แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๑๐ สำหรับพวกเราได้ล่วงกันมาเวลาจวนจะ ๐๕.๐๐ น.แล้ว อันเป็นเวลาที่กำหนดไว้สำหรับพูดจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งกันเป็นประจำ สำหรับวันนี้อยากจะพูดกันถึงเรื่องวัตถุนิยมในฐานะที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเราธรรมทูต เรื่องวัตถุนิยมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับโลก เป็นปัญหายิ่งใหญ่ในโลก แล้วก็พลอยเป็นปัญหามาถึงเราด้วย เพราะว่าเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยโลก แล้วมิฉะนั้นก็ยังมีปัญหาเลยมาถึงตัวเราด้วย เพราะว่าถ้าเราตกอยู่ในนิสัยของวัตถุนิยม เราก็จะเป็นธรรมทูตที่ล้มละลายไม่สามารถจะช่วยโลก โดยเหตุนี้ เราจึงเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยมนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เราจะต้องรู้จัก จะต้องเข้าใจ จะต้องเห็นแจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงจะสามารถดำเนินงานในหน้าที่ของเราให้ลุล่วงไป สำหรับสิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยมนี้ เป็นคำบัญญัติซึ่งมีความหมายมาก แต่ก็กว้างพอที่จะเข้าใจผิดได้ บางคนอาจจะคิดไปว่าเราก็ต้องเนื่องอยู่ด้วยวัตถุ จะเว้นเสียจากวัตถุไม่ได้ ความคิดอย่างนี้ก็มีส่วนถูกอยู่มาก แต่คำว่าวัตถุนิยมนั้น หมายถึงลุ่มหลงในรสอร่อยอันเกิดจากวัตถุ เมื่อพูดถีงรสอร่อย ก็เป็นสิ่งที่เกิดได้ทั้งจากวัตถุ และจากอวัตถุ คือไม่ใช่วัตถุ คือเรื่องทางจิตหรือทางนามธรรม หรือเรื่องทางธรรมโดยเฉพาะ หรือแม้แต่เรื่องของการทำลายวัตถุเสีย ก็เรียกว่าอวัตถุด้วยเหมือนกัน เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องวัตถุนิยมได้ดี เราก็ควรจะระลึกนึกถึงคำบางคำในพระพุทธศาสนานี้เอง คือคำคู่ที่มีอยู่ว่า กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค คือการยอมตนให้จมลงไปในกาม ซึ่งมีรสอร่อยตามแบบของกาม ส่วนอัตตกิลมถานุโยคนั้น เป็นไปในทำนองที่จะประชดกาม จึงทำลายวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกามเสีย ทำลายอวัยวะอันเป็นที่ตั้งของความลุ่มหลงในกามเสีย มันจึงตรงกันข้าม ส่วนพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ทรงระบุ มัชฌิมาปฏิปทา คือไม่เข้าไปข้องแวะกับของทั้งสองอย่างนั้น อยู่ตรงกลาง อาศัยวัตถุบ้างในทางที่ควร อาศัยการบีบคั้นร่างกายอันเป็นที่ตั้งของความลุ่มหลงในวัตถุบ้างตามที่ควร อย่างนี้เรียกว่าอยู่ตรงกลาง และข้อนี้เองเป็นเหตุให้เราจับหลักพระพุทธศาสนาได้อย่างหนึ่งว่า ตรงตามที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่มีอะไรที่จะบัญญัติลงไปได้โดยส่วนเดียว คือจะไม่ถือว่าอะไรดี อะไรถูก โดยการบัญญัติลงไปโดยส่วนเดียว จะต้องมีข้อแม้ หรือเหตุผลประกอบเป็นรายๆ เรื่องๆ เป็นกรณีๆ ไป อย่างนี้เรียกว่าอยู่ตรงกลาง วัตถุนิยมจึงเป็นเรื่องสุดโต่งฝ่ายข้างหนึ่ง จะเรียกว่าฝ่ายซ้ายก็ได้ ส่วนอวัตถุนิยม หรือกามสุขัลลิกานุโยค ก็เป็นไปสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง ซึ่งจะเรียกว่าฝ่ายขวาก็ได้ มีชื่อบางชื่อเรียกลัทธินี้ หรือคำคู่ๆนี้ว่า อาคาฬหปฏิปทา และ นิชฌามปฏิปทา อาคาฬหปฏิปทาก็หมายถึง กามสุขัลลิกานุโยค แต่ในที่นี้เรียกอาคาฬหปฏิปทา การกระทำหรือการปฏิบัติที่เปียกชุ่มเกินไป นิชฌามปฏิปทาก็คือ การปฏิบัติที่เผาไหม้แห้งแล้งมากเกินไป ชุ่มเกินไปก็ไม่ไหว แห้งเกินไป หรือเผาไหม้ไปเลยก็ไม่ไหว จะต้องอยู่ในระดับกลาง อาคาฬหปฏิปทาในที่นี้ก็คือ วัตถุนิยม หลงใหลในรสอร่อยของวัตถุ ส่วนนิชฌามปฏิปทาก็อยากจะเผาให้หมดไปซะทีเดียว ก็เลยไม่ได้อะไรอีกเหมือนกัน ถ้าได้ก็จะเป็นความเขลาที่ถูกเผาแห้งไปเท่านั้น ดังนั้นพุทธศาสนาจึงไม่ใช่ของเปียกชุ่มเกินไป และไม่ใช่ของแห้งจนไหม้ไปทีเดียว ย่อมอยู่ในระดับกลางอย่างนี้
อีกอย่างหนึ่งวัตถุนิยมนี้เรียกกันทั่วๆ ไปว่า โลกายัตของจารวาก เจ้าลัทธิชื่อจารวาก บัญญัติลัทธิทำนองโลกายัตนี้ขึ้นเป็นไปสุดโต่งในทางวัตถุนิยม เป็นต้นตอของความคิดที่ว่าความสมบูรณ์ด้วยวัตถุ หรือกามารมณ์นั้นเป็นนิพพาน จึงได้มีความคิดที่จะสร้างสรรค์หรืออย่างที่เรียกในสมัยนี้ว่า ค้นคว้า พัฒนากันให้ถึงที่ในทางกามารมณ์ ถึงจุดสุดเมื่อใดแล้ว จิตก็หยุดความต้องการและเป็นนิพพาน ถือเอากามารมณ์เป็นนิพพานนี้ก็มีอยู่ ทั้งหมดนี้เรียกว่าวัตถุนิยม เป็นตัวอย่างของวัตถุนิยมที่เอารสอร่อยของวัตถุมาเป็นสิ่งประเสริฐสุด ทีนี้คำว่าวัตถุนิยมยังหมายกว้างได้ไปกว่านั้น คือว่าเป็นผู้สนใจแต่เรื่องทางวัตถุเท่านั้น ไม่ถือว่ามีเรื่องอื่นอีกแล้ว เลยบัญญัติเอา เลยเอาวัตถุนั่นแหละเป็นเครื่องมือสำหรับบัญญัติกฎเกณฑ์ต่างๆ พวกนี้แม้แต่จะเขียนประวัติศาสตร์ ก็เขียนแต่ในแง่ทางวัตถุเท่านั้น ไม่ได้มีความรู้สึกหรือบันทึกเรื่องเกี่ยวกับจิตใจไว้ด้วยเลย แม้นจะไม่เกี่ยวกับความลุ่มหลงในรสอร่อยของกามารมณ์ พวกนี้ก็ยังถูกเรียกว่าเป็นวัตถุนิยมอยู่นั่นเอง คำว่าวัตถุนิยมจึงมีความหมายดิ่งลงไปยังกลุ่มของวัตถุ ถึงตัววัตถุเองก็ได้ กฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับวัตถุก็ได้ ผลที่จะเกิดขึ้นจากวัตถุก็ได้ เรียกว่าวัตถุนิยมไปหมด แต่ว่าวัตถุนิยมที่เป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับพวกเรา เกี่ยวกับโลกนั้น มันอยู่ที่รสอร่อยของวัตถุ ซึ่งเกี่ยวกับเนื้อหนัง ดังนั้นในศาสนาคริสเตียนจึงเรียกสิ่งนี้ว่าเนื้อหนัง เพราะคำว่าเนื้อหนังคำเดียวเท่านั้น ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ ว่าหมายถึงรสชาติความเอร็ดอร่อยที่เป็นไปในทางเนื้อหนัง คำว่าเนื้อหนังในที่นี้ก็รวมถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างที่เราเรียกกันในพุทธศาสนานั่นเอง แต่รวมความแล้วมันก็ไปสำเร็จรูปอยู่ที่เนื้อหนังหรือทางเนื้อหนัง ดังนั้นการที่เรียกว่าเนื้อหนังเพียงคำเดียวก็เป็นการสมควร ทางคริสเตียนประกาศสิ่งที่เรียกว่าเนื้อหนังเป็นศัตรูของพระเจ้า ทางฝ่ายพุทธศาสนาเราก็ประกาศความลุ่มหลงในกามารมณ์ว่าเป็นศัตรู แต่ยังแถมเพิ่มการกระทำที่เป็นข้าศึกต่อวัตถุโดยส่วนเดียว ว่าเป็นศัตรูด้วยเหมือนกัน ถ้าเราจะต้องการอยู่ตรงกลาง คือมองกว้างออกไปจนถึงว่าต้องอยู่ตรงกลาง แล้วเมื่อรวมความแล้วก็ไม่ชอบ หรือไม่ยอมตกอยู่ภายใต้วิสัยของวัตถุนิยม คำคำนี้ คำว่าวัตถุนิยมนี้เป็นชื่อของลัทธิก็ได้ เป็นชื่อของความรู้สึกทางจิตใจก็ได้ เป็นชื่อของบุคคลผู้นิยมเช่นนั้นก็ได้ แต่เมื่อเราพูดว่าวัตถุนิยม เราก็มักจะหมายถึงความรู้สึก คือลัทธิมากกว่าอย่างอื่น เช่น ไดเร็คถีฟแม็ททีเรียลิสซึ่ม directive materialism ก็หมายถึงลัทธิที่เป็นต้นกำเนิดของลัทธิคอมมิวนิสต์หรือเป็นรากฐานของลัทธิคอมมิวนิสต์ เดี๋ยวนี้เราจะมองดูกันให้กว้างไปกว่านั้นว่าสิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยมนี้ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงรากฐานของลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นรากฐานของลัทธิที่ทำความยุ่งยากลำบากให้แก่มนุษย์ทั่วไปหมด แม้นไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ถ้าใครหลงในวัตถุนิยม ก็ทำตนเป็นผู้ที่หนาไปด้วยกิเลสมากขึ้นมาทันที จงดูให้ดีจะเห็นว่าผู้ที่ถือลัทธิอื่นที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่ก็หนาไปด้วยกิเลส และสร้างสิ่งซึ่งเป็นเครื่องรบกวนความสงบของโลกได้เท่ากัน ในพระพุทธศาสนาเราปฏิเสธลัทธิกามสุขัลลิกานุโยค อย่างนี้ก็ไม่ได้ระบุถึงคอมมิวนิสต์อย่างเดียว เพราะว่าวัตถุนิยมนั้นกินความกว้าง และพวกที่นิยมกามารมณ์นี้ก็มีมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ดังนั้นคำว่าวัตถุนิยมก็หมายถึงวัตถุนิยมทุกชนิด คือมีความโง่ ความหลง หลงไปว่าวัตถุหรือรสอร่อยทางวัตถุนี้เป็นของประเสริฐสุด หารู้ไม่ว่า วัตถุอย่างเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ วัตถุจะต้องเนื่องกันกับจิตใจหรือนามธรรม ดังเช่นที่พุทธศาสนาเราใช้คำว่า นามรูป พวกเราที่เรียนบาลีกันมาแล้ว ย่อมสังเกตเห็นได้ดีว่า คำคำนี้เป็นเอกวัจนะ คือนามรูปังเป็นเอกวัจนะ ความเป็นเอกวัจนะนี้หมายความว่า ต้องผสมเป็นสิ่งเดียวกันจนเหลือเพียงสิ่งเดียว ไม่ใช่ไปแยกเป็นนามอย่างหนึ่ง เป็นรูปอย่างหนึ่งตามทางทฤษฎีสำหรับเล่าเรียน แล้วก็มัวไปแจกนามและรูปนี้ให้ห่างไกลออกไปจากกันทุกทีทุกที นี้เป็นความงมงายหรือความคิดที่นำไปสู่ความคิดที่ว่ามันแยกกันได้ โดยพฤตินัยมันแยกกันไม่ได้ โดยนิตินัยใครจะไปแยกกันอย่างไร ก็มันเป็นเรื่องของตัวหนังสือหรือคำพูด แต่ตามที่เป็นอยู่จริงนั้น นามและรูปแยกกันไม่ได้ โวหารของพระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ในฐานะเป็นเอกวัจนะเสมอไป ขืนแยกกันเมื่อไร ก็เป็นอันหายไปทั้งนามและทั้งรูป นี้ก็คงจะเป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้ดีสำหรับพวกเรา
ฉะนั้น ในคนๆ หนึ่งจะมีแต่วัตถุไม่ได้ จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่านามรวมอยู่ด้วย แต่ว่าคนละครึ่งหรืออะไรก็ตามเถิด แต่ว่าจะมีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ พวกที่ไปเห็นว่าสำคัญเพียงส่วนเดียว สำคัญเพียงอย่างเดียวคือวัตถุนั้น เป็นผู้ที่มีความเข้าใจผิด แต่แม้จะให้ความสำคัญทางวัตถุมากกว่าทางนาม ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดโดยแน่นอน อย่างน้อยก็จะต้องอาศัยกันคนละครึ่ง เพราะเหตุฉะนั้นแหละ จะเอาหรือจะยกเอาวัตถุเป็นสิ่งสำคัญกว่าสิ่งทั้งหลาย กว่านามก็ไม่ได้ บางพวกหรือบางลัทธิถือว่า เมื่อวัตถุดีแล้วจิตใจก็ดีเอง เช่นลัทธิไดเร็คถีฟแม็ททีเรียลิสซึ่มเป็นต้นนั้น อย่างนี้ยอมรับไม่ได้ จะยอมรับในข้อที่ว่าวัตถุสมบูรณ์แล้ว จิตใจก็จะสมบูรณ์เองนี้ยอมรับไม่ได้ มันผิดหลักพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ที่มีหลักว่า ใจเป็นผู้นำ มโนปุพพังคมา ทุกสิ่งสร้างขึ้นด้วยใจ มโนมยา ใจประเสริฐที่สุด มโนเสฏฐา หรืออะไรๆ ที่มีอยู่มากมายอีกไปกว่านี้ คือล้วนแต่แสดงว่าใจเป็นส่วนสำคัญในกลุ่มนี้ ในกลุ่มนามรูปนี้ สำคัญยิ่งกว่ากาย เราจึงเปรียบว่ากายนี้เหมือนกับเปลือก ใจนั้นเหมือนกับเนื้อใน เปลือกกับเนื้อในต้องอยู่ด้วยกัน เช่นผลไม้ถ้าไม่มีเปลือกมันก็อยู่ไม่ได้ มันเกิดขึ้นไม่ได้ มันเจริญขึ้นไม่ได้ มันก็เลยไม่มีค่าอะไร มันก็ต้องมีเปลือกและมีความสำคัญเท่ากัน เปลือกมีค่าไปตามทางของเปลือก เนื้อในมีค่าไปตามทางของเนื้อใน หากแต่ว่าเราต้องการแต่เนื้อใน เราจึงประณามเปลือกซึ่งเป็นความโง่ของเราเอง อาจจะมีผู้อื่น หรือสัตว์อื่น หรือสิ่งอื่นต้องการเปลือกก็ได้ ไม่ต้องการเนื้อในเลย มนุษย์เข้าข้างตัวเสมอไป บัญญัติสิ่งที่ดีที่งามตามที่ตนชอบ เพราะฉะนั้น จึงไม่รู้จักความจริงในข้อที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหมือนกันยึดถือไม่ได้ ความดีก็ยึดถือไม่ได้ ความชั่วก็ยึดถือไม่ได้ บุญก็ยึดถือไม่ได้ บาปก็ยึดถือไม่ได้ นึ้เป็นความจริงหรือเป็นข้อเท็จจริง แต่เนื่องจากมนุษย์เอาตามใจตัวเอง เห็นอะไรถูกใจตัวเองก็เอาเป็นของน่ารักน่ายึดถือและนิยมชมชอบไป และอันนี้ก็เป็นเหตุนำไปสู่วัตถุนิยมได้โดยไม่รู้สึกตัว เช่นความมัวเมาในสวรรค์ ซึ่งสมบูรณ์ไปด้วยกามคุณนั้น จะต้องถือว่าเป็นวัตถุนิยม ถ้าพวกเราธรรมทูตไปสอนทายกทายิกาให้ลุ่มหลงในสวรรค์ ก็คือสอนลัทธิวัตถุนิยมดีดีนี่เอง เป็นการขบถต่อพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสอนอย่างนี้ แม้จะชี้ให้รู้จักสวรรค์ ก็ชี้ไปในลักษณะที่เห็นว่ามันยังไม่ไหว มันยังพึ่งไม่ได้ มันยังจะต้องไปให้ไกลกว่านั้น ดูตามเรื่องอนุปุพพิกถาก็จะเข้าใจได้ดีในความจริงข้อนี้ แต่ถ้าคนยังโง่เกินไป ในขนาดเด็กๆ ที่จะต้องใช้ลูกกวาดมาล่อแล้ว มันก็พูดเรื่องสวรรค์กันไปได้ตามเพลง แต่ว่าเราจะถือว่านั่นเป็นเรื่องทั้งหมดไม่ได้ และจะสอนให้เขาลุ่มหลงหรือหยุดอยู่เพียงแค่นั้นไม่ได้ เป็นธรรมทูตล้มละลาย คือเป็นขบถต่อพระพุทธองค์ ขอได้โปรดระวังให้ดีๆ ในเรื่องนี้ ในเรื่องที่จะไปสอนวัตถุนิยมเข้าโดยไม่รู้สึกตัว เพราะตัวเองก็ชักจะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่คำว่าสวรรค์ สวรรค์ในภาษาไทยเรานี้มีความหมายดิ้นได้ จนถึงกับว่าในบางลัทธิบางศาสนาเอาคำว่าสวรรค์ไปใช้เป็นอย่างอื่นก็มี เช่นในศาสนาคริสเตียน คำว่าสวรรค์มิได้หมายถึงกามารมณ์เต็มเปี่ยมอย่างในพุทธศาสนาก็ได้ คือบัญญัติสวรรค์เป็นที่อยู่ของพระเป็นเจ้า แต่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์อย่างนี้ก็มี ถ้าสวรรค์เกี่ยวกับกามารมณ์ก็ต้องจัดเป็นวัตถุนิยมด้วยเหมือนกัน ถ้าคนอยากไปสวรรค์ ก็ตะกละในรสของกามารมณ์ ก็ต้องเรียกว่าเป็นวัตถุนิยม ไม่ใช่สมาชิกที่ดีของศาสนานั้นๆ เลย คือไม่ใช่สาวกของพระอริยเจ้า หรือไม่ใช่เป็นอริยสาวก คือสาวกที่เป็นพระอริยเจ้า วัตถุนิยมมีอะไรๆ ที่จะต้องระมัดระวังให้มากอย่างนี้ สำหรับพวกเราธรรมทูต มิฉะนั้นแล้ว ก็จะตกเป็นทาสของวัตถุนิยม บูชาวัตถุนิยมโดยไม่รู้สึกตัว
เกี่ยวกับร่างกายในทางพุทธศาสนาเรา ก็มีคำแนะนำสั่งสอนให้บริหาร แต่คำว่าบริหารนี้ ไม่ใช่หมายถึงการลุ่มหลงบูชา บริหารหมายความแต่เพียงว่า จัดหรือทำไปในลักษณะที่เหมาะสม ให้มันเป็นประโยชน์หรือทำหน้าที่ของมันได้ ร่างกายนี้เปรียบเหมือนม้าสำหรับขี่ ใจจะเป็นผู้ขี่ม้านี้ไป ตามหลักของวิธีการก้าวหน้าหรือการพัฒนา เช่นเรื่องของกรรมฐานอานาปนสติภาวนา ร่างกายก็เป็นที่ตั้งของการศึกษา หรือเป็นที่ตั้งของจิตสำหรับจะปฏิบัติหน้าที่ไปได้ จะต้องปรับปรุงให้ดี จนเป็นอุปกรณ์แห่งการศึกษา หรือเป็นที่ตั้งของจิต ที่จะทำจิตของมันได้ ดังนั้น เราจึงไม่ได้ละเลยในร่างกาย จะต้องสนใจและทำไปให้ถูกต้องตามหน้าที่ ในภาพปริศนาธรรม ชุดที่ได้ดูกันแล้วเมื่อคืนก่อน เปรียบร่างกายเหมือนกับศพเน่าลอยน้ำมาให้บุคคลคนหนึ่งขี่ข้ามฟากไปฝั่งโน้น พ้นจากอำนาจของโจรที่ไล่ติดตามมาด้วยอย่างนี้ก็ยังได้ กายควรจะประณามเป็นของเน่า ดังที่ปรากฎอยู่ในศัพท์บาลีทั่วๆ ไป แต่ก็ใช้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งได้ คือขี่ข้ามไปฝั่งโน้นได้ ถ้าหมายถึงเป็นอุปกรณ์แก่จิตที่จะขี่ข้ามไปฝั่งโน้นได้ ในอีกภาพหนึ่งเปรียบร่างกายเหมือนกับหม้อน้ำ เปรียบจิตเหมือนกับลิง ข้อนี้แสดงว่าเรื่องร่างกายไม่ค่อยมีปัญหา บริหารง่าย ฝึกง่าย แต่เรื่องจิตนั้นฝึกยาก เหมือนกับฝึกลิง มันไวเหมือนกับลิง ไม่อืดอาดหรือนิ่งเหมือนกับหม้อน้ำอย่างนี้เป็นต้น ในอีกภาพหนึ่งเปรียบร่างกายเหมือนกับโคลนเน่าเหม็น แต่ก็เป็นที่เกิดของจิตซึ่งเปรียบเหมือนดอกบัวซึ่งหอม โคลนเป็นที่ตั้งที่อาศัยของดอกบัว ทั้งๆที่ต่างกันมากอย่างนี้ ถ้าพิจารณาดูตามนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยกขึ้นเทิดทูนบูชาให้เหนือจิตไปได้ เพราะว่าจิตเป็นผู้ขี่ศพ จิตเหมือนกับลิงที่อยู่บนยอดไม้ จิตเหมือนกับดอกบัวที่โผล่พ้นขึ้นมาจากโคลน อันไหนควรจะเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ ก็ลองคำนวณดู เมื่อพบว่าจิตเป็นสิ่งที่ประเสริฐวิเศษน่าสนใจกว่า เราก็จะมีความรู้สึกไปในทำนองวัตถุนิยมไม่ได้ เพราะว่าเรื่องจิตแท้ๆ นั้นแยกออกไปต่างหากจากวัตถุได้โดยนิตินัย และคำว่าจิตในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงจิตที่ติดเนื่องกันอยู่กับร่างกาย จนเป็นทาสของร่างกาย แต่หมายถึงจิตที่แยกออกไปได้ ในลักษณะที่เหมือนกับดอกบัวแยกออกไปจากโคลน มิได้อยู่ภายใต้การครอบงำของโคลน มันจึงสะอาดได้ สวยได้ หอมได้ เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาได้ ดังนั้น ถ้าว่าใจนี้ ควรจะหมายถึงใจที่ไม่ได้ตกเป็นทาสของกาย สิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยม หรือผู้นิยมวัตถุนั้น ก็มีทั้งกายและใจ แต่ว่าใจของเขาตกเป็นทาสของกายของวัตถุ ไม่เป็นอิสระแก่ตัวเอง ดังนั้นตามความหมายของคำว่าใจจึงหมดไปเหลือแต่วัตถุ และยกเอาวัตถุขึ้นเป็นส่วนสำคัญเป็นที่ตั้ง จึงถูกเรียกว่าวัตถุนิยมเพราะเหตุนี้
ทีนี้ ในทางที่ตรงกันข้าม ก็เอาใจเป็นประธานเป็นหลักสำคัญ ไม่ให้วัตถุหรือกายมามีอำนาจเหนือ เรื่องก็เดินไปคนละทาง คือใจนี้มีสภาพเป็นของรู้หรือความรู้ ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่เรียกว่า "มโน" มโนมีความหมายว่ารู้ รู้ก็คือรู้จัก กระทั่งรู้เท่าทัน กระทั่งรู้จริง อย่างนี้มันก็ต้องเดินไปในทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่หลับตา มันจึงรู้ว่าอะไรควรจะเป็นอย่างไร นี่แหละเป็นต้นกำเนิดของลัทธิทางจิตใจ ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้ ทั้งๆ ที่โลกนี้ตั้งต้นขึ้นมาด้วยวัตถุ ถ้าเราจะเรียนเรื่องธรณีวิทยาเราจะรู้ว่าโลกตั้งต้นขึ้นมาด้วยวัตถุ เป็นวัตถุที่แยกตัวออกมาจากดวงอาทิตย์ หรือว่ารวมตัวเข้มข้นขึ้นมาจากเนบิวล่า จากกาแล็คซี่อะไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องวัตถุทั้งนั้น แต่ถ้าจะเรียนเรื่องชีววิทยาต่อมาก็จะพบว่ามันตั้งต้นขึ้นมาด้วยวัตถุก่อน จึงจะมีชีวะ ซึ่งตกอยู่ใต้อำนาจของวัตถุ และก็ค่อยๆ แยกตัวคือพัฒนามาเป็นเรื่องจิตใจมากขึ้น จึงได้มีสัตว์และมีคน เมื่อมีคนแล้ว ในชั้นแรกจะต้องรู้จักแต่วัตถุเป็นธรรมดา อย่างคนป่าสมัยหิน จะรู้เรื่องอะไรทางจิตใจเหมือนคนสมัยนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนในสมัยนั้น เป็นคนทางวัตถุมากกว่า แต่แล้วทำไมลูกหลานของคนพวกนั้นเอง มารู้เรื่องทางจิตใจได้ คนเราไม่ได้มาจากไหน คนเราสมัยปัจจุบันนี้ไม่ได้มากจากไหน นอกจากที่จะมาจากคนป่า แต่แล้วทำไมเราจึงรู้เรื่องทางจิตใจได้ เมื่อกล่าวโดยสามัญสำนึกแล้วคนป่าเหล่านั้นควรจะดุ่มไปแต่ในทางของวัตถุลุ่มหลงไปในทางของวัตถุ แต่แล้วทำไมจึงเกิดแยกทางกันเดิน มันมีพวกหนึ่งหันมาในทางจิตใจหรือทางนามธรรม เกิดเป็นหุ่นดีฤาษีชีไพรอะไรขึ้นมา กระทั่งมามีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก ไม่เดินดุ่มไปแต่ในทางของวัตถุ อย่างนี้ก็เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าใจนั้นเอง มีอยู่เป็นนิวเคลียสของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรือคน มันมีธาตุรู้มันก็รู้ขึ้นมาตามลำดับ ที่รู้ไปในทางผิดก็ผิดไป ที่รู้มาในทางถูกก็ถูกมา มันจึงแยกทางกันเดินเพราะเหตุนี้ ที่ยังคงลุ่มหลงในวัตถุอยู่ก็เป็นไปสายหนึ่ง ที่แยกมาในทางจิตใจก็แยกมาสายหนึ่ง เราจึงเกิดมีการแยกทางกันเดิน เป็นฝ่ายวัตถุนิยมและฝ่ายอวัตถุนิยมอย่างนี้ ทำไมเกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะว่าถ้าจะกล่าวกันตามสามัญสำนึก และคงจะเป็นข้อเท็จจริงด้วย ก็เพราะว่าการพัฒนาทางวัตถุได้หยุดชะงักลง คนจึงเหลียวมาในทางจิตใจ หมายความว่ามีอยู่สมัยหนึ่งซึ่งความพัฒนาทางวัตถุได้ไปถึงที่สุดหรือชะงักลง เพราะคนไม่ได้ไปสนใจมาก ไม่ได้ไปลุ่มหลงมาก จึงมาพบฝ่ายจิตใจซึ่งมีอะไรน่าสนใจกว่าหรือลึกซึ้งกว่า กว้างขวางจนมองไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดลงที่ไหนกว่าอย่างนี้เป็นต้น ก็เลยหมุนมาในทางจิตใจ ค้นคว้ากันในฝ่ายจิตใจ จึงได้เกิดลัทธิศาสนา ในทำนองที่เป็นฝ่ายมโนนิยมขึ้นมา ทีนี้มาถึงปัจจุบันนี้ ทำไมจึงเกิดวัตถุนิยมอย่างรุนแรงขึ้นมาได้เล่า อย่างนี้ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องเผอิญเป็นก็ได้ ที่ว่าจะมียุคหนึ่งสมัยหนึ่งอีกเหมือนกัน ไปพบความก้าวหน้าทางวัตถุ พัฒนาทางวัตถุ ค้นคว้าลุ่มหลงกันแต่ทางวัตถุ ก็สามารถประดิษฐ์วัตถุให้ก้าวหน้า ให้เกิดรสนิยมสูงไปแปลกไปกว่าที่แล้วมา คนก็เริ่มหลงใหลในทางวัตถุกันอีกยุคหนึ่ง และเมื่อสนใจแต่เรื่องนี้มากเข้า มันก็ค้นคว้าหรือพบได้มากเข้า รสของวัตถุนิยมก็รุนแรงจนครอบงำจิตใจคนสมัยนี้ให้ลุ่มหลงไปในทางของวัตถุ ไม่สนใจกับเรื่องของจิตใจ ทำให้ศาสนาเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย แม้แต่ศาสนาคริสเตียนเองซึ่งเป็นศาสนาของพวกฝรั่งที่เก่งในทางวัตถุนิยม ก็ได้ประสบปัญหาอันนี้ คือคนหันหลังให้กับศาสนาคริสเตียนมากขึ้นมากขึ้นมากขึ้น ยอมเป็นคนไม่มีศาสนา ก็เพื่อจะไปฝากเนื้อฝากตัวกับวัตถุนิยมนั้นเอง นี่เป็นปัญหาอันร้ายกาจ เป็นปัญหาหนักอกของพวกคริสเตียน ทีนี้เมื่อพวกเราไทยชาวพุทธนี้ เกิดไปเดินตามก้นฝรั่งเข้า เหมือนกับสุนัขตัวผู้เดินตามก้นสุนัขตัวเมียอย่างนี้เข้าแล้ว มันก็จะไม่มีทางไปในทางอื่น นอกจากเป็นไปในทางที่จะประสบปัญหาอย่างเดียวกันอีก คือจะหันหลังให้พุทธศาสนาของตนเอง แล้วก็ตกไปในฝ่ายวัตถุนิยม ยอมเป็นคนไม่มีศาสนาไปก็ได้ นี่แหละคือปัญหาสำหรับพวกธรรมทูตเรา ซึ่งรออยู่ข้างหน้าเรา ว่าทำอย่างไรเราจึงจะช่วยโลกให้รอดจากวัตถุนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นพวกพุทธเราเอง หรือพวกศาสนาอื่น ซึ่งรวมกันเป็นโลกโลกหนึ่งนี้ให้รอดมาจากอำนาจของวัตถุนิยมได้ มันเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก จึงเป็นเรื่องที่เราต้องคิดกันให้มาก เริ่มคิดกันตั้งแต่บัดนี้ และยังจะต้องคิดต่อไปอีกมาก จึงจะรอดไปจากอำนาจของวัตถุนิยม และข้อแรกที่สุดที่จะต้องคิดก็คือว่า เราเองนั่นแหละสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดกว่าผู้ใด ถ้าเราหลงในวัตถุนิยมเสียเองแล้ว มันก็ล้มละลายที่นี่และเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ อย่าว่าแต่จะก้าวขาออกไปต่างประเทศเลย มันล้มละลายแล้วตั้งแต่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าจิตใจของเราเป็นวัตถุนิยม ดังนั้นจงประกาศตัวเป็นผู้ต่อสู้กับวัตถุนิยม ไม่ให้ตัวเรา ไม่ให้เพื่อนมนุษย์ของเราตกเป็นทาสของวัตถุนิยม เราจึงจะเป็นธรรมทูตที่สมบูรณ์ของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นผู้ที่เราอุทิศชีวิตทั้งหมดนี้ถวายไว้ เพื่อรับใช้พระองค์ด้วยกันทุกๆ คน เวลาของเราก็หมดลง สำหรับการพูดจากันในตอนนี้.