แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ว่ายังไง ตลอดกาล ปัญหาตลอดกาล เริ่มเดิมทีมาจนบัดนี้ เกือบจะไม่มีอะไรเหลือไว้พูดแล้วนะ พูดกันมากแล้วอย่างนี้ แล้วจะไม่ค่อยได้อ่าน ไม่ค่อยได้ฟัง หรือไม่ค่อยได้อ่าน เรื่องเผลอ แล้วก็ให้รู้จักละอาย รู้จักกลัว ถ้าไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัว มันก็เผลอเรื่อยไป เรื่องนี้อธิบายตั้งหลายครั้งหลายหนจนไม่ค่อย จนไม่นึกถึงแล้ว จนไม่ค่อยนึกถึง คือ เทศน์หรือปาฐกถาหลายคราว เรื่องเดินตกร่อง ทำไมจึงจะเดินไม่ตกร่อง ก็เพราะมันกลัว ทำไมไม่ทำผ้านุ่งหลุดกลางถนนเลย ก็เพราะมันละอาย ก็มีเท่านี้ เดี๋ยวนี้เราไม่ละอาย เผลอสติก็ไม่ละอาย รู้อยู่ว่าเผลอสติก็ไม่ละอาย ไม่เคยละอาย กลายเป็นคนไม่ละอายไป แล้วเรื่องนี้มันไม่ได้เจ็บปวดจนโลหิตไหล เหมือนเรื่องบาดเจ็บแผล ก็เลยไม่กลัว
งั้นให้ทุกคนนึกดูความจริงข้อนี้ คือ ที่เราไม่รู้จักละอาย แล้วก็ไม่รู้จักกลัวด้วย มีกิเลสขนาดยกหูชูหางโร่ร่าไปหมด ก็ไม่รู้จักละอาย ไอ้เรื่องกลัวนั้นยิ่งไม่รู้จักใหญ่ เพราะมันไม่ได้เจ็บปวดอะไร บางทีมันจะสนุกสนานดีเสียด้วยซ้ำไป ในการที่ได้ยกหูชูหางต่อหน้าบ้าง ลับหลังบ้าง มันก็มีเท่านั้นแหละ แล้วมันเนื่องกันไปข้างต้นหน่อยหนึ่งถึงว่า เราต้องพิจารณาอยู่เสมอว่ามันเป็นอันตราย มันน่ากลัว หรือเป็นอันตราย หรือว่าเลยไปอีกก็คือเราต้องศึกษาให้รู้ว่าเราจะทำสติอย่างไรจะปฏิบัติอย่างไร เวลาอารมณ์มากระทบจะต้องหยุดชะงักไว้ก่อน ก่อนที่จะคิดนึกตัดสินลงไปว่าจะทำอย่างไร เพื่อจะได้มีสติทัน เรื่องนับ ๑๐ ก่อนนี่ก็เคยพูดหลายหน หัดให้เป็นนิสัยว่าจะไม่ทำอะไรพรวดพราดออกไป ไม่ ไม่ ไม่ทำอะไรออกพรวดพราดออกไป โดยไม่ทำความรู้สึกสติเสียก่อน เรียกว่านับถึง ๑๐ เสียก่อน จึงค่อยตัดสินใจ ค่อยคิด ค่อยนึก ค่อยโกรธ หรือว่าค่อยจะด่าเขาก็ตาม ควรจะนึกถึง ๑๐ นับถึง ๑๐ เสียก่อน
แล้วมันก็หัดได้โดยวิธีของกรรมฐานนั่นเอง ที่จริงไอ้เรื่องกำหนดลมหายใจหรือยกย่างเท้า หรือว่ายุบหนอพองหนอ ถ้าทำถูกวิธีมันก็ช่วยเรื่องนี้ได้มาก กลัวว่าจะไม่ทำกันในแบบนี้ ก็ถ้าจะหายใจออกก็ต้องรู้ รู้ รู้สติมีสติ รู้ก่อนเราจะหายใจออก มีสติเสียก่อนจะหายใจเข้า มีสติอยู่หายใจออก มีสติอยู่หายใจเข้า บาลีอานาปานสติ ไม่ใช่ว่า เอ่อ หายใจไปตามสบาย กำหนดไปตามสบาย มันก็ต้องรู้ว่าเราจะหายใจออก เราจะหายใจเข้า นี่มันเป็นบทเรียน ที่ว่าก่อนแต่จะทำอะไร จะเคลื่อนไหวอะไรไป มันต้องรู้ตัวก่อนว่าจะทำอะไร เช่น เราจะออกประตู เราต้องรู้ตัวก่อนว่าเราจะออกประตู หรือว่าเราจะไปก็ต้องรู้ก่อนว่าเราจะไป เราจะใส่กุญแจประตูก็รู้ว่าจะใส่กุญแจประตู ต้องรู้ก่อนทำเสมอ และมันจะมีนิสัยนึกได้ก่อนทำเสมอ แล้วมันก็จะไม่ลืมใส่กุญแจประตู เพราะมันหัดเสียจนเคยชินเป็นนิสัยว่าจะต้องรู้สึกตัวก่อนทำเสมอ เขาหัดกระทั่งทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ทุกครั้งที่ย่างเท้าก้าวเดิน นี่มันก็เป็นนิสัยอย่างยิ่ง ที่จะรู้สึกในสิ่งที่จะทำนั้นเสียก่อน แล้วจึงกระทำลงไป มันหัดได้ไปเสียทุกอย่าง แล้วก็หัดจากเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น กิน ฉันอาหาร มันก็มีหลายระยะ นับตั้งแต่จะหยิบขึ้นมา จะใส่เข้าปาก จะเคี้ยวให้แหลก จะกลืนลงไปนี้ ถ้าสติมันหัดนึก นำหน้าก่อนเสมอนี้ก็ไม่มี ไม่มีทางพลาด หรือเราจะอ่านหนังสือ เราให้ตาไปก่อนปากที่อ่านเสมอ ตาดูหนังสือนำหน้าไปก่อนปากว่า ไอ้ตัวหลังๆ ที่ถัดไปหลายๆ ตัว มันก็มีผลอย่างเดียวกัน ทีนี้มันเห็นเป็นของเล็กน้อยไปเสีย ไม่ค่อยจะฝึกกันให้เต็มที่ ลืมใส่กุญแจประตูก็เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ละอาย เอากุญแจเก็บอยู่ข้างใน งับประตู งับกุญแจข้างนอก ติด แล้วกุญแจอยู่ข้างในอย่างนี้ ก็ไม่รู้สึกละอาย คนหน้าด้านเหล่านี้ไม่เห็นว่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่รู้สึกว่านี้เป็นการเสียเกียรติอย่างยิ่งของสมณะผู้ฝึกฝนสติ เพราะว่าถือว่าลูกกุญแจไม่กี่สตางค์ ลูกกุญแจของกู กูจะตัดจะทำกะใครจะทำไมกู ไปคิดเสียในรูปนี้คนหน้าด้าน ถ้ามีความละอาย มันต้องละอายจนถึงกับว่าไม่รู้ว่าจะเอาหน้าไปไว้ไหน ในการที่สมณะลืมกุญแจไว้ข้างใน งับประตูข้างนอก เพราะถือว่ากุญแจไม่กี่สตางค์ นี่ไม่มี ในตำรา ไม่มีในบัญชีกรรมฐาน แต่นี้น่ะมันคือตัวกรรมฐาน ตัวสติ มันต้องมีสติ ก่อนทำอะไรเสมอ เราทำไม่พลาด นั้นทำแก้วแตกใบหนึ่งก็ไม่ใช่ว่าแก้วแตกใบหนึ่งไม่กี่สตางค์ มันเป็นความฉิบหายของความเป็นสมณะที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ มีราคามากมาย และก็ไม่ละอายและไม่กลัว นั้นทุกเรื่องไปที่มันขาดสติแล้วมันก็ต้องละอายและกลัว แม้แต่เรื่องเดินสะดุดนี่มันก็ต้องละอายและกลัว ก็มันขาดสติสัมปชัญญะ นี่เรื่องข้างนอกที่ถือกันว่าเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มีใครละอาย ไม่มีใครกลัว
ทีนี้เรื่องทางจิตใจที่ปล่อยให้จิตใจมันเลวไปในอย่างลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แล้วก็ไม่ละอายไม่กลัวนั้นมันก็ยิ่งร้ายไปใหญ่ มีความโกรธบ้าง มีความอิจฉาริษยาบ้าง มีทิฐิมานะบ้าง คิดไปในทางต่อต้านด้วยพยาบาทบ้างอะไรบ้าง มันมันยิ่งใหญ่โตไปมาก ยิ่งเป็นเรื่องเสียหายมาก ก็ไม่รู้สึกทันท่วงทีบ้าง รู้สึกแล้วกลับนึกสนุกสนานเอร็ดอร่อยดี ในทางความรู้สึกของผู้นั้น การที่ได้เย่อหยิ่งจองหองยกหูชูหางนี้มันเอร็ดอร่อยดีสำหรับคนชนิดนั้น ผมพูดว่าเฉพาะคนชนิดนั้น เพราะมันจึงตั้งปีๆ กี่ปี สิบปี มันก็ไม่ละไอ้กิเลสเป็นเครื่องยกหูชูหางนั้นได้ เพราะไม่มีความละอาย เพราะไม่มีความกลัว นี้มันยิ่งกว่าแก้ผ้ากลางถนน น่าละอายยิ่งกว่าไปแก้ผ้ากลางถนน สำหรับพระที่กล้าให้กิเลสชนิดหยาบๆ อย่างนี้เกิดขึ้นมา แล้วมันน่ากลัวยิ่งกว่าการตกร่อง หน้าแข้งถลอก ตกร่องหน้าแข้งถลอกมันไม่เท่าไหร่ล่ะ แต่ว่าการปล่อยให้กิเลสมันเกิดขึ้นถึงขนาดยกหูชูหางอย่างนี้มัน มันเสียหมด มันยิ่งกว่าหน้าแข้งถลอก มันหน้าอายที่สุด ไม่มีอะไรที่จะน่าละอายเท่า นั้นไปคิดกันเสียใหม่ ให้มันรู้สึกว่ามันน่ากลัวขนาดนี้ มันน่าละอายขนาดนี้ แล้วจึงจะค่อยยังชั่วขึ้นมา มันสำเร็จอยู่ที่ความละอาย และความกลัวเป็นพื้นฐาน คือ หิริและโอตัปปะ นั่นแหละ ถ้ามันไม่มี และมันก็ไม่มีความเป็นผู้มีศีล มีสติอะไรได้เลย คือมักจะถือกันเสียว่า ธรรมะ ๒ ข้อนี้ มันคือ ก ข ก กา สำหรับคนแรกเรียน แรกบวชอยู่ หน้าต้นของนวโกวาทนี่ไม่สนใจ และในนวโกวาทก็ไม่ได้เขียนไว้ถึงขนาดนี้ด้วย พอดีกัน เพียงแต่ว่าความละอาย ความกลัว ไม่รู้ว่าจะใช้กันยังไง ในนวโกวาทเขาพาดหัวว่ายังไง ธรรมะหมวดนี้ หืม ธรรมะเป็นอะไร ตอบไม่ได้ เพราะไม่สนใจหรือมองข้ามไปหมด มันเป็นของ ก ข ก กา หญ้าปากคอก
ที่ไกลออกไปเขาว่าเป็นเทวธรรม ธรรมะที่ทำให้เป็นเทวดา ความละอายและความกลัวนี้ เรียกว่า เทวธรรม หิริโอตตัปปะสัมปันนา สุกกะธัมมะสะมาหิตา สันโต สัปปุริสา โลเก เทวะธัมมาติ ผู้ถึงพร้อมด้วยหิริโอตัปปะนี้คือผู้มีเทวธรรม นี้ไปฝึกกันในข้อนี้มันจะช่วยได้ รู้จักละอาย รู้จักกลัว โดยไม่ต้องมีใครเห็น นี้เป็นเรื่องของธรรมะ ต้องละอายแก่ตัวเอง ต้องกลัวอยู่กับตนเอง โดยไม่ต้องใครรู้ใครเห็น ก็ไปใช้แก่ธรรมะทุกเรื่องทุกข้อไปเลย ตั้งแต่ต้นจนเป็นพระอรหันต์น่ะ พอเผลอสติ ขาดสติ ทำไปด้วยขาดสติ เมื่อไหร่ก็ต้องละอายจนไม่รู้ว่าเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ต้องกลัวจนสะดุ้งพองขน แล้วมันก็ง่ายๆ ตามธรรมดา ตามกฏธรรมชาติ เหมือนที่เราระวัง เราเดินไม่ตกร่อง เราไม่ไปทำอะไรน่าละอายกลางถนนหนทาง ก็กลัวก็ละอาย มันก็มีศีล มีสมาธิ มีสติ อะไรได้โดยง่าย
มันก็เป็นเรื่องเดียวกันกับคำว่าความประมาท ความประมาทก็คือไม่ละอายและไม่กลัว ความไม่ประมาทมันก็มีสติอยู่เสมอเพราะมันละอายและกลัว มันก็มีสติอยู่เสมอ ข้อนี้มันไม่ใช่ว่ากลัว จนทำอะไรไม่ถูก หรือละอายจนไม่กล้าทำอะไร เพราะว่าเรื่องนี้เรารู้ดีอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร ต้องทำและทำอย่างไร มันรู้ดีอยู่แล้ว และมันก็ต้องกลัวในการที่จะทำ พลาด หรือไม่ทำในที่ควรจะทำ มันเป็นธรรมะประเภทที่ต้องคิดบัญชีอยู่ทุกวัน ค่ำลงจะสิ้นวันลง นี่จะต้องคิดบัญชีว่าวันนี้มันไม่กลัว หรือไม่ละอาย กี่ครั้งกี่หน คือ จิตใจมันน้อมไปในทางที่ไม่ควรจะน้อมไป แล้วก็ต้องเรียกว่าเสียหายแล้ว ไม่ละอายและไม่กลัวแล้ว ไม่ต้องถึงกระทำลงไปให้ปรากฏออกมาแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือว่ากระทำลงไปแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง อย่างนั้นมันมากไป เพียงแต่คิดไปในทางอกุศลก็พอแล้ว ก็ต้องละอายอย่างยิ่ง ต้องกลัวอย่างยิ่ง มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่ออกมาข้างนอก งั้นการที่กระทบกระทั่งกัน เบียดเบียนกัน ค้อนควักกัน อะไรมันก็ไม่มี
ว่าอะไร คุณถวิล หิริโอตัปปะพาดหัวว่าอย่างไรนวโกวาท (มีเสียงตอบ) ถามคุณถวิลน่ะ ลืมเสียหมดแล้ว ธรรมเป็นโลกบาล มันโลก-กะ-ปา-ละ โล- กะ-ปา-ละ มันคุ้มครองจริงๆ ไอ้โลกนี้ก็คือคน คือคน คือสัตว์ แล้วก็คือใจ แล้วก็คือวัวตัวนั้น วัวตัวที่กำลังเขียนอยู่ มันจะคุ้มครอง นี่มันก็อยากเป็นวัว ผมคิดว่าจะพูดเรื่องวัวแล้วทำไมวันนี้ เพราะว่ากำลังเขียนวัวอยู่ แล้วก็ให้ดูกันหลายหนแล้ว เรื่องวัว วัว ภาพวัว จับวัว อธิบายกันผิดๆ ถูกๆ วัวนี้มันคืออะไร แล้วใครจะเป็นคนจับวัว ถ้าคุณตอบไม่ได้ก็ทำให้มีสติสัมปะชัญญะไม่ได้ แล้วใครจะเป็นคนมีสติสัมปชัญญะ แล้วใครจะเป็นคนทำให้มันมีสติสัมปชัญญะ ใครจะเป็นคนมี แล้วใครจะเป็นคนทำให้มันมี หรือว่าอะไรมันเป็นวัว แล้วใครมันจะฝึกวัว เที่ยวตามหาวัว ใครนึกได้ว่ายังไง ลองว่าสิ บุญธรรมว่ายังไง (เสียงคนตอบเบาๆๆ) คือ จิตนี้เหมือนกัน อันเดียวกันหรือเปล่า แล้วจะฝึกกันได้อย่างไร (เสียงตอบจากผู้ชายว่า อันเดียวกัน) ต้องอธิบายข้อนี้ได้ด้วย เมื่อมีเพียงอันเดียวแล้วมันจะฝึกกันได้ยังไง ไปคิดให้แตก ให้มันกระจ่าง ให้มันชัดเจน แล้วก็ดูเรื่องวัว ไอ้ตอบนั่นมันถูกแต่ก็อธิบายไม่ได้ จน อุปมานี้มัน มันมีว่ามันไปตามวัวใช่ไหม มันมีวัวที่หายไปแล้วมันไปตามวัว จับได้เอามาทรมานฝึก แล้วใช้ประโยชน์เกิดขึ้น เป่าปี่มีความสุขอยู่บนหลังวัว แล้ววัวก็หายไป เดี๋ยวคนก็หายไป โผล่มาใหม่เป็นธรรมชาติเดิมแท้ตามปกติ ไม่มีวัว ไม่มีคน คู่นั้นอีกแล้ว เหลือแต่คนที่สะพายลูกน้ำเต้าไปเที่ยวแจกความว่าง ลูกน้ำเต้า เหมือนกับความว่าง หรือแสงสว่าง
เริ่มขึ้นมาจากว่า วัวหาย ตามวัว เห็นก้น จับวัว ตีกันใหญ่ แล้วก็จูงจมูกมา ขี่ได้ มาถึงบ้าน วัวหาย พักเดียวคนหาย เหลือแต่ว่าง ก็ผลิออกมาใหม่ คือว่า ปรากฏออกมาใหม่ในลักษณะที่เป็นธรรมชาติเดิม สังสารวัฎฎ์ ที่ไม่มีความหมาย คือ ความเปลี่ยนแปลงอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีความหมายอะไร และคนนั้นออกมาใหม่ ไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นเด็กแล้ว ทีนี้ไม่ใช่เด็กฝึกวัวแล้ว ไม่ใช่เด็กขี่วัว เป็นตาแก่ท้องโย้ สะพายลูกน้ำเต้า ส่องตะเกียง และระวัง บางทีเขียนเป็นส่องตะเกียง บางทีเขียนเป็นลูกน้ำเต้า แจกๆ
ไอ้รูปที่กำลังจะเขียนนี่มีคนหาบปลา มีคนตกเบ็ด ได้ปลา หรือว่าทำให้พวกนายพรานเบ็ด คนฆ่าเนื้อ คนเหล่านี้ กลายเป็นคนที่ได้รับแสงสว่าง มีความว่างตามไปด้วย เดี๋ยวนี้คุณอยู่ในระยะไหนล่ะ เที่ยวหาวัวหรือเปล่า กำลังเที่ยวหาวัว หรือว่าเห็นรอยวัว หรือว่าเห็นก้นวัว หรือว่าจับวัว หรือว่าฝึกวัว มันเรื่องจิตบ้าไปเอง ที่แท้ไม่มีคน ไม่มีวัว อะไรที่ไหน มันมีแต่ความเข้าใจผิด ความเข้าใจถูก แล้วเมื่อดูให้ดีความเข้าใจผิด ความเข้าใจถูกนี้มันก็อันเดียวกัน เมื่อมันยังไม่เข้าใจถูก มันก็เข้าใจผิด เรื่องนี้มันดีมาก และดีเกิน เรื่องจับวัวนี้ยังมีคนเข้าใจน้อยมาก และอธิบายได้หลายๆ ระดับ ระดับต่ำๆ ก็ได้ ระดับสูงๆ เขาโผล่ขึ้นมา เขาอธิบายว่ามันไม่ได้หายไปไหน แต่มันไม่เห็น มันจึงรู้สึกเหมือนกับหาย ไอ้วัวนี้เขาหมายถึงจิตธรรมชาติเดิม คือ โพธิจิต เขาเรียกว่าโพธิจิตนี้ ไอ้วัวนี้หมายถึงโพธิจิต ไม่ใช่หมายถึงกิเลส จิตดวงนี้ ดวงเดียวนี้ ก็คุณบุญธรรมว่า มันจิตก็คือจิต มันจิตเดียวนี้ เขาเรียกว่าโพธิจิต แต่ยังไม่ตรัสรู้ คือ จิตที่จะตรัสรู้เรียก โพธิจิต นั่น ก็คือวัว ต้องไปจับเอาไอ้จิตดิบนี้ จิตดิบ จิตโพธิจิตที่ยังดิบนี้มา เบ่ง เอามาบ่ม บ่ม บ่ม บ่ม บ่มให้มันสุก มันจึงจะเป็นโพธิจิตที่ดี สว่าง หรือบานออกไป เบิกบานออกไป ทีนี้ว่าเอาจิตไหนมาฝึกจิตนี้ มันก็มีปัญหาอย่างนี้ เขาจึงว่าไม่ได้มีวัวที่หายไปไหน แต่จิตนี้มันไปบ้ายกหูชูหาง เป็นวัวเสียเอง ใช่ไหม จิตนี้มันเป็นบ้า มันยกหูชูหาง มีทิฐิมานะ เป็นกู เป็นของกูอะไรเสียเอง ก็จิตดวงหนึ่งนี้มันจะเป็นอะไรก็ได้ นั้นธรรมชาติเดิมแท้ของมันจึงไม่ปรากฏ เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันปรากฏแต่เรื่องของกิเลส ไอ้เรื่องที่จะให้มันเกิดกิเลสเป็นตัวกูของกู เป็นความโลภความโกรธความหลงนี้ มันเข้ามาปะทะอยู่เรื่อย มันจึงไม่เห็นธรรมชาติเดิมแท้ เมื่อไม่เห็นมันก็คิดว่าหายไปแล้ว หายไปแล้วไม่มีแล้ว ต้องเที่ยวตามแล้ว
ฟังดูให้ดี เขาว่าวัวไม่ได้หายไปไหน แต่เนื่องจากจิตโง่ไปติดอยู่กับกิเลส จึงไม่เห็นวัว คือไม่เห็นสภาพ ที่มันจะบริสุทธิ์หลุดพ้น หรือว่าไม่เกาะเกี่ยวอยู่โดยปกติ ไม่ ไม่มีกิเลสอยู่โดยปกติ มันไม่มองเห็น คือ มันไม่ปรากฏอย่างนี้ได้ เพราะว่ามันไปอยู่ฝ่ายกิเลสเสียเรื่อยไป มันจึงรู้สึกได้ว่ายังขาดอยู่ ไอ้เรื่องดี ไอ้เรื่องที่ควรจะได้ยังขาดอยู่ งั้นต้องเที่ยวตาม เที่ยวตามหา เมื่อเที่ยวหาวัวจนพบรอยวัว หรือว่าจิตมันไปหลงติดในอะไรเสีย ไม่มีความสงบ มันจึงไม่รู้สึกว่ามีความสงบ มันจึงรู้สึกว่าจะต้องค้นหาความสงบ เรื่องก็ยืดยาวมากออกไป เหมือนที่ฮวงโปพูดว่ามันอยู่แล้วที่หน้าผาก แต่ไม่มีใครเห็น อย่างนี้ คลำ ก็ไม่ได้คลำ เพราะมันไม่มองเห็น มันจึงไม่ได้คลำ เรื่องไม่มี เรื่องไม่มาก ก็เลยเป็นเรื่องมากและมีมาก มีมาก มีมาก ปฏิบัติกันจนตายก็ไม่หมด นี้มันเป็นวิธีลัดอยู่มาก และเขาเยาะเย้ยอยู่ในตัวว่าไอ้คนโง่ๆ ยกหูชูหางเป็นวัวเสียเอง มันก็ไม่เห็นวัวว่าอยู่ที่ไหน เพราะมันเป็นวัวเสียเอง กิเลสที่เป็นเหตุให้ยกหูชูหางนั่นแหละ ทำเป็น ทำนั่นให้เป็นวัวเสียเอง เป็นตัวเองเป็นวัวเสียเอง เลยไม่รู้ว่าวัวอยู่ที่ไหน ไม่รู้จะฝึกอะไรที่ไหน ไม่รู้จะไปจับอะไรที่ไหนมาฝึก เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ เพราะมันเป็น เพราะมันเป็นวัวเสียเอง ก็หาวัวไม่พบ จะให้วัวเป็นผู้หาวัวมันก็เลยไม่พบ แล้ววันหนึ่ง คืนหนึ่ง ที่มีแต่การยกหูชูหางน่ะมันเป็นวัวเสียเอง มันจึงหาวัวไม่พบ ไม่รู้ว่าเอาจิตไหนมาฝึกให้มันเป็นจิตที่ดีขึ้นมา แต่โดยเนื้อแท้ วัวเขาหมายถึงจิตที่จะตรัสรู้ข้างหน้า มันก็ปรากฏอยู่แล้ว มันมีอยู่แล้ว แต่ไปทำให้เลอะจนเป็นอะไรเสียเอง ไม่เห็นเป็นสิ่งที่มีดีอยู่แล้ว ไปหลง ไปหลงในกิเลสเสียเรื่อยไป สภาพเดิมแท้ของมันไม่ปรากฏ
เมื่อได้รับการสั่งสอนศึกษาอบรมถูกต้อง แล้วก็ตัวก็เป็นคนมีหิริโอตัปปะ มีความซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อธรรมะต่อตัวเอง มันจึงจะเริ่มเห็นรอยวัว ที่เขาเขียนภาพที่สองเริ่มเห็นรอยวัวน่ะมัน คือมันเริ่มรู้สึกว่า จิตนี้ คือจิตตัวนี้มันฝึกได้ มันจะฝึกได้ ก็เริ่มเห็นว่าวัว เริ่มเห็นวัว เห็นรอยวัว เห็นท้าย ก้นวัว เพราะมันเริ่มละจากไอ้กิเลสที่เข้าไปบ้าๆ บอๆ ที่เป็นวัวเสียเอง ละมาจากนั้น มาเริ่มเห็นไอ้จิตที่ว่ายัง ยัง ยังจะต้องฝึก จึงเห็นร่องรอย ทีนี้เขา เขาถือว่านะ ไอ้ถ้าตามหลักของพวกนี้ มันคือในโพธิจิตนี้ ไม่ใช่ว่ามันรู้ หรือว่ามันเรียบร้อย มันราบคาบ มันสงบมาแล้ว มันก็มีพยศเหมือนกัน เพราะมันไม่ได้รับการฝึกที่ถูกต้อง เขาเป็นจิตเดียวด้วย เขาไม่ได้จิตไหนน่ะ ไอ้จิตที่บ้าที่สุดมันก็จิตนั้นน่ะ ไอ้จิตที่มันไม่บ้าที่มันจะรู้ขึ้นมาทีหลัง มันก็จิตนั้น มันแล้วแต่ว่าอะไรเข้าไปผสมมันเข้า ผสมลงไป คือเจตสิก เราเรียกกันอย่างภาษาอภิธรรม ว่า เจตสิก พวกไหน มันจะเข้าไปผสมลงไป มันก็คือการกระทำของไอ้กลุ่มนั้นน่ะ ทำไปในทางที่ให้เจตสิกพวกไหนเกิดขึ้นมาผสม มันจึงเป็นวัวในหลายลักษณะ เปรียบเหมือนกับวัวที่ยังเป็นเถื่อน ไม่ยอม ไอ้โพธิจิตนั่นน่ะมันยังไม่ยอม
เหมือนเราไปจับวัวเถื่อนมาตัวหนึ่ง มันก็วัวตัวนั้นแหล่ะ ซึ่งมันมีอุปนิสัยที่มันจะเป็นวัวที่ดีได้น่ะ วัวตัวนั้น แต่ถ้าแรกๆ จับมาใหม่ๆ มันยอมที่ไหนน่ะ มันจะขวิดคนจับเสียให้ตาย หรือว่ามันทำทุกอย่าง ที่มันจะทำได้ คือ วัวตัวนั้นน่ะ ถ้าเมื่อได้รับการฝึกดี มันก็กลายเป็นวัวที่เชื่องและใช้ประโยชน์ได้ มันก็วัวตัวนั้น นี่ลักษณะอาการของไอ้สิ่งที่เรียกว่าโพธิจิต จิตที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตน่ะ เมื่อมัน มันไม่มีการฝึกที่ถูกต้อง มันก็เป็นเหมือนกับไอ้วัวเถื่อน มันจึงต้องฝึก ที่เขาพูดว่าไม่มีวัว ไม่มีวัว หายไปไหน ก็หมายถึงสภาพเดิมของมัน ก่อนแต่ที่จะถูกกิเลสครอบงำ ปรุงแต่ง ไอ้ที่ว่า ไอ้ตัวหนังสือจีนที่ว่า ทีแรกไม่มีอะไรนั่นน่ะ ตัวนั้นน่ะสำคัญมาก คือมันก็ว่างอยู่ตามธรรมชาติ แล้วพอเกิดมามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายผิวหนังอะไรที่มันจะรับอารมณ์เจริญงอกงามขึ้น มันก็รับอารมณ์เข้าไป อารมณ์นี้ก็เข้าไปทำให้บ้า ต่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหล่านั้น รักบ้าง ไม่รักบ้าง ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง สุดท้ายมันก็เท่ากัน มันบ้าเท่ากัน ยินดีก็ตาม ยินร้ายก็ตาม นั่นมันจึงมีอะไรขึ้นมา ทั้งๆ ที่ทีแรกมันไม่มีอะไร ทีแรกมันไม่มีอะไร ทีแรกมันก็ไม่มีวัว แต่มันเกิดเป็นวัวขึ้นมา เพราะว่ามัน มันมาพบกันเข้ากับไอ้ ไอ้สิ่งแวดล้อมนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เลยเป็นวัวแบบที่มันดื้อดึง วัวที่มีพยศร้าย และพอมันมึนเมาในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส มากขึ้น ในทางที่จะรู้สึกต่อตัวกู ของกู มันก็มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ในที่สุดมันก็ยกหู ชูหาง เป็นวัวชนิดนี้ไปยกหูชูหางไปวิ่งเร่าๆ อยู่เหมือนกับไอ้วัวตัวดำทีแรกกว่ามันจะได้รับความเฉลียวฉลาดจากประสบการณ์ หรือว่า จากคำสั่งสอน หรือจากอะไรก็ตาม มันจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป
นั้นไอ้พูดจากวัว มันก็คือส่วนหนึ่ง ซึ่งมาแวดล้อมจิตให้เปลี่ยนไป ในทางที่ตรงกันข้าม คือ เจตสิกธรรม พวกฝ่ายกุศล ที่มันค่อยมีโอกาสเกิดขึ้น ค่อยมีโอกาสเกิดขึ้นเพราะสิ่งแวดล้อมที่ดี มีครูบาอาจารย์ มีหนังสือหนังหา มีความเข็ดหลาบ ความจำ รู้จักเข็ดหลาบอะไรนี้น่ะ เกิดเป็น แยกออกมาเป็นอีกประเภทหนึ่งเหมือนกับเด็กผู้จะฝึกวัว ไอ้สิ่งที่มีอยู่แท้ๆ ก็คือ จิต จิตนั้น จิตดวงนั้นน่ะ ซึ่งเป็นโพธิจิตที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่ๆ แต่มันกำลังเปรียวเถื่อน เพราะว่ามันไปผสมกับเข้ากับไอ้พวกที่เข้ามาแวดล้อมไปในทางอกุศลเจตสิก คือ ฝ่ายกิเลส ฝ่ายที่เราเรียกว่ากิเลส
ทีนี้ไอ้คำว่าโพธิ คำว่าโพธินี่ เรามันเข้าใจกันอีกอย่างหนึ่ง รู้ไว้บ้าง ฝ่ายพระเถราวาทเรานี่แยกกิเลสออกจากโพธิตรงกันข้าม ทางฝ่ายมหายาน เขาพูดลงไปว่ากิเลสกับโพธินั้นคือสิ่งเดียวกัน ถ้าคุณฟังไม่ถูก คุณก็ดูอย่างที่ผมพูดเมื่อตะกี้ ไอ้โพธิจิต ไอ้วัวตัวนั้นน่ะ โพธิจิตนั้นน่ะ มันรู้ มันต้องรู้ มันรู้ไปตามสิ่งแวดล้อม ตามเหตุปัจจัยที่แวดล้อม ถ้ามันรู้อย่างนี้ก็เรียกกิเลส ถ้ามันรู้อย่างนี้ก็เรียกโพธิ ที่จริงเป็นความรู้เสมอกัน สำหรับวัวไม่มีความหมายว่าเป็นกิเลส หรือเป็นโพธิ แต่สำหรับคนมีความหมายเพราะมันรักฝ่ายโพธิ มันเกลียดฝ่ายกิเลส ถ้าฝ่ายกิเลสมันทำให้เดือดร้อน มันขบกัดเอา ฝ่ายโพธิมันทำให้ดี ให้สบาย แต่ถ้าถ้าธรรมชาติแท้ๆ แล้ว มันมีความหมายเท่ากัน กิเลสก็ตาม โพธิก็ตาม นั่นน่ะคือความที่ยังไม่ได้ยึดถือ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น พอเราเกิดความยึดมั่นถือมั่น เราก็เลือกเอาฝ่ายดี ฝ่ายโพธิ ฝ่ายบุญ ฝ่ายกุศล ฝ่ายนิพพานน่ะว่างั้น แล้วก็เกลียด หรือเกลียดกันฝ่ายกิเลส ฝ่ายสังสารวัฎฏ์ออกไปเลย เป็นคนละอย่าง ตรงกันข้าม นี่เป็นทางที่ให้เกิดความรู้สึกมีจิต มีวัว มีผู้ฝึกวัว เป็นความโง่ หลง อีกชั้นหนึ่ง จึงมีวัว มีผู้ฝึกวัว ทำให้มีปัญหา มีหน้าที่มีอะไรมากขึ้นมาทันที ถ้ามันจะไปผูกกันเข้ากิเลส อย่าไปต้องการอะไร มันก็อันเดิมนั้น อันที่ว่างอยู่ตามเดิม พูดอย่างนั้นต้องพูดว่าไม่มีวัว ไม่ได้หายไปไหน วัวไม่ได้หายไปไหน ในเมื่อจิตอันนั้นมันไปหมกอยู่กับเจตสิกฝ่ายกิเลส มันก็รู้สึกว่าไม่มีวัว วัวหายเสียแล้ว จะต้องไปตามตัวจับเอามาฝึก แต่ถ้ามันยังไม่เหมาะกับกิเลส เข้าไปยึดมั่นอะไร ไอ้จิตนั้นมันก็เป็นจิตที่ไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหาอะไร มาเผลออยู่ฝ่ายกิเลสนิดเดียว ไอ้ฝ่ายนั้นเกิดหายไป มีปัญหาที่ต้องตามมาฝึก เรื่องมันก็มาก
ที่พูดว่าเดิมมันว่างอยู่แล้ว อยู่ตามธรรมชาติแล้ว ไม่ต้องทำอะไร ฟังกันไม่ค่อยถูก อุปมาเหมือนกับเพชรมีอยู่ที่หน้าผากแล้ว ไม่ต้องไปหาที่ไหน ถ้าถือแนวอย่างนี้ ไอ้เรื่องสติสัมปะชัญญะมันก็มีได้แรง มีได้มาก หรือมีได้ง่าย ตรงที่ระวัง ระวังเรื่องอย่าไปหมกมุ่นกับไอ้ฝ่ายที่เรียกว่ากิเลส วัวมันก็มีอยู่เรื่อย มันก็เจริญอยู่เรื่อย ไม่ได้หายไป ไม่ได้ต้องตามตัวมา ไม่ได้เอามา ไม่ต้องฝึกให้ลำบากยากเย็น แต่แล้วมันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าพอเกิดมามันก็เริ่มมีไอ้ความฝักใฝ่ไปทางฝ่ายกิเลสเรื่อย เอียงเรื่อย เอียงไปเรื่อย ไอ้โพธิจิตมันก็ไม่แสดงอาการในทางของโพธิจิตมากลายเป็นกิเลสเสีย แต่สิ่งที่น่าปรารถนาที่ต้องการ คือ โพธิจิตนั้นก็ไม่ปรากฎ ทำไมต้องศึกษา ศึกษา ค้นหา ค้นคว้า ค้นหา อุตส่าห์ไต่ถามศึกษาเล่าเรียนจนพบว่าจิตยังไง ที่จะเป็นที่พึ่งได้
มันไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องอะไร แต่มาทำให้มีเรื่อง ให้มีปัญหาขึ้นมาเสียเอง แล้วก็ทำไกลออกไปลิบ ไกลออกไปลิบลับเลย ลับจนกว่าที่จะกลับมาได้โดยยาก พอเกิดมาก็มีแต่ไอ้กิเลสอันนี้ ตั้งแต่สามขวบสี่ขวบมาจนบัดนี้เรื่อยมา เรื่อยมา เรื่อยมา มันไปไกลลิบ ยกหูชูหางวิ่งโร่ไปไกลลิบเลย กว่าจะตามตัวพบเหมือนกับวัวตัวนั้น ข้ามโขดเขาไปไม่รู้กี่ลูก กี่โขดเขา แล้วจะกระทำคำอธิบายของภาพวัวนี้ ไปไกลข้ามภูเขาไปหลายๆ ภูเขา หลายๆ เทือกเขา นี่กว่าเราจะโตมีอายุเท่านี้ สามสิบ สี่สิบปีนี้ มันไปไกลลิบขนาดนี้ การที่จะฝึกมัน ก็ยากมากขึ้นเป็นธรรมดา หมายความว่า การที่จิตจะฝักใฝ่ไปในทางของฝ่ายโพธิแท้ ก็ยาก ไปฝ่ายกิเลสเรื่อย คือ ความรู้นั่นแหละมันเอียงไปฝ่ายโพ้นเรื่อย จะเรียกว่าฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายก็ตามใจ ความรู้นั้นถ้ามันเอียงไปทางนี้มันก็เป็นกิเลส เอียงมาทางนี้มันก็เป็นโพธิ แล้วแต่อะไรมาแวดล้อมมัน จะต้องถือว่าไอ้ความมีประสบการณ์มาก ทำให้เกิดเห็นร่องรอยวัว เกิดมีผู้ฝึกขึ้นมา คือว่า เราสามารถจับตัวโพธิจิตดึงมาฝ่ายนี้ อย่าปล่อยให้มันล่องลอยไปตามชอบใจของมัน ไปทางฝ่ายโน้น โพธิจิตที่กำลังเปรียว เถื่อนเหมือนวัวเถื่อนนั้นน่ะ เราก็ดึงกันมาฝ่ายนี้ มันไม่มีโอกาสไปฝ่ายโน้น ผลสุดท้าย มันก็คือความละอาย ความกลัวและประสบการณ์ต่างๆ ของจิตนั้น ดึงจิตนั้นเอียงมาทางนี้ เพราะสิ่งที่เรียกว่าความรู้ ความรู้หรือโพธินั้น มันเป็นไอ้ ไอ้เจตสิก ไม่ใช่เป็นจิต คือเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับจิต เป็นพวกเจตสิก เป็นทรัพย์สมบัติ เป็นสมบัติของจิต ส่วนจิตนั้นมันมีหน้าที่รู้ ถ้ามันมีทรัพย์สมบัติ มีสมบัติประเภทให้รู้ ทรัพย์สมบัติที่ทำให้รู้ประเภทไหน มันก็รู้ประเภทนั้นน่ะ
ถ้าทรัพย์สมบัติ เอ่อ ถ้าสมบัติประเภทอกุศล มันก็รู้ไปฝ่ายอกุศล ฝ่ายกุศลมันก็รู้มาฝ่ายกุศล มันจิตตัวนั้น แต่ก็จิตตัวนั้นจะเป็นจิตที่ตรัสรู้ เพราะฉะนั้นเขาจึงเรียกมันว่าโพธิจิตตลอดเวลา เพราะว่าเมื่อมันยังอยู่ในป่าเป็นวัวเปลี่ยว มันก็ตัวนั้นน่ะ ไปคล้องคอมามันก็ตัวนั้นน่ะ เฆี่ยนตีมันก็ตัวนั้น ฝึกมันก็ตัวนั้น ฝึกแล้วมันก็ตัวนั้น ฉะนั้นมัน มันมีการจับวัวอยู่ชั่วระยะหนึ่ง คือที่ คือระยะที่มันยังไม่เบิกบาน เป็นการตรัสรู้ ผู้ฝึกก็คือฝ่ายกุศล ไอ้ที่ถูกฝึกก็คือฝ่ายอกุศล จิตคือ ใจกลาง จิตคือตัวจิต คือตัวเอ่อ อะไร ตัวที่จะเป็น มีตัวเดียว พอฝ่ายอกุศลเจตสิกครอบงำ ก็เป็นวัว วัวเปลี่ยว วัวเถื่อน เพราะฝ่ายกุศลเจตสิกครอบงำ ก็เป็นผู้ฝึกขึ้นมา เป็นเด็กๆ ที่ผู้ฝึกขึ้นมา เขาเรียกว่าเด็กนั่นน่ะ คนนั่นน่ะเรียกว่าเด็ก หมายความว่าคนโง่ เหมือนกันนา ถึงจะรู้จักฝึกวัว ฝึกอะไรก็ยังเป็นเด็ก ยังเป็นเด็กที่ยังโง่อยู่ ถึงมันจะฝึกวัวสำเร็จ มันก็ยังคือเด็กโง่อยู่นั่นล่ะ เพราะมันยกหูชูหางไปทางว่ากูฝึกสำเร็จ หรือว่ากูสบาย หรือว่ากูมีความสุขแล้วไง มันจะเป็นใหญ่ก็ต่อเมื่อมันหายไป ในฉากที่วัวหายไปแล้ว เด็กก็หายไปอีก แล้วก็ว่างเป็นวงกลม คือมันหมดโง่กันที จึงจะเหลืออยู่แต่ธรรมชาติสุทธิธรรมาปวัตตันติ ธรรมชาติล้วนๆ หมุนเวียนไป อะไรก็เป็นอย่างนั้น อะไรก็เป็นอย่างนั้น อะไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีนึกคิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน เรา เขา นี่ทีนี้น่ะออกมาเป็นคนแก่ พุงโย้ หมายความว่าเต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติที่ดี มีแสงสว่าง หอบของเบ้อเร่อเที่ยวแจกประชาชนใน นั่นน่ะ คือเป็น หลังๆ จากตรัสรู้แล้ว ยังทำประโยชน์ผู้อื่นได้ ทำพรานเบ็ดให้รู้อันนี้ได้ ทำคนฆ่าวัวขายให้ ฆ่าหมูขายให้ รู้ได้ ในที่สุด ก็คงจะเพราะว่ามันชำนาญ เพราะตัวเองก็เป็นวัว เคยเป็นวัวเถื่อนมาแล้ว และก็ปราบได้แล้ว ทีนี้ก็คงจะช่วยปราบให้คนอื่นได้ ก็แนะนำเขาได้ คนเคยเลวถึงที่สุดมาแล้ว แล้วก็เปลี่ยนเป็นคนดีได้ กระทั่งคนเหนือดีขึ้นไปอีก ทีนี้ก็รู้จักเรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องอะไรดี สามารถช่วยคนให้อยู่เหนือชั่วเหนือดีได้ เดี๋ยวนี้อย่างมากก็เป็นไอ้วัวที่บ้าดี ยกหูชูหางเร่อร่าอยู่นั่น มันก็ช่วยใครไม่ได้ ช่วยเด็กอมมือก็ไม่ได้ แต่ว่าจะช่วยคนโตๆ ด้วยกัน
ถ้าเปรียบจิตด้วยการฝึกวัวแบบนี้ คุณจะเอาสติสัมปชัญญะไปไว้ที่ตรงไหน ก็ต้องไว้ที่ฝ่ายผู้ฝึก คือ กุศลเจตสิก ที่มีชื่อว่า หิริโอตัปปะ สติสัมปชัญญะ ปัญญา อย่างนี้ กุศลเจตสิกพวกนี้ ทีนี้อย่างฝ่ายเรา เถรวาทเราไม่พูดอุปมาฝึกวัวอย่างนั้น อย่างพวกเซน เราก็พูดกันแต่เรื่องมีสติสัปชัญญะ ระวังอย่าให้เกิดกิเลส เกิดอกุศล ก็มีเท่านี้ ปัญหาก็มีเท่านี้ แต่นั่นเขาเก่งสมมติเป็นเรื่องมีพล็อตเรื่องยืดยาว โง่ขนาดที่คิดว่าวัวหาย ทั้งที่วัวก็มิได้หาย ก็เที่ยวตามพบวัว มาฝึก มาใช้ประโยชน์ กระทั่งวัว หมดไป คนหมดไป มันหมด หมดๆ หมดความอยากเป็นกู จากมีของกู หมดความเป็นตัวกู หมดความเป็นของกู มีของกู มันจึงว่าง คนที่ว่างแล้วนี่ก็คือคนที่เหมาะสมที่จะสอนคนอื่น
พวกคนที่เขาคิดอุปมาเป็นเรื่องวัวขึ้นมานี่ เขารู้ธรรมะลึก เขารู้ธรรมะลึก รู้ธรรมะสุญญตา ลึก คือ มันไม่มีวัว ที่แท้มันไม่มีวัว ความโง่ทำให้นึกว่ามีวัวขึ้นมา และหายไปเสียด้วย แล้วก็ไปตามตัวมา เราไม่นึกถึงเรื่องวัว เรื่องฝึกวัว นึกถึงว่าฝึกจิต ตามธรรมดา ระวังให้มีแต่ฝ่ายกุศลเจตสิก คือ ฝ่ายดี ฝ่ายกุศลนั้นหล่ะไปก่อน เช่น หิริโอตัปปะที่กำลังพูดเมื่อตะกี้ ให้มีแต่ความรู้สึก มีสติสัมปชัญญะ ถ้าพลาดไปให้มีหิริ คือ ความละอาย มีโอตัปปะคือความกลัว เพียงเท่านี้มันพอแล้ว ปล่อยไปเถอะวัวมันขาวเอง ถึงในในภาพนั้น เขาก็มีอย่างนั้น วัวมันค่อยขาวไปเอง ค่อยขาวไปเอง ค่อยขาวไปเอง เราผูกไว้ให้ดี เฆี่ยนไว้ให้ตี ตีเอ่อ ควบคุมไว้ให้ดี มันขาวของมันเอง เหมือนกับว่าเรามีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ แล้ว วัวมันขาวเอง ถ้ามันพลาดไปก็มีหิริและโอตัปปะอยู่ มันก็คือเฆี่ยนมัน เฆี่ยนมัน ผูกมัน เรียกอีกทีหนึ่งก็เรียกว่า การเป็นอยู่ชอบ ที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ถ้าภิกษุเหล่านี้จะเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ มันคือ อาการที่ปล่อยให้มันไปตามเรื่อง แต่ว่าคุม ควบคุมไว้อย่างถูกต้อง แล้วโลกนี้ก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ คือ หมายความว่าไอ้วัวขาวจะต้องมีขึ้นมา และขาวจนหายไปเลย
เราจงมีชีวิตอยู่ประจำวันด้วยสติ สัมปชัญญะอย่างเดียว นี่ถ้าสติสัมปะชัญญะมันพลาดพลั้งไปก็มีหิริและโอตัปปะเป็นเครื่องช่วยแก้ไขกลับคืนมา หรือว่าให้ให้รักษาไว้ให้อยู่ได้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่ได้มันก็หมดปัญหา มันเหมือนกับทำไว้ถูกแล้ว ทำไว้ดีแล้ว ปล่อยให้มัน ให้กาลเวลามัน มันทำงานของมัน พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น อยู่โดยชอบไซร้ เรื่อยไป กิเลสไม่ได้โอกาสที่จะกินอาหาร ที่จะเจริญงอกงามมันก็น้อยลงไป ไอ้ขาวมันก็เกิดขึ้นมา งั้นความดำของวัวมันน้อยลงไป ความขาวมันก็เกิดขึ้นมา ถึงเวลามันก็ขาวทั้งตัว งั้นอยู่ให้ดี อยู่ให้ดี อยู่ให้ดี แต่ที่จริงไม่ถูก ผม ผมชอบอย่างพวกเถระ มหายานอยู่นิ่งๆ อยู่นิ่งๆ อยู่นิ่งๆ อย่าทำอะไร อยู่นิ่งๆ นั่นแหละถูก เพราะถ้าอยู่นิ่งได้มันก็มีสติสัมปชัญญะ เต็มที่ อย่าไปรักดี อย่าไปอยากดี อย่าไปเกลียดชั่ว อย่าไปอะไรเข้า อยู่นิ่งๆ อยู่นิ่งๆ เดี๋ยวนี้เราอยากจะมีสติสัมปชัญญะ เพราะอยากดี มั่ง อยากเป็นพระอรหันต์มั่ง นั่นน่ะ นั่นน่ะมันยิ่งบ้าใหญ่เลย มันก็ยิ่งดำ ดำออกไป ดำออกไปอีกทางหนึ่ง เพราะว่าไม่ได้อยู่อย่างถูกต้องโดยชอบ เพราความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ กระทั่งอยากเป็นพระอรหันต์ เหมือนชะนีตัวนั้นน่ะ ชะนีตัวข้างประตู ไอ้ความเป็นพระอรหันต์ชนิดนั้นน่ะ มันคือเงาน้ำ เงาพระจันทร์ในน้ำ ไม่ใช่ของจริง สติสัมปชัญญะนั่นน่ะคือการเป็นอยู่โดยชอบ มีสติสัมปชัญญะอยู่เถิดก็เรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ เป็นอยู่โดยชอบเท่านั้น โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ ถึงต้องหัดในส่วนนี้ และสติสัมปชัญญะจะเสียไปก็ต่อเมื่อประสบอารมณ์ กระทบอารมณ์ ถ้าไม่มีกระทบอารมณ์ มันไม่เสียไปหรอก ถ้าไม่กระทบอารมณ์เราจะเอาโอกาสไหนฝึกล่ะ มันก็ยินดีที่จะกระทบอารมณ์แล้วก็ฝึกสติสัมปชัญญะ คือการต่อสู้ เหมือนกับเฆี่ยนวัวกันใหญ่เลย ผูกไว้กับต้นไม้ด้วย แล้วก็เฆี่ยนด้วย อย่าให้มันหนีไปไหนได้ ที่จะคอยหลบหนีอารมณ์ไปเสีย หลีกเลี่ยงไปเสีย ไปหาความอย่างอื่นเสีย มันก็ไม่ถูกล่ะ มันไม่มีอาการที่จะใช้สติสัมปชัญญะล่ะ ไม่มีโอกาสที่จะใช้สติสัมปชัญญะ หรือมีสติสัมปชัญญะ นั้นการที่ได้รับการกระทบกระเทือนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่ผมว่าดี สำหรับจะได้เป็นโอกาส เป็นบทเรียนไปในตัว งั้นอย่าเสียใจที่ว่า เมื่อมีใครเขาแกล้ง หรือว่าเขาเอ่อ ด่า เขาแกล้ง ทำให้เกิดอาการขุ่นมัวขึ้นมา เขามาให้บทเรียนที่เกี่ยวกับสติสัมปชัญญะล่ะ ด้วย และเป็นการสอบไล่ด้วย เป็นการอะไรเสร็จไปในตัว เป็นอุปกรณ์ของการมีสติสัมปชัญญะ
กลางวันเราก็เผชิญกับอารมณ์ภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลนี้ กับบุคคล กับการงาน กับสิ่งแวดล้อมนี่ สู้ๆ กันไปเลย เพื่อสอบดูเรื่องสติสัมปชัญญะ พอกลางคืน เราก็คิดบัญชีดู ทำวิปัสสนา เขาก็ให้ทำในส่วนนี้ ดูความเหลวแหลกของวัว ของคน ในวันหนึ่ง วันหนึ่ง ประจำวันหนึ่ง อย่าไปเสียเวลาคุยเรื่องอื่นให้มันยืดเยื้อ ให้มันฟุ้งเฟ้อบ้าน้ำลาย เมื่อมีโอกาสที่จะสงบสงัด กลางคืนนี่ก็สอดส่องดู คิดบัญชีดูเกี่ยวกับ ความได้หรือเสีย บวกหรือลบของสติสัมปะชัญญะ ก็คือ คิดดูว่าคะแนนมันไปฝ่ายวัว หรือคะแนนมันมาฝ่ายคน ฝ่ายเด็กที่ฝึกฝึกวัว ในวันหนึ่ง วันหนึ่ง แพ้กี่ครั้ง ชนะกี่ครั้ง ถ้าปกติอยู่ได้ ถือว่าชนะ พอเผลอไปถือว่าแพ้ ระดับยืนพื้นนั้นคือชนะ คือ คือว่า เฉยอยู่ได้ สู้ได้ งั้นไอ้เรื่องแพ้มันมีเป็น มีเป็นคราวๆ เล็กๆ น้อย เป็นระยะๆ ยืนโรงอยู่ด้วยความชนะ คือ มีสติสัมปชัญญะ อย่างนี้เรียกว่าผู้เป็นอยู่ชอบ ผู้เป็นอยู่ชอบ ไม่มีถอยหลัง แต่ถ้ามันเลวเกินไป มันกลับไปอยู่อยู่ในฝ่ายยืนโรงอยู่ในฝ่ายแพ้ คือ ยกหูชูหางเสียไม่มีเวลาลดลงเลย มันไม่ไหวหรอก หรือว่ายืนโรงอยู่ด้วยการยกหูชูหาง ลดเพียงนิดหน่อย นิดหน่อย ไม่กี่ครั้ง นี่มันตรงกันข้าม งั้นต้องระวังไอ้เรื่องยกหูชูหาง ถ้าไม่ใช้คำนี้มันหน้าด้าน มันเป็นคนหน้าด้าน ไม่มีหิริโอตัปปะ งั้นจึงใช้คำว่ายกหูชูหาง เหมือนกับวัว เมื่อมันวิ่ง ถูกมั้ยไหม วัวเมื่อมันวิ่งน่ะ มันยกหัว มันยกหางวิ่ง มันวิ่งยกหู ชูหาง ก็หมายความว่าจิตเอียงไปฝ่ายซ้าย ไปฝ่ายอกุศล เป็นฝ่ายเลวฝ่ายต่ำ ถ้ามันไม่มีอันนี้หมายความว่าอยู่ในสภาพเดิม เอียงมาในฝ่ายขวา ฝ่ายสูง ฝ่ายดี ที่ถูกควรจะเรียกว่าฝ่ายเดิมของมัน ที่เป็นไปในทางดี แล้วก็ถือว่า โพธิ จิตต้องเป็นโพธิ ถ้างั้นไม่ใช่จิตน่ะ จิตต้องมีลักษณะเป็นโพธิ เพียงแต่ว่าช้าหรือเร็ว ทุกคนต้องเป็นพระอรหันต์ เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้นน่ะ ใครมีอันนี้มากเกินไปก็เป็นแบบวัวไปก่อน นานๆ เป็นมากๆ นานๆ แบบวัวเถื่อน วัวที่ไม่ได้ฝึก
เราจะแย่เพราะอ่านมาก เพราะคิดมาก เพราะว่าไปขยายเรื่องให้เขื่องในทางไม่จำเป็น ผมรู้ ผมรู้ไม่ใช่ว่าอวดดี ผมรู้ เพราะว่าบุรุษไปรษณีย์มาส่งอะไรผ่านผม นี่ผมรู้ เออ มันเอาหนังสืออะไรมาอ่านกัน อะไรมันมากน้อยเท่าไร มันมีแต่เรื่องทำให้เนิ่นช้า มันอยากดิบอยากดี อยากหาเครื่องมือมายกหูชูหาง ไอ้หนังสือหนังหาที่สั่งมาอ่านกัน ไม่จำเป็นเลย มันทำให้เวลาเสียไปมากกว่าที่ควร เขาเรียกว่าเหตุที่ทำให้เนิ่นช้า เป็นปปัญจธรรม บางคนก็ยกหูชูหาง เพียงสักแต่ว่าแหม เมล์ไปรษณีย์ของกูมามากกว่าของใครเว้ย เท่านี้ก็มี เราได้รับไอ้วัตถุไปรษณีย์มากกว่าคนอื่น หรูหรามาอย่างโน้นอย่างนี้เลย หนังสือหนังหาก็มาก ที่แท้ก็ไม่ได้อ่านหรอก แล้วถึงอ่านก็มีแต่เรื่องยุ่งออกไป จนขยายให้มันเขื่องเกินกว่าความจำเป็น แต่ก็เพื่ออวดเบ่งทับคนอื่น ว่ามีหนังสือมาก มีตำรามาก รู้อะไรมากนี่ ยกหูชูหาง ให้โด่งขึ้นไปอีก ให้ยาวไปอีก งั้นขอแนะนำว่าให้ตัดทอนลงให้พอดี ให้จำเป็นแก่การที่จะเป็นวัวที่สีขาว ขาวเข้าไป ขาวเข้าไป ขาวเข้าไป มันจะดำออกไป ดำออกไป จนไม่รู้ว่าจะดำยังไง ดำอยู่เต็มที่จนดำอีก มันดำเข้มเข้า
ถึงผมเองก็ต่อสู้เรื่องนี้ หนังสือนี่มันมีมาเรื่อยจนไม่รู้จะอ่านยังไง จะเผาไฟเสียก็ได้ ยังนึกว่าไม่ไม่สมควร มันก็ไม่ได้อ่านหรอก แล้วมันก็ไม่มีเรื่องอะไรที่ดีกว่าเรื่องนี้ ถ้าไปมัวอ่านหนังสือเหล่านั้นอยู่ มันก็ยิ่งไม่ทำอะไร ยิ่งไม่มีประโยชน์อะไร มันไว้อ่านเล่น เหมือนกับเรื่องอดิเรก เหมือนกับเราไปเที่ยวดูอะไรเล่น อ้าว สมมติว่าเราหยิบหนังสือเช็คเสเปียร์มาอ่านอย่างนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีความหมายอะไร นอกจากชะเง้อมองหน้าต่างทางนี้ว่ามันมีอะไรบ้างที่มันแปลกๆ ที่ว่าเขาทำกันแปลกๆ และไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา หยิบหนังสือของคนอื่น นักปราชญ์คนอื่นอ่านอีกก็เหมือนกันอีก ทั้งพลาโต โสเครติส อะไรก็ตาม มันไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าอันนี้ มันกลายเป็นเหมือนกับว่าเราไม่รู้จะทำอะไรเดินเล่น เดินดูของเล่น จะเรียกว่าจำเป็น และก็ไม่จำเป็น แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องที่ๆ อดไม่ได้ เหมือนกับว่าเราไม่มีธุระอะไร ไม่ต้องการอะไร เราก็ยังไปเที่ยวเดินเล่น ริมสระบ้าง อะไรบ้าง มันดูอะไรเล่นนั่นน่ะ มันมีอะไร ที่สระมีอะไรที่ต้องการ ก็ไปเดินดูเล่นเท่านั้น เพื่อความสบายใจ เป็นเรื่องความเพลิดเพลินนั่นน่ะ พอไปเห็นขี้หมา มันก็ได้ความรู้ที่ไปเห็นขี้หมา มันก็มีเท่านั้นเอง มันไม่ได้มีอะไรเพิ่มขึ้นในการที่จำเป็นแก่การตรัสรู้ ไปเห็นดอกไม้ มันก็ไอ้ดอกไม้ ถ้าว่ามันเป็นเรื่องที่จะช่วยให้เราวินิจฉัย หรือตัดสินผิดถูก สอบไล่ได้ก็ดี แต่มันใช่เหรอ เพราะแต่ละเรื่องมัน เป็นฝ่าย ฝ่ายที่เรียกว่าฝ่ายวัวไปทั้งหมด ยิ่งในหนังสือหนังหาสมัยใหม่นี้ยิ่งเลวที่สุดเลย งั้นก็จะพูดได้เพียงว่ามันยุติตรงที่ตายไปแล้ว ไอ้พวกฝรั่ง เรามีหนังสือชุดใหญ่ชุดหนึ่งน่ะ มันสิ้นสุดตรงคนเป็นนักปราชญ์ ในเยอรมัน ในฝรั่งเศส เมื่อสักร้อยปีมานี่ สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น หลังจากนั้นมามันไม่มีอะไรเลย ไม่มีใครที่มีสาระอะไรขี้นมาที่เกี่ยวกับสติปัญญา ที่จะทำโพธิจิตให้วิวัฒนาไปในทางเป็นโพธิ มันไม่มี แล้วเฉพาะปัจจุบันนี้มันเรื่องบ้าทางวัตถุ พูดกันแต่เรื่องการเมือง เรื่องทหาร เรื่องอะไรที่จะให้เป็นความก้าวหน้าทางวัตถุ ไม่มี ไม่มีเรื่องทางสติปัญญา ทางนามธรรมเลย นั่นก็ถือว่าร้อยปีมานี่ มันเป็นเรื่องโลกในยุควัตถุ
ในประเทศไทยเราเสียอีก เรายังมีไอ้เรื่องอย่างนี้ ในหมู่วัดวาอาราม หมู่พระหมู่คณะสงฆ์ยังมี พุทธศาสนายังเป็นพุทธศาสนาอยู่ ทีนี้ฝ่ายพวกฝรั่งนั้นไม่มี คริสเตียนก็ไม่มี ความหมายอะไร เป็นเปลือกเป็นพิธี ไม่มีเนื้อแท้ของการตัดตัวกูของกูเหมือนกับความหมายของไม้กางเขนเลย เป็นลูกน้องกับลูกสมุนของโลก ของวัตถุไปหมด เราเลยไม่รู้จะหวังอะไรจากพวกฝรั่ง นอกจากจะพวกเห่อฝรั่ง อยากให้เขาเห็นว่าโก้ดี ไอ้มีฝรั่งหรือ ตามก้นฝรั่ง
ใช้เวลาให้มีค่าให้มาก อย่าไปเสียเวลากับเรื่องรวนเร ลังเล รวนเร งมงายไปตามเดิม มีทิฐิมานะจะรักษาหู รักษาหางให้สูงโร่อยู่ตามเดิม เป็นพวกสีลัพพัตตปรามาส ความเข้าใจผิด กลับกันเสียหมด นั่นน่ะมันจึงละไม่ได้แม้แต่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพัตตปรามาส บางเวลาก็ลังเล ลังเล แม้กระทั่งลังเลว่าจะอยู่หรือจะสึกก็ลังเล ลังเลว่าจะเอาแนวนี้หรือเอาแนวอื่นก็ลังเล อย่างนี้มันก็วิจิกิจฉามากเกินไป
สีลัพพัตตปรามาสก็คือหัวดื้อ กูเคยทำมายังไง กูเคยมีทิฏฐิความคิดยังไงก็จะสงวนไว้เรื่อยไป ไอ้เรื่องสักกายะนะก็คล้ายๆ กันน่ะ ผม ผมไม่เชื่ออรรถกถาที่มีอธิบายเรื่องสักกายะ ละความยึดมั่นในขันธ์ใน มันสูงเกินไป ถ้าละอย่างนั้นเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่เป็นโสดาบัน ที่ละอย่างอรรถกถาเขียน แล้วอรรถกถานั่นน่ะมันบ้า ที่ว่าละเพื่อเป็นอย่างนี้ ละเพื่อเป็นโสดาบันก็ละอย่างนี้ ใครจะเชื่อลง ละความเห็นขันธ์ โดยความเป็นขันธ์ ในขันธ์ ในเรามีขันธ์ ในขันธ์มีเรา นี่ห้าอย่างนั้นน่ะ มันละเหมือนกันหมด มันไม่ถูก มันมากเกินไป มันละอย่างนั้น เป็นพระอรหันต์ ขอให้มันละแต่เพียงว่ามีตัวกูนี่ ตัวกูบ้าบอนี่ๆ ละให้ได้เป็นสักกายะทิฏฐิ ละสักกายะทิฏฐิ คือ เราเดินไปตามแนว ตามหลัก ที่ว่าปุถุชน สัตว์ประเภทปุถุชนดี ไปตามลำดับ อย่างปุถุชนมันไปสูงสุดแค่พรหม เคยได้ยินเคยอ่านแล้วใช่ไหม สัตว์นรก เดรัจฉานเลวมาก อบาย ต่ำกว่านรก เดรัจฉาน เปรต เดรัจฉานสูงขึ้นมาถึงมนุษย์ หลังจากมนุษย์ก็ต้องเป็นเทวดา หลังจากเทวดาสูงขึ้นไปอีกก็ต้องเป็นพรหม พระพรหม คือจุดสูงสุดของสัตว์ ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะเจ้า
ทีนี้สัตว์สูงสุดของปุถุชน คือ พรหม นั่นน่ะ คือ ผู้ที่มีหูหางยาวที่สุด มีตัวกูของกูมากที่สุด ความรู้สึกอันนั้นเขาเรียกว่าสักกายะ นั้นในบาลีพระพุทธภาษิตมีอยู่ชัดว่า พอได้ยินว่าจะต้องทำลาย สักกายะละ พวกพรหมก็เป็นลม ใช้คำว่าเป็นลม คือ น่ามืดเป็นลมเลย เพราะมันจะสูญเสียตัวกู พวกพรหมไม่ยินดีที่จะฟังคำว่าละเสียซึ่งสักกายะ ทำลายเสียซึ่งสักกายะ นั้นสักกายะ สะก็แปลว่าของตนอยู่แล้ว สะหรือสักกะ แปลว่าของกูอยู่แล้ว กายะก็แปลว่ากาย หรือหมู่ กายของกู ทิฏฐิ ก็ทิฏฐิ ทิฎฐิว่ากายของกู คือ ตัวกูนี้ มันก็คือตัวกูชนิดที่ว่ายกหูชูหางกัน อยู่ในหมู่ผู้ดี คือ สูงสุดก็คือพรหม
นั้นรวมความแล้วมันก็คือไอ้ความรู้สึกว่า กูเป็นกูอย่างสูง อย่างเด่น อันนี้ละไปเสีย เป็นอันแรก เป็นอันแรกจากความเลวที่สุด ต้องละอันนี้เป็นอันแรก จึงจะย่างเข้ามาในขอบเขตของที่ดี ที่สูง นั้น คุณก็ดูเอาเองก็แล้วกัน อนุสัย ๑๐ สังโยค๑๐ มันก็ยังสักกายะไว้เป็นนัมเบอร์หนึ่ง สักกายะทิฏฐิละเสีย วิจิตกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิคะ รูปราคะ อรูปราคะ นี่น่ะมันสูงเป็นลำดับ มันละยากตามลำดับ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
ฉะนั้นจงมุ่งมั่นไปในทางละชนิดตัวกูของกูชนิดยกหูชูหาง จะตรงทาง จะตรงทางของการ ของพุทธศาสนา ของธรรมะ ของอริยมรรค เพราะนั้นมันถูก ตรงกันหมด ใช้ได้เหมือนกันหมด กิเลสเริ่มมีเมื่อเรารู้จักดี จักชั่ว รู้จักอะไรดี อะไรชั่ว ก่อนนั้นมันไม่รู้จักเกลียดอะไร ไม่รู้จักรักอะไร มันไม่อาจจะเลือก เหมือนสุนัขอย่างนี้ มันยังอยู่ในระดับเหมือนกับที่ไม่รู้จักเลือก ไม่มีดี ไม่มีชั่ว มันไม่มีปัญหา หรือมันไม่มีบาป เพราะมันไม่มีเรื่องดีเรื่องชั่ว มันก็ไม่มีทุกข์ ไอ้มนุษย์มันต่างออกมา ต่างขึ้นไป ตรงขึ้นไปตรงที่รู้จักดี รู้จักชั่ว ปัญหามันก็มีเกี่ยวกับความดี ความชั่ว เป็นของมนุษย์ แล้วมันก็ต้องมีความทุกข์ เพราะปัญหานี้ คือ มันจะเอาดี แล้วมันจะหลีกชั่ว มีปัญหาเรื่องความชั่ว พร้อมกับที่มีปัญหา เรื่องความดี เพราะมัน พอไปหลงความดี มันก็กลายเป็นความชั่วที่สูงขึ้นไป พอเราไปหลงใหลในความดี มันก็กลายเป็นไอ้ความชั่วรูปใหม่ที่สูงขึ้นไป อย่างนี้เสมอไป ก็คือยกหูชูหางแบบที่ประณีต ละเอียด สุขุม ลึกซึ้ง หรูหราสวยงามมากขึ้นไป จึงมีปัญหายากมาก ยาวมาก ลึกซึ้งมาก
เราจึงเมื่อดูกันแล้ว เราก็เสียเปรียบสุนัข ในแง่ที่เราเต็มไปด้วยปัญหา และไอ้พวกนี้ไม่มีปัญหา นอนหลับสบาย แต่ถ้าเราแก้ปัญหาของเราได้ สำเร็จ เราก็ดีกว่าสุนัขหลายร้อยเท่า หลายพันเท่า งั้นก็ต้องถือว่าไอ้โพธิจิตของสุนัขนี่ อยู่ในระดับดิบเลย ไม่ผลิ ไม่ผลิหน่อออกจากเมล็ดเลย ยังเป็นเมล็ดอยู่เลย เมล็ดข้าวเปลือกหรืออะไรก็ตามที่มันยังไม่เคยโผล่หน่อเลย เป็นโพธิจิตในระดับอย่างนี้ ไอ้ส่วนของคนเรานี่มันเป็นพวกโผล่หน่อมาแล้ว ทีนี้มันมีแต่ว่า หน่อนี้จะไปทางไหน มันได้รับแสงแดดแล้ว และมันมีต้นลำมาแล้ว มันจะไปทางไหน มันจะออกลูกเป็นพิษ หรือมันจะออกลูกเป็นอาหาร เราต้องลงทุน ถึงเราไม่ยอม มันก็ต้องยอม มันก็เป็นการลงทุนที่มากเหลือเกิน ไอ้สุนัขมันไม่ต้องลงทุนอะไร มันไม่มีเรื่อง ไม่มีไอ้เรื่องที่จะพัฒนาหรือว่าจะสร้างอะไรขึ้นมา ไม่มีการลงทุน ไอ้เรานี่ลงทุน รู้ดี รู้ชั่ว เผชิญต่อสู้กับปัญหา เกี่ยวกับไอ้ดี ไอ้ชั่ว ไอ้ได้ ไอ้เสีย ไอ้สูง ไอ้ต่ำ ก็ต้องลงทุนมากๆ ๆ ลำบากตรากตรำ ในวัฏสงสารซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในวัฏฏะวนเวียนนี่ จนกว่าจะออกไปได้ ออกไปได้ก็คุ้ม คุ้มทุน คุ้มค่าที่ลงทุน แล้วก็อย่าลืมเรื่องวัว มาลงทุนฝึกวัว ได้วัวมาสำเร็จแล้ว แล้วมันก็เป่าปี่ขี่วัวได้พักหนึ่ง เดี๋ยวมันก็หมดอีก พอกลับสู่ธรรมชาติเดิม ยุบไปทั้งวัว ยุบไปทั้งคน ว่างตามเดิม แต่มันว่างในลักษะที่ว่า ไม่กลับไปหลงในความดีความชั่วอีก คือ ไม่กลับไปเป็นสุนัขละ มันไปเป็นอื่นที่ว่างไป สูงไปสิ้นความเป็นอะไรไป ไม่ต้องเป็นอะไรเลย
เพราะฉะนั้นถ้ามันมีปัญหาถามว่า มาแต่ไหนโว้ย กำลังเป็นอะไรอยู่โว้ย แล้วจะไปทางไหนกันโว้ย นี่มันควรจะตอบได้ ผมเคยพูดเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง เมื่อก่อนนี้ เทศน์หรือแสดงปาถกฐาก็มักจะพูดเรื่องนี้ ใครตอบปัญหาว่า เออ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้จะถูกยักษ์กิน คุณ คุณไม่นึกออกเหรอ เทศน์หรือปาถกฐามีอยู่ยุคหนึ่งทิ่พิมพ์ๆ ไปแล้วก็มี ถ้าใครตอบปัญหาที่มีผู้ถามว่า หรือยักษ์นั่นแหละที่มันถาม ยักษ์ ยักษ์ตัวใหญ่ที่เขียนบนฝาผนังนี่ที่มันถาม อ้าวมาจากไหน กำลังเป็นอะไรอยู่ กำลังทำอะไรอยู่ แล้วแกจะไปไหน ตอบไม่ถูกยักษ์หักคอกิน มันคือ ความทุกข์ในวัฏฏะ เพราะทำไม่ถูกกับเรื่องที่ว่าเกิดขึ้นว่าจากไหน ไปไหน ในที่สุด มันอาจจะตั้งต้นมาอย่างเดียวกะสุนัข คือมาจากความไม่รู้อะไร หรือจะเป็นโพธิจิตด้วยกันก็ตามใจ แต่ยังไม่รู้อะไร ยังไม่รู้อะไรเลย แต่ของสุนัขมันหยุด ของเราไม่หยุด ก็มาเรื่อยมา มาเรื่อยมา เหมือนกับเรากำลังเดินทางเรื่อยมา เดินทางเรื่อยมา มีตัวตนที่ดีมากขึ้น จนมีประสบการณ์เกี่ยวกับความดี ความชั่ว ว่าไม่ไหวเว้ย ไม่ไหวทั้งสองอย่าง มันถึงจะสิ้นสุดลงเหมือนกับว่าง ว่าง ภาพว่าง แล้วก็สู่ความว่าง ไปสู่ความหยุดหรือความว่าง มันก็หมด เหลือเศษอยู่บ้าง ก็ทำประโยชน์ผู้อื่น เมื่อเราไม่ต้องการอะไรแล้ว เราก็ใช้แรงงานที่เหลืออยู่ทำประโยชน์ผู้อื่น มันยังดี มันยังเข้ารูปเข้ารอยกันกับธรรมชาติ ไปตามธรรม เขาจะนอนเสียก็ไม่มีใครว่า มันไม่มีผิดมีถูกอีกต่อไป พระอรหันต์องค์หนึ่งจะนอนเสียไม่ทำอะไรก็ถูก พระอรหันต์องค์หนึ่งจะทำอะไรบ้างก็ถูก องค์หนึ่งจะทำอะไรจนเหงื่อไหลไคลย้อยเป็นประโยชน์กับผู้อื่นมันก็ถูกนะ ไปอยู่ป่าก็ถูก อยู่ในเมืองก็ถูก อยู่ที่ไหนก็ถูก
ข้อนี้มันไม่ใช่เกี่ยวกับเจตนาหรือความต้องการ หรือกิเลส มันเป็นผลของความเคยชินในนิสัย เป็นความเมตตากรุณา ความอยากช่วยคนอื่น มันเคยชินเป็นนิสัยมานานแล้ว มันเหลืออยู่มันก็ทำไป อย่างคนที่มีนิสัยอยู่นิ่งไม่ได้ มันก็อยู่นิ่งไม่ได้ จริงเหมือนกัน ไม่มีอะไรทำแล้วมันก็ต้องกวาดขยะ ปลูกต้นไม้ หรือมันก็ทำอะไรต่างๆ ไปตามเรื่อง ถ้าคนนิสัยอยู่นิ่งได้ มันก็อยู่นิ่งขรึมๆ อยู่ได้ สบาย เขาเรียกว่านิสัยหรือวาสนา แล้วแต่ว่าใครมันอบรมบ่มมามากๆ มานานๆ ยังไง ข้อนี้ไม่ใช่หลักที่ตายตัว ไม่ใช่เป็นเครื่องจะวัดอะไรได้ หรือสังเกตุอะไรได้ เข้าใจไปอย่าง เดี๋ยวนี้ผมเข้าใจว่าเอาอะไรแน่ไม่ได้ พระอรหันต์หน้าบึ้งก็ได้ หน้ายิ้มก็ได้ อะไรก็ได้ ก่อนนี้ผมเกลียดจังเลย ที่เขาเขียนภาพ รูปภาพพระพุทธเจ้า มีพระอรหันต์ นั่งแวดล้อม พระอรหันต์บางองค์ยิ้ม บางองค์หน้าบึ้ง ผมเกลียด ผมไม่ชอบคนเขียน แล้วหาว่าเขียนผิดด้วย ทีนี้ผมรู้สึกว่าได้ ถูก หรือไปตามธรรมชาติ รูปพระอรหันต์บางองค์ยิ้ม มันก็ไม่มียิ้มหรอก ไม่มีเรื่องจะยิ้ม บางองค์หน้าบึ้ง มันก็ไม่มีเรื่องกะใครหรอก มันเป็นเพียงความเคยชินของวาสนาที่มันตกค้างอยู่ ไม่มีความหมายอะไร ทุกองค์นั่นแหละจะบ้า จะผิด จะไม่จริง นั้นพวกอินเดียเขาาเขียนไว้เก่าๆ ควรจะถือว่าถูก แม้แต่พวกจีนก็เขียน ควรจะถือว่าถูกแล้ว ไปดูรูปภาพเขียนของพวกจีน พระอรหันต์รูปร่างต่างกัน หน้าตาต่างกัน มีเค้าหน้าต่างๆ กัน เดิมอย่างนั้นมันจะกลายเป็นคนยิ้มอยู่ไม่ได้ มันก็เฉยอยู่อย่างนั้น มันไม่มีความต้องการหรือยินดี ยินร้าย เพราะได้ตามต้องการ เพราะไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็แล้วกัน ข้อนี้เป็นหลักสำคัญ
ไม่รู้จะจบยังไง มันก็จบ วัดกับนิพพานอย่างเดียวกัน อย่าไปพูดเข้าจะผิด พูดไม่เป็นแล้วจะพูดผิด นอกจากความว่าง นิพพาน ก็สุญญตา สังสารวัฎฏ์ก็สุญญตา จิตก็สุญญตา พุทธก็สุญญตา ธรรมก็สุญญตา มันพูดไม่เป็น ฟังไม่รู้เรื่อง
แล้วมันก็ไม่มี ไม่มีจิต เช่นเดียวกับดิน น้ำ ลม ไฟ การสั่งสอนอบรมมาในทางที่ทำให้เห็น มันไปถูกปรุงแต่งเป็นสังสารวัฎฎ์ เมื่อมันไม่ถูกปรุงแต่งขณะนั้นมันก็เป็นนิพพาน นิพพานที่มันไม่เด็ดขาดเพราะมันกลับถูกปรุงแต่งได้อีก ความไม่ปรุงแต่งมันก็เป็นธรรมชาติด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่ตัวตนด้วยกัน แท้ๆ อยู่แต่ไอ้สิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง หรือขณะที่ไม่ปรุงแต่ง เวลาที่ไม่ปรุงแต่ง เวลาที่จิตไม่ถูกปรุงแต่งน่ะ พื้น เป็นพื้นฐาน ที่เรื่องปรุงแต่งก็กลายเป็นของเล็กๆ น้อยๆ ชั่วครู่ ชั่วยามไป ในที่สุดก็ต้องไม่มีการปรุงแต่งเลย ก็เงียบหายไปในจิตชนิดที่อบรมดีแล้ว ไม่มีอะไรถูกปรุงแต่งได้ สอนกันหรือว่าอบรมกันให้เข้าใจกันไปว่า มันอยู่คนละฝ่ายโลก นิพพานกับสังสารวัฎฎ์ฏ์ ไอ้สระของเรานี่จะสอนในข้อนี้ สระนาฬิเกนี้ จะสอนในข้อที่ว่า มะพร้าวนาฬิเก ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง คือ กลางของสังสารวัฎฎ์ฏ์นั่นเอง นิพพานหรือกลางสังสารวัฎฎ์นั่นเอง สังสารวัฎฎ์ อย่าไปไว้คนละโลก เอาไว้คนละมุมโลก หรือว่า อันนี้อยู่ข้างบน อันนี้อยู่ข้างล่าง กระเพื่อมของสังสารวัฎฎ์นั้นก็เป็นนิพพาน แล้วมันก็อยู่ที่นั่น สังสารวัฎฎ์มันหยุดมันก็เป็นนิพพาน
เหมือนเมื่อน้ำไม่เป็นคลื่น มันก็เป็นความสงบ จะมีปัญญาอะไรมาทำอย่างห้มันเป็นคลื่นอีกต่อไป สำหรับจิตดวงนี้ จิตดวงนี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะเป็นสังสารวัฎฎ์อีกต่อไป เป็นนิพพานอยู่เรื่อย เรียกว่าบรรลุพระอรหันต์หรือบรรลุนิพพานไปแล้วแต่จะ ถ้าอย่ากระเพื่อมก็เป็นนิพพาน ถ้ากระเพื่อมก็เป็นสังสารวัฎฎ์
ถ้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ของเรา ก็อย่ายกหูชูหางไปสิ เอาลงเสียสิก็เป็นนิพพาน โด่ขึ้นมามันก็สังสารวัฎฎ์น่ะ เด็ดขาดให้ตลอดกาลไปเลย มันก็เป็นนิพพานจริง นิพพานแท้ขึ้นมา ไม่ใช่ชั่วคราว ไม่ใช่นิพพานชิมลอง
กลับกันเสีย เอาสังสารวัฎฎ์นั่นน่ะเป็นของสนุกสนานไปเสีย มันก็สนุกจริงๆ ด้วย ไอ้เรื่องสังสารวัฎฎ์นี้ แต่มันไม่ใช่ความสงบ ไม่ใช่ความสุข มันก็เป็นความสนุกเพลิดเพลินอย่างคนบ้า อันไหนดีกว่ากันสุนัขตัวนี้อันไหนดีกว่ากัน ยกหูชูหางเป็นคนในร่างของคนกะหมาตัวนี้ อันไหนดีกว่ากัน นี่จะแก้ไขได้ด้วยการมีสติสัมปะชัญญะอย่างที่เราได้เริ่มปรารภกันขึ้นมา รู้จักละอาย รู้จักกลัว แล้วก็ดำรงสติสัมปชัญญะไว้ได้ จิตจะอยู่ในลักษณะที่ดำรงไว้ชอบ โลกนี้ก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ เพราะว่าระยะหนึ่งกิเลสมันก็สูญสิ้นไป เพราะมันขาดอาหาร มันขาดความเคลื่อนไหว ขาดความเคยชินที่จะเป็นไปในทางของกิเลส โพธิจิตก็มีวิวัฒนาการไปในทางของโพธิ จิตก็ต้องโพธิ ถ้าจิตก็ต้องโพธิ มันมีแต่ช้าหรือเร็ว
จิตที่ยังเป็นเมล็ดดิบอยู่มันตัดก็อย่างหนึ่ง ที่เริ่มโผล่หน่อมาเขาเปรียบเหมือนกับวัวป่านี่ก็อย่างหนึ่ง นำมาฝึกๆๆ จนเป็นวัวขาว ก็หมายความว่ามันไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร มันก็จะไปสู่ธรรมชาติสุดท้ายของโพธิ คือ จิตดวงนั้นมันเป็นจิตที่ถึงที่สุดของมัน ถึงที่สุดของความมุ่งหมายของมัน ก็มันอยู่ตรงนี้ ตรงที่มันได้เร็วๆ ถ้าไม่มีบุญมันก็อืดอาดอยู่นั่น หรือว่าพวกหนึ่งเขาถือว่าอยู่นิ่งๆ มันก็วิวัฒนาการของมันเอง ไอ้ตำราหนึ่ง เอ้าไปปลูกเข้าไปฝังเข้าไปใส่ปุ๋ยเข้าไป ปรุงแต่งตกแต่งเข้าให้มันเร็วๆ เข้า มันก็อีกความหมายหนึ่ง ฟังยากนะ มันอาจจะกลายเป็นว่ามันทำให้ยุ่งๆ ยุ่งต่อไปอีก ยุ่งๆ วุ่นวายมากขึ้นไปอีก เพราะความอยากความต้องการจะให้มันนั่นเร็วๆ กลับเหลวไหล กลับเหลวแหลก กลับถอยหลัง อยู่นิ่งๆ ไปของมันเองมันก็ยังแน่นอนกว่า นั่นน่ะคือสติสัมปะชัญญะ ควบคุมความอยู่นิ่ง ความถูกต้องให้เป็นไปอย่างนิ่งๆ ความถูกต้องนี่เขาเปรียบในองค์ของโพชฌงค์เหมือนกับว่า รถก็ดีแล้ว ม้าก็ดีแล้ว ถนนก็ตรงแน่วแล้ว อยู่นิ่งๆ ให้คนขับอยู่นิ่งๆ ม้ากะรถจะวิ่งไปตามถนนที่ดีแล้ว ตรงแล้วถึงปลายทางเอง นี่การอยู่นิ่งๆ เขาหมายถึงอย่างนี้ นี่สัปดนจะแวะนั่นแวะนี่จนกระทั่งไปในคู เพราะคนขับมันบ้า ไม่รู้ว่ายังไงบ้า ยังไงดี เลยเปะปะ เปะปะ สู้คนอยู่นิ่งๆ ไม่ได้
แต่คำว่านิ่งคำนี้มันมีความหมายพิเศษ เป็นคำบัญญัติเฉพาะ คือ สมบูรณ์อยู่ด้วยสติสัมปะชัญญะในขั้นที่สมบูรณ์แบบ สมบูรณ์จริงๆ ขั้นที่พระอรหันต์ท่านต้องการ เพื่อเป็นพระอรหันต์ สติสัมปะชัญญะในรูปนี้มันก็อยู่นิ่ง ไม่เอียงไปในทางรัก ไม่เอียงไปในทางชัง มันมีสองเอียงเท่านั้นน่ะ เอียงไปในทางดีใจ สบายใจ พอใจ นั้นอย่างหนึ่ง เอียงไปในทางไม่ชอบใจ โกรธขัดแค้นอย่างหนึ่ง วันหนึ่งๆ กี่ครั้งกี่หนก็ไปดูเอาเอง
เรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกบวชมาเลย อย่า อย่า อย่ามีอารมณ์ยินดียินร้าย ตื่นนอนขึ้นมาไปบิณฑบาตแล้วก็กลับมา แล้วก็ฉัน แล้วก็กิน แล้วก็อาบ แล้วก็ถ่าย แล้วก็ทำการงานและพักผ่อน กระทั่งเจ็บไข้ได้ป่วย กระทั่งอะไรต่างๆ ต้องรู้จักระวังให้นิ่งอยู่ด้วยสติสัมปะชัญญะ ให้รู้จักมีหิริและโอตัปปะ ถึงคราวที่ต้องทนก็ต้องมีขันตีและโสรัจจะ ช่วยบรรเทาความรุนแรง บรรเทาออกเสียบ้างด้วยจาคะ ด้วยปริจจาคะ เหมือนไขก๊อกไอที่มันแน่น มันดันมากนัก รั่วออกไปเสียบ้าง เรา พวกฝ่ายที่ถูกเรียกเถรวาทเรานี่ มันเป็นพวกที่ชอบทำให้เรื่อง เป็นพิธีรีตองมีมาก มีมากละเอียด มีมากไป จน จนเรียกว่ามีปัญญามีอะไรมากมายนั้น เรียกว่าสิ่งที่ต้องสังวร ขยายเรื่องให้มาก ขยายคำพูดให้มาก ขยายการปฏิบัติให้มันมาก ตั้งแนวให้มันมาก ให้มันยาว
ทีนี้ฝ่ายมหายานกลับตรงกันข้าม สรุปตัดสั้น ลดทอนกันไป แม้แต่ว่าอย่างต่ำอย่างโง่มันก็มีสุขาวดี เพียงแต่ออกชื่ออมิตาพระก็ไปสวรรค์ได้ ไปพุทธเกษตรได้ มันก็ยังสั้นกว่า ดีกว่า และเป็นเรื่องปัญญาเป็นเรื่องปรมัตถ์มันก็คือว่าง รู้อยู่เองแล้ว รู้อยู่ในธรรมชาติของความเป็นพุทธะแล้ว เกือบจะไม่ต้องทำอะไร จึงไม่มีเรื่องมากๆ อย่างที่เรามี เรื่องอานาปานสติ เรื่องสุข เรื่องกสิณ เรื่องอะไรต่างๆ มากมายก่ายกอง ไม่ได้พูดถึงกันเลย ตรงที่จะมีลมหายใจอยู่ด้วยความไม่โง่ ไม่ปรุงแต่ง ไม่ ไม่มีกิเลส คือ มีความรู้ที่ถูกต้องอยู่ประจำอยู่เสมอ ว่างอยู่เสมอ ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการเองดีกว่า ของเดิมว่างอยู่แล้ว อย่าไปทำให้มีเรื่องขึ้นมา ทำเป็นวัวขึ้นมา สักพักเดียวก็กลับเป็นว่างตามเดิม นี่ที่ดูจะยืดยาว เสียมากไป จึงสอนว่าที่แท้วัวก็มิได้มี วัวก็มิได้หายไปไหน ให้ดูให้ดี อย่างที่มันว่างแต่ทีแรก เรื่องที่ต้องฝึกวัวก็ไม่มี วัวขึ้นมา และหายด้วย และต้องเที่ยวตามด้วย ในลักษณะที่รัดกุมหรือสั้น ไม่ยืดยาดยืดยาว
ที่เป็นทั้งเถรวาทหรือทั้งมหายาน จะไม่เป็นอะไร หรือถ้าเป็นก็เป็นทั้งสอง จะได้มีโอกาสเอามาปนกัน เจือกัน ตัดรอนเอาแต่พอเหมาะพอดี ไม่สั้นไม่ยาว ไปมหายานก็ลุ่นๆ เกินไปจนน่ากลัว ทำกันดูมาจับกันดูให้มันอยู่ในสภาพที่ว่า พอเหมาะพอดี และผมเชื่อว่านี่ คือ ศาสนาเดิมของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง ก่อนที่มันจะแตกแยกกันเป็นเถรวาทหรือเป็นมหายาน นั่นดูเถรวาทบางองค์ยกหูชูหางสูงโด่ ด่าผมเรื่องว่าเป็นมหายานเป็นอะไรบ้างอย่างนี้ ไปดูเถอะ นั่นมมันเป็นเถรวาทมากเกินไป ไม่รู้ว่าพุทธศาสนาเดิมแท้มันไม่ใช่เถรวาท และไม่ใช่มหายาน งั้นทุกๆ องค์น่ะอย่าเป็นเถรวาท อย่าเป็นมหายานโดยจิตใจโดยน้ำใจ ให้มันเป็นแต่ทะเบียน เขาจดขึ้นทะเบียนนี้มันต้องเป็นแน่ มันตามทะเบียน ตามโลกสมมติ เขาขึ้นทะเบียน ตามคนที่มีอยู่ในโลก ต้องเป็นคนไทย ต้องเป็นเถรวาท หรือตามเรื่องเขา จึงเป็นเรื่องของทะเบียนหรือบัญชี ไอ้จิตใจเราเป็นอิสระที่จะไม่เป็นอะไรเลย ฝากเนื้อฝากตัวไว้กับคัมภีร์วิสุทธิมรรค เพราะความเป็นเถรวาทจัดเกินไป ก็ยึดมั่นในคำว่าเถรวาท หรืออะไร พระพุทธโฆษาจารย์ หรืออะไร มากเกินไป มือไม่ทันจะสิ้นกลิ่นน้ำนม พึ่งจะศึกษาพุทธศาสนาเมื่อไม่กี่วันนี้ทั้งนั้น พวกนั้น เอ้ายกเลิก ยกเลิก ปิด วันนี้ว่าจะไปดูสไลด์กันไม่ใช่หรือ นัดกับเณรวงศ์ไว้ใช่ไหม
(เสียงโยมผู้หญิงตอบ) ยังไม่ได้ถามเขาแน่นอนเมื่อวานนี้ ตัวเป็นปริศนาธรรม