แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ในทำนองคลองธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาเป็นบุพพาปรลำดับ สืบเนื่องมาแต่ธรรมเทศนาในตอนเช้า แห่งวันวิสาขบูชา ล้วนแต่เป็นธรรมเทศนา ที่ตักเตือนท่านทั้งหลาย ให้ระลึกนึกถึง พระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้กระทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี ให้เหมาะสมแก่การที่จะกระทำ อาสาฬหบูชาในวันนี้ เอ่อ, วิสาขบูชาในวันนี้ ทั่วทุกคนจะต้องมีจิตใจ ที่กระทำไว้เป็นอย่างดี โดยแยบคายเป็นพิเศษในวันนี้ ให้สมกับที่เป็นวันสำคัญ ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเราได้ประกอบ กุศลวิธีมีประการต่างๆ เป็นพิเศษ เพื่อหวังประโยชน์ว่าจะเป็น ประโยชน์เกื้อกูล เป็นส่วนรวม คือสัตว์ทั้งหลายจะได้มีความรู้ ความเข้าใจ มีความสนใจและเอาใจใส่ ได้รู้ได้เห็นได้สะกิดใจให้คนเหล่านั้น มาสนใจในพระพุทธศาสนา และให้ตัวเอง มีการอบรมจิตใจให้ก้าวหน้า สูงยิ่งขึ้นไปทุกคราวที่กระทำ และอีกส่วนหนึ่งถือว่าการกระทำนี้ เป็นการบูชาแด่สมเด็จพระบรมศาสดา ซึ่งเป็นบุคคลผู้ควรบูชาสูงสุด เราจึงต้องบูชาด้วยการบูชาที่สูงสุด ในการบูชานั้น มีการบูชาอย่างสูงก็มี ไม่สูงก็มี บูชาตามธรรมดา ก็มี การบูชาที่เรียกว่าเป็นธรรมดาและไม่สูงนั้น ก็คือการกระทำที่ทำไปสักว่าเป็นพิธีรีตอง เคยทำกันอย่างไรก็ทำกันอย่างนั้น สักแต่ว่าทำกิริยา แม้ว่าจะหาดอกไม้ธูปเทียนมาจุดบูชาก็ดี หรือจะเดินเวียนประทักษิณ เอ่อ, ก็ดี ล้วนแต่เป็นการกระทำ ที่พอเป็นพิธีรีตอง ในจิตใจไม่ได้กระทำโดยแยบคาย อย่างนี้เรียกว่าเป็นการบูชาพอเป็นพิธี เพื่อให้การบูชาไม่เป็นพิธี เอ่อ, เป็นเพียงพิธี ก็จะต้องมีการกระทำในใจ ด้วยความบากบั่นพยายามให้ดีที่สุด เป็นการบูชาด้วยจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางจิตใจ คือรู้และเข้าใจยิ่งขึ้นแล้วก็ปฏิบัติตามยิ่งขึ้น และแม้ที่สุดแต่ว่าการตั้งอกตั้งใจ บังคับจิตใจให้ระลึกนึกถึง คุณของพระพุทธเจ้าในโอกาสนี้เป็นต้น นี้ก็เรียกว่าเป็นการกระทำทางจิตใจด้วยเหมือนกัน การบูชาด้วยการกระทำนั้นสูงกว่าการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของหมายถึงดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น นี้เป็นเรื่องวัตถุ แม้ว่าจะเป็นความพยายามของการที่หามาหรือกระทำ แต่ถ้าไม่ได้กระทำในใจ อ่า, ให้แจ่มแจ้ง ให้ซึมซาบในพระคุณของพระพุทธเจ้า เป็นต้นแล้ว การบูชานั้นก็เป็นเพียงภายนอก ผู้บูชาจะต้องทำจิตใจให้ซึมซาบอยู่ในพระคุณของพระพุทธเจ้าจริงๆ แล้วทำการบูชาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ก็ชื่อว่าเป็นการบูชาด้วยจิตใจหรือปฏิบัติบูชา
พระคุณของพระพุทธเจ้านั้นมีมากมาย แต่อาจจะสรุปได้เป็น ๒ อย่าง ด้วยกัน คือพระคุณของ พระองค์เอง และพระคุณที่เนื่องมาถึงผู้อื่น คุณสมบัติอันใดเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธเจ้า ทั้งหมดนั้น เป็นคุณสมบัติส่วนพระองค์เอง ว่าผู้ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องประกอบไปด้วยคุณธรรม คุณสมบัติอย่างนั้น อย่างนั้น นี้เราก็ต้องรู้ ต้องเข้าใจ และต้องระลึกถึงในโอกาสเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ส่วนพระคุณประเภทที่ ๒ คือพระคุณที่เนื่องมาถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนี้ นี้เรียกว่าเป็นพระคุณ ที่ผูกพันอยู่กับ สัตว์ทั้งหลาย พระผู้...พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้มีพระคุณ ในฐานะเป็นบุพการี เราเป็นผู้รับพระคุณในฐานะ เป็นลูกหนี้ เราจะต้องมีความกตัญญูกตเวทีสนองตอบ ในโอกาสเช่นนี้ก็เป็นโอกาสอันหนึ่ง ซึ่งจะต้องระลึกถึงพระคุณข้อนี้ ใครระลึกได้มากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการดีเท่านั้น เพราะว่ายิ่งระลึกได้มาก ก็ยิ่งมีศรัทธามาก มีความเลื่อมใสมาก มีความเสียสละมาก และการกระทำเหล่านั้นก็เป็นประโยชน์ แก่บุคคลนั้นเอง จึงเรียกว่าเป็นคุณ ที่ส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ หลายระยะ หลายลำดับทีเดียว เป็นสิ่งที่ต้อง กระทำในวันเช่นวันนี้ อ่า, ด้วยเหมือนกัน หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะต้อง เตรียมใจในลักษณะเช่นนี้ เพื่อการกระทำวิสาขบูชาต่อไป ให้ระลึกนึกถึงพระคุณเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ โดยนัยยะเป็นต้นว่า ถ้าปราศจากเสียซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว โลกนี้ก็จะเป็นโลกที่มืดมน ไม่มีแสงสว่างในทางจิตทางใจ สัตว์ทั้งหลายไม่รู้ว่าจะดำรงจิตใจไว้ในลักษณะอย่างไร ถึงจะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ บัดนี้เพราะเหตุที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก เป็นเหมือนกับการสอง เอ่อ, ส่องแสงสว่าง ให้สัตว์โลกทั้งหลาย ได้มองเห็นว่าจะเดินทางไปอย่างไร ถึงจะพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ ไม่ต้องเกิดมาเพื่อทนทุกข์ทรมาน หรือว่าไม่ต้องเกิดมา เพื่อเป็นหมันเปล่า คือไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เดี๋ยวนี้เราเกิดมาไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน ไม่ เอ่อ, เสียทีที่เกิดมา เพราะว่าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี้ก็เป็น อือ, ความหมายอันสำคัญของพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรามาประกอบการบูชาในวันนี้ เป็นที่ระลึกถวายแก่พระองค์ ตามหน้าที่ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี ตามวัฒนธรรมของชนชาตินี้ ซึ่งมีไว้สำหรับประกอบกรรมเช่นนี้ เราก็พากันตั้งอกตั้งใจที่จะกระทำในวันนี้อยู่แล้ว นี้เป็นข้อตักเตือนโดยหลักพื้นฐานทั่วๆ ไป อันเกี่ยวกับวิสาขบูชา
แต่บัดนี้ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอยากจะปรารภกับท่านทั้งหลาย เป็นการตักเตือนด้วยเหมือนกัน ที่เป็นชั้นละเอียดประณีตลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปในทางจิตใจ คือขอให้ทุกคนระลึกว่า การบูชานี้ทำด้วยจิตใจ เพื่อให้จิตใจเข้าถึงพระพุทธเจ้า หรือเรียกว่าเข้าถึงพระคุณของพระองค์ก็ตามใจ เรื่องก็เป็นอย่างเดียวกัน เพราะว่าถ้าจิตใจของใครเข้าถึงพระคุณของพระเจ้าได้ ก็เท่ากับเป็นการเข้าถึงพระพุทธเจ้าอยู่นั่นเอง เราจงทำจิตใจให้เข้าถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยวิธีที่ทำจิตใจให้เหมือนกันกับจิตใจของพระพุทธเจ้า ยิ่งไปกว่านั้นอีกเราจะต้องดำ เอ่อ, เนินการเป็นอยู่ ตลอดถึงการกิน การอยู่ การนั่ง การนอน ในเสนาสนะ ที่อาศัย หรืออะไรๆ ทุกอย่างให้คล้ายกับพระพุทธเจ้า ก็จะยิ่งเป็นการดี เพราะว่าเป็นที่เชื่อกันว่า เอ่อ, เป็นการแน่นอน ในการที่เราจะรู้สึกลึกซึ้งถึงจิตใจของผู้ใด เราควรจะมีการเป็นอยู่ให้คล้ายการเป็นอยู่ของบุคคลนั้นด้วย เพราะว่าเมื่อเรามีการเป็นอยู่เหมือนกับบุคคลใด เราอาจจะเข้าใจในความรู้สึกของบุคคลนั้นได้ง่าย หรือว่าเราอาจจะฟังคำพูดของบุคคลเหล่านั้นเข้าใจได้ง่าย การที่จะให้พวกเทวดามาฟังคำพูดของมนุษย์เข้าใจ หรือให้พวกมนุษย์ฟังคำพูดของเทวดาเข้าใจย่อมจะเป็นการยาก แต่ถ้าหากว่ามนุษย์ลองเป็นอยู่อย่างเทวดา หรือ...หรือเทวดาเป็นอยู่อย่างมนุษย์เสียก่อนแล้ว ก็จะฟังพูดกันเข้าใจหรือรู้เรื่องกันได้ง่ายขึ้น หรือว่ารู้สึก ถึงความรู้สึกในจิตในใจแก่กันและกันได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะสามารถปรับปรุงทุกสิ่งทุกอย่าง ให้คล้ายๆ กันกับการเป็นอยู่ของพระอริยเจ้าทั้งหลายแล้ว เราก็จะทราบถึงความรู้สึกในจิตใจของพระอริยเจ้าทั้งหลายนั้น ได้โดยง่าย ดังนั้นเกี่ยวกับพระพุทธเจ้านี้ เราจะต้องระลึกนึกถึงว่า ท่านเป็นอยู่อย่างไร ท่านฉันท์อาหารอย่างไร ท่านบรรทมอย่างไร ตลอดถึงโดยหลักใหญ่ๆ ว่า ท่านประสูติที่ตรงไหน ท่านตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่ตรงไหน แล้วท่านดับขันธ์ทำกาลกิริยาที่ตรงไหน ในลักษณะอย่างไร ในวันเช่นวันนี้ เราควรจะระลึกกันอีกทั้งที่รู้อยู่แล้ว ระลึกอยู่แล้ว ว่าพระพุทธเจ้านั้น ท่านประสูติกลางดิน ใต้โคนต้นไม้ในสวนป่าอุทยานแห่งหนึ่ง ลองคิดดูเถิดว่ามันจะเป็นอย่างไร มันไม่เหมือนคนที่คลอดบนบ้านบนเรือน หรือในสถานที่ที่จัดไว้เฉพาะ เช่นโรงพยาบาล เป็นต้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ที่ตรงไหน ก็ตรัสรู้ที่พื้นดิน โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ไม่ใช่บนกุฏิ วิหารที่สะดวกสบายสวยงามอะไร เหมือนกับที่เรา เอ่อ, เกี่ยวข้องกันอยู่โดยมากในสมัยนี้ คือว่าสมัยนี้ แม้แต่ภิกษุ สามเณร ก็ไม่ค่อยจะพอใจที่จะนั่งลงตรงโคนไม้ อย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า แล้วคิดนึกระลึก ถึงความจริง หรือธรรมะต่างๆ ถ้าไปนอนเอกเขนกบนที่นอนอันสบายแล้วคิดนึก ความคิดนึกมันก็ไหลไปเรื่อยเปื่อยไปทางอื่น ไม่ไปทางเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านคิดนึกเป็นแน่นอน ฉะนั้น จงระลึกไว้ในใจเสมอว่า พระพุทธเจ้าท่าน ตรัสรู้อย่างไร ที่ตรงไหน เราควรจะเสพภพ เสนาสนะเห็นปานนั้นให้มาก เราจึงจะเข้าใจการตรัสรู้ ความหมายแห่งธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้ได้โดยง่าย ระลึกนึกต่อไปว่าพระพุทธเจ้าท่านปรินิพพานที่ ที่ไหน เราก็รู้กันอยู่อีกแล้วว่าที่โคนต้นไม้สองต้น ระหว่างต้นไม้ ๒ ต้น ในสวนป่าอุทยานแห่งหนึ่ง บนผ้าสังฆาฏิทับๆ ซ้อนๆ กัน จะบนเตียงหรือไม่ใช่บนเตียงนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ แม้จะเป็นเตียงก็เป็นเตียงเตี้ยๆ กลางพื้่นดิน ที่โคนไม้นั่นเอง นี้ก็จะเห็นได้ว่า เราไม่ต้องการจะตายกันอย่างนี้ อยากจะตายบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม หรือจะตายที่โรงพยาบาลพร้อมหน้าลูก พร้อมหน้าหลาน พร้อมหน้าสิ่งที่ ประคบประหงม นานาประการ จนไม่รู้จะตั้งสติไว้อย่างไร ยิ่งในสมัยนี้ด้วยแล้ว ความรู้ของมนุษย์ก้าวหน้า ในการที่ทำให้คนตายยาก ตายลำบากอย่างยิ่ง และในที่สุดก็คือตายโดยไม่ต้องมีสตินั่นเอง เพราะเอาอะไรๆ ไปค้ำจุนเข้าไว้ อย่างไม่ถูก สัดถูกส่วนกัน ไม่รู้จะตายลงได้อย่างไร ไม่มีใครที่จะยอมตาย เพราะยังหวังที่จะได้รับ การช่วยให้รอดจาก ความตายอยู่เสมอ มันจึงตรงกันข้ามไปหมดทุกอย่างทุกทาง ไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้าท่าน ตรัสว่า ๓ เดือน แต่วันนี้ ตถาคตจะปรินิพพาน แล้วถึงวันนั้นพระองค์ก็เสด็จปรินิพาน ในลักษณะการที่ง่ายๆ กลางพื้นดิน ดังกล่าวแล้ว
รวมความในที่สุดก็กล่าวได้ว่า ท่านประสูติกลางพื้นดิน ท่านตรัสรู้กลางพื้นดิน ท่านนิพพานกลางพื้นดิน คนเราที่เป็นสาวกของพระพุทธองค์นั้น ดูจะเกลียดกลางพื้นดิน จะนั่งบนดินก็รังเกียจไม่อยากจะนั่ง ต้องขวนขวายหานั่นหานี่มารอง ด้วยเหตุอย่างไร ด้วยความประสงค์อย่างไร ท่านทั้งหลายก็รู้อยู่แก่ใจตัวเอง ดีแล้วทุกคน ไม่ต้องพูด แต่เรื่องที่จะพูดก็มีอยู่ที่ว่า ไม่ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าเสียเลยนั่นแหละ ว่าท่านเกิดอย่างไร ท่านตรัสรู้อย่างไร ท่านปรินิพพานอย่างไร ที่ตรงไหน ด้วยจิตใจไปเห่อเหิมทะเยอทะยาน ไปเห่อเหิมทะเยอทะยานที่จะอยู่ดีกินดี ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้ มันก็เกลียดการเป็นอยู่อย่างพระพุทธเจ้า ทำก็ทำด้วยความจำใจ ทำสักครั้งหนึ่งคราวหนึ่งก็ด้วยความอิดหนาระอาใจ อย่างดีที่สุดก็หลอกตัวเอง ว่าวันนี้ได้กินอยู่อย่างง่ายๆ เหมือนพระพุทธเจ้า ทำเพียงเพื่อหลอกตัวเอง เพื่อปลอบใจตัวเอง อย่างนี้ไม่พอ ต้องกระทำถึงขนาดที่เรียกว่า ด้วยจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้น ให้เปลี่ยนสภาพของจิตใจให้อยู่ไปในลักษณะ ที่จะเข้าถึงธรรมชาติ รู้จักความจริงตามธรรมชาติ หรือที่เราเรียกว่าการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น คนทุกวันนี้ต้องการจะอยู่ดีกินดีไม่มีที่สิ้นสุด แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าให้กินให้อยู่แต่พอดี คำว่าพอดีของท่านนั้นไม่ได้มีความหมายอย่างเดียวกันกับคนสมัยนี้ต้องการ อยู่ดีกินดีของผู้คนสมัยนี้ มีแต่จะเกินความพอดีจะยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ไม่มีที่สิ้นสุด นั้นเขาเรียกว่าอยู่ดีกินดี พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า กินอยู่พอดี คือ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ไม่ได้หมายความว่า ให้มันยิ่งๆ ขึ้นไปในทำนองนั้น แต่หมายความว่าให้พอดีแก่การที่จะเป็นมนุษย์อยู่ อย่างเหมาะสม ในการที่จะทำหน้าที่ของมนุษย์ การทำหน้าที่ของมนุษย์ก็คือการ เอ่อ, ประพฤติหรือกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้รู้จักความจริง ในความเป็นมนุษย์ รู้จักชีวิต รู้จักการงาน รู้จักความสุข รู้จักความทุกข์ รู้จักทุกอย่างทุกประการ ซึ่งไปสรุปอยู่ในคำว่า มีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เรียกว่า หน้าที่ของมนุษย์ เราทำมาหากิน นี้ก็เพื่อให้มีชีวิตอยู่ แล้วก็เพื่อให้ได้ทำหน้าที่อันนี้ เดี๋ยวนี้คนทั่วไปทำมาหากิน เพื่อจะกินให้ดีวิเศษเกินกว่าธรรมดา เอ่อ, เกินกว่าเทวดาไปเสียอีก แล้วยังจะสะสมไว้ให้มาก ให้ได้กินชนิดนั้น ตลอดกาลนานอีก แล้วยังจะสะสมไว้เผื่อลูกเผื่อหลานอีก มันก็หมดเวลากัน จะเอาเวลาไหนไปทำงานในหน้าที่ ของความเป็นมนุษย์ เพราะเอาเวลามา หากินทำกิน เพื่อการกินที่ไม่รู้จักสิ้นจักสุด ของตนเอง และของลูกของหลาน ไม่มีจิตใจส่วนไหนเหลืออยู่ สำหรับจะไปทำหน้าที่การงานในทางจิตทางใจ เพื่อความ...ความเป็นมนุษย์ที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป อ่า, มีแต่จะเร่งให้สูงขึ้นไปในทางการกิน ไม่มี อ่า, ขอบเขต เสร็จเรื่องกินก็เรื่องกาม เสร็จเรื่องกามก็เรื่องเกียรติ ทั้งกิน ทั้งกาม ทั้งเกียรตินี้ รวมความแล้วเป็นเรื่องกินทั้งนั้น กินทางตาบ้าง กินทางหูบ้าง กินทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไปคิดดูเองก็เข้าใจได้ กินทางปากนี้ก็กินอาหารตามธรรมดาทางลิ้น เรื่องกามก็เป็นเรื่องบริโภคทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เรื่องเกียรติก็เป็นการบริโภคทางจิตทางใจ เป็นเรื่องกินทั้งนั้น กินทางตา กินทางหู กินทางจมูก กินทางลิ้น กินทางกาย กินทางใจ จึงไม่รู้จักสิ้นจักสุด ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ จึงได้เป็นเปรต เพราะเหตุนั้นเอง คือมีความหิว มีความทะเยอทะยานแต่จะกิน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่มีเวลาที่จะทำหน้าที่ของมนุษย์ คือศึกษาให้รู้ เข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์และความดับทุกข์ ถ้าเรามัวเป็นกันอยู่อย่างนี้ ก็เป็นการยากอยู่ เอ่อ, ในตัวแล้ว ที่จะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือปฏิบัติตาม คำสอนนั้นๆ เพราะเราเป็นทาสของการกิน อยู่ในโลกนี้ก็เป็นทาสของเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เต็มไปทั้งนั้น และเรื่องหลังคือเรื่องเกียรตินี้ อ่า, เป็นเรื่องที่ไม่รู้จักสิ้นสุด เบื่่อยากเพราะมันลึกลับซับซ้อนมาก เป็นเรื่องกิเลสประเภทตัวกูของกู ชนิดที่ไม่รู้จักอิ่มจักพอ คนจึงได้ตายไปเปล่า ด้วยเหตุด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการที่จะละเสียซึ่งสิ่งเหล่านี้ นี้เป็นปกติธรรมดา เป็นภาวะที่มีอยู่จริง เป็นอยู่จริง แม้ในวงพุทธบริษัทในพุทธศาสนา เป็นเหตุให้เป็นพุทธบริษัทแต่สักว่าปากว่า ตามพิธีรีตอง ตามธรรมเนียม ตามทะเบียนเท่านั้น แล้วก็มาเที่ยวโทษกันว่าทำไม เอ่อ, จึงไม่มีการประสบความสำเร็จในการ บรรลุมรรคผลนิพพาน หาได้มองดูไม่ว่ามันเป็นเพราะตน โดยที่แท้จริงนั้นหาได้ต้องการไม่ เพราะไปหลงในเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ มีความเห็นแก่ตัวกู ยิ่งกว่าเห็นแก่พระพุทธเจ้า ยิ่งกว่าเห็นแก่พระธรรม ยิ่งแก่...ยิ่งกว่าเห็นแก่พระสงฆ์ นั้นมันจึงจบอยู่เพียงแค่มีตัวกู ที่ยกหูชูหางยิ่งขึ้นไปทุกที ยิ่งขึ้นไปทุกที สูงยิ่งขึ้นไปทุกทีจนลดลงไม่ได้ จนกระทั่งตายไป
บัดนี้มาถึงวันเช่นวันนี้แล้ว ควรจะได้ระลึกนึกกันให้ดี เพื่อจะเตรียมจิตใจให้เหมาะสม แก่การที่จะ นั่งใกล้พระพุทธเจ้าด้วยจิตใจ การทำบูชานี้ทำด้วยจิตใจ ถ้าทำสำเร็จจริงก็เป็นการเข้าถึงพระพุทธเจ้าด้วยจิตใจ นั่งใกล้พระพุทธเจ้าด้วยจิตใจ เราจะต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวกันอย่างไร จึงจะเป็นการเหมาะสมแก่การที่จะ นั่งใกล้พระพุทธเจ้า ในปีที่แล้วๆ มาก็ได้กล่าวถึง ข้อความเรื่องใดเรื่องหนึ่งในลักษณะที่เป็นการ ชำระสะสางตัวเองให้มีความสะอาดในวันนี้ เพียงพอที่จะนั่งใกล้พระพุทธเจ้า ด้วยการกระทำวิสาขบูชา ดังที่กล่าวแล้ว สำหรับในวันนี้นั้น อยากจะระบุ เอ่อ, ลงไปอีกข้อหนึ่งว่า จงทำตนให้เป็นคนสะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง คือการเป็นขโมย เป็นโจร ท่านทั้งหลายเป็นโจร เป็นขโมยอย่างหน้าด้านที่สุด คือไปปล้น ไปแย่ง ไปชิง เอาสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาเป็นตัวกูของกู นี้เรียกว่าเป็นโจร เอ่อ, เป็นขโมย ไปปล้นเอาสิ่งที่ไม่ใช่ของตน ไปแย่งเอาสิ่งที่ไม่ใช่ของตน มาเป็นตัวเป็นตน นั่นก็ของกู นี่ก็ของกู เงินก็ของกู ทองก็ของกู ลูกเมียของกู บ้านเรือนของกู รถยนต์ของกู เรือกสวนไร่นาของกู พวกโจรหน้าด้านเหล่านี้จะนั่งใกล้พระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะว่าได้แย่งชิง เอาสิ่งของตามธรรมชาติที่ ที่แท้ไม่ใช่ของตน มาเป็นของตน เพียงแต่ขนบธรรมเนียมของคนโง่ หรือกฎหมายของปุถุชนคนธรรมดาสามัญ ระบุไว้ตามธรรมเนียมประเพณีว่า นั่นของคนนั้น นี่ของคนนี้ ตามที่เกี่ยวข้องอยู่อย่างไร นั้นมันเป็นเรื่องหลอกลวง โดยเนื้อแท้จริงนั้นมันเป็นของธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ยอมให้ใครในเรื่องนี้ ใครไปขืนเอาเป็นของกู มันก็ตบหน้าให้ทันที แต่คนหน้าด้านเหล่านี้ก็ไม่รู้จักเจ็บจักจำ ยอมให้ตบอยู่เรื่อยไป จนไม่รู้จะปูดจะบวมกันอย่างไร ก็ยัง ตู่ธรรมชาติมาเป็นของกูอยู่นั่นเอง
นี้เรียกว่าเป็นการทนทรมานในนรกในอบาย อยู่ในปัจจุบันทันตาเห็นนี้ พวกโจรขี้ขโมยหน้าด้านเช่นนี้ จะมาเวียนเทียนให้พระพุทธเจ้าในลักษณะอย่างไรกัน จะมานั่งใกล้พระพุทธเจ้าในลักษณะอย่างไรกัน เพราะฉะนั้นในโอกาสนี้โดยเฉพาะ จะต้องรู้จักทำจิตทำใจให้สะอาด สว่างไสว แจ่มแจ้ง บริสุทธิ์พอที่จะพูดว่า เราเคารพนับถือพระพุทธเจ้าด้วยใจจริง แล้วจึงมาแสดงอาการเคารพอย่างสูงสุดด้วยการ เวียนประทักษิณ เช่นวันนี้ นี้อาตมากำลังกล่าวว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในโอกาสที่จะกระทำวิสาขบูชานี้ อย่างน้อยที่สุดขอให้เปลี่ยน จิตใจ มาในลักษณะที่ถูกต้อง แก่การที่จะเข้าใกล้พระพุทธเจ้า อย่าเป็นโจรเป็นขโมยขี้ตู่ แล้วไม่รู้สึกละอาย ไม่รู้จักละอาย ในการที่จะเอาของธรรมชาติมาเป็นของตัวกู จงตั้งใจเสียใหม่ จงคิดเสียใหม่ว่าบัดนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นของกู และไม่มีแม้แต่ตัวกู มีจิตว่างเหมือนจิตพระพุทธเจ้า คือทำสติอยู่ในใจเสมอ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของธรรมชาติ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา แม้ร่างกายจิตใจที่รู้สึกคิดนึกได้ กำลังพูดได้อะไรได้อยู่นี้ มันก็เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติที่มีคุณสมบัติอยู่ในตัวมันเอง อย่างนั้น มันจึงพูดได้ มันจึงคิดได้ ถ้ามันคิดผิด มันก็พูดผิด ทำผิด มันก็เป็นไปในทางที่จะมีความทุกข์ ถ้ามันคิดถูก ก็พูดถูก ทำถูก ก็เป็นไปในทางที่ไม่เป็นทุกข์ มันแยกกันอยู่เป็นสองฝ่ายอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านอยู่ในฝ่ายที่ไม่เอาอะไร มาเป็นตัวกูหรือของกู ท่านมีจิต อ่า, ไม่มีความยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวกูของกู แล้วเราจะสมัครเป็นสาวกของท่าน เป็นบริษัทของท่าน นั่งใกล้ท่าน แวดล้อมท่านอย่างนี้ เราจะเข้าไปด้วยจิตใจที่มันตรงกันข้าม นั้นได้อย่างไรกันเล่า ขอให้ลองนึกดูเถิด แม้แต่วัวมันก็เข้าถึงวัว สุนัขมันก็เข้าถึงสุนัข นกมันก็เข้าถึงนก คนที่มีจิตใจตรงกันข้ามถึงขนาดนั้น มันเข้าถึงกันไม่ได้ ถ้าเราอยากจะเข้าใกล้พระพุทธเจ้า เราจะต้องมีจิตใจที่ระงับเสีย ซึ่งความรู้สึกที่เป็นคนขี้ตู่ ขี้ขโมย เอาของธรรมชาติมาเป็นของกูหรือเป็นตัวกู กล่าวอย่างหนึ่งก็คือว่า จงละเสียซึ่งความมีตัวกู ของกู จงลดหู ลดหางลงเสียให้หมด อย่ามีการยกหูชูหางเป็นตัวกูของกูเลย การปรับปรุงอย่างน้อยเช่นนี้แหละ จึงจะเหมาะสมสำหรับการที่จะเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้า นั่งแวดล้อมท่านคือมีท่านอยู่ในจิตใจ มีท่านไว้ในท่ามกลางแห่งจิตใจของเราได้จริง ถ้าไม่ใช่อย่างนี้แล้วมันเป็นไปไม่ได้ จะมีพระพุทธเจ้ามาอยู่ในจิตใจของคนขี้ลัก ขี้ขโมย ไม่รู้จักอายเช่นนี้ไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะพิจารณากันอย่างไรมันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในจิตใจของคนที่เป็นคนขี้ลัก ขี้ขโมยแล้วไม่รู้จักอาย นี้จะมีพระพุทธเจ้าไม่ได้
ดังนั้นในวันนี้อย่างน้อยสักชั่วโมงหนึ่ง ก็ขอให้มีจิตใจชนิดที่ว่างจากความรู้สึกใดๆ ที่เป็นตัวกู เป็นของกู ให้รู้ว่าสิ่งนี้แหละ ตัวกู ของกูนี่แหละ เป็นพญามาร เป็นความทุกข์ เป็นทุกอย่างที่ไม่พึงปรารถนา ความว่างเสียจากสิ่งนี้แหละเป็นพระพุทธเจ้า คือเป็นธรรมะสูงสุด เราลองระลึกนึกถึง ความรู้สึกต่างๆ ที่ปรากฏแล้วแก่ใจ เอ่อ, ในเวลานี้โดยเฉพาะ ว่าเรารู้สึกสบายใจที่นี่ ตรงนี้ ถ้ามีความรู้สึกสบายใจเช่นนั้นจริง ก็จงมองดูเถิดว่า มันเนื่องมาจากเพราะว่าที่ตรงนี้ไม่มีอะไรเป็นของเรา เราไม่อาจจะยึดถือสิ่งใด ที่ตรงนี้ว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา ยิ่งกว่านั้นอีกเรากำลังลืมไปว่าเรามีตัวเรา จิตใจไม่ได้มาปรารภตัวเราเองว่า มีตัวเรา ไปปรารภถึงพระพุทธเจ้าบ้างเรื่องอื่นบ้าง ไม่ใช่ตัวเราทั้งนั้น ธรรมชาติต่างๆ ในสถานที่นี้ ก็เป็นอยู่ด้วยความสงบแวดล้อมจิตใจ ให้เป็นไปในทางความสงบ คือลืมตัวเรา อะไรๆ ก็ช่วยให้ลืมตัวเรา ไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวเราหรือของเรา เราจึงมีความสบายโดยที่ไม่ต้องมีอะไรมาปรุงแต่ง
นี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่ทุกคนควรจะจับหลักความจริงให้ได้ว่า คนเรามีความสุขใจที่สุด เฉพาะแต่ในขณะ ที่เราไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นของเราเท่านั้น ขอให้ทุกคนช่วยจดจำหรือว่าท่องจำคำนี้ไว้ เอาไปคิดดูว่าจริงหรือไม่ ซึ่งจะขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า คนเราจะมีความรู้สึกเป็นสุขใจที่สุด ก็เฉพาะต่อเมื่อ เราไม่มีความรู้สึกว่า เราไม่มีอะไรเป็นของเรา พอมีความรู้สึกว่ามีอะไรเป็นของเรา ก็ต้องมีความทุกข์แบบใดแบบหนึ่ง เป็นความทุกข์ที่เผาลนก็ได้ เป็นความทุกข์ที่ล่อให้หลงใหล ยั่วยวนอย่างยิ่งก็ได้ แต่มันเป็นความหนักอกหนักใจ เป็นความทรมานใจทั้งนั้น สุขเวทนาก็ทำให้เป็นทุกข์ตามแบบของสุขเวทนา ทุกขเวทนาก็ทำให้เป็นทุกข์ตามแบบของทุกขเวทนา ที่เขาเรียกว่าสุขเวทนานั้นมันเป็นภาษาคนโง่พูด ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสท่านตรัสว่า เวทนาทั้งหลายเป็นทุกข์ไม่ได้ยกเว้นเวทนาอะไร ที่พูดว่าสุขเวทนานั้น ชาวบ้านพูด พูดกันตามภาษาชาวบ้าน บางทีพระพุทธเจ้าก็ต้องพูดภาษาชาวบ้าน เพราะว่าพูดให้ชาวบ้านฟัง ดังนั้น จึงมีการจำแนกเวทนา เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง แต่เวทนาทุกชนิดแล้ว ใครไปบริโภคยึดถือว่าเป็นของเราแล้วมีความทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์อย่างเผาลนก็มี ทุกข์อย่างไม่ให้รู้สึกก็มี นี่คือข้อที่เรากำลังเข้าใจผิดกันอยู่ ไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่า สุขเป็นอย่างไร ทุกข์เป็นอย่างไร จึงได้หลงใหลหวังต่อสุขเวทนา ซึ่งเป็นเพียงความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ชั่วขณะ พร้อมกันนั้นก็ให้ความทนทรมานอย่างลึกซึ้งอยู่ในตัว ถ้าพิจารณาเห็นความจริงข้อนี้แล้วก็จะเห็นได้ว่า ต่อเมื่อไม่มีเวทนาสิ่งใดๆ มารบกวนจิตใจต่างหาก จึงจะมีความสุข ชนิดที่เป็นความสงบสุข แท้จริงสบายใจ จนบอกไม่ถูก แม้ว่าความรู้สึกเช่นนั้นจะถูกจัดเป็นเวทนาอันหนึ่งก็ตาม แต่ในขณะนั้นไม่ได้ยึดถือเวทนานั้น โดยความเป็นของเรา เวทนานั้นจึงไม่ได้ทำความทุกข์ให้ แต่ถ้าผู้ใดเมื่อได้รับความรู้สึกที่เป็นความสุข โดยทำนองนี้แล้ว มีความยึดมั่นหมายมั่นเป็นตัวกู ของกูแล้ว แม้สุขเวทนาชนิดนั้นก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่นบุคคลผู้ เจริญฌานในปฐมจตุตฌาน เป็นต้น ได้รับความสุขอย่างยิ่งจากฌานนั้นแล้ว มีความยึดมั่นถือมั่นในความสุขนั้น ความสุขชนิดนั้นก็กลายเป็นวัฏสงสารไป ความอยากชนิดนั้นก็กลายเป็นภวตัณหาไป เป็นตัณหาที่ทำให้เกิดความทุกข์ในรูปอื่น แบบอื่น ต่างจากกามตัณหา แต่แล้วก็เป็นความทุกข์อย่างเดียวกัน คือความยึดมั่น ถือมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ โดยความเป็นของหนัก โดยความเป็นของผูกพัน โดยความเป็นของทรมานจิตใจ นี่แหละคือข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นได้ว่า ขึ้นชื่อว่าเวทนาแล้วจะเป็นเวทนาชนิดไหนก็ตาม เป็นสักว่าเวทนาเท่านั้น จะเป็นสิ่งที่ควรยึดถือมาเป็นตัวตนของตนไม่ได้ มีความยึดถือเมื่อใดก็มีความทุกข์เมื่อนั้น เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า คนเราจะมีความรู้สึกเป็นสุขที่สุด ก็เฉพาะต่อเมื่อ ไม่ได้มีความรู้สึกว่าตนมีอะไร ถ้ารู้สึกว่าตนมีอะไร ก็หมายความว่าตนได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นซะแล้ว จึงรู้สึกว่าเรามี แม้ที่สุดแต่ยึดมั่นถือมั่น ในชีวิตนี้ ว่าเรามีชีวิตอยู่อย่างนี้มันก็ต้องเป็นความทุกข์ เพราะว่ามีชีวิตที่จะต้องบริหาร ที่จะต้องเป็นห่วง เป็นเหตุให้กลัวตายขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่มีความรู้สึกว่าเรามีชีวิต ขณะนั้นเราก็ไม่กลัวตาย ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตก็ไม่มี เราจึงรู้สึกสบาย พระพุทธเจ้าท่านสอนในเรื่องนี้ คือสอนให้มีชีวิตหรือมีอะไรก็ตาม สักว่ามีตามสมมุติ อย่ามีโดยความยึดมั่นถือมั่นด้วยจิตใจที่ยึดมั่นถือมั่นจริงๆ ว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา นี้เป็นคำสอนเพียงข้อเดียวในพระพุทธศาสนา คือสอนว่าอย่ายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ โดยความเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา ผู้ใดปฏิบัติได้เพียงเท่านี้ ก็ชื่อว่าปฏิบัติหมดทั้งพระพุทธศาสนา การนับคำสอน จำนวนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่ามีอยู่ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้น ใจความมีรวมกันเป็นเพียงข้อเดียวว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คือสอนว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไร โดยความเป็นตัวตนของตนนั่นเอง คำสอนประเภทศีล ก็เพื่อจะให้ควบคุมความยึดมั่นถือมั่น คำสอนเรื่องให้ทาน ก็เพื่อให้คลายเสีย ซึ่งความยึดมั่นถือมั่น ถ้าให้ทานถูกต้องตามคำสอน ก็บรรเทาความยึดมั่นถือมั่น แต่เดี๋ยวนี้ให้ทานกันผิดๆ จึงได้เพิ่มความยึดมั่นถือมั่น คำสอนในเรื่องสมาธินี้เป็นเรื่องบังคับ หรือข่มขี่ความยึดมั่นถือมั่นไม่ให้เกิดขึ้นมา ตลอดเวลาที่มีสมาธิอยู่ คำสอนเรื่องปัญญานั้น ทั้งหมดเป็นไปเพื่อขุดรากขุดเหง้าของความยึดมั่นถือมั่น ให้กระจัดกระจายสูญหายไปไม่มีเหลือ สิ่งที่เรียกว่ามรรคผลนิพพานนั้น เป็นผลที่ได้มาจากการที่จิต ไม่ยึดมั่นถือมั่น ในระดับใดระดับหนึ่ง กระทั่งถึงระดับสูงสุดคือไม่มีเหลืออยู่เลย เป็นความดับเย็นเป็นนิพพาน นี้เรียกว่าในพระพุทธศาสนามีสอนเพียงเรื่องเดียว คือเรื่องไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ข้อนี้เป็นข้อที่แปลกประหลาด ที่ว่าคนสมัยนี้เห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาด สำหรับในสมัยโน้น ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาด เป็นเรื่องที่พอพูดกันรู้เรื่อง ส่วนมาถึงสมัยนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็เพราะว่าคนได้ตกจมลงไปในบ่อของความยึดมั่นถือมั่นมากเกินไปนั่นเอง มิหนำซ้ำมีคนปากสกปรก ได้แปลคำว่า ว่าง เอ่อ, สุญญตานี้เป็นเรื่องสูญเปล่าไปเสียอีก คนก็เลยกลัวเรื่องว่าง คำว่า สุญญะ หรือสุญญตา แปลว่าความว่าง ไม่ใช่ความสูญเปล่า คนปากสกปรกไปแปล สุญญตา ว่าความสูญเปล่า หรือการสูญเสียเปล่า ไม่มีประโยชน์อะไร คนก็ยิ่งกลัวความว่าง ที่จริงคำว่า สุญญตา แปลว่า ความว่าง คือความที่มีจิตว่างจากการ ยึดถือสิ่งใดๆ ว่าเป็นตัวเราหรือของเรา สิ่งต่างๆ ยังคงมีอยู่ตามเดิมไม่ไปไหนเสีย แต่เมื่อจิตไม่ไปยึดมั่นสิ่งเหล่านั้น ว่าตัวเรา ว่าของเราแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็กลายเป็นความว่าง คือมันไม่ได้ทำอันตรายแก่จิตใจ อ่า, ของเราเลย มันเท่ากับไม่มี และเมื่อจิตใจนี้ไม่ได้ยึดสิ่งใดไว้ ไม่ได้ถือสิ่งใดไว้ ไม่ได้กุมสิ่งใดไว้ มันก็เป็นจิตใจที่ว่าง เหมือนมือที่กำลังว่างที่ไม่ได้ยึดมั่นสิ่งใดไว้ มันก็สบาย มันไม่ต้องหิ้วอะไรไว้ให้หนัก แต่คนเดี๋ยวนี้ฟังไม่เข้าใจ เพราะไปแปลคำว่า ความว่าง ผิด แปลสุญญตาว่า สูญเปล่า คนก็เลยเสียดายว่ามันจะสูญเปล่า จึงไม่อยากจะว่าง ก็เลยได้เป็นทุกข์ตกนรกทั้งเป็น สมน้ำหน้าของคนจำพวกนี้ ที่ไม่รู้จักเรื่องของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่เอาใจใส่ที่จะรู้ หรือจะเข้าใจให้ถูกต้อง พลอยพูดผิดๆ พลอยกระทำผิดๆ ไปตามๆ กัน จนคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนากลายเป็นหมัน ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ผู้ใด ในลักษณะเช่นนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าเป็นสมัยโบราณครั้งพุทธกาล เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญพอจะพูดกันรู้เรื่อง เพราะว่าเขามีความฝักใฝ่สนใจที่จะ ทำจิตให้ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่เป็นปกติ จึงพูดกันเข้าใจง่าย พอมาถึงสมัยนี้ ขวนขวายกันแต่ในทางที่จะมีอะไร จะยึดมั่นอะไรท่าเดียว ไม่กล้าคิดไปในทางที่จะปล่อยวาง จึงตรงกันข้ามไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง พูดกันก็ไม่รู้เรื่องแล้วจะปฏิบัติได้อย่างไร
เรื่องไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นนี้เป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นเรื่องทางส่วนลึกของจิตใจหรือที่เรียกว่า ทางวิญญาณ ดวงวิญญาณของคนนั้นๆ อย่าได้มีความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ เลย ส่วนร่างกายนั้นจะเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆ ได้ ในทางที่ถูกที่ควร โดยไม่ต้องยึดมั่นว่าของเรา จิตใจส่วนที่เนื่องกันอยู่กับร่างกายนี้ เป็นเพียงทำหน้าที่ควบคุมร่างกาย ให้กระทำงานได้ ให้กระทำอะไรได้ไปตามหน้าที่ที่ควรจะทำ ไม่ใช่สติปัญญาในส่วนลึกส่วนสูง สติปัญญาในส่วนลึกส่วนสูงหรือดวงวิญญาณนั้น อย่ามีความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ควบ...ควบคุมจิตใจนี้อย่าให้มี เอ่อ, อย่าให้กระทำไป อย่าให้ร่วมมือกันกับร่างกายนี้ กระทำไปในทางที่เป็นความยึดมั่นถือมั่น มันก็อยู่ได้ดี อยู่ได้สบาย แม้แต่จะเสวยสุขเวทนา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ให้ประณีตสูงสุดสักเท่าไร ก็อย่าได้มีความยึดมั่นถือมั่น ให้มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา เหมือนกับของหลอกลวงหรือมายาให้หลงใหลไปพักหนึ่งเท่านั้น แล้วมันมีคุณสมบัติอย่างนี้เอง ถ้าใครโง่เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็หลงใหลนาน ถ้าใครฉลาดก็หลงใหลน้อย หรือไม่หลงใหลเลย แล้วแต่สถานการณ์เช่นนั้น สิ่งใดให้ความยั่วยวนมาก สิ่งนั้นก็ให้ความทุกข์มาก เพราะฉะนั้น การไม่เข้าไปเสียเวลา กับสิ่งเหล่านั้น ย่อมเป็นการถูกกว่า ถูกต้องกว่า หมายความว่า เสียเวลาไปในการมีความสุข ความสงบดีกว่า ที่จะเสียเวลาไปในการที่จะเป็นบาป เป็นทาสของกิเลสตัณหาในเรื่องอย่างนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้ามีประโยชน์ในข้อนี้ คือชี้ให้เห็นว่าคนเราจะต้องมีความรู้สึกคิดนึกอย่างไร จะต้องดำรงจิตใจไว้อย่างไร จึงจะไม่เป็นไปในทางของความทุกข์ คือความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ที่อาตมาใช้คำว่า เป็นโจร เป็นขโมยขี้ตู่เอาของธรรมชาติมาเป็นของตนนี้ ก็หมายถึงความยึดมั่นถือมั่น ที่เป็นไปถึงขนาดสูงสุด เท่าที่มันจะเป็นไปได้ ไม่ยอมฟังเสียงใคร ไม่เข้าใจคำพูดใดๆ หมด นอกจากคำพูดที่สอนให้ยึดมั่นถือมั่น อะไรๆ ก็ของกู อะไรก็ของกู ล้วนแต่เต็มไปด้วยของกู และทวีเพิ่มมากขึ้น ก็เหมือนกับคนที่ว่า อ่า, กินของเมา ดื่มของเมา ดื่มยาเสพ เอ่อ, กินยาเสพติดเข้าไป ถึงขนาดที่ว่าลืมไอ้...ไอ้ ??? (48.57) ทำให้สร่างออกไม่ได้ ถ้าเป็นคน เอ่อ, ติดของเสพติดมึนเมาขนาดนี้แล้ว ก็ฟังเรื่องราวของพระพุทธเจ้าไม่ถูก จะให้ฟังถูกก็ต้องมีการเขย่า หรือกระตุก หรือกระชาก หรือผ่าตัดกันอย่างรุนแรง ให้เกือบตายเสียก่อน จึงจะฟังถูก จึงจะรู้เรื่อง
แต่เดี๋ยวนี้เราไม่มีโอกาสที่จะทำอย่างนั้นมากนักแล้ว เพราะว่าเรากำลังจะเวียนเทียน เพื่อแสดงความเคารพบูชาสูงสุดแก่พระพุทธเจ้า เราทุกคนจงรวบรัดเอาเถิดว่า ในขณะนี้ ในโอกาสนี้ จะมีจิตใจว่างจากความยึดมั่น ถือมั่นสิ่งใดๆ โดยความเป็นของตน มีจิตใจเหมือนก้อนหินที่ระเกะระกะอยู่ทั่วๆ ไปในแถวนี้ ถ้าเป็นก้อนหินนี้มันก็มีความหยุด มีความสงบ มีความนิ่ง ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความทุกข์ ไม่มีอะไรๆ ที่น่าเกลียดเลย เรามีจิตใจเหมือนก้อนหินกันสักครู่หนึ่งเถิด แล้วก็จะเวียนเทียนทำวิสาขบูชา ไม่เสียทีที่ถ่อร่างขึ้นมา ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจนถึงที่นี่บนยอดภูเขานี้ อย่างไรก็ถือโอกาสนี้เสียเลยว่า เราจะมีจิตใจเหมือนก้อนหิน เหมือนต้นไม้ เหมือนอะไรทุกอย่างที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น แสดงออกมาให้เห็น เราจึงควรจะ อ่า, ทำการนั่งใกล้พระพุทธเจ้า หรือแวดล้อมท่านโดยจิตใจ คือมีท่านมาอยู่ในท่ามกลาง แห่งจิตใจของเราแล้ว เดินเวียนประทักษิณเพื่อแสดงออกมาทางกาย แล้วปากก็พร่ำสรรเสริญพระคุณของ พระพุทธองค์โดยนัยว่า อิติปิโส ภะคะวา เป็นต้น แปลว่าในใจก็ถึงพระพุทธเจ้าจริงๆ ร่างกายก็แสดงออกมา ให้เห็นว่า เรามีความพอใจ มีความตั้งใจอย่างนั้นจริงๆ วาจาก็แสดงออกมาให้เห็นว่า เรามีความพอใจ มีความตั้งใจอย่างนั้นจริงๆ เป็นการกระทำทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ ในลักษณะที่เหมาะสม ที่จะเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในลักษณะที่ว่ามันสมควรแล้วที่จะเรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท คือ...คือผู้ที่นั่งแวดล้อมรอบๆ พระพุทธเจ้าดังนี้
ทั้งหมดนี้เป็นการตักเตือน ซึ่งเป็นการตระเตรียมจิตใจให้เหมาะสมที่จะทำการบูชา วิสาขบูชา ดังที่กล่าวมาแล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้ เอ่อ, พยายาม ที่จะทำความเข้าใจอย่างนี้ และมีจิตใจที่เปลี่ยนไป ในลักษณะเช่นนี้ มีความเหมาะสมที่จะทำวิสาขบูชาด้วยกันจงทุกๆ คน ตามหัวข้อ อ่า, ของธรรมเทศนา ที่ได้กล่าวไว้ในเรื่องความยึดมั่นถือมั่น และความไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยนัยยะว่า คนที่ไม่ฉลาดเขาทำความ ยึดมั่นถือมั่น เขาก็เป็นคนโง่และมีความทุกข์ เพราะเขาไปปล้น ไปโกง ไปขโมย เอาของธรรมชาติมา เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดรู้ความจริงข้อนี้อยู่แล้ว ก็อย่ากระทำความยึดมั่นถือมั่นเลย เป็นผู้ เอ่อ, แสวงหาซึ่งความสิ้นไป แห่งความทุกข์ ไม่มีชาติคือตัวกูหรือของกู เกิดขึ้นมาอีกต่อไปดังนี้ จงพยายามกระทำพระธรรมข้อนี้ไว้ในใจ ตลอดเวลาที่กระทำการประทักษิณ เพราะความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นคนเขลา ทำให้เป็นคนเขลา มีความทุกข์เสมอไป อย่าเป็นคนทำความยึดมั่นถือมั่น แสวงหาความสิ้นสุดแห่งการยึดมั่นถือมั่น อย่าให้ตัวกู ของกู เกิดเป็นชาติขึ้นมาดังนี้ อย่างนี้ก็จะเรียกว่า พระธรรมเหมาะสมอย่างยิ่งในการที่จะบูชาคุณของพระพุทธเจ้า จะเป็นการกระทำที่ถูกพระทัยของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีอย่างไหนจะถูกพระทัยพระพุทธเจ้า ยิ่งไปกว่านี้แล้ว อย่าเพียงแต่ถือดอกไม้ธูปเทียนเวียนประทักษิณเลย จิตใจอาจจะไม่ถึงพระพุทธเจ้า จงทำจิตใจให้ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น แม้แต่จะยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ได้กระทำ อา เอ่อ, วิสาขบูชาอย่างดีแล้ว ดีกว่าใครๆ จะต้องดีแน่อย่างนี้เป็นต้น แต่ทำในใจว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่น เราจะเป็นคนโง่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไม่ได้ บัดนี้เราจะมีจิตใจที่ว่าง จากความยึดมั่นถือมั่น ตามแบบของพระพุทธเจ้า เหมือนพระพุทธเจ้า โดยมองเห็นอยู่ว่าสิ่งทั้งปวงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ไปยึดมั่นถือมั่นเข้าก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น คนมีลูก ก็เป็นทุกข์เพราะลูก คนมี เอ่อ, ภรรยาก็เป็นทุกข์เพราะภรรยา คนมีสามี ก็เป็นทุกข์เพราะสามี คนมีเงินก็เป็นทุกข์เพราะเงิน คนมีชื่อเสียงก็เป็นทุกข์เพราะมีชื่อเสียง ดังนี้เป็นต้น คำว่ามี ในที่นี้หมายถึงการยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เท่ากันกับไม่มี ไม่มีคือไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เท่ากันกับไม่มี ฉะนั้นเราอาจะเป็นคน ที่ว่า ปากอย่างหนึ่งใจอย่างหนึ่งก็ได้ ปากต้องมีแต่ใจไม่ต้องมีก็ได้ ปากว่ามีนั่นมีนี่ มีเงินมีของ มีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในใจนั้นไม่มีก็ได้ คือไม่ได้ยึดมั่นหรือไม่ได้หมายมั่น ว่ามี ว่าเป็นของกู หรือเป็นตัวกูแต่ประการใด คนที่ปากอย่างใจอย่างชนิดนี้เท่านั้น ที่จะนั่งใกล้พระพุทธเจ้าได้ คนที่มีอะไรก็มีไปหมด ตรงกันทั้งปากทั้งใจอย่างนี้ ไม่มีทาง ที่จะนั่งใกล้พระพุทธเจ้าเลย เพราะเขาเป็นโจร เป็นขโมยหน้าด้าน ปล้นเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกูของกูซึ่งหน้า ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ขอให้หยุดความรู้สึกชนิดนั้นเสีย ไม่เป็นโจร ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นอะไรในทำนองนั้น แต่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสั่งสอนอย่างไร ทรงแนะนำอย่างไร เราจะมีจิตใจอย่างนั้น แล้วกระทำการบูชาอย่างสูงสุด ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของพุทธบริษัทชาวไทย ในวันเช่นวันนี้ ให้สำเร็จประโยชน์ กัน จงทุกๆ คนเถิด
ธรรมเทศนาที่เป็นการเตือนสติ เป็นบุพพภาคแห่งการทำวิสาขบูชา ก็สิ้นสุดลงด้วยความสมควร แห่งเวลาเพียงเท่านี้ เอวังก็มีแต่ประการฉะนี้