แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ.บัดนี้ จะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนานี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษดังที่ท่านทั้งหลายก็พอจะทราบได้อยู่แล้ว ว่าเป็นธรรมเทศนาเนื่องใน มาฆบูชา ปรารภเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ประชุมกันในวันเช่นวันนี้ เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีเศษมาแล้วในสถานที่แห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย เป็นเหตุการณ์พิเศษในพระพุทธศาสนา จนมีคำกล่าวไว้ในพระบาลีว่า เป็นเหตุการณ์ที่มีเพียงครั้งเดียวในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งๆ หมายความว่า ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนก็ตาม การที่ประชุมกันเพื่อแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ย่อมมีเพียงครั้งเดียว ที่มีเพียงครั้งเดียวก็เพราะว่าไม่จำเป็นจะต้องมีหลายครั้ง การมีเพียงครั้งเดียวย่อมเป็นการเพียงพอ เป็นกิจจะลักษณะแล้ว ดังนั้นขอให้เราทั้งหลายถือเป็นอภิลักขิตสมัย คือเวลาที่ตั้งไว้เฉพาะ กำหนดไว้เฉพาะ ในฐานะเป็นเหตุการณ์พิเศษของพระพุทธศาสนา จงทำความระลึกในใจว่าในวันคล้ายกันกับวันนี้ คือวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์และเป็นวันเพ็ญ ดังเช่นวันนี้ ในเวลาเที่ยงวันมีพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ได้ประชุมกันในเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้เมืองราชคฤห์ เป็นเหตุการณ์พิเศษ โดยกำหนดกันว่าเป็นวันเพ็ญ มาฆบูชา มาฆฤกษ์ เช่นนี้และพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน มาประชุมพร้อมกันโดยบังเอิญล้วนแต่เป็นพระอรหันต์และพระพุทธองค์ได้ทรงประทับท่ามกลางที่ประชุมและได้ทรง แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ คือข้อความซึ่งถือว่าเป็นประธานแห่งพระโอวาททั้งหมดหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ บทสรุปแห่งพระพุทธศาสนาหรือที่มักจะเรียกกันว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นข้อความสั้นๆ เพียง ๓ ข้อ เรามาถือเอาความสำคัญของวันนี้ว่าวันนี้เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงประชุมพระสงฆ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์จำนวนมากน่าอัศจรรย์ถึง ๑,๒๕๐ รูป เป็นเหมือนกับการประดิษฐานคณะสงฆ์อย่างมั่นคงลงไปแล้วในโลกนี้ เราจึงได้ถือเอาวันมาฆบูชานี้ว่าเป็นวันพระสงฆ์หรือเป็นวันพระอรหันต์ก็ได้ เช่นเดียวกับที่เราถือเอา วันวิสาขบูชาว่าเป็นวันพระพุทธเจ้า เพราะวันนั้นเป็นวันที่เนื่องกับพระพุทธเจ้าเป็นส่วนใหญ่ คือเป็นวันที่ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานและเราถือเอาวันอาสาฬหบูชา เพ็ญเดือนแปดว่าเป็นวันพระธรรม เพราะพระองค์ได้ประกาศพระธรรมที่เป็นกิจจะลักษณะลงไปในโลก คือธรรมเทศนาที่เรียกว่า อนุตรธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร เป็นการประกาศพระธรรม เป็นธรรมาณาจักรของพระองค์ลงไปในโลก เราจึงได้วันสำคัญในพระพุทธศาสนาครบทั้ง ๓ วัน
วันพระพุทธเจ้า คือ วันวิสาขบูชา
วันพระธรรมเจ้า คือ วันอาสาฬหบูชา และ
วันพระสงฆเจ้า คือ วันมาฆบูชา
เช่นวันนี้ วันสำคัญเช่นนี้เวียนมาบรรจบครบรอบปีหนึ่งๆ ครั้งหนึ่งๆ เราจึงถือเป็นเหตุการณ์พิเศษ เป็นวันพิเศษ ตั้งไว้พิเศษ กำหนดไว้พิเศษ เพื่อว่าเราจะได้กระทำการบูชาให้เป็นการพิเศษเช่นเดียวกัน ตามธรรมดาเราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา แล้วทำไมเราจะมาถือเอาเฉพาะว่าวันนี้เป็นวันพิเศษ ข้อนี้อธิบายว่าไม่ว่ากิจการชนิดไหนเรามีการกำหนดไว้เป็นพิเศษ เฉพาะปีหรือประจำปี เพื่อว่าจะเป็นการรื้อฟื้นความจำที่จางไปหรือเลือนไปให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพราะว่าเรามีกิจมาก มีธุระมาก เราไม่สามารถจะทำให้จริงจังหรือที่เรียกว่าเข้มข้นได้ทุกวัน แต่เราก็ไม่ยอมในการที่จะไม่มีการกระทำที่จริงจังเช่นนั้น ดังนั้นเราจึงมีการกำหนดพิเศษ กำหนดไว้เป็นวันพิเศษที่จะทำให้จริงจัง ดังเช่นที่เราจะทำมาฆบูชาเป็นพิเศษในวันนี้ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระอรหันต์โดยเฉพาะและระลึกนึกถึงถ้อยคำที่เป็นโอวาทปาฏิโมกข์ คือเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ที่รับปฏิบัติกันทั่วไป วันมาฆบูชาไม่ได้มีความสำคัญตรงที่คำว่า มาฆะ เพราะว่าคำว่า มาฆะ นั้นเป็นเพียงชื่อของเดือนหรือชื่อของดาวฤกษ์ที่ประจำเดือน นั่นไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยตรง เป็นเพียงปฏิทิน เครื่องนับเวลา แต่เผอิญได้มีเหตุการณ์ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้าที่วันนั้น วันนั้นเลยกลายเป็นวันสำคัญไป ชื่อเดือนๆ นั้นก็เลยกลายเป็นเดือนที่สำคัญไปด้วย เราควรจะถือว่าชื่อเดือน ชื่อวัน เกิดความสำคัญขึ้นมาก็เพราะอำนาจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งไปเกี่ยวข้องกันเข้ากับวันนั้นหรือเดือนนั้น ปีนั้นเป็นต้น นี่ก็เป็นเครื่องเตือนให้เห็นว่าพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นมีอยู่อย่างไร มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างไร เราอย่าได้ไปถือความศักดิ์สิทธิ์ในทำนองงมงายอย่างอื่นจนกลายเป็นว่าวันศักดิ์สิทธิ์ เพราะมันเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ อย่างนี้เป็นต้น วันศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ มันศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับสิ่งสูงสุดศักดิ์สิทธิ์นั้นต่างหาก เพราะนั้นเราเข้าใจคำว่ามาฆบูชาไว้ให้ดีว่า เป็นการบูชาที่เรากระทำเป็นพิเศษในวันซึ่งเรียกกันว่า วันเพ็ญ เดือน มาฆะ เช่นวันนี้เป็นต้น ในจิตใจของเราควรจะระลึกนึกถึงเหตุการณ์ในวันเช่นวันนี้ ซึ่งได้เกิดแล้วในประเทศอินเดียครั้งกระนู้น เราจงทำในใจของเราให้เสมือนหนึ่งว่าพวกเราไปแอบดูที่ริมป่าดูการประชุมของพระอรหันต์มีพระพุทธองค์เป็นประมุข ในอารามอันชื่อว่า เวฬุวัน เราก็จะได้เห็นว่าการประชุมของพระอรหันต์นั้นกระทำกันตามธรรมชาติ ซึ่งคงจะต้องทำกลางพื้นดิน ในร่มเงาของต้นไม้ เพราะไม่มีหลักฐานอันใดอันแสดงว่าได้กระทำในโรงเรือนซึ่งได้สร้างขึ้นเช่น วิหารเป็นต้น ไม่มีซากวิหารทำนองนั้น เหลืออยู่เป็นประจักษ์พยานและไม่มีข้อความในพระบาลีที่แสดงว่าเป็นเช่นนั้น ดังนั้นจึงถือว่าพระอรหันต์เหล่านั้น ก็ประชุมกันบนพื้นดิน ภายใต้ร่มไม้ เหมือนดังที่เรากำลังนั่งกันอยู่ที่นี้ เวลานี้ อย่าว่าแต่เหตุการณ์อย่างนี้เลย แม้การประสูติของพระพุทธเจ้าก็ได้มีแล้วกลางพื้นดิน ภายใต้ต้นไม้ที่ชื่อว่าต้นสาละ แม้การตรัสรู้ของพระองค์ก็มีอยู่แค่พื้นดิน ภายใต้ต้นอัสสัตถะพฤกษ์ ซึ่งบัดนี้เราเรียกกันว่า ต้นโพธิ์ เพราะว่ามันเป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งบนพื้นดินซึ่งมีหญ้าคารองเพียงบางๆ เท่านั้นและแม้ในวันปรินิพพานของพระองค์ก็ยังทรงปรินิพพานกลางพื้นดิน บางคัมภีร์ก็ว่ามีเตียงตั่ง มีเตียงเตี้ยๆ รอง แต่ข้อความที่เชื่อถือได้ก็เป็นอันกล่าวได้ว่ามี ผ้าสังฆาฏิ รองกลางพื้นดินแต่แม้แต่บนเตียงเตี้ยๆ เราก็ต้องถือว่าบนพื้นดินอยู่นั่นเอง เหตุการณ์อื่นๆ เช่น พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร ที่เรียกว่า ประดิษฐานพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นธรรมาณาจักรนั้น ผู้มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันสูงสุดนั้นกลางพื้นดิน อะไรๆ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติ คือกระทำไปตามความสะดวกตามธรรมชาติ ไม่ต้องลำบากยุ่งยากเหมือนพวกเราในสมัยนี้ ดังนั้นขอให้เราภาคภูมิใจว่าอย่างน้อยเราก็ได้เลียนแบบพระพุทธองค์อย่างเต็มที่แล้ว ที่บัดนี้เรากำลังนั่งกันอยู่กลางพื้นดิน ภายใต้ต้นไม้ เพื่อจะประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เป็นการบูชาแก่พระรัตนตรัยนั้น ถึงตอนนี้อาจจะขอซ้อมความอยาก จะขอซ้อมความจำเพราะคนบางคนหรือคนบางพวกอีกครั้งหนึ่งว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น โดยเนื้อแท้แล้วเป็นสิ่งเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้การที่เราแยกนั้นเราพูดอย่างภาษาธรรมดา คือภาษาคนธรรมดาพูด ว่าพระพุทธเจ้า คือบุคคลผู้ตรัสรู้และสอนคนอื่น พระธรรม คือคำสอนของพระองค์ที่ปฏิบัติแล้วได้ผลเป็นความดับทุกข์ พระสงฆ์ คือหมู่คนที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เกิดเป็นของ ๓ อย่างขึ้นมานี่เรียกว่า ภาษาธรรมดา แต่ถ้าพูดกันอย่างภาษาธรรมะ ภาษาความจริงเพื่อความจริงอันเด็ดขาดลงไปแล้วก็ต้องพูดว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นเป็นสิ่งเดียวกันโดยหัวใจ คือโดยเนื้อแท้ หัวใจของพระพุทธเจ้า ก็คือ ธรรม หัวใจของพระธรรม ก็คือ ธรรม ธรรมะ หัวใจของพระสงฆ์ ก็คือ ธรรม ธรรมนั้นคือ ความสะอาด สว่าง สงบ ธรรม คือ ความสะอาด สว่าง สงบ ทำบุคคลให้เป็นพระพุทธเจ้าและคำ คำสอนและการปฏิบัติระบบหนึ่งให้ได้ชื่อว่าพระธรรมและทำบุคคลให้ได้ชื่อว่า พระสงฆ์ ดังนั้นในหัวใจของพระพุทธเจ้า ก็มี ความสะอาด สว่าง สงบ ในหัวใจของพระธรรม ก็มี ความสะอาด สว่าง สงบ ในหัวใจของพระสงฆ์ ก็มี ความสะอาด สว่าง สงบ
ความสะอาด คือ บริสุทธิคุณ หมายถึง บริสุทธิ์ ไม่มีความผิด ไม่มีความชั่ว ไม่มีความลับ
ความสว่างนั้น คือ ความรู้ หมายถึง ปัญญาคุณ ที่รู้สิ่งที่ควรรู้
ความสงบนั้น คือ สันติคุณ คือความสุข ความไม่เร่าร้อนกระวนกระวาย
อันนี้เป็นคุณธรรมที่เนื่องกันแยกกันไม่ได้อีกเหมือนกัน ถ้ามีสะอาดจริง ก็ต้องมีสว่าง มีสงบ ถ้ามีสงบจริง ก็ต้องมีสะอาด มีสว่าง แยกกันไม่ได้ และอันนี้เรียกว่า ธรรม คำเดียวก็พอและมีอยู่ในหัวใจของพระพุทธเจ้าและมีอยู่ในหัวใจของพระธรรมและมีอยู่ในหัวใจของพระสงฆ์ ดังนั้นจึงถือว่าโดยเนื้อแท้หรือโดยหัวใจแล้ว รัตนะทั้ง ๓ นี้ เป็นของสิ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราบูชาที่พระสงฆ์ก็ย่อมถึงพระพุทธ พระธรรมด้วย ย่อมบูชาที่พระธรรม ก็ย่อมถึงพระพุทธและพระสงฆ์ด้วย บูชาที่พระพุทธก็ย่อมถึงพระธรรมและพระสงฆ์ด้วย เพราะความแยกกันไม่ได้ดังที่กล่าวแล้ว เพราะเหตุฉะนี้เอง แม้ว่าเราจะทำมาฆบูชาเพื่อเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ที่ประชุมกันก็จริง แต่การบูชานั้นย่อมถึงแก่พระพุทธและพระธรรมอยู่ในตัว เพราะว่าความเป็นพุทธะและความเป็นธรรมะนั้นย่อมมีอยู่ในที่ประชุมของพระอรหันต์นั้น แม้พระอรหันต์แต่ละองค์ก็ได้นามว่า พุทธะ คือเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ต่างกันแต่เพียงว่า ไม่ได้เป็นได้เอง ไม่ได้ตรัสรู้ได้เองเหมือนพระพุทธเจ้า ความเป็นพุทธะนั้นมีเหมือนกัน ตรงที่ว่าทำให้เกิดความสะอาด สว่าง สงบ เท่านี้ก็พอแล้ว ส่วนพระธรรมนั้นเป็นความสะอาด สว่าง สงบ อยู่เองแล้ว พระธรรมที่เล่าเรียนคือ ปริยัติธรรม ก็เรียนเรื่อง สะอาด สว่าง สงบ พระธรรมที่ปฏิบัติคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือ ปฏิบัติเพื่อความสะอาด สว่าง สงบ พระธรรมที่เป็นมรรคผลหรือปฏิเวธนั้นก็คือ ตัวความสะอาด สว่าง สงบ ที่แท้จริง เพราะเหตุฉะนี้ ความสะอาด สว่าง สงบ จึงยืนอยู่หรือตั้งอยู่ในฐานะเป็นประธานที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ธรรม เพียงคำเดียวในพระพุทธศาสนาและเป็นหัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นเนื่อง เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการลำบากแก่พวกเราที่จะต้องเที่ยวแยกไหว้ แยกบูชา เวลานั้น เวลานี้ ที่นั่น ที่นี้ บูชาอย่างแท้จริงเมื่อไหร่ก็ถึงทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในที่ทุกแห่ง ในเวลาทุกเวลา นับว่าเป็นความสะดวกแล้ว จึงขอให้ทุกคนตั้งใจที่จะทำมาฆบูชา แม้จะพูดว่าที่นี้และเดี๋ยวนี้ก็เป็นการบูชาทั่วไปและทุกแห่ง เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ นั้นไม่มีขอบเขตจำกัดว่าอยู่ที่ไหนและเมื่อไหร่เป็นสิ่งที่เรียกกันได้ว่าเป็น อนันตกาล หรือเป็น อนันตเขต หรือเป็น อมิตายุ เป็น อมิตาภะ คือมีอายุไม่จำกัดมีแสงสว่างไม่จำกัด มีที่อยู่ไม่จำกัด มีเวลาไม่จำกัดอย่างนี้เป็นต้น ขอให้เข้าใจพระธรรมในลักษณะอย่างนี้จึงจะเป็นการเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้องและยิ่งๆ ขึ้นไป อย่าเข้าใจแต่เพียงประโยคสำหรับท่องบ่นว่า พระธรรม คือคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ยังแถมไม่รู้ว่าสอนว่าอะไรด้วยซ้ำไป อย่างนี้เป็นเด็กอมมือแล้วเป็นกันมานานนักหนาแล้วควรจะรู้จักเติบโตเป็นผู้ใหญ่แห่กันขึ้นไปตามลำดับ โดยการได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นอันว่าเราบูชาสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ เพียงสิ่งเดียวก็เป็นการบูชาทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การทำมาฆบูชาเนื่องในวันนี้ก็เป็นเรื่องพิเศษอยู่หน่อยหนึ่งตรงที่ว่า เป็นที่ระลึกแก่เหตุการณ์สำคัญนั้น ส่วนการบูชาแท้จริงนั้นย่อมถึงแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบบริบูรณ์โดยไม่ต้องสงสัยเลย จึงขอให้ทุกคนทำในใจอย่างนี้ในขณะที่ทำมาฆบูชาในวันนี้ เมื่อนั่งอยู่ก็ดี เมื่อจะเดินเวียนประทักษิณก็ดี เมื่อจะกล่าวคำบูชาใดๆ ก็ดี ขอให้มีความรู้สึกอยู่ในจิตใจว่าเรารู้แจ่มแจ้งอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้และอุทิศอย่างนี้ เพื่อให้การทำมาฆบูชานี้มีความหมาย มีความศักดิ์สิทธิ์โดยสมส่วนกัน ที่นี้ก่อนแต่จะกระทำพิธีมาฆบูชานี้ก็อยากจะซ้อมความเข้าใจต่อไปถึงเรื่องของธรรมะ ถ้าเราถือว่าวันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ เราก็จะต้องรู้แจ่มแจ้งกระจ่างชัดเจนว่าพระอรหันต์เป็นบุคคลชนิดไร เมื่อเราถามกันขึ้นว่าบุคคลชนิดไรเราต้องหมายถึง หัวใจของเขาว่าหัวใจของเขาเป็นอย่างไร ความรู้หรือการกระทำของเขาเป็นอย่างไร ปรกตินิสัยเขาเป็นอย่างไร แต่สำหรับพระอรหันต์ซึ่งรวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วยนั้น เราพูดกล่าวได้ง่ายมากว่าท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด จึงไม่มีหนทางหรือไม่มีโอกาสที่จะเกิดกิเลสและเมื่อไม่เกิดกิเลสก็ไม่มีทางที่จะเกิดความทุกข์ เราจึงเล็งไปยังความประเสริฐสูงสุดตรงที่ไม่รู้จักมีความทุกข์เหมือนพวกเรา พวกเรามีอะไรกระทบหน่อยมันก็ต้องฟูบ้างแฟบบ้าง ฟู คือดีใจในสิ่งที่ตรงกันกับความต้องการหรือรู้สึกคิดนึก แฟบ ก็คือไม่ตรงกับที่รู้สึกคิดนึก เช่นถูกขัดคอ เป็นต้น เป็นคนฟูๆ แฟบๆ อยู่เรื่อยไป เมื่อไปเทียบกันกับพระอรหันต์ก็ตรงกันข้ามตรงที่ไม่มีอะไรไปทำให้ท่านเกิดอาการฟูๆ แฟบๆ เหมือนพวกเรา นี่แหละเราลองนึกดูเถิดว่ามันมีความประเสริฐที่ตรงไหน บางคนอาจจะไม่เชื่อว่ามันประเสริฐอยู่ตรงที่ไม่ฟูๆ แฟบๆ นั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็หมายความว่าไม่เข้าใจเรื่องของพระอรหันต์หรือคำว่าฟูๆ แฟบๆ นั่นเอง ถ้าเข้าใจก็จะมองเห็นได้ว่าเกี่ยวกับชีวิตของคนเรานี้ไม่มีอะไรนอกจากเรื่อง ขึ้นๆ ลงๆ ฟูๆ แฟบๆ สุขๆ ทุกข์ๆ ไปตามประสาของคนที่ยังเป็นคนธรรมดายังมีกิเลสอยู่ แม้จะเรียกว่าสุขๆ ทุกข์ๆ ก็เป็นภาษาที่ไม่จริง ภาษาพูดของคนโง่ที่ไปเรียกอาการสนุกสนานพอใจนั้นว่าความสุข เพราะเพียงแต่ว่ามันไม่ทำให้เดือนร้อนรำคาญเท่านั้นเอง โดยที่แท้แล้วความฟูหรือความแฟบก็เป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อยเท่ากัน พระอริยเจ้าจึงมองมันในลักษณะที่เหมือนกันว่าเรื่องฟูก็เป็นทุกข์ เรื่องแฟบก็เป็นทุกข์ ก็ไม่ต้องฟูไม่ต้องแฟบต่างหากถึงจะเป็นสุข แต่แล้วเราก็ไม่ค่อยจะเข้าใจและดูเหมือนจะไม่ต้องการด้วยซ้ำไป เพราะว่าสันดานและนิสัยของเราชอบฟูไม่รู้จักสิ้นสุด ดังนั้นจึงเข้าใจพระพุทธเจ้าไม่ได้ เข้าใจพระธรรมไม่ได้และเข้าใจพระสงฆ์ไม่ได้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้เราต้องการจะเข้าใจให้ได้ เราก็จำเป็นจะต้องศึกษากันในเรื่องนี้สืบต่อไปอีก แม้จะเป็นการซ้ำๆ ซากๆ อย่างที่เราทำกันมาเกือบจะทุกปี ถ้าเราจะเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงเราต้องเป็นผู้รุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา ก็มีคำกล่าวที่น่าฟังและท่านทั้งหลายควรจะกำหนดจดจำไว้ให้แม่นยำในเบื้องต้นว่า อะติโรจะติ ปัญญาญะ สัมมาสัมพุทธะสาวะโก ซึ่งแปลว่า สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา ทำไมท่านจึงไม่พูดว่ารุ่งเรืองอยู่ด้วยเงิน รุ่งเรืองอยู่ด้วยอำนาจวาสนา ดังนั้นดังนี้เป็นต้น แต่ท่านพูดว่ารุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา ที่นี้พวกเรารุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญารึเปล่าหรือว่ากำลังมืดมัวหม่นหมองกลัดกลุ้มอยู่ด้วยการที่ไม่ได้ฟูตามที่พอใจหรือไม่รู้จะฟูอย่างไร เป็นการที่มืดมัวอยู่นั่นเอง ถ้าเป็นดังนี้ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ใช่สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียจะดีกว่า การที่เราจะว่าเอาเองว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ เราจะอ้างสิทธิว่าเราเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นธรรมเนียมสำหรับเด็กๆ มันเป็นธรรมเนียมสำหรับคนที่ยังไม่รู้ เป็นเพียงพิธีรีตอง อย่างดีก็จะเป็นเพียงพิธีการที่จะนำไปสู่ความรู้ คือจนกว่าเราจะรุ่งเรืองอยู่ด้วยสติปัญญานั่นเอง เพราะฉะนั้นเราอย่าไปนอนใจเสียว่า เราว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ เป็นต้นก็พอแล้ว เราจะต้องทำให้รุ่งเรืองไปตามลำดับด้วยปัญญา จึงจะเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้รุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญาไม่ใช่รุ่งเรืองอยู่ด้วยอำนาจวาสนาของกิเลส ซึ่งมันครอบงำย่ำยีจิตใจอยู่เป็นประจำวัน เราจะต้องขวนขวายระลึกนึกถึงวิธีที่จะรุ่งเรืองด้วยปัญญา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกทั้งหลายก็ดี ล้วนแต่รุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา ทั้งนี้เพราะว่าท่านสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมอย่างหนึ่งเสมอกันคือบทว่า วิชชา จะระณะ สัมปันโน เมื่อเราสวดพระพุทธคุณ เราก็ต้องสวดว่า อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชา จะระณะ สัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู เป็นลำดับไป ในบรรดาคุณเหล่านั้นมีคำว่า วิชชา จะระณะ สัมปันโน รวมอยู่ด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราต้องสนใจ เพราะเป็นเครื่องมือให้สำเร็จประโยชน์ในการเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี ในการเป็นพระอรหันต์ก็ดี ในการเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ดีก็ดี ล้วนแต่จะต้องรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา คนสมัยนี้ก็อ้างตัวเองว่ามีการศึกษามากไปเรียนมาจากเมืองนอกเมืองนาและรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญาเขาว่าอย่างนั้น แต่แล้วจะรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญาจริงหรือไม่ลองพิจารณากันดู ถ้าปัญญานั้นจริงก็คงจะทำผู้นั้นให้มีความสงบเย็นได้ ไม่มัวแต่ฟูๆ แฟบๆ อยู่ตามเดิม บางทีก็ทำสิ่งที่ไม่น่าทำ ทั้งที่เป็นบุคคลที่ยอมรับกันว่ามีการศึกษามาก มีปริญญามีสิ่งต่างๆ เป็นเครื่องรับรองว่ามีการศึกษามากแล้วก็ยังทำสิ่งที่ไม่น่าทำ แล้วก็ยังเป็นทุกข์ทรมานเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นอยู่นั่นเอง อย่างนี้จะเรียกว่ารุ่งเรืองด้วยวิชชาหรือปัญญาไปไม่ได้ คำว่าวิชชาหรือปัญญาในพระพุทธศาสนานั้นมีความหมายเล็งไปยังสิ่งที่จะทำให้เกิดความสงบเย็นทั้งโดยส่วนตัวและโดยส่วนรวม แต่ถึงอย่างไรก็ดียังมีแง่มีมุมที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับข้อนี้อยู่มากอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะคำว่า วิชชา จะระณะ สัมปัน โน นี้ เป็นคำที่ทันสมัยที่สุด ทั้งที่กล่าวไว้ ตรัสไว้ เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้วและอาจจะเป็นคำที่มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าด้วยก็ได้ คำว่า วิชชา จะระณะ สัมปัน โน แปลว่า สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ คำว่า วิชชา แปลว่า ความรู้ คำว่า จรณะ แปลว่า การกระทำ คำว่า วิชชา ก็คือ วิชาการ คำว่า จรณะ ก็คือ วิธีการ ท่านฟังดูให้ดีอย่าเอาวิชาการกับวิธีการไปปนกัน เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์สมัยนี้เรามีคำ ๒ คำ คือ คำว่า technique ตรงกับคำว่า วิชาการ ก็มีคำว่า technic นี้ตรงกับคำว่า วิธีการ ทั้ง technique และ technic รวมกันแล้วจึงจะเป็น technical คือสิ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จได้ มีแต่วิชาการขาดวิธีการก็ไปไม่รอด มีแต่วิธีการไม่มีวิชาการก็ไม่รู้ว่าจะทำไปอย่างไร มันต้องมีความถูกต้องและสมบูรณ์ทั้งวิชาการและวิธีการ คือทั้ง technic และ technique ดังที่กล่าวแล้ว คนสมัยนี้จึงทำงานก้าวหน้าไปตามที่เขาต้องการจึงเกิดอะไรใหม่ๆ จนจะไปนอกโลก ไปโลกอื่น ไปดาวพระเคราะห์ดวงอื่นได้อย่างนี้ก็เพราะสมบูรณ์ด้วย technique และ technic คือวิชาการ และวิธีการ ดังที่กล่าวแล้ว คำว่าวิชา วิชชานี้ เป็นวิชาการ คำว่า จรณะ คือ วิธีการ คำว่า จรณะ แปลว่า การประพฤติหรือการกระทำหรือเครื่องประพฤติหรือเครื่องกระทำ ส่วนวิชชานั้นเป็นความรู้ วิชชา จะระณะ สัมปันโน รวมกันแล้วก็แปลว่า สมบูรณ์ด้วยวิชาการและวิธีการ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้และพระอรหันต์ทั้งหลายท่านจึงตัดกิเลสได้สิ้นเชิงและเป็นพระอรหันต์ได้และพระสาวกทั้งหลาย นอกนั้นแม้ที่ไม่เป็นพระอรหันต์ท่านก็เป็นพระสาวกที่ถูกต้องได้ คือมีกิเลสเบาบางลงตามลำดับ ตามลำดับก็ด้วยอำนาจแห่ง วิชชา จะระณะ สัม ปันโน คือเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะนั่นเอง ด้วยเหตุนี่แหละจึงถือว่าคำๆ นี้คือคำว่า วิชชา จะระณะ สัม ปันโน นี้เป็นคำที่ทันสมัยอย่างยิ่งแม้ได้กล่าวมาแล้วตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้วหรือหลายพันปีมาแล้วมันก็ยังมีความหมายเดียวกันใช้ได้อย่างเดียวกันและถูกต้องที่สุดอย่างเดียวกันและจำเป็นอย่างยิ่งอย่างเดียวกัน เหมือนกับที่เรากำลังรู้สึกกันอยู่ในสมัยนี้ว่าทำอะไรต้องเป็น technical คือสมบูรณ์ด้วย technique และ technic ดั่งที่รู้กันอยู่ก้องไปทั่วทั้งโลกแล้ว แต่ก็ยังมีความโง่ในเรื่อง วิชชา จะระณะ สัม ปันโน ของพระพุทธเจ้าอยู่นั่นเอง ไม่สนใจในเรื่องวิชาการและวิธีการชนิดที่จะช่วยทำโลกนี้ให้ประสบสันติภาพอันถาวรได้ เพราะไม่รู้จึงไม่ทำโลกนี้ให้เกิดความสงบได้แต่กลับทำไปในทำนองตรงกันข้าม คือใช้ technique และ technic เป็นไปในทางกวนโลกนี้ให้ระส่ำระสายยิ่งขึ้นให้ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น โลกของเราจึงมีภาวะที่ระส่ำระสายและยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น จนเกินสติปัญญาของมนุษย์สมัยนี้ที่จะทำให้เกิดสันติภาพได้อยู่นั่นเอง คิดดูแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเวทนาสงสารหรือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่มนุษย์กำลังหลับหูหลับตาเดินไปในทางที่จะจมลงไปในนรก ในอบายอย่างถูก technic ที่สุด จึงได้รับผลสมใจหวังในการที่ต้องทนทุกข์ทรมาน เห็นปานนี้เรามาระลึกนึกถึงเหตุการณ์อันนี้กันในวันนี้ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธ์ คือวันมาฆบูชา ก็เพื่อว่าเราอย่าต้องเป็นเช่นนั้นเลย เขาจะเป็นไปอย่างไรก็ตามใจเขาเพราะว่าเขามีสิทธิมีอิสระที่จะเป็นไปได้ แต่ว่าเราก็มีสิทธิมีอิสระที่จะเป็นมาได้ตามที่เราต้องการ คือ สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะในทางที่จะเอาชนะกิเลสและความทุกข์นั่นเอง ที่นี้เกี่ยวกับวิชชาที่เราจะต้องรู้เป็นข้อแรกนั้นก็คือ หัวใจของพุทธศาสนาที่ว่าทุกสิ่งยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นคือ ไม่มีอะไรที่น่าไปยึดครองว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเราและการดับความรู้สึกว่าตัวเราเสียให้สิ้นเชิง อย่าให้มีเหลือนั่นแหละเป็นความเยือกเย็นอย่างยิ่ง เราต้องรู้จนกระทั่งว่าเราไม่กล้ายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวเราหรือของเรา เพราะว่าเราไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดว่าเป็นตัวเรา ว่าเป็นของเราเข้าเมื่อไหร่มันก็ตบหน้าเราทุกที ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ไม่ลักษณะใดก็ลักษณะหนึ่งคือ เร่าร้อนบ้าง มืดมัวบ้าง หม่นหมองบ้าง เสียดแทงบ้าง กลัดกลุ้มบ้าง เป็นเรื่องนรกทั้งเป็นอยู่ในจิตใจทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวเราหรือของเรา แต่แล้วเราก็เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นไปตามที่ควรจะเกี่ยวข้อง เพราะว่าธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติบังคับไว้อย่างนี้เอง สิ่งต่างๆ นี้เป็นสมบัติของธรรมชาติ เราคล้ายกับว่ายืมมาสมมุติว่าเป็นของฉัน ว่าเป็นตัวฉันเช่น ยืมสิ่งซึ่งประกอบกันเข้าเป็นร่างกายนี้จากธรรมชาติมาสมมติว่าเป็นตัวฉัน แล้วก็ยืมนั่น ยืมนี่มาสมมติว่าเป็นของฉัน เป็นบุตรของฉัน เป็นภรรยาของฉัน เป็นสามีของฉัน เป็นทรัพย์สมบัติของฉัน เป็นที่ดินของฉัน พูดไปตามภาษาคนโง่ อย่างดีก็จะต้องเรียกว่าภาษาคน แต่ไม่ใช่ภาษาธรรมะ ไม่ใช่ภาษาความจริง ในใจของเราก็จะต้องรู้ความจริงว่ามันเป็นอย่างไร คือมันเป็นสมบัติของธรรมชาติ เป็นของใครไม่ได้ พอคิดว่าจะเป็นของเราเท่านั้นก็หนักใจขึ้นมาทันที เพราะขืนปฏิบัติไปในลักษณะเป็นของเรามันก็ตบหน้าเอา เพราะว่าเราเป็นคนคดโกง เราเป็นคนไม่ซื่อตรง เพราะฉะนั้นแหละท่านจึงสอนไว้เป็นหลักว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าท่านถือว่าประโยคสั้นๆ ประโยคนี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทั้งหมดท่านจึงจัดตอบคำถามของผู้ที่มาถามว่าอะไรเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ที่นี่เราต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งที่แท้ไม่ใช่เป็นตัวเราหรือเป็นของเราแต่เราไม่รู้มาก่อน เราก็จะต้องทนรับการลงโทษคือ ถูกมันตบหน้าเอาบ่อยๆ จนกว่าจะรู้ว่า อ๋อ, มันไม่ใช่ของเราและไม่ใช่ตัวเรา แต่แล้วในที่สุดเราก็ยังต้องพูดว่าตัวเราว่าของเราอยู่ดี เพราะมันเป็นภาษาพูดของชาวบ้าน ถึงแม้พระพุทธเจ้าหรือแม้พระอรหันต์ท่านก็ต้องพูดภาษาชาวบ้านว่าตัวเรา ว่าของเราเหมือนกัน แต่ว่าท่านพูดอย่างปากอย่างใจอย่าง ท่านพูดว่าตัวเราแต่ในใจของท่านไม่ใช่ถือว่าตัวเรา ท่านพูดว่าของเราแต่ในใจของท่านไม่ได้ยึดถือว่าของเรา ดังนั้นเราเห็นได้ว่าท่านพูดอย่างที่เรียกว่าปากอย่างหนึ่งใจอย่างหนึ่งไม่ตรงกัน แต่พวกเราไม่เป็นอย่างนั้น พวกเราโง่มากในข้อที่ปากกับใจเหมือนกัน คือเมื่อพูดว่าตัวตน ตัวเรา ก็เป็นตัวเราเอาจริงๆ เมื่อพูดว่าของเราก็เป็นของเราจริงๆ อย่างนี้มันไม่ใช่สติปัญญารู้หรือพูด แต่มันเป็นความโง่หรือกิเลสเป็นผู้พูด ดังนั้นมันจึงไม่ใช่คำพูดของสติปัญญา เป็นความเขลาเป็นความเข้าใจผิดพูด มันจึงมีปากกับใจตรงกันแท้เพราะมันเขลามันโง่ตลอดกาล ตลอดต้น ตลอดปลาย ที่พระอรหันต์หรือพระอริยเจ้าท่านรู้ท่านก็เลยพูดแต่ปาก ใจไม่เป็นไปอย่างนั้น ถ้าเราจะเป็นลูกศิษย์ของท่านเราก็ต้องหัดเป็นคนปากอย่างใจอย่างซะบ้าง คือเมื่อปากพูดว่า เงินของฉันบ้านของฉัน ทองของฉัน อะไรอย่างนี้ในใจอย่าไปยึดมั่นอย่างนั้น อย่าไปสำคัญมั่นหมายอย่างนั้น คงมีสติสัมปชัญญะรู้ว่ามันเป็นของธรรมชาติอยู่ตามเดิม เราเข้าไปเกี่ยวข้องนี้ก็ไม่ใช่เรา ก็คือร่างกายจิตใจที่เป็นของธรรมชาติอีกนั่นเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติเช่น หาอาหารกินก็กินเข้าไปแล้วก็เจริญเติบโต แล้วก็กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสิ่งในลักษณะที่ควร ทำอย่างนี้ถ้ารู้สึกตัวอยู่อย่างนี้ก็จะไม่เป็นทุกข์มากมายเหมือนเดี๋ยวนี้และบางทีก็จะแสวงหาแต่เท่าที่จำเป็นเท่าที่สมควร ไม่ละโลภโมบมากเหมือนคนเดี๋ยวนี้ซึ่งกลายเป็นเปรตไปหมดแล้ว เพราะว่ามีความอยากมากมายหลายร้อยหลายพันเท่า หลายหมื่นเท่า หลายแสนเท่าของความจำเป็น มันก็หาไม่ทัน มันก็หิวเรื่อย มันก็กระหายเรื่อย นี่คือลักษณะของความเป็นเปรตที่เห็นอยู่ทั่วๆ ไปในโลกนี้ เป็นโลกของเปรตไปอย่างแท้จริง มันก็หาสาวกของพระอริยเจ้ายากขึ้นทุกที ถ้าเราจะกู้สถานการณ์อันนี้ไว้ให้ได้ก็จงทำจิตใจให้เป็นไปตามร่องรอยของพระพุทธเจ้าหรือของพระพุทธศาสนาคือ ไม่ยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความโลภหรือด้วยกิเลส ถ้าต้องกระทำก็กระทำไปด้วยสติปัญญา แล้วก็กระทำแต่พอสมควร ข้อนี้ไม่ใช่สอนให้หาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินเช้า เราจะสะสมบ้างก็ได้แต่ในลักษณะที่พอสมควรแก่การที่ว่ามนุษย์คนหนึ่งควรจะสะสมไว้สักเท่าไร อย่าให้มันมากมายไม่มีขอบเขตจนผู้อื่นเดือดร้อน จนคนมีสติปัญญาน้อยเดือดร้อน จนเกิดลัทธิไม่พึงปรารถนาเช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นมาในโลกนี้ เป็นต้น นั่นแหละคือลัทธิของพวกเปรตได้ก่อขึ้น คือพวกที่ละโมบโลภลาภยิ่งกว่าร้อยเท่า พันเท่า หมื่นเท่า แสนเท่า ดูดดึงเอาประโยชน์ในที่ทั่วๆ ไปมาเป็นของตัวด้วยความฉลาดที่เรียกว่า เฉโก ไม่ใช่ปัญญาไม่ใช่วิชชา เรียกว่า เฉโก ในคำภาษาบาลีแปลว่า ปัญญาชนิดที่จะเอาเปรียบผู้อื่น ในที่สุดก็เกิดความปั่นป่วนกันขึ้นมาทั้งโลกเพราะว่า เป็นโลกของบุคคลผู้ยึดมั่นถือมั่นไปเสียหมดแล้ว เป็นความทุกข์ตั้งแต่ต้นจนปลายนี้เรียกว่าไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญาที่เป็นของพระอริยเจ้า ถ้าจะให้มีปัญญาของพระอริยเจ้าก็ต้องรู้สิ่งที่เป็นความจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาตินั่นเอง ไม่มีอะไรที่ควรจะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของๆ ตน แต่ก็ยังมีคนยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนว่าของตนอยู่เรื่อยไป แม้พวกพุทธบริษัทบางพวกก็ยกหูชูหางอยู่ในที่ทั่วๆ ไป ว่าพระพุทธเจ้าของฉัน ว่าพระพุทธศาสนาของฉันดีกว่าศาสนาของคนอื่น คนพวกนี้ไม่ใช่พูดปากอย่างใจอย่าง พูดแต่ปากกับใจตรงกันทีเดียว พูดด้วยกิเลสว่าพระพุทธเจ้าของฉัน ว่าศาสนาของฉัน ศาสนาของฉันดีกว่าศาสนาของคนอื่นอย่างนี้เป็นต้น เห็นได้ชัดที่ว่ามีความยึดมั่นถือมั่นว่ามีศาสนาของเรา มีศาสนาของเขา มีศาสนาของคนอื่น เกิดความรู้สึกเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาอิสลาม มากมายหลายศาสนา แล้วก็มองดูกันด้วยสายตาที่เป็นศัตรูกัน คิดนึกถึงกันด้วยจิตใจที่เป็นศัตรูกัน อย่างนี้แล้วจะเรียกว่าพุทธบริษัทได้อย่างไร เขาไม่ประกอบไปด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้าเสียเลย ดังนั้นควรจะพิจารณาดูถึงสิ่งที่เรียกว่าศาสนากันเสียบ้าง เพราะว่าวันนี้ก็เป็นวันสำคัญของศาสนาและเราก็เรียกว่าวันนี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสิ่งที่เรียกว่าหัวใจของศาสนา เราควรจะพิจารณากันดูว่าสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นเป็นอย่างไรและเป็นพุทธศาสนาของเราพวกเดียวเท่านั้นหรือไม่ อยากจะ อยากจะขอร้องให้ตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ต้นว่าเรามีความรู้สึกว่าพุทธศาสนาของเรา ศาสนาของเราถูกต้อง ศาสนาของคนอื่นผิด ศาสนาของเราเท่านั้นที่ดีที่ควรแก่การที่จะมีอยู่ในโลกอย่างนี้เป็นต้น ถ้าใครมีความคิดอย่างนี้ก็แปลว่า คนนั้นยังรู้จักเลือดของศาสนาเท่านั้นเอง ไม่รู้จักเนื้อแท้ของศาสนา เพราะว่าศาสนาสอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าศาสนาไหน เพียงแต่ว่าไม่สอนมากเท่ากันเท่านั้นเอง แต่ว่าสอนไปแนวเดียวกันคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในทางที่จะเป็นตัวตนหรือของตนหรือเห็นแก่ตน ศาสนาคริสเตียนก็มีสอนมากเรื่องความไม่ยึดอะไรไว้เป็นตัวตนหรือเป็นของตน ไม่ให้เห็นแก่ตน ให้เห็นแก่ผู้อื่นยิ่งกว่าตนและอะไรๆ ก็ให้ยกไปเป็นของพระเจ้าเสียหมดไม่มีของตนเหลืออยู่เลย อย่างนี้ก็คือไม่ยึดมั่นตัวตนหรือของตนเหมือนกัน แต่เขาพูดอธิบายอีกวิธีหนึ่งเท่านั้น แม้ศาสนาอิสลามถ้าดูถึงเนื้อแท้ของศาสนาก็มุ่งหมายที่จะให้คนรักใคร่กันไม่เอาเปรียบกัน แต่ใช้วิธีการที่รุนแรงที่จะบีบบังคับให้เป็นเช่นนั้น คนก็ไปเพ่งเล็งกันตรงที่วิธีการรุนแรง ก็เลยเห็นเป็นของโหดร้ายทารุณไป เราจะต้องเห็นอกเห็นใจว่าในสถานที่แห่งหนึ่ง ในสมัยหนึ่ง ยุคหนึ่งนั้น คนบางคนต้องใช้วิธีการที่รุนแรงเขาจึงจะเกิดการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงได้ พระศาสดาองค์นั้นย่อมรู้ดีจึงได้ใช้วิธีการนั้น วิธีการรุนแรงนั้น ก็เพื่อจะบังคับให้คนไม่เห็นแก่ตน ให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างนี้เป็นต้น ท่านลองคิดดูว่าศาสนาอิสลามบัญญัติไว้เพียงแต่ยอมให้ยืมเงินไม่ให้มีการกู้เงินเอาดอกเบี้ยเป็นอันขาด ศาสนาอื่นๆ อยู่ในลักษณะที่ว่าให้กู้เงินในลักษณะที่ขูดรีดเอาดอกเบี้ยแพงๆ แล้วศาสนาไหนจะดีกว่ากันหรือการที่ศาสนาอิสลามไม่ให้สร้างรูปปฏิมาขึ้นมายึดมั่นถือมั่นเป็นองค์พระศาสดา เช่นเดียวกับพุทธศาสนาในตอนแรกๆ ก็ไม่มีรูปปฏิมาสำหรับยึดมั่นถือมั่น แต่เดี๋ยวนี้ก็เหลืออยู่แต่ศาสนานี้ที่ไม่ให้สร้างรูปปฏิมาขึ้นมายึดมั่นถือมั่น เราควรจะมองกันในแง่นี้บ้างจึงจะเห็นว่าศาสนาทุกศาสนานั้นก็มีความหวัง มีความตั้งใจ มีเจตนาที่จะสอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้ที่สุดแต่ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู เราอย่าไปเอาเปลือกไปเอากระพี้หรือเอาไอ้ส่วนที่มันเป็นเนื้องอกเนื้อร้ายพอกพูนออกไป เอาเนื้อแท้แล้วก็เป็นศาสนาที่สอนให้สละทุกสิ่งแก่พระเป็นเจ้าเหมือนกัน ให้เชื่อฟังพระเป็นเจ้าอย่ามีอะไรเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ถ้าจะมีตัวตนเป็นของตนให้เอาธรรมะเป็นตัวตน อย่าเอาเนื้อหนังร่างกายจิตใจนี้เป็นตัวตนก็เป็นการบรรเทาความเห็นแก่ตนได้ ที่นี้เรามาดูกันที่เปลือกแล้วมี แล้วเราก็มีความอิจฉาริษยาเป็นต้นทุน แล้วก็ดูแต่ส่วนที่เปลือกที่มันยิ่งแตกต่างกันออกไป ไกลออกไปๆๆ มันก็มีหลายศาสนาจนเข้าหน้ากันไม่ได้ จนรังเกียจเดียดชังกัน พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนอย่างนี้ ท่านไม่ได้สอนให้ยกตนข่มท่านอย่างนี้ ท่านสอนให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนเสีย เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นตัวตนแล้วก็ไม่มีโอกาสจะทำความผิดอย่างอื่นหรือทำความชั่วอย่างอื่น ไม่มีทางที่จะยกตนข่มผู้อื่นได้โดยแน่นอน นั่นแหละคือตัวธรรม ธรรมะแท้ ซึ่งมีอยู่ในศาสนาทุกศาสนา แล้วพอเรามามองเห็นว่านี่เป็นธรรมนี่ไม่ใช่ศาสนาแล้ว สิ่งที่เรียกว่าศาสนาก็เลือนหายไปเหลืออยู่แต่ธรรม ทีนี้เราดูกันอีกทีว่าธรรมนี้คืออะไร ธรรม นี้คือตัวธรรมชาติ คือตัวกฎของธรรมชาติ ส่วนหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องทำตามกฎธรรมชาติและผลที่จะได้รับตามธรรมชาติ อะไรๆ ก็ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ สิ่งที่เรียกว่าธรรมก็หายไปเหลืออยู่แต่ธรรมชาติ คือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ สิ่งที่เรียกว่าศาสนาก็หายไป สิ่งที่เรียกว่าธรรมะก็หายไปเหลืออยู่แต่ธรรมชาติไม่มีศาสนาแล้ว พูดอย่างนี้ฟังไม่ถูกก็จะเป็นผลร้ายอยู่เหมือนกัน คือเข้าใจไปว่าไม่มีศาสนาในลักษณะที่ไม่ต้องถือศาสนาอะไรเลย แต่โดยเนื้อแท้แล้วไม่มีศาสนานั่นแหละคือศาสนาแท้จริง ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าอะไรเป็นอะไรนั่นแหละคือศาสนาพุทธที่แท้จริง ถ้าไปยึดมั่นอะไรเป็นอะไรเข้าแล้วมันเป็นพุทธศาสนาไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องพูดในลักษณะที่ปากอย่างใจอย่างไปตามเดิม เราจะเอ่ยชื่อว่าศาสนาก็ไม่รู้สึกยึดมั่นถือมั่น เราจะเอ่ยชื่อว่าธรรม ธรรมะ เราก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้แล้วว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แม้เราจะเอ่ยชื่อว่าธรรมชาติ เราก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นธรรมชาตินั้นว่าเป็นตัวตนหรือของตน ให้คงเป็นไปแต่ธรรมชาติแท้ เมื่อเป็นดังนี้สิ่งที่เรียกว่าศาสนาก็หายไปเอง แล้วมันจะมีมาหลายศาสนามาขบกัดฟัดเหวี่ยงกันด้วยความยึดมั่นถือมั่นเหมือนสมัยนี้อย่างไรได้เล่า เรามองเห็นคนที่เข้าใจผิดในเรื่องศาสนา เข้าใจผิดในเรื่องศาสนาแล้วก็ย่อมเข้าใจผิดต่อศาสนาของตนเองด้วย แล้วก็มองเห็นศาสนาอื่นเป็นศัตรูด้วย แล้วก็มุ่งทำลายซึ่งกันและกันหรือเอาเปรียบกันหรือจะข่มขี่กัน ไม่กระทำไปในลักษณะที่เป็นเพื่อนกันเพื่อทำโลกนี้ให้มีความสงบสุขเลยนั้นคือ คนบ้าศาสนา ศาสนาของคนบ้าศาสนาจะเป็นศาสนาไปไม่ได้มันก็เป็นความบ้าของเขาเองไปตามเดิม พุทธศาสนาของเรามีหลักเป็นเนื้อแท้อยู่ที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตน ข้อนี้อยากจะยกตัวอย่างกันสักหน่อยถึงวัตถุทางวัตถุว่า ถ้าเราจะมองดูน้ำ เราก็เห็นว่ามีหลายน้ำ เป็นน้ำบ่อ น้ำหนอง น้ำคลอง น้ำฝน น้ำประปา น้ำในส้วม น้ำในคูโสโครก น้ำอุจจาระ น้ำปัสสาวะ มีหลายน้ำไม่เหมือนกัน เราเป็นคนสะเพร่า เป็นคนโง่ เป็นคนเผอเรอ มองมันหยาบๆ ผิวๆ เผินๆ จึงเห็นเป็นอย่างนั้นหารู้ไม่ว่าในน้ำทุกชนิดนั้นมีน้ำบริสุทธิ์ ส่วนสิ่งที่สกปรกที่มาทำให้น้ำเปลี่ยนแปลงไปนั้น นั่นไม่ใช่น้ำ เช่นว่าน้ำบริสุทธิ์เอาอุจจาระปัสสาวะละลายลงไปมันก็เป็นน้ำอุจจาระ อุจจาระนั้นไม่ใช่น้ำ น้ำนั้นคงเป็นน้ำบริสุทธิ์อยู่ตามเดิม เราต้องมองดูด้วยปัญญาจึงจะเห็นว่าในน้ำทุกชนิด ในสิ่งที่เราเรียกกันว่าน้ำทุกชนิดจะมีน้ำบริสุทธิ์อยู่ในนั้น ส่วนของเหล่านั้นมันไม่ใช่น้ำ เป็นดินบ้าง เป็นโคลนบ้าง เป็นฝุ่นละอองบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง เป็นเนื้ออย่างอื่นปนลงไปในน้ำ ทำไมเราไปเรียกสิ่งนี้ว่าน้ำด้วยเล่า ถ้าเรามองดูแต่น้ำเราก็จะเห็นว่ามีน้ำบริสุทธิ์อยู่ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งในน้ำฝนเอาฝุ่นละอองออกเสียก็คือน้ำกลั่นบริสุทธิ์ น้ำในคลองเอาโคลนเอาดินอะไรออกเสียก็คือน้ำกลั่นบริสุทธิ์ แม้แต่น้ำอุจจาระ ปัสสาวะเอาน้ำ เอาส่วนนั้นออกเสียก็เหลือแต่น้ำกลั่นบริสุทธิ์ เราจึงเห็นว่าในนั้นมีน้ำอย่างเดียวกันคือ น้ำกลั่นบริสุทธิ์ เดี๋ยวนี้เราก็มีน้ำๆ เดียว ทีนี้เราดูน้ำให้ลึกไปกว่านั้นตามภาษาวิทยาศาสตร์ที่เราเรียนกันอยู่ทุกคนว่า H2O ไฮโดรเจนสองออกซิเจนหนึ่ง ในน้ำบริสุทธิ์มีแต่เพียงเท่านี้ เมื่อเรามีปัญญามีสายตามองดูมาถึงขนาดนี้ สิ่งที่เรียกว่าน้ำก็หายไปอีกเหลืออยู่แต่ ออกซิเจนสอง อ๋อ,ไฮโดรเจนสองออกซิเจนหนึ่ง น้ำหายไปไหนแล้วไม่รู้ นี่คือความจริงในชั้นนี้ เหลืออยู่แต่ธาตุแท้ ๒ อย่าง ทีนี้เราจะดูกันอีกด้วยปัญญามากไปกว่านั้นอีกว่าใน ไฮโดรเจนหรือออกซิเจน อณู ปรมาณูหนึ่งนั้น หนึ่งๆ นั้น มันมีอะไรอีก ดูไปอีก ยิ่งดูไปในที่สุด ก็ไปจบลงที่ความว่าง ก็เป็นอันว่าไม่มีอะไรนอกจากความว่าง สิ่งที่เรียกว่าน้ำก็หายไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าออกซิเจนไฮโดรเจน ก็หายไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าอณูหรือปรมาณู ก็หายไปแล้ว เหลืออยู่แต่ความว่าง นี้มันเป็นสิ่งเดียวกันหรือเปล่า จะเห็นได้ว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันหมดทั้งรูปธรรมและนามธรรม ในทางจิตใจไล่ไปก็ไปจบลงที่ความว่าง ในทางร่างกายไล่ไปก็ไปจบลงที่ความว่าง จึงเป็นอันว่าในทางวัตถุก็ดี ในทางนามธรรมหรือจิตใจก็ดี มีเนื้อแท้คือ ความว่าง แล้วจะเอาอะไรมาเป็นตัวเป็นตนสำหรับวิวาทกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้นเป็นแต่ผี ปีศาจชนิดหนึ่งหลอมตัวขึ้นมาจากความโง่ของจิตใจที่ไม่ประกอบไปด้วยความรู้ มันจึงมีขึ้นมาสำหรับเป็นนั้นเป็นนี้เป็นตัวฉัน เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นในความเอร็ดอร่อยทางเนื้อ ทางหนัง ทางตา ทางหู ที่เกิดจากสิ่งเหล่านั้น เอาสิ่งเหล่านั้นเป็นความจริง คนที่บูชาเงินก็เพื่อได้วัดความเอร็ดอร่อยทางวัตถุทางเนื้อทางหนัง คนที่บูชาเกียรติยศชื่อเสียง อำนาจวาสนาก็เพื่อจะใช้สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องมือหาความเอร็ดอร่อย ทางวัตถุ ทางเนื้อ ทางหนัง เพราะเหตุฉะนี้เองพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุคคลฉลาดที่สุดในโลกจึงได้ชี้ระบุไปยังเวทนา คือเวทนาที่เป็นความเอร็ดอร่อย ทางเนื้อทางหนังคือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเองว่านั่นแหละเป็นตัวการสำคัญที่หลอกหลอนคนให้คนยึดมั่นถือมั่นแล้วเกิดกิเลสนาๆ ประการขึ้นมา แล้วก็ได้ทำไปตามอำนาจกิเลส ซึ่งเป็นการเบียดเบียนตนเองด้วย เบียดเบียนผู้อื่นทุกๆ คนด้วย นี่เรียกว่า ผี ปีศาจได้เกิดขึ้นมาอย่างไม่น่าจะเกิด แล้วก็ครอบงำโลกนี้ให้เป็นไปอย่างนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายท่านประชุมกันแล้วท่านพูดเรื่องอะไร ก็ท่านพูดเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ดังที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น ซึ่งจะได้พิจารณากันต่อไป แต่อย่าเอาไปกันจนสับสน ในเมื่อพูดว่าไม่มีศาสนานั้นเรียกว่า พูดภาษาธรรมะ เมื่อพูดว่ามีพุทธศาสนาและมีหัวใจพุทธศาสนานั้นเรียกว่าพูดภาษาคน คำพูดภาษาคน นี่คือ ตามภาษาคนธรรมดา เป็นความจริงอย่างสมมติ พูดอย่างภาษาธรรมนั้น พูดภาษาพระอริยเจ้า พูดภาษาความจริงแท้ เราจะวิจารณ์กันต่อไปถึงภาษาคนและภาษาธรรม ถ้าพูดภาษาคน ก็มีพระพุทธ มีพระธรรม พระสงฆ์ ถ้าพูดเป็นภาษาธรรม ก็ไม่มี กลายเป็นของสิ่งเดียวกัน ทีนี้วิจารณ์หนักขึ้นไปอีก พระพุทธเจ้า ก็จะไปเหลือแต่ธรรมชาติ พระธรรม ก็จะเหลือแต่ธรรมชาติ พระสงฆ์ ก็จะเหลือแต่ธรรมชาติ ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีพระธรรม ไม่มีพระสงฆ์ ทั้งอย่างภาษาคน หรือ ภาษาธรรม ที่เรียกแต่ว่าธรรมล้วนๆ ไปเสียอีก ไปเหลืออยู่แต่ความว่าง ในที่สุด เป็นธรรมชาติสูงสุด เป็นธรรมชาติที่เด็ดขาด เฉียบขาดที่สุด คือความว่าง ไม่มีอะไรที่จะจริงจะแท้ยิ่งไปกว่าความว่าง คือว่างจากตัวตน ว่างจากของตน เมื่อเราเข้าถึงความจริงคือความว่างไม่ได้ ก็ต้องไปหลงเอานั้นเอานี้มาเป็นตัวตนเข้าจนได้ เหมือนกับที่เรากำลังหลงอะไรว่าเป็นตัวเป็นตน ซึ่งทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจตนเองอยู่ดีแล้วโดยไม่ต้องพูดกันอีก เพราะฉะนั้นถ้าเราจะ ถือเอาประโยชน์จากความรู้ จากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว เราต้องพิจารณาพร้อมๆ กันไป ทั้งภาษาคนและภาษาธรรม คือทั้งภาษาสมมติและภาษาความจริง คือถ้าจริงอย่างหนึ่งก็จริงอย่างสมมติ จริงอีกอย่างหนึ่งคือ จริงอย่างปรมัติ คืออย่างจริงแท้ เมื่อเราพูดว่าตามกฎหมายแล้วที่ดินผืนนี้เป็นของเรา นี้เป็นความจริงอย่างสมมติ เมื่อเราพูดว่าที่ดินหรืออะไรก็ตามเป็นของใครไม่ได้ เป็นของธรรมชาติ นี้เราเรียกว่าพูดความจริงอย่างปรมัติ เมื่อเราพูดด้วยความรู้สึกที่มีสติสัมปชัญญะอย่างนี้แล้ว เราก็มีสติสัมปชัญญะที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นได้โดยแน่นอน และเราก็จะเป็นคนพูดปากอย่างใจอย่างเหมือนพระอรหันต์หรือเหมือนพระพุทธเจ้าได้ ปากพูดว่าอย่างไรแต่ใจไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นอย่างนั้น เราก็เป็นคนที่ไม่มีความทุกข์เลย เราก็ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการที่มีพระพุทธเจ้าอยู่ มีพระอรหันต์อยู่ในโลกนี้ ถ้าเราพูดว่าหัวใจของพุทธศาสนา เราก็พูดภาษาคน พูดภาษาสมมติ สำหรับเราจะได้พูดกันรู้เรื่องเพราะว่าเราต้องพูดกับคนโง่ เราก็ต้องพูดภาษาคนโง่ คนโง่จึงจะฟังรู้เรื่อง เพื่อให้คนโง่ค่อยรู้จักตัวเองขึ้นมาตามลำดับจนเป็นคนฉลาด แล้วที่หลังเราจึงค่อยพูดกันด้วยภาษาของคนฉลาด คือภาษาของพระอริยเจ้าหรือพระอรหันต์หรือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเราจึงพูดกัน ๒ ภาษาเรื่อยๆ ไป คือภาษาคนอย่างหนึ่งภาษาธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเราเป็นปุถุชนมากเกินไปก็พูดภาษาคนกันมากๆ แต่พอเป็นผู้ลืมหูลืมตาสว่างไสวขึ้นมาบ้างก็พูดภาษาธรรมะได้มากขึ้น จนกระทั่งเรารู้ทั้ง ๒ ภาษา สามารถพูดให้ถูกต้องทั้ง ๒ ภาษา นั่นแหละคือเราเป็นสาวกที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องรู้ภาษาธรรมะกันเสียบ้าง รู้ภาษาธรรมะเพิ่มขึ้นให้พอสมสัดสมส่วนกันกับภาษาคนที่รู้มากเกินไป ถ้าไม่รู้ภาษาธรรมะหรือภาษาธรรมเสียเลยแล้ว คนก็จะถอยหลังลงไปเป็นสัตว์แม้แต่จะเป็นคนก็เป็นไม่ได้ เพราะถ้าพูดกันแต่ภาษาคนยึดมั่นถือมั่นเต็มที่ตามภาษาคนแล้วก็จะมีจิตใจอย่างสัตว์ ก็มีความเป็นสัตว์อยู่ในคน นี่เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมากเกินไป ขอได้ตั้งอกตั้งใจคิดนึกกันเสียใหม่ว่า เราต้องรู้ภาษาธรรมกันบ้างแล้ว อย่ารู้แต่ภาษาคนกันนักเลย อย่างน้อยก็ต้องรู้ภาษาคนกับภาษาธรรมให้ได้สัดส่วนกันไป เพื่อว่าเราจะได้พูด ได้คิด ได้นึก ได้กระทำ โดยไม่มีการยึดมั่นถือมั่น แม้เราจะต้องพูดแต่ภาษาของคนยึดมั่นถือมั่น เราก็พูดกันแต่ปากแต่ใจของเราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นแต่ประการใด เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วในใจนั้นก็จะเต็มไปด้วยธรรม เมื่อเต็มไปด้วยธรรมแล้วธรรมะนั้นจะคุ้มครองไม่ให้มีความทุกข์ ไม่ให้มีความยากลำบาก ไม่ต้องฟูๆ แฟบๆ แต่ว่าจะเป็นความสงบ สะอาด สว่าง อยู่ในเนื้อในตัว ( นาทีที่ 01.08.39น ) กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งได้เคยอธิบายไว้ในที่อื่นๆ มามากมายหลายครั้งหลายหนแล้วว่าธรรมนั้นคือธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ แล้วก็ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม เพราะว่าธรรมก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือธรรม แต่เรามารู้จักธรรมแต่เพียงบางสัดบางส่วน เช่นรู้แต่เพียงว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเรียกว่าธรรม สำหรับภาษาบาลี สำหรับภาษา สันสกฤตคำนี้มันหมายถึงทุกสิ่งรวมทั้งคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยหรือจะกลับกันเสียกับว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นท่านสอนเรื่องทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเลยก็คือสอนธรรมชาติทุกสิ่ง ธรรมชาติส่วนที่เปลี่ยนแปลงกับธรรมชาติส่วนที่ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อพูดอย่างนี้มันก็หมดแล้วมันไม่มีอะไรเหลือ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาตินั้นก็มีเพียง ๒ อย่างนี้เท่านั้น ธรรมชาติที่มีการปรุงแต่งกับธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่ง พูดอย่างนี้มันก็หมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แต่ว่าเราอาจจะแจกแจงเป็นอย่างอื่นเพื่อการศึกษาได้อีกมากมาย เช่นว่าตัวธรรมชาติแท้ๆ มันอย่างหนึ่งแล้วกฎของธรรมชาตินั้นก็อีกอย่างหนึ่ง แต่กฎของธรรมชาติก็คือธรรมชาติอีกนั่นเองไม่อะไร ไม่ไปไหนเสีย ทีนี้หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติมันก็คือธรรมชาติอีก เพราะว่าตัวมนุษย์ก็คือธรรมชาติ จิตใจของมนุษย์ก็คือธรรมชาติ ต้องกระทำไปตามกฎก็คือธรรมชาติ ทั้งหน้าที่ที่จะต้องทำไปตามกฎก็เป็นธรรมชาติในทางนามธรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่นี้แม้ย่อมมีผลอะไรเกิดขึ้นมาก็ควรเป็นตามกฎธรรมชาติ มันก็ยังคงเป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง ที่ปรุงแต่งหรือไม่ปรุงแต่งอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เป็นธรรมดาดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ เมื่อพูดความจริงในภาษาธรรมะ ภาษาบาลี ภาษาพุทธศาสนาแล้ว ใช้คำว่าธรรมชาตินี่แหละเป็นคำกลาง เป็นคำรวมหมายถึงสิ่งทุกสิ่ง เช่นพูดว่าธรรมชาติที่เป็นทุกข์ ธรรมชาติที่เป็นสุข ธรรมชาติที่เป็นไม่ทุกข์ไม่สุขหรือธรรมชาติที่เป็นเหตุ ธรรมชาติที่เป็นผลหรือธรรมชาติที่ไม่เป็นทั้งเหตุและไม่เป็นทั้งผล เหล่านี้มันก็ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรนอกไปจากธรรมชาติ เมื่อเห็นความจริงข้อนี้แจ่มชัดลงไปอย่างนี้ ใจมันก็ไม่ยึดถือเอง ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดว่าเป็นตัวตนเอง เพราะมันเห็นอยู่ว่าเป็นธรรมชาติแต่ถ้าไม่เห็นความจริงข้อนี้ ไม่เห็นความจริงในข้อที่ว่าทุกสิ่งเป็นเพียงธรรมชาตินี้แล้ว มันก็ต้องหลงผิดไปยึดถือนั่นนี่เป็นตัวเป็นตน แล้วในระหว่างนั้นก็ไปหลงใหลในส่วนที่เป็นของสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จนลืมอะไรหมด ลืมทุกสิ่งทุกอย่างหมด สนใจอยู่แต่เรื่องที่จะนำมาซึ่งความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเท่านั้น ก็เลยถือสิ่งนี้เป็นสิ่งประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งใด ทั้งที่ปากร้องตะโกนว่าพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของเราหรือเป็นบุคคลผู้ประเสริฐที่สุดในโลก นั้นว่าเอาแต่ปากแต่ใจนั้นไปหลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี้เป็นการพูดที่โกหกอย่างยิ่งแล้ว ไม่มีคำพูดไหนจะเป็นคำพูดที่เท็จหรือโกหกมากเหมือนคำพูดชนิดนี้ เพราะนั้นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นคนหลอกหลวงถึงขนาดนี้ไม่ได้ เดี๋ยวนี้เราก็กำลังจะบูชาพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในวันเช่นวันนี้แล้ว เราควรจะมีความสว่างไสว่แจ่มแจ้ง เราควรจะมีความซื่อตรงมีความซื่อสัตย์ในการที่จะไม่ไปโกงธรรมชาติ ไม่ไปเอาอะไรของธรรมชาติมาเป็นของเรากันให้ถูกต้องเสียก่อน ให้เรามีจิตใจเหมือนจิตใจของพระอรหันต์เสียก่อนแม้แต่ชั่วครู่ก็ยังดี การบูชามาฆบูชาหรือการเวียนเทียนของเรานี้ก็จัดเป็นของจริง ไม่เป็นของเล่นตลก ไม่เป็นของเล่นละครหรือหน้าไหว้หลังหลอกต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอซ้อมความเข้าใจในเรื่องนี้กันเป็นอย่างยิ่งในที่นี้ ว่าอย่าให้การทำมาฆบูชานี้เป็นการเล่นตลกเล่นละครหรือหน้าไหว้หลังหลอกต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงได้เตรียมจิตใจเสียแต่เดี๋ยวนี้เถิดว่า เรามองเห็นแล้วว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงธรรมชาติ ไม่ควรที่จะยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตนก็จะเป็นไปด้วยความทุกข์ ถ้าเราจะพูดว่าของเราขอให้พูดแต่ปากใจอย่าได้เป็น แม้จะพูดว่าเราก็ให้เป็นแต่ปากใจอย่าได้เป็น คงรู้สึกอยู่เสมอว่าทุกส่วนแห่งร่างกายของเรา จะเป็นจิตใจก็ดีเป็นเนื้อหนังก็ดีเป็นของธรรมชาติและอะไรๆ ที่จะมาเนื่องกันกับร่างกายและจิตใจนี้ก็เป็นของธรรมชาติ เพราะนั้นร่างกายและจิตใจนี้จงกระทำไปอย่างถูกต้องอย่าให้ผิดกฎของธรรมชาติเลย ให้อยู่ด้วยลักษณะปรกติของธรรมชาติคือความสะอาด สว่าง สงบ ไม่ปรุงแต่งเป็นกิเลสและเป็นความทุกข์ แล้วเราก็พอใจมีปรีติปราโมทย์ในความจริงอันนี้ เราจึงแสดงออกด้วยการบูชาพระพุทธเจ้าผู้เปิดเผยความจริงอันนี้และบูชาพระธรรมในฐานะที่เป็นตัวความจริงอันนี้ และบูชาพระสงฆ์ในฐานะที่เป็นหมู่คณะที่เข้าถึงความจริงอันนี้ได้และสืบอายุการประพฤติปฏิบัติในลักษณะนี้ไว้ต่อๆ มาจนถึงพวกเราเวลานี้ เราได้รับแสงสว่างด้วยขณะที่เรามีความพอใจอย่างนี้เราทำมาฆบูชาด้วยการกล่าวสรรเสริญคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บ้างด้วยการเวียนประทักษิณซึ่งเป็นการแสดงออกซึ่งการเคารพทางกายอย่างสูงสุดแล้วบ้างโดยเฉพาะการเวียนประทักษิณที่นี่ ท่านเห็นแล้วว่าจะต้องเดินไปบนพื้นที่มีก้อนกรวดก้อนหินซึ่งมันจะต้องขรุขระ มันจะต้องทำให้เจ็บเท้าบ้างแล้วก็อย่าได้เผลอสติไปยึดมั่นตัวกูเข้าแล้วโกรธก้อนหิน แล้วก็ไปทะเลาะกันกับก้อนหิน แล้วก็ทำมาฆบูชาไม่ได้จะล้มเหลวหมด ถ้ายิ่งปวดเพราะก้อนหินก็ยิ่งดีจะได้ใช้ความปวดนั้นเป็นเดิมพันลงทุนในการบูชาซึ่งมันยิ่งขึ้นไปกว่าธรรมดา เพราะฉะนั้นควรจะถอดรองเท้าเสียเป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ให้เท้าเปล่าๆ หรือเท้าอ่อนๆ นั้นสัมผัสกันกับพื้นดินหรือก้อนกรวดก้อนหินและเอาความเจ็บปวดนั้นเป็นการบูชาซึ่งเป็นลักษณะของปฏิบัติบูชา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงปรารถนาว่าสาวกทั้งหลายจะบูชาพระองค์ด้วยปฏิบัติบูชา อย่าหลงมัวบูชาด้วยอามิสบูชาอย่างเดียว เช่นบูชาด้วยธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ อาหารการกินที่ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เหล่านั้นมันเป็นอีกส่วนหนึ่งคือเป็นส่วนร่างกาย เป็นส่วนความจำเป็นทางกาย เป็นของง่ายๆ เป็นของชาวบ้าน เป็นของคน แต่ให้บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติในทางใจตามคำสอนของพระองค์ ให้เข้าถึงธรรมของพระองค์ ซึ่งเป็นการเข้าถึงพระองค์เองด้วย การเสียสละทำให้ได้อย่างนั้นเรียกว่าเป็นปฏิบัติบูชา อีกอย่างหนึ่งพระองค์ได้ตรัสว่า เธอทั้งหลายอย่าได้เป็น อามิสทายาทเลย แต่จงเป็น ธรรมทายาทเถิด หมายความว่าอย่าหวังจะได้อะไรจากพระพุทธเจ้าเป็นเงิน เป็นทอง เป็นข้าว เป็นของ แต่จงหวังที่จะได้อะไรจากพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นธรรม เป็นธรรมะ เดี๋ยวนี้คนบูชาพระพุทธเจ้าเพราะอยากรวย อยากสวย เอาพระมาแขวนคอเพื่อให้มีโชคดี จะได้รวยได้สวยอย่างนี้เป็นอามิสทายาท หวังในอามิสทายาท ไม่ถูกตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ จะต้องทำตนให้ได้รับธรรมะ ให้มีธรรมะ ให้เข้าถึงธรรมะ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นธรรมทายาท เพราะนั้นเราจะทำมาฆบูชาเราต้องทำตนให้ตรงตามความประสงค์ของพระองค์เสียก่อน คือให้เป็นธรรมทายาท หวังที่จะบูชาด้วยธรรมเอาธรรมเป็นเครื่องบูชา บูชาด้วยธรรม อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติบูชา ส่วนอามิสบูชานั้นเราก็ทำให้มันคู่กันไป เช่นจุดธูปจุดเทียนขึ้นบูชา แต่ถ้าคนฉลาดแล้วอย่าไปถือเอาที่ธูปที่เทียนเป็นสำคัญ ไปถือเอาที่เราต้องหาธูปหาเทียนมาด้วยความยากลำบากต้องเสียสละในการซื้อหามา แล้วต้องจุดต้องทำ เอาตัวการกระทำนี้เป็นหลัก ก็จะเรียกว่าปฏิบัติบูชาได้เหมือนกัน แม้เราจะบูชาด้วยข้าวปลาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย แต่เราอย่าไปเพ่งเล็งที่ตัววัตถุนั้น เราเพ่งเล็งที่ตัวการกระทำ แล้วต้องกระทำด้วยความเหนื่อยยากจึงได้วัตถุนี้มาและบูชา อย่างนี้ก็มีปฏิบัติบูชาอยู่ในการถวายซึ่งอามิสนั้นแล้ว นี้เรียกว่าได้กำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่มีความงมงายเพียงแต่ว่าให้ได้จุดธูปจุดเทียนก็พอแล้ว ดังนั้นจึงได้แย่งกันจุดธูปจุดเทียนกันเป็นจ้าละหวั่นเพียงเท่านั้นในจิตใจนั้นมีแต่ความวุ่นวาย อย่างนี้เป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้กับธรรมะในพระพุทธศาสนา จะจุดธูปจุดเทียนนั้นต้องดับไฟในจิตใจเสียก่อน ทุกคนจะต้องดับไฟที่เร้าร้อนในจิตใจเสียก่อนแล้วจึงค่อยจุดธูปจุดเทียนจึงจะบูชาพระพุทธเจ้าได้ ถ้ายังไม่ดับไฟในจิตใจเสียก่อนมีความงุ่นง่านอยู่ในใจ หงุดหงิดอยู่ในใจ มีความรู้สึกที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ อะไรอย่างหนึ่งอยู่ในใจ เป็นความร้อนอยู่ในใจแล้ว ถึงจะจุดธูปจุดเทียนบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ป่วยการ ใครก็ตามเมื่อจะเข้าไปจุดธูปจุดเทียนในที่บูชา ที่นี่ก็ตามที่ไหนก็ตาม ที่บ้านของตัวเองก็ตาม ในห้องพระของตัวเองก็ตามต้องดับความร้อนในจิตใจเสียก่อนจึงค่อยจุดธูปจุดเทียนบูชา มิฉะนั้นให้พึงรู้สึกเถิดว่า พระพุทธองค์นั้นแหละจะตัดไล่ให้ออกไป ว่าอย่ามาจุดธูปจุดเทียนที่นี่ให้ป่วยการ เพราะว่าแกไม่ได้ดับความร้อนในจิตใจของแกเสียก่อน จะมาจุดธูปจุดเทียนที่นี่ให้เปลืองเปล่าทำไม เดี๋ยวนี้เราก็จะทำมาฆบูชา บูชาอย่างสูงสุดแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว จงพยายามสำรวมสติสัมปชัญญะให้เป็นอย่างยิ่ง ให้ไม่มีความร้อนอะไรเหลืออยู่ในใจแม้แต่ชั่วขณะหนึ่งก่อน แล้วจึงจุดธูปจุดเทียน แล้วจึงจะเดินเวียนประทักษิณ แล้วตลอดเวลานั้นก็จะมีจิตใจที่เป็นธรรมประกอบอยู่ด้วยธรรม คือความว่างจากตัวตนและของตนจนถึงที่สุดที่เราจะกระทำได้ จึงจะเป็นการบูชามาฆบูชาที่ดีที่สุดที่ถูกต้องที่สุดที่มีผลที่สุด แม้ในการที่จะกระทำวิสาขบูชาหรืออาสาฬหบูชาก็อย่างเดียวกันนั่นอีก จะต้องทำอย่างนี้เหมือนกัน เพราะได้อธิบายมาแล้วว่า วิสาขบูชาหรืออาสาฬหบูชาหรือมาฆบูชานั้น ถ้ากล่าวโดยเนื้อแท้แล้วมันก็เป็นของสิ่งเดียวกันนั่นเอง ไม่มีอะไรแตกต่างกัน เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าและพระธรรมและพระสงฆ์เป็นของสิ่งเดียวกันดังที่ได้กล่าวมาแล้วและกล่าวซ้ำกล่าวซาก และขอร้องให้เอาไปนึกไปคิดซ้ำๆ ซากๆ จนกว่าจะเข้าถึงความจริงอันนี้
ทั้งหมดนี้เป็นการซ้อมเป็นการเตือน เป็นการปรับความเข้าใจเพื่อว่าให้เรามีการกระทำที่ถูกต้อง ให้เป็นทั้งวิชาการให้เป็นทั้งวิธีการรวมกันอย่างแนบแน่นสนิทตามบทว่า วิชชา จะระณะ สัมปันโน สมกับที่เราจะเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วย วิชชา และ จรณะ คือมีความรู้สึก มีความเข้าใจ มีความคิดเห็นที่เป็นส่วนวิชชานั้นก็ถูกต้อง แล้วก็มีส่วนการกระทำที่กระทำลงไปด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ นั้นก็เป็นการถูกต้อง เราจึงสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เรียกได้ว่าเป็น ( นาทีที่ 1:24:58 ) วิชชาจะระณะ สัมปันโน กับเขาคนหนึ่งด้วยเหมือนกัน และพอใจ ภาคภูมิใจที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นสาวกที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นแต่เพียงพิธีรีตอง ไม่ได้เป็นแต่เพียงธรรมเนียม ไม่ได้เป็นแต่เพียงจดบัญชีว่าเป็นพุทธมามะกะนับถือพุทธศาสนา แต่ว่าได้เป็นโดยเนื้อแท้ ได้เป็นโดยเนื้อโดยตัว เป็นอยู่ที่เนื้อที่ตัว เป็นอยู่ที่กายที่วาจาและใจ เป็นผู้มีความสะอาด สว่าง สงบ ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เราจะบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าหากเวลาอื่นเราเผลอไปบ้างเราก็ต้องสารภาพผิดต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้ว่าจะไม่มีเป็นตัวเป็นตนเราก็สมมติว่าเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เราจะต้องขออภัยโทษเพื่อความสำรวมระวังต่อไป โดยเนื้อแท้ก็คือธรรมะส่วนที่โง่ขออภัยต่อธรรมะส่วนที่ฉลาด ธรรมะส่วนที่เป็น อวิชชา รู้สึกตัวขึ้นมาแล้วก็กลายเป็น วิชชา แล้วก็ขออภัยต่อธรรมะที่เป็นฉลาด เป็นความฉลาดเป็นความถูกต้องหรือเป็นวิชชา แต่ถ้าพูดภาษาคนก็เรียกว่าเรานี่แหละโง่ไปแล้วเผลอไปแล้วก็ต้องสารภาพผิดกล่าว กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา เป็นต้น ขออภัยพระพุทธบ้าง พระธรรมบ้าง พระสงฆ์บ้าง นี้มันไม่ใช่สำเร็จอยู่ตรงที่ขออภัย มันสำเร็จอยู่ที่ตรงว่าเราเสียใจ เรารู้สึกแล้วเราจะไม่ทำอย่างนั้นอีก คือเราเป็นคนละอาย ไม่เป็นคนหน้าด้าน ถ้าเราขออภัยแต่ปากใจของเราไม่กลับใจอย่างนี้เราก็เป็นคนหน้าด้านโดยไม่รู้สึกตัว เป็นคนหน้าด้านชนิดที่ไม่รู้สึกตัว มันอาจจะร้ายไปกว่าคนหน้าด้านที่รู้สึกตัวก็ได้ ต้องระวังให้ดี ถ้าเรารู้สึกตัวว่าทำผิดแล้วเราต้องมีความละอายคือ หิริ และเราต้องมีความกลัวคือ โอตตัปปะ เราต้องมีความละอายมีความกลัวให้มาก แล้วความละอายและความกลัวนั่นแหละมันจะช่วยไม่ให้เราทำผิดทำพลาดอีกต่อไป เช่นเราเดินตกร่อง เราละอายคนหัวเราะ เรากลัวความหน้าแข้งเจ็บ นี่เรามีทั้งละอายและทั้งกลัวเราจึงไม่เดินตกร่อง เพราะฉะนั้นเราถือว่าความละอายและความกลัวเป็นเครื่องคุ้มครองไม่ให้เราตกร่อง ในการที่จิตจะเกิดกิเลสนี้ก็เหมือนกัน มันก็เหมือนกับการตกร่องในทางวิญญาณ วิญญาณตกร่อง แต่ถ้าว่าเรามีความละอายและความกลัวให้มากแล้ว มันก็ไม่ค่อยตก มันก็ตกน้อยเข้าจนกระทั่งไม่ตก เหมือนที่เราเดินไม่ตกร่อง ไม่ตกคูถนน ไม่ตกอะไรต่างๆ หรือว่าเราไม่ไปทำอะไรผิดพลาดที่น่าละอายกลางถนน ทุกคนระวังอย่างยิ่งมันก็สำเร็จ ไม่ไปทำอะไรที่น่าละอายกลางถนนหนทาง แต่ในทางจิตใจนี้เราไม่นึกอย่างนั้น เราไม่รู้สึกอย่างนั้น เราไม่ละอายเราไม่กลัวมันจึงทำอะไรที่น่าละอายอยู่มากๆ บ่อยๆ จนชินเป็นนิสัยแล้วมันก็แก้ยาก เพราะเหตุเช่นนี้แหละเราจะต้องหันมานึกถึงความละอายและความกลัวกันให้เป็นการใหญ่ คำว่าหิริและโอตตัปปะนี้ เหมือนกับหญ้าปากคอก อยู่ที่คัมภีร์ใบแรกเปิดนวโกวาทออกดูก็จะพบเป็นใบแรกหรือหน้าแรก เรื่องหิริโอตตัปปะ แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นของเล็กน้อยเหมือนกับว่าหญ้าปากคอกหรือว่าอยู่ใบแรกมันมีความสำคัญอย่างยิ่งแต่ต้นจนปลายทีเดียว เราต้องมีความละอายคือ หิริ มีความกลัวคือโอตตัปปะ ตั้งแต่ต้นจนปลาย ตั้งแต่เรื่องทางโลกๆ ต่ำๆ เตี้ยๆ ขึ้นไปจนกระทั่งเรื่องขนาดกลางจนกระทั่งเรื่องสูงสุดจนดับทุกข์ บรรลุ มรรคผล นิพพาน เบื้องต้นก็ดี ท่ามกลางก็ดี เบื้องปลายก็ดี ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า หิริ และ โอตตัปปะ นี้ทั้งนั้น ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นไปไม่ได้เลย คือจะเป็นไปแต่ในทางที่หน้าไหว้หลังหลอกมากขึ้น หน้าไหว้หลังหลอกมากขึ้น ในที่สุดก็ล้มเหลวหมด ในการเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องพ่ายแพ้แก่พญามาร พญามารจะต้องมัดเอาตัวไปได้ ไปเป็นสาวกไปเป็นสมุนของพญามารทนทุกข์ทรมานอยู่โดยรู้สึกตัวบ้าง โดยไม่รู้สึกตัวบ้าง แต่แล้วก็ยกหูชูหางว่าตัวดีกว่าผู้อื่นเก่งกว่าผู้อื่น ผู้อื่นจะต้องเชื่อฟังตัว จะต้องเคารพตัวอยู่เสมอไปดังนี้ นี้เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่เสียหายที่สุด เป็นการล้มละลายที่สุด ไม่มีอะไรจะเป็นการเสียหายของมนุษย์ยิ่งไปกว่าสิ่งนี้แล้ว ควรกลัวให้มาก ควรละอายให้มาก แล้วหลีกเลี่ยงเสียโดยเด็ดขาดเถิด
สรุปความในที่สุดนี้ว่าเราจะต้องสมบูรณ์ด้วย วิชชา รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไรเราควรทำอย่างไร แล้วเราก็สมบูรณ์ด้วย จรณะ คือ การประพฤติกระทำตามนั้นให้ได้ชื่อว่าเป็น วิชชา จะระณะ สัมปันโน และอาศัยหัวข้อสั้นๆ ที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ ข้อที่ ๑ ว่า
สัพพะ ปาปัสสะ อะกะระณัง เว้นบาปหรือความชั่วหมดทุกอย่างทุกประการ
กุสะ ลัสสูปะ สัมปะ ทา ทำสิ่งที่ดีที่งามให้ครบถ้วนทุกประการ
สะ จิตตะ ปะริโยทะ ปะนัง ทำจิตให้ผ่องใสไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งในความดีและความชั่วทุกๆ ประการ
ข้อนี้มันสัมพันธ์กัน ครั้งแรกเรามีปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องไฟไหม้หัวไหม้ศีรษะเป็นความร้อนคือ บาป เราต้องดับไฟนี้ก่อนแล้วเราจึงสร้างความดี ความซึ่งเป็นเหมือนความงาม ความสวย ความสงบ ความเย็น แต่แล้วเราอย่าได้ไปยึดถือความดี ความสวย ความงาม ความเย็นนั้นเข้าว่าเป็นของเรา มันจะกลายเป็นความร้อนหรือเป็นบาปขึ้นมาอีก ข้อความทั้ง ๓ บรรทัดนี้จึงเนื่องกัน เว้นความชั่วเสียให้หมด ทำความดีให้สมบูรณ์แล้วดำรงจิตไว้ในลักษณะที่ไม่ยึดมั่นสิ่งใดเลย นี่เรียกว่าเป็น วิชชา ก็ได้ คือเป็นความจริงที่มีอยู่อย่างนี้แล้วเป็น จรณะ คือการปฏิบัติก็ได้ เพราะว่าเราต้องปฏิบัติอย่างนี้ เรารู้ว่าเราต้องเว้นบาปหมดทำความดีให้เต็มและอย่าไปยึดมั่นสิ่งใดเข้านี้เป็นความรู้หรือเป็นวิชชา แล้วเราก็กระทำอย่างนั้นจริง คือเว้นบาปจริง ทำดีจริง ควบคุมจิตไม่ให้ยึดมั่นสิ่งใดจริง อบรมจิตให้ฉลาดจนไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดจริงนี้เรียกว่า จรณะ สมบูรณ์ด้วย จรณะ ที่นี้จากหัวข้อทั้ง ๓ นี้จะแยกออกไปเป็นข้อปฏิบัติอีก ๕ อย่าง ๑๐ อย่าง ๒๐ อย่าง ๓๐ อย่างอะไรก็ได้ ดังที่พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสจำแนกไว้ให้เป็นตัวอย่างให้กว้างออกไปหรือให้ต่ำลงไปสำหรับพวกฆราวาสที่อยู่บ้านอยู่เรือน โดยจะแนะออกไปเป็น ๖ อย่างว่า อะนูปะ วาโท ไม่พูดร้าย, อะนูปะ ฆาโต ไม่ทำร้าย, ปาติโมกเข จะ สังวะโร สำรวมเคร่งครัดในกฎและระเบียบ, มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง รู้ความพอดีในการกินการอยู่, ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง นั่งนอนอย่างสงบสงัด, อะธิจิตเต จะ อาโยโค ทำจิตให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยคุณสมบัติทางจิต รวมเป็น ๖ อย่างด้วยกัน
ข้อแรก อะนูปะ วาโท ไม่พูดร้าย นี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย คนโดยมากพูดร้ายด้วยความยึดมั่นถือมั่นนั่นเองจึงได้พูดร้าย พูดร้ายก็เพื่อให้เขาเจ็บใจบ้างเพื่อยกตัวเองให้เลิศลอยบ้าง มันมาแต่ความยึดมั่นถือมั่น เพราะนั้นจึงต้องไม่พูดร้าย คนโบราณสอนไว้ว่าพูดดีไว้ก่อนยังจะดีกว่าแม้ในคนที่เป็นศัตรูกัน
ข้อที่ ๒ ที่ว่า อะนูปะ ฆาโต ไม่ทำร้าย นี่คือไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยการกระทำ จะไม่กระทบกระทั่งบุคคลใดหรือสัตว์ใดให้เดือดร้อน การกระทบกระทั่งผู้อื่นให้เดือดร้อนนี้ก็เพราะความยึดมั่นถือมั่นอยากจะทำลายเขาเพื่อยกตัวขึ้นมาหรือว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการทำลายเขา
ส่วนข้อที่ว่า ปาติโมกเข จะ สังวะโร ตามความหมายธรรมดาก็คือ เป็นคนสำรวมเคร่งครัดในกฎหรือระเบียบ คำว่า ปาติโมกข์ นั้นไม่ได้หมายความแต่ปาติโมกข์ของภิกษุที่สวดอยู่ทุกๆ ๒ สัปดาห์ คำว่า ปาติโมกข์เป็นคำกลางคือบทหรือคำที่เป็นระเบียบเป็นหลักเป็นประธานเป็นหัวข้อเป็น formula ที่จะต้องถือปฏิบัติ จะต้องเคร่งครัดในกฎระเบียบเหล่านี้ ก็หมายความว่าให้ทุกคนเคร่งครัดอยู่ในกฎในระเบียบซึ่งเป็นของประจำตน เข้าใจว่าพอจะเข้าใจได้เองว่าจะต้องทำอย่างไร
ข้อที่ว่า มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง ให้รู้ความพอดีในการกินการอยู่ การกินอาหารหรือการเป็นอยู่ นี้รวมกันแล้วก็เรียกว่าสิ่งที่ต้องบริโภคเราจะต้องรู้ความพอดีในสิ่งที่บริโภค ในการหามาก็ดี ในการเก็บรักษาสะสมก็ดี ในการใช้มันก็ดี กระทั่งในการเกี่ยวข้องกันอย่างอื่นก็ดี ต้องรู้ความพอดี ไม่หย่อนไม่เกิน ไม่มากไม่น้อยจึงจะอยู่เป็นผาสุกได้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเมื่อตะกี้นี้ว่า ถ้าคนผู้ใดแสวงหาหรือสะสมเกินความพอดีเกินความจำเป็นแล้วย่อมเป็นบาปเกิดขึ้นทันที ทำตัวเองให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะนั้นจึงรู้ประมาณที่พอดีในการที่จะหามา ในการที่จะมีไว้รักษาไว้และในการใช้จ่ายไป
ข้อที่ ๕ ว่า ปันตัญจะ สะยะนาสะ นัง นั่งนอนในที่สงบสงัด ความนั่งนอนอยู่ในที่สงบสงัดนั้นเป็นความเจริญของจิตใจและร่างกาย แต่คนก็ชอบไปดูหนังดูละครจนเป็นบ้า ถูกผีละครสิง ถูกผีปีศาจของความสุขทางเนื้อทางหนังอย่างอื่นสิงจนอยู่บ้านไม่ติด แล้วจะนั่งนอนในที่สงบสงัดอย่างไรได้ นี้มันเป็นบาปกรรมของคนสมัยนี้ที่ไปติดหนังติดละครติดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างอื่นอีกมากมายทำให้ปัญหาเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น ต้องสร้างนั่นสร้างนี่ขึ้นโดยไม่จำเป็น ต้องหาเงินมากขึ้นโดยไม่จำเป็น แล้วก็เอาไปทำลายหรือไปละลายแม่น้ำโดยไม่มีประโยชน์อะไร แต่มีประโยชน์แก่กิเลสอย่างเดียว เพราะตนไม่พอใจที่จะนั่งจะนอนอยู่ในห้องอันสงบสงัดของตนเพื่อให้เกิดสมาธิแล้วมองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง แล้วจะสามารถควบคุมชีวิตจิตใจนี้ให้ดำเนินไปแต่ในทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้นจนกระทั่งเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา สามารถหน่วงเอาพระนิพพานมาบริโภคใช้สอยโดยไม่ต้องเสียสตางค์ ดังที่ได้กล่าวแล้ว
ข้อสุดท้ายที่ว่า อะธิจิตเต จะ อาโยโค ทำจิตให้ยิ่งขึ้นไปนั้น หมายความว่าจิตของมนุษย์นี้มีทางที่จะอบรม develop มัน ให้สูงขึ้นไปๆๆๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แต่เราควรจะบังคับมันให้เป็นไปแต่ในทางที่ไม่เป็นทุกข์ หาทางอบรมบ่มจิตใจให้เจริญยิ่งขึ้นไปในทางสงบก็ดี ในทางปัญญาก็ดี คือในทางสมาธิก็ดี ในทางวิปัสสนาก็ดี ให้มันยิ่งขึ้นไปๆ เพื่อมันจะได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรและรู้ว่ามันเองจะต้องทำอย่างไรจึงจะอยู่เป็นผาสุกอย่างนี้ จิตอย่างนี้ก็เรียกว่าจิตยิ่งหรือจิตเยี่ยมหรือจิตสูงหรือจิตประเสริฐ เพราะว่ามันสูงอยู่เหนือกิเลสเหนือความทุกข์ กิเลสและความทุกข์ตามขึ้นไปท่วมทับไม่ได้ครอบงำไม่ได้จึงเรียกว่าจิตยิ่งคือจิตสูง
พระพุทธเจ้าท่านจำ ท่านทรงจำแนกออกไปเป็น ๖ ข้อเพื่อเข้าใจง่ายสำหรับชาวบ้านอย่างนี้ว่าถ้าดำเนินอยู่ใน ๖ ประการนี้ก็ชื่อว่าอยู่ในหลักในเกณฑ์ของพุทธศาสนา แต่ถ้าคนที่ฉลาดกว่านี้ท่านก็พูดสั้นๆ เพียง ๓ ข้อว่า เว้นชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ เท่านี้ก็พอแล้วจึงเป็นอันว่าจะจำแนกออกเป็น ๓ ข้อก็ดี ๖ ข้อก็ดีก็ล้วนแต่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาได้ด้วยกันทั้งนั้น คือแสดงแนวที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ของการปฏิบัติตามร่องรอยของพุทธศาสนาแล้วเป็นอยู่โดยอาการที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ หัวข้อนี้พระพุทธเจ้าทรงประกาศในที่ประชุมของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ฟังดูแล้วก็น่าหัวที่ว่าทำไมจะต้องประกาศหัวข้อเหล่านี้แก่พระอรหันต์ซึ่งอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้แล้วหรือจบกิจเหล่านี้แล้ว แต่ถ้าท่านคิดดูให้ดีจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าหัว เป็นเรื่องที่ย้ำว่าหลักเกณฑ์ของพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้สำหรับทุกคน ขอให้พระอรหันต์ทั้งหลายถือเอากฎเกณฑ์อันนี้เป็นหลักเป็นแบบสำหรับไปช่วยกันเผยแผ่พุทธศาสนาในทุกทิศทุกทางให้อยู่ในร่องรอยเดียวกัน ไม่ว่าพุทธองค์ใดจะไปประกาศที่ไหนก็ให้ถือหลักอันนี้ เราจึงถือเอาหลักอันนี้เป็น หัวใจของพุทธศาสนา มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แต่แล้วอย่าลืมว่าในทั้งหมดนี้อาจจะสรุปให้เหลือประโยคเดียวสั้นๆว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวเราหรือของเรานั่นเอง เพราะว่าถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เว้นบาปหมด ทำดีหมด จิตผ่องใสอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ไม่พูดร้าย ไม่ทำร้าย ก็เป็นการเคร่งครัดอยู่ในกฎอยู่แล้วอยู่ในตัวมันเอง มีความพอดีในการกินการอยู่อยู่ในตัวมันแล้วโดยตัวมันเอง เป็นการนั่งนอนอยู่ในที่สงบสงัดแล้วในตัวมันเอง จะเป็นจิตที่ยิ่งใหญ่อยู่แล้วในตัวมันเอง
ดังนี้จึงถือว่าสรุปรวมอยู่ในประโยคอันสั้นๆ นี้ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตนของตนดังที่แสดงมา หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะกระทำในใจถึงธรรมะข้อนี้อยู่ในใจแล้ว จุดธูปเทียนบูชา กล่าววาจาบูชา เวียนประทักษิณบูชา คำนึงอยู่ในใจบูชาให้ครบถ้วนทั้งกาย วาจาและใจ เป็นการบูชามาฆบูชาให้สูงสุดความสามารถของตนในโอกาสต่อไปให้ได้รับผลสมตามความมุ่งหมายของการที่ท่านทั้งหลายอุตส่าห์มาถึงที่นี่ เพื่อทำมาฆบูชากันเป็นพิเศษตามความพอใจของเราให้สุดความสามารถของเรา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาในโอกาสนี้โอกาสหนึ่งก่อน ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน เอวัง ก็มีด้วยประการละฉะนี้