แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและ วิระยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้ เป็นธรรมเทศนามีปุพพาปรลำดับ คือสืบต่อจากเทศนาที่ได้แสดงไปแล้วตลอดวันวันนี้ อันเป็นวันมาฆบูชา เป็นวันที่กำหนดไว้ว่าเป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนั้นธรรมเทศนาในวันนี้ ทุกๆ ตอนจึงมีข้อความปรารภถึงเรื่องพระอรหันต์โดยปริยายใดปริยายหนึ่ง เพื่อมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพระอรหันต์ยิ่งๆ ขึ้นไป สมกับที่จัดวันนี้ไว้เป็นวันพระอรหันต์ เราทั้งหลายได้มีความเสียสละ อดกลั้น อดทน เพื่อทำมาฆบูชาในวันนี้ ในลักษณะอย่างนี้ ในสถานที่นี้ และตั้งใจกันอยู่ว่าจะมีการเสียสละทำนองนี้ ให้เต็มวันเต็มคืน เพื่อใช้การเสียสละนี้เป็นเครื่องบูชาคุณของพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เป็นการกระทำเป็นพิเศษ ปีหนึ่งหนเดียว จึงได้ตั้งอกตั้งใจทำจนสุดความสามารถ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความหลงลืมในเรื่องราวอันเกี่ยวกับพระอรหันต์ ดังนี้ เป็นต้น
ทีนี้ก็จะได้กล่าวต่อไปถึงคำว่า พระอรหันต์ ให้เป็นที่เข้าใจกันยิ่งขึ้น คำว่า พระอรหันต์ นี้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เป็นคำสูงสุดมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เป็นการเชื่อได้แน่นอนว่า คำว่า พระอรหันต์ นี้เขาเรียกกัน เขาพูดกัน เขาปรารภกันมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ในฐานะที่มีความหมายว่าเป็นบุคคลที่ถึงที่สุด คือถ้าจะพูดกันในแง่ที่ประเสริฐก็ประเสริฐถึงที่สุด ถ้าจะพูดกันในแง่ของความพ้นทุกข์ก็เป็นผู้พ้นทุกข์ถึงที่สุด จะพูดกันถึงความเป็นคนดีก็เป็นคนดีถึงที่สุด จะพูดกันถึงความเป็นคนเต็มก็ต้องเป็นคนที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ถึงที่สุด หรือจะพูดว่าเป็นคนที่น่าไหว้น่าบูชาก็เป็นคนที่น่าไหว้น่าบูชาถึงที่สุด อะไรๆ ก็ล้วนแต่ถึงที่สุด แล้วเราก็เรียกว่าพระอรหันต์กันมา แต่ว่าคุณธรรมสำหรับความเป็นพระอรหันต์ในสมัยก่อนพุทธกาลจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่แน่นัก มันแน่อยู่ตรงที่ว่า ถูกสมมุติ ถูกอุปโลกน์กันว่าเป็นบุคคลที่ถึงที่สุดเท่านั้น แต่จะถึงที่สุดแห่งอะไร อย่างไร เหมือนกันกับพระอรหันต์ในพุทธศาสนานี้หรือไม่นั้น ยังเป็นปัญหาอยู่ อาจจะสันนิษฐานได้ว่าคงจะมีอะไรบกพร่องเช่นเดียวกับคำว่า นิพพาน ซึ่งมีพูดกันอยู่ก่อนพุทธกาล หมายถึงกามคุณที่สมบูรณ์ก็มี หมายถึงความสุขอันเกิดจากฌานจากสมาบัติว่าเป็นนิพพาน ดังนี้ ก็มี นิพพานชนิดนั้นไม่มีความสมบูรณ์ ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น จึงได้แสดงนิพพานไปในลักษณะที่ดับกิเลส ดับทุกข์สิ้นเชิง สิ่งที่เรียกว่านิพพานจึงถูกต้องด้วย และสมบูรณ์ถึงที่สุดด้วย ตราบเท่าถึงทุกวันนี้ ไม่มีใครสามารถหักล้าง หรือคัดง้าง แย้งยัน แต่ประการใด ถึงแม้คำว่า พระอรหันต์ ก็เหมือนกัน คำว่า พระอรหันต์ในความหมายของคนก่อนพุทธกาลนั้น คงมีอะไรบกพร่องกันบ้าง เหมือนกับคำว่า นิพพาน มีความบกพร่องดังที่แล้วมา ครั้นมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าในพุทธกาลนี้ พระองค์ทรงบัญญัติความหมายของความเป็นพระอรหันต์ คือความเป็นผู้หมดกิเลส ดับกิเลสได้สิ้นเชิง คือผู้ที่บรรลุถึงนิพพานโดยถูกต้องและสมบูรณ์นั่นเอง ว่านี้เป็นพระอรหันต์ดังนี้ สำหรับภาษาชาวบ้านทั่วๆไป คำว่า พระอรหันต์ ก็หมายถึงบุคคลสูงสุดในทุกแง่ทุกมุม เขามีความรู้ความเข้าใจในความสูงสุดอย่างไรก็นึกเห็นไปได้แต่เพียงเท่านั้น ยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ก็ได้ ซึ่งครบถ้วนบริบูรณ์ต่อเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้น แสดงธรรมที่เป็นบรมธรรม คือพระนิพพาน ให้เป็นที่แจ่มกระจ่างแก่คนทั้งหลายแล้ว มนุษย์เราจึงมีความรู้เรื่องพระอรหันต์กันขึ้นมาโดยสมบูรณ์ได้
ทีนี้เราจะได้พิจารณากันดูถึงความหมายที่สำคัญที่สุดของคำว่า พระอรหันต์ สิ่งที่เราจะต้องนึกก่อนก็ดูจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ ถ้าหมดความทุกข์ คนเราก็หมดปัญหา ปัญหามีอยู่ตลอดเวลาที่เรายังมีความทุกข์ ถ้าเรายังต้องลำบาก ต้องทนทรมาน มันก็นิ่งอยู่ไม่ได้ มันก็ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อจะดับความทุกข์นั้นเสีย ถ้าความทุกข์ดับไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรเป็นเครื่องบีบคั้นแล้ว คนเราก็นิ่งอยู่ได้ด้วยความสงบสุข ดังนั้นความเป็นพระอรหันต์ก็มุ่งหมายตรงที่ไม่มีความทุกข์เป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่มีความทุกข์นั่นเองจึงเรียกว่า เป็นคนที่ประเสริฐที่สุด เป็นคนที่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ แล้วแต่จะเรียกกันอย่างไร ในลักษณะไหน มันเป็นการมองเห็นด้วยสติปัญญาของคนนั้นๆ แต่ในที่สุดก็รับรองป้องกันว่า เป็นผู้ที่ควรสักการะบูชา และเป็นผู้ที่ควรพบเห็น เป็นผู้ที่ควรนั่งใกล้ เพราะว่าการได้พบ ได้เห็น ได้นั่งใกล้พระอรหันต์นั้น จะช่วยทำให้เกิดความรู้สึกคิดนึกไปในทางที่ถูกต้อง หรือเดินตามพระอรหันต์ได้ แล้วก็มีความพ้นทุกข์อย่างท่านได้ คนจึงถือว่าพระอรหันต์นั้นเป็นเนื้อนาบุญ ผู้เข้าไปนั่งใกล้ก็ได้บุญ ผู้ที่ได้บำเพ็ญทานในพระอรหันต์ก็เป็นผู้ได้บุญ หรือไปเกี่ยวข้องกับพระอรหันต์ในลักษณะใด ก็ล้วนแต่เป็นการได้บุญไปทั้งนั้น ความหมายของคำว่า พระอรหันต์ จึงกว้างขวางทั่วไปหมด จนไม่รู้จะบัญญัติให้ชัดลงไปว่าอย่างไร เพราะมันหมายความได้หมดนั่นเอง แต่ที่รู้กันโดยมากก็ว่า เป็นผู้ควร คือสมควรกราบไหว้ก็มี เป็นผู้ตัดเสียซึ่งวงล้อแห่งสังสารวัฏ คือไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ไม่ต้องเวียนว่ายไปตามกรรม ดังนี้ ก็มี รวมความแล้ว ก็ล้วนแต่ดีอยู่ที่ มีดีอยู่ที่ไม่มีความทุกข์ ด้วยกันทั้งนั้น ก็ยังเป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่นด้วย เรียกว่าส่วนตัวก็ดี ส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่นก็ดี มันจึงเป็นความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์กันที่ตรงนี้ นี้เรียกว่า พระอรหันต์
ทีนี้เราจะมองดูกันในลักษณะที่ใกล้ชิดเข้ามาอีก ให้เห็นว่า คนธรรมดากับพระอรหันต์นั้นต่างกันอย่างไร โดยเอาลักษณะแห่งจิตใจเป็นเกณฑ์ แต่ทำไมเขาจึงกล่าวพระอรหันต์ว่าเป็นผู้อยู่เหนือโลก แล้วกล่าวปุถุชนว่า เป็นผู้จมอยู่ในโลก หรือถ้าจะกล่าวด้วยคำที่หยาบคายโสกโดกไปกว่านั้นอีก ก็ต้องกล่าวว่า ปุถุชนคนธรรมดานี้เป็นคนโง่ คนหลง คนบ้า คนบอ หรืออะไรในทำนองนั้นไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนพระอริยเจ้าหรือพระอรหันต์นั้นเป็นคนไม่โง่ ไม่หลง ไม่เป็นคนบ้าเหมือนคนธรรมดาสามัญ
ทีนี้ก็จะมองดูกันให้ละเอียดลงไปว่า คนธรรมดาสามัญนี้มันอยู่ที่ตรงไหนกัน จึงได้เรียกว่าเป็น คนบ้า และคำว่า บ้า นี้หมายความว่าอย่างไร เรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะต้องนึกถึง เข้าใจกันในข้อนี้ ก็เรื่องความยึดมั่นถือมั่น ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูเถิดว่า คนที่มีความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นคนบ้าหรือคนดี จงตั้งใจฟังให้ดี ตั้งใจคิดให้ดี พิจารณาดูให้ดี ให้เห็นว่า คนที่มีความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นคนบ้า หรือคนดี แต่ว่าก่อนแต่จะวินิจฉัยในเรื่องนี้ ต้องเข้าใจคำว่า ยึดมั่นถือมั่น กันเสียให้ถูกต้องก่อน คำว่า ยึดมั่นถือมั่นนั้น หมายความว่ายึดมั่นถือมั่นเพราะความโง่ ความหลง คืออวิชชานั้นเอง ในภาษาบาลีคำนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าถ้ายึดมั่นถือมั่นตามหลักของธรรมะหรือภาษาบาลีแล้ว ก็หมายความว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยอวิชชา คือความโง่ ความหลงที่เป็นเหตุให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นความยึดมั่นถือมั่นนั้นมาจากอวิชชา มาจากตัณหา แล้วจะเป็นคนบ้าหรือคนดี ลองคิดดู แต่ในภาษาไทยนั้น คำๆ นี้ยังกำกวมอยู่ เพราะบางทีเราก็สอนให้ยึดมั่นถือมั่นในความดี สอนให้ยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธเจ้าอย่างนี้ก็ยังมี หรือว่าให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนจะต้องทำให้ลุล่วงไปอย่างนี้ก็ยังมี แต่ถึงอย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาอยู่นั่นเอง ที่ว่าการยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธเจ้านั้นยึดมั่นด้วยความโง่ก็ได้ ยึดมั่นถือมั่นด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงก็ได้ คนยึดมั่นถือมั่นพระพุทธเจ้าด้วยความโง่ ก็เพราะว่าไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร เมื่อเขานิยมกันว่าดี ก็ว่าดีไปตามเขา เมื่อเขาว่ายึดให้มั่นก็ยึดให้มั่น เหมือนกับคนที่ยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธรูป ยึดมั่นถือมั่นในเครื่องราง อย่างนี้เรียกว่าเป็นความยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ เอาอะไรมาเป็นเครื่องรางก็ยึดมั่นถือมั่นให้เกิดผลได้เท่ากันกับพระพุทธรูปที่เป็นเครื่องราง เพราะว่าผลที่เกิดขึ้นมานั้นมาจากความยึดมั่นถือมั่น เกิดกำลังใจด้วยอำนาจความยึดมั่นถือมั่น มันจึงเกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ตามแบบของอวิชชาหรือความโง่ อย่างนี้เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ แต่ถ้าเป็นผู้มีสติปัญญา มองเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร คืออะไร เราจะต้องปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าอย่างไร จะต้องใช้พระพุทธรูปอย่างไร จะต้องใช้เครื่องรางอย่างไร อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง แล้วก็ทำให้จริงในข้อนี้ ถึงขนาดที่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นก็ได้เหมือนกัน เพราะยึดมั่นถือมั่นด้วยสติปัญญามีแต่จะทำถูก แล้วได้รับผลถูกต้องตรงตามที่จะมุ่งหมายไว้ อย่างนี้เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นในพระพุทธเจ้าด้วยสติปัญญา ไม่เป็นทางให้เกิดความทุกข์ หรือว่าเราจะยึดมั่นถือมั่นในการงานที่จะต้องทำ แต่ยึดมั่นด้วยอวิชชา มันก็ยึดมั่นอย่างที่เรียกว่างมงาย แต่ถ้ายึดมั่นด้วยสติปัญญา ก็เรียกว่าตั้งใจทำจริง ให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็ว ที่ถูกไม่ควรจะเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น แต่ควรจะเรียกว่าความตั้งจิตมั่น หรือมีสัจจะ ความจริงใจ หรือว่ามีอธิษฐานะ คือความปักใจแน่วแน่ลงไป อย่างนี้เป็นต้น จะถูกกว่า ไม่ควรจะเรียกว่ายึดมั่นถือมั่น เช่นเราจะมีความจริงใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในการปฏิบัติตามคำสั่งสอน อย่างนี้ก็อย่าไปเรียกว่ายึดมั่นถือมั่นเลย เรียกเสียใหม่ว่า เป็นผู้มีสัจจะ มีความจริง มีอธิษฐานะ มีความตั้งใจแน่วแน่ มีวิริยะ คือความพากเพียร หรือมีอะไรต่างๆ ครบถ้วนบริบูรณ์ ที่จะทำให้เกิดการกระทำจริงในสิ่งนั้นๆ อย่าไปเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าจะไปปนกันกับความยึดมั่นถือมั่นที่มาจากความโง่ ความหลง คนประพฤติปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าอย่างผิดๆ เพราะความยึดมั่นถือมั่นนี้มีอยู่เป็นอันมาก เอาของไปเซ่นพระพุทธรูปก็มี พระพุทธรูปบางองค์ต้องการกินของอย่างนั้น กินของอย่างนี้ ไม่กินของอย่างอื่น อย่างนี้ก็มี แล้วก็ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นนั้น นี้คือโทษของความยึดมั่นถือมั่น แม้ที่มีอยู่ในพระพุทธรูป หรือในพระพุทธเจ้า ตามความคิดความนึกของบุคคลนั้น การที่บุคคลหมายมั่นปั้นมือจะให้พระพุทธเจ้าช่วยข้างเดียว นี้ก็เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นอย่างโง่เขลา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า คนทุกคนต้องช่วยตนเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้ชี้ทาง เมื่อเป็นอย่างนี้จะมานั่งอ้อนวอนพระพุทธเจ้ากันไม่ได้ ต้องรีบปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าให้จริงจังเข้าเท่านั้น จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ดีแล้ว และทำให้จริงลงไปโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นอย่างงมงายก็จะเป็นการดี ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นความโง่ และการที่ไปหลงกระทำอย่างนั้นมันก็เป็นอาการของคนบ้าชนิดหนึ่งเป็นแน่แท้ เมื่อใดใครมีความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นแล้ว คนนั้นเป็นคนบ้า พูดอย่างนี้จริง หรือไม่จริงลองไปคิดดู พระอรหันต์ไม่ใช่คนบ้าเพราะว่าท่านไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเหลืออยู่แม้แต่ประการใด ส่วนปุถุชนนั้นมีความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นบ่อยๆ มีความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นเมื่อใด ก็กลายเป็นคนบ้าเมื่อนั้น เวลาที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นก็ยังเป็นปรกติอยู่ ยังไม่เป็นคนบ้า ยังไม่มีความทุกข์ ยังไม่มีการทำอะไรที่แปลกประหลาด ที่ไม่ควรจะทำ คือไปทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาโดยไม่จำเป็น แต่ทีนี้พอมีอะไรมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เข้าแล้ว ไม่มีสติเพียงพอ ปล่อยให้เกิดตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาในเวทนานั้น ก็เกิดความยึดมั่นถือมั่น เป็นอุปาทานขึ้นมาทันที ก็เลยกลายเป็นคนบ้าไปในขณะนั้น เพราะฉะนั้นในขณะที่มีตัณหาอุปาทานเกิดขึ้นนั้นแหละ เป็นขณะที่คนได้กลายเป็นคนบ้าไปเสียแล้ว จนกว่าจะดับไป จนกว่าตัณหาอุปาทานนั้นจะดับไป จึงจะกลายเป็นคนธรรมดาสามัญไปในอีกทีหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นคนธรรมดาสามัญที่พร้อมที่จะกลายเป็นคนบ้าขึ้นมาเมื่อไรก็ได้อีก เพราะฉะนั้นจึงบ้าๆ ดีๆ บ้าๆ ดีๆ อยู่ไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะเป็นผู้ที่มีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง สามารถที่จะเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ ไม่เผลอปรุงให้เกิดกิเลสตัณหาแต่ประการใด เมื่อนั้นจึงจะหยุดเป็นคนบ้า พระอรหันต์เป็นผู้มีสติสมบูรณ์โดยแท้จริง ไม่มีการเผลอปรุงแต่งให้เกิดกิเลสตัณหาเลย ดังนั้นจึงพ้นจากความเป็นคนบ้า ส่วนเราที่เป็นปุถุชนก็ยังจะเป็นคนบ้า บ้าๆ ดีๆ สลับกันไปไม่มีที่สิ้นสุด จึงควรระวังในข้อที่ว่า ให้เป็นคนดีมีปรกติอยู่ก็แล้วกัน อย่าให้กลายเป็นคนบ้าขึ้นมาเมื่อมีอารมณ์มากระทบทางตา เป็นต้น เพราะเหตุฉะนั้น บุคคลควรจะศึกษาอย่างจริงจัง ละเอียดถี่ถ้วน ในการประพฤติปฏิบัติในขณะที่มีอารมณ์มากระทบตา เป็นต้น เช่น รูปมากระทบตา เสียงมากระทบหู กลิ่นมากระทบจมูก รสมากระทบลิ้น สัมผัสมากระทบผิวกาย หรือความคิดนึกมากระทบจิตใจ คู่ใดคู่หนึ่งในหกอย่างนี้แล้ว อย่าให้ได้เผลอสติจนมันปรุงไปตามทางของกิเลสตัณหาขึ้นมา เราควรจะมองให้เห็นชัดว่า พระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นไม่มีเรื่องอะไรเลย มีแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว ดังที่เราได้เคยฟังมาแล้วว่า มีแต่เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นเป็นเรื่องทางฝ่ายหลัก ฝ่ายวิชชา ที่เป็นตัวการปฏิบัตินั้นเราต้องปฏิบัติเพื่อไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น การปฏิบัติเพื่อไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นนี้ ก็คือมีสติระวังทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายดังที่กล่าวแล้ว อย่าให้เผลอเกิดความรู้สึกคิดนึกที่เป็นกิเลสตัณหาขึ้นมาทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเป็นความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็คือ การระวังด้วยสติสัมปชัญญะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นต้น นั้นเอง ไม่ว่าอารมณ์จะกระทบเข้ามาทางไหน ก็อย่าได้เผลอสติโดยความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาทางนั้น มีความยึดมั่นถือมั่นเมื่อใดแล้วก็ต้องเกิดกิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น ขึ้นมาโดยแน่นอน นั้นแหละจึงกลายเป็นคนบ้าไปแล้ว มีความโลภก็บ้าอย่างคนโลภ มีความโกรธก็บ้าอย่างคนโกรธ มีความหลงก็บ้าอย่างคนหลง เรียกได้ว่าเป็นคนบ้าไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความโลภ หรือความโกรธ หรือความหลง แล้วทั้งหมดนี้ก็มาจากความยึดมั่นถือมั่น การระวังไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นจึงเป็นทั้งหมดของพระพุทธศาสนา แล้วก็สำเร็จอยู่ที่การระวังทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
เดี๋ยวนี้เราประพฤติปฏิบัติกันไม่ได้ เพราะว่าจับหัวใจไม่ถูก จับหัวใจของพระพุทธศาสนาไม่ถูก ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย จะต้องประพฤติอย่างนั้น จะต้องประพฤติอย่างนี้ จะต้องประพฤติอย่างโน้น มากมาย หลายอย่าง หลายสิบอย่าง หรือกระทั่งหลายร้อยอย่างก็มี เข้าใจไปว่าจะต้องเรียนเรื่องต่างๆ มากมายหลายสิบอย่าง หลายร้อยเรื่อง จะต้องปฏิบัติในลักษณะต่างๆ มากมายหลายสิบ หลายร้อยเรื่อง อย่างนี้มันก็เป็นความสับสนวุ่นวาย ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เหมือนที่กำลังเป็นกันอยู่เวลานี้ทั่วๆ ไป ในที่สุดก็หันหน้าไปในทางที่ว่าจะได้เป็นคนเก่ง คือรู้อะไรมาก แล้วก็ปฏิบัติอะไรได้มากๆ ตามที่เขานิยมยกย่องกัน อย่างนี้มันก็กลายเป็นคนหากินกับพระธรรม หากินกับศาสนา มากกว่าที่จะเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับเสียซึ่งทุกข์ หรือดับกิเลสตัณหา หรือดับความยึดมั่นถือมั่นอย่างแท้จริง ผู้ที่ต้องการจะดับความยึดมั่นถือมั่นอย่างแท้จริงนั้น ไม่มีอะไร นอกจากการที่ตั้งอกตั้งใจระมัดระวังให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกเมื่อ อย่าเผลอให้เกิดการปรุงแต่งขึ้นมาในจิตในใจ เป็นความรู้สึกที่เป็นตัณหาอุปาทาน คือที่เรียกว่า เป็นตัวกู หรือเป็นของของกู เกิดขึ้นมาในจิตในใจนั่นเอง มันมีอยู่เพียงเท่านี้ เราไม่ต้องยุ่งยากลำบากในการศึกษาเล่าเรียนอะไรให้มากไปกว่านี้ มันมีความยากลำบากอยู่ตรงที่บังคับตัวเองไม่ได้ มันมีความยากลำบากอยู่ตรงที่สติสัมปชัญญะไม่ค่อยจะมี สติสัมปชัญญะมาไม่ค่อยจะทัน มันไปหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด เกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นมาเสียแล้ว สติสัมปชัญญะก็ยังมาไม่ทัน แต่เมื่อมันเป็นอย่างนั้นหนักเข้าๆ มันก็มีความชินเป็นนิสัย เมื่อมีความเคยชินเป็นนิสัยแล้วมันก็แก้ยาก นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่ากิเลสอันละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน คือความเคยชินจนแก้ยากนั่นเอง มันก็เป็นคนบ้าได้ตลอดกาล ไม่มีสร่าง คือพร้อมที่จะเกิดอาการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ทุกเมื่อเชื่อวัน วันหนึ่งเกิดได้หลายครั้ง หลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้งก็ยังได้ ดูคล้ายๆ กับว่าครุกรุ่นอยู่ในใจด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่มีเวลาสร่างซา นี้เรียกว่าเป็นคนบ้าถึงที่สุด เป็นเหตุให้เรากล่าวได้โดยไม่กลัวใครคัดค้านว่า ในโลกเต็มไปด้วยคนบ้า ลองไปคิดดูให้ดีว่ามันจริง หรือไม่จริง ถ้าจะพูดว่าในโลกนี้เต็มไปด้วยคนบ้า ในโลกนี้มีแต่คนบ้า อย่างนี้มันเป็นคำพูดที่จริง หรือไม่จริง ลองไปคิดดูให้ดีๆ เถิด จะรู้ได้ด้วยตนเอง จะเห็นได้ด้วยตนเอง แต่ปัญหามันมีอยู่หน่อยหนึ่งตรงที่ คำว่า ในโลก คนโง่ๆ รู้จักโลกแต่ในเรื่องภาษาคน คือตัวโลกทางวัตถุ ถ้าอย่างนี้มันก็ยุ่งกันใหญ่ คือมันขัดขวางกันเป็นการใหญ่ เพราะใครๆ ก็พูดได้ว่าในโลกวัตถุนี้มีทั้งคนดี มีทั้งคนบ้า พระพุทธเจ้าก็อยู่ในโลกนี้ พระอรหันต์ก็อยู่ในโลกนี้ แล้วทำไมมาพูดว่าในโลกมีแต่คนบ้า นั้นมันเป็นความเข้าใจผิดของคนนั้นเองที่มันรู้จักแต่ภาษาคน เมื่อพูดว่าโลกก็หมายถึงโลกทางวัตถุคือโลกนี้ที่เห็นๆ กันอยู่ ที่จริงคำว่า โลก ในภาษาธรรมนี้มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง หมายความว่า โลกนั้นมันหมายถึงความทุกข์ หรือหมายถึงกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ หรือหมายถึงความยึดมั่นถือมั่นว่าโลกมันจึงจะเป็นโลกขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ในกายในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ ตถาคตบัญญัติโลก บัญญัติเหตุให้เกิดโลก บัญญัติความดับสนิทของโลก แล้วบัญญัติหนทางให้ถึงความดับสนิทของโลกไว้พร้อมเสร็จ ท่านทั้งหลายลองคิดดู ฟังแล้วลองคิดดูว่าพระพุทธเจ้าได้บัญญัติว่า ในร่างกายคนเราที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ มีทั้งโลกและมีทั้งเหตุให้เกิดโลก มีทั้งความดับสนิทของโลก และมีทั้งหนทางปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทของโลก แล้วโลกมันจะเข้าไปอยู่ในคนที่มีร่างกายยาวเพียงประมาณวาหนึ่งนี้ได้อย่างไร ถ้าคิดข้อนี้ออกก็จะเป็นการเข้าใจได้ว่าคำว่า โลก ของพระพุทธเจ้านั้นท่านหมายถึงอะไร คำว่า โลก ของพระพุทธเจ้าตามภาษาธรรมนั้น หมายถึงการปรุงแต่งของจิตใจ เป็นความรู้สึกคิดนึกขึ้นมาว่าเป็นคน ว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู เมื่อใดจิตโง่เขลา ประกอบไปด้วยอุปาทานว่าเป็นตัวกูของกูแล้วเมื่อนั้นมีโลกขึ้นมาทันที คือความทุกข์นั่นเอง เมื่อใดยังไม่มีความยึดมั่นว่าตัวกู ว่าของกู เมื่อนั้นโลกยังไม่มีสำหรับบุคคลนั้นในขณะนั้น นี้ฟังดูให้ดีๆอาจจะเข้าใจได้ไม่ได้ก็ได้ หรืออาจจะเข้าใจผิดก็ได้ มันต้องทบทวนกันเสียใหม่ว่า ตามธรรมดาถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกูแล้ว โลกยังไม่มี โลกยังไม่ปรากฏ โลกของบุคคลนั้นยังไม่มี คือความทุกข์ของบุคคลนั้นยังไม่มี ความทุกข์ของบุคคลนั้นยังไม่ปรากฏ เพราะอุปาทานว่าตัวกู ว่าของกูยังไม่เกิด มันก็ไม่มีอะไร ดังนั้นโลกจึงไม่มีสำหรับบุคคลนั้นในเวลานั้น ต่อเมื่อใดบุคคลนั้นเผลอไปมีอารมณ์มากระทบทางตา เป็นต้น เกิดเวทนาแล้ว เกิดตัณหา เกิดอุปาทานว่าตัวกู ของกูขึ้นมาเมื่อใดเมื่อนั้นโลกก็มีขึ้นมาสำหรับบุคคลนั้นหรือสำหรับจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นตกอยู่ในโลกอย่างนี้จึงกลายเป็นคนบ้า คือจิตที่ประกอบด้วยอุปาทานนั้นเป็นจิตบ้า ถ้าเรียกจิตนั้นว่าคนก็คือคนบ้าแล้ว ก็อยู่ในโลกที่มันสร้างขึ้นมาเองด้วยตัณหาอุปาทานนั้น คือความทุกข์ จิตที่ปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา มันเป็นจิตบ้า มันจึงสร้างความทุกข์ขึ้นมา สร้างโลกขึ้นมา เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทั้งหมดมันรวมอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ เราต้องศึกษาดูให้ดี จนมีความเข้าใจแจ่มกระจ่างว่า โลกทั้งโลกมันจะมาอยู่ในร่างกายนี้ได้อย่างไร แล้วมิหนำเหตุให้เกิดโลกทั้งโลก มันก็มาอยู่ในร่างกายนี้ได้อย่างไร แล้วมิหนำความดับสนิทของโลกกล่าวคือ พระนิพพานนั้นจะมาอยู่ในร่างกายนี้ได้อย่างไร แปลว่าหนทางให้ถึงความดับสนิทของโลกคือการปฏิบัติในอริยมรรคทั้งหมดนั้นจะมาอยู่ในโลก ในร่างกายนี้ได้อย่างไร ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ก็จะเห็นได้ว่า อยู่ในร่างกายนี้ครบถ้วนทั้งหมดจริงๆ โลก คือ ความทุกข์ก็ดีอยู่ในร่างกายนี้ เหตุให้เกิดโลก คือกิเลส ตัณหา อุปาทาน ก็ดี มีอยู่ในร่างกายนี้ ความหยุดดับสนิทแห่งโลก หรือความทุกข์ ก็ดับตัณหาอุปาทานเสียได้มันก็มีอยู่ในร่างกายนี้ การปฏิบัติที่ถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางจิต ที่เรียกว่าอริยมรรคนั้น มันก็มีอยู่ในร่างกายนี้ เพราะเหตุเช่นนั้นแหละ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ซึ่งมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดซ้ำๆ ซากๆ กันให้มากๆ เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องและเพียงพอ คือข้อที่พูดว่าอะไรๆ รวมอยู่ในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ซึ่งมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ การที่พูดว่ามีพร้อมทั้งสัญญาและใจนี้ หมายความว่าในร่างกายที่ยังเป็นๆ อยู่ ไม่ใช่ในร่างกายที่ตายแล้ว ในร่างกายที่ตายแล้ว หามีสิ่งเหล่านี้ไม่ แต่ในร่างกายที่ยังเป็นๆ มีความรู้สึกคิดนึกได้นี้แหละมันจะสร้างโลกขึ้นมาก็ได้ มีเหตุให้เกิดมีโลกอยู่ในนั้นพร้อมเสร็จ ที่จะทำให้เป็นความดับสนิทแห่งโลกก็ได้ หรือจะใช้ให้มีการปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ได้ เพราะเหตุเช่นนี้เอง พระพุทธเจ้าท่านจึงระบุชัดลงไปว่าต้องในร่างกายที่ยังมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ คือมีชีวิตอยู่ เป็นๆ อยู่ ดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่าในการเป็นอยู่เป็นประจำวันของเรานั้นมีโลก มีเหตุให้เกิดโลก มีความดับสนิทของโลก มีทางถึงความดับสนิทของโลกได้ทั้งนั้น หากแต่ว่าเราทำไม่เป็น มันจึงมีแต่เรื่องโลก คือเรื่องความทุกข์ หรือเหตุให้เกิดโลก หรือเหตุให้เกิดความทุกข์ไปเสียทั้งนั้น ส่วนความดับสนิทแห่งโลก หรือความทุกข์นั้น ทำไม่เป็น มันจึงไม่ปรากฏ โดยที่แท้แล้วโลกมีอยู่ที่ไหนความดับของโลกมันก็ต้องมีอยู่ที่นั่น แต่แล้วเราทำไม่เป็น มันจึงดับไม่ได้ จึงรู้เห็นแต่เรื่องความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นผู้สร้างโลก คือความทุกข์ขึ้นมา ไม่มีสิ้นสุด ไม่หยุดไม่หย่อน สร้างแต่ความทุกข์ขึ้นมา ไม่สิ้นสุด ไม่หยุดไม่หย่อน นี้ก็เท่ากับสร้างโลกขึ้นมาไม่มีที่สิ้นสุดไม่หยุด ไม่หย่อน ในโลกนี้จึงมีแต่คนบ้า คือมีแต่จิตที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน นั่นเอง
ดังนี้ท่านทั้งหลายลองคิดพิจารณาดูเถิดว่า การที่พูดว่าในโลกมีแต่คนบ้านี้ เป็นคำพูดที่ถูกต้องแล้วหรือยัง เป็นคำพูดที่ถูกมาก ถูกน้อยเพียงไร ขอจงได้ไปพิจารณาดูให้จงดี การที่ได้พูดอย่างนี้เพราะมันฟังง่าย เพราะมันลืมยาก คือพูดว่าในโลกมีแต่คนบ้า ในขณะใดไม่มีโลก มันก็ไม่มีคนบ้า ในขณะใดสร้างโลกขึ้นมามันก็มีแต่คนบ้า พระอรหันต์ท่านไม่มีโลก ท่านไม่สร้างโลกขึ้นมา ท่านอยู่เหนือโลก ดังนั้นท่านจึงไม่ใช่คนบ้า
วันนี้เป็นวันมาฆบูชา เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย เราจงมองดูพระอรหันต์ในลักษณะอย่างนี้กันให้มาก แล้วเทียบดูกับตัวเราเอง ว่าเป็นคนบ้าหรือไม่บ้า ถ้าเรายังมีอะไรที่เป็นตัณหา อุปาทาน เราก็ต้องยังเป็นคนบ้า เพราะเรายังหลงสร้างโลกขึ้นมาเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด สร้างโลกขึ้นมาในจิตใจเมื่อไรก็เป็นคนบ้าสำหรับจะอยู่ในโลกนั้นขึ้นมาเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นบุคคลนั้นจึงเป็นคนบ้า และเต็มอยู่ในโลกที่เขาสร้างขึ้นมาเอง ส่วนพระอรหันต์นั้น ไม่มีอาการอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่สมบูรณ์อยู่ตลอดกาลทุกเวลา ทำลายเสียได้ซึ่งกิเลสตัณหา เพราะความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นผู้เป็นอยู่ชอบ เป็นกิเลสตัณหาไม่มีทางที่จะเกิดได้ สมกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ข้อหนึ่งว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นผู้อยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ คำนี้ฟังดูแล้วดูมันง่ายดีเหลือเกิน คือว่าให้เป็นอยู่กันโดยชอบเท่านั้น โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ แต่แล้วทำไมจึงไม่มีใครทำได้ ในการที่จะให้เป็นอยู่ชอบแล้วให้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา การเป็นอยู่ชอบนั้น ก็คือเป็นอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่มีเผลอให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันจึงไม่สร้างตัวกู ไม่สร้างของกูขึ้นมาให้เป็นโลก มันจึงเป็นการสงบอยู่แห่งตัวกู และของกูเรื่อยไปๆ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย คือมันสูญสิ้นเชื้อ มันสูญสิ้นความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นอีก มันจึงอยู่เหนือวิสัยที่จะเป็นคนบ้า อยู่เหนือวิสัยที่จะมาเป็นผู้หลงสร้างโลกขึ้นมา สำหรับจะเป็นคนบ้า จะได้อยู่ในโลกนั้น นี้เป็นใจความสำคัญที่จะต้องพิจารณาดูให้ดีว่าจริง หรือไม่จริง ในโลกนี้มีแต่คนบ้า เพราะฉะนั้นต้องเป็นเรื่องนอกโลก เหนือโลกจึงจะมีคนดี ถ้ายังเป็นเรื่องในโลกแล้ว มันก็ยังต้องมีแต่คนบ้า ถ้าเป็นโลกุตระ คืออยู่เหนือโลกพ้นโลกขึ้นไปแล้ว จึงจะมีคนไม่บ้า ด้วยเหตุเช่นนี้เอง บรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านจึงอยู่เหนือโลก พระอริยเจ้าทุกชนิด ทุกจำพวก ท่านอยู่เหนือโลก ท่านไม่อยู่ในโลก ฉะนั้นในโลกจึงมีแต่คนบ้า ในโลกนี้ไม่มีพระอริยเจ้า ไม่มีพระอรหันต์ ในโลกนี้มีแต่คนบ้า พูดซ้ำๆ ย้ำๆ อย่างนี้ ก็เพื่อให้ไปคิดดู ให้ลืมยาก เอาไปคิดดู ให้เห็นจริง ว่าตนเป็นคนบ้าอยู่ในโลกนี้หรือเปล่า เป็นคนบ้าสร้างโลกขึ้นมาสำหรับจะอยู่อย่างคนบ้านี้วันหนึ่งกี่ครั้งกี่หน คืนหนึ่งกี่ครั้งกี่หน ข้อนี้ไม่ยากเลยในการที่จะนับดู คือเกิดโลภะ โทสะ โมหะขึ้นมาทีไร มันก็เป็นคนบ้าทีหนึ่งเมื่อนั้น หรือว่ามีความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาแล้วทีไร มันก็เป็นคนบ้าขึ้นมาทีนั้น เป็นคนดีจะไปยึดมั่นถือมั่นอะไรที่ไหนได้ มันต้องเป็นคนบ้า คือไปโง่ ไปหลง ยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้า เกิดความโลภขึ้นมาก็เป็นคนบ้าโลภ เกิดความโกรธขึ้นมาก็เป็นคนบ้าโกรธ เกิดความหลงขึ้นมา มันก็เป็นคนบ้าหลง นั้นแหละคืออาการของคนบ้า อยู่ที่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำวัน ดังนั้นทุกคนจะต้องพิจารณาดูให้ดี ถึงขนาดที่จะเกิดความสลดสังเวชใจ เกิดความละอายแก่ตัวเอง มันจึงจะสร่าง จึงจะซา จึงจะรู้จักเจ็บ รู้จักหลาบ เดี๋ยวนี้ปัญหามันมีอยู่ตรงที่ว่า ไม่รู้จักอาย มันก็สมกันแล้วที่ว่าเป็นคนบ้า มันก็ไม่รู้จักอาย คนบ้าที่ไหนบ้างที่รู้จักอาย เมื่อเป็นคนบ้าแล้วก็เป็นคนไม่รู้จักอาย คนดีเท่านั้นที่จะรู้จักอาย เราจะต้องเป็นคนดีที่รู้จักอาย จึงจะไม่เผลอแล้วกลายเป็นคนบ้า เมื่อบ้าไปพักหนึ่ง สุดแรงบ้าแล้วกลับมาได้สติสัมปชัญญะอีก ตรงนี้แหละ ต้องละอายกันให้มาก อย่าเป็นคนหน้าด้าน ไม่รู้จักละอาย มันก็จะเคยชินเป็นนิสัยกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักอายไปจนตลอดชีวิต
พุทธบริษัททั้งหลาย อย่าได้มีความประมาทเลย จงได้มองเห็นว่า คำว่า หิริ และโอตตัปปะ นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่คนบางคนโง่แกมบ้า ไปคิดแต่ว่าเรื่องหิริและโอตตัปปะนี้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ อยู่ที่ใบแรกของหนังสือนวโกวาท เป็นเรื่องหญ้าปากคอกไม่สำคัญอะไรเลย ไม่เอาใจใส่ คนอย่างนี้แหละ จะเป็นคนบ้าเก่ง เพราะเป็นคนหน้าด้าน ไม่รู้จักละอาย มันจึงบ้าได้มาก ที่จริงเรื่องหิริและโอตตัปปะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เรื่องหญ้าปากคอก แต่เป็นเรื่องทั้งหมดที่จะทำให้คนเป็นพระอรหันต์ เพราะว่ามีความละอาย และความกลัวเท่านั้น จะรักษาสติสัมปชัญญะไว้ได้ สติสัมปชัญญะไม่เผลอ ไม่สูญหายไป ก็เพราะมีความละอายและความกลัว ข้อนี้อยากจะเปรียบเทียบในเรื่องทางวัตถุธรรมดาสามัญที่สุด เช่นว่า คนมีความละอายมีความกลัวแล้ว ก็ไม่ทำอะไรให้คนอื่นเขาดูหมิ่นดูถูกได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น มีความละอายอยู่ จึงไม่ไปทำผ้านุ่งหลุดกลางถนน คิดดูให้ดีว่ามีใครบ้างเผลอทำผ้านุ่งหลุดกลางถนน ข้อนี้ก็เพราะว่ามันระวังมาก ระวังเหลือเกิน ระวังอย่างยิ่ง ก็เพราะว่ามันมีความละอายล่วงหน้า มันมีความกลัวล่วงหน้า มันมีความละอายมาก มีความกลัวมาก มันจึงรอดตัวไปทีในการที่จะไปทำผ้านุ่งหลุดที่กลางถนน นี้เป็นเรื่องทางวัตถุ เห็นได้ง่ายๆ และทำกันได้จริงๆ แต่ทีถึงเรื่องจิตใจอันเป็นภายใน ไม่เป็นอย่างนั้น มีแต่คนไม่ละอาย มีแต่คนไม่กลัว เกิดความโลภขึ้นมาทีหนึ่ง ก็ไม่ละอาย ไม่กลัว ปล่อยให้เกิดอีก สองหนสามหน ก็ยังไม่ละอาย ไม่กลัว ปล่อยให้เกิดอีก หลายสิบครั้ง หลายสิบหน ก็ยังไม่ละอาย ไม่กลัว ปล่อยให้เกิดแล้วเกิดอีกจนชินเป็นนิสัย แก้มันไม่ไหว ควบคุมมันไม่ได้ มันก็กลายเป็นคนบ้า คือบ้าโลภ บ้าโกรธ บ้าหลงได้ตลอดเวลา จมอยู่ในโลกก็คือจมอยู่ในความบ้าของตัวเอง นี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่าโลกิยะ คือสิ่งที่เวียนว่ายอยู่ในโลก จมอยู่ในโลก ไม่อาจจะข้ามขึ้นพ้นจากโลกได้ จึงพูดได้ว่าในโลกมีแต่คนบ้า ถ้าใครละอายก็เอาไปคิดดูเถิด ไปคิดดูให้ดีๆ เถิด ว่ามันน่าละอายสักเท่าไร แล้วตัวเองกำลังเป็นคนบ้าอย่างนั้นหรือหาไม่ ยกหูชูหางด้วยความยึดมั่นถือมั่นจะเป็นคนดีคนเด่นอยู่เสมอไป นี้แหละคือคนบ้า บ้าอย่างยิ่ง บ้าอย่างที่สุด คนพูดมากก็คือคนบ้ามาก เพราะว่าที่พูดนั้นพูดด้วยความอยากดีอยากเด่น พูดด้วยความยึดมั่นถือมั่น ด้วยตัณหา อุปาทาน เรื่องที่ไม่ต้องพูดเอามาพูด เรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องทะเลาะวิวาทกันก็เอามาทะเลาะวิวาทกันจนได้ แล้วจะไม่ให้เรียกว่าคนบ้าอย่างไร นี้ก็เพราะว่าความที่ไม่สำนึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่ละอายให้มากพอ มันเคยชินเป็นนิสัย มันก็เป็นบาปเป็นกรรม เป็นโชคร้ายของคนนั้น ที่มีความเคยชินไปแต่ในทำนองนั้น คนที่ฉลาดจึงสอนให้ระมัดระวัง ให้อดกลั้น อดทน ให้หุบปาก อย่าเปิดโอกาสให้กิเลสตัณหา คอยระมัดระวังให้ดีในทางปาก ระมัดระวังให้ดีในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น กระทั่งทุกอย่างทุกทางที่จะต้องระมัดระวัง อย่าเผลอให้เป็นช่องทางสำหรับจะเกิดตัวกู เกิดของกู คืออุปาทานในความยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องดีกว่าเขา ในเรื่องเสมอกันกับเขา ในเรื่องเลวกันกว่าเขา ในเรื่องรู้สึกว่าเลวกว่าเขาก็ตาม ในเรื่องรู้สึกว่าเสมอกันก็ตาม รู้สึกว่าดีกว่าเขาก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่จะทำให้คนนั้นเป็นคนบ้า สร้างโลกขึ้นมาสำหรับจะได้อยู่อย่างคนบ้าในขณะนั้น จนกว่าตัณหาอุปาทานเหล่านี้จะสิ้นสุดลงครั้งหนึ่งๆ แต่เดี๋ยวนี้มีความเคยชินมากเกินไป จึงมีแต่ความรู้สึกที่เป็นความยึดมั่นถือมั่น แม้นอนหลับแล้วก็ยังฝันไปในทางที่เป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นคนบ้าในความฝันก็ยังได้แล้ว ทำไมจะเป็นคนบ้าในการอาการตื่นๆ นี้ไม่ได้เหล่า นี้แหละคือข้อที่แสดงให้เห็นว่าในโลกนี้มันช่างเต็มไปด้วยคนบ้าเสียจริงๆ ทุกคนจึงต้องระวังอย่างสร้างโลกขึ้นมา ด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน อย่างสร้างคนขึ้นมาด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน ว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่า อหังการ มมังการ คำว่า อหังการ แปลว่ากระทำความรู้สึกว่าตัวกู คำว่า มมังการ แปลว่าการทำความรู้สึกว่าของกู นี้เป็นปัญหาอย่างเดียวเท่านั้น อย่างอื่นไม่เป็นปัญหา ในวัดวาอารามนี้ก็ดี ภิกษุ สามเณรก็ยังมีตัวกูของกู ยกหูชูหางอยู่ทั่วๆ ไป ตามบ้านตามเรือน นอกวัดนอกวา ก็มีคนมีตัณหาอุปาทานว่า ตัวกูของกู ยกหูชูหางอยู่ทั่วๆ ไป อย่างนี้มันไม่แตกต่างกันเลย ในระหว่างบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ นี้ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาสามัญอยู่ในโลกที่สร้างขึ้นสำหรับจะได้เป็นคนบ้าอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ถ้ามีความรู้สึกในข้อนี้ดีแล้ว จะเป็นบรรพชิต หรือเป็นฆราวาสก็ตาม ล้วนแต่รู้จักมัธยัสถ์สำรวมระวังมีสติสัมปชัญญะไม่เผลอให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูขึ้นมา ก็เรียกว่าไม่ได้สร้างโลกขึ้นมาสำหรับจะเป็นคนบ้า และอยู่อาศัยในโลกนั้น เพราะฉะนั้นแหละ ท่านจึงกล่าวไว้เป็นหลัก หรือใครๆ ก็มองเห็นได้ว่าเป็นความจริง ว่าการเป็นพระอริยเจ้านั้นไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบรรพชิต หรือเป็นฆราวาส การเป็นพระอริยเจ้านั้น เป็นได้ทั้งบรรพชิต เป็นได้ทั้งฆราวาส เมื่อใดเป็นได้ก็เป็นพระอริยเจ้าเสมอกัน เพราะว่าละเสียได้ซึ่งตัณหาอุปาทานที่จะทำให้กลายเป็นคนบ้านั้นเอง พระอริยเจ้าเป็นฆราวาสก็ได้ เป็นบรรพชิตก็ได้ ล้วนแต่เป็นคนดีเสมอกันหมด ไม่จมอยู่ในโลก ไม่อาศัยอยู่ในโลก ไม่สร้างโลกขึ้นมา นั้นแหละเรียกว่าพระอริยเจ้าท่านอยู่เหนือโลก ไม่อยู่ในโลก เพราะฉะนั้นในโลกนี้จึงมีแต่คนบ้า ไม่มีพระอริยเจ้ารวมอยู่ได้เลย การที่พูดว่าพระพุทธเจ้าก็อยู่ในโลกนี้ บังเกิดขึ้นในโลกนี้นั้นพูดภาษาคนโง่ พูดภาษาวัตถุ เอาโลกทางวัตถุทางแผ่นดินนี้เป็นหลัก นี้มันก็จริงเพราะว่าร่างกายของใคร ของคนชนิดไหนก็ต้องอาศัยอยู่ในโลกแผ่นดินนี้ทั้งนั้น แต่ว่ายังมีโลกชนิดอื่นคือโลกทางจิตใจนั้น มันมีอยู่ว่าใครจะอยู่ในโลกนั้นหรือหาไม่ ถ้ามีตัณหาอุปาทานก็มีโลกชนิดนั้นแหละให้อาศัยอยู่ในโลกนั้น สำหรับพระอริยเจ้าทั้งหลาย แม้จะต้องอาศัยแผ่นดินโลกนี้อยู่ แต่จิตใจหาได้เกี่ยวข้องกันกับโลกแผ่นดินนี้ไม่ เพราะว่าท่านละความยึดมั่นถือมั่นที่จะสร้างโลกชนิดไหนได้หมดแล้ว ไม่สร้างโลกชนิดไหนขึ้นมา จะเป็นโลกแผ่นดินหรือจะเป็นโลกทางจิตใจก็ตาม ไม่ได้มีความยึดมั่นถือมั่นในโลกใดๆ เลย โลกทุกชนิดจึงไม่มีสำหรับท่าน ไม่มีความหมายสำหรับท่าน เรียกว่าท่านไม่ได้อยู่ในโลกไหนหมด ไม่ว่าโลกแผ่นดินหรือโลกทางจิตทางวิญญาณ หรือซึ่งเป็นโลกของกิเลสตัณหาอุปาทานเหล่านั้นเลย จึงพูดได้เต็มปากโดยไม่ต้องกลัวใครค้านว่า ในโลกนี้มันช่างเต็มไปด้วยคนบ้า คนดีจะไม่อยู่ในโลกนี้ จะเป็นผู้อยู่เหนือโลกเสมอไป คนปุถุชนธรรมดาสามัญ เมื่อยังไม่มีการปรุงแต่ง ว่าเป็นตัวกูของกู ก็เรียกว่าไม่ได้อยู่ในโลกด้วยเหมือนกัน ในขณะนั้นมีค่าเท่ากับไม่ได้มีอยู่ จึงเรียกว่า ถ้ามีโลกเมื่อไรเป็นมีคนบ้าเมื่อนั้น ในโลกจึงเต็มไปด้วยคนบ้าเพราะเหตุนี้ เรายิ่งคิดดูเรื่องนี้ให้มากแล้วก็คงจะยิ่งมีความละอายแก่ตัวเอง มีความสลดสังเวชใจที่ว่าเป็นบ้ามานานเท่าไร แล้วจึงได้มีสติสัมปชัญญะระงับเสียซึ่งความยกหูชูหางเป็นตัวกูของกูจะดีจะเด่นอย่างนั้นอย่างนี้ จนมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังที่รู้กันอยู่แก่ใจทุกๆ คนแล้วเป็นอย่างดี ยังเหลืออยู่แต่จะระวังเท่านั้น เผลอเมื่อไร มันก็ได้เป็นคนบ้าเมื่อนั้น สร้างโลกขึ้นมาสำหรับเป็นคนบ้าทันที
ทีนี้เรามองดูถึงพระอรหันต์ เพราะว่าวันนี้เป็นวันของพระอรหันต์ เราจะถือเอาพระอรหันต์เป็นบุคคลสูงสุด เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นคติที่ดี อย่าให้เสียทีที่เราได้ทำการบูชาในวันนี้เพื่อบูชาพระอรหันต์ ท่านต้องเป็นคนประเสริฐจริง ดีจริง เราจึงได้บูชาท่าน แต่การบูชาท่านของเรานั้น ก็เพื่อจะถือเอาเป็นตัวอย่างที่ดี จะได้เป็นอย่างเดียวกับท่าน คือจะได้เดินตามท่านไปในทางที่จะไม่ต้องเป็นบ้า ไม่ต้องจมอยู่ในโลกนี้คือความทุกข์อีกต่อไป ดูจะไม่มีคำอะไรที่จะน่าเกลียดน่ากลัวเท่ากับคำว่าบ้า ใครๆ ก็ไม่อยากบ้า ใครว่าเราบ้าเราก็โกรธ แต่แล้วทำไมเราจึงไม่ดูให้ดีว่า โดยที่แท้แล้ว ปุถุชนคนธรรมดานั้นยังเป็นคนบ้าอยู่ แล้วพร้อมกันนั้นก็ชอบหรือรักที่จะเป็นคนบ้า คือการรักที่จะยกหูชูหางนั่นเอง ปุถุชนย่อมรักที่จะยกหูชูหาง รักที่จะอวดดิบอวดดี ที่เขาเรียกกันสมัยนี้ว่าอยากจะเบ่ง จงดูให้ดีเถิดว่า ในขณะที่เบ่งนั้นมันเป็นคนบ้าถึงที่สุดแล้ว ถ้าไม่มีการเบ่งก็ยังไม่มีการบ้า ฉะนั้นระวังเรื่องเบ่งเรื่องบ้านี้ให้มาก จึงจะเป็นอริยสาวกของพระพุทธเจ้า สมควรที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้รุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา เผลอเมื่อใดความมืดก็มาครอบครองงำ มันก็กลายเป็นคนบ้าไป ถ้าสติปัญญายังอยู่ มีอยู่อย่างสว่างไสว ก็รุ่งเรืองอยู่ได้ด้วยปัญญา นี้ก็พอจะเรียกว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้ เราจงตั้งตัวอยู่ในลักษณะที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญาเถิด จะไม่เสียทีที่วันคืนล่วงไป วันคืนล่วงไป นี้มันก็ล่วงไปปีหนึ่งแล้ว มันจึงมาถึงวันมาฆบูชาอีก แล้วมันก็จะล่วงไปปีหนึ่งอีก ปีหนึ่งอีกๆ ไม่มีเหตุที่จะรอใคร มันไม่รอใคร มันล่วงไปๆ ตามลักษณะของเวลา เราจะมัวเป็นคนบ้ากันอยู่ทุกๆ ปีอย่างนี้มันก็ไม่ไหว มันป่วยการที่จะมาทำมาฆบูชาที่เรียกว่าเป็นการเดินตามรอยของพระอรหันต์ เราทำพิธีอย่างที่เรียกว่าเดินตามรอยพระอรหันต์ แต่แล้วเราก็หันหลังให้ แล้วก็วิ่งหนีไปทางอื่น เพื่อที่จะไปเป็นคนบ้าอยู่ในโลกที่สร้างขึ้นมาเองด้วยอำนาจของตัณหาอุปาทาน ดังที่กล่าวแล้ว ทั้งหมดนี้ทุกคนควรจะคิดดูให้ดีว่า เมื่อถึงวันมาฆบูชาเช่นวันนี้แล้ว เราควรจะคิดบัญชีกันให้ตรงไปตรงมา อย่าลำเอียง อย่าเข้าข้างคนนั้น อย่าเข้าข้างคนนี้ อย่าเข้าข้างตัวเอง ความจริงมีอยู่อย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น คิดไปอย่างนั้น คิดบัญชีให้ถูกต้อง ว่าเรากำลังบ้า เป็นคนบ้า สร้างโลกขึ้นมาสำหรับเป็นคนบ้านี้ มันมากน้อยเท่าไรวันหนึ่งกี่ครั้งกี่หน เดือนหนึ่งกี่ครั้งกี่หน ปีหนึ่งกี่ครั้งกี่หน เอามาคำนวณดูให้ดีว่าปีนี้มันดีกว่าปีที่แล้วหรือไม่ แล้วจะทำให้ปีหน้ามันดีกว่าปีนี้ได้อย่างไร นั่นแหละจึงจะเป็นการทำมาฆบูชาที่ถูกต้อง เป็นการทำมาฆบูชาที่แท้จริง ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง สมกับที่ทนยากลำบากมานั่งพูดกันที่นี่ มานั่งฟังกันที่นี่ มานั่งปรึกษาหารือกันที่นี่ แล้วมาบูชาพระอรหันต์กันที่นี่ มาเวียนเทียนเพื่อบูชาพระอรหันต์กันที่นี่ เหมือนที่ได้ทำไปแล้วเมื่อตะกี้นี้ อย่าให้กลายเป็นหมัน อย่าให้กลายเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ ไปเสียเลย จงกระทำให้เป็นเรื่องจริง และให้ยิ่งขึ้นทุกๆปี จะได้มีประโยชน์ มีอานิสงส์เพิ่มขึ้นในการทำมาฆบูชา คำพูดทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียดสี ด่าทอ แต่ว่าเป็นเรื่องเตือนสติซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องปรับทุกข์กัน เราไม่ระบุว่าคนไหนเป็นอย่างไร แต่ระบุว่าทุกคนกำลังมีปัญหาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องแก้ปัญหาอันนี้ให้ลุล่วงไปให้ได้ อย่าไปมุ่งหวังอย่างอื่นเลย อย่าไปมุ่งหวังเอาดิบเอาดีอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคนเก่งคนกล้าสามารถอย่างนั้นอย่างนี้เลย จงมุ่งหวังแต่ในทางที่จะกำจัดเสียซึ่งกิเลสอันเป็นมูลเหตุให้กลายเป็นคนบ้า บางคนก็บ้าเรียน เรียนนี้ไม่ใช่เพื่อจะดับทุกข์ เรียนเพื่อจะเป็นคนดี คนเด่น เป็นคนเก่งกว่าคนอื่น ดังนั้นจึงเรียนเตลิดเปิดเปิงออกไป นอกลู่นอกทางของพระธรรม นี้ก็ยิ่งเป็นคนบ้ามากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในการที่จะเรียนเพื่อเป็นคนดี คนเด่น ไม่มีขอบ ไม่มีเขต นี้ควรจะละอายกันในวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่จัดไว้เพื่อระลึกนึกถึงพระอรหันต์ เพื่อบูชาคุณของพระอรหันต์อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขเป็นประธาน เราจะได้ระมัดระวังจิตใจให้ดี อย่างให้เลื่อนลอยไปมากถึงขนาดนั้น เราจะทำอะไร จะเรียนอะไร จะพูดอะไรก็อย่าให้เป็นไปด้วยความอวดดี หรือเพื่อความอวดดี แต่ให้ทำไปด้วยเหตุผลที่ควรจะทำ ถ้าเราจะต้องเรียนอะไรให้มากออกไป เราก็จงเรียนเพื่อมันเป็นประโยชน์แก่การที่จะเป็นคนดี ไม่เป็นคนบ้า หรือว่าเพื่อจะแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้รู้จักเป็นคนดี ไม่ต้องเป็นคนบ้า เราจึงต้องเรียนอะไรเพิ่มขึ้นออกไปเล็กน้อย ผนวกเข้ากับส่วนใหญ่ คือเรียนเพื่อไม่ให้เป็นคนบ้า เรียนเพื่อให้เป็นคนดี นี้เป็นเรื่องสำคัญแต่เพียงเรื่องเดียว เรื่องนอกนั้นเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด เป็นเรื่องฝอย เป็นเรื่องไม่มีราคาอะไรเลยก็ว่าได้ ถ้าเรามานึกกันอย่างนี้อยู่บ่อยๆแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะหมุนไปแต่ในทางที่ถูกต้อง จะเรียนแต่ในทางที่ควรเรียน จะทำแต่ในทางที่ควรทำ ไม่ไปกระทำให้มันเหลือเฟือ ให้มันฟุ้งเฟ้อไปจนกลายเป็นคนบ้ามาก บ้าใหญ่ บ้าไม่รู้จักสิ้นสุด เพราะไม่รู้จักว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดควรทำเพียงเท่าไรอย่างไร เอาแต่เรื่องที่จะให้มันเกิดการ อาการที่เป็นการอวดดิบอวดดี ที่เรียกว่ายกหูชูหางมากขึ้นทุกที นี้มันก็เป็นเรื่องการให้ของแสลง เพิ่มของแสลงให้แก่จิตใจแล้ว มันก็เป็นโรคชนิดนั้นมากขึ้นทุกที ยากที่จะรักษาให้หายได้
วันอื่นเราไม่มีเวลาจะพูดกัน วันนี้เรามีเวลาที่จะพูดกัน แต่เราก็ได้จัดให้พูดกันอย่างที่เรียกว่าดีที่สุดที่จะจัดได้ คือพูดกันในวันที่เป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ พูดกันในสถานที่อันเงียบสงัด ตามวิธีที่พระอริยเจ้าท่านพูดกัน เราจะพูดกันด้วยจิตด้วยใจทั้งหมดทั้งสิ้น ในโอกาสที่สงบสงัดก็จะฟังได้ลึกซึ้งถึงจิตถึงใจ แล้วจะได้พิจารณาดูให้ลึกซึ้งจนมองเห็น จนเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหา เป็นการกล่าวได้ว่าการทำมาฆบูชาของเรานี้ สำเร็จประโยชน์อยู่ไม่น้อยทีเดียว ไม่ใช่กระทำอย่างละเมอเพ้อฝัน สรวลเสเฮฮากันครั้งหนึ่งแล้วก็กลับไปนอน แต่ว่าได้กระทำไปในลักษณะที่จะให้เกิดความละอาย ให้เกิดหิริ ความละอาย ให้เกิดโอตตัปปะคือความกลัว กลัวต่อความผิด ความชั่ว ความบาปที่ได้ผ่านมาแล้ว ที่ได้สร้างสมขึ้นไว้มากมายจนเคยชิน ทำให้กลายเป็นคนบ้าอยู่แทบจะไม่มีเวลาสร่าง นี่แหละขอให้สนใจในเรื่องนี้ให้มากคือเรื่องหิริ ความละอาย โอตตัปปะ ความเกรงกลัว ถ้าไม่มีของสองอย่างนี้แล้วไม่มีทางที่จะปฏิบัติอะไรได้ ศีลก็มีไม่ได้ ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะ สมาธิก็มีไม่ได้เพราะไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัวแล้ว ก็มันก็ฟุ้งซ่านแสนจะฟุ้งซ่านๆ ไม่มีที่สุดแล้วมันจะเป็นสมาธิได้อย่างไรกัน และการที่ไม่มีหิริ และโอตตัปปะนั้น มันแสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นคนโง่ คนโง่จะมีปัญญาได้อย่างไรกัน มันจึงไม่มีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา เพราะเหตุว่าไม่มีหิริและโอตตัปปะนั่นเอง อย่าได้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเลย มันเป็นเรื่องทั้งหมดของพุทธบริษัทเรา ที่จะเอาตัวรอดได้หรือเอาตัวรอดไม่ได้ ก็เพราะเหตุนี้ อย่าได้มองข้ามหญ้าปากคอกนี้ไปเสีย เราก็มักจะท่องบ่นกันอยู่ว่าหิริโอตตัปปะสัมปันนา ทุกคราวที่สวดมนต์ สุกกะธัมมะสะมาหิตา นี้ก็แสดงอยู่แล้วว่ามันเป็นการกระทำที่เป็นไปในฝ่ายดีหรือฝ่ายขาว เพราะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ ถ้าปราศจากเสียซึ่งหิริและโอตตัปปะแล้ว มันจะต้องเป็นไปในฝ่ายดำ เราจะต้องละฝ่ายดำให้เป็นไปในทางฝ่ายขาว และเมื่อขาวถึงที่สุดแล้วมันก็อยู่เหนือดำหรือเหนือขาว นั่นแหละจึงจะหายบ้า เข้าไปอยู่ความเป็นอันเดียวกัน เข้าไปสู่ความเป็นอันเดียวกันกับพระอรหันต์ทั้งหลาย จงได้สนใจในเรื่องนี้กันให้มากเถิด จะได้ละเสียซึ่งความดำแล้วไปสู่ความขาว แล้วก็ขึ้นเหนือความดำความขาวโดยประการทั้งปวง สมตามพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้เป็นโอวาทปาติโมกข์ คือเป็นประธานแห่งพระพุทธวจนะทั้งหลายว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ไม่ทำบาปคือความดำ กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำกุศลคือความขาวให้ถึงพร้อม สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ชำระจิตให้หมดจดสะอาดเสียจากความดำความขาวโดยประการทั้งปวง อยู่เหนือความเป็นดำหรือเป็นขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งความดำและความขาวด้วยเหตุนี้ นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ เป็นประธานแห่งคำสอนทั้งหมดทั้งสิ้น ที่จะช่วยเราให้พ้นจากความเป็นคนบ้า ไม่ต้องมีอาการแห่งความเป็นคนบ้า ไม่บ้าทั้งในทางดำ ไม่บ้าทั้งในทางขาว อยู่เหนือความดำความขาว เป็นความว่างจากตัวกู ว่างจากของกู ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นบ้าที่ตรงไหน ความบ้านั้นมันตั้งรากฐานอยู่บนตัวกู บนของกู ถ้าหมดตัวกู หมดของกูเสียแล้ว ความบ้าก็ไม่มีที่ตั้งที่อาศัย มันจึงเกิดขึ้นมาไม่ได้ จึงไม่มีคนบ้าในโลกนี้ จึงไม่มีคนบ้าเพราะว่าอยู่เหนือโลกนี้ ถ้ามีโลก มีตัวกูของกูแล้ว ก็ต้องมีความบ้า และมีคนบ้าอยู่ตลอดกาลไม่มีวันสร่างวันซา เราจงอาศัยพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้เป็นประธานแห่งคำสอนทั้งหลาย ให้เคร่งครัดด้วยกันทุกคน เคร่งครัดอย่างที่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นก็ได้ แต่ว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยปัญญา ด้วยวิชชา ด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งอย่างนี้เขาไม่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น แต่เขาเรียกว่าทำจริง เป็นการตั้งใจจริง เป็นการอธิษฐานจิต ปักใจมั่นเพื่อกระทำจริง ในการที่จะละเสียซึ่งบาป อกุศลทั้งปวง แล้วทำบุญ คือกุศลให้ถึงพร้อม แล้วก็ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจด อยู่เหนือการเกี่ยวข้องในสิ่งทั้งสองนั้น ซึ่งจะนำไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด บาปก็นำไปให้เกิดชั่ว บุญก็นำไปให้เกิดดี ถ้าไม่ต้องการเกิดแล้ว จงละเสียซึ่งบาปและบุญทั้งสองอย่างนั้น ก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เกิดทีไรเป็นบ้าทุกที เกิดทีไรเป็นบ้าทุกที ไม่มีเกิดเท่านั้นจึงจะไม่เป็นคนบ้า
หวังว่าทุกคนจะได้สนใจในเรื่องโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นคำตรัสถึงหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสในท่ามกลางที่ประชุมแห่งพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปนั้น ดังที่เราทราบกันอยู่แล้วเป็นอย่างดี คิดดูเถิดว่า พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสอะไรลงไปในที่ประชุมของพระอรหันต์นี้ ท่านต้องคัดเลือกถึงที่สุดแล้ว ให้มันเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะมาตรัสมากล่าวแก่พระอรหันต์ที่ประชุมกันอยู่ตั้ง ๑,๒๕๐ รูปนั้นเป็นแน่นอน ดังนั้นเราจงอย่าได้ประมาทเลย ที่จะได้พิจารณาถึงคำสอนซึ่งเรียกว่าโอวาทปาติโมกข์นั้น แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติในทางละให้เต็มที่ พยายามประพฤติปฏิบัติในทางเจริญ ทำให้เกิดขึ้นให้เต็มที่ แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติในทางที่จะไถ่ถอนตนออกมาเสียจากการเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นที่ตั้งของความทุกข์ ซึ่งเป็นการพันพัวอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิดนั้น อย่าได้มีการเกิดอีกเลย อย่าได้มีการเกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นมาอีกเลย ก็จะพ้นไปจากการเวียนว่ายอยู่ในวัฎสงสาร ซึ่งมีอาการเหมือนคนบ้า มากมายหลายแบบ หลายอย่าง หลายสิบอย่าง ไม่มีที่สิ้นสุด การที่หยุดเสียได้ จะดับเสียได้ จะสงบเสียได้นั้นก็เพราะการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น
ดังนั้น ขอให้ทุกคนภาวนาไว้ประจำจิตประจำใจว่า ในโลกมีแต่คนบ้า เราอย่าเข้าไปอยู่ในโลกนั้นเลย เราจะได้ไม่เป็นบ้ากับเขา เราจงออกมาเสียนอกโลก คืออย่ามีความยึดมั่นถือมั่นที่ปรุงแต่งอะไรให้เป็นตัวกูของกูขึ้นมา เรื่องนี้มันพูดได้ง่าย แต่ว่าการกระทำนั้นมันยากอยู่ เพราะฉะนั้นแหละพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด ความไม่ประมาทนั้นเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด เพราะว่าเราตกจมอยู่ในโลกนี้ก็เพราะความประมาท สิ่งที่จะช่วยได้หรือจะแก้กันได้ก็คือ สิ่งที่ตรงกันข้าม สิ่งที่ตรงกันข้ามก็คือ ความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนี้ คือความมีสติ ไม่เผลอสติ ไม่เผลอสติให้จิตไปปรุงแต่งเป็นกิเลส ตัณหาอุปาทานขึ้นมา ไม่เผลอสติให้เกิดตัวกูของกูขึ้นมาในจิต นี้เรียกว่าความไม่ประมาท ขอให้มองเห็นความไม่ประมาทในลักษณะอย่างนี้ อย่าเป็นเพียงความรู้สึกผิวๆ เผินๆ เรื่องความสะเพร่า อวดดีเล็กๆ น้อยๆ นั่นเลย ขึ้นชื่อว่าความประมาทแล้ว มันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องทั้งหมดที่จะนำไปสู่ความทุกข์ แต่เรื่องความไม่ประมาทนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องทั้งหมดที่จะดับเสียซึ่งความทุกข์ ที่จะป้องกันเสียซึ่งความทุกข์ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้เผลอสติไปปรุงแต่ง เป็นตัณหาอุปาทาน ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง ถ้าทำได้อย่างนี้เราก็ได้รับประโยชน์ถึงที่สุดแล้วในการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา และเดินตามรอยของพระอรหันต์ทั้งหลาย ออกไปเสียจากโลกนี้ได้ อยู่เหนือโลกแล้วก็ไม่ต้องเป็นคนบ้าอีกต่อไป คนบ้ามีอยู่แต่ในโลก ออกไปเสียจากโลกได้มันก็หมดปัญหา โลกนี้ไม่ใช่ใครสร้างขึ้นมา คนบ้านั่นแหละสร้างขึ้นมาเอง คนบ้านั้นคือจิตที่เผลอสติ ปล่อยให้ตัณหาอุปาทานเกิดขึ้น นั้นเป็นคนบ้า คนบ้าก็สร้างโลกตัวกูของกูขึ้นมา สำหรับจะได้เป็นคนบ้าอยู่ในโลกนั้น นี้เรียกว่าอะไรๆ มันสำเร็จอยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่น หรือความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง มีความยึดมั่นถือมั่นเมื่อใดมันก็สร้างโลกขึ้นมา สร้างความทุกข์ขึ้นมา เขาก็ได้กลายเป็นคนบ้าไป ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่น มีความปล่อยวาง ไม่มีตัวกู ไม่มีของกูแล้ว มันก็ไม่สร้างอะไรขึ้นมา ก็มีแต่ความดับเย็น เป็นพระนิพพานอยู่ตลอดกาล เรื่องมันก็มีเท่านี้
เมื่อเราเลือกเอาที่จะเป็นฝักฝ่ายของพระอรหันต์ ก็หมายความว่า เลือกเอาในทางที่จะไม่สร้างอะไรขึ้นมาให้เป็นกิเลสตัณหา ให้เป็นตัวกู หรือของกู แต่จะให้มีจิตใจว่างอยู่จากตัณหาอุปาทาน ให้จิตใจมีความสะอาด มีความสว่าง มีความสงบ เป็นจิตใจที่สามารถจะทำอะไรได้ดีที่สุด ประกอบการงานที่ควรจะทำให้ได้ดีที่สุด ทำประโยชน์ตนได้ดีที่สุด ทำประโยชน์ผู้อื่นได้ดีที่สุด เรื่อยๆ ไปเป็นลำดับๆ ไปจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งการงาน คือดับทุกข์ได้แล้วไม่มีอะไรจะต้องทำอีกต่อไป แม้จะมีงานประจำที่จะต้องประพฤติกระทำต่อสังขารร่างกายนี้ อย่างนี้เขาก็ไม่เรียกว่าการงาน การหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนี้ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ยังทำได้ นกกระจิบนกกระจอกตัวเล็กๆ ไม่มีความเก่งกล้าสามารถอะไร มันก็ยังไม่อดตาย ดังนั้นอย่าได้เป็นห่วงในเรื่องไม่มีอะไรจะกิน แต่จงเป็นห่วงในเรื่องที่จะเป็นคนบ้าขึ้นมาเมื่อไรโดยไม่รู้สึกตัวนั้นให้มากกว่า จะไม่สนใจในสิ่งที่เรียกว่า พระธรรม หรือ พระศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดเสียซึ่งความทุกข์ทั้งมวล การที่เรามีอะไรกิน มีอะไรใช้ มีอะไร ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย แต่เป็นคนบ้า นี้จะมีประโยชน์อะไร สู้เป็นคนไม่บ้า แต่ไม่ค่อยจะมีอะไรจะกินจะใช้นั้นยังจะดีกว่า นี้เห็นได้ว่าเรื่องธรรมะในทางจิตทางใจนั้น สำคัญกว่าเรื่องปากเรื่องท้อง เพราะว่าเราเกิดมานี้เพื่อได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เรื่องปากเรื่องท้องนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายก็กระทำเป็น สัตว์ทั้งหลายก็หากินเป็นไม่มีใครอดตาย แต่ว่าสัตว์ทั้งหลายไม่สามารถจะมีสติปัญญาที่จะเดินตามรอยของพระอรหันต์ ไปสู่ความเป็นผู้อยู่เหนือโลก ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้คิดนึกข้อนี้ให้มากด้วยคำๆ เดียวที่สรุปไว้ให้สั้นที่สุดแล้วว่า ในโลกนี้มีแต่คนบ้า จงรีบพยายามขวนขวายยกตน ถอนตนออกไปเสียจากโลกนี้เถิด ก็จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา และได้มานั่งทำมาฆบูชากันที่นี่ในวันนี้ ในลักษณะอย่างนี้ แล้วจงสงบอก สงบใจพิจารณาให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าจะหมดเวลา
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาในระยะหนึ่ง ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้.