แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้วันที่ ๒๒ เมษายน ๑๐ สำหรับพวกเรา ได้ล่วงมาถึงเวลา ๒๑.๐๐ น.แล้ว เป็นเวลาที่เรากำหนดไว้สำหรับพูดจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งกันตามสมควร ในวันนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องการทำวัตรสวดมนต์ของนักศึกษาธรรมทูต เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรจะสนใจ และก็ได้กำลังสนใจกันอยู่แล้วเป็นพิเศษ สำหรับเรื่องทำวัตรสวดมนต์นี้ ควรจะถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่ง ตามคำกล่าวที่กล่าวสืบๆ กันมาว่า บิณฑบาต กวาดวัด ลงอาบัติ ทำวัตร สวดมนต์ ติดปากกันอยู่อย่างนี้ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ได้กระทำกันมาแล้วตั้งแต่โบราณกาล แม้ว่าเราจะพิจารณาดูกันสักเท่าไร ก็ยังเห็นได้ว่าไม่พ้นสมัย หากแต่ว่าจะต้องปรับปรุงกันบ้าง ในบทที่สวด หรือในเนื้อความ เนื้อหาของเรื่องที่จะสวด ให้มีประโยชน์ยิ่งขึ้นทุกที แล้วก็จะเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ได้ด้วย จะเป็นการได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำวัตร สวดมนต์นั้นด้วย ดังนั้นควรจะได้พิจารณากันต่อไปให้ถ้วนถี่ อยากจะขอบอกกล่าวให้ทราบทั่วถึงกันว่า ในการทำวัตรสวดมนต์ประจำวันทั้งเช้าและเย็นของเรานั้น สังเกตดูให้ดีแล้วจะพบว่ามีอยู่เป็นส่วนๆด้วยความมุ่งหมายที่ต่างกัน คือ หนึ่ง ตอนต้นสุด เป็นการทำวัตร ตอนที่สองเป็นการสวดมนต์ ตอนที่สามเป็นการปัจเวกขณ์ ตอนที่สี่เป็นการแผ่ส่วนบุญ ตอนที่ห้าเป็นการอธิษฐานจิตประจำวันของตัวเอง
สำหรับตอนที่หนึ่งที่ว่าเป็นการทำวัตรนั้นมีความมุ่งหมายที่จะให้เราเจริญพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติเป็นประจำวัน แต่ให้เจริญในลักษณะที่ใกล้ชิดกว่าธรรมดา คือทำความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าเราได้เข้าถึงพระพุทธองค์หรือเข้าเฝ้าพระพุทธองค์แล้วกราบทูลอะไรบางอย่างแก่พระองค์ ในคำกราบทูลนั้นมีคำสรรเสริญสาธุการพระคุณของพระองค์ มีการมอบกายถวายชีวิตแด่พระองค์ และมีการกล่าวไปในทำนองขอร้องวิงวอนอะไรบางอย่างต่อพระองค์ และในที่สุดกล่าวคำขอโทษล่วงเกินต่อพระองค์ อย่างน้อยก็เป็นสี่อย่างอยู่อย่างนี้ทั้งนั้นไม่ว่าเป็นการทำวัตรบทไหนถ้าสมบูรณ์แล้วจะต้องประกอบอยู่ด้วยความหมายสี่ความหมายนี้ทั้งนั้น ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า มีอาการเสมือนหนึ่งว่าเราเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยตนเองจริงๆ ถ้าเป็นสมัยพุทธการ พุทธบาทการโน้น เราก็ไปเฝ้าพระองค์จริงๆ แต่เป็นสมัยนี้ เราก็เฝ้าพระองค์ได้โดยอีกวิธีหนึ่ง คือเฝ้าพระองค์ที่ยังทรงพระชนม์อยู่โดยพระคุณไม่ได้ทรงอยู่โดยพระสรีระกาย แต่ทรงอยู่โดยพระคุณ พระคุณของพระองค์มีอย่างไรเพียงไรในเมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่อย่างนั้นและเพียงนั้น สมตามที่พระองค์ตรัสว่า ธรรมวินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลายนั้นจะอยู่เป็นศาสดาของเธอทั้งหลายในกาลเป็นที่ล่วงลับไปแห่งเรา พระพุทธภาษิตนี้แสดงว่า พระองค์ทรงขอให้เราถือว่า ธรรมวินัยนั้นเป็นองค์พระศาสดาและอยู่มาจนตลอดกาลนาน คือไม่มีกาลอันสิ้นสุด เราจึงมีโอกาสที่จะเฝ้าพระพุทธองค์ที่ยังทรงอยู่โดยพระคุณเสมอไป ด้วยเหตุฉะนี้แล บทสวดทำวัตรจึงเป็นไปในลักษณะที่แสดงพระคุณของพระองค์ก่อน ให้เป็นอันว่าพระองค์ยังทรงอยู่โดยพระคุณ ทำประหนึ่งว่าไปเฝ้าพระองค์แล้วก็กล่าวคำที่ควรกล่าว อาจจะต่างกันบ้างในคำทำวัตรบางบทหรือบางยุค แต่ใจความก็คล้ายกันดังที่กล่าวแล้ว การกล่าวมอบชีวิต ถวายชีวิตจิตใจของเราแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นประจำวันนี้ก็เป็นการดีมาก เพราะเป็นการเตือนไม่ให้รู้จักลืม แต่ถ้าการกระทำนั้นทำจริงไม่ได้ทำแต่ปากแล้ว จะเป็นเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเราให้รอดจากอันตราย มีพญามาร เป็นต้น
ในหมู่ศาสนาที่เกี่ยวกับความเชื่อล้วนๆ คือศาสนาที่มีพระเป็นเจ้า เช่นศาสนาคริสเตียน พวกบาทหลวงในฝ่ายโรมันคาทอลิกก็มีการมอบชีวิตถวายพระเจ้านี่เองเป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มครองป้องกันมิให้ตกไปในอำนาจของกิเลส เช่นความรู้สึกในทางเพศถึงกับทำให้ต้องลาสึกไป เมื่อมานึกถึงว่าได้มอบชีวิตทั้งหมดนี้ให้แก่พระเป็นเจ้าไปเสียแล้ว รู้ความประสงค์ของพระองค์เจ้าดี ตนก็ไม่มีโอกาสที่จะทำเหลวไหล สึกหา ลาเพศ หรืออะไรทำนองนั้น ดังนั้นจึงถือว่าเป็นเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์กันสึกได้ และยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็ยังเป็นสิ่งที่กระตุ้นใจหรือบังคับเอาทีเดียวให้ทำหน้าที่ที่ตนจะต้องทำตามความประสงค์ของพระพุทธองค์หรือจะเรียกว่าของพระเป็นเจ้าในฝ่ายศาสนาอื่น ให้สมกับที่ได้มอบกายถวายชีวิตนี้ไว้จริงๆ แล้วทำงานที่ควรกระทำ เช่นงานธรรมทูตซึ่งเรากำลังได้รับภาระมอบหมายกันอยู่ในที่นี้ ด้วยความเสียสละ อดกลั้น อดทนอย่างเข้มเข็ง ไม่เห็นแก่ชีวิตเป็นต้น ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการมอบกายถวายชีวิตด้วยบทสวดในคำทำวัตรนั้นมีความหมายมากถึงเพียงนี้ เป็นเครื่องรางก็ได้ เป็นเครื่องกระตุ้นใจให้ทำหน้าที่ถึงที่สุดก็ได้ สำหรับการขอร้องหรือกล่าวทำนองขอร้องอะไรบางอย่างนั้นถือว่าเป็นของธรรมดา มีไว้สำหรับทุกคนตั้งแต่ขั้นต้นขั้นต่ำที่สุดจะได้ใช้ประโยชน์จากถ้อยคำเหล่านี้ เพราะว่าจะเป็นเครื่องอุ่นใจว่าด้วยอำนาจการกระทำเช่นนี้ พระพุทธองค์จะทรงช่วยกระทำ จะทรงช่วยประสงค์ จะทรงช่วย มีความกล้าหาญเกิดขึ้นในจิตใจของภิกษุหนุ่มและสามเณรเป็นส่วนใหญ่ และก็มีประโยชน์แม้แก่พระเถระผู้สูงอายุ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีมาแต่โบราณกาลที่จะต้องมีสิ่งซึ่งเรียกว่าศักดิ์สิทธิ์หรือมีอำนาจที่จะคุ้มครองให้ช่วยคุ้มครอง แม้ว่าจะมีจิตใจหลุดพ้นแล้วจากทุกข์ทั้งปวง สิ่งนี้ก็มีไว้สำหรับคนที่ยังไม่หลุดพ้นไม่จำเป็นจะต้องแยกกันก็ได้ จะทำให้ยุ่งยากลำบากเป็นหลายฝักหลายฝ่าย นี่กล่าวถึงถ้อยคำที่เป็นการอ้อนวอนขอร้อง
ทีนี้ก็มาถึงถ้อยคำที่เป็นการให้อดโทษ เช่น กาเยนะ วาจา เป็นต้น คิดดูแล้วก็มีทางที่จะเข้าใจผิดได้ในเรื่องอันเกี่ยวกับกรรม เช่นว่าใครทำดีต้องได้ดี ใครทำชั่วต้องได้ชั่ว จะมายกเว้นผ่อนผันอะไรกันได้ดังนี้ ข้อนี้มีทางที่จะคิดว่า สำหรับกรรมประเภทกรรมเบาและเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างบุคคลกับบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นอโหสิกรรมไปได้ด้วยการขอขมา ด้วยเหตุนี้แหละจึงมีระเบียบการขอขมาแก่กันและกัน และแม้แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดูให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นการฝึกฝนให้ตนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะขอโทษอยู่เสมอไม่ดื้อกระด้างอย่างนี้มากกว่า หรือแม้ว่าจะถือว่าเป็นการขอโทษจริงๆก็ยังมีความหมายที่ดีอยู่นั่นเอง เพราะว่าบางเวลาเราอาจจะสะเพร่า กระทำบางสิ่งบางอย่างที่เห็นได้ว่าเป็นการล่วงเกินในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เช่นในบทอันกล่าวด้วยคารวะในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บางทีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อาจจะเผลอไปถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะต่อหน้าวัตถุศักดิ์สิทธิ์ เช่น ต้นโพธิ์ หรือพระพุทธรูปก็ถือว่าเป็นการล่วงเกินในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันมาแล้วแต่โบราณกาล นี้คิดดูก็จะเห็นได้ทันทีว่าผู้ที่ทำได้เช่นนั้นเป็นคนที่มีจิตใจหยาบ หรืออย่างน้อยก็เป็นคนสะเพร่าไม่ดูไม่แลอะไร ในบางครั้งบางคราวยังเผลอไปเอ่ยคำที่ไม่สมควรเกี่ยวเนื่องถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้ก็เรียกว่าล่วงเกิน บางทีใจก็คิดนึกไปในทำนองที่ว่าไม่เอื้อเฟื้อ ไม่เคารพต่อคำสั่งคำสอนของพระองค์คือ หลักธรรม นี่ก็เรียกว่าล่วงเกิน เมื่อนึกได้ก็จะต้องมีความรู้สึกสลดใจและกลับตัว อย่างนี้มีกันในทุกศาสนา เรียกว่า Repentance จะต้องมีความสำนึกบาปและกลับตัวอยู่เป็นประจำวัน และพยายามซักซ้อมหรือสอบสวนอยู่เป็นประจำวันทีเดียวที่เรียกว่า แก้บาปหรืออะไรทำนองนั้น พวกเราก็มีการกระทำอย่างนั้น เมื่อทำแล้ว ก็จะรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และทำให้จิตใจเบาสบายไปตามเดิม โปร่งและผ่องใส พร้อมที่จะเป็นปีติปราโมทย์หรือสมาธิไปได้ ด้วยเหตุนี้แหละจึงมีการทำวัตรซึ่งประกอบไปด้วยองค์คุณ ๔ ประการที่สำคัญๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว หวังว่าเพื่อนสหพหรมจารี ทั้งหลายจะเอาไปนึกดูไปซักซ้อมดูใหม่ แล้วปรับปรุงแก้ไขในบทที่จะเลือกเอามาสวด หรือจิตใจในขณะที่สวด ให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น การทำวัตรก็จะมีความหมาย
ทีนี้ ก็มาถึงเรื่องสวดมนต์ บทสวดมนต์ทั้งหลายก็เป็นคำสอนของพระองค์ เป็นโอวาทของพระองค์ ทำเสมือนหนึ่งว่า เราไปเฝ้าพระพุทธองค์มาด้วยการทำวัตรนั้นแล้วก็ได้รับเอาพระโอวาทนี้มา ตามที่พระองค์ทรงประทานให้ การที่เราเลือกเอาบทสำหรับสวดมนต์ดีๆ มีประโยชน์แก่การปฏิบัติมาสวดนั้น มันก็เข้ารูปเข้ารอยกันกับการที่ไปเฝ้าพระพุทธองค์แล้วได้รับสิ่งที่ทรงประทานมาให้ก็เป็นการดี เราก็เอามาสวดก็เป็นการรักษาไว้และเพื่อปฏิบัติตามนั้นจริงๆ การสวดมนต์ก็คือ สวดเพื่อจะท่องจำ หรือย้ำในคำสอนให้มั่นคง มีอยู่เป็นหลักไม่รู้จักลืม เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การปฏิบัติของตนและการสั่งสอนผู้อื่นสืบๆไป นี่เรียกว่าประโยชน์อย่างยิ่งของการสวดมนต์
ทีนี้ ก็มาถึงสิ่งที่เรียกว่า ปัจเวกขณ์ คือ พิจารณาสิ่งที่ควรพิจารณา การทำอย่างนี้ก็คือ การทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นประจำวัน เรียกว่า เป็นการปฏิบัติโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาธาตุปัจเวกขณ์ คือ บท ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมา นัง เป็นต้นนั้น เป็นการทำกรรมฐานชั้นสูงสุดคือ ชั้นที่กล่าวถึงสุญญตาและอนัตตาเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างยิ่งและเป็นประจำวัน แม้ว่าเราจะเอามาสวดเป็นการสวดต่อท้ายสวดมนต์ไป ในจิตใจก็ต้องทำให้ดีเป็นพิเศษให้สมกับที่บทสวดตอนนี้เป็นบทกรรมฐาน ก็ยังต้องเอาไประลึก นึก หรือกระทำเป็นพิเศษเป็นส่วนตนในที่เงียบสงัดอีกด้วย การปัจเวกขณ์หรือสวดบทปัจเวกขณ์บทใดก็ตาม ย่อมมีผลเป็นการทำกรรมฐานหมู่ประจำวันอย่างนี้ ดังนี้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ
ทีนี้ ก็ล่วงมาถึงตอนกรวดน้ำท้ายสุด มีอยู่สองตอน ตอนแรกเป็นการแผ่ส่วนบุญตอนหลังเป็นการอธิษฐานจิตของตัวเองเป็น autosuggestion เป็นประจำวันให้มั่นอยู่แต่ในทางที่ถูกที่ดีที่ควรหรือสูงขึ้นไป สำหรับตอนต้นที่เป็นการแผ่ส่วนบุญเป็นประจำวันนั้น มองดูในแง่หนึ่งก็เป็นการเจริญเมตตาภาวนา การเจริญเมตตาภาวนานี้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ จะต้องย้อมจิตใจให้ประกอบอยู่ในเมตตา ให้มีเมตตาประจำใจ ข้อนี้อย่าคิดเสียแต่เพียงว่าแผ่ส่วนบุญให้เขา เพื่อเราก็จะได้บุญด้วย เราจะต้องแผ่เมตตาเพื่อย้อมใจเราให้รู้จักเสียสละ พอกพูนนิสัยของการเสียสละให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ เพราะว่าการทำประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น ต้องทนต้องอดกลั้น อดทน ต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องเสียสละแม้กระทั่งบางทีก็ต้องยอมเสียชีวิตอย่างนี้ก็มี และเมตตานี้จะต้องคู่กันอยู่กับปัญญาถึงจะเหมาะสมกันกับผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ถ้าไม่เอาปัญญาเป็นเครื่องถ่วงไว้บ้าง และถ้าไม่เอาเมตตาเป็นเครื่องถ่วงปัญญาไว้บ้าง ปัญญาอาจจะเตลิดเปิดเปิงไปในทางเห็นแก่ตัว เข้าข้างตัวไปไม่ทันจะรู้ก็ได้ แต่ถ้าเมตตาคือ ความเห็นแก่ผู้อื่น ได้ถ่วงปัญญาไว้บ้างแล้ว ปัญญาก็จะต้องน้อมไปในทางเห็นแก่ผู้อื่น ใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และเมื่อมีความรู้สึกที่เห็นแก่ผู้อื่นอยู่แล้วก็เป็นการปลอดภัย เพราะไม่มีทางที่จะย้อนกลับไปเป็นการเห็นแก่ตนได้ ปัญญากับเมตตาจะต้องคู่กันไปอย่างนี้เป็นเครื่องถ่วงซึ่งกันและกัน ดังนั้น การกรวดน้ำแผ่ส่วนบุญควรจะเป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างถึงขนาดนี้ เป็นการเจริญเมตตาภาวนาดังที่กล่าวแล้ว ทีนี้ ก็มาถึงตอนที่กล่าวอธิษฐานจิตของตัวเองคือตั้งความปรารถนาของตัวเอง ว่าขอให้เป็นอย่างนั้น ขอให้เป็นอย่างนี้ รวมใจความสำคัญอยู่ที่ว่า ขอให้สิ้นกิเลสอาสวะในที่สุดหรือโดยเร็ว นี้เป็นเรื่องที่ดีคือ ไม่รู้จักลืมวัตถุที่ประสงค์มุ่งหมาย ยังมุ่งแน่วต่อจุดหมายปลายทางของตนอย่างถูกต้อง และในบางบทมีข้อความดีมาก เช่น บท ยันทานิ เม กะตัง ปุญญัง ที่เพิ่งจะสวดเสร็จไปเมื่อตะกี้นี้ มีทั้งการปลอบ มีทั้งการขู่ มีทั้งการชักจูงตัวเองพร้อมเสร็จไปในตัว นี้เป็นการช่วยได้มากสำหรับผู้ที่ยังอยู่ในขั้นธรรมดา ยังไม่บรรลุธรรมะในขั้นสูงสุด หรือเป็นพระอรหันต์ยังต้องการกำลังใจหรือต้องการการปลอบใจหรือต้องการการขู่ให้เป็นไปในทางที่ควรจะเป็นไปอยู่เสมอๆ ขอจงให้ตั้งอกตั้งใจกล่าวคำเหล่านั้นออกไปด้วยความรู้สึกในใจอย่างแท้จริง อย่าได้กล่าวสักว่าพอเป็นธรรมเนียมเหมือนนกแก้วนกขุนทองให้แล้วๆไปเท่านั้น มันเป็นการจูงจิตใจของตัวเองโดยตนเอง รับประกันไม่ให้ลืม ไม่ให้เขว ไม่ให้เหลวไหล เรียกว่าเป็นการจูงตนด้วยตน หรือทำที่พึ่งของตนด้วยตนได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน บทกรวดน้ำแบบไหนก็มีแบ่งอยู่เป็น 2 ตอนดังนี้ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบท เทวตา ปัตติทานะ คาถา แล้วมีข้อความสำคัญอยู่ในตอนนี้คือ กว้างออกไปจนถึงกับอธิษฐานจิตไปถึงสิ่งที่เรียกว่าศาสนา โดยบทว่า ฐาตุจิรัง สะตัง ธัมโม ธัมมัทธรา จะ ปุคคะลา ขอให้ธรรมะของสัตบุรุษดำรงอยู่ ให้ผู้ทรงธรรมดำรงอยู่ อย่างนี้ลองคิดดูทีว่ามันเป็นคำกล่าวของบุคคลที่มีใจสูงมากน้อยเท่าไร ให้สัทธรรมยังคงอยู่ในโลกนี้ ให้ผู้ทรงธรรมยังคงอยู่ในโลกนี้ ให้โลกนี้มีธรรมและมีผู้ปฏิบัติธรรม เป็นความรู้สึกที่สูงมาก เพราะมองเห็นว่าธรรมเท่านั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอยู่ในโลก เฝ้าพร่ำภาวนาถึงสิ่งนี้อยู่เสมอ และยังมีแถมว่า สังโฆโหตุ สะมัคโควะ ขอให้พระสงฆ์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน นี้เป็นคำกล่าวที่ดีที่สุดแล้ว เพื่อป้องกันการแตกแยกกัน การไม่สามัคคีกันนั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตำหนิอย่างยิ่ง มันเป็นเรื่องล้มละลายของคณะสงฆ์เองโดยเกี่ยงงอนกัน ไม่กระทำหน้าที่ของตน ไม่ร่วมมือกัน ไม่ช่วยเหลือกัน ไม่ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน นี้ก็คือความล้มละลายของหมู่คณะ อันนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นคำกล่าวที่เห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่ความตั้งอยู่ได้ของสงฆ์นั่นเอง ถ้าผู้กล่าวไม่กล่าวแต่ปากคือกล่าวด้วยใจจริงแล้ว ไม่เท่าไรก็จะต้องเป็นสงฆ์ที่มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ถ้ามัวกล่าวแต่ปากแล้ว อีกกี่ร้อยปี ก็ไม่มีทางที่จะสามัคคีกันได้ จึงเป็นสิ่งที่ควรจะเอาใจใส่พินิจพิจารณาดูให้ดี แล้วกระทำลงไปเพื่อประโยชน์แก่คณะสงฆ์เองด้วย และเพื่อสนองพระคุณ หรือพระพุทธประสงค์ของพระพุทธองค์ด้วย นี่คิดดูเถอะว่ามันเป็นสิ่งเล็กน้อย หรือใหญ่โตมโหฬารสักเท่าไร สำหรับถ้อยคำที่เราเรียกกันว่า กรวดน้ำ ถ้าไปมัวนึกแต่เรื่องกรวดน้ำ ไม่นึกถึงตอนนี้ที่มีอะไรยิ่งไปกว่ากรวดน้ำ
ดังนั้น จึงหวังว่าเพื่อนสหพรหมจารีทั้งหลายจะได้ไปนึกดูกันเสียใหม่ด้วยความสุขุมรอบคอบ ไปปรับปรุงการกระทำอันนี้ให้สมบูรณ์โดยหลักดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า หนึ่ง ในการทำวัตรนั้น จะต้องมีการกล่าวสรรเสริญคุณ หรือความเคารพต่อพระองค์ จะต้องมีการมอบชีวิตจิตใจแด่พระองค์ และมีการผูกพันกันในการที่จะขอและตอบสนองการขอในระหว่างกันและกัน จะต้องมีการอดโทษแก่กันและกัน นี่เป็นส่วนทำวัตร ปรับปรุงให้สำเร็จประโยชน์ทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะ เรื่องที่สอง เรื่องสวดมนต์ เลือกเอาเรื่องที่มีประโยชน์จริงๆ มาสวดไว้เป็นประจำ สิ่งใดที่เป็นหัวใจของพระธรรม หรือของพระศาสนาในแง่ต่างๆ กันแล้ว จะเลือกเอามาสวดให้เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าขึ้นปากขึ้นใจ คล่องปากคล่องใจ สะดวกในการปฏิบัติและสั่งสอนผู้อื่น ส่วนที่สาม ปัจเวกขณ์นั้น เลือกให้ดี ให้ได้ปัจเวกขณ์ในบทที่ดี แม้บทที่เรียกว่าปลงสังขารของภาคใต้นี้ ที่แท้ก็เป็นปัจเวกขณ์ ทศธรรม ๑๐ ประการนั้น ก็เป็นบทปัจเวกขณ์ เตือนตนเองอย่างยิ่ง ประมวลพวกที่เป็นคำปัจเวกขณ์นี่มาดูให้ดีๆ มาจัดสรรกันให้ถูกลำดับ แล้วก็ปัจเวกขณ์นับว่าเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากสวดมนต์ บทกรวดน้ำจะต้องได้รับการพิจารณาคัดเลือกไม่ให้ซ้ำกัน แล้วก็เปลี่ยนกันได้ เช่น ตอนเช้าสวดบทที่เหมาะสมกับตอนเช้า ตอนเย็นสวดบทที่เหมาะสมแก่ตอนเย็น เราก็จะได้บทกรวดน้ำมากพอ ทีนี้มาถึงบทอธิษฐานจิต ชักจูงตัวเอง ตั้งความปรารถนาอันสูงไว้เป็นเบื้องหน้า นี้ก็เลือกดูให้ได้ถ้อยคำที่ไพเราะจับใจมีความหมายเด่นชัดในทำนองนั้น แล้วก็ย้อมจิตให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ อยู่เสมอแล้ว แน่นอนทีเดียวไม่ต้องมีใครมารับประกัน ก็รับประกันตัวเองได้ ว่าความเป็นไปในชีวิตของเราผู้เป็นสาวกของพระพุทธองค์นั้นจะเดินไปถูกทางอย่างรวดเร็วที่สุด สำหรับพวกเรานักศึกษาธรรมทูตโดยเฉพาะนี้ คิดดูให้ดีจะเห็นว่าเราต้องรับผิดชอบ เราปฏิเสธไม่ได้ในฐานะที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นนักศึกษาผู้มีสติปัญญา เราจะทำอะไรอย่างเขลาๆ งมงายไปในกรณีเหล่านี้ไม่ได้เลย ต้องทำได้ดี และถ้ายิ่งถึงกับต้องไปกระทำในเมืองนอกเมืองนาด้วยแล้ว จะต้องกระทำให้ถูกกับจิตวิทยา หรือความนิยมของผู้ที่จะมาพบเห็นในที่นั้นอีกด้วย และมีเหตุผลพร้อมที่จะตอบปัญหา ตอบคำถามที่จะมีผู้มาถาม หรือมาซักไซ้ หรือมาต้อนให้จนมุมก็ตาม ในข้อความอันเกี่ยวกันกับการทำวัตร สวดมนต์ การปัจเวกขณ์ การกรวดน้ำ และการอธิษฐานจิตเป็นต้นจะถูกนำไปเปรียบเทียบกันกับศาสนาอื่นแล้วเราก็ต้องไม่ถูกกระทำย่ำยีให้ตกอยู่ในฐานะที่น่าอับอายและจะพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าเป็นสิ่งที่.......