แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๑๑ พยายามทำ ทำไม่ได้ ก็อย่าไปคิดว่าใครทำได้ หรือได้แล้ว เป็นเรื่องที่ต้องฝึกหัด มันยาก มันเป็นเรื่องเดียว แล้วก็เรื่องทั้งหมด เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลับที่สุดด้วย เดี๋ยวนี้แม้แต่คำว่า ว่าง นี่มันก็ยังไม่เข้าใจ จะไปเข้าใจอะไรได้ ไอ้คนที่พูดนั้นน่ะยังไม่เข้าใจแม้แต่คำว่าว่าง แล้วก็มาพูดว่าทำได้หรือทำไม่ได้นี่ก็เป็นเรื่องน่าหัว ยังไม่รู้เรื่องนั้น แล้วมาพูดว่าทำได้หรือไม่ได้ก็เป็นเรื่องน่าหัว มันกลาย มันกลายเป็นเรื่องมากขึ้นไปอีก เอาแต่ว่าเวลาทำงานอยู่นี่ ฝึกหัดควบคุมสติให้นิ่ง สำหรับจะไม่เกิดวุ่นวาย งานยิ่งชุลมุนหรือว่ายิ่งยั่ว ยั่วโมโหโทโส งานอย่างนี้ก็ยิ่งระวังยาก ระวังสติ นี้ถ้าใครเพิ่ม เพิ่มงานให้ยากให้ชุลมุน ให้ยั่วมาก แล้วควบคุมสติได้มันก็ดีเท่านั้นเอง ดีทั้งนั้นหล่ะ ไอ้เรื่องทำได้หรือทำไม่ได้นี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ทำเสียแล้ว ก็เลิกกัน นั้นมีแต่ว่ามันต้องพยายามทำให้ได้ สิ่งที่ทำไม่ได้พยายามทำให้ได้ คือทำงานโดยไม่มีตัว ไม่มีตัวผู้ทำ พยายามทำงานโดยไม่มีตัวผู้ทำนี่มัน ให้มันได้ ให้มันได้มากขึ้น มันล้มละลายบ่อยๆ แน่ มันมีตัวผู้ทำผุดขึ้นมา โมโหโทโสอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ก็เรียกว่าล้มไปทีหนึ่ง แล้วก็ทำใหม่ มันล้มลุกล้มลุกล้มลุกกันอยู่อย่างนี้ ที่นี้ก็ให้มันล้ม ห่างเข้า คือล้มน้อยลง หรือว่าล้มครั้งหนึ่งก็อย่าให้มันนานนัก แล้วก็ให้มันระยะห่างจากกันออกไป นั้นไม่พูดว่าได้หรือไม่ได้ นี่ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องหัดทำให้ได้ต่อไป ทั้งฆราวาส ทั้งบรรพชิต เหมือนที่พูดแล้ววันก่อน ฆราวาสก็มีเรื่องมาก ก็ต้องพยายามไปตามประสาฆราวาส ที่จะปฏิบัติเรื่องว่างเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น
พูดให้ถูกก็คือเรื่องไม่เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้ไปพูดถึงเรื่องสุญญตา หรือคำอื่นๆ มันก็ขลังไปซะอีก ดูขลังดูลึกๆ ลับ ลึกซึ้งไปเสียอีก ควรจะใช้คำว่า เพื่อไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์นี่ล่ะคือ ว่าง พอไม่ว่างเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที พอว่างอยู่ก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีความทุกข์ หัดทำงานโดยไม่มีความทุกข์ มันทำได้หลายระดับโดยไม่มีความทุกข์เนี่ย ทำงานโดยไม่มีความทุกข์นี่มันก็หลายระดับ เช่น ทำด้วยความหวัง ได้ค่าจ้างที่ดีแน่ นี่ก็ทำเกินไปเหมือนกัน ไม่มีความทุกข์ นี่ทำด้วยความหวัง ว่าจะได้มีชื่อเสียง หรือว่าจะได้เงินดีแน่ ก็ทำสนุก ไม่มีความทุกข์ แต่ว่าเราไม่ต้องการอย่างนั้น ถ้าเราทำด้วยจิตที่มันไม่ต้องมีความหวังชนิดนั้น ถ้าจะหวัง ก็หวังเพื่อว่าจะดับ ตัวกู อยู่เสมอไป ดับความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกูอยู่เสมอไป นี่หวังอย่างนี้ ไม่หวังเงิน ไม่หวังชื่อเสียงไม่หวังอะไรต่างๆ ถ้าทำงานด้วยความหวังเงิน หวังชื่อเสียง มันก็อย่างคนธรรมดาสามัญทำ มันก็ไม่เหมาะสำหรับเรา นี่ต้องเลื่อนขึ้นมาขนาด ทำชนิดที่ไม่หวัง ไม่มีตัว มันจึงจะไม่หวัง ถ้ามีตัวจะเอา จะได้ ก็ต้องหวัง เรื่องไม่มีตัวนี่คือเรื่องว่าง พวกคุณหัดทำงานด้วยไม่มีตัว ไม่มีตัวผู้ทำ นี่เป็นคำกลอน ที่ว่า ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ความหมายอย่างเดียวกัน หมายความว่าให้พยายามหัดทำอย่างนี้ ไม่มามัวเถียงว่าทำได้หรือไม่ได้ ไม่เถียงกันในทางทฤษฎี ทางเหตุผล ทางอะไรอีกแล้ว มีแต่ว่าหัดทำให้มัน เป็นอย่างนั้นมากขึ้น แล้วมันก็เหมือนกับการปฏิบัติในที่อื่น(นาทีที่ ๘.๑๘) หรือเรียกอย่างอื่นก็เหมือนกัน ก็ทำล้มลุกล้มลุกอยู่ตรงนั้น มันทำยาก นี่ก็ทำให้มันได้มากขึ้น มากขึ้น ว่าแต่ทำงานทางฝีมือก็ยังต้องหัด ฝึกหัดกันนานมาก กว่าจะมีความชำนาญแล้วทำได้ การทำงานฝีมือหากินนี้เป็นช่าง เป็นศิลปิน เป็นอะไรต่างๆ แต่ก็ยังหัดกันนาน ซ้ำๆ ซากๆ จึงจะชำนาญ ปฏิบัติธรรมะทางจิตใจ ต้องยิ่งไปกว่านั้น เพราะจิตใจมันควบคุมยาก มันเป็นของที่ไว ไวเกินไป คุมยาก ไม่เหมือนกับมีตีนแขนขานี่มันเป็นวัตถุ มันคุมง่าย นี่รวมความแล้วก็หมดปัญหาเรื่องที่ว่าทำได้หรือไม่ได้ มีแต่ปัญหาว่าจะทำอย่างไร แล้วก็ทำซ้ำๆ ซากๆ ให้มันดีขึ้น นี่มันจึงจะเป็นเรื่องของการปฏิบัติ
แม้แต่การพูดที่นี่ ก็พูดซ้ำๆ เหมือนที่เราเรียกว่า ทำปาฏิโมกข์ ทำปาฏิโมกข์ทางธรรม ทำปาฏิโมกข์ทางวินัย ทำปาฏิโมกข์ทางวินัยแล้วยิ่งซ้ำทุกตัวอักษรใช่ไหม สวดกันไม่รู้ข้างไหน ก็สวดนี่ทุกตัวอักษรเลย นี่ทำปาฏิโมกข์ทางวินัยมันซ้ำขนาดนี้ ทำปาฏิโมกข์ทางธรรมเหมือนที่เราเรียก หรือตกลงกัน ว่าทำอย่างนี้ ที่นี่ มันก็ต้องซ้ำ ต้องพูดเรื่องซ้ำ เพื่อความเข้าใจที่ยิ่งขึ้นไป เป็นเรื่องซ้ำ แล้วก็ไม่มีเรื่องอะไรที่ควรจะซ้ำ นอกจากเรื่องว่าง จะพูดเรื่องว่างนี่ซ้ำสักกี่ร้อยครั้งก็ได้ เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น เพื่อจะปฏิบัติให้มันได้ยังไง เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นนี้ เพื่อปฏิบัติให้ง่ายขึ้น ให้ได้ ให้ง่ายขึ้น ควรจะ ควรจะพอใจ การพูดเรื่องความว่างอย่างซ้ำๆ ซากๆ มันสนุกกว่าลงปาฏิโมกข์อย่างซ้ำๆ ซากๆ ปาฏิโมกข์วินัย ปาฏิโมกข์ธรรมะของเรานี่ยังซ้ำได้ในวงที่กว้างที่ไม่น่าเบื่อกว่า ชนิดที่ว่าพูดซ้ำ ควรจะพูดเรื่องความว่างนี่เป็นหัวใจ เป็นหัวใจของทั้งหมด และก็เป็นตัวทั้งหมด นี่มันเป็นเรื่องที่น่าหัว แล้วก็คนบางคนก็จะว่าไม่มีเหตุผล คนบางคนได้ฟังแล้วจะคิดว่าไม่มีเหตุผล ที่ว่าจะมีอะไรสักอย่างหนึ่ง เป็นทั้งหัวใจด้วย และเป็นทั้งตัว ทั้งหมดด้วย จึงประหลาด นั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเอามาพูดซ้ำๆ
การพูดซ้ำๆ นี่มันก็มีประโยชน์อยู่ใน ๒ แง่ที่ต้องหล่อเลี้ยงเข้าไว้ นี่ส่วนหนึ่งมันต้องหล่อเลี้ยงเข้าไว้อยู่เรื่อยอย่าให้มันขาด เหมือนเรากินข้าว มันกินเพื่อหล่อเลี้ยงเข้าไว้ ไม่กินมันไม่มีอะไรหล่อเลี้ยงมันก็ตาย ที่นี้ส่วนหนึ่งในทำซ้ำ เพื่อให้มันยืดไปอีก เพื่อให้มันเจริญออกไปอีก ให้มันงอกงามออกไปอีก อย่างกินอาหารเพื่อเจริญงอกงามออกไปอีก ในเมื่อมันมีความจำเป็นที่ต้องงอกงามออกไปอีก การพูดเรื่องอะไรซ้ำๆ นี่เพื่อหล่อเลี้ยงความรู้เดิมนั้นไว้อย่างหนึ่ง ก็เพื่อขยายให้มันงอกงามต่อไปอีกอย่างหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องความว่างนี้มันมีแง่ หรือมีปริยายของมันมากมายหลายสิบหลายร้อย จนกระทั่งพูดว่ามันเป็นทั้งหัวใจมันเป็นทั้งตัวทั้งหมด แล้วคนเขาฟังไม่ถูก หรือให้ถูกกว่านั้นก็มันไม่เป็นหัวใจ แล้วไม่เป็นตัวอะไรเลย คือมันเป็นทั้งหมด พูดว่ามันเป็นทั้งหัวใจหรือเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนานี่ถูก หรือว่าเป็นหัวใจหรือเป็นทั้งหมดของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยกเว้นอะไรนี้มันก็ถูก แต่นี่มันก็จะถูกภาษาที่ตื้นๆ ภาษาคน ภาษาตื้นๆ เพราะที่จริงมันก็เป็นทั้งหมด ไม่ต้องเป็นหัวใจ หรือไม่ต้องเป็นตัว มันเป็นทั้งหมดก็แล้วกัน แต่คนก็ยังฟังไม่ค่อยถูกว่า ไอ้ความว่างนี่มันเป็นทั้งหมดได้อย่างไร คือไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ความว่าง พูดให้เป็นพุทธศาสนา นี่มันแคบนะ ความว่างมันเป็นทั้งหมด เป็นทั้งพุทธศาสนา ไม่ใช่พุทธศาสนา คือทั้งหมดเลย ไม่ยกเว้นอะไร เรื่องความว่าง เรื่องความว่างเป็นพุทธศาสนา นี่หมายถึง พุทธศาสนาสอน มีใจความสำคัญเรื่องความว่าง แล้วปฏิบัติเพื่อความว่าง ได้ผลมาเป็นความว่าง เรียกว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องความว่างทั้งหมด นี่สรุปแล้ว แม้เพียงเท่านี้ก็ยังมีคนไม่เข้าใจ แม้ที่กรุงเทพที่เป็นดงของนักศึกษา ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ เป็นบางคนถึงขนาดว่า สุญญตาไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องของเถรวาท อย่างนี้ไปก็มี อย่างนี้มันโง่ โง่ดักดานเลย
พุทธศาสนามันมีปริยายมาก ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ ข้อ สรุปแล้วให้เว้นจากความชั่ว ให้ทำความดี ให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ คิดดูเถิด ถ้าเอาสามอย่างนั้น สรุปเข้าอีกที เหลือความไม่ยึดมั่นถือมั่น ทุกอย่างไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไอ้ทุกอย่างไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนี่ สรุปอีกทีเหลือคำว่า ว่าง คำเดียว พยางค์เดียว คำเดียว คำว่าว่างนี้มันเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา จะมองกันในแง่ไหน เพื่อเรื่องว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ แล้วก็มาว่างจากความยึดถือ ไม่มีความยึดถือก็คือว่าง เรื่องปริยัติก็เพื่อว่าง ปฏิบัติก็ปฏิบัติว่าง ปฏิเวธ ผลของมันก็คือ ว่าง เรื่องศีล นี่ทำให้ว่างในอันดับต่ำๆ เรื่องสมาธิก็ว่างยิ่งขึ้นไป ในการควบคุมเอาไว้ เรื่องปัญญาก็ทำให้ว่างถึงที่สุด ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นไปเพื่อว่าง นั่นวิธีลัด วิธีที่ฉลาด หรือลัด หรือประหยัดเวลา มันก็คือพูดเรื่องความว่าง
ทีนี้ถ้าจะมาแยกแยะทีละข้อ ละข้อ หลากหลายมุมนี้มันก็กินเวลามาก มันก็เป็นเรื่องของคนโง่ เป็นโอกาสให้คนโง่ถามซอกแซก จู้จี้ด้วยเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยตรรก ด้วยลอจิกอย่างนั้นอย่างนี้ มากแง่มากมุมออกไปไม่มีสิ้นไม่มีสุด จนตายเปล่าก็ไม่รู้เรื่อง นั้นจึงเป็นเรื่องที่เพ้อเจ้อไปได้ เรื่องความว่างนี้ มันออกไป ออกไป จนเป็นเรื่องอภิธรรม จนเป็นอะไรมากมายไม่มีที่สิ้นสุดก็ได้เหมือนกัน นี้ถ้ามันจะเข้ามา จะรัดเข้ามา ให้เป็นเรื่องปฏิบัติ อย่าให้จิตเกิดยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกูของกูอยู่เสมอ อย่างนี้ก็ยังเหลือเท่านี้เอง ข้อเดียวเท่านี้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำการงานซึ่งมักจะเกิดไอ้ความรู้สึกที่ไม่ว่าง ให้มันว่างอยู่เสมอ
นี่เราใช้วิธีพูด วิธีอธิบายซ้ำๆ ซากๆ ตามแบบของฝ่ายเถรวาทกันอยู่มาก คือพูดกันเสมอ พูดกันเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด อ้างเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด มันก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตัวศาสนา ไอ้ตัวศาสนาก็ไม่ต้องพูด ไม่ต้องพูด ก้มหน้าก้มตาระวังจิตใจอย่าให้เกิดตัวกูของกูทุกอิริยาบถ ทั้งเวลาที่ทำงาน และเวลาที่ไม่ได้ทำงาน ข้อนี้มันเป็นเรื่องพูดแล้วเกือบจะไม่ต้องพูดอีก เวลาของเรามีอยู่ ๒ ชนิด เวลาที่ทำการงาน จริงๆ จังๆ นั้นอย่างหนึ่ง และเวลาที่ไม่ใช่ทำการงาน เช่น เวลาพักผ่อน เวลากินอาหาร เวลาอาบน้ำ เวลาไปบิณฑบาต เวลาอะไรก็ตามนั้น อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่าไม่ใช่ทำการงาน ที่นี้ต้องการให้เป็นว่าทั้งสองประเภทนี้เราต้องฝึกหัดเรื่องมีจิตใจที่ว่าง เมื่อเราไม่ทำการงาน ก็คือกินอาหาร ดู เดินไปเดินมา ไปกุฏิ ไปฐานไปอะไรต่างๆ นี้ก็ต้องระวังเต็มที่ นี้พอเสร็จเรื่องนั้นแล้วจะทำอะไร ใครอยากนอนก็นอนก็ได้ ก็ต้องทำเหมือนกัน อยากจะนอนก็ต้องทำไอ้เรื่องว่างหรือไม่ว่างนี้ แต่ถ้าใช้เรี่ยวแรงให้เป็นประโยชน์ ให้มีคุณค่าเหลืออยู่ตลอดกาลนานเป็นอนุสรณ์ นี่มันก็ต้องทำการงาน และเมื่อแน่ใจว่าจะต้องทำการงานมันก็ต้องเลือกเอาการงานอะไรที่น่าทำ มันก็ต้องเป็นการงานที่มีประโยชน์ แก่เรื่องนี้โดยเฉพาะยิ่งขึ้นอีกนี่ดี ดีกว่าเรื่องอื่น เราอาจจะไปช่วยเรื่องสงเคราะห์ประชาชน สาธารณประโยชน์หรืออะไรก็ได้เหมือนกัน แต่คงไม่ดีถ้าที่มันเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ การเผยแผ่เรื่องนี้ ช่วยกันสร้างสิ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการเผยแผ่เรื่องว่าง เข้าใจว่าจะดีที่สุด จะมีค่ามาก เหนื่อยเท่ากันแต่มันมีผลลึกซึ้งสูงกว่า
นี่จึงปรับปรุงวัดทั้งวัด สวนโมกข์ทั้งหมดนี้ ให้มันเป็นสิ่งที่สั่งสอนเรื่องความว่าง อุปกรณ์ของการ สั่งสอนเรื่องความว่าง ให้เป็นโรงมหรสพไปทั้งวัด เพราะนี่มันหมายความว่าไอ้ตัวธรรมะ ตัวความว่างนั่นนะ ตัวธรรมะคือความว่างนั้นมันเป็นตัวมหรสพ ที่นี่สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยให้เข้าใจเรื่องความว่าง สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดเราเรียกว่า โรง คือ โรงมหรสพ เช่น วัดทั้งวัด หรือตึกหลังนี้ หรือก้อนหิน ต้นไม้ อะไรต่างๆ ที่จัดเตรียมขึ้นไว้ เพื่อเกิดความรู้สึกว่าง อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาในจิตใจของผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือแม้ที่สุดแต่จะให้ดู ให้อ่าน ให้ฟัง ให้อะไรต่ออะไร มันเป็นเรื่องช่วยให้รู้จักความว่างด้วยเหมือนกัน มันเป็นส่วนโรงมหรสพ บางคนคิดว่าโรงมหรสพนี่เฉพาะถึงตึกหลังนี้ หรือว่าไอ้ตึกอย่างนี้ เราหมายถึงทั้งหมด ทั้งวัด แม้แต่ก้อนหินสักก้อนหนึ่ง ที่วางไว้ในลักษณะที่เหมาะสม หรือมันเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ตามลักษณะที่เหมาะสม ใครเข้าไปนั่งตรงนั้น มันชวนอารมณ์ให้ว่าง ให้โปร่ง ให้เย็น ให้ลึก ให้รู้สึกถึงไอ้สิ่งที่มันว่าง หรือไม่มีอะไรรบกวนได้ เรียกว่ามันพูดได้ มันสอนได้ มันแสดงได้ทั้งนั้น นั้นมันเป็นความโง่ของคนที่เข้ามาเท่านั่นเอง จะช่วยได้ จะว่าอย่างไร จะโทษใครน่ะ มันเป็นความโง่ของคนที่มานั่นเอง มันจึงเอาอะไรไม่ได้ รับอะไรไม่ได้ เช่น ภาพเหล่านี้มีแต่คนเดินผ่าน เหลือบอ่านหนังสือสักเที่ยวหนึ่งทั้งยาก เหลือบอ่านหนังสือสักเที่ยวก็ผ่านไป ผ่านไป อย่างมากก็ดูสองภาพ อ่านหนังสือได้สองภาพแล้วก็กุมหัวแล้วก็ผ่านไป ไม่มีใครต่อสู้เพื่อจะเข้าใจ แม้แต่พวกพระก็อยู่ในลักษณะใกล้เกลือกินด่าง พระที่อยู่ที่นี่ก็มีลักษณะเหมือนใกล้เกลือกินด่าง หรือเหมือนจวักตักข้าวไป่รู้รสแกง หรือว่ากบที่กลิ่นหอมร่วงลงบนหัวมันก็ไม่รู้
ถ้าใครรู้ลองช่วยอธิบายภาพ จากอนันตะสู่อนันตะสิ ทั้งหมดนี้ที่นั่งอยู่ที่นี้ เอาใครล่ะอธิบายภาพเสียงระฆัง ตีระฆัง แล้วเขียนว่า จากอนันตะสู่อนันตะ คุณถวิล(นาทีที่ 27.41) อธิบายสิว่าอย่างไร มันก็อยู่ตรงประตูด้วย เข้าก็ต้องผ่านภาพนี้ ผม....(นาทีที่ 28.04) พูดได้อวดได้เลย ว่าทุกภาพนี่แสดงความว่าง คนหูหนวกตาบอดนั่นไม่เห็นไม่เข้าใจฟังไม่รู้เรื่อง อย่าว่าแต่ภาพเลย แม้ก้อนหินของเราก็แสดงความว่าง ต้นไม้ทุกต้นก็แสดงความว่าง ไม่ต้องพูดถึงภาพเหล่านี้ที่มันมุ่งหมายจะแสดงเป็นความว่าง แล้วก็ได้แสดงไว้อย่างยิ่งด้วย ไม่ใช่เล็กน้อย ที่พูดว่าจากอนันตะสู่อนันตะนี่ ไอ้ภาพนี่มันพยายามที่สุดแล้วที่ให้แสดงชัดเจน เจาะจง ลึกซึ้ง กว้างขวาง ยิ่งกว่าก้อนหินที่อยู่ตามธรรมชาติ ไอ้คนก็ยังไม่รับเอาได้
เช่นภาพที่ว่านี้ ระฆังแล้วก็มีการกระทุ้งให้ระฆังเกิดเสียงฮึ่มๆ แล้วก็เขียนว่าจากอนันตะ คือจากไม่มีที่สิ้นสุด สู่อนันตะ คือสู่ไม่มีที่สิ้นสุด นี่ขยายความออกไปนิดหนึ่ง ครั้งแรกก็ว่าเสียงระฆังนี้ออกมาจากสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วเสียงระฆังนี้ดับไปในสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด คือเสียงระฆังออกมาจากสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุดนี่ พูดภาษาคนก็ว่า พูดภาษาคนธรรมดาๆ นี้ก็ว่า พอตีมันก็มีเสียงออกมา เสียงนี้มีให้ไม่รู้จักหมดจักสิ้น นี่ภาษาโง่ๆ นะ ภาษาคน ระฆังนี่มันให้เสียงออกมาได้ ไม่รู้จักหมดจักสิ้น เพราะว่ามันมีคลังที่ไม่รู้จักสิ้นสุดของเสียงที่จะให้มา มันไปตีเมื่อไหร่ดังเมื่อนั้น ถ้ามันเป็นระฆังอยู่ คุณไปตีหมื่นครั้ง แสนครั้ง ล้านครั้ง ร้อยล้านครั้ง มันก็มีให้ ไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่หมด นี่ข้อหนึ่งแล้วนะว่าจากไม่มีที่สิ้นสุด จากไม่มีที่สิ้นสุดนี่ นี้มันไปไหน ถามไอ้เสียงระฆังนี่ไปไหน ทำไมมันจึงไม่รู้จักเต็ม ถ้าเสียงระฆังนี่มันสื่อลงไปในอากาศ แล้วทำไมไม่รู้จักเต็ม เต็มเป็นเสียงระฆังเข้าไปอีกไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นความไม่มีสิ้นสุดอีกเหมือนกัน นี่ทำให้เห็นได้ว่า เขามองเห็นลึก แล้วเขาเขียนภาพนี้อย่างลึก จาก อนันตะแล้วก็สู่อนันตะ นี่เรียกว่าภาษาคนโง่ พูดภาษาคน เสียงระฆังออกมาได้ไม่มีที่สิ้นสุดแล้วไปสู่ที่ที่ไม่มีที่สิ้นสุด นี้เราพูดอย่าง อย่างวัตถุเสียแล้ว คือเสียงระฆัง เสียงระฆังนี้เป็นฟิสิกส์ เป็นของธรรมดา เกิดจากไอ้ความไหวของวัตถุ ของสสาร มันก็ออกมาได้ไม่มีสิ้นสุด แล้วไปไม่สิ้นสุด นี่ภาษาเด็กๆ
นี้เราเปลี่ยนเป็นใช้ความไม่มีที่สิ้นสุด ออกมาจากความไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ความไม่มีที่สิ้นสุดนี่ มันจะค่อยๆ สูงขึ้นมา ค่อยลึกขึ้นมา ทีนี้ความไม่มีที่สิ้นสุดอยู่ที่ไหน ถ้ามันตั้งปัญหาต่อไปว่า ไอ้ความไม่มีที่สิ้นสุดมันอยู่ที่ไหน คนโง่ก็จะส่งจิตใจไป ไปไม่มีสิ้นสุดนี่ อนันโต อาตาโต (นาทีที่ ๓๒:๔๘) ทั้งนั้นเลย นี่คนโง่จะคิดอย่างนี้ แต่นี้คนฉลาดเขาล้อ อ้าว,ก็มันออกมาจากระฆังใบนี้ ความไม่มีที่สิ้นสุดออกมาจากระฆังใบนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นความไม่มีที่สิ้นสุด มันคือที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทีนี้มันไปไหน มันก็ไปสู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ มันออกมาจากที่นี่และเดี๋ยวนี้ และมันก็ไปสู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นความไม่มีที่สิ้นสุดคือที่นี่และเดี๋ยวนี้ จึงมองเห็นต่อไปว่า ไอ้ที่นี่และเดี๋ยวนี้มันก็ไม่ต่างกันหรอก ไม่ว่าตรงไหนมันก็เป็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหน มันเป็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ทั้งนั้น ยิ่งเมื่อลึกขึ้นไป เขาก็สอนให้รู้ว่า อนันตะสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุดนั้น มันคือที่นี่และเดี๋ยวนี้ อย่าเป็นคนบ้า เหมือนเทวดาองค์นั้นในเรื่องโลขิตตสูตร (นาที่ที่ ๓๔:๐๔ )เขาจะไปหาที่สุด หาที่สุดของโลก เหาะไป ทั่วไปหมดด้วยความเร็วสูงสุด เหมือนกับเงา ก็ไม่พบที่สิ้นสุด เพราะความไม่มีที่สิ้นสุดมันอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ มองนิดเดียวก็เห็นว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้แหละ คืออันเดียวกัน ทำให้ว่างจากความว่าง จากว่างสู่ว่าง คือจากอนันตะสู่อนันตะ มันต้องเป็นว่างจึงจะเป็นอนันตะ ถ้าไม่ว่างแล้วไม่เป็นอนันตะ เขาถือว่าเสียงก็ว่างเหมือนกัน เสียงก็ว่างเหมือนกัน เหตุให้เกิดเสียงก็ว่างเหมือนกัน การดับของเสียงก็ว่างเหมือนกัน ไอ้ตอนนี้ไอ้พวกนักเรียนอภิธรรมหรือนักธรรมที่เรียนอยู่ในธรรมดา ในประเทศไทยอาจจะไม่ยอมรับที่ว่า มันว่าง มันว่าง ในลักษณะที่เป็นอสังขตะและสังขตะ คือทั้งสังขารและวิสังขารเนี่ยว่าง เพราะมันไปติดตัวหนังสือว่า นิพพานหรืออสังขตะ ว่าง แล้วจะมาให้สังขารหรือสังขตะนี่วุ่น มันไม่เข้าใจอย่างนั้น ที่แท้มันก็ต้องว่าง นี้ถ้าถามว่า ถ้าว่างทำไมจึงมีเสียง ทำไมจึงมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่คือความที่ไม่เข้าใจว่า ไอ้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นั้นคือ ว่าง ไอ้เสียงระฆังนี้มันเกิดขึ้นหล่ะ เพราะไม้กระทบระฆัง เรียกว่าปรุงแต่ง หรือทำให้เกิดขึ้น แล้วมันเกิดขึ้น แล้วปรากฎอยู่ แล้วก็ดับไป แล้วเข้าใจได้อย่างไรว่าเกิดขึ้นก็คือว่าง ตั้งอยู่ก็คือว่าง ดับไปก็คือว่าง แล้วทั้งหมดนั้นก็คือว่าง
ตอนนี้ผมก็เคยยุ่งหัว เพราะไม่เข้าใจ ยุ่งหัวแล้วเขียนยาก เขียนคำอธิบายยาก เพราะว่าเราเอาความรู้สึกของคนธรรมดาเป็นหลัก ไม่รู้ว่าธรรมชาตินั่นมันเป็นหลัก ถ้าเราเปลี่ยนสักนิดเดียวว่า ไม่ว่าชนิดไหนหมดมันเป็นธรรมชาติแล้วก็เข้าใจได้ว่า ไม่ว่าชนิดไหนหมดมันว่าง ความเกิดขึ้นหรือความดับไปอะไรก็เป็นธรรมชาติ แม้แต่นิพพานก็เป็นธรรมชาติ นี่เป็นเพียงธรรมชาติว่าไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน จึงว่าว่าง ทีนี้เสียงระฆังคือเกิดก็คือว่าง สิ้นสุดแห่งเสียงระฆังคือดับ มันก็คือว่าง แล้วว่างนี่คืออนันตะ
นักเลงนี้จึงเขียนไว้ว่า จากอนันตะสู่อนันตะ ฟังไม่ดีก็คล้ายกันกับมีขึ้นมา ไม่ว่าง เพราะมีจากและมีถึง อนันตะอยู่ที่ไหน ก็คือที่นี่และเดี๋ยวนี้ เช่นเดียวกับว่างนั้นคืออยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วทุกๆ แห่งมันเหมือนกันหมด เป็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ เหมือนกันหมด นั้นทุกๆ แห่งมันเหมือนกันหมด ไม่มีตรงไหนเป็นหัวใจได้ ขึ้นชื่อว่าความว่างแล้วไม่มีตรงไหนที่เป็นหัวใจของมันได้ มันเป็นตัวเดียว อันเดียว เป็นความว่าง ไม่มีหัวใจหรือไม่มีเปลือกนอก หรือไม่มีอะไร นี่ธรรมะที่แท้จริงคือความว่าง อะไรก็เป็นความว่างหมด สังขตะหรือสังขาร ก็คือว่าง อสังขตะหรือวิสังขาร ก็คือว่าง แต่ว่างชนิดหนึ่งมันเปลี่ยน เหมือนกับกระดุกกระดิกหรือเปลี่ยน เช่นว่า มันไม่ได้อยู่นิ่งๆ มีคนไปเคาะเข้า แล้วมีเสียงออกมาแล้วก็ดับไปที่นี่
ยิ่งลงไปทะเลนี่ ทะเลที่ถูกทำให้เป็นคลื่นเสีย ก็ยังเป็นทะเลอยู่นั่น มันไม่ได้สูญเสียความเป็นทะเล แต่เราดูเป็นเหมือนว่าเป็นของใหม่อันใหม่ คือทะเลเมื่อมีคลื่นกับทะเลเมื่อไม่มีคลื่นนั้น เรา เรารู้สึกกันคนละอย่าง เรารู้สึกว่าไอ้น้ำแท้ๆ เมื่อไม่มีคลื่นนี่ก็อย่างหนึ่ง แล้วเมื่อมีคลื่นกลายเป็นอื่นไปเสียแล้ว ไม่รู้สึกว่าเป็นอันเดียวกันเสียแล้ว นี่ทำให้เราไม่เข้าใจว่าไอ้ความเกิดกับความดับนี่ว่างเหมือนกัน ธรรมชาติเหมือนกัน ว่างเหมือนกัน การที่เสียงระฆังดังขึ้นและเสียงระฆังดับไปนี่เป็นความหมายอย่างเดียวกัน เด็กๆ อาจจะโง่มาก ถึงคิดว่าเป็นคนละทะเลกัน ผมเองก็ยังรู้สึกอย่างนั้นเด็กๆ ไปทะเลคราวหนึ่งเห็นเงียบเป็นกระจกเลย ไปทะเลคราวหนึ่ง วะมันคนละอันเสียแล้ว ไม่ได้คิดว่าเพราะมันมีคลื่น เพราะหรือมันมีลมไปทำให้อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น หรือว่าของบางอย่างเราดูคนละคราว คล้ายเป็นของคนละอัน ละอย่างไป แม้แต่หมากับลูกหมาเกือบจะไม่ใช่อันเดียวกัน เมื่อเป็นลูกหมานี่มันไม่เหมือนกับหมานี่เลย ลูกปลาบางชนิดนี่แทบจะไม่รู้ว่าลูกของปลานั้น เหมือนกับลูกน้ำนี่คือยุง เกือบจะไม่มีใครนึกว่าลูกน้ำนี่คือยุง เพราะมันพรางตาขนาดนี้ คือความเปลี่ยนแปลง เหมือนความเกิดกับความดับมันยิ่งร้ายกว่านี้ เสียงที่ดังขึ้น กับเสียงที่ดับลงนี่ มันก็ชวนให้นึกว่าคนละอย่าง นั้นไม่มีเข้าใจว่าเกิดกับดับนี่ ก็คือว่าง หรือคือสิ่งเดียวกัน เกิดมาเป็นเสียงระฆังที่ไพเราะจับหูจับใจแล้วก็จางไปเป็นเสียงระฆังที่เงียบหายไป ไม่ได้คิดว่าที่แท้อันเดียวกัน
นี่พวกที่ติดตัวหนังสือ เขาไม่ยอมให้วิสังขาร ว่างอย่างเดียวกันกับสังขาร เพราะสังขารเป็นทุกข์ แล้วเป็นไม่ว่าง นั้นเราจึงพูดว่าไอ้ไม่ว่างนั้นเป็นทุกข์ ที่แท้ทุกข์ก็คือว่าง นั่นพูดภาษาที่ถูกต้อง ภาษาธรรมะ พูดภาษาคน ภาษาเด็ก ภาษาคนโง่ก็ว่าทุกข์นี่ไม่ว่าง วุ่น ไม่ว่าง ถ้าพูดภาษาคนมันมีวุ่นมีว่าง พูดภาษาธรรมะมันเหมือนกัน มันไม่มีอะไร มันว่างเหมือนกัน แล้วมันว่างความหมายอื่นด้วย ความหมายที่สูงกว่าทั้งวุ่นและทั้งว่างในภาษาคนคือว่างที่สุดในภาษาธรรม เป็นความเงียบ ไอ้ความไม่เงียบนี่คือความเงียบที่สุดในภาษาธรรม มันว่างมันจึงเงียบ มันไม่มีตัวตน นี่ไม่ต้องพูดถึงเสียงระฆังนั่นหรอก เอาเสียงผมที่กำลังพูดนี้ดีกว่า เพราะเสียงระฆังนั้นยังไม่ได้ตี ยังไม่มีใครไปตี ไอ้เสียงที่ผมกำลังพูดนี่ก็เหมือนกันเสียงระฆัง มันจากไม่มีที่สิ้นสุดแล้วไปสู่ไม่มีสิ้นสุดเหมือนกัน มันปรุงออกมาเรียกว่าสังขาร จากภาวะอันหนึ่งซึ่งมีให้ไม่มีสิ้นสุด คือว่างนั่นเอง และการปรุงนั้นมันก็สู่ความดับ ไปสู่ความว่างไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ถ้าเราขืนพูดแบบนี้เรื่อยไปมันจะกลายเป็น ไม่ใช่ธรรมะแล้ว มันจะกลายเป็นข้อเท็จจริงที่เกินไปโดยไม่ต้องรู้ก็ได้ คือธรรมะที่เกินกำมือเดียว จะไปเป็นรูปธรรมะที่เกินกำมือเดียว พระพุทธเจ้าท่านว่าท่านสอนกำมือเดียวให้ปฏิบัติกันกำมือเดียว ไอ้ใบไม้ทั้งป่านี่ไม่ต้องสนใจกับมัน ให้สนใจกับใบไม้กำมือเดียว จะปฏิบัติอย่างไร คือควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่าได้ไปหลงอะไรเข้าว่า น่ารักหรือน่าเกลียด ว่าเป็นตัวกูเป็นของกูขึ้นมา ใบไม้กำมือเดียวมีเท่านั้น แล้วก็ปฏิบัติในขณะที่ทำงานกันอยู่นี่ เพราะมันมีเรื่องยั่วมาก ยั่วให้โกรธนั่นมีมาก มีอะไรขึ้นมาก็โมโหโทโสเอาก็ได้ หรือเพื่อนมากระทบกระทั่งก็โมโหโทโสก็ได้ มันมีเรื่องยั่วให้มีไอ้ตัวกูของกูนี่มาก นี่ดี เป็นบทเรียนที่ดี ถ้าไปนอนเสียก็ไม่มีเรื่อง ลองดู แต่ถ้ามาทำอะไรเข้านี่เดี๋ยวมีฮื่อๆ แฮ่ๆ กันแล้ว แล้วก็มีอย่างนี้อย่างนั้นขึ้นมาแล้ว มีอะไรขึ้นมาก็อารมณ์ไม่ว่างแล้ว มันมีปรุงขึ้นมาเหมือนระฆังที่ถูกตี
เพราะฉะนั้นพิจารณาดูให้ดี ว่าไอ้ที่มันเกิดขึ้นเป็นความทุกข์ขึ้นมานี้ก็ว่าง ที่มันดับลงไปก็คือว่าง ฉะนั้นจึงพูดว่าไม่มีอะไรที่ไม่ว่าง ของที่เป็นคู่ตรงกันข้าม สังขตะ อสังขตะ นี่เป็นของคู่ตรงกันข้าม เมื่อทั้งสองอย่างว่าง ก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ความทุกข์ก็ว่าง ความสุขก็ว่าง ความทุกข์กับความสุขนี่มันของหลอกๆ เหมือนเสียงระฆังเกิดเหมือนเสียงระฆังดับ ไอ้ภาวะว่างแท้จริงไม่มีที่สิ้นสุดนี่มันอีกอันหนึ่ง มันไม่ใช่เสียงระฆังเกิดเสียงระฆังดับ เสียงระฆังเกิดจากความว่างและดับไปสู่ความว่าง แล้วความว่างมันอีกอันหนึ่งจากการเกิดและการดับ
แล้วทำไมพูดว่าไอ้เกิดและดับก็ว่าง เพราะว่ามันเป็นของผิวเผินที่สุดเหมือนกับคลื่นที่ผิวน้ำ มันกำลังแสดงตัวในรูปอื่น เกิดเป็นลูกคลื่นขึ้นมาแล้วดับไปในน้ำ เกิดมาจากน้ำดับไปในน้ำ เกิดมาจากน้ำดับไปในน้ำ นี้ลักษณะของลูกคลื่น เป็นภาพทางตาหรือทางรูป เสียงระฆังนี่มันทางหู มันเกิดมาจากความว่างแล้วมันดับไปในความว่าง เกิดมาจากความว่างดับไปในความว่าง เหมือนกัน คลื่นเกิดจากน้ำดับไปในน้ำ คลื่นเกิดจากน้ำดับไปในน้ำ เอาน้ำทั้งหมดเป็นเหมือนกับสิ่งที่สาม คือความว่าง น้ำที่เกิดมาแล้วก็น้ำที่ดับลง มันคือคลื่นในสองความหมาย นี่ภาษาคน ภาษาบัญญัติอย่างภาษาคน ไอ้เกิดหรือดับนี่ก็เป็นตรงกันข้ามเสมอ แล้วก็ชอบใจความสุข ไม่ชอบใจความทุกข์ ทั้งๆ ที่มันเป็นของว่างเหมือนกัน พอไปชอบใจความสุขเข้ามันเกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว นี่ไปเกลียดความทุกข์ มันเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าว่า ว่าง ก็ต้องไม่เกลียดความทุกข์ไม่รักความสุข ไม่อะไรเหมือนกับที่ชาวบ้านเขาพูด พวกสัตว์มีความรักทุกข์ ไม่รักสุขเกลียดทุกข์อย่างนี้ มันก็สัตว์เท่านั้นเอง สัตว์อย่างลูกหมาลูกแมว คือรักสุข เกลียดทุกข์ ถ้าพระอริยเจ้าก็ต้องไม่เกลียดอะไรไม่รักอะไร เพราะว่ามันว่างเหมือนกัน ไม่มีอะไรที่น่ารัก ไม่มีอะไรที่น่าเกลียด มันว่างเหมือนกัน มันว่างเหมือนกัน นี่ต้องไปมุ่งหมายสิ่งที่เรียกว่า อนันตะ อนันตะคือว่าง ยังหมายเกิดหรือดับ เกิดหรือดับ ดับนี่ไม่ใช่นิพพาน ไม่ใช่นิพพานนะที่เป็นอนันตะ เสียงระฆังเกิดขึ้น เสียงระฆังดับไป เสียงระฆังเกิดขึ้น เสียงระฆังดับไป สองอย่างนี้ไม่ใช่อนันตะ มันเกิดจาก อนันตะแล้วไปสู่อนันตะ ต้องไปแยกตัวอนันตะออกอีกอันหนึ่ง เป็นสิ่งที่สาม เทียบเท่ากับนิพพาน เทียบเท่ากับความดับ ดับอย่างที่เรียกว่าดับอย่างนิพพาน ดับอย่างตลอดกาลอย่างไม่มีต้นไม่มีปลาย ไอ้เกิดดับเกิดดับนี่มันมีต้นมีปลาย ชั่วขณะปรุงแต่ง สุขทุกข์ก็เหมือนกัน คำพูดคำนี้มันหมายถึงสังขาร สุข ทุกข์ กับเวทนาที่เปลี่ยนแปลงนี่ ถ้าเราไปเอา เอาคำว่าสุขนี่ยืมไปใช้ เกิดจากนิพพานนี่มันเรื่องหนึ่ง พูดให้สนใจในนิพพาน เพราะนิพพานต้องไม่สุข ต้องไม่ทุกข์ แต่เราอยากจะพูดว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นี่คนฟัง มันฟังเอานิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ก็สุขคู่กับทุกข์นี่ มันก็เลยหลงติดในความสุขนี้ เลยไม่เข้าใจนิพพาน ไม่เข้าใจความสุขชนิดที่ว่า ไม่ใช่ความสุข ที่เหนือความสุข
คุณเห็นเห็นหรือเปล่าว่าไอ้รูปเสียงระฆังไม่ได้เขียนคำอธิบาย มันเขียนยาก ทั้งๆ ที่ผมรู้ความหมายเขานั่น แต่ว่าเขียนคำพูดยาก แต่งให้เป็นคำพูด แล้วยิ่งเป็นคำกลอนยิ่งแต่งยากที่สุดเลย คุณเข้าใจแล้วคุณไปแต่งเอาสิ ไปใส่ความว่างใต้รูประฆังให้มันเต็มเสียที นั้นตามความรู้สึกของผมนะ ไอ้เชอร์แมน (Shermann) นี้ไม่เลวนะ ฝรั่งคนนี้ไม่เลวนะ แม้ว่าเขาจะไปเอาของคนอื่นมา ไปยืมของคนอื่นมา ก็เก่งอยู่นะ ถ้าความคิดนี้เขาไปเอาคนอื่นมา เขาก็ยังเก่งแหละ เขาไปเลือกเอาที่เรียกว่า ที่ลึกสุด ที่ดีที่สุด ถ้าเป็นหัวของเขาเองเขียนภาพนี้ออกมายิ่งเก่งยิ่งขึ้นไปอีก มันเขียนเสียงระฆังนี่จากไม่มีที่สิ้นสุดและก็สู่ไม่มีที่สิ้นสุดนี่ มันเก่ง นั้นอย่าไปดูถูกไอ้คนชาวบ้าน หรือว่าไอ้คนฝรั่ง หรือว่าคนอะไรมันรู้อะไรได้เหมือนกัน เรามันมัวมีมานะทิฐิอย่างนั้นอย่างนี้เสียมันถึงรู้ช้า มันต้องปล่อยใจให้โล่ง ให้ว่าง ให้เป็นธรรมชาติ พยายามทำจิตใจให้เป็นธรรมชาติ อย่าเห็นแก่ตัว อย่ามีตัว ก็จะเข้าใจอันนี้ ความรู้สึกอันนี้ มันลึกมาก มันละเอียดมาก เราไม่สามารถจะเขียนคำกลอนอธิบายภาพนั้นให้คนธรรมดาอ่านรู้เรื่องเหมือนกับภาพอื่นๆ มันคงจะเขียนได้แต่ตัองใช้ความพยายามนึกคิดกันมากมาย
ที่จริงมันก็อาจจะใช้คำพูดหรือวิชาหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันทางวัตถุนี้ก็ได้ เขาก็พยายามมองกันในแง่นี้อยู่แล้ว แต่มันไม่มากหรือไม่ลึกซึ้ง เช่นวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้ก็พูดว่า วัตถุไม่สูญอย่างนี้ วัตถุไม่สูญ สสารไม่สูญ พลังงานไม่สูญ วัตถุต่างๆ นี่ไม่สูญ เพียงแต่มันเปลี่ยนรูป มันไม่ได้สูญไปไหน มันเปลี่ยนรูปเป็นก้อนหิน ก้อนดิน ต้นไม้ ใบไม้ เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นอะไรก็ตาม มันเปลี่ยน แล้วมันไม่ได้สูญหายหรือขาดหายไปไหน นี่ครูสอนวิทยาศาสตร์อธิบายอยู่ว่าวัตถุไม่สูญ เด็กคนหนึ่งพูดว่า เมื่อเช้านี้ หมวกของกระผมหาย ว่ายังไง เมื่อเช้าหมวกของเขาหาย เขาบอกอย่างนี้ นี่มันคนเรื่องใช่ไหม นั้นไปเรียนเรื่องวัตถุเสียบ้างก็ดี เช่นทองคำขุดขึ้นมาจากดิน ซื้อขายเอามา ทำเป็นนิ้ว สร้อย เป็นแหวน ใส่คอนี้ ก็คิดว่าไม่หายไม่สูญ ที่จริงไอ้ความสึกหรอไปทีละนิดละนิด ยิ่งแขวนมากเท่าไรมันยิ่งหายไปเท่านั้น มันหายละเอียดเป็นปรมาณู เป็นปรมาณูไปเลย เหมือนคนแก่ๆ เขาห้ามไม่ให้แขวนสร้อยข้อมือ ขัดหม้อขัดไห มันไปถูกับหม้อไหมันก็กร่อนไป หายไป แต่ถึงอย่างนั้น แต่ไม่ถึงอย่างนั้นมันก็หายไป ทุกอย่างมันหายไป แต่มันนานมาก แล้วหายไปไหนหล่ะ มันก็หายอยู่ในโลกนี้ ยังอยู่ในโลกนี้ แล้วมันหายไปไหนไม่ได้ มันธาตุแท้ ยิ่งเป็นธาตุแท้อย่างทองคำนี่มันไม่หายไปไหน แต่มันมองไม่เห็น แล้วมันไปเปลี่ยนไป แล้วไปรวมตัวกันได้อีก ไปอะไรกันได้อีก วนไปวนมาอยู่ในโลกนี้ ซึ่งโดยทีแรกมันก็แยกออกจากหินที่เป็นตัวเนื้อโลกนี้ แล้วมันก็มาเป็นทองคำ ถูกคัดออกมาเป็นทองคำ แล้วมันก็จะละลาย จะหาย ละเอียด หายไป หายไปอีก ไปปน ไปเจอกันกับอันอื่นอีก แล้วออกมาอีกนี้เรียกว่าวัตถุไม่หาย เพียงแต่เปลี่ยนอยู่ในสภาพที่เราเห็นมันบ้างไม่เห็นมันบ้าง หรือน้ำฝนนี่เท่าที่มันมีอยู่ในโลกนี้มันไม่ได้หายไปไหน มันตกลงมาเป็นฝน ตกลงมาเราใส่โอ่งไว้ แล้วมันก็หายไป เดี๋ยวๆ ฝนมันตกมาอีก เราก็มีอีกมีน้ำฝนอีก แล้วมันก็หายไปได้ บ้านโน่นบ้านนั้นที่นั่นที่นี้ โอ่งใหญ่ก็คือทะเล ตกลงมาในทะเล หายขึ้นไปในอากาศ ทั่วทุกหนทุกแห่งมันก็เปลี่ยนอยู่นั่นล่ะ แล้วก็ไม่ได้หายไปไหน มีเท่าเดิมด้วย นี่ก็เป็นเรื่องวัตถุแท้ๆ ก็มีอาการเหมือนอย่างนี้ ออกมาจากไม่มีที่สิ้นสุดและกลับไปสู่ไม่มีที่สิ้นสุด คุณลองศึกษาดูเรื่องวัตถุ เช่นน้ำในโลกนี้ดูบ้าง ให้เข้าใจอย่างนี้ น้ำนี่ก็มาจากไม่มีที่สิ้นสุดแล้วมันก็ไปสู่ไม่มีที่สิ้นสุด อันเดียวกันนั่นล่ะ แล้วถามว่าอยู่ที่ไหน มันก็ตรงนี่ล่ะ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ทั่วไปหมด คือที่นี่และเดี๋ยวนี้แล้วก็ทั่วไปทั้งหมดเลย ไม่มีที่ไหนเลย ที่ไม่เป็นที่นี่และเดี๋ยวนี้
ทีนี่ความทุกข์ ปัญหาใหญ่มันก็คือความทุกข์ เพราะฉะนั้นเสียงระฆังนี้ต้องเปรียบด้วยความทุกข์ เสียงระฆังที่ดังขึ้นและเงียบไปต้องเปรียบด้วยความทุกข์ เหตุเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางอะไร มีตัณหาและอุปาทานแล้วมีความทุกข์ ที่เกิดขึ้น ดังขึ้นจากพื้นฐานที่ไม่มีที่สิ้นสุด ธรรมชาติ แล้วขณะหนึ่งก็ดับลงไปสู่ความไม่มีที่สิ้นสุด ความทุกข์เกิดจากสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุดดับสู่ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าจิตไปโง่ไปเอาเป็นความทุกข์ของเรา จิตนี้ก็เป็นทุกข์ ดังนั้นจิตนี่เขาต้องการให้แยกออกมาเสีย จากเกิดหรือดับ อย่าเอาติดไปผูกกับเสียงระฆังที่ดังขึ้นหรือดับไป ให้จิตอยู่ฝ่ายไม่มีที่สิ้นสุดเสียสิ นั่นเป็นจิตอมตะ หรือเป็นจิตอะไรแล้วแต่สมมติ นี่ต้องเป็นจิตที่ไม่มีความทุกข์ ไม่ว่าร่างกายจะเปลี่ยนแปลง อะไรจะเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันจะเกิดขึ้น ดับไปก็ตามใจมัน
ผมเคยพูดว่าสุนัขดีกว่า แมวดีกว่าคุณดูเถอะ ว่ามันดีกว่าจริง มันไม่ฉลาดไปในทางที่จะไปยึดว่าเรา ว่าของเรา ไอ้คนเรานี่มันช่วยไม่ได้เสียแล้ว เพราะมันมีมันสมองมันมีความฉลาด ที่จะยึดอะไรว่าเรา ว่าของเราเสียแล้ว มันก็เลยมีความทุกข์ ส่วนหมา ส่วนนี้ มันไม่มีความฉลาดพอที่จะยึดอะไรว่าเป็นความทุกข์ ว่าเป็นของเรา เพราะฉะนั้นจะมีความทุกข์น้อยที่สุดเลย ยึดถือแต่น้อยที่สุด เดี๋ยวเดียวชั่วความหิวชั่วความอะไรเท่านั้น สติปัญญาลึกซึ้งที่จะคิดลึกซึ้งว่าเป็นอะไรของเรา เงินของเรา ทรัพย์สมบัติของเรา เรามีเกิด เรามีตาย เราต้องมีอะไรไว้ต่อชาติหน้า นี่มันคิดไม่เป็น เพราะมันสมองมันไม่ถึงนั่น มันจึงมีความทุกข์น้อยกว่าเรา เพราะมีความยึดถือน้อยกว่าเรา ไอ้มนุษย์นี่ที่บาปกรรมหนัก ที่เกิดไปฉลาดเข้า ไปกินผลไม้ที่ทำให้ฉลาดเข้า รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักสวรรค์ รู้จักนรก รู้จักทำ มันก็เลยมีเรื่องมาก แล้วก็มีความทุกข์มาก ดังนั้นมนุษย์เราจึงต้องการความรู้อันใหม่ที่สุนัขหรือแมวไม่ต้องการ เพราะสมองไม่ใช่ระดับเดียวกันไม่เหมือนกัน มนุษย์ต้องการความรู้อันใหม่ที่มาดับไอ้เรื่องบ้าๆ ของตัวนี่ ที่มันบ้ายิ่งกว่าสุนัขกับแมว อย่าให้มนุษย์นี้เป็นทุกข์ นี่มันจึงเดือดร้อนถึงสติปัญญาของพระพุทธเจ้าเรื่องการตรัสรู้ เรื่องนิพพาน เรื่องทำความไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ดีเกินไปสำหรับมนุษย์ที่มีมันสมองดีเกินไป
ถ้ายืนดูชะนีตอนเช้าๆ นี่มันเป็นครูให้มากทีเดียว โหนไปโหนมา โหนไปโหนมา มันสบายที่สุดเลย แต่ถ้ามนุษย์นี่หน้าบูดหน้าบึ้งอยู่ตลอดเวลา ทนทรมาน หวานอมขมกลืนอยู่ตลอดเวลา ไม่จำทำ ก็กรรมทำ เป็นเสียอย่างนี้ นั้นเราต้องแก้มันให้ตก ให้เป็นเหมือนกับไม่ทำ ทำงานเหมือนกับไม่ทำ เจ็บไข้เหมือนกับไม่เจ็บไข้ หิวเหมือนกับไม่หิว อยากเหมือนกับไม่อยาก มีเงินเหมือนกับไม่มีเงิน มีสุขเหมือนกับไม่มีสุข ไปซื้อของที่ตลาดอย่าเอาอะไรมา อย่างพระเยซูว่า อย่างพวกคริสเตียนว่า ไปซื้อของที่ตลาดขืนเอาอะไรมาก็เอามาทรมานใจให้เป็นทุกข์ มันฟังไม่ถูก เลยไม่ปฏิบัติในข้อนี้ พวกคริสเตียนไม่ปฏิบัติในข้อนี้ เพราะฟังไม่ถูกเลยทิ้งไว้เฉยๆ ในพระคัมภีร์ นี้ถ้าพวกเรามันควรจะรู้และปฏิบัติ ทำไปทุกอย่างด้วยจิตว่าง ไปซื้อของที่ตลาดหิ้วอะไรมานี่ จิตใจเหมือนกับไม่ได้หิ้วอะไรมา มาถึงบ้านแล้วกินข้าวเหมือนกับไม่ได้ใช้ไม่ได้กิน ความอร่อยเกิดขึ้นแล้วเหมือนกับไม่อร่อย ความสุขเกิดขึ้นแล้วเหมือนกับไม่ได้รับความสุข อย่างนี้คือวิธีที่ทำให้ระฆังไม่มีโอกาสจะดังขึ้นมา เป็นระฆังเงียบอยู่เรื่อย เสียงระฆังดังขึ้นมาทีไร คือความทุกข์ทั้งนั้น แล้วใคร ต่างคน ต่างระวัง เมื่อเวลาทำงานระวังระฆังจะดังขึ้นมา เมื่อคุณทำงานนั่นแหล่ะระวัง ระวังระฆังจะดังขึ้นมา เดี๋ยวงึ่ง เดี๋ยวง่าง เดี๋ยวแฮ่ เดี๋ยวฮื่อ ก็รักษาให้เป็นระฆังเงียบอยู่ได้เรื่อยก็ดี มีพุทธภาษิตในธรรมบทอันหนึ่งที่พูดถึงเรื่องระฆังทำนองนี้ ใครนึกได้บ้าง คาถาธรรมบท นี่เรียนไม่ซึ้งทั้งนั้น ไอ้ส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระแล้วไม่จำ ไม่จริง คือมีพุทธภาษิตที่ว่าทำให้เหมือนระฆังแตกๆ ตีไม่ดังต่อไป เหมือนว่าลงท้ายด้วย ยถา สหโต ยถา ตังโข (นาทีที่ 1.06.08) สหโต ยถา อะไรนี่ มันไม่กังสดาล ที่เขาต่อยปากแล้วตีไม่ดัง พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ เป็นระฆังที่ตีไม่ดัง ถ้าเป็นระฆังที่ตีดัง ก็หมายความว่า อะไรเข้ามาทำให้โกรธก็โกรธ อะไรเข้ามาทำให้รักก็รัก อะไรทำให้หลงก็หลง นี่เป็นระฆังที่ตีดัง แล้วให้รู้เถิด มันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ไอ้ความที่ตีดังแล้วดับไป ตีดังแล้วดับไปไม่มีที่สิ้นสุด หมายความว่าไอ้ที่มันจะมาทำให้เรารัก เราเกลียดนี้มีไม่มีที่สิ้นสุด มีได้ทุกหนทุกแห่ง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้นนี่ ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้ ที่จะมาทำให้ระฆังดังหึ่งขึ้นมา
ดังนั้นระวังแต่อย่าให้ระฆังดังก็พอแล้ว อย่าไปศึกษาอะไรมากเลย โอกาสที่ระฆังจะดังก็คือเมื่อเราเหนื่อยขึ้นมา หรือว่าอะไรขึ้นมา ไม่ได้อะไร ไม่มีใครขอบใจ ไม่มีใครเอาอกเอาใจ นี่ดูเถิด บางคนอึดอัดเหมือนกับนรกสุมอยู่ในใจ เพราะว่าไม่มีใครเอาอกเอาใจ ไม่ได้อย่างใจ ไม่อะไร อะไรไม่เป็นไปตามใจที่ต้องการ อย่างนี้ทั้งนั้นแหล่ะ ให้ทำไปโดยไม่ต้องการ อย่าไปต้องการอะไรแล้วทำไป หัดในข้อนี้เรื่อยไป หัดทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างนี่เรื่อยไป ระฆังก็จะไม่มีโอกาสดัง คือความทุกข์นี่อาจจะมีเกิดได้ อาจจะเกิดขึ้น เมื่อมันไม่มีเสียงดัง ก็ไม่มีเสียงดับ เมื่อไม่มีคลื่น มันก็ไม่มีดับ คือหยุดแห่งคลื่น มันก็คือสงบตลอดกาล
พวกมหายาน บางพวก บางคน มันไปไกลกว่าเรา ที่ว่า ไอ้นิพพานคือวัฏฏะสงสาร พูดอย่างนี้ น่า ยอมแพ้มันเลย นิพพานกับวัฏฏะสงสารอันเดียวกัน นี่มองถึงแง่ว่า เราไปแยกส่วนที่เรารักมาเป็นนิพพาน ส่วนที่เรากลัวเกลียดมาเป็นสังขาร สงสาร คือโง่ นั้นตลอดเวลาที่ยังต้องการนิพพานอยู่ยังโง่อยู่ทั้งนั้น เมื่อไม่ต้องการอะไรหมดนี่ ให้มันเหมือนเท่ากันแล้วก็ ไม่มี ไม่มีเรื่องที่เป็นทุกข์ มันเป็นนิพพานจริง ส่วนนิพพานของชาวบ้านเป็นอันเดียวกับวัฏฏะสงสาร ซึ่งมันจะสุขจะทุกข์นี่มันเป็นทุกข์ด้วยกัน เป็นสังขาร เป็นการปรุงแต่ง แต่เมื่อไม่สุขไม่ทุกข์หรือว่าง หรือไม่พูดได้ว่าอะไรนั่นแหละ จึงจะไม่ทุกข์ ถ้ายังเอานิพพานไปเป็นคู่กับวัฏฏะสงสารอยู่แล้วก็ยังบ้า ยังโง่ มันเป็นของอันเดียวกัน แล้วอันหนึ่งเกิดอันหนึ่งดับ อย่างนี้ในเมืองไทยไม่มีพูด แล้วไม่มีสอน แล้วสอนก็ไม่เชื่อ คัดค้าน เพราะไม่เข้าใจข้อนี้ ฝรั่ง(นาทีที่ 1.10.30) ว่าดีชั่วเป็นของอย่างเดียวกัน ดีหรือชั่ว บุญหรือบาป สุขหรือทุกข์เป็นของอย่างเดียวกัน ....(นาทีที่ 1.10.36) นิพพานกับวัฏฏะสงสารก็ของอย่างเดียวกัน ต้องว่าง ต้องไม่เป็นนิพพาน ต้องไม่เป็นวัฏฏะสงสารถึงจะไม่เป็นทุกข์ แต่นี่พอเถรวาทเรายึดมั่นคำว่านิพพาน จะเต็มแจ จะเต็มอรรถ (นาทีที่ 1.10.56) เลย ทิ้งไม่ออก ต้องการนิพพานอยู่เรื่อย แล้วไม่มีหวังที่จะได้ ยิ่งต้องการยิ่งไม่ได้ ยิ่งหวังยิ่งไม่ได้ ไม่หวังอะไรจึงจะเป็นนิพพาน นี่ระฆังไม่ดังถึงจะได้ ถ้าระฆังยังดังอยู่หรือดับอยู่ ดังอยู่ดับอยู่ ไม่ได้ นี่คุณถวิลให้พูดเรื่องทำงานด้วยจิตว่าง ก็วันนี้ก็พูดอย่างนี้ ทำงานบางทีระฆังมันจะไม่ดังขึ้นมา นาทีที่ 1.11.42
เสียงเงียบหายไปจนถึงนาที่ที่ 1.11.57
ถ้าว่ากลัวก็เข้าไปนอนที่ในมุ้งก็แล้วกัน ไม่ต้องขาดศีล ข้อตบยุง ใครอยากจะรู้เรื่องนี้ก็ลองนอนกับยุง ลองนอนกับยุงดูบ้าง ว่าาจะมีศีลจริงไหม ว่าตรงนั้นมีศีลจริงหรือไม่ ลองไปนอนกับยุง อย่าหนีไปนอนในมุ้ง ทั้งเรื่องโกหกหลอกลวงเอาเปรียบตัวเอง ก็ไม่รู้ หนีไปนอนในมุ้ง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้นอนในมุ้ง ท่านเองยังใช้จีวรนี้เป็นเครื่องป้องกันเหลือบยุงหนาวร้อน ผมเองก็ใช้อย่างนั้น ตั้งแต่สวนโมกข์มาจนบัดนี้ สวนโมกข์เดิม สวนโมกข์ใหม่มาจนบัดนี้ เว้นแต่เมื่อเจ็บไข้ใครเอามากางให้ก็ไม่รู้ หรือไปในที่อื่น เมืองอื่น ที่เขาให้เกียรตินี่เขาให้นอนในมุ้ง เขากางให้เสร็จ ถ้าอยู่ที่วัดนี่นอนกับยุง.....(นาทีที่ 1.13.05) ข้างล่างเอาแส้หวดยุงกระจัดกระจายไปบ้างเหมือนกัน มันแล้วแต่ใครจะชอบนะ ผมก็ไม่ได้พูดว่าอะไรมาก ใครอยากจะกางมุ้งเสียหมดเรื่องไปก็ตามใจ ใครอยากรู้ว่ามีศีลจริง หรือไม่มีศีลจริง มีธรรมะจริง หรือไม่มีธรรมะจริงก็ลองนอนกับยุงดูบ้าง แล้วก็นอนที่สนามหญ้า ค่ายลูกเสือ ก็ดี ยุงก็มี หนาวก็มี น้ำค้างก็เปียกไปทั้งตัว นั่นนะมันรู้เรื่องจริง เพราะฉะนั้นอย่าอวดให้มากไปเลย มันเป็นเรื่องเล่นตลกกับตัวเอง โกหกตัวเอง ตลบตะแลงกับตัวเองอยู่นั่นล่ะ ไปไป มามา อยู่อย่างนี้ แต่กับตัวเองก็คิดว่าทำให้ดีที่สุดนี้ ทำให้ดีที่สุด ทำให้ดีที่สุดเลย จะเคร่งให้ดีที่สุดเลย เรื่องเล่นตลกกับตัวเองอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นผมจึงไม่เคร่ง แล้วก็ไม่เพ่งด้วย ไม่ ไม่ทั้งสองอย่าง เคร่งก็ไม่เอา ไม่เคร่งก็ไม่เอา เอามันที่ถูกที่ควร ที่มันจะแก้อะไรได้นี้
นี่เรียกว่าธรรมะปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์ในทางธรรม ที่ต้องพูดซ้ำๆ ซากๆ อยู่เสมอ แต่ไม่ซ้ำทุกตัวอักษร เหมือนลงโบสถ์ลงปาฏิโมกข์วินัย ปาฏิโมกข์ซ้ำเสียเหลือเกิน นี่เรายังฟังในแง่อื่น มุมอื่น ปริยายอื่น แต่ว่าเรื่องว่างเรื่องเดียว ไม่มีเรื่องอะไร เรื่องว่างเรื่องเดียว ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แต่เรื่องว่างเรื่องเดียว เรียกว่าปาฏิโมกข์ได้เหมือนกัน ปาฏิโมกข์ฝ่ายธรรมะ เอาล่ะพอกันที ค่ำแล้ว