แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลง ด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ นับว่าเป็นธรรมเทศนาพิเศษ คือ เป็นธรรมเทศนาในอภิลักขิตสมัย แห่งอาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลาย ก็ทราบกันดีอยู่แล้ว
สำหรับวันอาสาฬหบูชานี้ เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วเหมือนกันว่า จะทำการบูชา เนื่อง อ่า, เป็นที่ ระลึก เนื่องในการที่พระพุทธองค์ ได้ตรัสพระธรรมเทศนาที่เป็นหัวใจแห่งพระศาสนา ไว้เป็นครั้งแรก ของการประกาศ พระธรรมของพระองค์ เรียกได้ว่า เป็นวันที่ อ่า, พระธรรมได้ปรากฏ ออกมาอย่างเป็น หลักฐานในโลกนี้ ใน อ่า, นามที่เรียกกันว่า พระพุทธศาสนาในทุกวันนี้
ท่านทั้งหลาย ควรจะพิจารณาดูให้ดี ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ข้อนี้ มีใจความสำคัญที่สุด อยู่ตรงที่ว่า ก่อนหน้าแต่นี้ มนุษย์ยังอยู่ในความมืด หรือว่าโลกยังอยู่ในความมืด ไม่มีแสงสว่างที่แท้จริง ที่จะทำให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร เมื่อถึงวันเช่นวันนี้ เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี มาแล้วนั้น ได้มีบุคคลคนหนึ่ง คือ พระพุทธเจ้า ได้ประกาศสิ่งที่ ควรจะเรียกได้ว่า เป็นแสงสว่างแก่มนุษย์ และพร้อมกันนั้น ก็เรียกกันว่า เป็นธรรมาณาจักร (นาทีที่ 04:25) ที่พระองค์ประกาศออกไป ในฐานะที่เป็นแสงสว่างนั้น จะช่วยให้เรารู้จักความจริง เกี่ยวกับชีวิตจิตใจ เกี่ยวกับความสุข ความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ความดับทุกข์
ในฐานะที่เป็นธรรมาณาจักร(นาทีที่ 04:52)นั้น คือ เป็นสิ่งที่กล่าวได้ว่าพระธรรมได้คุ้มครองโลก พระธรรมได้ปรากฏ เป็นแสงสว่างขึ้นมาในโลก เป็นชัยชนะของมนุษย์ มนุษย์จะไม่ต้องแพ้แก่ความมืด อีกต่อไป จะไม่ต้องพ่ายแพ้แก่กิเลส หรือความทุกข์อีกต่อไป ดังนั้น วันนี้มันจึงเป็นวัน เออ, สำคัญ สำหรับมนุษย์ คือ เป็นวัน เออ, ชัยชนะของมนุษย์ เหนือความมืด กิเลส และความทุกข์ เป็นต้นนั่นเอง
ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูเถิดว่า มันมีความสำคัญสักเท่าไร และแล้วเราก็ได้ให้ความสนใจ หรือเอาใจใส่ ให้ความสำคัญกับวันเช่นวันนี้มากสักเท่าไร ดูเหมือนว่าเราจะยังคงมืดอยู่ และความโง่ ของเรานั่นเอง ที่ทำให้ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ กับความสำคัญของวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่เรียกได้ว่า เป็นชัยชนะ ของมนุษย์เหนือ กิเลสและความทุกข์
วันนี้เรามารวมกัน เพื่อทำอาสาฬหบูชา มันก็ควรจะเข้าใจว่า เป็นวันธรรม อ่า, เป็นวันที่จะทำ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ชัยชนะของมนุษย์นั่นเอง และต้องกระทำด้วยอาการที่ อ่า, มีลักษณะแห่งชัยชนะ มีความชนะ ไม่ใช่มีความงมงาย แล้วก็สักว่าจะทำกันไป หรือว่ากระทำเพื่อความสนุกสนาน เพราะได้กระทำอะไรแปลก ๆ ตามความรู้สึกของเด็ก ๆ เช่น ได้เดินเวียนกันเป็นงูใหญ่ สนุกสนานดี อย่างนี้ เป็นต้น นี้เป็นตัวอย่างแห่งความงมงาย ความโง่เขลา ความไม่รู้ในความหมายของคำว่า อาสาฬหบูชา ถ้ายังขืนทำกันอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีความก้าวหน้าในทางจิตใจ เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของตนเลย จะยังคงเป็นมนุษย์ ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของธรรมาณาจักร(นาทีที่ 07:43) มิได้อยู่ในอาณาจักรของพระพุทธเจ้า เป็นคนนอกศาสนา นอกธรรมะ ไม่รู้สิ่งที่มนุษย์ควรจะรู้ คือ ไม่รู้ธรรมะ ที่ทำให้เป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง จึงเรียกว่า อยู่ในความมืด หรืออยู่ในอาณาจักรของความโง่ ของความมืด ไม่ได้อยู่ในอาณาจักรของพระธรรม
ดังนั้นท่านทั้งหลาย จงได้ระวังดูให้ดี ๆ เพราะเวลานี้ ขณะนี้ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เรากำลังอยู่ใน ลักษณะอย่างไร อยู่ในลักษณะของความมืด สว่างไสว ความไม่มีทุกข์ หรือว่าอยู่ในลักษณะที่มืดมัว หม่นหมอง และยังคงมีความทุกข์ เหมือนเดิมอยู่นั่นเอง เดี๋ยวนี้ เออ, เราอยู่ในลักษณะที่จะทำ อาสาฬหบูชา แสดงออกมาทางกาย ทางวาจา ด้วยความรู้สึก ที่รู้สึกเป็นอย่างดีอยู่ในจิตใจ ในการทำอาสาฬหบูชา เราก็จะปรับปรุงตัวเอง เตรียม ตระเตรียมตัวเอง ให้มีความเหมาะสม และถูกต้อง ในการที่จะทำอาสาฬหบูชา มันจึงจะมีการทำอาสาฬหบูชากันจริง ๆ
ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า วันหนึ่ง เออ, วันเดียวนี้ มีเพียงวันเดียวใน ๑ ปี วันเดียวใน ๑ ปีนี้ ควรจะทำให้ดีสักเท่าไร ให้สมกันสักเท่าไร อย่าได้ละเลยวันเดียวใน ๑ ปี นี้เสีย มันจะทำให้เกิด ความประมาทยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนไม่มีอะไร ที่มีความสำคัญเลย
คำว่า วันเดียวใน ๑ ปี นี้มีความสำคัญมากที่สุด ตามความหมาย ของภาษาที่เราพูดกัน และความจริงมันก็เป็นอย่างนั้น เพราะว่า ความหมายของคำว่า อาสาฬหบูชานั้น มีมากมาย และลึกซึ้ง อย่างนี้เอง แม้ว่าคำว่า อาสาฬหบูชา จะเป็นเพียงชื่อของเดือน ๆ หนึ่ง ใน ๑๒ เดือน และอาสาฬหบูชา ก็คือ การทำบูชาในเดือนนี้ นี้มันเป็นเรื่องนับวัน นับเดือน นับปี แต่ความหมายอันแท้จริงนั้น ไม่ใช่เรื่อง นับวัน นับเดือน นับปี เราหมายถึง การกระทำที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์โดยตรง และมีเหตุการณ์ เนื่องกันกับวันนี้ เพราะว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดเผย วิธีที่จะดับทุกข์นั้น ให้ปรากฏแก่มนุษย์ ก่อนหน้านี้มนุษย์อยู่ในความมืด และความทุกข์
วันนี้เป็นวันสำหรับเปิดเผย ให้ขึ้นมาจากความมืด และความทุกข์ เป็นชัยชนะของมนุษย์ที่มีต่อ อ่า, ความมืดและความทุกข์ จึงเป็นวันสำคัญ เมื่อเผอิญ มาตรงกัน กับวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ เราก็เรียก เอาชื่อเดือน มาเป็นชื่อการบูชานี้ ขอให้เข้าใจกันว่า อย่างนี้ทุก ๆ คน อย่าได้เห็นเป็นเพียงชื่อวัน ชื่อเดือน ชื่อปี แล้วก็ทำกันปีหนึ่งครั้งหนึ่ง อย่างนี้พอเป็นพิธี เหมือนที่ทำกันโดยมากเลย จงได้มองเห็นความลึกซึ้ง และความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตน คือ การยังธรรมจักรให้เป็นไป ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงหมุนจักร ให้เป็นไปนั้น เป็นไปเพื่อทำอะไรกัน ทรงหมุนจักร ให้เป็นไป เพื่อขยี้ความทุกข์ของมนุษย์ ให้หมดสิ้นไป
สิ่งที่เรียกว่า จักรนั้น เค้าหมายถึง อ่า, สิ่งที่มีลักษณะกลม และหมุนได้ และมีความคม ที่จะตัด สิ่งทั้งปวงให้แหลก ให้ขาดไปอย่างนี้ก็มี เป็นอาวุธชนิดหนึ่ง หรืออีกความหมายหนึ่ง เป็นชื่อของลูกล้อ เออ, ลูกล้อกลม ๆ ที่ช่วยให้เกิดการทุ่นแรง และให้เกิดความรวดเร็ว อ่า, ในการที่จะเคลื่อนไป นี้ก็อย่างหนึ่ง แต่เราจะเอาคำ ความหมายของคำว่าธรรมจักร เออ, ในลักษณ เออ, ในความหมายไหน ก็ตาม มันใช้ได้ด้วยกันทั้งนั้น และมันเหมือนกันทั้งนั้น
ถ้าจะเอาความหมาย ของคำว่า จักรที่เป็นอาวุธ ก็หมายความว่า มันต้องตัดให้ขาดออกไป ไม่มีอะไรต้านทานได้ ในที่นี้ก็คือ ตัดกิเลส และความทุกข์อย่างหนึ่ง เราตัดความคิด ความโง่เขลาของคน ในโลก ในสมัยนั้นด้วยอย่างหนึ่ง พอพระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมจักรออกไปนี่ หมายความว่า ทรงประกาศไปเพื่อทำลายมิจฉาทิฐิต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น ให้หมดไป ให้มนุษย์มีสัมมาทิฐิ ให้มิจฉาทิฐิ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หรือถ้าจะเรียกเป็นส่วนรวม ไม่มีเขามีเรา ก็ต้องพูดว่า ให้ความโง่หมดไป ให้เหลืออยู่แต่ ความฉลาด หรือความรอบรู้
คนเรานี่ ถ้าโง่ก็เป็นมิจฉาทันที อ่า, เป็นมิจฉาทิฐิขึ้นมาทันที ถ้าฉลาดก็เป็นสัมมาทิฐิขึ้นมาทันที ในคนคนเดียวกันนั่นแหละ ไม่ต้องมีเขามีเราที่ไหน เพราะฉะนั้น เราจะต้องพยายามให้ เออ, เป็นไปใน ลักษณะที่ว่า ธรรมจักรของพระพุทธองค์ ช่วยตัดความโง่ของเรา ตัดความเป็นมิจฉาทิฐิของเรา ให้หมดไป เหลือเป็นสัมมาทิฐิ หรือความรู้ หรือความฉลาด นี้เรียกว่า จักรในลักษณะที่เป็นของมีคม อ่า, สำหรับจะฟันฝ่า อ่า, ไปในท่ามกลางความมืด และความทุกข์ ให้มนุษย์ได้พบกับแสงสว่างนี้ อย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่ง คำว่า จักร หมายถึง ลูกล้อนั้น หมายถึง เคลื่อนไปได้โดยเร็ว โดยสะดวก นี้ก็มี ลักษณะของปัญญา เป็นความหมายอันสำคัญอยู่ในนั้น หมายถึง ไปจากความโง่ ความหลง ไปสู่ความ สว่างไสว อ่า, ความเจริญ หรือความรุ่งเรือง ก่อนนี้มันไปไม่รอด มันอืดอาด หรือถึงกับติดจมอยู่ก็มี มันไปไม่ได้ เพราะมันเป็นรถที่ไม่มีล้อ เดี๋ยวนี้เมื่อรถมันมีล้อ มันก็ไปได้โดยสะดวกและรวดเร็ว ไปสู่ความพ้นทุกข์ หรือความดับทุกข์ เราจะมองดูกันในลักษณะที่เป็นประโยชน์ หรือในลักษณะ ที่เป็นอำนาจ เออ, หรือเป็นอะไรก็ตามที มันก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาด้วยกันทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น เราจึงควรจะพากันมา ชื่นชมยินดี ในสิ่งที่ เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตน คือ การยังธรรมจักรให้เป็นไป ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำแล้ว ในวันเช่นวันนี้ คือ วันเพ็ญในเดือนอาสาฬหะ พอถึงรอบปี เราก็ทำพิธี เป็นที่ระลึกกันเสียคราวหนึ่ง จะว่าเพื่อกันลืม หรือ อ่า, จะเพื่ออะไรก็ตามเถิด ล้วนแต่เป็นผลดีทั้งนั้น คนที่ลืมก็จะได้กันลืม คนที่ไม่ขี้ลืมก็จะได้ทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำให้มากเป็นพิเศษยิ่ง ๆ ขึ้นไป
อย่างในวันนี้ ก็เป็นที่ระลึกกันลืม และเป็นการกระทำให้ยิ่งขึ้นไป ในส่วนที่เราจะได้พูดจากัน ให้มาก ให้ยิ่งขึ้นไปอีก ให้เข้าใจ เออ, ลึกซึ้ง กว้างขวางออกไปในเรื่องนี้ แต่นี้ก็ยังไม่ดีเท่าไร ทางที่ดี ที่สุดนั้น เออ, ควรจะตั้งใจในการที่จะกระทำจิตใจให้ดี ให้เหมาะสม ที่จะเป็นสาวกของพระองค์ ในวันนี้ เราจะเตรียมให้พร้อม ในการที่มีจิตใจ ในลักษณะแห่งบุคคล ผู้ได้รับผลแห่งธรรมจักรนั้น ในวันนั้น มีคนหนึ่ง ที่ได้รับผล แห่งการประกาศธรรมจักรของพระองค์ ดังที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า พระอัญญาโกณฑััญญะ ได้มีธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม โดยสรุปเป็นคำบาลีว่า ยังกิญจิ สุมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมัง (นาทีที่ 19:11) ซึ่งได้ยกขึ้นเป็นหัวข้อแห่งธรรมเทศนานี้ ซึ่งมีใจความว่า สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด มีความดับเป็นธรรมดา เท่านี้เอง
ท่านทั้งหลายลองคิดดูเถิดว่า มันมีใจความเท่านี้เอง ทำไมยังมามีหูหนวก ตาบอด ไม่รู้อะไรกันอยู่ เรื่อย ๆ ไปอย่างนี้ คือ ไม่มีดวงตาเห็นธรรม เช่นนั้นบ้าง ไม่ต้องพูดตามคนอื่นพูด เอาใจของตัว เป็นประมาณก็แล้วกัน แล้วก็ถามตัวเองดูว่า มีดวงตาเห็นธรรมหรือเปล่า ถ้าความซื่อตรงต่อตัวเอง มันตอบว่า เปล่าอย่างนี้แล้ว มันก็ควรจะละอายให้มาก ควรจะกลัวให้มาก เพราะว่าเวลาก็ล่วงมามากมาย แล้ว หลายปีแล้ว หลายสิบปีแล้ว ยังไม่มีดวงตาเห็นธรรม ฟังเทศน์ ฟังธรรมก็ไม่รู้กี่ครั้ง กี่สิบครั้ง กี่ร้อย ครั้งแล้ว ก็ยังไม่มีดวงตาเห็นธรรม อ่านหนังสือทางพุทธศาสนาก็หลายร้อยหน้า หลายพันหน้าแล้ว ก็ยังไม่มีดวงตาเห็นธรรม มันควรจะน่าละอายสักเท่าไร น่ากลัวสักเท่าไร
เพียงได้ใจความสั้น ๆ ว่า สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา นี่แหละเป็นหัวข้อใจความของธรรมที่จะต้องเห็น แล้วทำไมจึงไม่ได้เห็น และปัญหาข้อนี้เอง เป็นต้นตอ ของปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุด ที่เรามักจะชอบถามกันในบัดนี้ ว่าทำไมในสมัยนี้ จึงไม่มีผู้ที่บรรลุมรรค ผล หรือนิพพาน ทำไมจึงไม่มีผู้บรรลุมรรค ผล นิพพานในสมัยนี้ คำถามนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ดูเหมือนจะ ได้ถามไป ด้วยความบริสุทธิ์ใจ คือ ตนเองมีความรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ จึงได้ถามไปอย่างนั้น และเมื่อ หลาย ๆ คน ถามกันแต่อย่างนั้น ก็เกิดมีความเชื่อขึ้นในหมู่คนเหล่านั้นว่า ไม่มีใครบรรลุมรรค ผล นิพพานในสมัยนี้ แล้วก็จะเลยเตลิดไปถึงว่า มันพ้นสมัยแล้ว ที่คนจะบรรลุมรรค ผล นิพพานในสมัยนี้ ดังนี้ เป็นต้น
ถ้านี้เป็นของจริง ก็แปลว่า เราทั้งหลายก็คือ ฝูงแห่งคนโง่ ที่ยังจะมามัวทำอาสาฬหบูชา อยู่ทำไม กัน ถ้าหากว่าสมัยนี้ จะไม่มีการบรรลุมรรค ผล นิพพานเสียแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะ อ่า, มีดวงตาเห็นธรรม กันเสียแล้ว หมายความว่า หมดโอกาส หมดวาสนา หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะได้รับประโยชน์ จากพระธรรมของพระองค์ แม้แต่ดวงตาเห็นธรรมก็มีไม่ได้ ดังนี้แล้ว จะมาทำอาสาฬหบูชา มาฆบูชา วิสาขบูชากัน ให้เหน็ดเหนื่อยทำไม หรือว่าจะขืนทำไป เพื่อเล่นสนุกสนานอย่างลูกเด็ก ๆ ที่เห็นว่าเป็น การกระทำที่แปลกดี และครึกครื้นดี อย่างนั้นหรืออย่างไร หรือว่าคนแก่ ๆ ก็ทำไปตามความเคยชิน ทำเผื่อ ๆ ไว้ อย่างนั้นเอง อย่างนี้มันก็ไม่พ้นจากความงมงาย ไม่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัทสาวก ของพระพุทธเจ้า ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา แม้แต่ประการใดเลย
ดังนั้น ปัญหาที่เราควรจะนึกกันในวันนี้ ให้มากที่สุด ก็ควรจะเป็นปัญหาที่ว่า ทำไม เออ, คน ในปัจจุบันนี้ จึงไม่ค่อยมีดวงตาเห็นธรรม ฟังดูให้ดี ที่อาตมากำลังพูดว่า ทำไมสมัยนี้ คนจึงไม่ค่อยจะมี ดวงตาเห็นธรรม ยังไม่ได้พูดเลยว่า ไม่มีใครที่มีดวงตาเห็นธรรม แต่ว่าไม่ค่อยจะมี เออ, คนที่มีดวงตา เห็นธรรม หมายความว่า จะต้องมีคนที่มีดวงตาเห็นธรรมบ้าง ทำไมจึงไม่ค่อยมี เออ, คนที่มีดวงตา เห็นธรรม หรือทำไมจึงไม่ค่อยมี คนที่บรรลุมรรคผล เพราะว่าสิ่งนี้เป็นของสิ่งเดียวกัน
ถ้ามีดวงตาเห็นธรรมก็คือ การบรรลุมรรค ผลในระดับหนึ่ง นี้เป็นปัญหาสำคัญที่ควรจะนึก แล้วควรจะสะสาง เออ, กันให้ดีที่สุด เท่าที่จะสะสางได้ มันเป็นปัญหาของคนสมัยนี้โดยตรง คนสมัยก่อนดูจะไม่ถามกันอย่างนี้ แต่เขามีความเชื่อมั่น ที่จะบรรลุมรรค ผล หรือมีดวงตาเห็นธรรม ในเวลาใด เวลาหนึ่ง ทุกคนเสมอไป ถ้าเราจะยึดเอาคำว่า ดวงตาเห็นธรรมเป็นหลัก เราก็จะต้องพิจารณา กัน ในข้อที่ว่า ดวงตาเห็นธรรมนั้นคืออะไร หรือเห็นอย่างไร เป็นต้น เกี่ยวกับดวงตาเห็นธรรมนี้ สำหรับตามตัวหนังสือแล้ว ควรจะระลึกนึกถึงสูตร หรือหัวข้อ ๒ หัวข้อด้วยกัน
หัวข้อหนึ่งซึ่งรู้จักกันมาก ก็คือ ข้อที่ว่านี้เองว่า ยังกิญจิ สุมุทะยะธัมมัง (นาทีที่ 26:13) สิ่งใดมีการตั้งขึ้นเป็นธรรมดา สัพพันตัง นิโรธะธัมมัง (นาทีที่ 26:20) สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมมีการสลายลง เป็นธรรมดา นี้อย่างหนึ่ง และอีกอันหนึ่ง ก็คือ หัวข้อที่พระอรหันต์องค์หนึ่ง ตอบแก่ เออ, คนที่ถาม คือคำที่พระอัสสชิ ตอบแก่พระสารีบุตร เมื่อก่อนแต่มาบวช ในศาสนานี้ คำตอบนั้นมีว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสญฺจโย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ (นาทีที่ 26:52) ที่เรา เออ, เรียกกันว่า หัวใจพุทธศาสนา เมื่อพระสารีบุตรในขณะนั้น ได้ฟังข้อนี้ ก็มีดวงตาเห็นธรรม และเห็นอย่างนั้น คือ เห็นว่าสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีความดับเป็นธรรมดาอีกนั่นเอง เพราะข้อความนั้น ก็กล่าวชัดอยู่แล้วว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา (นาทีที่ 27:42) สิ่งใดมีความเกิดขึ้น เพราะเหตุ เตสํ เหตํ ตถาคโต (นาทีที่ 28:03) ตถาคตทรงแสดงเหตุ แห่งธรรมเหล่านั้นเตสญฺจโย นิโรโธ จ (นาทีที่ 28:08) พร้อมทั้งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น เอวํวาที มหาสมโณ (นาทีที่ 28:14 ) พระมหาสมณะ ท่านมีปกติกล่าวอย่างนี้
ใจความนี้ มีถึง ๔ ประโยค แต่รวมกันเป็นประโยคเดียวได้ โดยใจความสั้น ๆ ว่า บอกให้ทราบว่า พระบรมศาสดา แสดงเหตุแห่งความเกิดขึ้น และแสดงเหตุแห่งความดับไป ของธรรมทั้งหลายทั้งปวง นี้ก็หมายความว่า สิ่งทุกสิ่งมีความเกิดขึ้น และดับไปเพราะเหตุ เราจะต้องรู้เหตุแห่งการเกิดขึ้น และเหตุแห่งการดับไป สรุปให้สั้นลงไปอีกก็ อาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งทั้งปวงมีเหตุ เมื่อสิ่งทั้งปวงมีเหตุ ก็แปลว่า สิ่งทั้งปวงไม่เป็นอิสระแก่ตัวเอง สิ่งทั้งปวงขึ้นอยู่กับเหตุ ดังนั้นก็หมายความว่า สิ่งเหล่านั้น จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุ คือ เกิดและดับ และการเกิดและดับนั้น ก็เป็นไปเพราะอำนาจแห่งเหตุ นั่นเอง จึงไม่มีความเป็นอิสระ ที่จะเป็นตัวเป็นตน ของมันเองเลย ก็แปลว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่างจาก ความเป็นตัวเอง จิตตั้งอยู่ในลักษณะที่เป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร แต่ยังมีทางที่จะต้องคิด นึกให้ลึกออกไป อีกหน่อยนึงว่า ในที่นี้กล่าวถึงแต่ สิ่งที่มีเหตุ และเกิดความดับของสิ่งที่มีเหตุ
ทีนี้ถ้าจะมี สิ่งหรือธรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่มีเหตุ ไม่เกี่ยวกับเหตุ สิ่งนั้นก็ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องดับ ไปตามเหตุ นี่แหละคือ สิ่งที่ไม่มีเกิด และไม่มีดับ และไม่มีเหตุ ไม่เนื่องด้วยเหตุ ได้แก่ สิ่งที่ตรงกันข้าม นั้นก็จะถือว่า จะถือตามหลักทั่วไปว่า สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมี ความดับเป็นธรรมดาแล้ว ก็ยังจะถือได้อีกบทหนึ่งว่า สิ่งใดมิได้มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ไม่มี ความดับเป็นธรรมดา จึงได้ความตรงกันว่า เมื่อมีเหตุก็เป็นไปตามเหตุ เมื่อไม่มีเหตุก็ไม่ต้องเป็นไปตาม เหตุ เมื่อมารู้ความจริงข้อนี้แล้ว ก็หมายความว่า ได้รู้หมดไม่มีเหลือ รู้สิ่งทั้งปวงทั้ง ๒ ประเภท คือ สิ่งที่มีการเกิดและการดับ กับสิ่งที่ไม่มีการเกิดและไม่มีการดับ
สิ่งที่มีการเกิดและการดับนั้นเป็นความทุกข์ สิ่งที่ไม่มีเกิดไม่มีดับนั้น ก็ย่อมไม่มีความทุกข์ ถ้าเห็นสิ่งทั้ง ๒ นี้ชัดแจ้ง ก็เรียกว่า มีดวงตาเห็นธรรม ทีนี้ปัญหาก็มีว่า ทำไมเราก็เขียนมาในตัวโต ๆ ลงไปในกระดาษ กระดาน แล้วก็ดูกัน ทั้งวันทั้งคืน มันก็ควรจะเห็นธรรมได้ บางคนอาจจะคิดอย่างนี้ อ่า, ตามวิสัยของคนที่มีความรู้เพียงเท่านั้น บางคนก็คิดว่าจะท่องมันให้ได้ แล้วก็ท่องมันวันละร้อยครั้ง พันครั้ง ก็จะเห็นธรรมได้ บางคนดีไปกว่านั้น ก็ว่าจะมาคิดดู นั่งพินิจพิจารณาดู มันก็จะเห็นธรรมได้ แต่แล้วก็ปรากฏว่า ทั้ง ๓ จำพวกนั้น ยังไม่อาจจะ กล่าวได้ว่า เป็นผู้เห็นธรรมอยู่นั่นเอง และตัวเองก็รู้สึก ว่ายังไม่เห็นธรรม บางคนก็ทำอย่างที่เรียกว่า ทำวิปัสสนา นั่งพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็ยังรู้สึกแก่ตัวเองว่า ยังไม่เห็นธรรมอยู่นั่นเอง นี่แหละมันเป็นปัญหาในข้อที่ว่า ที่เรียกว่า เห็น เห็นนั้น มันเห็นอย่างไรกันเล่า
โดยหลักทั่วไป ที่เราได้ยิน ได้ฟัง และเราพูดกันอยู่ก็ว่า เห็นด้วยตาเนื้อ เห็นด้วยตาใน อย่างนี้ก็ พูดกันอยู่มาก เห็นด้วยลูกตาธรรมดานี้ เรียกว่า เห็นด้วยตาเนื้อ เช่น เขียนก็แล้วอ่าน แล้วก็มองดู แล้วก็อ่าน หรือว่าฟังทางหูให้จำได้ นี้ก็เรียกว่า เห็นด้วยตาเนื้อ แม้แต่ว่าจะมาคิด ๆ คำนวณอยู่ ตามวิธีของการใช้เหตุผล นี้มันก็ยังเห็นด้วยตาเนื้ออยู่นั่นเอง ไม่เห็นด้วยตาในแต่ได้ ถ้าใครคิดว่าทำอย่างนี้ เป็นการเห็นด้วยตาใน คนนั้นเป็นคนโง่ เพราะว่ามันยังไม่เห็นเลย มันมัวแต่คิดจนปวดหัวอยู่นั่น เพราะว่าเห็นด้วยตาในนั้น มันคือ เห็นแล้ว มันต้องเห็นแล้ว จึงจะเรียกว่า เห็นด้วยตาใน แม้จะพยายาม คิดอยู่ ก็คิดไปตามเหตุผล เหตุผลก็เป็นไปตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ก็เป็นเพียงคำพูด เพียงตัวหนังสือ อย่างนี้เรียกว่า กำลังพยายามจะเห็น ให้ถึงที่สุด คือ เห็นด้วยตาใน แต่มันยังไม่ถึง มันก็ยังเป็นเห็นด้วยตาเนื้ออยู่นั่นเอง วันนี้เราจะทำกันอย่างไรดี ที่จะมีการเห็นด้วยตาใน ให้มากขึ้นไป ก็ลองไปคิดดู ทุกคนเถิด
ที่ี่กำลังอ่านให้ฟัง พูดให้ฟัง อธิบายให้ฟังอะไรอยู่นี้ มันก็เป็นเรื่องของตาเนื้อทั้งนั้น ก็เหมือนกับ ที่แล้ว ๆ มา จะเอาไปย่อย ไปพิจารณากันอย่างไร จึงจะเห็นด้วยตาในจริง ๆ เล่า สำหรับปัญหาข้อนี้ อยากจะแนะให้เกิดความเข้าใจ ในความหมายของคำ ให้ชัดแจ้งกันลงไปก่อนก็อย่างหนึ่งว่า การเห็น ด้วยการได้ยินได้ฟัง ด้วยการศึกษา ด้วยการคำนึงคำนวณอะไรเหล่านี้ มันยังไม่ใช่การเห็น หรือถ้าจะ เรียกว่า การเห็น มันก็เป็นเรื่องอย่างตาเนื้อ เหมือนอย่างที่ว่า ถ้าเป็นการเห็นจริง ๆ นั้น มันเป็นความรู้สึก มันเป็นความรู้สึกด้วยใจ นั่นไม่ใช่การเห็น แต่เราเรียกว่า การเห็น
อยากจะขอให้ย้อน ไประลึกถึง เออ, ธรรมที่พูดมาบ่อย ๆ แต่หนหลังว่า ความรู้ของเรานั้น มีอยู่เป็นชั้น ๆ เรียกว่า ความรู้หรือรู้นี้ก็อย่างหนึ่ง แต่มันเป็นความหมายที่กำกวม คือ รู้เพราะว่าได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง ก็ได้ มันก็เป็นความรู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นความรู้ในชั้นที่เรียกว่า อ่านเอา ฟังเอา จำเอา นี้เป็นความรู้อย่างนึง ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก หรือเป็นพื้นฐาน
ที่นี้ความรู้ที่สูงขึ้นมา ก็คือ ความรู้ที่ได้มาเพราะการใช้เหตุผล คำนึงคำนวณ ทบทวน พิจารณา ต่าง ๆ นานา มันก็เป็นไปตามวิธี ของการใช้เหตุผล ด้วยสติปัญญาตามธรรมดาเท่านั้น ตามสติปัญญา ธรรมดาของมนุษย์ หรือตามสัญชาตญาณด้วยซ้ำไป ความรู้นี้มันมาจากการใช้เหตุผล หรือการคำนึง คำนวณ ถ้าเหตุผลมันผิด คำนึงคำนวณมันผิดแล้ว มันก็เป็นความรู้ที่ยังผิดอยู่นั่นเอง แต่ถึงแม้ว่า มันจะเป็นการคำนึงคำนวณที่ถูกและเหตุผลที่ถูก มันก็ยังเป็นเพียงผล ของการคำนึงคำนวณเท่านั้น คือ เป็นเพียงความเข้าใจเท่านั้นเอง มันยังไม่ใช่ความเห็นแจ้ง
สำหรับความเห็นแจ้งนั้น มันไปไกลไปกว่านั้นอีก คือ ต้องไปประสบกับสิ่งเหล่านั้นเข้าจริง โดยไม่ต้องมีการคำนึงคำนวณ เช่น เมื่อมีความโลภเกิดขึ้นในใจ มันร้อนอย่างไร มันก็ไม่ต้องคำนึง คำนวณ เช่น เมื่อเอามือไปจี้ที่ไฟดู มันร้อนอย่างไร มันก็รู้จริงโดยไม่ต้องคำนึงคำนวณ โดยไม่ต้องเชื่อคำ คนอื่นบอก ถ้าสมมุติว่าเด็ก ๆ คนหนึ่งจะเป็นคนเจ้าปัญญา ครั้งแรกก็ได้ฟังเขาบอกว่า ไฟมันร้อน เด็กนี้ก็ไม่เอามือไปแหย่ไฟ เพราะได้ฟังเขาว่ามันร้อนเลยเชื่อ นี้มันก็เป็นความรู้ในขั้นต้น ต่อมาเด็ก ๆ มีสติปัญญา สังเกตเอาเองว่า แหม, ถ้าเอาฟืนใส่ลงไป ไฟมันก็ไหม้ฟืนหมด หรือเข้าไปใกล้ มันก็ร้อน เต็มที เพราะฉะนั้นไฟมันต้องร้อนแน่ นี้มันเป็นความรู้อย่างคำนึงคำนวณที่สูงขึ้นมา แต่ถ้าเขาอยาก จะรู้ดีกว่านั้น เขาเอามือไปจี้ลงในไฟเลย มันก็รู้จริงโดยไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องคำนึงคำนวณอะไร ก็รู้ว่าไฟมันร้อนจริง อย่างนี้เขาไม่เรียกว่า ความรู้หรือความเข้าใจ แต่เขาเรียกว่า ความเห็นแจ้งแทง ตลอด นั่นแหละ ลองพิจารณาดูเถิดว่า ความรู้มันอยู่ในระดับแรก ความเข้าใจมันอยู่ในระดับที่ถัดมา ความเห็นแจ้งแทงตลอดนั้น มันอยู่ในระดับสูงสุด คำว่ามี ดวงตาเห็นธรรมนี้ มันต้องหมายถึง เห็นแจ้งแทงตลอด
ทีนี้เนื่องด้วยธรรมะนี้ มันเป็นเรื่องทางจิตใจ ไม่ใช่ทางวัตถุ ดังนั้น มันจึงไม่ต้องทำชนิด ที่เรียกว่า เอามือไปจี้เข้าที่ไฟแล้ว จะได้รู้ว่าร้อน แต่ถึงอย่างนั้น มันก็มีอาการคล้ายกันตรงที่ว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันเคยรู้สึกมาแล้ว เช่น เราได้ยินเขาพูด ได้ยินเสียงพูดมาว่า ความโลภเป็นของร้อนเป็นครั้งแรก ก่อนนี้เราไม่เคยได้ยิน เดี๋ยวนี้เราได้ยินว่า ความโลภเป็นของร้อน ความโกรธเป็นของร้อน ความหลงเป็นของร้อน บางทีเราก็ฟังไม่ถูก ว่าร้อนอย่างไร แต่บางคนฟังถูกว่าร้อนอย่างไร เพราะเคยโลภ เคยโกรธ มาหลง เคยหลงมาแล้วบ้าง แต่แล้วก็ลืมเสีย เดี๋ยวนี้มาได้รับคำอธิบายใหม่ ชี้แจงใหม่ ในลักษณะที่ลืมไม่ได้ และระลึกได้จริง รู้สึกซึมซาบขึ้นมา เหมือนกับว่า เวลานี้มีความโลภขึ้นมาใหม่ มีความโกรธขึ้นมา ใหม่ มีความหลง ขึ้นมาใหม่ รู้ว่ามันร้อนจริง คือ มันร้อนในลักษณะของกิเลสนี้จริง นี้ก็เรียกว่า มีความเห็นแจ้งแทงตลอด ในระดับหนึ่งแล้ว ในเรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลง
ทีนี้เราลองพิจารณากันดูว่าคนทุกวัน หรือพวกเรานี่แหละ เป็นอย่างไร รู้จัก เออ, ความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือเปล่า เข้าใจในความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือเปล่า เห็นแจ้งแทงตลอด ในเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือเปล่า ถ้าจะพูดว่าเห็นแจ้งแทงตลอด มันก็ต้องหมายถึง ความเห็นแต่ว่า เห็นแจ้งแทงตลอดถึงกับกลัวอย่างยิ่ง เกลียดอย่างยิ่ง ไม่เข้าใกล้ความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างยิ่ง นี้จึงจะเรียกว่า รู้จัก หรือเห็นแจ้งกับความโลภ ความโกรธ ความหลงกันจริง ๆ แต่ถ้ายังปล่อยให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงกันอยู่บ่อย ๆ แล้ว แม้จะมีความเห็นแจ้ง ในรสชาติ ของมันอยู่ ก็เรียกว่า ยังไม่หมด ไม่ควรจะเรียกว่า เห็นแจ้งแทงตลอด ในเรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลงโดยสมบูรณ์ มันเป็นความเห็นแจ้งในระดับเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง เรื่องของความทุกข์ ทั้งหมด ย่อมมีลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ก็มานึกถึงเรื่องดวงตาเห็นธรรม ที่ได้พูดไว้ว่า ยังกิญจิ สุมุทะยะธัมมัง (นาทีที่ 43:04) สิ่งใดมีความตั้งขึ้นเป็นธรรมดา สัพพันตัง นิโรธะธัมมัง (นาทีที่ 43:10) สิ่งนั้นย่อมมีความสลายลง เป็นธรรมดา จงนึกถึงอาการที่เรียกว่า ตั้งขึ้นแล้วสลายลง แล้วก็นึกดูว่า ทุกสิ่งมีอาการตั้งขึ้น และสลายลงอย่างไรบ้าง แล้วจะได้รู้ว่าสิ่งใดบ้าง ที่ไม่มีการตั้งขึ้น และไม่มีการสลายลง นี้เป็นหัวข้อ ที่จะต้องศึกษาเพื่อการเห็นธรรม
คำว่า สิ่งใดมีความตั้งขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมหมายความว่า มันค่อย ๆ ก่อขึ้น ก่อขึ้น ก่อขึ้น ในลักษณะที่ก่อขึ้น ก่อขึ้นนี้ ย่อมเป็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัว ย่อมเป็นความทนทรมานอยู่ในตัว เพราะเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น และเมื่อมีการ เออ, ตั้งขึ้น ตั้งขึ้น ก่อขึ้น คือ คือ เปลี่ยนแปลงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงนั้นไปจนถึงขีดสุดแล้ว มันก็เปลี่ยนแปลงเป็นในลักษณะที่เรียกว่า ลดลง ลดลง ลดลง คือ สลายลง จนกระทั่งดับไปไม่ปรากฏ นี้เป็นลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า ของปรุงหรือสังขาร
คำว่า สังขาร แปลว่า ของปรุง คำว่าของปรุง หมายความว่า ของหลายอย่างปรุงกันเข้า แล้วก็ เป็นไปตามกฎของสิ่งเหล่านั้น มันก็คือ การงอกงามขึ้นในระยะหนึ่ง จนถึงที่สุดแล้ว ก็มีการสลายลง แต่ถ้าหากว่าสิ่งที่เรียกว่า ของปรุงเหล่านี้ มันไม่เกี่ยวข้องกันกับคนเราแล้ว มันก็ไม่มีปัญหาอะไร เดี๋ยวนี้ ปัญหาสำคัญที่สุด มันมีอยู่ว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ของปรุงหรือการปรุงนั้น มันคือ มนุษย์นั่นเอง มันคือ การกระทำ หรือความเป็นไปของมนุษย์นั่นเอง ที่เรียกว่า เป็นของปรุงหรือการปรุง และสิ่งที่เรียกว่า ของปรุงหรือการปรุงนั่นเอง มันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส และเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
การที่เราจะไปหลงรักอะไร ก็ไปหลงรักที่ของปรุง มีของปรุงเป็นเหตุให้หลงรัก หรือว่าที่ เราจะไปเกลียดอะไร มันก็ไปเกลียดเข้าที่ของปรุง มีของปรุงนั้นเป็นเหตุให้เกลียด เราอยากโง่ไปเอง ไม่รู้จักของปรุง มันจึงได้ไปรักหรือไปเกลียด ปัญหามันก็เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ ประเดี๋ยวก็รัก ประเดี๋ยว ก็เกลียด คือ ยินดียินร้าย ซึ่งเป็นอาการแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าถูกใจ ก็ต้องการจะได้ ก็รวบรัดเอา ก็เป็นความโลภ หรือเป็นราคะ เป็นความกำหนัด ถ้าไม่ถูกใจ ก็อยากจะ ทำลายออกไป ผลักออกไป ก็เป็นความโกรธ หรือเป็นโทสะ ถ้ามันไม่รู้อะไรแน่ แต่ยังเป็นที่สนใจอยู่ รู้สึกเอร็ดอร่อย พอใจ ในความเกี่ยวข้องกับมันอยู่ ก็เป็นโมหะ หรือเป็นความหลง เราจึงมีโลภะ โทสะ โมหะ วนเวียนกัน อยู่อย่างนี้ ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง โดยที่ไม่รู้ว่ามันเป็นของปรุง ซึ่งมีความตั้งขึ้นเป็นธรรมดา แล้วมีการ สลายลงเป็นธรรมดา นี่แหละ เราจะเรียนจากหนังสือก็ไม่ได้ จะฟังเขาพูดก็ไม่พอ จะคิดคำนวณเอาตาม เหตุผลก็ไม่พอ เราต้องได้ผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้ว ด้วยความฉลาด ถ้าผ่านสิ่งเหล่านั้นมา ด้วยความหลับหู หลับตา มันก็ไม่รู้ไม่เห็น ด้วยเหมือนกัน
นี้คนสมัยนี้ เป็นคนที่อวดตัวว่ามีปัญญา มีสติปัญญามาก ทำอะไร ๆ ได้ตามต้องการหมด ออกไปนอกโลกก็ได้ ซึ่งเป็นยุคนี้ ที่เขาเรียกว่า ยุคจรวด หรือจะทำอะไรให้วิเศษแปลกออกไป เป็นยุค ปรมาณู เป็นยุคอะไรก็ตาม เขาภาคภูมิใจว่า มีความฉลาดอย่างยิ่ง แล้วเราก็ยอมกับเขาได้ เหมือนกันว่า เป็นความฉลาด แต่แล้วในที่สุด มันก็เป็นความฉลาด ชนิดที่เอามาใช้กับเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ คือ ไม่อาจจะ เอามาใช้ให้มีดวงตาเห็นธรรมได้ เพราะว่า ความฉลาดอย่างนั้น มันเป็นความโง่ คือ มันโง่ไปทำในสิ่งที่ ไม่ต้องทำ ไปทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องทำ แล้วไปทำในสิ่งที่ทำให้ มีความทุกข์เกิดมากขึ้น ทำให้มี ปัญหามากขึ้น ทำให้มนุษย์โง่มากขึ้น คือ ไปหลงใหลในสิ่งที่ไม่ต้องทำ แล้วจะเรียกว่า ความฉลาดอะไร
สติปัญญาอย่างนี้ เราให้นามกันเสียใหม่ว่า เป็นความมืด ให้เกียรติยศหน่อยนึงว่า เป็นความมืด สีขาว คนพวกนี้มีความมืดสีขาว คือ มีความโง่สีขาว ฉลาดทำอะไรได้ร้อยอย่าง พันอย่าง ต่าง ๆ นานา แต่แล้วก็ยิ่งชักใย พันตัวเองให้แน่นหนาเข้า ในการที่จะตกจมอยู่ในกองทุกข์ แล้วจะเรียกว่า ฉลาด ได้อย่างไรกัน พวกที่รู้ธรรมะดีพวกหนึ่ง ล้อพวกนี้ว่า ไอ้พวกจับปลาดุกด้วยลูกน้ำเต้า ท่านทั้งหลาย ลองฟังดูให้ดี มีภาพเขียนอยู่ที่ฝาผนัง เออ, ในตึก เออ, โรงมหรสพทางวิญญาณ รูปคนจับปลาดุก ด้วยลูกน้ำเต้า มันไปเด็ดไอ้น้ำเต้ามาลูกหนึ่งจากเถาน้ำเต้า แล้วมันก็จะเอามาเป็นเครื่องมือ สำหรับ จับปลาดุก คิดดูว่า เอาลูกน้ำเต้าเกลี้ยง ๆ กลม ๆ นี้เป็นเครื่องมือจับปลาดุก มันจะจับกันได้อย่างไร ปลาดุกทั้งลื่น ทั้งไว อะไรต่าง ๆ นานา แล้วจะจับได้ด้วยลูกน้ำเต้ากลม ๆ นี้อย่างไร นี่แหละคือ สติปัญญาของคนสมัยนี้ ที่มันจะดับความทุกข์ ดับกิเลส ด้วยความมืดสีขาวของมันเอง มันจะดับ ความทุกข์ ดับกิเลส ด้วยความโง่ของมันเอง ซึ่งเป็นความมืดสีขาว
เพราะฉะนั้น คนสมัยนี้จึงไม่สามารถจะดับทุกข์ได้ เพราะไม่สามารถจะมี ดวงตาเห็นธรรมได้เลย ทั้งที่มันมีการศึกษา มีสติปัญญา ทำอะไรได้แปลก ๆ น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง สติปัญญาอย่างนี้ ไม่ใช่สติปัญญา ที่จะดับทุกข์ได้ หรือที่จะเห็น มีดวงตาเห็นธรรมได้ มันเป็นผลพลอยได้ของความโง่ ที่จะทำให้โง่ จมอยู่ใน กองทุกข์ตลอดไป ไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้น เพราะฉะนั้นสติปัญญา หรือผลที่เกิดขึ้นมาจากสติปัญญา ของคนพวกนี้ จึงไม่ได้ช่วยให้โลกนี้ดีขึ้นเลย ไม่ได้ช่วยให้โลกนี้มีความเยือกเย็น เป็นโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นเลย แต่มันช่วยให้เป็นโลกที่น่าทุเรศ เวทนา น่าจะไปเสียให้พ้นมากกว่า ไม่น่าจะอยู่ร่วมกับคนเหล่านี้ ที่จะทำโลกนี้ ให้ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น คือ พวกที่มีความมืดสีขาว ซึ่งเป็นอุปสรรคแก่ ดวงตาเห็นธรรม
ตรงนี้ท่านทั้งหลาย จะต้องพิจารณาดูให้ดีว่า ความมืดสีขาวนี้เป็นอุปสรรค แก่ดวงตาเห็นธรรม อย่างไร มันมีสีขาวนี้ หมายความว่า มันทำให้เข้าใจไปว่า เป็นความสว่างหรือเป็นความฉลาด เพราะฉะนั้น คนพวกนั้นทะนงตัวอยู่ว่า เขาเป็นผู้ฉลาด มีความรู้ มีปัญญา มีความสามารถทั้งนั้น ความทะนงนั่นเอง ไม่เป็นเหตให้เขาเข้าใจธรรมะ หรือเห็นธรรมะได้ เพราะว่า เขาเอาความมืดสีขาว มาเห็นธรรมะ มามองธรรมะ มันเห็นไม่ได้ เพราะว่าดวงตาที่จะเห็นธรรมะได้นั้น ต้องเป็นแสงสว่าง ที่แท้จริง ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้งแทงตลอด เพียงแต่ความรู้ หรือความเข้าใจ หรือเหตุผล หรืออะไร ทำนองนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีดวงตาเห็นธรรม
ทีนี้ เดี๋ยวนี้ คนทั้งโลกพากันเฮโลสาระพา ไปในทางความมืดสีขาวทั้งนั้น นั้นคนทั้งโลกในสมัยนี้ จึงไม่มีโอกาสที่จะมีดวงตาเห็นธรรม เว้นเสียแต่ว่าจะมีคนอุตริบางคนไม่ทำอย่างนั้น มาทำตามอย่าง วิธีของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ก็จะมีดวงตาเห็นธรรมอยู่ต่อไป
เกี่ยวกับเรื่องกาลเวลานี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า กาลเวลาไม่ได้เป็นเครื่องกีดคั่น เป็นเครื่องกำหนด หรือเป็นขีดคั่นของการบรรลุธรรม บรรลุธรรมเมื่อไรก็ได้ ถ้ามีการประพฤติ กระทำที่ถูกต้อง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ขอท่านทั้งหลายฟังดูให้ดี ในคืนนั้น พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน จะเสด็จปรินิพพานอยู่หยก ๆ แล้ว ยังตรัสเป็นคำสั่งไว้ว่า สัจเจ เนติคู้ สัมมาวิหะเรยุง อสันโยโลโก อะระหันเต ตัสสะ (นาทีที่ 54:09) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เออ, ดูก่อนภิกษุ ถ้าภิกษุทั้งหลาย จักเป็นอยู่ โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ดังนี้ นี้เป็นคำตรัสที่ปฏิเสธเวลา ว่าไม่เป็นเครื่องจำกัด การเห็นธรรม ขอแต่ให้เป็นอยู่โดยชอบเมื่อใดแล้ว ก็มีการเห็นธรรม หรือเป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น นั้นมันสำคัญอยู่ที่ว่า เป็นอยู่โดยชอบหรือหาไม่
คำว่า เป็นอยู่โดยชอบนี้ คือ เป็นอยู่ในลักษณะที่ ฉลาดจริง ๆ เป็นไปเพื่อความเจริญ แห่งความรู้ จริง ๆ กีดกันเสีย ซึ่งการเกิดขึ้นแห่งกิเลส กีดกันเสียซึ่งความมืด ทั้งสีดำและสีขาวจริง ๆ จึงจะเรียกว่า เป็นอยู่โดยชอบ เมื่อมีการเป็นอยู่โดยชอบแล้ว ดวงตาก็จะใสกระจ่างออกไปจนเห็นธรรม หรือเมื่อว่า เป็นอยู่โดยชอบแล้ว กิเลสก็ไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้น เมื่อกิเลสไม่เกิดขึ้นแล้ว ดวงตาก็ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ในที่สุดดวงตานั้น ก็มองเห็นธรรม ความหมายมันอย่างเดียวกันหมด ขอแต่เพียงว่า ถ้าไม่มีกิเลสเกิดขึ้น ห่อหุ้มจิตใจแล้ว จิตใจนี้จักต้องเห็นธรรม เดี๋ยวนี้เราก็ได้ปล่อยให้ เออ, กิเลสห่อหุ้มจิตใจ ไปไกลไม่มี ที่สิ้นสุด จนเป็นกิเลสสีขาว ซึ่งไม่มีใครเชื่อ ว่ามันจะมีกิเลสสีขาว แต่ว่านี้มันเป็นเพียงคำอุปมา เหมือนกับว่า ความมืดสีขาวอย่างนี้ ฟังดูก็ไม่น่าเชื่อ แต่ดูให้ดีเถิดว่า ไอ้ความมืดสีขาวนี่แหละ มันบังยิ่งกว่าความมืดสีดำ เพราะว่าความมืดสีดำ ถ้ามีขึ้นมาหรือบังเรา เราก็มองเห็นว่ามันเป็นสีดำ แต่ถ้าเป็นความมืดสีขาว เราไม่มองเห็นว่ามันมีความมืดบังเรา มันก็บังเราอยู่ตลอดเวลาดังนี้
นี้คือ ความมืดที่มีมาจากการศึกษา หรือความมืดที่มีมาจากสติปัญญาของคนสมัยนี้ ฟังดูให้ดี ว่าคนสมัยนี้เจริญด้วยการศึกษา เจริญด้วยสติปัญญา แต่ว่าความรู้หรือการศึกษาของเขานั้น เป็นความมืดสีขาว คือ บังไม่ให้เขารู้สิ่งที่ควรกระทำ บังไม่ให้เขารู้สิ่งที่ควรจะศึกษาค้นคว้า เขาจึงศึกษา ค้นคว้า หรือกระทำไปแต่ในสิ่งที่ ไม่มีประโยชน์อะไรแก่มนุษย์เลย มีแต่ทำให้เกิดความยุ่งยาก ลำบาก มากขึ้นเท่านั้น
ถ้าดูให้ละเอียดยิ่งไปกว่านี้ ความมืดสีขาวนี่แหละ ทำให้คนจองหองพองขน ยกหูชูหาง ต้องใช้คำพูดตรง ๆ อย่างนี้ เพื่อประหยัดเวลาว่าความมืดสีขาวนี่แหละ ทำให้คนจองหองพองขน ยกหูชูหาง คือ มันรู้สึกว่ามันมีความรู้ มันไม่เชื่อใคร มันเชื่อความรู้ของมันเอง แต่ความรู้ของมันนั้น เป็นความรู้ ที่จะจูงลงไปสู่กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตะพึดไป จะเรียกว่า ความรู้ได้ หรือไม่ ท่านทั้งหลายลองคิดดูเองเถิด ถ้าความรู้นั้น มีแต่จะทำให้ชักใยพันตัวเอง จนแน่นทึบหนาไปหมด ทะลุออกมาไม่ได้แล้ว นี้จะเรียกความรู้ดี จะเรียกความรู้ดีมั้ย จะเรียกว่าความรู้หรือความไม่รู้ ขอให้ลอง ไปคิดดู เขาอาจจะเรียกว่า ความรู้หรือคนบางคนอาจจะยอมรับว่ามันเป็นความรู้ แต่มันเป็นความรู้ชนิด นั้น ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรแก่การดับทุกข์ ดังนั้นคนอีกพวกหนึ่ง จึงตัดออกไปว่า ไม่ใช่ความรู้ อย่างดีก็ เป็นความรู้ที่ผิด เป็นความรู้ที่ใช้ไม่ได้ เป็นความรู้ที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ยิ่งขึ้นมาเท่านั้นเอง
จริงอยู่ ที่เราอาจจะพูดได้ว่า ความรู้ถูกก็เป็นความรู้ ความรู้ผิดก็เป็นความรู้ เพราะมันเป็นความรู้ ด้วยกันทั้งนั้น ทั้งผิดและถูก แต่แล้วตามธรรมดา เราควรจะถือเอาความรู้ที่ถูก ที่มีประโยชน์ที่จริง และมี ประโยชน์ ว่านี่แหละ เป็นความรู้ที่จะช่วยมนุษย์ได้ มนุษย์ควรจะมีความรู้ชนิดนี้ และความรู้ของ พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นอย่างนี้ ท่านเรียกความรู้ที่แท้จริงว่า มันเป็นสิ่งที่ดับทุกข์ได้ ท่านจึงได้เรียกว่า ญาณทัสนะ หรือความรู้ที่แท้จริง ในเรื่องของจริง เช่น อริยสัจ เป็นต้น แล้วก็ดับทุกข์ได้ นี้คือความรู้ นี้คือความฉลาด นี้คือความสว่าง ไม่ใช่ความมืดสีขาวเหมือนความรู้ของคนในโลกสมัยนี้
ทีนี้เมื่อเราเหลือบตา ดูไปอีกสักนิดหนึ่ง ก็จะเห็นว่า คนในโลกสมัยนี้ กำลังมึนเมาไปด้วย ความมืดสีขาว กำลังเดินดุ่ม ไปตามอำนาจของความมืดสีขาวด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ท่านก็ตอบ ปัญหานี้ได้ด้วยตัวท่านเองทันทีว่า ทำไมคนสมัยนี้จึงไม่มีดวงตาเห็นธรรม เพราะมันมีความโง่ของมันเอง เป็นความมืดสีขาว ดังที่กล่าวแล้ว ไม่ต้องพิจารณาอะไรกันให้มากออกไปอีก มันก็มองเห็นชัด ๆ อยู่แล้ว เพราะมันเต็มไปด้วยความมืดสีขาว หรือความรู้ที่จูงออกไป สู่ปัญหาที่ยุ่งยากมากขึ้น แก้ไขไม่จบ สะสาง กันไม่จบ ใคร ๆ ก็พอจะเชื่อได้ เออ, โดยไม่ต้องกลัวผิดว่า มนุษย์มีความทุกข์มากขึ้น มีปัญหามากขึ้น ตามความเจริญของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยนี้
นี้ถ้าจะพูดกันอีกนัยหนึ่ง ก็เรียกว่า มนุษย์สมัยนี้ เป็นโรคจิตกันมากขึ้น ถ้าจะพูดตามภาษา ของอาตมา ก็เรียกว่า เป็นโรคทางวิญญาณกันมากขึ้น ขอซ้อมความเข้าใจ ในข้อนี้กันใหม่ อีกสักครั้ง หนึ่งว่า สิ่งที่เรียกว่า โรค โรคนี่ เราจำเป็นที่จะต้องแบ่งออกเป็น ๓ พวก โรคทางกาย โรคทางจิต โรคทางวิญญาณ
โรคทางกาย ก็รักษาไปตามวิธีของร่างกาย โรคทางจิต ก็รักษาไปตามวิธีของโรคทางจิต หรือทาง ประสาท ส่วนโรคทางวิญญาณนั้น มันต้องรักษาด้วยวิธีของพระพุทธเจ้า คือ ความรู้ที่เป็นความรู้จริง เป็นความถูกต้องจริง จึงจะรักษาโรคนั้นได้ คนธรรมดา ก็เรียกว่า เป็นโรคทางวิญญาณกันอยู่ทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย คือ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง กันอยู่ทั้งนั้น ถ้ามีความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อใดแล้ว มันก็เรียกว่ามีโรคทางวิญญาณ แม้ว่าทางกายสบาย ทางจิตสบาย แต่มีโรคทางวิญญาณ มีความโลภขึ้นมาก็ร้อน มีความโกรธขึ้นมาก็ร้อน มีความหลง เกิดขึ้นมาก็ร้อน นี้เรียกว่า เป็นโรคทางวิญญาณ ที่มันไปโลภไปโกรธไปหลงนั้น เพราะมันเป็นคนโง่ เพราะมันเป็น มิจฉาทิฐิ มันจึงเป็นโรคทางวิญญาณ มิจฉาทิฐิมีขึ้นเมื่อไร เกิดขึ้นเมื่อไร มันก็มีโรคทางวิญญาณเมื่อนั้น บางคนจึงเป็นโรคทางวิญญาณ กันอยู่เป็นประจำ
แต่ว่าคนสมัยนี้ มันเป็นโรคทางวิญญาณกันมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จนไม่รู้ว่าจะเป็นกันอย่างไร ก็มีผลให้เป็นโรคทางจิตกันมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น แล้วก็มีผลให้เป็นโรคทางกายกันมากขึ้น มากขึ้น เรื่องนี้อย่าได้เห็นว่าเป็นเรื่องพูดเล่นสนุก ๆ หรือเป็นเรื่องคาดคะเน ขอให้มองเห็นให้แจ่มชัดลงไปว่า ความทุกข์ทุกชนิดของมนุษย์นั้น มันมีมูลเหตุมาจากโรคทางวิญญาณทั้งนั้น อย่าได้มัวเขลา มัวหลง มัวโง่กันอีกเลย จงมองให้เห็นชัดเสียเถิดว่า ความทุกข์ยากลำบาก เออ, ของมนุษย์ หรือโรคภัยไข้เจ็บอะไร ของมนุษย์ก็ตาม มันเป็นผลมาจาก การเป็นโรคในทางวิญญาณทั้งนั้น
โรคทางวิญญาณนี้ ถ้าจะเรียกให้ฟังง่าย อีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า โรคขาดธรรมะ ขอให้ช่วยจำ กันทุก ๆ คนว่า โรคขาดธรรมะ โรคขาดพระธรรม โรคขาดธรรมะนี้ คือ โรคทางวิญญาณ ขาดธรรมะ เมื่อไรก็เป็นโรคทางจิตเมื่อนั้น และเป็นโรคทางกายเมื่อนั้น แม้แต่คนเดินตกร่อง แข้งขาถลอกปอกเปิก ก็เพราะมันขาดสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นธรรมะ มันขาดธรรมะ คือ สติสัมปชัญญะ มันจึงตกร่อง มันเจ็บ แข้งขาถลอกปอกเปิก เพราะมันขาด มันเป็นโรคทางกายนี้ เพราะมันเป็นมูลเหตุมาจาก โรคขาดธรรมะ คือ ไม่มีสติสัมปชัญญะ
แม้ว่ามันจะทำมีดบาดมือ อ่า, หรือว่ามันจะตำน้ำพริกแกงเข้าตา มันก็เป็นโรคขาดธรรมะ คือ มันสะเพร่า มันโง่ ความสะเพร่าหรือความโง่นี้เป็นอุปกิเลสชนิดหนึ่ง เพราะมันขาดธรรมะ นั้นจึงต้อง ถือว่า เป็นโรคขาดธรรมะเมื่อไรแล้ว มันก็ต้องมีโรคทางจิต มีโรคทางกายเกิดขึ้น เป็นธรรมดา ยกตัวอย่างให้กว้างออกไป มนุษย์สมัยนี้โดยเฉพาะ มีความมืดสีขาวมาก รู้จักคิดนึกมาก รู้จักต้องการ ให้มันแปลกออกไปมาก ไม่มีที่สิ้นสุด มันก็มีความวิตกกังวลมาก นอนไม่หลับ นานเข้า ๆ ก็มีเส้นประสาทวิปริต เป็นโรคเส้นประสาท เรียกว่า เป็นโรคทางจิตก็ได้ นี้เป็นโรคทางประสาท หรือทางจิตนานเข้า นานเข้า มันก็เป็นโรคทางกาย เช่น เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคอัมพาตก็ได้ ในที่สุด มันก็ตายไปด้วยโรคทางกายอย่างนี้ ต้นตอมันอยู่ที่โรคทางวิญญาณ คือ โรคขาดธรรมะ ที่ทำให้นอนไม่หลับ
มนุษย์สมัยนี้ นอนไม่หลับมากขึ้น แม้ตัวมันจะนอนนิ่งอยู่ แต่ใจไม่หลับ มันมีความสะดุ้งผวา มีความตื่นอยู่ใต้สำนึก มันก็เป็นโรคทรมานจิตใจ โดยไม่รู้สึกอยู่เสมอ มันก็เสื่อมสุขภาพในทางจิต ในทางวิญญาณ มันก็เกิดโรคทางวิญญาณ ทางจิต ทางกายอะไรมาตามลำดับมากขึ้น มากขึ้น จึงอยู่ใน สภาพเช่นทุกวันนี้ มันจึงทำความยุ่งยากลำบากให้แก่มนุษย์นี้เอง ในการที่จะรักษาเยียวยา นานาประการ ไม่รู้สิ้น ไม่รู้สุด
หวังว่าท่านทั้งหลาย จะได้พินิจพิจารณาดูให้ดี ให้เห็นความจริงข้อนี้ กันเสียก่อน ว่าโลกกำลัง ไหลไปในทางที่จะเป็นโรคทั้งนั้น โรคทางกายบ้าง โรคทางจิตบ้าง โรคทางวิญญาณบ้าง หาความสงบสุข ไม่ได้เลย ถ้าเปรียบเทียบกันดูกับโลกของพระอริยเจ้าแล้ว มันก็ต้องไกลกัน จนเหลือที่จะกล่าวได้ ว่าไกลกันอย่างไร เพราะว่าในโลกของพระอริยเจ้า ต้องไม่มีโรคทางวิญญาณกันเสียก่อน พอไม่มีโรค ทางวิญญาณแล้ว โรคทางจิต โรคทางกาย ก็แทบจะไม่มี ถ้ามีก็เป็นเรื่องเอ็กซิเด้นท์ (นาทีที่ 01:07:46) ตามธรรมดา ไม่ใช่มีมูล มาจากการขาดสติสัมปชัญญะ เหมือนโรคของคนสมัยนี้ ที่เป็นโรคทางวิญญาณ กันอย่างเต็มที่ อะไร ๆ ก็ล้วนแต่มีมูลมาจาก ความเป็นโรคทางวิญญาณ เพราะว่าจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้น หรือชีวิตทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ เป็นเหยื่อของโรคทางวิญญาณ คือ โรคขาดธรรมะกันไปหมดแล้ว มุ่งหวังแต่ ในทางที่จะ ให้เกิดโรคทางวิญญาณยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เกิดอยู่อย่างมากมายแล้ว มิหนำ ยังจะทำในลักษณะ ที่จะทำให้มีโรคทางวิญญาณ มากยิ่งขึ้นไปอีก
ฉะนั้นขอให้ดูกันต่อไป ว่ามนุษย์ในโลกในสมัยนี้ จะไปกันอย่างไร จะไปจบกันที่ไหน มันก็จะ ต้องไปจบลง ที่ความวินาศไม่มีอะไรเหลือ ทั้งทางกาย ทางจิต และทางวิญญาณนั่นเอง เมื่อทางวิญญาณ มันวินาศ ไม่มีเหลือแล้ว ทางจิต ทางกาย มันก็พลอยวินาศไม่มีเหลือไปในที่สุด ต่อภายหลัง ทั้งโลกที่ไป ในลักษณะของความมืดสีขาวอย่างนี้ มันก็มีแต่จะประสบความวินาศ ทั้งทางกาย ทางจิตและทาง วิญญาณเป็นธรรมดา เป็นของแน่นอน สมกับข้อที่ว่า สิ่งใดมีความตั้งขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมี ความสลายลงเป็นธรรมดา มันตั้งขึ้นด้วยความโง่ ตั้งขึ้นด้วยความโง่ มีความโง่มากขึ้น มากขึ้น จนถึงขนาดสูงสุดแล้ว มันก็สลายลง ซึ่งเป็นผลของความโง่ ถ้าหากว่ามันมีความรู้สึกนึกคิดได้ คือ ปรับตัวเสียได้ทัน มันก็เปลี่ยนรูปไปอย่างอื่น ไม่เป็นไปในลักษณะที่เป็นทุกข์ ที่น่า อ่า, ทุเรศเวทนา เหมือนอย่างที่กล่าวมานี้
ทีนี้เราจะนึกดูว่าพุทธบริษัทเรา เรียกตัวเองว่า เป็นพุทธบริษัท เป็นสาวกของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรจะเกี่ยวข้องกับโลกเหล่านี้ ในลักษณะเช่นไร ถ้าถือตามธรรมดาสามัญสัตว์ ก็เรียกว่า มีโลกทางวิญญาณกันอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่แล้วเราจะต้องทำให้ดี คือ ให้มันค่อย ๆ หายไป ค่อย ๆ หายไป จนไม่มีเหลือ อย่าไปหลงตามคนสมัยนี้ ตามความเจริญสมัยนี้ ตามการศึกษาสมัยนี้ ที่มีแต่จะเพิ่มโรคทางวิญญาณให้มากขึ้น และโรคทางจิตและทางกาย ก็จะต้องตามมามากขึ้น อย่างที่จะแก้กันไม่ตก เราจะต้องเดินกันคนละทาง คือว่า จะไม่ก่อให้มันเกิดขึ้น มันก็ไม่ มันก็จะไม่มีการดับลง เราศึกษาไปในทาง แต่ที่จะไม่มีโรคทางวิญญาณ อย่าไปก่อให้มันเกิดขึ้น แล้วมันก็ไม่ต้องมีปัญหา
ดังนั้น เราจึงศึกษาไปในลักษณะที่เป็นอนัตตา หรือสุญตา ด้วยรู้ความที่ไม่มีตัวตน เป็นตัวเรา ตัวเขา หรือของเรา ของเขา นี่เรียกว่า ศึกษาไปในลักษณะที่ไม่มีเหตุ ศึกษาไปในลักษณะที่ไม่มีการก่อขึ้น มันก็ไม่ต้องเป็นไปตามเหตุ และจะไม่ต้องสลายลงเป็นธรรมดา แต่มันจะมีความเป็นปกติ คือ ความดับสนิทแห่งความทุกข์ มีความสะอาด สว่าง สงบอยู่ได้ สมตามที่เป็นมนุษย์ และเป็นพุทธบริษัท ขอเตือนแล้วเตือนอีกอย่างจู้จี้ ไม่กลัวท่านทั้งหลายจะรำคาญ ว่าให้คิดนึกอยู่เสมอ ว่าเป็นมนุษย์ก็ควรจะ เป็นมนุษย์ เป็นพุทธบริษัท ก็ควรจะเป็นพุทธบริษัทกันให้ถูกต้อง มนุษย์ แปลว่า ใจสูง คือ สูงจนกิเลส หรือความชั่วท่วมทับไม่ถึง เราจะต้องมีจิตใจสูงชนิดนั้น เราจึงจะเป็นมนุษย์
ถ้าเราจะเป็นพุทธบริษัท คำว่า พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราเป็นสาวกของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราก็ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วย นี่แหละ เพียงแต่เราเป็นพุทธบริษัท กันให้ถูกต้อง ก็พอแล้ว หรือยิ่งไปกว่านั้นอีก เราเป็นมนุษย์กันให้ถูกต้องเท่านั้นก็พอแล้ว เพื่อให้มีจิตใจสูงจนกิเลส และความชั่ว หรือความทุกข์ท่วมทับไม่ได้ มันก็พอแล้ว มันไม่มีอะไรอีกแล้ว ดังนั้นเราจงมาทำ อาสาฬหบูชากัน ด้วยการเป็นมนุษย์ให้มากขึ้นไปนิดหนึ่งเถิด ในวันนี้ ก็จะไม่เสียที ที่อุตส่าห์ถ่อร่าง ถ่อกาย กันมาจนถึงที่นี่ เพื่อทำอาสาฬหบูชา
ข้อความทั้งหมดนี้ เป็นการเตือนกันในวันนี้ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เพื่อให้เตรียมตัวให้พรักพร้อม สำหรับจะทำอาสาฬหบูชา ในเย็นวันนี้ ด้วยกันจงทุกคน ธรรมเทศนา สมควรแก่เวลา เอวัง ก็มี ด้วยประการ ฉะนี้