แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้วันที่ ๒๕ เมษายน ๑๐ สำหรับพวกเรา ได้ล่วงมาถึงเวลา ๕.๐๐ น. แล้ว เป็นเวลาที่กำหนดไว้สำหรับพูดจาเรื่องอะไรกันเรื่องหนึ่ง สำหรับวันนี้จะได้พูดถึงเรื่อง “ความนิยมในของแพง” คำว่า “ของแพง” ในที่นี้มีได้สองความหมาย คือว่าของแพง ของดี ของมีราคาสูงสุด จริงๆนี้ก็มีความหมายอยู่อย่างหนึ่ง ส่วนของแพงอีกอย่างหนึ่งนั้นก็คือหมายความว่า มันไม่ได้ดีจริง แต่เราไปหลงว่าดีแล้วก็ไปซื้อหามาโดยราคาที่แพง คือไปโดนของแพงเข้าทั้งที่ของนั้นไม่มีราคาเลยก็ได้ เพราะว่าความนิยมในของแพงของดีนี้ ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปทั้งหมด เพราะใครๆก็ชอบของแพงของดีด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าจะไม่ชอบจ่ายเงินมากหรือลงทุนมาก ก็ยังอยากจะได้ของแพงของดีที่สุดอยู่นั่นเอง ดังนั้น จึงเป็นการกระทำหรือความนิยมที่เคยชินเป็นนิสัยแก่ทุกคนหรือทุกหนทุกแห่ง คือนิยมของแพง ใครมีอะไรดีหรือแพงสักหน่อยก็ชอบจะโอ้อวดกัน จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย ข้อนี้ก็เป็นลักษณะหนึ่งของความมีตัวกูของกู หรือส่งเสริมความรู้สึกเช่นนั้นมันต่างกันกับผู้ที่หวังจะได้ของแพงหรือมีของแพงโดยบริสุทธิ์ใจ ของที่ดีที่สุดประเสริฐที่สุด คงจะไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน หรือจะเรียกว่า แก้วสามประการคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งรวมนิพพานอยู่ด้วยเป็นธรรมดา แต่แล้วของแพงชนิดนี้ พระพุทธองค์กลับตรัสว่า ให้เปล่า ลทฺธา มุธา นิพฺพุติ ภุญฺชมานา ได้นิพพานมาบริโภคอยู่เปล่าๆ
ถึงแม้ในคัมภีร์ของพวกคริสเตียน ก็มีกล่าวอย่างเดียวกันนี้ เช่นที่พระ Jesus Christ กล่าวว่า ให้น้ำแห่งชีวิตบริโภคเปล่าๆไม่คิดสตางค์ น้ำแห่งชีวิตในที่นี้หมายถึง ชีวิตนิรันดร หรือแผ่นดินพระเจ้านั่นเองแล้วแต่จะเรียก ใครกินน้ำชนิดนี้เข้าไปแล้วไม่รู้จักตาย จึงได้เรียกว่า น้ำแห่งชีวิต ดังนี้ก็หมายความว่าเป็นของให้เปล่าอีกเหมือนกัน มันน่าประหลาดที่ว่า ของที่ประเสริฐที่สุดนั้น กลับให้เปล่า พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีราคา ดังนั้น คำว่าไม่มีราคา จึงมีสองความหมาย คือว่าไม่มีค่าอะไรเลยตามที่มนุษย์พูดกันอยู่อย่างนี้ก็มี ไม่มีราคาเพราะอยู่เหนือวิสัยของการที่จะคำนวณราคาได้ เช่นที่พระอริยเจ้าพูดกันอยู่ก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน เป็นต้นนี้ เป็นอนัคคะคือ อยู่เหนือวิสัยที่จะมีราคาหรือตีราคา เราเรียกว่า ไม่มีราคา ในภาษาไทยก็พูดว่า หาค่าไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ว่า INVALUABLE หาค่าไม่ได้อีกเหมือนกัน
เมื่อนึกดูถึงข้อนี้แล้ว ก็จะนึกเห็นว่าที่เรียกว่า ความนิยมในของแพงนั้น มันคืออะไรกันแน่ โดยทั่วไปที่เป็นอยู่จริงในหมู่คนธรรมดาสามัญ แม้ที่เป็นภิกษุสามเณรด้วยก็ได้ ก็คือ กิเลสชนิดหนึ่งนั่นเองที่ทำให้นิยมของแพง ถ้ามีเงินพอแล้วก็เป็นซื้อของแพงนี้เสมอ โดยไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นของถูก หรือของไม่มีราคาเลย กิเลสที่เป็นเหตุให้คิดไปในทางที่จะดีกว่าคนอื่น ที่เรียกว่า มานะสังโยชน์ หรือ มานานิสัย เป็นต้นนี้ มีประจำอยู่ในทุกๆคน คือเป็นความเคยชินเป็นนิสัยของคนทุกๆคน เด็กๆอาจจะไม่ได้มีกิเลสนี้ ไม่ได้มีความรู้สึกอย่างนี้ในวันที่คลอดออกมาจากท้องแม่หรือโตขึ้น พอโตขึ้นมาอีกเล็กน้อยก็เริ่มมีความรู้สึกอย่างนี้ด้วยการอบรมโดยไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ก็มีกิเลสอย่างนี้เต็มที่ หรือเคยชินเป็นนิสัย
เรา นักศึกษาธรรมทูตก็คงจะมีกิเลสข้อนี้เหลืออยู่มากเหมือนกัน เพราะว่าความนิยมในเรื่องของดี ของแพง ของมีเกียรติ ของอะไรเหล่านี้ ดูจะพูดกันอยู่อย่างติดปาก แม้ที่จะไปเมืองนอกนี้ ที่ไปด้วยคิดว่าเป็นเรื่องที่มีเกียรติก็คงจะมีอยู่ไม่น้อย นี้ก็เนื่องมาจากนิสัยที่นิยมของแพง แต่เมื่อดูให้ดีแล้วมันก็เป็นเรื่องที่เป็นปฏิปักษ์หรือตรงกันข้ามกันอยู่กับหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาซึ่งนิยมของให้เปล่า และนิยมที่จะทำลายสิ่งที่เรียกว่า เกียรติ นั้นให้หมดความหมายไป หรือกล่าวอีกทีหนึ่งให้กว้างออกไปก็คือว่า ทั้งสาม ก. คือ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ สาม ก. นี้ ต้องถูกทำลายให้หมดไป โดยอำนาจของสาม ส. คือ สะอาดสว่าง และสงบ ในที่สุดก็จะมีภาวะที่น่าปรารถนาคือ ไม่มีทุกข์เลย เรื่อง สะอาด สว่าง สงบ ของพระพุทธเจ้า ก็คือความหมายของ นิพพาน ที่ให้เปล่า ที่ไม่ต้องลงทุน ซื้อหาแม้แต่สตางค์แดงเดียวในส่วนนี้ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ต้องสละออกไป ไม่ใช่เป็นเรื่องรับอะไรเข้ามา สละออกไป สละออกไป สละออกไป จนไม่มีอะไรเหลือ จึงจะเป็นภาวะแห่งความสะอาด สว่าง สงบ ไม่มีตัวกูไม่มีของกูนั่นคือ สะอาด สว่าง สงบ ถึงที่สุด
ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ว่า สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีแม้แต่ตัวจะเหลืออยู่ จึงจะเป็นความสะอาด สว่าง สงบหรือเป็นภาวะแห่งนิพพาน ไม่อาจจะตีค่าได้เพราะไม่มีอะไร เพราะให้ไปจนหมดไม่มีอะไรเหลือแม้แต่ตัว ความนิยมในของแพงไม่มีที่ตั้งที่อาศัย เพราะไม่มีตัวกู ของกูที่จะเป็นเจ้าของ หรือเป็นทรัพย์สมบัติ มันขัดกันอยู่กับความรู้สึกนิยมในของแพง ปากกาที่จะใช้เขียนหนังสือก็จะต้องแพงที่สุดหรือดีกว่าใคร นาฬิกาสำหรับดูเวลาก็จะต้องดีที่สุด หรือแพงที่สุด แปลกที่สุดกว่าของใคร แม้สิ่งที่เหลือเฟือออกไปก็ยังจะต้องแพงที่สุดต้องดีที่สุดอยู่นั่นเอง ถ้าเขาให้เลือก ก็จะเลือกเอาใบเบิกทางหรือตั๋วชั้นหนึ่งเป็นธรรมดาของคนประเภทนี้ ดังนั้น จึงไม่มีเนื้อที่เหลืออยู่ ว่างอยู่สำหรับจะเอาไปเจือจานผู้อื่น เพราะต้องการจะเอาไว้ให้ดีที่สุดและรวบให้หมดเพื่อความเหนือผู้อื่น ความเคยชินเป็นนิสัยเช่นนี้ คิดดูให้ดีเถิด จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดทีเดียว หรือทำลายความเป็นสมณะศากยบุตรให้หมดไป ไม่มีอะไรเหลือก็ว่าได้ มันเลยไปถึงความรูสึกคิดนึกที่ต้องการจะให้คนอื่นรับใช้หรือปรนนิบัติเอาอกเอาใจ ถ้าไปถึงนี้แล้ว งานธรรมทูตก็ล้มละลายตั้งแต่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ความคิดที่ว่าจะให้ผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ฟังที่จะได้รับประโยชน์อะไรจากเรา ปรนนิบัติเรานั้น เป็นอันตรายที่ร้ายกาจที่สุด เป็นความคิดที่จะทำนาบนหลังโยม หลังทายก ทายิกาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอาการประจบประแจงโยมคือ การประทุษร้ายตระกูล ก็เกิดขึ้นเพราะข้อนี้ เพราะนิยมของแพงของมาก จึงถือว่าเป็นอันตรายของความเป็นสมณะศากยบุตรโดยแท้
เรื่องญาติโยมก็มีความหมายอย่างนี้เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อสันโดษมักน้อย เพราะเห็นได้ที่มีการประจบประแจงโยม ในบางกรณีก็ถึงกับล่อลวงอย่างหน้าเป็น ที่ให้ได้อะไรมาลักษณะที่ดีไม่มีขอบเขต มากไม่มีขอบเขต จึงนับว่าเป็นสิ่งที่น่าอันตรายที่สุดที่เกิดมาจากความรู้สึกที่นิยมของดี ของแพง หลงใหลในสิ่งนี้โดยไม่รู้สึกตัว แล้วเราก็ไม่ได้นึกได้คิดอะไรกันมากเพราะเป็นของธรรมดาสามัญมีอยู่ทั่วๆไป แต่ถ้าเกี่ยวกับความเป็นสมณะศากยบุตร และเป็นธรรมทูตที่บริสุทธิ์ด้วยแล้ว เป็นเรื่องที่ร้ายกาจมาก เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ต่อเจตนารมณ์ของความเป็นธรรมทูตที่ถูกต้อง หรือที่จะทำงานได้สำเร็จประโยชน์แท้จริง
หวังว่าพวกเราจะได้เหลือบตาดูไปยังสิ่งที่เรียกว่าดี ว่าแพงนั้นกันเสียใหม่ ด้วยสายตา และน้ำใจที่ผิดจากที่แล้วมา ถ้าเรียกว่าอย่างตรงกันข้ามได้ก็จะเป็นการดี มีอะไรที่เคยสนใจไปในทางที่จะดีจะสวยจะรวยจะงาม จะเหนือคนอื่นแล้วล่ะก็ ควรจะโกยไปทิ้งเสียให้หมด รวมถึงความคิด รวมถึงสิ่งของให้เหลืออยู่แต่ทรัพย์สมบัติตามแบบชีวิตหมอนไม้ ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวมันเองแล้ว เพราะดูเหมือนห้าสตางค์ก็จะไม่มีใครซื้อ แต่แล้วก็มีประโยชน์มากถึงกับป้องกันพญามารได้ตามพระพุทธพจน์นั้น ยิ่งของที่มีค่าทางวัตถุน้อยเท่าไร ก็จะยิ่งมีค่าทางจิตใจเพิ่มขึ้นเท่านั้น มันตรงกันข้าม มันเป็นการเล่นตลกกันอย่างนี้อยู่ร่ำไปขอได้โปรดพิจารณาดูอย่างละเอียดด้วยความไม่ประมาทเถิด ในพระพุทธภาษิตที่ว่า จงเป็นผู้ไม่ประมาทนั้น ต้องรวมข้อนี้อยู่ด้วย คือ มีสายตาที่ลึกซึ้งมองเห็นสิ่งเหล่านี้โดยไม่ถูกลวงจากสิ่งเหล่านี้ คือจากกิเลสของเราเองที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราต้องไม่ถูกลวง ถูกลวงเมื่อใด เรียกว่า เป็นผู้มีความประมาทเมื่อนั้น ไม่มีสติสัมปชัญญะเมื่อนั้น ความเคยชินเป็นนิสัยในของดีของแพงนั้นย่อมถูกสับเปลี่ยนกันเสียอย่างเด็ดขาด ของดีของแพงตามภาษาชาวบ้านนั้นต้องถูกสับเปลี่ยนกันเสียด้วยของดีของแพงในภาษา พระอริยเจ้า คือ ของที่ไม่มีค่าในทางวัตถุแต่มีค่าในทางจิตใจ เช่น พระนิพพาน เช่นพระรัตนตรัย เป็นต้น จะต้องถูกนำมาสับเปลี่ยนกับสิ่งที่เคยอยู่ในความคิดนึก หรือลุ่มหลงอยู่เป็นประจำวันในเรื่องกินดี อยู่ดี คำนี้แม้รัฐบาลจะชักชวนมาก แต่ขอให้เห็นตามที่เป็นจริงว่าเป็นอันตรายมาก ประชาชนพลเมืองของไทยประเทศไทยเราจะสูญเสียความเป็นพุทธบริษัทก็เพราะคำคำนี้ โดยไม่รู้สึกตัวเมื่อไรก็ได้ ทำนองเดียวกับ งานคือ เงินนั้นเหมือนกัน ถ้าถือเอาความหมายผิด ไม่มีธรรมะประกอบอยู่ด้วยแล้ว เป็นการสูญเสียความเป็นพุทธบริษัท และจะกลายเป็นคนทุจริตหรือที่เรียกว่า มีคอรัปชั่นไปโดยไม่รู้สึกตัว เพราะความหมายของคำว่า กินดี อยู่ดี เมื่อคนไปลุ่มหลงอยู่อยู่แต่ในเรื่องว่า อยู่ดี กินดี แล้วมันจะหมายถึงอะไรลองคิดดู เพราะว่าตามธรรมดาคนเหล่านั้นย่อมเป็นเรื่องทางวัตถุทั้งนั้น และกลายเป็นวัตถุนิยมไปโดยไม่รู้สึกตัว เขาก็จะมีความโลภมากขึ้น มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น โดยไม่รู้สึกตัวอีกเหมือนกัน แล้วอุดมคตินั้นก็จะฆ่าเขาเสียให้ตายจากความเป็นพุทธบริษัทที่ดี หรือจากความเป็นพลเมืองดีก็ได้ ถ้าเราจะต้องสอนประชาชนในเรื่องคำคำนี้ว่า อยู่ดี กินดี ก็จงให้ความหมายที่ถูกต้องให้ขอบเขตที่ถูกต้อง ต้องเป็นเรื่องการอยู่ดี กินดีไปตามแบบของพระอริยเจ้า อย่าให้เป็นเรื่องอยู่ดี กินดีไปตามแบบของพญามาร ซึ่งเป็นกิเลสแห่งการนิยมของแพง มีมูลมาจากมานะที่ว่าจะต้องดีกว่าคนอื่นเสมอไป
ขอได้สังเกตดูให้ดีดีว่าอุดมคติอะไร ที่ปุถุชนตั้งขึ้นหรือกล่าวออกมานั้น มักจะมีลักษณะที่ไม่พ้นไปจากบ่วงของพญามาร หรือถึงกับถลำเข้าไปในบ่วงของพญามารยิ่งไปกว่าเดิม คือกว่าตามที่เป็นอยู่ตามธรรมดาปรกติวิสัยเสียอีก ดังนั้น มันก็ไม่ใช่อุดมคติ มันเป็นความละเมอเพ้อฝันไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาเท่านั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องระวังสังวรกันอย่างมาก ถ้าเราธรรมทูตถือว่าตัวเองเป็นแสงสว่าง หรืออย่างน้อยก็นำแสงสว่างของพระพุทธองค์ไปแจกจ่าย คือไปส่องในที่ต่างๆด้วยแล้ว ก็ต้องให้เป็นแสงสว่างจริงๆ คือเป็นแสงสว่างทางจิตใจที่จะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้องเท่านั้น จึงจะเรียกว่าแสงสว่าง มิฉะนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นว่าเอาสิ่งพรางตาอะไรอันหนึ่งไปเที่ยวแจกจ่าย ทำให้คนหลงผิด ถึงกับนิยมสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลสตัณหาอุปาทานมากขึ้นไปกว่าเดิม แล้วโลกนี้ก็จะต้องมีวิกฤตการณ์ถาวรมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมโดยเราเป็นผู้ทำให้ ก็กลายเป็นสมุนลูกน้องบริวารของพญามารไปโดยไม่รู้สึกตัว ทั้งที่อยู่ในเครื่องแบบกาสาวพัสตร์ของพระพุทธองค์ ก็กลายเป็นสมุนของพญามารไปโดยไม่รู้สึกตัว เที่ยวทำคนให้นิยมเรื่องเกียรติ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องอะไรที่หรูหราไปตามทางของกิเลสตัณหา ตามความนิยมที่เรียกว่า นิยมของแพง นิยมของดี ของที่จะโอ่ โอ้อวดกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้
ขอให้แสดงสิ่งที่เรียกว่า ของดี นั้นให้ถูกต้องถูกทาง เพราะมันปนเปกันยุ่ง อย่างสับสนไปหมด ดีก็เป็นสิ่งที่ต้องละ ชั่วก็เป็นสิ่งที่ต้องละ มีจิตใจอยู่เหนือชั่วเหนือดี จึงจะเรียกว่าหลุดพ้นตามแบบของพุทธบริษัท ความนิยมของดี มันก็คือกิเลสที่ละเอียดลึกลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไป ความนิยมของชั่วก็ไปไม่ไหว ไปไม่รอด เพราะว่าเต็มไปด้วยอันตรายตั้งแต่เบื้องต้น การนิยมของแพงก็คือวัตถุนิยมจัดยิ่งขึ้นไปอีก และเป็นเหตุให้ตกเป็นผู้นิยมของชั่วไปโดยไม่รู้สึกตัว
ดังนั้น มันจึงต้องกวาดทิ้งทั้งโขยง ขออภัยใช้คำโสกโดก ทั้งโขยงของพญามาร หรือสมบัติของพญามารหรือบ่วงหรือดอกไม้ของพญามาร ให้มากลายเป็นนิยมสิ่งซึ่งอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นที่ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงที่เราเรียกว่านิพพาน ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความร้อน ไม่มีความทรมาน จึงจะเป็นนิพพานที่แท้จริง เท่าที่พบในพระบาลี เราก็พบกันอยู่แล้วว่า นิพพาน เป็นชื่อของความไม่มีความร้อนที่เผาลนทนทรมาน ไม่มีพิษสงอันร้ายกาจเรียกว่า นิพพาน ในทางวัตถุนั้น เช่น ก้อนถ่านไฟแดงๆก้อนหนึ่ง พอเย็นลงหมดความร้อนที่เป็นอันตรายก็เรียกว่า ถ่านก้อนนี้นิพพานสำหรับสัตว์เดรัจฉานนั้น เมื่อได้รับการฝึกฝนที่ดีจนหมดพิษหมดอันตราย ไม่เป็นอันตรายแก่ใคร เอามาใช้การใช้งานได้ประโยชน์อย่างดี อย่างนี้ก็เรียกว่า สัตว์เดรัจฉานตัวนั้นนิพพาน คือ หมดพิษ หมดโทษ หมดอันตราย ไม่มีเหลืออยู่แม้แต่ประการใด
สำหรับมนุษย์นั้นเมื่อหมดกิเลสอันเป็นพิษร้ายแล้ว ก็เรียกว่า นิพพาน ด้วยเหมือนกัน ไม่ต้องต่อตายแล้ว หากแต่ว่าเป็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ในโลกนี้ ยังมีชีวิตอยู่ ยังประพฤติประโยชน์อะไรได้ แต่ว่าหมดโทษ หมดพิษ หมดกิเลสร้ายเหมือนกับสัตว์เดรัจฉานที่ฝึกดีแล้ว หรือเหมือนกับถ่านไฟที่เย็นสนิทแล้ว ก็เรียกว่า นิพพาน
ขอได้พิจารณาดูให้ดีดีว่า สิ่งที่ประเสริฐที่สุดนี้เป็นอย่างนี้ หมดโทษ หมดอันตรายแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่นแล้วก็เรียกว่า นิพพาน ของดีอย่างนี้ มันดีเกินกว่าที่จะเรียกว่า ของดี แต่ภาษาชาวบ้านไม่มีคำจะพูด ก็ต้องเรียกว่า ของดี ของแพงอย่างนี้มันเกินกว่าที่จะตีราคา ไม่ควรจะเรียกว่า ของแพง เพราะไม่ทำอันตรายใคร ของแพงนั้นมันทำอันตรายคน คนหนุ่มสาวลุ่มหลงในกันและกัน เห็นเป็นของแพงที่สุดจึงเสียสละทุกอย่างทุกประการเพื่อจะได้มาและเป็นของแพงที่สุด แต่มันก็ทำอันตรายอย่างยิ่ง ของแพงอย่างนี้เป็นของชาวบ้าน