ก็เรียกคนนั้นโมโหแล้ว ไม่ได้เรียกว่าคนนั้นมีโทสะหรอก นี่ก็หมายความว่า เขาเล็งถึงส่วนลึกของมันอีกทีหนึ่ง คนที่ไปโกรธเข้านั่นเพราะมีโมหะ เพราะมีโมโห คือโมหะ คือมืด เพราะมืดจึงไปโกรธเข้า นั้นไอ้รกรากที่เหนียวแน่นที่สุดคือโมหะ ต้องถูกจัดการก่อนในระดับที่สมควร ในอัตราที่สมควร มันจึงจะมาเล่นงาน ไอ้โลภะ โทสะกันได้ เพราะมันเป็นเพียงผลิตผลทีหลังอีกชั้นหนึ่ง นี่เรียกว่า ถ้าไม่เข้าใจมันให้ถูกต้องแล้วก็ไม่มีหวัง ไม่มีหวังที่จะจัดการกับมันได้ ทุกอย่างไปหมด
ไอ้ที่เพิ่งบวช ๒-๓ พรรษานี่ก็ไม่ค่อยกระไร แต่ถ้าบวชหลายๆ พรรษาแล้วก็น่าจะนึกดูว่าทําไมมันจึงไม่ดีขึ้น หรืออายุก็ผ่านมามากแล้ว คือเห็นโลกมามากแล้ว อะไรมันยังไม่ดีขึ้นเพราะเหตุอะไร เพราะเหตุว่ามันมองข้ามอะไรบางอย่างไปเสีย มันไม่ถูกกับจุดสําคัญหรือเรื่องสําคัญที่มันเป็นตัวปัญหาอันแท้จริง ซึ่งเราเรียกกันแล้วเรียกกันอีกว่า ตัวกูของกู นั้น ตัวกูของกูเกิดขึ้นแล้วมันกินข้าวก็ไม่ลง หรือสวยงาม เอร็ดอร่อย หอมหวลยังไงมา มันก็ไม่ ไม่ ก็ไม่เสน่ห์หาแล้ว มันมีฤทธิ์ร้ายอย่างนี้ มันเป็นสิ่งที่ควรจะหยิบขึ้นมาพิจารณาก่อน แล้วก็พิจารณากันอย่างจริงๆ ว่า ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ในกรณีของเราเอง มันติดขัดอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ยอมลดตัวกูของกู แล้วจะไปลด ราคะ โลภะจะได้ยังไง ทีนี้ที่โง่ดักดานที่สุดก็คือ จะมีธรรมะได้ยังไง ถ้ามีตัวกูของกู จะเอาธรรมะพร้อมตัวกูของกูได้ยังไงกัน เอากันยังไงกัน
เพราะว่ามันอยู่ด้วยกันไม่ได้ ธรรมะเข้ามาตัวกูออกไป ตัวกูเข้ามาธรรมะออกไป ทีนี้เมื่อคนนั้นต้องการจะสงวนไอ้ตัวกูเอาไว้ แล้วจะไปจัดการอย่างอื่น ให้มันถูกธรรมะให้เป็นธรรมะนี่ไม่รู้จะทํากันยังไงได้ เพราะว่าตัวกูมันไม่ใช่ธรรมะ มันเป็นข้าศึกตรงกันข้ามกับธรรมะ นั้นไม่ต้องไปนึกถึงธรรมะ นึกแต่ในการทําลายตัวกูธรรมะมันก็มีมาด้วยการควบคุม คือมีสตินี่ แล้วก็ด้วยการที่เรียกว่า จับตัวได้แล้วก็ฆ่าอย่างแล่เนื้อเถือหนังมันด้วย หิริและโอตัปปะ นี่ อย่าเป็นคนหน้าด้าน ให้มันรู้จักละอายเมื่อเกิดตัวกู เมื่อเกิดตัวกูครั้งหนึ่งก็เอามานอนละอายอยู่ได้หลายๆ ชั่วโมง หลายๆ วัน หลายๆ คืน นี่ เรียกว่าเอามาฆ่าแล่เนื้อเถือหนังให้มันเบาบางลงไป แล้วก็กลัวมันให้มาก ว่านี่บรรดาสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของมนุษย์เรา คือสิ่งนี้ ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าสิ่งนี้ อย่างนี้มันเรียกว่า เหมือนกันกับการจับตัวกูมาทรมาน มาแล่เนื้อเถือหนังขนาดนั้นทีเดียว นี้สติมันก็จะดีขึ้น ถ้าเราทำอย่างนี้ เพราะตัวกูมันบางลงไปบ้าง มันบางลงไปบ้าง เพราะถูกแล่เนื้อเถือหนัง นี้การระวังด้วยสติมันก็จะง่ายขึ้น นี้มันก็ส่งเสริมกันเอง มีสติ ไม่เผลอสติ ถ้าเผลอสติ ก็เอามาละอายให้มาก มากลัวให้มาก นั่นมันต้องมีใจละเอียด มีจิตใจที่ละเอียด มีการระมัดระวังที่แยบคาย ที่ประณีตที่เขาเรียกว่า โยนิโสมนสิการ พระพุทธเจ้าท่านตรัสถึงสิ่งนี้มาก ในฐานะเป็นเครื่องมือข้อหนึ่ง โยนิโสมนสิการนี้ คือต้องทําด้วยจิตใจที่ละเอียด อย่า บ้งเบ้งๆ ล้งเล้งๆ กับสิ่งเหล่านี้ ทําไม่ได้ นั้นจึงเตือนอยู่เสมอว่า อย่าหัวเราะกันเลย อย่าเอะอะนั่นนี่กันเลย มันทําให้ใจหยาบ
ไอ้การงาน ทีนี้อยากจะพูดถึงเรื่องการงานหน่อยที่ว่า การงานที่บริสุทธิ์มันเป็นการทําลายความเห็นแก่ตัว นี่ก็หมายความว่า มีสติสัมปชัญญะ ทําการงานนั้นๆ อย่า ล้งเล้งๆ บ้งเบ้งๆกัน ในการทําการงานนั้น มันทําให้ใจมันหยาบ มันจะเป็นการเห็นแก่ตัว มีตัวกูในการทํางานนั้นไปเสียอีก ไอ้การงานที่ว่าจะเป็นเครื่องทําลายความเห็นแก่ตัวมันเลยไม่ได้ผล มันจะเป็นโอกาสการมีตัวกูของกูแบบอื่น เช่นการไม่ยอมกัน ผมได้ยินเสมอ หลายๆ คน ทํางานอะไรกันอย่างหนึ่งนี่ ดังกันลั่น ต่างคนต่างจะอวดสติปัญญาของตน ไม่มีใครยอมใคร บางอย่างล้มเหลว ไม่มีหัวหน้าที่จะบัญชาลงไป ว่าจะเอาอย่างไร มัวแต่ทะเลาะกันอยู่ ถ้าอย่างนี้มันเรียกว่า มันมีตัวกูเพิ่ม การงานนั้นมันเพิ่มตัวกูขึ้นมาได้อีกฝ่ายหนึ่ง อีกแนวหนึ่ง แม้ว่าโดยแท้จริงมันมุ่งหมายจะลดความเห็นแก่ตัว นั่นแม้ในการงานมันก็ต้องมีบทเรียน ปลีกย่อยหลายอย่างเช่นว่า อดกลั้น อดทน พูดจาให้ดี มีเหตุผลที่จะใช้ให้ผู้อื่นเข้าใจ แล้วก็ต่างคิดต่างคนต่างคิด ระวังตัวกูของกูด้วยกันทั้งนั้นไม่ให้ออกมาขัดกัน ถ้าทุกคนตั้งความปราถนาอย่างนี้ แล้วมันไม่มีทางที่จะเถียงกันหรือว่าเอะอะๆ ตึงตังๆ มันก็จะเป็นไปราบรื่น
ไอ้การงานก็เป็นบทเรียนที่ดีในการทําลายตัวกูของกู เป็นโอกาสที่ทําลายกิเลสอยู่ตลอดเวลา ผลงานมันก็ได้ แก่ประเทศชาติแก่ศาสนา นี่มันยังดีกว่าที่จะไปอยู่นิ่งๆ ไม่ทําอะไร นั้นบทเรียนนี่มันต้องยากเป็นธรรมดา เพราะมันมีผลมากกว่า คือการที่จะมีวิปัสสนาในการงาน หรือทําการงานให้กลายเป็นวิปัสสนา เป็นการปฏิบัติธรรมไปนี่มันยากกว่าที่จะไม่ทําอะไร ไปนั่งนิ่งๆ หลับหูหลับตาภาวนานี่มันยังง่ายกว่า นั่นไม่มีอะไรมายั่วมายุมาแหย่ แต่ในการงานที่มันมีอะไรเป็นช่องโหว่ เป็นโอกาสให้เกิดตัวกูของกูนี่มันยาก เป็นงานที่ยากเป็นงานฝีมือที่ยาก งานทางจิตใจที่ยาก นั้นทําได้ก็วิเศษ ควรจะนึกดูให้ดีๆ เพื่อประหยัดเวลาของเรา ในอายุของเรามีเวลาจํากัด เราจะประหยัดให้มันได้ผลเร็วก้าวหน้าเร็วก็ต้องทําให้ดี เลือกเอาวิธีที่ดีที่ได้ผลเร็ว แล้วพร้อมกันนั้นก็ให้มันมีประโยชน์แก่ผู้อื่น อย่างกว้างขวางด้วย
นี่สรุปแล้วมันอยู่ที่ข้อๆ นี้ข้อเดียวว่า ไอ้เล่นงานตัวกูลงไปโดยตรงนั่นเลย จะมีผลเหมือนกับว่า ยิงไปทีเดียวได้นกหลายๆ ตัวเป็นการทําลายความเห็นแก่ตัว เป็นการตัดต้นตอของกิเลส เป็นการฝึกฝนที่เร็วที่รวบรัด ที่เร็ว เป็นการทําให้เกิดประโยชน์อย่างทางวัตถุ อย่างทางอะไรนี่ด้วย เรี่ยวแรงไม่เป็นหมัน วันคืนไม่เป็นหมัน ถ้าไม่คิดกันอย่างนี้ ไอ้สิ่งเหล่านี้มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งที่มันจะเป็นประโยชน์แก่มหาชนนี้มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมันประโยชน์ส่วนตัวแท้ๆ มันก็ยังอืดอาด อืดอาดๆ หรือล่าช้า
ไอ้คําแบบว่าสายฟ้าแลบนี้ ถ้าทําถูกวิธี มีประโยชน์มาก ผมเป็นผู้นิยมฝ่ายนั้น ถ้าทําผิดวิธี มันก็กระโจนลงเหวได้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เราก็ผ่านมานานพอสมควรที่จะรู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร อะไรมันแน่เหลือจะแน่แล้ว เช่นไอ้การควบคุมกิเลสตัวนี้ มันแน่เหลือจะแน่แล้ว ก่อนสิ่งใดหมดน่ะ เรียกว่าลงโลงตั้งต้นลงโลงไปจากการทําอย่างนี้ แล้วสิ่งต่างๆ มันก็จะถูกกระทําหมดทุกอย่างพร้อมกันไปในตัว มันก็น่าพอใจ น่าชื่นใจ น่าพอใจ จะนับถือตัวเองได้ นี่เรียกว่า รู้จักความแตกต่างระหว่าง ไอ้สิ่งที่มันตรงกันข้าม อันหนึ่งมันเป็นทําอันตรายมนุษย์ อันหนึ่งมันเกื้อกูลมนุษย์ ต้องเล่นงานไอ้พวกที่ทําอันตรายมนุษย์ ตัวกู
ถ้าทุกๆ คนช่วยกันทําอย่างนี้ พร้อมๆ กันในโลกนี้ ก็มีความผาสุข เหลือที่จะกล่าวได้ เดี๋ยวนี้ทุกคนมันไม่ทําอย่างงั้น มันเพิ่ม เพิ่มแต่ตัวกู ของกูกันเรื่อยไป ไม่ต้องพูดถึงชาวบ้านแล้ว แม้แต่พระเณรก็ยังเป็นไปในทางเพิ่ม ตัวกูของกู ผสมโรงกันไปกับชาวบ้าน พระเณรบางองค์ยังอ่านหนังสือพิมพ์ มีความรู้สึกเหมือนกับที่เขาเรียกกันว่าอะไร ถือหาง บางองค์ถือหางคอมมิวนิสต์ บางองค์ถือหางเสรีประชาธิปไตย ฟังดู นี่มันมีอาการ ผสมโรงกับชาวบ้าน ในเรื่องมีตัวกู มีของกู ไม่เป็นผู้ที่ว่า ทําลายตัวกูของกู ของมนุษย์
เดี๋ยวนี้ปัญหาต่างๆ ในโลกทุกปัญหามันมาแต่ตัวกูของกูทั้งนั้น ที่มันแก้ไม่ตก แก้ไม่ลุล่วง ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการทหาร แม้แต่ปัญหาเรื่องของกินไม่มี เรื่องหมูไม่มี เรื่องหมาไม่มี อะไรนี่ มันก็เรื่องตัวกูของกู ในแง่ใดแง่หนื่ง ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซ่อนเร้นอยู่ข้างใต้ นั้นถ้าเราชวนกันทําเรื่องนี้พร้อมๆ กัน แล้วแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้มาก ถ้าโลกมีความเข้าใจเรื่องนี้พร้อมๆ กัน ไอ้โลกนี้ก็เปลี่ยนกลับหลังไปทันที ไปทางมีความสุข สันติสุข เดี๋ยวนี้เขาไม่ชอบอย่างนี้ เขาไม่รู้จักสิ่งนี้ ไม่เข้าใจสิ่งนี้ นั้นการที่เขาทําอะไรลงไปที่เรียกว่าเป็นการสร้างสันติภาพในโลกนั้น มันเป็นเรื่องไม่จริงไปหมด เพราะมันไปเพิ่มเรื่องตัวกูของกู ของๆ ตัวเสียเรื่อยไป
ที่เขาพูดกันเสมอ พูดกันมากที่สุด เรื่องที่จะแก้ไข ความทุกข์ยากของโลกนี้ คือเรื่องการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม คํานี้ ไพเราะมาก มีค่ามาก ผมชอบที่สุด หรือว่า ถึงกับรู้สึกบูชาที่สุดในทีแรกๆ เดี๋ยวนี้ผมเห็นว่าโกหกทั้งนั้น มันไม่ได้เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่ว่า เป็นเรื่องวัฒนธรรม ใช้เป็นเรื่องบังหน้า ถ้ามันเป็นเรื่องวัฒนธรรมจริง ถูกต้องจริง มันต้องเป็นเรื่องแลกเปลี่ยนวิชาความรู้หรือการกระทําชนิดที่ทําลายความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้เขากลับแลกเปลี่ยนไอ้สิ่งชนิดที่เป็นเรื่องตบตา บังหน้า เพิ่มความเห็นแก่ตัว อย่างนี้ไม่ควรจะเรียกว่าวัฒนธรรม มันเป็นคําพูดที่ไม่ตรง เพราะไปแลกเปลี่ยนไอ้สิ่งที่ทําความฉิบหาย คือตัวกู ของกู เพิ่มมากขึ้น
เมื่อคืนนี้ ก็มีข่าว ที่ฟังแล้วน่าสบายหู มีข่าวว่า อเมริกาเขาจะขอร้องให้จีนคอมมิวนิสต์ ส่งนักหนังสือพิมพ์ไปดูการเลือกตั้งในประเทศอเมริกา ดูวัฒนธรรมในอเมริกาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างนี้ เป็นคําพูดที่ไพเราะมาก แสดงว่าวัฒนธรรมของไอ้การเมืองนี้ มันเป็นไปในทางซ่อนเร้นอะไรอยู่ ไม่มีหวังที่จะว่าแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมชนิดที่บริสุทธิ์
คุณถ้ายังไม่รู้ ก็ต้องรู้เสียด้วยว่า ไอ้คําว่า วัฒนธรรม นี้กว้าง ไอ้ยอดสุดของวัฒนธรรมเนื่องอยู่กับศาสนา คือไอ้แง่ดีส่วนดีของศาสนาที่จะไปเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ความสงบสุขของมนุษย์ได้นี้ เป็นยอดสุดของวัฒนธรรม หลักเกณฑ์อันใดอันหนึ่งในศาสนาถ้าเอาไปประพฤติเป็นเรื่องประจําชาติเสียแล้ว มันก็เป็นวัฒนธรรมไปได้ ประจำชาติไปได้ ไอ้ยอดสุดของวัฒนธรรมมันจึงอยู่ที่หัวใจของศาสนาที่เป็นการทําลายตัวกูของกู ทําลายความเห็นแก่ตัวนั่นยอดสุดของวัฒนธรรม เดี๋ยวนี้เขาไม่พูดกันถึงเรื่องนี้ การแลกเปลี่ยนอะไรทางวัฒนธรรม ก็เพื่อหาโอกาสเล่นงานกันหลังฉากเท่านั้น ถ้ามันจริงอย่างว่า มันก็วิเศษ ทั้งสองฝ่ายมีความบริสุทธิ์ใจ แลกเปลี่ยนวิชาอันลึกลับทางวัฒนธรรม คือจะสามารถทําลายความเห็นแก่ตัว หันหน้ามาหาศาสนาด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วมันก็ตกลงกันได้ทั้งที่อันหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ แต่อันหนึ่งเป็นอะไรก็ตาม เป็นประชาธิปไตยอะไรก็ได้
อุปมาทางศาสนาที่เขาใช้กันอยู่ทุกศาสนามันอธิบายข้อนี้อยู่แล้ว เมื่อใดมีธรรมะมีศาสนาจริงๆ เกิดขึ้น เมื่อนั้นมันมีอะไรที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ คนตาบอดเห็นได้ คนหูหนวกได้ยินได้ คนง่อยเดินได้ อะไรนะ กระทั่งว่าสิงห์โตกับลูกแกะนี่เล่นหัวกันได้ อย่างนี้มันยิ่งกว่า พวกที่เรียกว่าจีนคอมมิวนิสต์ จะไปเป็นเกลอกับพวกอเมริกัน ถ้าสิงห์โตกับลูกแกะเล่นหัวกันได้ มันมากกว่า แต่แล้วมันก็ไม่มีหวัง มันทําไม่ได้ เพราะมันไม่จริง ไอ้หวังที่จะทําลายความเห็นแก่ตัวซึ่งเป็นยอดสุดของวัฒนธรรม นี่ไม่ใช่ผมพูดเรื่องการเมือง แต่พูดให้รู้ว่าไอ้โลกเรานี้กําลังมีสภาพเป็นนรกหมกไหม้ ก็เพราะมันมีตัวกูของกู มีความเห็นแก่ตัว ช่วยไม่ได้ นั้นจะต้องทนทุกข์ทรมานไปตลอดเวลา เหมือนกับในส่วนปัจเจกชน บุคคลคนหนึ่ง หนึ่ง กําลังทนทุกข์ทรมานเหมือนกับตกนรก ทั้งวันทั้งคืนเพราะความบีบคั้นของสิ่งๆ เดียวคือตัวกูของกู นั่นเรียกว่ากรรมส่วนบุคคล คนหนึ่งก็เป็นอย่างนี้ กรรมส่วนรวมของโลกทั้งโลกก็เป็นอย่างนี้ นั่นพูดได้เหมือนกันว่า ในโลกนี้เมื่อไรตัวกูเข้ามา ธรรมะออกไป เมื่อไรธรรมะเข้ามา ตัวกูออกไป โลกนี้ก็ผลัดกันอยู่ เดี๋ยวก็เป็นสังสารวัฏ เดี๋ยวก็เป็นนิพพาน สลับกันอยู่
นี่เรียกว่า หัวข้อที่คุณจะต้องช่วยกันจําไว้ สั้นๆ ว่าตัวกูเข้ามาธรรมะออกไป ธรรมะเข้ามาตัวกูออกไป ถ้าไม่ลืมข้อนี้ มันช่วยได้ มันช่วยในเรื่องสติ แล้วในที่สุดก็ต้องช่วยมันบ้างด้วยเรื่องหิริ และโอตัปปะ ละอาย จนไม่รู้จะเอาหน้าไปซุกที่ไหน เมื่อมันเกิดตัวกูของกู แล้วก็กลัวจนไม่รู้จะกลัวอย่างไรกันอีกแล้ว เมื่อมันมีอันนี้ขึ้นมา ที่นี้มันก็ไม่ตกร่องอีกต่อไป คือไม่ได้พูดเรื่องอะไร พูดเรื่องตัวกูของกูนี่ซํ้าๆ ซากๆ อยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องพูด ไม่มีเรื่องอะไร ที่มีประโยชน์หรือว่าดีกว่านี้ ก็ต้องพูดเรื่องนี้ อาจจะต้องพูดกันไปจนตาย หรือว่ามันหมดตัวกูของกูไปในที่สุด
เมื่อผมพูดกับคนที่มาเที่ยวสวนโมกข์นี้ว่า มาที่นี้น่ะ ต้องมาหัดตาย เสียก่อนตายนะ บางคนก็สะดุ้ง ตกใจคําว่าตาย ที่จริงเราหมายความแต่เพียงว่า หมดตัวกูของกูเสีย ก่อนแต่ที่จะตายนะ หรือว่าอย่างน้อยที่สุดก็หัดเป็นผู้ที่ไม่มีอะไร เป็นคนไม่มีอะไร สิ้นเนื้อประดาตัวยิ่งกว่าสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีอะไรนั่นน่ะ จะสบายที่สุด มาที่นี้ลืมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรอยู่ทางบ้านทางโน้นก็ลืมหมด แม้แต่ชีวิตตัวของตัวนี้ก็ลืมหมด ไม่ได้นึกถึงชีวิตลืมกระทั่งชีวิต นั่นคือเรียกว่าไม่มีอะไร ยิ่งกว่าสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะว่าคนสิ้นเนื้อประดาตัวยังมีตัวกูของกูเร่อร่าอยู่ มีชีวิตที่คํานึงถึงอยู่ นี่เราอยู่ที่นี้อย่ามีตัวกูของกู เรียกว่าหมดเลยสิ้นเนื้อประดาตัว แม้แต่ชีวิตก็ไม่ได้มี แล้วก็สบาย นั้นใครมาสวนโมกข์มาทัศนาจรก็คือคนโง่ คนบ้าชนิดหนึ่ง เพราะที่อื่นมันสวยกว่านี้ สนุกกว่านี้ น่าดูกว่านี้ นั้นมาดูอะไรที่มันแวดล้อมในจิตใจ หยุด สงบ ไม่เอาอะไร ไม่ถืออะไรนี่ หรือมาหัดเป็นคนไม่มีอะไร แม้แต่ชีวิตก็ไม่ต้องมี หรือว่าหัดตายเสียก่อนตายให้มันได้ คือหมดตัวกูของกูเสียก่อนแต่ที่จะตาย ทีนี้เราให้มีต้นไม้ มีก้อนหิน มีอะไรที่อยู่นิ่งๆ แสดงความสงบอยู่นิ่งๆ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ทะเยอทะยาน ถ้าเขาฟัง ถ้าเขามองเห็น และเข้าใจ ก็เรียกว่าเขาได้ยินต้นไม้พูด ได้ยินก้อนหินพูด ได้ยินธรรมชาติพูดว่า ไม่มีอะไร นั่นแหล่ะ เป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด ถ้าเขาทําอย่างนี้ยังคุยได้เต็มปากว่าการมาที่นี้มันมีอุปนิสัยปัจจัยแห่งนิพพาน มาได้รับสิ่งที่เป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งพระนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ เหมือนที่มันว่าๆ กัน ตั้งไม่รู้ว่าอะไร
ต้องรู้ข้อนี้ต้องพยายามในข้อนี้ทั้งส่วนตัวบุคคลและส่วนรวมของโลก และตลอดเวลาในชีวิตนี้ กว่ามันจะเย็นลง เย็นลงเป็นนิพพาน คําว่านิพพานแปลว่าเย็นถึงที่สุด ไม่กลับร้อนอีกต่อไป
ถ้าร้อน ธรรมะต้องเป็นเรื่องเย็น เราต้องการเย็น แล้วก็อย่าไปนึกอะไรมากว่านั้น ที่จะพิสูจน์ที่จะเรียก อะไร จะไปค้านอะไรกันอีก ป่วยการ ไม่มีความทุกข์จริงๆ ก็พอแล้ว เรื่องตัวกูของกูจะเป็นอะไร เรื่องเทวดามีไหม ผีสางมีไหม เกิดไหม อะไรไหมอย่างนี้ มันไม่จําเป็น มันเรื่องบ้าๆ บอๆ ไปเสียเวลาเปล่าๆ แล้วยิ่งไปยุ่งเข้าก็ยิ่งน้อมไปทางตัวกูของกูเป็นผู้รู้ ผู้ดี ผู้วิเศษอะไรขึ้นมาอีก จึงบอกเลิกปัญหาที่ว่า เรียกว่าปัญหา เป็นอจินไตยหรือเป็นปัญหา อันตคาหิกทิฐิ เลิกกันเสียให้หมด ทําแต่ที่นี้และเดี๋ยวนี้ตรงนี้ให้หมดตัวกูของกู จะปิดอบาย ปิดนรกได้หมด จะกระโดดข้ามไปสวรรค์ไปหานิพพานได้ เหนื่อยแล้ว พอกันที
วันนี้วันพระ วัน ๘ ค่ำ เขาไม่ฉันเพลกันหล่ะ พวกนี้เขาก็เหนื่อยเหมือนกันหล่ะ คนฟัง (1:24:05)
นาทีที่ 1.24.06 – 1.24.10 ไม่มีเสียง มีการตัดต่อ การบรรยาย
มีทางผิด พูดไม่เป็น วิชชาคือพระเจ้า มันต้องพูดให้เป็นในแง่หนึ่ง ในแง่ที่สร้างความทุกข์ขึ้นมา แล้วไอ้ อวิชชามีอยู่ตลอดอนันตกาลนั้น เป็นภาษาคน ที่จริงคือมันพร้อมที่จะเกิดอยู่ตลอดเวลา จะเรียกว่ามันเกิดอยู่ตลอดอนันตกาลนั้นไม่ถูกหลักตามพุทธศาสนา อวิชชาจะเป็น อสังขตธรรม ไปไม่ได้ ต้องเป็น สังขตธรรมที่มีการเกิดดับ เกิดดับๆ อยู่เสมอ นั้นอวิชชาจะเป็นสิ่งที่ถาวร ไม่เกิด ไม่ดับตลอดอนันตกาลนั้นไม่ได้ แต่ว่าความพร้อมที่มันจะเกิด ความที่มันพร้อมที่จะเกิด หรือความเคยชินที่มันจะเกิดนี้มันดูคล้ายกับว่ามีอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราพูดภาษาคน เราจึงพูดว่า แหม มันมีอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะสร้างโลกสร้างอะไรอยู่ตลอดเวลา คือสร้างตัวกูของกู ให้ได้ตลอดเวลา
เรื่องนี้ผมพูดเหมือนกัน แต่ไม่ได้พูดเหมือนท่านมหาว่านะ อ่านดูดีๆ ไอ้เรื่องอวิชชา เรื่องพระเจ้า คือตัณหา คือ กรรม คืออวิชชา ก็พูด มันพูดเพื่อจะแสดงพุทธศาสนาให้เขาเข้าใจ หรือว่าทําความเข้าใจกันในระหว่างศาสนา
เอ้อ ขอหนังสือนี่เล่มหนึ่งซิ ยังไม่ได้ (มีเสียงตอบ) ได้มาแล้ว เอาที่ไหนล่ะ (มีเสียงตอบ) ที่นี่ก็มี กำลังบอกจะเอาให้(มีเสียงตอบ)
ปัญหานั้นยังไม่จำเป็น ปัญหาก็คือว่า ปัญหาจําเป็นก็คือว่า “ขาดสติเมื่อไร เป็นมีอวิชชาเมื่อนั้น” พอเผลอสติเมื่อใด ในการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น รู้รสหรืออะไรก็ตาม คือการกระทบกับภายนอก เผลอสติเมื่อไร อวิชชาโผล่ที่นั่น เมื่อนั้น สนใจอวิชชานี้อย่างเดียวพอ พอเผลอสติ อวิชชาชนิดที่เป็น ปัจจยาการ ปฏิจจสมุปบาท ตั้งต้นทันที แล้วไปตามแนวของปฏิจจสมุปบาท เลยเป็นทุกข์ เอ้าถ้าพอระลึกตัวได้หรือว่าเจ็บปวดขึ้นมาสํานึกตัวได้ วิชชามา เป็นการตั้งตนใหม่ แล้วก็ดับ ดับได้ แล้วก็มีเผลออีก นั่นอีก อย่างนี้ คือเรื่องว่าเดี๋ยวตัวกูมา เดี๋ยวตัวกูไป เดี๋ยวตัวกูเข้ามา เดี๋ยวตัวกูออกไป
สิ่งที่เรียกว่า อวิชชา ความหมายมันกว้าง เราจะมองกันในแง่ไหนกันบ้าง จะมองในแง่ อนันตากาลก็ได้ ผู้สร้างโลกก็ได้ อะไรก็ได้ แต่เรามองในแง่ที่จําเป็น คือผู้สร้างความทุกข์ ไอ้โลกนั่นเอามาเป็นความทุกข์เสีย ในฐานะที่มันสร้างความทุกข์ เผลอสติเมื่อไหร่มีอวิชชา ก็คือว่ามีความรู้สึกฝ่ายที่จะสร้างทุกข์ขึ้นมาเมื่อนั้น สังขาร วิญญาน นามรูป ถูกปรุงขึ้นมาพร้อมที่จะมีอะไรไปในทางที่เป็นทุกข์ แต่ผมก็ยังอยากจะขอร้องว่า อย่าไปสนใจเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ที่สลับซับซ้อนมันไม่จําเป็น สนใจรวดเดียวหล่ะว่ามันมีความทุกข์เกิดขึ้น ในเมื่อมีตัวกูของกูเกิดขึ้น เพียงเท่านี้ก็พอ จะไปขยายมันให้เป็น ๑๒ ตอน ๑๑ ตอนอะไรมันก็ได้เหมือนกัน แต่มันจะยังไม่จําเป็น รู้จักไอ้ตอนเดียวนี้เสียก่อน ดูเป็นอภิธรรมเฟ้อไป เรารู้แต่เพียงว่า พอเผลอสติ นี่ความโง่ ความหลงเกิดขึ้นเป็นตัวกูของกู แล้วมีความทุกข์ นี่ก็คือ ปฏิจจสมุปบาท เหมือนกัน ปฏิจจสมุปบาท ที่ถูกต้อง ที่สมบูรณ์ แต่ไม่แจกไป ๑๒ ตอนเท่านั้น ปฏิจจสมุปบาท นี่มันเป็นเรื่องสําคัญที่พระพุทธเจ้าท่านก็ยืนยันว่า ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ก็ดับทุกข์ไม่ได้ แต่รู้เท่านี้ก็พอ เผลอสติ เกิดอวิชชา มีตัวกูของกู คืออุปาทานก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เท่านี้ก็เกิด ปฏิจจสมุปบาท แล้ว ไอ้เรื่องแยกเป็น ๑๒ แล้วอธิบายกันยืดเยื้อออกไป จนมันเกี่ยวกัน โยงกัน ๓ ภพ ๓ ชาติ อันนี้มันไปไม่ไหว ไม่มีประโยชน์ด้วย เพราะมันไปจนปัญหาตรงที่ว่า ทําอย่างไง ถ้าไปเอาไว้ คนละชาติ สิ่งทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัย ต้องแก้ที่เหตุที่ปัจจัยแล้วมันจะทํากันอย่างไรได้ ถ้ามันอยู่กัน เหตุกับผลมันอยู่กันคนละชาติ ถ้า ชาติ หมายถึงว่า เกิดอุปทานครั้งหนึ่ง เรียกว่า ชาติหนึ่ง ก็แปลว่าในชาติปัจจุบันนี้มันมี เรื่องชาติๆๆ ที่เป็นทุกข์อีกหลายอีกมากมาย แล้วแต่เราจะจัดการ (เสียงผู้ถาม)
ชาติ คือเกิดตัวกูของกูครั้งหนึ่ง เรียกว่าชาติหนึ่งแล้ว นั้นวันหนึ่งเกิดได้หลายชาติ แต่ที่เขาสอนกันในโรงเรียนนั้น คําว่า ชาติ หมายความว่า เกิดจากท้องแม่ แล้วก็อยู่จนเข้าโลงนี้เรียกว่าชาติหนึ่ง แล้วถัดไปจากนั้นอีกชาติหนึ่ง ถัดไปจากนั้นอีกชาติหนึ่ง เป็นชาติๆ นี้พอเอาชาติปัจจุบันนี้เป็นชาติปัจจุบัน เอาที่แล้วมาข้างหลังโน้นเป็นอดีต เอาชาติที่จะมาข้างหน้าเป็นอนาคต ปฏิจจสมุปบาท (สายเดียวกินคร่อมถึง ๓ ชาติอย่างนี้ สอนอยู่ในโรงเรียน ปฏิจจสมุปบาท วงเดียวสายเดียวของ ปัจจยาการ ส่วนหนึ่งอยู่ชาติก่อน ส่วนหนึ่งอยู่ชาติกลาง ส่วนหนึ่งอยู่ชาติหน้า มันถูกไม่ถูกไม่รู้ ไม่วิจารณ์หรอก แต่เราไม่ยอมรับ หรือเราถือว่าไม่ถูกสําหรับเรา เราจะถือว่าชาติหนึ่ง คือเกิดตัวกูครั้งหนึ่ง นั้นวันหนึ่งมันมีหลายชาติได้ (มีเสียงถาม) นั่นมันอืดอาดนัก ถ้าชาติหมายความอย่างนั้นมันอืดอาดนัก ทีนี้ผมแนะว่า ชาติคือเกิดตัวกูครั้งหนึ่งกรณีหนึ่ง นั่นสมมติวันหนึ่งเกิดตั้งสิบชาติอย่างนี้ ไอ้ที่มันเกิดครั้งนี้มันควรจะเข็ดฟันหรือว่าเจ็บปวดเพื่อจะมาเกิดในชาตินี้ หรือว่าความทุกข์หรือความผิดไอ้ที่มันโง่ในชาตินี้ มันอาจจะมาช่วยสนับสนุนไอ้ความโง่ในการเกิดตัวกูของกูในกรณีที่ ๒ ก็ได้เหมือนกัน หรือความฉลาดขึ้นในการเกิดตัวกูกรณีแรกนี้จะมาช่วยเราให้เราฉลาดขึ้นในกรณีที่ ๒ นี้ก็ได้เหมือนกัน เช่น เราเดินตกร่องออกไปแล้ว ก็รู้จักละอาย รู้จักเจ็บปวดอย่างนี้ การที่จะมาตกร่องครั้งที่ ๒ นี้มันยากแล้ว หรือมันตกน้อยกว่า เรียกว่ามันมีผลคาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างชาติได้ เรียกว่าความโง่ครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่ง เรียกว่าชาติหนึ่งก็แล้วกัน เพราะมันมีผล คาบเกี่ยวกันได้ แล้วมันอยู่ในวิสัยที่จะจัดการได้ ควบคุมได้ แก้ไขได้ เห็นกันชัดอยู่เลย (มีเสียงถาม)
ก็เหมือนกันแหละ ชาติอย่างนั้นมันก็นานมาก ๔ อสงไขย แสนกัปป์ แต่ถ้าเอาชาติเป็นเครื่องสำหรับกําหนดนับกันแล้ว อย่างนี้ก็ได้ คือวันหนึ่ง มันตั้งแสนเสียแล้ว วันเดียวตั้งแสน แสนชาติเสียแล้ว ถ้าเกิดเก่งๆ อ้าว ผม ผมอยากจะถามว่า วันนี้ ลองๆ ถอยหลังไปดู เมื่อชั่วโมงที่แล้วมา ท่านคิดอะไร จําได้ไหม แล้วก็ชั่วโมงถัดไป ชั่วโมงถัดไป เดี๋ยวก็ตามไปไม่ถึง นี่มันไกลอย่างนี้ เอาความคิดกันดีกว่า เดี๋ยวนี้กําลังคิดอะไร แล้วก่อนหน้านี้คิดอะไร แล้วก่อนหน้านั้นคิดอะไร เดี๋ยวก็ตามไปไม่ถึง เป็น อสงไขยแสนชาติ นั่นในคําพูดนั่นแหล่ะ คําพูดน่ะทํายุ่ง พระพุทธเจ้าระลึกชาติได้ ไม่จํากัด พระอรหันต์เก่งๆ ระลึกได้เพียงกี่อสงไขยชาติ ปุถุชนที่มีสมาธิดีระลึกได้กี่ชาติ มันน้อยชาติมาก มันอย่างนี้ก็พอ เอาแต่วานนี้ก็แย่แล้ว แล้วถัดไปเมื่อวานซืน เมื่อวานโน้น ก็หมดหล่ะ ระลึกไม่ได้ นั่นน่ะ จะมีเข้าไปกี่ชาติก็ตามใจ
เรื่องอย่างนี้จะตัดทิ้งไปเลยก็ได้ ระวังอย่าให้เกิดตัวกูของกู คืออย่าให้เกิดชาติ ชาติมันจะยาวสั้นแค่ไหนก็ตามใจมัน แต่ระวังอย่าให้เกิดชาติ อย่าให้เกิดตัวกูของกู (มีเสียงถาม) เพราะว่าเขาเคยฟังแต่อย่างโน้นแล้วก็เชื่อมั่น เกรอะกรังอยู่ในหัวสมองแต่อย่างโน้น ฟังไม่เข้าใจ มันฟังยากจริง ถ้าไอ้หลักพื้นฐานมันอยู่อย่างโน้นแล้วจะมาฟังไอ้เรื่องอย่างนี้ มันฟังไม่รู้เรื่อง (มีเสียงถาม) ที่ตั้งใจชี้แจงเขาทั้งวันทั้งคืน มันก็เป็นไปไม่ได้ พอฟังไม่รู้เรื่องก็ตัดทิ้งเลย ตัดทิ้งเลย ไม่มีความอดทน แล้วผมก็ไม่ได้พูดให้คนเหล่านี้ฟัง (มีเสียงถาม) ต้องการนิดเดียว ต้องการน้อย ต้องการนิดเดียวให้ทําบุญเข้าไป ทําบุญพอสบายใจ ก็พอแล้ว แล้วจะต้องไปรู้เรื่องพวกนี้ทําไม ไอ้ที่ไปพูดว่าทําบุญนี้ยึดมั่นถือมั่นน่ะ มันเป็นทุกข์ นี่มันก็ไม่ต้องการจะรู้