แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๑๗ เมษายน ๑๐ สำหรับพวกเรา ได้ล่วงมาถึงเวลา ๑๙.๓๐ น เป็นเวลาที่เรากำหนดไว้ว่า จะพูดจาเรื่องอะไรกันบ้างตามสมควรแก่โอกาส แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันหยุดก็มีเรื่องพูดตามสมควรแก่วันหยุด ซึ่งผมคิดว่าจะพูดเรื่องธรรมชาติ เรื่องธรรมชาติ เพราะว่าคำว่าธรรมชาตินี้ เป็นคำที่สำคัญอย่างยิ่งอยู่คำหนึ่ง และเป็นวันที่ และเป็น เป็นคำที่คุ้นเคยกับพวกเรามากที่สุดคำหนึ่งด้วยเหมือนกัน เมื่อเราแปลบาลีในโรงเรียน มักจะใช้คำว่าธรรมชาตินี่เป็นคำกลาง ในเมื่อจนแต้มเข้ามาก็ใช้คำว่าธรรมชาติเสมอไปไม่ต้องคิดนึกอะไรมาก แต่ว่า ความสำคัญนั้นมันอยู่ที่ว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมชาตินั้น คือ สิ่งซึ่งเป็นพื้นฐานทุกๆสิ่ง เพราะคำว่าธรรมชาติ แปลว่า เกิดอยู่ตามธรรมดา เกิดขึ้น เกิดอยู่ เกิด หรือเป็นไปตามธรรมดา จะเป็นเรื่องรูปธรรม ก็นามหรือนามธรรมก็ตามเรียกว่าธรรมชาติได้ทั้งนั้น วัตถุธาตุต่างๆ นานาชนิดที่เป็นอยู่เองตามธรรมชาติ ก็เรียกว่าธรรมชาติ นี่ก็เป็นภาษาทั่วไปทั้งภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ สำหรับนามธรรมนั้น คือ สิ่งที่ไม่ใช่รูป ไม่ใช่ตัววัตถุโดยตรง แปลว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเล็งถึงตัวการกระทำ ไม่ใช่ตัววัตถุ นี่ก็ได้ นี่เรียกว่าธรรมชาติฝ่ายนามธรรม เห็นได้ง่ายๆ เช่น ถ้าใครมีการประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่จนเป็นนิสัยตามธรรมชาติของเขา ก็เรียกว่า ธรรมชาติ in nature ของบุคคลนั้นด้วยเหมือนกัน หรือจะหมายถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมไม่เห็นตัว มีสภาวะของมันเอง เป็นอยู่เอง เป็นไปเอง ตามกฎของมันเอง ก็เรียกว่าธรรมชาติ เช่นว่ากิเลสมีธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติอย่างนี้อย่างนี้ เช่นพระนิพพานมีธรรมชาติอย่างนี้อย่างนี้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น คำว่าธรรมชาติ เราจึงเล็งถึงหมดทั้งรูปธรรมและนามธรรม เป็นอันว่าหมดไม่มีเหลือ สิ่งที่ไม่ควรเรียกว่านามธรรม เช่น พระนิพานก็ยังถูกเรียกว่าธรรมชาติโดยสงเคราะห์ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แปลกพิเศษออกไปจากนามธรรมธรรมดา เพราะว่านามธรรมดาที่คู่กับรูปธรรมนั้นล้วนก็เป็นสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัย ส่วนนิพพานถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย แต่เอามาจัดเป็นธรรมชาติ ก็ต้องถือว่าเป็นธรรมชาติที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง จึงเรียกได้ว่าเป็นธรรมชาติด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ นี่ขอให้คิดดูให้ดีว่า ธรรมชาติคำนี้หมายถึง สิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร เมื่อเรารู้จักตัวธรรมชาติโดยตรงอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่า รู้จักธรรมชาติแล้วโดยปริยายหนึ่ง
ทีนี้ที่จะต้องมองกันต่อไปก็คือ ธรรมชาติชนิดที่เป็นกฎเกณฑ์อยู่ในตัวธรรมชาตินั้น ธรรมชาติอย่างนี้เราไม่ชอบเรียกกันว่า ธรรมชาติ แต่ไปเรียกว่ากฎของธรรมชาติ เช่นธรรมชาติทางวัตถุ เป็นวัตถุธาตุก็มีกฎเกณฑ์อะไรของมันอยู่ในตัวมันเอง ธรรมชาติที่เป็นนามธรรมไม่ว่าอะไรก็ล้วนแต่มีกฎเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งในตัวมันเอง จึงทำให้มันต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ นี่ธรรมชาติส่วนที่เป็นกฎอย่างนี้เราเรียกว่ากฎธรรมชาติ ที่นี้มนุษย์เราประกอบอยู่โดย โดยร่างกายโดยจิตใจประกอบอยู่ด้วย วัตถุธาตุและนามธรรมที่เป็นธรรมชาติ แต่ในธรรมชาตินั้นก็มีกฎของธรรมชาติรวมอยู่ด้วย ดังนั้น มนุษย์ก็คือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากธรรมชาติโดยกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ดังนั้น จึงมีหน้าที่ที่จะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ นี่เรียกว่า หน้าที่ ที่สิ่งเหล่านั้นจะต้องประพฤติเป็นไปให้ถูกตามกฎธรรมชาติ นี่เป็นธรรมชาติปริยายที่สามเรียกว่าหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎธรรมชาติ และอันสุดท้ายก็คือผลที่จะเกิดขึ้นเพราะกระทำหน้าที่นั้นได้สมบูรณ์ ผลเกิดขึ้นตามธรรมชาติก็คือการที่ได้ธรรมชาติส่วนที่ไม่เป็นความทุกข์หรือที่จะเข้ากันได้กับการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
ขอทบทวนใหม่ด้วยการขอร้องให้ฟังให้ดี ว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาตินั้นมีอยู่ถึงสี่ความหมาย คือตัวธรรมชาติแท้ๆอย่างหนึ่ง กฎของธรรมชาตินี่อย่างหนึ่ง หน้าที่ที่ต้องทำตามกฎธรรมชาตินี่อย่างหนึ่ง และผลที่จะเกิดขึ้นมานี่อีกอย่างหนึ่ง สำหรับธรรมชาติโดยมากก็เล็งถึงคำว่า nature แต่ก็ไม่ค่อยจะปลอดภัยนัก บางทีพวกอื่นมีความหมายของคำว่า nature เป็นอย่างอื่นไปเสียบ้างก็มี แต่โดยทั่วไปพอจะพูดกันรู้เรื่อง ว่า nature หมายถึง ธรรมชาติ กฎธรรมชาติก็หมายถึง law of nature นี้ก็พอจะเข้าใจกันได้ทั่วๆ ไป หน้าที่ตามกฎธรรมชาติก็คือ duty the law of nature นี่เรียกสั้นๆว่าduty สำหรับสัตว์ หรือมนุษย์หรือสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง มีduty ทั้งนั้น ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ result of duty อันเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราปรารถนา ทั้งสี่อย่างนี้ถ้าจะเรียกโดยภาษาลี โดยภาษาบาลีแล้วก็เรียกด้วยคำเพียงคำเดียวคือคำว่า ธรรมะ ธรรมะ
ขอให้สังเกตดู จากบาลี จากอรรถกถา จากพระคัมภีร์ทุกชั้น จะพบว่าคำว่าธรรมะหมายถึงธรรมชาติ คือ สภาวธรรม คำว่าธรรมะหมายถึงกฎแห่งธรรมชาติ เช่น สัจธรรม คำว่า ธรรมะหมายถึงหน้าที่ของมนุษย์ตามธรรมชาติ ก็คือปฏิบัติธรรม และผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็เรียกว่า ธรรมะ ซึ่งหมายถึง ปฏิเวธธรรมเป็นต้น เราเรียกด้วยคำว่า ธรรม เพียงคำเดียว ก็เล็งถึงสิ่งทั้งสี่นี้ได้ครบถ้วน ตอนนี้ควรจะสังเกตให้เป็นพิเศษถึงความน่าอัศจรรย์ของคำว่า ธรรมะนี้ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งกันเสียก่อน ผมรู้สึกประหลาดใจหรือถึงกับภูมิใจก็ได้ว่า เรามีคำพิเศษในภาษาบาลี คือคำว่า ธรรมะ ซึ่งเล็งถึงทุกสิ่งอย่างนี้ ซึ่งไม่มีภาษาใดมีคำอย่างนี้ก็ได้ นี่เป็นเหตุให้เกิดความจำเป็นอย่างหนึ่งคือ ไม่อาจจะแปลคำว่าธรรมนี้ออกเป็นภาษาต่างประเทศว่าอะไร จำเป็นต้องใช้คำว่าธรรมไปตามเดิม ธรรมะไปตามเดิม ถ้าแปลออกไปเป็นภาษาต่างประเทศมันจะถูกเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้น คือมันจะไปเป็นธรรมชาติก็ได้ ไปเป็นกฎของธรรมชาติก็ได้ ไปเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติก็ได้ เป็นผลที่เกิดขึ้นก็ได้
คำว่า ธรรมที่แปลออกไปเป็นคำอังกฤษ โดยเฉพาะตั้งสามสิบกว่าคำนั้น แต่ละคำละคำ มันถูกเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้น ต่อไปเราพยายามที่จะไม่แปลคำนี้ โดยใช้คำเดิมคือคำว่าธรรมะ แล้วก็ค่อยให้ความหมายหรือคำจำกัดความ หรือ contact โดยเฉพาะแก่กรณีนั้นๆ ที่พูดถึง ให้รู้ว่าหมายถึงอะไรอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ดังนั้น ควรจะระวังให้ดีในการที่จะไปเผยแผ่ธรรมะนั้น ถ้าไม่ระวังให้ดีจะไขว้กัน จะสับสนวุ่นวาย หรือจะถูกแต่น้อยที่สุด เราจะต้องรู้ด้วยตนเองเสียก่อนว่า สิ่งที่เราจะพูดหรือจะอธิบายแก่เขานี้หมายถึงธรรมประเภทไหน คือ ธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ หรือหน้าที่ตามธรรมชาติหรือผลที่จะเกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่นั้น ก็ต้องเลือกใช้คำที่ให้ได้ความตรงตามนั้น ก็จะพูดกันรู้เรื่องโดยง่ายเข้า ถ้าพูดว่าธรรม หรือธรรมะเฉยๆ ก็ต้องเป็นที่รู้กันแล้วว่าหมายถึงอะไรหรือประเภทไหน ถ้าในกรณีที่ไม่อาจจะรู้ต้องให้คำประกอบให้รู้ให้จนได้ว่าเล็งถึงธรรมชาติประเภทไหน
ที่ที่จะเกิดขึ้นต่อการทำหน้าที่นส่งที่จะพูดหรืออธิบายต่อเขาหมายถึงธรรมประเภทไหน คือ ธรรมชาติ หรือกฎของนี้ที่อยากจะให้สังเกตต่อไปก็คือ คำว่า ธรรมหรือธรรมชาตินี้ มันจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องรู้ เพราะมันได้แก่สิ่งที่เป็นตัวมนุษย์เอง หรือที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์เอง โดยไม่อาจจะแยกกันได้ ถ้าใครไม่รู้ธรรมก็แปลว่าโชคร้ายเต็มทีไม่ได้สิ่งที่ดีที่ควรจะได้ ดังนั้นการที่เราจะตั้งต้นความสนใจหรือให้เกิดความสนใจแก่ชาวต่างประเทศ เราไม่ควรจะเอ่ยถึงศาสนา เช่น พุทธศาสนา หรือพระธรรมหรืออะไรทำนองนั้นให้มากนัก แต่ชวนกันให้เกิดความสนใจในคำว่าธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามธรรมชาติ และผลที่จะเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น ให้เข้าใจแจ่มแจ้งกันเสียก่อน เขาจะสนใจขึ้นมาทันที ถ้าเป็นสิ่งที่เขาสนใจอยู่เป็นอย่างมากแล้วด้วย พอเข้าใจสิ่งทั้งสี่นี้แล้ว พูดว่าพระธรรมคืออะไรเพียงหน่อยเดียวเท่านั้น เขาก็จะชอบสิ่งที่เรียกว่าพระธรรม แต่เมื่อพูดว่าพระพุทธเจ้าคือบุคคลผู้รู้เรื่องนี้ และเอาชนะสิ่งนี้ได้มากเท่าไหร่ เพียงไม่กี่ประโยค เขาก็จะเกิดความสนใจในพระพุทธเจ้าหรือในพุทธศาสนาขึ้นมาทันที เพราะว่าพุทธศาสนาได้กล่าวถึงสภาวธรรม คือ ตัวธรรมชาติได้กล่าวถึงสัจธรรมหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ครอบงำ ที่ควบคุมธรรมชาติอยู่ และได้กล่าวถึงปฏิบัติธรรม และหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือหน้าที่ที่จะเอาตัวรอดออกไปให้ได้ และได้กล่าวอย่างสมบูรณ์ถึงภาวะที่เป็นผลของหน้าที่เหล่านั้น เขาก็เกิดความสนใจในพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนา หรือในระบบพระธรรมขึ้นมาได้โดยง่ายในเวลาอันสั้น
ทีนี้ที่จะต้องดูกันต่อไปก็คือ อานาปานสติ กรรมฐานสิบหกขั้นของเรานั้น เกี่ยวข้องกันกับธรรมชาติในสี่ปริยายนี้อย่างไรบ้าง คำว่ากาย คำว่าเวทนา คำว่าจิต คำว่าธรรม สี่อย่างนี้เป็นตัวธรรมชาติอยู่แล้วโดยตรง เป็นธรรมในฐานะที่เป็นธรรมชาติ ตัวธรรมชาติ ที่นี้อาการที่มันต้องเป็นอย่างไร ต้องเป็น เอ่อ อยู่อย่างไร นี่ก็เป็นกฎของธรรมชาติ คืออะไรทำให้ต้องหายใจ ที่ต้องหายใจอย่างไร ลมหายใจเราเนื่องกับกาย ขึ้นลงพร้อมกันอย่างไร ปิติและสุขมันต้องปรุงแต่งจิตตามกฎธรรมชาติอย่างไร คือจิตมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติ หรือมีกฎธรรมชาติประจำตัวเองอย่างไร อนิจจังคือกฎของธรรมชาติอย่างไร มีราคะ มีโลภะเหล่านี้ มันเป็น เป็นสิ่งที่ต้องมีขึ้น เกิดขึ้นหรือเป็นไปตามกฎธรรมชาติอันเด็ดขาดอย่างไร และในที่สุด ปฎินิสรรพะ (19.31.3) คือผลที่มนุษย์จะพึงได้จากการปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตามธรรมชาตินั้นคืออะไร ขอให้สังเกตดูให้ดี โดยรายละเอียดทีละข้อ ทีละขั้น จนเข้าใจได้ชัดว่า เราจะมองเห็นสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งได้แม้ในอานาปานสติภาวนาทุกขั้นทั้งสิบหกขั้น แต่ในขั้นบางขั้นอาจจะมองเห็นทั้งตัวธรรมชาติและกฎธรรมชาติ และหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องกระทำ เพราะฉะนั้นเราอาจจะพิสูจน์ให้เขาเห็นได้ว่า เรื่องอานาปานสติภาวนานี้ เป็นเรื่องที่จำเป็นแก่มนุษย์อย่างยิ่งหรืออย่างเด็ดขาดเพียงไร ข้อนี้ต้องพยายามพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่กล่าวมาแล้วว่า มนุษย์จะต้องรู้จักตัวธรรมชาติ รู้จักกฎ กฏของธรรมชาติ หน้าที่ตามธรรมชาติ ผลตามหน้าที่นั้น ทีนี้ในอานาปานสตินี้ไม่ใช่เรื่องยกเมฆ ไม่ใช่เรื่องโคมลอย ไม่ใช่เรื่องประดิษฐ์ขึ้นมาตามพอใจ หรืออะไรทำนองนั้น แต่ว่าเป็นเรื่องที่เป็นเทคนิคตามธรรมชาติ แต่ว่าเทคนิคสมบูรณ์แล้วยังได้แสดงวิธีปฏิบัติ หรือเทคนิคของมันไว้อีกส่วนหนึ่ง จนมนุษย์สามารถปฏิบัติได้จริง ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าอานาปานสตินี้จำเป็นแก่คนทุกคน เพราะเขาเข้าใจเห็นแจ้งในส่วนนี้เท่านั้น เขาก็จะสนใจที่จะศึกษาและจะปฏิบัติ และจะเป็นการง่ายแก่พวกเรา ที่จะช่วยเหลือเขาในส่วนนั้น ปัญหายังเหลืออยู่ก็แต่ว่าเราเข้าใจเรื่องนี้ดีจริงหรือไม่ เราปฏิบัติสิ่งเหล่านี้แล้วหรือยัง เราปฏิบัติแล้วได้รับผลเป็นที่พอใจโดยสมควรแล้วหรือยังอย่างนี้เป็นต้น เท่านั้นเอง ถ้าพิจารณาดูอย่างนี้แล้วจะเห็นว่า มันยังเหลืออยู่แต่ว่าเราต้องรู้ ต้องปฏิบัติ ให้ได้ผลการปฏิบัติ อย่างในเรื่องนี้เสียก่อน เราจึงจะมีอะไรไปสอนเขา แล้วทำให้เขาสนใจได้ จะพูดกันรู้เรื่องง่ายในเวลาอันสั้น ก็จะทำให้เขารับเอาพุทธศาสนาไปแล้วโดยไม่รู้สึกตัว อย่างนี้เอง เรื่องอื่นๆ ไม่สำคัญเท่าเรื่องนี้คือ เรื่องธรรมะ เรื่องธรรมชาติเท่าที่เกี่ยวกันอยู่กับมนุษย์ เรื่องปรัชญา เรื่องจิตวิทยาหรืออะไรก็ตามในแขนงอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องเปลือก เรื่องฝอย เรื่องกระพี้ซึ่งไกลออกไปทุกที ส่วนเรื่องภาษานั้นเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารถ่ายทอดความรู้ความคิดเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวธรรมะ ตัวธรรมะต้องอยู่ที่สิ่งทั้งสี่อย่างที่กล่าวแล้ว ว่าธรรมะคือธรรมชาติ หรือสภาวธรรม ธรรมะคือกฎของธรรมชาติหรือสัจธรรม ธรรมะคือหน้าที่ของมนุษย์ตามธรรมชาติ คือปฏิบัติธรรม ธรรมะคือผลที่มนุษย์ควรจะได้รับตามกฎของธรรมชาติ คือปฏิเวธธรรม สิ่งนี้เป็นหัวใจ เป็นเนื้อแท้ เป็นตัวธรรม เป็นตัวพุทธศาสนา ภาษาเป็นเพียงภาชนะเหมือนกับถาดหรือถ้วย จาน ชามเป็นต้น ที่จะใส่เอาไปให้ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้นเอง ถูกแล้วไม่มีภาชนะเราก็ไม่สามารถเอาอะไรไปให้ใครได้ ไม่มีภาชนะใส่ข้าวกิน เราก็กินไม่ได้ หรือยากลำบาก แม้แต่จะใส่มือ มือก็กลายเป็นภาชนะไป รวมความแล้วก็เป็นอันกล่าวได้ว่า ภาชนะก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน หรือว่าส่วนที่เป็นเปลือกก็สำคัญเหมือนกัน ไม่มีเปลือก ผลไม้ก็งอกขึ้นมาไม่ได้ เจริญขึ้นมาไม่ได้ จึงถือว่าภาชนะก็เป็นส่วนสำคัญเกี่ยวกับธรรม แต่โดยเนื้อแท้มันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งคือเป็นธรรมอยู่ในปริยายหนึ่งแล้ว ในฐานะที่เป็นเปลือกหรือเป็นภาชนะ แต่มันไม่ต้องการมากมายนัก เพราะว่าดูเถอะ จานหรือว่าเปลือกผลไม้มันก็ต้องการในจำนวนจำกัดพอดีๆ และเป็นเปลือกที่ถูกวิธีถูกต้องตามเรื่องตามราวจึงจะรักษาเนื้อของผลไม้ไว้ได้ ถ้าเปลือกไม่ถูกวิธีแม้จะมีมากมายเพียงไรก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อเนื้อในแต่ประการใด เพราะมันผิดกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ขอให้สนใจในคำว่าธรรมชาติ ธรรมชาตินี้ให้มากเป็นพิเศษ เป็นที่รวมแห่งทุกสิ่งเพราะว่ามันเป็นทุกสิ่ง แล้วเราก็จะรู้เรื่องทุกสิ่ง แล้วเราก็จะรู้จักคัดเลือกเอาแต่สิ่งที่จำเป็นแก่มนุษย์
ในที่สุดก็สรุปความว่า เราจะต้องรู้จักธรรมชาติโดยแน่นอน ทีนี้ในการเป็นอยู่ประจำวันทั่วไปของพวกเรา เราควรจะทำตัวใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้น จึงได้ขอร้องแล้วขอร้องอีกต่อเพื่อนธรรมจารีย์ทั้งหลาย ว่าจงบำเพ็ญตนให้เป็นเกลอกับธรรมชาติเถิด แล้วก็จะรู้ธรรมะเป็นแน่นอน เป็นเกลอกับธรรมชาติ ใกล้ชิดกับธรรมชาติเหมือนกับเรากำลังนั่งนอนอยู่ที่นี่ ฟังเสียงนกร้อง ฟังเสียงลมพัด แหงนขึ้นไปบนฟ้าก็เห็นเมฆและดาว ได้มีความรู้สึกหรือการกระทบกันตามธรรมชาติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางผิวกาย ผิวหนังซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนจะส่งต่อไปยังจิตใจ เป็นการทำให้เข้าใจธรรมชาติ ใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นพลังของความรู้อันเกี่ยวกับธรรมชาติที่เราสะสมไว้อย่างมากมาย เพียงพอแก่การที่จะใช้จ่าย เพียงพอที่จะใช้มันในการปรับปรุงอะไรขึ้นมาให้เป็นเรื่องเป็นราวเพื่อเข้าใจธรรมชาติ เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ให้ได้รับผลตามธรรมชาติโดยแน่นอน อย่าได้เข้าใจไปว่า มนุษย์เราจะเอาตัวรอดได้หรือฉลาดไปได้โดยไม่ต้องเข้าไปสัมพันธ์กันกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด อย่าลืมหรือเขลาไปให้มากจนถึงกับไม่รู้ว่า แม้เนื้อหนัง ร่างกายของเราก็เป็นธรรมชาติ จิตใจของเราก็เป็นธรรมชาติ ทั้งหมดนั้นก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้เลย เราต้องรู้จักให้ดี แล้วจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องจนได้รับผล ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็คือปฏิบัติผิดซึ่งเรียกว่า ไม่ได้รับผล คำว่าผิดนี้ มันหมายถึงว่าผิดจากกฎธรรมชาติ ผิดจากความต้องการของธรรมชาติ จงสังเกตดูเถอะว่า การปฏิบัติหรือการกระทำอย่างใดที่เราเรียกกันว่าผิดนั้น มันผิดอะไร โดยเนื้อแท้มันก็คือผิดกฎธรรมชาติเท่านั้นเอง มันจะเป็นเกลอกับธรรมชาติจนถึงขนาดที่เราจะรู้จักมันดีไม่มีทางที่ทำผิดต่อกันและกันได้ แล้วเราก็จะสบาย
ดังนั้น การที่เรามานั่งนอนอยู่ที่นี่ ไม่ใช่เรื่องงมงายหรือเรื่องเดาว่าคงจะได้อะไรบ้าง หากแต่ว่าเป็นเรื่องที่รู้แจ่มแจ้งอยู่แล้วอย่างชัดเจน ว่าจะเข้าถึงธรรมชาติจะเป็นเกลอกับธรรมชาติ จะคุ้นเคยกันกับธรรมชาติจนให้กลายเป็นของธรรมดาไป คือไม่แปลกประหลาดอะไรแก่เรา เป็นการรวบรวมเอาซึ่งความรู้ ความชำนาญ ความเจนจัด ในสิ่งที่เกี่ยวกับธรรมชาตินี้ไว้ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเราจะต้องทำอย่างนี้จนตลอดชีวิต แต่ว่าเราจักต้องทำในระยะใดระยะหนึ่งตามสมควรโดยแน่นอน แต่เมื่อเป็นดังนี้ เราต้องรีบทำให้ดี ให้ได้ผล สมกับที่เราไม่ต้องทำจนตลอดชีวิต ทำให้ถูก ทำให้ดี ในระยะไม่นานนักก็คุ้นเคยกับธรรมชาติได้ แต่เรายังจะต้องทำอย่างอื่นอีกมากมายหลายแขนง เราก็ต้องรีบทำให้เสร็จไปเป็นเรื่องๆไป เป็นแขนงๆ ไป จนกว่าจะสมบูรณ์ กระทั่งหมดนั้นล้วนแต่ได้เกี่ยวข้องกับธรรมชาติโดยตรงด้วยกันทั้งนั้น เพราะว่ามันไม่มีอะไรนอกไปจากธรรมชาติสี่ประการดังที่กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่ต่ำที่สุด เช่น กาย นี่ก็เป็นธรรมชาติ สติสูงสุดคือพระนิพพานก็เป็นธรรมชาติ อะไรๆ ในระหว่างนั้นซึ่งได้คาบเกี่ยวกันก็เป็นธรรมชาติโดยปริยายใดปริยายหนึ่ง จึงขอให้สนใจในคำว่า ธรรมชาติ ธรรมชาติให้มาก และสูตรที่เกี่ยวกับธรรมชาติที่เหมาะที่สุดสำหรับมนุษย์ก็คืออานาปานสติภาวนา ซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงจัดมันขึ้น systematize มันขึ้นอย่างดีที่สุด อย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นยอดนักธรรมชาติ เป็นยอดของนักปราชญ์โดยธรรมชาติตามธรรมชาติ ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน เราจึงรับเอาได้ซึ่งคำสอนของพระองค์โดยไม่มีความลังเลสงสัย เหลืออยู่แต่ที่จะเอามาศึกษาให้ดี แล้วก็ปฏิบัติให้ดีจนได้รับผลตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ทุกๆ ประการ ก็จะได้ชื่อว่าเราไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา ได้รับประโยชน์อันสูงสุดในส่วนตนแล้ว ก็มีความเมตตากรุณาที่จะเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งการกระทำอันนี้ก็เป็นหน้าที่หรือเป็นเจตนารมย์โดยตรงของพวกธรรมทูต ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง เป็นอันว่า ธรรมทูตหรือทูตแห่งธรรมนี้ก็คือ ทูตแห่งธรรมชาติจะไปเผยแผ่ประกาศความจริงอันเร้นลับของธรรมชาติให้แก่เพื่อนมนุษย์ตาดำๆด้วยกันทุกคนได้ทราบ จนสามารถประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้วได้รับผลตามที่ควร แต่ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนาอย่างเดียวกัน ทั้งหมดนี้คือใจความสำคัญของคำว่าธรรมชาติซึ่งขอฝากไว้ในวันนี้ สำหรับเป็นพื้นฐานของการศึกษาจิตสำนึกต่อไปในวันหน้า เวลาสนทนาของเราก็หมดลงพอดี