แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ วันที่ ๒๐ เมษายน ๑๐ สำหรับพวกเรา ได้ล่วงมาถึงเวลา ๕.00 น แล้ว เป็นเวลาที่เรากำหนดไว้สำหรับพูดจากันด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขอได้โปรดตั้งใจฟังให้ดีดี และส่งใจไปตามนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องเขียนต้องจด ก็มีเวลา ก็มีโอกาสที่จะสำรวมจิตใจเพื่อส่งใจไปตามนั้นให้มากที่สุดด้วย ในวันนี้จะพูดเรื่องว่า โดยที่แท้เราไม่เป็นอะไรเลย ที่แท้เราไม่เป็นอะไรเลย ในวันก่อนๆก็ได้พูดว่าเราเป็นคนจนอยู่บ้าง เราเป็นคนรวยที่สุดบ้าง และเป็นอะไรอีกหลายๆอย่างโดยเฉพาะเป็นธรรมทูต แต่เดี๋ยวนี้กำลังบอกว่า เราไม่เป็นอะไรเลยโดยที่แท้ มีคำว่าที่แท้อยู่อย่างนี้ ย่อมเข้าใจได้เองโดยทุกคนว่าโดยที่ไม่แท้นั้นเราเป็นอะไรมากมายทีเดียวแม้แต่ธรรมทูต เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ยังต้องเข้าใจต่อไปอีกในข้อที่ว่า พูดอย่างไรเป็นพูดภาษาคน พูดอย่างไรเป็นพูดภาษาธรรม ที่พูดว่าเราเป็นอะไรอย่างนั้นอย่างนี้นั้น มันเป็นการพูดตามภาษาคน ส่วนที่ว่าเราไม่เป็นอะไรเลยนั้นเป็นการพูดตามภาษาธรรม ภาษาคนนั้นจริงอย่างสมมุติ หรือที่เรียกว่า Relative Truth ส่วนพูดอย่างภาษาธรรมนั้นมันจริงแท้หรืออย่างที่เรียกว่า Ultimate Truth เมื่อเราเปรียบเทียบกันดูอย่างนี้เราจะเห็นได้ว่า ในภาษาพูดมีความจริงอยู่ ๒ อย่าง จริงตามที่ตกลงกัน หรือ พูดจากันอยู่ตามปกติของคนที่ไม่รู้ธรรมะนั้น เป็นความจริงที่ยืดหยุ่นได้ เปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับความรู้สึกหรือความเข้าใจของคนผู้พูด ส่วนความจริงแท้นั้นไม่ขึ้นอยู่กับใคร ขึ้นอยู่กับตัวมันเองคือธรรมชาติ เพราะว่าสิ่งเรียกว่าความจริงนี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ธรรมชาติที่แท้จริงก็อย่างหนึ่ง ธรรมชาติที่ไม่แท้จริงก็อย่างหนึ่ง แต่แล้วมันก็ยังคงเป็นธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น ธรรมชาติที่ไม่แท้ก็คือ ตามที่มันจะปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปตามความรู้สึกคิดนึก ถ้าเป็นคนก็เป็นความรู้สึกคิดนึกของคน ความรู้สึกคิดนึกที่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอย่างนี้เปลี่ยนได้ ดังนั้น จึงไม่แท้ เราเราจึงเรียกว่าสมมุติสัจจะ สัจจะที่สมมุติส่วนที่ไม่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของคน และขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของมันนั้นเป็นปรมัตถสัจจะ หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่จะเรียกแต่ความหมายสำคัญอยู่ที่แท้ที่ว่ามันเด็ดขาดจริงแท้และมันแน่นอน ตามสมมุติสัจจะนั้น เราก็เป็นนั่นเป็นนี่มากมายหลายอย่างและเปลี่ยนแปลงเรื่อย แต่ตามทางปรมัตถสัจจะนั้น เราไม่เป็นอะไรเลย
ดังนั้น ขอให้นึกถึงบทสวด ธาตุปัจจเวก ที่ว่า นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ คำสอนของบูรพาจารย์ที่เคยได้รับกันมา สืบๆกันมาบอกกล่าวกันในหมู่พวกเราว่า เวลาเช่นเวลานี้ก่อนสว่างนี้จะต้องปัจจเวก ธาตุปัจจเวกนี้ให้ครบร้อยแปดจบ ไม่อย่างนั้นจะตายไปเป็นวัวเป็นควาย ใช้หนี้เจ้าของจตุปัจจัยที่เราไปรับเอามาบริโภค คิดดูเถอะว่าจะต้องท่องให้ครบร้อยแปดจบตามจำนวนของลูกประคำที่ลูบไปทีละเม็ดละเม็ด จะต้องตื่นตั้งแต่เมื่อไร แล้วจะต้องสำรวมจิตใจเท่าไร แล้วจะต้องเข้มแข็งเท่าไรจึงจะทำได้ เพียงเท่านี้ก็เป็นการดีมากอยู่แล้ว แม้ว่าทำไปโดยไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเรารู้เรื่องว่ามันหมายความว่าอะไร แล้วประทับหรือย้อมลงไปในจิตใจ ตั้งร้อยแปดครั้งก่อนสว่างอย่างนี้ มันก็จะคงมีผลมากเอาการอยู่ทีเดียว ดังนั้น ถ้าเราจะตื่นแต่เนิ่นๆหน่อย และมานึกถึงความจริงข้อนี้ คือข้อที่เราไม่เป็นอะไรเลย ตั้งร้อยแปดครั้งกว่าจะสว่าง ในอิริยาบทนั่ง นอน ยืน เดิน อะไรก็ได้ ก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง จะเป็นการกระทำที่ตรงตามพระพุทธประสงค์อย่างยิ่ง และ อาจจะเอามาใส่เข้าในรูปอานาปานสติภาวนาได้โดยง่าย คือ รู้สึกอยู่ รู้แจ้งอยู่ เห็นแจ้งอยู่ ทุกๆครั้งที่หายใจเข้าออกตลอดระยะที่มันหายใจเข้าหรือมันหายใจออก ซึ่งจะสงเคราะห์ได้ เป็นอานาปานสติภาวนา ขั้นที่ ๑๓ คือ อนิจจานุปัสสี นั่นเอง สำหรับข้อที่ว่าเราไม่เป็นอะไรนั้น พวกเราที่เป็นมหาเปรียญก็มาแปลข้อความนั้นออกได้ด้วยตนเอง เริ่มต้นขึ้นด้วยคำว่า ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง สิ่งนี้นี่เป็นสักแต่ว่าธาตุเท่านั้น เอตัง สิ่งนี้นี่ ธาตุมัตตัง เมวะ สักว่าธาตุเท่านั้น ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง เป็นไปอยู่ตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ เพราะเป็นตามปัจจัยอย่างเนืองนิตย์ ก็แปลว่ามันไม่ได้เป็นเรา หรือเป็นใครสักว่าเป็นธาตุเท่านั้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ จึงเป็นอะไรแท้จริงไม่ได้ เป็นอะไรแท้จริงไม่ได้ เป็นอะไรได้หลอกๆช่วงขณะใดขณะหนึ่ง ตามเหตุตามปัจจัย
บทถัดไปแสดงอย่างชัดเจนรุนแรงยิ่งขึ้นและย้ำว่า ธาตุมัตตะโก สักว่าธาตุ นิสสัตโต ไม่ใช่สัตว์ นิชชีโว ไม่ใช่ชีวะ สุญโญ ว่าง แต่ในภาษาบาลีตอนนี้เองก็มีบอกอยู่ชัดอย่างหนึ่ง ว่า ยะทิทัง จีวะรัง สิ่งนั้นคือจีวร ตะทุปะภุญชะโก จะ ปุคคะโล และบุคคลผู้บริโภคใช้สอยจีวรนั้น มีคำว่าบุคคลชัดอยู่ ปรากฏอยู่ ว่าบุคคลผู้ใช้สอยจีวรนั้น ผู้ที่ไม่เข้าใจก็จะสงสัยว่าทำไมจึงมามี บุคคลมาอยู่ที่นี่ และบุคคลผู้ใช้สอยจีวรนั้นนี้พูดตามภาษาคน มันต้องมีบุคคลคือตัวเราผู้ใช้สอยจีวรนั้น แต่ภาษาธรรมเป็นภาษาแท้นั้นเป็น นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ ก็เป็น ธาตุมัตตะโก สักว่าเป็นธาตุเท่านั้นตลอดเวลา โดยภาษาคนเป็นบุคคลผู้ใช้สอยจีวรนั้นอยู่ นี้เป็นการพูดอย่างสมมุติสัจจะ เป็นบุคคล แต่แล้วติดกันไปนั้นก็ปฏิเสธบุคคลว่า ธาตุมัตตะโก เป็นสักว่าธาตุเท่านั้น นิสสัตโต ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล นิชชีโว ไม่ใช่ชีวะไม่ใช่อาตมัน ไม่ใช่อัตตา สุญโญ ว่าง โดยบทว่าว่างนี้ แสดงความหมายลึกซึ้งมากคือเราเป็นอะไรไม่ได้ จะพูดว่าเป็นของว่างอย่างนี้ไม่ถูก เพราะว่าความว่างหรือของว่างนั้นไม่ต้องเป็น เพราะเหตุที่ไม่มีอะไรจะเป็น
ดังนั้น จึงเป็นอะไรไม่ได้คือ ว่าง ถ้าจะไปพูดว่าเป็นของว่างเข้าไปอีก ก็เป็นภาษาคนขึ้นมาอีก มันก็โง่ลงเท่านั้นเอง ถ้าพูดว่าว่างในภาษาธรรมก็คือ ไม่ต้องเป็น ความว่างเป็นสิ่งที่ไม่ต้องเป็น ความว่างเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ตามภาษาคน นี่แหละจึงกล่าวว่าที่แท้เรามิได้เป็นอะไรเลย เมื่อเรามิได้เป็นอะไรเลยแล้ว ก็หมายความว่า เรามิได้มีอะไรเลยเป็นของเรา เราจึงไม่มี ไม่เป็น ไม่เป็น ไม่มีนี้คือ ว่าง ที่แท้เราไม่เป็นอะไรก็พอจะเข้าใจกันได้ในตอนนี้ ที่เราเป็นพระธรรมทูตนี้ก็เป็นโดยสมมุติโดยการแต่งตั้ง แต่งตั้ง แต่โดยเนื้อแท้ เราจะไม่เป็นอะไรเลย ต้องเข้าถึงความเป็นเนื้อแท้ของเรา ไม่เป็นอะไรเลยนั้น จึงมีคำถามเกิดขึ้นมาเองว่า คือไม่เป็นอะไรเลยนั้นใครจะเป็นผู้ไม่เป็น หรือว่า เราจะเป็นธรรมทูตอย่างนี้ ใครจะเป็น ที่จะเป็น หรือจะไม่เป็นก็ตาม ก็คือว่าง ว่างนี้มีอะไรหมดทุกอย่าง อย่างได้ที่กล่าวแล้ว คนโง่เข้าใจว่าเมื่อพูดว่าว่างก็คือ ไม่มีอะไรเลย คนรู้ธรรมะรู้ว่ามีทุกอย่าง แต่ไม่มีความรู้สึกยึดถือ เข้าใจ สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรในสิ่งนั้น จิตนั้นจึงว่าง เพราะไม่มีตัวที่จะเป็นตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวเองหรือเป็นตัวผู้อื่น และว่างเพราะไม่มีอะไรที่จะเอาไว้เป็นของตัว เป็นจิตที่ไม่ได้ยึดถืออะไร ไม่คุมอะไร จึงเรียกว่ามันว่างเหมือนมือที่ว่างที่ไม่ยึดถืออะไร คำว่าว่างหรือจิตว่างในภาษาธรรมะจึงหมายถึงว่ามีอะไรทุกอย่างครบไปหมด แต่มิได้มีความสำคัญมั่นหมาย หรือความรู้สึก หรือเป็น Conception อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นตัว ฉันหรือเป็นของฉัน นั้นแหละคือความที่ไม่มีอะไรหรือไม่เป็นอะไรในขั้นแรก
แต่แล้วที่ว่าใครเล่าจะเป็นธรรมทูต หรือใครเล่าที่จะไม่เป็นอะไร ก็ต้องตอบว่าใจนั่นเอง ร่างกายนั้นไม่ต้องพูดถึง มันเป็นของไม่มีความรู้สึก เป็นเพียงเปลือกนอกให้ใจอาศัย เหมือนเปลือกหอยที่ให้ปูเสฉวนอาศัย ใจข้างในนั้น มีอะไรประกอบกันอยู่ เป็นส่วนประกอบหลายๆอย่าง อย่างที่เรา เรียกว่านามนี้ ประกอบอยู่ด้วย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนที่เป็นจิตก็มีหน้าที่กระทำ ส่วนที่เป็นเจตจิตก็มีส่วนที่ประกอบการกระทำ ดังนั้น สิ่งที่รวมๆเรียกว่าใจนี้เองเป็นผู้รู้สึก เป็นผู้กระทำ โดยที่ตัวมันเองไม่ต้อง เป็นตัวตนตามความหมายของ บุคคลผู้ไม่รู้อะไรว่าเป็นตัวฉัน จิตนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก อธิบายได้ยากเป็นธรรมชาติ ทางฝ่ายนามธรรมอันหนึ่งซึ่งรู้สึกอะไรได้ และบังคับควบคุมร่างกายด้วย ถ้าไม่รู้ความจริงจิตนี้ก็มีตัวฉัน มีอหังการ มีมมังการ เป็นไปในทางยกหู ชูหาง อยากดีอยากเด่นเป็นธรรมดา อยากอวดสิ่งที่ตนรู้ เหมือนที่คนทั่วไปทุกคนรู้อะไรก็อยากจะให้ผู้อื่นรู้ว่าตนรู้สิ่งนั้น แม้ที่สุดแต่ว่ามีงูอยู่ที่นั่นตัวหนึ่ง ก็อดปากบอนไม่ได้ที่จะเที่ยวบอกว่ามีงูอยู่ที่นั้นตัวหนึ่ง ก็มีนิสัยอยากเป็นผู้รู้ และเป็นผู้เหนือผู้อื่นในทางที่จะเป็นผู้รู้ นี้ก็เป็น Instinct อันหนึ่งด้วยได้ ซึ่งเราจะต้องควบคุมมันคือสัญชาตญาณแห่งการที่จะยกหู ชูหางเหนือผู้อื่น แต่แล้วก็ควรจะดัดแปลงได้ คือแทนที่จะปล่อยไปตามอำนาจของมัน ก็ควบคุม ปรับปรุง หรือ ดัดแปลง คือ Sublimate มาในทางที่เป็นประโยชน์คือไม่เป็นทุกข์แก่ตัวเองด้วย แก่ผู้อื่นด้วย
ดังนั้น เมื่อจะสอน ก็จะสอนด้วยความรู้สึกที่ควบคุมแล้ว อย่างพระธรรมทูตก็จะพูดจะสอน ก็ไม่ใช่โอ้อวด โอ่อวดเหมือนที่เราเคยกล่าวกันมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่จะต้องด้วยความรู้สึกที่ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวฉัน ไม่เป็นอะไรเลย เป็นจิตว่างบริสุทธิ์แล้ว ให้มันทำงานไปตามหน้าที่ คือ รู้อะไรหรือรู้สึกอะไรตามที่เป็นจริงแล้วก็บรรยายไป อย่างนี้แหละจึงจะสำเร็จประโยชน์สูงสุดตรงตามหน้าที่ของพุทธบุตรแห่งพระพุทธองค์ เราจงสำนึกในข้อที่ ที่แท้เราไม่เป็นอะไร ที่แท้เราไม่เป็นอะไร ที่แท้เราไม่เป็นอะไรนี่แหละ ให้ประจำอยู่ในใจเป็นอานาปานสติ รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ เราจึงจะไปสอนพุทธศาสนาที่แท้จริงและถูกต้องให้แก่โลกได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จะมิเป็นการสอนอะไรเลย เพราะเราก็เป็นอะไรอยู่มากๆ มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ก็เป็นอะไรอยู่มากมาก และจะไปสอนอะไรกัน เพราะมีกิเลสเหมือนกันและเท่ากัน มีนั่นมีนี่ เป็นนั่นเป็นนี่ให้ยุ่งไปหมด ยิ่งพวกฝรั่งด้วยแล้วเค้ายิ่งเป็นอะไรมีอะไรได้เก่งกว่าเรา เราจะไปเป็นลูกน้องเขามากกว่า ไปเดินตามก้นเขามากกว่า ดังที่คนไทยส่วนมากกำลังเดินตามก้นฝรั่งอยู่ในบัดนี้ นี้คือข้อที่ไม่มีอะไรเหนือกว่า มันจึงทำกันไม่ได้ สอนกันไม่ได้ พวกฝรั่งนั้นที่เลวก็เลวไป จนไม่มีศีลธรรมมีแต่กิเลส แต่ส่วนที่ยังดียังมีศีลธรรม มีวัฒนธรรมก็ยังคงมีอยู่มาก และเขาก็มีวัฒนธรรมในทางที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ เอานั่นเอานี่ ได้ดีกว่าเรา คือเขาเป็นอะไรได้ดีกว่าเรา เราก็จะไปพ่ายแพ้กันที่ตรงนี้ ที่เราจะชนะได้ก็มีทางเดียวคือ เราไม่เป็นอะไร ตามแบบของพระพุทธองค์ และไปสอนเขาให้รู้จักไม่เป็นอะไรเสียบ้าง ว่าเป็นอะไร มีอะไรก็เป็นไปตามสมมุติเถิด ที่แท้จริงอย่าเป็นอะไร และเขาก็จะมีความดับทุกข์ ดับทุกข์ ได้สิ้นเชิง มีความสุขชนิดแท้จริง ในภาษาธรรมะเหมือนพระอริยะเจ้าในพระพุทธศาสนาได้ ที่เราไปประกาศพรหมจรรย์เพื่อความเป็นพระอริยะเจ้าแก่คนทั่วไปในโลก
ดังนั้น เราจะต้องเป็นพระอริยะเจ้าอย่างน้อยในอันดับใดอันดับหนึ่ง แม้แต่ในขั้นตระเตรียมก็ยังดี กว่าที่จะไม่เป็นเสียเลย ข้อนี้สำเร็จได้ด้วยการที่เราไม่เป็นอะไร มีความรู้อย่างถูกต้องในการที่จะไม่เป็นอะไร และสำคัญมั่นหมายในทางที่จะไม่เป็นอะไร จึงจะเรียกว่าเป็นผู้รู้ธรรม และเป็นธรรมทูต มีธรรมสำหรับไปเผยแผ่ คิดดูให้ดีแล้ว จะรู้สึกได้ด้วยตนเองทุกๆองค์ว่า เราต้องสนใจในความไม่เป็นอะไรนี้ให้มากกว่าการเล่าเรียนอย่างอื่นหรือในแขนงอื่น ทุกวันที่เราพูดกันและแสดงบทบาทอะไรออกมาเป็นประจำวันนี้ แสดงให้เห็นอยู่ชัดยิ่งขึ้นว่า เราขาดความรู้ในส่วนเนื้อแท้ของธรรม คือความที่จะไม่เป็นอะไร เรามีความรู้ในส่วนภาษา หรือส่วนอื่นๆแต่แล้วก็กลับจะส่งเสริมไปในทางที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นครูบาอาจารย์ เพราะความรู้แม้แต่ทางภาษาก็ยังไม่ไหว มันก็ยิ่งอธิบายความที่ไม่เป็นอะไรนั้นไม่ได้มากขึ้นทุกที อธิบายได้แต่ความเป็นอะไร ตามความรู้สึกของตนไปอย่างกระท่อนกระแท่น นี้มันก็เป็นการแสดงว่าจักต้องล้มเหลวเป็นแน่นอน ดังนั้น ขอให้เราเพิ่ม พยายามเพิ่ม หรือรีบเร่ง ในส่วนที่เป็นความรู้อันแท้จริง คือ ความไม่เป็นอะไร คือตัวธรรมะแท้ในพุทธศาสนานั้น ให้มากให้ทันกันกับความรู้ประกอบ ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการเผยแผ่ หัวใจของพุทธศาสนา จะต้องสรุปอยู่ในประโยคสั้นๆว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สัพเพ ธัมมา สิ่งทั้งหลายทั้งปวง นาลัง ไม่ควร อภินิเวสายะ ที่จะฝังตัวเข้าไปว่าเป็นเราหรือของเรา อย่างที่เราได้ยินกันชินว่า แปลว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ในที่นี้ ก็หมายความว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่ควร ที่ใครๆจะไปรู้สึกว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวเราหรือเป็นของเรานั้นเอง มีผู้ไปทูลถามพระพุทธองค์ว่า ให้ทรงประมวลธรรมะทั้งหมด เป็นข้อความสั้นๆ เป็นประโยคสั้นๆจะได้หรือไม่ และว่าอย่างไร พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสพระพุทธวัจนะสั้นๆประโยคนี้ดังที่ปรากฏอยู่ใน มัชฌิมนิกาย เราจึงถือว่าสิ่งทั้งปวง อันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวเราหรือของเรานี้แหละ ว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เป็นหัวใจของธรรมะ เป็นตัวธรรมะแท้ที่จะมาประกอบกันเข้ากับ คำว่าธรรมทูต คือทูตแห่งธรรม คือทูตแห่งความจริงข้อนี้ ว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้นเอง เราจะไปบอกให้รู้กันทั่วโลกว่า ความจริงหรือธรรมะนั้นเป็นอย่างนี้ คนจะได้เข้าใจความจริงของธรรมชาติข้อนี้ และมีความรู้สึกเป็นอยู่ด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่ามี ว่าเป็นอะไรเลย สิ่งเหล่านั้นก็กลายเป็น ของที่ไม่ทำความทุกข์ให้แก่ผู้นั้น จะมีทรัพย์สมบัติเกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทองอะไรเท่าไรก็ได้ มันจะไม่ทำความทุกข์ให้แก่ บุคคลที่ยึดมั่นถือมั่น และอำนวยความสะดวกสบายเสียอีก แต่ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นแล้วทุกอย่างที่มีมันจะระดมกันตบหน้าคนผู้นั้นเอง สุมเผาบุคคลผู้นั้นเอง หรืออย่างน้อยที่สุดมันก็มาสุมอยู่บนศีรษะของบุคคลนั้น แล้วมันก็จะหนักเท่าไร ขอให้ลองคิคดูว่า ถ้าหากวัวควายไร่นาทั้งหมด มาสุมอยู่บนศีรษะของคนผู้เป็นเจ้าของแล้ว มันน่าจะทุเรศเท่าไร ก็ขอให้ลองคิดดู
นี่แหละ คือ ข้อที่พระพุทธศาสนาได้สอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ในฐานะเป็นหัวใจที่เราจะนำไปเผยแผ่ให้รู้ว่าโดยที่แท้นั้นเราไม่เป็นอะไรกันเลย ไม่ว่าใคร ไม่ว่าคนไหนโดยที่แท้นั้นไม่เป็นอะไรเลย แต่ที่ไปสำคัญมั่นหมายเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาต่างต่างนานา วันหนึ่งเป็นหลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้งพันครั้งนั้น เพราะอำนาจความไม่รู้ธรรมไม่รู้ความจริง แล้วก็ได้เป็นทุกข์ทุกที ตามที่ได้มีความรู้สึกขึ้นมาว่า ตนเป็นอะไร เป็นพ่อก็เป็นทุกข์อย่างพ่อ เป็นแม่ก็เป็นทุกข์อย่างแม่ เป็นลูกก็เป็นทุกข์อย่างลูก ที่ยกเป็นตัวอย่างเป็นเศรษฐีก็ทุกข์อย่างเศรษฐี เป็นขอทานก็ทุกข์อย่างขอทาน เป็นเทวดาก็ทุกข์อย่างเทวดา เป็นมนุษย์ก็ทุกข์อย่างมนุษย์ เป็นคนมีบุญก็ทุกข์อย่างคนมีบุญ เป็นคนมีบาปก็ทุกข์อย่างคนมีบาป และในที่สุดต้องเข้าใจให้ดีว่า คนมีทุกข์ก็ทุกข์อย่างคนมีทุกข์ คนมีสุขก็ทุกข์อย่างคนมีสุข ถ้าหากว่ายึดมั่นถือมั่นว่าตน ว่ากูเป็นผู้มีสุข ที่แท้เราไม่ได้เป็นอะไรเลยนี้ ก็จะไม่มีความทุกข์เลย เราไปสอนธรรมะอันประเสริฐ หรือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่ทำให้ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย หรือเรียกว่า อมตะธรรมนี้แก่คนทั้งหลายในโลก ตามพระพุทธบัญชาให้ถูกต้อง ให้ตรง ให้สุดความสามารถของเรา ซึ่งจะต้องเตรียมตัวกันเสียแต่บัดนี้ เพื่อให้ตนเองไม่เป็นอะไรเสียก่อนโดยเนื้อแท้ โดยที่แท้ แล้วจึงไปสอนข้อเท็จจริงอันนี้แก่ใครๆก็ได้ ไปสอนความจริงอันเป็นปรมัตถสัจจะนี้แก่คนทุกคน ที่มีอุปนิสัยพอที่จะเข้าใจได้ ไม่เป็น อภัพพสัตว์เกินไปแล้ว ก็ต้องเข้าใจได้วันหนึ่งโดยแน่นอน พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยนั้นก็มีอยู่ จึงจะได้ทรงแสดงธรรม พยายามแสดงธรรม แม้แต่ในสมัยนี้ เราก็เชื่อได้ว่าคนที่มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยนั้น ต้องมีอยู่โดยแน่นอนนั้นเหมือนกัน เพราะว่ามีการศึกษาอบรมก้าวหน้ามาก คนที่ไม่ตกเป็นทาสของกิเลสเสียโดยส่วนเดียวก็จะยังมีอยู่ เราก็มุ่งหวังเฉพาะคนประเภทนี้ เช่นเดียวกับพระพุทธองค์ที่ทรงมุ่งหวังคนประเภทนี้แล้วจึงทรงแสดงธรรม ปรชกฺข ชาติกา สัตว์ที่มีซากแห่งความมีธุลีในดวงตาเล็กน้อยนั้นก็มีอยู่ สัตว์ประเภทนี้ จะเข้าใจคำพูดที่ว่าที่แท้เราไม่เป็นอะไรเลยได้โดยแน่นอน หวังว่าเพื่อนธรรมจารีย์ทั้งหลาย จักได้สนใจข้อนี้เป็นพิเศษ แล้วความเป็นธรรมทูตของเราจะสมบูรณ์ และยังบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นแน่นอน เวลาที่กำหนดไว้สำหรับพูดจาก็หมดลงเท่านี้