แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
( นะโม 3 จบ ) ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา วิมุตายตนสูตร เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ข้อความใน วิมุตายตนสูตร นี้เป็นข้อความแสดงให้ทราบถึงเหตุ ๕ ประการอันจะเป็นทางให้บุคคลหลุดพ้นจากกิเลสกระทำอาสวะให้สิ้นไปให้ได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ กล่าวคือพระนิพพาน เหตุ ๕ ประการนี้ เข้าใจว่า เป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายมักจะไม่ได้ฟังกันจึงเป็นเรื่องที่ควรนำมาวิสัชนา ข้อความในพระบาลีนั้นมีอยู่ดังต่อไปนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวันอันเป็นอารามที่พระอนาถบัณฑิกเศรษฐีสร้างถวายใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสให้ภิกษุทั้งหลายตั้งใจฟังแล้วตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งความพ้นพิเศษจากอาสวะทั้งหลายมีอยู่ ๕ อย่าง อันเป็นเหตุที่ทำให้ภิกษุผู้ไม่ประมาทมีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วย่อมทำจิตที่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ย่อมทำอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นไปให้ถึงความสิ้นไปได้ อนึ่ง ธรรมอันเกษมจากโยคะไม่มีธรรมยิ่งอื่น ไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่าที่ตนยังไม่ได้ไม่ถึงนั้น ก็จะได้จะถึง เหตุแห่งความพ้นพิเศษ ๕ ประการนี้เป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเมื่อพระศาสดา อาจารย์ก็ดีหรือเพื่อนพรหมจารีด้วยกันอันเป็นที่เคารพรูปใดรูปหนึ่งก็ดี ในธรรมวินัยนี้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุทั้งหลายเมื่อครูอาจารย์หรือเพื่อนสพรหมจารีซึ่งที่เป็นที่เคารพรูปใดรูปหนึ่งแสดงธรรมแก่ภิกษุนั้นๆ ด้วยประการใด ภิกษุนั้นก็เป็นผู้รู้แจ้งประจักษ์ชัดข้ออรรถข้อธรรมในธรรมนั้นด้วยประการนั้น ปราโมทย์ความบันเทิงใจย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้รู้แจ้งชัดซึ่งอรรถและธรรม เมื่อปราโมทย์เกิดแล้วปีติความอิ่มเอิบย่อมบังเกิด เมื่อมีใจอิ่มเอิบด้วยปีติแล้วนามกาย นามกายก็รำงับเมื่อนามกายรำงับแล้วเธอย่อมได้เสวยสุข จิตของภิกษุผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เป็นเหตุให้เกิดความหลุดพ้นให้มีจิตหลุดพ้นจากกิเลสอันยังไม่เคย อันยังไม่หลุดพ้นทำอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นให้สิ้นไป ธรรมอันเป็นที่เกษมจากโยคะที่ยังไม่ได้ไม่ถึงก็จะบรรลุก็จะได้จะถึงนี้เป็นเหตุแห่งความพ้นพิเศษข้อที่ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเหตุข้ออื่นยังมีอีก คือพระศาสดาครูอาจารย์ก็หาได้แสดงธรรมแก่ภิกษุนั้นไม่ เพื่อนสพรหมจารีเป็นที่เคารพรูปใดรูปหนึ่งก็หาได้แสดงธรรมแก่ภิกษุนั้นไม่ ก็แต่ภิกษุนั้นเองได้แสดงธรรมตามที่ตนได้สดับมาก่อนแล้วอย่างไร เรียนไว้แล้วอย่างไรก็แสดงแก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่นโดยพิสดาร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุแสดงธรรมที่ตนได้สดับแล้วที่ตนได้เรียนแล้วอย่างไรแก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่นโดยพิสดารด้วยประการใดๆ ในขณะนั้น ภิกษุผู้นั้นย่อมเป็นผู้รู้แจ้งประจักษ์ชัดในข้ออรรถข้อธรรมในธรรมนั้นด้วยประการนั้นๆ ปราโมทย์ความบันเทิงใจย่อมเกิดขึ้นแก่เธอนั้น เมื่อมีปราโมทย์เกิดแล้วปีติย่อมบังเกิดเมื่อมีปีติเกิดในใจแล้วนามกายก็รำงับ เมื่อนามกายรำงับแล้วเธอย่อมได้เสวยสุข จิตของภิกษุผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เป็นเหตุแห่งความพ้นพิเศษที่ ๒ ที่ทำให้ภิกษุผู้ไม่ประมาทนั้นมีจิตหลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งหลายทำอาสวะทั้งหลายให้สิ้นไปและธรรมอันเป็นที่เกษมจากโยคะที่ยังไม่เคยได้เคยถึงก็จะได้จะถึง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เป็นเหตุแห่งความหลุดพ้นข้อที่ ๒ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุข้ออื่นยังมีอีกคือพระศาสดาครูอาจารย์ก็มิได้แสดงธรรมและภิกษุนั้นเองก็มิได้แสดงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้วเรียนแล้วอย่างไรแก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่น หากแต่ว่าภิกษุนั้นได้สาธยายได้ท่องได้บ่นธรรมที่ตนได้สดับแล้วได้เรียนแล้วอย่างไรโดยพิสดาร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุนั้นสาธยายท่องบ่นธรรมที่ตนได้สดับแล้วเรียนแล้วอย่างไรโดยพิสดารด้วยประการใดๆ ในขณะนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้แจ้งประจักษ์ชัดข้ออรรถข้อธรรมในธรรมที่ตนสาธยายแล้วท่องบ่นแล้วด้วยประการนั้นๆ เมื่อนั้นปราโมทย์ความบันเทิงใจย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เมื่อมีปราโมทย์เกิดแล้วปีติย่อมบังเกิด เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติแล้วนามกายก็รำงับ เมื่อนามกายรำงับแล้วเธอย่อมได้เสวยสุข จิตของภิกษุผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลายและนี่ก็เป็นเหตุแห่งความหลุดพ้นของภิกษุนั้น ผู้มีความเพียรอันกระทำแล้วทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสทำอาสวะทั้งหลายให้สิ้นไป ธรรมะอันเกษมจากโยคะที่ยังไม่ได้ไม่ถึงก็จะได้จะถึง ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เป็นเหตุแห่งความหลุดพ้นข้อที่ ๓ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเหตุข้ออื่นยังมีอีก คือพระศาสดาครูอาจารย์ก็มิได้แสดงธรรมและภิกษุนั้นเองก็มิได้แสดงธรรม ภิกษุนั้นก็มิได้สาธยายท่องบ่นธรรม แต่ว่าภิกษุนั้นได้ตริตรองธรรมด้วยจิตพิจารณาด้วยใจซึ่งธรรมที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนแล้วอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุนี่ตริตรองด้วยจิต พิจารณาด้วยใจ ซึ่งธรรมที่ตนได้สดับแล้วเรียนแล้วอย่างไรด้วยประการใดๆ เธอนั้นก็เป็นผู้รู้แจ้งประจักษ์ชัดซึ่งข้ออรรถข้อธรรมในธรรมนั้น ด้วยประการนั้นๆ เมื่อนั้นความปราโมทย์บันเทิงย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เมื่อปราโมทย์เกิดแล้วปีติย่อมเกิด เมื่อปีติเกิดในใจแล้วนามกายก็รำงับ เมื่อนามกายรำงับแล้วเธอย่อมได้เสวยสุข จิตของภิกษุผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมมีจิตอันพ้นแล้วจากกิเลสย่อมมีอาสวะสิ้นแล้ว ธรรมเป็นที่เกษมจากโยคะที่ยังไม่ได้ไม่ถึงก็ย่อมได้ย่อมถึง ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เป็นเหตุแห่งความหลุดพ้นข้อที่ ๔ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเหตุข้ออื่นยังมีอีก คือพระศาสดาครูอาจารย์ก็ไม่ได้แสดงธรรม ภิกษุนั้นก็ไม่ได้แสดงธรรม ภิกษุนั้นก็ไม่ได้สาธยายธรรมตามที่เรียนแล้วอย่างไร และภิกษุนั้นก็ไม่ได้ตรึกตรองซึ่งธรรมตามที่ได้สดับแล้วเรียนแล้วอย่างไรด้วย หากแต่ว่าภิกษุนั้น ได้ทำสมาธินิมิตให้เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์อันเธอถือเอาด้วยดีแล้ว ทำในใจด้วยดีแล้ว ทรงไว้ในใจด้วยดีแล้ว ได้แทงตลอดด้วยดีแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธินิมิตอันใดอันหนึ่งเป็นอารมณ์ที่ภิกษุนั้นถือเอาด้วยดีแล้ว ทำไว้ในใจด้วยดีแล้ว ทรงจำไว้ด้วยดีแล้ว แทงตลอดด้วยดีแล้ว ด้วยประการใดๆ เธอนั้นก็เป็นผู้รู้แจ้งประจักชัดซึ่งข้ออรรถข้อธรรมในธรรมนั้นด้วยประการนั้นๆ ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เมื่อปราโมทย์เกิดแล้วปีติย่อมบังเกิด เมื่อปีติมีในใจแล้วนามกายก็รำงับ เมื่อนามกายรำงับแล้วเธอย่อมได้เสวยสุข จิตของภิกษุผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่น ภิกษุนั้นย่อมทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลส ย่อมทำอาสวะให้สิ้นไป ธรรมเป็นที่เกษมจากโยคะไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่ยังไม่ได้ไม่ถึงก็ย่อมจะได้จะถึง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เป็นเหตุแห่งความหลุดพ้นที่ ๕ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุทั้งหลาย ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุแห่งความหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุที่เมื่อภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วก็ทำจิตที่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสให้หลุดพ้นได้ จนทำอาสวะที่ยังไม่สิ้นให้สิ้นได้ ธรรมอันเป็นที่เกษมจากโยคะไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่ตนยังไม่ได้ไม่ถึงก็จะถึงได้จนถึงโดยแท้แล
ข้อความในพระบาลีมีเพียงเท่านี้ จากพระพุทธภาษิตแห่งพระบาลีนี้ มีใจความสำคัญที่ควรจะกำหนดไว้เป็น ๕ อย่างสั้นๆ ว่า ภิกษุได้ฟังธรรมที่มีผู้อื่นมาแสดงก็ทำให้เห็นอรรถเห็นธรรมจนมีจิตตั้งมั่น บรรลุถึงความหลุดพ้นได้ นี้อย่างหนึ่ง อย่างที่ ๒ ภิกษุนั้นแสดงธรรมเอง เมื่อแสดงอยู่ ย่อมรู้อรรถรู้ธรรมที่ตนกำลังแสดงนั้นก็ทำจิตให้หลุดพ้นได้และข้อที่ ๓ ภิกษุนั้นท่องบ่นสาธยายธรรมะที่ตนได้ศึกษามาก็เกิดความเห็นแจ้งในอรรถและธรรมนั้นก็สามารถทำให้จิตหลุดพ้นได้ และภิกษุ และข้อถัดไปก็คือ ภิกษุนั้นตริตรองธรรมที่ตนได้ศึกษามาแล้วอย่างไร ก็ทำให้เกิดการหลุดพ้นแก่ภิกษุนั้นได้ และข้อสุดท้ายยังมีว่า ภิกษุนั้นมีสมาธินิมิตที่กำหนดอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตเป็นสมาธิแล้วก็สามารถทำให้เกิดการหลุดพ้นแก่ตนได้ เป็น ๕ อย่างด้วยกันฉะนี้ ถ้าสรุปให้สั้นกว่านี้ก็จะได้ความว่า ภิกษุจะหลุดพ้นได้จากกิเลสด้วยเหตุ ๕ อย่าง คือ ตนเองแสดง เออ, ตนเองได้ฟังธรรมอย่างหนึ่งและตนเองเป็นผู้แสดงธรรมเสียเองนี้อย่างหนึ่ง ตนเองสาธยายธรรมอยู่นี้ก็อย่างหนึ่ง ตนเองตริตรองในธรรมอยู่นี้ก็อย่างหนึ่ง ตนเองทำสมาธิให้เกิดขึ้นแล้วก็หลุดพ้นได้นี้อย่างหนึ่ง รวมเป็น ๕ อย่างด้วยกัน
อย่างแรก คือ ฟังธรรม
อย่างที่ ๒ คือแสดงธรรมเสียเอง
อย่างที่ ๓ ท่องบ่นสาธยายธรรมอยู่ด้วยตนเอง
อย่างที่ ๔ ตริตรองใคร่ครวญธรรมอยู่ด้วยตนเอง
อย่างที่ ๕ จิตให้เป็นสมาธิ
ทั้ง ๕ อย่างนี้มีผลเหมือนกัน คือทำให้บรรลุความสิ้นไปแห่งกิเลสได้ด้วยกันทั้งนั้น ข้อที่เข้าใจว่าท่านทั้งหลายจะไม่เคยได้ยินได้ฟังไม่เข้าใจนั้นก็อยู่ตรงนี้เอง เพราะว่าคนทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่าเราจะหลุดพ้นจากกิเลสได้ก็ต้องด้วยการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาอย่างเดียวจึงจะเป็นต้นเหตุให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ แต่ในที่นี้พระพุทธเจ้าท่านกลับตรัสไว้ว่า เหตุที่จะทำให้หลุดพ้นได้นั้น มิใช่มีเพียงเท่านั้น แต่มีอยู่ถึง ๕ ประการด้วยกัน ๔ อย่างที่เพิ่มเข้ามานั้นเราไม่เคยได้ยินได้ฟังและเรายังสงสัย และเรายังไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ถึงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ควรจะกำหนดจดจำ พิจารณากันให้ดี ศึกษากันให้ดี สังเกตดูให้ดีเป็นพิเศษซึ่งจะได้วิสัชนาต่อไป
ข้อที่ ๑ ว่าเพราะได้ฟังธรรมจึงหลุดพ้น
ข้อที่ ๒ ว่าเพราะแสดงธรรมด้วยตนเองจึงหลุดพ้น
ข้อที่ ๓ ว่าตริตรองธรรมอยู่จึงหลุดพ้น อ่า, ข้อที่ ๓ ว่าสาธยายธรรมอยู่จึงหลุดพ้น
ข้อที่ ๔ ว่าตริตรองธรรมอยู่จึงหลุดพ้น
ใน ๔ ข้อนี้เป็นของแปลกของใหม่ที่เราต้องสังเกตต้องเข้าใจกันเสียใหม่ ข้อที่ ๑ ว่าเมื่อฟังธรรมจิตหลุดพ้นนั้นเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะตามธรรมดาเราก็ได้ยินได้ฟังอยู่ทั่วๆ ไปแล้วว่ามีบุคคลผู้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ในที่นั่นนั้นเองเช่น ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากำลังฟังคำแนะนำสั่งสอนของพระองค์อยู่ก็บรรลุธรรมสูงสุดคือเป็นพระอรหันต์ ในที่นั้นเอง นี้ไม่ได้ไปทำสมาธิวิปัสสนาที่ไหนก็บรรลุธรรมในขณะที่ฟังนั้นเอง นี้ก็เพราะเหตุที่ว่ามีความประจวบเหมาะในการฟังนั้น ทำให้เห็นชัดในข้ออรรถข้อธรรม หมายความว่ามีความเข้าใจแจ่มแจ้งลึกซึ้ง ส่งจิตไปตามความเข้าใจนั้นแล้วถอนความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเคยยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ข้อนี้ก็เป็นเพราะว่า ในการฟังธรรมนั้นทำให้เกิดความเข้าใจก่อน แล้วความเข้าใจนั้นทำให้เกิดปราโมทย์ คือความบันเทิงรื่นเริงในธรรมนั้น ปราโมทย์นั้นทำให้เกิดปีติคือความอิ่มอกอิ่มใจ เมื่อปีติเกิดแล้วนามกายคือใจความคิดต่างๆ ก็รำงับลง เมื่อนามกายรำงับลงแล้วความรู้สึกเป็นสุขก็เกิดขึ้น ความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นทำจิตให้ตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้แจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงจนหมดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง นี้เป็นเรื่องที่ต้องสังเกตดูให้ดีๆ ว่าต้องมีการฟังธรรมและมีการเข้าใจในธรรมที่ได้ฟังนั้น อย่างที่เรียกว่ารู้ประจักษ์ชัดว่ามีเหตุอย่างไรมีผลอย่างไร แล้วเมื่อเข้าใจถึงขนาดนั้นแล้ว จะเกิดความพอใจขึ้นในตน มีความรื่นเริงบันเทิงธรรมแล้ว มีปีติอิ่มเอิบทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกคิดนึกรำงับแล้วจึงจะรู้สึกเป็นสุข พอเมื่อรู้สึกเป็นสุขชนิดนี้แล้วจิตจึงจะอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า พร้อมหรือได้ที่ที่ความเห็นอย่างแจ่มแจ้งในสิ่งทั้งปวงจะปรากฏ จนเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเป็นต้น บางคนคงจะประหลาดใจว่าทำไมจึงเอาความสุขมาไว้ที่ตรงนี้ คือเอาความสุขมาไว้ตรงที่ก่อนแต่ที่จิตจะตั้งมั่นและเห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง นี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องสังเกตไว้และเข้าใจในการที่เรา ท่านทั้งหลายฟังธรรมนั้นได้เกิดความรู้สึกตามลำดับอย่างนี้หรือไม่ โดยทั่วๆ ไปไม่ได้เกิดความรู้สึกครบถ้วนตามลำดับนี้ เพราะว่าไม่เข้าใจประจักษ์ชัดในอรรถและธรรมถึงขนาดนั้น เราเข้าใจบ้างเหมือนกันแต่ว่าไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งประจักษ์ชัดในอรรถและธรรมถึงขนาดที่จะให้เกิดปราโมทย์ปีติกระทำนามกายให้รำงับได้ ข้อนี้เป็นเพราะเหตุหลายอย่างหลายประการ เช่นว่าเราฟังธรรมแต่พอเป็นพิธีบ้าง เช่นมานั่งหลับฟังธรรมอย่างนี้ก็มีอยู่โดยมากหรือว่าฟังธรรมโดยคิดว่าเอาแต่บุญก็พอแล้ว อย่างนี้ไม่มีทางที่จะเกิดญาณทัศนะเหมือนอย่างที่กล่าวไว้ในพระสูตรนี้ คนส่วนมากฟังธรรมเข้าใจก็ไม่เข้าใจมากถึงขนาดที่เกิดญาณทัศนะในลักษณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้มีการฟังธรรมกันแต่ตามธรรมเนียมตามประเพณีหรือที่เรียกได้ว่าฟังละเมอๆ เพ้อๆ ไปเป็นส่วนมากหรือว่าฟังด้วยจิตที่ทะเยอทะยานด้วยความโลภอยากจะมีความรู้ไว้มากๆ เพื่อเป็นคนรู้มากแล้วก็จะดีจะเด่นหรือจะเอาความรู้นั้นไปเป็นเครื่องมือหาลาภหาสักการะอย่างนี้เป็นต้น ถ้าฟังด้วยจิตใจที่เป็นอย่างนี้แล้วไม่มีทางที่จะเกิดญาณทัศนะในขณะที่ฟังธรรมนั้นจนมีการบรรลุเป็นลำดับๆ ไปดังที่ได้กล่าวไว้ในพระสูตรนี้ได้ ด้วยเหตุนี้เองหวังว่าเราทั้งหลายจะได้ปรับปรุงตนเองกันเสียใหม่ในเรื่องอันเกี่ยวกับการฟังธรรม ในพระสูตรนี้มีข้อความปรากฏชัดอยู่แล้วว่าพระศาสดาครูบาอาจารย์ก็ดีหรือว่าเพื่อนสพรหมจารีด้วยกันอันเป็นที่เคารพก็ดีแสดงธรรมอยู่ ภิกษุนั้นย่อมฟังด้วยดีไม่ได้ถือว่าเพื่อนสพรหมจารีด้วยกันแสดงแล้วก็ไม่สนใจฟังเท่าที่พระศาสดาเองจะทรงแสดงหรือครูบาอาจารย์บางคนจะได้แสดง นี้ก็เพราะว่าไปนึกเรื่องสูงเรื่องต่ำ เรื่องเกียรติเรื่องภูมิของบุคคลผู้แสดงดังที่เราได้ยินได้เห็นกันอยู่เป็นอันมากในการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าคนนั้นแสดงคนนี้แสดง แสดงดีแสดงไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงธรรมทางวิทยุกระจายเสียงเป็นต้น มัวแต่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างนี้แล้วจะมีการฟังด้วยดีอย่างไรเล่า ผู้ที่ฟังด้วยดีนั้นต้องไม่คำนึงถึงตัวบุคคลว่าสูงว่าต่ำ ว่าเก่งหรือไม่เก่งอย่างนี้เป็นต้น แต่จะเพ่งเฉพาะสิ่งที่กำลังแสดง ข้อความที่กำลังแสดง อรรถและธรรมที่กำลังแสดงว่าเป็นอย่างไร เมื่อมีผู้เอาอรรถและธรรมมาแสดงก็ตั้งใจฟังย่อมเงี่ยหูฟัง คือฟังด้วยใจทั้งหมดจนประจวบเหมาะในข้อที่แสดงนั้นตรงกันกับเรื่องที่ตนรู้สึกอยู่ ศึกษาอยู่ ค้นคว้าอยู่ สงสัยอยู่ ให้ข้ออรรถและธรรมนั้นแจ่มกระจ่างออกมาเป็นความรู้สึกด้วยใจ ไม่ใช่เป็นความเข้าใจหรือเห็นด้วยตามแนวของเหตุผล หากแต่ว่าเป็นความรู้สึกที่ลึกกว่านั้น คือรู้สึกลึกซึ้งอยู่ในจิตใจจนซึมซาบในใจถึงความจริงข้อนั้นซึ่งเป็นความจริงที่แท้จริง ที่เด็ดขาด ที่เฉียบขาด ที่ภิกษุนั้นเห็นอยู่ เข้าใจอยู่ รู้สึกอยู่ว่าเป็นความจริงเหลือที่จะประมาณได้ดังนี้แล้วก็เรียกว่าเป็นผู้รู้แจ้งประจักษ์ชัดซึ่งข้ออรรถและข้อธรรมแห่งเนื้อความนั้น เมื่อเป็นดังนี้ย่อมเกิดปราโมทย์ คือความบันเทิงใจเป็นลักษณะแห่งความพอใจอย่างยิ่งก่อน เมื่อเกิดปราโมทย์คือความบันเทิงใจอย่างนี้แล้วย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะเกิดปีติความอิ่มอกอิ่มใจต่อไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อสิ้นลักษณะแห่งปีติ เมื่อสิ้นอำนาจแห่งปีตินี้แล้ว นามกายก็รำงับ หมายความว่าความรู้สึกคิดนึกในทางจิตใจของภิกษุนั้นทุกอย่างทุกประการย่อมจะรำงับลง มีอาการแห่งจิตที่ไม่มีปัญหา ไม่รู้สึกว่ามีปัญหา ไม่มีความหวัง ไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่มีความกระหาย แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนามกายรำงับในลักษณะนี้แล้ว อาการที่เป็นสุขชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยรู้จักมาก่อนก็จะเกิดขึ้น เมื่อความสุขชนิดนี้เกิดขึ้นแล้วก็มีความรำงับแห่งจิตถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นเป็น สมาหิโต ในลักษณะของความตั้งมั่นเป็น สมาหิโต นี้ ย่อมมีความบริสุทธิ์ปราศจากการรบกวนของนิวรณ์ด้วย ย่อมมีลักษณะที่เป็น กัมมนีโย คือแคล่วคล่องว่องไวต่อความรู้แจ้งด้วย ประกอบไปด้วยอาการ ๓ อย่างนี้แล้วก็เรียกว่า ตั้งมั่นโดยแท้จริง ทบทวนอีกครั้งหนึ่งก็คือว่าเป็น สมาหิโต ตั้งมั่น เป็น ปริสุทโธ คือบริสุทธิ์ เป็น กัมมนีโย คือไวคล่องแคล่วต่อการที่จะรู้แจ้งหรือการงานในทางจิต เมื่ออาการอย่างนี้มีขึ้นแก่จิตหรือว่าคุณสมบัติอย่างนี้มีขึ้นแก่จิตแล้ว ย่อมเกิดอาการที่เรียกว่า ยถาภูตํ ปชานาติ คือย่อมรู้ชัดสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ความลับในข้อนี้มีอยู่ว่าถ้าจิตไม่ตั้งมั่นในลักษณะนี้แล้ว ไม่สามารถที่จะเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ทั้งๆ ที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็มีลักษณะตามที่เป็นจริงแสดงอยู่ ข้อนี้เราจะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมแสดงลักษณะแห่งความจริงของมันอยู่ด้วยกันทั้งนั้น หากแต่ว่าเราเองต่างหากไม่ได้ปรับปรุงจิตใจให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมที่จะมองเห็นความจริงข้อนั้น จะพูดให้เห็นด้วยตัวอย่างชัดยิ่งขึ้นไปกว่านี้ก็ด้วยอยากจะพูดว่า ต้นไม้ก็พูดได้ ก้อนหินก็พูดได้ พวกเรานั่งอยู่ที่นี้เต็มไปด้วยต้นไม้ เต็มไปด้วยก้อนหินที่มันพูดได้แต่แล้วเราก็ไม่ได้ยิน เพราะว่าเราหูหนวกหรือตาบอด ( นาทีที่ 33.15น ) ไม่เห็นสิ่ง ไม่เห็นความจริงที่สิ่งเหล่านี้แสดงและไม่ได้ยินข้อความที่สิ่งเหล่านี้แสดง การที่กล่าวว่าต้นไม้ก็พูดได้ ก้อนหินก็พูดได้ อะไรๆ ก็พูดได้นี้หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นมันแสดงความจริงอยู่ทุกขณะคือแสดงความจริงที่ว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแสดงความจริง สรุปว่าไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นแต่แล้วเราก็ไม่ได้สนใจในสิ่งเหล่านี้เลย เรามานั่งที่นี่ก็เลยไม่ได้ประโยชน์จากธรรมะที่สิ่งเหล่านี้แสดง แต่ถ้าว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเป็น โยคี เป็น มุนี ที่มีจิตใจที่ตั้งอยู่ในลักษณะที่ละเอียด ที่ประณีต ที่สุขุม ที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้วย่อมจะได้ยิน คำว่าได้ยินในที่นี้เป็นคำอุปมา หมายความว่ามันเกิดรู้สึกขึ้นมา เหมือนกับว่าเห็นหรือเหมือนกับได้ยิน เมื่อพระพุทธเจ้านั่ง ทรงนั่งพิจารณาธรรมอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ จนกระทั่งได้รู้แจ้งเห็นจริงนี้เราพูดเป็นอุปมาว่า ได้ยินเสียงของธรรมชาติ ได้ยินเสียงของต้นโพธิ์นั้นเอง พูดให้ฟัง มีพระศาสดาที่สำคัญๆ หลายองค์นั่งฟังจากธรรมชาติ นั่งดูจากธรรมชาติและก็ได้เห็นและได้ยิน ได้รับเอาความจริงนั้นมาจากธรรมชาติและก็มาสอนคนอื่นได้ มีศาสดาในรุ่นหลังๆ หลายคนที่เป็นอย่างนี้จนเขากระทำ เขาสร้างรูปของพระศาสดาองค์นั้นในลักษณะที่เอามือป้องหูอยู่ เอามือป้องหูคล้ายๆ กับว่าดับเสียงที่จะมาที่จะลอยมาตามธรรมชาติ แล้วจะได้ยิน ได้ยินก็คือเข้าใจรู้แจ้งตามที่เป็นจริง แล้วก็มาสรุปเป็นหัวข้อ สำหรับสอนคนอื่นเป็นบทเพลงอย่างนี้เรียกว่า อาจารย์ผู้นี้ได้ยินต้นไม้พูด ได้ยินก้อนหินพูด ได้ยินเสียงลมพัดพูด ได้ยินอะไรต่างๆ พูดและได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างแสดงความจริงให้ดู จึงได้รับความจริงจากธรรมชาติ นี้ความสำคัญมันอยู่ตรงที่ใจของท่านตั้งมั่นอยู่เสมอ คือว่าใจของท่านตั้งมั่นอยู่ในลักษณะที่พร้อมที่จะรับสิ่งเหล่านี้เสมอ เพราะตั้งมั่นในลักษณะที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง คือว่าจิตแน่วแน่มีอารมณ์เดียว จิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง จิตไวต่อความรู้สึก ประกอบอยู่ด้วยลักษณะ ๓ ประการนี้แล้วเรียกว่าจิตตั้งมั่นพร้อมอยู่เสมอ ที่จะรับเอาความจริงจากทุกสิ่งที่มันแสดงออกมา ครั้นเมื่อเห็นอะไรเข้าก็เห็นความจริงของสิ่งนั้นในลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น หรือเมื่อได้ฟังอะไรมา ก็แปลความหมายไปในทางที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้อย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น จิตที่ตั้งมั่นในลักษณะอย่างนี้มีได้แก่ภิกษุผู้ฟังธรรมและแม้แก่ภิกษุผู้กำลังแสดงธรรมอยู่เอง และแม้แก่ภิกษุที่กำลังสวดท่องบ่นสาธยายธรรมอยู่และแม้แก่ภิกษุที่ตริตรองทบทวนธรรมะอยู่ ทำไมจึงต้องแยกออกไปอย่างนี้ก็เพราะว่ามันมีอาการที่ต่างกัน เราไม่สังเกตดูให้ดี แม้จะในเรื่องการฟังธรรม เราก็ยังทำไม่ได้เสียแล้ว แล้วเราจะเป็นผู้แสดงธรรมได้อย่างไร สำหรับในเรื่องการฟังธรรม พอจะเห็นได้โดยง่ายว่าถ้าเข้าใจธรรมก็จะมีปีติปราโมทย์อย่างนี้ได้ และมีจิตตั้งมั่นอย่างนี้ได้ และในขณะที่จิตตั้งมั่นนั่นเองญาณทัศนะในขั้นสุดท้ายจะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ก็ปรากฏ จิตใจก็คลายออกจากการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงที่เรียกว่า วิราคะ เมื่อคลายออกแล้วก็เป็นอันว่าหลุดพ้น ยกตัวอย่างเหมือนอย่างว่า ได้ฟังธรรมที่แสดงให้เห็นชัดว่ากามคุณทั้งหลายมีลักษณะเปรียบเหมือนกับไฟบ้าง เปรียบเหมือนกับงูพิษบ้าง เปรียบเหมือนกับรุ้งผ่านเพลิงบ้าง เปรียบเหมือนกับเขียงรองสับเนื้อบ้างดังนี้เป็นต้นแล้ว ถ้ามีความเข้าใจแจ่มแจ้งประจักษ์ชัดในข้ออรรถข้อธรรมนั้นแล้ว สิ่งที่เรียกว่าความเบื่อหน่ายต่อกามคุณนั้นย่อมจะเกิดขึ้นที่เรียกว่า นิติภาญาณ มีความเบื่อหน่ายเกิดขึ้นแล้วก็จะเกิดการวางที่เรียกว่า วิราคะ การคลายออกที่เรียกว่า วิราคะ เมื่อเกิด วิราคะ คลายออกแล้วก็จะเกิดความหลุดพ้นที่เรียกว่า วิมุติ ในที่นี้คือหลุดพ้นจากกิเลสและสิ้นอาสวะและได้รับธรรมอันเกษมจากโยคะ คือความดับทุกข์ปรากฏชัดอยู่ในขณะนั้น เมื่อเป็นดังนี้เราก็จะสรุปใจความได้ครั้งหนึ่งว่า ในการฟังธรรมนั้นต้องฟังจนเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่อย่างไรและการที่ไปหลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั้นก็เท่ากับเป็นการเข้าไปกอดรัดเอากองไฟคือความทุกข์เข้าไว้นั่นเอง มันจึงสะดุ้งกลัวและถอยหลังออกจากสิ่งนั้นซึ่งเรียกว่า นิติภา หรือ วิราคะ หรือ วิมุติ ซึ่งมีความหมายเหมือนกันหมด นิติภาคือความเบื่อหน่ายก็เป็นอาการที่ถอยออก วิราคะคือการคลาย การคลายความยึดถือก็เป็นการถอยออก วิมุติคือความหลุดพ้นก็เป็นการถอยออกแล้วอย่างเต็มตัว จึงเป็นการเห็นได้ชัดว่าการฟังธรรมที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งประจักษ์ชัดนี้ทำให้เกิดการถอยออกจึงทำให้เกิดการหลุดพ้นขึ้นมาได้ แต่กำลังของจิตที่จะถอยออกนี้ไม่มากพอจึงต้องมีปีติและปราโมทย์มีความรำงับจนได้เสวยสุขก่อนจึงจะมีกำลังของจิตมากพอที่จะถอยออก แต่ในขณะนั้นก็มีความระคนปนกันหมดเจือกันหมด คือความเห็นแจ้งมีเท่าไหร่ ปีติปราโมทย์ก็มีมากเท่านั้น มีความรำงับมากเท่านั้นจิตก็ตั้งมั่นมากเท่านั้น สมสัดสมส่วนกันพอดี แต่จิตที่ตั้งมั่นในขั้นต้นๆ ก็ทำให้ฟังธรรมนั้นเข้าใจประจักษ์ชัดยิ่งขึ้นไปอีกทำให้มีปีติปราโมทย์มากขึ้นไปอีก ทำให้นามกายรำงับยิ่งขึ้นไปอีกมีความสุขชนิดที่ทำให้จิตตั้งมั่นมากขึ้นไปอีก ทำงานเจือกันสัมพันธ์กันอย่างนี้มากยิ่งขึ้นทุกที ผู้นั้นก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากกิเลสได้ ในที่นั่งฟังธรรมนั้นเอง อย่างนี้เรียกว่า วิมุตายตน คือบ่อเกิดแห่งวิมุติข้อที่ ๑ อันเกิดขึ้นมาได้จากการฟังธรรม ทีนี้ก็มาถึงวิมุตายตนข้อที่ ๒ ซึ่งเกิดขึ้นจากการแสดงธรรม ภิกษุนั้นแสดงธรรมอยู่แท้ๆ แสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังอยู่แท้ๆ ก็เกิดวิมุติคือความหลุดพ้นแก่ตัวเองได้ ข้อนี้ย่อมหมายความว่า ย่อมหมายความในขั้นต้นว่า ภิกษุที่ยังไม่หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็แสดงธรรมด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่รอว่าให้เป็นพระอรหันต์เสียก่อนจึงแสดงธรรม ข้อความในสูตรนี้ยืนยันปรากฏชัดอยู่ดังนี้ ถ้าภิกษุนั้นแสดงธรรมอยู่ การแสดงนั้นก็แสดงไปตามที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมาอย่างไร แล้วก็พยายามแสดงแก่ผู้ฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจจะให้ละเอียดละออ ให้พิสดาร ให้ถ้วนถี่ ให้ลึกซึ้ง ให้แจ่มกระจ่างแก่ผู้ฟัง เมื่อภิกษุกำลังพยายามอยู่อย่างนั้น ท่านทั้งหลายลองพิจารณา ลองคิดดู ลองทายดู ว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ข้อนี้ผู้ที่เคยเป็นนักเขียน นักขีดนักเขียน ย่อมจะเข้าใจได้ง่าย ผู้ที่เป็นนักเขียนบทความ หรือเขียนเรื่องอะไรที่ลึกซึ้งยากๆ ก็ตาม ย่อมรู้ดีว่าก่อนแต่ที่จะเขียนลงไปนั้น ต้องคิดต้องนึกเสียก่อนทั้งนั้น บางทีเขียนไม่ได้เป็นชั่วโมงๆ ก็ยังมี ไม่พอใจที่จะเขียนลงไปทั้งที่ไม่ดี ทั้งที่ไม่ชัดละเอียดละออ ไม่แจ่มแจ้ง ต้องรออยู่กว่าจะเข้าใจแจ่มแจ้งเสียก่อนจึงจะเขียนลงไป ดังนั้นในขณะที่คิดมากๆ เพื่อจะเขียนลงไปนั่นแหละ จิตก็ได้ทำงานไปอีกส่วนหนึ่ง คือคิดอย่างลึกซึ้งเพื่อจะให้เกิดการแสดงโดยการบรรยายโดยพิสดาร ผู้เขียนนั้นเองกลับได้ความรู้อย่างใหม่หรือเรื่องใหม่ หรือข้อใหม่ อันใหม่เพิ่มขึ้นอย่างไม่นึกไม่ฝัน จึงได้เขียนไปอย่างเป็นตุเป็นตะ ในสิ่งที่ปรากฏออกมาใหม่ที่ไม่เคยเข้าใจมาแต่ก่อน คือเพิ่งจะมาปรากฏในขณะนี้เอง นี่เห็นได้ง่าย เพราะว่าการขีดการเขียนลงในกระดาษนั้นมีเวลามากพอที่จะคิดจะนึกได้อย่างละเอียดละออ ทีนี้เรามาดูกันถึงการพูด เช่นการแสดงปาฐกถา ผู้แสดงปาฐกถาจะต้องมีความระมัดระวังมาก จะต้องคิดนึกมาก จะต้องกระทำไม่ให้มีการผิดพลาดเลย ดังนั้นจิตจึงทำหน้าที่ที่ยากลำบาก ขึ้นมาในขณะนั้น คือเพ่งพิจารณาอย่างจริงจัง ให้เห็นแจ้งชัดเสียก่อนแล้วจึงพูดออกมาเป็นคำพูดทางปาก ไม่ใช่ว่าพูดพล่อยๆ ไปได้เหมือนกับนกแก้วนกขุนทอง คือเหมือนกับเราเปิดจานเสียงแล้วมันก็ดังออกมา หรือว่าพูดไปตามความเคยชินไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูดอย่างนั้นก็หามิได้ แต่ต้องสำรวมสติสัมปชัญญะ สำรวมความจำความรู้ทุกอย่างทุกประการแล้วพูดออกไปให้ลึกซึ้งและเป็นไปในลักษณะที่ให้แทงจิตแทงใจของบุคคลผู้ฟังด้วย เมื่อกระทำอยู่อย่างนี้ ท่านทั้งหลายลองคำนวณดูเถิดว่า ในขณะนั้นจิตจะต้องปักดิ่งแน่วแน่ลึกซึ้งอย่างไรและขุดค้นเอาของที่ไม่เคยปรากฏมาแต่ก่อนออกมาได้ใหม่ๆ อีกอย่างไรเท่าไหร่ ในการแสดงปาฐกถาเป็นอย่างไร ในการแสดงธรรมะในวัดในวาในอารามนี้ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ยิ่งเป็นการแสดงในที่สงบสงัดแก่บุคคลผู้ตั้งใจฟังอย่างยิ่ง แก่เพื่อนสพรหมจารีผู้ตั้งใจฟังอย่างยิ่งแล้ว จิตของภิกษุนั้นย่อมมีความแหลมมีความคม มีความละเอียดละออลึกซึ้งมากกว่ากันอีกมาก ไม่เหมือนการแสดงปาฐกถาตามธรรมดาพอให้แล้วๆ ไปหรือแสดงกันแต่ในเรื่องโลกๆ ตามความถนัด การแสดงธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีความละเอียดปราณีตสุขุมอย่างนี้ เพราะฉะนั้นผลจึงเกิดขึ้นในลักษณะที่ลึกซึ้งดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อนี้ว่า “ภิกษุนั้นแสดงธรรมที่ตนได้สดับแล้วอย่างไร ได้เรียนแล้วอย่างไร แก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่นโดยพิสดาร เธอแสดงด้วยประการใดๆ เธอรู้ประจักษ์ชัดข้ออรรถข้อธรรมนั้นด้วยประการนั้นๆ” นี้เป็นคำพูดที่ฟังได้ง่ายว่าภิกษุนั้นแหละจะได้รับสิ่งนั้นก่อนผู้ฟัง หมายความว่าสิ่งใดที่ภิกษุนั้นคิดออกคิดได้เห็นแจ้งนั้น เธอนั้นเป็นผู้รู้แจ้งรู้ชัดก่อนผู้ฟัง เพราะว่ามันต้องปรากฏอยู่ในใจของเธอก่อนจึงจะออกมาเป็นคำพูด ผู้ฟังย่อมจะได้รับทีหลัง นี้เป็นเครื่องแสดงอยู่ชัดแล้วว่า ภิกษุนั้นได้อะไรมากกว่าผู้ฟัง มากที่ตรงไหน ก็มากที่ตรง ตรงข้อที่ว่า ผู้ฟังเพิ่งจะได้ฟังเป็นครั้งแรกยังคลับคล้ายคลับคลาไม่ค่อยจะเข้าใจด้วยซ้ำไป แต่ในเรื่องเดียวกันนั้นเอง ภิกษุผู้แสดงธรรมนั้นย่อมรู้แจ้งประจักษ์ชัดอย่างใสแจ๋วเห็นจริงอยู่ในจิตใจของตนแล้ว เรียกว่าภิกษุนั้นได้รับธรรมะนั้นมากกว่าที่ผู้ฟังได้รับ ลึกซึ้งกว่าที่ผู้ฟังได้รับและก่อนกว่าที่ผู้ฟังจะได้รับ เมื่อเป็นอย่างนี้ควรจะเข้าใจกันเสียว่าผู้แสดงธรรมนั่นแหละได้อะไรมากกว่าผู้ฟัง ผู้ฟังได้อะไรน้อยนิดเดียวแต่ผู้แสดงนั่นแหละกลับได้มากกว่า เพราะต้องคิดนึกมากกว่า ต้องสำรวมมากกว่า ต้องระวังมากกว่า ต้องตั้งสติมากกว่า อะไรๆ ก็ล้วนแต่ได้มากกว่าไปเสียทั้งนั้น ฟังดูก็ขำดีว่าผู้ให้นั่นแหละได้มากกว่าผู้รับ ถ้าท่านไม่เชื่อก็ลองไปคิดดู ทีนี้ถ้าว่าภิกษุนั้นขยันให้ ขยันให้อยู่อย่างนี้ ก็ย่อมได้รับอะไรมากกว่าผู้รับมากขึ้นๆ จนทวีคูณ หนักเข้าก็จะเต็มไปด้วยธรรมะที่ตนได้มากยิ่งขึ้นทุกที ผู้แสดงธรรมนั้นกลายเป็นผู้ที่บรรลุธรรมก่อนผู้ฟัง ไปไกลก้าวหน้าไปกว่าผู้ฟัง เป็นเรื่องที่จะมองเห็นได้ เป็นความจริงที่พอจะเข้าใจได้ แม้อาตมาเองก็มีความรู้สึกอย่างนี้ ว่ามีอะไรที่ได้ในขณะที่มีการให้แก่ผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อจะอธิบายเรื่องที่ลึกๆ ยากๆ ให้คนโง่ๆ ฟัง มันเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักขนาดที่จะเกือบจะปวดหัว เมื่อมันคิดหนักขนาดนี้มันก็ต้องรู้อะไรมากหรือกว้างออกไปเป็นของตนก่อน เข้าใจเป็นอย่างดีแล้วก็เอาไปพูดให้คนที่โง่นั้นฟัง แล้วก็พูดกันอย่างไรๆ มันก็ไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเอง ผู้ฟังนั้นก็ไม่ได้อะไรไปแต่ผู้พูดหรือผู้ให้นี้กับได้มากยิ่งขึ้นทุกที ถ้าขืนทำอยู่อย่างนี้บ่อยๆ ไม่กี่ปีก็จะเจริญก้าวหน้าในทางธรรมมากพอทีเดียว จนเป็นผู้รู้ธรรมะได้ สามารถทำความหลุดพ้นให้แก่ตนได้ ถ้าเข้าใจข้อนี้ก็จะเข้าใจข้อความในพระบาลีนี้ ที่กล่าวไว้ชัดว่า ภิกษุนั้นหลุดพ้นแล้วจากกิเลสเพราะเหตุแห่งการแสดงธรรม ในขณะที่แสดงธรรมมีการบีบบังคับให้จิตใจของตนทำหน้าที่อย่างหนักในการนึกการคิดการพิจารณาเห็นแจ้งข้อความที่ตนได้เคยเล่าเรียนมาในขณะนั้น นี่ก็หมายความว่าภิกษุนั้นได้เคยเล่าเรียนมาได้ฟังมาแล้วเป็นอันมากแล้วก็ไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง พึ่งจะมาเข้าใจในเมื่อต้องการจะอธิบายให้ผู้อื่นฟัง คือเอาสิ่งที่ได้เล่าเรียนมานั่นแหละมาขบมาคิดกันใหม่ในขณะที่ต้องการจะพูดให้ผู้อื่นฟัง โดยเฉพาะที่จะพูดให้คนโง่ฟัง ต้องคิดมากต้องนึกมาก ต้องนึกกว้างมากกว่าที่จะพูดให้คนฉลาดฟัง เพราะฉะนั้นคนโง่ๆ นี้ก็มีประโยชน์เหมือนกัน ในการที่จะช่วยทำให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องคิดนึกอะไรมาก เช่นเดียวกับภิกษุนี้ที่ต้องการจะแสดงธรรมแก่คนเหล่าอื่นโดยพิสดาร จึงต้องคิดนึกมากจนตัวเองเป็นผู้รู้ประจักษ์ชัดในข้ออรรถข้อธรรม ในธรรมนั้นๆ โดยประการนั้นๆ จนกระทั่งเกิดปราโมทย์เกิดปีติ มีนามกายรำงับแล้ว มีความสุข มีจิตตั้งมั่นในลักษณะที่เป็น สมาหิโต ปริสุทโธ กัมมณีโย ดังที่กล่าวแล้ว ญาณทัศนะก็เกิดขึ้นในสิ่งทั้งปวงว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มีความเบื่อหน่าย มีความคลายกำหนัด มีความหลุดพ้นจากกิเลส ทำอาสวะให้สิ้นไป ได้บรรลุธรรมที่เกษมจากโยคะ คือไม่มีความทุกข์ ที่ยังไม่เคยได้ไม่เคยถึง ก็มาได้มาถึงด้วยเหตุนี้ เพื่อประโยชน์ที่มากออกไปอยากจะแนะนำท่านทั้งหลายว่า การที่ท่านทั้งหลายจะเสียสละกันบ้างย่อมจะเป็นการดี คือเสียสละในการที่จะอธิบายธรรมให้ผู้อื่นฟัง เมื่อถึงวันพระวันอุโบสถมาประชุมกันแล้ว เราก็ทำการเสียสละเพื่อจะเป็นผู้อธิบายให้ผู้อื่นฟัง เราก็ตั้งจิตคิดนึกอย่างลึกซึ้ง สำรวมอย่างลึกซึ้งเพื่อจะอธิบายให้เขาฟัง และเมื่อเขาฟังไม่เข้าใจก็ยอมให้เขาซักไซ้โดยไม่ต้องโกรธ เขายิ่งซักไซ้มากขึ้นก็ยิ่งไม่โกรธ แต่พยายามคิดนึกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อจะตอบคำถามของเขาให้ได้ ถ้าทำอยู่อย่างนี้ ไม่เท่าไหร่ก็จะมีความแคล่วคล่องว่องไว ในการคิดการนึก ในข้ออรรถข้อธรรม แล้วก็จะได้รับผลก่อนเพื่อนที่นั่งฟังหรือที่มาซักถามเรา คือเราจะประจักษ์ชัดในข้ออรรถข้อธรรมนั้นก่อนเขา ได้รับประโยชน์ก่อนเขา และบางทีเขาอาจจะไม่ได้รับเลยก็ได้ แต่เราก็ได้รับถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นขอให้ทุกคนรู้จักเสียสละในการที่จะคิดจะนึกเพื่ออธิบายให้เพื่อนกันฟัง ซึ่งก็เป็นการแสดงธรรมอยู่แบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน แสดงให้ละเอียดละออโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย พยายามอธิบายให้ละเอียดละออโดยไม่มีการโกรธแค้น ขุ่นเคือง ในเมื่อมีผู้มาซักถาม เดี๋ยวนี้เราทำกันอย่างนี้หรือไม่ ดูเหมือนจะไม่ได้ทำกันอย่างนี้เลย พอถูกใครซักถามเข้าหน่อยก็โกรธเสียแล้ว เมื่อโกรธเกิดแล้วก็เป็นความมืดมิด ยิ่งกว่าความมืดใดๆ เมื่อเกิดความมีดเสียแล้ว จะมีความแจ่มแจ้งในข้ออรรถข้อธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องไม่โกรธ ทีนี้อีกทีหนึ่งก็ขี้เกียจ ขี้เกียจที่จะพูดด้วย ไม่อยากจะพูดด้วย ก็มีความเห็นแก่ตัวมากเกินไปไม่คิดจะช่วยผู้อื่นเสียเลย ความขี้เกียจนี้ก็เป็นความ เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ผู้นั้นไม่เจริญไม่ก้าวหน้าในทางธรรม เราควรจะขยันในการที่จะเสียสละหรือช่วยผู้อื่น ยอมเสียสละ ไม่มีความเบื่อหน่ายแม้จะถูกรบกวนมากมายอย่างไร ข้อนี้มันเป็นกำไรแก่บุคคลผู้นั้นเอง เพราะว่ายิ่งต้องถูกซักไซ้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นความฉลาดแก่ผู้ถูกซักไซ้นั่นเอง มากเท่านั้น ธรรมชาติสร้างให้เรามีปัญญามีความสามารถพอที่จะทำอย่างนั้นได้ แต่เราไม่ยอมรับเรามาทำลายความฉลาดนั้นเสีย คือทำตัวเราให้โง่ลงไปอีก ก็ไม่ยอมให้ถูกซักไซ้ไล่เลียง ไม่พยายามที่จะตอบคำถามและคำตอบที่ควรตอบอย่างนี้เป็นต้น จึงหวังว่าภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา จะได้เอาความข้อนี้ไปคิดกันเสียใหม่ แล้วอย่าเห็นแก่ตัวมากถึงขนาดที่จะไม่ยอมสนใจ ในการที่จะตอบคำถามอย่างจู้จี้พิรี้พิไรของบุคคลอื่นเลย จงถือเสียว่าการจู้จี้พิรี้พิไรของคนอื่นนั้นมันเป็นลาภแก่เรา เป็นการได้ที่ดีแก่เรา มันเหมือนกับการสอบไล่เราในชั้นต้นก่อนว่าเป็นคนขี้เกียจหรือไม่ขี้เกียจ เป็นคนขี้โกรธหรือไม่ขี้โกรธ เมื่อเราไม่ขี้เกียจไม่ขี้โกรธเราก็สอบต่อไปว่าเรามีความรู้พอสมควรแก่อัตภาพหรือหาไม่ ถ้าเราไม่ตอบคำถามหรือตอบคำถามตามธรรมดาไม่ได้ ก็เรียกว่าเรายังไม่มีความรู้ที่สมควรแก่อัตภาพ เราจะต้องพยายามให้รู้ให้เข้าใจให้พอสมควรแก่อัตภาพเสียก่อน ให้เป็นต้นทุนสำหรับจะก้าวหน้าต่อไปในธรรมที่สูงขึ้นไป เพราะฉะนั้นขอให้ยินดีในการที่จะตอบคำถามของผู้อื่น แม้จะไม่ตั้งตัวเป็นผู้แสดงธรรมขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ก็จงแสดงธรรมด้วยการตอบคำถามของผู้อื่นเถิด พยายามตอบคำถามให้ดีที่สุดแม้แต่ของลูกของหลานตัวเล็กๆ ที่จะมาจู้จี้พิรี้พิไรถามอย่างไรก็ตาม ก็จงพยายามคิดนึกเพื่อตอบให้ดีที่สุดเถิด จะเป็นเหตุให้ได้รับอานิสงค์แห่งวิมุติตายตนข้อที่ ๒ นี้โดยไม่ต้องสงสัยเลย ไม่ต้องขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรมเหมือนภิกษุก็ได้รับผลอย่างเดียวกัน ให้ตั้งอกตั้งใจตอบคำถามให้ดีที่สุด เพราะความแจ่มแจ้งสว่างไสวจะเกิดแก่เราก่อน แล้วจะเกิดปราโมทย์และปีติทำจิตให้รำงับตั้งมั่นพร้อมที่จะเกิดญาณทัศนะในอันดับสูงยิ่งขึ้นไป จนเกิดความหลุดพ้นจากกิเลสได้ นี้เรียกว่าวิมุติตายตน คือบ่อเกิดแห่งวิมุติข้อที่ ๒ อันเกิดมาจากการแสดงธรรมต่างกันกับข้อที่ ๑ ที่เกิดมาจากการฟังธรรม เอามาเปรียบกันดูก็จะน่าอัศจรรย์ในข้อที่ว่าการฟังธรรมก็ทำให้หลุดพ้นได้ การแสดงธรรมก็ทำให้หลุดพ้นได้ นี่ผู้ให้ธรรมก็หลุดพ้นได้ ผู้รับธรรมก็หลุดพ้นได้ มันมีวิธีมากมายอยู่ถึงขนาดนี้แล้ว ทำไมเราจึงไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากช่องทางหรือโอกาสที่มีอยู่มากมายถึงขนาดนั้น ทีนี้ลองพิจารณากันดูต่อไปถึงวิมุติตายตนข้อที่ ๓ คือความหลุดพ้นที่เกิดมาจากการสาธยายธรรม ท่องบ่นธรรม ข้อแรกที่เราจะต้องพิจารณาดูให้ดี คือการท่องบ่นชนิดไหนเล่าที่จะทำให้เกิดความหลุดพ้นแก่บุคคลผู้ท่องบ่น การท่องบ่นเหมือนการสวดมนต์เมื่อตะกี้นี้ที่สวดกันดังลั่นไปหมดนี้ ได้เรียกว่าเป็นการสาธยายท่องบ่นที่เป็นวิมุติตายตนข้อที่ ๓ ได้หรือไม่ ถ้าได้ทำไมไม่ทำให้คนที่ท่องบ่นสาธยายนี้มีความหลุดพ้นจากกิเลสเหมือนที่กล่าวไว้ในสูตรนี้เล่า ถ้าอยากจะเข้าใจข้อความนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายทบทวนดูถึงเรื่องที่เคยชี้แจงอธิบายมามากมายหลายครั้งหลายหนแล้วว่า สวดมนต์แปลนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับให้ท่องสวดอย่างนกแก้วนกขุนทองหรือท่องเฉยๆ ทีแรกเราสวดบาลียิ่งไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวนี้เรามีคำแปลด้วยก็พอจะรู้เรื่องแต่แล้วก็ดูเหมือนจะไม่รู้เรื่องอยู่อีกนั่นเอง เพราะว่าไปท่องเสียอย่างเดียวกับท่องบาลี เมื่อเราสวดไม่แปลเราสวดอย่างไร เมื่อสวดแปลเราก็ยังสวดอย่างนั้นหรือสวดอย่างละเมอเพ้อๆ ไปเพราะปากว่าไปได้ด้วยความเคยชินครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ยังสวดมนต์แปลนี้ไปได้ มีความรู้สึกครึ่งหลับครึ่งตื่นละเมอๆ นี้ก็ยังสวดมนต์แปลนี้ได้เพราะว่ามีความเคยชิน เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าแม้จะมีการสวดแปลแล้วก็ยังเหมือนกับที่สวดไม่แปลอยู่นั่นเอง คือสวดไปตามความเคยชิน เพราะเหตุฉะนั้นจึงได้แนะให้ว่าอย่าสวดอย่างนั้น ให้หัดสวดด้วยการสวดคำแปลได้แล้ว ให้รู้ความหมายของคำแปลให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งว่าเป็นการแสดงธรรมให้แก่ตัวเองฟัง เมื่อเราสวดออกไปอย่างไรก็ให้เหมือนกับการแสดงธรรมให้ตัวเองฟัง ให้เรื่องที่เคยลึกซึ้งอยู่นั้นค่อยๆ ตื้นเข้าๆ ด้วยรู้ความหมายของธรรมที่สวดนั้น เช่นเราจะสวดว่าคนพวกหนึ่งข้ามฟากโน้นไปไม่ได้มัวแต่วิ่งเลาะอยู่ทางฝั่งนี้และมีอยู่มาก นี้ก็ให้รู้ว่าเราอยู่ในพวกนั้นหรือเปล่าละ ถ้ามัน ถ้าเราอยู่ในพวกนั้นก็ควรจะสะดุ้ง เราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางจิตใจเพื่อจะเป็นผู้ข้ามฟากไปยังฟากโน้นกับเขาได้บ้างหรือเมื่อว่าเรา เมื่อว่าเราสวดเรื่องบท อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราต้องสะดุ้งเมื่อได้สวดคำว่าอนิจจังหรือทุกขังหรืออนัตตา เพราะเราสวดด้วยสติสัมปชัญญะในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสิ่งต่างๆ นั้นเอง อย่างนี้เรียกว่าเราสวดด้วยใจไม่ใช่สวดด้วยปาก เมื่อเราสวดด้วยใจอย่างนี้จนถึงที่สุดแล้ว เราก็เลื่อนไปสวดด้วยความรู้สึกลึกไปกว่านั้น คือความรู้สึกจริงๆ ที่เราอบรมอยู่เสมอให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น อย่างนี้มันเลยความเข้าใจไปเป็นความรู้สึกจนกระทั่งเป็นปัญญาที่แท้จริง คือรู้แจ้งชัดในข้ออรรถข้อธรรมด้วยความรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่รู้สึกด้วยความคิดความนึกหรือเหตุผล แต่รู้สึกเพื่อมองเห็นชัดจริงๆ ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผล ก็มีความรู้สึกอย่างแจ่มแจ้งได้ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วการสวดมนต์นั้นเอง การสาธยายท่องบ่นข้อความนั้นเอง จะทำให้เกิดวิมุติตายตนข้อนี้ได้ แต่ว่าผู้นั้นจะต้องฝึกฝนเป็นอย่างมาก ฝึกฝนแล้วฝึกฝนอีกเพื่อให้การสวดมนต์ของตนลึกซึ้งยิ่งขึ้นเสมอไป ไม่ใช่ให้สวด ไม่ใช่สวดพอให้นอนหลับสบาย คือสวดให้เกิดอาการง่วงนอนแล้วก็ได้นอนหลับสบาย ไม่ได้สวดมนต์นอนไม่หลับ อย่างนี้มันเป็นเครื่องจักรชนิดหนึ่ง ไม่อยู่ในวิมุติตายตนข้อนี้เลย จะต้องสวดด้วยจิตใจไม่สวดแต่ปากจะต้องสวดด้วยจิตใจและไม่สวดแต่ด้วยจิตใจ แต่ต้องสวดด้วยสติปัญญาที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น ฝึกอยู่อย่างนี้แล้วการสวดมนต์นั้นก็คือการทำวิปัสสนาชนิดหนึ่งนั่นเอง ไม่ใช่การสวดๆ ท่องๆ บ่นๆ ไปด้วยปากด้วยลิ้นตามความเคยชินเหมือนที่สวดๆ กันอยู่ นี้คือข้อที่แนะให้สังเกตดูกันเสียใหม่ให้พยายามกันเสียใหม่ เพื่อว่าการสวดมนต์ของเรานี้จะต้องดีขึ้นทุกเดือนทุกปีทุกๆ ปี คือให้สวดมนต์ด้วยสติปัญญา ด้วยความรู้สึกมากยิ่งๆ ขึ้นไปทุกปี จึงจะได้รับอานิสงค์ที่เป็นวิมุติตายตนข้อนี้ เดี๋ยวนี้เราสวดอย่างถอยหลังเข้าคลองเหมือนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า พอจำได้แม่นยำแล้วสวดอย่างละเมอๆ ครึ่งหลับครึ่งตื่นก็สวดกันไปได้อยู่นั่นเอง ยิ่งทำอย่างนี้มากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นการถอยหลังเข้าคลองมากขึ้นเท่านั้น ขอให้สังเกตดูให้ดีและจับความจริงข้อนี้ให้ได้ ว่าสวดมนต์บทที่เข้ามาใหม่ๆ นั้น เราระมัดระวังมากรู้เนื้อความของสวดมนต์บทนั้นมาก แต่พอเราจำได้เคยชินปากแล้วมันก็เลือนไป กลายเป็นว่าแต่ปากอย่างนกแก้วนกขุนทองไปเสียแล้ว หาได้จับอกจับใจในเนื้อความแห่งมนต์นั้นเหมือนกับที่เราได้รับเอามาเรียนใหม่ๆ ไม่ ขอให้ทุกคนสังเกตดูเถิดว่า สวดมนต์บทใหม่ๆ แปลกๆ ที่เราเพิ่งจะได้รับมานั้น มันทำความอิ่มอกอิ่มใจให้แก่เราในข้อความนั้นอยู่พักหนึ่งทีเดียว อาจจะเป็นเวลาหลายเดือนก็ได้ แต่แล้วพอความเคยชินเกิดขึ้นสวดได้คล่องโดยไม่ต้องระมัดระวังในเรื่องความหมายแล้ว มันก็เลือนไป จางหายไป เงียบไป เหลืออยู่แต่เสียงที่ปากว่าไปได้ด้วยความเคยชิน นี้เป็นกันหรือไม่ และเป็นกันมากน้อยเท่าไหร่ ขอให้ทุกคนสังเกตดูตนเองให้มาก เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงการสาธยายท่องบ่นสวดมนต์ทำวัตรของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ให้ถูกตามเรื่องตามราวยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งได้รับอานิสงค์ที่เป็นวิมุติตายตนข้อที่ ๓ นี้ให้ได้ด้วยกันทุกคน จนมีโอกาสหลุดพ้นจากกิเลสแม้ด้วยลำพังการสวดมนต์อย่างที่ได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสูตรนี้ก็ได้ ฟังดูให้ดีๆ ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า แม้แต่การสาธยายท่องบ่นนี้ก็ยังเป็นชนวนเป็นต้นเหตุให้เกิดความหลุดพ้นจากกิเลสของจิตได้ เราจะได้รับประโยชน์ข้อนี้กันโดยเร็ว เพราะว่ามันอยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้ อย่าได้ไปคิดว่าต้องไปนั่งวิปัสสนาในป่าในดงอย่างนั้นอย่างนี้จึงจะหลุดพ้นได้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เองว่า แม้แต่การสาธยายท่องบ่นธรรมะที่ตนได้เรียนแล้วสดับแล้วอย่างไรก็ยังทำให้เกิดการหลุดพ้นจากกิเลสจากจิตได้ ขออย่างเดียว แต่อย่าสวดอย่างนกแก้วนกขุนทองโดยลักษณะดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ให้พยายามอบรมบ่มนิสัยสร้างจิตใจที่มีสมรรถภาพที่รู้สึกต่อความหมายของธรรมที่ตนกำลังสวดอยู่นั้นยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จะเกิดอาการที่เรียกว่า ภิกษุนั้นสาธยายธรรมที่ตนได้สดับแล้วได้เรียนแล้วอย่างไรโดยพิสดาร ด้วยประการใดๆ ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้แจ้งประจักษ์ชัดข้ออรรถข้อธรรมที่ตนกำลังสาธยายนั้นด้วยประการนั้น เมื่อเป็นดังนี้ปราโมทย์ก็เกิด ปีติก็เกิด นามกายก็รำงับ เมื่อเสวยสุขแล้วทำจิตให้พร้อมอยู่ในการที่จะเกิดญาณทัศนะ เพื่อเกิด วิราคะ วิมุติ ตามลำดับไป หนทางที่จะหลุดพ้นได้เพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งเป็น ๓ ข้อ เพราะการพูดให้ผู้อื่นฟังหรือว่าการฟังผู้อื่นพูดก็ดี การพูดให้ผู้อื่นฟังก็ดี จะการท่องบ่นมนตราที่ได้ยินไว้ก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้แต่ละอย่างๆ ก็เป็นหนทางที่จะให้เกิดความหลุดพ้นแก่กิเลสได้ หมายความว่าแม้จะไม่มีสติปัญญามากมายขนาดจะนับเมล็ดทรายในมหาสมุทรได้ เราก็ยังอาจที่จะหลุดพ้นจากกิเลสได้ เพราะการสาธยายท่องบ่นที่ถูกวิธี ดังที่กล่าวมานี้ ทีนี้ถัดไปข้อที่ ๔ นี้ภิกษุตริตรองพิจารณาธรรมที่ได้สดับแล้วได้เรียนแล้วอย่างไร นี่ไม่เกี่ยวกับการพูดให้ผู้อื่นฟัง หรือฟังผู้อื่นพูด หรือท่องบ่นอีกแล้ว แต่หมายถึงการเจาะจงพินิจพิจารณาธรรมที่ได้เคยได้ยินได้ฟังแล้วอย่างละเอียด อย่างลึกซึ้งอย่างพิศดาร นี้คือข้อแนะทั่วๆ ไป คำสั่งสอนทั่วๆ ไปที่เราได้ยินได้ฟังอยู่ จะไม่อธิบายอะไรให้มากไปกว่านี้อีก เพราะเป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังซ้ำๆ ซากๆ ว่าให้หมั่นพินิจพิจารณาธรรมะที่ตนได้อ่าน ได้ฟังได้ศึกษา ได้เล่าเรียนให้จริงจังก็จะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงได้ ดูแล้วมันยากไปกว่าที่ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ คือฟังผู้อื่นพูด คือพูดให้ผู้อื่นฟัง หรือสวดร้องท่องบ่นธรรมะนั้นๆ อยู่ ทีนี้จะมาถึงข้อที่ ๕ คือว่าทำจิตให้เป็นสมาธิ ถือเอาธรรมะข้อใดข้อหนึ่งมาเป็นนิมิตแห่งสมาธิจะใช้วัตถุภายนอกหรือใช้อาการภายในเป็นลมหายใจเป็นต้น ทำจิตให้เป็นสมาธิด้วยการเพ่งอารมณ์นั้นให้เป็นอารมณ์ที่ถือเอาด้วยดี ให้มีการแทงตลอดอารมณ์นั้นจริงๆ หรือว่าจะเพ่งในลักษณะที่ให้จิตสงบเป็นสมาธิ และเพ่งหาความจริงในสิ่งนั้นอีกต่อหนึ่ง จนกระทั่งเกิดปีติปราโมทย์ เกิดความรำงับในทางนามกาย มีจิตประกอบด้วยลักษณะ ๓ ประการ ที่พร้อมที่จะบรรลุญาณทัศนะหรือว่าเป็นการเจริญสมถะและวิปัสสนาโดยตรง
สรุปความแล้วก็กล่าวได้ว่าในโอกาส ๕ ประการนี้มีความลดหลั่นกันตามลำดับ ข้อแรกดูจะเป็นของธรรมดามากหรือง่ายที่สุด คือการฟังเขาพูด ข้อที่ ๒ ก็คือพูดให้เขาฟัง ข้อที่ ๓ ก็ท่องบ่นอยู่ด้วยความรู้สึกในความหมายของสิ่งที่ท่องบ่น ส่วนข้อที่ ๔ นั้นเพ่งพิจารณาธรรมะนั้นๆ อย่างละเอียดละออ ส่วนข้อที่ ๕ นั้นให้ถือเอาเป็นอารมณ์หรือเป็นนิมิตสำหรับให้เกิดสมาธิเสียก่อนแล้วจึงพิจารณาด้วยปัญญาในลักษณะที่เป็นวิปัสสนาโดยตรง รวมเป็น ๕ ข้อด้วยกัน แต่ละข้อๆ เป็นเหตุให้หลุดพ้นจากกิเลสโดยเสมอกันดังพระบาลีที่ได้ตรัสไว้เช่นนี้ ประโยชน์แห่งพระสูตรนี้ที่เห็นว่ามีอยู่อย่างมากมายนั้นก็คือ การที่แสดงให้เห็นได้ว่าแม้เราจะไม่สามารถทำสมถะและวิปัสสนาที่ลึกซึ้งยุ่งยากลำบาก เราก็ยังสามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสได้ด้วยการแสดงธรรม เออ, ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองในธรรมะที่เราได้ยิน ได้ฟัง ถ้าเราไม่สามารถจะพิจารณาไตร่ตรองธรรมะนั้นได้ เราก็ยังมีโอกาสที่จะท่องบ่นธรรมะนั้นด้วยสติสัมปชัญญะด้วยจิตใจที่คอยจดจ่ออยู่ที่ความหมายของสิ่งที่เราท่องบ่น ถ้าเรายังทำอย่างนั้นไม่ได้อีกเราก็พยายามที่จะพูดให้ผู้อื่นฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจอย่างละเอียดละออ ถ้าเรายังทำอย่างนั้นไม่ได้อีกเราก็จงฟังผู้อื่นพูดด้วยความตั้งอกตั้งใจอย่างระมัดระวังให้ดีที่สุด เราก็ยังมีทางที่จะหลุดพ้นได้ อย่างนี้เรียกว่าโอกาสมีให้เลือกถึง ๕ ประการแล้ว แล้วก็มีอย่างง่ายๆ รวมอยู่ด้วยถึง ๓ อย่าง ถ้าหากว่าเราไม่สามารถจะถือเอาอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างนี้ได้แล้วก็เรียกว่าเป็นผู้อาภัพ เป็นผู้ไม่สมควรที่จะหลุดพ้นเสียแล้ว เป็นคนอาภัพไม่สมควรที่จะหลุดพ้นจากกิเลสเสียแล้วเป็นแน่นอน ใครจะยอมตนเป็นคนอาภัพถึงขนาดนั้นบ้างก็ลองพิจารณาดูเองเถิด เกิดมาทีหนึ่งก็อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย อย่าให้ต้องอาภัพถึงขนาดนั้นเลย เพราะหนทางมีให้เลือกถึง ๕ ประการ และก็มีอย่างง่ายที่สุดให้เลือกด้วย หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ถือเอาประโยชน์จากพระบาลีวิมุติตายตนสูตรนี้ให้ได้ด้วยกันทุกคนในลักษณะที่เหมาะสม จะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นของที่เหมาะสำหรับตนก็ได้หรือจะว่าถือเอาโอกาสทั้ง ๕ โอกาสนั้นฝึกฝนสลับกันไปอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นโดยสมควรแก่โอกาสและสมัย อย่างนี้ก็ยังทำได้ เรียกว่าเรายังมีโอกาสที่จะบรรลุธรรมะได้มากมายเหลือเกิน มีให้เลือกมากเหลือเกิน แต่เราก็เหลวไหลซะเอง ขี้เกียจซะเอง ไม่เอาใจใส่เสียเอง เอาแต่เรื่องง่ายๆ อย่างขี้เกียจ คือฟังก็ฟังไปแล้ว แล้วไป ถึงทีจะพูดให้ผู้อื่นฟังบ้างก็ขี้เกียจซะแล้ว ถึงคราวที่จะสวดร้องท่องบ่นก็สวดร้องอย่างนกแก้วนกขุนทอง พอถึงคราวที่จะตริตรองธรรมะอันลึกซึ้งบ้างก็ปล่อยให้ง่วงนอนเสีย พอถึงคราวที่จะทำสมถะวิปัสสนาบ้างก็ว่ายุ่งยากเกินไป มีเรื่องที่จะต้องทำลำบากมาก ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ มันก็หมดกัน ไม่มีอะไรเหลือสำหรับบุคคลผู้นั้นที่จะเอาตัวรอดได้ ทีนี้มาตั้งใจเสียใหม่ พยายามฟังผู้อื่นพูดให้ดีๆ พยายามพูดให้ผู้อื่นฟังบ้างให้ดีๆ สวดร้องท่องบ่นอยู่เป็นประจำให้ดีๆ พิจารณาไตร่ตรองธรรมะตามโอกาสที่เรามีความโปร่งอกโปร่งใจสบายดี เเล้วก็ถือโอกาสทำสมาธิวิปัสสนาเท่าที่เราจะทำได้ เรียกว่าเป็นผู้ขยันขันแข็งอยู่ทุกๆ วิถีทาง นี้เรียกว่าเป็นการเจริญภาวนา คืออบรมบ่มตัวเองให้เจริญก้าวหน้าไปตามทางธรรมะแห่งพระพุทธศาสนา ได้รับประโยชน์โดยสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติโดยแน่นอน เพราะว่าธรรมะนั้นเป็น อกาลิโก ไม่จำกัดกาลเวลาและอยู่ในครองแห่งเหตุผล ประพฤติได้เท่าไหร่ก็มีผลเท่านั้น มีผลแน่นอนด้วย ไม่จำกัดเวลาด้วย คนจึงได้รับประโยชน์จากธรรมะกันมาแล้วมากมาย จนกลายเป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนที่มีความสนใจในเรื่องของพระอรหันต์อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน จะได้สนใจในเรื่องวิมุติตายตน คือบ่อเกิดแห่งวิมุตินี้กันให้มาก เพื่อจะทำให้เราเดินตามพระอรหันต์ได้ง่ายขึ้น ปฏิบัติตามพระอรหันต์ได้ง่ายขึ้นเหมือนที่เราปัจจเวกอุโบสถอยู่ทุกวันว่า มีการทำตามพระอรหันต์อย่างนั้นอย่างนี้อย่างสุดความสามารถของเรา และวันนี้ก็เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ที่ประชุมกัน ๑,๒๕๐ องค์ ประกาศผล ประกาศหลักของการประพฤติปฏิบัติ คือทำให้หลุดพ้น คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเรามีความสนใจในความหลุดพ้นต้องการจะทำให้ได้โดยเร็วโดยสะดวกยิ่งขึ้น ก็จงสนใจในบ่อเกิดแห่งวิมุติทั้ง ๕ ประการนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วการปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นของเราก็จะเจริญงอกงามก้าวหน้าลุล่วงไปโดยเร็ว สมตามที่เรามาประชุมกันเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระอรหันต์เพื่อเป็นการบูชาแก่พระอรหันต์ และเพื่อเป็นการเดินตามรอยของพระอรหันต์อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสมมติเป็นประธานอยู่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นที่พึ่งของโลกจนตลอดกัลปาวสาน ตลอดเวลาที่ยังมีธรรมะของพระอรหันต์อยู่ในโลกนี้ โลกนี้ก็จะยังเป็นโลกที่น่าดู คือมีความงดงามในการที่เอาชนะกิเลสได้ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลางและอย่างละเอียดทั้งเบื้องต่ำ ทั้งท่ามกลางและทั้งเบื้องสูง สมตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสธรรมะไว้เผื่อเลือกทั้งเบื้องต่ำทั้งท่ามกลางและเบื้องสูง ดังที่เราได้ทราบกันดีอยู่แล้วทุกๆ คน ขอให้สนใจที่จะถือเอาประโยชน์ตนให้ได้โดยเร็วที่สุด แล้วช่วยกันสืบอายุพระศาสนาให้ตั้งอยู่เพื่อประโยชน์แก่คนทั้งหลายแก่ชนทั้งหลายอันจะมีมาในกาลข้างหน้า เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วก็เรียกว่าเราได้ทำได้ดีที่สุดแล้วในสิ่งอันเป็นหน้าที่หรือเป็นความรับผิดชอบของพุทธบริษัทเรา เป็นผู้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาโดยสมควรแก่การกระทำของตนๆ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ฉะนี้ โดยประการละฉะนี้