แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไอ้ธรรมะ ๔ ประการนี้ คือ พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสทา ธมฺเม อเวจฺจปฺปสทา สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสทา อริยกนฺตสี ๔ อย่างนี้ ในสังยุตตนิกาย เอ่อ, คัมภีร์สังยุตตนิกายพราวไปหมดนั้น เรียกธรรมะ ๔ ประการนี้ว่า โสตาปัตติยังคสังยุตต์ ฟังดูให้ดี เรียกว่าโสตาปัตติยังคสังยุตต์ แปลว่าองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน ใครประกอบด้วยธรรมะ ๔ ประการนี้ คนนั้นเป็นโสดาบัน และความเป็นโสดาบันนั้น เป็นโลกิยะหรือเป็นโลกุตตระ ลองฟังดูให้ดี
เราก็ยอมรับกันอยู่ทั่วไปเดี๋ยวนี้แล้วว่า ความเป็นพระโสดาบันนั้นเป็นขั้นโลกุตตระ ดังนั้นถ้าผู้ใดประพฤติ ๔ อย่างนี้อยู่แล้ว ก็เรียกว่าเป็นผู้ประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ นี่ถ้าเขาประพฤติไม่สมบูรณ์ ก็ยังเรียกลดลงมาอีกหน่อยได้ว่าปุญญาภิสันทะ เอ่อ, ๔ อย่างนี้เป็นท่อธารที่ไหลออกแห่งบุญ นี่มันก็เป็นระดับชาวบ้านไป นี่คงจะตรงกับความหมายที่อุบาสกขณะนั้น คณะนั้นเขาทูลพระพุทธเจ้าว่า เขาปฏิบัติอยู่แล้ว คงจะเป็นไปแต่ในทางเป็นท่อธารแห่งบุญ
แต่อย่าลืมว่า การที่คนจะมีศรัทธาถึงขนาดไม่หวั่นไหว ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีศีลบริสุทธิ์นี้ ต้องเป็นคนที่เข้ามาในร่องรอยแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว ดังนั้นเราจึงเห็นได้ชัดว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงประสงค์อย่างยิ่ง ที่จะให้มนุษย์บุถุชนทุกคนนี้ รับเอาเรื่องสุญญตาไปเป็นมาตรฐาน สำหรับการเป็นมนุษย์โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ เพื่อไปใช้เป็นความรู้คู่เคียงกันไป กับความรู้เรื่องโลกิยธรรมที่เขามีอยู่ก่อนเป็นประจำ
ทีนี้เรายังต้องพิจารณาดูอีกทีหนึ่งว่า เมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เรื่องสุญญตาเหมาะแก่ท่าน เหมาะแก่ฆราวาสที่ครองเรือนนี่ เรื่องสุญญตานี้ที่ตถาคตกล่าวนั้น เฉพาะที่ตถาคตกล่าวนะ อย่าไปเอาสุญญตาอันธพาลเข้ามา สุญญตาที่จะเป็นตถาคตภาสิตานี้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน นี้ฆราวาสหมู่นั้นเขาบอกว่า สูงไป ไม่ไหว นี่พระพุทธเจ้าก็บอก ๔ อย่างให้ แต่มิได้หมายความว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงเลิกสอนหลักการอันนี้ ต่อให้อุบาสกชนิดนั้นมา ๆ ทูลบอกกี่คณะ กี่สิบคณะก็ตาม พระพุทธเจ้าท่านไม่ยอมเลิกหลักการอันนี้ คือหลักการที่ว่า สุญญตานี้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน
ดังนั้นอย่าได้ไปเข้าใจผิดว่า มีแต่คนบางคนมาบอกว่า นี้ยากไปไม่เอา ขอเอาต่ำกว่านี้แล้วจะถือว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงเลิกหลักการใหญ่ของท่านนี้ มันเป็นการตู่พระพุทธเจ้ามากเกินไป ไม่สมกับที่เป็นพุทธบริษัท ใครจะว่าอย่างไรก็ว่าไป ท่านยังมีหลักการว่า เรื่องสุญญตายังเป็นธรรมะที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนานนี่ นี้เรียกว่าเรื่องจิตว่างหรือเรื่องสุญญตาที่เรายังเข้าใจไขว้เขวกันอยู่ แล้วพาลให้หาเหตุว่า เรื่องโลกุตตรธรรมนี้เป็นข้าศึกแก่ความเป็นฆราวาส เลิกสนใจเสีย อย่างนี้ไม่ได้ จะหมดความเป็นพุทธบริษัท เอ่อ, โดยสิ้นเชิง นี่ขอให้ถือให้ตรงตามหลัก เอ่อ, ในพระ พระพุทธ เอ่อ, พระพุทธวจนะ
ทีนี้ขออภัยที่ว่า จะอยากจะพูดตรง ๆ ว่า คำว่าโลกียะกับคำว่าโลกุตตระ ๒ คำนี้ ที่เป็นคู่กันนี้ เราเพิ่งใช้ เราเพิ่งยกขึ้นมาใช้ ไม่เคยเห็นใช้เป็นประจำในสมัยพระพุทธเจ้า ไม่มีเรื่องที่พระพุทธเจ้าจะต้องแยกโลกียธรรมไว้ฝ่ายหนึ่ง ตรงกันข้ามกับโลกุตตรธรรมซึ่งเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเราสมัยนี้เพิ่งแยก ด้วยความเข้าใจผิดอย่างไรก็ตามใจ เอามาเป็นข้าศึกแก่กันและกันเลย
ส่วนพระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ไปด้วยกัน ให้โลกียธรรมเป็นหน้าที่เป็นเรื่องอะไรของฆราวาส จะต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ตามภูมิตามชั้นที่ยังต่ำอยู่ แต่แล้วพร้อมกันนั้นให้มีความรู้เรื่องโลกุตตรธรรม เพื่อจะควบคุมโลกียธรรมนั้นอย่าให้เป็นพิษขึ้นมา อย่าให้เป็นความทุกข์ เป็นไฟ เป็นยาพิษอะไรขึ้นมาต่างหาก มันต้องไปด้วยกันอย่างนี้ อย่ามาแบ่งแยกว่า โลกียธรรมเอาไปพวกหนึ่ง โลกุตตรธรรมเอามาพวกหนึ่ง อย่างนี้ไม่เป็นไปได้ ไม่เป็นความประสงค์ของพระพุทธเจ้าเลย พวกเราสมัยนี้ต่างหาก ที่เอาคำ ๒ คำนี้มาแยกให้เป็นข้าศึกแก่กันและกัน นี่มันน่าจะเรียกว่าเป็นความโง่เขลาบ้าหลังของพวกเราเอง เอ่อ, ที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น
ความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า ท่านต้องการจะเพิ่มให้ในส่วนที่ยังขาดอยู่ เมื่อมนุษย์รู้จักแต่ทำมาหากินโดยที่จะต้องเป็นทุกข์ เพราะขาดความรู้อะไรบางอย่าง ท่านก็เพิ่มความรู้ส่วนนี้ให้ เอ่อ, ความรู้ส่วนนี้จะควบ จะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้นท่านจึงว่า สุญญตาซึ่งเป็นเรื่องโลกุตตระนี้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน นี่ขอให้ระวังคำว่า โลกียะ โลกุตตระ ให้ดี ๆ เรามาใช้กันอย่างผิดความหมาย อย่างเป็นข้าศึกปฏิปักษ์ต่อกัน ไม่หันหน้าเข้าหากัน เอ่อ, เป็นศัตรูกัน นี้มันไม่ถูก
ทีนี้จะพิสูจน์ต่อไปถึงข้อที่ว่า มันไม่ถูก หมายความว่า ธรรมะทุกชื่อ บรรดาธรรมะที่มีประโยชน์แก่พวกเรานี่ ธรรมะทุกข้อและทุกชื่อจะมีอยู่เป็น ๒ แผนกเสมอ เอ่อ, ที่เป็นชั้นโลกียะและชั้น เอ่อ, เป็นชั้นโลกุตตระ เช่น คำว่าทาน เอ่อ, นับ ๆ ตั้งแต่ต่ำที่สุดไป จากคำว่าให้ทาน การทำทานนี่ ถ้าเป็นโลกียธรรม มันของชาวบ้านที่ไม่รู้พุทธศาสนา ก็ต้องให้ทานเพื่อว่า ให้เขารับบ้าง เพื่อจะเอาของตอบแทนบ้าง หรือว่าเพื่อจะให้เกิดสวย เกิดรวย ได้สวรรค์วิมานในโลกหน้าบ้าง นี่มันก็เป็นให้ทานตามวิสัยของคนที่มีจิตใจเป็นโลกียะ ถ้าว่าคนมีจิตใจสูงรู้พุทธศาสนา ก็จะต้องให้ทานเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าของกูว่าตัวกูนี่ อย่างพระเวสสันดรท่านทำหรือ เอ่อ, การบำเพ็ญบารมี เอ่อ, การให้ทานอย่างนี้ มันเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู ดังนั้นพวกเรา เอ่อ, พุทธบริษัทนี้ แม้ในปัจจุบันนี้ ก็ต้องพยายามให้ทานให้ถูกต้องตามความมุ่งหมายของพุทธบริษัท คือให้ทานเพื่อผู้อื่น เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ให้ทานเพื่อพระศาสนายังอยู่ และให้ศาสนาเป็นประโยชน์แก่คนทุกคน เอ่อ, ถ้าให้ทานอย่างนั้นแล้วก็เรียกว่า มันเป็นไปเพื่อโลกุตตระ เป็นไปเพื่อจะข้ามขึ้นจากระดับโลกนี่ สิ่งที่เรียกว่าทานก็มีอยู่ ๒ ชั้นอย่างนี้
ทีนี้สิ่งที่เรียกว่าศีล ถ้ารักษาศีลเอาหน้า รักษาศีลเอาประโยชน์โดยตรงในทางวัตถุนี้ มันก็เป็นโลกียะ ถ้ารักษาศีลเพื่อประโยชน์แก่ เอ่อ, การเป็น เอ่อ, เครื่องสนับสนุนสมาธิหรือว่าเพื่อควบคุมไอ้ตัวกูของกู อย่างนี้การรักษาศีลนั้นก็เป็นไปเพื่อโลกุตตระ นี้การทำสมาธิก็เหมือนกัน ถ้าทำสมาธิเอาประโยชน์ มีจิตเป็นสมาธิแล้วมีฤทธิ์มีเดช แสดงฤทธิ์แสดงเดชได้ เอ่อ, หาประโยชน์จากการมีฤทธิ์อย่างนี้ ไอ้ ๆ สมาธินี้มันก็เป็นโลกียะไป แต่ถ้าว่าทำสมาธิเพื่อควบคุมกิเลสไม่ให้ขึ้นมาวุ่นก็ ๆ ดี หรือทำสมาธิเพื่อเป็นบาทของปัญญาก็ดี อย่างนี้มันเป็นไปเพื่อโลกุตตระ
ทีนี้สิ่งที่เรียกว่าปัญญาที่เป็นโลกียะนั้น เป็นปัญญาเฉโก ภาษาบาลีมีคำว่าเฉโก คือฉลาดในเรื่องหาประโยชน์ตามทางของโลก ๆ นี้ เขาเรียกว่าเฉโก ไม่ใช่คำที่เสียหายอะไร เป็นคำธรรมดาคำหนึ่ง แปลว่าฉลาดในเรื่องโลกียะ ฉลาดในทางธรรมเพื่อเอาตัวออกจากทุกข์ เอ่อ, ก็เรียกว่าปัญญา ปัญญาก็มีอย่างที่เป็นโลกียะและเป็นอย่างโลกุตตระ นี้เราจะเห็นได้ว่า ความหมายของคำคำเดียวมีอยู่เป็น ๒ ชั้นอย่างนี้เสมอ แม้ที่สุดแต่คำว่าพุทธะหรือพระพุทธเจ้า เอ่อ, พระพุทธเจ้านี่เป็นเนื้อหนังเป็นบุคคลเดินได้ไปมา นี้ก็เป็นพระพุทธเจ้าสำหรับเด็ก ๆ แต่พระพุทธเจ้าในพระพุทธภาษิตที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม อย่างนี้มันเป็นพระพุทธเจ้าแท้ เอ่อ, ของพุทธบริษัทที่มีปัญญา
ดังนั้นเราไม่อาจจะให้พุทธบริษัทเหล่าใดเหล่าหนึ่งเลือกถือเอาแต่โลกียะ จัดเกณฑ์ให้พุทธบริษัทพวกใดพวกหนึ่ง ระดับใดระดับหนึ่ง ถือเลือกถือเอาแต่ที่เป็นโลกียะอย่างนี้ เป็นการทำลายพุทธศาสนาเสียหายหมด ไม่มีอะไรเหลือ เอ่อ, ทำลายพุทธศาสนาเสียหายยิ่งกว่าที่พวกคอมมิวนิสต์จะมาทำลาย เพราะว่าพวกคอมมิวนิสต์จะทำได้ก็เพียงเผาผลาญโบสถ์วัดวาอารามทางวัตถุ ไม่สามารถจะทำลายหัวใจของพุทธศาสนาให้ราบเตียนไปได้ แต่แล้วความเข้าใจผิดของเราเอง เรื่องโลกียะ เรื่องโลกุตตระ เป็นต้นนี้ ถ้าเข้าใจผิดแล้วจะทำลายตัวแท้ของพุทธศาสนาให้หมดไปไม่มีเหลือ ไอ้เราก็หมดความเป็นพุทธบริษัท ไม่มีอะไรเหลือ
ทีนี้จะต้องพิจารณากันให้ละเอียดถึง คำบางคำที่เอามาพูดกันอย่างหมิ่นเหม่ตัวอันตราย เช่นว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี่ คน ๆ ไหนจะปฏิบัติ ใครจะปฏิบัติก็ตาม จะต้องถือว่าสิ่งที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ต้องเป็นฝักฝ่ายของโลกุตตระ อย่าขนานนามอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้เป็นโลกียธรรมเลย แม้ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ จะเป็นสังขตธรรม มีปัจจัยปรุงแต่ง มีอะไรก็ตามที แต่อย่าไปกล้าขนานว่าเป็นโลกียธรรมอย่างชาวบ้าน ให้ถือว่าเป็นแนวของโลกุตตรธรรมอยู่นั่นเอง และเราก็รับเอาอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางไปสู่นิพพานโดยเฉพาะนี้ มาปฏิบัติอยู่ได้ตามบ้านตามเรือน ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ต้องกลัวใครจะถูกหา ไม่ ๆ ต้องกลัวว่า ๆ จะถูกใครกล่าวหาว่า นี่บ้า ไปเอาเรื่องสูง ๆ มาปฏิบัติ จงยินดีที่จะรับเอาเรื่องโลกุตตรธรรม อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ มาปฏิบัติอยู่ตามบ้านตามเรือน เอ่อ, ทุกหัวระแหงไปทีเดียว นี่ให้เข้าใจคำว่ามรรคมีองค์ ๘ กันในลักษณะอย่างนี้ อาตมาเชื่อว่าจะเป็นพุทธบริษัท
ทีนี้ดูกันถึงชื่อธรรมะต่าง ๆ อีก เช่นธรรมะว่า อิทธิบาท ๔ นี้ คนไหนมากล้าชี้ว่าเป็นอริยะ เอ่อ, เป็นโลกียะหรือโลกุตตระอย่างเด็ดขาด โดยที่แท้แล้วมันเป็นฝักฝ่ายของโลกุตตระ แต่เอามาใช้อย่างโลกียะก็ได้ เรื่องอิทธิบาทนี้ เครื่องมือสำหรับทำให้บรรลุนิพพาน แต่เราเอามาใช้ในการทำไร่ไถนาค้าขายก็ได้ นั่นไม่ใช่ความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า ที่จะให้เอาอิทธิบาทของท่านมาใช้ในเรื่องทำไร่ทำนาค้าขาย เอ่อ, แต่ว่ามันเอาใช้ได้และท่านก็ไม่ขัดข้องอะไร เพราะว่าหลักธรรมะนี้กล่าวไว้เป็นหลักกลาง ๆ ทั่ว ๆ ไป
ทีนี้หลักเช่น สติปัฏฐาน เอ่อ, สติปัฏฐาน ๔ นี้ มันเป็นเรื่องเพื่อเหนือโลก พ้นโลกแท้ ๆ แต่ก็เอามาใช้ปฏิบัติได้ตามสมควรแต่กาละเทศะในบ้านเรือน จะไม่ให้เอามาใช้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำลายประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์อย่างไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครยอมรับ เรื่องอินทรีย์ อินทรีย์ ๕ เอ่อ, ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานี้ ก็มุ่งหมายเนื่องอยู่กันกับสติปัฏฐานและโพชฌงค์ เป็นไปเพื่อโลกุตตระ แต่แล้วเราเอามาใช้ที่บ้านที่เรือนได้ ทีนี้แม้แต่หลักโพชฌงค์เอง ถ้ารู้จักใช้ ก็เอาความหมายของคำว่า สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธินี้ มาใช้ตามบ้านเรือนได้ โดยใช้ความหมาย เอ่อ, ให้ถูกต้องเท่านั้นเอง
นี่เราได้รับการสั่งสอนในโรงเรียน เอ่อ, เพื่อนภิกษุ สามเณร สพรหมจารีทั้งหลาย เธอคงจะเคยได้รับการสั่งสอนมาแล้วทั้งนั้น ในการเรียนนักธรรมชั้นตรีชั้นโทนั้นน่ะว่า ถ้าเป็น ถ้าเป็นฆราวาสจะปฏิบัติธรรมะ เอ่อ, ที่มีไว้สำหรับพระได้อย่างไร เช่น ปัจจเวก ๔ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะนี่ เราก็ยังเอามาใช้พิจารณา การนุ่งห่ม การกินอาหาร การ เอ่อ, อยู่ที่อาศัย เจ็บไข้อะไรได้ แม้กระทั่งบารมี ๑๐ บารมี ๑๐ อย่าง ทานบารมี เป็นต้นนั้นน่ะ ที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้านั้นน่ะ เราก็ยังได้รับการสั่งสอนว่า เราก็เอามาปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมใน ๑๐ ประการนั้น ดังนั้นนั่นแปลว่า ไม่มีธรรมะหมวดไหนพวกไหน ที่มันจะเป็นโทษเป็นภัยแก่ฆราวาส ผู้รู้จักเลือกเอามาใช้และปฏิบัติ
ทีนี้ก็มาถึงคำที่ว่าขลังที่สุด คือคำว่าวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนานี้ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านจะไม่เคยใช้เลยด้วยซ้ำไป ท่านใช้คำอย่างอื่น แต่เราเดี๋ยวนี้สมัยนี้ เราใช้คำว่าวิปัสสนานี้เป็น ๆ ๆ พื้นฐานทีเดียว หมาย ๆ ความว่า การกระทำทางจิตใจ เอ่อ, นี้การกระทำทางจิตใจนี้ จะให้ทำแต่พวกพระที่อยู่ตามถ้ำตามภูเขานั้น เป็นไปไม่ได้ ต้องทำกันหมด ฆราวาสตามบ้านเรือนก็มีการกระทำทางจิตใจ ตั้งอยู่ในหลักธรรมครบถ้วนทุกอย่างทุกประการเท่าที่จะทำได้ แล้วมีสติสัมปชัญญะให้มากที่สุด ที่จะไม่ให้เกิดกิเลสและความทุกข์ขึ้นมา และนั่นแหละคือวิปัสสนา
เพราะฉะนั้นในห้องน้ำก็ดี ในครัวก็ดี ที่ไหนก็ดี ตามบ้านตามเรือนนี้ จะต้องมีจิตใจในลักษณะที่เป็นวิปัสสนา คือรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูของกูไม่ได้ และอย่าไปดีใจเสียใจให้เกิดกำเริบวุ่นวาย แฟบ ๆ ฟู ๆ ไปตามสิ่งที่มากระทบ แม้ในครัว แม้ในห้องน้ำ แม้ในไอ้ห้องส้วมอะไรก็ตาม จะต้องมีสติสัมปชัญญะแบบที่ความทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้เสมอไป ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า แม้แต่คำว่าวิปัสสนานี้ ก็ไม่ขัดกับชาวบ้านที่จะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อคุ้มครองตัว ให้เป็นเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองตัว ไม่ให้เกิดทุกข์ภัยขึ้นมาแก่จิตใจ
ทีนี้ก็อยากจะยกตัวอย่างอีกสักคำหนึ่ง คือคำว่านิพพาน คำว่านิพพานนี้เป็นคำที่ชาวบ้านต้องสนใจมากที่สุด ต้องพยามยามกระทำให้มีให้มากที่สุด ทุกเวลาที่สุด เพราะคำว่านิพพานนั้นแปลว่าเย็น ไอ้ที่ร้อน เย็นลง ๆ นี้คือนิพพาน ขอโอกาสพูดให้สิ้นเชิงว่า เท่าที่ได้ค้นคว้ามาทั้งหมดแล้ว พบคำว่านิพพานอธิบายไว้ชัดเจนดีมาก คำว่านิพพานนี้เป็นคำที่ใช้อยู่เหมือนกับภาษาพูดตามธรรมดา ในหมู่คนชาวบ้านตามธรรมดาอยู่ก่อนแล้ว ก่อนพุทธกาล ก่อน เอ่อ, พระพุทธเจ้านู้น หมายถึงความเย็น เมื่อใดความร้อนหรือพิษสงร้ายกาจอะไรสงบลงเย็นลง เมื่อนั้นเขาเรียกว่านิพพาน เช่น ข้าวคดมาร้อน ๆ กินไม่ได้ ต้องรอให้นิพพานแล้วจึงกินอย่างนี้ คำพูดธรรมดาใช้อย่างนี้ นิพพานอย่างนี้ใช้สำหรับวัตถุ หมายถึงวัตถุเย็นลง
ทีนี้อีก ๆ ความหมายหนึ่งที่สูงขึ้นมา คือว่าสัตว์ เอ่อ, สัตว์เดรัจฉานที่ป่าเถื่อน จับมาจากป่าเป็นอันตราย ยังฝึกไม่ดี ยังเป็นอันตราย แล้วก็ฝึกไป ๆ ๆ จนเป็นสัตว์เชื่อง เหมือนช้างเชื่อง ม้าเชื่อง วัวเชื่อง เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นเชื่องไปอย่างนี้ เรียกว่าสัตว์นั้นนิพพาน แปลว่าเย็นลงแห่งพยศร้าย สัตว์นั้นเย็นสนิทเรียกว่าสัตว์นิพพาน ทีนี้พอมาถึงคน ก็หมายถึงว่า กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นของร้อนนี้เย็นลง นี้เรียกว่านิพพาน ถ้าชั่วคราวก็นิพพานชั่วคราว ถ้าถาวรก็นิพพานจริงเด็ดขาดลงไป ทีนี้ใครเป็นคนร้อน ต้องถือว่าฆราวาสนี่ตามปกติต้องร้อนกว่าพระเณรที่วัด เพราะว่าฆราวาสต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการในบ้านในเรือน จึงมีความร้อนมาก ดังนั้นใครมีความร้อนมาก คนนั้นควรจะต้องการความเย็นมาก
ดังนั้นไอ้สิ่งที่เรียกว่านิพพานนี่ ควรจะจำเป็นก่อนแก่ชาวบ้านซี่งมีความร้อนมาก ดังนั้นอย่าได้กลัวเรื่องนิพพาน จงได้สนใจเรื่องนิพพานให้ถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างเดียวกับเรื่องสุญญตา เอ่อ, ที่ตรัสว่า สุญญตาจำเป็นที่สุด เหมาะสมที่สุด แก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน นี้ก็หมายความว่าเรื่องนิพพานนั่นเอง ดังนั้นพวกชาวบ้านแท้ ๆ จะต้องสนใจเรื่องนิพพานให้ถูกต้อง ในนามว่าสุญญตาก็ตาม ในนามว่านิพพานก็ตาม ในนามว่าโลกุตตรธรรมก็ตาม เป็นต้นนี้ ให้ถูกต้อง แล้วก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่พุทธบริษัทควรจะได้รับ เอ่อ, จากพระพุทธเจ้า
ทีนี้เอากันง่าย ๆ หน่อยดีกว่า เอ่อ, พูดอย่างนี้มันอาจจะมากไปก็ได้ เอาแต่เพียงเท่านี้ก็คุ้มกันแล้วว่า ไอ้เรื่องโลกุตตรธรรมนี้ มันเหมือนกับเบรก เบรกรถยนต์ ถ้าเรามีแต่เครื่องยนต์ที่ทำให้รถวิ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว มันเป็นอย่างไร มันต้องลงคูลงคลองตายหมดแน่ ประโยชน์ส่วนของเบรกนี่ ทำไมไม่คิด ทำไมไม่ ๆ นึก ไม่คิด และไม่ให้ความสำคัญแก่เบรก เมื่อไอ้เรื่อง ๆ โลกียะ เอ่อ, กำลังของโลกียะนั้น มันเหมือนกับที่ให้รถพุ่งไป แล้วเมื่อถึงอันตราย ไอ้โลกุตตรธรรมจะเป็นเบรกและหยุดให้ทันท่วงที นี่มันมีความสำคัญอย่างนี้ แต่แล้วคนก็มองข้ามไอ้ความวิเศษของเบรก ดังนั้นเราใช้โลกุตตรธรรม เอ่อ, เรี่องสุญญตา อนัตตา หรืออะไรทำนองนี้ ให้พอเหมือนกับที่เราใช้เบรกรถยนต์ก็ดีถมไปแล้ว เอ่อ, ก็ยังได้ และยังดีถมไปแล้ว
พวกโมฆบุรุษตามที่พระพุทธเจ้าท่านเรียก พวกโมฆบุรุษน่ะ ไม่เข้าใจเรื่องนี้ เอ่อ, ศึกษาเรื่องนี้มาผิด ๆ เลยเกลียดโลกุตตรธรรม เลยกลายเป็นสุนัขจิ้งจอกหางด้วน เอ่อ, เหมือนรถยนต์ไม่มีเบรก เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกหางด้วน มันจะน่าดูที่ตรงไหน รถยนต์ไม่มีเบรก เหมือนกับรถ เอ่อ, เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกหางด้วน แล้วมันยังจะไปลวงผู้อื่นให้ตัดหาง อย่างนี้ใครจะไปเชื่อ มันคงจะเหมือนกับที่ว่า ใครมาบอกให้ท่านถอดเบรกออก เบรกนี้ถอดออก แล้วใช้รถยนต์ไป ท่านก็คงไม่เชื่อ นี่มันเหมือนกับสุนัชจิ้งจอกหางด้วน จะไปหลอกคนอื่นให้ตัดหางนี้ คงไม่มีใครเชื่อ
เรื่องที่จะไปบอกว่า โลกุตตรธรรมไม่จำเป็นแก่ฆราวาสนี่ เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านยืนยัน แล้วเราแม้จะไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เราก็มองเห็นว่ามันเหมือนกับเบรก ถ้าไม่มีเบรกแล้ว รถยนต์นั้นจะฆ่าเจ้าของ ฆ่าเจ้าของรถ การที่จะมาสอนกันแต่เรื่องให้เอา ให้ทำ ให้เอา ให้ทำ แล้วไม่มีอะไรคอยควบคุมคุ้มครองนี้ ผิด ๆ หลักโดยประการทั้งปวง เมื่อโลกียธรรมจะมุ่งมั่นไปในทางที่ถูก ก็เป็นไป แต่ถ้าเป็น จะเป็นไปในทางที่ผิดแล้ว ไอ้เครื่องหน่วงเหนี่ยวก็คือธรรมะประเภทโลกุตตรธรรม มันต้องควบคู่กันไปอย่างนี้เสมอ
ทีนี้เราลอง ๆ ๆ นึกดูว่า หลักพระพุทธศาสนานี้ เป็นหัวใจนี้ว่า อย่าทำชั่ว แล้วก็ทำดี แล้วก็ทำจิตให้บริสุทธิ์ ไอ้เรื่องทำจิตบริสุทธิ์นั้น มันเป็นโลกุตตรธรรม มันเอาออกไม่ได้ มันจะมีแต่เว้นชั่วและทำดีนี้ ไม่ ๆ ได้ ไม่พอ ต้องมีทำจิตให้บริสุทธิ์ควบคุมมันอยู่ด้วย มันจึงจะพอ ท่านลองเอาข้อสุดท้ายที่ว่า ทำจิตให้บริสุทธิ์ออก แล้วมันก็หมด หมดความเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
ดังนั้นเราไม่ต้องกลัวที่จะทำจิตให้บริสุทธิ์ ให้ว่างจากโลภะ โทสะ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คือให้มันเย็น เอ่อ, เท่าที่จะมากได้ ด้วยเหตุเช่นนี้เราจะเห็นได้ว่า ไอ้โลกุตตรธรรมนี้ยิ่งจำเป็นแก่การเป็นมนุษย์ แม้เป็นฆราวาส และแม้ในการพัฒนา ไอ้พัฒนาที่ถูกต้องต้องมี เอ่อ, ธรรมะประเภทโลกุตตรธรรมเข้ามาคุ้มครอง การพัฒนานั้นจึงจะถูกต้อง และไม่เป็นไปเพื่อ เอ่อ, สร้างวิกฤตการณ์ถาวร
นี่รวมความแล้วก็คือว่า เอ่อ, เรื่องโลกียะกับโลกุตตระนี้ ถ้าเรายังมีความเข้าใจผิดอยู่อย่างไรบ้าง ก็ขอให้สะสาง ๆ แก้ไขให้มันเป็นถูกเสีย แล้วไม่ต้องเชื่อคนอื่น คือเชื่อความรู้สึกคิดนึก สังเกตเห็นอยู่แก่ตัวเราเองนี้เป็นหลัก และเราก็จะมีตัวพุทธศาสนา คือประเภทโลกุตตรธรรมทั้งหลายนี้ อยู่กับเนื้อกับตัว เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน เพราะฉะนั้นอย่าได้กลัวเรื่องสุญญตา เรื่องนิพพาน หรือเรื่องโลกุตตรธรรม จงเอามาใช้อยู่ที่เนื้อที่ตัว เอ่อ, เป็นเครื่องรางคุ้มครองตัว เหมือนที่เราแขวนพระห้อยคอนี่ อยู่กับเนื้อกับตัวถึงขนาดนี้ มันก็จะคุ้มครองวิญญาณ เอ่อ, ให้ปราศจากความทุกข์
ทีนี้เรียกว่า เพราะว่าเราเข้าใจผิดเรื่องศาสนาเป็นภัยแก่การพัฒนา หรือโลกุตตรธรรมเป็นไปแก่การ เป็น ๆ อุปสรรคแก่การพัฒนานี้ เราจึงสอนพุทธศาสนาไม่สำเร็จ นี่ขอให้เห็นใจภิกษุ สามเณร เอ่อ, นิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยไหนก็ตาม ล้วนแต่มีหน้าที่จะต้องสั่งสอนเพื่อนมนุษย์ให้เข้าใจในเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจถูกต้องและช่วยกันแก้ไขในเรื่องนี้ ถ้าอย่างนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นไม่มีทางสำเร็จ เสียเวลาที่จะมีมหาวิทยาลัยหรือมีอะไรขึ้นมา ให้เปลือง ให้เหนื่อย ให้ยุ่ง แล้วไม่มีประโยชน์อะไร จะต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้ตรง เอ่อ, ตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้าให้ได้ เพราะฉะนั้นต้องปรับปรุงไอ้พื้นฐาน ที่มันเป็นไอ้หลักสำคัญ ที่เป็นอุปสรรคบ้าง เป็นสนับสนุนบ้างแก่พุทธศาสนานี้ ให้เข้ารูปเข้ารอย เอ่อ, กันให้ดี ๆ เอ่อ, นี้ก็คือข้อหนึ่งที่ว่า เป็นอุปสรรคแก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งสมัยนี้
ทีนี้ข้อถัดไปอีก อาตมาก็อยากจะขอร้องให้อดทนฟังอีกหน่อยหนึ่งว่า อุปสรรคที่พวกเราเผยแผ่พุทธศาสนาไม่สำเร็จ ก็เพราะว่าพวกท่านทั้งหลาย สนใจแต่เรื่องหลังจากตายแล้วอย่างผิดวิธี เมื่อพวกท่านทั้งหลายสนใจแต่เรื่องเมื่อตายแล้ว หลังจากเข้าโลงไปแล้ว และสนใจอย่างผิดวิธีด้วย แล้วพวกอาตมาก็ไม่มีทางที่จะเผยแผ่พุทธศาสนาได้สำเร็จ เพราะว่าจะผิดฝาผิดตัวกันอย่างไม่มีทางที่เข้ากันได้ เพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้พูดเรื่องต่อตายเข้าโลงแล้วจึงจะพูดกัน เอ่อ, เป็นเรื่องสำคัญ ท่านต้องการจะพูดกันเรื่องที่นี่และเดี๋ยวนี้แหละ ในฐานะที่เป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องชาติหน้านั้นไม่ได้มีไว้สำหรับการผัดเพี้ยน หรือว่าเพื่อผัด ๆ เวลา หรือว่าหวังแก้ตัวต่อชาติหน้า หรือเอาไว้ต่อชาติโน้นจึงค่อยทำดีกว่าอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องชาติหน้านี่ พระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้เพื่อให้เกิดความสนใจแก่การแก้ไขชาตินี้ เพราะว่าไอ้ที่เราทำได้หรืออยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้นั้น มันอยู่ในชาตินี้ ดังนั้นถ้าเราแก้ไขชาตินี้ถูกต้อง ชาติหน้าเป็นอันว่าถูกแก้ไขด้วยโดยไม่ต้องแก้ไข นี่ฟังดูก็ว่าคล้าย ๆ จะไม่เป็นไปได้ แต่ว่านี้คือความเป็นไปได้ที่สุด เราจะต้องแก้ไขชาตินี้ให้ดี ให้ถูกต้อง ให้สมบูรณ์ แล้วชาติหน้าก็จะเป็นสิ่งที่ถูกแก้ไขในตัวมันเองนี่ ดังนั้นทำไมจะไปฝากไว้ชาติหน้า แล้วไปค่อยทำชาติหน้าไป มันจะไม่ได้อะไรเลยทั้งสองชาติ
ไอ้เรื่องชาติหน้านั้นน่ะ ท่านตรัสไว้เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ในการที่จะแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ในชาตินี้ให้ถูกต้อง เพื่อจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จให้ถูกต้องไปแต่ชาตินี้ และให้รู้จักความสำคัญอย่างยิ่งของคำว่าชาตินี้ คำว่าชาตินี้ชาติหน้านี่ ไขว้เขวกันอยู่อย่างนี้เสมอไป ดังนั้นถ้าจะลืมเสียสักทีหนึ่งก่อนจะดีกว่า ไอ้เรื่องชาติหน้านั้น ถ้าเข้าใจผิดทำนองนี้แล้ว ลืมเสียจะดีกว่า มีชาตินี้จะต้องทำอย่างไร ทำให้ถูกตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ดีกว่า
แล้วอีกอย่างหนึ่งเรื่องชาติหน้านี่ ระวังให้ดี ๆ เผลอนิดเดียวเป็นสัสสตทิฏฐิ การที่ใครจะเชื่อว่าคนคนนี้คือเรานี้ แล้วคนคนนี้ แล้วตาย แล้วไปเกิดอีก แล้วคือคนคนนี้อีก นี้มันเป็นสัสสตทิฏฐิ ไม่มีทางที่จะแก้ตัว ทีนี้ว่าไม่มีใครเกิดเสียเลย มันก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ ไม่มีทางที่จะแก้ตัว มันจะต้องเข้าใจถูกต้องว่า ชาตินี้ชาติหน้า มันมีความหมายอย่างไร ในคำจำกัดความอย่างไร เพื่อประโยชน์อย่างไร คำว่าชาตินี้ก็คือว่า เราอยู่ เอ่อ, มัน ๆ อยู่ในวิสัยที่เราจะจัดการได้ เราก็จัดการ อธิบายอย่างอื่นฟังยาก จะอธิบายโดยการชี้ระบุไปยังไอ้ธรรมะ ไอ้ ๆ ๆ ๆ สิ่งที่เราสนใจกันอยู่ดีกว่า และอยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้ด้วย และถ้าปฏิบัติได้ก็เป็นอันแก้ปัญหาหมดด้วย
ขอยกตัวอย่างด้วยเรื่องอบายภูมิ อบายภูมิมี ๔ อย่าง คือ นรก เดียรัจฉาน เปรต อสุรกาย ๔ อย่างนี้ขึ้นใจพวกแก่เราอยู่แล้วเพราะเรากลัว แต่แล้วเราไปฝากไว้ชาติหน้า เราจะตกอบายภูมินี้ต่อชาติหน้า หลังจากเข้าโลงไปแล้ว นี่น่าหัว ส่วนอบายภูมิที่แท้จริง ที่จริงกว่า ที่กำลังตกอยู่นี้ ไม่สนใจ คิดดูเถิด ไม่สนใจ ความหมายของอบายภูมิ ไม่ว่าชนิดไหนหมด มันมีความหมาย มันมีความหมาย อบายภูมิน่ะสำคัญอยู่ที่ความหมาย ไม่ใช่สำคัญอยู่ที่วัตถุ ที่แผ่นดิน ที่โลก ที่อะไรนะ มันต้องสำคัญอยู่ที่ความหมาย
เอ่อ, ถ้าเรียกว่านรก นรกที่นี่หรือนรกต่อตายแล้วก็ตาม ความหมายมันอยู่ที่เดือดร้อน เดือดร้อนเหมือนถูกไฟเผา เมื่อใดเรามีความเดือดร้อนเหมือนถูกไฟเผา เมื่อนั้นเราตกนรก ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ที่ชาตินี้ก็ได้ ชาติหน้าก็ได้ ดังนั้นนรกมันมีความหมายว่าเดือดร้อนเหมือนถูกไฟเผา ดังนั้นเมื่อใดใครมีความเดือดร้อนเหมือนถูกไฟเผา เมื่อนั้นคนนั้นตกนรก ไม่ต้องแก้ตัว จะเดือดร้อนเพราะไปเล่นการพนันเสีย หรือเพราะว่าคู่รักนอกใจ หรือเพราะอะไรก็ตามใจ ขึ้นชื่อว่าความเดือดร้อนแล้ว ถูกเรียกเป็นนรกไป ๆ ได้หมด แล้วเขาจัดนรกไว้หลายสิบชื่อ หลายสิบชั้น มัน เอ่อ, เข้ารูปกันได้
ทีนี้คำว่าเดียรัจฉาน เอ่อ, นรก แล้วก็เดียรัจฉาน เดียรัจฉานหมายถึงความโง่ ความหมายอันแท้จริงของคำว่าเดียรัจฉาน คือความโง่ ไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ดังนั้นเมื่อไรเราโง่ไปบ้าง เมื่อนั้นเป็นสัตว์เดียรัจฉานทันที ที่นั่นและเดี๋ยวนั้น ต่อเรานึกได้ฉลาดขึ้นมา เราจึงหายความเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เราเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานเสีย ๓ นาที ๕ นาที แล้วเราฉลาดขึ้นมา ก็มาเป็นคนอีก
ทีนี้เปรต หมายถึงความหิวทะเยอทะยานทางจิตทางวิญญาณ หิวนี้ไม่ใช่หิวข้าว แต่หิวทางวิญญาณ คือหิวอารมณ์ของกิเลสตัณหา เมื่อไรมีความหิวอย่างนั้น เมื่อนั้นเป็นเปรต ที่นั่นและเดี๋ยวนั้น และเป็น ๕ นาที เป็น ๑๐ นาที เป็นชั่วโมงอะไรก็ตามใจ ดังนั้นเมื่อหิวในทำนองนี้แล้ว ต้องเป็นเปรต ไม่มีใครช่วยได้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้
ทีนี้อสุรกายนั้น คือขี้ขลาด เอาตามตัวหนังสือก็ได้ อสุร แปลว่าไม่กล้าหาญ ก็คือขี้ขลาด เมื่อใดขี้ขลาดอย่างไม่มีเหตุผล เมื่อนั้นเป็นอสุรกาย นี่ขี้ขลาดชนิดไหนก็ได้ กลัวไส้เดือน กลัวจิ้งจก กลัวลูกหนู กลัวตุ๊กแก อย่างต่ำอย่างนี้ ก็เรียกว่าขี้ขลาดอย่างไม่มีเหตุผล เป็นอสุรกายได้ กระทั่งขลาดไม่มาแตะต้องกับพระศาสนา ก็เป็นอสุรกายได้ ขลาดไม่กล้าแตะต้องกับโลกุตตรธรรม เอ่อ, หรือคำว่านิพพาน เพราะกลัวจะเสียประโยชน์ทางโลกนี้ ก็เป็นอสุรกายได้ เมื่อใดมีความขลาดชนิดที่เป็นข้าศึกศัตรูแก่ความเจริญแล้ว เมื่อนั้นเรียกว่าเป็นอสุรกายได้ ดังนั้นเราเป็นอสุรกายกันได้บ่อย ๆ เหมือนกัน
ดังนั้นการตกนรกนี่ การเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกายนี้ มีได้ทุกเมื่อ นี้มันจริง นี้มันจริง จริงกว่าหลังแต่ตายแล้ว ทีนี้เราอย่าตกนรกที่นี่ เอ่อ, อย่าเป็นสัตว์เดรัจฉานที่นี่ อย่าเป็นเปรตที่นี่ อย่าเป็นอสุรกายที่นี่ รับรองเลย ตายเข้าโลงไปแล้ว ไม่มีตกนรกที่ไหน ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสุรกาย เดียรัจฉานอะไรที่ไหนได้ เพราะว่ามันทำถูกต้องแล้ว ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วจะไปตกอบายต่อตายแล้วได้อย่างไร ดังนั้นจึงว่าลืมไว้ก่อนก็ได้ ทำที่นี่และเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ ๆ ๆ อย่าให้ตกนรกตกอบาย แล้วก็ไม่มีตกอีกต่อไป
พระพุทธเจ้าท่านตรัสอบายมุขไว้ ๔ อย่าง ท่านลองไปคิดดู อบายมุขมีหลายอย่าง ไอ้อย่างแรกเช่นว่าเล่นการพนัน อบายมุขเป็นปากทางแห่งอบายนี่ การเล่นการพนันพอเผลอเข้า แพ้หรืออะไรเข้า ก็ร้อนใจ คือตกนรกที่บ่อน เอ่อ, ที่ ๆ ๆ วงการพนัน นี้มัน เอ่อ, โง่ไปเล่นการพนัน นี้มันก็เป็นสัตว์เดียรัจฉานอยู่แล้ว ทีนี้มันก็หิวตลอดเวลาที่คิดจะชนะกับเขาสักทีนี่ มันก็เป็นเปรตอยู่ตลอดเวลาแล้วในวงการพนันนั้น ทีนี้มันก็ขี้ขลาด กลัวแพ้อย่างยิ่ง หวั่นไหวอย่างยิ่งต่อการแพ้นี่ ขี้ขลาดนี้มันก็เป็นอสุรกายอยู่แล้ว ที่ในวงการพนันนั่น
เอ่อ, ที่พระพุทธเจ้าตรัสการพนันว่าเป็นอบายมุขนี้ มันถูกมากหรือถูกน้อย ท่านลองคิดดู พระพุทธเจ้าท่านตรัสเล่นการพนันเป็นต้นนี้ว่า เป็นอบายมุขอย่างนี้ มันถูกมากหรือมันถูกน้อย มันถูกที่สุดไม่มีอะไรจะ ๆ ถูกยิ่งไปกว่านี้แล้ว ก็เรียกว่าอบายมุข แล้วอบายมุขมันก็ต้องนำไปสู่อบาย เอ่อ, ทำอบายมุขทันที ก็ตกอบายทันที ที่นั่นและเดี๋ยวนั้น นี่คือความเป็นอกาลิโก เอ่อ, ของธรรมะของพระพุทธเจ้า ทำไมเราจะ ๆ ไปกลัว จะไปสนใจนรก ต่อตายแล้ว เข้าโลงไปแล้ว ไอ้นรกที่ตกอยู่จริงก็ไม่กลัวนี่ ใครจะเป็นคน เอ่อ, โง่กว่ากันนี่ คนหนึ่งกลัวนรกต่อตายแล้ว กับคนหนึ่งกลัวนรกที่นี่และเดี๋ยวนี้ ใครโง่กว่ากัน ใครฉลาดกว่ากัน เอ่อ, มันควรจะนึกดูอย่างนี้
ดังนั้นการที่พวกเราไปสนใจเรื่องหลังจากตายแล้วอย่างผิดวิธีนี้ เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งแก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา เอ่อ, บรรพชิต สาวกของพระพุทธเจ้าเพศบรรพชิต มีหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนา แล้วก็ประสบอุปสรรคอย่างยิ่ง เพราะผู้ฟังทั้งหลายสนใจเรื่องต่อตายแล้วอย่างผิดวิธี เรื่องที่จะพูดกันให้รู้เรื่องเดี๋ยวนี้ที่นี่ ไม่สนใจจะฟัง ก็เลยพูดกันไม่รู้เรื่อง ดังนั้นเราต้องช่วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ร่วมมือกันทั้ง ๒ ฝ่าย ทำความเข้าใจ เอ่อ, ในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง แล้วก็มองดูด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่ออาตมา ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าก็ได้ว่า ในข้อที่ว่า ถ้าไม่ตกนรกที่นี่ อย่างนี้ และเดี๋ยวนี้แล้ว ตายแล้วไม่มีตกนรกที่ไหนหมด ไม่ตกอบายที่ไหนหมด
ดังนั้นจงระวังอบายที่มีอยู่จริง ๆ ในชีวิตประจำวัน นี่เป็นอบายจริงกว่า แล้วคำว่าชาตินี้ มันหมายความแต่เพียงว่า เปลี่ยนความคิดเรื่องตัวกูของกูทีหนึ่ง ก็คือชาติหนึ่ง เราคิดอย่างโจรก็เกิดเป็นโจรชาติหนึ่ง เดี๋ยวก็กลับมาคิดอย่างคน ก็กลายมาเกิดเป็นคนอีก นี่เรียกว่าชาติหนึ่ง เรามีร้อนใจ เราก็เกิดเป็นสัตว์นรกไป ๓๐ นาทีนี้ เดี๋ยวเราก็เกิดกลับใหม่เป็นคนน่ะ ก็คือชาติหนึ่ง เดี๋ยวเราเผลอเกิดเป็นเปรตไป ๕ นาทีนี่ มันก็ชาติหนึ่งแล้ว นี่ชาติโดยความหมายทางนามธรรมเป็นอย่างนี้
คำว่าชาติในคำอธิบายธรรมะแทบทั้งหมดเป็นอย่างนี้ เช่นว่าเราเกิดโดยอริยชาติอย่างนี้ คือเป็นพระอริยชาติบุคคล หรือคำว่าชาติที่เป็นทุกข์ทุกทีที่เกิดนี้ หมายถึงเกิดในความยึดมั่นถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเป็นทุกข์ทุกที นี่คำว่าชาติอย่างนี้ต้องเข้าใจให้ดีและต้องสนใจ เรื่องชาตินี้ที่มันอยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมมันได้ จะปฏิบัติได้ จะแก้ไขได้ จะเอาชนะมันได้ เอ่อ, เมื่อเราเอาชนะชาตินี้ได้แล้ว ชาติหน้าไม่ต้องพูดถึง มันเป็นอันชนะเสร็จไปในตัว ดังนั้นจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า แก้ไข เอ่อ, ชาตินี้ให้ชนะเถิด แล้วชาติหน้าจะเป็นอันถูกแก้ไข เอ่อ, โดยตัวมันเองได้ นี้เรา เอ่อ, เอาไปไว้ที่ข้างหน้าหมด แม้แต่เรื่องว่าสวรรค์ก็ต้องต่อตายแล้ว เอ่อ, มันน่าเอาเป็นเรื่องชวนหัวมากขึ้นไปอีก ไอ้สวรรค์ที่อยู่ในวิสัยที่จะควบคุมได้ เอาได้ มีได้ ไม่สนใจ ไปฝากไว้ชาติหน้าอย่างละเมอเพ้อฝัน ให้เขา ๆ ต้ม ให้เขาหลอกลวงได้ อย่างนี้มันน่า ๆ ๆ เศร้า
เรื่องนิพพานนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องที่จะต้องมีได้ในชาตินี้ ตามสัดตามส่วนที่ควรจะได้ เอ่อ, แม้จะเป็นสันทิฏฐิกนิพพานก็ยังดี มีพระพุทธภาษิตระบุไว้ชัดว่า ภาวะที่ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ นั้นคือนิพพานก็มี นั้นคืออมตธาตุก็มี นี่เรียกหลาย ๆ ชื่อ และอมตธาตุก็ดี นิพพานนั้นก็ดีนี้ เป็น สนฺทิฏโก อกาลิโก โอปนยิโก อะไรเหมือนคุณบทของพระธรรม หมายความว่าอยู่ในกำมือ เอ่อ, ในชาตินี้ ควรน้อมเข้ามาเดี๋ยวนี้ ควรปฏิบัติเดี๋ยวนี้ ควรมีกันให้ได้เดี๋ยวนี้ ให้รู้จัก เอ่อ, ประจักษ์ชัดในใจ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี่เรายิ่งเอาไว้ไกล ๆ ๆ หลายร้อยชาติ หลายพันชาติ หลายหมื่นชาติ หลายแสนชาติ เลยไม่ได้อะไร เพราะความเข้าใจผิดอย่างนี้
ทีนี้ไอ้เรื่องว่าตายแล้วเกิดนี่ มันก็มาสรุปอยู่ที่นี่ ถ้าเราควบคุมไอ้ตายแล้วเกิดอย่างนี้ได้ แล้วมันก็จะควบคุมตายแล้วเกิดอย่างโน้นได้ คำว่าโอปปาติกะนี่ มันมีหลายความหมาย อย่างน้อยก็ต้องมากกว่าหนึ่งความหมาย คนอื่นเขาจะถือคำว่าโอปปาติกะในความหมายไหนก็ตามใจ แต่ความหมายที่จำเป็นที่สุด สำคัญที่สุด ด่วนจี๋ที่สุด ก็คือความหมายนี้ คือว่าพอเราคิดอย่างโจรก็เกิดเป็นโจร คิดอย่างบัณฑิตก็เกิดเป็นบัณฑิต เอ่อ, คิดอย่างสัตว์นรกก็เป็นสัตว์นรก คิดอย่างสัตว์เดียรัจฉานก็เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานทันที ที่นั่นและเดี๋ยวนั้น นั่นแหละคือโอปปาติกะที่ต้องระวังอย่างด่วนจี๋โดยเร็วที่สุด แล้วควบคุมมันให้ได้ อย่าให้มันเกิดในลักษณะอย่างนั้น เอ่อ, นี้ถ้าเราแก้ปัญหาโอปปาติกะชนิดนี้ตกแล้ว จะเป็นการแก้โอปปาติกะชนิดไหนตกไปหมดด้วย เอ่อ, พร้อมไปด้วยกัน ไม่มี ๆ ปัญหาอะไรเหลืออีกต่อไป
เอาล่ะ, ทีนี้ให้ถือว่า ข้อที่พวกเราพุทธบริษัท ไปชะเง้อหวังต่อเรื่องโลกหน้าหลังจากตายแล้วกันมากเกินไปและผิดวิธีนี้ กำลังเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งแก่การเผยแผ่พุทธศาสนา แก่การจรรโลงพระศาสนา แก่การที่จะใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องต่อต้านคอมมิวนิสต์ แล้วกลับจะกลายเป็นเรื่องให้พวกคอมมิวนิสต์หัวเราะเยาะ แล้วมันก็ล้มละลายกันเท่านี้เอง เราจะต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง เอ่อ, ให้ทันแก่เวลา
ทีนี้เวลาที่เหลืออยู่ต่อไป ที่ได้รับคำบอกเล่าว่ายังไม่จำกัดนักนี่ อาตมาอยากจะขอโอกาส ขอโอกาสจากท่านทั้งหลาย เอ่อ, จะพูดสิ่งที่ค่อนข้างจำเป็นแก่เพื่อนพรหมจารี เอ่อ, ภิกษุสามเณร เกี่ยวกับการเผยแผ่พุทธศาสนา ในฐานะที่จะชี้ให้เห็นอุปสรรคทางพุทธศาส เอ่อ, การเผยแผ่พุทธศาสนาอย่างหนึ่ง คือว่า เดี๋ยวนี้ เอ่อ, โลก ๆ ของนักศึกษานั้นน่ะ เขาไม่ต้องการไอ้ความรู้ทางปรัชญา หรือทางไอ้ความรู้ที่เพ้อเจ้อไม่รู้จักจบอย่างนั้นกัน ระวังให้ดี เราอย่าไปเข้าใจผิด หมุนเวียนเดินตามหลังไปเสียอีก
ฝรั่งที่เป็นนักศึกษา เอ่อ, ที่คงแก่เรียน ที่มีความรู้เป็นศาสตราจารย์อะไรนี่ ปฏิเสธทันทีที่จะฟังไอ้คำอธิบายหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับปรัชญา แต่เขาต้องการตัวพุทธศาสนา ตัวแท้ เอ่อ, ของพุทธศาสนา คือตัวที่เราเรียกกันว่าพรหมจรรย์ เอ้า, ไอ้คำนี้ก็เหมือนกันอีก เข้าใจไขว้เขว ไอ้พรหมจรรย์นี้มักจะเข้าใจกันแต่ว่ารักษาความบริสุทธิ์ในทางเพศของหญิง เอ่อ, สาวชายหนุ่มนี้ อย่างนี้มันนิดเดียว คำว่าพรหมจรรย์ไม่ได้หมายความอย่างนั้นเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เธอจงไป จงประกาศพรหมจรรย์ให้ เอ่อ, ถูกต้อง ให้บริสุทธิ์ ให้ไพเราะในท่ามกลางในที่ เอ่อ, ใน ๆ ๆ เบื้องต้น ในท่ามกลางที่สุดนี่ ให้ไปประกาศพรหมจรรย์
เอ่อ, พรหมจรรย์นั้นมีความหมายอย่างไร พวกโลกนักศึกษาต่างประเทศเขาต้องการสิ่งนี้ เขาไม่ต้องการปรัชญาเพ้อเจ้อ ซึ่งพวกนักศีกษาไทยกำลังเรียนความงุ่มง่ามตามก้นเขานี่ ฟังดูให้ดี ๆ เอ่อ, อาตมาได้เผชิญกับคนเหล่านี้มาจนเหงื่อแตกเหงื่อแตนมาแล้ว ถึงได้เอามาพูด นี้พวกเรากำลังจะสนใจเรื่องปรัชญาตะวันตก ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาอะไรก็ตาม ซึ่งไม่เคยช่วยเหลืออะไรได้ในทางที่จะทำโลกให้มีสันติภาพ เราต้องพยายามระวังให้ดี เอ่อ, กระทำให้เป็นรูปร่างของพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้า เอ่อ, ขึ้นมา
จรถ ภิกฺขเว จาริก พฺรหฺมจริย ปกาเสถ อะไรนี่ ระวังให้ดี คำว่าพรหมจรรย์นี้หมายความว่าอะไร มันหมายถึงแบบชีวิตที่ประเสริฐ แบบแห่งการมีชีวิตการเป็นอยู่ที่ประเสริฐ เขาต้องการแบบของการเป็นอยู่ที่ถูกต้อง ที่ประเสริฐ ที่ประพฤติอยู่ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ใช่ปรัชญาประเภทที่ไปตามตรรกวิทยา จิตวิทยา เหตุผลเพ้อเจ้อ พูดกันได้ถูกหมด ไม่มีใครผิดอย่างนี้ นั่นเขาไม่ต้องการ แต่ว่าอาจจะมี เอ่อ, คนบางพวกที่ไม่รู้เรื่องนี้ แล้วก็ถาม แล้วก็ชวนคุย เรื่องนี้เราต้องระวังให้ดี ๆ
ดังนั้นในวงการศึกษาของเรา เอ้า, เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย จงสนใจคำว่าพรหมจรรย์นี้ ให้ยิ่งกว่าคำว่าปรัชญาเป็นต้น ๑๐๐ เท่า เดี๋ยวนี้ดูจะเรียนปรัชญากันมากเกินไป จนลืมคำว่าพรหมจรรย์ พอเขาต้องการพรหมจรรย์ขึ้นมา เลยไม่รู้ว่าอะไร ก็กลายเป็นเรื่องถูกหัวเราะเยาะ นี่จึงยืนยันว่าโลกนักศึกษา เอ่อ, ที่เป็นนักศึกษาแท้จริงแห่งสมัยปัจจุบันนี้ ไม่ต้องการปรัชญาเป็นต้น แต่ต้องการสิ่งสิ่งเดียวคือพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา นี้ถ้าเราไม่รู้เรื่องนี้ เราก็มุ่งเรียนไอ้เรื่องลึก เรื่อง ๆ เพ้อเจ้อเหลือเฟือหรือไปตะพึด แล้วก็ทอดทิ้งไอ้เรื่องตัวพรหมจรรย์เสียนี่ นี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งที่จะมีในอนาคตแก่การเผยแผ่พุทธศาสนาของเรา นี้เป็นเรื่องหนึ่ง
แล้วเรื่องถัดไปก็คือ แนวกรรมฐานหรือระบบกรรมฐานที่ไม่ถูกต้องตามเหตุผล ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ที่เรียกว่าไม่ Practical นี่ ขอ ๆ โอกาสใช้คำหน่อย อย่างนี้หน่อย มันเข้าใจได้ทันทีว่าไม่ Practical คือจะเรียนรู้จริงก็ไม่ได้ จะปฏิบัติจริงก็ไม่ได้ เอ่อ่, จะเป็นประโยชน์ชีวิตประจำวันก็ไม่ได้นี้ มันไม่ Practical ทำนองนี้ เรายังไม่มีแนวกรรมฐานที่เป็นไอ้ Practical นี้ถึงที่สุด เราไปท่องจำเป็นแบบปริยัติกันเสียหมด เขาต้องการอย่างยิ่งในสิ่งที่เรียกว่ากรรมฐานหรือวิปัสสนา เพราะนั่นมันเป็นตัวพรหมจรรย์
แต่แล้วเราก็พูดกันอย่างนกแก้วนกขุนทอง เราไปอ่านบัญชีหางว่าวให้ฟัง เช่น กรรมฐาน ๔๐ มีอะไรบ้าง มหาสติปัฏฐานสูตรมีอะไรบ้างอย่างนี้ ไปอ่านรายชื่อบัญชีหางว่าวให้ฟัง มันไม่อยู่ในลักษณะที่เป็น Practical เดี๋ยวนั้น และมันยังไม่มีคำอธิบายที่ติดต่อ ถูกต้อง เอ่อ, ติดต่อกันเป็นสาย มันเป็นเรื่องมาก ๆ ๆ ๆ เอามาทับถมหมักหมมทับซ้อนกันไว้ ในตะ เอ่อ, ในตะกร้าหรือในกระจาด อย่างนี้มากเกินไป อย่างกรรมฐาน ๔๐ นี้ ถ้าเราจะเอา ๆ วิสุทธิมรรคเป็นเกณฑ์ ก็ไม่เห็นว่าเรื่องใดสมบูรณ์โดยหลักเรื่อยไปจนถึงนิพพานเลย แม้แต่เรื่องอนุสติ ๑๐ ในวิสุทธิมรรคนี่ อธิบาย ๔ จตุกะแรกแล้วก็เงียบหายไปเสียเฉย ๆ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นมันอาศัยไม่ได้อย่างนี้
ทีนี้กรรมฐานที่เราชอบกันนัก ที่เรียกว่าจตุรารักขกรรมฐานน่ะ พุทธานุสติ เมตตา อสุภะ มรณสติ นี่มันเป็นของเด็กเล่นสำหรับฝรั่ง นักศึกษาชนิดนี้ มันไม่พอ มันไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ถึงนิพพาน มันเป็นเพียงกรรมฐานตระเตรียม ในขั้นตระเตรียมเท่านั้น นี้สติปัฏฐาน ๔ คำนี้สำคัญมาก ถ้าถูกต้องจริงนี้ อันนี้ช่วยได้ พรรมจรรย์จริง แต่ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ชนิดบัญชีหางว่าว แล้วก็มันก็ล้มเหลวอีกเหมือนกัน อย่างในมหาสติปัฏฐานสูตรนี่ เป็นสติปัฏฐาน ๔ อย่างบัญชีหางว่าว แต่ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ในอานาปานสติสูตร ในมัชฌิมนิกายแล้ว นั่นใช้ได้ เป็นแนวที่ Practical ที่สุด แต่ต้นจนปลายไม่ขาดตอน แล้วก็พิสูจน์อยู่ในตัวเอง กำกับกันอยู่ในตัวเอง เกี่ยวข้องกันอยู่ในตัวเอง ตั้งแต่ต้นจนบรรลุนิพพานนี่
จึงขอเสนอแนะว่าให้ระวังให้ดี ให้เปรียบเทียบกันให้ดี ๆ ไอ้สูตรที่ขึ้นชื่อว่ามหา ๆ แล้ว อย่าไว้ใจนัก นี่มหาสติปัฏฐาน ๔ ก็ดี มหาปฏิปทานสูตรก็ดี มหาอะไรก็ตาม แม้แต่มหาสุญญตสูตร ก็พึงละสุญญตสูตรนี้ ไอ้สูตรไหนที่ขึ้นชื่อว่ามหามาก่อนแล้ว ระวังให้ดี มักจะเป็นบัญชีหางว่าวและเพ้อเจ้อ เราเชื่อว่าเป็นของทีหลัง นี่ถ้าเราจะเอาแนวของสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ขอแนะว่าอานาปานสติสูตรแห่งมัชฌิมนิกายนั้นดีที่สุด รัดกุมที่สุด นั่นที่สุดเลย ส่วนสติปัฏฐาน ๔ แห่งมหาสติปัฏฐานนั้น เป็นบัญชีหางว่าวสำหรับปริยัติ ส่วนสติปัฏฐาน ๔ และอานาปานสตินั้น เป็นตัวปฏิบัติโดยตรง ไม่มีทางที่จะเป็นปริยัติได้ กำกับกันอยู่ทั้งที่จะ สติปัฏฐาน ๔ นี้จะต้องทำอย่างนี้ ทั้ง ๑๖ ขั้น ๔ หมวดไปเลย แล้วมันจะเกี่ยวให้เกิดโพชฌงค์ขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เอ่อ, แล้วให้ทำให้เกิด เอ่อ, วิชชาและวิมุตติขึ้นมาในที่สุด ของขั้นสุดท้ายคือปฏินิสสัคคานุปัสสี อย่างนี้เป็นต้น
ถึงใครจะอธิบายอย่างไร ๆ มันก็ไม่มีทางจะเขวไปไหนได้ แล้วมันยังมี เอ่อ, วิเศษที่ว่า สูตรนี้หาคำอธิบายได้อย่างเพียงพอในพระไตรปิฎกนั่นเอง ตัวสูตรนี้อยู่ในมัชฌิมนิกาย เอ่อ, เป็น ๆ ๆ หลัก ถ้าคำอธิบายโดยละเอียดหาได้ในปฏิสัมภิทามรรค ตอนที่ว่าด้วยอานาปานกถา เป็นชั้นบาลีด้วยกันไม่ใช่อรรถกถา แล้วคำอธิบายอีกมากมาย หาได้ในสูตรต่าง ๆ ในสังยุตตนิกาย ซึ่งเป็นพุทธภาษิตเองมากมายเหลือเกิน เอ่อ, เช่น อานาปานสติสังยุตต์ เป็นต้น
แล้วในตัววินัยก็มี ในตัวอรรถกถาวินัย สมันตปาสาทิกา ก็มีคำอธิบายบางส่วนของเรื่องนี้ แล้วคำอธิบายบางส่วนเราหาได้ในวิสุทธิมรรค และก็เป็นส่วนน้อย เพราะฉะนั้นไอ้คำอธิบายที่หาได้จากวิสุทธิมรรค ก็กลายเป็นเพียงคำอธิบายส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด ทั้งหมดมันไม่พอและมันไม่เข้าใจได้ นี้เรียกว่าเรา เอ่อ, ที่จะไปต่างประเทศก็ดี ไปเผย ๆ แผ่ในประเทศก็ดี ระวังให้ดีเรื่องระบบกรรมฐานที่เรามี เราเรียน เราสอนกันอยู่นี้ ยังไม่ Practical คือว่าไม่ทนต่อการพิสูจน์ ไม่มีไอ้เหตุผลเพียงพอ ไม่เกี่ยวเนื่องกันอย่างดี ไม่ ๆ Compact รัดกุมอยู่ในตัว อะไรทำนองนี้เป็นต้น
ดังนั้นขอให้ใช้เวลาให้ถูกต้อง อย่าให้เสียเปล่า อย่าให้เปลืองเปล่า ในการที่จะศึกษา เอ่อ, เรื่องนี้โดยเฉพาะ ระวังให้ดีเรื่องวิชาที่สอนกับ เอ่อ, วิชาที่จะใช้สอนกับวิธีการที่จะใช้สอนนี้ มันคนละเรื่อง ไอ้วิชาที่จะใช้สอนนี้ ต้องให้เป็นตัวพรหมจรรย์เสมอ เป็นตัวแท้ของพรหมจรรย์เสมอ อย่าเป็นปรัชญาเพ้อเจ้อ ไอ้ส่วนวิธีสอนนั้น มันเป็นไอ้ มันเป็นจิตวิทยา เป็นตรรกวิทยา เป็นต้น ไอ้วิธีสอน ถ้าเราประยุกต์ไอ้วิชากับวิธีสอนไม่ ๆ เข้ารูปกันแล้ว ล้มละลายแน่ เอ่อ, ผมเชื่อว่าล้มละลายแน่ เพราะผมเคยโดนมาแล้วนี่อย่างนี้ ดังนั้นถ้าประยุกต์กันไม่ได้ในระหว่างวิชากับวิธีสอน แล้วก็เป็นอันว่าล้มละลายแน่ ทีนี้ถ้าเราเอาวิชาเป็นปรัชญาเพ้อเจ้อแล้ว วิธีสอนมันก็ยิ่งเพ้อเจ้อกว่านั้น หรือไม่มี เอ่อ, ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ นี้เรียกว่าอุปสรรคอันหนึ่งที่จะทำให้เผยแผ่พุทธศาสนาไม่สำเร็จ
ทีนี้หัวข้อสุดท้ายที่เชื่อว่า คงจะเต็มทนกันมากอยู่บางคนแล้ว แต่ต้องพูด คือว่าเรื่องมันเกี่ยวกันว่า เรา เอ่อ, ทำบุญทอดผ้าป่า อาตมาก็ยินดีอย่างยิ่งแก่ท่านญาติโยม ทายกทายิกาทั้งหลาย ช่วยกันส่งเสริม เอ่อ, ให้กำลัง เพิ่มกำลัง แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนานี่ แต่แล้วมันก็ยังมีปัญหาอีกเหมือนกันที่ว่า ภิกษุผู้เป็น เอ่อ, เจ้าหน้าที่ทางศาสนาโดยตรง จะแนะนำชี้แจงชักชวนท่านทั้งหลาย ให้กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระศาสนานี้ มันก็ยังมีปัญหาเหลืออยู่มาก และปัญหานั้นล้วนแต่เป็นอุปสรรคแก่การเผยแผ่พุทธศาสนาไปทันทีอีกเหมือนกัน
ดังนั้นจึงอยากจะพูดเรื่องนี้ เอ่อ, ขอเป็นเรื่องสุดท้ายว่า ภิกษุเรา เอ่อ, ที่เป็นผู้สั่งสอนนี้ จงสั่งสอนเรื่องนี้ให้ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องการทำบุญ เรื่องการทำบุญเรื่องเดียวนี้ เป็นเรื่องที่ร้ายกาจที่สุดถ้าทำผิด แล้วเป็นเรื่องที่น่าชื่นใจที่สุดถ้าทำถูก อย่าเชื่อว่า เอ้า, ทำบุญโว้ย แล้วมันจะถูกไปหมด มันมีทางที่จะผิดได้ นี้เราจะต้องระวังให้ดี ให้ญาติโยม ทายกทายิกา ซึ่งเป็นญาติโยมผู้มีพระคุณทั้งหลายนี้ อยู่ในฐานะที่ปลอดภัย หรือยิ่งกว่านั้นก็อย่าให้ขาดทุนเป็นอันขาด เดี๋ยวนี้ถูกปละปล่อยให้ทำไปในลักษณะที่ขาดทุนนี่
พอมาถึงตอนนี้ขอพูดกันตรง ๆ แล้ว เวลามันน้อยแล้วว่า อย่าปล่อยให้เลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน นี่ว่าอย่าปล่อยให้เลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน คือยุให้ญาติโยมทำบุญ ๆ ๆ ๆ อย่างเดียวนี่ พอถึงทีที่จะมอบหัวใจ เอ่อ, ของพุทธศาสนาให้นั้น ก็ไม่มอบ แล้วก็ไม่สนใจ ญาติโยมก็ไม่สนใจ ศาสนานี้เปรียบเหมือนไก่ แล้วเราบำรุงศาสนา ๆ ๆ ทำบุญทอดผ้าป่าหรืออะไรก็ตามนี้ มันเหมือนกับเลี้ยงไก่ เอ่อ, ทีนี้ไก่มันก็โตขึ้นมา โตขึ้นมา มันไข่ พอไข่ ไม่มีใครเอา ไม่มีใครต้องการ สุนัขก็ต้องกิน
เราไม่ใช่ดูถูกล่ะ เพราะมันมีชาวต่างประเทศเขาจะมาตะครุบเอาส่วนนี้ไปก็ได้ เอ่อ, ตะครุบเอาส่วนที่เป็นไอ้ไข่นี้ แต่เราผู้เลี้ยงไก่นี้ไม่สนใจ เพราะเราเชื่อว่าเรามีหน้าที่แต่ ๆ ๆ เลี้ยงไก่ ทำบุญ ๆ ๆ ๆ อย่างเดียว แล้วไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทำบุญนี้เหมือนกับเลี้ยงไก่ คือพระศาสนา แล้วมันก็ไข่ออกมา แล้วเราก็ไม่สนใจ นั่นแหละคือการที่ไม่สนใจเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา เรื่องโลกุตตรา คัมภีรา คัมภีรัตถา ตถาคตภาสิตา อะไรนี้เป็นต้น ซึ่งได้พูดมาแล้วมากมายนี่
ดังนั้นต้องขอความร่วมมือ เอ่อ, ทั้งระหว่างผู้สอนและผู้รับคำสั่งสอน เอ่อ, ผู้ชักชวนให้ทำบุญและผู้ทำบุญนี้ ต้องร่วมมืออย่าให้เกิดอาการเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน พวกคอมมิวนิสต์เขาจะหัวเราะเยาะนี่ เรื่องมันนิดเดียวเท่านี้ พวกเราอย่าเป็นพวกเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกินนี่ พวกอื่นเขาจะหัวเราะเยาะ เราต้องทำบุญชนิดที่เป็นบุญ คือเลี้ยงไก่ ไข่ออกมาแล้ว ต้องเอาไข่นั้นน่ะไปใช้ให้เป็นเครื่องดับทุกข์ เอ่อ, ให้เกิดความเยือกเย็นเป็นนิพพานขึ้นมาให้ได้ ไข่ของไก่คือเรื่องความเย็น เอ่อ, ใน ๆ นามว่านิพพาน
ทีนี้เรื่องทำบุญนี่ก็ต้องระวัง อย่าทำบุญเป็นการค้ากำไรเกินควร นี้ดูหนาหูหนาตามาก ทำบุญแบบค้ากำไรเกินควรนี่ ทำบุญบาท เอาวิมารหลังหนึ่งก็มี หลายหลังก็มี เอ่อ, ทำบุญบาทเดียว ตักบาตรช้อนเดียวนี้ จะให้เกิดสวยเกิดรวยอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีธนบัตรใบเดียวทูนหัวกันหลายคน ส่งกันแล้วส่งกันอีกนี่ มันค้ากำไรเกินควร เอ่อ, ไม่ใช่เรื่องทำบุญนะ เพราะว่าไอ้ทำบุญนี้เขาจะทำเพื่อล้างบาป ทีนี้ถ้าว่าปรารถนามากเกินไป อย่างนั้นมันเพิ่ม เพิ่มโลภะ เพิ่มโมหะ เพิ่มอะไร มันไม่ล้างบาป ถ้าขึ้นชื่อว่าทำบุญต้องเป็นเรื่องล้างบาป
ทีนี้ทำบุญนี้มันมีหลายชั้น หรือว่าล้างบาปมันก็มีหลายชั้น เช่นเราจะล้างเท้านี้ เอาน้ำโคลนล้างก็ได้ คิดดูให้ดีเถิด ไอ้เท้ามันสกปรกด้วยบุญ เอ่อ, สุนัข ด้วยอะไรนี่ เราเอาน้ำโคลนล้างก็ยังได้ แต่มันไม่ ๆ ๆ ใช่เป็นการล้างที่ดี เอ่อ, ทำบุญเหมือนน้ำโคลนนี้มีมาก ทำบุญกันเดียวนี้ เป็นบุญเหมือนน้ำโคลนนี้มีมาก เพื่อเอาเรื่องบุญเรื่องวัดนี้บังหน้า ไปทอดกฐินนี้ ไปเล่นไพ่ ไปกินเหล้า ไปทำอะไรหลาย ๆ อย่างนี่ นี้มันเป็นเรื่องว่าทำบุญเหมือนกับน้ำโคลน มันแทบจะไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องล้างบาป บุญนี้ต้องล้างบาป
ทีนี้ทำบุญ เอ่อ, เหมือนกับน้ำหอม นี้หวังมากเกินไป เชื่อ ทำถูกต้อง ทำอะไรก็หวังมาก หวัง ๆ ในด้านดีมากเกินไป ชื่นอกชื่นใจอย่างหลงใหล ไปขายบ้านขายเรือนมาทำบุญหมดเลยก็มีอย่างนี้ นั่นเป็นน้ำบุญไม่ใช่น้ำหอม ถ้าว่าบุญถูกต้องมันก็ต้องเหมือนกับน้ำสบู่ นี่ดู ๆ ๆ แล้วไม่น่าสนใจเลย เอ่อ, น้ำสบู่ หรือแฟ้บ หรือน้ำด่าง หรืออะไรต่าง ๆ ที่มันล้างอะไรได้จริง และน้ำสะอาดในที่สุดนี่ เราจะต้องทำบุญเหมือนอย่างนี้ คือทำบุญ เอ่อ, เพื่อจะขัดเกลา ขูดเกลาความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเรานี้ ให้จางออกไป ให้จางออกไปจนสะอาดนี่ เรียกว่าทำบุญเหมือนกับน้ำสบู่
นี่ทบทวนว่า ทำบุญเหมือนกับน้ำโคลน และก็ทำบุญเหมือนกับน้ำหอม และก็ทำบุญเหมือนกับน้ำสบู่ ดังนั้นเลือกเอาเอง แต่รวมความแล้วก็ว่า ต้องให้มันล้างบาป นี้เรื่องทำบุญให้เหมือนน้ำสบู่นี้คงจะเห็นด้วยว่าเป็นบุญแน่ แต่แล้วก็รู้จักใช้สบู่นี้ให้มันถูให้มันทั่ว ๆ อย่าเหมือนกับเด็ก ๆ ใช้ให้ถูสบู่ ก็ถูแต่ที่ท้องที่พุงนิดเดียว ดูเถิด ใช้ให้เด็กถูสบู่ ถูแต่ที่ท้องอยู่นั่นแหละ เคยเห็นคนที่ทำบุญก็มักจะมีอาการ เอ่อ, เหมือนอย่างนี้เหมือนกัน ดังนั้นควรจะ ๆ ล้างให้ทั่ว ๆ ตัว ให้รู้จักใช้สบู่ เอ่อ, ล้างให้ทั่ว ๆ ตัว อย่าให้เหมือนทารกที่รู้จักล้างแต่ที่ท้อง ลูบแล้วลูบอีก แล้วก็เลิก
นี่รวมความแล้วก็คือว่า ขออย่าได้โปรดปล่อยทายกทายิกาไปตามบุญตามกรรม ให้ทำบุญ เอ่อ, ชนิดที่ไม่เป็น เอ่อ, สบู่นี่ ขอให้เลื่อนชั้นขึ้นมา เลื่อนชั้นขึ้นมาให้เป็นการทำบุญที่ล้างบาปได้ เอ่อ, ตามความมุ่งหมาย เอ่อ, ของพุทธศาสนา นี่อุปสรรคข้อสุดท้ายที่ว่า เราต้องระวังในการเผยแผ่พุทธศาสนา แต่ว่าอย่ามัวแต่เลี้ยงไก่ไว้ไข่แล้วปล่อยให้สุนัขกิน ขอให้สนใจเรื่องที่เป็นหัวใจ เอ่อ, ของพุทธศาสนา นี่ทั้งหมดนี้มีเป็นหัวข้อ ๆ ๆ อย่างนี้เป็นลำดับมา
และขอสรุปความว่า มันจะต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษ อย่ามีสติ เอ่อ, หลงใหล อย่าให้ขาดสติน่ะ ให้รู้ว่าตามหลักโลกุตตรธรรม สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นอย่าลืมได้ เพราะนั่นเป็นเครื่องตักเตือนที่ดี ปู่ย่าตายายของเราเคยรอดตัวมาด้วยเรื่องนี้และเกิดเรามาได้ เอ่อ, แต่เรากำลังจะหันเหไม่ใช้เครื่องมืออันศักดิ์สิทธิ์นี้ เราจะต้องตกไปในหลุม เอ่อ, ของพระยามาร ปัญหาเฉพาะหน้ายังมีเป็นส่วนรวมทั้งหมด คือว่าเราไม่สามารถจะบังคับตัวเราได้ นั่นน่ะสำคัญ
เดี๋ยวนี้เราได้ยินทั่วไปหมดว่า ให้ทำดี ให้เว้นชั่ว ให้ทำดี ให้เว้นชั่ว ให้ทำดี นี่ทั่วไปหมด แต่เราก็ยังมองหรือเชื่ออยู่กันว่า ยังไม่ ๆ ได้ ไม่ได้มีการทำดี เพราะว่าการพูดเท่านั้น มันไม่พอ ปัญหามันอยู่ที่ว่า ไม่สามารถจะบังคับตัวให้ทำดี หรือบางทีมันก็เขยิบเข้ามาจนถึงว่า ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนี่ เหมือนกับเด็กเล็ก ๆ อย่างนี้ มันกินข้าวเอง แล้วมันหก เอ่อ, แล้วพ่อแม่หรือคนเลี้ยงก็ตีว่ากินข้าวหก ไอ้เด็กก็ไม่ได้รับคำอธิบายว่า กินอย่างไรจึงจะไม่หก ไม่มีใครกินให้ดูว่า กินอย่างไรจึงจะไม่หก เอาแต่ว่าเพราะกินข้าวหกแล้วก็ตี เด็กก็คงจะตาย มันไม่รู้จะกินอย่างไรอย่าให้หก ดังนั้นบอกว่าอย่ากินข้าวหกอย่างเดียวไม่พอ ต้องอธิบายและต้องกินให้ดูว่า กินอย่างนี้จึงจะไม่หก แล้วต้องสอนให้ บังคับแขน บังคับขา บังคับตัวเองว่า ต้องบังคับอย่างนี้มันจึงจะเป็นไปได้
ทีนี้เรื่องทำดี ทำดี นี้ก็เหมือนกัน มันยังขาดวิชาความรู้ส่วนที่เป็นโลกุตตรธรรม ที่จะสอนให้รู้ว่า ทำอย่างไรมนุษย์เราจึงจะบังคับตัวเองได้ ให้ทำความดี เราอยากทำความดี ทุกคนอยากทำความดี แต่เราทำไม่ได้ เอ่อ, เพราะเราบังคับตัวเองไม่ได้ ต้องการที่จะพูดแต่ว่า ทำความดีนี้มันยังไกลอยู่ มันต้องพูดให้มาชัดว่าทำอย่างไร และก็บังคับตัวเองโดยวิธีใดจึงจะสามารถทำดีได้ ถ้าอย่างนี้แล้วไม่มีทางหลีกไปไหนพ้น จะต้องตรงไปสู่หัวใจของพระพุทธศาสนา ตามที่พระพุทธเจ้าท่านยื่นให้ว่า เรื่องความไม่เห็นแก่ตัว เรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตานี้ ซึ่งเป็นหลักธรรมะในฝ่ายโลกุตตรธรรม เราจะต้องเข้าถึงสิ่งนี้ เอ่อ, เราจึงจะบังคับตัวให้ทำดีได้ แล้วมันก็จะมี เอ่อ, การทำดี
นี้โดย เอ่อ, โดย ๆ ๆ ๆ แท้จริง โดยข้อเท็จจริงนั้น เราไม่ เอ่อ, ไม่อาจจะบังคับตัวได้ เราแพ้แก่กิเลสเสียทุกที พอมีอะไรมายั่ว ทางตา ทางหู ทางจมูก เราแพ้แก่กิเลส ไปเอานั่นเสียทุกที ไม่มีการบังคับตัว นี่เพราะว่าเราไม่มีสติเพียงพอ เราต้องหัดให้มีสติเพียงพอ ปัญญาความรู้จึงจะมาช่วยทัน ถ้าไม่อย่างนั้น เรามีความรู้ท่วมหัวก็เอาตัวไม่รอด ให้เรียน ให้ท่อง ให้อธิบายกันอย่างไร ก็เอาตัวไม่รอด เพราะปัญญานั้นมันมาไม่ทัน ถ้าสติมันไม่มีพอ ถ้าสติมีพอ มันดึงปัญญามาทัน มันก็ช่วยตัวรอด
นี้เราก็เผลอเรื่อย เอ่อ, ก็เพราะข้อนี้ สติไม่เพียงพอและเราเผลอเรื่อย เราก็ยังไม่ละอายและไม่กลัว นี่ขออภัยที่จะพูดตรง ๆ ว่า พวกเราทั้งหมดนี้ ที่ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องดึงปัญญามาให้ทันท่วงทีด้วยสตินี้ เพราะว่าเราไม่รู้จักละอาย เพราะว่าไม่รู้จักกลัว คือเมื่อเราเผลอพลาดทำผิดไปจนเกิดกิเลสแล้ว เราก็ไม่ละอาย เราก็ไม่กลัว เอ่อ, เพราะเรารู้หรือว่าคิดว่าไม่ใครรู้ของเรา มันอยู่ในใจของเรา เราไม่ละอายและเราไม่กลัว เพราะมันไม่ได้มาฟัน มาเชือด มาเฉือนอะไร เราไม่มีปัญญามองเห็นว่ามันน่ากลัว ที่แท้มันน่าละอายและน่ากลัว เอ่อ, ยิ่งกว่าสิ่งใด
ถ้ามีความละอาย มีความกลัว เท่านั้นแหละ ปัญหาต่าง ๆ หมดเลย ปฏิบัติได้หมดเลย เดี๋ยวนี้มันขาดความละอายและความกลัว เอ่อ, มีคนจำนวนมากเป็นร้อย ๆ เลยมา ๆ อุทธรณ์ มาร้องขอ มาต่อว่าอาตมาที่เรื่องว่า มันสู้กิเลสไม่ได้ มันไม่มีสติพอ แต่พอบอกว่า เพราะไม่ละอาย เพราะไม่กลัวนี่ ก็เงียบไป คือจะยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ เรื่องความละอาย เรื่องความกลัวนี่ มันหน้าปกของนวโกวาท เรื่องแรกเลยนี่ แต่ไม่สนใจ
คือเปรียบเทียบกันได้กับเรื่องทางวัตถุ ทำไมไม่ ๆ ๆ ๆ ดินตกร่อง เอ่อ, เพราะกลัว เพราะว่าตกร่องแล้วละอาย เราเดินไม่ตกร่อง แต่ทางจิตใจ ให้ตกร่อง เกิดกิเลสนี้ ไม่กลัว ไม่ละอาย หรือว่าเดินไปกลางถนนหนทาง ทำไมไม่ทำผ้านุ่งหลุดอย่างนี้ ไม่เคยมีใครทำผ้านุ่งหลุด เพราะละอายมากและกลัวมาก มันจึงรอดตัวไปจนตลอดชีวิต แต่ทีเรื่องจะเกิดกิเลส เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ตัวกูของกูนี้ เกิดแล้วเกิดอีก ก็ไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัว เลยชินเป็นนิสัย เรียกว่าอนุสัยสังโยชน์ เป็นความเคยชินในสันดานเสีย ๆ นี่ มันก็เลยล้มเหลวหมด
ดังนั้นจงมาต่อสู้ด้วยการมีความละอาย มีความกลัว ในทางฝ่ายวิญญาณนี่ ให้มากที่เราละอายและกลัวทางฝ่ายวัตถุภายนอก แล้วการปฏิบัตินี้จะไม่ยากเลย ปฏิบัติพระพุทธศาสานาทั้งหมดนี้ จะไม่ยากเลย ถ้าตั้งรากฐานอยู่บนความละอาย เอ่อ, และความกลัว เดี๋ยวนี้เราไม่ละอาย ไม่กลัวกันเสีย เรื่องตกร่อง เรื่องทำให้ละอายและไม่กลัว เพราะว่าจิตมันวุ่นวายมากเกินไปเสียแล้ว ไม่อยู่ในสภาพที่ว่างตามปกติ แม้แต่ตามธรรมชาติเสียแล้ว ฉะนั้นจึงเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย มีความไม่สุขุมรอบคอบในการปฏิบัติ ไม่สมัครสมานสามัคคีกัน เกิดอุปสรรคใหม่ ๆ ประดังกันเข้ามา อย่างนี้ก็เรียกว่า เอ่อ, ก็เรียกว่า เป็นอุปสรรคที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นเราจงมีความละอาย ความกลัว เกิดความสมัครสมานสามัคคี เอ่อ, ยิ่งขึ้นไปทุกวิถีทาง ให้ลานอโศกนี้ เป็นลานอโศก ซึ่งมีความหมายเป็นไวพจน์ของนิพพาน เอ่อ, กันเสียโดยเร็ว อาตมาขอ เอ่อ, ยุติการบรรยายที่ออกจะเกินเวลา เอ่อ, กันเสียที