แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิปัสสนาธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา-ความเชื่อ และวิริยะ-ความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ดังที่สมมติกัน ควรจะมีความคิดนึกและการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้สมกัน ดังนั้นพุทธบริษัททั้งหลาย จึงได้กระทำบางสิ่งบางอย่างเป็นพิเศษในวันนี้ เช่น การทำบุญให้ทาน และการสดับตรับฟังธรรมเทศนา เช่นนี้เป็นต้น แต่ว่าใจความสำคัญของการกระทำในวันนี้นั้น มีความสำคัญอยู่ที่ความไม่ประมาทเนื่องกันกับเวลา ความไม่ประมาทมีหลายอย่าง ที่เนื่องกันกับเวลานั้น หมายความว่า เป็นผู้สำนึกถึงการที่เวลาล่วงไป ๆ แต่การที่เวลาล่วงไป ๆ นี้ไม่ได้ล่วงไปแต่เวลา หากแต่ว่าชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็พลอยล่วงตามไปด้วย ตามที่ท่านกล่าวว่า เวลาย่อมกินสรรพสัตว์กับทั้งตัวมันเอง คือทั้งเวลาและชีวิตของสรรพสัตว์ล้วนแต่ล่วงไป ๆ หรือที่เรียกว่าสิ้นไป ๆ เมื่อความจริงตามธรรมชาติเป็นเช่นนี้ ปัญหาที่เกี่ยวกับมนุษย์ก็มีขึ้นว่า จะต้องทำอย่างไร จึงจะสมควรกับเวลาที่ล่วงไป ๆ
ตามธรรมดา สัตว์ทั้งหลายยังตกอยู่ใต้อำนาจของเวลา เพราะว่ายังมีความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เวลาจึงเป็นของมีค่าและมีความหมายขึ้นมา ถ้าหากว่าบุคคลใดไม่มีความต้องการอะไร แม้ที่สุดแต่ไม่ต้องการจะมีชีวิตอยู่ อย่างนี้เวลาก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าเวลา จึงมีความหมายเฉพาะคนธรรมดาสามัญ ที่ยังมีความต้องการอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ส่วนบุคคลที่ไม่มีความต้องการ เช่นพระอรหันต์เป็นต้นนั้น เวลาไม่มีความหมายอะไร มันจะล่วงไป ๆ ก็ล่วงไปแต่เวลา ไม่มามีอำนาจบังคับอะไรแก่บุคคลผู้ไม่มีความต้องการอะไร ดังเช่นพระอรหันต์เป็นต้น นี้ก็เป็นข้อหนึ่ง หรือแง่หนึ่ง หรือลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า พระอรหันต์เป็นบุคคลที่ไม่มีความทุกข์ร้อนในใจแต่ประการใดเลย โดยเฉพาะในแง่ของเวลา มันจะล่วงไปอย่างไรก็ไม่มีความหมาย คือมันล่วงไปแต่เวลา มันไม่ได้กินชีวิตของพระอรหันต์ เพราะว่าพระอรหันต์ไม่มีชีวิตให้เวลากินอีกต่อไป ไม่เหมือนกับชีวิตของคนธรรมดา ตกอยู่ใต้อำนาจของเวลา เวลาจึงกินชีวิตของสรรพสัตว์ พระอรหันต์ผู้ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน ว่าของของตน จึงไม่มีตัวตนที่จะตกอยู่ใต้อำนาจของเวลา ส่วนร่างกายซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือกของท่านนั้น มันไม่มีความหมายอะไร และนั่นก็ไม่ใช่พระอรหันต์เพราะว่าเป็นเพียงร่างกาย เป็นเพียงเปลือกนอก เพราะสลัดความรู้สึกว่าตัวตนออกไปเสียได้ ไม่มีความคิดนึกรู้สึกเป็นตัวเป็นตน เป็นของของตน แม้แต่ชีวิตแม้แต่ร่างกาย ก็ไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตนของตน ดังนั้นเวลาจึงทำได้แต่กับเปลือก หรือส่วนที่เป็นร่างกาย
ส่วนคนทั้งหลายตามธรรมดาสามัญนั้น มีความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวว่าตน ว่าของตน แยกกันไม่ได้ จิตใจกับร่างกายแยกกันไม่ได้ ความรู้สึกคิดนึก เอาทุกสิ่งทุกอย่างมาผูกพันเป็นอันเดียวกัน ร่างกายชีวิตจิตใจเป็นอันเดียวกัน ก็พลอยตกอยู่ใต้อำนาจของเวลาไปด้วยกันทั้งหมด ดังนั้นจึงได้รู้สึกเป็นทุกข์ว่าตัวจะต้องตายบ้าง ว่าตัวยังไม่ได้ทำงานอะไร ให้บรรลุผลตามที่ตนต้องการบ้าง หรือให้เวลาของตนทำเงินทำทองได้มาก ๆ อย่างนี้บ้าง คนธรรมดาสามัญจึงมีความทุกข์เนื่องด้วยเวลา ดังนั้นท่านจึงได้กล่าวว่า กาโล ฆสติ ภูตานิ สัพพาเนวะ สหัตตนา กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์กับทั้งตัวมันเองด้วย
เราเป็นพุทธบริษัท มีสติปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน คือสั่งสอนให้เป็นผู้มีความรู้ไปในทางที่จะมีอำนาจอยู่เหนือเวลา อย่าให้เวลาเกิดความเป็นปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ให้เราเป็นผู้ชนะเวลา ไม่ให้เวลาชนะเรา ไม่ให้เวลาทำความทุกข์ร้อนให้เกิดขึ้นแก่เรา นี่อาศัยความรู้อันลึกซึ้งนี้ จึงทำให้พุทธบริษัทมีอะไรผิดแปลกแตกต่างไปจากพวกอื่น คือถ้าเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง ต้องไม่ทุกข์ร้อนในเรื่องใด ๆ หมด แม้ที่สุดแต่เรื่องอันเกี่ยวกับเวลา เรามีการงาน ทำการงาน ก็ทำไปโดยไม่ต้องเดือดร้อนด้วยเรื่องอันเกี่ยวกับเวลา ถ้าใครยังไม่เข้าใจ ก็คือยังไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา
ดังนั้นธรรมะข้อนี้ควรจะเอามาพูดกันอีก วินิจฉัยกันอีก ในเวลาที่เป็นการขึ้นปีใหม่เช่นวันนี้ สำหรับการขึ้นปีใหม่นี้ มันเป็นเรื่องสมมติ สมมติให้เป็นว่าวันหนึ่งบ้าง เดือนหนึ่งบ้าง ปีหนึ่งบ้าง ก็ตั้งต้นที่เดือนนั้นเดือนนี้ ไม่ค่อยเหมือนกัน เอาแต่ว่าในรอบปีหนึ่งนั้น ให้มันมีการกำหนดว่า มันครบรอบที่ตรงไหน แล้วเอาที่ตรงนั้นเป็นการขึ้นปีใหม่ เพื่อจะได้คิดบัญชี หรือเพื่อจะได้สอบไล่กันดูสักทีว่า ในรอบขวบปีนี้เป็นการได้กำไร หรือเป็นการขาดทุนอย่างไร หมายความว่า ความเป็นมนุษย์สูงขึ้นไป หรือว่าไม่ก้าวหน้า หรือว่ากลับถอยหลัง ดังนี้เป็นต้น นับว่าเป็นการกระทำที่น่าทำ ควรทำ ในการสอบไล่ตัวเองเช่นนี้ สอบไล่ด้วยวิธีต่าง ๆ กัน แต่ก็เป็นการทดสอบให้รู้ว่า มีกิเลสเบาบางลงหรือไม่ นี้เป็นส่วนใหญ่ สำหรับพุทธบริษัทเรา ในเมืองไทยก็ถือเอาประเพณีไทย กำหนดวันปีใหม่ในวันเช่นวันนี้ ก็ถือเอาวันนี้เองเป็นวันสอบไล่ แล้วเมื่อรู้ว่ามันไม่ก้าวหน้า ก็จะได้ทำให้ก้าวหน้าต่อไป
ทีนี้จะเอาหลักสูตรข้อไหนมาเป็นการสอบไล่ มาเป็นหลักสูตร หรือหัวข้อสำหรับการสอบไล่ พิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า ควรจะเอาหลักที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนานั่นเอง มาเป็นหัวข้อสำหรับการสอบไล่ มันจะได้ง่าย มันจะได้จริงจังถูกต้อง หรือสมกับที่เป็นพุทธบริษัท
สำหรับสิ่งที่เรียกว่าหัวใจของพระพุทธศาสนานั้น เคยพูดเคยกล่าวกันมามากมาย หลายครั้งหลายหนแล้วว่า ได้แก่คำตรัสที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ขอกล่าวย้ำเตือนซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า นี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนา โดยพระบาลีว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มีปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ซึ่งเป็นใจความว่า มีผู้ไปทูลถามพระศาสดาให้ตรัสสรุปพระโอวาททั้งหมดให้เป็นคำสั้น ๆ พระองค์ก็ตรัสประโยคนี้แห่งหนึ่ง และยังมีในสังยุตตนิกายซึ่งมีข้อความว่า ภิกษุทูลถามว่า รู้อย่างไรอวิชชาจึงจะดับไป วิชชาจะเกิดขึ้นมา พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า ถ้ารู้ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นแล้ว อวิชชาจะดับไป วิชชาจะเกิดขึ้นมา
ฟังดูให้ดี ให้เข้าใจในเรื่องนี้ เพราะการที่รู้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนี้ ทำให้อวิชชาดับไป และทำให้วิชชาเกิดขึ้นมาพร้อมกัน อวิชชาดับไปเหมือนกับความมืดหายไป วิชชาเกิดขึ้นเหมือนกับแสงสว่างเข้ามาแทน ความที่ไม่รู้มันเป็นอวิชชา ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นอวิชชา ถ้าความไม่รู้ข้อนี้ดับไป จึงจะเรียกว่าอวิชชาดับไป นี้ก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี้เรียกว่าวิชชาเกิดขึ้นมาแทนในขณะเดียวกัน พระองค์จึงตรัสว่า เมื่อใดรู้ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นแล้ว เมื่อนั้นอวิชชาดับไป วิชชาเกิดขึ้นมา ดังนี้ จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธวจนที่ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั่นแหล่ะ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือมีความสำคัญถึงขนาดที่จะทำลายอวิชชา และให้วิชชาเกิดขึ้นแทน แล้วก็คือการบรรลุมรรคผลนิพพานนั่นเอง
ทีนี้เราจะได้พิจารณากันดูให้ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป ประโยคมันยังยาวอยู่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ประโยคนี้ยังยาวอยู่ ยังจะสรุปให้สั้นเข้ามาได้อีก สรุปให้สั้นเข้ามาได้อีกก็เหลือแต่คำว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นควรจะได้พิจารณาคำว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ กันให้ละเอียดลออ ให้สมกับเป็นการสอบไล่ปีใหม่ ว่าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ถูกต้องเพียงพอหรือไม่ ว่าเราปฏิบัติในธรรมะข้อนี้ก้าวหน้าไปหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น
ในขั้นแรกนี้อยากจะขอให้ทำความเข้าใจ หรือซักซ้อมให้เกิดความแน่ใจกันในข้อนี้อยู่เสมอ ๆ ว่า ธรรมะในชั้นนี้ ในลักษณะนี้ เรียกว่าเป็นโลกุตรธรรม คือคำกล่าวหรือหลักคำสอนที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือจะเรียกกันสั้น ๆ ว่าความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ดีนี้ เป็นธรรมที่เรียกได้ว่าเป็นโลกุตรธรรม คือธรรมะที่จะทำให้บุคคลอยู่เหนือโลก เหนือโลกคือเหนือความทุกข์ คนเราไม่ค่อยได้ยินได้ฟัง ถ้อยคำในภาษาธรรมะ พอได้ยินคำว่าเหนือโลก ก็มักจะคิดไปว่า ขึ้นไปข้างบน ลอยไปในที่ว่าง สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนไม่รู้ว่าจะไปไหน นั้นจึงจะเรียกว่าเหนือโลก นี้มันคือคนโง่ที่สุดในพระพุทธศาสนา เพราะว่าคนชนิดนี้รู้แต่เรื่องทางวัตถุ ข้างบนข้างล่างนี้ก็เพียงแต่ว่าขึ้นไปข้างบนด้วยเนื้อตัว ด้วยร่างกาย เหนือวัตถุขึ้นไป คนประเภทนี้รู้แต่เรื่องวัตถุ นี้ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเลย เพราะว่าพระพุทธศาสนาที่ได้กล่าวถึงข้อนี้นั้น ไม่ได้เกี่ยวกับวัตถุเลย แต่เกี่ยวกับจิตใจ ที่ว่าอยู่เหนือโลกนั้น คือจิตใจอยู่เหนือการที่สิ่งใด ๆ จะมาทำให้เกิดความทุกข์ได้ เรามีจิตใจอยู่ในลักษณะที่สิ่งใด ๆ ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ได้ นี้เรียกว่าอยู่เหนือสิ่งนั้น
คำว่าอยู่เหนือโลก ก็หมายความว่า โลกไม่อาจจะทำให้เกิดความทุกข์ได้ ก็คืออยู่เหนือวิสัยของโลกนั่นเอง วิสัยของโลกก็คืออาการกริยาต่าง ๆ ที่จะทำให้เป็นทุกข์ตามธรรมดาของโลก ถ้าเราอยู่เหนือวิสัยนั้นแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ ที่จะเห็นได้ง่าย ๆ คนธรรมดาที่ยังไม่รู้ธรรมะของพระอริยะเจ้านี้ พร้อมที่จะเป็นทุกข์ อยู่ในโลกนี้ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ เป็นทุกข์เข้ามาเพราะอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเอง สลับกันไปอย่างนี้ เรียกว่าอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูกเป็นต้นนั้น ครอบงำย่ำยีบุคคลนั้นทำให้เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเป็นต้นนั่นแหละ คือโลก เรามีตาหูจมูกลิ้นกาย สำหรับสัมผัสสิ่งข้างนอกตัวเรา ซึ่งเราเรียกว่าโลก เพราะฉะนั้นโลกก็เข้ามาครอบงำย่ำยีจิตใจนี้ โดยทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจเอง สิ่งที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นเป็นต้น นั่นแหละคือโลก ถ้าเราไม่อยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ก็จะบีบคั้นจิตใจให้มีความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าอยู่ในวิสัยโลก หรือว่าภายใต้โลก ไม่เหนือโลก ถ้ามีความสูงอยู่เหนือโลกก็หมายความว่า มีจิตใจอยู่ในลักษณะที่สิ่งเหล่านี้จะมาครอบงำย่ำยีไม่ได้ ไม่มาทำให้เป็นทุกข์เป็นร้อนได้ นี้เรียกว่ามีจิตใจอยู่เหนือโลก
ร่างกายอยู่ที่นี่ หรือจะไปนั่งอยู่ใต้ถุนก็ได้ หรือจะไปนั่งอยู่ในบ่อใต้ดินก็ยังได้ แต่ถ้าจิตใจอยู๋ในลักษณะที่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสครอบงำไม่ได้แล้ว ก็เรียกว่าอยู่เหนือโลกทั้งนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเหาะลอยขึ้นไปตั้งบนฟ้า บนที่ว่าง แล้วไปไหนก็ไม่รู้ นั้นมันเป็นเรื่องทางวัตถุทางร่างกาย ไม่เกี่ยวกันเลย เรื่องทางจิตใจนั้นมันอยู่ที่ว่า จิตใจอยู่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด เช่นว่าอยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความตาย นี้ก็หมายความว่า ไม่มีปัญหาเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเกิดแก่เจ็บตายอยู่ข้างล่าง อยู่ข้างใต้ จิตอยู่ข้างบนหมายความว่า จิตไม่ได้ยึดถือเอาความเกิดแก่เจ็บตายเป็นของตน ดังนั้นจิตจึงไม่มีปัญหา ที่จะต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนอันเกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อย่างนี้เรียกว่าอยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
อาการที่เป็นไปทางจิตใจล้วน ๆ อย่างนี้ มันไม่ใช่เรื่องทางวัตถุ เราเรียกว่าเรื่องทางฝ่ายวิญญาณ เป็นความรู้ในทางฝ่ายวิญญาณ เป็นการปฏิบัติในทางฝ่ายวิญญาณ เป็นการหลุด การรอด การพ้น ในทางฝ่ายวิญญาณ หรือแม้แต่จะเป็นความสุข ก็เป็นความสุขในทางฝ่ายวิญญาณ แต่มีคนโง่ ๆ จำนวนมาก เป็นนักปราชญ์ในทางวัตถุ ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้อยู่ดี ได้ยินว่าคำว่าวิญญาณก็ไม่รู้ว่าอะไร ก็เอาไปล้อเล่นเป็นเรื่องผี ๆ สาง ๆ อย่างนี้ นั่นเป็นเรื่องของคนโง่ ประเภทที่รู้จักแต่ในเรื่องทางฝ่ายวัตถุอย่างเดียว ไม่มีความรู้อันถูกต้องในคำว่าวิญญาณ ซึ่งเป็นพื้นฐานของพระพุทธศาสนา ข้อนี้เรารู้ได้ตรงที่ เรามีคำเรียกโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งได้แก่อาคารหลังหนึ่งในวัดนี้ และก็เป็นเชิงทดสอบว่าใครบ้างเข้าใจความหมายของคำ ๆ นี้ มีคนเป็นอันมากไม่เข้าใจ เราจึงรู้ได้ว่า ยังมีคนเป็นจำนวนมาก ฉลาดแต่ในเรื่องทางวัตถุอย่างเดียว และโง่ที่สุดในเรื่องทางฝ่ายจิต หรือทางฝ่ายวิญญาณ อาการดังที่กล่าวนี้ ไม่เหมาะแก่พุทธบริษัทเลย
พุทธบริษัทเป็นผู้เจริญด้วยความรู้ ในเรื่องทางฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าความทุกข์นั้น มันเป็นเรื่องทางฝ่ายจิต หรือทางฝ่ายวิญญาณ ถ้าเราตั้งจิตไว้ไม่ดีแล้ว ต้องเป็นทุกข์ แม้ว่าจะมีเงินมาก มีวัตถุมากมีอะไรมาก ๆ แต่ถ้าตั้งจิตไว้ไม่ถูกต้องแล้ว จะต้องเป็นทุกข์ ในทางที่ตรงกันข้าม แม้ว่าเราจะไม่มีวัตถุอะไรมากมาย แต่ถ้าเราตั้งจิตไว้ถูกต้อง เราก็มีความสุข ไม่มีความทุกข์
ดังนั้นเรื่องธรรมะในพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องทางจิต หรือทางวิญญาณ จนถึงกับมีหลักว่า เรื่องทุกสิ่งทุกอย่างนั้น สำเร็จอยู่ที่ความรู้สึกของจิตเป็นขณะ ๆ ไป ชีวิตร่างกายก็ดี เรื่องสุขเรื่องทุกข์ก็ดี อะไรก็ดีทุกเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับจิตขณะหนึ่ง ๆ เท่านั้น เราต้องรู้จักจัด รู้จักทำให้ขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้นประกอบด้วยวิชชา-ความรู้ จึงจะสามารถกำจัดความทุกข์ออกไปได้ นับว่าเป็นเรื่องทางฝ่ายจิต หรือฝ่ายวิญญาณล้วน ๆ
ดังนั้นจึงขอให้สนใจธรรมะในพระพุทธศาสนานี้ ในฐานะที่เป็นเรื่องทางฝ่ายจิต หรือทางฝ่ายวิญญาณ เมื่อได้ยินคำว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็อย่าได้ไปเข้าใจว่า ยึดมั่นถือมั่นด้วยมือ แต่ให้รู้อย่างถูกต้องว่า ยึดมั่นด้วยจิตคือความโง่ ยึดมั่นด้วยจิตนั้นมือไม่ต้องยึด แต่ว่าจิตมันยึดได้ คือมันยึดด้วยความโง่ ความเข้าใจผิดว่าเป็นของเรา เป็นตัวเรา หรือเป็นของของเรา อย่างนี้เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นที่กล่าวถึงในพระพุทธศาสนา ส่วนเรื่องการยึดมั่นถือมั่นด้วยมือเป็นต้นนั้น ไม่ได้รวมอยู่ในสิ่งนี้ เป็นเรื่องทางวัตถุอีกเรื่องหนึ่ง
นี้สรุปความว่าเรื่องโลกุตรธรรมนี้ เป็นเรื่องทางฝ่ายจิต คือเราต้องมีจิตอยู่สูงอยู่เหนือโลก จึงจะเป็นโลกุตรธรรม ทีนี้ทำไมต้องมาพูดกันถึงเรื่องนี้ ก็ตอบได้ง่าย ๆ ว่า เพราะทุกคนมีจิต ทุกคนมีความทุกข์ก็เพราะจิตที่ตั้งไว้ไม่ถูก เราเองต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับจะตั้งจิตไว้ถูก เราจึงจะไม่มีความทุกข์ เพราะเหตุเช่นนั้นแหละ เราจึงต้องพูดกันถึงเรื่องโลกุตรธรรม
ทีนี้มีนักปราชญ์โง่ นักปราชญ์ทางวัตถุ ไม่ยอมเข้าใจ ไม่ยอมพิจารณาในเรื่องนี้ โดยถือแต่ว่าเรื่องทางโลกุตรธรรมนั้น ไม่เกี่ยวกับคนตามธรรมดาสามัญเลย เอาไปยกไว้ให้คนพวกไหนพวกหนึ่งเพียงไม่กี่คน อยู่ตามป่าตามเขา นี้มันเป็นเรื่องคนโง่ที่รู้จักแต่เรื่องทางวัตถุ ไม่รู้จักเรื่องทางจิตใจ พุทธบริษัทจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ จะต้องรู้เรื่องทางจิตใจจึงจะเป็นพุทธบริษัท จะต้องรู้ว่าโลกุตรธรรมนี้ จำเป็นสำหรับคนทุกคนที่อยู่ในโลก ถ้าไม่มีความรู้เรื่องนี้แล้ว โลกมันจะครอบงำย่ำยี ท่วมทับบุคคลนั้นให้กลายเป็นสัตว์นรก คือมีความทนทุกข์ทรมานไปตลอดเวลาทีเดียว ทั้งกลางวันและกลางคืน เราได้รู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้ เราจึงรอดตัว ไม่ต้องเป็นเช่นนั้น หรือเราจะเรียกว่ามีความทุกข์ที่ไหน มันก็ต้องการความดับทุกข์ที่นั่น คนชนิดไหนมีความทุกข์ คนชนิดนั้นก็ต้องการความดับทุกข์ที่นั่น
ดังนั้นการอยู่ในโลกก็ย่อมต้องการความรู้ สำหรับที่จะต่อสู้กับโลก ทำให้ตนอยู่เหนือโลกด้วยอุบายอันแยบคาย ไม่ให้โลกนี้กระทบกระทั่งให้เป็นทุกข์ได้ เหมือนกับคำสอนคำหนึ่งที่ว่า จงอยู่ในโลกนี้ให้เหมือนกับลิ้นอยู่ในปากงู คนที่ฉลาดจะต้องอยู่ในโลกนี้ ในลักษณะที่ไม่กระทบกันกับความทุกข์ เช่นเดียวกับลิ้นงูอยู่ในปากงู ไม่กระทบกับเขี้ยวงู อุปมาอันนี้มีความหมายที่ควรจะนำไปคิดไปนึกอยู่เสมอ ให้เห็นความจริงข้อนี้อยู่เสมอว่าลิ้นงูอยู่ในปากงู ไม่กระทบเขี้ยวงู มันจึงไม่มีเรื่อง ไม่มีปัญหาอะไร
คนเรานี้ก็เหมือนกันถ้าอยู่ในโลกแล้วไม่กระทบกันกับเขี้ยวของโลก คือความทุกข์ต่าง ๆ แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร ปัญหามันมีอยู่อย่างเดียว ตรงที่มีความทุกข์เสียเรื่อยเท่านั้นเอง คือมันไปกระทบกับโลก มีความทุกข์เนื่องจากการกระทบกันนั้นเสียเรื่อยไป ทีนี้เรามีวิชาความรู้สำหรับที่จะไม่กระทบกัน ให้อยู่เหนือเอาไว้เสมอไป ความรู้อันนี้เรียกว่าโลกุตรธรรม จำเป็นแก่คนทุกคนที่อยู่ในโลก เพื่อให้รู้ไว้ เพื่อจะได้ไม่กระทบกันกับเขี้ยวของโลก
หรือเราจะนึกถึงเรื่องอื่น เช่น เรื่องนิพพาน ให้นึกถึงคำว่านิพพาน ในลักษณะที่ถูกต้อง อย่าเป็นเรื่องนิพพานของคนโง่ คนอันธพาล เป็นนักปราชญ์มีการศึกษามากแต่ในเรื่องของวัตถุ ก็เอาเรื่องนิพพานนี้ไปใช้ผิด ๆ ให้นิพพานนี้มีความหมายแต่เพียงว่าตาย นักปราชญ์ทางวัตถุชนิดนี้จะเป็นนักปราชญ์สูงสุดอย่างไร ก็เป็นคนโง่ที่สุดในทางฝ่ายจิตใจ หรือเรื่องธรรมะของพระพุทธเจ้า เพราะว่านิพพานไม่ใช่เรื่องตาย หรือมีอาการเหมือนกับถูกวางยาสลบ อย่างนี้เป็นต้น
คำว่านิพพานนั้นแปลว่าเย็น ขอให้ทุกคนรู้ไว้ว่าคำว่านิพพานนั้น แปลว่าเย็น ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก เขาก็มีคำว่านิพพานนี้พูดกันอยู่แล้ว หมายความว่าเย็น เขาเอาคำว่าเย็นนี้มาเป็นชื่อของธรรมะที่เป็นโลกุตรธรรมทีหลัง คำว่านิพพานเป็นชื่อของความเย็นทางวัตถุอยู่ก่อน แล้วต่อมาเอามาใช้เป็นชื่อของความเย็นในทางจิตใจทีหลัง ข้อนี้รู้ได้ในพระบาลี ที่กล่าวถึงคำว่านิพพานไว้หลายความหมาย เช่นสมัยก่อนโน้นก็ได้พูดกันมาแล้วถึงคำว่านิพพานคือความเย็น เช่น ไฟดับลงก็เรียกว่าไฟนิพพาน ถ่านไฟที่ลุกเป็นไฟสีแดงสีโพลง เย็นลงจนดำ อย่างนี้เรียกว่าถ่านไฟนั้นนิพพาน นี้เป็นคำพูดธรรมดาชาวบ้านพูด เด็กพูด พูดแม้แต่ในครัว เป็นนิพพานของวัตถุนี้ประเภทหนึ่ง ไม่ใช่นิพพานในพุทธศาสนา แปลว่าเย็น
ต่อมาคำว่านิพพานใช้กับสัตว์ที่มีอาการเชื่อง สัตว์ที่มันดุร้ายมีพิษร้าย มีโทษร้าย มีพยศร้าย นี้เรียกว่ามันยังไม่นิพพาน ต่อเมื่อใดสัตว์นั้นได้รับการฝึกหัด ฝึกฝนถึงที่สุดจนเชื่อง เหมือนกับสุนัขหรือแมวที่เชื่องแล้ว ก็เรียกว่าสัตว์นั้นนิพพาน เช่น จับวัว จับช้างมาจากป่า จับเสือมาจากป่า มาฝึกมาหัดจนมันเชื่องเหมือนกับแมวที่บ้าน อย่างนี้ก็เรียกว่าสัตว์นั้นนิพพาน คือหมดพิษร้าย นี้ก็ยังไม่ใช่นิพพานของพุทธศาสนา
ต่อมาจึงมีความคิดนึกสูงขึ้นไปในเรื่องทางจิตใจ เพราะว่าจิตใจที่สงบเย็น นั่นเรียกว่านิพพานทำให้สงบเย็นได้เท่าไร ก็เรียกว่านิพพานกันมาตามลำดับ เช่นในบางยุคบางสมัย ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด หรือในสมัยที่พระพุทธเจ้าเกิดแล้วก็ตาม คนบางพวกบางหมู่ บัญญัติความสงบสุขในฌานในสมาธินี้ว่าเป็นนิพพาน ก็มีเหมือนกัน ปรากฏชัดอยู่ในพระบาลีว่า คนพวกหนึ่งได้ถือว่า ภาวะแห่งจตุตถฌาณเป็นนิพพานอย่างนี้ตรงนี้ นั้นมันก็จริงเหมือนกัน คือมันเย็นมากเหมือนกัน และเป็นเรื่องทางจิตใจด้วย แต่ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่เย็นแท้ เป็นเรื่องเย็นเพียงชั่วคราว พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า นั่นยังไม่เป็นนิพพานที่แท้จริง จึงได้ตรัสถึงความหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง หมดอวิชชา หมดความทุกข์สิ้นเชิงนี้ว่า เป็นนิพพานอันแท้จริง เป็นนิพพานในพระพุทธศาสนา
มีหลักสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเมื่อใด ก็มีนิพพานเมื่อนั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นชั่วคราว ก็เป็นนิพพานชั่วคราว ไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยเด็ดขาดลงไป ก็เป็นนิพพานเด็ดขาดถาวรลงไป เราจึงกล่าวได้ว่านิพพานในพระพุทธศาสนานั้น คือหมดความยึดมั่นถือมั่นโดยสิ้นเชิง ความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ คือร้อน คือความร้อน ความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ คือพยศร้ายที่จะต้องดับให้เย็น ให้หมดไป เมื่อดับความยึดมั่นถือมั่นได้ก็เรียกว่าเป็นความเย็นจริง เป็นนิพพานจริง
คำอธิบายทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า คำว่านิพพานนั้นแปลว่าเย็น ดับเย็น มีอยู่หลายระดับ หลาย ๆอย่าง ทางวัตถุก็มี ทางครึ่งวัตถุก็มี ทางจิตชั้นต่ำ ๆ ก็มี ทางจิตชั้นสูงสุดก็มี ล้วนเป็นในสิ่งที่เรียกว่าความดับเย็นด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์แล้ว ต้องเป็นความดับเย็นโดยแท้จริง คือดับเย็นของความหมดกิเลสนั่นเอง จึงจะเรียกว่านิพพาน นี่เราจะเห็นได้ว่า คำว่านิพพานนี้มีความหมายว่าเย็น
ทีนี้ของเย็นจะเอาไปใช้ที่ไหนใช้เมื่อไหร่ ของเย็นนี้ต้องเอาไปใช้ตรงที่มีความร้อน หรือเมื่อมันร้อน ดังนั้นเมื่อคนอยู่ในโลกนี้ มีความร้อน มันก็ต้องใช้กันในโลกนี้ เวลาไหนมีความร้อน ก็ต้องการนิพพานเวลานั้นทันที เพื่อจะดับเย็น นั่นแหละขอให้เข้าใจว่า นิพพานอันเป็นยอดสุดของโลกุตรธรรมนั้น ต้องมาอยู่กับมนุษย์ที่มีความร้อน ถ้ามนุษย์ใดมีความเย็นเป็นปกติกันแล้ว จะเอานิพพานไปทำไมกัน จะมีประโยชน์อะไร มนุษย์คนไหนมีความร้อน มนุษย์คนนั้นแหละเป็นคนต้องการสิ่งที่เรียกว่านิพพาน
ฉะนั้นโลกุตรธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนานั้น จำเป็นที่จะต้องมาใช้แก่คนทุกคนที่มีความร้อน ถ้าใครไม่มีความร้อนก็แล้วไป ถ้าใครมีความร้อนก็จงนึกถึงสิ่งที่เรียกว่านิพพาน อันเป็นยอดสุดของโลกุตรธรรมในพระพุทธศาสนาเถิด จะเป็นการกระทำที่ถูกที่ฉลาด ไม่โง่เหมือนนักปราชญ์ทางวัตถุซึ่งมีอยู่ทั่ว ๆ ไป เป็นผู้ขัดขวางการนำโลกุตรธรรมมาใช้แก่บุคคลที่มีความร้อน ดังนั้นขอให้เข้าใจว่า คนชนิดนั้นเป็นศัตรูของมนุษย์ที่สุด ไม่มีศัตรูชนิดไหนจะยิ่งไปกว่า เพราะว่าเป็นผู้ขัดขวางความสุขสวัสดีของมนุษย์นั่นเอง พุทธบริษัทจงมีความรู้เรื่องนี้ให้ถูกต้อง และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนให้มากขึ้น ๆ ให้สมกับที่เป็นวันขึ้นปีใหม่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกปี
ทีนี้เราจะได้พิจารณากันถึงคำว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป ท่านทั้งหลายอย่าลืมอย่าเผลอ อย่าลืมว่าเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องทางจิต ทางใจ ทางวิญญาณเสมอ ไม่ใช่เรื่องทางวัตถุ คำว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นต้องเป็นเรื่องทางใจ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยใจ ทีนี้เราจะเปรียบเทียบกัน ยึดมั่นถือมั่นด้วยมือ-นี้ทางวัตถุ ยึดมั่นถือมั่นด้วยใจ-นี้ทางวิญญาณ เมื่อใดมีความยึดถือ เมื่อนั้นเราเรียกว่าไม่ว่าง เช่น มือของเราถืออะไรอยู่ กุมอะไรอยู่ เราเรียกว่ามือไม่ว่าง ถ้ามือไม่ได้ยึดถืออะไรไว้ เราเรียกว่ามือว่าง จงจำคำว่ามือว่างกับมือไม่ว่างไว้ให้ดี
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องทางจิตใจ ถ้าจิตใจกำลังไปยึดถือสิ่งใดอยู่ ก็เรียกว่าจิตไม่ว่าง ถ้าจิตกำลังไม่ได้ยึดถือสิ่งใดไว้ ก็เรียกว่าจิตว่าง มันต่างกัน เป็นตรงกันข้ามเสมอ เรื่องมือว่างมือไม่ว่างนี้ เราไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะไม่ใช่เรื่องพุทธศาสนา เราจะพูดกันแต่เรื่องจิตว่าง หรือจิตไม่ว่าง ที่ว่าจิตยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดอยู่นั้น ก็หมายความว่ามีอวิชชา อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มันมีอวิชชา ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มันมีอวิชชาในข้อนี้ มันจึงได้ไปยึดมั่นถือมั่น มีอะไรเข้ามากระทบตัว ทางตา ทางหู เป็นต้น มันก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นด้วยจิต ไม่ใช่ด้วยมือ แต่ว่าอาการอาจแสดงมาทางมือด้วยก็ได้ แต่เนื้อแท้ที่เรียกว่าความยึดมั่นในที่นี้นั้นหมายถึงจิต เช่น มีอะไรเข้ามาทางตา ถ้าเกิดความรู้สึกไปตามความโง่หลงคืออวิชชา มันก็ต้องไปรักหรือไปเกลียดเข้า อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้เป็นแน่นอน
ฟังดูอีกทีหนึ่งว่า มีอะไรเข้ามาทางตา กระทบตาเห็นรูปด้วยตา ถ้าความรู้สึกเดินไปตามอำนาจของอวิชชา ก็ต้องเกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา คือไม่รักก็ต้องเกลียด หรืออย่างน้อยที่สุดก็รำคาญ รำคาญนี้ก็อยู่ในพวกเกลียดเหมือนกัน ที่ไปรักก็คือมันว่าถูกใจถูกตา เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสตัณหา ก็ไปยึดถือในทางที่จะเป็นของของเรา คือของตนหรือของกู ถ้ามันไม่ถูกตา ก็ยึดมั่นถือมั่นไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน คือมันเป็นอุปสรรค ศัตรูของกู เพราะฉะนั้นจะต้องฆ่ามันเสีย อย่างนี้เป็นต้น ถ้ามันเข้ากันได้ หรือถูกอกถูกใจ ก็ต้องมาเป็นของกู คือเอามาไว้ยึดครอง ไม่ต้องการจะฆ่ามัน นี้จะเห็นได้ว่าความยึดมั่นถือมั่นนั่น มันทำด้วยใจแท้ ๆ แล้วไม่ใช่จะยึดมั่นถือมั่นแต่ส่วนที่รักที่ชอบ ถึงแม้ความรู้สึกที่ไม่รักไม่ชอบ คือความรู้สึกที่เกลียดหรือรำคาญ นี้ก็เป็นความยึดมั่นถือมั่นด้วยเหมือนกัน
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า คำว่ายึดมั่นถือมั่นในภาษาบาลีนี้ มันมีความหมายกว้างมาก คือไปสำคัญผิดเป็นตัวตนเข้าฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายโน้น แล้วสำคัญเป็นตัวตนเข้าฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายนี้ คือฝ่ายตัวผู้เห็น แล้วก็เกิดความรู้สึกที่เป็นความชอบหรือไม่ชอบขึ้น ในระหว่างสองฝ่ายนี้ นี้เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น ถ้าความรู้สึกชนิดนี้เกิดแล้วเป็นต้องมีความทุกข์ ไปรักเข้าก็จะต้องมีความทุกข์ตามแบบของความรัก ถ้าไปเกลียดหรือรำคาญเข้า ก็จะมีความทุกข์ไปตามแบบของความเกลียด หรือความรำคาญ เพราะฉะนั้นนั้นเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นจริง ก็ไม่ต้องมีความรู้สึกที่เป็นไปในทางรักหรือเกลียด แต่มีความรู้สึกไปทางปัญญา รู้สึกว่าควรทำอย่างไร ควรจัดอย่างไร หรือไม่ต้องจัดไม่ต้องทำอย่างไรเลย อย่างนี้เป็นต้น ถ้าต้องจัดต้องทำ เช่น ต้องเก็บต้องหา ต้องรักษา ก็ทำไป ถ้าไม่ต้องจัดต้องทำ จะต้องหลีกเสีย ก็หลีกไปเสีย อย่างนี้ไม่ต้องมีความรัก ไม่ต้องมีความเกลียดในสิ่งนั้น อย่างนี้เรียกว่ายังมีจิตที่ว่างอยู่ ยังไม่ได้ยึดถือ ยังไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นทุกข์ และเป็นจิตที่มีปัญญาอยู่ รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อสิ่งเหล่านั้น ก็ทำไปโดยไม่ต้องรู้สึกรัก หรือรู้สึกเกลียด เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ลองคิดดูเถิดว่ามันจะมีความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร
ที่เราอยู่กันในโลกนี้ ในบ้านในเรือน ในเมืองนี้ มันมีแต่เรื่องเดี๋ยวรัก เดี๋ยวเกลียดทั้งนั้น เห็นอะไรเข้าก็ต้องรู้สึกรักหรือเกลียด หรืออยากได้ หรือไม่อยากได้ ด้วยอำนาจของความยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น ความรู้สึกว่าควรจะหา ควรจะมี ควรจะกิน ควรจะใช้อย่างนี้ ทำไปได้โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่น คือทำไปตามหน้าที่ ทำไปตามความรู้สึกของสติปัญญา ไม่ต้องทำด้วยอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู คนธรรมดาก็ต้องทำไปด้วยอุปาทาน แล้วก็มีความทุกข์ร้อนวุ่นวายอยู่เป็นธรรมดา
ทีนี้พุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นก็สอนอุบาย หรือเคล็ดลับที่ฉลาดตรงนี้เองว่า เราสามารถจะเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ในโลกได้ โดยไม่ต้องใช้อุปาทาน โดยไม่ต้องมีความยึดมั่นถือมั่น แต่ให้มีปัญญาแทน เราจึงได้ความรู้ใหม่ เป็นวิชาการอันใหม่ที่สูงสุด มีค่าสูงสุดที่สามารถจะทำให้อยู่เหนือความทุกข์ได้ มารู้ มาเรียน มาปฏิบัติกัน แล้วก็อยู่ในโลกนี้ได้โดยสะดวกสบาย ไม่ต้องมีความทุกข์ความร้อนเลย
ดังนั้นเรื่องจะมีวัตถุหรือไม่มีวัตถุนั้น มันอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่เกี่ยวกันกับเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องทางจิตใจ เรามีหน้าที่จะต้องทำให้ถูกในทางจิตใจ แล้วจึงไปเกี่ยวข้องกับวัตถุ แล้วก็อย่าให้วัตถุกลายเป็นไฟ หรือเป็นความทุกข์ความร้อนขึ้นมา ก็เรียกว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมแล้ว ที่จะอยู่ในโลกนี้ ส่วนบุคคลที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้ ก็มีแต่จะเกิดความทุกข์ทั้งนั้น ไปแตะอะไรเข้าที่ไหนก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้น คนชนิดนี้ไม่ควรจะอยู่ในโลกนี้ จะไปอยู่ในโลกไหนก็ตามใจ แต่ว่าไม่ควรจะอยู่ในโลกที่มีอะไร ๆ ยั่วยวนแต่กิเลสตัณหามากเหมือนในโลกนี้ คนที่อยู่ในโลกที่มีอารมณ์อันยั่วยวนแต่กิเลสตัณหามากนั้น ต้องมีสติปัญญาในทางแห่งพระพุทธศาสนาให้เพียงพอกัน จึงสมควรที่จะอยู่ในโลกนี้อย่างไม่มีความทุกข์ ทำให้เรามองเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านั้น คือสิ่งที่จะช่วยเราให้อยู่ในโลกนี้โดยไม่พ่ายแพ้ เพื่อให้อยู่ในโลกนี้ด้วยชัยชนะอย่างเดียว โดยวิธีที่ทำให้จิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่เสมอ
ทีนี้ก็มีปัญหาเรื่องจิตว่าง-จิตไม่ว่าง ยุ่งขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ก็คือตรงที่ว่า คนในโลกรู้แต่เรื่องวัตถุ ดังที่กล่าวแล้ว พอพูดว่าจิตว่าง ก็เข้าใจผิดหมด เข้าใจเป็นจิตไม่มีอะไร จิตไม่มีความรู้สึกอะไร เป็นอะไรไปก็ไม่รู้ นั้นเป็นความโง่ความหลง ความเดาเอาไปตามประสาของคนโง่ จิตว่างชนิดนั้นเรียกว่าจิตว่างของคนอันธพาล เราจะต้องรู้เรื่องจิตว่างของคนอันธพาล หรือจิตว่างแบบอันธพาลให้ชัดเจนกันเสียประเภทหนึ่งก่อน จึงจะรู้เรื่องจิตว่างของพระพุทธเจ้าได้ จิตว่างแบบอันธพาลนี้ก็มีมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล แต่แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีมากอยู่หลายลัทธิ และเป็นคู่แข่งขันกันกับพระพุทธเจ้าด้วย
เพราะฉะนั้นขอให้ฟังให้ดีว่าจิตว่างแบบอันธพาลนั้น มันเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ากล่าวโดยข้อใหญ่ใจความก็คือมีอยู่สองพวก พวกหนึ่งมีเจตนาทุจริต จึงแกล้งทำเป็นจิตว่าง เพื่อจะหาประโยชน์ใส่ตัว พูดหรือทำเป็นว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เพื่อจะได้หาประโยชน์ใส่ตัว บัญญัติเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ด้วยเจตนาทุจริต เพื่อจะช่วยหาประโยชน์ใส่ตัว หรือพวกของตัว หรือให้เป็นที่ชอบอกชอบใจใคร แล้วก็ได้ประโยชน์แก่ตัว ดังนี้เป็นจิตว่างแบบอันธพาล ชนิดที่มีเจตนาทุจริต
จิตว่างแบบอันธพาลอีกประเภทหนึ่งก็คือ ทำไปเพราะโง่ ไม่ได้มีเจตนาทุจริตจะเอาประโยชน์ของใครมา แต่ว่าทำไปด้วยความโง่ ความเขลา ความสำคัญผิดของตัวก็มี นี้เรียกว่าจิตว่างแบบโมหะ คือโง่ จึงบัญญัติความว่างไปตามประสาคนโง่ จะยกตัวอย่างให้ฟัง เหมือนอย่างว่าโลภ เจตนาจะได้ประโยชน์ ก็บัญญัติให้เขาไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้สละอย่างที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีความหมาย เช่น หลอกให้คนขายบ้านขายเรือน อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน เอามาขายให้วัด เอาเงินมาทำวัดทำบุญ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าทำไปด้วยความโลภก็เรียกว่ามีเจตนาทุจริต
ในสมัยพุทธกาลที่เป็นคู่แข่งขันกันกับพระพุทธเจ้า ก็มีบางลัทธิที่บัญญัติว่า เรื่องโลกอื่นไม่มี สิ่งต่าง ๆ มีอยู่เพียงเท่าที่เรารู้สึกได้ ด้วยมือ ด้วยหู ด้วยตานี้ เพราะฉะนั้นจะต้องทำบุญให้ทาน บูชายัญกันในเวลานี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วมันสิ้นสุดกันเพียงเท่านี้ ไม่มีตัวตนของตนอะไรที่ไหน การทำบุญให้ทานเสร็จสิ้นที่สุดลงเพียงแค่เอามากินกัน หรือว่าถ้าเอาไปเผาไฟ ก็สำเร็จลงเพียงเป็นขี้เถ้า อย่างนี้เป็นต้นก็มี ก็ยังมียังเป็นลัทธิที่มีคนนับถือจำนวนมาก จนเป็นคู่แข่งขันกันกับพระพุทธเจ้า อย่างนี้ก็มี เรียกว่าเป็นจิตว่างแบบอันธพาลอาศัยโลภเจตนาทุจริตเป็นมูลฐาน
ทีนี้ที่ว่าจิตว่างแบบอันธพาลมีโมหะ-ความโง่เป็นมูลฐานนั้น ก็คือความเดาเอาต่าง ๆ นานา สันนิษฐานเอาต่างๆนานา ว่าอะไรเป็นอย่างไร หรือแม้ที่สุดแต่เรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตนี้ ก็ยังมีลัทธิที่สอนว่า การที่มีดตัดคอคนขาดไปอย่างนี้ ไม่มีใครตัดคอใคร มีแต่วัตถุผ่านไปในระหว่างวัตถุ เพราะฉะนั้นบุญไม่มี บาปไม่มี จะมีได้มีเสีย ก็อยู่ตรงที่วัตถุที่จะเกิดขึ้นมาจากการที่ตัดคอกันนี้ ไม่มีตัวมีตน ก็มีความว่างชนิดแบบอันธพาล เพราะโมหะอย่างนี้ ก็มีอยู่ในครั้งพุทธกาล มีคนนับถือมากชอบมาก ก็คือพวกโจร หรือพวกทหารบางประเภท ชอบถือลัทธิว่างแบบอันธพาลแบบนี้ เพื่อจะปลดเปลื้องความรู้สึกของตัวที่ว่า ไปฆ่าเขานั้นอาจจะเป็นบาป อย่างนี้ก็ยังมี เรียกว่ามันทำไป เพราะความคิดที่เป็นอันธพาลเพราะความโง่ อย่างนี้ก็ได้
จิตว่างแบบอันธพาลอย่างโลภะ อย่างโมหะ เป็นเจ้าเรือน เป็นต้นเหตุอย่างนี้ ไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นจิตว่างในพระพุทธศาสนา เป็นจิตว่างของพวกอันธพาล เหมาะสำหรับพวกโจร เป็นต้น ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ยังเหมาะสำหรับคนที่อยากจะฆ่าคนเล่น ด่าคนเล่น หรือเป็นฝ่ายที่ค้านผู้อื่นอย่างหลับหูหลับตา ก็นับว่าเป็นประโยชน์ หรือเป็นเครื่องมือที่ดี สำหรับบุคคลประเภทนั้นอยู่แล้ว แต่นั่นมันไม่ใช่พุทธศาสนา เราจึงต้องเรียกว่าจิตว่างแบบอันธพาล นี้เป็นอันการกล่าวถึงเรื่องจิตว่างแบบอันธพาล ให้รู้กันเสียก่อนว่ามันมีอยู่อย่างหนึ่ง ส่วนหนึ่ง อย่าเอามาปนกัน
ถ้าสมมติว่าจะมีใครสักคนหนึ่ง จะถือว่ากูไม่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาเฉย ๆ อะไร ๆ ก็ไม่ใช่ของกู นั่งภาวนาอยู่อย่างนั้น อย่างนี้ก็ยังเป็นจิตว่างแบบอันธพาลเพราะโมหะอยู่นั่นเอง หรือว่าถ้าถึงกับถูกเขาหลอกให้ขายบ้านขายเรือน ถวายวัดให้หมด แล้วตัวก็ไม่ต้องคิดว่าจะกินอะไรอย่างนี้ มันก็ยังเป็นจิตว่างแบบอันธพาลอยู่นั่นเอง แต่อย่างไรก็ดี เรายังจะมองเห็นได้ว่า มันยังเนื่องหรืออาศัยกันอยู่กับความหมายที่ว่า ไม่อยากจะยึดมั่นถือมั่นนั้นเหมือนกัน แต่มันทำไปในทางผิด ๆ เป็นเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างโมหะ อย่างผิด ๆ มันใช้ไม่ได้ เรียกว่าเป็นจิตว่างฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ มีอยู่มากมายหลายสิบชนิด ไม่ต้องพูดถึงก็ได้
ทีนี้จะพูดถึงจิตว่างที่ไม่อันธพาล ถึงแม้จิตว่างที่ไม่ใช่อันธพาลนี้ ก็มีอยู่หลายแบบด้วยกัน จะต้องรู้จักคิดวินิจฉัยให้ดี ๆ ถ้าจะแยกเป็นส่วนใหญ่ ๆ ก็คือว่า จิตว่างแบบที่ว่างเองนี้พวกหนึ่ง และก็จิตว่างแบบที่ต้องทำให้มันว่างขึ้นมานี้พวกหนึ่ง เป็นสองพวกด้วยกัน แบบมันว่างเองนี้ มันไม่เกี่ยวอะไรกับพุทธศาสนา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจไว้ ควรจะเข้าใจไว้ ว่าจิตว่างที่มันว่างเองนั้น มันเป็นอย่างไร จิตที่ว่างเองนี้ มันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ มันว่างได้เองตามธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มีความจำเป็นที่จะต้องมี หรือมีประโยชน์มาก จิตที่ว่างเองตามธรรมชาติเราดูได้ง่ายที่สุด เช่น ในเวลาที่นอนหลับ มันก็ไม่มีความยึดมั่นตัวกู-ของกูอะไร นอนหลับสนิทดี จิตว่างชนิดนี้มันเป็นเองตามธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ นั้นจึงยังไม่ใช่จิตว่างตามแบบพุทธศาสนา
แต่ลองคิดดูเถิดว่า ถ้าคนเราไม่มีจิตว่างแบบนอนหลับ มันคงตายไปหมดโลกแล้ว ไม่มีมนุษย์เหลืออยู่ในโลกเลย มนุษย์มีชีวิตรอดมาได้ เหลืออยู่ในโลกได้ ก็เพราะว่ามีการนอนหลับ มีการกินอาหาร มีการนอนหลับ สลับกันไป เมื่อมีการทำงาน มีอุปาทาน มีความยึดมั่นถือมั่น ตื่น ๆ อยู่พักหนึ่ง เดี๋ยวมันเหนื่อยขึ้นมา มันเบื่อขึ้นมา มันก็หลับไป มันก็ว่างพักผ่อน หรือว่าไม่หลับ บางเวลาเราก็ยังว่าง ไม่ใช่ว่าตื่น ๆ อยู่นี้จะมีอุปาทานไปเสียหมด มีอุปาทานต่อเมื่อจิตปรุงแต่งเป็นตัวกู-ของกู เพราะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น
เพราะฉะนั้นในวันหนึ่ง ๆ ๒๔ ชั่วโมงนี้ มันมีเวลาที่ว่างมากกว่าที่ไม่ว่าง เพราะว่าสมมติว่าเรานอนหลับ ๘ ชั่วโมง นี้เราได้ว่าง ๘ ชั่วโมง ทีนี้ในกลางวันอีก ๑๖ ชั่วโมง ความวุ่นเป็นโลภะ โทสะ โมหะ เป็นตัวกู-ของกูนั้น จะมีไม่เกิน ๖ ชั่วโมง อีก ๑๐ ชั่วโมงมันก็ยังว่าง ดังนั้น๑๘ ชั่วโมงมันว่าง ๖ ชั่วโมงมันไม่ว่าง มันจึงอยู่มาได้ สมสัดส่วนกัน ตามที่ธรรมชาติกำหนดว่า ถ้าเพียงเท่านี้ยังไม่ต้องตาย สมมติว่าใครนอนไม่หลับทั้ง ๒๔ ชั่วโมง มีจิตวุ่นเดือดพล่านไปทั้ง ๒๔ ชั่วโมง คนนั้นมันก็ต้องเป็นโรคเส้นประสาท เป็นบ้า และตายไม่เหลืออยู่ในโลกได้ ทีนี้ใน ๒๔ ชั่วโมงนั้น มันไม่ว่างเพียงไม่กี่ชั่วโมง มันว่างมากกว่ากันมากนัก ดังนั้นเราจึงขอบคุณจิตว่างตามธรรมชาติ เพราะมันช่วยให้สัตว์มีชีวิตรอดมาได้ตามธรรมชาตินั้น
ลองพิจารณาดูต่อไปอีก ถึงข้อที่ว่าทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่เวลานี้ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่ว่าขณะนี้ยังมีจิตว่าง เพราะกำลังตั้งใจฟังธรรม หรือจิตใจส่งไปตามธรรม ตามคำพูดที่แสดง ไม่เกิดตัวกู ไม่เกิดของกู อย่างนี้ก็ยังเรียกว่าเป็นจิตว่าง ทำให้มีความสบาย มีความพอใจ ไม่ทุกข์ทรมาน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นจิตว่างที่เป็นเอง แต่ว่ามันกระเดียดไปข้างที่จะเป็นธรรมะ เพราะว่าได้อาศัยธรรมะที่แสดงนี้อยู่ ทีนี้ไม่เอา สมมติว่าไปเที่ยวตามทะเล ไปเที่ยวบนภูเขา ไปเที่ยวตามที่สงบสงัด จิตมันก็ว่างขึ้นมาตามธรรมชาติแวดล้อม อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตนั้นยังว่างเอง นี่มันก็ยังทำให้รู้สึกสบายใจ พออกพอใจ จึงมีคนเป็นอันมากชอบไปเที่ยวตามป่าตามเขา ตามทะเล ที่ทำให้จิตสบาย คือว่าง นี้ก็เรียกว่าจิตว่างที่เป็นไปเอง
มันใกล้เข้ามา ๆ มันแบ่งกันได้ตรงที่ว่า เราตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ถ้าเราตั้งใจไปที่ชายทะเล หรือไปบนภูเขาเพื่อจิตของเราว่าง อย่างนี้มันก็กระเดียดเข้าไปในทางเป็นการปฏิบัติอยู่มากแล้ว เช่น สมมติว่าพอจิตวุ่นวาย กลุ้มอกกลุ้มใจขึ้นมา ก็ไปหาบุคคลบางคน ไปหาอาจารย์ ไปหาผู้รู้อะไรบางคนที่ไหน เพื่อไปสนทนากันครู่เดียว มันก็สงบระงับไปเป็นจิตว่าง อย่างนี้มันก็กระเดียดที่จะเป็นการปฏิบัติเข้าไปแล้ว คือการเข้าไปหา หรือไปนั่งใกล้บุคคลบางคน ที่จะช่วยทำให้จิตว่างลงมาได้ ว่างในลักษณะอย่างนี้มันก็ยังเป็นการชั่วคราว ถ้ามันว่างเองแท้ ๆ ก็เรียกว่าไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ถ้ามันว่างเพราะเราตั้งใจจะกระทำอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไปเล่นอะไร ไปทำอะไร ไปคุยกับใคร นี้มันก็กระเดียดที่จะเข้ามาเป็นพุทธศาสนา คือเป็นจิตว่างแบบเรียกว่าได้รับจากสิ่งแวดล้อมที่เราจับขึ้นมา เช่น สมมติว่าเราไปดูซากศพในโลง เพื่อระงับความรู้สึกที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นบางอย่างอันนี้ เรียกว่าเราจับเราทำขึ้นมา รวมอยู่ในการปฏิบัติอย่างหนึ่งทีเดียว จิตว่างแบบนี้ก็ยังมีคุณ มีประโยชน์สูงขึ้นมากกว่าจิตว่างตามธรรมดา ที่มันยังไม่มีการปฏิบัติเสียเลย
ทีนี้เรามีความประสงค์จะทำให้ดียิ่งขึ้นไป เราจึงปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่รวมไว้เป็นหลักใหญ่ ๆ คือเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น จำแนกออกไปเป็นเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องศีลก็อาศัยเรื่องทางกาย ทางวาจา แวดล้อมเข้ามา เรื่องสมาธิก็คือเรื่องบังคับจิตใจ ให้มันว่างลงไปโดยตรง เรื่องปัญญานั้นเป็นเรื่องขุดรากเหง้าของความวุ่น ไม่ต้องใช้บังคับ ซึ่งมันลำบาก ต้องใช้อุบายที่ฉลาด คือพิจารณาไปในทางที่ให้มันผ่ายผอมไปเอง นี้เรียกว่าเป็นปัญญา เรื่องศีล เรื่องสมาธิ ปัญญานี้เป็นอุบาย สำหรับทำให้มีจิตว่างยิ่งขึ้น ๆ โดยวิธีที่เรียกว่าแยบคาย ในพุทธศาสนานี้เราใช้คำว่าแยบคาย คือว่าค่อนข้างจะลึกลับซับซ้อน รัดกุมกันอยู่ในตัว ช่วยเหลือกันอยู่ในตัว อย่างถูกต้องอย่างถูกวิธี สามารถจะยึดหน่วงความเป็นจิตว่างนี้ไว้ได้มาก ไว้ได้นานกว่าธรรมดา จึงเรียกว่าเป็นการปฏิบัติโดยตรง เมื่อเราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือว่าเราตั้งใจกระทำ คือทำการปฏิบัติเพื่อให้เกิดจิตว่างนี้ขึ้นมา อย่างมีรากฐานอันมั่นคง อย่างใหญ่หลวง อย่างกว้างขวาง
ฉะนั้นจึงควรจะมองเห็นว่า คำว่าจิตว่างนี้ มันมีอยู่หลายอย่าง อย่างนี้ และหลายระดับอย่างนี้ จิตว่างในพุทธศาสนาก็คือ ต้องกระทำมันให้ว่าง แล้วก็ยังแบ่งออกไปได้ว่า ว่างชั่วคราวคือไม่เด็ดขาดก็มี และก็ว่างเด็ดขาดไปเลยก็มี ที่ว่างเด็ดขาดไปเลย ก็คือจิตว่างของบุคคลที่เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ประเภทเดียวเท่านั้น ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีจิตว่างชนิดที่ยังไม่เด็ดขาด ยังไม่สมบูรณ์ ยังมีไม่ว่างอยู่บางสิ่งบางอย่าง บางขณะ ยิ่งถ้าเป็นปุถุชนคนธรรมดามากไป ก็ยังมีที่ไม่ว่างนั้นมากกว่าพวกที่เป็นพระอริยะเจ้าแม้ในอันดับต้น ๆ เพราะฉะนั้นขอให้คิดดูให้ดี สังเกตให้ดี พิจารณาให้ดีว่าคำว่าจิตว่างนี้ มันมีอยู่มากมายหลายชั้น หลายระดับอย่างไร แต่ยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือคิดดูให้ดีว่า มันจำเป็นอย่างยิ่งแก่พวกเราอย่างไร ถ้าเราไม่มีจิตว่างเสียเลย เราต้องไปอยู่โรงพยาบาลบ้ากันแล้ว แล้วก็ตายกันแล้ว หมดไปแล้ว ไม่เหลืออยู่เลยในโลกนี้
นี้คืออานิสงส์ของคำว่าจิตว่าง ตามแบบของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่จิตว่างตามแบบอันธพาล จิตว่างตามแบบอันธพาลนั้น อาจจะนำมาซึ่งความทุกข์อย่างอื่น หรือว่าอาจจะนำมาซึ่งลัทธิชั่วร้าย เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ หรืออะไรที่เขาเรียกกันในทำนองนั้นก็ได้ มันเป็นจิตว่างแบบคดโกง หรือถ้าจะดูให้ดีกันแล้ว ถ้ามันเป็นเรื่องของความคดโกงความเอาเปรียบแล้ว มันเป็นเรื่องไม่ว่าง ถ้าเป็นเรื่องว่าง ว่างจริง แม้ว่างตามธรรมชาติ มันก็เป็นแบบอย่างที่เขารังเกียจกันนั้นไม่ได้ ถ้ามันเป็นแบบที่เขารังเกียจกัน ไม่ปรารถนากันแล้ว มันต้องเป็นเรื่องไม่ว่างทั้งนั้น คือเป็นเครือเดียวกันกับเรื่องของความทุกข์ เพราะฉะนั้นอย่าได้ไปรังเกียจเรื่องของจิตว่าง แต่ต้องพิจารณาดูให้ดีว่าอย่างไหนมันเหมาะกับเรา
ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท พยายามมีจิตว่างตามแบบของพุทธบริษัท ให้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือมีรากฐานมาจากการไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน หรือของตน ด้วยอำนาจของอวิชชา ข้อที่เขาไม่เข้าใจก็อยู่ตรงที่ว่า เอาเรื่องวัตถุมาปนกับเรื่องจิตใจ พอได้ยินคำว่าว่าง ก็หมายถึงไม่มีอะไร แล้วก็สอนกันไปอย่างผิด ๆ ว่าสุญญตานี้แปลว่าสูญเปล่า คนมีความรู้ขนาดเป็นนักปราชญ์บัณฑิต ที่เขายกย่องกันทั้งเมืองนี้ ก็ยังแปลว่าคำสุญญตาว่าสูญเปล่า นั้นมันเป็นความโง่ของคนนั้น อย่าเอามาเป็นอารมณ์ อย่าเอามาถือเป็นหลัก สุญญตาไม่ได้แปลว่าสูญเปล่า ถ้าสุญญตาแปลว่าสูญเปล่า ก็ต้องเป็นสุญญตาของพวกอันธพาล ที่จะหลอกให้คนทำบุญให้ทาน ชนิดทำนาบนหลังคนอื่น เหมือนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
สำหรับสุญญตาของพระพุทธเจ้าแปลว่า ว่างจากความรู้สึกว่าเป็นตัวกู หรือของกู สุญญตาตามแบบของพระพุทธเจ้าไม่ได้แปลว่าสูญเปล่า แต่แปลว่า ว่างจากความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกู หรือของกู เมื่อว่างจากความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกู-ของกูแล้ว มันก็เป็นวิชชาคือเป็นความฉลาด รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าอะไรควรทำอย่างไร
จึงขอฝากไว้แก่ท่านทั้งหลายทุกคนว่า คำพูดแต่ละคำ ๆ มันมีสองความหมายทั้งนั้น คือความหมายอย่างมิจฉาทิฏฐิก็มี อย่างสัมมาทิฏฐิก็มี เช่นคำว่าสุญญตา ถ้าอย่างมิจฉาทิฏฐิก็แปลว่าสูญเปล่า ถ้าสุญญตาที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็แปลว่า ว่างจากความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู ว่าของกู มันต่างกันอย่างนี้ คำว่าจิตว่างก็เหมือนกัน แบบมิจฉาทิฏฐิก็เป็นจิตว่างอันธพาล จิตว่างที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็คือจิตที่กำลังไม่ได้ยึดถืออะไรด้วยอุปาทานว่าเป็นตัวกู-ของกูดังนี้ รู้จักแบ่งแยกคำพูดคำเดียวที่ใช้ได้ทั้งฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิกันให้ดี ๆ อย่าไปปนกัน
ในอีกทางหนึ่งก็รู้จักแยกคำพูดคำเดียว ที่มีความหมายทางวัตถุนั้นอย่างหนึ่ง มีความหมายทางนามธรรม หรือทางจิตทางวิญญาณนั้นอีกอย่างหนึ่ง ดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้นว่า คำว่าว่างทางวัตถุนั้น มันหมายถึงไม่มีอะไรเลย แต่ถ้าว่าว่างทางจิตทางวิญญาณนั้นหมายถึงว่า มีอยู่ทุกสิ่ง แต่ไม่ได้ยึดถือว่าตัวเรา หรือของเราเท่านั้น อย่าเอาเรื่องวัตถุกับเรื่องนามธรรมมาปนกัน ซึ่งทำให้เข้าใจอะไรไม่ได้ และให้รู้ว่าเรื่องพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องทางนามธรรม คือทางจิตทางวิญญาณ ที่จะศึกษา ปฏิบัติกันให้ชำนาญแล้วจะมีอำนาจเหนือวัตถุ ภาวะที่มีอำนาจเหนือวัตถุนั้น เรียกว่าโลกุตรธรรม คือความอยู่เหนือโลก
เมื่อเรายังต้องอยู่ในโลกแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เรื่องนี้ เพื่ออย่าให้โลกทำอันตรายเรา เพื่อเราจะอยู่เหนือวิสัยของโลกเสมอไป เราจึงสมควรที่จะอยู่ในโลกนี้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็จงไปอยู่ที่โลกอื่นซึ่งไม่ใช่โลกนี้ เพราะว่าในโลกนี้เต็มไปด้วยเรื่อง หรือสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญหา ในทางความยึดมั่นถือมั่น ถ้าใครไม่มีความรู้ที่จะต่อสู้กับสิ่งที่มายั่ว ให้ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็ไม่ควรจะอยู่ในโลกนี้ ไปอยู่ในโลกนรกอเวจีจะเหมาะกว่า เพราะว่าคงจะมีเรื่อง หรือมีสิ่งที่ไม่ช่วยให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นมากนัก แต่ถ้ายังอยากจะอยู่ในโลกนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่ยั่วให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นแล้ว จงสำนึกและรู้สึกไว้เถิดว่า เรื่องโลกุตรธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุญญตา ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ จำเป็นแก่ท่านทั้งหลายทุกคน
ทีนี้บัดนี้เวลาปีใหม่ล่วงเข้ามาเป็นวันแรก ก็ควรจะเป็นวันเวลาที่สอบสวนดูว่า จิตของเราจะว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า มากขึ้นหรือน้อยลง ในระยะปีหนึ่งที่ผ่านมา เมื่อรู้ดีรู้ถูกต้องแล้ว จะได้รู้ว่าต่อไปจะต้องจัด จะต้องทำอย่างไรต่อไปอีก มันจึงจะก้าวหน้า ต่อเมื่อมีความก้าวหน้าเท่านั้น จึงจะเรียกว่าปีใหม่ ถ้าไม่มีความก้าวหน้าแล้ว มันยังเป็นปีเก่าอยู่นั่นเอง มันถอยหลังเข้าคลอง เป็นปีเก่าอยู่นั่นเอง จะมีชีวิตยืนยาวไปอีกกี่ปี กี่สิบปี มันก็เป็นปีเก่าอยู่นั่นเอง ไม่เป็นปีใหม่ ถ้าเป็นปีใหม่ต้องก้าวหน้า คือมีจิตใจสูงขึ้น ไปในทางความสะอาดสว่างสงบ คือไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ชนิดที่เป็นความทุกข์ หรือมีแต่น้อย น้อยลง ๆ จึงจะเรียกว่าเป็นความก้าวหน้า
ดังนั้นการที่เรามาประชุมกันในวันนี้ ที่นี้ ในฐานะเป็นวันปีใหม่นี้ ก็นับว่าได้พยายามกระทำกันไปในทางที่ดีที่ควรทำแล้ว คือมาฟังกันดู คิดกันดูมาสอบสวนกันดู ควรจะทำอะไรบางอย่าง ที่เป็นการสอบไล่กันดูในวันนี้ เช่น เรื่องขี้โมโห มันน้อยลงหรือเปล่า ความเห็นแก่ตัว มันน้อยลงหรือเปล่า ทุก ๆ อย่างล้วนแต่ทดสอบได้ ก็ถือโอกาสทดสอบกันเป็นปี ๆ เฉพาะปี ๆ เหมือนการสอบไล่ นั่นแหละจึงจะเรียกว่าเป็นผู้รู้จักถือเอาซึ่งประโยชน์จากการขึ้นปีใหม่ เพื่อชัยชนะชนิดที่เวลาจะไม่กินเราได้ แต่ว่าเราจะกลับเป็นผู้กินเวลา คือชนะเวลา ผู้ที่ไม่มีความต้องการอะไร ไม่ยึดมั่นอะไรนั่นแหละ เป็นผู้ที่กลับกินเวลา คือชนะเวลา ส่วนคนนอกนั้น เป็นผู้แพ้แก่เวลา จะถูกเวลากิน หรือลากคอเอาไป ตามวันเวลาที่ล่วงไป สู่ความตายอย่างไร้ความหมาย ไม่มีคุณค่าใด ๆ จะเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา
ดังนั้นจึงหวังว่า พวกเราทุกคนจะชำระสะสางปัญหาต่าง ๆ อันเกี่ยวกับเรื่องของเวลา ซึ่งสัมพันธ์กันอยู่กับคุณธรรมในพระพุทธศาสนา คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะมารู้มาเข้าใจแจ่มแจ้งอยู่เสมอว่า หลักธรรมะที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ และเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนานั้น คือความที่ลืมหูลืมตาอย่างแจ่มแจ้งอยู่เสมอว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา
จงเป็นผู้อยู่ด้วยจิตว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ในฐานะเป็นตัวตน หรือของตน เพื่อให้เกิดความทุกข์ความร้อน แต่อยู่ด้วยความสงบเย็น ความสะอาดบริสุทธิ์ ความสว่างไสว ไม่มีความทุกข์ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนาเลย ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้