แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ข้อความที่บันทึกต่อไปนี้เป็นคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส พูดที่หน้าตึกโรงมหรสพทางวิญญาณ เมื่อวันพระที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ พูดอบรมพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาในวัด ขณะที่พูดไม่ได้บันทึกเทปไว้ แต่อรุณวตี(นาทีที่00.34 )ได้เขียนจดเอาไว้ เกรงว่าจะสูญจึงนำมาอัดเทปรักษาไว้เป็นหลักฐานตามสำนวนของท่าน ดังต่อไปนี้
ขณะนี้ที่วัดนี้ ธรรมชาติดี อากาศดี ความคิดก็คิดได้ดี เมื่อสถานที่ยังเงียบอยู่ก็ควรจะรีบใช้เสีย ในอนาคตที่เดิมนี้จะไม่เงียบ จึงได้เตรียมย้ายไปอยู่กันข้างในแล้ว ถ้าทางหลวงแผ่นดินเขาทำผ่านมาถึงหน้าวัด มันจะไม่วุ่นเพียงรถผ่าน แต่จะทำให้มีแขกมากขึ้นด้วย จึงเตรียมหาที่หลบ
เรื่องที่ต้องพูดกันอยู่เสมอไม่จบไม่พอ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับจิตว่าง จะต้องพูดกันอีกมาก เดิมเมื่อพูดเรื่องนี้คิดไว้ว่าอีกสักสิบปีหรือสิบห้าปีคงจะรู้กันมาก แต่เวลานี้ก็มีผู้สนใจกันบ้างแล้ว แม้กระนั้นก็ยังมีคนเข้าใจน้อยหรือไม่เข้าใจก็มาก แม้ในหมู่พวกเรากันเองนี้ก็ยังต้องพูดกันอยู่เสมอ เพราะแม้ว่าพวกที่ว่าเข้าใจแล้ว ก็ยังมีส่วนที่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ถูกต้อง เพียงแต่ว่าความคิดที่เรียกว่าจิตว่างนั้น คิดชนิดไหนว่าง คิดชนิดไหนจิตวุ่น ก็ยังเข้าใจกันไม่ค่อยจะถูก มักถือว่าเข้าใจตามทิฐิของตนก็มี พวกที่ไม่เข้าใจเลย คิดไปว่าจิตว่างนั้นนะ ก็คือไม่คิดไม่นึกอะไรเช่นนี้นะ หาถูกไม่ ที่ถูกนั้นเราหมายเพียงไม่คิดไม่นึกไปในทางมีตัวตนของตน แต่คิดไปในทางสติปัญญาได้หมด คิดอะไรก็ได้ ไม่ใช่ไม่คิด หรือคิดอะไรไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น
พวกอภิธรรมหรืออื่น ๆ เขาว่าจิตว่างไม่มีอารมณ์เป็นไปได้ เราก็ไม่ได้ว่าว่างอย่างนั้น เราก็ไม่ได้ว่าว่างจากอารมณ์ จิตก็ยังมีอารมณ์อยู่ แต่หมายถึงขณะนั้นไม่โง่ ไม่เผลอ ไม่หลง แต่ก็มีอารมณ์อยู่ตามปกติ แต่ไม่ปรุงเป็นตัวกูของกู ความคิดนึกก็มีอยู่ตามปกติ แต่ไม่มีความคิดไปโดยมีตัวฉัน ของฉัน คือเป็นโลภ โกรธ หลง สงสัย หม่นหมองใจ รำคาญ ตัวอย่างเช่น ตื่นนอนขึ้นมา งัวเงียรำคาญ ไม่ผ่องใส ไม่แจ่มใส อย่างนี้จิตไม่ว่างแล้ว เพราะว่าต้องมีอะไรเป็นตัวตนแฝงอยู่ภายใน ไม่ต้องไปทะเลาะกับใคร แต่มีอะไรรำคาญอยู่ นั่นคือมีเป็นตัวเป็นตนที่ไม่ได้อะไรตามต้องการขึ้นแล้ว อยู่คนเดียวรำคาญ ก็มีตัวมีตนเต็มที่ คือความอยากต่าง ๆ สุมอยู่ ตนก็ต่อสู้ ไม่ยอม นี่เป็นตัวตนขึ้นมาแล้ว
เพราะฉะนั้นเมื่ออยากรู้อะไร ก็ฝึกใจให้เป็นเพียงอยากรู้ ไม่ต้องเป็นอยากอย่างรุนแรงถึงขนาดอัดอั้นตันใจขัดอกขัดใจ
การฝึกให้มีจิตว่างนั้น ถ้าไม่รู้ว่าอย่างไรจิตมีตัวตน อย่างไรไม่มีตัวตนแล้ว จะปฏิบัติไม่ถูก จิตว่างต้องว่างจากความรู้สึกเป็นตัวตนของตน ถ้าความหมายว่าตัวตนมีก็เท่ากับเกิดตัวตนแล้ว จะมีทุกข์ ถ้าเป็นอย่างที่ตั้งใจฟัง ฟังพูดให้เข้าใจอย่างนี้ อยากรู้เพื่อเกิดความเข้าใจ นี่ฉลาดขึ้น นี่ตัวตนไม่เกิด ถ้าเกิดรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมา เช่นว่า เราแย่ เราล้าหลัง เราไม่มีอุปนิสัย เราไม่รู้ เราไม่เข้าใจ นี่ตนเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเป็นทุกข์แน่ ไม่มีใครช่วยได้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้
คำว่าเกิดก็หมายถึงเกิดอย่างนี้ ไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ เกิดอย่างนี้เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที ธรรมะอย่างนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ๆ ถ้าความรู้สึกขุ่น หนัก ร้อน ก็อย่าเอาเสีย เพราะพึงรู้เถิดว่า นั่นคือตัวตนเกิดขึ้นก่อน เผลอนิดเดียวตัวตนมันเกิด พอตัวตนเกิดก็มีปัญหาต่าง ๆ ชอบ ไม่ชอบ รำคาญอะไรต่าง ๆ วุ่นไป อะไรเกิดก็คือตัวตนนั่นแหละเกิด ซึ่งนั่นก็คือความรู้สึกที่เจืออยู่ด้วยความรู้สึกที่มีตัวตน ส่วนความคิดที่ไม่เจืออยู่ด้วยความรู้สึกที่มีตัวตนนั้น ต้องคอยสกัดจับตัวความรู้สึกนั้นให้มันดับ ฝึกให้รู้ตัวทันที มันจะดับทันที ถ้าไม่รู้มันก็รุนแรงขึ้น ๆ โลภจัด โกรธจัด โง่ สงสัยจัด ถ้าศึกษามาดี หมั่นอบรมตน ก็จะรู้สึกว่าพอเกิดแล้วมันจะหยุดทันที จงพยายามอย่าให้จิตขุ่นขึ้นมาได้ ให้ว่างใสแจ๋วอยู่เรื่อย พอขุ่นก็หยุด ทำให้จิตใสเสียก่อน แล้วจึงพูด จึงทำ จึงคิดนึก ทำอะไร ๆ ต่อไป ลักษณะจิตเช่นนี้ควรจะทำได้ทุกคน แม้ชาวบ้านทั้งหลาย ขอให้มีจิตอยู่ว่าง ๆ ทำอะไรไปตามธรรมชาติ เล่าเรียนทำอะไรไปตามหน้าที่ จะไม่ต้องเป็นทุกข์
เด็ก ๆ วัยเล่าเรียนก็เรียนด้วยจิตว่าง โปร่ง แจ่มใส คนหนุ่มสาวก็ควรทำกิจธุระด้วยความไม่วุ่น พ่อบ้าน แม่เรือนภาระหนัก ต้องระวัง มิฉะนั้นจะมีอาการอย่างกลิ้งครกขึ้นภูเขา คนเฒ่า คนแก่ ควรจะรู้จักเข็ดลาภที่เที่ยวแบกอะไรไว้ เหน็ดเหนื่อย ต้องคิดว่าอยู่อย่างตายแล้ว ตายเสียก่อนตาย นี่จะทำการงานได้อย่างมีประโยชน์ จิตวุ่นทำการงานก็เป็นทุกข์ จิตว่างการงานจะสนุกและเป็นสุข ถ้าจิตมีตัวตน แม้ได้ลาภได้ทำงานที่ตนชอบ หรือมีคนเอาเงินมาให้มันก็ยังหนัก ตัวอย่างเช่น บางคนถูกลอตเตอรี่พอรู้ว่าถูกก็เป็นลม นี่ก็เพราะจิตวุ่น การที่เรียกว่า วุ่น ว่างนี้ เพราะไม่มีคำจะเรียก
เมื่อคราวที่ไปพูดที่คุรุสภา คุณคึกฤทธิ์นำคำว่างไปพูดว่าจิตสว่าง เอาไปเปลี่ยนเสียใหม่ ทำให้ไม่ตรงจุดประสงค์และไม่รัดกุม ที่จริงจะพูดว่าว่าง คือไม่ยึดถือมั่นก็ได้ แต่มันยาว ที่ใช้คำว่าง ก็เพราะเอาอย่างคำจากบาลีที่ว่า ให้ดูให้ดีว่าโลกนี้ว่าง โลกนี้ก็หมายถึงสิ่งในโลก คนก็ดี สิ่งของก็ดี อะไร ๆ ก็ดี ทุกอย่างว่าง ว่างไม่ใช่ไม่มี มันมีอยู่ทุกอย่าง แต่มันว่างจากแก่นสารที่ควรจะยึดถือว่าตัวตน ต้องหัดดูความจริงข้อนี้ เช่น ร่างกายก็ไม่มีแก่นสาร เป็นอนิจจัง เพราะมันเปลี่ยนแปลงเรื่อย เป็นทุกข์ขังก็เพราะมันดูแล้วน่าเกลียดน่าสังเวช เมื่อทุกสิ่งมันว่าง ก็ไม่น่ายึดถือ เรื่องเกียรติยศก็เป็นเรื่องสมมติ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ให้ดูโลกโดยความเป็นของว่าง ทุกอย่างเป็นของชั่วคราว ร่างกาย จิตใจทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ไหลเรื่อยอยู่ตลอดเวลา มันไม่มีแก่นสารอะไรเลย เมื่อดูโลกให้เห็นเป็นของว่างแล้ว จิตเห็นความจริงข้อนี้ก็จะไม่ยึดถืออะไร ก็ปล่อยว่างจากความยึดถือ จะมีผลคือ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดไม่ได้ เพราะว่างจากตัวตนของตน ปล่อยวางหมด
เพราะฉะนั้นการกิน การอยู่ การทำงาน จึงให้มีสติ อย่ามีตัวตน ให้เห็นว่างอยู่เสมอ บางคนเขาไม่ยอมเชื่อ แม้ในขั้นแรก เช่น เขาว่าจิตว่างแล้วทำอะไรไม่ได้ ไปเข้าใจเสียอย่างนั้น ไม่ได้สังเกตดูให้ดี ระหว่างความรู้สึกมีตัวตนกับไม่มีตัวตน พอมีอะไรทำให้ชอบ ไม่ชอบ รัก เกลียด หลงใหล นี่ตัวตนเกิดขึ้นแล้ว ในสติปัฎฐานสูตรจึงพูดว่า นำออกเสียซึ่งอภิชชาและโทมนัส ตัวอย่างเช่น เมื่อจะเลี้ยงเด็ก เลี้ยงคน ก็อย่าไปโกรธ อย่าไปหลงรัก ต้องระวังให้ดี เพื่อจะไม่เกิดเป็นตัวกูของกู ต้องระวังแม้สุขเวทนา ส่วนที่ถูกใจก็ดี ที่ไม่ถูกใจก็ดี มันเล่นงานเราเหมือนกัน จึงต้องระวัง ทุกขเวทนาก็ต้องระวังให้มาก ส่วนสุขเวทนาก็ต้องระวัง ต้องมองดูให้เห็นเป็นของน่าหัวเราะ ทั้งสุขทั้งทุกขเวทนา
ถ้าจิตทรงตัวได้ ก็ว่างเป็นอิสระ จิตวุ่นจะเป็นทาส ไม่มีอิสระ อะไรเป็นอิสระ มีอิสรภาพมากที่สุดก็ตอบว่า ความว่าง มีอะไรเกิดขึ้น เช่น รัก โกรธ โง่ ก็หมดอิสระ เพราะฉะนั้นจิตสะอาด สว่าง สงบ จะไม่มีทุกข์ ว่าง ถ้าไม่สะอาดก็วุ่น มีทุกข์
จิตว่างที่พูดนี้ ได้พูดตามแบบพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่างไม่คิดอะไร แข็งเป็นท่อนไม้ ว่างตามแบบของพระพุทธเจ้านั้น คือว่างจากอุปาทาน ว่างอย่างนี้ต่างจากว่างอย่างมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งเขาก็ว่า ว่างไม่มีอะไรเลย สูญเปล่าไปหมด นี่เรียกว่า นัตถิกทิฏฐิ เขาก็มีเรื่องว่าง ซึ่งเขาหมายความว่า ไม่มีอะไรเลย
พูดเรื่องว่างนี้เลยเป็นเหตุให้ต้องอธิบายเรื่องภาษาคน ภาษาธรรม ภาษาธรรมะ เพราะความหมายแตกต่างกัน ว่าง ภาษาทางวัตถุก็คือไม่มีอะไร เช่น โอ่ง ไห มันว่าง นี่เป็นภาษาคนอย่างชาวบ้าน ว่างภาษาธรรมะเป็นนามธรรม หมายถึงไม่มีตัวตน จิตยังทำหน้าที่การงานใด ๆ ได้ ขอแต่อย่ามีฉัน อย่ามีตัวฉันเท่านั้น ความรู้สึกเป็นตัวฉันของฉัน บางทีมันก็แสดงไม่ชัด เช่น รำคาญ หงุดหงิดนั้น มีตัวกูเต็มที่ แต่ไม่เห็น เพราะไปถือเอาอารมณ์เข้า เป็นเรื่องคนในอดีตหรือเหตุการณ์ในอดีต เอามาเป็นแก่นสำหรับยึดมั่นถือมั่น ชอบอะไรไว้บ้าง ไม่ชอบอะไรไว้บ้าง มันจึงเกิดเก็บเอามารัก โกรธ เกลียด หม่นหมอง อึดอัด ถ้าไม่มีเรื่องอย่างนั้นจิตก็จะว่างเรื่อย เรื่องในอดีตแม้ในความฝัน ในความรู้สึกที่เป็นจิตใต้สำนึกก็จะวุ่น เมื่อตื่นนอนก็จะไม่สบายใจ เพราะว่าจิตมันเก็บอารมณ์ซับซ้อน เหมือนตื่นอยู่ ตื่นขึ้นจะเพลียหงุดหงิด ไม่สบาย จะประกอบด้วยตัวกูของกู ตัวตนของตนเต็มไปหมด ซึ่งจะเข้ามาสู่จิตโดยธรรมารมณ์ทางใจล้วน ไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เลยก็ได้ เพราะฉะนั้นปัญหาจึงมีมาก ตัวกูเกิดขณะหลับ เหมือนขณะมีความรู้สึกธรรมดาก็ได้
ถ้าเราไม่มีตัวตน หลับก็สบาย ตื่นก็สบาย เพราะฉะนั้นโรคภัยไข้เจ็บก็เกิดยาก โรคภัยไข้เจ็บย่อมเกิดจากเหตุที่เลือดลมเส้นประสาทของร่างกายไม่ปกติ คนพวกที่มีกิเลสมากนี้เอง ทำให้เป็นคนป่วยทางประสาทได้ง่ายมาก พวกฤาษีมุณี เจ็บไข้ยาก แม้อยู่ในป่าก็ไม่ป่วยเป็นโรค พอแก่เข้าก็ค่อยล่วงลับดับไปโดยหมดเหตุหมดปัจจัย เขาจะไม่เป็นโรคปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หรือเป็นบ้า หรือเป็นเบาหวาน เป็นวัณโรค หรือโรคอะไร ๆ ใหม่ ๆ ทางจิตอย่างที่เขาเป็นกัน ท่านพวกนั้นจะไม่เป็นโรคอย่างกล่าวมาแล้ว ก็เพราะว่ามีจิตใจเป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนคนที่เป็นโรคดังกล่าวนั้น เพราะมีจิตใจไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ความรู้สึกเป็นตัวตนของตนนี้ ฝืนธรรมชาติ จิตผิดธรรมชาติ จึงเกิดโรคต่าง ๆ เพราะผิดธรรมชาติมาก เพราะมันเนื่องกันหมด ถ้าผิดธรรมชาติแล้วร่างกายก็เสื่อมโทรม คนที่อยู่อย่างโบราณ เช่น คนป่า ไม่เป็นโรคอย่างคนสมัยใหม่ เช่น โรคประสาท เบาหวาน เขาจะเป็นแต่โรคที่ถูกเชื้อโรคเบียดเบียน เท่ากับมีวัตถุไปแทรกให้ป่วย โรคความดันสูง นี่ก็เพราะจิตวุ่นเป็นระยะยาวเกินไป ผิดธรรมชาติ วุ่น เป็นตัวกูของกู เป็นฟืนเป็นไฟ ฮึดฮัด ขัดใจ อภัยใครไม่ได้อยู่ตลอดเวลา
สรุปว่า จิตที่ผิดธรรมชาติ หรือไม่ผิดธรรมชาติ จะต้องรู้จัก ถ้าถูกธรรมชาติก็ว่าง ถ้าไม่ถูกก็วุ่น ขอให้ดูต้นไม้ ดูก้อนหิน จะเห็นได้มันอยู่ตามธรรมชาติ ก็ว่าง มันจะพูดว่าง ๆ ๆ ๆ ๆ ขอให้ดูภาพเรื่องจิตว่าง ภาพที่เขียนไว้ว่าได้ยินหญ้าพูดนั้นนะ มันจะพูดว่า ว่าง ๆ ๆ อยู่ตลอดเวลา ถ้าอยากทราบว่ามันพูดว่าอะไร จงพิจารณาดูให้ดี ต้นหญ้ามันล้อเราอยู่ นั่นมันรำฟ้อนให้เราดูอยู่อย่างสบาย มันว่าง แต่มนุษย์รำไม่ไหว เพราะตัวตนมันผูกมัดรัดรึงมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามศึกษากันเรื่อยไปในเรื่องจิตว่าง เมื่อเข้าใจแล้ว เข้าใจแต่เพียงหลักการยังไม่พอ ต้องระวัง ต้องปฏิบัติอย่าให้วุ่นได้ด้วยการมีสติ
เดี๋ยวนี้แม้เพียงอย่างไรวุ่น อย่างไรว่าง ก็ยังไม่รู้จักเสียแล้ว จะมีสติได้อย่างไร วุ่นยังมีทั้งหยาบ ทั้งละเอียด เร้นลับ จิตไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็สับสนกันหมด เอาวุ่น ว่างปนกันหมด ควรจะต้องศึกษาพิจารณาให้รู้จักว่า วุ่นเพราะโลภเป็นอย่างไร มีกี่อย่าง ๆ วุ่นเพราะโกรธเป็นอย่างไร มีกี่อย่าง ๆ วุ่นเพราะโง่เป็นอย่างไร มีกี่อย่าง ๆ
ถ้าเรียนอภิธรรมกันควรสอนให้รู้ว่ามันโลภ โกรธ หลง ได้อย่างไร กี่อย่าง ๆ จะช่วยให้ปฏิบัติได้มาก ถ้าเรียนอะไรกันมากไป ก็จะมากไป เรียนไม่ไหว อภิธรรมของเราควรค้นควรสังเกตว่าอย่างไหนทำให้เราร้อน เราไม่สบาย พยายามศึกษาดูให้รู้จัก จะได้ดับระงับได้ โกรธ รำคาญ ก็มาจากโทสะ หงุดหงิด ไม่ชอบไม่ได้อย่างใจ เหล่านี้เรียกว่าโกรธแล้ว โลภหรือโลภะ ก็คือชอบจะเอาเข้ามา รวบรัดเอาเข้ามา ส่วนโมหะนั้นกว้างมาก มันให้สงสัย ไม่รู้ว่าจะเอาหรือไม่เอาอย่างไร วนเวียนสับสน ไม่รู้จักของจริง จิตก็ลำบาก สงสัย ลังเล ทำให้ลำบาก เป็นทุกข์ เพราะเราหลง เขลา ในเรื่องที่ไม่ควร เช่น โลภมากไป โกรธมากไป ซึ่งความจริงเราไม่ควรจะต้องการอะไร แต่กลับไปเรียกร้องต้องการจะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ ต้องการหมายถึงต้องการด้วยความโลภ ความโกรธ ต้องการด้วยความโง่จะเอาอย่างใจ จะทำอะไรที่ถูก ควรต้องทำด้วยปัญญา ต้องการอะไร พิจารณาด้วยปัญญา อย่าสร้างความต้องการที่โง่ ๆ ต้องการด้วยวิชชาก็จะเป็นจิตวุ่น ขอโทษ ต้องการด้วยวิชชาก็เป็นจิตไม่วุ่น ถ้าต้องการด้วยอวิชชาก็จะเผาลน เพราะโง่ ความอยากจะเดือดพล่าน เผาลนเรื่อย ก็เป็นทุกข์เรื่อย ถ้าเป็นเรื่องวิชชามีปัญญาก่อน รู้ว่านี่ทำอะไร ทำอย่างไร ควรทำอย่างไร ๆ ก็เกิดปัญญาขึ้น ความวิตกกังวลก็จะหมดไป ก็จะดับไป ความอยากหรือความต้องการ ทำให้เกิดจากปัญญาอยู่เสมอ จะไม่มีตัวตน ไม่เรียกว่ากิเลส ไม่ใช่ตัณหา ไม่ใช่โง่ ถ้าอยากเพราะโลภ เพราะโง่ จะเป็นอวิชชา เป็นกิเลสหมด
การสอนผิดหลักดังกล่าวนี้ จะเป็นการทำลายพุทธศาสนา การตั้งต้นต่าง ๆ นั้น จึงต้องระวังว่า ด้วยปัญญา หรือด้วยอวิชชา เพราะฉะนั้นจึงต้องระวัง ใช้สติ อย่าพยายามศึกษา จงพยายามศึกษาให้รู้หลักความว่าง แล้วลงมือปฏิบัติ คือมีสติไม่เผลอทุกกรณี ถ้าปล่อยให้จิตวุ่น ปัญญาหายไปหมด ก็จะมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น อย่างนี้เรียกว่าไม่ลืมตา แต่หลับอยู่
หัวข้อหรือหลักมีเพียงเท่านี้ แต่เรื่องปฏิบัติมีมาก ถ้าเผลอจะตกร่องทันที ในกรณีที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบผัสสะ สติมาทัน ปัญญาก็มาทัน ไม่ตั้งต้นด้วยอวิชชา เรื่องนี้เรื่องเดียวเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ว่างนี้รวมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทั้งหมด นอกนั้นจะเป็นรัตนตรัยโดยวัตถุ เนื้อหนัง ร่างกาย ศีล สมาธิ ปัญญา รวมอยู่ในว่าง นรก สวรรค์ เปรต อสุรกายเหล่านี้ อยู่ในจิตวุ่น
เรื่องดับทุกข์นั้น ถ้าดับได้เดี๋ยวนี้แล้ว ตายแล้วก็ไม่ตกนรกแน่นอน ที่ศึกษากัน ไปคอยรับผลต่อตายแล้ว มันเป็นการผิดฝาผิดตัวกัน สอนอย่างส่งไปชาติหน้านี้ เหมาะแก่คนโง่ที่สอนพอให้เชื่อ ๆ ไว้ทีก่อน แท้จริง นรก สวรรค์ มรรค ผล นิพพานอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่รอถึงเมื่อตาย อสุรกาย เปรต เดรัจฉาน ก็มีอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ นรกหลาย ๆ ขุม ก็คือความร้อนใจมีหลายชนิดนั่นเอง เดรัจฉานมันก็โง่มากเท่านั้น ส่วนนรกมีหลายขุมก็อยู่ตรงที่จิตเป็นไปในบัดนี้ สวรรค์ก็เช่นกัน ถ้าไม่รู้จักก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร นั่นก็คือจิตของคนอยู่ระดับสูงขึ้นไป ถ้าร้อนก็ลงนรก ถ้าทำถูกก็นิพพาน หรืออย่างน้อยก็เป็นพรหม เป็นเทวดา
เพราะฉะนั้นในมนุษย์จึงมีอะไร ๆ อยู่หมด เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สวรรค์อะไรก็ได้ สวรรค์ก็เบาขึ้นกว่านรกหน่อย มีอยู่หมดในมนุษย์นี่ ในจิตของเราเอง เป็นมนุษย์นั้นสะดวกพร้อมที่จะเป็นอะไร ๆ ก็ได้ ไม่ต้องรอตายเสียก่อน ที่พูดว่าตาย เขาสอนคนโง่ ที่อยากได้อะไร ๆ ก็สอนให้ยึดไว้ทีก่อน คนฉลาดเขาไม่อยากได้นรก ไม่อยากได้เดรัจฉาน แต่อยากพบมรรค ผล นิพพาน แม้สวรรค์กี่ชั้น ๆ ก็อยู่ในมนุษย์ บางครั้งก็เป็นพรหม เป็นสวรรค์ หรือเป็นต่ำลงไป เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เดรัจฉาน เป็นกันอยู่เรื่อย ต่อเมื่อเข้าเขตอริยบุคคลแล้ว จะเดินทางสู่นิพพานเรื่อย จึงวางหลัก ท่านจึงวางหลักชื่อว่าโสดาบันไว้เป็นอันดับแรก
มนุษย์จึงควรตั้งใจปฏิบัติเพื่อความแน่นอน และให้รู้เสียว่า พระโสดาบันก็ยังมีโลภ โกรธ หลง อยู่บ้าง แต่เบาบาง ไม่หนาแน่นอย่างบุถุชน อย่างน้อยก็เห็น อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา บางคราวอาจเผลอถอยหลังไปบ้าง แม้ร้องไห้ก็ยังทำ ทั้ง ๆ ที่รู้ความจริงอยู่เสมอ แต่ยังละเด็ดขาดไม่ได้ จึงยังไม่เป็นอรหันต์ แต่ว่าได้เข้าสู้ต้นเงื่อนที่ถูกต้องแล้ว
ตามคัมภีร์ก็มีปรากฏว่า อนาถบิณฑิกและนางวิสาขาก็ยังมีโลภ โกรธ หลงบ้างตามสมควร อรรถกถาธรรมบทมีบอกลักษณะของพระโสดาบันไว้มาก ควรศึกษาว่า เขามีความเป็นอยู่อย่างว่างเพียงไร ความไม่ยึดมั่นเลย จะมีได้เฉพาะพระอรหันต์ ที่สอนว่าพระอนาคามีไม่โกรธเลยนั้น ยังไม่ถูก แท้จริงยังมีโกรธตามแบบของรูปราคะ ตรงนี้ขออธิบายแทรกว่า การพูดอะไรเดี๋ยวนี้ ไปเขียนก็ดี ไปพูดก็ดี มักจะไปขัดกับคนอื่น มักเป็นเรื่องอื้อฉาว น่ารำคาญ จึงหยุดไว้ที
ส่วนเรื่องความอยากกับความโกรธนี้ มันสัมพันธ์กันอยู่เรื่อย แต่ถ้ามันหมดกิเลสสามตัวนี้ ถ้ามันหมด ก็โดยที่เบาบางลง มันก็เบาบางลงทั้งสามเป็นขั้น ๆ ถ้าจะให้หมดเป็นอย่าง ๆ นั้น เป็นไปไม่ได้ มันขัดต่อเหตุผล พระอนาคามีไม่มีสังโยชน์สามข้างต้น ก็ย่อมจะยังมีโกรธตามแบบที่เรียกว่าแบบของพรหม แบบของพรหมก็ยังมีกลัวตาย ยังอยากเป็น อยากมี ถ้ามีอะไรขัดขวางก็ย่อมมีโกรธตามแบบพรหม จะว่าพรหมไม่โกรธเพราะไม่มีราคะ ยังไม่ถูก ต้องโกรธในรูปอรูปราคะ เหมือนอย่างเช่น บิดา มารดา มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่เมื่อลูกขัดใจก็ยังโกรธ ส่วนคนมีกามราคะนั้น โกรธเป็นไฟ เห็นชัด โกรธอย่างเมตตานั้นเห็นอยาก คนวัยหนุ่มสาวย่อมจะหมกมุ่นกัน วุ่นมากในทางกามราคะเป็นธรรมดา คนวัยพ่อบ้านแม่เรือนก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เพราะว่ามีทรัพย์สมบัติแล้ว มีอะไรพอสมควรแล้ว กามราคะก็เบาบาง แต่จะวุ่นกับรูปราคะ พอใจในสุขสงบที่ไม่ใช่กามารมณ์ ครั้นเลื่อนขึ้นไป พอเข้าวัยแก่ มีสติปัญญามาก แต่มีร่างกายเสื่อม อย่างนี้ก็เลิกวุ่นทางรูปราคะ แต่ยังฉลาดในอรูปราคะและโลกุตตระ นี้เป็นตัวอย่าง เด็ก ๆ จึงยังรู้เรื่องโลกุตตระไม่ได้ แต่แก่เข้าก็เลื่อนขึ้นสู่รูปาวจร อรูปาวจร ซึ่งไม่เกี่ยวกับกามราคะ มีความมั่นใจในบุญ ในกุศล ในเกียรติ เช่น บางคนก็เล่นบอล เล่นโกศล เล่นนก อย่างนี้เป็นรูปราคะ อรูปราคะ ตามลำดับ
ถ้าคนเบื่อดังกล่าวข้างต้น โอกาสที่จะถึงโลกุตตระก็ง่ายเข้า นาทีสุดท้าย สมัครดับไม่เหลือ จะไม่เสียโอกาส ทุกอย่างผ่านมาแล้ว ไม่มีอะไรที่น่าจะต้องการ นี่เรียกว่าโลกุตตรภูมิ ควรจะรู้จักไว้ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ หรือเดรัจฉานภูมิ ภูมิไหนลักษณะอย่างไร ควรรู้จักไว้บ้าง เป็นบุถุชนสุดขีดแล้ว ก็ควรจะพอกันที ก็หันไปสนใจในโลกุตตรภูมิ ซึ่งพออายุมากเข้าก็เลื่อนขึ้นมาได้โดยลำดับ บั้นปลายของชีวิตก็ควรจะเป็นเรื่องที่ควรจะเบื่อได้แล้ว คือไม่อยากเอาอะไร ปล่อยให้ดับไปโดยไม่ต้องการอะไร แม้ทำไม่ได้ขณะนี้ ก็ทำในนาทีสุดท้าย ควรมองดูทุกอย่างว่า ไม่มีอะไรน่าเอาน่าเป็น สมัครดับไม่เหลือดีกว่า ไม่มีอะไรน่าเอาสักอย่าง ได้อะไร ๆ มา ก็สั่นหัวได้ทั้งหมด ธรรมชาติมันจะจัดให้เป็นมาอย่างนี้
ถ้าคนปล่อยให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติ ก็จะดับไม่เหลือได้ง่าย ธรรมะที่ควรรู้ ที่เรียกว่าตัวสัจธรรม ก็คือเป็นธรรมมะ หน้าที่ที่ต้องทำตามกฎของธรรมชาติก็คือธรรมะ กฎธรรมชาติก็คือธรรมะ ผลของการปฏิบัติตามหน้าที่ตามธรรมชาติก็คือธรรมะ ธรรมะจัดมาให้ดีอยู่แล้วอย่างนี้ คนเราควรรู้จักถือเอาประโยชน์ตามธรรมขาติ ก็จะปฏิบัติตามความปล่อยวางไปได้ทีละขั้น ๆ
จิตที่ไม่เอาอะไรก็สู่จิตว่าง ว่างเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ก็ว่างนาทีสุดท้าย แต่ที่จริงเดี๋ยวนี้เราว่างมากกว่าไม่ว่าง แต่ยังไม่เด็ดขาด มันกลับไปกลับมา ว่างอย่างพระอรหันต์นั้นเด็ดขาด บุถุชนยังกลับไปกลับมา ต่างกันเท่านี้
จิตว่างคนธรรมดานั้นก็คือว่างอยู่อย่างธรรมชาติ ที่ว่าทวนกระแส ก็คือทวนกระแสของโลก อย่างขณะที่ฟังเทศน์ ฟังธรรม จับจิตจับใจอยู่นี้ เวลานี้จิตว่างจากตัวกูของกู เพราะฉะนั้นการรักษาศีล สวดมนต์ ภาวนา มันช่วยให้จิตว่าง ไม่ใช่ทำแล้วจะได้บุญสวรรค์วิมานอะไร ที่พูดว่า นิพพาน ปัจจโย อะไรนั้น อย่าถือว่าทำแล้วจะได้ จะผิด ที่ถูกทำไปถึงที่สุด แล้วว่างมากขึ้น ๆ นั่นถึงนิพพานเอง
ถ้ามีเวลานั่งสงบคนเดียว นั่งที่ไหนก็ได้ เมื่อเราไม่ยอมให้อะไรเข้ามา ก็ไม่รับอารมณ์มาปรุงแต่ง ตัวกูของกูก็ว่าง ได้ยิน ได้เห็น ได้กลิ่นอะไรต่าง ๆ ก็สักว่ากระทบ อย่ารับเอา มันก็ว่าง จะไม่ให้กระทบนั้นมันไม่ได้ เมื่อได้ยินเสียงอะไร ไม่ปรุงก็ว่างอยู่แล้ว ถ้าปรุงว่าเพราะดี ฉันชอบ ก็จะเกิดเป็นตัวตนขึ้นมาทันที หรือเงินอยู่ในหีบ ก็ให้อยู่ในหีบ ไม่ให้มาอยู่ในใจ ชีวิตก็เป็นชีวิต อย่าไปคิดว่ามีตัวเรา ของ ๆ เรา ถ้าคิดเข้า เป็นมีอะไร ๆ นั่นโง่ทันที ตัวฉันของฉันมันเป็นมายาทั้งนั้น สิ่งต่าง ๆ ล้วนเป็นของเหลวคว้าง เป็นมายาทำให้เกิดทุกข์ได้ แม้ตัวจิต กิเลส ปัญญา อะไรเหล่านี้ แท้จริงก็ว่างจากตัวตน พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่างทั้งนั้น ที่เห็นไม่ว่าง ก็เพราะว่าจิตไม่ว่าง แต่สิ่งต่าง ๆ นั้นมันว่าง อย่างที่พูดว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ จิตหรืออะไร ๆ ว่างทั้งนั้น แม้ทุกข์ก็ว่าง แต่มันทำให้เกิดเวทนา คือเหลือทน
การทำอะไรอย่างว่างก็ทำเท่าที่ร่างกายทำได้ ร่างกายนี้อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ จะให้อยู่นิ่ง ๆ ไม่ทำอะไรนั้น อยู่อย่างผิดธรรมชาติ มันย่อมต้องเคลื่อนไหวไป เพื่อประโยชน์ผู้อื่นบ้าง
ให้ดูรูปภาพที่ว่าง แล้วช่วยแจกผู้อื่น ภาพนี้แสดงความหมายของชีวิตตั้งแต่เริ่มต้นจนส่องตะเกียงให้ผู้อื่น ใครมาได้ถึงขนาดนี้ เรียกว่าเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ให้สังเกตอีกอย่างหนึ่ง คนมาอยู่วัดวัดนี้ มีแต่คนบ้าทั้งเพ บ้าไม่เหมือนกัน
เมื่อเราอยู่ที่พุมเรียง มีเห็ด มียอดไม้ มีดอกไม้มาก เด็ก ๆ ไปเก็บ ไปกวนมาก แต่พอเขาเห็นเราเป็นคนบ้า เขากลัว เขาก็ไม่ไปรบกวน
คิดตามภาษาโลก คนทุกคนบ้าทั้งนั้น ถ้าหายบ้าเมื่อไรก็เป็นอรหันต์ คนทั้งหลายต่างมีเชื้อบ้าขนาดเปอร์เซ็นต์ต่าง ๆ กัน บ้านั่นคือผิดปกติ ที่ว่าเขาบ้านั้นก็เพราะเขากับเรามีความเข้าใจอะไรไม่เหมือนกัน บ้าเป็นความอยากชนิดต่าง ๆ ล้วนแต่มีความยึดมั่นแต่ละอย่าง ๆ จึงเรียกว่าบ้า ส่วนคนที่เรียกคนอื่นว่าบ้าก็เพราะไม่ตรงตามประสงค์ของตน คนที่บ้ามากก็เพราะเที่ยวทำให้คนอื่นยุ่ง อย่างที่เรากำลังบ้าอยู่ ก็โดยที่ยังไม่หยุด มันคอยแต่จะคิดทำอะไร ๆ เพื่อผู้อื่นอยู่
เวลานี้กำลังคิดเรื่องรูปปั้น ว่าจะให้สำรวจรูปปั้น ภาพใดเสร็จก็ให้มาแจ้งเพื่อติดตั้ง แล้วทาสี อมราวดีให้ทาสีเขียว ศานติใช้สีแดง ภารหุตใช้สีดำ ควรจะจัดสีเอาไว้ เตรียมไว้เสีย ต่อไปก็ เราก็ทำงานกันไปเรื่อย ๆ และเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง ให้ถือว่าเป็นศิลปะที่ทุกคนควรทำให้ได้ดีที่สุด
อยู่ในโลกไม่ว่าเขาจะทำงานอะไร เป็นฆราวาสก็ทำได้ ทำอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ย่อมทำงานได้ดี เป็นพระจะทำได้มากกว่าฆราวาส จิตว่างทำได้ทั้งพระและฆราวาส ทำให้มากขึ้น ๆ ไม่ใช่ว่าฆราวาสทำวุ่นให้มาก เป็นพระจึงค่อยว่างเข้า อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้
พระพุทธเจ้าสอนฆราวาสก็ไม่เคยให้วุ่น แต่สอนให้รู้จักทำจิตว่าง ไม่ให้หลงเกียรติยศชื่อเสียง บรรเทากิเลสให้เบาบางลง เช่น สอนธรรมทินนะ ไม่ใช่สอนให้ฆราวาสจมอยู่ในกิเลส สอนให้เป็นพระ แยกกัน ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ถูกนั้นสอนให้ทำได้ทั้งพระและฆราวาส แล้วจิตจะบรรเทากิเลส ถ้าจะสอนว่าเป็นพระเท่านั้นจิตจะบรรเทากิเลสอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ ฆราวาสมีกิเลสต้องต่อสู้มากกว่าพระ ถ้าไม่ทำจิตให้ว่างก็บ้ามากขึ้น ๆ พระเดี๋ยวนี้ก็เป็นโรคประสาทกันมาก พอเข้าลักษณะเสียจิต เขาก็ให้สึกเสีย แต่ถ้าบรรเทากิเลสด้วยกันแล้ว พระก็ดี ฆราวาสก็ดี ก็เป็นบุคคลอย่างเดียวกัน ไม่แยกกัน
เพราะฉะนั้นเราอย่างมงาย โง่จนไม่รู้ว่าบวชทำไม บวชในพระพุทธศาสนาทำไม บวชเพื่ออะไร ถ้าบวชเพื่อสึกก็เพื่อให้รู้เคล็ดอันนี้เอาไปใช้ ถ้าบวชไม่สึกก็เพื่อให้รู้เคล็ดอันนี้ให้มากขึ้น ๆ เพื่ออยู่เหนือกิเลส จึงควรต้องรู้ทั้งฆราวาสและพระ อยู่บ้านก็ต้องอยู่เหนือกิเลส อยู่วัดก็ต้องฝึกให้มากเข้า คิดได้อย่างนี้ก็ได้รับประโยชน์ ถ้าบวชอย่างงมงาย บวชเพื่อเครดิต โดยฝ่ายหญิงเขารังเกียจว่ายังไม่ได้บวช อย่างนี้ก็ไม่ถูก แท้จริงบวชเป็นเรื่องส่วนตัว เพื่อให้ต่อสู้กิเลสให้ดีขึ้น บวชได้นาน ๆ ก็เพื่อถึงเร็ว ๆ ว่างมากกว่า ว่างถึงที่สุด ว่างเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรามีระบบการสอนที่ถูกต้องมาเรื่อย ๆ จะดีกว่านี้มาก
เดี๋ยวนี้แย่มาก ในเมืองหลวงวันหนึ่งคืนหนึ่งมิได้ปรารภธรรมะ มีแต่ปรารภความมักใหญ่ใฝ่สูง ที่ถูกมันต้องตั้งต้นตามที่บรรพบุรุษครูบาอาจารย์เขาทำไว้แล้ว อยู่วัดครั้งแรกก็เรียนปัจจเวก รู้จักสุญญตาให้มากขึ้น พระจะได้ไม่เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เขาเรียนเพื่อสอบนักธรรมตรี สอบอะไร ๆ กัน ไม่ใช่เรียนเพื่อศึกษาชีวิตโดยตรง ไม่มีวิธีสอนภาคปฏิบัติ เลยสอนไปในทางเกิดกิเลสมากขึ้น พระจึงแตกสามัคคียิ่งกว่าฆราวาส
เท่าที่ใครมาบวชอยู่ที่นี่อย่างนี้ เขาก็ว่าเราบ้า ก็ช่างเถิด ใคร ๆ ย่อมมีสิทธิว่าเราบ้าเพราะไม่ทำเหมือนเขา เราก็มีสิทธิที่จะว่าเขาบ้าเหมือนกัน เพราะเข้าหลักที่ว่า ไม่ตรงตามประสงค์ของตน ๆ
วันนี้ก็มีเรื่องจะเล่าแปลก ๆ ว่า มีหญิงคนหนึ่งเป็นบ้า เขาว่าเป็นลูกคนมีอันจะกิน ขณะอายุประมาณสี่สิบปีนี้เสียสติ แต่เมื่อเดิมเล่าเรียนมาดี แล้วกลายเป็นบ้า ชอบพูดคำหยาบ อาจจะมีเรื่องทางเพศด้วยก็ได้ เขาชอบเที่ยวเรี่ยไรเงินเรื่อย ๆ พอได้มากก็นำไปทำบุญตามวัดต่าง ๆ คราวนี้เขาเรี่ยไรได้ประมาณห้าพันบาท เขานำมาทอดผ้าป่าที่วัดพระธาตุบ้าง นำมาที่วัดนี้บ้าง เขานำมาถวายที่วัดนี้ประมาณสองพัน เงินของคนบ้านี้ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรดี ช่วยกันคิดดู มีแขกมา ขณะนี้มีแขกมามากขึ้นก็น่ารำคาญเหมือนกัน คนที่มาคราวนี้ นอกจากคนบ้า แม่ชีสองคนที่มาด้วย ก็ฟังธรรมะไม่รู้เรื่องเลย คนที่มาด้วย ที่มาร่วมด้วย ทำบุญก็ทำกันคนละห้าบาทสิบบาท พูดธรรมะให้ฟังก็ไม่ฟัง เพราะฟังไม่รู้ แต่ส่วนคนบ้ากลับพูดธรรมะได้ดีกว่า ทั้งเป็นฝ่ายหาเงินมาให้ได้ถึงสองพัน อย่างนี้เป็นเรื่องที่แปลก
สังเกตดูเราจะเห็นว่า จะได้ความคิดว่าคนหนึ่งบ้าแต่อีกสิบกว่าคนก็บ้าที่ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง วัดนี้ก็บ้าที่ทำอะไรก็ไม่รู้ ที่เขาไม่รู้ จึงน่าจะพูดว่านอกจากพระอรหันต์แล้ว ไม่มีใครที่ไม่บ้า คนบางคนก็บ้าไปในทางกุศล บางคนบ้าไปในทางอกุศล ในที่สุดสู้สุนัขก็ไม่ได้ มันไม่เป็นกุศลหรืออกุศล ให้คิดดู ตรวจสอบทานตนของตนดูว่า เราปฏิบัติตรงตามพระพุทธเจ้าตรัสแล้วรึยัง
เริ่มตั้งแต่ที่ว่า ถ้าจะพูดก็ต้องพูดธรรมกถา มิฉะนั้นจงไปนอนเสียดีกว่า ถ้ามิฉะนั้นก็ต้องพูดกันแต่เรื่องที่เป็นธรรมะ ถ้าหากว่าพูดไม่เป็นธรรมะ ไปนอนเสียดีกว่านั่งพูดเรื่องไม่ใช่ธรรมะ ทั้ง ๆ ที่เรื่องนอนก็เป็นความเลวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการพูดไม่เป็นสาระ พูดเล่น หยาบคาย คะนอง จึงไม่ควรจะทำ พระเณรที่ไม่รู้จักสำรวมระวัง ตลกคะนอง ส่งเสียงดังนี้ไม่สมควร ความเคยชินในการหยอกล้อเล่นกันมันจะลืมตัว ไม่มีระเบียบ ที่โรงฉัน ที่อาบน้ำ มักจะทำเอ็ดตะโร ให้พยายามแก้ไขอย่าให้เป็นอย่างนี้อีก