แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันพระที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๐ ลงปาฏิโมกข์ธรรมะ หัวข้อเรื่องได้เสีย เป็นที่เกิดของความรู้สึกหรือการบัญญัติว่าดีว่าชั่ว ว่าบุญว่าบาป ว่าสุขว่าทุกข์ ก็เป็นเรื่องที่น่าจะพูดซ้ำพูดย้ำอีก ซ้ำอีก ย้ำอีก เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือ มันไล่ ไป เอ่อ, จากข้างบน ก็คือ จากความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นเหตุให้เป็นทุกข์นี่ ถ้าเราไล่ลงไปจากความยึดมั่นถือมั่น ก็ลงไปถึงไอ้เรื่องได้เสีย ความรู้สึกว่าได้ว่าเสียเป็นเหตุให้เกิด ความยึดมั่นถือมั่นมากขึ้น ๆ หรือถ้าไล่ขึ้นมาจากความรู้สึกว่าได้เสีย มันก็ขึ้นมาจนถึงไอ้ความยึดมั่นถือมั่น ที่ต้องขอให้นึกซ้ำ ก็มีใจความสำคัญตรงที่ว่า ความรู้สึกว่าเราได้หรือเราไม่ได้นี่ มันเป็นสิ่งที่เกิดเอง ตามธรรมชาติ มีอยู่เองตามธรรมชาติ รู้สึกว่าได้หรือรู้สึกว่าไม่ได้นี่ มันก็รู้สึกได้เองตามธรรมชาติ จนกล่าวว่า จนกล่าวได้ว่า ถ้ามันมีชีวิต ถ้ามันมีชีวิตแล้วมันก็ต้องมีความรู้สึกเรื่องได้เรื่องเสีย เพราะว่าสิ่งที่มีชีวิตก็ต้องมีความรู้สึกเรื่องเป็นเรื่องตาย เรื่องอยู่เรื่องตายนั้นแหละ สิ่งที่มีชีวิต ฉะนั้น มันจึงดิ้นรนเพื่อจะอยู่ ดิ้นรนเพื่อจะอยู่ไม่อยากตาย ฝ่ายอยู่นั่นนะคือ ได้ ฝ่ายตายนะคือ เสีย พูดอย่างสมัยใหม่ก็ว่า ฝ่ายอยู่นี่มันเป็น positive ฝ่ายตายเป็นฝ่าย negative ฉะนั้น มันมีความรู้สึกเป็นรากฐานมาแต่เดิม มาแต่ดั้งเดิมของสิ่งที่มีชีวิต มันน่าขำที่เขาเถียงกันที่กรุงเทพฯ ว่า ต้นไม้มีวิญญาณหรือไม่ แล้วก็เถียงกันจน จนพูดคำหยาบต่อกัน พวกอภิธรรมก็ว่าต้นไม้ไม่มีวิญญาณมีแต่ชีวิต มหาพรก็ว่าต้นไม้มีวิญญาณ มีจิตมีวิญญาณ ถ้าพูดกันอย่างนี้ ผมอยู่เข้า เข้าข้างฝ่ายมหาพร คือ พูดว่าถ้ามันมีชีวิตแล้วมันต้องมีความรู้สึก ถ้ามันมีชีวิตแล้วมันต้องมีความรู้สึก ไอ้ความรู้สึกนั่นแหละคือ วิญญาณ เช่นต้นไม้มีชีวิตอย่างนี้ มันต้องมีความรู้สึก แม้ว่าความรู้สึกจะน้อยมาก ก็ต้องมีความรู้สึกว่าได้หรือว่าเสีย คือว่าเราจะอยู่หรือเราจะตาย มันรู้สึกนะ ต้นไม้นี่มันดิ้นรนเพื่อจะอยู่ ไม่อยากตาย ฉะนั้น จึงต่อสู้ ออกรากไปทางที่จะได้น้ำกิน อันไหนเป็นอันตรายก็พยายามสลัดออกไป ต่อสู้ที่จะสืบพันธุ์เอาไว้ ไม่ให้สูญพันธุ์ ฉะนั้น ถ้าเราแกล้งทำต้นไม้เหมือนจะทำให้มันตายนี่ มันจะรีบออกลูกทันที แล้วต่อสู้ไม่ยอมตายจนกว่าลูกนั้นจะแก่ จะสืบพันธุ์ได้ มันจึงจะยอมตาย หรือว่าถ้าเราตัดไอ้ ๆ กิ่งไม้ที่มีลูกอ่อน ๆ ไปปักนี่ กับกิ่งไม้ที่ไม่มีลูกไปปักนี่ ถ้ามันจะต้องตายแล้วก็ ไอ้กิ่งที่ไม่มีลูก จะตายก่อน คือ สมัครตายได้ง่าย ๆ ไอ้ที่มีลูกนี่จะดิ้นรนรักษาลูกไว้ทีก่อนเพื่อสืบพันธุ์ เพื่อเหลือพันธุ์ ตามหลักของไอ้พวกชีววิทยาอธิบายไว้ชัดเจนมาก ที่ต้นไม้พยายามจะสืบพันธุ์อย่างนี้ต้องทำไปด้วยความรู้สึกทั้งนั้น แต่ว่าไม่ใช่ความรู้สึกเต็มที่เหมือนมนุษย์ มันรู้สึกระดับหนึ่งอย่างต้นไม้ ต้นไม้ดิ้นรนที่จะสืบพันธุ์ แล้วก็ได้สืบพันธุ์ หลายวิธีด้วยกัน มันต้องพยายามจนสืบพันธุ์ได้ จึงไม่สูญพันธุ์ มันไม่สูญพันธุ์มาจนกระทั่งบัดนี้ ถ้าเลวหรือต่ำไปกว่าต้นไม้ เช่นในชีวิตเซลล์เดียว เป็นเซลล์พืชหรือเซลล์สัตว์ก็ตาม มันก็ยังมีความรู้สึกที่จะสืบพันธุ์ พวกจุลินทรีย์ต่าง ๆ นะ มันพยายามจะสืบพันธุ์ ขยายพันธุ์ ไม่ยอมสูญพันธุ์ ต่อสู้เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ฉะนั้น มันจึงมีอยู่และมากขึ้น และแปลก ๆ ขึ้น บางชนิดก็เกิดลูกออกมา บางชนิดก็ขาด ๒ ท่อน บางชนิดก็งอกปุ่มออกไปแล้วขาดหลุดไปเป็นตัวใหม่นี่ นั่นแหละเป็นเจตนาที่จะสืบพันธุ์ ก็เพื่ออยู่ เพื่อมีชีวิตอยู่ เพื่อคงอยู่ นี่คือเพื่อได้ แล้วมันก็ไม่ต้องการไอ้เสีย ดังนั้น เราจึงถือเป็นหลักว่า ความรู้สึกที่เป็นพื้นฐานอันแรกที่สุดคือ ความรู้สึกว่าได้และว่าเสีย ได้คือได้อยู่ เสียคือตายไป ไอ้ได้ของ ได้เงิน ได้อะไรนี่ ก็เพื่ออยู่ เพื่อประกอบการอยู่ ฉะนั้น มันจึงมีความสำคัญอยู่ที่ได้อยู่ ได้มีชีวิตอยู่ ถึงเราจะได้ข้าว ได้น้ำ ได้เครื่องนุ่งห่ม ได้อะไรก็ตาม มันก็เพื่ออยู่ ได้เกียรติยศชื่อเสียง อำนาจวาสนา อย่างนี้มันก็เพื่ออยู่ ฉะนั้นบรรดาได้ทั้งหมดนี่ก็เพื่ออยู่ คือ ถ้าไม่ได้ มันก็เพื่อไม่อยู่ ก็จะตายลง ก็จะดับลง นี่ไม่ต้องการดับลง ฉะนั้นสรุปความว่าไอ้เรื่องความรู้สึกว่าได้ว่าเสียนี่เป็นความรู้สึกพื้นฐาน นับตั้งต้นมาตั้งแต่สัตว์ที่ยังเป็นเพียงเซลล์ เซลล์เดียว และสัตว์ที่ประกอบกันหลายเซลล์ เป็นต้นไม้ แล้วก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วก็เป็นมนุษย์ ถ้าเราจะพูดถึง เอ่อ, เทวดา พรหม บ้างก็เหมือนกันอีก ถ้าถือตามบาลี พวกพรหมเป็นพวกที่กลัวตายที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย เขาบัญญัติพวกพรหมเป็นสัตว์ที่กลัวตายมากที่สุด เพราะเขาพอใจในความเป็นอยู่อย่างสูงสุด อย่างที่เรียกว่าขั้นสูงสุด ดีที่สุด ฉะนั้น จึงไม่อยากตายมากที่สุด พวกเทวดาก็ไม่อยากตายยิ่งกว่าพวกมนุษย์ ฉะนั้น เลยไม่ได้ฟังเรื่องเทวดาโดดน้ำตาย ฆ่าตัวตาย แต่มนุษย์นี่มีมาก หมายความว่ายิ่งพอใจในความเป็นอยู่ของตัวเท่าไร ก็ยิ่งไม่อยากตายเท่านั้น นี่เรื่องได้เรื่องเสีย ตรงกันข้ามอย่างนี้ มันเป็นรากฐานความรู้สึกทั้งหลายแหล่ ที่ ที่ทำให้เกิดเป็นตัณหาขึ้น คือความทุกข์ เรารักที่จะได้ มันก็มีความทุกข์ เรากลัวที่จะตาย มันก็มีความทุกข์ ฉะนั้น จิตที่เป็นอิสระ ที่อยู่เหนือความรู้สึกเหล่านี้เท่านั้น จึงจะไม่เป็นทุกข์ นี้เป็นข้อแรก เป็นเงื่อนอันแรก เรื่องได้เรื่องเสีย ทีนี้เมื่อมนุษย์มันมีความคิด มีการพูด คำพูด บัญญัติ พูดมาก มันจึงมีเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องดีเรื่องชั่วเข้ากันได้กับเรื่องได้เรื่องเสีย ส่วนสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่มีการพูด ไม่มีการบัญญัติคำเป็นชั้น ๆ อย่างนี้ มันก็คงมีแต่ความรู้สึกเรื่องได้เรื่องเสียอย่างเดียว ไม่มีคำพูด ไม่มีความรู้สึกที่ว่า ดี ชั่ว บุญ บาป สุข ทุกข์ หรืออะไรทำนองนั้น ไม่รู้ ถ้านึกถึงคัมภีร์ไบเบิ้ลที่เขาบัญญัติ ต้นไม้ ให้กินแล้วให้เกิดความรู้สึกดีชั่วนั้นนะ นั่นหมายความว่าตั้งต้นเมื่อมนุษย์รู้เรื่องดีชั่วนะ ข้อความนั้นหมายความว่า มันตั้งต้นเมื่อมนุษย์รู้สึกว่าดีว่าชั่ว คือสูงกว่าสัตว์แล้ว สัตว์จะรู้สึกแต่ได้กับไม่ได้ คือได้กับเสียเท่านั้น ฉะนั้น มนุษย์เริ่มเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ก็เมื่อรู้สึกถึงความหมายที่มนุษย์จะใช้พูดจากันคือ เรื่องดีเรื่องชั่ว ดีก็คือได้ ชั่วคือไม่ได้ แต่แล้วมัน เอ่อ, บัญญัติไปทางที่มีระเบียบเป็นศีลธรรมมากขึ้น ถ้าเอาแต่ว่าได้เสียอย่างเดียว ไอ้ความรู้สึกเลว ๆ มันก็มี คือ เอาแต่ได้อย่างเดียว มันก็เกิดการเบียดเบียนผู้อื่นสิ เช่นว่าเสือมันก็จะกินเนื้อ ได้แล้ว ได้กินก็แล้วกัน ก็เป็นการถูกต้องของเสือ แต่มนุษย์นี่เราไม่ยอมรับอย่างนั้น ไม่มีสิทธิที่จะฆ่าผู้อื่นหรือกินผู้อื่น ฉะนั้น จึงต้องมีพูดถึงเรื่องว่าได้ชนิดไหนเป็นการดี ได้ชนิดไหนไม่ดีขึ้นมา นี่ศีลธรรมก็เริ่มตั้งต้น โดยการบัญญัติว่าไอ้ที่เรียกว่าได้นั้นต้องได้ไปในทางที่เรียกว่าถูกวิธี คือได้ที่ดี ถ้าได้ไม่ดีก็คือเสีย เช่นว่าได้ไปฆ่าเขา ได้ไปเอาของเขามาอย่างนี้ ได้มาก็จริง แต่ได้มาเพื่อฆ่าตัวเอง อย่างนี้ก็เท่ากับว่าไม่ได้ ฉะนั้น ได้ที่ถูกต้องจึงต้องหมายถึงได้มาอย่างที่ไม่เป็นการฆ่าตัวเองไม่เสียอะไรไปอีกจึงจะได้ จึงจะเรียกว่า ได้ ฉะนั้น คำว่าได้ ที่ถูกต้องของมนุษย์ ก็ต้องได้ชนิดที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นแก่ตัวเอง หรือเสียขึ้นแก่ตัวเองทีหลัง ส่วนเรื่องเสียก็เป็นเรื่องเสียไป ฉะนั้น เมื่อเราบัญญัติว่าดี ชั่ว บุญ บาป สุข ทุกข์ นี้มันก็ถือหลักศีลธรรมนี่เป็นหลัก คือ ดีก็ดีจริง ชั่วก็ชั่วจริง สุขก็สุขจริง ทุกข์ก็ทุกข์จริง ตามการบัญญัติ แต่ว่าขอให้นึกไว้ไม่ลืมว่า ไอ้เรื่องได้เรื่องเสียนั่นนะคือ ความรู้สึกที่ต้องระวัง ถ้าไม่ระวังมันจะเป็นการได้อย่างเลวเข้ามา นั่นคือเสียนะ ได้ผิด ผิด ผิดธรรมะ ผิดศีลธรรม ได้อย่างเลว เช่น โกงเขามา อะไรเขามา นั่นมันคือเสีย ไม่ใช่ได้ ได้อย่างสัตว์เดรัจฉานได้ มันไม่ใช่ได้เสมอไป มันได้อย่างสัตว์เดรัจฉาน แต่อย่างมนุษย์ใช้ไม่ได้ มนุษย์ต้องมาปรับปรุงกันใหม่ ต้องเป็นการได้ที่ไม่เป็นการเสียขึ้นมา ฉะนั้น เพียงแต่ว่าได้โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่นนี่มันก็ใช้ไม่ได้สำหรับมนุษย์ แต่ถ้าสำหรับสัตว์ ในโลกของสัตว์เดรัจฉานมันก็ได้ แต่แล้วมันก็มีแง่ที่แสดงให้เห็นว่า มันไม่ควรเหมือนกัน เพราะว่าการที่ไปกินเขา เขาก็ต้องต่อสู้ ต่อสู้บางทีตัวเองก็ต้องตายเหมือนกัน บางทีสัตว์ อ้า, สัตว์ที่มันมีเขี้ยว มีเขา อะไร มันก็เล่นงานเอาเสือหรือสิงโตตายได้เหมือนกัน ที่จะกินมัน นี่ก็ไม่ใช่ได้นะ มันก็เป็นเรื่องเสีย ทีนี้เราก็วางหลักได้โดยไม่มีผิด ว่าไอ้ได้ขึ้นมาตามลำดับหรือเสียขึ้นมาตามลำดับนี่ คือ คู่กันกับว่า ดี ชั่ว บุญ บาป สุข ทุกข์ สุขก็คือได้ ทุกข์ก็คือไม่ได้ บุญก็คือได้ บาปก็คือไม่ได้ ดีก็คือได้ ชั่วก็คือไม่ได้ ไม่ได้สิ่งที่ควรจะได้อย่างถูกต้อง ทีนี้มาถึงขั้นที่ ๓ ก็คือขั้นที่จะเกิดอุปาทาน ยึดมั่น ยึดมั่นจนเป็นทุกข์ อุปาทานในเรื่องได้เรื่องเสีย ไอ้อุปาทานมันก็ทำหน้าที่พร้อมกันไป คือว่ายึดส่วนที่จะได้และก็ยึดในส่วนที่จะไม่ให้เสียคือ ยึดส่วนเสียว่าเป็นส่วนที่น่ากลัว อย่างไร ๆ ก็ไม่เอาแน่ ยึดส่วนได้ว่าจะเอาแน่ ฉะนั้น รวมกันทั้ง ๒ อย่างนี่มันจึงเป็นอุปาทานเต็มที่ เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องได้เรื่องเสียคือ เรื่องรากฐาน ความคิดรากฐานที่ทำให้เกิดอุปาทาน อุปาทานก็คือต้นเหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ฉะนั้นปัญหาของเรามันอยู่ที่ความทุกข์ซึ่งมาจากอุปาทาน ตรงนี้ต้องขอเตือนกันไว้บ่อย ๆ ว่าถ้าพูดว่าความทุกข์แล้วก็ต้อง ต้องหมายถึงไอ้ความรู้สึกที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน อย่าถือตามตัวหนังสือที่ท่อง ๆ กันโดย ไม่ระมัดระวังว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์นี่ มันเข้าใจผิดได้ ถ้าไม่มีอุปาทานแล้วความเกิดก็ไม่เป็นทุกข์ ความแก่ก็ไม่เป็นทุกข์ ความตายก็ไม่เป็นทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสในบาลี เราได้ยินได้ฟังและท่องกันอยู่ว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์นั้นหมายความว่า มันมีอุปาทานอยู่ในนั้น เพราะว่าถ้าไม่มีอุปาทานแล้ว ไม่เรียกว่าความเกิด ไม่เรียกว่าความแก่ ไม่เรียกว่าความตายก็ได้ ความเกิด ความแก่ ความตาย มีความหมาย มีความหมายขึ้นมาตามความหมายนี้ก็เพราะมันมีอุปาทานรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแต่เพียงว่า ความเกิด เราต้องเข้าใจเอาเองว่า ความเกิดที่มีอุปาทานยึดว่าความเกิดของเรา เมื่อพูดว่าความแก่ก็ต้องหมายความว่าความแก่ที่มีอุปาทานยึดว่าความแก่ของเรา เมื่อพูดว่าความตายก็หมายถึงความตายที่มีอุปาทานยึดว่าความตายของเรา ตามธรรมดาพอเราพูดถึงความเกิด ความแก่ ความตาย ก็หมายถึงของคนธรรมดาที่ยังมีอุปาทาน ถ้าของคนที่ไม่มีอุปาทาน ก็ไม่เรียกว่า ความเกิด ความแก่ เรียกว่าความเปลี่ยนแปลงของสังขารอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง ไม่เรียกว่าความเกิด ความแก่ ความตาย ฉะนั้น ความเกิด ความแก่ ความตายนี้ เป็นภาษาของคนธรรมดาที่มีอุปาทาน ภาษาธรรมะแท้ ๆ เรียกความเปลี่ยนแปลงของสังขารอย่างหนึ่ง ๆ หรือความรู้สึกของพระอรหันต์ ก็รู้สึก ในความแก่ อ้า, ความเกิด ความแก่ ความตายนี้ว่าเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของสังขารอย่างหนึ่ง ๆ แต่ทีนี้ชาวบ้านเขาไม่รู้สึกอย่างนั้นและเขาไม่ได้พูดอย่างนั้น เขารู้สึกเหมือนที่เขาพูด ความเกิดอย่างนั้น ความแก่อย่างนั้น ความตายอย่างนั้น น่ากลัวอย่างนั้น อย่างนี้มันเต็มไปด้วยอุปาทานอยู่แล้วในตัว ฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสตามภาษาชาวบ้าน ภาษาคน เรียกว่าตรัสตามภาษาคน ภาษาชาวบ้านว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ตรัสอย่างภาษาชาวบ้าน พอตรัสอย่างภาษาของพระอรหันต์ ภาษาของท่านเองกลับว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน คือ มีอุปาทานยึดถือ ยึดครองอยู่นั่นนะเป็นทุกข์ ฉะนั้น จึงสำคัญอยู่ที่ว่า อุปาทานเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวให้ทุกข์ อุปาทาน มีในสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ฉะนั้น ความเกิดมันก็มีอุปาทานยึดว่าความเกิดของเรา ความแก่ก็มีอุปาทานยึดว่าความแก่ของเรา ความตายก็มีอุปาทานยึดว่าความตายของเราแต่โดยไม่รู้สึกตัว ทีนี้เราก็มาถึงคำว่าอุปาทาน ซึ่งต้องระวังให้ดีจากความรู้สึกว่าได้เสียนี่ มันสร้างอุปาทานขึ้นมา ที่จะเป็นเราหรือเป็นของเรา เราได้ เราเสีย ของเรามี ของเราไม่มี ดังนั้น หัวใจของพุทธศาสนาก็คือ เรื่องการทำลายอุปาทานนี้เสีย ทำลายความยึดมั่นถือมั่นนี้เสีย เป็นหัวใจของพุทธศาสนา แล้วก็ใช้ได้แก่ศาสนาอื่นทุกศาสนาเลย เรื่องทำลายอุปาทานนี้เสียแล้วจะดับทุกข์นี่ หลักอันนี้จะใช้ได้แก่ทุกศาสนา ไปดูให้ดีเถอะ หรือแม้ว่าไม่พูดไว้ตรง ๆ ก็พูดไว้โดยอ้อม หรือแม้ว่าเราพูดออกไป เขาจะค้านไม่ได้ สามารถจะทำให้เข้ากันได้กับทุกศาสนาที่สอนเรื่อง ความดับทุกข์ หมายถึงศาสนาที่ถูกต้อง ที่มีเหตุผลพอสมควร ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิแล้วเป็นศาสนา ทีนี้ก็อยากจะพูดเลยมาถึง อุปาทาน ๔ ที่เขียนไว้ตรงนั้น กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เราอาจจะเรียนกันมาผิด ๆ ซึ่งผมก็รู้สึกว่าเรียนมาผิด ทีแรกเรียนนักธรรมโท นักธรรม เรื่องเรียนอุปาทาน ๔ รู้สึกว่าเรียนมาผิด โดยพูดหรือแปลคำนี้ผิด ฉะนั้น อยากจะถือโอกาสพูดกับพวกเราที่เป็นนักธรรมนี่ ให้ไปคิดดูใหม่ เมื่อผมเรียนนักธรรมโทก็เรียนอุปาทาน ๔ กามุปาทาน แปลว่า ยึดมั่นในกาม นี่ผมยังจำได้ดีว่าครูสอนอย่างนี้ กามุปาทาน คือความยึดมั่นในสิ่งที่เป็นกาม เดี๋ยวนี้คุณครูสอนอย่างไร ใครเรียนนักธรรมเอกมาบ้าง กามุปาทาน ครูอธิบายว่าอย่างไร ยึดมั่นอะไร คนที่เป็นนักธรรมเอกแล้วนะนึกดูสิว่าครูสอนว่าอย่างไร นั่นแหล่ะยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส ที่เป็นที่น่ารักน่าพอใจ นั่นก็คือยึดมั่นในกาม เดี๋ยวนี้ชักจะมองเห็นว่าพูดอย่างนี้ไม่ถูก ยึดมั่นในกามนี่มันผิดอยู่ ผิดอยู่โดยไม่มีใครรู้ แล้วก็ไม่มีใครค้าน มันควรจะแปลหรือหมายความว่า ยึดมั่นด้วยความรู้สึกที่เป็นกาม คือความรู้สึกที่เป็นราคะหรือเป็นกามนั่นนะ ไปยึดมั่นอะไรเข้า ยึดมั่นในรูปเสียงกลิ่นรสก็ตาม ด้วยความรู้สึกที่เป็นกาม ที่เป็นกิเลสกาม ยึดมั่นด้วยความรู้สึกที่เป็นกิเลสกาม คำว่า กามุปาทาน ไอ้กามตัวนี้หมายถึงกิเลสกาม อุปาทานแปลว่า ยึดมั่น ยึดมั่นด้วยกิเลสกาม แล้วก็ยึดมั่นกันในชั้นวัตถุกามนั่นแหละ ในรูปเสียงกลิ่นรสที่เป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่ เรียก วัตถุกาม ยึดมั่นด้วยกิเลสกาม ในวัตถุกาม ถ้าว่า กาม ในคำว่า กามุปาทาน นี่มันหมายถึง กิเลสกาม ฉะนั้น ถ้าจะสอนกันให้ถูกหรือว่าพูดกันให้ถูก ต้องแปลว่า ยึดมั่นด้วยกาม นี่อย่างสั้นที่สุด ยึดมั่นด้วยกาม ถ้าสอนว่ายึดมั่นในกามนะมีทางผิด ยึดมั่นด้วยกาม และก็ในกามอีกทีนะได้ แต่ถ้าเอาเท่าที่ตัวหนังสือปรากฏว่า กามะ อุปาทานะ แล้วก็ยึดมั่นด้วยกาม กามนี้คือความรู้สึกที่เป็นความต้องการในทางกิเลสกาม ทีนี้มันก็จะเข้าเรื่องกันหมด กามุปาทาน ยึดมั่นด้วยความรู้สึกที่เป็นกาม คุณเขียนอย่างนั้นดีกว่า ยึดมั่นด้วยความรู้สึกที่เป็นกาม ทีนี้ ทิฏฐุปาทาน ก็ยึดมั่นด้วยทิฏฐิเลย นี่มันต่างกันแล้วไหม สีลัพพตุปาทาน ก็ยึดมั่นด้วยศีลวัตรที่เคยทำมาอย่างโง่เขลางมงาย ทีนี้ อัตตวาทุปาทาน ก็ยึดมั่นด้วยวาทะ ว่าตน ยึดมั่นด้วยความสำคัญว่าตน ทีนี้คุณจะเห็นได้ว่า มีแต่คำว่า ด้วย ไม่มีคำว่า ใน ด้วย ๆ ด้วย ๆ ๔ ด้วย ด้วยกัน ยึดมั่นด้วยกาม เขาหมายถึงกิเลสกาม เอากิเลสกามมาเป็นเครื่องมือไปยึดในวัตถุกาม ยึดมั่นด้วยกาม ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ ยึดมั่นด้วยศีลวัตร ยึดมั่นด้วยอัตตวาทะ ทีนี้สิ่งที่ถูกยึดมั่นนั้น มันก็คือขันธ์นั่นแหละ คือ เบญจขันธ์นั่นแหละ เบญจขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้มี ๕ เป็นสิ่งที่ถูกยึดมั่น เราจะยึดมั่นไอ้ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ด้วยความรู้สึกที่เป็นกามก็ได้ ด้วยทิฏฐิก็ได้ ด้วยศีลวัตรก็ได้ ด้วยอัตตวาทะก็ได้ ไอ้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่มัน มันแทนกันได้กับว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าเรียนอภิธรรมมาแล้วก็รู้ได้ดีว่าอันไหนเป็นอันไหน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ อย่างนี้มันสงเคราะห์กันได้กับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ฉะนั้น มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน บางทีไประบุเอา ดิน น้ำ ลม ไฟก็มี ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ก็มี ไประบุเอาธาตุ ๖ ก็มี เป็นวัตถุของความยึดมั่นถือมั่น ได้ทั้งนั้นเลย จะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ได้ จะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ได้ จะเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ก็ได้ มันยึดมั่นได้ทั้งนั้น ที่ว่ายึดมั่นด้วยกิเลสกามก็หมายความว่า มันไปในทางกามารมณ์ ถ้ายึดมั่นในทางทิฏฐิก็ในทางเป็นนั่นเป็นนี่ อย่างนั้นอย่างนี้ ยึดมั่นในทางศีลวัตรก็หมายความว่า มันงมงาย งมงายกับสิ่งเหล่านั้น ยึดมั่นด้วย อัตตวาทะ ก็คือ เป็นตัวกู เป็นของกู เรื่องอุปาทาน ๔ นี่ควรจะนึกกันเสียใหม่ ด้วยคำ คำแรกที่ว่า กามุปาทาน ยึดมั่นด้วยกาม ในอะไรก็ได้ ในสิ่งที่เป็นวัตถุของกาม ในอะไรก็ตามใจ ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ ก็คือเอาทิฏฐินี่เข้าไปจับฉวยสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างโน้น เราถูก เขาผิด อย่างนี้ ทีนี้ สีลัพพตุปาทาน ศีลวัตรที่ประพฤติมาจนชินด้วยความงมงาย มันก็ในเรื่องที่เกี่ยวกับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อีกนั่นแหละ ไม่ใช่ไปเรื่องอื่น เราเคยงมงายในเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาอย่างไร งมงายอยู่อย่างนั้น ส่วนยึดมั่นด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู ว่าของกู นี่มันชัดเจนแล้ว ยึดมั่นไปในทางเป็นตัวเป็นตน สำหรับคำว่า อัตตวาทะ วาทะ นี่ไม่ได้แปลว่า คำพูด แปลว่าคำพูดก็จริง แต่ไม่ได้หมายถึงคำพูด มันหมายถึง ทิฏฐิ ความคิดความเห็นที่เป็นเหตุให้พูด คำว่า วาทะ ในที่เช่นนี้หมายถึง ความเข้าใจที่เป็นเหตุให้พูด อย่าเข้าใจ วาทะ ว่าคำพูด มักจะไปสอนว่า ยึดมั่นด้วยคำพูดว่าตน อย่างนี้มันผิด ยึดมั่นด้วยลัทธิความคิดความเห็นที่เป็นเหตุให้พูดว่าตนนะถูก มีคนที่มีเกียรติเขาว่าอาจารย์เข้าใจคำนี้ผิด เดาเอาเอง ว่า วาทะ แล้วก็แปลว่าคำพูดไปหมด นี่น่าละอาย คำว่า วาทะ ในลักษณะอย่างนี้ ไม่แปลว่าคำพูด แต่แปลว่าลัทธิ แปลว่าลัทธิ ที่ภาษาอังกฤษเขามีคำว่า ism คือคำว่า วาทะ ในที่นี้ ism อะไร คือวาทะอย่างนั้น ๆ buddhistism ก็วาทะของพระพุทธเจ้า พุทธวาท ทีนี้ยึดมั่นด้วยวาทะว่าตน ก็คือยึดมั่นด้วยทิฏฐิ ความคิดความเห็นว่าตน ว่าของตน ว่าตน ทีนี้ลองมองดูกันสิ ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ต้องมองดูว่าถ้ายึดมั่นด้วยกาม ก็เรื่องได้เรื่องเสียเป็นหลักอีกใช่ไหม ได้อย่างถูกอกถูกใจ นี้คือเรื่องได้ หรือพอใจ หรือเป็นบุญ เป็นดี เป็นกุศล เช่น เป็นเทวดา นี้ก็สมบูรณ์ไปด้วยกามารมณ์ ก็อยากเป็นเทวดากันทั้งนั้น ดี ก็มีความหมายว่า ได้ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ดี ทีนี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องยึดมั่นด้วยทิฏฐิเพื่อจะบัญญัตินั่นว่านั่นนี่ว่านี่ มันก็อิงหลักเรื่องได้เรื่องเสียเป็นใหญ่ก่อน มันจะพูดไอ้เรื่องที่ไม่ได้ ไม่ได้ หรือเรื่องเสียนั้นนะ เป็นสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา ไอ้ได้นี่คือส่วนปรารถนาหรือถูก ฉะนั้น ทิฏฐิความคิดความเห็นที่เถียงกันว่าผิดหรือถูกนี่มันอยู่ที่ได้หรือเสียอีกเหมือนกัน อุปาทานข้อนี้ก็ตั้งรากฐานอยู่บนเรื่องได้เรื่องเสีย อุปาทานข้อที่ ๓ สีลัพพตุปาทาน แม้จะเป็นความโง่ความงมงาย มันก็เป็น มีรากฐานอยู่เรื่องได้เรื่องเสีย เป็นคนคนหนึ่งตื่นนอนขึ้นมา จะต้องหันหน้าไปทางทิศนั้นทิศนี้ จะมีโชคดี จะต้องล้างหน้าด้วยวิธีการอย่างนั้นอย่างนี้ ตื่นนอนขึ้นมาต้องเห็นดอกไม้สีขาว ไม่เห็นโลหิต อย่างนี้เป็นต้น เยอะแยะไปหมดที่เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน ที่ยึดถือกันอยู่ กระทั่งเป็นพิธีรีตองของพวกพุทธบริษัท มีศาลพระภูมิ มีอะไรก็ตาม มันเป็นเรื่อง อย่างเดียวกันหมด เพราะมันตั้งรากฐานอยู่บนกลัวว่าจะไม่ได้ มันอยากจะได้ ไม่อยากจะเสีย ฉะนั้น จึงทำพิธี ศีลวัตรต่าง ๆ ด้วยความงมงายเหล่านั้น เพื่อให้ได้มา เพื่ออย่าให้เสียไป ความโง่มีมาก ความขี้ขลาดมีมาก ความกลัวมีมาก มันก็ยึดมั่นด้วยอุปาทานข้อนี้ สีลัพพตุปาทาน ฉะนั้น ระวังให้ดี มันมีรกรากอยู่ที่เรื่องได้เรื่องเสีย ส่วน อัตตวาทุปาทาน นี้ไม่ต้องพูดแล้วมันเห็นชัด เพราะมันตะโกนอยู่ดังลั่นแล้วว่าตัวกู ว่าของกู อย่างนี้ มันมีเรื่องได้เรื่องเสียเป็นหลัก กู มันก็ต้องเป็นกูที่ได้ กูที่อยู่ กูที่ไม่ตาย นี่ของกู มันชัดอยู่แล้วว่าต้องได้ ต้องมีสิ่งที่กูต้องการหรือว่ากูรัก กูพอใจ อุปาทานทั้ง ๔ จึงมีรากฐานอยู่บนเรื่องได้เรื่องเสียทั้งนั้นเลย แต่ในลักษณะต่าง ๆ กันเป็น ๔ อย่าง ที่พูดนี้ก็เพื่อให้เข้าใจว่า ไอ้เรื่องได้เรื่องเสีย ๒ คำ นี้ มันเป็นทั้งหมด ทุกเรื่องที่เป็นปัญหา เกี่ยวกับความทุกข์หรือความดับทุกข์ แล้วเป็นหลักสำคัญที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ที่มีอยู่ว่าเราจะต้องตัดอุปาทานให้ขาดลงไป ทีนี้การจะต้องตัดทั้ง ๔ อย่างนี้ มันดูจะมากมาย ทีนี้เราเล่นตรงดิ่งไปยังไอ้รากแก้วของมันคือ เรื่องได้เรื่องเสียสิ เล่นงานตรงที่เรื่องได้เรื่องเสีย อย่าให้มีความหมายสิ นี่อื่น ๆ จะถูกตัดหมดเลย เหมือนกับถอนหญ้าที่กกของมันนะ มันก็เป็นการถูกถอนทั้งกอเลย ถ้าไปมัวทึ้งที่ใบที่ก้าน ที่อะไรอย่างนี้ มันก็ไม่มีสิ้นสุด มันมีหลายใบหลายก้าน มันไม่ตาย แต่ถ้าเอากกอันเดียวขึ้นมาเสีย มันก็ตายหมดทุกก้านทุกใบ หรือเหมือนกับถอนสายบัวนี้ เราก็ มันมีเยอะแยะไป มีหลายสาย บัวกอ ๆ กอเบ้อเร่อ มันต้องถอนที่กกที่หัวของมันขึ้นมาทีเดียวมันก็ขึ้นหมด แม้บางทีเราจะต้องไต่ไปแต่เพียงสายเดียว จับสายบัวเข้าสายหนึ่งแล้วเอามือคลำลงไป จนได้พบกกของมันแล้วดึงขึ้นมาทั้งกก มันก็ตายทั้งกก นี่มันเป็นลักษณะที่เราจะศึกษาหรือปฏิบัติธรรมะนั้น ไม่ต้องปฏิบัติทั้งหมด ไม่ต้องศึกษาทั้งหมด ศึกษาแต่สายใดสายหนึ่งที่ถูกต้อง ที่จะไปหาไอ้รากแก้วของมัน เราไม่ต้องปฏิบัติกรรมฐานทุกข้อ หลายสิบข้อ เราปฏิบัติข้อเดียวเท่านั้น แล้วเราก็ไปถึงรากเหง้าของกิเลส ตัดทำลายกิเลสได้ เหมือนจะถอนบัวก็ดึงคลำไปที่สายหนึ่ง ไปถึงกกแล้วก็ถอนหมด ก็หมดทุก ๆ สาย เป็นว่าถอนหมดทุกสาย ฉะนั้น จะต้องแน่ใจ แน่ใจในข้อนี้ ข้อที่ว่าเราอย่าไปหวั่นว่าเราไม่ได้เรียนทั้งหมด เราไม่ปฏิบัติทั้งหมด แล้วเราจะดับทุกข์ได้อย่างไร สมัยโบราณก็ไม่มีใครเรียนทั้งหมด เขาเรียนแต่เรื่องทำลายอุปาทานนี้ทั้งนั้น เหมือนกับคนคนหนึ่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า โต้ตอบกันครึ่งชั่วโมง ก็เป็นพระอรหันต์ที่ตรงนั้น นี่ไม่ได้เรียน ไม่ได้เรียนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้เรียนเรื่องเบญจขันธ์ ไม่ได้เรียนเรื่องอะไรอีกมากมาย ไม่ได้เรียน แต่ว่าเรื่องสำคัญเรื่องเดียวที่ต้องเรียนก็คือ เรื่องทำลายอุปาทาน ทำลายความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานนี่ เรื่องนี้ต้องพูด เป็นเรื่องนั่นเลย แล้วก็เป็นพระอรหันต์เลย ไอ้ที่ไม่ต้องเรียนอีกมากมาย ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเรามีวิธีที่จะสาวลงไปถึงกกของมัน ดึงทึ้งขึ้นมาทีเดียวหมด ถึงสมัยนี้ก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นจะต้องเรียนทั้งหมดหรือพยายามปฏิบัติทั้งหมด เพราะว่าเมื่อมันได้สิ่งนั้นหรือถึงสิ่งนั้นแล้วมันก็หมดเรื่อง เช่นว่าเรามาจากกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟถึงไชยาแล้ว ทำไมเราจะต้องหาวิธีมาโดยเครื่องบินหรือด้วยอะไรอื่นอีก เพราะเรามาถึงที่นี่แล้วด้วยรถไฟนี้ ทำไมต้องวิ่งกลับไปขึ้นเรือบินมาอีก ไปลงเรือมาอีก ไปเดินมาจากทางทิศใต้อีก ไปเดินมาจากทิศตะวันตกอีก นี่มันเรื่องบ้า เหมือนกับคนเดี๋ยวนี้ที่เรียนมาก เรียนมากไม่มีขอบเขต จนไม่รู้ว่าจะไปทางไหน มันเป็นเรื่องบ้า มันก็มีวิธีเดียวที่จะดิ่งลงไปในเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น ให้ถูกวิธี แนวใดแนวหนึ่ง ตามที่เหมาะกับเรา ตามที่เหมาะกับบุคคลนั้น ตามที่เหมาะกับบุคคลนั้น บุคคลนั้นมันเป็นโรคอุปาทาน อันไหนมาก มันก็ต้องตั้งต้นด้วยอุปาทานอันนั้น แล้วไปถึงกกของอุปาทานคือ เรื่องได้เรื่องเสียนี่ แล้วถอนทีเดียวหมด ก็หมดทั้ง ๔ อุปาทานเลย มันก็หมดเรื่องนี้ ทีนี้ถ้าเรามองเห็นว่า ทั้งหมดมันรวมอยู่ที่ ๒ คำนี้คือ เรื่องได้เรื่องเสียแล้ว ก็สนใจ สนใจให้มากเป็นพิเศษ ในการที่จะเข้าใจคำว่าได้หรือเสีย เรื่องได้เรื่องเสีย gain หรือ loss นี่ ถ้าพูด เพื่อจำง่ายสำหรับคุณนี่ก็เรื่อง gain กับเรื่อง loss เรื่องได้เรื่องเสีย ถ้าเราพิจารณาดูจนเห็นว่า แหมมันหลอกด้วยกันทั้งนั้นโว้ย ไอ้เรื่องได้นี้ก็หลอก เรื่องเสียนี้ก็หลอกโว้ย ก็พอ เท่านี้พอ นี่เหมือนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพูดกัน ๑๐ นาที หมดเรื่อง เป็นพระอรหันต์เลยนี่ รู้ว่าได้นี่ก็หลอกโว้ย เสียนี่ก็หลอกโว้ย พอกันที หยุดกันที ไม่เอาอะไรโว้ย ก็เป็นพระอรหันต์ได้ที่ตรงนั้น แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องได้แล้วมันก็วิเศษ วิเศษ แสนจะวิเศษ ไอ้เรื่องเสียแล้วก็กลัว ถอยหลัง มีความหมายมาก น่ากลัว มหึมาทีเดียว เรื่องได้ก็น่ารักมหึมาทีเดียว มันก็ทำไม่ได้ในการที่จะตัดอุปาทานหรือตัดอะไร ฉะนั้น ถ้ามองเห็นว่า เรื่องได้นี้มันก็หลอก ๆ เรื่องเสียมันก็หลอก ๆ เหมือนกัน คือ ความเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องตามราว ความไม่แน่นอนหรือความเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องตามราว พอได้เข้ามาก็เป็นได้ ออกไปมันก็เป็นเสีย ฉะนั้น เราอย่าหลงบูชามัน ไม่บูชาการได้และไม่กลัวการเสีย และเราก็ทำไปในลักษณะที่ให้มัน ที่เรียกว่าได้ คือ ให้ได้มีชีวิตอยู่นี้ เลี้ยงชีวิตอยู่ได้ เป็นอยู่ได้ แต่ไม่บูชาการได้ ไม่หลงรักการได้ ไม่หลงบูชาการได้อยู่ แล้วไม่กลัวการตาย ถือว่าเป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงของสังขารเท่า ๆ กัน นี่เขาเรียกว่าอยู่เหนือการได้การเสีย ความเป็นพระอรหันต์นั่นมันอยู่เหนือการได้การเสีย หมายความว่าได้อาหารบิณฑบาตมาฉันก็อย่างนั้นแหละ มันไม่ได้มามันก็อย่างนั้นแหละ แต่ว่าเมื่อท่านไปเดินบิณฑบาตแล้วมันได้ทุกทีนี่ ทั้งที่ใจไม่เคย ไม่เคยบูชาหรือยึดมั่นในเรื่องได้ ก็มีอาหารฉัน ก็ไม่ตาย ก็อยู่ได้ แต่ไม่ได้พอใจ ไม่ได้บูชาในเรื่องได้ ได้กิน ได้กาม ได้เกียรติ หรือได้อะไรก็ตาม ไม่ได้บูชาสิ่งที่เรียกว่าได้ ก็เป็นอันว่าผิดกับปุถุชนตรงที่ว่า ท่านไม่มีได้ไม่มีเสีย โดยเห็นว่าไอ้เรื่องได้เรื่องเสียนี่มันของหลอก ๆ เหมือนกัน แล้วปัญหาก็หมด ฉะนั้น ถ้าใครไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พูดกันแต่เรื่องนี้อย่างเดียว ไม่กี่คำ แล้วจิตใจปลงลงไปได้ ก็เป็นพระอรหันต์ที่นั่น เขาไม่เคยเรียนพระไตรปิฎก ไม่เคยท่อง พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ไม่เคยรับศีล ๕ ศีล ๘ ไม่เคยบวชเป็นพระเป็นเณร ไม่เคยอะไรมาก่อน ก็เป็นพระอรหันต์ที่ตรงนั้นมีมากมาย ถึงเรื่องที่คนไม่เข้าใจกันโดยมาก เช่น เรื่ององคุลีมาล พระพุทธเจ้าพูดคำเดียวว่า ฉันหยุดแล้ว แกยังไม่หยุด ก็หมายความถึงหยุดนี่ หยุดมีตัวฉัน หยุดมีตัวกู หยุดได้หยุดเสีย หยุดอะไรหมด จึงเป็นพระอรหันต์ได้ โดยที่ไม่ต้องรู้เรื่องอื่นหรอก รู้แต่เรื่องนี้ คือเรื่องหยุด คือไม่มีตัวฉันที่จะไปไหนมาไหน นั่นเรียกว่าหยุด ถ้ายังได้ มันก็วิ่งไปหาได้ ถ้ายังเสีย มันก็วิ่งไปหาเสีย ถ้ายัง ยังอยากได้ ก็วิ่งไปหากัน เสียก็วิ่งหนีไปทางหนึ่งอีก ก็วิ่งไปวิ่งมา ได้ก็วิ่งมาหา เสียก็วิ่งไป แล้วแต่จะพูด ถ้ายังวิ่งไปวิ่งมา ก็คือยังมีได้มีเสีย ถ้าไม่มีได้ไม่มีเสียก็ไม่มีวิ่งไปวิ่งมา นั่นแหละคือที่สุดแห่งความทุกข์แหละ พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ที่สุดแห่งความทุกข์ อันโตทุกขัสสะ อันโต แปลว่า ที่สุด ทุกขัสสะ คือความทุกข์ นั่นแหละที่สุดแห่งความทุกข์ คือ มันไม่ได้ไม่เสีย หยุดในความหมายนี้ ไม่ใช่ว่าหยุดด้วยความหลงใหลอยู่ที่นี่ หยุดเพราะไม่มีตัว ไม่มีตัวจะอยู่ ไม่มีตัวจะไป ไม่มีตัวจะมา ทีนี้คนเป็น ๆ มีชีวิต มีความคิดนึกอย่างนี้ จะไม่วิ่งไปวิ่งมาไม่ได้หรอก ทางร่างกายนี้มันก็ต้องไปนั่นมานี่ ไปบิณฑบาต ไปส้วม ไปอาบน้ำ ไปนี่ มันต้องไปมาอย่างนี้ ทางร่างกายนะ แต่ว่าทางใจนี่มันหยุดได้ ไม่ไปไม่มา โดยไม่เห็นอะไรว่ามีได้มีเสีย วันหนึ่ง ๆ ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ ไม่รู้สึกมีได้มีเสีย คือไม่มีอยู่ไม่มีตาย แต่มันก็ไม่เคยตาย มันก็มีอาหารกินไป กว่าร่างกายนี้มันจะชรา มันจะตายไปตามธรรมชาติ จึงไม่มีปัญหาเรื่องว่าจะมีอะไรกินไหม จะเดือดร้อนไหม ถ้าพูดตัดบทก็คือ อยู่ก็ได้ ตายก็ได้ ฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาหนักอกหนักใจเรื่องอยู่หรือเรื่องตาย หรือเรื่องได้หรือเรื่องเสีย ไม่มีปัญหาเรื่องความทุกข์ แต่แล้วสิ่งต่าง ๆ มันก็เป็นไปตามเรื่อง คือมันมีมาสำหรับเลี้ยงชีวิต ถ้าปฏิบัติถูกต้องในเรื่องนี้ มันก็ไม่มีความทุกข์เลย จนกระทั่งความตายมาถึง ก็ไม่มีความหมายเลย การตายนั้นไม่มีความหมายเลย เหมือนกัน มันไม่มีความหมายทั้งอยู่หรือทั้งตาย มันต้องขนาดนี้ มันถึงจะเรียกว่าอยู่เหนือได้เหนือเสีย อยู่เหนือการได้อยู่เหนือการเสีย
เอาละ วันนี้ก็พูดเรื่องการได้การเสีย ย้ำ ๆ นะ ย้ำ ซ้ำ แล้วก็ลงปาฏิโมกข์ ย้ำ ซ้ำอยู่เสมอ ให้เข้าใจเรื่อง คำว่าได้คำว่าเสียนี่ ให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ ไม่ให้ผิดได้ ฉะนั้น เรามีอุปาทานทำให้เป็นทุกข์อยู่นี่ก็เพราะว่า ไปเห็นเป็นเรื่องได้เรื่องเสียด้วยอุปาทาน แต่แล้วมันไม่มี ก็เหมือนกัน ก็ไม่มีความทุกข์เลย แต่เดี๋ยวนี้ คนทั่วไปเขาพูดเรื่องได้เรื่องเสีย เราก็พูดกับเขาได้ พูดกับเขาเป็นเหมือนกัน เรื่องได้เรื่องเสีย ได้ฉัน ได้ฉัน หรือไม่ได้ฉัน อยู่หรือตาย นี่ก็พูดเป็นเหมือนกัน แต่ไม่ได้ยึดมั่นด้วยอุปาทานในสิ่งเหล่านั้นเหมือนคนเขาพูด นี่เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่มีที่มาหลายแห่งเหมือนกัน ที่ว่าตถาคตก็พูดเหมือน เหมือนชาวบ้านพูด ฉันก็พูดเหมือนชาวบ้านพูด แต่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในความหมายนั้นเหมือนที่ชาวบ้านยึดถือ มีเท่านั้นเอง พระพุทธเจ้าก็พูดว่าฉัน ว่าเรา ว่ากู ว่าอะไรก็ได้เหมือนกัน เรื่องนี้น่าขำ นี่เป็นของแทรกเบ็ดเตล็ด ที่พระจอมเกล้าท่านท้วงขึ้นมาว่า ทำไมแปลหนังสือกัน เวลาพูดถึงตถาคต พระพุทธเจ้า พูดถึงพระพุทธเจ้า ใช้คำว่าตถาคตไปหมด ไม่มีพูดว่าฉัน ว่าแก ว่าข้า ว่ากูอะไรเลย มันเป็นไปได้อย่างนี้ ก็น่าขำ นี่หมายความว่าพระจอมเกล้าท่านเชื่อว่า แม้พระพุทธเจ้าท่านก็พูดตามภาษาที่ชาวบ้านพูด บางเวลาท่านจะพูดว่า ฉัน บางเวลาท่านก็พูดว่าแก หรือเอ็ง หรือข้า เหมือนที่ชาวบ้านพูด ถ้าพูดไทยนะ แต่ว่าแม้จะพูดว่าอย่างไร ตามภาษาชาวบ้านพูดอย่างไร แต่อุปาทานที่ยึดถือในคำพูด ในความหมายของคำพูดนั้น มิได้มี มิได้มีเหมือนที่ชาวบ้านยึดถือ เหมือนที่คนธรรมดายึดถือ พระพุทธเจ้าจึงว่า อ้า, พระพุทธเจ้าจะพูดเหมือนกับชาวบ้านพูด และก็ทำเหมือนชาวบ้านทำในเรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องอาบ เรื่องถ่าย เรื่องอะไรนี้ก็ทำ แต่ไม่ได้ ยึดมั่นเหมือนที่ชาวบ้านยึดมั่น เพราะว่าใจมันอยู่เหนือความรู้สึกที่ว่าได้หรือเสีย อย่าลืมว่ามันลึกลงไปถึง แม้แต่ความรู้สึกของสัตว์เดรัจฉาน ของต้นไม้ กระทั่งของไอ้ชีวิตเซลล์เดียว ซึ่งยังไม่รู้จะเรียกว่าสัตว์หรือต้นไม้อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น เราพูดเรื่องคำว่าได้คำว่าเสียนี้กันอีกสัก สักปีหนึ่งก็ได้ มันก็คงจะเข้าใจดีขึ้น คือ พูดได้ไม่จบหรอก พูดไปในแง่ไหนก็ได้ เพราะว่าทุกเรื่องมันไปรวมอยู่ตรงเรื่องอุปาทาน เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องได้เรื่องเสียเป็นรกรากของกิเลส ของกิเลสทั้งปวง ไปยึดมั่นก็เกิดกิเลส ไม่ยึดมั่นก็ไม่มีกิเลส ทีนี้ถ้าดูกันในอีกแง่หนึ่งแล้ว คนก็จะน่าละอายกว่าต้นไม้ ต้นไม้เมื่อได้กินอาหาร มันก็ไม่กระดิ๊กกระดี๊อะไรเหมือนกับคนเลย เมื่อมันไม่ได้กินอาหารจนกระทั่งตาย มันก็ไม่ ไม่โวยวายเหมือนกับคนเลย ดูให้ดีเถอะ ฉะนั้น อย่าดูถูก อุตส่าห์ปลูกต้นไม้เล็ก ๆ เล่นบ้างในกระถางแหละ แล้วคอยดูว่ามันเป็นอย่างไร มันหัวเราะเป็นไหม มันร้องไห้เป็นไหม เมื่อมันได้มันก็อย่างนั้นแหละ เมื่อไม่ได้มันก็อย่างนั้นแหละ แต่มันรู้สึกนะ เป็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ มันรู้สึกนะแต่มันไม่แสดงมากเหมือนคน เมื่อสุนัขได้กิน มันก็ได้อิ่ม แต่มันไม่นั่นนี่เหมือนคน หรือมันไม่ได้กิน มันก็ไม่เอะอะโวยวาย โมโหโทโสมากเหมือนคน ฉะนั้น สุนัขก็ยังดีกว่าคน ในแง่นี้ คนพอได้เข้าก็กระดิ๊กกระดี๊ พอเสียเข้าก็โวยวายอย่างนั้นอย่างนี้ สัตว์มันยังไม่เป็นมากขนาดนั้น เพราะว่ามันไม่มีอุปาทานในเรื่องได้เรื่องเสียมากเหมือนคนนั่นเอง เพราะมันไม่เก่งเหมือนคน มันไม่ฉลาดเหมือนคน เพราะฉะนั้นมันคิดนึกไม่เก่งเหมือนคน แต่แล้วมันก็ได้ผลคือ มันเป็นทุกข์น้อยกว่าคน คนลองให้อดเข้าสัก ๓ ชั่วโมง หิวสัก ๓ ชั่วโมงเถอะ คิดเป็นบ้าเป็นหลังไปเลยนะ แต่สุนัขนี่ดูไม่มากมายอะไรนัก ก็ดิ้นรนไปหา หาไปได้ เหนื่อยนักก็นอน เสีย ฉะนั้น ผมเลี้ยงสุนัขก็ดี ปลูกต้นไม้เล่นก็ดี ผมถือโอกาสศึกษาไอ้ธรรมะในชั้นลึกในเรื่องจิตเรื่องวิญญาณ เรื่องอุปาทานนี้พร้อมกันไปในตัวเลย ไม่เสียหาย ไม่เสียเปล่า ไม่เสียหลาย ใครว่าผมบ้าเล่นต้นไม้ รักสวยรักงามรักอะไรก็ว่าไป แต่ผมก็มีธุระ มีหน้าที่ อีกอย่างหนึ่งที่จะดูมันในแง่ลึก เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์เดรัจฉาน กับต้นไม้ ต้นหญ้า บอน กระทั่งตะไคร่น้ำ สัตว์ ต้นไม้ที่เป็นเพียงพืช ตะไคร่น้ำเขียว ๆ ไม่เป็นต้นเป็นลำ กระทั่งที่มันดูด้วยตาไม่เห็น กระทั่งจุลินทรีย์ที่ดูด้วยตาไม่เห็น มันอยู่ในน้ำในอะไรอย่างนี้ เพื่อรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าจิตนี้ คือ อะไร ความคิด วิญญาณ อุปาทานนี้คืออะไร ผลที่สุดรู้สึกว่า ไอ้มนุษย์นี่มันรู้ มันต้องมีความทุกข์มาก เพราะมันรู้มาก มนุษย์เรานี่เป็นทุกข์มากกว่าอะไรหมดก็เพราะว่ามันรู้มากกว่าอะไรหมด รู้มากก็ยากนาน มีความรู้มากก็ลำบากมาก ไอ้พวกนั้นรู้น้อยก็ลำบากน้อย เราก็เสียเปรียบมันในข้อนี้ ฉะนั้น ถ้าเราจะดีกว่าสิ่งเหล่านั้น เราก็ต้องรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องนรก สวรรค์ เรื่องอะไรที่มันเป็นคู่ ๆ คู่ ๆ ตรงกันข้าม นี่เราก็เลยประเสริฐ ประเสริฐเลิศที่สุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน กว่าต้นไม้ กว่าอะไร แต่ถ้าเรายังไม่ได้สิ่งนี้มา เรายังไม่ดี ไม่ดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน ยังเสียเปรียบที่เป็นทุกข์มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน ไปคิดดูเถอะ คนนี่เมื่อไม่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นทุกข์มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน ชั่วโมงนี้ตกนรกใจร้อนเป็นไฟ ชั่วโมงต่อมาหิวเป็นเปรต ชั่วโมงต่อมา ขี้ขลาดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ชั่วโมงต่อมาก็โง่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ชั่วโมงต่อมาก็ขี้ขลาดเป็นอสุรกายอย่างนี้ ฉะนั้น มัน ๆ มันแย่ มันแย่กว่าสุนัขซึ่งวันหนึ่ง ๆ มันไม่มีชั่วโมงเป็นนรก เปรต เดรัจฉาน อสุรกาย เหมือนกับคนเลย ไอ้คนนี่ในวันหนึ่ง ๆ มีชั่วโมงที่เกิดเป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่รู้จักสิ้นจักสุด ฉะนั้น จึงต้องถือว่า เสียเปรียบสัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ซึ่งมันสบายกว่า เพราะว่าไม่มีธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่จะมาดับไอ้สิ่งเหล่านี้เสีย ฉะนั้น ขอให้สนใจให้มากที่จะศึกษาเรื่องอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น ดี ชั่ว บุญ บาป สุข ทุกข์ อะไรอย่างนี้ ซึ่งมีรกรากมาจากความรู้สึกว่าได้กับเสีย ๒ อย่าง เท่านั้นเอง ฉะนั้น จึงสรุปความเหมือนที่ขั้นต้นว่า ไม่ต้องเรียนเรื่องอื่นหรอก ถ้าจะเรียนกันอย่างลึกซึ้ง ก็เรียนเรื่องได้เรื่องเสีย ๒ คำเท่านั้นแหละ ให้มันรู้จริง ก็จะเห็นว่า โอ๊ย, มันหลอกเหมือนกันหมด ทั้งได้และทั้งเสียนี่ อย่าไปเล่นกับมันโว้ย อยู่เป็นกลาง ๆ ไม่มีได้ไม่มีเสียนั่นแหละไม่มีความทุกข์ นี่ถ้าพูดก็พูดอย่างนี้ พูดมันพูดง่าย แต่ว่าปฏิบัติมันคงจะยากอีกตามเคย แต่ถ้าเรารู้วิธีปฏิบัติรวบรัดให้ถูกเรื่องถูกราว มันคงจะไม่ยากมากเหมือนที่ ที่ยากกันอยู่ เดี๋ยวนี้มันต้องการมาก มีพิธีรีตองมาก มีอะไรมาก มันก็เลยยากหลายเท่า ถ้ารวบรัดเรื่องให้สั้นเหลือแต่การศึกษาเรื่องนี้ มันก็ยากน้อยลง ง่ายมากขึ้น ทำให้ถูกทาง ให้ถูกวิธี มองดูทุกคราว มีสติทันท่วงทีทุกคราวที่มีอาการที่เราเรียกกันว่าได้หรือเสีย อันนี้ได้อะไร อันนี้เสียอะไร มีสติสัมปชัญญะทันท่วงที พิจารณาดู อ้าว, มันหลอก ๆ เหมือนกันโว้ย ทำอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป สำหรับการปฏิบัติวิปัสสนาที่สูงสุด ที่รวดเร็วและสูงสุด อ้าว, ค่ำแล้วเดี๋ยวจะกลับกันลำบาก