PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
  • การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม
การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม รูปภาพ 1
  • Title
    การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม
  • เสียง
  • 2861 การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม /buddhadasa/2510-9-2.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันเสาร์, 21 มีนาคม 2563
ชุด
อบรมพระหน้าโรงหนัง ชุดธรรมปาฎิโมกข์
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  •     พูดเรื่องอะไรดี  เรื่องอะไรดี  ก็ไม่มีอะไรสำหรับเรา  พูดสำหรับพวกพุทธสมาคม ไอ้เรื่องที่เราเคยตั้งใจไว้ว่าไอ้ทุกวัน ทุกวันนี้ วันพระ ๘ ค่ำ ในวันปาฏิโมกข์ทางธรรมะข้อนี้อย่าลืมเสีย ทุก ๆ องค์อย่าลืมเสียว่าทุกวันพระหรือวันธรรมสวนะนี้  เรามีปาฏิโมกข์ในทางธรรมะ ก็เดือนละ ๔ ครั้ง  ปาฏิโมกข์ทางวินัยเพียงเดือนละ ๒ ครั้ง ดังนั้นมันก็ควรจะพูดเรื่องที่เป็น เป็นหลักเป็นฐานเป็นความสำคัญพอที่จะเรียกว่าปาฏิโมกข์ แล้วก็ต้องเป็นเรื่องที่ลืมไม่ได้ ต้องพูดซ้ำกันอยู่บ่อย ๆ ย้ำกันอยู่บ่อย ๆ ขยายความกันอยู่บ่อย ๆ

        เรื่องที่สำคัญที่สุดก็มีไม่กี่หัวข้อ และบางหัวข้อก็ชัดเจนเพียงพอเรียกว่ารู้กันเข้าใจกันยิ่งทุกที บางหัวข้อนั้นยัง   ยังรู้สึกว่ายังไม่รู้โดยเฉพาะหัวข้อที่ว่าการงานคือการปฏิบัติธรรมนี่  นี่ก็เป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุดและโดยเฉพาะสำหรับเราที่อยู่กันที่นี่ ยิ่งมีความสำคัญมาก พวกอื่นเขาแยกการปฏิบัติธรรมะออกจากการงาน  จนถึงกับว่าการงานรวมกันไม่ได้กับการปฏิบัติธรรม หนังสืออย่างหนังสือวิสุทธิมรรค  อรรถกถา พวกเดียวกันนั้น  ก็จัดการงานไว้ว่าเป็นปลิโพธ คือ เป็นอุปสรรค หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวขัดขวางทำให้ช้า ให้ล่าช้าแก่การปฏิบัติธรรม ทีนี้เรากลับพูดว่าการงานคือ ตัวการปฏิบัติธรรม ใครฟังถูก ใครฟังเข้าใจถูก ถ้าไม่ถูกก็แปลว่ายังไม่รู้

    ถ้าถือตามอรรถกถาเหล่านั้นก็แปลว่าเราจะทำการงานให้เป็นการปฏิบัติธรรมไม่ได้เพราะมันเป็นข้าศึกแก่กัน แต่ผมนะยืนยันว่าการงานคือ การปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ

        และก็ถือหลักอันนี้มาเสมอตลอดเวลาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีจนกระทั่งบัดนี้ ดังนั้น ควรจะสนใจกันไว้บ้าง ชนิดที่ว่าโดยเฉพาะพวกเรามีหลักอย่างนี้  คนอื่นเขามีหลักตรงกันข้ามจะเข้าใจว่าอย่างไร  พวกอื่นเขาว่าเมื่อปฏิบัติธรรมแล้วก็ไม่ทำอะไรเลย แม้แต่หนังสือก็ไม่อ่าน ไม่มีอะไรที่จะทำได้นอกจากปฏิบัติธรรมในวิธี  นั่งหลับตาภาวนายุบหนอพองหนอ อะไรสุดแท้ มันก็เป็นเรื่องถูกของเขา ไม่ใช่เราจะหาว่าผิดหรือว่า เป็นเรื่องถูกของเขา  ถูกอย่างของเขา ถูกเพื่อของเขา เพื่อเขา ไอ้เรานี่มัน มันมีอย่างของเรา  ดังนั้น   ใครจะถูกจะผิดมันก็ต้องแล้วแต่ใครจะชอบอย่างไหน

        ผมมีหลักมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีตั้งแต่ก่อนมีสวนโมกข์หรือมีสวนโมกข์  เริ่มมีสวนโมกข์ จนกระทั่งบัดนี้ว่าการงานที่จัดไว้ดีที่จัดไว้ถูกต้องนั้นไม่เป็นอุปสรรค   ไม่เป็นปลิโพธต่อการงาน คือ  มันแล้วแต่ความสามารถของผู้นั้น ดังนั้น จึงมีการทำ  การงานเรื่อยมาไม่มีหยุดไม่มีหย่อน ตอนนี้กุฏิก็ทำอยู่เอง อะไรเอง ไสกบไม้เอง ขึ้นหลังคาเองอย่างนี้  ตั้งแต่แรกมีสวนโมกข์ไม่มีใครช่วยทำให้มากมาย   ถึงแม้เขามาทำมาช่วยทำให้ เราก็ทำด้วยเหมือนกัน ถึงจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังมีการทำการงานอยู่เรื่อย การค้นคว้า การเขียนหนังสือหนังหา การเตรียมปาฐกถาการไปพูดไปก็เป็นการทำงานเหมือนกัน ก็ทำเรื่อยมาจนบัดนี้  นี่เราก็มีวิธีเฉพาะอย่างนี้ ส่วนพวกอื่นเขาต้องปลีกตัวหมดไปนั่งหลับตาภาวนาอย่างเดียว  เขาก็หนีไป   เอาอย่างนั้น

        แต่ถ้ามาดูผลกันแล้วรู้สึกว่า  เรายังมีความแน่ใจว่าไอ้แบบนี้ ปฏิบัติธรรม คือ การงาน การงาน คือ การปฏิบัติธรรมนั้น ยังถูกต้องอยู่ มันอาจจะมีในสักระยะหนึ่งซึ่งจะต้องปลีกตัวเก็บตัวเป็นระยะสั้น ๆ นั้นก็มีเหมือนกัน เป็นระยะเป็นคราว เป็นคราว แต่ตลอดปีหรือตลอดชีวิตนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะถืออย่างนั้น  มันไม่มีประโยชน์อะไร ที่จริงมันจะต้องคิดใน ในปัญหาข้อใหญ่เสียก่อนว่าชีวิตทั้งชาตินี้มันจะเอาไปใช้อะไร  เวลาชีวิตทั้งชาติ ตั้งชาติหนึ่งจะเอาไปใช้อะไร ใช้นั่งหลับหูหลับตาภาวนาอย่างนั้นหรือ  ถ้าเขาชอบ มันก็เป็นอิสระ เป็นสิทธิเสรีภาพที่เขาจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่ทีนี้เรามันอยากจะให้ได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย  ไม่มีประโยชน์ฝ่ายไหนเสียไป มันจึงมีวิธีที่ว่าเอาการงานเป็นการปฏิบัติธรรม และถ้าเราทำมาเรื่อย ๆ  เรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายสิบปีหรือตลอดชีวิต  มันได้มาก

        คิดดูเถิด ได้ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์นะมันได้มาก  ได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ  กับที่จะไปนั่งหลับหูหลับตาภาวนาทำเคร่ง ๆ  เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ  หรืออะไรทำนองนั้นนะ มันไม่มีทางทำประโยชน์ใคร  ได้เลยในทางฝ่ายไอ้วัตถุนี้ แต่เขาก็จะอ้างว่าไอ้เขาทำอย่างนั้นมันก็เป็นการสืบศาสนา  เป็นการศึกษาธรรมะอย่างสูงไปสอนคน ก็ถูกของเขาเหมือนกัน แต่เรายังคิดว่าเรายังอยากจะได้กำไรมากกว่านั้น ไอ้ทำอย่างที่เขาทำนะเราก็จะทำเหมือนกัน ทำให้ครบให้เต็มเหมือนที่เขาทำเหมือนกัน แต่แล้วก็ยังทำประโยชน์ทางวัตถุนี่ที่ต้องเนื่องด้วยวัตถุหรือประโยชน์ผู้อื่น ที่เนื่องด้วยวัตถุและไม่ใช่วัตถุก็ตาม   อีกส่วนหนึ่งซึ่งยังมีมาก ไม่มีที่สิ้นสุด ไอ้ทำอยู่เองใช้เองอะไรเองนี้ไม่เท่าไรมันก็ครบ ก็เหลือใช้ ไอ้ที่จะทำให้ผู้อื่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

        ดังนั้น ผมเคยทำทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรเคยทำทุกอย่าง จนบางคราวทำคล้าย ๆ  กับว่าชาวบ้านเขาติเตียนหาว่าเป็นอาบัติบ้าง เป็นอะไร โกยดินโกยทราย เลื่อยไม้ เคยทั้งนั้น จะแต่งถนนก็เคย แต่งคลองก็เคย  ทำอะไรที่เขาทำกันเพื่อประโยชน์รวม ๆ นี้ เคยทั้งนั้น เขาหาว่าเราเป็นต้นเหตุให้ต้นไม้ถูกตัดให้ดินถูกขุด  เราเป็นอาบัติ ก็ตามใจเขา คราวนั้นไป ไป ๆ แต่งคลอง ที่ลงไปนี่ ตั้ง ๗ วัน ๗ คืน นอนอยู่ที่นั่น ต้นไม้ถูกตัดจนคลองโล่งเรือเดินได้นับไม่ถ้วนไม่รู้กี่ร้อยกี่พันต้น เขาว่าเพราะผมเป็นเหตุให้ชาวบ้านไปตัด ก็ตามใจเขา เราถือว่ามันเป็นทางลัด เป็นวิธีลัด ที่แท้หลักว่าการงานคือ  การปฏิบัติธรรมนี่เป็นทาง วิถีทางลัด  ลัดรวดเดียวทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และลัดรวดเดียว  ทั้งไอ้ธรรมะสูงสุดสอบไล่อะไรเสร็จไปในตัว 

        มันมีการสอบไล่ด้วย  ที่เขาเขียนไว้ในหนังสืออรรถกถาเหมือนอย่างว่าคน คนหนึ่งจะเจริญกรรมฐานแล้วก็ยังเป็นห่วงการงานพวกนวกรรม เช่น สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างอะไรต่าง ๆ  นี่ปฏิบัติไม่ได้ ไปก็ยังเป็นห่วงอยู่   มันก็เป็นเรื่องที่น่าฟังเหมือนกัน  ทีนี้เรามันก็ตะลุยลงไปเลยในการงานนั้น  เอาไอ้ตัวการงานนั้นนะเป็นตัวการปฏิบัติธรรม ไม่รู้ว่าของใครจะถูกกันแน่ แต่ว่าที่เห็นได้ง่าย ๆ นั้นก็คือ ชีวิตตลอดชีวิตหลายสิบปีนี่มันก็ควรจะมีอะไร  ที่เลื่อนขึ้นไปจนถึงกับว่าทำพร้อมกันไปได้กับการงาน  ถ้าใครจะไปนั่งหลับตาภาวนาอยู่ตลอดหลายสิบปี จนตลอดชีวิตนี้ก็ดูจะไม่ได้ทำอะไรเลย

        ทีนี้ที่ว่าไอ้การทำงานมันจะเป็นการปฏิบัติธรรมขึ้นมานี่   ตามความคิดของเรานี่มันมีแนวใหญ่ ๆ อยู่บางแนวหรือหลายแนว ก็ถือเป็นแนวแรก เป็นลักษณะเริ่มแรกเริ่มต้นฟิตร่างกายให้แข็งแรงเหมือนพวกโยคีเขาฟิตร่างกายนั้นนะ แต่แทนจะทำโยคะเรามาทำการงาน ร่างกายแข็งแรงนี่ นี่ก็เป็นไอ้หัตถะโยคะอะไรไปได้ ทำให้ร่างกายแข็งแรงเข้มแข็ง เป็นหัตถะโยคะ  อย่างพวกโยคีเขาเรียก  แล้วถ้าหากว่าการงานนั้นไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ตนเลยเป็นประโยชน์ผู้อื่นล้วน ๆ  มันเป็นกรรมโยคะได้ ดังนั้น เข้าใจว่าคงไม่มีใครผอมเหลืองหน้าซีด ทำอะไรไม่ไหว  แล้วก็ทำประโยชน์ผู้อื่นด้วยการอธิษฐานว่าจะไม่เอาอะไรตอบแทนอย่างนี้  ไม่ยอมรับการตอบแทน  ไม่กินอาหารที่ได้มาจากการตอบแทน ถ้าเป็นเรื่องตอบแทนแลกเปลี่ยนอย่างนั้น เหมือนกับการค้าขาย การซื้อขายอย่างนี้เป็นว่ารับไม่ได้  คนที่กินตามธรรมดาที่เขาถวายตามธรรมดาไม่มีลักษณะเป็นการตอบแทนอย่างนี้ได้  อันนี้ไม่ใช่เล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่ธรรมะขั้นต่ำ

        การเสียสละทำประโยชน์ออกไปเหมือนกับเครื่องจักร ทำงานเหมือนเครื่องจักร ไม่หวังจะเอาอะไรตอบแทนมา นี่เรียกว่าไม่ใช่ธรรมะขั้นต่ำ ต้องหัดกันหัดกันมากเหมือนกันนะ เพราะส่วนมากที่เห็น ๆ กันอยู่ มันทำงานหวังตอบแทน  แล้วที่มากที่สุดก็คือว่าก็ที่เขาเรียกกันว่าสินน้ำใจ  กำลังใจ ต้องมีคนคอยชม ทุกคนแม้ไม่หวังเงิน  หวังของอะไรตอบแทนก็หวังให้เขาชม นั้นคือ ความตอบแทน อย่างนั้นยังเป็นโยคีที่เลวมาก  ใช้ไม่ได้ ที่ทำเพื่อให้ใครออกปากชมหรือว่านึกชมอยู่ในใจก็ตาม   แต่รู้ว่าเขาชม    ก็มีกำลังใจทำขึงขังขึ้นมาทำได้อย่างนี้  อย่างนี้ยังเป็นโยคีที่เลวมาก  ไม่มีกรรมโยคะ  มาสอบไล่วัดตัวเสียหน่อย

    อันดับ ๑ ทำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

    อันดับ ๒ ทำเพื่อเสียสละความเห็นแก่ตัว ทีนี้

    อันดับ ๓ นี่เพื่อต่อสู้กิเลส หรือสอบไล่ตัวเองในการต่อสู้กิเลสที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป เป็นโอกาส คือในขณะที่ทำงานนั้นมันหมายถึงทำร่วมกันกับบุคคลที่สอง ที่สาม ที่สี่  ที่ห้า หลายคน มันเป็นโอกาสที่จะเกิดกิเลส พอเข้า เข้าใกล้บุคคลที่สอง  ที่สาม นี่เป็นโอกาสที่จะเกิดกิเลส  ถ้าเป็นคนมีนิสัยยกหูชูหางอยู่ในใจมาแต่เดิมแล้วก็  ไม่ว่าเข้าใกล้ใครนะจะต้องมีเกิดกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่ง  ไม่ปริยายใดก็ปริยายหนึ่ง ไม่ปริมาณใดก็ปริมาณหนึ่ง เป็นแน่นอน  นี้มันก็มีอยู่ว่ามันจะพอกพูนขึ้น  สุมมากขึ้นหรือไม่ ดังนั้น เรียกว่าทำจริงกันดีกว่า คือว่า ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น อย่างนี้ ให้มันเป็นเรื่องทำจริง ๆ ดีกว่า ตาเห็นรูป เห็นรูปคนที่ตัวเกลียด เห็นรูปคนที่ตัวไม่นับถือ   เห็นรูปคนที่ตัวไม่รัก  แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นในใจของคนนั้น   เวลาสักได้ว่าฟังน้ำเสียงอยู่คนละฝาอยู่คนละด้านอย่างนี้ แต่ได้ยินน้ำเสียงคนที่ตัวไม่นิยมนับถือไม่เกลียด เอ่อ, ไม่รักไม่ชอบ จะเป็นอย่างไรนะ    เพราะว่าถึงแม้คนที่ที่ชอบที่รักที่อะไรก็ตามเถิด   แต่ถ้ามันซ้ำซากเข้ามันก็มีเรื่องกระทบทำให้เกิด  ความเกลียดความอิดหนาระอาใจเป็นธรรมดา  ทีนี้พอเข้าใกล้บุคคลที่สอง ที่สาม ที่สี่  ที่ห้านี่ ไอ้นิสัยที่จะเด่นกว่าคนอื่นนั้น จะดีกว่าคนอื่นนี่ย่อมมี ย่อมแสดงออกมา ก่อนนี้เก็บไว้  เดี๋ยวนี้ก็แสดงออกมา แล้วถ้าควบคุมไม่ดีมันก็มากขึ้นไปอีก มันเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปอีก

        นี่เป็นตัวอย่างของที่ว่า จะเห็นได้ว่าการที่ทำลงไปจริง ๆ กับการที่คิด ลำพังแต่คิด ๆ เอานะมันต่างกันมาก บางคนคิด รู้สึกและจำไปติดใจว่าเราเป็นผู้เสียสละเพื่อเห็นแก่ผู้อื่น นี่ก็รู้สึกว่าเป็นของทำได้แน่และเรามีนิสัยอย่างนั้นจริงนี้ แต่พอไปทำเข้าจริง ๆ ไม่ได้    ถอด หนี  ถอดวิ่งหนี ผละหนีไป มันผิดกันที่ว่าคาดคะเนเอา  กับโดนเข้าจริง ๆ อย่างนี้ ที่คิดว่าเราจะทนร้อนได้ ทนหนาวได้ ทนหิวได้ ทนอะไรได้   ไม่จริงหรอก  จนกว่าจะไปลองมันจริง ๆ ถึงจะรู้ว่าทนได้หรือไม่ได้  และส่วนมากก็ทนไม่ได้

        ดังนั้น เรื่องที่คิดคาดคะเน กำหนด ตั้งใจ เรื่องพวกนี้ยังไม่ใช่ความจริง ต้องไปลงทำเข้าจริง ๆ  ลงมือจริง ๆ   จึงจะรู้ว่าเรานี้เป็นคนเสียสละเพื่อผู้อื่นหรือไม่  เราเป็นคนมีใจคอปกติหรือไม่  ในเมื่อเข้าใกล้บุคคลที่สอง ที่สาม ที่สี่ และเมื่อทำอะไรกันไป มัน มันชักจะเกลียดน้ำหน้าใครบางคนเข้าหรือไม่ ถึงแม้จะไม่พูดปริปากอะไรออกมา แต่หอบงานหนีเอาไปทำเสียคนเดียว เพื่อ เพื่อเลี่ยงไปเสีย   อย่างนี้ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน  อาการอย่างนี้ถ้ามองแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องอุปสรรคแก่การปฏิบัติธรรม  ถ้ามองในอีกปริยายหนึ่งกลับกันเสีย ก็เป็นตัวการต่อสู้เพื่อการปฏิบัติธรรม  หรือเป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัวการต่อสู้ 

        คนจำนวนหนึ่งโดยมากพวก พวกที่สบายหรือสำรวย เขาคิดว่าเขารักษาศีลได้ดีไม่ตบยุง แต่เขานอนในมุ้ง เขาก็นอนในมุ้งแล้วก็อยู่ในห้องที่ยุงเข้าไม่ได้ ไอ้คนที่อยู่กับยุงจริง ๆ ไม่ตบยุงนั้นนะ มันถึงจะเป็นคนจริง  ดังนั้น การอยู่กับยุงนี้ดี มีอะไรที่ทำให้เป็นการปฏิบัติธรรมจริง ๆ ขึ้นมา ผมไม่กางมุงตลอดปี ตลอดปี ก็เพราะข้อนี้ เพื่อวัดตัวเองบ้าง เพื่อดูกันว่ามันอย่างไรบ้าง บางทีก็คิดแต่เพียงว่าสร้าง สร้างความต้านทานในเลือดในร่างกายนี้ต่อสู้  ยุงกัดก็ไม่เจ็บ  แม้มีเชื้อมาเลเรียมา มันก็สู้ได้ เชื้อมาเลเรียไม่สามารถจะฟักตัวขึ้นในเลือดของเรา ทำเชื้อต้านทานไว้เสมอ  แต่อย่างนี้ไม่ใช่ธรรมะ  ถ้าคิดอย่างนี้ไม่ใช่ธรรมะ ถ้าคิดอย่างธรรมะมันก็เพื่อจะวัดดูว่ามันอดทนได้หรือไม่ มันเมตตา กรุณาหรือว่ามันไม่เมตตากรุณา นี่จึงเป็นธรรมะ  นั่นในอีก อีกแง่หนึ่งมันเป็นเครื่องทดสอบชนิดนี้แหละ

        การทำการงานมันทำให้เหนื่อย ให้ลำบาก  มันมีการทดสอบ  ในข้อนี้ ดังนั้น การทำงาน ผลของการทำงานในอันดับ ๓ ก็คือว่า มันจะเป็นเรื่อง  เรื่องการศึกษา เรื่องตัวกูของกู เรื่องทำลายตัวกูของกู นี้เป็นตัวปฏิบัติธรรมแท้ ๆ อย่างสูงสุด ซึ่งพวกที่ไปนั่งหลับตาอยู่คนเดียวไม่มี ไม่มีโอกาสที่จะผ่านหรือว่า จะทำได้  ถ้าเราจะไปทำทุกรกิริยาอย่างพวกเดียรถีหรือพระพุทธเจ้ามันก็คงจะดีเหมือนกัน แต่ผมว่าสู้เอามาใช้ในการงานนี่ไม่ได้ เอามาใช้ในการงานที่เป็นประโยชน์ เป็นอะไรขึ้นมา แก่ศาสนา แก่เพื่อนมนุษย์ ถ้าเราจะไปทำทุกรกิริยาเฉย ๆ  มันดูไอ้แรงงานอันนี้มันเสียไป เอามาใช้ให้เป็นแรงงานที่เป็นประโยชน์  เป็นอนุสาวรีย์เหลืออยู่ไว้ในโลกนี้ ก็ไม่ต้องสร้างอนุสาวรีย์อื่นอีกแล้ว  แล้วก็ไม่ต้องมีใครรู้หรอก ไม่ต้องมีใครชม  ไม่ต้องมีใครขอบใจ เรามันรู้คนเดียวก็พอว่าได้ทำอะไรไว้    

        ทบทวนดู  การงานข้อแรกทำให้ร่างกายแข็งแรงเข้มแข็ง อันดับที่ ๒ มันทำให้เราฝึกฝนการเสียสละเพื่อผู้อื่นซึ่งเป็นรากฐานที่ดีที่สุดของการปฏิบัติธรรมะเพื่อทำลายตัวกูของกู และอันดับที่ ๓ ผลก็คือการต่อสู้รบรากันกับไอ้ตัวกูของกูนี่ทุกแบบทุกอย่าง  ทุกวิถีทางทุกแง่ทุกมุม  อย่างน้อย ๓ อย่างนี้มันมีผลได้  ก็ดูจะพอแล้ว ไม่มีอะไรที่สำคัญกว่านี้  ถ้ามีก็เป็นข้อปลีกย่อย นี่เรียกว่าทางลัดและรวบรัดประโยชน์หลาย ๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกันและทำไปในคราวเดียวกัน ลองคิดดู ถ้ามองเห็นก็น่าจะพอใจกว่าที่จะทำงานอย่างเดียวและไม่มีการฝึกฝนอย่างนี้  หรือไปนั่งหลับหูหลับตาอย่างเดียว ไม่มีการงานเลยอย่างนี้เป็นต้น ทีนี้เรามองดูที่วัดทั่ว ๆ ไป หลาย ๆ วัดก็มีการงานเหมือนกัน เหน็ดเหนื่อยมากเหมือนกัน

        บางวัด บางแห่ง แต่สังเกตดูจะไม่ได้มีความมุ่งหมายในภายใน  มุ่งหมายส่วนลึกอย่างที่เรากำลังพูด มันเป็นเรื่องทำงานเสียจริง ๆ มันไม่เป็นการปฏิบัติธรรม เพราะเขาไม่สนใจจะปฏิบัติธรรมจากการงาน  แล้วก็มีวัดมากเหมือนกันที่อาจารย์ลูกศิษย์ช่วยกันทำการทำงานไม่เคยได้หยุดได้หย่อน แต่แล้วไม่เป็นการปฏิบัติธรรม เพราะเหตุไม่รู้และไม่ได้มุ่งหมายนั่นเอง ดังนั้น เรารู้มุ่งหมายและพยายามจะรวม  จะประสานมันเข้าไปด้วยกัน ให้การงานเป็นการปฏิบัติธรรม ผลส่วนการงานก็ได้ ผลส่วนการปฏิบัติธรรมก็ได้

    ข้อควรระวัง

        ดังนั้น สิ่งที่ผมเป็นห่วงอยู่เอามาพูดในฐานะเป็นปาฏิโมกข์นี้ ก็ด้วยกลัวว่าบางองค์ พระเณรบางองค์จะไม่ทำอย่างว่า จะทำไปแต่การงานโดยส่วนเดียวเสียก็มี หรือว่าไม่สนใจที่จะใช้การงานนั้นเป็นบทเรียนทดสอบจิตใจ หรือบางทีถ้าร้ายกาจไปยิ่งกว่านั้นก็จะเอาการงานนั้นนะเป็นเหตุสร้างกิเลส สร้างเวร สร้างภัย สร้างความอาฆาต สร้างอะไรต่าง ๆ เพิ่มขึ้น  เห็นได้จากการที่ไม่สมัครสมานสามัคคีกัน ปัดแข้งปัดขากันด้วยจิตใจ อย่างนี้ก็ไม่มี  ก็ไม่มี ไม่มีผลอะไร เป็นโยคีที่เลวอีกเหมือนกัน ไม่มีอาการแห่งบุคคลผู้ เสียสละ 

        ถ้าเสียสละต้องได้หน้า ต้องเอาหน้า ต้องให้คนรู้  อย่างนี้คือโยคีที่เลวมากเหมือนกัน  ถ้ามีการเสียสละอะไรต้องให้คนรู้  ต้องให้คนชม มันไม่ใช่การเสียสละ อย่างนั้นไม่มีใครเขาเรียกการเสียสละหรอก นอกจากไอ้คนชนิดนั้นเท่านั้น  การเสียสละที่แท้จริง ถ้าทำได้ต้องไม่ให้ใครรู้ ควรจะไม่ให้ใครรู้  การประพฤติปฏิบัติที่แท้จริงก็ควรจะไม่ให้ใครรู้  ไม่ต้องการให้ใครชม กลายเป็นซ่อนไว้ไม่ให้ใครรู้ว่าปฏิบัติอะไรหรือสละอะไร แต่พยายามสละด้วยความบริสุทธิ์ใจปฏิบัติด้วยความบริสุทธิ์ใจ แล้วก็ยิ่งขึ้น ๆ ยิ่งขึ้น ๆ  ถ้าทำได้อย่างนี้ไม่เท่าไรมีความก้าวหน้าสูงสุดในการปฏิบัติธรรม การงานเป็นของเล็กน้อย   เป็นของเท่าขี้เล็บไปเลย     แม้ว่าจะสร้างอะไรได้มากมายใหญ่โตที่เขาจะตีราคาให้มาก ๆ  ก็เป็นเรื่องขี้เล็บไปเลย เพราะว่าไอ้ตัวการปฏิบัติธรรมนั้นมันใหญ่เกิน มันใหญ่กว่ามันมีค่ามากกว่า

        ถ้าเราอยู่กันอย่างเราสมัยนี้นะ  หมายถึงสมัยนี้ ในสถานการณ์อย่างนี้ ในสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ ในโลกนี้ ในประเทศไทยอย่างนี้  ผมว่าไอ้หลักที่ถือว่าการทำงานคือ การปฏิบัติธรรมนี่ถูกต้องที่สุด  เหมาะสมที่สุด แล้วก็ไม่เสียหายทั้งทางโลก ทางธรรม เพียงแต่ต้องระวังให้ดี ๆ ระวังให้ดี  ๆ  แล้วก็มี          ความบริสุทธิ์ใจ พลาดไปก็กลับตัวทันที พลาดไปก็กลับตัวทันที ผิดไปก็กลับตัวทันที นี่ระวังให้มาก  ถ้าขืนหมักดองเอาไว้ก็คือ การสร้าง อาสวะในการผูกอาฆาต ในการยกหูชูหาง ในการอะไรต่าง ๆ อัดอยู่ในใจเหมือนกับจะระเบิด  แต่อุตส่าห์ปกปิดไว้ด้วยความสงบเสงี่ยม ด้วยความเสงี่ยมนี้

        ดังนั้น มันเป็น เป็นเรื่องที่ละเอียดสุขุม หรือว่าที่เขาเรียกกันว่า เทคนิค มากเหมือนกัน ที่จะทำงานให้เป็นปฏิบัติธรรมหรือปฏิบัติธรรมในตัวการงานนั้นเอง มันเป็น เป็นของยาก   เป็นเทคนิค ดังนั้นไปลองดู สังเกตดู ก็จะรู้ว่ายาก  แต่ว่ายิ่งยากนั้นนะ  ยิ่งทำให้เร็วในการบรรลุธรรม หรือการที่จะบรรลุธรรมได้เร็วและได้สูงและได้ลึก

        ทีนี้ก็มาถึงคำว่าการงาน การงานนั้นคืออะไร เราก็รู้จักเลือกไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานชนิดที่มันดูว่ามันไม่ มันไม่เหมาะสมกันกับภิกษุ  ก็เลือกงานที่มันเหมาะสมกับภิกษุ  ทีนี้คำว่าภิกษุมันก็ใช้แก่คนทุกคนที่มา ที่เข้ามา ฉลาดก็มี  ไม่ค่อยฉลาดก็มี   ไม่ฉลาดก็มี โง่ก็มี บ้า ๆ บอ ๆ ก็มี มันจะเหมือนกันได้อย่างไร   

        การงานนั้นผมไปดูที่วัดทิเบต ที่อินเดียทางดาร์จีลิ่ง ก็เข้าใจเรื่องนี้ทันที  เออว่าทำไม ไอ้ ๆ  มันอยู่กันได้  คือว่าไอ้ลามะนี่มันมีทุกแบบ เพราะมันไม่เหมือนกันจริง คนเราไม่เหมือนกันจริง  ลามะ พระนะ บางองค์ บางคนนะมีหน้าที่ ผ่าฝืนเท่านั้น มีหน้าที่หาฟืน และผ่าฝืน กวาดขี้เถ้า มีหน้าที่เท่านี้  แล้วเขาก็พอใจและได้รับความเคารพนับถือเสมอกันนี่เรียกว่ามี สมานสังวาส มีอะไรเสมอกัน มีเกียรติเสมอกัน   ที่ทำหน้าที่สูงขึ้นมา  ปัดกวาดวิหารก็มี ต้อนรับแขกก็มี ศึกษาเล่าเรียนก็มี สอนก็มี ติดต่อประชาชนก็มี  เป็นผู้ที่เรียกว่าเป็นลามะเสมอกัน

        ดังนั้น สิ่งที่ได้เรียกว่าการงานนี้อย่าไปดูถูกเพื่อนกัน  ถ้าเขาต้องทำงานชนิดที่เรียกว่าต่ำ ๆ ทราม ๆ ง่าย ๆ  ก็อย่าไปดูถูกเขา   เพราะว่าธรรมชาติสร้างเขามาให้มีสมรรถภาพเพียงเท่านั้น  นี่ระวังให้ดี  แล้วอย่าไปดูถูกเพื่อนคนนั้น เณรคนนี้ว่า เฮ้อ,  มันบ้า ๆ บอ ๆ  มันทำงานอย่างเลว  มันทำอย่างไม่มีราคา  ถ้าอย่างนี้แย่แล้ว ไอ้ตัวผู้   ผู้นึก  ผู้คิดนี่แย่

        นี่เราจะพูดกันเข้าใจได้ไหมว่าไอ้คนไม่ฉลาดคนบ้า ๆ บอ ๆ  คิดว่านี่คือการปฏิบัติธรรม  มันก็ยากนะ  ยากกว่าที่จะพูดให้คนฉลาด หรือมีปัญญาความคิด  ดังนั้น  เขาจึงลดลงไปว่าได้บุญ มันก็พอจะเข้าใจกันได้ง่าย ๆ ว่านี่ดีหรือได้บุญ   มันก็ทำไปได้  แต่ถ้าให้เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว  มันคงจะเข้าใจไม่ได้ ดังนั้น หน้าที่ผ่าฝืนกวาดขี้เถ้าอย่างเดียว หน้าตามอมแมมจีวรขาดกะรุ่งกะริ่งอยู่อย่างนี้ มันก็เข้าใจยากนะที่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างละเอียดลึกซึ้งเพราะว่าคนนั้นไม่มีปัญญา  ก็ได้แต่เชื่อว่าได้บุญและรักษาความเชื่อนี้ไว้ ถือเป็นอุดมคติไปเลย ก็ดูสบายดี ไม่มีความทุกข์

        ดังนั้นเราก็ทำสิ่งที่เรียกว่าการงานตามความเหมาะสม พยายามเลื่อนให้มันมีประโยชน์กว้างขวางขึ้น  มีประโยชน์ต่อคนมากขึ้น มากขึ้น  ถ้ามันจะทำได้ ถ้ามันจะทำได้ ถ้ามันไม่อาจจะทำได้ก็ไม่ต้องเสียใจ ถ้ามันเสียสละแล้ว มันก็เสียสละเท่ากัน  มันเหนื่อยเท่ากัน ถ้ามันไม่ยกหูชูหาง มันก็มีค่าเท่ากัน สำหรับผู้ที่ทำนั้น

        ดังนั้น ระวังให้ดีไอ้คนที่ทำงานทางหนังสือหนังหา   ทางสติปัญญาเฉลียวฉลาดนั้นนะ   หูหางมันจะมาสวมเอาเมื่อไหร่ไม่ทันรู้หรอก พวกผ่าฝืนนี่มันยังไกล ไกล ไกลที่จะถูกสวม ถูกอะไรอย่างนี้ นี่ที่ต้องระวังมากที่สุดก็ไอ้พวกที่ต้องขึ้นธรรมาสน์เทศน์หรือไปเที่ยวปาฐกถามีชื่อเสียงมีอะไร นี่ยิ่งอันตรายที่สุด แต่แล้วมันก็เป็นการงานเหมือนกัน ดังนั้น ให้ทุก ๆ องค์คิดให้ดี สังเกตให้ดี ระมัดระวังให้ดี เจียมตัวให้ดี เป็นคนไม่ประมาท อย่าอวดดี และก็อย่าพูดมาก แล้วก็อย่าแสดงอะไรให้มัน ให้มันนั่นออกไป ยิ่งพูดมากยิ่งแสดงอะไรมากแล้วยิ่ง  ยิ่งเหลว ยิ่งมีทางที่จะล้มเหลวมาก  นี่โดยหลักใหญ่ ๆ   ก็เป็นอย่างนี้

    การทำงานไปสู่นิพพาน

        ทีนี้มันก็มีเรื่องที่จะต้องซอยให้ละเอียดลงไปอีก จะเป็นการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ ไม่ว่าการงานอะไรหมดเลย ต้องการไอ้  ไอ้ธรรมะละเอียดสุขุม แม้ที่สุดแต่ไอ้ความระมัดระวังสติสัมปชัญญะอย่างนี้  คิดดูให้ดีมันก็ยากมาก  มีคนไปเอาดินสอของผมเขียนแล้วไม่สวมปลอกนี้เดือนหนึ่งหลาย ๆ ครั้ง นี่ลอง ลองคิด คิดดูว่า ว่าอะไร มันหมายความว่าอะไร  ถ้าเราเป็นคนมีระเบียบหรือว่ารอบคอบเป็นปกติมันก็สวมปลอกดินสอทุกครั้งเลย แต่แล้วคนที่ไม่สวมปลอกดินสอให้เหมือนของเดิมเขานะเป็นคนที่ไม่รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องใช้ไม่ได้ ไม่รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องเสียหาย นี้ไม่เป็นการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ละนิสัยอันนี้ เพราะว่านี่มันเล็กเกินไป  ไม่สวมปลอกดินสอนี่มันเล็กเกินไป เขาคิดอย่างนั้น แต่ที่จริงไม่ใช่เรื่องเล็กหรอก เรื่องไม่มีสติสัมปชัญญะไม่ใช่เรื่องเล็ก เรื่องฉิบหายหมด เรื่องไม่มีทางที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานมีรากฐานอยู่ที่สติสัมปชัญญะที่จะไม่เกิดตัวกูของกู ไม่เกิดอะไรขึ้นมานี้อยู่ที่มีสติสัมปชัญญะทั้งนั้น 

        ไม่มีสติสัมปชัญญะมันกินความกว้าง ไม่คิดไม่นึก ไม่พิจารณาไม่ระวังไม่รักษาไม่สำรวมไม่อะไรหมด ถ้ามันมีช่องโหว่ขนาดนี้แล้วก็ มันก็เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดช่องทางของตัวกูของกู มันก็เกิดเรื่อย  ดังนั้น ในการทำงานนั้นที่ผมเห็นอยู่รู้สึกว่ามีอะไรที่ยังจะทำให้ดีกันได้อีกมาก เช่น การใช้ของ  การรักษา  ความสะอาด การวางให้เรียบร้อย การเก็บให้ปลอดภัย การประหยัด  แม้แต่สิ่งเล็กน้อย  หินสักก้อนหนึ่ง ทรายสักกำมือหนึ่ง  ถ้าประหยัดได้ก็เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะยิ่งกว่าคนที่ไม่รู้สึก แม้น้ำกระป๋องหนึ่งนี้  ถ้าจะใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดมันก็เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะกว่าคนที่เรี่ยราด คนบางคนอาบน้ำ ๑๐ ขันสำเร็จประโยชน์เกลี้ยงเกลาเนื้อตัวดีสะอาดดีสำเร็จประโยชน์แก่การอาบน้ำ บางคน ๑๐๐ ขัน ตักรด  ตูม ๆ ตูม ๆ เหมือนกับคนบ้า ไม่รู้จะรดทำไม ก็สิ้นน้ำไปสัก ๑๐๐ ขัน เว้นแต่มันมีเหตุผลอย่างอื่นนะ  นี่ว่าโดยทั่วไปตามปกติ บางคนมันเป็น เป็นนิสัย เป็นอะไรเสียอย่างนี้ แต่เขาก็ไม่คิดว่านี่  นี่เป็นเรื่องสำคัญ ไม่คิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ ระหว่างที่คิดว่าเป็นครูบาอาจารย์ต้องอาบมากกว่า ต้องเอาความสะดวกมากกว่า ต้องสำแดงเดชให้เห็น นี่อาบน้ำหมดเป็นโอ่ง ๆ ให้มันตักมาให้ มีอยู่ทั่ว ๆ ไป

        ผมไปที่ไหนผมสังเกตไอ้อย่างนี้ด้วยเสมอ  บางคนล้างเท้าอย่างเดียวสิ้นน้ำไปตั้ง ๑๐ ขัน เพราะมันราด ๆ ราด ๆ ราด ๆ ราด ๆ มันคล้ายกับคนบ้า  ระวัง  ระวังไอ้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไอ้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นั่นแหละ  เรื่องใหญ่กว่าภูเขาเสียอีก  ที่คนโง่เห็นว่า  เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นนะ ใหญ่กว่าภูเขาเสียอีก

        ทีนี้การทำการงานนั้นนะ   มีช่องทางมีโอกาสที่จะปฏิบัติ   ในลักษณะอย่างนี้มากมายเหลือเกิน  นี่ยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียว  สองเรื่อง มันมีอีกหลายสิบเรื่อง ก็ไปไล่บัญชีหางว่าวชื่อธรรมะดูเองก็แล้วกัน ในทางชื่อของกิเลส (เสียงไม่ชัด นาที 51:38 – 51:40)  ก็ไล่ไปสิมันมีหรือไม่  ที่เป็นชื่อของธรรมะจะต้องปฏิบัตินะไล่ไป สติ สัมปชัญญะ ขันติ โสรัจจะ กตัญญูกตเวที สติ สัมปชัญญะ ตั้งแต่หมวด ๒ไปเลย ก็ขึ้นหมวด ๓ เรื่อยไป หมวด ๔  เรื่อยไป  มันมี   มีอะไรบ้างที่จะต้องมี  จะต้องมีจะต้องทำแล้วก็ละเลยไม่ได้ทำ นั้นมันพอแล้ว ไอ้เรื่องที่จะเรียนหัวข้อธรรม ไอ้หลักวิชาปริยัตินะมันพอแล้ว มันเหลืออยู่แต่ว่าทำกันหรือยัง แล้วโอกาสที่จะทำจะฝึกนะไม่มีหรอก  นอกจากในเวลาที่ประกอบการงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการงานที่ต้องประกอบด้วยบุคคลที่สอง บุคคลที่สาม ที่สี่ ที่ห้า คือ หลาย ๆ คนรวมกันทำ เกี่ยวข้องกัน เดี๋ยวนี้การงานของส่วนรวมเสียไปมาก

        โดยเฉพาะอย่างยิ่งการงานของรัฐบาล เมื่อมันไม่ชอบหน้ากันไม่อะไรกัน มันเฉยกันเสีย ไม่ทำ  ไม่ทำงานตามหน้าที่  งานของรัฐบาลของส่วนรวมของประเทศชาตินี้เสียไปอย่างน่าใจหาย ทั่วไปทุกหัวระแหงทุกหนทุกแห่ง   นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการงานนั้นเป็นโอกาสของการฝึกฝนการปฏิบัติธรรม

        ทีนี้ในวัดเราไม่กี่คนนี้มันก็หลักเกณฑ์เหมือน ๆ กัน  ถ้าว่าแม้จะไม่กี่คนนี้ ถ้ามันมีกิเลสมันก็เหมือน ๆ กัน  ทั้งนั้นแหละ ดังนั้น อยู่วัดนี้เพื่อ  เพื่อดับ เพื่อดับกิเลส และเพื่อตัดกิเลส และเพื่ออะไรไปตามเรื่อง ตามความมุ่งหมายการอยู่วัด ฉะนั้นจะต้องให้มันเป็นเรื่องตัดกิเลสอยู่ตลอดเวลาในการทำการงาน  พวกเด็กก็คงทะเลาะกันมากกว่าพวกเณร พวกเณรก็คงทะเลาะกันมากกว่าพวกพระ พวกพระหนุ่มก็คงจะทะเลาะกันมากกว่าพระแก่ อย่างนี้เป็นลำดับ ๆ ไป พวกที่ทำหน้าที่แม่ครัวมันก็ทะเลาะกันมากกว่าพวกที่เป็นอุบาสิกา       ที่ถูกต้อง นี้เป็นต้น  แต่ว่าเรื่องการงานนี้มันเต็มไปด้วยบทเรียนของการปฏิบัติธรรมมากมาย มากมายเหมือนเม็ดกรวดเม็ดทราย   อยู่ที่ตัวการงานนี้   ช่องทางนี้  แต่ไม่มีใครดูไม่มีใครสังเกตไม่มี  ใครถือเอาโอกาส  อันประเสริฐนี้ ต้องหนีไปอยู่ป่าอยู่ภูเขาอยู่ถ้ำ ไปหลับหูหลับตาภาวนา แล้วมันก็บ้าไปได้พักหนึ่ง  มันก็ทำไม่ได้ มันก็กลับมาอีก จนกระทั่งเลิกไป

    ดังนั้น เมื่อกิเลสอยู่ที่ไหนก็ต้องปฏิบัติธรรมะที่นั่น ขณะไหนกิเลสชอบเกิด มักเกิด ก็ต้องปฏิบัติธรรมะที่นั่น เวลานั้น อย่างนี้เราก็ได้ประโยชน์ในการละกิเลสด้วย  ในการได้ผลงานที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ด้วย มันวิเศษ

        ตอนนี้ยิงปืนทีเดียวได้นกหลายตัว หลาย ๆ ชนิด เพราะคนเราไม่อาจจะอยู่ได้โดยไม่มีการทำการงาน ไม่ว่ามนุษย์คนไหน  เพราะการงานนั้นมันกินความกว้างและมันจำเป็นแก่สิ่งที่มีชีวิต มันหลีกกันไม่ได้  การงานนั่นแหละคือ  สิ่งประเสริฐในชีวิต  ผู้อยู่ตามธรรมชาติ แล้วทีนี้มันประเสริฐมากขึ้นไปอีกเพราะเป็นที่ตั้งของการปฏิบัติธรรม   ดังนั้น    ระวังให้ดี ๆ  เมื่อยังต้องลอง  แม้แต่ต้องลองหรือยังต้องทำอยู่ก็ทำให้ดี ถ้าทิ้งอุดมคติอันนี้เสียก็แล้วไป เลิกกัน แต่ถ้ายังรักษาอุดมคติอันนี้อยู่แล้ว ขอให้ระมัดระวังที่สุดอย่างยิ่งที่สุด  ให้ถือเอาประโยชน์ให้ได้จริง ๆ ให้ได้ให้มากที่สุด   ส่วนผมนั้นแปลว่ามีชีวิตอยู่ด้วยอุดมคตินี้ ไม่มีการที่จะมีปัญหาว่าจะเลิกเมื่อไร หรืออะไร  เพราะว่าไอ้อุดมคตินี้มันเป็นชีวิตเสียเลย เพราะมันแยกไปจากกันไม่ได้

        ดังนั้นใคร ๆ ก็ดูเถิด หรือว่าที่แล้วมาแต่หลังก็ลองฟังดู สอบสวนสืบสวนดูว่าผมบวชแล้วทำอะไร แล้วทำอะไร แล้วทำอะไร แล้วทำอะไร จนกระทั่งบัดนี้ทำอะไร แล้วก็ยังยืนยันได้ว่าต่อไปในอนาคตก็อย่างนี้ คือ มีการงานเป็นชีวิต และในการงานนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม ถ้าการปฏิบัติธรรมมันสิ้นสุดแล้วไม่ต้องมีการปฏิบัติแล้ว การงานก็คือชีวิต ชีวิตก็คือการงาน ดังนั้น การงานก็คือ ความสุข  ซึ่งเป็นผลสุดท้ายของการปฏิบัติธรรม ดังนั้น จึงไม่มีที่ว่าจะต้อง ไปหางานที่ไหนหรือว่าไปอะไรที่ไหน  มันเป็นอยู่แล้วในชีวิต   นี่เรียกว่าการงานตามความหมายของคำว่าการงาน แต่คำว่าหน้าที่จะมีความหมายละเอียดไปกว่านั้นอีก แม้แต่หน้าที่ที่จะต้องนอน ที่จะต้องกิน จะต้องถ่าย จะต้องอาบ จะต้อง หน้าที่อย่างนี้ก็ล้วนแต่เป็นโอกาส  เป็นบทเรียนที่จะใช้ในการปฏิบัติธรรมด้วย

        ดังนั้น ลองไปสอบไล่ตัวเองดูเถิดว่าการเข้าไปในส้วมวันนี้นะมันยังเลวอยู่เหมือนเมื่อวานหรือเปล่า จิตใจนะหมายถึงจิตใจของการที่เข้าไปในส้วมวันนี้มันยังเลวกว่าเมื่อวานหรือเปล่า แล้วพรุ่งนี้ก็สังเกตอีกว่าเราเป็นผู้มีจิตใจที่เลวเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า  เข้าไปในส้วมมันจะเกิดความรู้สึกอะไรบ้าง ก็ลองสังเกตดู มันจะนึกไปทางเลว หรือมันจะอึดอัดขัดใจหรือว่ามันจะปกติเยือกเย็นหรือมันจะเห็นเป็นของไม่น่าระอา หรือเป็นของน่าระอาหรืออะไรก็ตาม  เพราะบางครั้งมันอาจจะนึกขี้เกียจแม้แต่จะไปส้วม   บางทีก็ขี้เกียจแม้แต่จะไปกินข้าว ดังนั้น จะเป็นเครื่องวัด สอบไล่ทดสอบความรู้ ทดสอบสภาพของจิตใจ   ทดสอบความเข้าใจในชีวิต ในทุกสิ่ง

        ดังนั้น หน้าที่นั้นนะ คือ  การงานทั้งหมดเลย ถ้าเรียกให้ดีเรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ก็คือ ธรรมะ คือ การปฏิบัติธรรม อยู่ตามธรรมชาติ  มันต้องทำให้ดี แม้แต่ถ่ายอุจจาระก็ถ่ายให้ดี

        ดังนั้น ถ้าใครเป็นริดสีดวงก็ต้องจัดเป็นคนโง่ เพราะถ่ายอุจจาระไม่เป็น  หรือเมื่อมันจะเป็นริดสีดวงก็ต้องรู้จักแก้ไขไม่ให้มันเป็น นี้เรื่องเกี่ยวกับร่างกาย เกี่ยวกับเรื่องร่างกายแท้ ๆ ก็ยังเป็นอย่างนี้   ใครเป็นโรคภัยไข้เจ็บ        ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ยังต้องจัดเป็นคนโง่อยู่ดี   มันเกิดมาจากความประมาทจึงเกิดอันตรายขึ้นมาเกิดจาก       ความโง่ไม่รู้จักรักษาป้องกัน  ไม่รู้จักปฏิบัติตนให้ถูกธรรมชาติ  ถ้าท่านเป็นคนคิดมากมีวิตกกังวลมาก ยิ่งยกหูชูหางมากไอ้ความทรมานใจมันก็ยิ่งมีมาก  มันก็เป็นโรคเส้นประสาทบ้าง เป็นโรคจิตบ้างเป็นอะไรต่าง ๆ นานา ดังนั้น คนที่มีโรคภัยไข้เจ็บต้องยอมรับสารภาพว่าเป็นคนโง่ ก็พยายามรีบเป็นคนฉลาด  แก้ไขรักษาเยียวยาป้องกัน ก็กลายเป็นคนฉลาด ดังนั้น ชีวิตตามธรรมชาติแท้ ๆ ซึ่งมีความเจ็บความไข้นี้มันก็เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นโอกาสของการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงยิ่งกว่าที่จะไปนั่งหลับหูหลับตาภาวนาที่ไหนอย่างไร แล้วก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม มันยังอยู่ล้าหลังคนโง่ทั่ว ๆ ไปเสียอีก  ดังนั้น อย่าทำเล่นกับเรื่องเหล่านี้เลย การรักษาอนามัย สุขภาพอนามัยให้ถูกต้องนี้ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง เพราะเป็นหน้าที่ เป็นการงานด้วยเหมือนกัน

    ทำงานด้วยจิตว่าง

        นี่ยกตัวอย่างมาให้ฟังว่าไอ้การงานนั้นคืออะไร ปฏิบัติธรรมมันคืออะไร มันยังมีอีกมากถ้าจะพูด  พูดอีกกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่นี่มันเป็นตัวอย่างที่จะพอ  พอสำหรับไปทำความเข้าใจเอาเอง ชีวิตเป็นการงานอยู่ในตัวชีวิต หรือเป็นการต่อสู้อยู่ในตัวชีวิต ในการงานหรือในการต่อสู้นั้นเป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัวมันเองด้วย มันต้องปฏิบัติธรรมตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้อย่างนี้ให้  ให้สำเร็จ ให้เลื่อนขึ้นไป เป็นชั้น เป็นชั้น เป็นชั้น เป็นชั้น แล้วมันก็สูงสุดอยู่ในนั้น จนกระทั่งฉลาดพอไม่เกิดตัวกูของกูในการคบหาสมาคมเกี่ยวข้องกับคนอื่น แล้วก็ทำงานด้วยความเสียสละ  เสียสละนั้นมันก็เป็นตัวธรรมะสูงสุดอยู่แล้ว เพราะทำงานอย่างไม่มีตัวกูของกูมันก็สิ้นสุดกันเท่านั้นเอง ทำงานด้วยจิตว่าง   ยกผลงานให้ความว่าง  กินอาหารด้วย กันตาย ไม่ต้องตาย นี่กินของความว่าง ถ้าถือคาถานี้เป็นหลักแล้วมันก็เป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัวการงานที่สูงสุด นั่นคือ การปฏิบัติที่สูงสุด คือ ปฏิบัติเรื่องสุญญตา เรื่องนิพพานอยู่ในตัวการงาน คือทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง คือ ประโยคที่เขาทำ ประโยคที่ทำให้ผมถูกเขาหาว่าบ้านี่ ไอ้กลอนบทนี้ของผมคือ กลอนที่ทำให้เขาหาว่าผมบ้า ถือมิจฉาทิฐิ พอ ๆ กัน คือว่าทำไม่ได้ พูดแต่ปาก และที่พูดว่ายิ่งจิตว่างยิ่งทำงานสนุกนี่ไม่มีใครเชื่อ

    คึกฤทธิ์เขาก็เขียนไว้ชัดว่าเขาไม่เชื่อ เขียนไว้ในไอ้หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เขาไม่ยอมเชื่อว่าจิตว่างทำงานสำเร็จ  อย่างนี้เป็นต้น  มันเข้าใจยาก 

        ทำงาน ทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่าง เข้าใจยาก แต่นี่เดี๋ยวนี้เรากำลังทำอยู่ กำลังทำอยู่ให้มันเข้าใจได้  หรือให้มันเกิดขึ้นมา และกำลังฝึกฝน กำลังต่อสู้ กำลังทำเพื่อความเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าใครจะรวบรัดทีเดียวให้ได้ผลหมดหลาย ๆ อย่างโดยวิธีทางลัด ให้หัดทำงานด้วยจิตว่าง  แล้วการงานนั้นจะเป็นการปฏิบัติธรรม ที่สูงสุดไม่มีอะไรที่สูงสุดกว่า  มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง  ทำการงานด้วยจิตว่าง   นี่ก็เรียกว่าซ้อมปาฎิโมกข์ธรรมะในหัวข้อว่า  การงานคือ การปฏิบัติธรรม  ถ้าทำในอันดับสูงสุดก็คือ   ทำงานด้วยจิตว่าง

        แล้วคุณถวิลถาม     เมื่อสักครู่นี้ ผมก็จะเล่าให้ฟังนิดหน่อย ผมไปพูดที่เมืองตรัง คราวนี้ก็พูดเรื่องคำว่า ว่าง ว่าง จิตว่างอย่างอันธพาล กับจิตว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า  มันคนละเรื่องกัน  จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างนี่จิตว่างตามแบบพระพุทธเจ้า ไม่ใช่แบบอันธพาล คือ ว่างอย่างเคว้งคว้าง ว่างอย่างไม่มีอะไรเป็นหลัก ว่างอย่างสำหรับเถียง สำหรับค้าน สำหรับฆ่าคนโดยไม่ต้องเป็นบาป ก็ได้ผลดีเหมือนกัน  ผู้ฟังคงลืมไม่ได้ ลืมยาก  ที่ผมไปพูดที่เมืองตรังคราวนั้น  เขาบันทึกเทปให้มาเหมือนกัน  ให้คุณจรูญเอาไปส่ง  เอาละ  พอกันที  ใครอยากไปดูสไลด์ก็ให้นายวงศ์ฉายให้ดู  มีมาใหม่หลาย ๆ รูป  การทำงานก่อสร้างในหลุมสระนั้นนะ ที่ถ่าย ถ่าย ถ่ายวันก่อนนั้นนะตอนนี้กลับมาแล้ว  ไปดูหน้าดูตาคนทำงานสิว่าทำด้วยจิตว่างหรือเปล่า  เป็นการปฏิบัติธรรมะหรือเปล่า ถ้าเมื่อไรเป็นที่เข้าใจกันดี    เมื่อนั้นจะเขียนป้ายสวย ๆ  กลอน ๔ บรรทัดติดไว้ตามภูเขา ตามสระน้ำ มันทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง    ยกผลงานให้ความว่าง  ทุกอย่างสิ้น  กินอาหารความว่างอย่างพระกิน ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที   เท่านี้เอง   หัวข้อธรรมะในพุทธศาสนามีเท่านี้เอง   คืนนี้จะมีคนมาประมาณ  ๒๐  คน คือพวกพุทธสมาคมจังหวัดต่าง ๆ ที่เขาสนใจในสวนโมกข์ เขาจับกลุ่มรวมกลุ่มกันจะแวะลงที่นี่   พวกนครราชสีมา พวกเพชรบุรี  พวกที่ไหนบ้าง หลายคนเหมือนกัน เมื่อสักครู่นี้พวกเชียงใหม่มาลำบากลำบนเรื่องเขาจะพาดาไลลามะมาเยี่ยมที่นี่ ไอ้เราว่าไม่ควรจะมา เป็นเรื่องยุ่งยาก คนโบราณปู่ย่าตายายเขาสอนไว้ว่าอย่าหาเหามาใส่หัว ไอ้เราก็ไม่อยากหาเหาใส่หัว

    ที่มา ธรรมปาฏิโมกข์ ปี 2510 ครั้งที่ 10 เรื่องการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม

     

     

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service