แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นั่งราบลงก่อน แล้วตั้งใจฟังๆ ให้รู้เรื่อง ถือว่าเป็นธรรมเนียมแต่โบราณ จะมีทำอะไรอย่างนี้ ก็ต้อง ทำวัตรก่อน มันเป็นเรื่องเกลี้ยงเกลาของจิตใจ จะเป็นการตระเตรียมจิตใจที่ดี เราก็รักษาประเพณีอันนี้ไว้ เขาเรียกว่า อริยวังสปฏิปทา ระเบียบปฏิบัติ ในวง ในเครือ หรือในวงของพระอริยเจ้า จะถือโอกาสอธิบายอีกครั้งหนึ่งว่า เรื่องทำวัตรนี้ คือ แสดงความเคารพ และขอโทษ อดโทษ และก็แลกเปลี่ยนส่วนบุญ ด้วยความเป็นกันเอง อย่างน้อยก็ขอให้มีจิตใจอย่างนี้ก่อน ก็ใช้ได้ในกรณีอื่นๆ หรือใช้ได้ในฐานะเป็นหลักทั่วไป ว่า จะมีเรื่องอะไรก็ตาม ไม่มีเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องการแสดงความเคารพ เรื่องขอโทษ และอดโทษ เรื่องแลกเปลี่ยนความดี หรือส่วนบุญนี้ ๓ เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องมี คลุกเคล้ากันอยู่กับชีวิตโดยทั่วๆไป เกี่ยวกับบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผู้ที่เคารพนับถือ ก็ทำได้ เกี่ยวกับคนทั่วไป ก็ทำได้ ทั้งในสังคมแคบเป็นครอบครัว ในสังคมกว้าง ทั่วไป ก็ทำได้ ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ อาจารย์ในกาลก่อน เห็นความเป็นประโยชน์อย่างนี้ จึงมีระเบียบว่า จะทำอะไรเป็นกิจจะลักษณะ เช่น ลาสิกขาบท เป็นต้นนี้ ก็ต้องทำวัตรก่อน ฉะนั้น เราจงมีจิตใจ รู้ความหมายของการทำวัตร แล้วก็ทำวัตรด้วยจิตใจ ไม่ใช่เพียงแต่ปากว่า หรือกริยาท่าทาง จงเป็นผู้มีจิตใจ แจ่มใส สะอาด สว่าง สงบ หรือปกติ ไม่มีอะไรเป็นเรื่องที่ต้อง ฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย เศร้าหมอง หวาดกลัว ระแวง ก็มีความมุ่งหมายอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เราก็ได้มีการทำวัตร มาแล้วตามประเพณี
ทีนี้ก็มาถึงเรื่อง การลาสิกขาบท ก็ขอให้ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ พร้อมกันไป ทั้งกาย ทั้งวาจา การลาสิกขา ไม่ต้องมี หรือจัดเป็นรูปสังฆกรรม ไม่เหมือนกับการเข้ามาอุปสมบท นั่นมันต้องทำเป็นสังฆกรรม เพราะต้องให้สงฆ์ รับรู้ รับผิดชอบ และยอมรับในที่สุด จึงจะได้มีสิทธิเป็นสมาชิกถูกต้อง และเป็นตามความหมายของวินัย แต่ส่วนการลาสิกขานี้ มันไม่ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อประกาศตัวอยู่ด้วยการนุ่งห่ม เป็นอยู่อะไร ไม่เป็นภิกษุแล้ว มันก็เป็นอันว่าหมดกัน หรือรู้กันได้ในที ไม่ต้องไปประชุมสงฆ์ให้ลำบาก ส่วนที่จะประชุมสงฆ์ เรื่องรดน้ำมนต์ เรื่องอะไรนั่น ก็มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับวินัย ฉะนั้น เราจึงไม่ต้องทำสังฆกรรม ไม่ต้องไปทำในสีมา ในอุโบสถ ก็บอกคืนสิกขากับอุปัชฌายะ หรืออาจารย์ หรือผู้ใดผู้หนึ่งที่อยู่ในฐานะที่จะรับบอกได้ หรือพยานมันก็มีอยู่ที่ว่าเรา เปลี่ยนจีวร เปลี่ยนอะไร คนอื่นเขาก็รู้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องกระทำด้วยจิตใจที่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่ก็ขอให้ทำความรู้สึกในใจว่า เราไม่ได้บอกคืนศาสนา ไม่ได้บอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้แต่ประการใด ไม่ได้แตะต้อง ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงพระรัตนตรัยที่เราถืออยู่ หรือแม้แต่สรณาคมน์ที่เราเคยรับนี่ ก็ไม่มีการกระทบกระเทือนเพราะการกล่าวคืนสิกขา ฉะนั้นเราจึงต้องมีจิตใจที่ถูกต้องอยู่ตามเดิม คือไม่ได้เปลี่ยนศาสนา ไม่ได้ถอยหลังจากศาสนา ไม่ได้ลดค่าของตัวเองในความเป็นพุทธบริษัท แม้ว่าจะเปลี่ยนจากภิกษุภาวะไปสู่ความเป็นฆราวาส มันก็ไม่ได้เปลี่ยนความเป็นพุทธบริษัท เพียงแต่เปลี่ยนระเบียบปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ ในการเป็นอยู่ จากการเดินทางอย่างเร็ว ไปเป็นการเดินทางอย่างช้า มันก็ไม่มีการถอยหลัง ที่พูดว่าเปลี่ยนเป็นๆการเดินทางอย่างช้า นี้ก็ไม่แน่นัก ก็ไม่เป็นจริงอย่างนั้นเสมอไป เพราะว่าถ้าฆราวาสปฏิบัติดี หรือมีสิ่งแวดล้อมดี หรือมีเหตุบังเอิญดี ก็มีทางบรรลุมรรคผล ได้เหมือนกัน หรือว่าจะก่อนพระที่ว่างุ่มง่ามเสียอีก ดังนั้น เราจงมีความแน่ใจว่า มันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เป็นการถอยหลัง หรืออะไรที่ต้องเสียใจ หรือวิตกกังวล หรือกระสับกระส่าย ให้มีใจคอปกติ เพื่อจะเปลี่ยนเฉพาะสิกขา ระเบียบปฏิบัติ เรียกว่าตามเพศที่ต่างกัน เราจะเอาสิกขา วินัยของภิกษุไปปฏิบัติที่บ้าน ทุกอย่างนั้น มันทำไม่ได้ เราก็ไม่มีโอกาสที่จะอยู่เป็นภิกษุ เพราะไปเป็นฆราวาส ก็พยายามที่จะทำให้พอเหมาะสมกัน ฉะนั้นจึงสมาทานสิกขาอย่างฆราวาส ฉะนั้นจงทำในใจอย่างนี้ ในขณะที่ปากว่า คำบอกคืนสิกขาเป็นภาษาบาลี ยังไม่เคยมีธรรมเนียมประเพณีบอกคืนสิกขาด้วยภาษาไทย เราต้องว่าภาษาบาลี ดังนั้นเพื่อไม่ให้มันเป็นเรื่องละเมอๆ อย่างนกแก้วนกขุนทองเกินไป ก็จงรู้ความหมายของคำบอกคืนสิกขานั้นเสียด้วย ที่ว่า สิกขัง ปัจจักขามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอบอกคืนสิกขาอย่างภิกษุ คิหีติ มัง ธาเรถะ จงถือว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์ เมื่อปากว่าในใจก็ต้องรู้ความหมายที่เราว่า นอกจากนั้นก็พอแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องว่าเป็นภาษาไทยอีก ทีนี้ก็ เกี่ยวกับจิตใจไม่มีปัญหาแล้ว ไม่ใช่กรณีที่ถูกบังคับให้สึก หรือมีความจำเป็นอย่างอื่นที่ต้องสึกแล้วก็ไม่ยอมสึก ถ้าอย่างนั้นมีปัญหา เดี๋ยวนี้เราไม่มีปัญหา เพราะว่าเราได้กำหนดไว้แต่ทีแรกแล้ว และก็ตลอดเวลา ก็รู้อยู่ว่าเราจะประพฤติพรหมจรรย์ในระยะกาลเพียงเท่านี้ อย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาที่จิตใจจะกระสับกระส่าย คือไม่แน่ใจ ถ้าเผอิญว่าผู้ใดมีความรู้สึกที่กลับไปกลับมายังไม่อยากสึกก่อนอะไรก่อน อย่างนี้ ก็ต้องขจัดให้หมดไป ในขณะที่กล่าวคำบอกคืนสิกขา เพราะเขาถือว่าบวชก็บวชด้วยใจ สึกก็สึกด้วยใจ นี่เป็นส่วนสำคัญ มันจึงจะถูกต้องตามวินัยที่บัญญัติไว้ว่า แม้การลาสิกขาก็ต้องกระทำด้วยใจ จึงหวังว่าทุกคนจะเข้าใจเรื่องนี้ดี แล้วก็รู้จักทำจิตใจให้ตรงกับปากที่พูดออกไปว่าข้าพเจ้ากล่าวคืนสิกขา
ทีนี้ก็มีพิธีกล่าวคืนสิกขา เอ้า, คุณคชนาท เข้ามาใกล้ๆ พนมมือ ตั้งนะโม ๆ ๓ ครั้ง (โยมว่า... นะโม ฯ (๓ ครั้ง)) ว่าคืนสิกขา สิกขัง ฯ (โยมว่า... สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติ มัง ธาเรถะ (๓ ครั้ง)) กราบ บัดนี้เราได้กล่าวคืนสิกขา ด้วยวาจา แสดงอาการด้วยใจ ด้วยร่างกาย และก็มีจิตใจที่ทำมาดีแล้ว ดังนั้นเราจึงไม่มีสิทธิที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะอีกต่อไป ขอให้ไปเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม เชิญชนะมาที ว่านะโม ๓ ครั้ง แล้วก็ว่าคำคืนสิกขา (โยมว่า... นะโม ฯ (๓ ครั้ง) สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติ มัง ธาเรถะ (๓ ครั้ง)) บัดนี้เราได้กล่าวคำบอกคืนสิกขาแล้ว มีจิตใจคืนสิกขา แสดงอาการกิริยาเพื่อบอกคืนสิกขา ดังนั้นเราจึงไม่มีสิทธิที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะอีกต่อไป ไปเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มตามแบบที่ประสงค์
เอ้า, เข้ามาใกล้ๆ ว่านะโม ๓ ครั้ง แล้วว่าคำคืนสิกขา ๓ ครั้ง หรือ ๔ ครั้ง ก็ได้ พอแน่ใจก็กราบลงไป (โยมว่า... นะโม ฯ (๓ ครั้ง) สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติ มัง ธาเรถะ (๓ ครั้ง)) บัดนี้เราได้กล่าวคำบอกคืนสิกขาแล้ว มีจิตใจคืนสิกขา พร้อมด้วยอาการทางร่างกายด้วย เป็นการลาสิกขาโดยสมบูรณ์ เราจึงไม่มีสิทธิที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้อีกต่อไป ขอให้ไปเปลี่ยน
ว่านะโม ๓ ครั้ง แล้วว่าคำคืนสิกขา (โยมว่า... นะโม ฯ (๓ ครั้ง) สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติ มัง ธาเรถะ (๓ ครั้ง)) กราบ บัดนี้เราได้กล่าวคำบอกคืนสิกขาแล้ว ทั้งโดยจิตใจ และโดยการกระทำทางกาย ฉะนั้นเราจึงไม่มีสิทธิที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะอีกต่อไป ขอให้ไปเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม
ลองกล่าวคำถวายสักการะ และอาราธนาศีลสิ จะรับศีล ๕ หรือ ศีล ๘ (โยมว่า... ศีล ๘ ครับ) เอ้า, กล่าวคำบูชาและเครื่องสักการะ แล้วก็กล่าวคำอาราธนาศีล ๘ อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าฯ (โยมว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) กราบ สวาขาโตฯ (โยมว่า สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว ธัมมังนะมัสสามิ ข้าพเจ้านมัสการ พระธรรม สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ปฏิบัติดีแล้ว สังฆัง นะมามิ ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์)
มะยังภันเตฯ (โยมว่า มะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ ทุติยัมปิ มะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ ตะติยัมปิ มะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ ครั้ง)
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (โยมว่าตาม) ทุติยัมปิพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิสังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (โยมว่าตาม) ตะติยัมปิพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิสังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (โยมว่าตาม)
ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง (โยมว่า อามะ ภันเต)
ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (โยมว่าตาม)
อทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (โยมว่าตาม)
อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (โยมว่าตาม)
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (โยมว่าตาม)
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (โยมว่าตาม)
วิกาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (โยมว่าตาม)
นัจจะคีตะวาทิตะ วิสูกะทัสสะนา มาลาคันธะวิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (โยมว่าตาม)
อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (โยมว่าตาม)
อิมานิ อัฐฐะ สิกขาปะทานิ สะมาธิยามิ (โยมว่าตาม)
สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธะเย
(โยมว่า สาธุ)
นั่งลงและตั้งใจฟังให้ดีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีธรรมเนียมให้โอวาทแก่ผู้ลาสิกขา การรับศีลอีกครั้งหนึ่งก็เพื่อเริ่มต้นมีศีลอย่างฆราวาสอีกต่อไป ส่วนสรณาคมน์นั้นถือว่าไม่มีการบอกคืน หรือไม่มีการรับใหม่ ตั้งต้นใหม่ หากแต่มันเป็นพิธีที่จะมีการรับทุกคราวที่มีพิธี ตลอดเวลาถือว่ามิได้บอกคืน แต่มันเป็นการย้ำๆๆๆ ลงไป เว้นแต่ว่าใครมันผิดพลาดมาก จนถึงกับดูถูกดูหมิ่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดกลับใจจะไม่ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้ก็ว่าสรณาคมน์มันขาด ก็ต้องรับใหม่ๆ ตั้งต้นใหม่ เดี๋ยวนี้ของเราไม่ได้มีอย่างนั้น ฉะนั้นจึงไม่ได้ถือว่าเป็นการรับใหม่ แต่เป็นการยืนยันตัวเองอยู่เสมอ หรือว่าย้ำอยู่เสมอ ส่วนสิกขาบท ๘ นี้ ถือว่าเป็นสิกขาบทของฆราวาส นี่เรามีจุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งใหม่ ในการสมาทานศีลอย่างฆราวาส และก็เป็นการดีที่ว่า ไม่ได้ถอยหลังกรูดเดี่ยวไปหาศีล ๕ ยังมีการถอยออกไปเป็นระยะๆ จากศีลภิกษุ ไปเป็นศีล ๘ แล้วก็จากศีล ๘ ไปเป็นศีล ๕ อย่างนี้มันดูน่าดี น่าดูดี กว่าที่จะถอยหลังกรูดเดียวสุดโต่ง
ทีนี้เรื่องศีล ๘ ศีล ๕ นี้ก็เหมือนกัน ถ้าว่าเราบางวัน บางเวลาจะถือศีล ๘ ได้ ก็ถือได้ โดยไม่ต้องไปสมาทานที่วัด หรือที่ไหน การสมาทานศีลมีอยู่ถึง ๓ วิธี คือว่า ประจวบเหมาะเข้าก็มีเป็นศีลได้ หรือว่าไปรับสมาทานกับคนนั้นคนนี้ ก็ได้ หรือว่าเป็นผู้ไม่มีเจตนาจะล่วง ศีลอีกต่อไปนี้ก็ได้ โดยมากก็เป็นพระอริยเจ้า นี่การมีศีลมีได้ถึง ๓ วิธีอย่างนี้ ดังนั้นบางเวลาเราจะมีศีล ๘ ก็ได้ โดยไม่ต้องไปรับที่วัดก็ได้ รับที่วัดก็ได้ ขอให้เอาจริงเอาจังสักหน่อย อย่าทำเล่นกับเรื่องศีล เพราะว่ามันเป็นตัวแกนกลางของศีลธรรม และ ของธรรมะทั้งหมด ในส่วนที่เป็นการปฏิบัติประจำวัน ทางเนื้อ ทางตัว ทางกาย ทางวาจา แล้วก็อย่าถือแต่ตัวหนังสือนัก ต้องถือถึงความหมายของมันด้วย ปาณาติปาตา นี่ก็อย่าเบียดเบียน สิ่งที่มีความรู้สึกคิดนึกด้วยกัน คือสัตว์มนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม เบียดเบียนถึงตาย หรือเบียดเบียนให้ลำบาก หรือเบียดเบียนอะไรก็ตาม มันรวมอยู่ในข้อนี้หมด อย่าประทุษร้ายร่างกายชีวิตผู้อื่น สัตว์อื่น ข้อ ๒ ก็อย่าประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ส่วนข้อที่ ๓ เป็นฆราวาส ก็ไม่ประทุษร้ายของรักของผู้อื่น หรือถ้าสูงขึ้นมาเป็นศีล ๘ ก็ไม่ทำสิ่งที่ฆราวาสทั่วไปกระทำ ในการกระทำของเพศ ระหว่างเพศ โดยประการทั้งปวง ที่เป็นเรื่องเมถุนธรรม หรือเป็นเรื่องเสเพล เล็กๆน้อยๆ อะไรก็ตาม ก็ไม่มี ก็แปลว่าเรื่องเกลี้ยงเกลาไปจากเรื่องเพศ ทีนี้ข้อที่ ๔ มุสานั้นก็ อย่าใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น วาจา หรือตัวหนังสือ หรือกริยาท่าทางอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ผู้อื่นเขาเข้าใจผิด แล้วเขาเสียประโยชน์ นี่มีความหมายกว้างๆ อย่างนี้ ศีลข้อที่ ๕ ก็เว้นในสิ่งที่ทำให้สติไม่ปกติทุกอย่างทุกประการ ไม่เฉพาะน้ำสุรายาเมาอะไรหรอก แม้แต่สิ่งบำรุงบำเรออย่างอื่น ถ้ามันทำให้สูญเสียความปกติของสติสัมปชัญญะแล้วก็ เรียกว่ารวมอยู่ในข้อนี้ทั้งนั้น
ทีนี้สำหรับศีล ๘ ที่เหลืออีก ๓ ข้อ วิกาละโภ นี่มันก็เรียกว่า เว้นอาหารที่ไม่จำเป็น จะเป็นในเวลาที่ไม่จำเป็น หรือสิ่งของที่ไม่จำเป็น หรืออะไรก็ได้ อาหารที่ไม่จำเป็นนั้นตัดออกไปก็แล้วกัน ทีนี้ข้อ นัจจะคีตะวาทิตะ นี้ว่า เป็นเรื่อง ประเภทที่ จะเป็นร้องเพลง หรือจะเป็นฟ้อนรำ หรือจะเป็นประดับประดา หรือจะเป็นอะไรก็ตาม ที่มันส่งเสริมให้มีจิตใจเป็นไปในทางเกินๆๆ ความเป็นอยู่ที่จำเป็น ใช้คำว่าเกินความเป็นอยู่ที่มันจำเป็น และก็มันยังทำให้ลุ่มหลง ให้กระเดียดไปในทางที่จะเป็นทาสของวัตถุ หรือกามารมณ์ ทุกชนิดเลย ในตัวสิกขาบทนั้นกล่าวพอเป็นตัวอย่างเท่านั้น ถ้ากวาดทั้งหมด ทุกอย่างที่มันมีความหมายอย่างนั้น จะไปนั่นมัน แต่มันมีความมุ่งหมายเฉพาะเหมือนกัน เรื่องเพลง เรื่องดนตรีนี้ มันก็ยังมีความหมาย บางชนิดมันก็เป็นประโยชน์ซึ่งเขาใช้ในทางศาสนา เพื่อกล่อมจิตใจให้เย็นจากความเร่าร้อนลงมาเป็นจิตใจปกติ แล้วก็ทำหน้าที่ทางศาสนาหรือทางอื่นต่อไป อย่างนี้มันก็ไม่อยู่ในพวกที่ต้องห้าม ถ้าเป็นดนตรีที่มันส่งเสริมความรู้สึกทางกิเลสนี้ มันก็อยู่ในพวกที่ต้องห้าม ร้องเพลงก็เหมือนกัน เรื่องฟ้อนรำ ท่ารำนี่ มันไม่กินมาถึงท่าทางของการบริหารร่างกาย ซึ่งบางแบบบางชนิดมันก็มีอาการเหมือนกับฟ้อนรำ นี่พูดให้เป็นตัวอย่าง ให้รู้จักความประสงค์มุ่งหมายของสิ่งเหล่านี้ หรือของถ้อยคำเหล่านี้ เขาจึงใช้คำว่าที่มันเป็นข้าศึกแก่กุศล บทเพลง ดนตรี ฟ้อนรำ ประดับประดา ตกแต่ง อะไรก็ตามที่รวมความแล้ว มันเป็นข้าศึกแก่กุศล แล้วก็ต้องเว้นไปเสีย ทีนี้อันสุดท้าย อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา นี่ก็หมายถึงที่นั่งที่นอน ที่สบายเกิน เกินจำเป็น คือทำให้จิตใจมันต่ำลงไปในทางแสวงหาความสุขจากการนอน หรือว่าให้โอ้อวด ให้ยกหูชูหาง ให้อะไรต่างๆ เสนาสนะ เครื่องใช้ไม้สอย ทุกอย่างที่เป็นไปในลักษณะอย่างนั้นก็เว้นเสีย ดังนั้นฆราวาสก็ถือได้ แม้จะมีปัญหาอยู่ในข้อ เกี่ยวกับ ข้อที่ ๓ เรื่องกาเมหรือพรหมจรรย์นี้ เรื่องกาเมนั้นก็เว้นเด็ดขาด เรื่องพรหมจรรย์นั้นก็จะต้องเว้นได้ตามโอกาสที่ควรเว้น เพราะฉะนั้นจึงถือว่า ยืนยันได้ว่ามันก็ถือศีล ๘ ได้ เป็นครั้งเป็นคราว และควรอย่างยิ่ง เพื่อจะบรรเทาสิ่งที่มันโอเวอร์ นี้ก็รวมความว่าเราจะต้องมีศีลโดยความมุ่งหมายอย่างเดียวกันกับศีลของภิกษุหรือบรรพชิต ศีลข้ออื่นๆ มากมายหลายสิบ หลายร้อยข้อ มันแตกแขนงออกไปจากศีลที่เป็นประธานเหล่านี้ เพื่อให้มีรายละเอียดมันรัดกุมเข้ามา เช่นว่า ยกตัวอย่างเช่นว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ประทุษร้ายชีวิตและร่างกายของสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตสำหรับฆราวาสก็หมายถึงสัตว์ มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน แต่สำหรับพระมันหมายถึงต้นไม้หรืออะไรด้วยที่มีชีวิต ไม่ประทุษร่างกายชีวิตสิ่งเหล่านั้นด้วย นี่ความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน แต่ว่ามันขยายขอบเขตกว้างขวางกว่ากันอย่างนี้ ทุกสิกขาบท ฉะนั้นเราก็มีหัวใจหรือความมุ่งหมายของศีลอยู่อย่างเดียวกับพระนั่นแหละ แต่ขอบเขตที่ถือมันแคบเข้ามา จำกัดน้อยลง ฉะนั้นเป็นอันว่าทุกคนจะต้องมีศีล อย่างโดยใจความแล้วก็เหมือนกันหมด ส่วนเรื่องสรณาคมน์นั้นไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องธรรมะนั้นก็ตามเดิม คือทุกคนจะต้องพยายามทำลายความยึดมั่นถือมั่น เพื่อไม่ให้ตนเป็นทุกข์ และเพื่อไม่เบียดเบียนผู้อื่น มันเป็นบทรวบยอดของทั้งศีลทั้งธรรมะหมดเลย ไอ้เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ เมื่อมีความไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไม่มีทางจะขาดศีล แล้วก็มีธรรมะโดยสมบูรณ์ ฉะนั้นเราประพฤติโดยหลักที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น เพื่อไม่เบียดเบียนตนเองให้เป็นทุกข์ เพื่อไม่เบียบเบียนผู้อื่นให้เป็นทุกข์ นี่ก็เรื่อง เป็นเรื่องที่ถูกต้องไปหมด
ทีนี้อยากจะพูดเล็กๆ น้อยๆ ว่าเกี่ยวกับการลาสิกขาบทออกไปในคราวนี้ เพื่อความสะดวก ความง่าย ก็จะให้ถือว่าลบกระดานดำ ลบกระดานชนวนแต่หนหลังกันหมด ตั้งต้นนับหนึ่งกันใหม่ หรือเขียนใหม่ นับหนึ่งไปใหม่ ด้วยความรับผิดชอบที่ต่างกัน เมื่อก่อนนี้เราไม่เคยได้บวช เราทำอะไรผิดๆพลาดๆ ได้ ไม่มีใครว่า หรือมันไม่ร้ายแรง แต่ถ้าเราบวชแล้ว ยังทำผิดอีก มันร้ายแรง และมันควรจะถูกด่า ถูกว่า และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อเรายังไม่รู้ มันก็ทำไปเพราะความไม่รู้ มันก็เป็นเหตุให้เสียใจทีหลัง เดี๋ยวนี้เราก็เลิกกัน ลบๆๆ ตัดทิ้งไปหมด ไม่ต้องเอามาเสียใจทีหลัง แต่ต่อไปนี้จะต้องตั้งต้นนับหนึ่งไปใหม่ เพื่อให้มีแต่บวกเรื่อยไป อย่าให้มีลบ โดยถูกวิธีตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนในหัวใจของพุทธศาสนาในระหว่างที่อยู่เป็นพระนี้ นี่ก็ลาสิกขาออกไป แล้วก็ยอมให้ตั้งต้นใหม่ นับหนึ่งไปใหม่ และระวังอย่าให้มันมีลบ ให้มันมีบวกอยู่เรื่อยๆ คือมีแต่ในทางถูก อย่าให้มีในทางที่ผิดพลาดด้วยความประมาท นี่ถ้าเรามีความตั้งใจอย่างนี้ มันป้องกันความประมาท มิฉะนั้นมันจะลืมตัว แล้วมันกลับไปประมาท แล้วมันก็จะมีแต่ลบเรื่อย หรือลบมากกว่าบวกไปตามเดิม มันก็เสียที อีกอย่างหนึ่งจำคำว่าบัณฑิตไว้ด้วย เป็นโบราณ เป็นธรรมนียมโบราณ ผู้ที่บวชแล้วสึกออกไปนี่เขาเรียกว่าบัณฑิต เขาถือว่าบวชนี่มันคือการเรียนๆๆๆๆ พอเรียนจบแล้ว กลับออกไปเป็นฆราวาสก็เรียกว่าบัณฑิต มาแต่เดิม ในประเทศอินเดียก็ถืออย่างนี้ คนไทยเรารับวัฒนธรรมอินเดียก็ถืออย่างนี้ เมื่อก่อนนี้ไม่มีโรงเรียน ไม่มีมหาวิทยาลัยอะไรที่ไหน คนเข้ามาบวชในศาสนา จนเป็นที่พอใจของอุปัชฌาย์อาจารย์ และของตัวเองทั้งสองฝ่าย แล้วลาสิกขาออกไปก็เรียกว่าบัณฑิต ทีนี้ความหมายของคำๆ นี้ดีมาก แปลว่าผู้มีปัณฑา หรือปัญญา เครื่องเอาตัวรอดได้ บัณฑิตแปลว่าผู้มีปัณฑา ปัณฑาแปลว่าปํญญา เครื่องเอาตัวรอดได้ นี้คนที่ได้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริงตามสมควรแล้ว มันมีสิ่งนี้ คือมีปัญญาที่จะเอาตัวรอดได้ สึกอออกไปมันก็เอาตัวรอดได้ เรียกว่าบัณฑิต ก็ถูกแล้ว แต่นี้มันละเลย มันหละหลวม มันละเลยจนไม่รู้อะไรเป็นอะไร บวชแล้วมันก็ไม่รู้อะไร สึกออกไปมันก็ไม่รู้อะไร คำนี้เปลี่ยนมาเป็นคำว่าทิด เป็นคำล้อเลียน มันก็สมกันอีกเหมือนกัน บัณฑิตภาษาไทยออกเสียงเป็นบันทิด นานๆ เข้าเหลือแต่ทิด แทนที่จะเป็น ฑ นางมณโท สระอิ ต.เต่า สะกดนี่ มันมากลายเป็น ท.ทหาร สระอิ ด.เด็ก สะกดนี่ มันก็สม บวชแล้วสึกไปเป็นทิด นี่มันก็ได้เหลวไหลหมด ล้มละลายหมด ถ้าบวชแล้วสึกไปเป็นบัณฑิตก็ได้ผลตามความมุ่งหมายเดิม ฉะนั้นอย่างน้อยเราก็ให้มีความรู้สึกอยู่ใจว่าเราเป็นบัณฑิต รับปริญญา บัณฑิต ชีวิตวิทยา คือการครองชีวิตชนิดที่เอาตัวรอดได้ เราเป็นบัณฑิตในเรื่องนี้ สำเร็จได้เพราะบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง มาเป็นเวลาระยะหนึ่ง เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ได้ และมีสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นของประจำอยู่ที่เนื้อที่ตัว จึงจะเรียกว่าเป็นบัณฑิตชนิดนี้ ไม่ใช่เรียน ไม่ใช่เรื่องเรียนด้วยปากหรือเรียนหนังสือ เรียนหนังสือหรืออ่านหนังสือธรรมะมากๆ ก็ไม่เป็นบัณฑิตได้ เว้นไว้แต่จะมีปัณฑาจริงๆ จึงจะมีความเป็นบัณฑิตได้ ก็อย่าลืมเสียว่าเราเป็นบัณฑิต
ทีนี้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปอีกก็คือว่า อย่าทำตนให้มันเหินห่างจากระเบียบวินัย ขนบธรรมเนียม ประเพณีของศาสนา อย่าไปดูถูกเข้า พอไปดูถูกเข้ามันจะค่อยๆ เลือนไปๆๆ ไม่รู้สึกตัว แล้วก็จมหายไปเลย เราจงพยายามนึกถึงอยู่เสมอ แม้แต่เรื่องบทสวด บทท่องอะไรต่างๆ นี่ ก็ควรนึกถึงอยู่เสมอ ให้ทำได้อยู่เสมอ มันเป็นเครื่องซ้อมความจำที่ดี อายุมากๆ จะไม่ฟั่นเฟือน อายุ ๙๐ ปี ๑๐๐ ปี ก็จะไม่ฟั่นฟือน ถ้าเรามีอะไรที่จะเป็นเครื่องสาธยายท่องบ่นเป็นประจำอยู่เสมอนี่ มันช่วย Exercise ระบบความจำ ระบบอะไรต่างๆ ดี อายุมากก็ไม่ฟั่นเฟือน ไม่หลงลืม มันก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าไอ้บทสวดทางศาสนา ไอ้บทวิชาความรู้อาชีพต่างๆ นี่มันไม่เอามาท่องได้ มันไม่สะดวก มันไม่เหมาะสม แต่บทบาลีที่เกี่ยวกับศาสนานี้หมาะสม ถึงแม้ว่าจะท่องไปโดยที่ไม่รู้ความหมายอะไรนัก หรือมันไม่มีความจำเป็นแล้วที่จะใช้ มันก็ยังมีประโยชน์ที่ช่วยให้เรามีความแจ่มใสในทางระบบความจำ แล้วก็ไม่ฟั่นเฟือนเรื่อยไป อย่างบทสวดมนต์ บทปาฏิโมกข์ นี่ก็ต้องสวด พระที่จะอยู่จะต้องสวดอยู่เสมอ แม้จะไม่ไปสวดปาฏิโมกข์ มันก็ต้องสวดซ้อมความจำเหมือนร้องเพลงเล่นอยู่เสมอ ความจำเป็นระเบียบ ป้องกันไอ้ความขี้ลืม ความเลือนๆ แล้วก็ความเลือนเลอะเทอะเมื่ออายุมาก ดังนั้นสิ่งใดที่ควรจะจำเอาไว้ได้ควรจะจำเอาไว้จน อุกาสะ วันทามิ ภันเต นี้ก็ว่าเล่นๆ ระลึกถึงความหมาย ใช้ประโยชน์ได้ในครอบครัว ในทางความหมาย คือปฏิบัติตนเป็นผู้มีที่เคารพ มีการอดโทษ มีการแลกเปลี่ยนส่วนบุญนี้มันก็ดี และบาลีมันก็จำได้ แล้วมันก็ช่วยให้เรามีระบบความจำที่ดี เรื่องอาราธนาศีล เรื่องอะไรต่างๆ ยังคงจำได้อยู่เสมอจนตลอดชีวิต นี่เป็นเครื่องราง คุ้มครองความสติฟั่นเฟือน เลอะเลือนในภายแก่ ทีนี้ถ้าเราทำได้ เป็นที่เคารพนับถือของผู้อื่น บางเวลาเราจะต้องสอนลูกหลานให้สมาทานศีล ให้รับศีลเมื่อจะบวช จะเรียนนี้ มันดีกว่าคนอื่นสอน เพราะว่าไอ้ลูกหลานมันยังพอใจกว่าที่คนอื่นจะมาสอน ถ้าพ่อสอนเอง แล้วคนอื่นเห็นเข้าก็พลอยเลื่อมใส ดังนั้นไม่มีทางที่จะเสียหรือขาดทุนอะไร แต่คนโดยมากคิดว่า โอ้ย, ไม่มีประโยชน์แล้ว เราสึกแล้ว ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่กี่วันลืมหมด นี่ไม่ดี ฉะนั้นวิธีสวด ทำพิธีสวดร้องท่องบ่น กระทั่งกริยาอาการอะไรก็ตามที่ว่าอุบาสกควรจะทำได้ เราก็ควรจะทำได้ เพราะเราก็เป็นอุบาสกและก็บวชแล้วเรียนแล้ว ช่วยเหลือเพื่อนหนุ่มๆ ที่จะเข้ามาทีหลังให้ทำได้ เป็นไปได้ มันดีกว่าที่จะไปให้ชาวบ้านอุบาสก ชาวบ้านเงอะๆ งะๆ มาช่วยสอน นี่มันจะช่วยกันกู้ๆ วงการของนักศึกษาให้ดีขึ้น คือนักศึกษาอย่างพวกเราสมัยใหม่นี้ ทำอะไรได้ๆ ดี ได้หมดทุกอย่างเหมือนกัน ไม่ต้องให้อุบาสกชาวนาเงอะๆ งะๆ มาช่วยสอน ฉะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันรื้อฟื้น หรือกู้ขึ้นมา มีโอกาส มีเวลาก็ไปตามวัดตามวา ไปสมทบกันเขา อาราธนาศีลให้เขาดู อาราธนาธรรมให้เขาดูนี้ ยังมีผลดี ทั้งทางจิตใจของเราเองและทางสังคมด้วย เรื่องมันก็มีอยู่เท่านี้ที่ว่า กลัวว่าจะลืมเสีย กลัวว่าจะประมาทเสีย ส่วนเรื่องหลักธรรมะนั้นจะไม่พูดในเวลาอย่างนี้ พูดกันมากแล้ว ในหนังสือหนังหาก็มี ไปทบทวนเอาใหม่ ไปนั่นเอาใหม่ จะพูดกันแต่เรื่องจริยะ คือเรื่องจะต้องประพฤติปฏิบัติ ด้วยความไม่ประมาทอย่างที่ว่านี้ จะได้ๆรับประโยชน์ ได้รับอานิสงส์ของวิชาความรู้นั้นเต็มที่
ทีนี้ก็อยากจะพูดอีกนิดหนึ่งถึงเรื่องพิธีเกี่ยวกับลาสิกขา เขามักจะนิมนต์พระมา เอาน้ำมนต์มา แล้วก็พรมน้ำมนต์ให้ แล้วก็สวดชยันโต สวดอะไรที่เขาเรียกกันว่าให้พร ให้อะไรนี่ เรื่องนี้ไม่เคยมีในครั้งพุทธกาล หรือไม่เคยมีในสมัยที่ว่าระบบศาสนามันยังดีๆ อยู่ มันเพิ่งมีในสมัยที่ระบบของศาสนามันเฟะ มันเลอะ มันอะไรไป เปลี่ยนไปเป็นทางไสยศาตร์ แล้วคนเรามันก็โง่แล้วก็ขี้ขลาด แล้วก็รับเอาระบบนี้มายึดมั่น นี่คือการบวชตามประเพณี การสึกตามประเพณี การอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นอย่างนี้ เรื่องรดน้ำมนต์ด้วยน้ำจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของพวกพราหมณ์ พวกฝ่ายอื่น ถ้าเป็นเรื่องของฝ่ายพุทธมันก็ต้องเอารดๆ น้ำมนต์ด้วยจิตใจ คือทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความเยือกเย็นขึ้นมาในใจ นี่ก็เรียกว่าเป็นเรื่องรดน้ำมนต์ทางวิญญาณ รดน้ำมนต์ทางจิตใจ และในที่สุดความดีที่ตัวมีอยู่นี่ มันเป็นน้ำมนต์ และการชี้ช่องทางให้ประพฤติความดีให้ได้ ให้นึกได้ ให้ระลึกได้ ให้ไม่ประมาท นี้มันเป็นน้ำมนต์ ก็เป็นน้ำมนต์ตามแบบของพุทธบริษัท ไม่เกี่ยวกับพวกไสยศาสตร์เลย ฉะนั้นขอให้ถือว่า คำแนะนำตักเตือนตลอดเวลาที่พูดกันมาเดี๋ยวนี้ เป็นน้ำมนต์ที่รดจิตใจ ควรจะได้การรดน้ำมนต์อย่างนี้ แทนการรดน้ำมนต์ด้วยน้ำด้วยวัตถุจริงๆ นั้น รู้สึกว่ามันเฟ้อแล้ว หรือถ้าอยากรดก็ไปรดที่อื่นก็ได้ ก็เหมือนกัน ที่จริงมันก็เป็นเรื่องที่เฟ้อ ที่เกินๆๆ ขอบเขตไปแล้ว ถ้ามองดูด้วยสายตาของพุทธบริษัท มันก็เป็นเรื่องเด็กอมมือ เป็นเรื่อง Mischievous อะไรทำนองนั้น มันเป็นเรื่องรู้สึกละอายใจ ทีนี้ถ้าว่ามันรดน้ำมนต์ของพระพุทธเจ้าได้จริงๆ น้ำมนต์ของพระพุทธเจ้านะใช้คำว่าอย่างนี้นะ ไม่ใช่น้ำมนต์ของไสยศาสตร์ หรือของศาสนาไสยศาสตร์ ถือเอาธรรมะเป็นน้ำมนต์ เอาศีลธรรมเป็นน้ำมนต์ รดจิตใจได้จริง แล้วก็เป็นเรื่องรดด้วยตัวเองเสียมากกว่า ผู้อื่นได้แต่ชี้ทาง พระพุทธเจ้าท่านว่าท่านได้แต่ชี้ทาง มันต้องปฏิบัติเอง ในการชี้ทางก็เป็นการรดน้ำมนต์ในอันดับหนึ่ง แล้วปฏิบัติเองจึงจะเป็นการรดน้ำมนต์ที่สมบูรณ์ ฉะนั้น เลิกเป็นคนขลาดกันเสียที เลิกเป็นคนงมงายเสียที ตั้งอยู่ในอำนาจแห่งความจริงหรือเหตุผลที่มันๆ จริง อย่าเป็นเหตุผลปลอม นี่คือการให้ศีลให้พรหรือรดน้ำมนต์เมื่อลาสิกขา ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีการรดน้ำมนต์ มันมีอย่างยิ่ง แต่มันเป็นการรดน้ำมนต์ทางวิญญาณ มองไม่เห็นกริยาอาการ เป็นเรื่องของจิตใจ
ทีนี้อันสุดท้ายที่เป็นอนุสรณ์ของการบวช ก็อยากจะแนะว่า ผ้าไตร หรือ บาตร นี่ เอาไปรักษาไว้ให้ดี จะเป็นเครื่องขู่ๆ ตัวเอง เตือนสติตัวเอง และขู่ตัวเองว่าอย่าเหลวไหลนะ นี่อย่างหนึ่ง แล้วมันยังจะเป็นที่ระลึกจากการบวชนี้ดีกว่ารูปถ่ายเสียอีก และอีกอย่างหนึ่งมันยังจะเป็นอิทธิพลเหนือลูกหลานตาดำๆ ที่มันจะหมุนมาในทางนี้ มาในทางอยากบวช อยากเรียนเหมือนเราบ้าง ความคิดอันนี้ ไปเกิดขึ้นเมื่อไปเห็นจีวรและบาตรจัดไว้สวยในตู้พระ ห้องกระจก ที่วังของกรมพระยาดำรง ท่านหญิงพูนพาไปเที่ยวดูทั่ว ไปเห็นมันมีบาตร จีวร บาตรมีจีวรซ้อนอยู่บนบาตร อยู่ในห้อง ก็เลยถามว่ามันอะไรกัน ก็ท่านว่านี่ก็คือของเสด็จพ่อเมื่อบวชครั้งหนุ่มๆ นั้น เก็บไว้เป็นที่ระลึกให้ลูกหลานไหว้ คำว่าให้ลูกหลานไหว้ มีความหมายมาก มันไม่ใช่เพียงแต่ไหว้เฉยๆ มันเป็น infer อันหนึ่ง ครอบงำจิตใจเด็กๆ ให้มั่นอยู่ในสิ่งนี้ ฉะนั้นมันคงจะดีมากถ้าให้จีวรเหล่านี้มันเป็นอนุสรณ์ หรือเป็นไอ้สิ่งที่มีอิทธิพลอย่างนี้ ไว้ขู่ตัวเอง ไว้เป็นอิทธิพลแก่เด็กๆ ดีกว่าเอาไปขาย หรือเอาไปให้ใครทิ้งๆ ขว้างๆ พวกบวชงมงายมันก็ให้เพื่อนอย่างมาก บางทีก็ทิ้งให้ขาดกระจัดกระจาย ไม่มีการให้เพื่อนด้วยซ้ำไป เรื่องอนุสรณ์ วัตถุอนุสรณ์สำหรับการบวช ไม่มีอะไรดีเท่าบริขารเหล่านี้ ดีกว่ารูปถ่าย ในทางเป็นอนุสรณ์ ในทางที่จะเป็นเหมือนกับอาจารย์ติดตามไปอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง นี่ก็ถือว่า อันนี้ได้เหมือนกัน มันขู่เราว่าอย่าเหลวไหลนะ ไปบวชแล้วนะ ถ้ามีห้องส่วนตัว มีห้องพระ มีหิ้งพระ มีตู้สมุด ห้องสมุด ก็เอาไว้ที่นั่นแหละ แล้วก็เป็นประโยชน์เป็นอานิสงส์แก่เด็กๆ มันคงจะถามว่านั่นอะไร ทำไม เพื่ออะไร ก็จะมีโอกาสพูดกัน
นี่เรื่องสุดท้าย ธรรมเนียมสึก ขอให้รับใช้ๆ พระสงฆ์เป็นอันดับสุดท้าย รับใช้อย่างทาส หรือ บวชเข้ามานี้เพื่อสละตัวกู ของกู สละไอ้ความยกหูชูหางอะไรหมด ฉะนั้นวันสึกก็ยังมีธรรมเนียมว่าอยู่ ๓ วัน ๗ วัน ตามแต่จะอยู่ได้ หรือกี่วันตามใจ แต่ให้มีการรับใช้ครั้งหนึ่ง และให้ทำงานที่ต่ำมาก เช่นไปล้างส้วม เช่นไปทำอะไรทำนองนั้น พวกสึกใหม่จะถูกใช้ให้ทำอย่างนั้น จะย้ำหรือประทับลงไปครั้งหนึ่งว่า จงหมดความยกหูชูหาง หมดตัวกู หมด แล้วก็รับใช้พระสงฆ์อย่างทาส ตลอดเวลาที่ยัง ที่เพิ่งสึกไปใหม่ๆ นี่ก็เป็นธรรมเนียมแต่โบราณ มีควาหมายดี มีผลดี เอาแล้วเป็นอันว่าเรื่องสึกของเรา ลาสิกขานี้ ไม่ใช่ลาสึก ไม่ใช่สึกหรอ คำว่าสึกมาจากศึกษา ศึกษามากจากสิกขา สิกขาก็คือลาสิกขา ได้เป็นไปอย่างถูกต้องหรือดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว ฉะนั้นขอให้ทุกคนมีความแน่ใจ มีความพอใจ สบายใจ ไม่ต้องเศร้า ไม่ต้องระแวง ไม่ต้องกระวนกระวาย ไม่ต้องอะไร มีความเข้าใจแจ่มแจ้งอยู่ในหลักคำสอนเหล่านี้ แล้วมีความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา ในธรรมวินัยของพระศาสดา ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ