แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาธรรมเทศนาโอวาทปาฏิโมกขกถา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนานี้เนื่องในมาฆบูชา กล่าวคือการบูชาที่กระทำเพื่อเป็นที่ระลึกแก่เหตุการณ์อันสำคัญในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า พระอรหันต์ประชุมกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา วันเช่นวันนี้ ได้มีมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ในปีที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว แผ่พระพุทธศาสนา มีผู้เลื่อมใสศรัทธารับเอาพระพุทธศาสนาเป็นธรรมะของตนแล้วมาบวชในพระพุทธศาสนา มีผู้ประสบความสำเร็จถึงที่สุดที่เรียกว่า เป็นพระอรหันต์ขึ้นจำนวนหนึ่ง ข้อที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ โดยใจความสำคัญแล้ว ย่อมหมายถึงการที่พระพุทธองค์ ทรงประดิษฐานธรรมะลงในหมู่สงฆ์ซึ่งตั้งมั่นคงเป็นอันดี มีพระอรหันต์จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ดังที่กล่าวนั้น เป็นการเหมือนกับประทับตรามั่นลงไปว่า ภิกษุสงฆ์ตั้งมั่นด้วยดีแล้ว และหลักธรรมะนั้นได้ประกาศลงไปแล้วอย่างกว้างขวาง คือ รวมความทั้งหมดในพระพุทธวจนะ ไว้เป็นหลักสำหรับประพฤติปฏิบัติกันสืบไป ให้ทุกคนถือเอาหลักเกณฑ์อันนี้ เป็นหลักสำหรับศึกษา สำหรับปฏิบัติ ให้ได้ผลของการปฏิบัติ แล้วสั่งสอนกันสืบไป อย่าให้รู้จักสิ้นจักสุดได้ ตลอดเวลาที่การศึกษาและการปฏิบัตินี้ยังอยู่ ก็ยังชื่อว่า มนุษย์หรือโลกนี้ยังมีที่พึ่ง เพราะสิ่งที่เรียกว่าพระธรรมนั้นจะยังอยู่ และหมู่บุคคลผู้ที่จะช่วยกันสืบอายุพระศาสนาก็ยังอยู่ รวมความแล้วก็คือว่า พระธรรมวินัยที่เป็นองค์พระศาสดาก็ยังอยู่ พระธรรมวินัยที่เป็นตัวพระศาสนาก็ยังอยู่ พระธรรมวินัยที่เป็นการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ หรือหมู่สงฆ์ที่เต็มไปด้วยธรรมวินัยนี้ก็ยังอยู่ จึงกล่าวได้ว่าพระธรรมนั้นยังอยู่สำหรับเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย
ทีนี้จะได้พิจารณากันดูถึงข้อที่ว่า วันมาฆบูชานี้เป็นวันสำคัญอย่างไรในแง่ของพระธรรม พิจารณาดูแล้วยุติกันได้ว่า วันมาฆบูชาเป็นวันสำหรับพระอรหันต์ คือคณะสงฆ์ซึ่งบริสุทธิ์ วันวิสาขบูชาเป็นวันเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ส่วนวันอาสาฬหบูชาก่อนหน้าวันเข้าพรรษาอีกวันหนึ่งนั้น เป็นวันของพระธรรม เพราะว่าได้ทรงเปิดเผยพระธรรม คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นต้นในวันนั้น เพียงแต่ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็กล่าวได้ว่า เป็นธรรม หรือเป็นพระธรรม ซึ่งเป็นตัวแท้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพราะได้กล่าวด้วยเรื่องอริยสัจ และอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เราจึงได้วัน ๓ วัน เป็นวันสำคัญ คือวันพระพุทธเจ้า วันพระธรรม และวันพระสงฆ์ และพระสงฆ์ในที่นี้ก็หมายถึงพระอริยสงฆ์ซึ่งมีพระอรหันต์เป็นสุดยอด บัดนี้วันมาฆบูชาได้เวียนมาถึงเข้าอีกแล้ว เราจะต้องทำในใจให้เป็นพิเศษ ให้ตรงตามความมุ่งหมายของวันนี้ คือวันที่จะทำการบูชาเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ดังกล่าวแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่เราจะต้องระลึกนึกกันให้มากก็คือความเป็นพระอรหันต์ หรือธรรมที่ทำความเป็นพระอรหันต์ อยู่ในจิตใจของเราจนตลอดเวลา ที่จะกระทำมาฆบูชาในวันนี้ เพราะฉะนั้นจึงขอร้องให้ท่านทั้งหลายทุกคนตั้งใจฟังให้ดี กระทำในใจให้ดี ให้แยบคาย ให้ละเอียด ให้ประณีตสุขุม เพื่อว่าจะได้เข้าใจในคุณธรรมของพระอรหันต์ ให้เป็นผู้รู้ประจักษ์ชัดอยู่ซึ่งคุณธรรมของพระอรหันต์ แล้วกระทำการบูชา มีการเวียนประทักษิณ เป็นต้น เมื่อทำได้อยู่อย่างนี้ การกระทำบูชาของเราก็จะเป็นจริง จะเป็นการได้กระทำที่ดี มีประโยชน์ถึงที่สุด การกระทำที่กระทำไปอย่างเอิกเกริกเฮฮานั้น เป็นการกระทำที่หยาบ เป็นการกระทำที่ตื้น ที่ไม่ลึกซึ้ง ทำแต่พอเป็นพิธี อย่างนี้ไม่สามารถจะมีจิตใจที่หยั่งลงในธรรม ลึกซึ้งถึงธรรมได้ เคยกระทำกันอย่างนั้นมามากแล้วก็ตาม หรือว่าในที่อื่นจำเป็นจะต้องกระทำอย่างนั้นก็ตาม แต่ว่าในที่นี้และเวลานี้เราจะตั้งอกตั้งใจพยายามกระทำให้สุดความสามารถ ในทางที่จะมีความเข้าใจแจ่มแจ้งลึกซึ้ง มีจิตใจซึมซาบเอิบอาบอยู่ด้วยรสแห่งพระธรรม ที่เป็นเครื่องทำความเป็นพระอรหันต์ให้แก่บุคคล ผู้มีความหนักแน่นในพระพุทธศาสนา จึงขอร้องให้ท่านทั้งหลายทุกคน พยายามปรับปรุงจิตใจของตน ๆ ให้เป็นไปในลักษณะนี้ ขอให้ทุกคนส่งใจไปตามคำพูดที่กล่าวนี้เป็นลำดับ ๆ ไป ว่าจะต้องตั้งอกตั้งใจอุทิศทุกอย่างทุกประการ เพื่อบูชาคุณของพระอรหันต์ เพราะว่าคำว่าพระอรหันต์นั้น ถ้าเล็งถึงบุคคลก็เป็นบุคคลผู้ถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งด้วยเหมือนกัน หากแต่ว่าเป็นพระอรหันต์องค์แรก คือเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองแต่ลักษณะของความเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างเดียวกันหมด คือเป็นผู้ดับกิเลสและดับความทุกข์ได้สิ้นเชิง ไม่มีส่วนเหลือ นับว่าเป็นผู้ถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์ นี้เล็งถึงตัวบุคคล แต่ถ้าเราจะเล็งถึงตัวธรรมความเป็นพระอรหันต์นั้นก็คือ ความเป็นที่ประเสริฐสุดที่มนุษย์จะพึงได้พึงถึง เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าสิ่งนี้ เกิดมาทั้งทีถ้าจะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดก็ต้องได้สิ่งนี้ ไม่ใช่เกิดมากิน มาเล่นเหมือนกับความรู้สึกของเด็ก ๆ หรือคนที่ยังมีความรู้สึกเหมือนเด็ก ๆ หรือต่ำไปกว่านั้นก็เหมือนกับความรู้สึกของสัตว์เดรัจฉาน รู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักขี้ขลาด รู้จักสืบพันธุ์ เรื่องก็มีเท่านั้น นี้ยังต่ำเกินไป แต่ว่าการที่รู้จักแต่เพียงความสุขสนุกสนาน นั้นก็ยังไม่ใช่สูงอะไร จะต้องรู้ถึงสิ่งที่สูงไปกว่านั้นในทางจิตทางใจ ซึ่งเราเรียกกันในที่นี้ว่า ความเป็นพระอรหันต์ ความเป็นพระอรหันต์มีความสำคัญอยู่ตรงที่ไม่มีความทุกข์ แต่ว่าถ้าจะขยายออกไปอีกก็ยังมีคือ ความน่าเลื่อมใส น่าบูชา ความงดงาม อย่างนี้เป็นต้น ตลอดถึงความสะอาด ความสว่าง และความสงบเย็น ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เรียกได้ว่าเป็นความงดงาม คนธรรมดามีความงดงามอยู่ที่เรื่องแต่งเนื้อแต่งตัว เพราะความรู้สึก รู้สึกกันแต่เพียงเท่านั้น รู้สึกว่างามตามที่ฝ่ายโน้นต้องการ คือฝ่ายเพศตรงกันข้ามต้องการ แล้วก็เหมาเอาว่างามอยู่ที่นั่น หรือเพียงเท่านั้น หรืออย่างนั้นและก็สูงสุดเพียงเท่านั้น จึงเป็นเรื่องของคนโง่ คนหลง คนที่ยังไม่รู้ตามที่เป็นจริง จึงต้องมีความทุกข์หลายอย่างหลายประการไปตามนั้น ส่วนสิ่งที่เรียกว่าความงามในพระพุทธศาสนานั้น เป็นอีกอย่างหนึ่งคือเป็นอย่างอื่นพระพุทธเจ้าตรัสว่า พรหมจรรย์นี้มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ทีนี้เราเข้าใจกันว่า ความงดงามของพระธรรมคำสอน นี้งามในเบื้องต้น ความงดงามของการประพฤติปฏิบัติ นี้เป็นความงามในท่ามกลาง ความงดงามของผลที่ได้รับคือมรรคผลนิพพาน นี้เป็นความงามในที่สุด ลองพิจารณาดูเถิดว่าในความงามทั้ง ๓ อย่างนี้ มันเป็นอย่างไรบ้าง ในเมื่อมาเทียบกันกับความงามทางการประดับประดาตกแต่งเหมือนที่เขาเรียกกันว่างาม ความงามอย่างของชาวบ้าน อาศัยกิเลสเป็นสมมติฐาน เป็นเหตุให้รู้สึกว่างาม แต่ความงามของพระอริยเจ้านั้น มีปัญญา มีวิชชาเป็นสมมติฐาน ทำให้รู้สึกว่างาม เพราะฉะนั้นมันจึงแตกต่างกัน อย่างตรงกันข้ามเป็นธรรมดา ผู้ที่จะรู้จักความงามของพรหมจรรย์ในเบื้องต้นกล่าวคือ พระธรรมคำสอนเป็นของงามนั้น ต้องมีจิตใจสูง พอที่จะเห็นได้ว่าพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ประเสริฐอย่างไร มีความไพเราะอย่างไร ลึกซึ้งอย่างไร มีความจริงอย่างไร เป็นที่น่าอัศจรรย์เพียงไร ผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมคำสอนแล้ว จะรู้สึกจับอกจับใจ มีความพอใจอย่างยิ่งในพระธรรมนั้น นั่นก็เป็นความรู้สึกที่หลงใหลไปในความงามอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน แม้ว่าจะเป็นความงามคนละอย่างต่างกัน คำสอนของพระพุทธองค์มีความงาม นี้เข้าใจได้ยากสำหรับคนทั่วไป เว้นไว้แต่จะได้ไว้ศึกษาให้เพียงพอ ก็จะรู้สึกว่า มีรสที่ประเสริฐ มีความไพเราะที่ประเสริฐ มีอะไร ๆ ที่ลึกซึ้งเหลือที่จะพรรณนาได้ อย่างนี้จึงจะมีความรู้สึกว่าพระปริยัติธรรมนี้ มีความงาม ส่วนผู้ที่จะรู้จักความงามของการปฏิบัตินั้น ยิ่งยากขึ้นไปอีก ถ้าไม่เคยปฏิบัติแล้ว จะไม่รู้จักความงามของการปฏิบัติกระทำนั้นเลย ยิ่งมีการปฏิบัติผิด ๆ ด้วยความโง่หลงงมงายแล้ว ก็ยิ่งไม่รู้จักความงามของพระธรรมในส่วนการปฏิบัตินี้ด้วยเพราะว่าความงามชนิดนี้ มีความหมายไปอีกแบบหนึ่ง คือเป็นความงามตามแบบของผู้มีปัญญาลึกซึ้งเท่านั้น การที่บุคคลปฏิบัติศีล ปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติปัญญา อยู่เป็นประจำจะรู้สึกว่านี้เป็นความงามนี้ ยากมาก เพราะว่า เมื่อปฏิบัติศีลก็รู้สึกลำบาก เมื่อปฏิบัติสมาธิก็รู้สึกลำบาก ปฏิบัติวิปัสสนาก็รู้สึกลำบาก ดูมันช่างยุ่งยากลำบากไปเสียทุกอย่างทุกประการ แล้วจะมีความงามได้อย่างไร นี่แหละเป็นข้อที่ชี้ให้เห็นว่า ความงามของพระธรรมนี้ ยังอยู่ลึกซึ้งมาก ต่อเมื่อได้พยายามปฏิบัติไป กระทำไป จนประสบความสำเร็จแม้ในบางขั้นบางตอน ก็จะรู้จักความน่าอัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่าพระธรรมนั้น เช่นคนมีศีลได้จริง รู้สึกพอใจตัวเอง นับถือตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ นี้เราจะเห็นความงามของศีล ของสิ่งที่เรียกว่าศีล โดยไม่ต้องมีใครมาบอกเรา ไม่ต้องมีใครมาเกี่ยวข้องด้วย เราก็มองเห็นความงามของศีลที่มีอยู่ที่ตัวเรา ตัวเราก็พลอยงามไปด้วย จึงยกมือไหว้ตัวเองได้ หรือมองอีกทางหนึ่ง เมื่อคนอื่นเขามองเห็นคนที่มีศีล เป็นคนสุภาพเรียบร้อยปราศจากโรคที่ควรตำหนิแต่ประการใดแล้ว เขาก็ต้องรู้สึกว่าคนนั้นเป็นคนงาม จึงยกมือไหว้คนนั้นได้ แม้นี้ก็เป็นความงามของสิ่งที่เรียกว่าศีลด้วยเหมือนกัน ที่นี้มาถึงเรื่องสมาธิจะมีความงามอย่างไร คนนั้นต้องรู้จักของตัวเองก่อน คนที่มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่เคยมีจิตเป็นสมาธินั้น ย่อมไม่รู้จักสมาธิเลย ดังนั้นจึงไม่รู้จักความงามของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ เพราะเหตุฉะนี้แหละผู้ที่รู้จักความงามของสมาธิ จะต้องพยายามให้มีจิตเป็นสมาธิแม้ในระดับใดระดับหนึ่งเสียก่อน หรือถ้าว่าไม่มีความรู้ความสามารถอะไรให้มากมาย ก็จงพิจารณาดูเถิดว่า ในขณะใดเรารู้สึกว่ามีจิตใจผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์ กำลังสบายอกสบายใจ นั่นแหละคือความเป็นสมาธิ แล้วมันมีความงดงามหรือไม่ ลองคิดดู เมื่อจิตใจหม่นหมอง โกรธคนนั้น เกลียดคนนี้ กลัวสิ่งโน้น อึดอัดขัดใจอยู่อย่างนี้ มันงามหรือไม่งาม ขอให้ลองคิดดู ถ้าจิตใจไม่เป็นอย่างนั้น มีความสะอาดดี ตั้งมั่นดี คล่องแคล่วอ่อนไหวดี อย่างนี้มันเป็นอย่างไร มีความรู้สึกพอใจในจิตใจของตัวเองแล้ว นี่ก็เรียกว่าความงามของจิตที่เป็นสมาธิ คนจึงพอใจในสมาธิได้ทันทีที่ตนมีสมาธิ สำหรับความงามของปัญญานั้น ยิ่งลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก เพราะว่ามันเป็นความงามที่จะรู้จักได้ แต่บุคคลผู้ที่มีปัญญาสมชื่อของมันทีเดียว มีชื่อว่าปัญญาหมายถึงความรอบรู้ ผู้ที่รอบรู้แล้วเท่านั้นจึงจะรู้ว่ามันมีความงามอะไรที่ไหนในความรู้นั้น ๆ ที่เราสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ มีผู้ที่หลงใหลในวิชาความรู้ก็มีอยู่มาก นั่นแหละคือเสน่ห์หรือความงามของสิ่งที่เรียกว่าความรู้ ทั้งที่ความรู้ชนิดนั้นยังไม่ดีวิเศษอะไร ยังเป็นความรู้ชนิดที่ให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารด้วยซ้ำไป คนก็ยังหลงใหลในความรู้นั้น ทีนี้ถ้าหากว่าเป็นความรู้ที่แท้จริง ที่สามารถทำบุคคลให้สะอาด สว่าง สงบได้ ที่สามารถทำให้บุคคลดับกิเลสและดับทุกข์ได้จริงแล้ว มันจะมีความงามสักเท่าไร แล้วคนต้องมีปัญญาสักเท่าไรจึงจะมองเห็นความงามอันนี้ นี่แหละคือความงามของสิ่งที่เรียกว่า ปัญญา เมื่อรวมความงามของศีลสมาธิ ปัญญาเข้าด้วยกันเป็น ๓ อย่าง นี้เรียกว่าความงามของ พระธรรมในส่วนที่เป็นการปฏิบัติ สูงไปกว่าความงามของพระธรรมในส่วนที่เป็นเพียงคำสั่งสอน
ทีนี้เราพิจารณาดูต่อไปถึงความงามของพระธรรม ที่เป็นผลของการปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า ปฏิเวธธรรม ได้แก่การบรรลุมรรคผลนิพพาน ๓ ประการนี้ มีความงามสักเท่าไร ฟังแต่ชื่อก็พอจะเข้าใจได้อยู่แล้วว่ามีความงามสักเท่าไร มรรคผลนิพพาน ๓ อย่างนี้ แม้ว่าคนทั่วไปจะยังไม่เคยบรรลุ แต่ก็พอรู้สึกได้ด้วยความรู้สึกอันประหลาดอย่างหนึ่งว่า เป็นสิ่งที่สูงสุด น่าบูชา น่าเลื่อมใส น่าปรารถนา น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง จึงพอใจในสิ่งที่เรียกว่ามรรคผลนิพพานได้ทั้งที่ยังไม่เคยบรรลุ และบางทีก็เอาคำ ๓ คำนี้มาใช้ในเรื่องราวต่าง ๆ ของตน เช่นทำอะไรไม่เป็นมรรคเป็นผลนี้หมายความว่า ทำไม่สำเร็จ หากทำอะไรเป็นมรรคเป็นผลก็หมายความว่า สำเร็จได้ตามที่ตนต้องการ คำว่ามรรคผลอย่างนี้ไม่ใช่มรรคผลที่เป็นการดับกิเลสหรือตัดกิเลส ดับทุกข์ เป็นเพียงความสำเร็จตามที่ตนต้องการเท่านั้น คำว่ามรรคผลมีความขลังมีความศักดิ์สิทธิ์ถึงอย่างนี้เสียแล้ว สำหรับคำว่านิพพานนั้นก็เหมือนกัน ทุกคนต้องการนิพพาน ปรารถนานิพพาน แม้จะปรารถนาในความหวังหรือความฝัน ก็ปรารถนาไปเพราะความรู้สึกว่า เป็นสิ่งสูงสุดประเสริฐที่สุด ไม่มีอะไรจะดีไปกว่านี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักพระนิพพานจริง ๆ ก็รู้จักปรารถนากันถึงเพียงนี้ นี้เรียกว่าความงามของพระนิพพาน แม้แก่คนที่ยังไม่รู้ คนที่ยังโง่ ยังงมงายไม่รู้อะไร ก็ยังรู้สึกว่าพระนิพพานเป็นของงาม น่าจับอกจับใจเป็นแน่นอน ทีนี้สำหรับผู้ที่มีปัญญาปฏิบัติมาตามลำดับ แม้จะใช้ปัญญาพิจารณาอย่างเอาด้วยเหตุผลยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพานแต่ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญอยู่ ก็จะรู้จักความงามของมรรคผลนิพพานได้สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง นี้ถ้าเอาบุคคลประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือว่าบรรลุเพียงมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่งก็ตาม ย่อมได้รับรสของการบรรลุธรรมนั้น รู้สึกความงามในทางจิตใจคือความดับทุกข์สิ้นเชิงนั้น หรือความดับทุกข์แต่บางส่วนอย่างเด็ดขาด ไม่เวียนกลับมากำเริบอีกก็ดี อย่างนี้เรียกว่ารู้จักความงามของสิ่งที่เรียกว่ามรรคผล เพราะเหตุฉะนั้นแล้วจึงไม่มีการถอยกลับหลัง มีแต่การที่จะก้าวไปข้างหน้า เรียกว่าเป็นการไหลราดเอียงเทไปทางพระนิพพาน ไม่มีการไหลกลับ นี่ก็เป็นความงามอย่างหนึ่ง และในที่สุดเมื่อดับกิเลส ดับทุกข์ได้จริงแล้ว มีความสว่างสะอาดสงบถึงที่แล้ว ก็เป็นระดับสุดท้ายของความงาม ความสว่างนั้นงามเพราะตรงกันข้ามจากความมืด ความสะอาดนั้นงามเพราะตรงกันข้ามจากความสกปรก ส่วนความสงบนั้นงามเพราะว่าไม่วุ่นวาย ไม่โกลาหล ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่บุคคลใด นี้เรียกว่าเป็นความงามที่แท้จริง ที่ใคร ๆ ควรจะถือว่า สิ่งที่เรียกว่างามจริงต้องอยู่ที่ตรงนี้ ที่เรียกว่างามจริงนี้ หมายถึงดับทุกข์ได้จริงแล้ว ยังเป็นการเที่ยงแท้ถาวรตลอดกาลด้วย ความงามอย่างอื่นนั้นอาศัยกิเลสเข้ามาช่วย แล้วก็ยังเป็นการหลอกลวงเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ส่วนความงามในทางธรรมะนี้เป็นของจริงและถาวรเที่ยงแท้แน่นอน นี้เรียกว่าความงามของพระธรรมในส่วนที่เป็นผลของการปฏิบัติ ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูเถิดว่า ความงามของพระปริยัติธรรมก็ดี ความงามของปฏิปัตติธรรมก็ดี ความงามของปฏิเวธธรรมก็ดี เมื่อรวมกันเข้าทั้ง ๓ อย่างแล้วจะเป็นความงามมากมายสักเพียงไร สมกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พรหมจรรย์นี้มีความงามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และในที่สุด
ทีนี้บุคคลผู้ได้ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ที่เรียกกันว่าพระอรหันต์นั้น จะมีความงามสักเท่าไร พิจารณาดูได้จากหลักเกณฑ์ทั้ง ๓ อย่างดังที่กล่าวมาแล้ว นี่เรียกว่ามามองดูกันในแง่ของความงาม พระอรหันต์มีความงดงามอย่างไร และเพียงไร ขอให้พิจารณากันดูเถิด จะได้เป็นเครื่องช่วยให้มีความเชื่อความเลื่อมใส ในการที่จะทำมาฆบูชาเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ซึ่งจะได้กระทำกันต่อไป เรามองดูบุคคลผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ในฐานะเป็นยอดบุคคล เพราะว่าพระอรหันต์หมายถึงบุคคลผู้ถึงสุดยอดการศึกษา ของการปฏิบัติ ของการได้รับผลของการปฏิบัติ หรือว่าถึงสุดยอดของการเกิดมาเป็นมนุษย์นั่นเอง ในบรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ไม่มีอะไรสูงไปกว่ามนุษย์ มนุษย์เมื่อถึงยอดสุดของความเป็นมนุษย์ ก็คือถึงความเป็นพระอรหันต์ มนุษย์เช่นนี้ดีกว่าเทวดา ดีกว่าพรหมเพราะว่าพวกเทวดาหรือพวกพรหมก็ยังต้องนับถือบูชามนุษย์ที่เป็นพระอรหันต์ ความเป็นมนุษย์มีความดีที่สุดอยู่ที่ความเป็นพระอรหันต์ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้ แล้วก็ยกเอาความเป็นพระอรหันต์ ไปไว้เสียในลักษณะอื่นด้วยความไม่เข้าใจ จับความเป็นพระอรหันต์ไว้ในฐานะเป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธ์ เข้าใจไม่ได้ไปเสียก็มี หรือจัดไว้ในฐานะเป็นสิ่งเหลือวิสัยของมนุษย์ ไม่ต้องเอามาพูดถึงกันแล้วในเวลานี้ก็มี ถ้าอย่างนี้แล้วจะมาทำมาฆบูชาให้เหน็ดเหนื่อยไปทำไมกัน หรือว่าจะทำไปเพ้อ ๆ งมงายไปเท่านั้นเอง ถ้าจะทำให้สำเร็จประโยชน์ สมกับที่เป็นมนุษย์ที่มีสติปัญญาแล้ว จะต้องมีความเข้าใจในพระอรหันต์หรือในความเป็นพระอรหันต์ให้ถูกต้อง ให้รู้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องไปให้ถึง และไม่อยู่เหนือวิสัย เหนือวิสัย และไม่เหลือวิสัยที่มนุษย์จะพึงถึงได้ และไม่ใช่เป็นของลึกลับ เข้าใจไม่ได้เหมือนกับที่คนบางพวกเขาพูดกัน เป็นสิ่งที่จะเข้าใจได้โดยการเข้าใจไปตามลำดับ นับตั้งแต่ความเข้าใจในความทุกข์ของมนุษย์เอง แล้วรู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะต้นเหตุคืออะไร แล้วก็เข้าใจในการที่จะละต้นเหตุแห่งความทุกข์นั้นเสีย แล้วก็จะเข้าใจในลักษณะของการที่ไม่มีความทุกข์เลย เมื่อเข้าใจดังนี้ก็เป็นอันว่าเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า พระอรหัตถ์หรือพระอรหันต์ กล่าวคือความดับทุกข์ได้สิ้นเชิงและบุคคลผู้มีความดับทุกข์ชนิดนั้น จึงหวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนที่พร้อมแล้วที่จะทำมาฆบูชาในวันนี้ จงได้กระทำในใจไปตามถ้อยคำที่กล่าวนี้ทุก ๆ คำ มีจิตใจน้อมไปตามถ้อยคำเหล่านี้ เพื่อมีความเข้าใจในสิ่งที่เราเรียกกันว่า พระอรหัตถ์หรือพระอรหันต์ ความเป็นพระอรหันต์เราเรียกว่าความเป็นพระอรหัตถ์ บุคคลผู้เป็น ผู้มีความเป็นพระอรหัตถ์เราก็เรียกว่าพระอรหันต์ พระอรหันต์หมายถึงคน พระอรหัตถ์หมายถึงธรรม บุคคลผู้มีธรรมชนิดนี้เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ เรามาตั้งอกตั้งใจให้ดี เพื่อจะหยั่งเอาคุณอันนี้เข้ามาไว้ในใจของเราแม้แต่สักชั่วขณะหนึ่งก็ตามเถิด ยังจะเป็นการดีที่สุดที่ได้กระทำมาฆบูชาในวันนี้ เพราะฉะนั้นจงตั้งใจให้แน่วแน่ลงไปว่าในบัดนี้เราจะไม่มีอะไรอยู่ในจิตใจของเรา นอกจากความปล่อยวาง ความว่างจากสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นอยู่แต่กาลก่อน ให้เป็นจิตใจที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น แม้แต่ชั่วสักขณะหนึ่งก็ยังดี แล้วเราก็จะได้ประกอบพิธีมาฆบูชา มีการเวียนเทียนเป็นต้น ด้วยจิตใจชนิดนั้น มิฉะนั้นแล้วจะเป็นที่น่าอับอาย คือว่าเราเป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นอยู่ มากเกินไป แล้วจะมาทำการบูชาแก่บุคคลผู้ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นนั้นมันน่าหัว มันมีแต่จะถูกตะเพิดให้กลับออกไป เหมือนกับคนสกปรกเหม็นเน่าจะเข้ามาใกล้เรา เราไม่พอใจฉันใด พระอรหันต์ก็คงไม่พอใจ ไม่อยากจะเข้าใกล้คนที่สกปรกไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นฉันนั้น เพราะฉะนั้นจงกระทำจิตใจให้เป็นไปอย่างเดียวกันกับจิตใจของพระอรหันต์ คือหยุดความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ในโอกาสนี้ โดยพิจารณาเห็นอยู่ว่า มีความยึดมั่นถือมั่นเมื่อใด เป็นมีความทุกข์เมื่อนั้น มีความเศร้าหมองเมื่อนั้น มีความมืดมัวเมื่อนั้น โอกาสนี้ไม่มีอะไรมาทำให้มืดมัวเศร้าหมอง หรือยึดมั่นถือมั่น เพราะเรากำลังเพ่งเอาบุคคลผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นอารมณ์ และเรากำลังเพ่งเอาธรรมที่เป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นอารมณ์ อยู่ในใจ ตลอดเวลาที่นั่งกันอยู่ที่นี่ และจะเดินประทักษิณ แสดงออกมาซึ่งความเคารพ หรือการบูชาแด่บุคคลผู้สูงสุดเหล่านั้นทั้งมวล นี่คือการเตือนกันหรือการชักจูง ให้เตรียมตัว เตรียมเนื้อเตรียมตัว ทำจิตใจให้เหมาะสมที่จะทำพิธีมาฆบูชาต่อไป ตลอดเวลาวันนี้ เราจะทำในใจถึงพระอรหันต์ทั้งโดยบุคคล และทั้งโดยธรรม เป็นอารมณ์ นึกถึงอยู่ซึ่งภาวะที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ที่เราได้เคยประสบมาแล้วแต่กาลก่อน ว่ามีความยึดมั่นเมื่อใดมีความทุกข์เมื่อนั้น ไม่มีความยึดมั่นเมื่อใดไม่มีความทุกข์เมื่อนั้น เหมือนเรานั่งอยู่ที่นี่ กำลังไม่ได้ยึดมั่นอะไรก็ไม่มีความทุกข์ พอความคิดเผลอไป มีอะไรมากระทบทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น เรื่องในอดีตก็ดี ในอนาคตก็ดี มันก็มีความทุกข์ขึ้นมาทันที จงถือโอกาสปรับปรุงจิตใจในขณะนี้ ซึ่งธรรมชาติได้ช่วยแวดล้อมให้เป็นจิตใจที่ว่างโปร่งดี ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นนั้น เป็นบทเรียนสำหรับศึกษา สำหรับเข้าใจยิ่ง ๆ ขึ้นไปในเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่แหละคือผลดีของการที่เราอุตส่าห์ฝ่าความยากลำบากขึ้นมาทำมาฆบูชาที่นี่ซึ่งแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ หรือสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ ซึ่งทุก ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ชวนให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็จะกล่าวได้เหมือนกัน ว่ามันสอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นให้แก่เรา หรือว่ามันแสดงตัวอย่างแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นให้แก่เรา มันจึงไม่มีความทุกข์ มันจะมีชีวิตจิตใจรู้สึกคิดนึกได้หรือไม่นั้นเราอย่าไปนึกมันเลย ดูเอาแต่ภาวะที่ปรากฏอยู่ว่า มันไม่มีความทุกข์เพราะในจิตไม่มีความยึดมั่นถือมั่นหรือว่าไม่มีจิตที่จะยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันก็ไม่มีความทุกข์ได้ มันก็เหมือนกับไม่มีจิตไปด้วยเหมือนกัน มันจึงมีความสะอาด สว่าง สงบได้ โดยการที่ไม่มีจิต การที่มีจิตนี่แหละเป็นเรื่องสำคัญหรือเป็นปัญหาขึ้นมา ท่านทั้งหลายจงศึกษาให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า จิต ซึ่งเป็นต้นเหตุอันร้ายกาจของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นต้นเหตุของความรู้สึกคิดนึกทุกอย่าง แล้วก็เป็นที่ตั้งของอวิชชาที่จะเกิดขึ้นมาครอบงำจิต ทำให้เป็นจิตที่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็มีความทุกข์ ฉะนั้นอย่ามีความยึดมั่นถือมั่น จิตก็จะเท่ากับไม่มี ทุกอย่างเป็นความว่างไปหมด ความรู้สึกในเนื้อในตัวของเรา จึงไม่มีความทุกข์เพราะเหตุนั้น
มีข้อความที่กล่าวไว้ชัดแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้นคือความว่างอย่างยิ่ง หรือว่าไอ้ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละคือนิพพาน คำว่า ว่าง ในที่นี้มีความหมายลึกซึ้งมาก คือว่างจนทุกสิ่งหมดความหมายของมันเองกลายเป็นความว่างไปหมด รูปก็ว่าง นามก็ว่าง นิพพานก็ว่าง ไม่มีอะไรที่ไม่ว่าง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตนนี้ หมายความว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่างจากตัวตน เมื่อใดมีความรู้สึกอยู่อย่างนี้ ความหมายของคำว่าจิตก็หมดไป ความหมายของคำว่า รูป นามต่าง ๆ ก็หมดไป ไม่ต้องมีอะไรเป็นตัวเป็นตน มีความว่างถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เรียกว่าจิตนั่นเอง กลายเป็นความว่างจากกิเลส ว่างจากทุกข์ มีอะไรอยู่แต่ตามธรรมชาติอย่างหนึ่งเท่านั้น สำหรับที่จะไม่ทุกข์อีกต่อไป นี้เรียกว่าเรารู้จักดำรงจิตไว้ในลักษณะที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ เหมือนกับพระอรหันต์ท่านรู้จักดำรงจิตไว้ ในลักษณะที่อยู่เหนือโลก เหนือกิเลส เหนือความทุกข์ ซึ่งเรียกว่าเป็นโลกุตตระโดยแท้จริง แล้วเรียกว่า นิพพาน คือดับเย็นสนิท ไม่มีความร้อน สำหรับคำว่านิพพานนี้ อยากจะขอตักเตือนกันไว้เสมอ ๆ ว่าให้ระลึกนึกถึงความหมายที่สำคัญไว้ว่า เป็นความเย็น มีความเย็นก็เรียกว่านิพพานได้ทั้งนั้น ในครั้งโบราณโน้น เขาพูดกันถึงเรื่องความเย็น เขาพูด ก็คือพูดด้วยคำว่านิพพานนี้เอง ก่อนแต่มีพุทธศาสนา คนก็พูดถึงความเย็นคือนิพพานกันอยู่ก่อนแล้ว หมายถึงความเย็นของวัตถุ วัตถุที่ร้อน ๆ เช่นถ่านไฟแดง ๆ ร้อนอยู่ มันยังไม่นิพพาน พอมันเย็นลงดับสนิทเรียกว่ามันนิพพาน นี้เรียกว่ามนุษย์เราพูดคำว่า นิพพาน กันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลนานไกลทีเดียว ของอะไรก็ตามที่มันร้อน พอเย็นลงก็เรียกว่านิพพานทั้งนั้น แม้ที่ในครัวก็พูดคำว่า นิพพาน หมายถึงอาหารที่ร้อนยังกินไม่ได้ ก็ต้องรอให้นิพพาน ให้เย็นเสียก่อนจึงจะกินได้ นี้แสดงว่าคำนิพพาน คำว่า นิพพาน นี้เป็นคำพูดตามธรรมดาที่สุดแล้ว ก็หมายถึงเรื่องทางวัตถุสิ่งของ ทีนี้ต่อมามนุษย์จะใช้คำว่า นิพพาน นี้สูงขึ้นมาถึงสิ่งที่มีชีวิต เช่น สัตว์เดรัจฉาน ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข แมว เป็นต้น ถ้าสัตว์ตัวใด มีโทษร้าย มีพิษร้าย มีพยศร้าย เป็นอันตรายแก่คน ก็เรียกว่าสัตว์ตัวนั้นยังไม่นิพพาน สัตว์ตัวใดได้รับการฝึกฝนดี จนเป็นสัตว์ที่ไม่มีอันตราย ไม่มีพยศร้ายอีกต่อไปแล้ว ก็พูดว่า สัตว์ตัวนั้นนิพพาน ดังนี้ก็มีอยู่ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลด้วยเหมือนกัน ถ้าเราอาจจะเชื่อได้ว่ามนุษย์รู้จักทรมานสัตว์ให้หมดพยศร้ายมาได้แล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล
ทีนี้ต่อมาอีกก็สูงขึ้นมาจนถึงคน คนจะนิพพานได้อย่างไร จงอย่าลืมว่า คำว่า นิพพาน นี้หมายถึงเย็นอกเย็นใจ คนพอเกิดความต้องการที่จะเย็นในทางจิตใจขึ้นมาบ้าง คนครั้งแรกยังไม่มีความรู้อะไรนัก ก็เข้าใจไปว่า ถ้าได้อะไรอย่างอกอย่างใจไปเสียทุกอย่าง มันก็คงจะเย็นเป็นนิพพาน ฉะนั้นเขาจึงใช้คำว่า นิพพาน แก่การได้อย่างอกอย่างใจไปเสียทุกอย่าง ดังนั้นจึงมีอยู่สมัยหนึ่ง ซึ่งคนเหล่านั้นได้บัญญัติกามคุณหรือความสมบูรณ์ในทางกามารมณ์ว่าเป็น นิพพาน กันมายุคหนึ่ง ทอดหนึ่ง ต่อมา ถึงสมัยอื่น คนฉลาดขึ้นกว่านั้น รู้ว่าเรื่องกามารมณ์ยังเป็นของร้อนอย่างลึกซึ้ง จึงค้นหาความเย็นในทางอื่น ในที่สุดก็พบว่า การทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นสมาบัตินี้ เย็นจริง เย็นกว่าและเย็นจริง คนพวกนี้ในยุคนี้ จึงได้บัญญัติ สมาบัติหรือฌาน ที่มีความหยุดสงบแห่งจิตนั้นว่าเป็น พระนิพพาน ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในสูตร ในพระไตรปิฎก เช่นสามัญญผลสูตร เอ่อเช่นในพรหมชาลสูตรเป็นต้น ข้อนี้ย่อมแสดงว่า ความเข้าใจว่า ฌานหรือสมาธิเป็นนิพพานนี้ ต้องมีอยู่ในครั้งพุทธกาลด้วย แหละเราได้ฟังได้ยินกันอยู่แล้วว่า มีอาจารย์แห่งสำนักต่าง ๆ ที่สอนการปฏิบัติฌานสมาบัติ และถือว่าเป็นความดับทุกข์ถึงที่สุด จนกระทั่งพระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระสิทธัตถะก็ได้เที่ยวไปในสำนักเหล่านั้น ไปศึกษา อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาณ เป็นต้นในบางสำนัก โดยเข้าใจว่าเป็น นิพพาน คือความเย็นถึงที่สุด เมื่อได้ศึกษาจนจบสิ้นแล้ว ก็ยังไม่พอพระทัย คือรู้สึกว่ายังไม่ใช่ความเย็นถึงที่สุด จึงได้ถอนตัวออกมา ค้นหานิพพานของพระองค์เอง ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ รู้ว่าการดับเสียซึ่งกิเลสตัณหา ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด นั่นแหละเป็นนิพพาน พระองค์จึงได้ทรงสอนเรื่องพระนิพพาน ตามหลักของพระองค์เอง ปรากฏเป็นพระพุทธศาสนาสืบมาจนถึงทุกวันนี้ นิพพานของคน จึงขึ้นถึงที่สุด คือการดับทุกข์ดับกิเลสสิ้นเชิง เป็นของเย็นจริง ความเชื่อว่ากามคุณเป็นนิพพานก็หมดไป ความเชื่อว่าฌานสมาบัติเป็นนิพพานก็หมดไป มันมีความเชื่อที่ถูกต้องและสมบูรณ์ว่า การดับเสียซึ่งอุปาทานในเบญจขันธ์ นั้นต่างหากเป็นนิพพานดังนี้ ผู้ที่ดับเสียซึ่งเบญจขันธ์ของผู้ที่ดับเสียซึ่งอุปาทานในเบญจขันธ์นั้นก็คือพวกพระอรหันต์ทั้งหลายนั่นเอง
บัดนี้เรากำลังทำมาฆบูชา เพื่อจะสรรเสริญคุณของพระอรหันต์ ผู้ดับเสียซึ่งอุปาทานในเบญจขันธ์ กำลังจะบูชาคุณของท่านด้วยการเสียสละ วันนี้ วันหนึ่ง คืนหนึ่งนี้ ไม่เห็นแก่ความยากลำบาก เพื่อทำทุกอย่างเป็นที่ระลึกแก่พระคุณของพระอรหันต์ ให้ทานก็ดี รับศีลก็ดี ฟังเทศน์ก็ดี ทำการบูชาอย่างอื่นก็ดี ในวันนี้แล้ว ขอให้ถือว่าเป็นการบูชาแก่พระอรหันต์ เป็นการกระทำเพื่อเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ ขอให้ทุกคนตั้งใจอย่างนี้และกระทำอย่างนี้ด้วย จึงจะเป็นการทำมาฆบูชาที่ถูกต้องที่ดีที่สุด สมกับที่ได้ทนยากลำบากมาจนถึงที่นี่ และกระทำกันในวันนี้ด้วยกันจงทุก ๆ คนเถิด นี้เป็นการตักเตือน เป็นการชักชวน ให้ปรับปรุงตัวเอง ให้พร้อมที่จะทำมาฆบูชา ให้ดีเป็นพิเศษวันหนึ่งในปีหนึ่ง ด้วยกันจงทุกคน ให้คุณของพระอรหันต์ครอบงำใจของเราอยู่ แล้วกระทำการบูชานั้น ให้มีส่วนในความเป็นพระอรหันต์ของพระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในจิตใจของเราด้วย ก็จะไม่เสียทีที่กระทำการบูชาที่เรียกว่ามาฆบูชานี้เป็นแน่นอน และเราก็จะได้ฟังธรรมเทศนาเพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป หลังแต่การบูชานั้น โอกาสนี้จะได้ทำการบูชา ด้วยอามิสบูชา คือดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น แล้วจะกระทำการบูชาโดยทางวาจา คือกล่าวคำสรรเสริญคุณของพระอรหันต์ออกมา ดังนี้เป็นต้น หรือว่าจะกระทำด้วยทาง การเคลื่อนไหวทางร่างกาย มีการกราบไหว้ การเดินประทักษิณ ดังนี้เป็นต้น แล้วก็กระทำด้วยใจ คือมีจิตใจซึมซาบอยู่ในคุณของพระอรหันต์ ในขณะที่จุดธูปจุดเทียนก็ดี ก็มีจิตใจซึมซาบอยู่ในคุณของพระอรหันต์ ในขณะที่กราบบูชาก็ดี ก็มีจิตใจซึมซาบอยู่ในคุณของพระอรหันต์ ในขณะที่สวดร้องถึง พระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณก็ดี ก็มีจิตใจซึมซาบอยู่ในคุณของพระอรหันต์ และในขณะที่เดินเวียนประทักษิณ ๓ รอบนี้ก็ดี ก็มีจิตใจซึมซาบอยู่ในคุณของพระอรหันต์ เป็นอันว่าอะไร ๆ ในทุกอิริยาบถ มีความซึมซาบอยู่ในคุณของพระอรหันต์ด้วยกันทั้งนั้น ขอให้การกระทำนี้ จงเป็นไปด้วยดี สำเร็จด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยความไม่ประมาทของเราทั้งหลายทุก ๆ คนเถิด ธรรมเทศนาเป็น บุรพคถา สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ สาธุ 52.10
(ภาษาใต้) ทีนี้ ๗วัน ลองอย่าให้สบายเกิน ถืออุโบสถเสียบ้าง ไม่เคยถือก็ถือเสี่ยบ้าง ไอ้วันที่ถืออุโบสถ ถืออย่าให้มันสบายเกิน ให้พระธรรมเข้าโจก(53.00) มีจิตใจแบบให้พระธรรมเข้าโจก(53.04) ดังนักโว้ย บางคนก็ไม่เคยถือศีลอุโบสถ ควรพยายามถืออย่างดีแน่แหละ แต่แล้วมันน่าหัว แกว่าไอ้ ไอ้ถือศีลอุโบสถนี้มันเปลี่ยนแปลง มันไม่ได้ทำให้เคร่งครัด ถูกต้อง เหมือนกับอย่างก่อน ถืออุโบสถนอนเลยก็มี หึหึ มานอนวัดที่วัดนี้ เฮ็ดงานเหนื่อยๆ มานอนวัด แต่วันก็มี มันก็ไม่โทษกัน วันอุโบสถไม่ใช่วันสำหรับสนุกสนาน เล่นหัวไร ชาวบางกอกเขาจะนินทาให้ ชาวบางกอกถืออุโบสถกินเหล้า กินในวัดเลย กินในโรงธรรมเลย คนถืออุโบสถเข้าแถ(54.20)ไม่ได้ นิ่งอึ้งไปเลย แล้วอวดถือศีลอุโบสถ ไอ้เรื่องกินเหล้าถือว่าเล็กน้อย กินเล็กน้อย ไม่ใช่กินจนเมาแล้วขาดศีล ไม่ใช่ แต่ว่ากินขนาดอื่น หูแดงตาแดง แกจะมาคุณกับฉัน ฉันบอกว่าคุยด้วยไม่ได้ เหม็นนัก ทำบุญโรงธรรม วันวันอุโบสถ นี้บางวัด อย่าว่าเป็นวัดไหนเลย เดี๋ยวมันจะแรงไป แรงกว่าบ้านเรา ถ้าพูดถึงถือศีล แรงกว่าบ้านเรา เพราะไม่รู้ว่าทำอะไรงมงาย ไม่รู้ว่าถือทำไม วันอุโบสถถือ....น้ำเมา กินกันตามปกติ หรือว่าลดลงเล็กน้อย มันก็เลยไม่มี ไม่มีวันอุโบสถ กินแล้วพูดมาก ขี้พูด แกล้งว่ามาศึกษาอะไร มาถาม จะมาพูด จะมาพูดเอง ไม่ใช่มาฟังอะไร แต่ว่าทำว่ามาขอศึกษา แสดงตัวว่าเป็นผู้รักการศึกษา แต่ที่จริง มันจะมาชิงพูด มาแย่งพูด มาพูดเสียเอง พูดพล่ามไปหมดเลย แต่จิตใจมันไม่ฟัง ไม่รู้เรื่องอะไร นี่การถืออุโบสถจะเลวที่สุด คนสมัยนี้เรื่องพรรณนี้ ไม่เหมือนครั้งพุทธกาล มันจึงเปลี่ยนแปลงหมด คือไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ไม่ได้รับประโยชน์จากศาสนา เปลี่ยนแปลงหมด อย่างดีก็เหมือนเป็นพิธี ทำพอเป็นพิธี ให้จบๆไป ก็ว่าดี มีขนาดถึงว่ากินเหล้าเลย อะไรเลย ก็เรียกว่าถืออุโบสถเหมือนกัน ฉะนั้นถึงวันอุโบสถก็อุตส่าห์อดกลั้นให้มันเป็นอยู่ ให้มันคล้ายๆพระพุทธเจ้า คล้ายๆพระอรหันต์ ดูแลอะไรบ้าง พยายามทำให้คล้ายที่สุด ด้วยจิตใจให้เหมือนในวันนั้น ก็จะฟังอะไรรู้เรื่องดี ทีนี้มันทำผิดไปหมด ทำพอว่าทำ ทำ พอวันอุโบสถฟังเทศน์ พอให้แล้วๆก็เทศน์ สักว่าเทศน์ๆเท่านั้น มันจะไปโทษใครล่ะ มันไม่โทษใครนอกจากโทษตัวเอง เรากันเองนั่นแหละ ทำให้ศาสนาเสื่อม รู้ตัวก็มี ไม่รู้ตัวก็มี ข้อที่ทำให้ศาสนาเสื่อม บางทีก็ไม่รู้ตัวก็มี บางทีรู้ตัวแต่แกล้งทำก็มี พอศาสนาเสื่อมมันก็ได้การแหละ บาปมา นรก นรกหมกไหม้นั่นมาแล้ว ทำให้คนไม่เป็นคน มนุษย์ไม่เป็นมนุษย์ เบียดเบียนกันไม่มีที่สิ้นสุด เอ้า ทุ่มแล้ว ไม่หยุดเสียที ไฟฟ้า หึ ปิดไฟ ปิดไฟ หยุดเครื่อง หยุดอะไรเด็กๆไปหาเวียนเทียนที่วัดพระธาตุนะ ที่นี้เขาทำเวียนเทียนกันแล้วโว้ย เขาเวียนเสร็จแล้ว หึหึ เด็กๆมาจะเวียนเทียน ยังแต่จะอยู่นิ่งๆ เงียบๆกันแล้วทีนี้ เอาล่ะหยุดพักผ่อนกันเสียที เดี๋ยวจะได้นั่งกันใหม่หลาว จะได้ทำอะไรด้วยหลาว นิมนต์พระไปพักผ่อน นั่งตลอดเวลาไม่ไหว หรือไปฉายหนังให้แลเสียก่อน แล้วสองทุ่มก็ค่อยมา ก็ดี พรรณนี้จะดีกว่า อ้าว คุณบอก ประเดี๋ยวใครจะดู นั่นแหละให้ดูแหละ ไปใช้ที่โรงธรรม เสร็จแล้วให้ขึ้นมานี้ ดีกว่า สองทุ่มค่อยขึ้นมานี้ ไปแลกันเสียสิ พอค่ำขึ้นฉายเลย แล้วก็มาฟังเทศน์ มาคุย มาอะไรจนสว่าง (พระอาจารย์ไม่ลงเหรอครับ) ไม่ลงหรอก ควบคุมการฉาย ใครก็ได้ สองทุ่ม เอ้า ตกลงกันไร จะได้ไปแล