แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มันเป็นวันจะออกพรรษาอยู่แล้ว ก็อยากจะพูดเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับพระที่จะสึก คือ ผู้ที่บวชเพียง ๓ เดือน แล้วก็ แม้ผู้ที่บวชนานก็อาจจะยังไม่รู้ หรือรู้แล้วเลือนไปแล้วก็ได้ เวลาก็เหลืออยู่ไม่กี่วัน ทีนี้เรื่องมันมาก จะสรุปไอ้มากนั้นให้มันเหลือนิดเดียว ให้ใช้ได้แก่ผู้ฟังอื่นๆ ด้วย ก็เลยให้หัวข้อว่า อยู่ที่สวนโมกข์นี้ทำอะไร เพื่อทำอะไร เมื่อสักครู่ก็มีพวกนี้มาคุยด้วย หลายๆ คน ก็เลยพูดถึงเรื่องว่าเขาจะได้อะไรจากการที่แวะลงมาที่สวนโมกข์คืนหนึ่งนี้ และจะเดินทางต่อไป นี้หมายความว่าถ้าเรา ถ้าใครจะเอาประโยชน์จากการมาหรือการอยู่ที่นี่ต้องสนใจหัวข้อนี้ เราบอกให้เขาเลยว่าหัวข้อนั้นมันว่าเราจะมาศึกษาหรือชิม หรือปฏิบัติชิมก็ตาม ความรู้ที่เกี่ยวกับว่าเป็นอยู่โดยไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่เป็นตัวเราหรือเป็นของเรา หัวข้อว่าความเป็นอยู่โดยไม่มีความรู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา เรื่องนี้ก็คงจะได้อ่านกันมามากแล้วเหมือนกันนะ ก็เขียนมาก พูดมากแล้ว เรื่องเป็นอยู่โดยไม่มีอะไรเป็นตัวเราของเรานี่ แต่ว่าเพียงแต่อ่าน อย่างเดียวนั้นมันไม่พอ มันต้องลองอยู่อย่างที่ไม่มีอะไรเป็นตัวเราหรือเป็นของเรานั้นดูด้วย ดังนั้น ที่บ้านหรือว่าที่อื่นนั้นอาจจะไม่สะดวกในการที่จะลองอยู่ ชิมดู ถ้าใครมาถึงนี่วันหนึ่ง หรือหลายวัน หรือ ๓ เดือนอย่างนี้ ก็ตาม ควรจะได้รับบทเรียนเรื่องการเป็นอยู่โดยไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเราหรือของเรา ไอ้คำนี้บางทีเราใช้คำที่น่าสนใจมากเกินไปกว่าคือว่าเป็นอยู่เหมือนกับตายแล้ว หรือว่าหัดตายเสียก่อนตายบ้าง แล้วยังมีคำอื่นๆ อีก แต่ความหมายเหมือนกันหมด คือ เป็นอยู่ด้วยจิตที่ไม่มีความรู้สึกหรือสำคัญมั่นหมายอะไรว่าเป็นตัวเราหรือ เป็นของเรา เพราะว่าประโยคนี้เป็น เป็นใจความของพุทธศาสนา เป็นหัวใจของพุทธศาสนา เมื่อไม่ได้ฟัง ไม่ได้เข้าใจประโยคนี้ ก็คือไม่ได้ฟังหัวใจของพุทธศาสนา มันก็น่าสงสารการเผยแผ่พุทธศาสนาที่ต่างประเทศหรือในประเทศนี้ก็ดี ไม่ได้พูดกันถึงเรื่องนี้ ดังนั้น มันจึงไม่รู้จักจบ เพราะมันไม่มีจุดศูนย์กลางที่จะให้เรื่องที่พูดนั้นมันสู่ใจความที่แท้จริงได้ มันก็เลยพูดกันไปไม่มีที่สิ้นสุด จึงเกิดทั้งเบื่อกันจนกระทั่งโกรธกัน คนที่เขาเคยไปเมืองนอกไปเห็นกิจการที่ประเทศอังกฤษหรือที่อื่นๆ อีก เขามาเล่าให้ฟังหรือซักไซ้ดูแล้วมันก็รู้สึกว่า ไม่เคยรู้เรื่องและไม่เคยพูดถึงหัวใจของพุทธศาสนาในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นมันจึงลำบากที่จะ จะเข้าใจ พุทธศาสนาให้เป็นที่พอใจได้ มันไม่เพียงพอ มันก็แกว่งไปแกว่งมา แกว่งไปแกว่งมา ในที่สุดมันก็ไม่เป็นผลดีแก่คนเหล่านั้นและแก่พุทธศาสนาด้วย เขายังบอกว่าแม้ที่ประเทศอังกฤษเองก็มีคนบ้าๆ บอๆ มาฟังพุทธศาสนา ที่ว่าบ้าๆ บอๆ นี่ไม่ได้หมายความว่าบ้าบอกันนะ แต่ว่ามันไม่มีรู้ อิโหน่อิเหน่เรื่องของพุทธศาสนา หรือ เรื่องตัวเอง ที่จะ อ้า, มีความจำเป็นสำหรับต้องการพุทธศาสนา ก็เหมือนกับเมืองไทยนี่มีคนเห่อๆ มาทำวิปัสสนา โดยไม่รู้ว่าทำทำไม ตัวเองคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร อย่างนี้แหละเรียกกันที่นี่ว่าคนบ้าๆ บอๆ มีจำนวนมาก แห่มาฟังปาฐกถา มาร่วมประชุม ที่อาจจะมีคนที่ควรจะเข้าใจได้ มันก็ไม่มีการพูด ไม่มีการแสดงเสียอีก มันก็เลยเป็นเรื่องที่ไม่ใช่หัวใจพุทธศาสนา ก็คิดว่ายังอีกนานกว่า อ้า, คนเหล่านั้นจะพูดกันหรือว่าได้ลองปฏิบัติเรื่องหัวใจของพุทธศาสนา ดังนั้น เราตัดบทเลยว่าจะเป็นไทยหรือเป็นฝรั่งหรือว่าจะเป็นมนุษย์ที่ถือศาสนาอื่นก็ได้ ควรจะมารู้เรื่องการเป็นอยู่ที่ไม่มีความรู้สึกว่าอะไรเป็นตัวเราหรือของเรากัน ดูบ้าง มันเป็นพุทธศาสนา เป็นหัวใจของพุทธศาสนาก็จริง แต่ว่ามองดูกันในแง่ที่เป็นวิชาตามธรรมชาติหรือวิชาของธรรมชาติหรือวิชาเรื่องธรรมชาติทั่วๆ ไปก็ยังได้ ในฐานะเป็นความจริงของธรรมชาติ หรือจะมองไปในแง่ของปรัชญาก็ได้ แต่มันก็เสียเวลาอีกแหละ เพราะมันเป็นเรื่องมองไปในทางเหตุผลเสียเรื่อย ไม่มองมาในแง่ที่จะรีบปฏิบัติอย่างไร ดังนั้น มามองในแง่ของธรรมชาติของมนุษย์ดีกว่า ว่าเป็นทุกข์อยู่เพราะเหตุอะไรแล้วจะกำจัดความทุกข์นี้เสียได้อย่างไร แล้วไม่จำกัดอยู่แต่ในวงของพุทธบริษัท มนุษย์ไหนก็ได้ ก็ถ้าไปทำอย่างนี้เข้าก็เป็นพุทธบริษัทขึ้นมาเอง ดังนั้น พวกฝรั่งหัวแข็ง พวกกระด้างไม่ยอมเปลี่ยนความคิดในทางที่จะรับวัฒนธรรมหรือรับศาสนาของผู้อื่นนั้นก็ยอมให้เขาเป็นอย่างนั้น แล้วเรามาพูดกันถึงเรื่องนี้ในฐานะที่ว่าเป็นธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติ เป็นความจริงของธรรมชาติหรือของมนุษย์ทั่วไปไม่เกี่ยวกับศาสนา ไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ดังนั้น ก็เลยมาตั้งจุด ของ เอ่อ, ของความ ของการศึกษานี้ตรงที่ว่าจะทำเพื่อให้มนุษย์ไม่มีความทุกข์ก็แล้วกัน หรือมีความ อ้า, มีความทุกข์น้อย น้อยไปกว่าที่เป็นอยู่ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไปจนไม่มีความทุกข์เลย ถ้าเขาไม่ชอบว่าไม่มีความทุกข์เลยมันเป็น ของจืดชืด ก็จะพูดได้เหมือนกันว่ามีความสุขอีกแบบหนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยรู้จักกันมาแต่ก่อน ดังนั้น จึงตั้งสูตร หรือ formula ขึ้นมาใหม่ว่าเราจะเป็นสุขแท้จริงได้ต่อเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา แต่ประโยคอย่างนี้อันตราย กำกวม ฟังผิดเป็นมิจฉาทิฐิไปก็ได้ คือความที่ไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นตัวเราของเรานั้น เขาอาจจะฟังไปในแง่ว่ามันก็เลยทำอะไรโดยไม่ต้องคิดแก่หน้าใครทั้งนั้น นั้นเป็นเรื่องไม่มีตัวเราอย่างอันธพาล ไม่ใช่พุทธศาสนาและไม่ใช่อย่างที่เป็นข้อเท็จจริงด้วยซ้ำไป แม้ที่เป็นข้อเท็จจริงตามธรรมชาตินี่ ถ้าเราไม่รู้สึกหรือไม่มีความรู้สึกไปทำนองเป็นตัวเราหรือของเราแล้ว เรารังแกใครไม่ได้ เราเอาเปรียบใครไม่ได้ อันธพาลไม่ได้ ดังนั้น พวกอันธพาลนั้นเขาแกล้งรู้สึกเอาว่าไม่มีอะไรเป็นตัวเราหรือของเรา เป็นจิตว่างแบบอันธพาลไป นั่นมันเป็นอีกส่วนหนึ่งไม่เกี่ยวกันกับเรื่องนี้ ดังนั้น ประโยคที่ว่าเรามีความสุขแท้จริงต่อเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรเป็นตัวเราของเรานี้ มันเป็นเรื่องจริงของธรรมชาติด้วยและเป็นพุทธศาสนาทันทีด้วย ไอ้ส่วนที่ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติแท้ๆ ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้นก็ให้สังเกตดูเถิด เวลาที่เราสบายใจที่สุด รู้สึกสบาย พอใจตัวเองที่สุด ก็คือเวลาที่เราลืมว่าเรามีตัวเรา ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือลืมไอ้ภาระของตัวเรา ของๆ เรา ไม่มีภาระเหล่านั้น มาผูกพัน แม้ว่าเรากำลังทำการงานอยู่แต่เราลืมตัวเราก็ได้ ลืมของเราก็ได้ การงานนั้นก็เลยเป็นของสนุกไป ทีนี้พอเราพูดว่าเมื่อจิตไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้วการงานก็สนุกนี้ คนเขาฟังไม่ถูก คนบางคนหาว่า เป็นการพูดแกล้ง พูดเล่นลิ้น เล่นสำนวน ดังนั้น ต้องฟังให้ดีๆ แล้วเอาไปคิดให้ดีๆ แล้วไปสังเกตให้ดีๆ จนกระทั่งเห็นว่าเรามีความสบายบอกไม่ถูก สบายอย่างบอกไม่ถูก ต่อเมื่อไอ้ conception ว่าตัวเรา ว่าของเรานั้น มันไม่เข้ามาวี่แววกับเรา มันเหลืออยู่แต่สติปัญญากำลังทำการงานอยู่บ้าง กำลังศึกษาบ้าง กำลังพักผ่อนบ้าง อะไรบ้าง อยู่ด้วยสติปัญญาที่เป็นอิสระ หรืออารมณ์ที่เป็นอิสระไม่เจืออยู่ด้วยตัวกูหรือของกู พอๆ พอตัวกู ของกูมาก็หมายความว่า ภาระมา ภาระคือของหนัก ของผูกพัน ของครอบงำอะไรมา ดังนั้น ให้ถือเสียว่า ไอ้ตัวกู นั้นเป็นศัตรูของความสงบ มันมีของกูเนื่องกันอยู่ด้วย ดังนั้น ชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกูของกูนี่ จึงเป็นเป็นชีวิตที่ทรมาน ดังนั้น เรามาหาวิธีที่มีชีวิตแบบที่ไม่เจืออยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกูของกู ทีนี้มันก็ทำยาก เพราะว่าตั้งแต่เกิดมาเราถูกสั่งสอนอบรมแวดล้อมให้มีความรู้สึกเป็นทำนองมีตัวกูของกู มากขึ้น มากขึ้นๆ ข้อนี้เราเสียเปรียบสัตว์เดรัจฉานซึ่งเขาไม่มีการ ซึ่งมันไม่มีการอบรมเรื่องตัวกูของกูให้มากขึ้นๆ อย่างนี้ มันจึงมีความทุกข์น้อยกว่ามนุษย์ ทีนี้มนุษย์ก็ต้องไปหาทางออกเอาทางอื่นไม่ให้เสียเปรียบสัตว์เดรัจฉาน คือการศึกษาหรือสติปัญญาตามหลักของพุทธศาสนาที่ให้ไม่เกิดความคิดนึกปรุงแต่งเป็นตัวกูของกูนั่นเอง ถ้าลำพังทำไม่เป็น ทำไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง ดังนั้น ต้องอาศัยหลักพุทธศาสนาเป็นแนวทาง แต่ทีนี้เราเมื่อไม่อยากพูดถึงศาสนา เราก็พูดไปตามหลักของธรรมชาติให้สังเกตดูเอง ตามธรรมชาติให้สังเกตดูเอง นาทีไหนเป็นอย่างไร นาทีไหนเป็นอย่างไรมันแตกต่างกันอย่างไร แล้วก็จะรู้สิ่งเดียวกันกับที่พุทธศาสนามีหรือสอนให้ เดี๋ยวนี้ทั้งพระ ทั้งเณร ก็กำลังเห่อเรื่องเรียน เรื่องปริยัติ เรื่องภาษา ไม่มีใครศึกษาเรื่องจิตของตัวเอง เฝ้าดูอยู่ทุก ทุกๆ เวลา ทุกๆ ลักษณะที่มันเปลี่ยนแปลง ไหวตัว โดยไม่เห็นว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ต้องการความรู้อย่างที่เขานิยมกัน นิยมกันว่าเป็นความรู้ที่มีค่าไป เลยไม่เข้าใจคำที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้ศึกษาตรงที่จิต หรือที่ตัวจิต หรือให้มองดูจิต ให้เฝ้าระวังจิต สิ่งเหล่านี้พวกปริยัติไม่เคยทำแล้วทำไม่เป็น พวกปฏิบัติก็ ก็มักจะไปทำอย่างอื่น เพราะไปหลง ไอ้ระบอบอย่างอื่น แบบแผนอย่างอื่น ระเบียบอย่างอื่น ก็เลยไม่เข้าถึงจุดอันนี้ได้สักที ทั้งๆ ที่เรียนปริยัติก็มาก เป็นนักปฏิบัติก็มาก มา มานานแล้ว ก็ไม่เข้าถึงจุดนี้สักที ดังนั้น จึงสู้ไอ้ ไอ้ใครสักคนหนึ่งที่บวชไม่รู้อะไร แต่มานั่งเฝ้าระวังจิต สังเกตจิต ศึกษาจิตว่ามันเป็นอย่างไร มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทำไมอย่างนี้อยู่แท้ๆ เดี่ยวมันก็เปลี่ยนเป็นอย่างโน้นไปได้ ถ้ามีอะไรสะดุดนิดเดียวมันก็เปลี่ยนเป็นเรื่องทุกข์ไปได้ หรือเป็นเรื่องไม่ทุกข์ไปก็ได้ แล้วก็ไม่สังเกตดูก็ไม่รู้ว่าไอ้ที่มันเป็นเรื่องทุกข์ไปได้ก็เพราะมันต้องมีตัวตน ต้องมีเรื่องตัวกูของกูเข้ามาเสมอ ทีนี้ลักษณะของไอ้ตัวกูของกู หรือวิธีที่มันจะเข้ามานี้ก็มีมากมายหลายสิบแบบ หลายร้อยแบบ และบางแบบลึก จนมองไม่เห็นว่าไอ้เป็นตัวกูเป็นของกูหรือเข้ามาแล้ว มันเป็นเรื่องที่มองดูแล้วก็น่าสังเวชหรือน่าเศร้า พวกปริยัติก็หลงปริยัติ พวกปฏิบัติก็หลงปฏิบัติเรื่องเคร่งครัดอย่างหลับหูหลับตาก็ไปสนใจเคร่งครัดไอ้สิ่งที่เป็นเปลือกเป็นฝอย อย่างหลับหูหลับตาก็มี แล้วก็พอใจแล้วว่ามันเท่านั้นกันเองก็มี ก็ไม่ถึงเรื่องที่จะศึกษาเรื่องจิตว่าเป็นอย่างไรเพราะมันมีเรื่องที่จะต้องศึกษามาก ระวังมาก ปฏิบัติมาก เกี่ยวกับระเบียบ เกี่ยวกับวินัย เกี่ยวกับ การเป็นอยู่อะไรต่างๆ เพียงแต่ระวังไอ้ ไอ้ๆ ไอ้เรื่องหยุมหยิมเหล่านั้นก็หมด หมดเวลา หมดสติ หมดสัมปชัญญะ ที่จะมาศึกษาเรื่องจิตโดยตรง เหมือนบางคนเกิดมาแล้วบวชเรียนจนตลอดชีวิตก็ไม่เคยพบกับเรื่องนี้ ไม่เคยพบกับเรื่องหัวใจของพุทธศาสนาเลย พบอย่างอื่นซึ่งมีหลายๆ อย่างแล้วก็ยึดมั่นถือมั่นอย่างใด อย่างหนึ่งเคร่งครัด ไปจนตาย ก็ได้แค่นั้น ได้เท่านั้น แล้วไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่าไอ้ความเคร่งของตัวนั้นคืออะไร หรือความไม่เคร่งของผู้อื่นนั้นคืออะไร แล้วก็เลยไม่รู้ว่าไอ้ธรรมะแท้จริงนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเคร่งหรือไม่เคร่ง โดยไปหลงเรื่องเคร่งกับเรื่องไม่เคร่ง ก็เลยไม่ใช่ธรรมะที่แท้จริง ถ้ายิ่งไปหลงเรื่อง เอ่อ, ได้สบายใจ ไม่สบายใจ ได้ยินดี หรือไม่ยินดี ได้เกลียดหรือได้รักในรูปนี้ไปด้วยแล้วก็ยิ่ง ยิ่งไปไกลอีก ไม่ ไม่ใกล้กับธรรมะที่แท้จริงก็มี อย่างคนบางพวกกลัวนรกแล้วก็เห่อสวรรค์ บางคนก็กลัวบาปแล้วก็เห่อบุญ อย่างนี้ยิ่งทำไปก็ยิ่งไกล ไกลจากธรรมะเพราะว่าธรรมะมันไม่ใช่บาป ไม่ใช่บุญ คนเพิ่งว่าเอาเอง สิ่งใดตัวไม่ชอบก็เรียกว่าบาป สิ่งใดตัวชอบ ก็เรียกว่าบุญอย่างนี้ มันไปเข้าใจธรรมะเป็นบาปเป็นบุญไป ก็พบแต่ธรรมะชนิดนั้น ธรรมะที่เรียกว่าปรุงแต่ง ความคิดปรุงแต่ง ธรรมะปรุงแต่ง ธรรมะแท้จริงเลยไม่ได้พบกัน แล้วก็ไปอบรมสั่งสอนหรือแวดล้อมกันอยู่ แต่ให้กลัวบาป จนหมดความรู้สึกแล้วก็เห่อบุญ หวังบุญจนหมดความรู้สึกอย่างอื่น ก็ได้เท่านั้นเองจนตายไป ก็ได้เท่านั้น มันไม่เข้าถึงธรรมะแท้ มันเป็นธรรมะปรุงแต่ง เป็นบุญเป็นบาปอยู่เรื่อย ฉะนั้น เพื่อประหยัดเวลาเราจึงมีแนวอันใหม่ว่ามีชีวิตอยู่โดยไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู อย่าให้มันเป็นที่ตั้งของบุญหรือบาป ดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ เพื่อประหยัดเวลาอย่างนี้ ดังนั้น ใครมาที่นี่วันหนึ่ง ก็ยังแนะว่าถ้าจะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด จะได้จากที่นี่ก็ให้ไปนั่งศึกษาเรื่องโทษของความรู้สึกที่เป็นตัวกูกับความรู้สึกที่ไม่มีตัวกู ไม่เป็นตัวกู เพราะว่าพอย่างเท้าเข้ามาที่นี่ สิ่งแวดล้อมมันก็แวดล้อมไปในทางไม่เป็นตัวกู ลืมตัวกู ลืมชีวิต ลืมบ้านเรือน ลืมลูก ลืมเมีย ลืมอะไรต่างๆ ไปได้ขณะหนึ่ง พอใจอยู่ในรสไอ้ความสงบเย็นแบบนี้ ก็ให้ศึกษาเรื่องนี้ อันนี้เป็นเวลาที่ไม่มีตัวกูของกู เขาก็จะเข้าใจได้ว่าเวลาที่เราเป็นสุขที่สุดนั้นคือ เวลาที่เราไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวกูของกู แม้จะโดยลืมเองก็ได้ มันลืมไปเองอย่างนี้ก็ได้ อย่างวิธีของไอ้ ตทังคะ หรือว่าเราจะบังคับมันก็ได้ เป็นวิธีของวิกขัมภนะ ยังไม่ต้องพูดถึงวิธีตัดเด็ดขาดอย่างสมุจเฉทของพระอริยเจ้า เพียงแต่เข้ามาเป็นตทังคะไอ้สิ่งเหล่านี้แวดล้อมให้สงบเย็นลงไปได้ ก็เป็นความรู้ที่สูงสุดเหลือหลายอยู่แล้ว ไม่เคยพบมาแต่กาลก่อน คือ ทุกคนเคยสบายใจบอกไม่ถูกมาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าไม่เคยพบมาแต่กาลก่อน แต่ว่าไม่เข้าใจและไม่สนใจว่านั่นคืออะไร และเพราะเหตุใด ถ้าสมมติว่าเขาไปเที่ยวชายทะเลตากอากาศ แรกเข้าไปถึงเขาจะมีความรู้สึกอย่างนี้ แต่แล้วประเดี๋ยวเขาก็หันไปหาเรื่องวัตถุ เรื่องสวยเรื่องงาม เรื่องอื่นๆ เสีย เรื่องก็เลือนไปหมด ไม่มีทางศึกษา ดังนั้นเมื่อไปที่ทะเลก็ดี ที่ภูเขาก็ดี ที่นี่อย่างนี้ก็ดี เกิดความสบายใจบอกไม่ถูกขึ้นมาแล้วก็รีบตะครุบเอามาเป็นบทเรียน เป็นตัวบทเรียน สำหรับศึกษาพิจารณาดูให้ดี อ้าว, นี่มันคืออะไร จิตทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุใดจึงรู้สึกอย่างนี้ ไม่เท่าไรหรอกคนนั้น มันพบเอง ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้ามาสอนไอ้ที่ว่างจากตัวกูของกูนั้นคือความสุขที่สุด จิตที่เป็นอย่างนั้นมีความสุขที่สุด ทีนี้ก็ตั้งหน้าตั้งตาสังเกตศึกษาให้เข้าใจยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ว่าอยู่ที่กรุงเทพพอมาที่สถานีรถไฟ มันก็เริ่มลืม เริ่มเลือนไปในเรื่องที่ ที่บ้าน ขึ้นรถไฟพอรถไฟเคลื่อนเท่านั้นแหละ สิ่งแวดล้อมมันก็ทำให้ลืมบ้าน ลืมอะไรหมด มันก็เริ่มสบายใจทันที แล้วก็นั่งรถไฟมาเห็นภูเขาต้นไม้ วิว ป่าอะไร สวยงาม มันก็สบายใจมากขึ้น เขาก็ไม่สังเกตว่านั่นนะมันเริ่มลืมตัวกู ลืมของกูมากขึ้น มากขึ้นๆ ต้นไม้ ภูเขา วิวธรรมชาติเหล่านั้นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราเลย ทำไมทำให้เรารู้สึกสบายใจได้ ทีนี้มาถึงสวนโมกข์ มันมีความตื่นเต้น ในอะไรก็บอกไม่ถูก แต่ไม่ใช่เป็นความตื่นเต้นชนิดที่จะเป็นตัวกูของกูได้เพราะว่าเขาก็รู้ดีว่าสวนโมกข์นี่ เป็นของเขาไม่ได้ ก็ลืมตัวกูของกูมากขึ้นไปอีกไอ้รสของความสุขมันก็เลยเพิ่มมากขึ้นอีก เขาก็ออกปากเหมือนกันว่าทำไมสบายใจ ทำไมบอก ไม่ถูกว่ามันสบายใจเพราะเหตุอะไร เพราะฉะนั้น มันยังขาดอยู่นิดเดียวที่เราจะแนะเขาให้ศึกษา ให้สังเกต ข้อที่ว่านี่คือ เวลาที่เราไม่มีความรู้สึกว่าตัวเราหรือของเรา ความคิดปรุงแต่งในทางตัวเราของเรามิได้มี แม้ว่าขณะนั้นเราจะต้องพูดบ้าง เรื่องเรา เรื่องของเรา เรื่องอะไรของเราอยู่เหมือนกัน ต้องพูดไอ้ด้วยคำว่าเรา หรือ ของเรานี้อยู่ตลอดเวลา แต่ความรู้สึกแท้จริงไม่มี ไม่เหมือนกับอยู่ที่บ้าน บางทีไม่ได้พูดว่าเรา ว่าของเรา แต่ในใจเต็มไปด้วยตัวเราของเรามันก็เลยเป็นทุกข์หนักเท่าภูเขา ดังนั้นถ้าว่าจะหาวิธีลัดที่สุดที่จะปฏิบัติหรือช่วยผู้อื่นปฏิบัติก็ต้องให้ศึกษาเรื่องนี้ คอยสังเกตจิตใจที่มีตัวเรากับไม่มีตัวเรา ถ้าเข้าไปในที่อย่างไร มันช่วยแวดล้อมไม่ให้มีตัวเราโดยธรรมชาติก็หมายความว่าเราจับเขาส่งเข้าไปใน ในคลองหรือในแนวของธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ ก่อนนี้เขาแม้ว่าจะได้รับสิ่งเหล่านี้อยู่ รู้สึกถึงสิ่งเหล่านี้อยู่แต่เขาก็ไม่สนใจที่จะมองดูว่ามันเกิดมาจากความมีตัวเราหรือไม่มีตัวเรา อ้า, ความไม่มีตัวเรา เดี๋ยวนี้เขาเริ่มรู้จักไอ้ความแตกต่างระหว่างความมีตัวเรากับความไม่มีตัวเรา ดังนั้น ถ้าเขามาเราก็ชวนพูดกันแต่เรื่องนี้ ไม่พูดเรื่องอื่นและนั่นจะเป็นของประเสริฐที่สุด วิเศษที่สุด ตรงตามความหมายของคำว่าสวนโมกข์ที่สุด แต่ถ้าเราจะพาเขาไปดูภาพปั้น ดูอะไรต่างๆ ภาพเขียนอะไรก็ตาม ก็ให้ความเพลิดเพลินไปทางอื่น หรือว่าแม้จะเป็นมาทางนี้ก็ยังไม่ถึงจุด แล้วก็อธิบายไม่เป็นเสียด้วย พระ เณรเหล่านี้อธิบายไม่เป็นที่อธิบายภาพปั้นภาพเขียนให้มาในรูปของความว่างไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราก็อธิบายไม่เป็น ก็เลยเป็นเรื่องดูเล่น หรือความรู้ใหม่ๆ ความรู้แปลกๆ เท่านั้นเอง มันก็มีลักษณะเป็นทัศนาจรอย่างดีได้ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องศึกษาตัวสวนโมกข์ได้ ดังนั้น คำว่าโมกข์มันก็แปลว่า พ้นไปหรือว่างไป ต้องเข้าใจกันไว้ในส่วนหลัก ในส่วนหลักการหรือในส่วนไอ้ใจความ ดังนั้น ก็พยายามปฏิบัติตามเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น จึงวางระเบียบหรือแนวสำหรับปฏิบัติแล้วขอร้องให้ปฏิบัติ ว่าให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ให้พระทำงานด้วยจิตว่าง ไม่ต้องการรับประโยชน์ตอบแทน ไม่ต้องการรับความขอบใจ แล้วให้มาฝึกฝนตัวเองว่าขณะที่ทำงานเหนื่อยเข้ามันรู้สึกมีตัวกูของกูหรือเปล่า แล้วในขณะที่มันมาเข้าใกล้เพื่อนฝูง บุรุษที่สอง ที่สามขึ้นมา มันมีฮื่อแฮ่กันด้วยตัวกูของกูหรือเปล่า นี้เป็นบทเรียนที่ลัดสั้นมาก เพื่อจะพิสูจน์ว่ามีความเห็นแก่ตัว หรือเปล่า ควบคุมความเห็นแก่ตัวได้กี่มากน้อย และทำอะไรที่เป็นการทำลายความเห็นแก่ตัวได้บ้าง แล้วก็ศึกษาไปเรื่อยๆ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ อย่างนี้ดี เพราะว่าเรื่องพูดนั้นมันคนละอย่างกับเรื่อง เรื่องจริง แล้วจะอ่านหนังสือ จนเข้าใจเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว แล้วอธิษฐานจิตเป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว แล้วเราก็เชื่อว่าเราจะเป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว เหลวทั้งนั้นเลย เป็นเรื่องพูด เรื่องฝัน เรื่องนึก เรื่องคาดหมาย ดังนั้น มันต้องทำอะไรลงไปจริงๆ ที่เป็น ความไม่เห็นแก่ตัวจริงๆ และให้นานพอด้วย ให้นานมากพอด้วย แล้วไอ้งานหรือบทเรียน บทเรียนที่เป็นงาน งานที่เป็นบทเรียน หรือชีวิตที่เป็นบทเรียน บทเรียนที่เป็นชีวิต หรือความเป็นอยู่ที่เป็นบทเรียน เรื่องความ ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวกูของกู นี่เป็นความหมายที่ถูกต้องและเพียงอันเดียวของคำว่าสวนโมกข์ ดังนั้น จะมาบวช ๓ เดือน หรือว่ามาเพียง ๒-๓ วัน หรือว่ามาเพียงวันเดียวก็ตาม มีทางที่จะเข้าถึงหัวใจของสวนโมกข์ได้ ถ้าสนใจเรื่องนี้ นี่ถ้าว่ามันไม่ได้ ไม่ได้รู้เรื่องนี้ ก็คือไม่ได้อะไรจากสวนโมกข์ และไม่รู้จักสวนโมกข์ แล้วไม่เห็นสวนโมกข์แล้วไม่มาถึงสวนโมกข์ อย่าพูดเลยว่าจะอยู่ในสวนโมกข์ ๓ เดือน เรื่องลมๆ แล้งๆ ทั้งนั้น ไม่มาถึงสวนโมกข์ และไม่เห็นสวนโมกข์ด้วยซ้ำไป เพราะมันหมายความว่าอย่างไรและคืออะไร ดังนั้น ถ้าจับได้ จับจุดได้ เรื่องความมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูของกูอย่างนี้ อยู่ที่ไหนก็เป็นสวนโมกข์ทั้งนั้น กลับไปบ้านมันก็ตามไปด้วย ไปมีอยู่ได้ทุกหนทุกแห่งที่เป็นโมกข์สะ คือหลุดรอดออกไปได้ หลุดพ้นออกไปได้ นี่มันเป็นความอะไร ที่เรียกว่าความลับหรือเคล็ด หรือความลึกลับ ไอ้อะไรที่มันซ่อนเร้นอยู่ ดังนั้น ถ้าอยากจะให้ได้อะไรที่เป็นเรื่องของสวนโมกข์ ก็ต้องเรื่องนี้เรื่องเดียวเพราะเรื่องอื่นมันไม่รวมอยู่ในคำว่าโมกข์ สูตรที่ว่าให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น กินอาหารความว่างอย่างพระกิน ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที มีเท่านี้ หลักสูตรมีเท่านี้ จนกว่าจะปฏิบัติได้ถึงที่สุด ไปอ่านไปคิดมันก็เข้าใจ แต่แล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ จิตใจมันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ มันยังคงมีความเห็นแก่ตัวอยู่เรื่อย มีตัวอยู่เรื่อย กูจะดีจะเด่น กูจะเด่นในแง่นั้นแง่นี้กว่าคนอื่น มันมีแต่อย่างนี้อยู่เรื่อย ไม่มีความเป็นอิสระที่จะไม่มีตัวแล้วจะไม่ต้องการเด่นหรือด้อย หรือไม่ต้องการอะไรทั้งหมด นี่พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่ามันไม่เรียกว่ายากถ้าทำถูกวิธี แต่ถ้าทำไม่ถูกวิธีมันก็ยาก มันก็ลึก ดังนั้น พวกนิกายเซน บางนิกายที่ถูกต้องนะพูดได้เหมือนพระพุทธเจ้า คือพูดว่าไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร ให้อยู่ตามเดิม เป็นธรรมะไปตามเดิม อย่ามีความคิดเป็นว่าดีหรือชั่ว แล้วก็รักดีหรือเกลียดชั่วเป็นตัวกูขึ้นมานี่ตัวกูเพิ่งมาเมื่อรู้จักว่ามีดี มีชั่ว แล้วก็เกลียดชั่ว กลัวชั่ว แล้วก็รักดีขึ้นมา ดังนั้น ถ้าอย่าไปทำให้มันมีดีมีชั่วขึ้นมา มันก็คือตามสภาพเดิม ธรรมะแท้ตามสภาพเดิม ก็แปลว่าไม่ต้องทำอะไรเลยก็ถึงตัวธรรมะแท้หรือเป็นโมกข์สะอยู่แล้ว ทีนี้เกิดมาไม่รู้เรื่องนี้ พอโตขึ้นๆ ก็ถูกสอนไปแต่เรื่องให้มีดีมีชั่ว มีบุญมีบาป มีเป็นคู่ๆ อย่างนี้ เรื่อยไป มันก็เกิดกลับเป็นมีปัญหาขึ้นมา มีความยากขึ้นมา มีปัญหาขึ้นมา คือ ไม่เคยมีเรื่องมันก็กลายเป็นมีเรื่องขึ้นมา ที่จะต้องดับกิเลส ดับความทุกข์ ดับกิเลส ดับความทุกข์ขึ้นมา เพราะฉะนั้น ของเดิม ก็คือไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์อยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่พอเราเกิดมา ก็ถูกแวดล้อมให้มีความรู้สึกเป็นไปในทางที่ให้เกิดกิเลส และมีความทุกข์ นี้ปัญหาก็คือย้อนกลับไปสู่ความไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ ให้เหมาะสมกับมนุษย์ที่มีสติปัญญามากมายนี้ เพราะยิ่งคิดเก่ง ยิ่งมีสติปัญญามากยิ่งคิดมาก มันก็ยิ่งมีตัวกูของกูมาก ละเอียดลึกลับซับซ้อน มีความทุกข์มากลึกลับซับซ้อน มันเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกันอยู่อย่างนี้ ดังนั้น มันต้องมีสติปัญญาที่เพียงพอกันเท่ากัน มากำจัดไอ้ความงอกงามที่ลึกลับซับซ้อนไปในทางมีตัวกูนี้เสีย ทีนี้ยิ่งทำไปมันก็ยิ่งไม่เป็นอย่างนั้น คือมันยิ่งไปยึดในเรื่องมีตัวกูของกู มีดีมีชั่ว มีบุญมีบาป มีสุขมีทุกข์มากขึ้นจนทำไม่ไหวในที่สุด จน จนระงับไม่ได้ จนดับไม่ได้ ดังนั้น ลองสนใจคำพูดว่าไม่ต้องทำอะไรนั้นดูบ้าง เพราะว่าธรรมะแท้นั้นมันว่าง ธรรมะแท้คือความว่าง ข้อนี้ก็หมายความว่า ไอ้ความว่างนั้นใครไปพูดมันได้ว่ามันดีหรือไม่ดี มันไม่มีอะไรที่จะเป็นรากฐานหรือว่าเป็นบาทฐานที่จะรับความดีหรือความชั่ว เพราะฉะนั้น มันจึงไม่มีความดีไม่มีความชั่ว ไม่มีบุญไม่มีบาป ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ไม่มีเกิดไม่มีดับ ไม่มีอะไรทั้งหมดนั้น คือ ความว่าง นั้นคือธรรมะตามสภาพเดิมแท้ ถึงจิตตามสภาพเดิมแท้มันก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน จิตที่เพิ่งมารู้อะไรปรุงแต่งอะไรได้คิดอะไรนี่มันจิตใหม่ จิตปรุงแต่ง จิตใหม่ ถ้าหันไปสู่สภาพจิตเดิมแท้ หรือสภาพธรรมะแท้ ธรรมชาติแท้ก็คือความว่าง ตามความหมายนี้ ไม่ใช่ความว่างแบบมิจฉาทิฐิ ไม่ใช่ความว่างแบบอันธพาล ความว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า ตามความหมายนี้ถ้าใครรู้ใครเข้าถึงกิเลสเกิดไม่ได้ จิต จิตไม่อาจจะเกิดกิเลสได้เพราะมันไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีบุญไม่มีบาป มันจะต้องเรียกว่าเป็นกลาง แต่มันก็ไม่ ไม่ถูกหรอก เพราะมันไม่เป็นอะไรเลย แต่เราก็ต้องขอเรียกกันไปทีว่าเป็นกลาง อัพยากฤตบ้าง ซึ่งมีส่วนที่ทำให้เข้าใจผิดอยู่ได้เรื่อยไป พูดว่าอัพยากฤตนี่พอจะพูดได้ แต่ก็ คนก็เข้าใจผิด เขามักจะสอนว่านิพพานอย่างเดียวเป็นอัพยากฤต คือ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่บุญไม่บาป ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่ไอ้ที่แท้ก้อนหิน ก้อนดิน ก้อนกรวด เหล่านี้ มันก็ไม่ชั่ว ไม่บุญไม่บาป ไม่สุขไม่ทุกข์ หรือแม้แต่จิตของเราเองในบางเวลาก็ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่บุญไม่บาป ไม่สุขไม่ทุกข์ บางเวลา ยิ่งร่างกายล้วนๆ เนื้อหนังล้วนๆ นี้ยิ่งไม่บาป ไม่บุญ ไม่สุขไม่ทุกข์ อะไรทั้งหมด บุญ บาป สุข ทุกข์ ก็เมื่อมีความรู้สึกแล้วก็ทำให้คิดไปตามความรู้สึกที่เขลา บัญญัติอย่างนี้ว่าสุข ว่าทุกข์ เพราะไปเกิดความเกลียดในลักษณะอย่างนี้ ไปรักในลักษณะอย่างหนึ่ง ทีนี้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็สร้างความรู้สึกที่เป็นคู่ๆ นี้ขึ้นมามากมาย ก็เลยรบกันอยู่แต่เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาปไม่มีที่สิ้นสุด จนเน่าเข้าโลงไป ไม่พบพระพุทธศาสนาเลย ทั้งที่ เป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา แต่ก็พูดว่าเราเป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นพระ เป็นเณร เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี มันก็พูดได้ เพราะมันพูดก็พูดได้ เราเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาสมัครเล่นนะ ไม่ใช่ที่แท้จริง หรือถึงตัวพุทธศาสนาได้ ดังนั้น คนที่เขาไม่พูดว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณีเสียอีก เขายังเป็นได้จริง ถ้าเขารู้เรื่องนี้ ถ้าเขาทำจิตใจให้เป็นอย่างนี้ ดังนั้น เราพูดได้ว่าไปสอนพวกอื่นที่ถือศาสนาอื่นก็ได้ ให้เข้าใจเรื่องนี้นะ แล้วเขาก็จะเป็น พุทธบริษัทขึ้นมาทันที หรือแท้จริงยิ่งกว่าพุทธบริษัทส่วนมากในประเทศไทย หรือประเทศอื่นที่อ้างตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัท พุทธแปลว่ารู้ ว่าตื่น ว่าเบิกบาน รู้มันต้องรู้ข้อนี้ ตื่นก็ต้องตื่นจากโง่นี้ เบิกบานก็คือเพราะไอ้ สิ่งเหล่านี้มันไม่รบกวน ที่เบิกบานที่สุดนั้นคือ ความว่าง สิ่งที่มีชีวิตแท้และเบิกบานแท้คือ ความว่าง ไอ้ชีวิตอย่างชีวิตเป็นๆ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปนี้ ชีวิตปลอม ชีวิตกำมะลอ ชีวิตมายา ชีวิตในความโง่ความหลง เพราะมันไม่ได้มีอยู่จริงเลย มันไม่ได้มีอยู่จริงๆ เลย ไอ้ความว่างเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่ได้มีอยู่จริงแท้ ตลอดกาล และ อนันตกาล ดังนั้น ถ้าพูดว่าจากอนันตะสู่อนันตะ มันก็ต้องมีแต่ความว่างอย่างเดียว ดังนั้น จิตใจควรจะได้รู้สึกคือ ได้ชิมรสไอ้ว่างชนิดนี้เสียบ้าง คือ ตายเหมือนกับตายแล้วอย่างนี้ ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที แล้วก็ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่างกินอาหารของความว่าง สนใจเรื่องนี้มันจะถึงหัวใจพุทธศาสนา จะมีศีล มีสมาธิ ปัญญาที่แท้จริงและสมบูรณ์ โดยมองไม่เห็นตัวอีกเหมือนกัน ไม่มีอะไรสงบ เป็นศีลเท่ากับเมื่อมีจิตว่าง และไม่มีอะไรเป็นความสงบ เป็นสมาธิเหมือนกับเมื่อจิตมันว่าง และไม่มีความฉลาดอันไหนที่จะเป็นความฉลาดมากเท่ากับเมื่อจิตมันว่าง ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เท่ากับความว่าง ดังนั้น ฮวงโปหรือคนอย่างฮวงโปจึงพูดออกมาให้มันชัดเจนเป็นคำ เป็นคำภาษาธรรมดา ว่าพุทธะคือ ความว่าง ธรรมะคือ ความว่าง สังฆะ คือ ความว่าง ศีล สมาธิ ปัญญาคือ ความว่าง อะไรก็ล้วนแต่คือ ความว่างที่แท้จริง พุทธะ ธรรมะ สังฆะ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่แท้จริงคือ ความว่าง พระพุทธเจ้าก็ท่านตรัสมีใจความอย่างนี้ แต่ท่านไม่ใช้คำพูดอย่างนี้ เรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา ท่านก็พูดหมายความอย่างนี้ แต่ไม่ได้ใช้คำพูดอย่างฮวงโปว่า จนคนฟังไม่ถูกแล้วหาว่าฮวงโปเป็นคนบ้า เพราะฉะนั้นอาจารย์ของพวกเซนที่ชั้นสูงชั้นดีแล้วเป็นบ้าทุกคนเลย ดูรูปภาพ รูปที่เขียน เป็นบ้าทุกคน ในสายตาของมนุษย์ธรรมดา อาจารย์เหล่านี้เป็นคนบ้าทุกคนเลย มาสนใจเรื่องจิตที่ไม่มีอะไรเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา ที่จะไม่เป็น ไม่เป็นอะไรที่เป็นทุกข์ได้เลย เดี๋ยวนี้มียกหูชูหาง กูเป็นพระ กูเป็นเณร นั่นเป็นฆราวาส กูเป็นธรรมยุติ กูเป็นมหานิกาย กูเคร่ง มึงไม่เคร่ง ก็ต้องยกหูชูหางตัวกูทั้งนั้น ถ้าจะอยากจะเคร่ง ก็ให้เคร่งไปในทางที่จะไม่มีตัวกู ให้ถูกวิธี ให้ถูกวิธี แล้วจะเป็นทางลัดที่ไปเร็วไปถึงจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาได้เร็ว ถ้าไปมัวเคร่งครัดในทางที่มีตัวกู หรือ โดยไม่รู้สึกตัวก็ตาม มันก็ปักหลักขุดหลุมฝังตัวเองอยู่ที่นี่ ในวัฏสงสารนี้ไม่ใช่ที่สวนโมกข์ ที่สวนโมกข์ที่แท้จริงจะไม่มีใครมาปักหลักขุดหลุมฝังตัวเองอยู่ได้ ดังนั้น เมื่อมีการปักหลักขุดหลุมฝังตัวเองที่ไหน ก็เรียก ก็เรียกมันฝังตัวเองลงไปในวัฏสงสาร คือ มันเป็นวัฏสงสาร จิตมันเป็นวัฏสงสาร ไม่เป็นนิพพาน จิตของปุถุชนบางขณะเป็นนิพพาน บางขณะเป็นวัฏสงสาร แต่ขณะที่เป็นนิพพานนั้นมีน้อยมาก ขณะที่ว่างจากตัวกูนั้นมีน้อยมาก ขณะที่เป็นวัฏสงสารเป็นตัวกูของกูนั้นมีมาก ดังนั้น คำที่พูดว่าเป็น ขาณุวัฏฏะ ปักหลักลงไปในวัฏสงสารก็คือว่ามันไปย้ำมากเช่นตายตัวในเรื่องมีตัวกูของกูนี่ มันก็เป็นวัฏสงสารอยู่เรื่อย ไม่เปลี่ยนเป็นนิพพาน จิตนั้นเป็นจิตที่ถูกปรุงแต่งอยู่เรื่อยไม่เป็นจิตในสภาพเดิมแท้ ที่ปราศจากการปรุงแต่งเลย มันก็เป็นทะเลขี้ผึ้งอยู่เรื่อยไม่เป็นมะพร้าวนาฬิเกขึ้นมาได้ ทั้งที่มันเป็นของอันเดียวกัน ดังนั้น ไปดูไอ้สระนาฬิเกของเราก็ไปดูให้เห็นว่ามันเป็นทะเลขี้ผึ้งที่ตรงไหน แล้วมันเป็นมะพร้าวนาฬิเกที่ตรงไหน ถ้าทำอย่างนี้มันก็เป็นทะเลขี้ผึ้งคือ เป็นวัฏสงสาร ถ้าทำอย่างนี้มันก็เป็นมะพร้าวนาฬิเก คือ เป็นนิพพาน ทีนี้ใครเป็นผู้ทำ มันก็ตัวมันเองทำไปตาม ไอ้การที่ถูกสิ่งต่างๆ แวดล้อม นับตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่ก็ถูกแวดล้อมอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างนั้น อย่างนี้ ไอ้ความที่เคยเป็นว่างหรือเป็นนิพพานมาแต่เดิมมันก็น้อยลงๆ ไอ้ความเป็นวัฏสงสารมันก็มากขึ้นๆ มากขึ้นๆ อย่าเข้าใจว่าเมื่อบวชเป็นพระ เป็นเณรแล้ว มันจะน้อยลง ที่จริงมันมากขึ้นไปกว่าเดิม เพราะมันไปยึดมั่นถือมั่นเรื่องกูได้เป็นพระ เป็นเณร ดีกว่าฆราวาสขึ้นมา กูเคร่งมึงไม่เคร่งอย่างนี้ ฆราวาสอยู่ในกองทุกข์ กูอยู่ใน เหนือความทุกข์นี่มันว่าเอาเองทั้งนั้น ไอ้พระเณรชนิดนี้ก็ไม่ดีไปกว่าฆราวาส ถึงจะสวมเครื่องแบบศักดิ์สิทธิ์อะไรอันหนึ่งก็ยังช่วยไม่ได้ คราวนี้จะย้อนกลับไปสู่ประเด็น ที่ตั้งใจไว้ คือ ว่าผู้ที่บวช ๓ เดือนจวนจะสึกยังอีกไม่ถึง ๑๕ วัน แล้วนี่ ไม่เกิน ๑๕ วันแล้วนี่ มันก็ควรจะไปปรับปรุงความคิด ความนึก ความรู้สึก ให้เข้าใจคำที่พูดต่างๆ กำหนดคำที่พูดเหล่านี้ให้ ให้เข้าใจเสียด้วย จะได้มีความเข้าใจนี้ติดเอากลับไปเมื่อสึกแล้ว และก็พยายามทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่าง ทุกอย่างสิ้น กินอาหารพออย่างพระกินเสียที่นี่ ซึ่งมีความสะดวกในการที่จะทำ ถ้าสึกออกไปแล้วหา ความสะดวกหรือไอ้สิ่งแวดล้อมอย่างนี่ยาก จะได้เป็นบทเรียนติดไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของสิ่งที่จะได้จากที่นี่ ส่วนหนังสือหนังหาหรืออะไรนั้น คุณไปหาที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ได้ทั่วไป สึกแล้วก็ยังทำได้เท่าเดิม แต่ว่าการศึกษาให้เข้าใจจิตชนิดที่เป็นธรรมชาติเดิมแท้นี้มันยาก มันต้องมีความเหมาะสมเกี่ยวกับสถานที่อยู่บ้าง เกี่ยวกับที่ปรึกษาหารือ แนะนำ ชี้แจงบ้าง หรือความเป็นอยู่หรือระเบียบของการครองชีวิตที่เขาจัดไว้ให้เหมาะสมสำหรับการเป็นอย่างนี้บ้าง ดังนั้น ในระหว่างที่บวช ๓ เดือน ควรจะได้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ แม้แต่เพียงวันเดียวก็ยังวิเศษ วิเศษที่สุด หรือเพียงแต่มีความเข้าใจเรื่องนี้ก็ยังดีที่สุด แต่ถ้าได้ชิมได้ลอง มันก็ยิ่งเป็นการดีที่สุด แต่ความต้องการนั้นอยากจะให้มันชินอยู่กับอาการอย่างนี้ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างอยู่ตลอดเวลา กินอาหารของความว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรเป็นของเรา ยกให้ความว่างหมดอยู่ตลอดเวลา เป็นอยู่เหมือนกับคนตายแล้ว ไม่มีชีวิตของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีอะไรเป็นของเรา ก็เลย นั่นแหละคือ สภาพจิตเดิมแท้ หรือว่าธรรมะเดิมแท้ หรือความว่างแท้ๆ ซึ่งไม่มีความทุกข์เลย ดังนั้น เมื่อคิดออกก็พยายามคิดให้แจ่มแจ้งแล้วปฏิบัติเข้าไว้ แล้วก็อย่าให้ลืมให้เลือนไปเสีย ถ้าเผลอสติสัมปชัญญะไปขณะหนึ่งก็ดึงกลับมา เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าการเฝ้าระวังศึกษาจิตใจของตนเองนั้นนะคือ การศึกษาที่แท้จริง การศึกษาหนังสือหนังหา ตำรับตำรานี้ไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริง เป็นการศึกษาเปลือกนอก เฝ้าระวังจิตอยู่ทุกขณะที่หายใจเข้าออกนั้นคือ การศึกษาที่แท้จริง ที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้เราทำ พอตื่นนอนขึ้นมาแล้วต้องมีสติสัมปชัญญะรู้จักจิตใจว่า เป็นอย่างไร แล้วเปลี่ยนไปอย่างไร เดินออกไปบิณฑบาตเป็นอย่างไร ไปข้างนอกเป็นอย่างไร กลับมาฉัน เป็นอย่างไร ไปพบเพื่อนเป็นอย่างไร ทำงานกับเพื่อนเป็นอย่างไร ไหว้พระสวดมนต์เป็นอย่างไร ทุกอย่างเลย ต้องรู้ว่ามันกำลังเป็นอย่างไร ชนิดไหน ไม่เท่าไรจะเข้าใจว่าชนิดไหนมีตัวกู ชนิดไหนไม่มีตัวกู ชนิดไหนว่าง ชนิดไหนไม่ว่าง มีอีกๆ อีกด้านหนึ่งของการงานก็คือว่าเพราะว่าเรามีชีวิตอยู่ เรามีแรงอยู่ จะให้เสียเปล่าทำไม ก็ทำการงานไปตามที จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ นี่คือการเผยแผ่ศาสนา การทำตนให้เป็นแสงสว่างแก่เพื่อนมนุษย์ ดังนั้น จะพิมพ์หนังสือแจกหรือจะเขียนรูปภาพแจก หรือจะทำอะไรก็ตามให้เป็นไปในความหมายอย่างนี้ เพราะเวลามันมีอยู่ เรี่ยวแรงมันเหลืออยู่ เมื่อจิตของเราว่างไม่มีความทุกข์แล้ว เราก็ต้องทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ต่อไป แล้วพร้อมกันนั้นก็ระวังจิตของเราอย่าให้มันกลับวุ่นกลับมีความทุกข์ ดังนั้น มันทำพร้อมกันไปได้ ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นนี้ทำพร้อมกันไปได้ ด้วยเหตุนี้ ด้วยวิธีนี้ ดังนั้น ผมก็เหมือนกันอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน แต่ว่าบทเรียนของผมมันกว้างกว่า ยากกว่า แต่ความหมายก็อย่างเดียวกัน เพราะผมต้องทำอะไรบ้าง คุณสังเกตดูเองก็แล้วกัน ในวันหนึ่งๆ ผมต้องทำอะไรบ้าง คุณสังเกตดูก็แล้วกัน แล้วก็จะรู้ได้ในทันทีว่ามันกว้างกว่าหรือมากกว่าไอ้ที่คุณจะต้องทำเท่าไร แต่แล้วลักษณะที่จะต้องทำหรือเรื่องระหว่างนั้นเหมือนกัน ในลักษณะความหมายอย่างเดียวกัน หลักเกณฑ์อย่างเดียวกันคือ ดำรงตนให้เป็นผู้ที่มีความว่าง มีจิตว่างหรือมีอะไรว่างอยู่เสมอ ไอ้ที่มันทำได้ไปแล้วมันก็ แล้วไป ที่ยังทำไม่ได้ ที่ยังซ่อนเร้น ยังเร้นลับอยู่ ก็ต้องขุดออกมาทำให้ได้ มันเหมือนกับโรค ถ้าโรคร้ายๆ มันหมดไป ไอ้โรคที่รองลำดับมันก็โผล่มาให้เห็น พอเราขจัดโรคนี้หายไปอีก โรคที่เล็กน้อยกว่านั้นมันจะออกมาให้เห็นอีก ขจัดออกไปอีก โรคที่เล็กน้อยกว่านั้นมันจะออกมาให้เห็นอีก เพราะว่าอันที่ร้ายๆ มันปิดบังอันที่ไม่ร้ายไว้ อันใหญ่ปิดบังอันเล็กไว้ ดังนั้น กิเลสที่หยาบหมดไป กิเลสที่ละเอียดกว่าจะโผล่ออกมาให้เห็น อันนี้หมดไปอีก กิเลสที่ละเอียดกว่านั้นก็จะโผล่ออกมาให้เห็น แล้วเราก็ทำไปได้เรื่อย สิ่งที่จะมารบกวนทำให้สูญเสียความว่างมีอยู่หลายระดับอย่างนี้ ระดับหยาบๆ ขจัดไปได้ ระดับที่ละเอียดมันก็เกิดมาแทน มีปัญหาขึ้นมา ดังนั้น เราจึงว่าง ว่างมาก ว่างน้อย ว่างช้า ว่างเร็ว ว่างนาน ว่างไม่นาน นี่มีอยู่อย่างนี้ เราก็ปรับปรุง ให้มันมากขึ้น คือ ให้มันว่างมากขึ้น จนมันว่างตลอดกาล ถ้าแน่นอนในสภาพที่ว่างก็เป็นพระอริยะ พระอริยเจ้า ถ้ายังวุ่นอยู่เต็มขนาด ว่างน้อยเกินไปมันก็ยังเป็นปุถุชน ทีนี้เราทำให้ว่างได้ด้วยการศึกษา การปฏิบัติ สังเกตมัน รู้จักรักษา แก้ไขปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้มันว่างมากขึ้น ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ที่มีมาก ไอ้ที่ปล่อยให้มันว่างเองตามธรรมชาติมันก็ไม่พอแล้วมันก็ไม่สูง มันก็เหมือนความว่างของสุนัขและแมว เป็นต้น ที่ว่างอยู่ได้เหมือนกัน แต่มันต่ำเตี้ยและไม่สูง แล้วไม่สามารถจะต่อสู้ เมื่อความวุ่นมันจะเกิดขึ้นมาได้เลย ดังนั้น เราจึงต้องปฏิบัติมากกว่าสุนัขและแมว มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความว่างมากพอที่จะต่อสู้ความวุ่น หรือไม่ว่างที่จะเกิดมาสำหรับมนุษย์ที่มีปัญญา ดังนั้น ยิ่งรู้มากยิ่งยากนานนี่มันถูกแล้ว ยิ่งมีความรู้มากเป็นมนุษย์รู้กว่าสัตว์เดรัจฉาน มันก็ต้องมีความทุกข์มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน ยิ่งไปรู้ความยึดถือเรื่องดีเรื่องชั่วเข้า ก็ต้องเป็นความทุกข์ของมนุษย์ ตามแบบที่อดัมกับอีฟกินผลไม้ ต้นที่ทำให้รู้จักความดีความชั่วเข้าไปแล้วก็เป็นทุกข์ ตลอดกาล นี้เป็นสากลที่สุด พุทธศาสนาก็มีหลักอย่างนั้น คือ สัตว์ที่มีชีวิต มนุษย์ที่มีชีวิตมีหลักอย่างนี้ทั้งนั้น มีความทุกข์เพราะไปรู้เรื่องดีเรื่องชั่วขึ้นมา ทีนี้มัน มันถอยหลังกลับไม่ได้ มันมีแต่ดันไปข้างหน้าเรื่อย รู้ดีรู้ชั่วมากขึ้นมันก็ต้องมีความทุกข์มากขึ้น ดังนั้น มันจะต้องแก้ไขไอ้การดับความทุกข์ข้อนี้ในวิธีที่สูงขึ้นไป เราจึงต้องการพระพุทธเจ้า หรือวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง อ้า, จากบุคคลที่สามารถทำให้ดับความทุกข์นี้ได้ ดังนั้น จะเรียกว่า เรียกว่าสิ่งสูงสุดเหมือนกันหมด พระเยซูเรียกว่าชีวิต ชีวิตตามแบบของพระเยซู ถ้าเขามาหาเรา เราจะให้ชีวิตแก่เขา หมายถึงไอ้ความว่างชนิดนี้คือไม่ทุกข์อีกพุทธศาสนาก็เรียกว่านิพพานคือ ความไม่ทุกข์เลยนี้เป็นอยู่โดยไม่มีความทุกข์เลย ไม่เกิด ไม่ตาย ก็เรียกว่ามีชีวิตเหมือนกัน ดังนั้น ศาสนาอื่นอาจจะเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น เล่าจื๊ออาจจะเรียกมันว่าเต๋าก็หมายถึงสิ่งนี้เหมือนกัน เต๋าที่แท้จริงคือสิ่งนี้ ไอ้คำสอนที่ยังพูดได้ก็เรียกว่าเต๋า แต่นั่นไม่ใช่ตัวเต๋าแท้ เหมือนกับเราเรียกพุทธศาสนาที่แท้จริงก็อยู่ที่ว่างนี่ พูดไม่ได้นี่ แต่พุทธศาสนาที่พูดได้มีมาก แต่นั่นยังไม่ใช่พุทธศาสนาแท้ ดังนั้น ไอ้เต๋าที่เอามาพูดได้นั้น ยังไม่ใช่เต๋า นี่ศาสนาใหญ่ๆ ที่น่าสนใจมันก็มีเท่านี้ พุทธ คริสต์ อิสลาม หรือเต๋า อื่นๆ ก็ไม่ ไม่สูงไปกว่านี้ ไม่ลึกไปกว่านี้ แต่แล้วเราจะเห็นได้ว่าเขาต้องการสิ่งเดียวกันหมด คือไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์ในระดับที่พูดไม่ได้ ที่พูดบรรยายไม่ได้ ต้องพูดด้วยการหุบปาก นั้นนะเรียกว่าพระเจ้า เรียกว่าอยู่กับพระเจ้า หรือถึงพระเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเจ้า นี่เราก็พูดว่าชั่วโมงที่เรามีความว่างนั้นนะ คือ ชั่วโมงที่เราอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า คือ ธรรมะแท้ ธรรมะเดิมแท้ที่ไม่เป็นอะไร แล้วเราก็สมมตินั่นเรียกว่า พระพุทธบ้าง พระธรรมบ้าง พระสงฆ์บ้าง ใจความแท้จริงของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นของสิ่งเดียวกันและเล็งถึงสิ่งนี้ ดังนั้น ถ้ารู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่อย่างในนวโกวาทก็คือ รู้เปลือกนอกสุดของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งยังไม่ใช่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะไม่แน่ว่าในเปลือกนั้นจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงหรือไม่ แต่เราก็ต้องเรียนหนังสือนวโกวาทไปตามลำดับ ตามลำดับๆ จนกระทั่งรู้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แท้จริงยิ่งขึ้นไปทุกทีจนเป็น สิ่งเดียวกันแล้วจนว่างไปในที่สุด ไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อไม่มีความรู้สึกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นนะคือว่างที่แท้ และนั่นคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แท้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพูดไม่ได้ ซึ่งต้อง หุบปาก ดังนั้น จะเขียนรูปภาพวิมลเกียรติที่หุบปากแบบฟ้าลั่น หุบปากแบบฟ้าลั่น องค์ไหนที่ต้องสึกออกไป มีความรู้พื้นฐานน้อย ก็ขอให้รู้สิ่งสูงสุดคือว่า ไอ้ที่เราสบายใจที่สุด เป็นสุขที่สุดนั้นคือ เวลาที่เราไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวกูหรือของกู ให้พ าสิ่งนี้ติดตัวกลับสึกออกไป ไม่ว่าพระ เณร ขนาดไหน ให้มีความรู้ ความเข้าใจและ แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปในที่สุดว่า เวลาที่มนุษย์เรามีความสุขแท้จริงถึงที่สุดนั้นคือ เวลาที่เราไม่มีความสำคัญมั่นหมายอะไรว่าเป็นตัวกูหรือของกู พอเกิดตัวกูของกูก็เป็นสังสารวัฏ เป็นความทุกข์ขึ้นมาที่นั่นทันที พอไม่เกิดมันก็เป็นโพธิ เป็นนิพพาน เป็นความสงบอยู่ที่นั่น แต่เป็นชนิดชั่วคราว ชนิดกำมะลอ ชนิดที่เปลี่ยนได้ เรียกว่า ตทังคนิพพาน คำเหล่านี้มีใช้ในปฏิสัมภิทามรรค ตทังคนิพพาน วิกขัมภนนิพพาน
เทปหมดหรือยัง ล้มลุกคลุกคลาน อ้าว, คนพูดก็เหนื่อยบ้างสิ เอาเปรียบ คนไม่พูด นี่พูดทั้งวันเลย ตั้งแต่เช้ามาจนนี่ คือ ไม่ได้นอนวันนี้ พูดธุระ การงาน พูดเรื่องการซื้อขาย พูดกับคุณช้าง พูด โอ้ย, สารพัดกระทั่งมานั่งพูดที่นี่อีก พอลดความอ้วนลงได้มากก็พูดได้มากขึ้น มันไม่แน่น มันยิ่งอ้วนมันยิ่งแน่น มันพูดไม่ออก ไม่มีเสียงจะพูด ไม่มีลมจะพูด พูดว่าเนื้อหาสาระของสวนโมกข์ที่พระบวชชั่วคราวจะต้องระลึกนึกถึงและ พาติดไปให้ได้ ให้บ้าง ไม่มากก็น้อย ก็คือเรื่องนี้ เรื่องตายเสียก่อนตาย คือ มีชีวิตอยู่โดยไม่มีความสำคัญ มั่นหมายสิ่งใดว่าเป็นตัวเราของเรา เวลานั้นจิตว่าง เวลานั้นมีความสุขที่สุด เวลานั้นมีสติปัญญาอย่างยิ่ง จะคิดอะไรก็คิดได้ดี จะนึกอะไรก็นึกได้ดี จะทำอะไรก็ทำได้ดี เป็นผู้ที่ได้พระนิพพานมากิน โดยไม่ต้องเสียสตางค์ ใช้สำนวนพระพุทธเจ้าหน่อย ลัทธา มุธา นิพพุติง ภุญชะมานา ได้นิพพานมาบริโภคอยู่โดยไม่ต้องเสียสตางค์ และทำได้ทุกคน ถ้าทำจิตไปให้ถูกต้องตามวิธีนี้ พยายามขวนขวายไปเรื่อยๆ ให้มันได้เป็นการถาวร ถ้าใครเกิดมาชาติหนึ่งอยู่ในสภาพที่จะไม่เข้าใจเรื่องนี้ได้ คนนั้นเขาเรียกว่าอาภัพพสัตว์ คือ คนอาภัพ ต้องรอต่อไปอีก นานหน่อย คนที่เข้าใจได้ทันทีที่นี่เดี๋ยวนี้ก็คือ คนเป็นภัพพสัตว์ คือ ผู้ที่ได้ดี เป็นผู้ที่ได้ ได้ดี ได้สิ่งที่ดี ได้อย่างดี เรียกว่าภัพพสัตว์ ถ้าอาภัพพสัตว์ คือ ไม่ได้ นั้นก็ระบุตามทางวัตถุ ดังนั้น ภาษาตื้นๆ ภาษาคนก็ใช้ได้เหมือนกัน ก็ถูกเหมือนกัน เกิดมาเป็นใบ้เป็นบ้าเป็นอะไรก็ตาม มันไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ เดี๋ยวนี้ก็ไม่เป็นบ้า ไม่เป็นใบ้แต่มันโง่เกินไปก็เรียกว่าอาภัพพสัตว์ หรือมันมีอะไรมาทำให้ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้เลยก็เรียก อาภัพพสัตว์ ต้องรอไปก่อนอีกหลายปี หลายสิบปี หรือกระทั่งตาย แต่เข้าใจได้ในวินาทีสุดท้ายดับจิตก็ยังดีว่าไม่เสียทีชาติเกิดมา ไม่เสียทีที่เกิดมา ไม่เสียชาติที่เกิดมา เอาละคุยกับคุณอีกไม่ได้แล้ว เพราะว่านัดพวกนั้นไว้ เขาต้องไปเสียที พวก ๒๐ คนนั้น