แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เคยได้ยินไหม ธรรมปาฏิโมกข์ วินัยปาฏิโมกข์ ลงโบสถ์ วินัยปาฏิโมกข์ วินัยปาฏิโมกข์ เดี๋ยวนี้ทำปาฏิโมกข์ คือข้อที่ควรเอามาพูดเสมอ เสมอๆ ซ้ำๆ ทุกๆ ทุกๆ สัปดาห์ หรือทุกๆ สองสัปดาห์ เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ พูดเรื่องตั้งต้น เรื่องที่เป็นหัวใจ ที่เป็นเบื้องต้น ก็เลยพูดซ้ำๆๆ ทุกคราว เรียกว่าพูดเรื่องตัวกูของกู ในแง่ต่างๆ กัน จะพูดเรื่องเดียว เรื่องเดียวคือเรื่องตัวกูของกู
วันนี้ก็จะพูดเรื่องตัวกูของกู โดยหัวข้อว่า พอความรู้สึกว่าตัวกูของกู เกิดขึ้น ก็หมายความว่า กำลังมีวัฏฏสงสาร มีวัฏฏะ หรือสังสาระ หรือวัฏฏะ-สังสาระ พอตัวกูของกูดับไปแล้ว ก็มีนิพพาน การพูดอย่างนี้มันแปลกที่สุด หรือแปลกมาก หรือว่าแปลกจนเขาไม่ยอมเชื่อกันโดยมาก นี่เราก็พูดโดยไม่คิดว่าเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เขาพูดกันนั้นเขาพูดกันว่า ชีวิตเป็นวัฏฏสงสารอยู่ตลอดเวลา จนกว่าเมื่อไร ปฏิบัติบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงจะมีนิพพาน เราบอกว่านิพพานเสียอีก นิพพานเสียอีกมีอยู่เป็นประจำ วัฏฏสงสารมาเป็นครั้งคราว กลับกันอยู่อย่างนี้ เขาว่านิพพานนั้นยังอีกนานกว่าจะถึง แล้วมีวัฏฏสงสารอยู่ตลอดเวลา นี่เราว่านิพพานเสียอีกมีอยู่เป็นประจำ วัฏฏสงสารมีมาเป็นครั้งคราว
นี้จะถือว่าคำว่า นิพพาน หมายความต่างกันก็ได้ หมายถึงนิพพานที่แท้จริง นิพพานเด็ดขาด นิพพานเด็ดขาด แต่เราไม่เรียกว่านิพพานเด็ดขาดหรือว่านิพพานชั่วคราว มันเป็นนิพพาน คือมันเย็นสบาย เวลาที่ไม่เกิดกิเลส เราถือว่าเป็นเวลาที่มีนิพพาน แต่ว่าอย่างชั่วคราว คือนิพพานที่ยังไม่แน่นอน ยังไม่เด็ดขาด เพื่อให้คนเข้าใจนิพพานได้โดยง่ายและสนใจนิพพานได้โดยง่าย แล้วก็มีกำลังใจที่จะปฏิบัติมาก ถ้าพูดอย่างหลักสมัยใหม่เขาก็เรียกว่ามันพูดอย่าง positive คือว่า นิพพานมีอยู่ตลอดเวลา เป็นความหวัง เป็นความได้อยู่ตลอดเวลา ระวังให้ดีวัฏฏสงสารไม่เกิด คือระวังให้ดี อย่าให้กิเลสเกิด วัฏฏสงสารไม่เกิด พอเผลอกิเลสเกิด เขาเรียกว่ามีวัฏฏสงสาร นั้นเราพูดว่ามีนิพพานอยู่ตลอดเวลา ในรูปของ positive เพียงแต่ระวังหน่อย อย่าให้กิเลสเกิด นิพพานก็อยู่กับเรา อยู่ด้วยเรา อยู่กับเรา ตลอดเวลา
นี้อยากจะพูดด้วยคำอื่นที่เห็นได้อีก ก็คือคำว่า ชีวิต เราต้องถือว่าเรามีชีวิต นั่นแหละเป็นพื้นฐาน แต่ว่ามันเป็นชีวิตที่ยังตายได้ ชีวิตธรรมดานี้ตายได้ เช่นเดียวกับความสงบหรือนิพพานของเรานี้ มันยังเปลี่ยนได้ คือมีโอกาสให้กิเลสแทรกแซงได้ เมื่อไม่มีกิเลส ถือว่ามีชีวิต พอมีกิเลสถือว่าเป็นความตาย พอเดี๋ยวกิเลสดับไปมันจะมีชีวิตอีก พอกิเลสมาอีกก็คือความตายอีก นี่เราพยายามอย่าให้กิเลสมาได้ เราก็ได้ชีวิตที่ไม่รู้จักตาย นี่พูดให้ง่าย พูดให้มีหวัง พูดให้มีกำลังใจ ตามปกติเรามีชีวิต ชนิดที่รู้จักตาย ประเดี๋ยวกิเลสก็มาแทรกแซงก็ตายไปพักหนึ่ง ไม่เป็นชีวิต คือไม่เป็นชีวิต เป็นความเร่าร้อน เป็นความตาย พอกิเลสมาก็ตาย พอกิเลสไปก็มีชีวิตอีก นี้เราก็ทำอย่าให้มีกิเลสมา ปฏิบัตินะ ปฏิบัติ เพื่ออย่าให้กิเลสมาและเกิดขึ้นได้ ทีนี้ก็มีชีวิตที่ไม่ตาย
ดังนั้นการปฏิบัติในพุทธศาสนาทั้งหมดนี้ก็เพื่ออย่าให้กิเลสมา อย่าให้กิเลสเกิด ใครๆ ลองไปคิดดู ปฏิบัติพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น เท่าไรก็ตามใจ ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น ก็เพื่ออย่าให้กิเลสเกิด เมื่อกิเลสไม่เกิด เราก็ไม่ตาย เราก็ได้ความเป็นชีวิตนิรันดร เรียกว่าชีวิตนิรันดร อนันตะ อนันตะ ที่เรียกอนันตะ ไม่มีที่สิ้นสุดนั่นก็ได้ eternal อนันตะ
ที่นี้เราได้ชีวิตชั่วขณะ ชั่วขณะ เดี๋ยวกิเลสมาก็ตายไป กิเลสหายไปก็มีชีวิตอีก เพราะฉะนั้นคำว่าชีวิตนั้นก็ความหมายอย่างเดียวกับคำว่านิพพานชั่วคราว นิพพานชั่วคราว ตทังคนิพพาน ถ้าในบาลี สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย มีพูดถึงตทังคนิพพาน เขาเรียกว่านิพพาน จะเป็นตทังคนิพพานหรือ วิกขัมภนนิพพาน หรือสมุทเฉทนิพาน ก็มันเป็นนิพพานด้วยกัน เพราะมันเย็นเหมือนกันหมด เมื่อเราไม่มีกิเลส ก็เย็น เย็นอย่างเดียวกับหมดกิเลส เข้าใจข้อนี้กันหน่อยว่า เมื่อไม่มีกิเลสเลยมันก็เย็นตลอดกาล เมื่อกิเลสไม่เกิด แม้เป็นครั้งคราว มันก็เย็นอย่างเดียวกัน ความที่กิเลสไม่รบกวน ไม่มีกิเลสรบกวน นี้เราเรียกว่าเย็น เย็นคือนิพพาน นิพพานเป็นภาษาชาวบ้าน พูดมาก่อนพระพุทธเจ้า คือความเย็น ความเย็น ต้องการความเย็น
เดี๋ยวนี้มันพูดด้วยคำมาก ด้วยความหมายมาก แล้วเรื่องมันก็มาก มันก็มีเรื่องมาก จนถึงว่า ๘๔,๐๐๐ เรื่อง ๘๔,๐๐๐ หัวข้อ พระไตรปิฏกมี ๘๔,๐๐๐ หัวข้อหรือเรื่อง นี่มันมากเกินไป นั้นไอ้ ๘๔,๐๐๐ เรื่องนั้น มันสรุปได้เพียง ๒ เรื่อง คือเรื่องวัฏฏสงสารกับเรื่องนิพพาน มันแล้วแต่เรื่องไหนมันจะพูดถึงกิเลส หรือความทุกข์ ไอ้เรื่องนั้นมันก็เป็นพวกวัฏฏสงสาร ไอ้เรื่องไหนพูดถึงเรื่องดับกิเลสดับทุกข์ ก็เป็นฝ่ายนิพพาน ดังนั้นให้รู้ไว้ว่าพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ เรื่อง นี้ก็คือ ๒ เรื่องเท่านั้น เรื่องวัฏฏสงสารกับเรื่องนิพพาน นี้เรามาเรียนโดยตรงจากจิตใจ คือเรื่องวัฏฏสงสารกับเรื่องนิพพาน ๒ เรื่องนี้ ก็คือเราเรียนหมดทั้ง ๘๔,๐๐๐ เรื่องในพระไตรปิฎก ให้ทุกคนสนใจเรื่อง ๒ เรื่องนี้
ผมอยากจะเรียกว่า เรื่องว่างกับเรื่องวุ่น ๒ เรื่องคือ เรื่องว่างกับเรื่องวุ่น เราเอาคำที่สั้นที่สุด คำเดียว พยางค์เดียวก่อน คือเรื่องว่าง พยางค์เดียว คำเดียว แล้วก็เรื่องวุ่น คือไม่ว่าง จำไอ้ ๒ คำว่า ว่าง ว่า วุ่น ก่อน ทีนี้คำว่า วุ่น นี้มันหมายถึงปรุง เมื่อมีความวุ่นวาย นั่นล่ะ คือมีการปรุงแต่งตามแบบของกิเลส ทีนี้เมื่อไม่มีการปรุง ไม่มีการปรุงตามแบบของกิเลสนั้น มันก็ว่าง นั้นเรื่องวุ่น ก็คือเรื่องสังขาร คือปรุงแต่ง เรื่องว่างคือเรื่องวิสังขาร คือไม่ปรุงแต่ง ทีนี้ไอ้เรื่องวุ่นหรือปรุงแต่งนี้ก็คือ เรื่องวัฏฏสงสารนั่นเอง เพราะปรุงแต่งคือปรุงแต่งให้วนอยู่ใน ๓ ระยะคือ เกิดกิเลส แล้วก็กระทำกรรม แล้วก็ได้รับผลกรรมเป็นความทุกข์ เรียกว่า วุ่น คือวัฏฏะ วัฏฏะ ไตรวัฏฏ์ กิเลส เช่นความอยาก เป็นต้น ก็ทำให้เกิดกระทำกรรม แม้มโนกรรมคือเพียงแต่คิด ไม่ได้ทำจากปาก หรือมือ เท้าอะไร เพียงแต่คิดก็เป็นมโนกรรม ก็เป็นกรรม แล้วก็มีผลกรรม คือทำให้เป็นความทุกข์โดยตรงหรือความทุกข์โดยอ้อม
ถ้ามันวุ่นนั้นก็ต้องถือว่าทุกข์ ให้หัวเราะอยู่ ให้เต้นรำอยู่ มันก็เรียกว่าวุ่น มันก็ต้องเป็นความทุกข์ คือมันอยู่นิ่งไม่ได้ มันต้องทำ ต้องทน นั้นเหตุที่ไม่ทุกข์ มันก็ต้องไม่วุ่น คือว่าง ไม่ยุ่ง ไม่ปรุง ไอ้ว่างนั้นคือนิพพาน ไอ้วุ่นนั้นคือวัฏฏสงสาร ฉะนั้นเลิก เราเลิกตัวหนังสือมากๆ เลิกคำพูดมากๆ เรื่องไอ้การศึกษาเล่าเรียนมากๆ กันไว้ชั่วคราว คือว่าอย่าไปนึกถึงมัน ที่เรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก นั้นอย่าเพ่อไปนึกถึงมัน เพราะสอนกันอีกระบบหนึ่ง ซึ่งมันผิดหลักธรรมชาติ ไม่ได้ยึด ไม่ได้ยึดตัวธรรมชาติเป็นหลัก ยึดหนังสือ ยึดคำพูด ยึดการบัญญัติแต่งตั้งต่างๆ เป็นหลัก เรื่องมันจึงมาก นี้ให้ตั้งต้นใหม่ตามธรรมดาสามัญ ที่ยึดเอาธรรมชาติเป็นหลัก
โดยเรานึกถึงครั้งพุทธกาล ที่มีคนไป ไปหาพระพุทธเจ้า ไปสนทนาครู่เดียว หรือบางทีไม่ถึงครู่ ก็เป็นพระอรหันต์ก็มี เป็นพระอรหันต์ไป คนที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วเป็นพระอรหันต์ที่ตรงนั้น นั้นไม่ได้เรียนเรื่อง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์หรอก ก็เรียนไอ้เรื่องนี้แหละ เรื่องที่เรากำลังว่า คือเรื่องว่าง เรื่องวุ่น รู้จักเรื่องวุ่นแล้วก็รู้จักทำให้มันว่างก็เท่านั้นเอง เป็นพระอรหันต์ที่ตรงนั้นก็มีมากเหมือนกัน แล้วการแสดงธรรมเพียงครั้งเดียวทำให้คนได้ดวงตาเห็นธรรม จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน นี่มันก็เริ่มเห็นเรื่องนี้ คือเริ่มมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องนี้ อย่างถูกต้องเด็ดขาดลงไป คือวุ่นเป็นอย่างไร ว่างเป็นอย่างไร แต่ถ้ามันมากกว่านั้น คือทำให้จิตหายวุ่น เป็นจิตว่างไปได้ด้วย ก็คือเป็นพระอรหันต์ ถ้าเพียงแต่เห็นแนวโดยประจักษ์ โดยแน่ใจ โดยไม่เปลี่ยนความคิดอะไรอีกต่อไป นี่ก็เรียกว่าได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน ก็คือเริ่มรู้เรื่องว่าง เรื่องวุ่นโดยชัดเจน โดยแน่นอน โดยประจักษ์ ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญคือมัน มันเอาตัวธรรมชาติมาเป็นบทเรียน เอาจิตใจ เอาความรู้สึกในจิตใจเป็นบทเรียน เมื่อใดจิตใจมีการปรุงแต่ง เป็นตัวกูของกู เป็นความวุ่นอย่างนี้ เรียกว่าขณะนั้นเป็นวัฏฏสงสารปรากฎ ขณะใดไม่มีอะไรปรุงแต่ง ไม่มีกิเลส เป็นตัวกูของกู ขณะนั้นนิพพานยังคงปรากฎอยู่ เรียกว่าชีวิตที่เป็นเดิมพันยังมีอยู่ ยังปรากฎอยู่ ความว่างประเภทที่เป็นเดิมพันปรากฎอยู่ จนกว่าความวุ่นมันจะมีมาอีก จนกว่าเราจะทำให้มันวุ่นไม่ได้อีกต่อไป กำจัดความวุ่น ต้นเหตุของความวุ่นเสียได้ มีความว่างตลอดกาล นี้ความว่างเด็ดขาด ความว่างอันสุดท้าย ไอ้ความว่างที่มีอยู่อย่างเดิมพัน ไว้ต่อรองกันนี่เป็นความว่างเดิมพัน
นั้นให้เข้าใจพระพุทธภาษิตที่ว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตตํ จิตนี้เป็นประภัสสร อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ เศร้าหมองแล้วเพราะอุปกิเลสที่เป็นอาคันตุกะมา นี่เป็นข้อความที่ชัดอยู่ว่ากิเลสนั้นเป็นอาคันตุกะมาเป็นคราวๆ เท่านั้น ธรรมดาจิตเป็นประภัสสร คือใสกระจ่าง นี่เราเรียกว่าความว่างเดิมพัน คือชีวิตเดิมพัน ชีวิตที่ยังเปลี่ยนแปลงได้ หรือว่านั่นคือนิพพานประเภท ตทังคนิพพาน จิตประภัสสรนั้นเป็นนิพพานประเภท ตทังคนิพพาน ว่าเป็นนิพพานเดิมพัน นิพพานพื้นฐาน นิพพานเดิมพัน นี้ศึกษาไปปฏิบัติไป ศึกษาไปปฏิบัติไป ไอ้ระยะที่วุ่นนั้นมันน้อยเข้า ระยะที่ว่างมันก็มากเข้า คือมันยืดออกไป ระยะที่ว่างมันยืดออกไป ระยะที่วุ่นมันน้อยเข้า เพราะการปฏิบัติธรรม นี่วัฏฏสงสารมันหดเข้า นิพพานมันยืดออก ที่ปฏิบัติไป ปฏิบัติไป จนถึงที่สุดคือหยุดวุ่นได้ ดับกิเลส ดับต้นเหตุของกิเลส ของวัฏฏสงสารได้ คือไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป ทีนี้ความวุ่นก็ไม่มี ความว่างก็อยู่เป็นอนันตกาล เป็นความว่างถาวร เป็นอนันตกาล มันก็เท่านั้นเอง ก็เป็นนิพพานจริงขึ้นมา นิพพานสมบูรณ์ขึ้นมา
นี่พิจารณาดูให้ดีว่าการพูดอย่างนี้ พูดได้ไหมว่า เรามีนิพพานกับวัฏฏสงสารสลับกันอยู่ ตลอดวันตลอดคืน คือชีวิตปกติธรรมดาของคนธรรมดานี่แหละ มันก็ยังมีนิพพานสลับกันอยู่กับวัฏฏสงสาร แต่เพราะนิพพานนั้นมันเป็นขณะ ชั่วขณะที่วัฏฏสงสารไม่เกิดขึ้น มันจึงยังไม่ใช่นิพพานสมบูรณ์เท่านั้นเอง แต่มันก็มีรสชาติ มีลักษณะเหมือนกัน
บางทีเราเปรียบกันกับน้ำที่ไม่ถูกลมพัด ไอ้น้ำที่ไม่ถูกลมพัด มันก็เงียบ เรียบสนิท คือไม่มีคลื่น ก็คือสงบ คือไม่มีคลื่น แต่เดี๋ยวไม่มีคลื่นมา มันก็ เอ้อ..ไม่มีลมพัดมา มันก็เป็นคลื่นเสียอีก เดี๋ยวมันก็สงบอีก เดี๋ยวก็เป็นคลื่นเสียอีก นี้ถ้าเราหยุดลมเสียได้ หยุดลมที่จะมาพัดเสียได้ มันก็คือ เงียบ สงบ ตลอดกาล ถ้าเพ่งถึงลักษณะอาการมันเงียบเหมือนกันนะ เงียบชั่วคราว หรือเงียบตลอดกาล ลักษณะอาการก็เงียบเหมือนกัน มันผิดแต่เวลา หรือผิดแต่ว่า อันหนึ่งมันเปลี่ยนแปลงได้ อันหนึ่งมันไม่เปลี่ยนแปลงอีก ดังนั้นเราต้องถือว่าเป็นนิพพานอย่างเดียวกัน นิพพานที่มีสลับกันอยู่กับวัฏฏสงสาร กับนิพพานที่สิ้นสุดแห่งวัฏฏสงสารแล้ว นี่ก็นิพพานอย่างเดียวกัน โดยลักษณะ หรือว่าโดยความหมาย ในรส รสชาติของมันคือความสุข มีความสุขอย่างเดียวกัน มันสุขอะไรมากไปกว่านั้นไม่ได้ คือมันสุขเพียงเท่าที่ไม่มีกิเลสรบกวน มันก็สุขเท่านั้นเอง แต่ความรบกวนนี่มันเป็นอย่างที่กล่าวแล้วว่า ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ มันก็เปลี่ยนแปลงได้ เดี๋ยวก็มารบกวนอีกได้ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว มันก็ไม่รบกวนอีกต่อไป แต่ความสุขที่เราได้จากกิเลสไม่รบกวน จากการที่กิเลสไม่รบกวนนี้มันเหมือนกัน
ที่พูดอย่างนี้ ก็เพื่อว่าให้ทุกคนสังเกตดูให้ดีๆ ว่า เวลาที่สบายใจนั้นแหล่ะ เป็นเวลาที่ควรจะเรียกว่านิพพาน แต่เดี๋ยวนี้เราไม่สนใจ แล้วเราไม่เชื่อว่ามีนิพพานในลักษณะอย่างนี้ เพราะเราได้รับคำสอนมาว่า ยังอีกนาน ที่สอนๆ กันอยู่นี้ว่ายังอีกนาน ยังอีกหลายร้อยชาติ อีกหลายพันชาติ อีกหลายแสนชาติ หลายอสงไขยชาติ เราจึงจะได้นิพพาน ดังนั้นคนเหล่านี้จึงไม่สนใจที่จะรู้จักนิพพานที่มีอยู่เป็นประจำวัน เพราะเขาไม่เคยคิดว่านิพพานมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเป็นนิพพานที่ยังเปลี่ยนแปลงได้ ตามความแทรกแซงของวัฏฏสงสารเท่านั้นเอง ถ้าใครยอมรับหลักอันนี้ มันก็จะสนใจทีเดียว สนใจในเวลาที่จิตมันสบาย ไม่มีอะไรกวน แล้วก็พยายามที่จะทำให้มันเป็นอย่างนั้น คอยจ้องที่จะทำให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วมันก็ได้สิ แล้วมันก็จะได้ขยายมากออกไป ขยายมากออกไป เดี๋ยวนี้ทุกคนนอนใจ คือตายใจ หรือว่าแน่ใจ ว่าไม่มีๆ สิ่งที่เรียกว่านิพพานไม่มี ไม่มีหวัง ไม่มี มันก็เลยไม่มีจริงๆ ได้ ถึงจะมีความพักผ่อนในทางจิตใจบ้าง คนนี้ก็ไม่สนใจ เพราะมันกระหาย กระหาย ไอ้นิพพานในความฝันโน้นเสียบ้าง แล้วเมื่อแน่ใจว่านิพพานไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะได้รับแล้ว ก็สมัครที่จะไปหาไอ้เรื่องที่ไม่ใช่นิพพาน คือไปหาเรื่องกิเลสอย่างนั้นอย่างนี้เสียเลย
นั้น สุนัขมันยังมีนิพพานมากกว่าคน นิพพานตามธรรมชาติชนิดนี้ สุนัขมีมากกว่าคน เพราะมันไม่ได้รับการสั่งสอนผิดๆ อย่างคน มันปล่อยไปตามธรรมชาติ เวลาที่มันไม่เกิดความอยาก ความโกรธ ความอะไรขึ้นมา มันก็เป็นนิพพานอยู่ตลอดเวลา นี่ เพราะมันไม่ได้เรียนมาก เพราะมันไม่รู้มาก มันจึงไม่ได้ยากนานเหมือนมนุษย์ มนุษย์ไปสอนกันเสียว่ามันยังอีกหลายอสงไขยชาติจึงจะนิพพาน ก็เลยไม่มีนิพพาน ส่วนไอ้พวกนี้ปล่อยไปตามธรรมชาติ เมื่อใดกิเลสไม่ครอบงำ เป็นนิพพาน พอกิเลสครอบงำจึงจะเป็นวัฏฏสงสาร เป็นความทุกข์
นั้นการเลี้ยงหมาไว้บ้างนี้ไม่เสียทีนักหรอ มันยังเป็นอาจารย์ของเราได้บ้าง ในลักษณะอย่างนี้ ก็ถ้าเราไม่สนใจ ไม่สังเกต มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเหมือนกัน ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวอะไร เลี้ยงไว้เฝ้าของ เฝ้าบ้าน เลี้ยงไว้เห่าขโมย ผมบอกพระวิมาโล (นาทีที่ 31.49) ว่าผม เอ้อ พระวิมาโลถามว่าทำไมเลี้ยงสุนัข เลี้ยงไว้ทำไม เลี้ยงไว้เป็นอาจารย์ เขาก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง อย่างน้อยมันคอยขู่ ขู่ๆ เรา มันคอยขู่เราว่าอย่าให้เลวกว่าสุนัข ฉันยังมีเวลาพักผ่อน แกเป็นคนทำไมไม่มีเวลาพักผ่อน ทำไมไม่มีเวลาที่จิตใจว่างบ้างล่ะ นี่ สุนัขนี่มีเวลาที่จิตใจว่าง ไม่มีความทุกข์ แสดงให้เห็น แสดงให้เห็นว่าไม่มีความทุกข์ เวลาที่ไม่มีความทุกข์ คิดซอกแซกอย่างโน้นอย่างนี้ก็ไม่เป็น มันก็ว่างสิ ทีนี้ไอ้มนุษย์ฝันเรื่อย โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวก็ฝันเรื่อย มันก็ไม่ว่าง ไม่ว่างจริงเหมือนกัน มันไม่หยุด มันฝันได้ไม่มีที่สิ้นสุด หวังได้ไม่มีที่สิ้นสุด เวลาพักผ่อนหรือว่าง มันจึงมีน้อยมาก น้อยมาก จนไม่เป็นที่น่าสนใจเลย นี่ดูสุนัขแล้วก็เห็นว่า ไอ้ความว่างอย่างชั่วคราวอันนั้น นิพพานชั่วคราวหรือความว่างชั่วคราว มันมีมาก มันไม่ได้คิดกลัวจน หรือว่ากลัวขายหน้า หรือว่ากลัวตายเลย มันไม่ได้คิด คิดไม่เป็น ไอ้เรามันพวกรู้มากยากนาน คิดได้มาก เป็นมนุษย์ หัวแหลม คิดได้มาก ฉะนั้นไอ้เรื่องหยุดหรือเรื่องว่างมันจึงมีน้อยหรือมีได้ยาก ทีนี้มันควรจะคิดกันในมุมกลับว่า สุนัขมันไม่มีสติปัญญามาก มันก็ยังมีเวลาว่าง สบาย ไอ้มนุษย์นี้มันก็ควรจะมีเวลาว่าง หรือสบาย ดีกว่าสุนัข เพราะมีปัญญามาก นี่เอาสุนัขไว้ขู่ตัวเองบ้างอย่างนี้ จะได้ใจเรื่องว่างให้มันมากขึ้น ทำให้มันมีมากขึ้น มากขึ้น
ผมจึงพูดในรูปที่ฟังง่าย หรือจำง่าย หรือสั้นที่สุดแล้ว พอกิเลสเรื่องตัวกูของกู เกิดขึ้นมาแล้วป็นวัฏฏสงสาร พอกิเลสเรื่องตัวกูของกู หยุดไป ดับไป ก็เป็นนิพพาน แล้วแต่ละคน แต่ละคน ก็ไปทำตารางเวลา ดูเอาเองก็แล้วกัน ว่า ๒๔ ชั่วโมงนี่มันมีวัฏฏสงสารกี่ชั่วโมง มีนิพพานกี่ชั่วโมง หรือคิดเป็นนาทีไป เวลาที่นอนหลับสนิท ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ฝันอะไรนี่ก็ให้เอาไว้ข้างฝ่ายนิพพาน แล้วเมื่อตื่นอยู่ ความคิดไม่ได้เป็นในทางตัวกูของกู คิดนึกอยู่ รู้สึกอยู่ สบายใจอยู่ โดยปราศจากตัวกูของกู นี่ก็เอาไว้ฝ่ายนิพพาน จัดเป็นฝ่ายวัฏฏสงสารเฉพาะเมื่อมันกลุ้มด้วยราคะ โทสะ โมหะเท่านั้น แล้วไปคำนวณดูว่า อันไหนมันมากกว่ากัน เวลาที่มันว่างมากหรือเวลาที่มันวุ่นมาก
จะเห็นด้วยพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่าจิตนี้ประภัสสร วุ่นวายหรือเศร้าหมองก็เฉพาะต่อเมื่อกิเลสเป็นอาคันตุกะ เป็นแขกมาเยี่ยมเยียนเท่านั้น ไม่มีแขกมาเราก็ประภัสสรเรื่อยไป ถูกแล้วไอ้ประภัสสรนี่ ไม่ใช่นิพพานเด็ดขาด หรือนิพพานถาวร แต่มันเป็นนิพพานเดิมพัน นิพพานต้นทุน นิพพานเดิมพัน ที่เราจะขยายออกไป ขยายออกไป ขยายเวลาที่ประภัสสรนี้เต็มออกไป เต็มออกไป จนประภัสสรตลอดเวลา มันมีคำเรียกว่า กุปปธรรม อกุปปธรรม กุปฺปธมฺโม อกุปฺปธมฺโม ถ้ากุปฺปธมฺโมหมายความว่า กลับวุ่นได้อีก ก็ต้องกระทำไป ทำไป จนเป็นอกุปปธรรม คือกลับวุ่นไม่ได้อีก ให้ประภัสสร คงเป็นประภัสสรตลอดกาลไปเลย สำเร็จด้วยการปฏิบัติ
ทีนี้พูดถึงการปฏิบัติบ้าง การปฏิบัติก็ไม่มีอะไรนอกจากเฝ้า เฝ้าระวัง ไม่มีอะไรนอกจากเฝ้าระวัง พูดเพียงเท่านี้ ถ้าไม่เขลาเกินไป หรือความรู้ไม่ท่วมหัว ท่วมหูเกินไป ก็ควรจะฟังถูกแล้ว ไอ้การจะพูดว่าการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนาไม่มีอะไร นอกจากการเฝ้าระวัง การเฝ้า การระวังก็คือสติ คือสิ่งที่เราเรียกว่าสติ แล้วการปฏิบัติทั้งหมดนี้ไม่มากไปกว่าสติหรอก ไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าสติ ถึงศีล สมาธิ ปัญญาก็เป็นเรื่องสติทั้งนั้น ก็ต้องให้มันมี ศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ได้ด้วยสติ
การปฏิบัติอานาปานสติ ๑๖ ขั้นนั้น ยิ่งเป็นสติที่ชัดเจนตลอดสายเลย เป็นสติทั้ง ๑๖ ขั้น อานาปานสติ ๑๖ ขั้น ที่พูดอย่างนี้ มันมีหลักฐาน มันมีพยานอยู่ในตัวมันเอง เพราะว่าไม่เผลอสติ กิเลสมันเกิดไม่ได้ ไอ้ตัวกูของกูมันเกิดไม่ได้ มันเกิดได้ต่อเมื่อเผลอสติ ทีอย่าเผลอสติอย่างเดียว มันก็เกิดไม่ได้ แล้วมันก็เกิดได้จนตลอดชีวิต แล้วมันก็เลิกกัน เอาอะไรกันอีก คือเราไม่เผลอสติจนตลอดชีวิต กิเลสมันเกิดไม่ได้จนตลอดชีวิต แล้วมันก็พอแล้วไม่ต้องมีอะไรมากกว่านั้น อย่าไปบ้าเอาเป็นพระอรหันต์ เป็นพระนั่น พระนี่ นั่นมันบ้า มันเรื่องคนบ้า อย่าไปบ้าอยากเป็นพระอรหันต์ บ้าอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้สิ เอาแต่ว่าสติไม่ขาดตอน สติไม่ขาดสายจนตลอดชีวิต มันก็พอแล้ว เดี๋ยวนี้มัวแต่หัวเราะ หรือมัวแต่ทำให้เผลอสติ หรือมัวแต่จะทำลายสติเสียเอง เป็นผู้ทำลายสติเสียเอง เราศึกษาให้รู้ว่าไอ้ข้อปฏิบัตินี้ ข้อปฏิบัติทั้งหมดนี้ มันเป็นเพียงการเป็นอยู่ที่ชอบ การเป็นอยู่ที่ถูกต้อง มรรคมีองค์ ๘ หรืออะไรก็ตามก็เรียกว่า การเป็นอยู่ที่ถูกต้องหรือเป็นอยู่ชอบ นี่ก็นึกถึงข้อที่ว่าพระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสไว้สั้นที่สุดแล้ว ถ้าภิกษุเหล่านี้จะเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ มันมีเท่านั้น นี่พระพุทธภาษิตเมื่อจะปรินิพพานอยู่แล้วยังสั่งเสียอย่างนี้ ถ้าภิกษุเหล่านี้จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ทีนี้ไอ้เป็นอยู่โดยชอบไซร้ คือไม่ปราศจากสติ พอแล้ว พอแล้ว เรื่องเดียว ข้อเดียว ไม่เผลอสตินั่นล่ะ คือเป็นอยู่โดยชอบ ถ้าเป็นอยู่โดยชอบ กิเลสก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะเกิด มันก็ผอมไป ผอมไป ผอมไป คืออดอาหาร อดอาหาร อดอาหาร กิเลสไม่ได้อาหาร ความเผลอสติเป็นอาหารของกิเลส เดี๋ยวนี้เราไม่เผลอสติ กิเลสก็ไม่ได้อาหาร กิเลสไม่ได้อาหาร มันก็ต้องตาย เหมือนกับคนที่ไม่ได้กินอาหารอยู่ตลอดเวลา มันก็ต้องตาย ดังนั้นจึงว่า มันเหมือนกับว่าล้อมกิเลสไว้ไม่ให้ได้อาหาร สติมันล้อมกิเลสไว้ไม่ให้ได้อาหาร เพราะฉะนั้นมันก็ต้องตาย คือเหือดแห้งไปในที่สุด
ดังนั้นจะเห็นหรือพอจะมองเห็นได้ว่า เรื่องมันไม่มาก เรื่องมันไม่มาก แล้วเราไปทำให้เรื่องมันมาก จนเรียนกันไม่ไหว จำกันไม่ไหว มีหนังสือตั้งหาบ ตั้งหอบ ตั้งเป็นตู้ๆ เป็นอะไรไปเลย พอมันไม่ไหว มันก็ช่วยอะไรไม่ได้ นั้นระวังไอ้เรื่องว่าง กับเรื่องวุ่นนี้ ระวังให้ว่างอยู่เรื่อยไป อย่าให้วุ่นเข้ามา ถ้ามันวุ่นได้สักครั้งหนึ่ง ก็เสียใจให้มาก ละอายให้มาก กลัวให้มาก คือถ้าเผลอสติ ไอ้ตัวกูของกูขึ้นมาได้สักครั้งหนึ่ง เป็นโลภก็ได้ เป็นโกรธก็ได้ เป็นหลงก็ได้ ราคะ โทสะ โมหะ อันใดอันหนึ่งก็ได้ ถ้ามันเผลอขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง ก็เสียใจให้มาก ละอายให้มาก กลัวให้มาก ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าละอายอย่างยิ่ง น่ากลัวอย่างยิ่ง น่าเศร้าอย่างยิ่ง ถ้าอย่างนี้อยู่ มันก็เกิดไม่ได้ ทีนี้เราไม่ละอาย ไม่กลัว ไม่เสียใจในเหตุการณ์อันนี้
ทีนี้มันก็มีปัญหาออกไปหน่อยหนึ่งว่า เราจะไม่วุ่น เราจะไม่ให้มันวุ่น จะให้มันว่างอยู่นี่ได้ตลอดเวลาอย่างไร เพราะว่าเราต้องทำการงาน หรือต้องบริหารร่างกาย ต้องกินอาหาร ต้องอาบน้ำ ต้องทำอะไรที่เป็นการบริหารร่างกายก็มี แล้วต้องทำการงาน โดยตรงในหน้าที่ของตัวนั้นๆ ก็มี เราจะรักษาจิตว่างไว้ได้อย่างไร
เรื่องนี้มันไม่เกี่ยวกับว่าทำการงานหรือไม่ทำการงาน สตินั้นเขามีไว้ทุกๆ เมื่อ สติเป็นสิ่งที่ต้องการทุกเมื่อ สติสัพพัตถะ ปัตถิยา (นาทีที่ 44:08 ) สติเป็นสิ่งที่ต้องปรารถนา คือต้องมีไว้ทุกเมื่อ ในทุกเวลา ไม่ต้องพูดเรื่องทำการงานหรือทำอะไรก็ตาม ถ้ามีสติแล้ว มันก็เผลอไม่ได้ มันเป็นเรื่องของจิตใจ ที่มันมีสติได้ แล้วมันนึกได้อยู่ตลอดเวลา เมื่อกินข้าว ถ้าเราไม่เผลอ เราก็นึกได้ ถ้าอาบน้ำอยู่เราก็นึกได้ เรานั่งอยู่ในส้วมยิ่งนึกได้ ที่จะทำการงานก็ยังนึกได้ เพราะว่าการทำการงานมันก็ต้องมีสติ ที่ทำไม่ผิด มันก็ต้องมีสติอยู่แล้ว สติส่วนใหญ่นี่คือสติที่ไม่เผลอให้เกิดเป็นความรู้สึกที่เป็นกิเลส ที่เป็นตัวกูของกู ในลักษณะที่เป็นราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ที่เรียกว่า ราคะ โทสะ โมหะ นั่นเป็นวัฏฏสงสาร ความไม่มี ความไม่ปรากฎ ความสิ้นสุดแห่งราคะ โทสะ โมหะ นี้เป็นนิพพาน ถ้ามันไม่มี ไม่ปรากฎชั่วคราวก็เป็นนิพพานชั่วคราว ไม่มีเด็ดขาดก็เป็นนิพพานถาวรเด็ดขาด ดังนั้นเอานิพพานชั่วคราวไว้เป็นเดิมพัน แล้วก็ขยายให้มันยืดออกไป ยืดออกไป ยืดออกไป ทีนี้เมื่อเข้าใจดีแล้ว ก็ยังเหลือแต่ว่า จิตว่างกับจิตวุ่น รักษาจิตว่างนี้ให้ยืดออกไปไว้ จิตวุ่นไม่มีโอกาสเข้ามา
ถ้าอยากจะใช้คำธรรมดา ไม่อยากจะพูดคำธรรมะธัมโม ธัมแม อะไรก็ว่า เวลาที่สบายใจรักษาไว้ให้มาก เวลาที่ไม่สบายใจอย่าให้มี พูดกับชาวบ้าน ชาวบ้านนอกคอกนา หรือว่าชาวบ้านชนิดไหนก็ตาม ชาวบ้านที่ต่ำที่สุด ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เรื่องธรรมะธัมเมอะไร ก็บอกว่า เวลาที่สบายใจนี่รักษาไว้ เวลาที่ไม่สบายใจ ที่ขุ่นมัวนั้นอย่าให้มันมี นั่นคือวุ่น คือวัฏฏสงสาร ไอ้เวลาที่สบายใจนั่นมีนิพพาน ไม่มีวัฏฏสงสาร ไอ้ที่สบายใจอย่างนั้น นั่นคือพระพุทธเจ้า คือพระธรรม คือพระสงฆ์ นั้นแกรักษาไอ้ความสบายใจไว้ให้ได้เถอะ แกก็มีนิพพาน มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
นี่พูดกันให้เข้าใจสักหน่อย เรื่องคำว่า สบายใจ มันเป็นเรื่องสบายใจจริงๆ นี้มันเย็น อย่าสบายใจเรื่องกิน เรื่องเล่น เรื่องหัวเราะ เรื่องกามารมณ์ เรื่องอย่างนั้นมันไม่ใช่ความสบายใจ ไม่ใช่ความหยุดหรือความสงบ มันเป็นเรื่องความร้อน เป็นเรื่องไฟ ที่อยู่ในรูปร่างต่างๆ กัน ในที่มีอะไรฉาบ ฉาบทา ปกปิดไว้
ให้ทุกคนรู้จักสังเกตว่า ไอ้คำว่า สบายใจ โดยแท้จริงนั้นคืออะไร เวลาหัวเราะก็ไม่ใช่สบายใจ เวลาร้องไห้ก็ไม่ใช่สบายใจ หัวเราะมากไปหน่อย มันก็จะชักตาย ดังนั้น เวลาที่สบายใจมันต้องอยู่ตรงกลาง แล้วเยือกเย็น แล้วก็สงบ นี่คือข้อที่ผมพูดว่า ต้องเรียนธรรมะจากธรรมชาติ เรียนธรรมะจากชีวิตจิตใจโดยตรง ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ ไม่ใช่เรียนจากโรงเรียน ไม่ใช่เรียนจากครู ไอ้จากครู จากโรงเรียนนั้นได้มาแต่แนวสำหรับเรียนจากชีวิตจิตใจโดยตรง ดังนั้นเราไปเรียนจากตัวธรรมชาติ ชีวิตจิตใจโดยตรงนี่ดีกว่าครูสอน ไอ้ความรู้สึกของเรา ในจิตใจของเรา เดี๋ยววุ่นเดี๋ยวว่าง เดี๋ยววุ่นเดี๋ยวว่าง เดี๋ยววุ่นเดี๋ยวว่างนั่นล่ะมันสอน สอนดีกว่าครู สอนดีกว่าพระพุทธเจ้า พูดอย่างนี้จะฟังถูกหรือไม่ฟังถูก ธรรมชาติสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า พอฉันพูดอย่าเพ่อเชื่อ ต้องไปเรียนกับมันจากโลภะ โทสะ โมหะ หรือจากที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แล้วจึงเชื่อว่า อ้าว มันเป็นอย่างนั้น นั่นคือธรรมชาติสอน เมื่อพระพุทธเจ้าสอนท่านว่า อย่า อย่าเชื่อ อย่าเชื่อฉัน ฉันพูดอย่างไรยังไม่ต้องเชื่อฉัน ต้องรอไปกว่าจะเห็นจริงด้วยตัวเอง เห็นจริงด้วยตัวเองนั่นคือธรรมชาติสอน คือความสุข ความทุกข์ในใจของเราเอง นั่นมันสอน พระพุทธเจ้าให้เชื่อ ให้เชื่ออันนั้น ให้เชื่อที่ธรรมชาติสอน เพราะว่าพระพุทธเจ้าสอนก็ มันก็เหมือนกันกับที่ว่า จานเสียงหรือนกแก้วนกขุนทอง มันเป็นเสียงเท่านั้น แต่เรามันเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าเราเชื่อแล้วไม่เข้าใจ มันก็ยังเท่าเดิม มันต้องไปโดนเข้าจริงๆ ทุกข์เป็นอย่างไร ไม่มีทุกข์เป็นอย่างไร ราคะเป็นอย่างไร ไม่มีราคะเป็นอย่างไร โทสะเป็นอย่างไร ไม่มีโทสะเป็นอย่างไร นี่ธรรมชาติสอน นี่พระพุทธเจ้าท่านอนุญาตให้เชื่อ และสอนให้เชื่อ
เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามชิม ชิม ชิมรสของมันดู รสของความวุ่นเป็นอย่างไร รสของความว่างเป็นอย่างไร อย่าให้มันผ่านไป ผ่านไป ผ่านไป โดยไม่สังเกต โดยไม่สนใจให้ละเอียดลออ มันจะไม่ได้ชิม ไม่ได้ชิมรสของความว่าง ไม่ได้ชิมรสของความวุ่น มันก็เพ้อๆ ไปวันหนึ่งๆ ไม่รู้อะไรแท้จริง เรียนมามากแล้ว เป็นมหาเปรียญ เป็นอะไรแล้วก็ยังไม่รู้อะไรอยู่นั่นล่ะ มันก็รู้อย่างท่องจำ ไม่มีความรู้สึกอะไร เรามาสังเกตไอ้ความที่จิตใจมันมีร้อน กับจิตใจมีเย็น สองอย่างนี้ให้มาก แล้วเปรียบเทียบกันให้ดู เปรียบเทียบกันดูอยู่เสมอ แล้วก็จะเกลียดไอ้ร้อน รักเย็นขึ้นมาเอง แล้วก็มันจริง จริงมากขึ้น จริงมากขึ้น
เดี๋ยวนี้มันพูดกันแต่ปาก เป็นจอมโกหก บรมโกหก โกหกตัวเองว่าไม่ชอบร้อน ชอบเย็น พูดโกหก ทุกคนที่พูดอยู่นี่ พูดว่าไม่ชอบทุกข์ ไม่ชอบความร้อน ไม่ชอบความทุกข์ แต่โกหกทั้งนั้น ไอ้จอมโกหกก็มันอยู่ อยู่กับคนที่พูดว่าไม่ชอบทุกข์นี่ ไม่ชอบร้อน โกหกอื่นๆ ยังเล็กน้อยกว่า โกหกที่สุดคือโกหกเรื่องนี้
เมื่อศึกษาเล่าเรียนอยู่ บวชอยู่เป็นพระ เป็นเณร เป็นอะไรก็ตาม แล้วก็พูดอยู่ว่าจะดับทุกข์ พยายามจะดับทุกข์ จะทำนิพพานให้แจ้งอะไรนี่ พูดอยู่ ปฏิญญาอยู่ตั้งแต่วันบวชมาจนกระทั่งวันนี้ แต่ไม่ได้ทำอย่างนั้น ไม่ได้ตั้งใจทำอย่างนั้น มันก็จัดเป็นบรมโกหก จอมโกหก ยอดของคนโกหก คือคนที่ไม่สนใจจะทำความดับทุกข์ให้แก่ตัว ปากพูดว่าไม่ชอบความทุกข์ แต่นั้นไม่ได้ทำ แล้วไปชอบความทุกข์ เร่ไปหาความทุกข์ แส่ไปหาความทุกข์
ดังนั้นต้องดูกันเสียใหม่ว่าอะไรเป็นความร้อน อะไรเป็นความเย็น วัฏฏสงสารเป็นความร้อน นิพพานเป็นความเย็น เมื่อไรมันร้อนเมื่อนั้นเป็นวัฏฏสงสาร เมื่อไรมันเย็นเมื่อนั้นเป็นนิพพาน ดูให้ดี ดูให้ละเอียด จนเข้าใจ ร้อนเพราะราคะ ร้อนเพราะโทสะ ร้อนเพราะโมหะ เป็นวัฏฏสงสาร ให้มันเย็น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ แม้ชั่วขณะหนึ่ง มันก็เย็น มันก็เย็นเท่านั้นล่ะ มันไม่เย็นกว่านั้นได้อีก นี้ก็เป็นนิพพาน นิพพานชั่วคราวหรือนิพพานถาวร ก็มีอยู่สองอย่าง มันก็เย็นเท่านั้น เย็นเท่ากัน ถ้าว่านิพพานชั่วคราวมันกลับร้อนได้อีก
มันก็ง่าย ไม่ยากนัก ที่ว่าทุกคนจะพยายามเฝ้าสังเกตดูว่า เวลาไหนที่เราสบายใจ ที่ไม่มีกิเลสชนิดใดชนิดหนึ่งรบกวน เวลาไหนบ้าง เวลาไหนบ้าง คอยดูเอา เดี๋ยวมันก็เกลียดกิเลส เกลียดความทุกข์ เกลียดอะไรมากขึ้นๆ มันก็เป็นไปในทางระวังได้ดี มีสติได้ดี เดี๋ยวนี้มันตรงกันข้าม ดูเป็นคนโกหกแล้วก็ชอบอวดกิเลส ดังนั้นแล้วบางทีก็ไปนิยมนับถือไอ้คนที่อวดกิเลส คนที่มีกิเลสอวดกลับได้รับความนิยมนับถือ ทีนี้คนมันก็อยาก อยากให้เขานับถือ ให้เขานิยม มันก็ชอบอวดกิเลสโดยไม่รู้สึกตัว อวดความสวย อวดความงาม อวดความดี อวดความเด่น อวดหู ยกหูชูหางอวดนี่ นี่คืออวดกิเลส แล้วไปสนใจแต่จะอวดกิเลสกันเสียเรื่อย ไม่มีใครจะสนใจอวดความเย็นกันเลย มีแต่สนใจอวดความร้อน ทีความเย็นไม่มีใครสนใจจะอวด หรือสนใจจะดู ใครมีให้ดูก็ไม่อยากจะดู นี่เป็นอย่างนี้ ความที่คดโกงต่อตัวเอง โกหกต่อตัวเองมันมีมาก ไม่ชอบความเย็นทั้งที่พูดว่าต้องการความเย็น แสดงอาการทุกอย่างว่าชอบความเย็น ต้องการความเย็น แต่ในใจไม่ชอบความเย็น ไม่สนใจเรื่องความเย็น ไอ้ความร้อนนั้นมันวุ่น ไอ้ความเย็นนั้นมันว่าง
ดังนั้นไอ้ความร้อนนั้นกลับกันเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน ต้องซื้อหา ต้องลงทุน ไอ้ความว่าง ความว่างกลายเป็นของไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องลงทุน สังเกตดูให้ดีข้อนี้ ไอ้ความว่าง ความเย็น ไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องลงทุน พระพุทธเจ้าตรัสว่านิพพานเป็นของให้เปล่าเสมอ ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเสียสตางค์ ไม่ต้องเหน็ดไม่ต้องเหนื่อย ส่วนความร้อนนี้ต้องลงทุน ลงทุนหาเหยื่อให้แก่ราคะ หาเหยื่อให้แก่โลภะ มันต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำอย่างโน้น เพื่อบำรุงราคะ เพื่อบำรุงโลภะ นี้มันต้องลงทุน มันจึงจะได้ความร้อนเหล่านี้มา ไอ้โทสะความโกรธนี้ก็เหมือนกันต้องลงทุน คือต้องมีความเสีย ซึ่งเป็นการลงทุน จนตัวเองก็ร้อน ผู้อื่นก็เดือดร้อน แล้วจะต้องถูกปรับ ถูกเกลียดน้ำหน้า ถูกเขาตอบแทนให้ หรือเขาฆ่าตายเลย เหล่านี้เป็นการลงทุนนะ การที่เราจะได้โทสะมาต้องลงทุนซื้อหามา การจะได้ราคะมาต้องลงทุนซื้อหามา การจะได้ความโง่มาต้องยิ่งลงทุนใหญ่ เพราะมันทำอะไรผิดๆ มาก แล้วไอ้วัฏฏสงสารหรือความทุกข์นี้ต้องลงทุนซื้อหาเอามาอย่าง อย่างลำบากยากเข็ญที่สุดน่ะ ส่วนความว่าง หรือนิพพาน นั้นไม่ต้องลงทุน อยู่นิ่งๆ ก็แล้วกัน อยู่นิ่งๆ ก็แล้วกัน เหมือนกับเว่ยหล่างว่า อยู่นิ่งๆ ก็แล้วกัน พระพุทธเจ้าว่า ลัทธา มุธา นิพพุติง ภุญชะมานา เราถือว่ารัตนสูตรนี้เป็นพุทธภาษิตได้นิพพานมาบริโภคอยู่ฟรี เปล่าๆ ไม่ต้องเสียสตางค์ อยู่ให้ดีอย่างที่ท่านว่า โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ อยู่ให้ดีๆ อยู่ดีๆ อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยก็ได้นิพพานมา คือได้ความเย็นมา ดังนั้นทุกคนควรจะช่วยกันจำไว้ว่า ไอ้ความทุกข์นั้นต้องซื้อหามา ความร้อนนี้ต้องซื้อหามา ความเย็นนี้ให้เปล่า แต่แล้วก็ดูสิไม่มีใครต้องการเพราะของให้เปล่า อุตส่าห์ลงทุน ลำบากยากเข็ญอย่างนั้น อย่างนี้ เพื่อสนองความประสงค์ของราคะ ของโทสะ ของโมหะ เหมือนสามเณรองค์นั้น แม่เขาบอกว่า แหม อยู่ในที่เย็นแล้ว จะกลับกระโดดลงไปในหลุมถ่านเพลิงอีก ธรรมบทภาคไหน เรื่องที่เท่าไร ก็ลองไปอ่านดู เรื่องสามเณรจะสึก แล้วแม่เขาพูดอย่างนี้ กระโดดลงไปในหลุมถ่านเพลิงอีก นี่เรียกความร้อนนี่มันต้องซื้อ ต้องลงทุน ไอ้ความเย็นนี้มันไม่ต้องลงทุน แต่มันก็ยากที่คนจะชอบ คือมันยากที่คนจะรู้จัก และยากที่คนจะชอบ
ดังนั้นเราต้องพยายามกันสักหน่อย พยายามกันสักพัก ให้รู้จักความเย็นและความร้อน แล้วก็จะชอบความเย็น แล้วก็จะชอบ เลือกเอาทางฝ่ายเย็น ฉะนั้นตอนนี้พยายามกันสักหน่อย ที่จะให้ทราบว่าอะไรร้อน อะไรเย็น ในวันหนึ่ง วันหนึ่งมีทั้งร้อน ทั้งเย็น พอมีตัวกูของกูก็ร้อน พอหมดตัวกูของกูก็เย็น อย่ามีกิเลสประเภทตัวกูของกู มันก็เย็นไปหมดหรือสบายไปหมด ทำงานเหนื่อยแทบตาย ก็สบาย หรือสงบ ไม่มีอะไรจะกินก็ยังสบายใจ สำหรับใจที่มันไม่มีตัวกูของกู ยังยิ้ม ยังครื้นเครงอยู่ได้
ไอ้จิตที่มีตัวกูของกูมาก มันก็เหมือนสุนัขโรคเรื้อน ไม่มีที่ผาสุก จะกินเข้าไปเท่าไหร่ ก็ไม่อิ่มใจได้ เมื่อมีตัณหาที่ไม่รู้จักอิ่ม มันก็ไม่อิ่มได้ นั้นจะได้กินอย่างไร ได้อยู่อย่างไร ได้นอนอย่างไร ได้อะไรอย่างไร วิเศษอย่างไร มันก็ไม่อิ่มได้ ไม่เย็นได้ นี้พอไม่มีกิเลสประเภทนี้มันก็เย็นไปหมด สบายไปหมด อยู่โคนไม้ก็ยังสบาย อยู่กลางแจ้งกลางทุ่งนาก็ยังสบาย ถ้ามีตัวกูของกูแล้วอยู่ในปราสาท มันก็ไม่สบาย
นี่ ความหมายของคำว่านิพพาน ให้เปล่า ไม่ต้องลงทุน แล้วเย็นสบายตลอดเวลา คนที่เขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าไม่ถึงชั่วโมงเป็นพระอรหันต์นั้น เขารู้เรื่องเหล่านี้ เขาได้ของจริงมา เป็นนิพพาน เป็นพระพุทธ เป็นพระธรรม เป็นพระสงฆ์ แต่เขาไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ ไม่รู้ชื่อของสิ่งเหล่านี้ คนบางคนไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักว่าคนนี้เป็นพระพุทธเจ้า ได้พูดกันจนเข้าใจแล้วเป็นพระอรหันต์ คนนี้ได้นิพพาน ได้พระพุทธเจ้า ได้พระธรรม ได้พระสงฆ์จริงๆ มา ในเวลาอันสั้น โดยไม่รู้จักชื่อสิ่งเหล่านี้ ส่วนพวกเรานี้มันรู้จักแต่ชื่อเรียก ชื่อว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรคผล นิพพาน ศีล สมาธิ ปัญญา อะไรมาก ท่องกัน ก่อนบวช ก่อนอะไรเสียอีก ก่อนจะบวชก็ต้องท่อง พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อะไรมากมาย เป็นเรื่อง ไอ้ลมทั้งนั้น เป็นคำพูด หรือเป็นลมๆ
นี้คนที่เขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เขาไม่พูดเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้แจกขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ์ แต่เขาไปพูดเรื่องนี่ เรื่องเย็น เรื่องร้อน เรื่องยึดมั่น ไม่ยึดมั่นนี่ ไปรู้จักเรื่องวุ่น เรื่องว่าง นั่นล่ะ เลยรู้จักหมด เพราะทุกอย่างมันรวมอยู่ในคำว่าวุ่น กับคำว่าว่าง เรื่องฝ่ายกิเลสกี่ชื่อ กี่ร้อยชื่อ พันชื่อ มันรวมอยู่ในคำว่าวุ่น นี้เรื่องฝ่ายที่ดับกิเลส กี่ร้อยชื่อ กี่พันชื่อ มันรวมอยู่ในคำว่าว่าง หรือเย็น พอได้ว่างได้เย็นมา มันก็ได้หมด ได้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้มาหมดโดยไม่รู้จักชื่อ ไอ้เรามันรู้จักชื่อมากมันลำบาก จนได้แต่ชื่อ ไม่ได้ตัวจริง ไอ้ความจริงนั้นชื่อไม่ต้องรู้จักก็ได้ เช่นเรากินขนมก็กินเข้าไปได้โดยไม่ต้องรู้จักชื่อ ถ้าขนมนั้นมันแปลก หรือมันไม่รู้จักชื่อ ไม่ใช่กินไม่ได้ ก็นึกดูสิ สัตว์เดรัจฉาน มันกินผลไม้นานาชนิดมันไม่รู้จักชื่อ ไม่มีภาษาพูด ไม่รู้จักชื่อ อย่างลิง มันกินเปรี้ยวเข้าไป มันไม่รู้ว่าเปรี้ยวหรือปู มันกินผลไม้เข้าไป มันก็ไม่รู้ว่าผลไม้อะไร แต่มันรู้ว่านั่นคืออะไรกินได้หรือไม่ได้ แล้วมันกินเข้าไปแล้ว มันก็ได้ผล
ดังนั้นชื่อไม่สำคัญ ขอให้ได้ตัวจริง สิ่งจริง ของจริงเข้าไปเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นมันคือความว่าง พอเราได้ความว่าง ความเย็นมา มันก็คือได้หมด ทุกสิ่งที่มีชื่อต่างๆ กัน ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันก็ได้หมด คนเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ โดยไม่รู้จักคำว่าพระอรหันต์ก็ได้ แล้วก็ดับนิพพานไป โดยไม่รู้จักคำว่าพระอรหันต์ เพราะเขาไม่อยากจะเป็นพระอรหันต์ ไม่อยากจะรู้ อยากจะรู้แต่เพียงว่า มันเย็น แล้วหยุด แล้วมันหยุดเด็ดขาด มันว่างเด็ดขาด มันเย็นเด็ดขาด มันสงบเด็ดขาด ต้องการรู้เท่านี้ ต้องการรู้สึก รู้จักแต่เท่านี้ ไม่ต้องรู้ว่าขณะนี้เรียกโสดา ขณะนี้เรียกสกิทาคา ขณะนี้อนาคา ไม่ต้องรู้ ไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้จนตาย มันมีเรื่องที่ว่าพระพุทธเจ้าต้องช่วยพยากรณ์ ต้องช่วยบอกให้คนที่อยากรู้ เขาไม่อยากรู้ เขาเองไม่อยากรู้ ไอ้เรามันอยากมากไป เพราะนั้นไอ้สิ่งปิดบังหรืออวิชชา นั้นมันไม่ใช่แต่ความโง่ ความไม่รู้ มันได้แก่ สิ่งที่เรียนมากนี้ด้วย ไอ้ที่เรียนมากจนนี่กลายเป็นอวิชชาจนจับไม่ถูก แล้วสิ่งที่เรียนกลายเป็นเครื่องปิดบังเสียเอง คว้าไม่ถูก จับอะไรไม่ถูก เรียนมาก นี้คนหนึ่งไม่เคยเรียนอะไร ไปคุยกับพระพุทธเจ้าพักเดียวเป็นพระอรหันต์ เพราะมันไม่มีไอ้หมอก หมอก เมฆ อวิชชาเพราะมันเรียนมาก
เอาล่ะ พูดถึงสมัยนี้ก็ไม่มีพระพุทธเจ้าที่ว่าจะไปหาที่ไหน ต้องช่วยตัวเอง มันก็ต้องเรียนพอสมควร แต่ขอให้เรียนจริง เรียนนักธรรม เรียนบาลี ขอให้เรียนให้มันจริงๆ ให้มันถูกเรื่อง ถูกราว ได้รู้อะไรมา ฟังอะไรมา ต้องเอามาทำให้มันเป็นเรื่องจริงในจิตใจ เช่นว่านิพพานต้องเย็นจริงๆ วัฏฏสงสารต้องร้อนจริงๆ รู้จักวัฏฏสงสารว่ามันร้อน มันร้อนใจ หรือทุกข์ใจ หรือหนักใจ หรือหม่นหมองใจ หรือว่าสงสัยอยู่ในใจ มันเป็นวัฏฏสงสาร พอมันสบายใจ เย็นใจ หยุด สงบ นี่มันเป็นนิพพาน ก็เรียน เรียน เรียน เรียนตัวจริงกัน
สิ่งนี้ต้องอยู่ในใจ อยู่กับใจเรื่อยไปจนกระทั่งวาระสุดท้ายคือตาย เวลาตายแล้วอาจจะลืมหมดกระทั่งชื่อตัวเรา แต่อย่าลืมไอ้ของเย็นหรือของว่าง มันลืมไม่ได้ แล้วมันก็ไม่ลืมจริงๆ ถ้าใจมันคอย คอยจ้องอยู่แต่ว่าจะเย็น จะว่าง จะหยุด จะสงบ จะดับ จะดับสนิท ดับไม่มีเชื้อเหลือ ต้องการอย่างนี้ มันก็ไม่ลืม ลองคำนวณดูกันสิ ว่าพอโรคภัยไข้เจ็บมันมา มันก็ลืมก็เลือน อายุมากเข้า มันก็ลืมก็เลือน แล้วความเจ็บมันใกล้ มันหนักเข้าๆ จนชีวิตจะดับอยู่นี่ ไม่มีใครจำได้หรอกว่าอะไรเป็นอะไร ตัวเองชื่ออะไรก็จำไม่ได้ อย่าว่าเกิดวันไหนปีอะไร เวลาเช้าหรือเวลาเย็นก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว เวลานี้ แต่ในใจยังรู้สึกอยู่ว่าเย็นหรือร้อน หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข นั้นมุ่งเอาเย็นไว้เรื่อย มุ่งเอาเย็นไว้ ให้มันตัดดับจิตไปกับความเย็น นี่ของจริงมันดีอย่างนี้ ถ้าของท่องจำด้วยปาก มันไม่อยู่ ไม่อยู่กับเรา มันไปตามสัญญาที่เปลี่ยนไป ก็ดับไป คนแก่ๆ อายุมากเข้า อาจจะลืมแม้ว่าตัวเองอายุกี่ปีแล้ว เกิดวันอะไร ปีอะไร ลืมหมดแล้ว หนักเข้าว่าลืมว่าตัวเองชื่ออะไร ตัวเองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ไม่รู้ มันลืมได้ถึงอย่างนี้ ถ้าอยู่ไปอย่างชรามากๆ แต่ว่าอย่าลืมไอ้เรื่องเย็น เรื่องร้อน คือเรื่องวัฏฏสงสาร เรื่องนิพพาน ถ้ามันกลัดกลุ้ม เป็นทุกข์ ก็เป็นวัฏฏสงสาร ถ้ามันเย็น หยุด เงียบ สงบ มันก็เป็นนิพพาน คอยจ้องหาแต่เรื่องนั้นไว้ ให้มันดับจิตไปกับเย็น ดับไม่เหลือ คำอธิบายเรื่องความดับไม่เหลือ คือเรื่องนิพพาน
นี่วันนี้เราซ้อมความเข้าใจสั้นๆ ว่า เมื่อไรมีตัวกูของกู เมื่อนั้นเป็นวัฏฏสงสาร เมื่อไรตัวกูของกูไม่ปรากฎ เมื่อนั้นเป็นนิพพาน ปาฏิโมกข์ของเรามีแต่เรื่องตัวกูของกู ไม่มีเรื่องอื่น เดี๋ยวนี้เราก็พูดเรื่องตัวกูของกู ขณะใดจิตไม่ปรากฎเป็นความรู้สึกตัวกูของกู เมื่อนั้นก็เป็นนิพพาน เมื่อใดมีตัวกูของกูชูหางยกหูอยู่ ก็วัฏฏสงสาร นี่เรายืดเวลาของนิพพานออกไป ออกไป ออกไป จนกินเนื้อที่ของวัฏฏสงสารหมด มันก็เลย มันก็หมดปัญหา หมดเรื่อง
เมื่อสีขาวของสุนัขตัวนี้มันยืดออกไป ยืดออกไป สีดำมันก็หายไปเหมือนกัน ลองดู สีขาวมันขยายตัวไป สีดำมันก็หดเข้า หดเข้า ในที่สุด มันก็หมดสีดำ ทีนี้ถ้าตรงกันข้าม สีดำขยายตัวออก สีขาวก็น้อยลง น้อยลง ก็เป็นสุนัขดำ เราพยายามที่จะยืดลักษณะของนิพพาน คือยืดนิพพาน แล้วก็หดวัฏฏสงสาร เรียกว่ารักษาเวลาที่มันเป็นวัฏฏสงสารหรือวุ่นนั้นให้มันน้อยลง น้อยลง แล้วรักษาเวลาที่เป็นว่างหรือสงบนั้น ให้ยาวอยู่ ยาวออก ยาวออก ปฏิบัติเพียงเท่านี้ พอแล้ว ก็ทำได้ด้วยสติ สำเร็จได้ด้วยสติ แก้ไขความผิดพลาดด้วยหิริและโอตัปปะ มีความละอายและกลัวเมื่อผิดพลาด เป็นอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ถ้าพลาดพลั้งไป แก้รักษาได้ด้วยหิริและโอตัปปะ เท่านั้นเอง
ทีนี้เราไม่เรียกชื่อบาลี หิริ โอตัปปะ สติ สัมปชัญญะ มันก็ได้ ก็ได้ เหมือนกัน จนคนบ้ามันไม่มีภาษาพูด ในใจมันพูดได้ มันรู้ได้ มันระวังได้ เย็นอย่างไร ร้อนอย่างไร รู้จักเข็ดรู้จักหลาบในเรื่องร้อน หรือว่าเร่ไปหาความเย็น มันก็เย็นยาวออกไป ยาวออกไป จนเป็นเย็นตลอดเวลา เป็นพระปัจเจกโพธิ อย่างนี้ก็ได้ ไม่รู้จะเรียกอะไรว่าอะไรก็ได้ แล้วก็บรรลุนิพพานได้ อย่างไม่เข้าใจในรูปปัจเจกโพธิก็ยังได้ ไม่ต้องชื่ออะไร ไม่ต้องบอกใคร ไม่ต้องพูดกับใคร รู้แต่เรื่องร้อน เรื่องเย็น แล้วก็หดเรื่องร้อนเสีย ยืดเรื่องเย็นออกไป
ชีวิตประจำวัน การงานก็ดี การบริหารร่างกายก็ดี เป็นเครื่องทดสอบ เป็นบทเรียน เครื่องทดสอบ เวลาอื่นมันอาจจะเป็นเครื่องทดสอบ เวลากินข้าว อาบน้ำ ไปส้วม ไปฐาน บริหารร่างกายนั้นเป็นเวลาทดสอบว่าจะมีตัวกูของกูหรือไม่ ยิ่งเวลาทำการงาน มันก็ดีมาก เพราะมันต้องสังคม ไอ้การสังคมนี่ มันทำให้เกิดตัวกูของกู มันก็ทดสอบ แล้วก็ทดสอบเรื่องเสียสละหรือไม่ เห็นแก่ตัวหรือไม่ หรือถนอมไว้ซึ่งตัวกูของกูหรือไม่ หรือบริจาคตัวกูของกูอยู่เสมอ นี่ก็เป็นเรื่องทดสอบ ดังนั้นชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยการงานนั่นแหละ เป็นบทเรียน เป็นโรงเรียน เป็นการเรียน
เอาล่ะสำหรับวันนี้ ก็จำไปแต่หัวข้อสั้นๆ ว่า เมื่อไรมีตัวกูของกู เมื่อนั้นเป็นวัฏฏสงสาร เมื่อไรไม่ปรากฎตัวกูของกู เมื่อนั้นเป็นนิพพาน แล้วก็อยู่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ทั้งวัฏฏสงสาร และทั้งนิพพาน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่นิพพานต่อหลายร้อยชาติ หลายพันชาติ หรือวัฏฏสงสารเสียเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด เวลานี้ทั้งวัฏฏสงสารทั้งนิพพานกำลังสลับกันอยู่ ดังนั้นเอาข้างนิพพานไว้ วัฏฏสงสารก็จะหดตัวน้อยเข้า สั้นเข้า เอาล่ะ พอกันที ค่ำแล้ว พรุ่งนี้ก็จะได้กลับแล้ว กลับไปเถอะโยม